|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 10 ประจำวันที่ 2002-03-05
ข่าวการศึกษา
สปศ.แจงผลสำรวจเด็กเอนท์ติด 98% มาจาก ชนชั้นกลาง-สูง-ธุรกิจ สิริกร สั่งวก. ทำสื่อ 8 กลุ่มสาระแจก ร.ร.พร้อมแนวทาง ตรวจข้อสอบอัตนัย สปช.ตั้งเกณฑ์โรงเรียนคุณภาพ 5 ดาว ทบวงฯกำหนดรับนศ.ฝึกทักษะภาคฤดูร้อน 25 ก.พ.นี้ ชี้ปัญหาเพียบหวั่นเกณฑ์มาสมัคร-อัดทบวงฯไม่ฟังเสียงติง คาดน.ศ.ปี 3-4เมินโครงการ เรียนรู้ร่วมกัน สปศ.ไม่เห็นด้วยแยกวัฒนธรรมจากกศ. เกรงเยาวชนไม่เข้าใจรากเหง้าตนเอง สปช.เดินหน้าแผนจัดการศึกษาเด็กพิการ สถาบันฯ สิรินธรจับมือ ศลช. สร้างซีไอโอพัฒนาศักยภาพอบต. มน.เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติสาขาวิชาหลากหลายทางชีวภาพ ครูฟิสิกส์คนใหม่ชื่อ หุ่นยนต์ ทปอ.ได้งบ 207 ล้านพัฒนาฐานความรู้ปชช. ครม.ผ่านตั้งว.ชุมชน 10 แห่ง ทักษิณเบรกศธ.ขอเพิ่มปี 46 สุวิทย์ ลักไก่ชงเรื่องเพิ่มเงินครูถูกครม.ตีกลับให้ทำตามขั้นตอน เผยผลนำร่องเขตพื้นที่การศึกษาผ่าน 50% จุฬาฯ จับมือก.พ. พัมนาระบบคัดเลือกผู้บริหารระดับสูง มอ.ได้ พ.ร.บ.ใหม่พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ทบวงฯจัดทีมประเมินหน่วยงานรัฐภายใน 30 เม.ย. สช.จัดระเบียบโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
ฟ้าหญิงทรงร่วมมือองค์การอนามัยโลก จัดประชุมวิชาการเพื่อสุขภาพเด็ก บ้านปีกไม้ อนุรักษ์พลังงาน คืนสู่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ม.เกษตรฯเมินไฟฟ้าขอใช้พลังแสงอาทิตย์ ครม.อนุมัติงบ 907 บ้าน สมาร์ทการ์ด ออนไลน์ กล้องจิ๋วผ่าเนื้องอกไทรอยด์ใช้ 30 บ.ได้
ข่าววิจัย/พัฒนา
เครื่องผลิตก๊าซโอโซนใช้ล้างฟักปนเปื้อนสารพิษ Genomic DNA Fingerprint และการตรวจสอบคุณสมบัติของเชื้อแบคทีเรียแลคติค เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าชนิดลำดับก่อนหลังสำหรับรักษาผู้ป่วยกลืนลำบาก น้ำมันปาล์มมิติมหัศจรรย์ของงานวิจัย หม้อนึ่งมหัศจรรย์ ถังขยะไฮเทค สั่งงานด้วยความถี่ ยางพารา ผสม มะตอย สร้างถนนอีกวิธีแก้ปัญหา
ยางล้นตลาด หลากความคิด-หลายความเห็นของคนวิจัย อย่างไรถึงสร้างเครือข่ายที่สมบูรณ์
ข่าวทั่วไป
บังคับแท็กซี่ใหม่-เก่าติดตะแกรง บึงบอระเพ็ดเจ๋งเสนอเข้าแรมซาร์ ชุ่มน้ำสำคัญ 1 ใน 9 ระดับนานาชาติ! แนะกินมะขามป้อมยับยั้งเอดส์ งาบไส้กรอกสุขภาพเสี่ยงภัยเบาหวาน ปิดตายห้องนักบินป้องกันวินาศกรรม เจ็บคอไม่กินยาแก้ ระวังลิ้นหัวใจตีบ กทพ.ขยับใช้เลเซอร์เก็บค่าทางด่วนใหม่ ไทยแบะท่ารับทุนป่าเขตร้อนมะกัน
ข่าวการศึกษา
สปศ.แจงผลสำรวจเด็กเอนท์ติด 98% มาจาก ชนชั้นกลาง-สูง-ธุรกิจ
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาสัดส่วนของสถานะผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ พบว่า 98% จะเป็นกลุ่มคนที่มาจากชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูง และยังเป็นเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวในสายธุรกิจ ในขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 2% จะมาจากกลุ่มคนชนบท โดยยังพบว่าบุตรหลานที่มาจากกลุ่มเกษตรกร จะสามารถเข้าเรียนต่อได้น้อยที่สุด ตามด้วยกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สาเหตุที่คนกลุ่มชนชั้นสูงและกลาง ได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก ก็เนื่องจากได้รับโอกาสและมีการเตรียมความพร้อมได้มากกว่า ขณะเดียวกัน จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่า ผู้สำเร็จจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะมีฐานะครอบครัวดี มีพ่อแม่เกื้อหนุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้งาน ค่าตอบแทนที่ดี และมีโอกาสความก้าวหน้าสูง ส่วนผู้ที่จบจากสถาบันราชภัฏจะมีโอกาสน้อย ทั้งในการได้งานที่ดี ระยะเวลาหางาน และค่าตอบแทน
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
สิริกร สั่งวก. ทำสื่อ 8 กลุ่มสาระแจก ร.ร.พร้อมแนวทาง ตรวจข้อสอบอัตนัย
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการผลิตสื่อการเรียนรู้ใน 8 กลุ่มวิชาตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน 12 ปี เนื่องจากยังมีครูที่ไม่เข้าใจการบูรณาการหลายวิชาเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะยังมีผู้ไม่เข้าใจการเรียนการสอน ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญหรือ Child Centered รวมทั้งแผนการฝึกอบรมครู จะต้องมีข้อมูลชัดเจนว่า ครูทั้ง 6 แสนคนมีคนใดได้อบรมด้านใดไปแล้วบ้าง เพื่อไม่ให้อบรมซ้ำหรือจัดซ้ำในแต่ละกรม ทั้งนี้ได้ขอให้กรมวิชาการจัดทำสื่อวิดีโอ โดยเชิญครูวิทยากรที่สอนเก่งๆ เข้าใจการเรียนการสอน Child Centered มาสาธิตแล้วบันทึกเทปวิดีโอ แจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่างๆ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการ จัดทำแผนเรื่องการออกข้อสอบ และตรวจข้อสอบอัตนัย เพราะเชื่อว่าครูไม่คุ้นเคยกับข้อสอบอัตนัยมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ดังนั้น ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่เหมือนกัน ให้ครูได้เข้าใจ และไม่ให้เกิดความลำเอียง เนื่องจากสิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของข้อสอบอัตนัย(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
สปช.ตั้งเกณฑ์โรงเรียนคุณภาพ 5 ดาว
