|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 8 ประจำวันที่ 2002-02-19
ข่าวการศึกษา
ทบวง ยัน ม.ต้องออกนอกระบบ สจพ. สนองพระราชดำริ สร้างสื่อสมทบมูลนิธิพระดาบส เทคโนฯปทุมวันขออยู่ทบวงอุดมศึกษา สปศ.ชี้แนวคิดสจพ.ไม่อยากให้ยุบทบวงมหาวิทยาลัย ทบวงบรรจุเกรดกิจกรรมนศ.ในทรานสคริปท์ วิจิตร แนะปรับตัวกศ.นานาชาติสร้างรายได้ เรียนรู้เครือข่ายของจริงที่คณะไอทีลาดกระบัง ศธ.เน้นผลิตครูสาขาขาดแคลนไม่เกินปีละ 5 พันคน เด็กต่างชาติตบเท้าเรียนม.ไทยเพิ่ม 400% ภาวิช ค้านเลื่อน ม.นอกระบบ ช่วงนี้ ชี้ใกล้เส้นตายค่อยทบทวนยังไม่สาย ม. พร้อมใจส่งร่างกม.นอกระบบก.ย.นี้
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
สมเด็จพระเทพฯทรงเน้นการจัดเก็บข้อมูลพืช กระทรวงใหม่ไอที สมาคมซอฟต์แวร์ฯเร่งรัฐผลิตคนไอที อังกฤษใช้เครื่องเช็กม่านตาแทนพาสปอร์ต ไปดาวอังคาร
ไม่ยากอย่างที่คิด ดันสองเทศบาลแกลง-แหลมฉบัง เป็นท้องถิ่นมาตรฐาน ISO14001 ค่ายไฮเทคตั้งกลุ่มพัฒนามาตรฐานเน็ต
ข่าววิจัย/พัฒนา
เซอร์เพนไทน์ หุ่นยนต์นักสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย ระดมสมองนักวิจัยไทย ปลุกฟื้นสวนส้มบางมด ชาวบ้านหนองหญ้าปล้อง รู้คิด รู้ใช้ภูมิปัญญา ผลิต น้ำตาลอ้อย.. ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน จากลูกไม้ข้างรั้ว..สู่อาหารระดับโลก ผลิตภัณฑ์จากมะเกี๋ยง ไทยเจ๋งพบโครงสร้างโปรตีนเร่งพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรีย เตรียมทดลองวัคซีนไวรัส เอดส์ ในคนคาดอีก 10 ปีสำเร็จ นักวิจัยญี่ปุ่นเผยผลศึกษาระบุ สัตว์โคลนนิ่ง อายุสั้น ผลวิจัยใหม่เขย่าทฤษฎีนอนแปดชั่วโมงอายุสั้น
ข่าวทั่วไป
ไทยเจ้าภาพประชุมแพทย์โลก คจร.อนุมัติแท็กซี่วิ่งช่องบัสเลน 3 สาย เตรียมฟื้นพิธีโล้ชิงช้าฉลองกรุงเทพฯ 220 ปี โยธาจัดระเบียบวัดก่อนก่อสร้างต้องขออนุญาตก่อน สัมผัสธรรมชาติสวยงามกับสวนสายทิพย์ ชมไม้ดอก-ผีเสื้อนานาชนิด ใหญ่สุดในเอเชีย
ข่าวการศึกษา
ทบวง ยัน ม.ต้องออกนอกระบบ
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ถึงการออกนอกระบบราชการ ว่า ยังยืนยันให้ออกนอกระบบแน่ แต่จะทยอยออกตามความพร้อมเป็นรุ่นๆ รุ่นแรกจะมี 8 สถาบันคือ จุฬาฯ ม.นเรศวร ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ทักษิณ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.มหาสารคาม และ ม.ขอนแก่น ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทปอ. รับปากจะส่งร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทุกแห่งทันภายในเดือนกันยายนนี้ ส่วนที่ นายเสนาะ เสนอให้ทบทวนมติ ครม. นั้น หากมองความเป็นจริงถ้าจะให้ออกพร้อมกันทุกสถาบันคนเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐมีข้อจำกัดในเรื่องเงินเดือน ทบวงฯ เคยเสนอให้มีการทบทวนมติ ครม. ใน 6 เรื่อง คือ 1.ให้ม.ในกำกับรัฐเป็นเสมือนหน่วยงานราชการอื่นเพื่อให้ ม.ในกำกับรัฐมีสิทธิเท่าเทียมกัน 2. ให้พนักงาน ม.ในกำกับเป็นเสมือนข้าราชการ 3. ให้ ม.ในกำกับรัฐใช้ที่ราชพัสดุได้ 4. ให้สิทธิมหาวิทยาลัยส่งผู้สมัครเข้าชิงทุนของหน่วยงานอื่นได้เหมือนกับข้าราชการ 5. ให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ครอบคลุมพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย และ 6. ให้การบริหารบุคลากรมหาวิทยาลัยเป็นระบบคู่ขนาน แต่ที่ผ่านมา ครม. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้เลย
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
สจพ. สนองพระราชดำริ สร้างสื่อสมทบมูลนิธิพระดาบส
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภายใต้การดำเนินงานของสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการพัฒนาและ การผลิตสื่อการเรียนการสอน จับมือกับบริษัท กันยงวัฒนา จำกัด บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด บริษัทฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทโรเบิร์ต บ๊อซ และมูลนิธิพระดาบสแผนใหม่ ขึ้น โดยเป็นไปตามแนวพระราชดำริเป็นเวลา 5 ปี (2544-2548) เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากมีความรู้พื้นฐานไม่เพียงพอ และขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีความตั้งใจจริงและศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตัวให้มีโอกาสเรียนวิชาช่าง และอาชีพสาขาต่างๆ เพื่อนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้การออกแบบการพัฒนาและผลิตสื่อการเรียนการสอนได้ดำเนินการแล้วเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว 4 ชุดด้วยกัน ได้แก่ หมวดวิชาช่างพื้นฐาน สาขาช่างยนต์ สาขาช่างไฟฟ้า สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และงานระบบสนับสนุนการเรียนการสอน 2 ชุด ได้แก่ งานพัฒนาห้องสมุด และงานพัฒนาระบบสารสนเทศ ซึ่งสถาบันฯจะถือเอาโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันครบ 43 ปี เป็นวันจัดพิธีมอบชุดสื่อการเรียนการสอนและงานพัฒนาระบบดังกล่าว แก่มูลนิธิพระดาบส สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถ.พิบูลสงคราม บางซื่อ โทร. 0-2580-9010
