หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 6 ประจำวันที่ 2002-02-05

ข่าวการศึกษา

“มจธ.” รุกปรับหลักสูตรการสอน ใช้สถานประกอบการเป็นห้องเรียน
“ทักษิณ” สั่งมหา’ลัย ตั้งทีมที่ปรึกษา แนะทางแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐ
“ปองพล” หนุนล่า 5 หมื่นชื่อรื้อม.นอกระบบ
“เสนาะ” รับปากช่วยมหา’ลัยไม่ต้องออกนอกระบบ
ครุศาสตร์จุฬาฯระบุครู 50-70% ไม่เข้าใจระบบไชด์เซ็นเตอร์
ชี้ศธ.ใหม่แบ่งเป็นสนง.หรือทบวงก็ได้
ไปฝึกงานเมืองนอกกับไอเซค

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสอนไอทีฟรี
โชว์เทคโนโลยี:ส่งตรงข่าวสู่สื่อ
ไอซ์แลนด์ชูเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามุ่งเสริมความปลอดภัยในสนามบิน
“รีโมท” ใหม่สั่งงานด้วยเสียง

ข่าววิจัย/พัฒนา

ผู้บริหารม.ศิลปากรเข้าเฝ้าฯถวายรายงานความคืบหน้าโครงการผลิตสีคุณภาพประหยัดและปลอดมลพิษ
คัด 20 ผลงานชุมชน โชว์วันนักประดิษฐ์
สจพ.ช่วยชาติลดต้นทุน ด้วยเครื่องขึ้นรูปพลาสติกระบบสุญญากาศ
รถคนขาพิการ 2000
ระดมพลังนักวิชาการสร้างรง.ต้นแบบผลิตเอทานอล
สหรัฐผลิต “ชิพฝังตัวคนไข้” ช่วยเตือนภัย
เด็กไทยคิดค้นสารต้านมะเร็งจากมะกล่ำตาหนู

ข่าวทั่วไป

แพทย์แผนไทยค้นพบ “น้ำมันหอม” ปรับอารมณ์คนธาตุ “ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ”
โครงสร้างก.วัฒนธรรม-ท่องเที่ยวลงตัว
เตือนคนอยากสวยใช้เครื่องสำอางสาร “เอเอชเอ-บีเอชเอ” ทำหน้าเฟะ!
อีก 2 ปีปัญหาสุขภาพจิตผิดปกติรุนแรง! หญิงวัยทำงานเครียดหนักสูงกว่าผู้ชาย
อย.ไม่เพิกถอน “คลอแรม” ยันจำเป็นใช้
ผู้เชี่ยวชาญระบุ “ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้” อาจแพร่โรคติดต่อ
โครงการพระราชดำริ “โกลเด้นเพลซ” ต้นแบบร้านค้าปลีก…เพื่อคนไทย
ยะลา…ผังเมืองสวยที่สุดของไทย
ไทยคว้า 2 รางวัลท่องเที่ยว-อนุรักษ์





ข่าวการศึกษา


“มจธ.” รุกปรับหลักสูตรการสอน ใช้สถานประกอบการเป็นห้องเรียน

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ. เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2545 มจธ.จะมีการปรับการเรียนการสอน โดยเฉพาะการปรับหลักสูตรที่จะให้มีทิศทางหลากหลายจากเดิมที่เรียนในห้องก็จะปรับให้เข้าไปเรียนในสถานประกอบการ หรือนำโจทย์จากสถานประกอบการมาศึกษามากขึ้นทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา รวมทั้งจะเน้นการพัฒนาคนในวัยทำงานที่ไม่ได้จบปริญญา นอกจากนี้ มจธ.ยังเปิดโครงการหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งบัณฑิตในโครงการนี้จะได้รับปริญญา 2 ใบ ทั้งของ มจธ. และของมหาวิทยาลัยร่วมในต่างประเทศ ส่วนหลักสูตรทางด้านอุตสาหกรรมจะเป็นการสร้างผู้ประกอบการ และจะเปิดสวนอุตสาหกรรมที่วิทยาเขตบางขุนเทียนให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้อุปกรณ์ต่างๆ ผลิตงานต้นแบบเพื่อทดลองตลาด และหวังให้เป็นหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ให้อาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ทำโครงการวิจัยขนาดใหญ่ร่วมกับ โรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ มจธ. ยังเน้นให้นักเรียนรู้จักกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกเหนือจากการเรียนเพียงเนื้อหาสาระเพียงอย่างเดียว เช่น แนวคิดการเรียนรู้แบบ Constructionism Project Based Learning อย่าง ร.ร.ดรุณสิกขาลัย ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจากระบบการสอน เป็นระบบการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การเรียนรู้ที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดในห้องเรียนเสมอไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 28 มกราคม 2545 หน้า 8)