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ว่า ได้มีการรายงานผลการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้กำหนดแนวทางไปสู่การปฏิบัติ ได้น่าพอใจและก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก พร้อมกันนั้น สปช.มีเกณฑ์ตัดสินโรงเรียนคุณภาพออกเป็น 4 ด้านคือ ระบบประกันคุณภาพภายใน คุณภาพผู้เรียน คุณภาพผู้สอน และคุณภาพผู้บริหารโรงเรียน หากโรงเรียนใดผ่านข้อบ่งชี้ไว้จะได้ป้ายทองตั้งแต่ดาวเดียวไปจนถึง 5 ดาว โดยโรงเรียนที่ได้คุณภาพระดับ 5 ดาวนั้น ถือเป็นโรงเรียนเกรดเอของ สปช. ซึ่งตนได้ให้นโยบายให้โรงเรียนเหล่านี้ไปสร้างเครือข่าย นำประสบการณ์ไปช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียนที่มีปัญหาด้านคุณภาพ อย่างไรก็ตาม สปช.ได้วางเป้าหมายว่า โรงเรียนในสังกัด สปช. ทั้งหมดจะได้ 5 ดาวภายใน 10 ปี
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
ทบวงฯกำหนดรับนศ.ฝึกทักษะภาคฤดูร้อน 25 ก.พ.นี้
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการที่ทบวงฯ มีแผนที่จะจัดโครงการ ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่จะถึงนี้เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ได้เพิ่มทักษะด้านอาชีพตามสภาพความเป็นจริง ขณะเดียวกันยังได้รายงานผลการปฏิบัติงาน เสนอมุมมองข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ กิจกรรมจะประกอบด้วยกิจกรรมสนับสนุนโครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล โครงการอินเทอร์เน็ตตำบล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดผังเมืองและสาธารณูปโภค การผลิตสมุนไพรและอาหารเสริม การสาธารณสุขชุมชน ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยว
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
ชี้ปัญหาเพียบหวั่นเกณฑ์มาสมัคร-อัดทบวงฯไม่ฟังเสียงติง คาดน.ศ.ปี 3-4เมินโครงการ เรียนรู้ร่วมกัน
จากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดโครงการ ใช้งบประมาณ 107 ล้านบาท เพื่อรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าโครงการ 6,080 คน โดยเริ่มรับสมัครวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม นั้น นายเอกชาติ สมพงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการนี้ค่อนข้างกระทันหัน โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนในการเตรียมตัว วันแรกจึงมีเด็กมาสมัครเพียง 20 คนเท่านั้น เนื่องจากติดสอบปลายภาค นักศึกษาที่อยู่ปี 3 ก็อาจติดฝึกงาน ส่วนปี 4 ที่กำลังจะจบอาจมุ่งหางานทำมากกว่า อีกส่วนหนึ่งติดเรียนภาคฤดูร้อน นอกจากนี้สโมสรนักศึกษายังได้จัดค่ายถึง 6 ค่าย ซึ่งสถาบันต่างๆ ก็มีปัญหาคล้ายๆ กันและกังวลใจในเรื่องนี้ โดยเคยเสนอทบวงฯให้รับนักศึกษาปี 2 แต่ทบวงฯยังมีแนวคิดเดิม นางสุรีย์ บูรณธนิต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เชื่อว่าคงมีปัญหา เพราะกระชั้นชิดมากประกอบกับโครงการกำหนดให้เป็นเด็กในพื้นที่ครึ่งหนึ่ง และนอกพื้นที่ครึ่งหนึ่ง บวกกับต้องมีอาจารย์ผู้คุมโครงการละ 1 คน ซึ่งจริงๆ เป็นไปไม่ได้ที่อาจารย์คนเดียวจะดูแลเด็กจากต่างถิ่นหรือเชี่ยวชาญทุกเรื่อง เพราะแต่ละโครงการประกอบด้วยงานด้านบริหาร งานออกแบบ งานบัญชี เป็นต้น
(มติชน อังคาร ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 20)
สปศ.ไม่เห็นด้วยแยกวัฒนธรรมจากกศ. เกรงเยาวชนไม่เข้าใจรากเหง้าตนเอง
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (สปศ.) กล่าวถึงกรณีการแบ่งงานด้านวัฒนธรรม ออกจากโครงสร้างกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มาอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวว่า ความจริงงานด้านวัฒนธรรมกับการศึกษาเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก และตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็กำหนดชัดเจนให้นำวัฒนธรรมมาอยู่กับการศึกษา และตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการฝ่ายบริหาร มาตรา 33 ก็ให้มีการจัดโครงสร้าง ศธ. ใหม่ยึดตาม พ.ร.บ.การศึกษา ดังนั้น การแยกงานวัฒนธรรมออกมาอาจทำให้ขัดแย้งกันเองได้ นอกจากนี้ ตนเห็นว่าเด็กไทยยุคนี้จำเป็นต้องได้รับการอบรมสั่งสอนทางวัฒนธรรมให้หนักขึ้น ไม่เช่นนั้นจะยึดแนวตะวันตกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ทั้งการที่ลูกทอดทิ้งพ่อแม่ ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เคารพผู้ใหญ่ และมั่วสุมทางเพศ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาทำลายวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมที่เรานำไปขายนั้นขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ แล้วเหตุใดเราจึงไม่ขายวัฒนธรรมไทยให้เด็กรุ่นใหม่ของเราเองได้เข้าใจรากเหง้าของตนเอง ถ้าเราหยุดปัญหาของเยาวชนเวลานี้ไม่ได้ ก็เท่ากับเราถ่ายทอดวัฒนธรรมไม่สำเร็จ ศ.ดร.ปรัชญา กล่าว
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
สปช.เดินหน้าแผนจัดการศึกษาเด็กพิการ
นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาสำหรับเด็กทุกคนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กปกติ เด็กพิการ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กในวัยเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างทั่วถึงพร้อมที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศ โดยได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละจังหวัดจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ทุนการศึกษา สื่อการเรียนการสอน การอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา สำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จัดกิจกรรมแข่งขันเพื่อฝึกทักษะรวมทั้งจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ สำหรับเด็กพิการเพื่อให้นักเรียนเหล่านี้อยู่ร่วมกับสังคม ได้อย่างมีความสุข
(มติชน อังคาร ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 21)
สถาบันฯ สิรินธรจับมือ ศลช. สร้างซีไอโอพัฒนาศักยภาพอบต.
นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถาบันฯสิรินธร ร่วมกับศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศลช.) จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพยั่งยืน ขึ้นในวันที่ 9 มีนาคมที่จะถึงนี้ ณ อาคารหอประชุมและฝึกอบรมสวิตา ภายในสถาบันฯสิรินธร ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการปกครอง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ อ.ปากช่อง สภาสถาบันราชภัฏ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันฯสิรินธร และผู้เชี่ยวชาญจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
(มติชน อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 21)
มน.เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติสาขาวิชาหลากหลายทางชีวภาพ
นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมต้องการบุคลากรด้านธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบยั่งยืน เพื่อเป็นการส่งเสริมและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยเหตุนี้ มน. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (New Castle University) ประเทศอังกฤษ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยใช้หลักการและกระบวนการของนิเวศวิทยาเขตร้อน ที่มีความหลากหลายของชีวิตผสมผสานกับภาคเศรษฐกิจสังคม ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในการจัดการธุรกิจเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบและมีความสมดุล ทั้งนี้ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล มาช่วยสอนด้วย สำหรับผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชา ที่มีคะแนนภาษาอังกฤษ IELTS 5.5 หรือ TOFEL 500 สามารถสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อได้ที่ สำนักงานเลขานุการวิทยาลัยนานาชาติ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
(มติชน อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 21)
ครูฟิสิกส์คนใหม่ชื่อ หุ่นยนต์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เปิดโครงการแข่งหุ่นยนต์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องในโอกาสวันสถาปนา สสวท. ครบรอบ 30 ปี เป็นการนำร่องใช้หุ่นยนต์มาช่วยเสริมสร้างบรรยากาศวิทยาศาสตร์พร้อมกับกระตุ้นทักษะด้านฟิสิกส์ ไอที และคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียนไปในตัว การดำเนินงานโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ ระยะที่ 2 จัดอบรมครูจากศูนย์จัดแข่งขัน 10 แห่งทั่วประเทศ ระยะที่ 3 คัดเลือกนักเรียนศูนย์ละ 1 ทีมๆ ละ 3 คน และระยะที่ 4 จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกศูนย์ในวันที่ 1 กันยายน 2545 รศ.ยืน ภู่วรวรรณ เปิดเผยว่า เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากโครงการนี้คือ อยากให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ๆ และประยุกต์เอาความรู้ของตัวเองไปสั่งให้หุ่นยนต์ทำตามความต้องการให้นักเรียนได้มีกกลไกต่างๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น ได้มีการเรียนรู้และแก้ปัญหาจากประสบการณ์จริง ผลพลอยได้ที่เกิดจากโครงการนี้มีมากมาย เช่น เรขาคณิต ตรีโกณมิติ หรือด้านฟิสิกส์ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยวัดทางฟิสิกส์ทุกหน่วย ทั้งแสง สี ไฟฟ้า การเคลื่อนที่ระยะทางความเร็ว การเร่ง การหมุน อยากจะให้เห็นว่า โครงการนี้สามารถนำนักเรียนสู่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ได้โดยใช้หุ่นยนต์เป็นตัวล่อ
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 5)
ทปอ.ได้งบ 207 ล้านพัฒนาฐานความรู้ปชช.
นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศ (ทปอ.) เปิดเผยว่า จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของ นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการพัฒนาฐานความรู้ให้กับประชาชน ขณะนี้สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าวให้ทางทปอ. ทั้งสิ้น 207 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ ทาง ทปอ. จะได้จัดสรรเงินไปใช้ดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนจำนวน 20 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพการทำงานของชุมชน และการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ เอกชน และประชาชน จำนวน 35 ล้านบาท โครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างโอกาสของเศรษฐกิจชุมชนจำนวน 100 ล้านบาท และโครงการฝึกอบรมฟื้นฟูทักษะความรู้ของบัณฑิตและการทำงานกับชุมชนจำนวน 26 ล้านบาท
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
ครม.ผ่านตั้งว.ชุมชน 10 แห่ง ทักษิณเบรกศธ.ขอเพิ่มปี 46
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า ครม. เห็นชอบวาระการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน (วชช.) ตามที่ ศธ. เสนอเพื่อทราบ ซึ่งจะมีการตั้ง วชช. จำนวน 10 แห่งในปีการศึกษา 2545 พร้อมกับเปิดรับนักศึกษาได้ตามแผนที่วางไว้ พร้อมกับจะขยายจัดตั้ง วชช. เพิ่มอีกในปี 2546 ในจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีแรงงานจำนวนมากและยังขาดโอกาสทางการศึกษา ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงและกังวลกับการจัดตั้ง วชช. เพิ่มอีกในปี 2546 เนื่องจากต้องการให้ วชช. 10 แห่งที่ตั้งช่วงแรกเข้มแข็งก่อน นางสิริกร กล่าวอีกว่า สำหรับการก่อตั้ง วชช. ช่วงแรกนี้ยังขาดแคลนครุภัณฑ์พื้นฐานอีกจำนวนมากที่ต้องสนับสนุนการเรียนในบางรายวิชา เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ดังนั้น หากดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำว่า ให้สร้าง วชช. 10 แห่งให้ไปได้ก่อนจะช่วยลดงบประมาณลงจำนวนมาก ทั้งนี้ วชช. แห่งที่เปิดให้มีการเรียนการสอนแล้ว คือที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.พิจิตร จ.อุทัยธานี จ.สระแก้ว จ.หนองบัวลำภู จ.มุกดาหาร จ.บุรีรัมย์ จ.ระนอง และ จ.นราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะศึกษาหลักสูตร คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เทคโนโลยีเครื่องยนต์ และการบัญชี
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
สุวิทย์ ลักไก่ชงเรื่องเพิ่มเงินครูถูกครม.ตีกลับให้ทำตามขั้นตอน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการขอเสนอแก้ไขกฎคณะกรรมการข้าราชการครู (กค.) ฉบับที่ 13 เพื่อให้ข้าราชการครูสายผู้บริหาร นอกสถานศึกษา สามารถเลื่อนไหลขั้นเงินเดือนได้สูงกว่าเดิมอีก 1 ระดับ โดยที่ประชุมครม. ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขกฎ กค. ฉบับดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า โครงสร้างตำแหน่งของผู้บริหารนอกสถานศึกษามีความลักลั่นกับข้าราชการครูในสถานศึกษา และข้าราชการพลเรือนประจำสำนักงานของกระทรวงศึกษาธิการจริง อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบที่ประชุมครม. กลับได้ให้ ศธ. นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 4 ซึ่งหลังจากได้ทำการปรับปรุงในประเด็นเหล่านั้นเสร็จแล้ว ศธ. ได้นำเรื่องเสนอเข้าขอความเห็นชอบจาก ครม. ทันที โดยไม่ได้นำกลับเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 4 ส่งผลให้ ครม. มีมติให้นำกลับไปเสนอชุดกลั่นกรองฯ ให้ถูกตามขั้นตอนก่อนแล้วค่อยนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอีกครั้งดังกล่าว
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
เผยผลนำร่องเขตพื้นที่การศึกษาผ่าน 50%
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดประชุมทางไกลเรื่อง โครงการนำร่องปฏิรูปการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษาทั้งพื้นที่นำร่อง และพื้นที่ทั่วไป ตัวแทนกรมซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยงพื้นที่นำร่อง ทั้งกรมอาชีวศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษา และสำนักงานปลัด ซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยงในเขตพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต เพชรบุรี พิษณุโลก อำนาจเจริญ และชลบุรี โดยมี นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายดิเรก พรสีมา ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ ร่วมอภิปรายและสัมมนา โดย นายจำลอง ได้กล่าวถึงประเด็นการนำร่องเขตพื้นที่การศึกษา จะเป็นตัวกำหนดเงื่อนเวลาการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ว่า เขตพื้นที่การศึกษากำหนดขึ้นตามโครงสร้างการบริหารงานใหม่ของ ศธ. ที่ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าโครงสร้างใหม่เป็นอย่างไร และจะเริ่มต้นเมื่อใด แม้กฎหมายจะระบุวันเริ่มต้น วันที่ 20 สิงหาคม 2545 ก็ตาม แต่หากมีปัญหาเรื่องความพร้อมอาจจะต้องเลื่อน เพราะยอมรับว่าการปฏิรูปการศึกษาบางเรื่อง ได้มีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการล่วงหน้าไปมาก และบางเรื่องก็ไม่พร้อม จึงไม่ควรบังคับ
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
จุฬาฯ จับมือก.พ. พัมนาระบบคัดเลือกผู้บริหารระดับสูง
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการคัดเลือกผู้บริหารจากระดับ 8 ขึ้นไปสู่ระดับ 9 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตำแหน่งรองอธิการบดี ที่จากเดิมจะเป็นไปตามแบบของแต่ละลักษณะกรม กอง ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกันไป อีกทั้งในรูปแบบเดิมนั้น ได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า อาจไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ ส่งผลให้ข้าราชการเสียขวัญเกรงว่าคนเก่งอาจไม่ได้รับการคัดเลือก ดังนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงได้วางแนวทางการคัดเลือกใหม่ ที่จะพิจารณาสมรรถนะทางการบริหาร และสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆโดยตรง โดยก.พ.จะเป็นผู้ประเมินสมรรถนะของผู้ที่อยู่ในข่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย 1. ต้องเป็นผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักของก.พ. และ 2. ได้ขึ้นบัญชีรายนามนักบริหารที่จะเลื่อนตำแหน่งระดับ 9 หรือ เป็นผู้ผ่านหลักสูตรบริหารระดับสูงที่ ก.พ. รับรอง หรือ เป็นบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาเสนอชื่อไว้ โดยผู้บังคับบัญชาจะมีสิทธิเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 2 ชื่อต่อ 1 ตำแหน่ง จากนั้น บุคลากรดังกล่าวจะได้รับการประเมินโดยใช้หลักวิชาการทางการประเมิน
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
มอ.ได้ พ.ร.บ.ใหม่พร้อมเปิดรับฟังความเห็น
รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในฐานะประธานคณะทำงานชี้แจงร่างพ.ร.บ.ใหม่ ในการเป็นม.ในกำกับ เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฉบับใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณบดีแล้ว
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
ทบวงฯจัดทีมประเมินหน่วยงานรัฐภายใน 30 เม.ย.
นายวรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ร่วมกันจัดทีมที่ปรึกษาจากนักวิชาการหลายสาขาวิชา เพื่อวิเคราะห์หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 200 หน่วยงานนั้น ทั้งนี้ทบวงฯ ได้แจ้งข้อกำหนดไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้รับทราบแล้ว เพื่อให้มหาวิทยาลัยจัดทีมที่ปรึกษา ทำหน้าที่วิเคราะห์บทบาท ภารกิจ และประเมินองค์กรภาครัฐ ระดับกรม และรัฐวิสาหกิจ ในด้านประสิทธิภาพ ต้นทุนการดำเนินการของหน่วยงาน ตลอดจนความซ้ำซ้อนในบทบาทและภารกิจ ทั้งเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
สช.จัดระเบียบโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น
นางนลินี ไกรคุณาศัย รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(สช.) ให้เป็นประธานคณะทำงาน แก้ไขระเบียบการจัดตั้งโรงเรียนเอกชน มาตรา 15 (2) ใหม่ เนื่องจากประกาศที่ใช้อยู่เดิมนั้น ใช้มาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเป็นระเบียบที่ล้าสมัย เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตมีวุฒิการศึกษา ระดับ ป.4 หรือ ป.6 ก็สามารถเปิดสอนได้ ซึ่งไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้รับใบอนุญาตควรมีวุฒิการศึกษาในระดับที่สูง และควรจะมีการกำหนดพื้นที่ของอาคารสถานที่ให้ชัดเจนว่า ควรมีพื้นที่เท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับจำนวนของผู้เรียน ทั้งนี้ เนื่องจากในระยะหลังๆ พบว่า ศูนย์การค้าต่างๆ จะมีการจัดโซน หรือพื้นที่เพื่อธุรกิจการศึกษามากขึ้น ทำให้โรงเรียนเหล่านี้เข้าไปเปิดสอนเป็นจำนวนมาก และปัญหาที่พบคือส่วนใหญ่ไม่มีการขออนุญาตเปิดสอนจาก สช. และ สช.จะทราบก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา ดังนั้น จะต้องมีการปรับระเบียบการจัดตั้งโรงเรียนสอนหลักสูตรระยะสั้นให้มีความทันสมัย พร้อมกันนี้ สช.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ หากพบว่าโรงเรียนใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดก็จะทำการปรับ
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
ฟ้าหญิงทรงร่วมมือองค์การอนามัยโลก จัดประชุมวิชาการเพื่อสุขภาพเด็ก
การประชุมวิชาการเรื่อง สุขอนามัยสิ่งแวดล้อมของเด็ก กำหนดจัดในเดือน มี.ค. 2545 ในประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงตอบรับคำเชิญการเป็นเจ้าภาพร่วมกับ องค์การอนามัยโลก และพระราชทานให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นที่จัดประชุมวิชาการ การประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอและอภิปรายความรู้ในปัจจุบัน ผลงานวิจัยและวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้ในการบ่งชี้ผลของการคุกคามจากสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของเด็ก รวมถึงผลจากพิษภัย และเพื่อเสนอแนวทางในการเตรียมการ รวมทั้งพัฒนากิจกรรมที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สุขอนามัยสิ่งแวดล้อมของเด็กในระดับประเทศ
(เดลินิวส์ พุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 26)
บ้านปีกไม้ อนุรักษ์พลังงาน คืนสู่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ออป. สร้างบ้านปีกไม้สักประหยัดพลังงาน นำเสนอรูปแบบบ้าน อยู่สบาย ประหยัดพลังงานในวิถีชีวิตไทย ให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมในงานกาชาดระหว่างวันที่ 17-25 กุมภาพันธ์ 2545 ณ สวนอัมพร ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าดูและขอแบบบ้านเป็นจำนวนมาก บ้านประหยัดพลังงานในวิถีไทย บรรจุเรื่องราวของการประหยัดพลังงานที่เคยเผยแพร่มาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้แสงธรรมชาติ การติดกันสาดมู่ลี่ เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวไม้ หรือแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้เพื่ออาศัยเงาไม้ใหญ่ช่วยบังแดด ปลูกพืชคลุมดินช่วยลดไอร้อนแผ่เข้าบ้าน ตลอดจนการคำนวณทิศทางลมในการปลูกบ้าน แต่ความน่าสนใจที่โดดเด่นออกไปของบ้านอยู่ที่ใช้ปีกไม้สักเป็นวัสดุในการสร้างบ้านเป็นส่วนใหญ่
(เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 31)
ม.เกษตรฯเมินไฟฟ้าขอใช้พลังแสงอาทิตย์
รศ.ดร.ศิริกัลยา สุวจิตตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ปโก้ จำกัด จัดทำโครงการมหาวิทยาลัยประหยัดพลังงาน โดยจะนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ เข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย โดยจะเริ่มจากไฟส่องทางภายในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงไฟฟ้าในอาคาร โดยบริษัทฯ ได้ส่งช่างเทคนิคจากประเทศเยอรมนี มาถ่ายทอดเทคโนโลยีโซล่าเซลล์ให้กับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ จะนำโซล่าเซลล์ไปติดตั้งใช้กับเครื่องมือเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ แสงสว่างในนากุ้ง เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรไทยหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แทนน้ำมัน
(เดลินิวส์ พุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 16)
ครม.อนุมัติงบ 907 บ้าน สมาร์ทการ์ด ออนไลน์
นายไพโรจน์ แสงภูวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนบัตรประชาชน กรมการปกครอง กล่าวถึง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบโครงการดังกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการจัดทำบัตรประชาชนมี 2 ลักษณะคือ 1. การจัดทำบัตรแบบออนไลน์ที่ผู้ทำบัตรประชาชนสามารถรับบัตรได้เลยภายใน 15 นาที แต่ระบบดังกล่าวมีสำนักทะเบียนใช้เพียง 211 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่สำนักทะเบียนอีก 500-600 กว่าอำเภอทั่วประเทศยังใช้ระบบการจัดทำการจัดทำบัตรประชาชนแบบเดิมซึ่งใช้เวลานานและไม่สะดวก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อให้จัดทำบัตรประชาชนแบบออนไลน์ได้ทั่วประเทศ โดยใช้งบฯกว่า 907 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์และประเมินผลด้วยระบบใยแก้วทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ต่อไปนี้การทำบัตรประชาชนเป็นระบบดิจิทัล กำหนดเริ่มโครงการวันที่ 1 ต.ค. 2545-30 ก.ย.2546 ตามปีงบประมาณ