(สยามรัฐ อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
เทคโนฯปทุมวันขออยู่ทบวงอุดมศึกษา
กลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันประมาณ 200 คนเดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยระบุว่า ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันไปสังกัดทบวงอุดมศึกษา จากเดิมที่กำหนดให้สังกัดทบวงการอาชีวศึกษา ปัญหาสำคัญที่ทำให้นักศึกษาถูกปฏิเสธจากผู้ประกอบการ โดยถูกมองว่าไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยเนื่องจาก ไม่ได้สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย อีกทั้งในปัจจุบัน กรมอาชีวศึกษายังไม่ได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานการอาชีวศึกษา ทำให้ทางสถาบันต้องไปอิงกับมาตรฐานของทบวงมหาวิทยาลัย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่ ศธ. ให้สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ขึ้นอยู่กับทบวงการอาชีวศึกษา เพราะถ้าไปขึ้นกับทบวงอุดมศึกษา จะต้องเน้นการเรียนทางด้านวิชาการและการวิจัย แต่ถ้ายังอยู่ที่ทบวงการอาชีวศึกษาก็จะเน้นด้านทักษะอาชีพ และเรียนวิชาการเฉพาะพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันก็เน้นการเรียนในภาคปฏิบัติมากกว่าวิชาการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกให้ไปอยู่กับทบวงการอาชีวศึกษาจึงไม่ได้ด้อยไปกว่าทบวงอุดมศึกษา เพียงแต่เป็นการเน้นหนักคนละด้านเท่านั้น ส่วนศักดิ์และสิทธิการเป็นอุดมศึกษาจะเท่าเทียมกันทุกอย่าง
(เดลินิวส์ พุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 10)
สปศ.ชี้แนวคิดสจพ.ไม่อยากให้ยุบทบวงมหาวิทยาลัย
จากกรณีที่ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณโสภณ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ได้เสนอว่า หากมีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่เป็น 4 ทบวง ก็ควรคงทบวงมหาวิทยาลัยไว้เช่นเดิม เพราะระบบอุดมศึกษาได้มีการพัฒนาจนอยู่ตัวแล้วนั้น นายจรูญ ชูลาภ ปลัด ศธ. กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนเห็นว่าไม่ควรแยกงานการศึกษาออกไปตั้งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง เพราะการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลได้จัดกระทรวงต่างๆ ตามกลุ่มงานที่มีลักษณะเหมือนกันไว้แล้ว ศ.ดร. ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวว่า หากจะคงทบวงมหาวิทยาลัยไว้ก็ต้องไปแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก่อน เพราะเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติต้องการให้หน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษามาอยู่รวมกัน เพื่อให้มีเอกภาพในนโยบาย ด้าน นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและเสนอได้ ถ้าคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้เกิดความสับสน หรือทำให้การศึกษาแย่กว่าเดิม แต่ความคิดนั้นจะต้องทำให้อุดมศึกษามีประสิทธิภาพและเรื่องนี้ก็ยังเป็นเพียงความเห็นที่ยังไม่ใช่ข้อสรุป ซึ่งประเด็นดังกล่าวตนจะนำเข้าหารือในการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รมว.ทบวงฯ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาใหญ่ของการปรับโครงสร้างอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการยังมีวัฒนธรรมการทำงานที่รัฐมนตรีสั่งการ ส่วนของอุดมศึกษาจะมีวัฒนธรรมการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งใกล้เคียงกับข้อเสนอของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) อยู่แล้ว นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่าการพิจารณาโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการใหม่นั้นจะต้องแยกออกจากกระทรวง ทบวงกรมอื่นๆ เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีกฎหมายเฉพาะอยู่และต้องให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไปหารือกันในรายละเอียดต่อไป
(เดลินิวส์ พุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 10)
ทบวงบรรจุเกรดกิจกรรมนศ.ในทรานสคริปท์
นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง คนสองวัย ห่วงใยประเทศ ว่า รัฐบาลอยากให้นิสิตนักศึกษาคนหนุ่มสาวเป็นนักรบของประเทศในทางปัญญา โดยมหาวิทยาลัยจะต้องมีการแนะแนวทางให้นิสิตนักศึกษาคิดหากระบวนการที่จะเข้าไปเชื่อมต่อกับชุมชน นอกจากนี้ อยากให้นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่คิดกิจกรรมใหม่ที่คนสนใจ เป็นประโยชน์สอดรับกับสถานการณ์บ้านเมือง ตลอดจนการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ทั้งนี้ ทบวงจะสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ รวมทั้งตนยังเห็นด้วยที่จะให้มีการบรรจุผลการทำกิจกรรมหรือเกรดกิจกรรมลงไปในทรานสคริปท์ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสนใจทำกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งหากกิจกรรมที่ทำนั้นดีก็จะช่วยดึงนิสิตนักศึกษาออกจากสิ่งมอมเมา มั่วสุมได้ เนื่องจากคนที่ทำกิจกรรมเยอะๆ จะทำให้เรียนรู้ได้เองว่าชีวิตจะต้องอยู่กับความเป็นจริง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เล่นการพนัน และปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ก็จะเบาบางไปเอง และคนรุ่นใหม่จะรู้จักเสียสละต่อส่วนรวมด้วย