“ทักษิณ” สั่งมหา’ลัย ตั้งทีมที่ปรึกษา แนะทางแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐ

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เชิญมาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลว่า อยากให้คนที่เรียนหนังสือมามาก ทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศด้วย ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ โดยขอให้อธิการบดีทุกสถาบันตั้งทีมที่ปรึกษารัฐบาลมาช่วยวิเคราะห์ปัญหาในองค์กรรัฐบาลและวิสาหกิจ พร้อมให้ข้อเสนอแนะโดยระยะแรกอาจมี 100 ทีม มหาวิทยาลัย 1 แห่ง อาจมี 2 ทีมหรือมหาวิทยาลัยเล็กอาจรวมกันเป็น 1 ทีมโดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณ จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ นายนริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในโครงสร้างระบบราชการเพื่อที่ทีมที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งในเบื้องต้นที่รัฐกำลังปรับโครงสร้าง น่าจะให้คณะบริหารธุรกิจและคณะบัญชีเข้าไปช่วย นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในโครงการสร้างระบบราชการ เพื่อที่ทีมที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยจะได้วิเคราะห์ไปสู่โครงสร้างที่ชัดเจน และถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องที่รัฐบาลจะสร้างความเข้มแข็งในระดับสมองของประเทศ นางสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การเข้าไปศึกษาวิเคราะห์ต้องทำในลักษณะพัฒนาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างมิตรภาพไม่ใช่เข้าไปสั่งหรือจับผิด นายธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การบ้านเก่าที่รัฐให้มหาวิทยาลัยยังทำไม่เสร็จ ของใหม่เข้ามาอีกจึงอยากให้รัฐสร้างความเข้มแข็งกับมหาวิทยาลัยด้วย เพราะยังสนับสนุนงบประมาณน้อย (มติชน พุธที่ 30 มกราคม 2545 หน้า 10)





“ปองพล” หนุนล่า 5 หมื่นชื่อรื้อม.นอกระบบ

เมื่อวันที่ 29 มกราคม น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง ปัญหามหาวิทยาลัยนอกระบบ กับ ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ว่า ได้เข้าพบกับ นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลใหม่ นายปองพล ชี้แจงว่า ถ้าอยากให้แก้ไข ก็ให้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่เข้ามาหรือล่า 50,000 รายชื่อให้ทันก่อนกฎหมายจะเข้าสภาอีกประมาณ 2 เดือน นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยในบางเรื่องดูเหมือนปฏิรูปแบบสิ้นคิด ถ้าการเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางในโรงเรียน หรือไชล์ดเซ็นเตอร์ กลายเป็น “ควายเซ็นเตอร์” ในอุดมศึกษาก็เป็น “นายเซ็นเตอร์” เพราะนายคิดยังไงก็ต้องทำ รัฐบาลได้แต่สั่งแต่ไม่เคยมองว่าเมื่อออกนอกระบบแล้วจะแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่ คือ 1. เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ 2. การวิจัยอ่อนแอ 3. อาจารย์ 70-80% ยังสอนแบบตุ๊กแกเกาะกระดาน 4. ไม่มีธรรมาภิบาล เมื่อออกนอกระบบจะเกิดจลาจล เพราะมีการเมืองภายใน เล่นพรรคเล่นพวก 5. อุดมศึกษาไทยหันหลังให้ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยจะกลายเป็น “โมเดิร์น ยูนิเวอร์ซิตี้” (มติชน พุธที่ 30 มกราคม 2545 หน้า 10)





“เสนาะ” รับปากช่วยมหา’ลัยไม่ต้องออกนอกระบบ

น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนโยบายของที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เข้าพบ นายเสนาะ เทียนทอง เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับ ว่า นายเสนาะ เทียนทอง รับปากที่จะผลักดันการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ และ ปอมท. ยืนยันว่า จะไม่หยุดการพัฒนาประสิทธิภาพมหาวิทยาลัย แต่จะต้องเป็นไปในวิถีทางที่เกิดผลเสียน้อยที่สุด เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และให้การบริหารจัดการสิ้นสุดในสถาบัน โดยรัฐยังคงจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อบริหารจัดการเอง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มกราคม 2545 หน้า 12)