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 10)
กล้องจิ๋วผ่าเนื้องอกไทรอยด์ใช้ 30 บ.ได้
น.พ.สุชาติ จันทวิบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวในหัวข้อกระบวนทัศน์ใหม่ของการผ่าตัดในระหว่างการประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี และกรมการแพทย์ประจำปี 2545 ว่า ปรัชญาสำคัญของการใช้กล้องวิดีทัศน์สำหรับการผ่าตัดคือ การทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุด ลดค่าใช้จ่าย ใช้ระยะเวลาการพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดใหญ่ และที่สำคัญยังเป็นการช่วยเสริมความงามได้อีกวิธีหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นที่นิยมมากในการผ่าตัดเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ เพราะโรคนี้มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 80-90% และภายหลังการผ่าตัดจะพบแผลเป็นไม่มากเท่ากับการใช้มีดผ่าตัดเปิดช่องคอ ช่องอก หรือช่องท้องในอดีต น.พ.สุชาติ กล่าวด้วยว่า การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค แต่ผู้ป่วยจะต้องออกค่าใช้เกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับช่วยการผ่าตัดไม่ว่าจะเป็นมีดผ่าตัดและเครื่องมืออัลตร้าโซนิคส์ ประมาณ 5,500 บาท เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์พิเศษที่กระทรวงการคลังไม่ยอมให้เบิก ส่วนในรายที่ไม่มีบัตรทองจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท แต่ถ้าหากเทียบกับการผ่าตัดด้วยวิธีการในอดีต ซึ่งต้องทำการผ่าตัดใหญ่จะเสียค่าใช้จ่ายนับแสนบาทขึ้นไป ถือว่าน้อยกว่ามาก
(เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 6)
ข่าววิจัย/พัฒนา
เครื่องผลิตก๊าซโอโซนใช้ล้างฟักปนเปื้อนสารพิษ
รศ.ดร.พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องผลิตก๊าซโอโซนเพื่อใช้ในการล้างผักที่ปนเปื้อนสารพิษขึ้น การล้างผักด้วยน้ำที่ผ่านก๊าซโอโซน เป็นวิธีการหนึ่งที่จะกำจัดสารพิษได้ โอโซนจะช่วยทำให้โครงสร้างทางเคมีของยาฆ่าแมลงที่ติดอยู่ในผักแตกตัวและหลุดออกจากผัก ทำให้เกิดแนวคิดว่า เกษตรกรน่าจะนำมาใช้ล้างผักอ่กนที่จะส่งเข้าสู่ตลาด จึงได้ทำการวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาต้นแบบของเครื่องผลิตก๊าซโอโซน ที่มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 20 กรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถล้างผักได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 2 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้เวลาล้างไม่เกิน 15 นาที ราคาประมาณ 170,000 บาท เหมาะที่เกษตรกรจะนำไปใช้ล้างผักจากแหล่งที่ปลูกก่อนที่จะนำส่งเข้าสู่ตลาด หรือจะใช้ในตลาดสดเลยก็ได้ ส่วนเครื่องที่เหมาะสมจะใช้กับครัวเรือน เป็นเครื่องที่มีกำลังการผลิต 260 มิลลิกรัมต่อชั่วโมง ราคาประมาณ 5,000 บาท
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 24)
Genomic DNA Fingerprint และการตรวจสอบคุณสมบัติของเชื้อแบคทีเรียแลคติค
ดร.รุจ วัลยะเสวี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยและพัฒนาการทำ Genomic DNA Fingerprint และการตรวจสอบคุณสมบัติของเชื้อแบคทีเรียแลคติคขึ้น เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำในการจำแนกเชื้อ ผลการวิจัยทำให้สามารถจำแนกเชื้อแบคทีเรียแลคติคออกเป็นหมวดหมู่ และสามารถนำผลที่ได้มาเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบความบริสุทธิ์และความถูกต้องของสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียแลคติค เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหมักต่อไป
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 24)
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าชนิดลำดับก่อนหลังสำหรับรักษาผู้ป่วยกลืนลำบาก
รศ.ดร.วิทูร ลีลามานิตย์ ภาควิชาโสต นาสิกลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าชนิดลำดับก่อนหลังสำหรับรักษาผู้ป่วยกลืนลำบาก ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อช่วยผู้ป่วยในการกลืน เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าชนิดลำดับก่อนหลังจะทำงานระบบอัตโนมัติ โดยที่เครื่องจะส่งสัญญาณกระตุ้นกล้ามเนื้อออกไปขณะที่ผู้ป่วยต้องการจะกลืน ช่วยให้การกลืนของผู้ป่วยเป็นไปตามปกติ ซึ่งมีความถูกต้องประมาณ 90% และสามารถปรับขนาดของแรงดันเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการกลืนของผู้ป่วยแต่ละรายได้
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 24)
น้ำมันปาล์มมิติมหัศจรรย์ของงานวิจัย
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดทำโครงการวิจัยการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากทบวงมหาวิทยาลัยที่สำคัญ นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้ติดตามผลความคืบหน้าการทดลองในโครงการของศูนย์วิจัยอย่างต่อเนื่อง ทางศูนย์วิจัยฯ อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อประมวลผล ซึ่งสิ่งที่ประชาชนคนไทยได้รับที่เห็นชัดที่สุดในเรื่องของการวิจัยพลังงานทดแทนน้ำมันครั้งนี้ก็คือ ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ จะลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศ ประโยชน์ทางสังคม เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี ประโยชน์ทางการเมือง ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลมั่นคง ประโยชน์ด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดการต่อยอดเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับภูมิปัญญาของคนไทย ประโยชน์ด้านสาธารณสุข ของประชาชนอยู่ดีกินดี มีมลภาวะต่ำ จึงส่งผลให้สุขภาพกาย สุขภาพใจมีความสมบูรณ์และยังส่งผลไปถึงสุขอนามัยของประชาชนโดยอ้อม
