|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 2002-02-12
ข่าวการศึกษา
เสนาะ สั่งทบทวนม.นอกระบบ สนนท.ค้าน ม.ออกนอกระบบ ชี้ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการศึกษา ทบวงยืนยันให้ม. พิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์เอง ศธ.ปฏิเสธคนนอกร่วมควบคุมดูแลครู ชม น็อน-ดีกรี ม.รามทำก่อนพ.ร.บ.การศึกษาฯบังคับ เครือข่ายปฏิรูปกศ.ชี้การเมืองไม่นิ่งครูเริ่มลังเล ตั้งวิทยาลัยแรงงานพัฒนาภาษา-ไอที ม.รังสิตติวเข้มก่อนก้าวสู่สนาม.. นักแปล & ล่ามมืออาชีพ
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เผยรายชื่อคนเก่งคว้าโล่คณิตศาสตร์ แข่งโอลิมปิกฟิสิกส์ปี46 ไทยเจ้าภาพ ทิวไผ่งาม-สุรนารี คว้าแชมป์นักวิทย์ เด็กไทยคว้าแชมป์สถาปัตย์นานาชาติ ชี้โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุค โพสต์จีโนม ถึงเวลาทั่วโลกปฏิวัติระบบสุขภาพ สหรัฐผุดเทคโนฯใหม่ขจัดอี-เมล์สแปม สคบ.ตระหนักถึงภัยจากมือถือวัตต์สูง หากอันตรายต้องติดฉลากเตือนภัย แพทย์เตือนระวังภัยใช้งาน เพลย์สเตชั่น หลังพบวัยรุ่นเล่นเกมนาน 7 ชม./วันเจ็บมือ
ข่าววิจัย/พัฒนา
3 นักวิจัยกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โรงสีไฟฟ้าจิ๋วแต่แจ๋ว เตรียมวิจัยคนไทยหวังขจัดมาลาเรีย การผลิตเนื้อปลาบด (ซูริมิ) และผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากปลานิล อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิกส์ รถตัดหญ้าขับเคลื่อนตัวเอง คว้ารางวัลมูลนิธิ ธ.กรุงเทพ นักวิจัยโอ่ผลิตไตจากวัวโคลนนิงสำเร็จ ตรวจเลือดแบบใหม่ จนท. ไม่ต้องเสี่ยง นักวิจัยไทยใช้กระดาษซับวัดผล เอดส์ เอชพีเผยผลสำเร็จพัฒนาเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง
ข่าวทั่วไป
ยาโบราณ ผลิตผิดสูตรจำคุกตลอดชีวิต ทักษิณ จี้ขรก.ระดับบริหารพัฒนาไอที อ้างรัฐบาลขาดข้อมูลคุณภาพ-ล้าสมัย ธุรกิจท่องเที่ยวไทยอันตราย เผย ผู้หญิง-คนโสด กลุ่มหลักใช้อินเทอร์เน็ต หอยมือเสิอ หอยสองฝาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ข่าวการศึกษา
เสนาะ สั่งทบทวนม.นอกระบบ
นายเสาะ เทียนทอง ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี ฝ่ายติดตามการปฏิบัติราชการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ว่า ที่ประชุมได้เชิญปลัดทบวงมหาวิทยาลัยและตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาหารือเรื่อง การให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการ และได้ข้อสรุปว่า ให้ทบวงฯ ทบทวนเรื่องการออกนอกระบบใหม่ และให้นำเสนอ ครม. พิจารณา เนื่องจากมติ ครม. ที่ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบภายในปี 2545 ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเรื่องงบประมาณ และมหาวิทยาลัยยังไม่พร้อม นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทบวงฯ กำลังทำความเข้าใจกับประชาคมมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการออกนอกระบบว่า จะเกิดผลดีต่อนิสิต นักศึกษา และประเทศชาติ และหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการออกนอกระบบจะทำให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้นนั้น ขอยืนยันว่าตราบใดที่มหาวิทยาลัยยังรับเงินจากรัฐบาล มหาวิทยาลัยต้องให้บริการวิชาการแก่สังคมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน รมว. ทบวงฯ กล่าวต่อว่า การออกนอกระบบไม่ใช่การแปรรูป แต่เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 10)
สนนท.ค้าน ม.ออกนอกระบบ ชี้ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการศึกษา
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พร้อมคณะ จำนวน 20 คน ได้เดินทางไปยังทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อร้องเรียนต่อ นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ให้ผลักดันการปฏิรูปมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และทบทวนการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐ นายเมธา กล่าวว่า การปฏิรูปและนโยบายผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการศึกษา หรือเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรม เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างเท่านั้น และขณะนี้อุดมศึกษาไทยยังมุ่งผลิตบัณฑิตในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพจนทำให้เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมาก จึงควรปฏิรูปเนื้อหาวิชาการ องค์ความรู้และเชื่อมโยงกับปัญหาสังคม เพื่อไม่ให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นทางผ่านที่เสียเวลาและเป็นฆาตกรทางปัญญาของสังคม เลขาธิการ สนนท. กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาอุดมศึกษา ด้วยการออกนอกระบบก็เป็นวิธีที่ได้จากการตีโจทย์ผิดและแคบเกินไป จึงทำให้การปรับเปลี่ยนอาจเป็นเพียงแต่การแปรรูปมหาวิทยาลัยไปสู่เชิงธุรกิจที่มีโครงสร้างและระบบการจัดการใหม่เท่านั้น
