|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 11 ประจำวันที่ 2002-03-12
ข่าวการศึกษา
ทบวงตั้งคณะทำงานดันม.ออกนอกระบบให้ทันปี 45 ทบวงมอบกสท .ดัน เอ็ดเน็ต เสนอคลังกู้แบงก์โลก 1 พันล. เน็คเท็ค เฮร่วมรั้วกระทรวงวิทย์ สภาคณบดีครุศาสตร์ฯ สุดทนปฏิรูปการศึกษาชะงัก รัฐบาลสรุปผลงานปฏิรูปศึกษา ย้ำศธ.แบ่ง 4 ทบวง แฉ ม. รัฐกีดกันราชภัฏหวั่นเสียประโยชน์ ราชภัฏเปิดรับนศ.ใหม่ปี 45 กว่า 7 หมื่นคน จุฬาฯ เปิดเรียน ป.ตรี ผ่านเน็ต มธ.ดันโครงการ น.ศ.เรียนดีผู้พิการ ศธ.ยก ภูเก็ต นำร่องภาษาอังกฤษรับท่องเที่ยว .ร.ในกรุงเทพฯประเดิมคัดเด็กกลุ่มเสี่ยง 1.5 หมื่นชุด ศธ.อนุมัติ 13 หลักสูตรวิทยาลัยชุมชน ดีเดย์เปิดเรียนปีการศึกษา 2545 ดัน ร.ร. 5 ดาว อัพเกรดสถานศึกษา ชี้เยาวชน 12 ปีเหมาะเรียนรู้เพศศึกษา ชี้ปัญหาพระขัดแย้งโรงเรียน กระทบการเรียนพุทธศาสนา ขอนแก่น เปิดโรงเรียนนานาชาติ สอนฟุตฟิตแห่งแรกของอีสาน ศึกษาฯ เริ่มใช้สมุดพกความดีคัดเลือกเอนท์มีนาคม ศธ.ได้ข้อสรุปเรียนฟรี 12 ปีเริ่มดำเนินการปี 46 แนะปรับหลักสูตรพื้นฐานอิงเกณฑ์เอนทรานซ์ใหม่ โครงการฤดูร้อน นักศึกษาไม่ถึงเป้า เล็งรับชั้นปี 2 ร่วม
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เตือนไวรัสระบาดเข้าอุปกรณ์ไร้สาย อีก 2 ปีอังกฤษใช้รถไฮเทคอัจฉริยะ เปิดไวร์เลสมอลล์ แห่งแรกในไทย
ข่าววิจัย/พัฒนา
สารกันหืนจากสมุนไพร ผลงานวิจัยเด็กไทย น้ำยาอิมมูโนเคมีเพื่อตรวจหาสารแอมเฟตามีน (ยาบ้าและยาอี) เทคโนโลยีเลเซอร์ เย็นสะอาด ปราศจากน้ำแข็ง
ข่าวทั่วไป
ไทย-สหรัฐ เจรจาข้าวหอมมะลิสัปดาห์หน้า จีนเร่งขุดคอคอดกระ
ข่าวการศึกษา
ทบวงตั้งคณะทำงานดันม.ออกนอกระบบให้ทันปี 45
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง การจัดสรรงบประมาณสำหรับมหาวิทยาลัยในกำกับ ว่า ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยม.กำกับ ซึ่งขณะนี้กฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีจำนวน 10 แห่ง ทั้งตัวแทนจากสำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินงานการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยให้แล้วเสร็จภายในปี 2545 นี้ และผลักดันร่าง พ.ร.บ.ให้เข้าสู่การประชุมสภาได้ทัน โดยในส่วนงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 600 ล้านบาท ซึ่งไม่มากอย่างที่เข้าใจ สำหรับประเด็นเรื่องงบประมาณที่ยังเป็นข้อกังวลด้านภาระการสนับสนุนของรัฐบาลนั้น เรื่องนี้เห็นว่า จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ออกนอกระบบไปแล้ว พบว่าในปีแรกของการเปิดให้ข้าราชการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานนั้น มีผู้แสดงความจำนงเพียง 13% ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากข้าราชการของมหาวิทยาลัยรัฐ 6 แห่ง ที่คาดว่าจะทยอยออกนอกระบบเป็นกลุ่มแรกในปีนี้เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ได้ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว จะมีประมาณ 600 ล้านบาท
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2545 หน้า 7)
ทบวงมอบกสท .ดัน เอ็ดเน็ต เสนอคลังกู้แบงก์โลก 1 พันล.
นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังการประชุมโครงการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา (เอ็ดเน็ต) ว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดแผนงาน และรายละเอียดในเรื่องนี้ โดยมอบหมายให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) เป็นแกนนำประสานงานกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และบริษัทเอกชน ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 25 ก.พ. 2545 ราว 30 ราย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะนำเสนอโครงการเงินกู้ (แซล SAL) จากธนาคารโลกประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในงานนี้โดยจะผลักดันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ด้าน นายสุธรรม มลิลา ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า ทศท. ได้ประเมินแล้วพบว่า จะต้องติดตั้งคู่สายโทรศัพท์ไปยังโรงเรียนต่างๆ ที่ได้สำรวจเบื้องต้นราว 22,000 แห่ง โดยจะพยายามให้เสร็จภายในปีนี้ แบ่งเป็นการติดตั้งโทรศัพท์โรงเรียนประถมราว 1-12 เลขหมายต่อโรง ส่วนระดับมัธยมยังไม่ได้กำหนดว่าจะติดตั้งเลขหมายให้จำนวนเท่าไร แต่จะรับเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามเป้าหมายที่วางไว้
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
เน็คเท็ค เฮร่วมรั้วกระทรวงวิทย์
นายวีระ สกุลทับ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (วว.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารในสังกัด ซึ่งมี นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานว่า การประชุมครั้งนี้ นายสันทัด สมชีวิตา ปลัด วว. ได้ชี้แจงถึงการปรับโครงสร้างกระทรวง ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล และทำความเข้าใจกับข้าราชการถึงขั้นตอนการดำเนินงานปฏิรูประบบราชการ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในระดับผู้บริหารเห็นด้วยกับการจัดกลุ่มงานของกระทรวง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีเอกภาพมากขึ้น โดย วว. จะมีการแบ่งเนื้องานกระจายออกใน 4 กระทรวงคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทั้งนี้ นายสนธยา ได้มอบหมายให้อธิบดีแต่ละกรมเตรียมจัดทำรายละเอียด เพื่อหารือกับรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการปรับโครงสร้างในแต่ละส่วนด้วย สำหรับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ซึ่งเดิมจะมีการยกศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เน็คเท็ค) ไปทั้งหมดนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปว่า เน็คเท็ค จะยังเป็นหน่วยงานในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่อยู่ในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตามโครงสร้างใหม่ โดยจะมีเพียงสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เท่านั้น ที่จะถูกยกไปอยู่ในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 15)
สภาคณบดีครุศาสตร์ฯ สุดทนปฏิรูปการศึกษาชะงัก
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม สคศท. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สภาคณบดีเห็นชอบที่จะร่วมกับกรมวิชาการในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างหลักสูตรและการฝึกหัดครู ว่ารัฐบาลจะต้องหาทางออกในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว และให้มีการยอมรับแนวคิดซึ่งกันและกัน โดยถือว่าการศึกษาไม่ควรผูกขาดเพียงความคิดของคนๆ เดียว หรือคนกลุ่มเดียว เมื่อโครงสร้างหลักสูตรออกมาช้า จะทำให้การประชุมคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ขาดแนวทางที่ชัดเจน เพราะไม่รู้ว่าหลักสูตรผลิตครูในอนาคตจะเป็นอย่างไร ใบประกอบวิชาชีพครูจะออกมาลักษณะใด หรือบทบาทในการฝึกอบรมควรจะดำเนินการอย่างไร
(เดลินิวส์ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 12)
รัฐบาลสรุปผลงานปฏิรูปศึกษา ย้ำศธ.แบ่ง 4 ทบวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้จัดทำสรุปภาพรวมการดำเนินงานด้านการศึกษาจำนวน 6 หน้า มีสาระโดยสรุปประกอบด้วย 1. การปฏิรูปการศึกษาที่ได้เร่งดำเนินการดังนี้ 1.1 การปฏิรูปการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย 1.2 การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 1.3 การประกันคุณภาพการศึกษา 1.4 การเทียบโอนการศึกษา 1.5 การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา 1.6 การปรับปรุงระบบการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน 1.7 นำร่องการปฏิรูปการศึกษา 1.8 การปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสรุปว่า ศธ. มีหน่วยงานระดับทบวง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทบวงอุดมศึกษา และทบวงอาชีวศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล คณะกรรมการแต่ละทบวงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ส่วนสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบายและประเมินผล ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ศธ. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่สปศ. ยกร่างแล้ว และทยอยเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ 2. คุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา มีผลดำเนินการที่สำคัญคือ การประมาณการ ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ การดำเนินการของวิทยาลัยชุมชน แผนทศวรรษแห่งคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาและเครือข่าย การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชน 3. การส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพและอาชีวศึกษา