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
หม้อนึ่งมหัศจรรย์
นายสนธยา แดงด้วง นายฐิติพงษ์ ธรวุฒิ และนายอำพล เลือดสงคราม นักเรียนชั้น ม.4/4 ร.ร.พิมายวิทยาคม จ.นครราชสีมา พิชิตรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงาน ในงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมประจำปี 2545 ของ ม.ขอนแก่น คือโครงงาน หม้อนึ่งมหัศจรรย์ เป็นหม้อนึ่งเดือดเร็วโดยใช้หลักเพิ่มพื้นที่ให้น้ำสามารถสัมผัสกับความร้อนได้มากขึ้น เพิ่มท่อเพื่อส่งผ่านความร้อนทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายในหม้อให้สูงขึ้น
(เดลินิวส์ อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 12)
ถังขยะไฮเทค สั่งงานด้วยความถี่
ถังขยะไฮเทค ผลงานของ ชัยวัฒน์ ออมสิน, ธีรยุทะ คชกฤช, อภิเดชดุลย์มา และ ดวงดาว แตงอ่อน จากแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเชตสุพรรณบุรี ถังขยะไฮเทคนี้แตกต่างจากถังขยะทั่วๆ ไปก็คือ สามารถเคลื่อนที่และหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ เพราะมีระบบสวิทช์เซนเซอร์วัตถุติดตั้งที่ตัวรถ มีถังรองรับอยู่ด้านบน รองรับน้ำหนักขยะได้ประมาณ 2 กิโลกรัม เมื่อต้องการจะทิ้งขยะก็กดรีโมตที่ติดตั้งไว้ที่โต๊ะทำงานของแต่ละคน เพื่อส่งความถี่อัลตร้าโซนิกออกไป เมื่อถังขยะได้รับความถี่ก็จะวิ่งไปยังบุคคลที่เรียกทันที
(เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 16)
ยางพารา ผสม มะตอย สร้างถนนอีกวิธีแก้ปัญหา
ยางล้นตลาด
คุณประสาท เกศวพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันยาง ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อปรับปรุงคุณภาพยางมะตอยให้มีคุณสมบัติดีขึ้น ด้วยวิธีการหลายวิธีและวิธีที่นิยมให้คือ การใช้ยางพาราผสมยางมะตอย จากการทดลองของสถาบันวิจัยยาง ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่าเมื่อใช้ยางพาราในอัตรา 6% (เนื้อยางแท้) ผสมกับยางมะตอยชนิด AC 60/70 ทำให้ยางมะตอยมีค่าจุดอ่อนตัวสูงขึ้น และคุณสมบัติอื่นๆ สามารถผ่านมาตรฐานข้อกำหนดของ มอก. 851-2532 คุณนพรัตน์ วิชิตชลลัย นักวิชาการเกษตร 6 ส่วนอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า วิธีการและขั้นตอนการดำเนินงานมีดังนี้ ต้มยางมะตอยชนิด AC60/70 ที่อุณหภูมิประมาณ 150-170 องศาเซลเซียสในถังต้มยางมะตอย และค่อยๆ เติมน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียสูงลงในถังต้มยางมะตอย เพื่อกวนให้น้ำยางข้นผสมกับยางมะตอยเข้ากัน จนได้ยางมะตอยที่มียางพาราผสมอยู่ในอัตรา 5% ต่อยางมะตอย (เนื้อยางแห้ง/ยางมะตอย) คิดเป็นน้ำยางข้น 1250 กิโลกรัม จากนั้นต้มส่วนผสมดังกล่าวต่อไปอีกโดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มผสมยางพารา จนกระทั่งนำยางมะตอยไปผสมกับวัสดุรวมประมาณ 24 ชั่วโมง และนำยางมะตอยที่ผสมยางพาราแล้วไปผสมกับวัสดุรวม ได้แก่ หิน หินฝุ่น ทราย ซึ่งถูกเผาไหม้ให้ร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 180 องศา ในเครื่องผสม Asphaltic concrete จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ไปราดและอัดบดบนพื้นถนนที่ปรับแต่งให้เรียบร้อยสม่ำเสมอได้มาตรฐาน พร้อมทั้งทำ Prime coat ไว้เรียบร้อยแล้ว การผสมยางพารากับยางมะตอยในอัตรา 5% ต้องใช้ยางพารา 1.5 ตันต่อการใช้ยางมะตอย 30 ตันในการราดผิวถนนที่มีหน้ากว้าง 6 เมตร เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการราดผิวถนนที่ใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียวคิดเป็นร้อยละ 20 ของราคายางมะตอย เมื่อคำนวณแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 78 บาท / ตัน ดังนั้นระทาง 1 กิโลเมตรจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2,340 จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีการสร้างถนนและซ่อมแซมถนนเป็นจำนวนมาก
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 22)
หลากความคิด-หลายความเห็นของคนวิจัย อย่างไรถึงสร้างเครือข่ายที่สมบูรณ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีการอภิปรายเรื่อง การสร้างเครือข่ายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สังคมไทย จากนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายท่าน ประกอบด้วย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2533 ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี เมธีวิจัยอาวุโส รศ.ดร.เกตุ กรุดพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2544 และ รศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล เมธีวิจัย สกว. ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นสรุปได้ว่า ให้ร่วมมือกันหลายๆ คน ผลที่ได้ก็จะมากขึ้น ช่วยกัน มอง คิด ทำได้กว้างขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดบรรยากาศงานวิจัยที่กระตือรือล้น สมรรถภาพในการวิจัยก็จะดีขึ้น
(สยามรัฐ อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 45)
ข่าวทั่วไป
บังคับแท็กซี่ใหม่-เก่าติดตะแกรง
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายพงศกร เลาหวิเชียร รมช.คมนาคม เพื่อขอให้เร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้รถแท็กซี่ติดตั้งตะแกรงกั้นระหว่างผู้ขับและผู้โดยสาร เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมโดยเร็ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ในหลักการจะบังคับรถแท็กซี่ทั้งหมดทั้งรถเก่าและใหม่ หากรถแท็กซี่คันใดไม่ติดตั้ง ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย จะไม่อนุญาตให้จดทะเบียน(เดลินิวส์ จันท่ร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 4)
บึงบอระเพ็ดเจ๋งเสนอเข้าแรมซาร์ ชุ่มน้ำสำคัญ 1 ใน 9 ระดับนานาชาติ!