ครุศาสตร์จุฬาฯระบุครู 50-70% ไม่เข้าใจระบบไชด์เซ็นเตอร์

คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาฯ เผย ระบบ Child-Centered ในวงการศึกษาไทยมีมานานแล้ว แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย พบครูกว่า 50-70% ยังไม่เข้าใจการสอนเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ด้านเด็กนักเรียนสะท้อนการเรียนปัจจุบันเน้นแข่งขันเพื่อทำข้อสอบมากกว่านำไปใช้ประโยชน์ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่อง “Child-Centered ควายเซ็นเตอร์ อะไร ทำไม และอย่างไร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม ว่า การเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีมานานแล้ว แต่การจะสอนวิธีดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ และยังไม่ขยายวงกว้างมากนัก ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ครูไม่น้อยกว่า 50-70% ยังไม่เข้าใจระบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่เชื่อมั่นว่าระบบการสอนแบบใหม่จะดี (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 30 มกราคม 2545 หน้า 7)





ชี้ศธ.ใหม่แบ่งเป็นสนง.หรือทบวงก็ได้

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า คงต้องขึ้นกับ ศธ. ว่าจะตกลงอย่างไร เพราะขณะนี้กระทรวงต่างๆ จะต้องแบ่งกลุ่มงานรวมเป็นทบวง ในขณะที่กระทรวงด้านการศึกษาได้รับข้อยกเว้น เพราะมีกฎหมายอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาประกอบ ฉะนั้นจะแบ่งเป็นแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เสนอ หรือเป็นทบวงตามโครงสร้างการปฏิรูประบบราชการใหม่ ซึ่งคงต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว นายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีสถาบันราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสถาบันราชภัฏอีก 40 แห่ง สุ่มสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 8,794 คน พบว่ากว่า 83%ไม่รู้หรือพอรู้บ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็เห็นถึงความจำเป็น อย่างไรก็ตาม กว่า 66% เห็นว่ากว่าจะสำเร็จได้คงใช้เวลานาน เพราะต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกฝ่าย อีกทั้งเห็นว่าบุคคลทางการศึกษายังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดความเอาใจใส่จากผู้บริหาร (มติชน อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 10)





ไปฝึกงานเมืองนอกกับไอเซค

ไอเซค (AIESEC) เป็นองค์กรนักศึกษาที่มีเครือข่ายอยู่ใน 84 ประเทศทั่วโลก มีหน้าที่แลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงานระหว่างประเทศ มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในประเทศไทยมีสมาชิกอยู่ 7 สถาบัน ได้แก่ ม.อัสสัมชัญ ม.กรุงเทพ ม.เกษตรศาสตร์ ม.รามคำแหง ม.ธรรมศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขั้นตอนการส่งเด็กไปฝึกงานเมืองนอกจะรับรายเอียดจากบริษัทที่ต้องการเด็กฝึกงานสาขาต่างๆ ประกาศหาผู้สนใจ สอบคัดเลือก สัมภาษณ์โดยอาจารย์และกรรมการชมรม คะแนนโทเฟลต้องไม่น้อยกว่า 550 และต้องแข่งขันกับเด็กอีกหลายสิบประเทศ เพราะการรับงานจะต้องขึ้นต่อไอเซคสากล ไอเซคทุกประเทศจะได้รับงานเหมือนกันหมด (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 16)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสอนไอทีฟรี

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอการฝึกอบรมบุคลากรด้านไอทีประมาณ 4,000 คน โดยใช้งบประมาณ 628 ล้านบาท ให้กับผู้ต้องการจะหางานและประกอบการด้านไอทีคอมพิวเตอร์ นายทำนุ วะสีนนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอแนวคิดการฝึกอบรมบุคลากรด้านไอทีประมาณ 4,000 คนโดยใช้งบประมาณ 628 ล้านบาท ประกอบด้วยบุคลากร 3 ระดับคือ ระดับการเขียนโปรแกรม ระดับการเป็นวิศวกรระบบ และระดับผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โดยได้รับการดูแลจากสมาคมซอฟท์แวร์ไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 31 มกราคม 2545 หน้า 16)





โชว์เทคโนโลยี:ส่งตรงข่าวสู่สื่อ

นายยงยุทธ ติยะไพรัช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดตั้ง IMC = Information Management Center ว่า เป็นการส่งข่าวโดยตรงสู่สื่อมวลชน เพื่อแก้ปัญหาการกระจัดกระจายของข้อมูลภาครัฐ และอำนวยความสะดวกให้กับสื่อมวลชน เบื้องต้นนำร่องทดลองใช้แล้ว 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบบไอเอ็มซี จะรวบรวมเรื่องต่างๆ ทั้งประกาศจากทำเนียบ ข่าวสำคัญประจำวัน วาระการแถลงข่าวจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ข้อมูลดิบของข่าวสารที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนหากมีสัมภาษณ์นัดพิเศษ สามารถดูได้แบบมัลติมีเดีย เห็นทั้งภาพและเสียงอีกด้วย คาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 16)