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 15)
แฉ ม. รัฐกีดกันราชภัฏหวั่นเสียประโยชน์
จากกรณีที่นักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตถึงการปรับเปลี่ยนสถานะของสถาบันราชภัฏ (รภ.) เป็นมหาวิทยาลัยทั้ง 41 แห่ง ที่มีความพร้อมไม่เท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องงบประมาณที่อาจจะต้องจัดสรรเพิ่มขึ้น อาจเป็นเหตุทำให้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์กร อธิการบดี รภ.พระนคร กล่าวว่า ที่ผ่านมามักจะมีความเข้าใจผิดว่า รภ.ไม่พร้อมทั้งที่ รภ.ได้พัฒนาตามเกณฑ์ที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด ทั้งยังมีความเด่นกว่าในด้านการเข้าถึงท้องถิ่น และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การที่นักวิชาการออกมาโจมตีเบื้องลึกอาจเป็นเพราะกลัว รภ.จะไปขัดผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย เพราะราชภัฏเก็บค่าหน่วยกิตถูกกว่า และก็ยังใช้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตได้หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยที่ได้รับจัดสรรงบมากกว่า ผศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดี รภ.สวนดุสิต กล่าวว่า การร่วมเป็นร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 41 แห่ง น่าจะเหมาะสมแล้ว เพราะทุกแห่งมีความพร้อมแม้จะไม่เท่าเทียมกันแต่ก็เป็นไปตามขนาดและจุดประสงค์ ส่วนงบประมาณแม้ว่ารัฐบาลไม่สามารถรองรับได้ตามที่ร่าง พ.ร.บ.เสนอก็ไม่น่าเป็นกังวล เพราะเท่าที่เคยรับมาก็เพียงพอกับการบริหารงาน ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นปัญหาที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ไม่ผ่านสภา อย่างไรก็ตาม รภ.สวนดุสิตได้วางแนวดำเนินการไว้ 2 ทาง คือเสนอเป็นร่างรวมทั้ง 41 แห่ง และเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตโดยเฉพาะ เนื่องจากความต้องการของ รภ.สวนดุสิต อยากเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลทันที เพราะมีความพร้อมหากร่างฉบับใดผ่านการพิจารณา รภ.สวนดุสิตก็จะเป็นนิติบุคคลทันที
(ไทยรัฐ พุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 15)
ราชภัฏเปิดรับนศ.ใหม่ปี 45 กว่า 7 หมื่นคน
นายถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยถึงการรับนักศึกษาของสถาบันราชภัฏ 41 แห่ง ทั่วประเทศประจำปีการศึกษา 2545 ว่า ทาง สรภ. ได้กำหนดแผนการรับนักศึกษาใหม่ ภาคปกติรวมจำนวนทั้งสิ้น 70,620 คน ซึ่งขณะนี้มีเปิดสอนรวม 7 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาการศึกษา นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ และสาขาเทคโนโลยี ทั้งนี้ได้กำหนดการรับสมัครในกลุ่มสถาบันราชภัฏภาคเหนือตอนบนในวันที่ 1-9 เมษายน สอบ 7-9 พฤษภาคม กลุ่มภาคเหนือตอนล่างรับสมัครวันที่ 8-12 เมษายน สอบ 29-30 เมษายน กลุ่มภาคอีสานเหนือ รับสมัคร 16-20 เมษายน สอบ 8-9 พฤษภาคม กลุ่มภาคอีสานใต้ รับสมัคร16-20 เมษายน สอบ 8-9 พฤษภาคม กลุ่มภาคกลางรับสมัคร 22-26 เมษายน สอบ 9-10 พฤษภาคม กลุ่มภาคตะวันตก รับสมัคร 1-5 เมษายน สอบ 9 พฤษภาคม กลุ่มภาคใต้รับสมัคร 16-20 เมษายน สอบ 8-9 พฤษภาคม และกลุ่มในกทม. รับสมัคร 17-21 เมษายน สอบ 29-30 เมษายน
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 7)
จุฬาฯ เปิดเรียน ป.ตรี ผ่านเน็ต
รายงานข่าวจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแจ้งว่า ตามที่จุฬาฯ มีนโยบายที่จะขยายโอกาสด้านอุดมศึกษาสู่ภูมิภาคนั้น ได้กำหนดหลักสูตรใหม่คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนในระบบทางไกลแบบยืดหยุ่น และขณะนี้พร้อมที่จะเปิดรับสมัครนิสิตเข้าศึกษาสาขานี้โดยวิธีพิเศษในช่วงภาคต้น ปีการศึกษา 2545 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้สามารถตอบสนองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่เป็นความต้องการทางสังคมมากขึ้น
(มติชน เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 15)
มธ.ดันโครงการ น.ศ.เรียนดีผู้พิการ