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 10)
ทบวงยืนยันให้ม. พิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์เอง
ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากที่ ร.ศ.สนม ครุฑเมือง ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ เพื่อขอปรับร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพบเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) ให้เป็น ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ทบวงฯ มีนโยบายจะมอบอำนาจการแต่งตั้ง ศ. ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเองได้ โดยประเมินและแต่งตั้งนั้น จะต้องมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอก แต่จะมีจำนวนเท่าใดนั้นยังอยู่ระหว่างการหารือ และได้มอบหมายให้ อ.ก.ม. วิชาการกำหนดมาตรฐานกลางให้กับทุกสถาบัน ศ.ดร.วรเดช กล่าวต่อว่า ก.ม. จะสร้างกลไกที่จะทำหน้าที่พิจารณาให้กับมหาวิทยาลัย โดยในการตั้ง อ.ก.ม. วิชาการแต่ละแห่งต้องมาจากบุคคลภายนอก เพื่อเป็นผู้ดูแลและรักษามาตรฐานได้อย่างเป็นธรรม
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 4)
ศธ.ปฏิเสธคนนอกร่วมควบคุมดูแลครู
นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมปฏิบัติการที่กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาทั้ง 23 ฉบับ ได้มีการวางกรอบไว้คร่าวๆ ว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพครูจะมีทั้งหมดประมาณ 28 คน และคัดเลือกมาจากบุคคลที่อยู่ในวิชาชีพครูทั้ง 100% เช่นเดียวกับแพทยสภา หรือสภาทนายความ ส่วนประธานคณะกรรมการสภาวิชาชีพครูนั้นจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยตำแหน่ง สำหรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น จะให้ครูที่ประจำการอยู่ในปัจจุบันได้ใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี แล้วจึงให้พัฒนาตัวเองจนเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพให้ได้ภายใน 5 ปี หากครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ก็อาจมีมาตรการไม่ขึ้นเงินเดือนหรือไล่ออก ทั้งนี้จะต้องประเมินเพื่อต่ออายุทุกๆ 5 ปี
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
ชม น็อน-ดีกรี ม.รามทำก่อนพ.ร.บ.การศึกษาฯบังคับ
นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการตรวจสอบหลักสูตร น็อน-ดีกรี ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดให้คนทั่วไปที่จบ ม.3 ได้เข้าเรียนว่า ได้ดูหลักฐานเอกสารแล้วเป็นระเบียบของมหาวิทยาลัยในการรับบุคคลภายนอกเข้าเรียนในลักษณะ น็อน-ดีกรี คือไม่หวังปริญญาในการแสวงหาความรู้ โดยรับคนทั้งที่กำลังเรียนอยู่ก็ได้ หรือประชาชนทั่วไปที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยกำหนด เป็นการเสริมความรู้ทักษะบางวิชาหลักสูตรที่สอน เช่น กฎหมายพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ หรือวิชาด้านบริหารจัดการ ซึ่งมีหลักสูตรเฉพาะเมื่อจบจะได้ประกาศนียบัตร นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อผู้เรียนจบ ม.6 ตามชั้นปริญญาตรีแล้ว มหาวิทยาลัยก็ให้โอกาสคนที่เคยเรียนแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนโอนในระดับปริญญาตรีได้ แต่มหาวิทยาลัยจะต้องดูว่า หลักฐานที่เรียนมาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ และเทียบวิชาให้ได้เฉพาะของที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเท่านั้น
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
เครือข่ายปฏิรูปกศ.ชี้การเมืองไม่นิ่งครูเริ่มลังเล
น.พ.ชัยพร ภัทราคม รองประธานองค์กรเครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยถึง ความเคลื่อนไหวในการผลักดันปฏิรูปการศึกษาว่า ขณะนี้สมาชิกครูเริ่มสับสนและไม่มั่นใจทิศทางปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะในสิ่งที่เคยสนับสนุนอยู่ว่าถูกต้องหรือไม่ ภายหลังนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ประกอบกับหลายคนคิดว่าการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรได้รับการสนับสนุนจาก สปศ. รวมถึงความขัดแย้งระหว่าง สปศ. กับ ศธ. ทำให้พวกตนไม่สบายใจ น.พ.ชัยพร กล่าวต่อว่า ในส่วนขององค์กรเองยังคงยืนยันว่ายังเห็นด้วยกับ สปศ. ถึง 70-80% แต่อาจต้องนำมาปรับปรุงบ้าง