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
วิจิตร แนะปรับตัวกศ.นานาชาติสร้างรายได้
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง การศึกษานานาชาติกู้วิกฤติประเทศไทยอย่างไร เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ว่า การจะให้การศึกษานานาชาติเป็นการบริการระหว่างประเทศนั้น ไทยจะต้องสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบทุกฝ่าย โดยเฉพาะด้านการตลาดที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้ หากย้อนดูจำนวนอัตรานักเรียนนานาชาติตั้งแต่ปี 2541 ที่เพิ่มจาก 15,000 คน เป็น 20,000 คน หรือ ประมาณ 20% ในปี 2545 โดยในส่วนนี้เป็นชาวต่างประเทศกว่า 65% และระดับอุดมศึกษามีนักศึกษาต่างชาติเพิ่มจาก 685 คน เป็น 2,243 คน ซึ่งเพิ่มกว่า 400% และสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้กว่า 8,900 ล้านบาทต่อปี จะเห็นว่า ด้านการลงทุนของสถานศึกษานานาชาติของไทยอยู่ในอัตราที่สูงมาก แต่ทว่ายังรับผู้เรียนได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งหากมีการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพแล้ว คาดว่าสถานศึกษานานาชาติของไทยยังรองรับผู้เรียนได้อีกกว่าเท่าตัว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประเทศอีกทางหนึ่ง
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
เรียนรู้เครือข่ายของจริงที่คณะไอทีลาดกระบัง
นายโชติพัชร์ ภรณวลัย ผู้อำนวยการโครงการซิสโก้เน็ตเวิร์คกิ้ง อคาเดมี โปรแกรม อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า คณะเซ็นสัญญาเป็น ริจินัล เน็ตเวิร์คกิ้ง อคาเดมี ภายใต้โครงการซิสโก้ เน็ตเวิร์คกิ้ง อคาเดมี กับบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อราวเดือนกรกฎาคม 2544 โดยการร่วมโครงการกับซิสโก้ในระดับรีจินัลนั้น มีข้อผูกพันว่า ซิสโก้จะส่งอาจารย์จำนวน 2 คน ของคณะไปอบรมที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อกลับมาเป็นผู้สอนอาจารย์ ผู้จะทำหน้าที่สอนนักศึกษาต่อไปทั้งอาจารย์ของคณะเอง และอาจารย์ของสถาบันในโครงการที่เป็นเครือข่าย หรือระดับ โลคอลเน็ตเวิร์คกิ้ง อคาเดมี อีก 10 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฏรวม 6 แห่ง เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของคณะแล้วคือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ประโยชน์จากเรียนของจริง สำหรับการเข้าร่วมโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างความมั่นใจแก่นักศึกษาว่า สามารถใช้งานกับของจริงได้ การเรียนระบบเครือข่ายไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ เพราะระบบเครือข่ายมีราคาสูงมาก สถาบันการศึกษาจะไม่สามารถลงทุนในส่วนนี้ได้ ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่ลงทุนราว 20,000 บาทก็ได้เครื่องมาแล้ว ดังนั้นเท่าที่นักศึกษาเรียนรู้จึงเป็นการดูจากภาพบนกระดาษที่อาจารย์วาดวงกลม สี่เหลี่ยม เป็นสัญลักษณ์แทน เราท์เตอร์ หรือ สวิตชิ่งให้นักศึกษาจินตนาการเอง เมื่อจบการศึกษาแล้วไปสมัครงานก็จะตอบคำสัมภาษณ์ว่า เคยได้ยินแต่ด้วยหลักสูตรนี้ นักศึกษาจะตอบเต็มปากเต็มคำว่า เคยทำงานกับของจริงมาแล้ว นายโชติพัชร์ กล่าว
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้าพิเศษ 4)
ศธ.เน้นผลิตครูสาขาขาดแคลนไม่เกินปีละ 5 พันคน
นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า ที่ประชุมพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา (พ.ศ.2545-2549) เห็นตรงกันว่าจะต้องลดจำนวนการผลิตครูให้น้อยลง และผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ครูที่ผลิตในสาขาที่ขาดแคลนก่อน ซึ่งครูใหม่มาจาก 3 ทาง ได้แก่ 1. ผู้ที่จบปริญญาตรีหลักสูตรครู 5 ปี 2. ผู้ที่เรียนวิชาอื่นแต่มาเรียนต่อยอดวิชาครูอีก 1 ปี และ 3. รับบุคคลทั่วไปที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ครูพันธุ์ใหม่จะต้องผ่านการทดลองงานสอนก่อน 1 ปี จึงจะได้รับการบรรจุเป็นครู สำหรับค่าตอบแทนและแรงจูงใจ ที่ประชุมเห็นว่าควรมี 2 แนวทาง กล่าวคือ ผู้ที่เป็นครูอยู่เดิมและครูใหม่เป็นระบบคู่ขนานกัน โดยครูใหม่จะมีแท่งเงินเดือนใหม่ตามวิชาชีพชั้นสูง ส่วนครูปัจจุบันที่มาจากระบบเดิมจะได้รับค่าตอบแทน ในการพัฒนาตนเองให้เข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพ โดยให้โบนัสเป็นรายปี
