หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 37 ประจำวันที่ 2001-09-18

ข่าวการศึกษา

ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ยก ‘รม.’ เป็นมหา’ลัย
มธ.รับสมัครทำวิจัยย้ายไปรังสิต
ทปอ.มีข้อมูลภาคพิเศษอ่อนคุณภาพ
‘วันชัย’ ทิ้งเก้าอี้ปลัดฯ นั่งอธิการฯแม่ฟ้าหลวง
สว.นร.เปิดฮอตไลน์
อย.ตื่นโรควัวบ้าญี่ปุ่น

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

นวัตกรรมคนพิการครั้งแรกของไทย
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุดประกายนักชีววิทยารุ่นเยาว์
ระบบพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน
“เขื่อน” ในมุมมืด-สว่าง ข้อสรุปร่วมระดับโลก
เทคนิคการตรวจวินิจฉัยเอนเทอริคแบคทีเรียในอาหารอย่างรวดเร็ว

ข่าววิจัย/พัฒนา

รถน้ำมันปาล์ม ต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนดีเซล
ซอฟต์แวร์ช่วยการนับปริมาณแคลเซียมของหลอดเลือดหัวใจ
ทีมวิจัยมะกันล้ำหน้าสร้างเซลล์เม็ดเลือดสำเร็จ
เครื่องต้นแบบอบข้าวให้เกษตรกร
ยาโรคหัวใจช่วยกันสมองเสื่อม

ข่าวทั่วไป

ยืดชีวิตส้มบางมดไม่ให้สูญ ถมร่องสวนเปลี่ยนเป็นไร่
อย.แจงเกณฑ์จัดยาซีบูทรามีน ‘ลดอ้วน’
‘โรคเอ๋อ’ รักษาได้-ติงพ่อแม่ชอบละเลย
ขุดทองคำที่พิจิตรเจอแล้วหมื่น ล.
น้ำนมแม่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เก็บไว้ได้นานถึงสามเดือน
กินช็อกโกแลตบำรุงหัวใจ ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน





ข่าวการศึกษา


ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ยก ‘รม.’ เป็นมหา’ลัย

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 2 เปิดเผยผลประชุมร่วมกับ นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งจะเปลี่ยนสถานภาพสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) เป็นมหาวิทยาลัยและยกฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในสายบังคับบัญชาของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (มติชน อังคารที่ 4 กันยายน 2544 หน้า 10)





มธ.รับสมัครทำวิจัยย้ายไปรังสิต

น.พ. มงคล ตั้งเง็กกี่ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการที่ปรึกษาการวิจัย กรณีการขยายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีไปศูนย์รังสิต เปิดเผยว่า มธ.ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานและเปิดรับสมัครผู้วิจัย เพื่อเข้ามาเสนอโครงการวิจัย สำหรับขอบเขตโครงการวิจัยจะต้องศึกษาประมวลงานอนาคต 15-20 ปีที่พึงประสงค์ของ มธ. ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย พร้อมกับเสนอรูปแบบการบริหารจัดการตลอดจนทางเลือกในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย จำนวนนักศึกษา, การใช้พื้นที่ท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระยะเวลาในการวิจัยประมาณ 10 เดือน ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2613-2040-1 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 กันยายน 2544 หน้า 10)





ทปอ.มีข้อมูลภาคพิเศษอ่อนคุณภาพ

ศ.น.พ. อดุลย์ วิริยเวชกุล ประธานคณะทำงานกลุ่มประกันคุณภาพอุดมศึกษาของ ทปอ. เปิดเผยว่า ในการประชุมจัดหลักสูตรพิเศษของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย พบว่า หลักสูตรบางหลักสูตรของบางสถาบันมีปัญหาในด้านคุณภาพการจัดการเรียนการสอนจริง เนื่องจากผู้เข้าเรียนมีมากเกินไป และอาจารย์ผู้สอนไม่มีคุณภาพ ที่ประชุมจะรวบรวมข้อมูลและสรุปรายละเอียดเพื่อนำไปกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานการจัดหลักสูตรภาคพิเศษอีกครั้งประมาณเดือน ตุลาคมนี้ (เดลินิวส์ พุธที่ 12 กันยายน 2544 หน้า 10