ไอซ์แลนด์ชูเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามุ่งเสริมความปลอดภัยในสนามบิน

ทางการไอซ์แลนด์ เดินหน้านำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ในสนามบิน มุ่งหวังช่วยคลายความกังวลผู้โดยสารที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ชี้สนามบินคีฟลาวิค เป็นแห่งแรกของยุโรปที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกังขาไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ ตัวแทนของบริษัทวิชันส์นิคส์ คอร์ป เปิดเผยว่า บริษัทออกแบบให้ระบบดังกล่าวจดจำลักษณะพิเศษของใบหน้ากว่า 80 ลักษณะนำไปใช้เปรียบเทียบกับลักษณะเฉพาะของผู้ก่อการร้ายและอาชญากรที่ต้องสงสัยในฐานข้อมูล ด้วยการตรวจสอบเพียงแค่ 12 ลักษณะ เครื่องนี้จะสามารถเตือนเจ้าหน้าที่ถึงความผิดปกติได้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 28 มกราคม 2545 หน้า 5)





“รีโมท” ใหม่สั่งงานด้วยเสียง

บริษัทไฮเทคสหรัฐ เผยโฉม “อินโวคา ดีลักซ์ วอยซ์ แอคติเวต ทีวี” อุปกรณ์ควบคุมระยะไกลพร้อมคุณสมบัติใหม่ สั่งการควบคุมด้วยเสียงรวมทั้งยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีอาร์ และซีดีได้ บริษัท อินโวคา เปิดตัว อุปกรณ์ควบคุมระยะไกลระบบสั่งงานด้วยเสียง อินโวคา ดีลักซ์ วอยซ์ แอคติเวต ทีวี (InVoca Deluxe Voice Activated TV) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล 2 เครื่องในหนึ่งเดียวประกอบด้วย ไมโครโฟน จอแอลซีดี และปุ่มใช้งานหลัก 2-3 ปุ่ม คือ ปุ่มเริ่มต้น ที่ช่วยให้อุปกรณ์ควบคุมระยะไกลรับทราบคำสั่งของผู้ใช้ และปุ่มเงียบที่จะเกิดประโยชน์ เมื่อความดังของเสียงจากเครื่องรับโทรทัศน์กลบเสียงสั่งงานของผู้ใช้ รวมทั้งยังรวมถึงปุ่มบวกและลบสำหรับควบคุมเสียงและเปลี่ยนช่อง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 มกราคม 2545 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ผู้บริหารม.ศิลปากรเข้าเฝ้าฯถวายรายงานความคืบหน้าโครงการผลิตสีคุณภาพประหยัดและปลอดมลพิษ

โครงการผลิตสีคุณภาพราคาประหยัดและปลอดมลพิษสำหรับงานศิลปะ เป็นโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 การวิจัยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะผลิตสีที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด และปลอดมลพิษ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทั้งในระดับนักเรียน ระดับอุดมศึกษา ตลอดจนสำหรับศิลปินอาชีพ นักออกแบบโฆษณาและกลุ่มอาชีพหัตถกรรมต่างๆ เพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์สีสำหรับงานศิลปะจากต่างประเทศ (สยามรัฐ พุธที่ 30 มกราคม 2545 หน้า 12)





คัด 20 ผลงานชุมชน โชว์วันนักประดิษฐ์

นายจิรภัทร์ ไชยพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาชุมชน 7 แจ้งว่าเนื่องในวันที่ 2 ก.พ. ของทุกปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันนักประดิษฐ์ สำหรับในกทม. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 4 ก.พ. 45 เวลา 10.00 –20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซี่งกทม.ได้ให้สำนักพัฒนาชุมชนคัดเลือกผลงานการประดิษฐ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และจากโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์จากชุมชน 50 เขตของกทม. ผลงานที่ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมจัดแสดงในงานกว่า 20 รายการ เช่น เรือไม้จำลองบังคับวิทยุ จากเขตบึงกุ่ม เครื่องดนตรีทำจากวัสดุเหลือใช้ เขตสายไหม เครื่องมือเช็กวงจรรถยนต์ทำจากปากกาใช้แล้ว กรงดักหนูและแมลงสาบ เป็นต้น (สยามรัฐ อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 6)





