หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 15 ประจำวันที่ 2002-04-15

ข่าวการศึกษา

เผยผลวิจัยครู-น.ร.อยากใช้ไอทีในรร. ชี้”อินเตอร์เน็ต”ถูกเมิน-แนะบริการฟรี
สภาอ.มข.ถวายฎีกาในหลวงทูลผลเสียนอกระบบ
รภ.ปรับกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สั่งคุ้มเข้มคุณภาพสระว่ายน้ำ
เตือนอากาศร้อนโรงงานเคมีเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้
รัฐทุบเหมือง “คลิตี้” เร่งฟื้นฟูพิษตะกั่ว
เครื่องตัดโฟมด้วยคอมพิวเตอร์
บินอย่างไรให้ปลอดภัยจากน้ำแข็ง
รายงานใหม่ชี้ภาวะโลกร้อนเขยิบอีกสิ้นศต
บ้านน็อคดาวน์ บ้านต้นแบบช่วยผู้ประสบภัย
เตือนภัยแอลกอฮอล์อุ่นอาหารใช้เมทิลฯมีอันตรายถึงตาบอด

ข่าววิจัย/พัฒนา

เผยดื่มชามากป้องกันมะเร็งกระเพาะ-หลอดอาหาร
ม.ขอนแก่นพบ “ด้วงมูลสัตว์” หายากในไทย 4 ชนิด
วารสารดังอังกฤษผวา งดตีพิมพ์ผลวิจัยพืชดัดแปลง
การหา Particle Resident Time ในกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง
ระบบวินิจฉัยการแพทย์โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์แบบมัลิมีเดีย
ม.นเรศวรยืนยันผลงานวิจัย ชี้ครูสอนตัวต่อตัวได้ผลดีสุด
แพทย์น้ำหอมเจ๋งรักษาเด็กดักแด้ใช้สเต็มเซลล์ปลูกถ่ายยีนชดเชย
แฉพิษเลือดสมองตีบ






ข่าวการศึกษา


เผยผลวิจัยครู-น.ร.อยากใช้ไอทีในรร. ชี้”อินเตอร์เน็ต”ถูกเมิน-แนะบริการฟรี

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่าจากการศึกษาของกองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการได้ศึกษาเรื่องสภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มตัวอย่างคือผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักเรียน และชุมชน จำนวน 16,607 คน เพื่อศึกษาสภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีทางการศึกษา เจตคติของนักเรียนที่มีต่อการใช้ไอทีทางการศึกษา และแนวทางในการนำไอทีทางการศึกษาไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา พบว่าผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ 98.07 % ระบุว่าโรงเรียนมีนโยบายด้านการใช้ไอที โดยนำมาใช้ในด้านการเรียนการสอน การบริหารจัดการ และการบริการข้อมูล มีโครงการเกี่ยวกับการใช้ไอทีโดยเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาสื่ออุปกรณ์ และการพัฒนาสื่อระบบสารสนเทศ สำหรับสื่อไอทีที่นำมาใช้มากที่สุดคือคอมพิวเตอร์ โดยทุกโรงเรียนมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดทำโปรแกรมการวัดผลและประเมินผลการเงิน และการจัดทำฐานข้อมูล มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2545 หน้า 15





สภาอ.มข.ถวายฎีกาในหลวงทูลผลเสียนอกระบบ

เมื่อวันที่ 14 เมษายน น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์แผน และนโยบายของที่ประชุมประธารสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาคณาจารย์ มข.มีมติจะถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดภายหลังเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล พร้อมทั้งรายชื่อของประชาคม มน. และประชาชน 5,000 ชื่อ ทำให้ผู้บริหาร มข. ได้ทำหนังสือลับที่สุดถึงตนเพื่อคัดค้านการถวายฎีกา ทั้งนี้สภาคณาจารย์ มข. จะถวายฎีกาผ่านสำนักราชเลขาธิการในวันที่ 20 เมษายน ที่มีข่าวว่าภายหลังเปลี่ยนสถานภาพแล้ว ข้าราชการสาย ก, ข และ ค ที่ต้องการเปลี่ยนสภาพเป็นพนักงาน มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดที่แล้วมีมติเพิ่มค่าตอบแทนให้พนักงานมหาวิทยาลัยสาย ก 1.7% ของค่าตอบแทนเดิม สาย ข และ ค ได้ 1.6 % มีข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ค่าตอบแทนเพิ่มเพียง 1.2 % เท่านั้น ถ้าเป็นจริงมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นธุรกิจการศึกษามากขึ้น เพื่อหารายได้สำหรับเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อจูงใจให้ข้าราชการเปลี่ยนสถานภาพซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้จัดหลักสูตรพิเศษมากมาย เพื่อหารายได้มาเป็นค่าตอบแทนเพิ่มให้ โดยอาจารย์ได้รายได้เพิ่มเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท น.พ.พิศิษฐ์ ล่าวอีกว่า เรื่องนี้ ปอมท. เคยเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมเสนอรายชื่อผู้สนับสนุนอีก 3,000 ชื่อ เพื่อให้ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชนให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งสถานบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และอาชีวศึกษา แต่พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่าต้องใช้งบประมาณสำหรับจัดการศึกษาฟรี 12 ปี จึงไม่สามารถจัดสวัสดิการให้ได้ มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2545 หน้า 15