‘วันชัย’ ทิ้งเก้าอี้ปลัดฯ นั่งอธิการฯแม่ฟ้าหลวง

คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มีมติให้ รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ เป็นอธิการบดี มฟล. คนใหม่ จากเดิมซึ่งได้ไปช่วยราชการในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร มฟล. (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 กันยายน 2544 หน้า 10)





สว.นร.เปิดฮอตไลน์

นายนิคม มุสิมณี ผอ.สารวัตรนักเรียน (สว.นร.) เปิดเผยว่า กองสารวัตรนักเรียน กรมพลศึกษา จะติดตั้งระบบการแจ้งเหตุฮอตไลน์สายด่วน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2214-0133 เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารอันจะก่อให้เกิดเหตุ หรือมีผลกระทบต่อความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. เพื่อการดำเนินการป้องปราบต่อไป ขณะนี้กองสารวัตรฯ ได้จัดทำโครงการสารวัตรนักเรียนอาสา เพื่อเปิดรับครู อาจารย์ ผู้ปกครอง นักเรียนเป็นอาสาสมัคร ในการสอดส่องดูแลความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจสามารถสมัครได้ด้วยตนเองที่ กองสารวัตรนักเรียน กระทรวงศึกษาฯ โทร. 0-2215-3537 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (สยามรัฐ เสาร์ที่ 8 กันยายน 2544 หน้า 20)





อย.ตื่นโรควัวบ้าญี่ปุ่น

สำนักงานควบคุมด้านอาหารและสัตว์ของสิงคโปร์ มีคำสั่งยกเลิกการนำเข้าเนื้อวัวจากญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นตรวจพบเชื้อโรควัวบ้ารายแรกของประเทศ โดยคำสั่งห้ามมีขึ้นเนื่องจากมีรายงานของวัวอายุ 5 ปี ติดเชื้อโรควัวบ้า เมื่อวันที่ 12 กันยายน อย.ได้ประชุมด่วน เพื่อตรวจสอบว่ามีการนำเข้าเนื้อวัวญี่ปุ่นหรือไม่ จากนั้นจะเรียกประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อป้องกันและควบคุมโรควัวบ้า ถ้าพบว่ามีการนำเข้าเนื้อวัวหรือผลิตภัณฑ์เนื้อวัวจากญี่ปุ่น อาจให้ชะลอนำเข้า ส่วนการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขต้องพิจารณาให้รอบคอบ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 15 กันยายน 2544 หน้า 9)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


นวัตกรรมคนพิการครั้งแรกของไทย

สวทช. เนคเทคและ ไอทีมอลล์ ร่วมกันจัดนิทรรศการครั้งใหญ่ของไทย เพื่อแสดงเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ โดยเฉพาะผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2544 ณ ชั้น 3-4 ลานกิจกรรม Trend & Technology Hall ศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตนวัตกรรมความก้าวหน้าใหม่ล่าสุด อาทิห้อง Virtual School รวมทั้งสาธิตการผลิตขาเทียม และแจกให้กับผู้พิการในงานฟรีทุกวัน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 กันยายน 2544 หน้า 16)





พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุดประกายนักชีววิทยารุ่นเยาว์

นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมี “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” แบบครบวงจรคือ เป็นทั้งสถานที่รวบรวมข้อมูลและตัวอย่างอ้างอิงทางธรรมชาติ ทั้งที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยมีนักอนุกรมวิธานด้านนิเวศวิทยาพืชและสัตว์ที่พร้อมในการดำเนินการสำรวจ รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการทางธรรมชาติวิทยาในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารบุญส่ง เลขะกุล ภายในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลอง 5 จ.ปทุมธานี มีการจัดแสดงนิทรรศการวิถีสู่ธรรมชาติมีเนื้อหาทั้งหมด 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการแสดงชนิดพืชและสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศไทย และมีชนิดเดียวในโลก ส่วนที่ 2 ตามรอยบุกเบิกของนักธรรมชาติวิทยา การเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยของพันธุ์ไม้ตามยุคสมัยต่างๆ และได้มีการเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ ตลอดจนสัตว์ป่าเพื่อการศึกษาวิจัย ส่วนที่ 3 เป็นการแสดงโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ฉายภาพ 2 มิติ เคลื่อนไหวได้ อธิบายสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ส่วนที่ 4 เป็นการแสดงให้เห็นการพึ่งพาอาศัยของสิ่งมีชีวิต โดยใช้ระบบ Video projector ผสมผสานเทคนิคแสง เสียงประกอบ ส่วนสุดท้าย จะเป็นบทสรุปแห่งธรรมชาติ ที่ถือเป็นไฮไลต์ของงานนิทรรศการ (ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2544 หน้า 10)





ระบบพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน

โลกเผชิญภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง และมีประชากรที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% ต่อปี สำหรับประเทศไทยอุทกภัยเป็นภัยที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อประเทศอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชากร จากการใช้มาตรการทั้งสองร่วมกัน เช่น ระบบพยากรณ์และเตือนภัย ซึ่งตามคำนิยามแยกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบพยากรณ์กับระบบเตือนภัย ระบบพยากรณ์ปัจจุบันใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ในการทำนายภัยธรรมชาติได้รับความนิยมมากขึ้น โครงข่ายใยประสาทเทียม (Neural network) ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผลกับการพยากรณ์ วิธีการพยากรณ์ที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปแต่ละลุ่มน้ำ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูลทางด้านอุทกวิทยา ลักษณะของลุ่มน้ำ รวมทั้งเวลาในการเดินทางในการเกิดน้ำท่วม เมื่อได้ทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์กับเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ 2543 แล้ว พบว่าสามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงข่ายการทำงานของระบบ เพื่อให้สามารถรับรู้อิทธิพลของลุ่มน้ำย่อยทุกลุ่มน้ำ รวมทั้งอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การพยากรณ์ฝนที่มีประสิทธิภาพมีความจำเป็นมาก กล่าวคือต้องสร้างระบบให้สามารถเรียนรู้รูปแบบของฝนที่เกิดขึ้นในอดีต และทำนายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเราเรียกว่า “Rainfall pattern recognition” (มติชน เสาร์ที่ 8 กันยายน 2544 หน้า 7)