สจพ.ช่วยชาติลดต้นทุน ด้วยเครื่องขึ้นรูปพลาสติกระบบสุญญากาศ

“เครื่องขึ้นรูปพลาสติกด้วยระบบสุญญากาศ” เป็นผลงานของ นายศักดิ์ วิริยะก่อกิจกุล และ นายอรรถวิทย์ พุ่มเข็ม นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) โดยมีอาจารย์สุพจน์ เตชะสวัสดิ์วิทย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สำหรับเครื่องขึ้นรูปพลาสติกด้วยระบบสุญญากาศนี้ จะใช้เป็นเครื่องแพ็กพลาสติก เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแพ็กเดี่ยว แพ็กคู่และแพ็กรวมโหล เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์จำพวกอุปกรณ์เครื่องเขียนผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 31 มกราคม 2545 หน้า 21)





รถคนขาพิการ 2000

ผลงานของนักประดิษฐ์ไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคใต้ รางวัลชนะเลิศ ในมหกรรมการศึกษา 2000 รางวัลชมเชยอันดับสองจากมหกรรม บี โอ ไอ แฟร์ 2000 และล่าสุดได้รับรางวัลชมเชยจากรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2545 ของสภาวิจัย ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ผลงานชิ้นนี้ ได้แก่ รถคนขาพิการ 2000 นายบรรจง คงรัตน์ และคณะแห่งวิทยาลัยเทคนิคสิชล รถคนขาพิการนี้ โครงสร้างทำด้วยอลูมิเนียม มีน้ำหนักเบา ทนทาน ไม่เป็นสนิม (สยามรัฐ จันทร์ที่ 28 มกราคม 2545 หน้า 20)





ระดมพลังนักวิชาการสร้างรง.ต้นแบบผลิตเอทานอล

นายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ศึกษาวิจัยเรื่องความเหมาะสมของพืชที่จะใช้เป็นวัตถดิบผลิตเอทานอลทดแทนน้ำมันเบนซิน ตามที่สภาวิจัยแห่งชาติมอบหมาย พบว่า ผลผลิตของมันสำปะหลังและกากน้ำตาลจากอ้อยภายในประเทศเพียงพอที่จะนำไปผลิตเอทานอลทดแทนน้ำมันเบนซินได้ 3 ล้านลิตรต่อวันตลอดปี นายเจริญศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบหมายให้ มก. นำไปสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ซึ่งตนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยรวมพลังนักวิชาการจาก 4 หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรงงานต้นแบบการผลิตแอลกอฮอล์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลนี้จะสร้างที่องค์การสุรา อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ออกแบบโรงงานให้มีระบบการผลิตสมัยใหม่แบบต่อเนื่องโดยใช้มันเส้นจากมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ มีกำลังการผลิตประมาณวันละ 4,000 ลิตร นับเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง (มติชน เสาร์ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 7)





สหรัฐผลิต “ชิพฝังตัวคนไข้” ช่วยเตือนภัย

ดอกเตอร์ เจย์ ยาดาฟ ผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมเส้นเลือด ของมูลนิธีคลีนิกคลีฟแลนด์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ทางการแพทย์นำวิธีการรับข้อมูลที่ส่งออกมาจากร่างกาย โดยไม่ต้องใช้สาย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระนั้น ไมโครชิพ ดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เมมล์ (MEMS-Micro-electro mechanical system) จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบสภาพหัวใจของผู้ป่วย ด้วยการถืออุปกรณ์รับสัญญาณไว้ใกล้ตัวผู้ป่วย ซึ่งดีกว่าการสแกนด้วยเครื่องซีเอที (CAT) หรือการผ่าตัด นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถติดตามอาการป่วยได้ด้วยตนเอง แม้ขณะอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ดังนั้น นักวิจัยจะต้องเฝ้าดูปัจจัยเสี่ยง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขับชิพออกจากร่างกาย หรือการที่ร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอม อย่างเช่น พลาสติกที่ใช้ในการผลิตตัวรับสัญญาณ เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 มกราคม 2545 หน้า 7)