รภ.ปรับกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

นายพลสัณห์ โพธิ์ทองศรี รองเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ เปิดเผยว่า เวลานี้สถาบันราชภัฏกำลังเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งแบ่งการดำเนินการเป็น3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ให้วิทยากรครูฝึกในสถาบันราชภัฏทุกแห่งได้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง ร่วมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมในการเป็นวิทยากรเครือข่าย และขยายการฝึกอบรมวิทยากรเครือข่ายแก่อาจารย์และนักศึกษาเครือข่ายชุมชนของสถาบันราชภัฏให้มากขึ้น ระยะ 2 สร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการส่งเสริมความเข้มแข็ง และให้มีความเข้มแข็งทั้งความรู้และความคิด ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านอื่นๆ ทั้งหมด กลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา สถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน นายพลสัณห์กล่าวต่อไปว่า และระยะ 3 สนับสนุนให้คณาจารย์ นักศึกษาเครือข่ายชุมชนของสถาบันราชภัฏและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในส่วนบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนได้ร่วมกันทำงานมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน เปิดเวทีชาวบ้านให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้พึ่งตนเองได้ สามารถวางแผนโครงการพัฒนาชุมชนของตนเอง ทั้งนี้การดำเนินการในระยะที่ 1-2 จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และระยะ 3 จะแล้วเสร็จในปี 2546 มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2545 หน้า 15





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สั่งคุ้มเข้มคุณภาพสระว่ายน้ำ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ตรวจสอบความสะอาดของสระว่ายน้ำ หลังจากพบระดับสารเคมีที่เรียกว่า “ไทรฮาโลมีเธน” ในสระว่ายน้ำมีสูงกว่าในน้ำประปา สารเคมีตัวนี้เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นเมื่อคลอรีนสัมผัสกับฝุ่นละออง เหงื่อหรือผิวหนังและมีผลการศึกษาหลายชิ้นพบถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างไทรฮาโลมีเธนกับการแท้งลูก หรือคลอดลูกออกมาไม่สมประกอบ โดยทีมนักวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจในกรุงลอนดอนให้ข้อมูลเสริมว่า มีผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่าหากลงว่ายน้ำในสระ 1 ชั่วโมง อาจจะได้รับสารเคมีเหล่านี้ในปริมาณมากกว่าถึง 141 เท่า เมื่อเทียบกับการอาบน้ำประปาจากฝักบัวเพียง 10 นาที และคนที่ลงว่ายน้ำอาจจะดูดซับสารเคมีหลายชนิด ผ่านทางผิวหนัง สูดดม กลิ่นไอระเหย หรืออาจจะกลืนน้ำเข้าปากได้ ดังนั้น ผู้ดำเนินการสระว่ายน้ำทั้งในโรงแรมหรือสโมสรกีฬาต่างๆรวมถึงสระว่ายน้ำสาธารณะที่มีคนมาใช้บริการกันมาก จำต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของการรักษาความสะอาดของน้ำภายในสระ รวมถึงการควบคุมจำนวนคลอรีนที่ถูกต้องตามสัดส่วนที่กำหนดเพื่อจะได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ (มติชนรายวัน วันพุธที่ 17 เมษายน 2545 หน้า 16)