นายกำชัย จงจักรพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบัน มธ. มีโครงการที่จะเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสอยู่แล้ว 3 โครงการ คือ โครงการน.ศ.เรียนดีจากชนบท โครงการน.ศ.ผู้มีความสามารถดีเด่นในการกีฬา และโครงการน.ศ.ดีเด่นแต่ขาดโอกาสทางการศึกษา ในเขตเมือง ซึ่งโครงการใหม่นี้นอกจากเป็นจุดยืนของ มธ. แล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและเป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาด้วย และขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการโครงการแล้ว มีตนเป็นประธาน นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านคนพิการ และประธานสภาคนพิการแห่งประเทศไทย นายศุภรัตน์ รัตนมุขย์ ผอ.สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ. และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคนเป็นกรรมการซึ่งจะมีการตั้งอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษา ปรับสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ตั้งทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต เพื่อรองรับต่อไป และยังเตรียมนักศึกษาอาสาสมัครมาคอยช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 15)
ศธ.ยก ภูเก็ต นำร่องภาษาอังกฤษรับท่องเที่ยว
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 นั้น ตนเห็นว่า จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามามาก ซึ่งประชาชนจำเป็นต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการต่างๆ ดังนั้นตนได้สั่งการให้ นายอาทร จันทรวิมล อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต และสถานศึกษาในทุกสังกัดที่อยู่ในจ.ภูเก็ต จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ทั้งนี้ ผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรด้วย และให้ถือ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ซึ่งก็หวังว่าคนในจ.ภูเก็ตทุกคนจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ พร้อมกันนี้เพื่อพัฒนาจ.ภูเก็ตเป็นเมืองนานาชาติ โดยที่ขณะนี้ได้มีบริษัทข้ามชาติให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน จ.ภูเก็ต เป็นจำนวนมาก
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2545 หน้า 7)
.ร.ในกรุงเทพฯประเดิมคัดเด็กกลุ่มเสี่ยง 1.5 หมื่นชุด
นางธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังรับมอบแบบฟอร์มบันทึกการคัดกรองพฤติกรรมของนักเรียนจาก นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ว่า แบบฟอร์มที่ ศธ.มอบให้ กทม. แบ่งเป็นคู่มือการสำรวจหาสารเสพติด และแบบฟอร์มการสำรวจคัดกรองพฤติกรรมของนักเรียน 15,000 ชุด โดยการหาสารเสพติดในเด็กนักเรียนสังกัด กทม. จะสำรวจตั้งแต่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 4,000 ห้องเรียน มีนักเรียนประมาณ 120,000 คน
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 7)
ศธ.อนุมัติ 13 หลักสูตรวิทยาลัยชุมชน ดีเดย์เปิดเรียนปีการศึกษา 2545
ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน (วชช.) ขึ้นเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน โดยระยะแรกในปีการศึกษา 2545 จะจัดตั้งส่วนภูมิภาค 10 จังหวัด คือ ที่แม่ฮ่องสอน พิจิตร ตาก อุทัยธานี บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู มุกดาหาร สระแก้ว ระนอง และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ทาง ศธ. ได้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านหลักสูตรซึ่งจะต้องจัดให้มีคุณภาพ มาตรฐานและเป็นไปตามความต้องการของชุมชน ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติหลักสูตรอนุปริญญาของ วชช. จำนวน 13 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย การพัฒนาชุมชน การปกครองท้องถิ่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจัดการทั่วไป การบัญชี คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีไฟฟ้ากำลัง และเทคโนโลยีรถยนต์
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 7)
ดัน ร.ร. 5 ดาว อัพเกรดสถานศึกษา
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอยุทธศาสตร์ที่จะให้ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) นำไปปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา โดยให้มีโรงเรียนคุณภาพ 5 ดาว ซึ่งจะมีเกณฑ์การประเมินและตัดสินคุณภาพโรงเรียน 4 ด้าน คือ ระบบประกันคุณภาพภายใน คุณภาพผู้เรียน คุณภาพครูผู้สอน และคุณภาพผู้บริหารโรงเรียน หากโรงเรียนใดผ่านเกณฑ์จะได้รับป้ายทองตั้งแต่ระดับดาวเดียวไปถึง 5 ดาว ทั้งนี้ โรงเรียนคุณภาพ 5 ดาว ถือเป็นโรงเรียนเกรดเอของ สปช. และสปช. ได้ตั้งเป้าที่จะให้โรงเรียนในสังกัดได้ 5 ดาวครบทุกโรงภายใน 10 ปี ซึ่งตนเห็นว่าเป็นโครงการที่สนองทศวรรษแห่งคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา อย่างไรก็บาทในการสร้างเครือข่ายและสนับสนุนโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพทั้งในเรื่องบุคลากรและทรัพยากร นอกจากนี้ยังต้องวางแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนที่ยังไม่มีดาวหรือมีดาวอยู่แล้ว ให้ขยับเป็นโรงเรียน 5 ดาวให้ได้โดยเร็ว
