หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 2002-01-22

ข่าวการศึกษา

ทบวงจับมือไจก้ารุกศูนย์พัฒนาวิศวอาเซียน
“สุธรรม”รับร่างพ.ร.บ.อุดมฯอาจโมฆะ / ชี้โครงสร้างศธ.ใหม่แค่แนวคิดบางคน
นายกฯนัดคุยกับอธิการฯ-น.ศ.
“สุวิทย์” ยันร่างพ.ร.บ.อุดมฯไม่โมฆะ
สมศ.ยอมมหา’ลัยตั้งดัชนีชี้วัดเอง
ทบวงฯยืนยันโครงสร้างเดิม
“สุวิทย์” ขอเวลาเก็บข้อมูลตัดสินใจฟื้นไม้เรียว
“ทักษิณ”ขอข้อมูลเงินเดือนก่อนถก “เพิ่มซี”
ร.ร.นานาชาติรุกธุรกิจการศึกษา ระบุเด็ก-ผู้ปกครองตอบรับมากขึ้น
ชี้สอนแบบ CHILD CENTER มีปัญหาเพราะครูไม่เข้าใจ
ผู้ประกอบการชี้เรียนภาษาไม่ตกงาน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ถอดรหัสมนุษย์ฉลองรางวัล 10 ปีเจ้าฟ้ามหิดล
สสวท.พลิกโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม ใช้หุ่นยนต์สอนวิทยาศาสตร์
5 อันดับเทคโนโลยีร้อนปี 2002
เผยโครงสร้างกระทรวงไอที
10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อพวช.โชว์ผลงานทางวิทย์ในงาน “มข.”
เด็กไทยร่วมเข้าประชุมสิ่งแวดล้อมโลก
เตรียมรับรองคุณภาพ 3 สมุนไพรไทย ขมิ้นชัน-ฟ้าทลายโจร-ชุมเห็ดเทศ
เปิดความลับทางช้างเผือกไขปริศนามืดกลางกาแล็กซี
ห้องจำลองการผ่าตัดข้อเข่าระบบวีดิทัศน์แห่งแรกในไทย
พบจุลินทรีย์พันธุ์นอกพิภพยืนชีวิตโดดไร้ไม่พึ่งอากาศ
อย.กาหัว 3 สารอันตรายใครดื้อคุก
ค้นพบยาใหม่ Arixtra รักษาหลอดเลือดดำอุดตัน
ชี้ปัญหาสำคัญคนไทยยื่นจด “สิทธิบัตร” น้อย ไม่เข้าใจ-รัฐขาดปชส.
รอยเตอร์เลือกไทยเป็นศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์

ข่าววิจัย/พัฒนา

สกว.จัดระบบฐานข้อมูลเพาะปลูกออนไลน์ผ่านศูนย์เทคโนโลยีหมู่บ้าน
ตระกูล “สุภา” เปิดตัวซุปเปอร์ไบโอดีเซล
เรือแสงอาทิตย์
“เจลฟ้าทะลายโจร” รักษาโรคเหงือก มหิดลคว้ารางวัล-จดสิทธิบัตรแล้ว
กรมวิทย์ยกชั้นสมุนไพรไทยมอบเครื่องหมาย “รับประกัน”
ทีมวิจัยเมืองผู้ดีค้นพบผ้าพันแผลมหัศจรรย์!
กระเป๋าอนามัย
ผลการศึกษาระบุเครื่องล่นสวนสนุกอันตรายต่อสุขภาพ

ข่าวทั่วไป

เลี้ยงหมาต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนโดนจับ-ปรับ
ปลุกสำนึกคนกรุงร่วมอนุรักษ์หม้อข้าวใบใหญ่
คลอดข้อบัญญัติคุมถนนรัชดา-พระราม3 ห้ามสร้างโรงแรม-อาคารพาณิชย์
จัดมหกรรม “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หวังประเมินผล-หาแนวทางปรับปรุง
ททท.จัดแสงเสียงขนาดเล็กชมมรดกโลก
ตื่น “บ้านเชียง2”ขอกรมศิลป์ขุดต่อ
องค์การพัฒนาเทคโนฯเปิดเว็บให้ข้อมูลเรื่องเพศแก่วัยรุ่นไทย





ข่าวการศึกษา


ทบวงจับมือไจก้ารุกศูนย์พัฒนาวิศวอาเซียน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ได้เห็นชอบในหลักการเป็นกรณีพิเศษให้กรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับทบวงฯ ดำเนินงานในความร่วมมือกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) ในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์ข้ามพรหมแดนภายใต้ชื่อ Asean University Network / Southeast Asia Engineering Education Development Network (AUN/SEED-Net) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านวิศวกรรมในกลุ่มประเทศเอเซียอาคเนย์ และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรม และการศึกษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการลงนามความร่วมมือไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 เมย. 2544 ที่ผ่านมา โดยได้ตั้งศูนย์สำนักงานกลางที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 10 มกราคม 2545 หน้า 8)





“สุธรรม”รับร่างพ.ร.บ.อุดมฯอาจโมฆะ / ชี้โครงสร้างศธ.ใหม่แค่แนวคิดบางคน

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวชี้แจงกรณีที่มีนักกฎหมายชี้ว่า การที่คณะรัฐมนตรีผ่านร่าง พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ….. ตามที่ทบวงฯเสนอ อาจเป็นโมฆะภายหลัง เพราะขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงต่างๆ ซึ่งในอนาคตอาจไม่มีกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ให้รัฐมนตรีกระทรวงนี้เป็นผู้รักษาการ พ.ร.บ. ดังกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจต้องแก้ไขในชั้นกฤษฎีกา และคงต้องดูว่าการแก้ไขกฎหมายโครงสร้างกระทรวงการศึกษาฯ จะส่งผลให้ร่างกฎหมายทั้ง 23 ฉบับมีปัญหาด้วยหรือไม่ ถ้ากระทบคงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ (มติชน พฤหัสบดี ที่ 17 มกราคม 2545 หน้า 10)





นายกฯนัดคุยกับอธิการฯ-น.ศ.