เตือนอากาศร้อนโรงงานเคมีเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้

นายวีระ มาวิจักขณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงกรณีโรงงานน้ำมันเครื่องระเบิดที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ปกติโรงงานผสมน้ำมันเครื่องลักษณะดังกล่าวจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เพราะเป็นน้ำมันข้นที่ใช้เป็นวัตถุดิบเป็นสารที่ติดไฟยาก เว้นแต่จะถูกจุดไฟเผาเท่านั้น ซึ่งจากการไปตรวจสอบโรงงานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่กรอ.สันนิษฐานว่าไม่น่าจะเป็นลักษณะเพลิงไหม้ ที่เกิดจากอุบัติเหตุการทำงานในโรงงาน เนื่องจากปกติโรงงานดังกล่าวจะเปิดทำการเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 16 เมษายน 2545 หน้า 8





รัฐทุบเหมือง “คลิตี้” เร่งฟื้นฟูพิษตะกั่ว

หลังความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ยาวนานกว่า 5 ปี นับจากปี 2541 ที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ .กาญจนบุรี ประสบปัญหาสุขภาพมีตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน กระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะข้าไปตรวจสอบดูแล แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ความหวังในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านคลิตี้ล่าง เริ่มเป็นรูปเป็นล่างมากขึ้น เมื่อมีมติที่เห็นร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ กระทรวงสาธารณสุข ว่าควรจะต้องปิดโรงแต่งแร่คลิตี้และเปิดให้มีการฟื้นฟูที่ให้กลับมาสู่สภาพธรรมชาติ เพราะนั่นหมายถึงการปิดเหมืองคลิตี้ถาวร กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2545 หน้า





เครื่องตัดโฟมด้วยคอมพิวเตอร์

นายกิตติ สุวรรณรัชตมณี นักศึกษาภาควิชาวิศกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องจักรกลอัตโนมัติเป็นที่นิยมกันมากในโรงงานอุตสาหกรรมของไทย จึงเกิดแรงบันดาลใจประดิษฐ์เครื่องตัดโฟมควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เพื่อตัดโฟมให้เป็นปีกเครื่องบินและนำไปใช้ในธุรกิจประดิษฐ์เครื่องบินเล็ก ผศ.ชนินทร์ วงศ์งามขำ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานดังกล่าวบอกว่า เมืองไทยส่งออกเครื่องบินเล็กไปญี่ปุ่น และยุโรป เครื่องที่นักศึกษาประดิษฐ์ได้นี้สามารถนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมจริง นอกจากตัดปีกเครื่องบินแล้วยังประยุกต์ใช้ตัดโฟมให้เป็นรูปอะไรก็ได้ เพิ่มขนาดได้ตามต้องการและถ้าต้องการพัฒนาเพิ่มเติมเป็นเครื่องกัด เครื่องเจาะก็ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ สนใจติดต่อที่ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มจธ. โทรศัพท์ 0-2470-9073 (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 16 เมษายน 2545 หน้า 12)





บินอย่างไรให้ปลอดภัยจากน้ำแข็ง

สถาบัน National Center for Atmospheric Research (NCAR) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาระบบพยากรณ์ภาวะการเกิดน้ำแข็งที่ปีกเครื่องบิน โดยอาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางเพื่อให้บรรดานักบินและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเช็กข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่งจะมีการอัพเดทข้อมูลวันละหลาย ๆ ครั้ง ระบบดังกล่าวมีชื่อเต็มว่า Current Icing Potential (CIP) โดยระบบนี้จะให้ข้อมูลว่าบริเวณใดที่มีโอกาสเกิดสภาวะดังกล่าว ซึ่งจะมีความถูกต้องแม่นยำมาก โดยนักบินเพียงแค่ใส่ข้อมูลการบินเข้าไปเท่านั้นว่าจะบินไปได้ในเส้นทางใด เพดานบินเท่าไร เวลาไหน เป็นต้น เพียงเท่านี้ระบบก็จะให้ข้อมูลกลับมาว่าการเดินทางเที่ยวนั้นมีความปลอดภัยจากสภาวะน้ำแข็งที่ว่าเพียงใด และควรที่จะเลื่อนการเดินทางเที่ยวนี้ออกไปหรือไม่ (เดลินิวส์ วันพุธที่ 17 เมษายน 2545 หน้า 12)