ตามตนไบาทในการสร้างเครือข่ายและสนับสนุนโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพทั้งในเรื่องบุคลากรและทรัพยากร นอกจากนี้ยังต้องวางแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนที่ยังไม่มีดาวหรือมีดาวอยู่แล้ว ให้ขยับเป็นโรงเรียน 5 ดาวให้ได้โดยเร็ว
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 15)
ชี้เยาวชน 12 ปีเหมาะเรียนรู้เพศศึกษา
นางพิมใจ อินทะมูล ผู้บริหารและประสานงานโครงการสุขภาพชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่จะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ จากการทำงานรณรงค์เกี่ยวกับโรคเอดส์มาหลายปี และทุกครั้งที่ไปเป็นวิทยากรตามโรงเรียน จะให้ความรู้กับเด็กตั้งแต่ชั้น ม.2 โดยแนะนำให้เด็กรู้จักถุงยางอนามัย เด็กส่วนใหญ่มีความใคร่รู้ สนใจเรื่องเพศ และอยากทดลอง ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างถูกวิธี ซึ่งแนวทางรณรงค์นั้นควรให้ความรู้กับเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจะได้ผลกว่ามาเริ่มกับเยาวชนที่มีอายุ 18 ปี
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 15)
ชี้ปัญหาพระขัดแย้งโรงเรียน กระทบการเรียนพุทธศาสนา
พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดรายละเอียดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนามีการจัดทำที่ซ้ำซ้อนขาดความเป็นเอกภาพและเนื้อหาไม่เรียงลำดับให้เหมาะสมกับผู้เรียน จึงควรต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาในเนื้อหาวิชาแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาด้วย โดยปัจจุบันเห็นว่าในระดับนโยบาย ยังไม่ให้ความสำคัญในการผลิตครูวิชาเอกพุทธศาสนา ทั้งในมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่มีวิชาเอกพุทธศาสนาในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเวลานี้สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนวิชาเอกเพียงสถาบันราชภัฏ 2-3 แห่งเท่านั้น
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 7)
ขอนแก่น เปิดโรงเรียนนานาชาติ สอนฟุตฟิตแห่งแรกของอีสาน
น.พ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประธานกรรมการโรงเรียนขอนแก่นวิเทศศึกษา จังหวัดขอนแก่น เผยว่า ภายหลังพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยฯพณฯ ศ.น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธาน ว่า โรงเรียนขอนแก่นวิเทศศึกษา Khon Kaen Vithes Suksa Billingual School เป็นโรงเรียนโปรแกรมนานาชาติแห่งแรกของภาคอีสาน เปิดสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นโรงเรียน ใช้สื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษ น.พ.วันชัย กล่าวถึงวิธีการสอนนักเรียนว่า จะมีความแตกต่างไปจากโรงเรียนอื่นโดยใช้สื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาภาษาไทย วิชาที่เกี่ยวข้องกับสังคม และประเพณีวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ยังจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Child Center หรือ Student Center โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม มีบูรณาการวิชาการต่างๆ เพื่อสอนให้นักเรียนรู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และทำงานกันเป็นทีม ทั้งยังมีโอกาสใช้สื่อต่างๆ จากห้องสมุด คอมพิวเตอร์ และประสบการณ์ตรงจากภายนอก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้นักเรียนได้มีพัฒนาการเรียนรู้สอดคล้องกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์
(มติชน พุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 21)
ศึกษาฯ เริ่มใช้สมุดพกความดีคัดเลือกเอนท์มีนาคม
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้า การจัดทำสมุดบันทึกความดีว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย หาข้อสรุปในการนำสมุดบันทึกความดี เพื่อไปประกอบพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือการสอบเอนทรานซ์ ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ก่อนจะประกาศใช้ในภาคเรียนที่ 1 / 2545 ในนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อให้ทันการสอบเอนทรานซ์ระบบใหม่ในปีการศึกษา 2547
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
ศธ.ได้ข้อสรุปเรียนฟรี 12 ปีเริ่มดำเนินการปี 46
นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการคำนวณค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องรับภาระในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เปล่า 12 ปีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นางมัณฑณา ศังขะกฤษณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการคำนวณเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตีความตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 ซึ่งให้ชดเชยค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในส่วนที่เป็นค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียนขั้นพื้นฐาน เช่น หนังสือเรียน สมุด ดินสอ เป็นต้น ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ชุดนักเรียน ค่าอาหาร พาหนะ รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้เฉพาะเด็กยากจนซึ่งมีอยู่ประมาณ 30%เท่านั้น ส่วนผู้ปกครองที่มีฐานะนั้นเห็นควรให้จ่ายเอง ซึ่งจากตัวเลขค่าใช้จ่ายดำเนินการพื้นฐานต่อหัวของเด็กปกติ ประเภทในระบบโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งไม่รวมงบเงินเดือนบุคลากร งบลงทุน ในระดับประถมศึกษา จะอยู่ที่ 939 บาท ต่อคน ต่อปีการศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 2,454 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ 3,380 บาท ทั้งนี้สำหรับการอุดหนุนเด็กในโรงเรียนเอกชน ที่รัฐเคยให้การอุดหนุนหลายแบบ เช่น อุดหนุน 60% 40% 20% ต่อไปนี้จะให้การอุดหนุน 100%
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
แนะปรับหลักสูตรพื้นฐานอิงเกณฑ์เอนทรานซ์ใหม่
นายอาทร จันทวิมล อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า กศน.กำลังทำโครงการศูนย์เรียนรู้อาชีพ กศน. โดยจะให้ผู้เรียนได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพจากผู้ประกอบการโดยตรง และเรียนในสถานประกอบการจริง เพื่อเป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับอาชีพอย่างครบวงจร เนื่องจากผู้เรียนจะต้องเข้าไปพักอยู่กับชุมชนที่จัดศูนย์เรียนรู้อาชีพ กศน. ตลอดหลักสูตร 4 วัน 3 คืน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการ-สอนด้านอาชีพอย่างมาก อธิบดี กศน. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กศน. กำลังรวบรวมอาชีพที่เด่นๆ ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 3 อาชีพเพื่อหารือร่วมกับทางจังหวัด และสถานประกอบการในจังหวัด ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกอาชีพที่มีความพร้อมในแต่ละจังหวัดมาจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อาชีพกศน. ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2545 นี้จะต้องเปิดศูนย์เรียนรู้อาชีพให้ครบทุกจังหวัดและพยายามไม่ให้อาชีพซ้ำกัน ผู้เรียนจะเสียค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรไม่เกิน 900 บาท รวมที่พักและอาหาร โดยจะเปิดโครงการในวันที่ 14-17 มี.ค.นี้ สำหรับผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (ศนจ.) และศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบ.อ.) ที่ดำเนินการ
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 7)
โครงการฤดูร้อน นักศึกษาไม่ถึงเป้า เล็งรับชั้นปี 2 ร่วม
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การรับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 เข้าโครงการ เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างชุมชน ซึ่งเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ นั้น ได้รับรายงานจากสถาบันอุดมศึกษา ว่า ตัวเลขจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 มีนักศึกษาปี 3-4 สนใจสมัครเข้าโครงการจากทั่วประเทศจำนวน 4,685 คน ที่มาจาก 83 สถาบันอุดมศึกษาของทั้งหมด 150 สถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน หลังจากนี้ คณะทำงานจะรวบรวมจำนวนผู้สมัครทั้งหมดและนัดหารือคณะทำงานกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยแกนนำ 16 แห่งทั่วประเทศในวันที่ 4 มีนาคม 2545 เพื่อสรุปปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่หากจำนวนนักศึกษาชั้นปี 3-4 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 6,080 คน ทบวงก็จะปรับเกณฑ์การรับสมัครโดยเปิดกว้างให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มีสิทธิสมัครด้วย
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 7)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เตือนไวรัสระบาดเข้าอุปกรณ์ไร้สาย
ศูนย์เฝ้าระวังฯ อาร์ แอนด์ ดี เตือนระวังไวรัสระบาดในอุปกรณ์ไฮเทคไร้สาย ทั้งมือถือ พีดีเอ ซึ่งใช้ข้ามระบบได้ แนะให้ติดตามข่าวไวรัสและใช้เครื่องอย่างระมัดระวัง ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามไวรัสคอมพิวเตอร์ R & D รายงานว่า ที่ผ่านมามีทั้งข่าวลือและข่าวลวงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดไวรัสสู่อุปกรณ์ไร้สาย แต่จากการเฝ้าติดตามพบว่า ในปี 2545 เป็นต้นไป เริ่มจะเห็นเค้าการระบาดของไวรัสสู่อุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งผู้บริหารของบริษัทด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในฮ่องกง แจ้งว่าการคุกคามจากไวรัสในปีนี้จะไม่เหมือนปีก่อนๆ เพราะอาจจะมีไวรัสคอมพิวเตอร์แพร่ระบาดเข้าสู่อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารแบบไร้สายหลังจากมีรายงานการตรวจพบเมื่อ 2543 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีแนวโน้มไวรัสคอมพิวเตอร์จะแพร่ระบาดสู่เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา ทั้ง พีดีเอ ปาล์ม พ็อกเก็ตพีซี และโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใช้เครือข่ายแบบไร้สาย หรือ Wireless lan ซึ่งมีอัตราการแพร่กระจายค่อนข้างสูง เพราะการติดต่อสื่อสารในอนาคตจะเป็นแบบข้ามระบบได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสของศูนย์ฯ R & D ได้แนะนำให้ผู้ใช้อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย รักษาวินัยในการใช้เครื่องอย่างสม่ำเสมอและติดตามข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นประจำเพื่อป้องกันเครื่อง เนื่องจากในอนาคตการแพร่ระบาดของไวรัสจะกระจายตัวง่ายและสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 16)