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
เด็กต่างชาติตบเท้าเรียนม.ไทยเพิ่ม 400%
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายทรงชัย โสเศวตวารี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การศึกษานานาชาติของไทย สถิติใหม่ในการนำรายได้เข้าประเทศ นายวีระชัย เตชะวิจิตร ประธานโรงเรียน The Regents School Pattaya & Bangkok กล่าวว่า ไทยยังมีปัญหาการอำนวยความสะดวกให้อาจารย์ต่างประเทศที่จะเข้ามาสอนรวมทั้งนักศึกษา โดยเฉพาะกรณีที่มหาวิทยาลัยไทยยังบังคับให้เรียนระดับปริญญาตรี 4 ปี ขณะที่ต่างประเทศเปิดให้เรียนจบได้ 3 ปีขึ้นไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานระบุว่า มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 400% จากปี 2541-2543 ส่วนระดับประถมและมัธยมมีอัตราเพิ่มขึ้น 20-25% ซึ่งมากกว่าที่กรมส่งเสริมการส่งออกตั้งเป้าอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี
(มติชน ศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ภาวิช ค้านเลื่อน ม.นอกระบบ ช่วงนี้ ชี้ใกล้เส้นตายค่อยทบทวนยังไม่สาย
ติดตามการปฏิบัติวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ที่ นายเสนาะ เทียนทอง ประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายติดตามการปฏิบัติราชการ ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการตามที่ที่ประชุมประธานสภามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) ขอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐภายในปี 2545 ขณะนี้ตนยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะให้ ครม. ทบทวน และมีมติขยายระยะเวลาออกไป ผมได้คุยกับ ปอมท.แล้ว เขาบอกว่าไม่ได้คัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ แต่ห่วงว่ารัฐบาลจะให้หลักประกันเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างไร ทั้งนี้ ทปอ. คงไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กับ ปอมท. แต่ถ้าเงื่อนไขเวลาการปรับเปลี่ยนที่ตั้งไว้เป็นประโยชน์ก็ไม่เห็นเสียหาย ปอมท. เองน่าจะต้องสนับสนุนด้วยซ้ำ แต่ถ้าใกล้เดดไลน์แล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าการจะทบทวน หรือกำหนดเดดไลน์ใหม่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ นายภาวิช กล่าว
(มติชน จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ม. พร้อมใจส่งร่างกม.นอกระบบก.ย.นี้
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานงานระหว่างผู้บริหารทบวงฯ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ว่า ได้หารือเรื่องการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลันในกำกับรัฐ ซึ่งเห็นพ้องให้เตรียมแผนงานสำหรับมหาวิทยาลัยที่พร้อมเปลี่ยนสถานภาพในรุ่นแรก 8 แห่ง ซึ่ง นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่าใช้งบประมาณน้อยมาก ฉะนั้นทบวงฯ จะตั้งคณะทำงานประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายราชการ เสนอให้ทบวงฯ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องนี้นั้น ทบวงฯ ก็รับฟังแต่สุดท้ายทุกอย่างต้องเดินตามนโยบาย ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการเปลี่ยนสถานภาพ เพียงแต่ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) ยังเห็นต่างจากในบางส่วน ทุกแห่งจึงยืนยันว่าพร้อมจะส่งร่าง พ.ร.บ. ให้ทบวงฯ ภายในเดือนกันยายนนี้
(มติชน อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
สมเด็จพระเทพฯทรงเน้นการจัดเก็บข้อมูลพืช
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตรศูนย์ข้อมูลพืชของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ภายในอาคารหอพรรณไม้ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลวิชาการด้านพืชที่มีความสมบูรณ์แบบและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและทวีปเอเชีย ณ ห้องศูนย์ข้อมูลพืช การเก็บข้อมูลพืชดำเนินการทั้งในระบบของภาพ เอกสาร สไลด์ รูปภาพ และระบบฐานข้อมูลพืช ซึ่งสามารถเพิ่มเติม แก้ไข ปรับปรุง และนำมาเรียกใช้ประโยชน์ได้ทันที อีกทั้งสามารถสร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือและเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการทั้งในและนอกประเทศได้อย่างกว้างขวาง ห้องเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในตู้เหล็กที่จัดทำไว้โดยเฉพาะ โดยจัดวางเป็นระบบตามกลุ่มวงศ์เรียงตามตัวอักษรที่ง่ายต่อการสืบค้นข้อมูล และมีการตรวจสอบชื่อชนิดพันธุ์ให้ถูกต้อง โดยนักพฤกษศาสตร์ ส่วนห้องสมุดทางพฤกษศาสตร์ รวบรวมหนังสือและสิ่งตีพิมพ์ทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์โดยเฉพาะจากทั่วประเทศ จากทวีปเอเชีย และทั่วโลกไว้มากกว่า 40,000 เล่ม
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 26)
กระทรวงใหม่ไอที