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทบวงฯเชิญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน มาร่วมหารือเพื่อหาแนวทางที่สถาบันอุดมศึกษาจะช่วยเหลือในการปรับปรุงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ อยากพบนิสิตนักศึกษาชั้นปี 3-4 ด้วยตนเอง เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียน การจัดกิจกรรมเพื่อการสร้างงานสร้างรายได้ การจัดนิสิตนักศึกษาลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้ติดตามดูว่า รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง และตรงกับความต้องการของพื้นที่หรือไม่ รวมถึง เพื่อให้นิสิตนักศึกษาเกิดความเอื้ออาทรต่อสังคม (มติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2544 หน้า 10)





“สุวิทย์” ยันร่างพ.ร.บ.อุดมฯไม่โมฆะ

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวยืนยันว่า การที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม อนุมัติร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษาเอกชนโดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2545 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นผู้รักษาการจะไม่มีผลเป็นโมฆะตามที่มีผู้ชี้ประเด็น แม้ขณะนี้จะอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกระทรวงต่างๆ ใหม่ซึ่งในอนาคตอาจไม่มีกระทรวงการศึกษาฯ ก็ตาม (มติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 10)





สมศ.ยอมมหา’ลัยตั้งดัชนีชี้วัดเอง

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการประชุมชี้แจงคณะกรรมการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เสนอนายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการ สมศ.ว่า ในการส่งคณะกรรมการตรวจสอบการประกันคุณภาพภายนอกเข้าไปตรวจสอบสถาบันอุดมศึกษานั้น ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการต้องมีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ที่ได้รับการพัฒนาเรื่องการประกันคุณภาพภายนอก ได้รับการอบรมวิธีการตรวจสอบ และการประเมินวิธีการประกันคุณภาพ อย่างน้อย 1 คนในแต่ละชุด โดยทบวงฯ จะเสนอรายชื่ออาจารย์ในทุกสาขาวิชาที่พัฒนาแล้วให้ สมศ.ประมาณ 400 คน ส่วนสาขาที่มีสภาวิชาชีพกำกับ เช่น แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น จะต้องมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพเหล่านี้เข้าร่วมอย่างน้อย 1 คน ทั้งนี้ การตรวจสอบภายนอกในระยะแรกควรทำในลักษณะแนะนำเชิงพัฒนามากกว่าจับผิด ซึ่ง สมศ.เห็นด้วย สำหรับดัชนีชี้วัดที่ สมศ. กำหนด และมีเสียงวิจารณ์ค่อนข้างมากนั้น ขณะนี้ สมศ. ได้ปรับให้เหลือ 20 กว่าตัว ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดพื้นฐานที่เป็นเกณฑ์กลางไว้ 1 กลุ่ม ส่วนดัชนีชี้วัดที่จะวัดในสาขาวิชาต่างๆ เช่น แพทย์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น จะให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้กำหนดเอง โดยแนวทางดังกล่าวตนจะนำเสนอ ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯ และในการประชุม สมศ. ครั้งต่อไปจะตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน (มติชน จันทร์ที่ 14 มกราคม 2544 หน้า 18)





ทบวงฯยืนยันโครงสร้างเดิม

นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระทรวงการศึกษาที่ได้ทำไปแล้ว ว่า เรื่องนี้จะต้องไปดูเชิงเทคนิคว่า ถ้าปรับปรุงแล้วจะส่งผลกระทบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับอื่นๆ หรือไม่ แต่ในส่วนของทบวงฯ ยังยืนยันตามความเห็นเดิมและไม่ขัดข้องกับกฎหมายทั้ง 23 ฉบับ ส่วนที่หลายฝ่ายเห็นว่าหากมีการปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่จะส่งผลให้การดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวตนเห็นว่าไม่โมฆะ เพราะทุกหน่วยงานจะต้องปรับการทำงานในทุกส่วนให้สอดคล้องกันไปแต่เวลานี้ทุกอย่างก็ยังต้องดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอยู่ ซึ่งหากจะต้องมีการแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างก็ต้องดูว่าโครงสร้างจะกระทบส่วนอื่นๆ หรือไม่ และจะต้องไปแก้ไขในส่วนใดบ้าง แต่โดยหลักการเราจะต้องปรับโครงสร้างให้เสร็จก่อน จากนั้นงานอื่นๆ ก็จะเดินไปได้ และโดยส่วนตัวตนเห็นว่าอะไรที่ทำไปได้ก่อนก็ควรจะทำเพื่อให้ภาระการศึกษาที่สังคมมอบหมายมาเดินไปข้างหน้า ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาหารือกันอีกครั้ง (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 17 มกราคม 2545 หน้า 12)





“สุวิทย์” ขอเวลาเก็บข้อมูลตัดสินใจฟื้นไม้เรียว

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวคิดที่จะรื้อฟื้นการใช้ไม้เรียวลงโทษนักเรียนว่า ตนได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในการประชุมปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษาฯ ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีครูมาร่วมประชุมกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งตนได้ถามครูว่า การหักไม้เรียวดีแล้ว หรือว่าการจะเหลาไม้เรียวกลับมาใช้ใหม่ ปรากฏว่าครูปรบมือเห็นด้วยกับการนำไม้เรียวกลับมาใช้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ตนจะรับฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายก่อน เมื่อเก็บข้อมูลได้เพียงพอแล้วจึงจะนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงในเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่ (เดลินิวส์ อังคารที่ 15 มกราคม 2545 หน้า 10)





“ทักษิณ”ขอข้อมูลเงินเดือนก่อนถก “เพิ่มซี”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู(ก.ค.) ไปรวบรวมข้อมูลอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้บริหารนอกสถานศึกษาที่รัฐต้องรับภาระมาดู เพื่อเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หากจะมีการพิจารณาเรื่องการขยับซีขึ้นอีก 1 ระดับ เพราะจากการหารือทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ยอมรับตรงกันว่ามีปัญหาความลักลั่นในเรื่องตำแหน่งที่สะสมมานานจริง สมควรได้รับการแก้ไข มิฉะนั้นอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อการเลื่อนไหลตำแหน่งเข้าสู่โครงสร้างกระทรวงใหม่ (มติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 10)