รายงานใหม่ชี้ภาวะโลกร้อนเขยิบอีกสิ้นศต

รายงานซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญสวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษซึ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้พยากรณ์ว่า อุณหภูมิในศตวรรษนี้โดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าวจากอิทธิพลของก๊าซอุตสาหกรรมและปัจจัยอื่นๆ ที่จะเพิ่มความร้อนต่อชั้นบรรยากาศสูงกว่าการประเมินก่อนหน้านี้ของสหประชาชาติซึ่งระบุว่าอยู่ที่ระดับ 5.8 องศาเซลเซียล โดยรายงานของ 2 สถาบันประเมินว่าสภาวะอุณหภูมิโลกร้อนก่อนสิ้นปี 2100 จะอยู่ที่ระดับ 4.3 – 6.7 องศาเซลเซียล แต่ตัวเลขนี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ คิดเป็น 40 % หากโลกต้องเผชิญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หนักหน่วงกว่าระดับปกติ (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2545 หน้า 15)





บ้านน็อคดาวน์ บ้านต้นแบบช่วยผู้ประสบภัย

อาจารย์สันติ ชินานุวัติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดประดิษฐ์บ้านน็อคดาวน์ บ้านสำเร็จรูป เพื่อช่วยผู้เดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย ที่สำคัญโครงสร้างของบ้านน็อคดาวน์ ทำจากเหล็ก light gauge ซึ่งมีน้ำหนักเบา แต่มีความคงทนถาวร และยากต่อการเป็นสนิมเพราะได้ป้องกันด้วยสีกันสนิมและทาทับอีกครั้งด้วยสีน้ำมัน ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานยิ่งขึ้น ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของบ้านน็อคดาวน์ คือ โครงสร้างแต่ละส่วนจะยึดติดกันโดยใช้สลักเกลียว ทำให้สามารถรื้อถอนและประกอบใหม่ได้ภายในเวลา 2-3 ชม.เท่านั้น สำหรับราคาของบ้านนั้นอยู่ที่ 80,000 บาท ต่อ 1 หลัง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ผศ. ดร. สันติ ชินานุวัติวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โทร 0-2942-8555 ต่อ 1303-4 (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2545 หน้า 2)





เตือนภัยแอลกอฮอล์อุ่นอาหารใช้เมทิลฯมีอันตรายถึงตาบอด

น.ส.ลักษณา ลือประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่นและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี ได้ร่วมกันสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์อุ่นอาหารหรือแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ซึ่งใช้ตามร้านอาหารทั่วไปเพื่อตรวจสอบหามาตรฐานและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการตรวจสอบในพื้นที่หลายจังหวัดพบว่า มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารจากผู้ผลิตบางรายได้นำเมทานอลหรือเมทิลนอลมาเป็นส่วนผสมแทนการใช้เอทานอลซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งพิษจากการได้รับไอเมทานอลเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง แสบตา ตาพร่ามัวหรืออาจตาบอดได้ (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2545 หน้า 2)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เผยดื่มชามากป้องกันมะเร็งกระเพาะ-หลอดอาหาร

ทีมนักวิจัยจากคณะแพทย์เด็กแห่งมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น แคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริการ่วมกับสถาบันมะเร็งเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนเปิดเผยว่า การดื่มชาสามารถป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ โดยผู้ที่ดื่มชาจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่มถึง 50 % เนื่องจากพบว่าในใบชาจะมีสารแอนตี้ออกซิเดนต์ ซึ่งสารชนิดนี้สามารถต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้ โดยสารแอนตี้ออกซิเดนต์ที่พบในชาเป็นสารประกอบประเภทโพลีฟีนอลที่มีชื่อว่า “คาเทซินส์” (catechins) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกและยังปกป้องเซลล์ที่แข็งแรงจากการถูกทำลาย ทั้งนี้เชื่อว่าหากร่างกายเกิดความเครียดและความไม่สมดุล เซลล์จะเกิดการกลายพันธุ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคหลายชนิดรวมทั้งมะเร็ง