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
ตั้งวิทยาลัยแรงงานพัฒนาภาษา-ไอที
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายเดช บุญ-หลง รองนายกฯ และรมว.แรงงานฯ เผยถึงการแก้ปัญหา เรื่องภาษาของแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศว่า ได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานหาทางช่วยพัฒนาแรงงานไทย ให้มีความพร้อมเพื่อแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่น ขณะเดียวกันต้องพัฒนาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย รมว.แรงงานฯ กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า จะจัดตั้งวิทยาลัยส่งเสริมการมีงานทำขึ้น โดยให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการร่วมกับกรมการจัดหางาน และสำนักงานประกันสังคมเปิด หลักสูตรให้แรงงานทั้งที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และในประเทศ ตลอดจนแรงงานที่ต้องการทักษะเพิ่มเติมด้านภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่น รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ด้านไอที และการบริหารจัดการเพิ่มเติมด้วย โดยในเบื้องต้นจะปรับปรุงสถานที่ อาคารฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นที่ตั้งวิทยาลัยไปก่อน
(เดลินิวส์ พฤหัสที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 19)
ม.รังสิตติวเข้มก่อนก้าวสู่สนาม.. นักแปล & ล่ามมืออาชีพ
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดการสัมมนาอภิปรายเรื่อง นักแปล และนักล่ามมืออาชีพ โดยเน้นเนื้อหาสาระของการเตรียมตัวก่อนการเป็นนักแปลและนักล่ามมืออาชีพ รวมทั้งการใช้เทคนิคต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน การเตรียมตัวเป็นนักแปล และล่ามมืออาชีพนั้น ต้องมีการวางแผนเรื่องสุขภาพ เรื่องการบริหารเวลา การพัฒนาบุคลิกภาพต้องมีความพร้อมและตื่นตัวอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังต้องมีนิสัยรักการอ่าน จะต้องรู้จักการใช้ภาษาทั้งสองภาษาให้ถูกต้องและใกล้เคียงกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การแปลหรือการเป็นล่ามจากภาษาที่ 1 ไปสู่ภาษาที่ 2 จะไม่สามารถถอดความตรงกันได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือเรียกว่า คำต่อคำ และถอดความให้ใกล้เคียงต้นฉบับให้มากที่สุด สิ่งที่สำคัญทางด้านจิตใจคือ ต้องมีใจรักทางด้านการแปลหรือการเป็นล่าม สร้างความพอใจให้กับจิตใจ กล้าเผชิญกับความจริง มีความยุติธรรมในการถ่ายทอด
(สยามรัฐ พุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เผยรายชื่อคนเก่งคว้าโล่คณิตศาสตร์
สมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ เผยรายชื่อผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันคณิตศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2544 ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ทั้งประเภททีม และประเภทบุคคล โดยแบ่งเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ รางวัลชนะเลิศของประเทศ ระดับม.ต้น ประเภททีมได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส่วนรางวัลชนะเลิศของประเทศระดับม.ปลาย ประเภททีม ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เช่นกัน
(สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
แข่งโอลิมปิกฟิสิกส์ปี46 ไทยเจ้าภาพ
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติโครงการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในปีพ.ศ.2546 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ ส่งเสริมการเรียนการสอนฟิสิกส์ให้เป็นที่สนใจของเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน
(สยามรัฐ พุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ทิวไผ่งาม-สุรนารี คว้าแชมป์นักวิทย์