ร.ร.นานาชาติรุกธุรกิจการศึกษา ระบุเด็ก-ผู้ปกครองตอบรับมากขึ้น

เซ็นทรัลจับมือสถาบันการศึกษานานาชาติ จัดนิทรรศการแนะนำระบบการศึกษา 12-13 ม.ค. นี้ เผยผู้ปกครองและเด็กไทยเริ่มตอบรับการศึกษานานาชาติมากขึ้น เนื่องจากมีจุดเด่นที่เรียนจากของจริง คิดเป็นทำเป็น ผู้เรียนได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาที่ 2 จบแล้วมีมาตรฐานสูงกว่าระบบปกติ ทั้งค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในต่างประเทศถึง 40-80% ขณะที่โรงเรียนไทยเริ่มปรับไปสู่ระบบนานาชาติมากขึ้น ด้วยการดึงอาจารย์ต่างชาติเข้ามาสอนเยอะขึ้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้ผู้ปกครองจำนวนมาก ได้ให้ความสนใจระบบการศึกษาแบบนานาชาติ ที่ใช้ภาษาต่างประเทศในการเรียนการสอน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความคิดใน 2 แง่มุมคือ อยากลงทุนส่งบุตรหลานไปศึกษาต่างประเทศ เนื่องจากชอบระบบการศึกษาที่มุ่งสอนให้เด็กและเยาวชนคิดเองทำเองฝึกให้รู้จักการเสนอความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่านี้คือจุดเด่นของระบบการศึกษาต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้ว่ามีโรงเรียนนานาชาติในไทย และอยากให้บุตรหลานได้เรียนระบบนานาชาติ ซึ่งต้องการให้ได้เรียนทั้งภาษาต่างประเทศกับภาษาไทยพร้อมกันไปด้วย เพื่อให้เด็กได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยเพราะเมื่อมีวัยสูงขึ้นจะไม่รู้สึกแปลกแยกกับวิถีชีวิตแบบไทย แต่ก็ไม่มีข้อมูลว่าขณะนี้ ระบบการศึกษาของไทยเป็นอย่างไร และการศึกษาในระบบเดิมจะมีอิทธิพลอย่างไรในการสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 12 มกราคม 2545 หน้า 6)





ชี้สอนแบบ CHILD CENTER มีปัญหาเพราะครูไม่เข้าใจ

ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวถึงกระแสด้านการเรียนรู้ โดยการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่า ครู เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง ยังมีความพร้อมไม่เท่ากัน ครูปฏิบัติไม่ถูกต้อง มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงต้องใช้เวลาเพื่อให้แต่ละฝ่ายได้มีความเข้าใจและการปรับตัว ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า จะต้องมีการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบก่อน รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวว่า การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลางในบ้านเรายังมีจุดบอดที่ผู้นำแนวคิดไปเผยแพร่ไม่เข้าใจ ครูจะต้องบูรณาการใช้วิธีการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ครูยังไม่เข้าใจรูปแบบการเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นอย่างไร ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะใช้วิธีการสอนอย่างไร ดังนั้นครูจะต้องเตรียมความพร้อมก่อน (เดลินิวส์ อังคารที่ 15 มกราคม 2545 หน้า 10)





ผู้ประกอบการชี้เรียนภาษาไม่ตกงาน

สวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สำรวจกรณี “เรียนอะไร? จึงจะไม่ตกงาน” จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศทั้งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2,394 คน และผู้ประกอบการจำนวน 480 หน่วยงาน ระหว่างวันที่ 2-8 มกราคม 2545 พบว่า สาขาวิชาที่นักเรียนชายอยากเรียนต่อระดับอุดมศึกษา อันดับ 1 ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ ส่วนสาขาวิชาที่นักเรียนหญิงอยากเรียนต่อระดับอุดมศึกษา อันดับ 1 เศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 30.57 สำหรับสาขาวิชาที่นักเรียนคิดว่าเรียนแล้วไม่ตกงาน อันดับ 1 แพทย์/พยาบาล ส่วนทัศนะของผู้ประกอบการเห็นว่า นักเรียนนักศึกษาตอนปลายควรเลือกเรียนสาขาวิชาอะไร จึงจะไม่ตกงาน อันดับ 1 ร้อยละ 34.38 เห็นว่าควรเรียนด้านภาษา (โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ) เพราะจำเป็นต่อการติดต่อสื่อสารกับต่างชาติ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 10 มกราคม 2545 หน้า 8)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ถอดรหัสมนุษย์ฉลองรางวัล 10 ปีเจ้าฟ้ามหิดล

น.พ.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่มีการก่อตั้งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลครบรอบ 10 ปี ดังนั้นมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก จึงร่วมกันจัดประชุมวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “ผลกระทบของโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ต่ออนาคตการแพทย์และสาธารณสุข” ในระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ. ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขของไทย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 19 มกราคม 2545 หน้า 26)





สสวท.พลิกโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม ใช้หุ่นยนต์สอนวิทยาศาสตร์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เปิดมิติใหม่ให้แก่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในบ้านเราด้วย โครงการแข่งขันหุ่นยนต์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องในโอกาสวันสถาปนา สสวท. ครบ 30 ปี เป็นการนำร่องหุ่นยนต์มาช่วยเสริมสร้างบรรยากาศวิชาวิทยาศาสตร์ พร้อมกับกระตุ้นทักษะด้านฟิสิกส์ไอที และคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียนไปในตัว การดำเนินงานโครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ และอุปกรณ์สำหรับใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้การบังคับหุ่นยนต์ให้แก่ครู เพื่อใช้เป็นแนวทางสอนนักเรียน ระยะที่ 2 จัดอบรมครูจากศูนย์จัดแข่งขัน 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ระยอง นครศรีธรรมราช และศูนย์กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ระยะที่ 3 คัดเลือกนักเรียนศูนย์ละ 1 ทีม ทีมละ 3 คน และระยะที่ 4 จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั้ง 10 ศูนย์ ในวันที่ 1 กันยายน 2545