ม.ขอนแก่นพบ “ด้วงมูลสัตว์” หายากในไทย 4 ชนิด

น.ส.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า ด้วงมูลสัตว์เป็นแมลงปีกแข็งที่กำเนิดมานานกว่า 180 ล้านปีในยุคไดโนเสาร์ มีประโยชน์ในระบบนิเวศเพราะใช้มูลสัตว์อาหารและแหล่งที่พักอาศัย จึงมีประโยชน์และบทบาทสำคัญทั้งด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน จากการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนี่องตลอดเวลา 4 ปี โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายพื้นที่ศึกษาจนครอบคลุมถึงภาคกลางและภาคตะวันออก พบด้วงมูลสัตว์ในประเทศไทยทั้งหมด 157 ชนิด พบด้วงมูลสัตว์ชนิดใหม่ที่ได้รับการตั้งชื่อและตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลกจำนวน 4 ชนิดได้แก่ Synapsis Kiochii, Synapsis dickinsoni, Synapsis boonlongi และSisyphus thoracicus chaiyaphimensis ทั้งหมดนี้เป็นด้วงมูลสัตว์ที่ค่อนข้างหายาก และมีจำนวนการแพร่กระจายอยู่น้อยมาก (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2545 หน้า 18)





วารสารดังอังกฤษผวา งดตีพิมพ์ผลวิจัยพืชดัดแปลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ วารสาร “เนเจอร์” ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการวิทยาศาสตร์ของประเทศอังกฤษปฏิเสธตีพิมพ์ผลงานวิจัยด้านความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากไม่พบหลักฐานการแพร่กระจายยีนดัดแปลงพันธุกรรมในข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง ทั้งนี้หลังจากที่เนเจอร์ได้เผยแพร่งานวิจัยของนายเดวิตควิสต์ นักศึกษาปริญญาเอก และนายอีกนาชิโอ ซา เปลา ศาสตร์จารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบริก์เลย์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวระบุว่าพบยีนจากข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมแพร่กระจายอยู่ในข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองของเม็กซิโก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ต่อมานักชีววิทยาทั่วโลกกว่า 100 คน นำโดยนายเคร้าซ์ อัมมาน ผอ.สวนพฤกษาศาสตรกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประท้วงงานวิจัยดังกล่าวว่า ยังเป็นงานวิจัยที่ยังไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในภาคสนามซ้ำ จึงทำให้ได้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ และเกิดความผิดพลาด “เนเจอร์” จึงได้ประกาศถอนการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเจ้าปัญหานี้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รอบ 133 ปีของวารสารฉบับนี้ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2545 หน้า 18)





การหา Particle Resident Time ในกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง

ผศ.ดร.ทิพาพร อยู่วิทยา ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ทำการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับตรวจจับการเคลื่อนที่ของชิ้นของแข็งโดยอาศัยเทคโนโลยี electronicindentification โดยการฝัง transponder ลงในชิ้นของแข็ง และใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อกระตุ้น transponder ให้ส่งสัญญาณรหัสประจำตัวกลับ พร้อมทั้งบันทึกเวลาขณะของชิ้นของแข็งเคลื่อนที่ในท่อ จะสามารถบันทึกค่า residenceTime ของชิ้นของแข็งขณะเคลื่อนที่ในระบบปิดครั้งละหลายชิ้นในเวลาเดียวกันทำให้ได้ข้อมูลจำนวนมาก transponderที่ใช้มีขนาดเล็ก (2.2x1.1 มม.) และเบา (0.2 กรัม) เพียงพอที่จะไม่ทำให้น้ำหนักของชิ้นของแข็งเปลี่ยนแปลงไปมากนักนอกจากนี้ยังมีอายุการใช้งานที่ไม่จำกัด โดยที่ transponder สามารถทนอุณหภูมิได้ถึง 140 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลา 9 ชั่วโมง ช่วยปรับปรุงการควบคุมกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการหมัก เพิ่มความถูกต้องและเหมาะสมในการกำหนดระยะเวลาในการฆ่าเชื้อในอุตสาหกรรมการผลิตทางชีวภาพแบบต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นของแข็งผสมของเหลว นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดความสิ้นเปลืองพลังงานที่เกิดจากการกำหนดระยะเวลาในการให้ความร้อนเกินความจำเป็น (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2545 หน้า 24)





ระบบวินิจฉัยการแพทย์โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์แบบมัลิมีเดีย

