Lively Technology
อาจารย์ ทะยุทธ ทองปาน
คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
"ห้องสมุดคืออะไร" หรือ ในทางกลับกัน "ห้องสมุดน่าจะเป็นอย่างไรได้บ้าง"......................... " IS or HOW ? " ในปี 2001 อาคาร SENDAI Mediateque (เซ็นได มีเดียเทค)ออกแบบโดยสถาปนิก โตโย อิโตะ (TOYO ITO) เป็นอาคารสาธารณะที่ได้เปิดตัวขึ้น ณ เมืองเซ็นได ประเทศ ญี่ปุ่น ซึ่งให้บริการกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ ห้องสมุด ศูนย์กลางข้อมูลโสตทัศนูปกรณ์ ศูนย์บริการสำหรับผู้พิการทางสายตา และการได้ยิน แกลเลอรี่ และคาเฟ่ เป็นต้น
 |
Mediatheque เป็นอาคารที่แสดงให้เห็นถึงการมอง เทคโนโลยีการก่อสร้าง ในลักษณะใหม่ที่แสดงออก ให้เห็นถึงความนุ่มนวลของโครงสร้างต่างๆ แทนลักษณะของความหนักแน่น กระด้าง บึกบึน สถาปนิก โตโย อิโตะ ได้วางแนวความคิดไว้อย่างหนักแน่น ร่วมกับวิศวกร และช่างฝีมือต่างๆว่า ต้องการให้โครงสร้างอาคารมีเพียง TUBE (ท่อโครงสร้างถักทอ) PLATE(แผ่นพื้น) และSKIN(เปลือกอาคาร) เท่านั้น |
จากด้านหน้าโครงการที่มีลักษณะ กล่องกระจกใส ประกอบไปด้วย กระจก 2 ชั้น (SKIN) โดยช่องระหว่างแผ่นกระจก จะทำหน้าที่ระบายความร้อน และสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาวเช่นเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ภายในอาคารจะพบว่าท่อเหล็กกลมต่างๆ ถูกนำมาเชื่อมต่อเป็นท่อโครงสร้างถักทอ(TUBE) ให้มีความโปร่งเบา ที่ทำหน้าที่รองรับแผ่นพื้นอาคาร (PLATE) แทนเสาโครงสร้าง หากพิจารณาดูภายใน TUBE เหล่านี้ยังทำหน้าที่คล้ายท่อลำเลียงอาหารของพืช ซึ่งมีทั้งส่วนของลิฟท์โดยสารระหว่างชั้นต่างๆ เป็นช่องกระจายแสงจาก หลังคาสู่พื้นชั้นล่าง เป็นส่วนถ่ายเทอากาศ และทางของบันได |
|

ลักษณะโดยรวมของชั้นต่างๆนั้นมีการใช้กระจกฝ้า ผนังเบา และการใช้ผ้าม่านในส่วนของเจ้าหน้าที่กับประชาชนผู้มาใช้บริการ แทนการกั้นผนังเป็นห้องๆอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้แทบจะทุกพื้นที่ของโครงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน และสะท้อนถึงความปลอดภัยของคุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้น ในสถานที่สาธารณะของสังคมได้อย่างน่าทึ่ง กล่าวได้ว่าTUBE และผ้าม่านแทบจะไม่มีความรู้สึกที่ขัดแย้งกันเลย สภาพแวดล้อมของโครงการ ยังทำให้เราตระหนักถึงการทำให้เทคโนโลยี รองรับ และเข้าใกล้มนุษย์ในวิถีชีวิตสามัญธรรมดา มิใช่เป็นการทำเทคโนโลยีให้ไฮเทคที่สุด แต่ห่างไกลมนุษย์มากขึ้น อย่างสิ้นเชิง สำหรับสังคมเมือง Mediatheque ยังเป็นที่ๆประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกเพศ ทุกวัย โปรแกรมที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้เบื้องต้นนั้น พื้นที่ของแต่ละชั้นยังสามารถที่จะใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นอาทิ เช่น เวิร์คช็อปสอนคอมพิวเตอร์แก่ผู้สูงอายุ หากจะถามว่าคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมอย่าง SENDAI Mediateque (เซ็นได มีเดียเทค) อยู่ที่ใด อยู่ที่โปรแกรมของอาคาร การสร้างสรรค์เทคโนโลยีการก่อสร้าง ความคุ้มค่าในการลงทุน ความสวยงามหรือสมการใดๆ และนอกจากความคุ้มค่าทางตัวเลขต่างๆแล้ว เชื่อได้ว่าส่วนผสมต่างๆ เมื่อหล่อหลอมรวมเป็นชิ้นเดียวกันแล้วสิ่งนั้น คือ ความเป็นมิตรกับคนของอาคาร เป็นเทคโนโลยีที่มีชีวิตชีวา

|