5 อันดับเทคโนโลยีร้อนปี 2002

ไอดีจีนิวส์ เซอร์วิส จัดอันดับกลุ่มเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปี พ.ศ.2545 5 อันดับประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยในเครือข่ายและระบบ ให้ปี พ.ศ.2545 กลายเป็นปีทองสำหรับผู้จัดหาระบบรักษาความปลอดภัยทุกประเภท 2. ความร่วมมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อธุรกิจเดินทาง ส่งผลให้การประชุมทางวิดีโอและออนไลน์กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับแรงกระตุ้นอย่างมาก 3. เทคโนโลยีพีทูพี (Peer to Peer) เทคโนโลยีพีทูพี ซึ่งเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ากับระบบของลูกค้าโดยตรงแทนที่จะต้องพึ่งพาเครื่องแม่ข่าย จัดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีบทบาทมากที่สุด โดย บรรดาผู้ที่สนับสนุนเทคโนโลยีนี้อ้างว่าไม่เพียงแต่จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบด้านคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบทางสังคมด้วย 4. อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ทุกคนต่างต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เคยหยุดคิดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะเทคโนโลยีที่เปิดตัวเมื่อปี 2544 กำลังจะแสดงให้เห็นผลในปี 2545 แล้ว 5. บริการเสียงผ่านเน็ตเทคโนโลยีบริการเสียงผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะปรับตัวพร้อมรับปี พ.ศ.2545 ด้วยหลายๆ ปัจจัย โดยการเริ่มต้นที่ระบบปฏิบัติการวินโดว์สเอ็กซ์พี (Windows XP) ของไมโครซอฟท์ ที่เพิ่มอุปกรณ์เสริมเพื่อปรับปรุงระบบเสียงตามสาย และลดความกังวลด้านคุณภาพบางอย่าง (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 10 มกราคม 2545 หน้า พิเศษ 5)





เผยโครงสร้างกระทรวงไอที

น.ต.ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น. กรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบราชการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกระทรวงไอที หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ว่า สำหรับโครงสร้างกระทรวงไอทีในเบื้องต้นจะมีประมาณ 3-4 กรมและสำนักงาน จำนวนบุคลากรประมาณ 2,000 คน โดยจะมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ โดยจะดึงสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยหรือซอฟต์แวร์ปาร์ค มาสังกัดกระทรวงใหม่ด้วย หน้าที่ของกระทรวงไอที กำหนดให้ทำหน้าที่กระตุ้นให้ตื่นตัวในการใช้เครื่องมือไอทีพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ชรัฐบาลไอที ผลักดันโครงสร้างต่างๆ ของระบบสารสนเทศภาครัฐไปสู่ระบบเดียวกัน (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 17 มกราคม 2545 หน้า 16)





10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สรุปผลการโหวต 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2544 ผลปรากฏว่า อันดับ 1 ก็คือ แอนแทรกซ์ : อาวุธชีวภาพ ข่าวอันดับ 2 คือข่าวฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกจากกลุ่มดาวสิงโต ข่าวดังอันดับ 3 คือ การตื่นตัวเรื่องยาวี-1 อิมมูนิเตอร์ ซึ่งสร้างความหวังให้กับผู้ติดเชื้อเอดส์ ส่วนอันดับ 4 คือข่าวการจดเครื่องหมายการค้าข้าว “จัสมาติ” ของบริษัทในสหรัฐ ที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยจนปลูกได้ในเขตหนาว ข่าวดังอันดับ 5 คือ อะมีบากับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเคยเป็นข่าวครึกโครมเมื่อพบผู้ป่วยได้รับเชื้ออะมีบาจากการสำลักน้ำ ข่าวดังอันดับ 6 คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ผลงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลระดับโลกในงานนิทรรศการ Eureka 2000 ที่ประเทศเบลเยี่ยม อันดับ 7 คือ ข่าวดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 13 ปี อันดับ 8 คือมติแพทยสภาให้โคลนนิ่งสัตว์ห้ามโคลนนิ่งคน โดยลงมติออกเป็นข้อบังคับจริยธรรมของแพทยสภาอันดับ 9 คือข่าวเที่ยวบินสุดท้ายของสถานีอวกาศเมียร์ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกด้านอวกาศและเป็นตัวแทนความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย และข่าวดังอันดับสุดท้าย คือข่าวมหันตภัยร้ายในเนื้อหมู สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบตาอโกนิสต์





10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 17 มกราคม 2545 หน้า 16)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สรุปผลการโหวต 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2544 ผลปรากฏว่า อันดับ 1 ก็คือ แอนแทรกซ์ : อาวุธชีวภาพ ข่าวอันดับ 2 คือข่าวฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกจากกลุ่มดาวสิงโต ข่าวดังอันดับ 3 คือ การตื่นตัวเรื่องยาวี-1 อิมมูนิเตอร์ ซึ่งสร้างความหวังให้กับผู้ติดเชื้อเอดส์ ส่วนอันดับ 4 คือข่าวการจดเครื่องหมายการค้าข้าว “จัสมาติ” ของบริษัทในสหรัฐ ที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยจนปลูกได้ในเขตหนาว ข่าวดังอันดับ 5 คือ อะมีบากับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเคยเป็นข่าวครึกโครมเมื่อพบผู้ป่วยได้รับเชื้ออะมีบาจากการสำลักน้ำ ข่าวดังอันดับ 6 คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ผลงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลระดับโลกในงานนิทรรศการ Eureka 2000 ที่ประเทศเบลเยี่ยม อันดับ 7 คือ ข่าวดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 13 ปี อันดับ 8 คือมติแพทยสภาให้โคลนนิ่งสัตว์ห้ามโคลนนิ่งคน โดยลงมติออกเป็นข้อบังคับจริยธรรมของแพทยสภาอันดับ 9 คือข่าวเที่ยวบินสุดท้ายของสถานีอวกาศเมียร์ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกด้านอวกาศและเป็นตัวแทนความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย และข่าวดังอันดับสุดท้าย คือข่าวมหันตภัยร้ายในเนื้อหมู สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบตาอโกนิสต์





อพวช.โชว์ผลงานทางวิทย์ในงาน “มข.”