“เขื่อน” ในมุมมืด-สว่าง ข้อสรุปร่วมระดับโลก

ศูนย์การศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการสัมมนาวิชาการเรื่องเขื่อนกับการพัฒนาการตัดสินใจบนฐานองค์ความรู้ใหม่ โอกาสนี้ Prof.S. Parasuman นักวิชาการชาวอินเดียซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการเขื่อนโลก ได้มาให้ข้อมูลและข้อสรุปเรื่องเขื่อนในระดับโลก ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ภารกิจของกรรมการคือ 1. ศึกษาผลกระทบการพัฒนาของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในโลก 2. พัฒนาหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่ถูกต้องในการใช้พลังงาน รวมถึงการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ ข้อค้นพบ 1. เขื่อนนำมาซึ่งผลประโยชน์ไม่น้อย 2. มีหลายกรณีที่ผลประโยชน์ดังกล่าวได้มาด้วยต้นทุนและการเสียสละที่ยอมรับไม่ได้ และไม่จำเป็น ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เขื่อนมากกว่า 50% ใช้งบฯสร้างเกินที่อ้างไว้ 50% ผลกระทบต่อชุมชน ผู้ที่อพยพมี 40-80% ล้านคน โดยหลักอยู่ในอินเดียและจีน หลายประเทศให้ข้อมูลไม่ได้ กรณีเขื่อนปากมูล ตัวเลข 240 ครัวเรือนนั้นเป็นแค่บางส่วน และอยู่เหนือน้ำ แต่ที่ได้รับผลกระทบแบบอื่นๆ ไม่ได้พูดถึง สังคมไม่ได้ตระหนักและชดเชยผู้ได้ผลกระทบอย่างเพียงพอ ประเด็นที่น่าตระหนกอีกอย่างคือ ผลกระทบเกิดขึ้นต่อคนที่มีฐานะย่ำแย่อยู่แล้วในสังคม ที่อินเดียมี 70% เท่านั้นที่เป็นชนเผ่า 40% ของผู้ได้รับผลกระทบเป็นชนกลุ่มน้อย ในแอฟริกาและละตินอเมริกาก็เหมือนกัน ผู้เสียประโยชน์คือเกษตรกรรายย่อย ประมงรายย่อย ผู้ที่ได้รับประโยชน์มักเป็นเกษตรกรรายใหญ่ มีที่ดินมาก ข้อค้นพบในด้านทางเลือก พบว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนในทุกกรณี ข้อเสนอสำหรับอนาคต คนที่เกี่ยวข้องต้องสนใจทั้งเรื่องเขื่อนและทางเลือกอื่น ที่ผ่านมาโครงการตัดสินใจโดยคนระดับสูง แต่ไม่ได้สนใจผู้ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการเห็นว่าจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น สรุป ข้อเสนอเรื่องแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กรรมาธิการเสนอเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การมีส่วนร่วมตัดสินใจ การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมด้วย (มติชน เสาร์ที่ 1 กันยายน 2544)





เทคนิคการตรวจวินิจฉัยเอนเทอริคแบคทีเรียในอาหารอย่างรวดเร็ว

รศ.พญ. พนิดา ชัยเนตร หน่วยจุลชีววิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำการวิจัยและพัฒนา ดีเอนเอโพรม และเทคนิคพีซีอาร์ขึ้นมา เพื่อตรวจวินิจฉัย เอนเทอริคแบคทีเรียในอาหาร ทำให้ทราบผลการตรวจสอบในเวลารวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบเชื้อโรคมากกว่า 1 ชนิดในเวลาเดียวกัน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 กันยายน 2544 หน้า 28)





ข่าววิจัย/พัฒนา


รถน้ำมันปาล์ม ต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนดีเซล

นายประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำโครงการขอความร่วมมือไปที่ภาคเอกชนและสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอใช้เงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ทำรถต้นแบบโดยการใช้น้ำมันพืช ต้นแบบเป็นรถตู้ดีเซล 3000 ซีซีที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งมี 3 ส่วนที่ต้องการนำเสนอ ประการแรกการขับเคลื่อนรถโดยใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยที่ยังไม่ใช้น้ำมันมะพร้าว เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัย ประการที่สอง ส่วนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีโซล่าเซลล์จำนวน 300 วัตต์ เพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง โทรทัศน์ วิดีโอเทป เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ได้จริง ส่วนที่สาม จะเป็นชุดนิทรรศการ หรือชุดทดลองสาธิตซึ่งเก็บอยู่ด้านท้ายของรถ นายประเสริฐ กล่าวว่า จากการสำรวจรถต้นแบบคันแรก ได้มีการปรับแต่ง โดยใช้อุปกรณ์เสริม เนื่องจากน้ำมันพืชมีความหนืด ดังนั้นจึงต้องหาวิธีใส่ความร้อนให้น้ำมัน เพื่อให้คลายความหนืด เพื่อให้สตาร์ทรถได้ง่ายขึ้น และหลังรถสตาร์ทติดแล้ว ก็จะมีการตัดวงจรจากการใช้แบตเตอรี่มาใช้ความร้อนจากหม้อน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เครื่องยนต์ของรถต้นแบบไม่ต้องผ่านการดัดแปลง เพียงแต่ใส่อุปกรณ์เสริมก็สามารถใช้น้ำมันปาล์มได้โดยสะดวก โดยมีอัตราการสิ้นเปลืองที่ 10 ก.ม.ต่อน้ำมันหนึ่งลิตร อัตราความร้อนของน้ำมันปาล์มน้อยกว่าน้ำมันดีเซล ดังนั้นอัตราการสิ้นเปลืองของน้ำมันปาล์มจึงมากกว่าน้ำมันดีเซลประมาณ 8-10% นายประเสริฐ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ กล่าวว่า รถต้นแบบมีราคาประมาณ 1 ล้าน 3 แสนบาท (มติชน พุธที่ 5 กันยายน 2544 หน้า 16)