ผลจากการทำเวิร์กช็อปเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) ที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อระดมสมองทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จะนำไปสู่โครงสร้างและภารกิจของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ภายในกระทรวงนี้นอกจากจะดึงสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GISTDA) องค์การมหาชนที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องจีไอเอส หรือข้อมูลภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยจะจัดตั้งองค์กร Software Industry Promotion Agency หรือ SIPA เพื่อรับผิดชอบเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในภาพรวม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทยหรือซอฟต์แวร์ปาร์ค ก็จะเข้ามาอยู่ภายใต้องค์กรแห่งนี้ด้วย
(เดลินิวส์ อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 12)
สมาคมซอฟต์แวร์ฯเร่งรัฐผลิตคนไอที
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนนักพัฒนาซอฟต์แวร์กว่า 50,000 คน แต่เดิมนั้นสมาคมมีแผนจะเพิ่มบุคลากรให้ครบจำนวนคนภายใน 5 ปี แต่ภายหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับนายกรัฐมนตรีแล้ว คงจะต้องปรับเปลี่ยนแผนใหม่ให้เร็วขึ้น เพราะรัฐบาลระบุว่าจะสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้นสมาคมฯ จึงเตรียมสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษา โดยให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เป็นแกนหลักในการสร้างบุคลากรซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้มาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
(เดลินิวส์ อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 12)
อังกฤษใช้เครื่องเช็กม่านตาแทนพาสปอร์ต
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นดอตคอมรายงานว่า หลังจากที่สนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้นำเครื่องจดจำม่านตาเข้ามาใช้ตรวจสอบผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกับสายการบินบริติช แอร์เวร์ และเวอร์จิ้นแอตแลนติก แทนการตรวจหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ปรากฏว่าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 16)
ไปดาวอังคาร
ไม่ยากอย่างที่คิด
Cycler คือชื่อของยานต้นแบบที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของดวงดาวเป็นตัวขับเคลื่อนให้ยานสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดวงจันทร์ของมัน เพื่อเร่งความเร็วให้มากขึ้น ทำให้เราไม่ต้องนำเชื้อเพลิงติดตัวขึ้นไปด้วยเป็นจำนวนมากนั่นเอง ทางทีมผู้ออกแบบคาดว่ายาน Cycler น่าจะเปิดให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์ได้ราวปี ค.ศ. 2018 หรือ พ.ศ.2561 โดยจะมีผู้โดยสารเที่ยวแรกราว 60 คน
(เดลินิวส์ พุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 12)
ดันสองเทศบาลแกลง-แหลมฉบัง เป็นท้องถิ่นมาตรฐาน ISO14001
นายไชยยศ บุญญากิจ รองประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ทีอีไอ) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรมการปกครอง สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายกเทศมนตรีและปลัดเทศบาลเมืองแกลง และเทศบาลแหลมฉบัง ได้ร่วมกันจัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากลเลขที่ ISO14001:1996 มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมในเขตเทศบาล 2 แห่งคือ เทศบาลเมืองแกลง และเทศบาลแหลมฉบัง นายไชยยศ กล่าวว่า ประโยชน์ในเบื้องต้นของเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการ คือ มีระบบการบริหารจัดการที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 14001 เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ จะมีระบบการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอันเกี่ยวเนื่องกับอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการใช้งานในระดับเทศบาลซึ่งเป็นสากล
(มติชน พุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 18)
ค่ายไฮเทคตั้งกลุ่มพัฒนามาตรฐานเน็ต
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันพุธ (6 ก.พ.) ว่า บริษัท ไมโครซอฟท์คอร์ป, บริษัท ไอบีเอ็ม, บริษัท บีอีเอซิสเต็มส์ และ บริษัท อินเทล คอร์ป. ประกาศความร่วมมือจัดตั้งสมาคมเทคโนโลยีแห่งใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เวบ เซอร์วิส อินเตอร์โอเปอราบิลีตี้ ออร์แกนไนเซชั่น (The Web Services Interoperability Organization) ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการสร้างบริการอินเทอร์เน็ต และการใช้งานเครือข่ายร่วมกัน แก่กลุ่มองค์กรธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ แหล่งข่าว กล่าวว่า เป้าหมายของสมาคมเทคโนโลยีแห่งใหม่นี้ คือ ลดความสับสนของลูกค้าที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แตกต่างกันของเทคโนโลยี ที่ใช้ในการสร้างบริการอินเทอร์เน็ต เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่เปิดตัวชุดมาตรฐานบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีวิธีการสร้างโปรแกรมบริการอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกัน
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
ข่าววิจัย/พัฒนา
เซอร์เพนไทน์ หุ่นยนต์นักสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย
นายภาคภูมิ วิริยะเจริญสุนทร (จอว์) นักศึกษาปริญญาโท วัย 24 ปี คณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้พัฒนาหุ่นยนต์เซอร์เพนไทน์ แห่งศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิไทย-โทเร (Thai-Toray Foundation) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมเป็นเงิน 1.2 ล้านบาท กล่าวว่า หุ่นยนต์เซอร์เพนไทน์ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นการนำทฤษฎีแอคทีฟ คอร์ด แมคานิสซึ่ม (เอซีเอ็ม) ของ ศ.ชิเกโอะ ฮิโรเซ่ แห่งสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาต่อ โดยหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นการจำลองการเคลื่อนไหวประเภทหนึ่งของงูมาใช้ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการสำรวจสถานที่ที่ซับซ้อน และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ พื้นที่มีสารเคมี หรือกัมมันตภาพรังสี และพื้นที่ที่สลับซับซ้อนอยากแก่การเข้าถึง หุ่นยนต์เอสอาร์ทูนี้ มีจำนวนข้อต่อทั้งหมด 20 ข้อ ในแต่ละข้อต่อมีความยาว 140 มม. หนัก 1051 กรัม และน้ำหนักมอเตอร์ตัวละ 541 กรัม ทุกข้อหมุนของหุ่นยนต์สามารถควบคุมได้ในระดับความเร็ว การนำไปใช้งาน หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้งานจริงได้ เพื่อสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ โดยต้องพัฒนาต่อ เช่น ติดกล้อง, ติดอุปกรณ์เพื่อการสำรวจ และบันทึกข้อมูล เป็นต้น นายภาคภูมิกล่าว
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้าพิเศษ 7)
ระดมสมองนักวิจัยไทย ปลุกฟื้นสวนส้มบางมด
นายเกษม เพชรเกตุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการต้นแบบการป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่สวนส้มบางมดอย่างยั่งยืน และการพัฒนาการผลิตส้มบางมดแบบปลอดสารพิษ เปิดเผยว่า ในอดีตแขวงบางมด เขตทุ่งครุ ในกรุงเทพฯ เป็นแหล่งปลูกส้มที่ดีที่สุดของประเทศไทย แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกส้มบางมดลดลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำเค็มทะลักท่วมและการทำนากุ้งในบริเวณรอบๆ รวมทั้งมลภาวะอื่นๆ ทำให้แหล่งสวนส้มบางมดเสื่อมโทรม ชาวสวนส้มหันไปประกอบอาชีพอื่น ปล่อยให้สวนส้มรกร้างว่างเปล่า และทาง มจธ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประจำปี 2544 โครงการ ต้นแบบการป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่สวนส้มบางมดอย่างยั่งยืน และการพัฒนาการผลิตส้มบางมดแบบปลอดสารพิษ จากทบวงมหาวิทยาลัย เป็นจำนวน 5 ล้านบาท โดยทางมหาวิทยาลัยวิจัยเทคนิคและวิธีการป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่สวนส้มบางมด โดยใช้สองเทคนิคคือ ระบบปรับปรุงดินแข็งแบบซีเมนต์ คอลัมน์ (Cement column) ป้องกันความเค็มซึมผ่านเข้าสวนส้ม และระบบบดอัดดินคันสวน (Compressive soil) เพื่อสร้างคันดินอัดแน่น ป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่สวนส้ม บนแปลงทดลองขนาด 5 ไร่ จัดระบบสูบถ่ายน้ำ เตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยฟื้นสภาพสวนส้มที่เคยปลูกเดิมหรือสวนร้างให้สามารถดำเนินการเพาะปลูกต่อไปได้ และดำเนินการพัฒนาแนวทางการผลิตส้มบางมดแบบปลอดสารพิษ โดยใช้กรรมวิธีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และรักษาคุณภาพผลผลิตด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สำหรับเกษตรกรสวนส้มรายใดสนใจให้มหาวิทยาลัยวางระบบดังกล่าว ให้ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ ผู้อำนวยการเขต สำนักงานเขตทุ่งครุ 112/673-682 ซ.ประชาอุทิศ 91/2 หมู่ 2 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กทม. 10140 โทร. 0-2426-0091, 0-2426-0761
(มติชน อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 19)
ชาวบ้านหนองหญ้าปล้อง รู้คิด รู้ใช้ภูมิปัญญา ผลิต น้ำตาลอ้อย.. ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน
อาจารย์จันทนา กุญชรรัตน์ หัวหน้าโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลอ้อยระดับชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ติดต่อเพื่อขอรับทุนการวิจัยจากโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบท และการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่ภาคชนบท และส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำอ้อยระดับชุมชนขึ้น ในช่วงแรกของการเข้าปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลอ้อยนั้น เริ่มจากการปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ให้ได้มาตรฐานเสียก่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับปรุงแม่พิมพ์ให้ได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ และสิ่งที่สำคัญต้องปรับปรุงรูปทรงก้อนน้ำตาลให้มีขนาดและรูปทรงที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคที่สามารถนำไปใช้ในการปรุงอาหาร ผสมเครื่องดื่มเป็นต้น
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
จากลูกไม้ข้างรั้ว..สู่อาหารระดับโลก ผลิตภัณฑ์จากมะเกี๋ยง
มะเกี๋ยง เป็นต้นไม้วงศ์เดียวกับพวกหว้า มีฤทธิ์ในทางยาหลายๆ ด้าน มีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งทางการแพทย์ใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน มีสารโพลีฟินอลและแทนนิน สารกลุ่มเดียวกันกับที่พบในเปลือกและเมล็ดองุ่น ทำหน้าที่จับสกัดสารกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดย ผศ.ธีรวัลย์ ชาญฤทธิเสน และคณะ จึงหันมาศึกษาพันธุ์มะเกี๋ยง ในจังหวัดลำปาง และจังหวัดใกล้เคียงที่สนใจ ผศ.ธีรวัลย์ หนึ่งในผู้คิดค้นวิจัย กล่าวว่า ได้ศึกษาพบว่า มะเกี๋ยง สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายชนิด และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย เช่น น้ำมะเกี๋ยงพร้อมดื่ม ไวน์มะเกี๋ยง เนคต้ามะเกี๋ยง มะเกี๋ยงแช่อิ่มแห้ง ชามะเกี๋ยง สามารถสอบถามรายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากมะเกี๋ยง ได้ที่ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โทร. 0-5434-2551, 0-5431-6785 ต่อ 289-291 หรือที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ โทร. 0-2282-9009-15
(สยามรัฐ จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
ไทยเจ๋งพบโครงสร้างโปรตีนเร่งพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรีย
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หัวหน้ากลุ่มวิศวกรรมาโปรตีน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งขาติ กล่าวว่า กลุ่มวิศวกรรมาโปรตีนประสบความสำเร็จในการค้นพบโครงสร้างโปรตีนสำคัญของเชื้อมาลาเรียที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หลังจากที่ค้นพบโครงสร้างการพัฒนาตัวเองของเอนไซม์ DHFR ในการต้านยามาลาเรียแล้ว ก็ได้พยายามพัฒนายาเพื่อให้สามารถที่จะจับโครงสร้างเอนไซม์ดังกล่าว โดยการนำเอากลุ่มยาเอนตี้โฟร์ ที่แพทย์เคยใช้ในการรักษามาลาเรียมาพัฒนาใหม่ เมื่อนำมาทดลองให้จับโครงสร้างของเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยา ก็พบว่า ยาที่พัฒนาขึ้นมานั้น สามารถจับโครงสร้างการพัฒนาตัวเองของเชื้อมาลาเรียเพื่อการต้านยาได้เป็นอย่างดี ทำให้เชื้อไม่สามารถดื้อยาได้อีก อย่างไรก็ตาม การพัฒนายาดังกล่าว เป็นความสำเร็จในระดับห้องทดลองเท่านั้น หากต้องการจะพัฒนาเพื่อรักษาโรคในคน จะต้องอาศัยระยะเวลาและการทดลองอีกมาก
(มติชน จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 18)
เตรียมทดลองวัคซีนไวรัส เอดส์ ในคนคาดอีก 10 ปีสำเร็จ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในเร็วๆ นี้ บริษัทแกล็กโซ่ สมิธ ไคลน์ ประเทศอังกฤษ จะเริ่มการทดลองวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคเอดส์ ที่ศูนย์การแพทย์ 11 แห่งทั่วสหรัฐ วัคซีนนี้ได้รับการพัฒนาขึ้น ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนสำคัญสองชนิดที่พบอยู่ในไวรัสเอชไอวี โดยมี สารเคมีที่เป็นตัวเสริม เพื่อทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการทดลองกับลิง ปรากฏว่าวัคซีนช่วยปกป้องลิงจากไวรัสเอสด์เอชไอวีได้ แต่ยังไม่แน่ว่าเมื่อนำมาทดลองกับคนแล้วจะได้ผลอย่างเดียวกันหรือไม่ แต่เป็นที่คาดกันว่ามันจะมีประสิทธิภาพ เมื่อใช้กับคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน การทดลองในสหรัฐครั้งนี้จะมีทั้งการให้วัคซีนในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำและกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง
(มติชน ศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 22)
นักวิจัยญี่ปุ่นเผยผลศึกษาระบุ สัตว์โคลนนิ่ง อายุสั้น
วารสารเนเจอร์เจเนติคส์ ฉบับล่าสุดวางแผงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รายงานว่า ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นภายใต้การนำของ นายอาสึโอะ โอกูระ จากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทดลองโคลนนิ่งหนู 12 ตัว พบว่า หนูที่เกิดจากการโคลนนิ่งแทบทุกตัวมีอายุสั้นกว่าปกติโดยหนู 10 ใน 12 ตัว ตายก่อนจะอายุถึง 800 วัน และมีหนู 1 ตัว ตายเมื่ออายุเพียง 311 วัน ซึ่งถือว่าอายุสั้นกว่าหนูที่เกิดตามธรรมชาติ หรือแม้แต่หนูที่เกิดจากการผสมเทียมมาก และยังพบว่า หนูที่เกิดจากการโคลนนิ่งมีปัญหาความผิดปกติกับอวัยวะหลายอย่าง โดยเฉพาะปอดและตับรวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดี รายงานของผู้เชี่ยวชาญชุดดังกล่าว แบ่งรับแบ่งสู้ว่า ในอนาคตหากเทคโนโลยีการโคลนนิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่นักวิทยาศาสตร์จะสนับสนุนให้มีการโคลนนิ่งมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาการมีบุตรยาก
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 29)
ผลวิจัยใหม่เขย่าทฤษฎีนอนแปดชั่วโมงอายุสั้น
รายงานวิจัยซึ่งกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยแห่งซานดิเอโก แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เผยว่า คนที่นอนหลับพักผ่อนเพียง 6-7 ชั่วโมง จะช่วยให้มีอายุยืนยาวกว่าคนที่พักผ่อนเป็นเวลา 8 ชั่วโมง โดยมีอัตราอายุยืนกว่า 6 ปี ขณะที่ผู้ที่หลับนอนเกินกว่า 8 ชั่วโมงครึ่ง หรือต่ำกว่า 4 ชั่วโมง จะมีอายุสั้นกว่าคนที่นอนหลับ 6-7 ชั่วโมง ราว 15% รายงานซึ่งสำรวจต่อชาวอมริกันวัยผู้ใหญ่นับล้านคนซึ่งมีอายุตั้งแต่ 30-102 คน และตรงข้ามกับความเชื่อพื้นฐานที่ว่าคนเราควรจะหลับนอนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แต่ผู้วิจัยชี้ว่า รายงานนี้ยังจำเป็นที่จะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หลายรายชี้ว่า รายงานนี้ยังมีข้อบกพร่องหลายจุดโดยเป็นเพียงการสอบถามพฤติกรรมการนอนของผู้สำรวจเพียงปากเปล่าขาดการติดตามศึกษาผลกระทบของกลุ่มผู้สำรวจอย่างละเอียดเกี่ยวกับสภาพร่างกายภายหลังการหลับนอน การศึกษาข้อมูลส่วนตัวของผู้สำรวจว่ามีพฤติกรรมนอนน้อยโดยปกติ รวมทั้งยังอาจเลือกกลุ่มผู้สำรวจที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอยู่แล้ว
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 12)
ข่าวทั่วไป
ไทยเจ้าภาพประชุมแพทย์โลก
ศ.นพ.เติมชัย ไชยนุวัติ อดีตนายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการจัดงาน ประชุมแพทย์ระบบทางเดินอาหารโลก 2002 เปิดเผยว่า ก่อนที่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมแพทย์จากทุกมุมดลกระหว่าง 8,000 คนถึง 10,000 คนครั้งนี้นั้น ประเทศสิงคโปร์เสนอตัวเข้ามาแข่งขันเป็นเจ้าภาพด้วย แต่เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบทางความพร้อมในหลายๆ ด้าน มติเอกฉันท์จึงเลือกให้ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมครั้งนี้คงสามารถนำเงินตราเข้าประเทศราวๆ 1,000 ล้านบาท
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
คจร.อนุมัติแท็กซี่วิ่งช่องบัสเลน 3 สาย
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบผ่อนผันให้ รถแท็กซี่ที่มีผู้โดยสารวิ่งในช่องทางรถประจำทางที่สวนกระแส 3 สาย คือถนนนครสวรรค์, ถนนกรุงเกษม และถนนพระราม 1
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 34)
เตรียมฟื้นพิธีโล้ชิงช้าฉลองกรุงเทพฯ 220 ปี
นายชัยสิทธิ์ ภูวภิรมย์ เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองกรุงเทพฯครบ 220 ปีในปี 2545 กทม.ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเน้นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ของไทยทุกรัชกาล และเตรียมฟื้นพิธีโล้ชิงช้า หรือพิธีตรียัมปวาย ของศาสนาพราหมณ์ขึ้นด้วยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 24)
โยธาจัดระเบียบวัดก่อนก่อสร้างต้องขออนุญาตก่อน
นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการมีอำนาจในการอนุมัติการก่อสร้างเสนาสนะในวัด รวมทั้งการเข้าไปตรวจสอบและรัฐบาลได้กำหนดว่าการก่อสร้างวัดจะต้องขออนุญาตจากกรมโยธาธิการ การจัดระเบียบวัดจะเริ่มใช้ปี 2546 นอกจากนี้ได้ให้ความเห็นว่าควรหามาตรการลดภาวะการแข่งขันกันก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด โดยให้หันมาเน้นการพัฒนาบุคลากรของวัดหรือการสร้างคนมากกว่า
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
สัมผัสธรรมชาติสวยงามกับสวนสายทิพย์ ชมไม้ดอก-ผีเสื้อนานาชนิด ใหญ่สุดในเอเชีย
ริมถนนทางหลวงหมายเลข 7 (บายพาส 36) ที่กำลังจะกลายเป็นมอเตอร์เวย์ ชลบุรี- พัทยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 11 ฝั่งขาเข้าพัทยา หรือเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยว ทางเข้าน้ำตกชันตาเถร หมู่ 11 ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนเนื้อที่ 38 ไร่ ตรงนี้ได้ถูกเนรมิตให้เป็น สวนผีเสื้อสายทิพย์ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ชลบุรี นายวิชัย เด่นอริยะกุล ผจก.ทั่วไปบอกว่า เป็นสวนผีเสื้อที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ผีเสื้อที่อยู่ในเมืองไทยได้ 12 ชนิด จากที่มี 28 ชนิด ตอนนี้มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 5,000 ตัว
(เดลินิวส์ พุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 29)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|