นายศุภชัย สิทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม องค์การพิพิธภัณพ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 24-27 มกราคม 2545 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะจัดงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปี 2545 ณ ศูนย์การประชุมอเนกประสงค์ กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ อพวช. ได้นำผลงานทางวิทยาศาสตร์กว่า 10 ชุด อาทิ ลูกบอลพลาสมา, จักรยานกำเนิดพลังงาน, ภาพ 3 มิติ, จานกระซิบ, ลูกบอลเบอร์นูลลีย์, หน้ากากพิศวง, กระจก หลอกลวง, จักรยานเสียงเพลง เป็นต้น นายปริญญา จินดาประเสริฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะนำผลงานทางวิทยาศาสตร์ทั้งที่ได้จดสิทธิบัตรและกำลังยื่นจดสิทธิบัตรมาแสดงในครั้งนี้ด้วย อาทิ เครื่องทำเมล็ดคั่วข้าวโพด, เครื่องทำขนมจีน, เครื่องให้อาหารปลา (มติชน อาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2545 หน้า 6)





เด็กไทยร่วมเข้าประชุมสิ่งแวดล้อมโลก

ด.ญ.สิรินทรา ฐิตะดิลก (น้องแฟร์) นักเรียนชั้น ป.5 ร.ร.เรวดี ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าประชุม International Children’s Conference on Environment 2002 ณ ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2545 เพื่อให้เด็กๆ จากทุกเชื้อชาติได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (สยามรัฐ)





เตรียมรับรองคุณภาพ 3 สมุนไพรไทย ขมิ้นชัน-ฟ้าทลายโจร-ชุมเห็ดเทศ

นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สมุนไพรที่จะให้การตรวจวิเคราะห์รับรองคุณภาพในปีนี้มี 3 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทลายโจร และชุมเห็ดเทศ ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้ได้จัดมาตรฐานสมุนไพรแล้วโดยศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสมุนไพรจะให้การรับรองทั้งผู้ประกอบการทั่วไป โรงพยาบาล สถานพยาบาล กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแม่บ้านที่มีแหล่งผลิตชัดเจน อย่างไรก็ตามก่อนจะออกใบรับรองให้ จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ 2 ครั้งหากตรวจวิเคราะห์ผ่านตามเกณฑ์จะได้รับเครื่องหมายสัญลักษณ์รับรองคุณภาพสมุนไพรไทย ซึ่งสามารถนำใบรับรองนี้ไปประกาศหรือโฆษณาได้ แต่ต้องต่ออายุใบรับรองทุกปี ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0-2589-9866 (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 17 มกราคม 2545 หน้า 27)





เปิดความลับทางช้างเผือกไขปริศนามืดกลางกาแล็กซี

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ไมเคิลเหลียว นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาอิ สหรัฐ เปิดเผยต่อที่ประชุมแห่งชาติของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันว่า สามารถตรวจจับเทหวัตถุซึ่งดาวแคระสีน้ำตาลที่มีลักษณะคล้ายโลก และมีวิถีโคจรอยู่ใกล้กับดวงดาวที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ เทหวัตถุนี้กลายเป็นดาวที่มีวงโคจรใกล้กับดาวแม่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา ดาวแม่ของดาวแคระสีน้ำตาลดวงนี้ เป็นดาวฤกษ์ที่มีลักษณะพื้นฐานเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักรวาลที่โลกมนุษย์โครจรอยู่เป็นความเหมือนจนอาจกล่าวได้ว่า ดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นดาวแฝดของดวงอาทิตย์ การค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ว่าระบบสุริยะที่ก่อตัวขึ้นรอบดาวฤกษ์ มีรูปแบบหลากหลายต่างๆ กันไป และในระบบสุริยะดังกล่าวน่าจะมีดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกโคจรอยู่ด้วย (มนติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 7)





ห้องจำลองการผ่าตัดข้อเข่าระบบวีดิทัศน์แห่งแรกในไทย

เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ เป็นประธานเปิด “John Center” ศูนย์โรคข้อและกระดูก ห้องจำลองการผ่าตัดข้อเข่าโดยวิธีการส่องกล้องผ่านระบบวีดิทัศน์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บริเวณชั้น G โรงพยาบาลปิยะเวท โดย นายยุทธนา ปัญจมาลา ผอ.รพ.ปิยะเวท และทีมแพทย์ออโธปิดิกส์ พร้อมชมห้องจำลองการผ่าตัดส่งกล้องการรักษาข้อแห่งแรกในประเทศไทย โดยการเปิด “Joint Center” เพื่อต้องการเผยแพร่สาระความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ และผู้ที่ประสบปัญหาในเรื่องข้อเข่า ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ห้องจำลองการผ่าตัดนี้เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน (สยามรัฐ พุธที่ 16 มกราคม 2545 หน้า 24)





พบจุลินทรีย์พันธุ์นอกพิภพยืนชีวิตโดดไร้ไม่พึ่งอากาศ

นักชีวธรณีวิทยา พบจุลินทรีย์ซึ่งมีชื่อว่า “อาร์เชีย” ในพื้นที่ใต้ดินของภูเขาบีเวอร์เฮด ในเมืองไอดาโฮ รัฐเดนเวอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตร้อน จากการวิเคราะห์พบว่า มันเติบโตโดยอาศัยเพียงแก๊สไฮโดรเจน ซึ่งเกิดจากน้ำร้อนใต้ชั้นหินลึกของภูเขา ซึ่งมีก๊าซมีเทนจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากกระบวนการเคมีที่ไม่ทราบสาเหตุ และนักชีวธรณีวิทยาพบว่า จุลินทรีย์ประเภทนี้ยังมีลักษณะคล้ายที่มีอยู่บนดาวพระเคราะห์นอกโลก อย่างเช่น ดาวอังคาร และดาวยูโรปา ดาวบริวารของดาวพฤหัสฯ ซึ่งดาวพระเคราะห์ทั้งสองมีลักษณะร้อนจัดและเย็นจัด (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 15)