ผลการแข่งขันประกวด โครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์ หรือ Young Scientist Competition in Computer and Engineering Project (YSC.CS & YSC.EN 2002) เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปร่วมประกวดโครงการอินเทล ไอเซฟ ครั้งที่ 53 ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นที่ชั้น 5 ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็น ทรัลลาดพร้าว รางวัลชนะเลิศด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์คือ นายศุภศักดิ์ กุลวงศ์อนันชัย นักเรียนชั้น ม.6 จากร.ร.ทิวไผ่งาม เจ้าของโครงการพัฒนาระบบการแสดงผล 3Dเพื่อเร่งประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถแสดงผลได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 240% รางวัลรองชนะเลิศ นายนพพร ด่านชัยนาม นักเรียน ร.ร.จักรคำคณาทร จ.ลำพูน เจ้าของโครงการเร่งความเร็วการแสดงผล 3 มิติแบบคงที่ด้วยจักรกลเรียนรู้และจดจำ ด้านวิศวกรรม ได้แก่ เครื่องตรวจสอบการมีชีวิตของลูกไก่ก่อนฟักตัว ของ น.ส.อัชฌาวดี กาญจนฐม นักเรียนชั้น ม.5 จากร.ร.สุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา ที่ใช้การสั่นสะเทือนของสปริงที่นำไข่ไปวางไว้ด้านบนเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกไก่ที่อยู่ในไข่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ของ นายชารีฟ แย้มโคกสูง ร.ร.วิชัยวิทยา จ.เชียงใหม่ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิฯในการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน Intel Internation Science and Engineering Fair ครั้งที่ 53 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ค. 2545
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 19)
เด็กไทยคว้าแชมป์สถาปัตย์นานาชาติ
จากการแข่งขันประกวดแบบระดับนานาชาติ ในหัวข้อ สถาปัตยกรรมและเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นโดย Union Internationale des Architecte (UIA) หรือสหภาพสถาปนิกสากล ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่านักศึกษา คณะสถาปัตยกรรม ม.ศรีปทุม สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง พร้อมประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 5,000 เหรียญสหรัฐ
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 16)
ชี้โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุค โพสต์จีโนม ถึงเวลาทั่วโลกปฏิวัติระบบสุขภาพ
น.พ.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง ผลกระทบของโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ต่ออนาคตการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบครอบ 10 ปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ว่า ความรู้เรื่องการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์จะทำให้วงการแพทย์และสาธารณสุขพ้นจากยุคเก่า คือ เน้นการรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย ก้าวเข้าสู่ยุคของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างเต็มตัว น.พ.อัลเฟรด ซอมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปต้องเรียกว่า ยุคหลังการถอดรหัสพันธุกรรมหรือ โพสต์จีโนม ความก้าวหน้าในยุคนี้จะมีผลต่อการพัฒนาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก
(มติชน จันทร์ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 18)
สหรัฐผุดเทคโนฯใหม่ขจัดอี-เมล์สแปม
ทรัสต์ องค์กรไม่หวังผลกำไร ซึ่งให้การสนับสนุนความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต เปิดตัวโพสทิวา (Postiva) ระบบที่ใช้ประทับตราไปรษณีย์ดิจิทัลบน อี-เมล์ ในเชิงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ส่งทำตามระเบียบว่าด้วยความเป็นส่วนตัว ส่วนสมาคมการทำตลาดระบบขายตรงหรือ DMA มีกำหนดการจะเปิดเผยนโยบายปฏิบัติ (guide-line) ที่เรียกร้องให้สมาชิกทำตามคำแนะนำว่าด้วยการ ห้ามติดต่อ กับอีเมล์ที่มีอยู่ในรายชื่อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายรายชื่อกลุ่มการค้าของนักการตลาดทางโทรศัพท์ ซึ่งความหมายทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อลดปัญหาอีเมล์สแปม ซึ่งทำให้ผู้รับอีเมล์ได้รับข้อความโฆษณามากมายในกล่องรับจดหมายของตัวเอง
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
สคบ.ตระหนักถึงภัยจากมือถือวัตต์สูง หากอันตรายต้องติดฉลากเตือนภัย