เด็กไทยคิดค้นสารต้านมะเร็งจากมะกล่ำตาหนู

หนึ่งในผลงานดีเด่นภายใต้โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก และเยาวชนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นการวิจัยและศึกษาโดย นางสาวสินีนาถ ศิริโสภณาภรณ์ นักเรียนมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม น.ส.สินีนาถ เปิดเผยว่า ได้ทดลองสกัดและแยกสารจากใบและกิ่งของต้นมะกล่ำตาหนู เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง โดยข้อมูลส่วนหนึ่งได้มาจากงานวิจัยที่ลงในวารสารของศูนย์พันธุวิศวกรรม (ไบโอเทค) ซึ่ง กล่าวถึงสารชั้นต้นที่ใช้ต่อต้านเชื้อรา จึงได้เริ่มทดลองเพื่อสกัดสารสกัดหยาบ เพื่อหาสารบริสุทธิ์ 3 ชนิดจากใบ และกิ่ง และจากการทดสอบสารบริสุทธิ์ในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็ง พบว่า สามารถต้านเซลล์มะเร็งในช่องปาก เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอด และยังได้ทดสอบความเป็นพิษกับเซลล์ทั่วไป พบว่าไม่มีความเป็นพิษสามารถใช้เป็นยาได้ อย่างไรก็ดี จะต้องมีการทดสอบกับหนูอีกครั้ง เพื่อหาความเป็นพิษต่อเซลล์เฉพาะอวัยวะ เช่น เซลล์ของอวัยวะกระเพาะอาหาร นอกจาก น.ส.สินีนาถ แล้ว ยังมีนักวิจัยรุ่นเยาว์อีกหลายคนที่ได้ร่วมโครงการ และหนึ่งในนั้นคือ ผลงานของ น.ส.ธัญญพร วงศ์เนตร มัธยมปีที่ 5 โรงเรียนนครสวรรค์ ได้ศึกษาโครงการทดลองเกี่ยวกับตัวยับยั้งชนิดต่างๆ ต่อเอ็นไซม์ได ไฮโดรโฟลเลทรีดักเทส ของเชื้อมาลาเรียด้วยการศึกษาเปรียบเทียบด้วยการเปรียบเทียบผลการยับยั้งด้วยสารประกอบกลุ่ม Pyrime thamine จำนวน 3 อนุพันธ์ ต่อการทำงานของเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรีย สายพันธุ์เดิม และสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ S58R+s17N ซึ่งเมื่อทดสอบพบว่า เอ็นไซม์ดังกล่าวสามารถใช้ได้ดีกับเชื้อมาลาเรีย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 มกราคม 2545 หน้า 9)





ข่าวทั่วไป


แพทย์แผนไทยค้นพบ “น้ำมันหอม” ปรับอารมณ์คนธาตุ “ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ”

พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดเวทีสาธิตการทำเครื่องหอมด้วยพืชสมุนไพรหอมของไทยให้เหมาะกับธาตุเจ้าเรือน คนธาตุน้ำคือคนที่เกิดในเดือน 8, 9, 10 คนธาตุดิน คือคนที่เกิดเดือน 11,12, 1 คนธาตุลม คือคนที่เกิดเดือน 5, 6, 7 คนธาตุไฟ คือคนที่เกิดเดือน 2, 3, 4 การใช้เครื่องหอมต่างๆ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี ได้มีการพัฒนาสมุนไพร เครื่องหอม ค้นพบวิธีการศึกษาการใช้น้ำหอมระเหยด้วยพืชสมุนไพรหอม นำมาเสริมบุคลิกภาพของคนตามธาตุทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแต่ละคนจะชอบไม่เหมือนกัน คนธาตุไฟ เหมาะที่จะใช้กลิ่นน้ำมันระกำ น้ำมันกุหลาบ น้ำมันกุหลาบ น้ำมันยูคาลิป ธาตุดิน เหมาะกับ กลิ่นของบุหงาผสมกระชายและพริกไทยดำ สำหรับคนธาตุลม เหมาะที่จะใช้ขมิ้นชัน และ ตะไคร้ มะกรูด ส่วนคนธาตุน้ำ เหมาะกับเครื่องหอมจำพวกตะไคร้หอม กล้วยไม้ ดอกหญ้า (มติชน พุธที่ 30 มกราคม 2545 หน้า 7)





โครงสร้างก.วัฒนธรรม-ท่องเที่ยวลงตัว

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึง โครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวว่า ล่าสุดจะแบ่งโครงสร้างบริการออกเป็น 2 กลุ่มงาน คือ 1. สำนักงานปลัดกระทรวง มีปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา โดยเป็นนิติบุคคล มี 2 สายงาน คือ สำนักงานบริหารงานกลาง และสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว 2. ทบวงศิลปวัฒนธรรม มีปลัดทบวงเป็นผู้บังคับบัญชา และมีฐานะเป็นนิติบุคคล แบ่งเป็น 2 สายงาน เช่นกัน คือ สายงานสำนักงานวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปากร นอกจากนี้ยังมีสำนักงานส่งเสริมธุรกิจการประชุมนานาชาติเป็นองค์การมหาชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ (มติชน พุธที่ 30 มกราคม 2545 หน้า 10)





เตือนคนอยากสวยใช้เครื่องสำอางสาร “เอเอชเอ-บีเอชเอ” ทำหน้าเฟะ!