อย.กาหัว 3 สารอันตรายใครดื้อคุก

ภญ.ระวิวรรณ ปรีดีสนิท รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศห้ามใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวหนังเย็น ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ และเมทานอล เป็นสารขับดันในผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นอัดก๊าซ อาทิ สเปรย์แต่งผม ยากำจัดแมลง น้ำยาล้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ น้ำยาล้างหัวเทป ด้วยสารดังกล่าวล้วนเป็นอันตราย โดยสารกลุ่มคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ก่อให้เกิดการทำลายชั้นโอโซน ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่จะดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเลตโดยเฉพาะ UVB ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายทางชีวภาพในสัตว์และพืช สารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ ก่อให้เกิดมะเร็ง เนื้องอก และทำให้การสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์มีรูปร่างผิดปกติ และเมทานอล จะทำให้การมองเห็นผิดปกติ อาจทำให้ตาบอดได้ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมในคนได้ด้วย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 19 มกราคม 2545 หน้า 6)





ค้นพบยาใหม่ Arixtra รักษาหลอดเลือดดำอุดตัน

ข่าวดีสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตัน ขณะนี้วิทยาการทางการแพทย์ได้ก้าวล้ำหน้าไปอีกขั้น ในการค้นพบยาตัวใหม่ โดยบริษัทซาโนฟี่-ซินเตลาโบ ได้เตรียมนำเข้ายาใหม่ที่มีประสิทธิภาพป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หลังจากได้รับอนุมัติทะเบียนยาชนิดนี้แล้วในสหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ในข้อบ่งใช้สำหรับการป้องกันเพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด (Deep Vein Thrombosis) ซึ่งอาจนำไปสู่การมีลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดในปอด (pulmonnary embolism) และอาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 19 มกราคม 2545 หน้า 24)





ชี้ปัญหาสำคัญคนไทยยื่นจด “สิทธิบัตร” น้อย ไม่เข้าใจ-รัฐขาดปชส.

ปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยจดสิทธิบัตรกันน้อยคือ ความไม่รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง รวมทั้งหน่วยงานราชการเองก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มากเท่าที่ควร ซึ่งเรื่องนี้ควรต้องทำเป็นเชิงรุก เพื่อให้คนทราบและมีความกระตือรือล้นที่จะเข้ามาขอจดสิทธิบัตรกันให้มากขึ้น เพราะโดยความรู้ความสามารถแล้ว คนไทยไม่เคยแพ้ชาติใด ผู้ที่จะใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง การดำเนินการทั้งหมดหากไปขอให้สำนักงานกฎหมายทั่วไปดำเนินการให้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่ารายละ 60,000 บาท และเป็นเพราะความไม่รู้ของประชาชนในเรื่องการขอรับความคุ้มครองเรื่องสิทธิทางปัญญา ทำให้ยังมีผู้สับสนระหว่างคำว่า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายทางการค้า ทำให้มีการใช้คำเหล่านี้ผิดอยู่เสมอ จึงขอเรียนว่าสิทธิบัตรคือ การคุ้มครองสิทธิทางปัญญาที่เป็นรูปทรงภายนอก ซึ่งรวมไปถึงโครงสร้าง กลไก และวิธีการผลิต ลิขสิทธิ์ คือการคุ้มครองตัวลวดลาย ส่วนเครื่องหมายการค้า คือ การคุ้มครองตัวเครื่องหมายทางการค้า หรือ โลโก้ ส่วนอนุสิทธิบัตร คือ สิทธิบัตรจะแตกต่างกันที่อายุการคุ้มครอง คือ สิทธิบัตรให้การคุ้มครอง 20 ปี อนุสิทธิบัตรคุ้มครอง 12 ปี (มติชน พฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2545 หน้า 7)





รอยเตอร์เลือกไทยเป็นศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์

บริษัทรอยเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการข่าว ข้อมูลทั่วโลก และเทคโนโลยีด้านการซื้อขาย ได้ลงทุน 46 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ แห่งใหม่ของรอยเตอร์ในกรุงเทพฯ ในนาม บริษัทรอยเตอร์ ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาและสนับสนุนโปรแกรมข้อมูลด้านการเงินในระบบเรียลไทม์ สำหรับการแสดงและวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด การทำธุรกรรม การจัดทำเนื้อหาข่าว และการส่งข้อมูล (มติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 12)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สกว.จัดระบบฐานข้อมูลเพาะปลูกออนไลน์ผ่านศูนย์เทคโนโลยีหมู่บ้าน

นายชวลิต ฮงประยูร อาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุนการทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการเพาะปลูก โดยได้ดำเนินการเรื่องนี้มาประมาณ 2 ปีเศษ โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลคุณสมบัติของดินพื้นที่ต่างๆ ใน 9 จังหวัดภาคตะวันตก ประกอบด้วย อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมที่จะนำมาทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรงคือ เกษตรกร เพราะข้อมูลที่ลงไปเก็บนั้นจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน และพืช 3 ชนิดคือ ข้าว อ้อย และสับปะรด โดยได้วิเคราะห์ว่าพืชเหล่านี้เหมาะกับดินลักษณะใด ปุ๋ยแบบไหน มีคุณสมบัติในการดูดซึมธาตุอาหารใดในพื้นที่แบบไหนได้ดีที่สุด และดินที่อยู่ในพื้นที่นั้นมีคุณสมบัติอย่างไร เหมาะกับพืชชนิดไหนมากที่สุด ฯลฯ เมื่อวิเคราะห์พื้นดินทุกพื้นที่ได้แล้วจะนำข้อมูลทั้งหมดไปรวมกับฐานข้อมูลเรื่องน้ำจากกรมชลประทาน และเรื่องอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และนำมาทำเป็นระบบฐานข้อมูลแบบใหม่เพื่อประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกโดยเฉพาะ เพื่อนำไปเผยแพร่ยังศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรประจำหมู่บ้าน เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรต่อไป (มติชน ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2545 หน้า 7)