ซอฟต์แวร์ช่วยการนับปริมาณแคลเซียมของหลอดเลือดหัวใจ

ดร.สุธี ผู้เจริญชัยชนะ หัวหน้าปฏิบัติการเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และคณะ ได้วิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยนับปริมาณแคลเซียมของหลอดเลือดหัวใจ ช่วยให้การศึกษาผลกระทบของภาวะแคลเซียมอุดตันในหลอดเลือดหัวใจต่ออัตราการเป็นโรคหัวใจ แต่เดิมต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง และมีเครื่องเดียวในประเทศไทยที่ รพ.รามาธิบดี งานวิจัยนี้สามารถใช้งานได้บนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเพิ่มขีดความสามารถในการกรองสัญญาณรบกวน ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์โรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 กันยายน 2544 หน้า 28)





ทีมวิจัยมะกันล้ำหน้าสร้างเซลล์เม็ดเลือดสำเร็จ

วันที่ 3 กันยายน ข่าวเอเอฟพีจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งนำทีมโดย นายวิลเลียม มิลเลอร์ ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ ไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาวตลอดจนเซลล์ไขกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซลล์เม็ดเลือดด้วย อย่างไรก็ดีความสำเร็จนี้ยังอยู่ในระยะต้นเท่านั้น และยังคงต้องใช้เวลานานอีกหลายปี ในการที่จะนำสเต็มเซลล์มาผลิตเป็นกลุ่มเลือด เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐ (มติชน เสาร์ที่ 5 กันยายน 2544 หน้า 18)





เครื่องต้นแบบอบข้าวให้เกษตรกร

อาจารย์ สมโชติ รัตนผุสดีกุล และอาจารย์วัชรชัย ภุมรินทร์ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ร่วมกันสร้าง “เครื่องอบข้าวเปลือก” ซึ่งได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น ประเภทบุคลากรของสถาบัน จากการประกวดรางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยีประจำปี 2544 หลักการทำงานของเครื่องอบข้าวเปลือก ใช้หลักการทำงานแบบให้เมล็ดข้าวมีการไหลเวียน (Recirculating flow) คือเมล็ดข้าวเปลือกความชื้นสูงจะไหลตามแนวดิ่งจากด้านบนของถังรูปทรงกระบอกที่แบ่งเป็น 3 ชั้น ตามแนวรัศมีชั้นในสุด จะเป็นห้องอากาศร้อนอุณหภูมิประมาณ 100-115 องศาเซลเซียส และในช่วงใกล้สมดุล ใช้อุณหภูมิของอากาศไม่เกิน 90-100 องศาเซลเซียส ข้าวเปลือกที่ออกมานี้จะถูกนำมาปรับสภาพอุณหภูมิและความชื้นในเมล็ดที่ต่ำลงแล้ว จึงส่งกลับเข้าถังอบแห้งในระยะต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เลขที่ 1581 ถ.พิบูลสงคราม บางซื่อ กทม. 10800 โทร. 0-2587-4335 โทรสาร 0-2587-4335 หรือ sct@kmitnb.ac.th (สยามรัฐ เสาร์ที่ 8 กันยายน 2544 หน้า 20)