ท.ญ.ระวิวรรณ ปรีดีสนิท รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้เครื่องสำอางผสมเอเอชเอ (AHAs) เช่น กรดกลัยคอลิค กรดแลคติก และบีเอชเอ เช่น กรดซาลิซิลิศ อย่างแพร่หลาย ในขณะที่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้เอเอชเอ ได้แก่ อาการระคายเคืองเล็กน้อย แสบผิว ผิวหนังร้อนแดง มีตุ่มพอง และใหม่ ท.ญ.ระวิวรรณ กล่าวอีกว่า การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของเอเอชเอ และบีเอชเอชอย่างปลอดภัยนั้น ควรใช้โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้คือ หลีกเลี่ยงอย่าให้เข้าตา ระหว่างที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ควรหลีกเลี่ยงและปกป้องผิวจากแสงแดด โดยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) 15 หรือมากกว่า และควรทดสอบผลิตภัณฑ์บนผิวหนังเป็นบริเวณเล็กๆ ก่อนที่จะใช้เป็นบริเวณกว้าง หากใช้แล้วเกิดอาการระคายเคือง แสบผิว หรือผิวหนังร้อนแดงเป็นระยะเวลานาน ให้หยุดใช้และปรึกษาแพทย์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในเด็กและเด็กทารกด้วย (มติชน อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 7)





อีก 2 ปีปัญหาสุขภาพจิตผิดปกติรุนแรง! หญิงวัยทำงานเครียดหนักสูงกว่าผู้ชาย

น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า ชาวโลกประมาณ 4 ล้านคนมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตผิดปกติ และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต โดยเก็บข้อมูลจากสายด่วนสุขภาพที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาและถามข้อมูลด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529-2539 พบว่า ผู้หญิงวัยทำงานอายุระหว่าง 31-40 ปี มีความเครียดสูงกว่าผู้ชาย และส่วนใหญ่เครียดเพราะพฤติกรรมเด็ก ปัญหาสุขภาพของตนเอง หรือมีคนป่วยในบ้านและปัญหาสามีมีภรรยาน้อย “สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้ผู้หญิงไทยต้องปรับบทบาทตนเองใหม่จากผู้หญิงทำงานบ้านมาเป็นแม่และภรรยาที่ต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้หญิงจึงมีความเครียดได้ง่ายมาก และสูงกว่าชาย ที่น่าสนใจก็คือผลการสำรวจเมื่อปี 2544 พบว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราของสมองทำงานผิดปกติค่อนข้างสูง” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว (มติชน เสาร์ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 7)





อย.ไม่เพิกถอน “คลอแรม” ยันจำเป็นใช้

เภสัชกรหญิง ยุวดี พัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.ได้เตรียมร่างประกาศ อย.ว่าด้วยเรื่องการออกหนังสือรับรองเพื่อให้ผู้ประกอบการขออนุญาตในการนำเข้าเภสัชเคมีภัณฑ์จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นยาคลอแรมเฟนิคอล หลังจากนำยาดังกล่าวมาใช้ผิดประเภท โดยจะควบคุมอนุญาตให้ใช้เฉพาะที่ผลิตยาจำเป็น และมีการบังคับรายงาน สัญญาซื้อขาย มีบัญชีการนำเข้าสามารถตรวจสอบได้ เพื่อไปยืนยันกับกรมการค้าต่างประเทศในการนำสารเคมีภัณฑ์เข้ามาผลิตเป็นยาใช้ เภสัชกรหญิง ยุวดี กล่าวว่า การเสนอให้ยกเลิกยาคลอแรมเฟนิคอลออกจากบัญชียาหลัก เพราะมียาตัวอื่นทดแทนนั้นคงจะทำได้ยาก เพราะที่จะยกเลิก หรือเพิกถอนยาตัวใดตัวหนึ่งจะต้องมีข้อมูลเพียงพอ โดยเฉพาะอันตรายจากการใช้ยา เพราะในต่างประเทศยังมีการนำยาดังกล่าวมาใช้และถ้าหากประเทศไทยเพิกถอนประเทศเดียวก็จะทำให้เกิดปัญหากับองค์การการค้าโลกได้ ดังนั้น ยาดังกล่าวก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการรักษาต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 8)