ตระกูล “สุภา” เปิดตัวซุปเปอร์ไบโอดีเซล

นายสงบ สุภา ประธานกรรมการบริษัทอัครโยธิน จำกัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากที่ได้มีการรวมกลุ่มนักวิจัยจำนวนหนึ่ง ทำการวิจัยน้ำมันพืชที่เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาร่วม 1 ปี ปรากฏว่า ผลการวิจัยสามารถปรับสภาพน้ำมันพืชเหลือใช้มาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล เพื่อใช้งานกับรถยนต์ หรือเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลได้ ขณะที่ไขของน้ำมันพืชเหลือใช้สามารถนำมาแปรสภาพเป็นสบู่ หรือ น้ำยาล้างจานได้ ส่วนกากน้ำมันพืชเหลือใช้สามารถที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้ ก่อนหน้าที่จะมีการวิจัย ทางบริษัทพบข้อมูลว่า โรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ทิ้งน้ำมันพืชเหลือใช้โดยไม่ก่อประโยชน์เป็นจำนวนมหาศาลไม่น่าจะต่ำกว่าวันละ 10,000 ลิตร และอาจจะมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมได้ จึงได้มีการวิจัยขึ้นมาและมีการนำมาทดลองใช้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลแล้ว ซึ่งถือว่าสามารถนำไปใช้งานได้เป็นอย่างดี จึงได้ตั้งชื่อว่า “น้ำมันซุปเปอร์ไบโอดีเซล” และได้รับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งถือเป็นเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุสิทธิบัตรดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 12 มกราคม 2545 หน้า 14)





เรือแสงอาทิตย์

มีเรือที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นตัวเก็บกำลังไฟฟ้าไปขับดันมอเตอร์หมุนใบพัด ขับเคลื่อนเรือ ตัวเรือสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 100 คน และยังวิ่งได้เร็วถึง 15 น็อต โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เท่านั้น ขณะนี้มีผู้ต่อตัวเรือออกมาขายในออสเตรเลีย พร้อมกับเพิ่มใบเรือให้สามารถวิ่งได้ในยามอับแสงแต่มีลมแรง (มติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 12)





“เจลฟ้าทะลายโจร” รักษาโรคเหงือก มหิดลคว้ารางวัล-จดสิทธิบัตรแล้ว

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงผลการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2545 ว่า คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ พิจารณาตัดสินให้รางวัลผลงานการประดิษฐ์ที่ส่งเข้าประกวดดังนี้ คือ รางวัลการประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขดีเยี่ยมมี 2 รางวัล ได้แก่ เจลฟ้าทะลายโจร เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์อักเสบ ของ นางปลื้มจิต โรจนพันธุ์ นักวิชาการจากคณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะ และผลงาน ลูกตาเทียม-ไฮดร็อกซี่อาปาไท้มีรูพรุน สังเคราะห์จากกระดูกเคลื่อนไหวแบบฝัง ของ พ.อ.ศุภชัย วงศ์พิเชษชัย จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (มติชน ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 26)





กรมวิทย์ยกชั้นสมุนไพรไทยมอบเครื่องหมาย “รับประกัน”

น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา กรมวิทย์ฯ ได้จัดทำโครงการรางวัลสมุนไพรไทยคุณภาพขึ้น เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยแก่กลุ่มเกษตร และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งโรงพยาบาลและโรงงาน พร้อมมอบเครื่องหมาย “คุณภาพสมุนไพรไทย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองคุณภาพแก่วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการเพาะปลูกที่ดีและช่วยกันยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศให้ได้มาตรฐานสากล ปีนี้จึงได้เลือกขมิ้นชันเป็นสมุนไพรชนิดแรกของโครงการ (มติชน อังคารที่ 15 มกราคม 2545 หน้า 7)





ทีมวิจัยเมืองผู้ดีค้นพบผ้าพันแผลมหัศจรรย์!

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า วารสาร นิว ไซเอินทิสต์ ลงข่าวว่าทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ในอังกฤษ ได้พัฒนาคิดค้นผ้าพันแผลชีวภาพที่เคลือบด้วยเซลล์ผิวหนังของคนไข้เอง ซึ่งอาจจะช่วยสมานบาดแผลชนิดที่รักษาไม่หาย โดยเฉพาะคนไข้โรคเบาหวานที่มักเป็นแผลชนิดที่รักษาหายยาก แต่กลับลุกลามไปจนถึงขั้นต้องตัดแขน ตัดขาทิ้ง (มติชน อังคารที่ 15 มกราคม 2545 หน้า 7)





กระเป๋าอนามัย

เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยซานโฮเซ่ ที่คิดออกมาได้โดดเด่นเป็นพิเศษ ด้วยการนำเอายาที่จำเป็นต่อทุกภาวะฉุกเฉินมาใส่ไว้ในกระเป๋ายา ซึ่งมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จิ๋วติดเอาไว้ให้คอยกดถาม หากเกิดเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากโรคใด-กรณีใด ตัวเครื่องจะคอยแสดงผลบนหน้าจอบอกขั้นตอนการปฐมพยาบาล การใช้ยา-อุปกรณ์ต่างๆ ในกระเป๋า และในกรณีที่พบว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเครื่องจะทำการต่อเชื่อมไปถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แจ้งเหตุตามเสียงที่บันทึกไว้ หาคนมาช่วยให้ทันด้วย (มติชน พุธที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 12)





ผลการศึกษาระบุเครื่องล่นสวนสนุกอันตรายต่อสุขภาพ

นายโรเบิร์ต บราสเซียก แห่งศูนย์การแพทย์เฮนเนปีน เคาน์ตี เมื่องมินนีอาโปลิส ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในหนังสือรายงานประจำปีการแพทย์ฉุกเฉิน ระบุว่าการเล่นเครื่องเล่นประเภทหวาดเสียวตามสวนสนุก อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ และหลัง ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย อาการบาดเจ็บ และเสียชีวิต รวมถึงผลกระทบทางสรีรวิทยาจากการเล่นเครื่องเล่นต่างๆ อาทิ รถไฟเหาะ เขาชี้ว่า สภาพการแข่งขันที่บีบให้สวนสนุกต่างๆ ต้องเร่งสร้างเครื่องเล่นที่มีความเร็วสูงขึ้น และน่าตื่นเต้นมากขึ้นก่อให้เกิดความวิตกทางการแพทย์ว่า แรงโน้มถ่วงในรถไฟเหาะจะขึ้นถึงหรือเกินระดับที่ร่างกายผู้เล่นจะรับได้ หรือมากกว่าแรงดึงดูดที่มนุษย์อวกาศต้องเผชิญในกระสวยอวกาศ อันอาจนำไปสู่อัตราการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2545 หน้า 30)