ยาโรคหัวใจช่วยกันสมองเสื่อม

ค้นพบหัวใจกับสมองของเราผูกพันกันอย่างใกล้ชิด ถ้าหากหัวใจหยุดเต้นสมองขาดเลือดเกิน 4 นาที สมองก็จะต้องพลอยตายตามไปด้วย และยังพบอีกว่าสมองกับหัวใจผูกพันกันใกล้ชิดมากกว่านั้น ซึ่งแพทย์โรคหัวใจทราบดีว่า ยาโรคหัวใจพวกยาลดไขมันในเลือดและป้องกันโรคหัวใจ พลอยเป็นเหมือนเกราะกันโรคสมองเสื่อมให้กับคนผู้นั้นด้วย จากการศึกษาของโรงเรียนแพทย์บอสตัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 ด้วยการค้นคว้าทบทวนข้อมูลของคนไข้โรคหัวใจในอังกฤษที่มีอายุสูงกว่า 50 ปีขึ้นไปได้พบว่า คนไข้ที่ใช้ยาลดไขมันเหล่านั้นเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่เคยใช้ยาดังกล่าวถึง 70 % (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ยืดชีวิตส้มบางมดไม่ให้สูญ ถมร่องสวนเปลี่ยนเป็นไร่

นายวิบูลย์ นพคุณ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ปลูกส้มบางมดในเขตทุ่งครุเหลือเพียง 100 ไร่ จึงได้หารือกับสมาชิก กทม. (สก.) เขตทุ่งครุ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) เพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพพื้นที่สวนส้มบางมดให้กลับมาอีก ซึ่งในขณะนี้ มจธ. ได้รับงบประมาณเพื่อวิจัยปรับสภาพดินและน้ำในพื้นที่สวนส้มบางมด จำนวน 5 ล้านบาท การวิจัยเบื้องต้นเห็นว่าควรเปลี่ยนสภาพสวนส้มมาเป็นไร่ส้มแทน จะต้องยกร่องสวนให้สูงขึ้นประมาณ 150 เซนติเมตรแล้วปลูกส้มใหม่ เพื่อไม่ให้ส้มโดนน้ำเสีย และจะใช้วิธีติดสปริงเกอร์ไว้ที่โคนต้น ขณะนี้กำลังทดลองอยู่ 2 แปลงเพื่อดูผลก่อน (เดลินิวส์ พุธที่ 12 กันยายน 2544 หน้า 30)





อย.แจงเกณฑ์จัดยาซีบูทรามีน ‘ลดอ้วน’

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามที่ “มติชน” เสนอข่าวมีผู้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับยา “ซีบูทรามิน” ซึ่งเป็นยารักษาเสริมกำลัง (Supportive treatment) ในแผนการลดน้ำหนักสำหรับโรคอ้วนหรือผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินที่บริษัทยาเพิ่งจะนำเข้ามาขายในประเทศไทยล่าสุดว่า ควรจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมากกว่ายาควบคุมพิเศษนั้น น.พ.วิชัย กล่าวว่า อย.ได้กำหนดมาตรการควบคุมยาซีบูทรามีนอย่างเข้มงวด โดยจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และขายได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ผู้นำเข้าต้องรายงานการนำเข้าทุกครั้ง รายงานการจำหน่ายทุกเดือน รวมทั้งต้องอยู่ภายใต้มาตรการติดตามความปลอดภัยในสถานพยาบาล หรือเอสเอ็มพี เป็นเวลา 2 ปี โดย อย.อนุมัติให้ยาดังกล่าวขึ้นทะเบียนไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม และเพิ่งมีการสั่งยาเข้ามา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา (มติชน อาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2544 หน้า 7)





‘โรคเอ๋อ’ รักษาได้-ติงพ่อแม่ชอบละเลย

นายภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคปัญญาอ่อนหรือโรคเอ๋อ มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ 1. การขาดสารไอโอดีน และ 2. เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาการของต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์มารดา โดยทั้งสองสาเหตุนี้สามารถป้องกันและรักษาได้ ถ้าทารกได้รับการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ หรือภายใน 1 เดือนแรกหลังคลอด โดยการเจาะเลือดจากส้นเท้าหรือหลังมือของทารกแรกเกิดเพียง 2-3 หยด แล้วนำไปตรวจวินิจฉัยระดับไทรอยด์ของฮอร์โมน ซึ่งโรคเอ๋อบางชนิดสามารถป้องกันและรักษาไม่ให้เกิดขึ้นได้ (มติชน พุธที่ 5 กันยายน 2540 หน้า 7)





ขุดทองคำที่พิจิตรเจอแล้วหมื่น ล.