แพทยสภา สุ่มตัวอย่างประชาชนที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่กำลังวัตต์สูง แล้วพบว่า อาจมีอันตรายก่อมะเร็งสมองกับผู้ใช้ หากพบว่ามีผลกระทบจริงจะให้ผู้ประกอบการติดฉลากเตือนภัยเป็นอันดับแรก กรณีแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดทำผลสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็น ของกลุ่มเป้าหมายในหัวข้อ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของกลุ่มเป้าหมายกับอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สศบ.) ได้รับการร้องเรียนถึงภัยอันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก ในชั้นต้นจึงจะมีการนำผลสำรวจของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยมาศึกษา หากผลการพิจารณาเบื้องต้นมีการชี้ชัดจริงถึงอันตรายของคลื่นโทรศัพท์มือถือทาง สศบ. จะมีการเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ นำไปประกอบการพิจารณาในขั้นต่อไป
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 24)
แพทย์เตือนระวังภัยใช้งาน เพลย์สเตชั่น หลังพบวัยรุ่นเล่นเกมนาน 7 ชม./วันเจ็บมือ
บริทิช เมดิคอล เจอร์นัล หรือ บีเอ็มเจ วารสารการแพทย์รายสัปดาห์ในอังกฤษ รายงานว่า คณะกุมารแพทย์อาวุโสของโรงพยาบาลเด็กรอยัล ลีเวอร์พูล ในอังกฤษตรวจพบเด็กชายวัย 15 ปี ซึ่งมือทั้งสองข้างบวมและกลายเป็นสีขาวเมื่ออุณหภูมิเย็นลง และกลายเป็นสีแดงและเจ็บปวดเมื่ออุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น อาการป่วยดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการสั่นของอุปกรณ์ควบคุมชนิดพกพาที่ใช้ในการเล่นเกมเพลย์สเตชั่นของบริษัทโซนี ซึ่งเรียกว่า รัมเบิล บอร์ด (Rumble board) จะส่งผ่านความสั่นสะเทือนไปยังมือและแขนของผู้เล่น เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ของฉากแอ็คชั่นในเกม อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า เกมคอมพิวเตอร์ที่มีแสงวูบวาบตลอดเวลาส่งผลให้เกิดโรคลมบ้าหมูได้ นอกจากนี้นักจิตวิทยาเด็กยังเชื่อว่า การเล่นเกมที่ก้าวร้าว หรือรุนแรงมากเกินไป อาจมีผลต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กด้วย
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
ข่าววิจัย/พัฒนา
3 นักวิจัยกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มายังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2544 แก่ผู้ได้รับรางวัลจำนวน 3 ราย สาขาการแพทย์ ได้แก่ เซอร์ เดวิด เวเธอร์รอล จากสหราชอาณาจักร เป็นบุคคลแรกที่ทำการศึกษาวิจัยจนได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคธาลัสซีเมียในระดับโมเลกุล ทั้งทางพันธุศาสตร์ พยาธิสรีรวิทยา และด้านคลินิก และใช้ในการป้องกันโรคโดยการวินิจฉัยทารกก่อนคลอดได้ ส่วนสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.น.พ.แบรี่ มาร์แชล จากประเทศออสเตรเลีย พบโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหารซึ่งไม่ได้เกิดจากการกินอาหารผิดเวลาหรือความเครียดอย่างที่เข้าใจกัน แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อเฮลิโคแบคเดอร์ ไพลอรัย และ ศ.ดร.แลม ซัยกิต จากประเทศมาเลเซีย ค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ ไวรัสนิป้าห์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในหมูและติดต่อมาสู่คนในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร โดยได้รับพระราชทานเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 26)
โรงสีไฟฟ้าจิ๋วแต่แจ๋ว
งาน สยามนิทัศน์ 2002 จัดขึ้นที่ ม.สยาม แสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทยสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี ประสาน ม่วงไหม นิคม ขวัญมณี และ ปิยะรัตน์ ณ นคร นักศึกษาภาควิชาเครื่องกล คณะอุตสาหกรรมศาสตร์ ปี 2 เจ้าของผลงานโรงสีขนาดเล็กซึ่งมีน้ำหนักเพียง 300 กว่ากิโลกรัม ใช้พื้นที่ 2 ตารางเมตร สามารถสีข้าวได้ถึง 12 กก.ต่อชั่วโมง ที่สำคัญผลผลิตออกมาเหมือนกับโรงสีขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วไป ใช้พลังงานจากมอเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าตามบ้าน ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้ใช้ได้กับเครื่องยนต์ขนาดเล็กด้วยต้นทุนเพียง 25,000 บาท
(เดลินิวส์ อังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 12)
เตรียมวิจัยคนไทยหวังขจัดมาลาเรีย
น.พ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีจีโนมโปรเจ็คสามารถถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ได้ถึง 3,000 ล้านเบส รวมถึงการวิเคราะห์ระดับดีเอ็นเอ เพื่อเจาะลึกลงไปในโปรตีนแต่ละเซลล์ ทำให้สามารถศึกษาพฤติกรรมของบุคคลซึ่งมี 2 ส่วน คือ พื้นฐานพันธุกรรม และพฤติกรรมจากสิ่งแวดล้อม เพราะสารพฤติกรรมอาจบ่งบอกถึงความสามารถในร่างกาย พฤติกรรมอารมณ์ของแต่ละคนได้ นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางการแพทย์สามารถที่จะตรวจหายีนที่แสดงว่า บุคคลใดน่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ และกำลังมีโครงการวิจัยหาสารพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคไขมาลาเรียในคนไทย เพื่อทำการป้องกันและกำจัดโรคนี้