ข่าวทั่วไป


เลี้ยงหมาต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนโดนจับ-ปรับ

นายประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่ากทม. เปิดเผยเรื่องข้อบัญญัติการควบคุมการเลี้ยงเพื่อปล่อยสัตว์ในกรุงเทพมหานคร 6 ชนิด ได้แก่ สุนัข แมว ช้าง โค กระบือ จะต้องนำสัตว์มาขึ้นทะเบียน ฝ่าฝืนจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท เริ่มสิงหาคมนี้ และกทม.จะกำหนดพื้นที่ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้า เช่น โรงแรม โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะบางแห่ง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษโดนปรับไม่เกิน 5,000 บาท (เดลินิวส์ อังคารที่ 15 มกราคม 2545 หน้า 30)





ปลุกสำนึกคนกรุงร่วมอนุรักษ์หม้อข้าวใบใหญ่

มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพระนคร ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวกทม. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มองค์การด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลได้จัดโครงการ “สัปดาห์รักษ์ทะเลไทย” ขึ้น มุ่งเผยแพร่และรณรงค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตทางทะเล โดยเฉพาะได้เน้นปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์ให้เยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตเมื่อเวลาไปตักตวงความสุขจากทะเลที่ไหน อย่าได้ทำร้ายเป็นอันขาดงานได้เริ่มต้นจัดกันตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม ไปจนถึงวันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2545 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 19 มกราคม 2545 หน้า 6)





คลอดข้อบัญญัติคุมถนนรัชดา-พระราม3 ห้ามสร้างโรงแรม-อาคารพาณิชย์

นางสาวมาลี แม้นมินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมทางผังเมือง สำนักผังเมือง เปิดเผยว่า ในการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 16 มกราคมนี้ มีการเสนอร่างข้อบัญญัติคุมพื้นที่ริมถนนพระราม 3-รัชดาภิเษก ห้ามสร้างอาคาร 11 ชนิด ในแนวร่น 15 เมตรจากเขตทาง โรงแรม ศูนย์การค้า ตึกสูงเกิน 15 เมตรห้ามสร้าง การกำหนดแนวร่นดังกล่าว เพื่อจัดระเบียบบริเวณถนนพระราม 3 เป็นเขตเศรษฐกิจต่อไป คาดว่าหลังสภากทม.เห็นชอบ จะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนมีนาคม (เดลินิวส์ พุธที่ 16 มกราคม 2545 หน้า 34)





จัดมหกรรม “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หวังประเมินผล-หาแนวทางปรับปรุง

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการกำนวยการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ” ว่า คณะกรรมการเห็นชอบจัดโครงการมหกรรม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระหว่างวันที่ 26-31 มีนาคม ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งขณะนี้รวบรวมได้ 5,000 กว่าผลิตภัณฑ์จาก 7,100 ตำบล และเพื่อส่งเสริมกระตุ้นตลาดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้สินค้าของไทย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 24)





ททท.จัดแสงเสียงขนาดเล็กชมมรดกโลก

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา ผอ.ททท.ภาคกลาง เขต 6 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันที่ 19, 20, 25, 26 และ 27 มกราคม รวมเวลา 6 วัน เป็นการแสดงแสงเสียงขนาดเล็กช่วงเวลา 18.00 น. ผู้สนใจติดต่อที่สำนักงานการท่องเที่ยวภาคกลางเขต 6 พระนครศรีอยุธยา โทร.0-3524-0076-7 นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวทางน้ำรอบเกาะเมือง ทัวร์จักรยาน และทัวร์ช้างชมโบราณสถานด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 18 มกราคม 2545 หน้า 32)





ตื่น “บ้านเชียง2”ขอกรมศิลป์ขุดต่อ

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านพบแหล่งอารยธรรมโบราณ “บ้านเชียง” อีกแห่งที่บ้านดุงใหญ่ ต.บ้านดุง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ห่างจากบ้านเชียงประมาณ 35 กิโลเมตร ลักษณะชุมชนคล้ายกับบ้านเชียง แต่พื้นที่ชุมชนใหญ่กว่า ทั้งนี้พื้นที่ภายในสวนกล้วยส้ม ซึ่งเป็นกล้วยพื้นเมืองบ้านดุงถูกเปิดหน้าดิน 2 จุด จุดแรกกว้าง-ยาวประมาณ 2.50 เมตร ลึก 1.50 เมตร พบเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีเหมือนบ้านเชียง อายุ 2,000-3,000 ปีสภาพแตกร้าว และยังพบเศษกระดูกอีกจำนวนหนึ่ง จุดที่สองขุดเป็นรูปตัวแอล ด้านแรกยาว 5 เมตร อีกด้านยาว 3 เมตร ลึก 2 เมตร พบเครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูกลักษณะเดียวกัน โดยเครื่องปั้นดินเผาจะเป็นลายขูดขีด ซึ่งมีอายุมากกว่าลายเขียนสี คือราว 4,000-5,000 ปี (มติชน จันทร์ที่ 14 มกราคม 2545 หน้า 11)





องค์การพัฒนาเทคโนฯเปิดเว็บให้ข้อมูลเรื่องเพศแก่วัยรุ่นไทย

น.ส.อุษาสินี ริ้วทอง จากองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH) เปิดเผยว่า องค์การได้เปิดเว็บไซต์ www.teenpath.com เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องเพศของวัยรุ่นไทย หลังการเปิดตัวได้ราวหนึ่งเดือนปรากฏว่า มีเข้าชมเว็บไซต์เป็นจำนวนกว่าพันคนแล้ว (มติชน อังคารที่ 15 มกราคม 2545 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215