นายสุรอรรถ ทองนิรมล ผวจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายประชาคมจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการเสนอให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบที่จะให้พื้นที่ชุ่มน้ำทั้ง 61 แห่งทั่วประเทศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และมีความสำคัญเร่งด่วนสมควรเป็น RAMSAR SITE 9 แห่งแรก ซึ่งบึงบอระเพ็ด จัดเป็น 1 ใน 9 แห่งดังกล่าว ขณะนี้จังหวัดนครสวรรค์ ได้พิจารณาแล้วยินดีที่จะให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด และอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณพฤษภาคม 2545 นี้ บรรจุไว้ในอนุสัญญาพื้นทีชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศด้วย การเข้าร่วมโครงการนี้จะเกิดผลดีนานับปการ และเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด มีส่วนร่วมจากหลายภาคี และมุ่งสู่ความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้มีโอกาสเข้าร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับนานาประเทศในการประชุม เพื่อพิจารณาหลักการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทำให้เกิดกองทุนความช่วยเหลือในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแก่ประเทศกำลังพัฒนา
(เดลินิวส์ จันทร์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 33)
แนะกินมะขามป้อมยับยั้งเอดส์
รศ.พร้อมจิตต์ ศรลัมภ์ รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง มะขามป้อม พืชพื้นบ้านสมุนไพรไทยว่า ในสมัยก่อนจะเป็นไม้ที่แทรกอยู่ตามบ้านเรือน กระจายไปทุกภาคของประเทศ ปัจจุบันในประเทศอินเดีย มีงานวิจัยเกี่ยวกับมะขามป้อมว่า มะขามป้อม ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคเอดส์ สามารถทำให้ไวรัสเอดส์หยุดยั้งการเจริญเติบโต และยังมีการทดลองนำเอาน้ำสกัดจากมะขามป้อม ซึ่งมีวิตามินซีสูงเทียบกับวิตามินซีสังเคราะห์ แล้วทดลองกับผู้ป่วยวัณโรค เพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานทำให้อาการดีขึ้น พบว่า วิตามินซีธรรมชาติจากมะขามป้อม ทำให้ระดับวิตามินซีในเลือดเพิ่มถึงจุดอิ่มตัวได้เร็วกว่า วิตามินซีสังเคราะห์ ดังนั้น หากจะทานวิตามินซีสังเคราะห์เป็นเม็ด ลองหันมาลองรับประทานมะขามป้อม เพราะการดูดซึมดีกว่า
(สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 9)
งาบไส้กรอกสุขภาพเสี่ยงภัยเบาหวาน
คณะนักวิจัยคณะสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผลการวิจัย พบว่า ผู้ชายที่ชอบกินอาหารที่ทำจากเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่สองมากกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า เตือนอาหารที่เป็นเครื่องเคียงรวมถึงเฟรนช์ไฟรส์และมันฝรั่งทอดก็อาจเป็นตัวการก่อโรคได้ด้วยเช่นกัน
(สยามรัฐ พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 15)
ปิดตายห้องนักบินป้องกันวินาศกรรม
นายประชา มาลีนนท์ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงการประชุมระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอโอ ที่จัดขึ้นในระหว่าง 19-20 กุมภาพันธ์ 2545 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ว่า การประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิก 154 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน 24 องค์การ เข้าร่วมประชุมเพื่อขอความเห็นจากประเทศภาคีสมาชิกในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้เกิดความมั่นใจในกิจการการบินพลเรือนของโลก ที่ประชุมยังมีมติให้ประเทศสมาชิกต้องรับผิดชอบในการรักษาป้องกันความปลอดภัยของการบินพลเรือนภายในประเทศของตน และจะต้องร่วมมือกันพัฒนาปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านการบินให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก ที่ประชุมยังให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอโอ จัดทำแผนการดำเนินการด้านความปลอดภัยของการบิน (ICAO Aviation Security Plan of Action) เพื่อให้มีมาตรการที่สอดคล้องกันทั้งในงานด้านสนามบิน ห้องนักบิน ห้องผู้โดยสาร ห้องบรรทุกสินค้า และระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ รวมทั้งการจัดให้มีการตรวจสอบของการจัดการความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศสมาชิก และให้มีการช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย ที่สำคัญที่ประชุมมีมติให้ประเทศสมาชิกดำเนินการล็อคประตูนักบินของเครื่องบินที่ให้บริการระหว่างประเทศทันที หลังจากที่เครื่องบินเริ่มออกบิน โดยห้ามไม่ให้ผู้โดยสารและนักบินสามารถเข้าถึงกันได้ไม่ว่ากรณีใดๆ
(สยามรัฐ อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 8)
เจ็บคอไม่กินยาแก้ ระวังลิ้นหัวใจตีบ
.พ.กิตติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ผอ.ศูนย์หัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบมากกว่าต่างประเทศ เกิดจากปัญหาการขาดความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในต่างจังหวัด เมื่อเกิดอาการเจ็บคอหรือปวดตามข้อ ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียรูมาติกที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่กลับปล่อยให้หายเองโดยไม่พบแพทย์ หรือซื้อยาปฏิชีวนะมาบริโภค ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวไปเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจตีบ
(เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 6)
กทพ.ขยับใช้เลเซอร์เก็บค่าทางด่วนใหม่
นายสมบัติ อุทัยสาง รมช.มหาดไทย เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปทำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการคิดค่าผ่านทาง โดยไม่ต้องจ่ายเงินที่บริเวณหน้าด่านซึ่งก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คลื่นวิทยุหรือแสงเลเซอร์คิดเงินกับรถที่วิ่งผ่านเครื่องโดยอัตโนมัติ ตนอาจจะต้องไปดูงานดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถใช้ได้ดีกับประเทศไทยหรือไม่
(เดลินิวส์ อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 3)
ไทยแบะท่ารับทุนป่าเขตร้อนมะกัน
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. มีการประชุมร่วม 4 กระทรวงประกอบด้วย เกษตรฯ วิทยาศาสตร์ ต่างประเทศ และคลัง เพื่อพิจารณาข้อตกลงระหว่างไทย-สหรัฐ ในการจัดตั้งกองทุนป่าเขตร้อน ที่ประชุมได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของกองทุน โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับเป็นสำคัญ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำไปเจรจาต่อรองกับสหรัฐอีกครั้งใน 3-4 วัน หากสหรัฐไม่ตกลง ทางกระทรวงการคลังก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับสหรัฐ 6 แสนเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าเจรจาสำเร็จก็สามารถลงนามได้ทันที โดยไม่ต้องเสนอ ครม.อนุมัติอีกครั้ง
(เดลินิวส์ อังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 3)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|