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 3)
การผลิตเนื้อปลาบด (ซูริมิ) และผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากปลานิล
รศ.ดร.สุวรรณ จิรัชกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัยการผลิตเนื้อปลาบด หรือซูริมิจากปลานิล และการนำเศษเหลือจากกระบวนการผลิต เช่น การนำเศษเนื้อในน้ำล้างเนื้อปลาบด และเนื้อติดโครงกระดูกกลับมาผลิตซูริมิ การนำกระดูกมาผลิตแคลเซียม การนำส่วนหัวและเครื่องในมาสกัดน้ำมัน ผลงานวิจัยนี้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากปลาทะเล ซึ่งกำลังมีปริมาณลดลง และยังสามารถใช้ประโยชน์ทั้งวัตถุดิบและเศษเหลือของปลานิลจากกระบวนการผลิตอาหารได้อย่างสูงสุด
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 24)
อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์
หน่วยปฏิบัติงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ และงานพัฒนาธุรกิจศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ส่งเสริมในระบบโทรทัศน์ทางไกลสาธารณะชนบท ที่มีแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นตัวจ่ายพลังงานและมีแบตเตอรี่เป็นตัวเก็บพลังงาน ผลงานวิจัยนี้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอนุรักษ์พลังงาน และสามารถผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศ ทำให้ราคาถูกและลดการขาดดุลทางการค้ากับต่างประเทศ
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 24)
เครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิกส์
วท.ได้ทำการพัฒนาเครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิกส์สำหรับทำความสะอาดอุปกรณ์ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม อัญมณี เครื่องประดับ และอุปกรณ์การแพทย์ และได้มีการติดตั้งเครื่องทำความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์ด้วยอัลตราโซนิกส์ให้แก่ กองวิสัญญีแพทย์และห้องผ่าตัด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หลักการทำงานของเครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิกส์ เป็นหลักการง่ายๆ มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วนคือ วงจรไฟฟ้า ชิ้นงานเพียโซอิเล็กทริกเซรามิก และอ่างสำหรับใส่น้ำ เมื่อมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านชิ้นงานเพียโซอิเล็กทริก หรือเรียกง่ายๆ ว่า หัวทรานสดิวเซอร์ ชิ้นงานเพียโซอิเล็กทริกจะเกิดการสั่นสะเทือน ซึ่งตัวของเพียโซอิเล็กทริกนั้นสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ ความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่างที่ความถี่สูงจนเกิดการสั่นสะเทือนนี้เอง เมื่อนำชิ้นงานติดเข้ากับอ่างสเตนเลส ความถี่ของระดับการสั่นสะเทือนอัลตราโซนิกส์ จะถูกส่งผ่านไปยังอนุภาคของน้ำและของเหลว ซึ่งอนุภาคของน้ำซึ่งมีขนาดเล็กจะแทรกเข้าไปยังส่วนต่างๆ ของอุปกรณ์และกระแทกให้คราบสกปรกที่ติดแผ่นหลุดออกมาได้
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 24)
รถตัดหญ้าขับเคลื่อนตัวเอง คว้ารางวัลมูลนิธิ ธ.กรุงเทพ
จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2544 ซึ่งมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้น รางวัลชนะเลิศได้แก่ รถตัดหญ้าขับเคลื่อนตัวเอง อันเป็นผลงานของ นางนิตยา วรวราชัย จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำหรับคุณสมบัติและจุดเด่นพิเศษ คือ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้นำโซ่รถจักรยานยนต์มาใช้ในการควบคุมความเร็วของล้อทั้ง 2 ข้างหมุนไม่เท่ากันจะช่วยประคองไม่ให้รถเสียการทรงตัวขณะเลี้ยว แทนการควบคุมด้วยระบบเพลารถยนต์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ส่วนรางวัลที่ 2 เป็นเครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติ ไม่ใช้ไฟฟ้า ของ นายมนตรี ค้ำชู จากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มีคุณสมบัติและจุดเด่นคือ สามารถรดน้ำเมล็ดถั่วงอกหรือเมล็ดพืชต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เพียงแต่ใช้หลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า กาลักน้ำ รางวัลที่ 3 เป็นเครื่องอบแห้งระบบไมโครเวฟสุญญากาศ-ถังหมุน ของ นายวีระชัย แก่นทรัพย์ จาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มีคุณสมบัติและจุดเด่น คือ สามารถควบคุมพลังงานไมโครเวฟได้ 10-100% ของความเร็วรอบมอเตอร์ นอกจากนี้ยังให้คุณค่าทางอาหารหลังอบแห้งสูงและใช้พลังงานในการอบต่ำ