ขุดทองคำที่พิจิตรเจอแล้วหมื่น ล. นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.อุตสาหกรรม เผยว่า บริษัทอิศราไมนิ่ง จำกัด ที่ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตเหมืองทองคำที่เขาพนมพา ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ภายใต้ชื่อ “แหล่งทองคำชาตรี” ได้แจ้งให้ทราบว่า บริษัทพร้อมที่จะผลิตทองคำแห่งแรกในเดือน ธ.ค. 44 หลังจากที่ใช้เงินลงทุนสำรวจและทำเหมืองไปทั้งสิ้น 250 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปลายปี 44 เป็นต้นไป บริษัทจะทุ่มเงินลงทุนทำเหมืองอีก 8,000 ล้านบาท และพบว่าสายแร่ทองคำในพื้นที่เป็นสายแร่ ควอตซ์ แทรกอยู่ในหินภูเขาไฟมีปริมาณสินแร่ 14.5 ล้านตันมีปริมาณทองคำเฉลี่ย2.6 กรัมและ 13.3 กรัมต่อสินแร่หนัก 1 ตัน สามารถสกัดเป็นโลหะทองคำได้ 32 ตัน โลหะเงิน 98 ตันมูลค่า 10,000 ล้านบาท และ 600 ล้านบาทตามลำดับ จึงเท่ากับว่าแหล่งทองคำชาตรีมีมูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 1,200 ไร่ จากที่บริษัทได้สิทธิในพื้นสำรวจ 100,000 ไร่ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2544 หน้า 9)





น้ำนมแม่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เก็บไว้ได้นานถึงสามเดือน

แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวให้ความรู้ว่า เด็กที่กินนมแม่มีพัฒนาการทางสมองดีกว่าเด็กที่กินนมดัดแปลงสำหรับทารก การให้นมแม่โดยตรงนอกจากช่วยพัฒนาสมองลูกแล้ว ยังสร้างความผูกพันทางสายใยของความรักระหว่างแม่กับลูก และช่วยประหยัดด้วย สำหรับแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านนั้น สามารถบีบน้ำนมหรือคัดน้ำนมใส่ถุงแช่แข็งในตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน 3 เดือน น้ำมมที่บีบออกจากเต้าสามารถเก็บอยู่ในอุณหภูมิห้องธรรมดาได้ 8 ชั่วโมง(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2544 หน้า 7)





กินช็อกโกแลตบำรุงหัวใจ ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน

วิเคราะห์พบช็อกโกแลต นอกhttp://www.kmutt.ac.th/techFair/จากจะเป็นขนมกินอร่อยถูกปากคนจำนวนมากแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงรักษาหลอดเลือดหัวใจ ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจวายและอัมพาตอีกด้วย นักโภชนาการศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย รายงานต่อที่ประชุมว่า ช็อกโกแลตมีสารประกอบที่เรียกว่า “ฟลาโวนอยต์” อันมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้หัวใจวายและเป็นอัมพาตได้ ทั้งยังช่วยให้เลือดลมเดินดี การบริโภคช็อกโกแลตซึ่งอุดมด้วย ฟลาโวนอยต์ ซึ่งช่วยบำรุงหลอดเลือดหัวใจ ไม่เพียงแต่พบว่ามีตัวล้างพิษมากขึ้นเมื่อกินช็อกโกแลตเท่านั้น หากยังพบความเปลี่ยนแปลงของสารประกอบบางอย่างที่บำรุงหลอดเลือดขึ้นด้วย (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 6 กันยายน 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215