ผู้เชี่ยวชาญระบุ “ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้” อาจแพร่โรคติดต่อ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ว่า นายพอล คอร์วิน และ คณะนักวิจัยแห่งวิทยาลัยแพทย์โครสต์เชิร์ช ในนิวซีแลนด์ เปิดเผยผลการตรวจสอบระดับเชื้อโรคในของเล่น ที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้เด็กๆ เล่นระหว่าง รอตรวจโรคในโรงพยาบาล พบว่า ของเล่นประเภทตุ๊กตาที่มีขนนุ่มมีปริมาณเชื้อโรคมากกว่าของเล่นพื้นผิวแข็ง คอร์วินและคณะ แบ่งกลุ่มปฏิบัติการออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อศึกษาระดับเชื้อโรคในของเล่น ปรากฏว่า 90% ของของเล่นที่มีขนอ่อนนุ่ม รวมถึงตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ยอดฮิตในหมู่เด็กๆ มีเชื้อแบคทีเรียเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 28)





โครงการพระราชดำริ “โกลเด้นเพลซ” ต้นแบบร้านค้าปลีก…เพื่อคนไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้ง บริษัทสุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อจัดตั้งต้นแบบร้านค้าแบบค้าปลีกของไทย พระราชทานนามว่า “โกลเด้นเพลซ” เพื่อจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร จะเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษ มีมาตรฐานสากล จำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เอาเปรียบผู้ผลิตและผู้บริโภค กล่าวได้ว่า เป็นโครงการพระราชดำริต้นแบบร้านค้าปลีกเพื่อคนไทย โดยพระเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้นเป็นนามส่วนพระองค์ 70% และโปรดเกล้าให้ นายธานินทร์ เจียรวนนท์ และนายวัลลภ เจียรวนนท์ ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมถือหุ้นอีก 30% มีร้านค้าปลีกทั้งหมด 5 สาขา คือ สาขาถนนพระราม 9, ตรอกจันทร์, ซีพีทาวเวอร์, สีลม, หัวหิน และสุขาภิบาล 3 รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามที่ คุณธนิต บุญรอด เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการเกษตร และสหกรณ์วุฒิสภา โทร. 0-1456-4600 (เดลินิวส์ อังคารที่ 29 มกราคม 2545 หน้า 27)





ยะลา…ผังเมืองสวยที่สุดของไทย

จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล แต่เป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยงามที่สุดในประเทศ มีการจัดผังเมืองเป็นใยแมงมุม และวงเวียนซ้อนกันเป็นชั้น 3 วง ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีสัดส่วนใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ชั้นในสุดเป็นหน่วยราชการ วงที่ 2 และ 3 เป็นสถานที่ราชการและบ้านพัก ถัดจากวงเวียนไปจะเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ย่านการศึกษา สวนสาธารณะและย่านพาณิชยกรรม ถนนหนทาง ทางเท้า ระบบสาธารณูปโภคเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม นอกจากนี้ยังรักษาความสะอาดได้ดีเยี่ยม จนได้รับโล่พระราชทานจากในหลวง ทำให้ประชาชนรักษาชื่อเสียงในเรื่องความสะอาดจนเป็นเอกลักษณ์ของเมือง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติมากมาย (เดลินิวส์ จันทร์ ที่ 28 มกราคม 2545 หน้า 34)





ไทยคว้า 2 รางวัลท่องเที่ยว-อนุรักษ์

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นายภูษิต แสงสุข ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” รายงานจากประเทศอินโดนีเซีย ถึงการประชุมการท่องเที่ยว หรือ “ASEAN Tourism Forum 2002-ATF” ที่จัดขึ้นที่เมืองยอร์คยาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า ในระหว่างวันที่ 24-28 ม.ค.นี้ โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใช้ชื่อว่า “ASEAN+3” สำหรับประเด็นสำคัญของการประชุมได้แก่ เรื่องความร่วมมือในการกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา หลังเกิดวิกฤติการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเป็นแนวร่วมต่อต้านการก่อการร้ายจากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 7 ของกลุ่มประเทศอาเชียน สำหรับการประชุมการท่องเที่ยวอาเชียนครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับรางวัลจากสมาคมท่องเที่ยว (ASEANTA) ถึง 2 รางวัลคือ รางวัลชมเชย สาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางการท่องเที่ยว ซึ่งมาจากการพัฒนาด้านการจัดการในพื้นที่ จ.พังงา สตูล ภูเก็ต และชุมพร และรางวัลชมเชย สาขาอนุรักษ์วัฒนธรรม จากโครงการแสง สี เสียง ที่จัดขึ้นใน จ.นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มกราคม 2545 หน้า 14)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215