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 22)
นักวิจัยโอ่ผลิตไตจากวัวโคลนนิงสำเร็จ
บริษัทแอดวานซ์ เชลล์ เทคโนโลยี ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐ เปิดเผย เมื่อวันพุธที่ 30 มกราคม ว่าสามารถผลิตไตขนาดเล็กจากตัวอ่อนวัวที่ผ่านกระบวนการโคลนนิ่ง โดยไตที่ได้ทำหน้าที่ใกล้เคียงกับอุปกรณ์ไตเทียม รวมถึงการผลิตปัสสาวะ ดอกเตอร์โรเบิร์ต พี ลันซา หัวหน้าโครงการ เผยว่า การวิจัยเริ่มโดยใช้ตัดเซลล์จากผิวหนังบริเวณหูของวัวที่โตเต็มที่ จากนั้นแยกยีนในไข่ของวัวอีกตัวออกก่อนนำยีนที่ได้จากวัวตัวแรกใส่แทน ซึ่งส่วนนี้จะเติบโตเป็นตัวอ่อนวัว ตัวอ่อนจะประกอบไปด้วยเซลล์มาสเตอร์ ที่เรียกว่า สเต็ม เซลล์ ซึ่งจะโตเป็นเนื้อเยื่อในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์จะเลี้ยงตัวอ่อนให้อยู่ระดับที่สามารถจำแนกเซลล์เพื่อพัฒนาเป็นเซลล์ไต จากนั้นจะทำงานร่วมกับนักวิจัยแห่งโรงพยาบาลเด็กในเมืองบอสตัน โดยวางเซลล์ซึ่งยังไม่โตเต็มที่บนอุปกรณ์รองรับคล้ายฟองน้ำยาว 2 นิ้ว เพื่อปล่อยให้เซลล์เติบโตทำหน้าที่เป็นไต แล้วฝังเซลล์ดังกล่าวไว้ใต้ผิวของวัวตัวแรก การสร้างแหล่งเซลล์แบบนี้ เรียกว่า การโคลนนิ่งเพื่อบำบัดโรค เป้าหมายอยู่ที่เซลล์เอกเทศ แต่เพื่อสร้างเซลล์ที่ทำงานประสานกับเนื้อเยื่อและโครงสร้างซับซ้อน อาทิ ไต หรือ หัวใจ เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างอวัยวะใหม่สำหรับเปลี่ยนถ่ายแทนอวัยวะมนุษย์ที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพ
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 30)
ตรวจเลือดแบบใหม่ จนท. ไม่ต้องเสี่ยง นักวิจัยไทยใช้กระดาษซับวัดผล เอดส์
น.พ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นางบุษราวรรณ ศรีวรรธนะ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และคณะ ได้วิจัยการตรวจวินิจฉัยและศึกษาความคงตัวของเชื้อเอชไอวี (เอดส์)-1 DNA จากหยดเลือดแห้งบนกระดาษซับ พบว่าได้ผลดี ทำให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาและไม่ได้รับยา โดยใช้หยดเลือดแห้งบนกระดาษซับ จากเดิมต้องเจาะเลือดทารกในปริมาณ 1-2 มิลลิกรัม สามารถเก็บตัวอย่างหยดเลือดแห้งบนกระดาษซับได้นานถึง 14 สัปดาห์ นางบุษราวรรณ เปิดเผยว่า ในการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาและไม่ได้รับยาที่ผ่านมา ต้องใช้เลือดปริมาณ 1-2 มิลลิกรัม ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บรักษาการส่งตัวอย่างเลือด พบว่า เทคนิคการเก็บตัวอย่างหยดเลือดบนกระดาษซับ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม และกระบวนการเมตาบอลิซึมของทารกแรกเกิด นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาความคงตัวของดีเอ็นเอที่เก็บในอุณหภูมิและเวลาที่ต่างกัน พบว่าได้ผลแม่นยำทำให้ลดปริมาณเลือดที่ต้องเจาะจากทารก
(มติชน พุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 18)
เอชพีเผยผลสำเร็จพัฒนาเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง
นักวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการฮิวเลต-แพคการ์ด เผยผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีโพลีโนเมียล เท็กซ์เจอร์ แมพพิ่ง (polynomial texture mapping) หรือเรียกสั้นๆ ว่า พีทีเอ็ม (PTM) สามารถนำนักโบราณคดีกลับไปสู่ยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ในอดีตกาลหรือแม้แต่ยุคที่นักเขียนชาวอียิปต์ประดิษฐ์แผ่นป้ายบันทึกดินเหนียวเพื่อการติดต่อกันในอดีต นายมัลซ์เบนเดอร์ กล่าวว่า ภาพถ่ายธรรมดามีสภาพแสง และฉากเหตุการณ์ที่ตายตัว แต่ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสว่างของแสงให้มากกว่าความเป็นจริง สามารถจำลองได้ทุกความละเอียดของแสงเงา รวมทั้งยังยอมให้เปลี่ยนสีพื้นผิวของวัตถุได้และยังสามารถนำไปใช้ตรวจสอบสภาพผิวของหินละลายภูเขาไฟ และเหล็ก
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
ข่าวทั่วไป
ยาโบราณ ผลิตผิดสูตรจำคุกตลอดชีวิต
น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องใส่สารห้ามใช้ในตำรับยาแผนโบราณ ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยการผลิต นำเข้ายาแผนโบราณ จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เมื่อได้รับอนุญาตและได้รับเลขทะเบียนตำรับยาแล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าได้