อีก 2 ปีอังกฤษใช้รถไฮเทคอัจฉริยะ
อังกฤษทดสอบ พอต รถยนต์ไฮเทคไร้คนขับ มีระบบรักษาความปลอดภัยอัตโนมัติแก้ปัญหาจราจรติดขัด คาดจะใช้ได้จริงในเวลส์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า พอต (POD) เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพัฒนาทางคมนาคมครั้งแรกของโลก เนื่องจากเป็นรถที่ไม่ต้องมีคนขับ ทำงานตามโปรแกรมและคำสั่งที่วางไว้ บรรจุผู้โดยสารได้คันละ 4 คน ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ มีขนาดกว้างเพียงครึ่งเดียวของถนนหนึ่งเลน และใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเป็นตั๋วเดินทางที่สำคัญ มีการออกแบบให้รถหยุดอัตโนมัติเมื่อมีหิมะ ฝน และน้ำแข็ง อยู่บนพื้นถนนมากเกินไป เพื่อป้องกันอันตราย ด้วยประสิทธิภาพการทำงานของพอตคาดว่าจะช่วยให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะใช้หลีกหนีจากการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน
(เดลินิวส์ อังคารที่ 5 มีนาคม 2545 หน้า 16)
เปิดไวร์เลสมอลล์ แห่งแรกในไทย
นายทวีศักดิ์ พูนธเนศ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดบริษัท ซีพีพลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ เปิดเผยว่า ได้เปิดศูนย์ Wirless Mall เป็นแห่งแรกในเมืองไทย เพื่อให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย โดยสามารถดึงสัญญาณการรับ-ส่งข้อมูลผ่านอุปกรณ์ด้วยกำลังส่ง 512K รัศมีการทำงาน 150 เมตรจากศูนย์ Internet & e-commerce Center ใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ลูกค้าสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ากับเครื่องโน๊ตบุ๊ค และ พีดีเอ สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2247-3737 กด 1200 ตามด้วย 4410 หรือ www.itmail.co.th
(เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 7 มีนาคม 2545 หน้า 16)
ข่าววิจัย/พัฒนา
สารกันหืนจากสมุนไพร ผลงานวิจัยเด็กไทย
เยาวพา ตรีกมล หรือ น้องส้ม อายุ 17 ปี เจ้าของโครงการสารกันหืนจากสมุนไพรนี้ เป็นนักเรียนทุน โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) ของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปรียบเทียบปริมาณของสารและประสิทธิภาพในสารกันหืนที่สกัดจากสมุนไพรทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย และไพล โดยสกัดด้วยอะซีโตน และนำสารที่สกัดได้ไปทดสอบหาสารจำพวก Phenolic compound ซึ่งเป็นสารกันหืน จากนั้นก็นำมาหาประสิทธิภาพในการกันหืน โดยผสมสารสกัดลงในน้ำมัน 0.01-0.05% แล้วนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันอิสระ และค่าเปอร์ออกไซด์ทุก 5 วันติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน โดยการไทเทรต จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากของ ข่า ขมิ้น กระชายและไพล มีประสิทธิภาพในการกันหืนได้ โดยขมิ้นจะมีประสิทธิภาพในการกันหืนดีที่สุด
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 24)
น้ำยาอิมมูโนเคมีเพื่อตรวจหาสารแอมเฟตามีน (ยาบ้าและยาอี)
ศ.ดร.กวี รัตนบรรณางกูร ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยและพัฒนาน้ำยาอิมมูโนเคมี เพื่อตรวจหาสารแอมเฟตามินขึ้น น้ำยาอิมมูโนเคมี (Immunochemical Reagent) ที่ผลิตขึ้นสามารถตรวจหาสารแอมเฟตามิน (ยาบ้าและยาอี) ในปัสสาวะได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและมีราคาถูก ผล-งานวิจัยนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำยาตรวจยาบ้าที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ สามารถตรวจได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ตรวจแยกแยะผู้เสพยาบ้า เพื่อใช้มาตรการป้องปราบผู้ที่เสพยาบ้าให้ลดน้อยลง ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และลดปัญหาการเสพติดของเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 24)
เทคโนโลยีเลเซอร์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเลเซอร์ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ควบคุมให้เลเซอร์แกะสลักลวดลายได้ในเวลารวดเร็ว เลเซอร์ที่ใช้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ทำงานแบบพัลส์ มีความยาวคลื่น 10.6 ไมครอนและให้กำลัง 30 วัตต์ สามารถแกะสลักชิ้นงานขนาดพื้นที่สูงสุด 12 x 16 ตารางนิ้ว และแกะสลักทำตัวอักษรขนาดเล็กสุดได้ถึง 1 มิลลิเมตร สามารถทำงานได้ทั้งแบบอัตโนมัติและแบบควบคุมด้วยมือ เป็นการพัฒนาระบบการแกะสลักหรือเขียนตัวอักษรด้วยเลเซอร์ ให้สามารถแกะสลักได้อย่างรวดเร็วมากใช้ในการผลิตชิ้นงานไม้ พลาสติก แก้ว โลหะ เซรามิก และใช้ในงานศัลยกรรมทางการแพทย์(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 24)