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 11)
ทักษิณ จี้ขรก.ระดับบริหารพัฒนาไอที อ้างรัฐบาลขาดข้อมูลคุณภาพ-ล้าสมัย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คช็อป นโยบาย และทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ว่า เหตุผลหนึ่งที่ต้องตั้งกระทรวงสารสนเทศขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ทุกอย่างต้องผสมผสานเข้ากับความรู้ทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ทำให้จำเป็นต้องตั้งกระทรวงไอทีขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ไปสู่รากฐานของประเทศได้มากที่สุด ทั้งนี้ต้องการให้ประเทศไทยใช้ระบบอี-ซิติเซน (E-Citizen) คือประชาชนทุกคนมีบัตรสมาร์ทการ์ด รัฐบาลจะรู้ข้อมูลของทุกคน ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจะผลักดันให้เกิด รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับครุภัณฑ์ธรรมดา ซึ่งหากรัฐบาลจะเบิกจ่ายแบบออนไลน์ ก็ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ด้วย เพราะเมื่อใดที่ระบบความโปร่งใสในการบริหารไม่ชัดเจน จะนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพจึงต้องอาศัยดัชนีวัด ซึ่งเครื่องมืออย่างหนึ่งคือ เทคโนโลยี
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ธุรกิจท่องเที่ยวไทยอันตราย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยปี 2545-2547 มีการกำหนดแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งเก่าและใหม่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข ความปลอดภัย จากเดิมที่จะมีการกำหนดแผนการพัฒนาแต่ละจุดเป็นสำคัญ ซึ่งหลังจากนี้ ททท.จะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ รักษาการผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของไทยจะต้องกำหนดแผนการพัฒนาสินค้าและบริการ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มชายทะเลและหมู่เกาะธรรมชาติ และอุทยานป่าเขา กลุ่มประวัติศาสตร์โบราณสถาน กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม และกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานภาพการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มลดลงจากอันดับที่ 19 ในปี 2542 มาอยู่ที่อันดับที่ 21 ในปี 2543 โดยมีสัญญาณอันตรายคือ ส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวของไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลง
(สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
เผย ผู้หญิง-คนโสด กลุ่มหลักใช้อินเทอร์เน็ต
นายทวีศักดิ์ กออนันตกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า จากผลการสำรวจลักษณะผู้ใช้ และพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างเดือนกันยายน ตุลาคม 2544 จากกลุ่มสำรวจราว 20,000 คน พบว่า ผู้หญิงมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 50.2% ส่วนใหญ่เป็นคนโสดถึงร้อยละ 76.3 และอายุระหว่าง 20-29 ปี โดยจบปริญญาตรีถึงร้อยละ 60.3 เป้าหมายการใช้งานอันดับ 1 เป็นการรับ-ส่งอีเมล์ คิดเป็นร้อยละ 35.7 และรองลงมาเป็นการช้เพื่อค้นหาข้อมูล ร้อยละ 32.2 อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ ทำให้พบว่า ประเทศไทยยังคงมีช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ระหว่างผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่าสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครือข่ายโทรคมนาคมที่ยังไม่ทั่วถึง
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 6)
หอยมือเสิอ หอยสองฝาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หอยมือเสือ จัดเป็นหอยในกลุ่มหอยสองฝา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมักอาศัยอยู่ตามแนวปะการังทั่วไป โดยจะฝังตัวอยู่ในปะการัง ฝาของหอยจะเปิดอ้าออกแล้วแผ่ส่วนของชั้นเนื้อเยื่อแมนเทิล ที่มีสีสันสวยงามออกมา การที่เนื้อเยื่อชั้นนี้มีสีสวยงามเนื่องจากมีสาหร่ายชูแชนเทลลีอาศัยอยู่ โดยสาหร่ายจะนำของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากหอยมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้หอยได้รับสารอาหารและก๊าซออกซเจนบางส่วนที่เกิดจากการสังเคราะห์แสง ดังนั้นการอยู่อาศัยควมกันของหอยมือเสือและสาหร่ายชูแชนเทลลีนี้ เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 22)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|