เย็นสะอาด ปราศจากน้ำแข็ง
AFGE (Antifreeeze Glycoprotein) เป็นสารประกอบโปรตีนชนิดหนึ่งที่ปลาขั้วโลกสร้างขึ้นมาเพื่อยับยั้งการแข็งตัวของเลือด โดยการเข้าไปจับตัวกับผลึกน้ำแข็งที่เริ่มก่อตัวขึ้น และยับยั้งไม่ให้มันขยายตัวขึ้นจนสร้างความเสียหายให้กับเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ อันเป็นสาเหตุของการถึงแก่ชีวิตในที่สุด แต่แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่รู้ถึงกระบวนการทำงานที่แท้จริงของ AFGP แต่ก็สามารถสังเคราะห์สารประกอบขึ้นมาให้มีคุณสมบัติเหมือนกับ AFGP ได้โดยการดัดแปลงโครงสร้างทางโมเลกุลบางอย่าง และสามารถทำสำเนาที่มีความคงตัวไม่สลายหรือเสื่อมคุณสมบัติได้ง่ายเหมือนกับ AFGP ของแท้จากตัวปลา ผลงานชิ้นนี้เป็นของนักวิจัยจาก State University of New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปิดเผยถึงผลงานวิจัยของพวกเขาว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น การผลิตสเปรย์ด้านการแข็งตัวของเนื้อเยื่อพืช ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชบางชนิดได้ในภูมิอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติได้
(เดลินิวส์ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 16)
ข่าวทั่วไป
ไทย-สหรัฐ เจรจาข้าวหอมมะลิสัปดาห์หน้า
นายสุวรรณ วลัยเสถียร รมช.พาณิชย์ กล่าวถึง ความคืบหน้าในการเร่งรัดให้ นายคริสเดเรน นักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำพันธ์ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยไปวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้สามารถปลูกได้ในสหรัฐให้มาเซ็นสัญญาการรับเชื้อพันธุ์ข้าว (MTA) กับประเทศไทยว่า ที่ผ่านมาไทยได้ให้เวลา นายคริส จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก่อนที่จะให้ทนายความของไทยที่สหรัฐยื่นโนติสไป ซึ่งจนถึงขณะนี้ นายคริส ก็ยังไม่ได้ติดต่อกลับมาแต่อย่างใด ซึ่งได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้ ทางสหรัฐ ได้ส่งหนังสือติดต่อมาว่าจะส่ง นาย James I. Gadsden ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านไบโอเทคโนโลยีของสหรัฐ มาพบกับตนและ นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 6 มีนาคม นอกจากการหารือในเรื่องของสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิแล้ว ยังจะหารือกันในกรอบที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับเรื่องไบโอเทคโนโลยีอีกด้วย นายสุวรรณ กล่าวว่า จุดประสงค์ที่ทางสหรัฐส่ง นายเจมส์ มานั้น คาดว่าทางสหรัฐต้องการมาหารือกับไทยเพื่อให้เรื่องนี้จบลงด้วยดี และนายเจมส์ จะเข้ามาดูด้วยว่า สัญญา MTA ที่ไทยทำขึ้น ทำให้ทางฝ่ายสหรัฐได้เปรียบเสียเปรียบมากแค่ไหน เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า จะเซ็นสัญญาหรือไม่ แต่สิ่งที่ไทยจะดำเนินการคือ การเจรจาก็ต้องเจรจาต่อไปและการฟ้องร้องก็ต้องทำควบคู่กันไป
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2545 หน้า 6)
จีนเร่งขุดคอคอดกระ
โครงการขุดคอคอดกระคืบหน้าไทย-จีนตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมมือของโครงการแล้ว พร้อมเร่งให้ไทยตัดสินใจ ระบุให้การสนับสนุนเต็มที่ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสิงห์บุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการคอคอดกระวุฒิสภา เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการคอคอดกระว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่สนใจจะร่วมลงทุนโดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน และประเทศสิงคโปร์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทยกับจีน โดยแต่ละฝ่ายจะมีวิศวกรและฝ่ายเศรษฐกิจประสานความร่วมมือกัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่และมีเงินทุนมากจึงอยากให้ความร่วมมือกับไทย เพื่อให้โครงการคอคอดกระเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงโดยรัฐบาลจีนยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตนได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยของจีนที่ดูแลเกี่ยวกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งได้แสดงจุดยืนและท่าทีที่เห็นสอดคล้องกับรัฐบาลจีนพร้อมทั้งระบุว่า จีนมีความพร้อมในด้านวิศวกรอย่างมาก ซึ่งขณะนี้จีนกำลังก่อสร้างเขื่อนซันเสีย ในเมืองอี๋ชัง ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังนิวเคลียส์ที่ใช้ระบบไฮดรอลิกส์ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 25,000 ล้านบาท
(สยามรัฐ จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 3)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|