ผศ.น.พ.ราเมศร์ วัชรสินธุ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พัฒนาต้นแบบโปรแกรมเก็บและวินิจฉัยภาพทางการแพทย์ โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์เพื่อทดแทนการเก็บภาพบนแผ่นฟิล์ม และสามารถเรียกเอกสารมาดูเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ทันที ผลงานวิจัยนี้สามารถเก็บข้อมูลภาพจากเครื่องตรวจเป็นสัญญาณดิจิตัลแทนการเก็บภาพบนฟิลม์ เป็นการทำฐานข้อมูลการเก็บภาพ เพื่อสะดวกในการค้นหาและมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยประกอบและสามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลโปรแกรมวิเคราะห์ภาพที่ใช้แพร่หลายในทางการแพทย์ และมีระบบฐานความรู้ประกอบวินิจฉัย มีระบบผลงานทั้งชนิดพิมพ์ข้อความและบันทึกเสียง สามารถส่งให้แพทย์ได้รวดเร็ว (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2545 หน้า 24)





ม.นเรศวรยืนยันผลงานวิจัย ชี้ครูสอนตัวต่อตัวได้ผลดีสุด

ผศ.ดร. สำราญ มีแจ้ง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง “ วิธีการเรียน วิธีการสอนและรูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเด็กไทยในวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศีกษา” ปรากฏว่าวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น ถึงแม้จะช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าวิธีการเรียนรู้ตามรูปแบบอื่นๆ แต่ในการจะสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ให้ได้ผลดีที่สุดนั้น จากการวิจัยกลับพบว่าต้องเป็นการเรียนรู้ด้วยการระดมสมอง ส่วนวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองประกอบการบรรยายของครูอาจารย์ผู้สอนนั้น จากการวิจัยพบว่ามีข้อดีที่สำคัญคือ จะช่วยให้นักเรียนจดจำความ-รู้ที่ได้รับมาได้คงทนยาวนานกว่าการเรียนรู้ด้วยการระดมสมอง หรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผศ.ดร.สำราญ กล่าวต่อไปว่าสำหรับการสังเคราะห์เกี่ยวกับวิธีการสอนได้พบว่าการที่อาจารย์สอนแบบรายบุคคล หรือตัวต่อตัวระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้นจะเป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุด (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 16 เมษายน 2545 หน้า 11)





แพทย์น้ำหอมเจ๋งรักษาเด็กดักแด้ใช้สเต็มเซลล์ปลูกถ่ายยีนชดเชย

แพทย์ฝรั่งเศสเจ๋งประสบความสำเร็จรักษาโรคมรณะในเด็ก เผยใช้เทคนิคสเต็มเซลล์ปลูกถ่ายยีนผลิตโปรตีนที่ร่างกายขาด และร่างกายสกัดจากโรคร้ายเป็นปกติภายหลังการทดลอง โดยคณะแพทย์ฝรั่งเศสประจำแผนกพันธุกรรมภูมิคุ้มกันของสถาบันวิจัยพันธุกรรมมนุษย์ที่เมื่องเทรนตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สามารถรักษาโรคดังกล่าวต่อผู้ป่วยเด็ก 5 รายวัยขวบครึ่งซึ่งป่วยเป็นโรค “บับเบิล บอย” หรือโรคขาดภูมิคุ้มกันสำคัญทางร่างกาย ซึ่งเด็กกลับมามีสุขภาพแข็งแรงและเจริญวัยได้เหมือนคนปกติในสภาพแวดล้อมเหมือนบุคคลทั่วไป (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2545 หน้า 15)





แฉพิษเลือดสมองตีบ

ผลการศึกษาของสถาบันโรคระบบประสาทของฝรั่งเศสซึ่งกระทำมากว่า 14 ปีชี้ว่า อากาศมีส่วนทำให้เส้นโลหิตในสมองตีบกำเริบได้ โดยพบว่าผู้ป่วยหลายพันคนมีอาการโรคเส้นเลือดในสมองตีบเป็นครั้งแรกจะมีอาการกำเริบในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เมื่อถึงคราวที่อากาศเปลี่ยนแปลงโดยอุณหภูมิ ความชื้น และลม มีส่วนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบกำเริบขึ้น โดยในช่วงฤดูหนาวอากาศจะเย็นลง ทั้งนี้ทีมวิจัยศึกษาด้วยการทดลองในสภาพอากาศที่แตกต่างกัน 150 ประเภท ทั้งในอากาศกลางแจ้ง ช่วงที่มีความกดอากาศต่ำ ไอน้ำในอากาศ ลมและความ-ชื้น เพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อน และไปขวางทางดินเส้นเลือดแดง อนึ่ง จะมีชาวสหรัฐเสียชีวิต 160,000 คนในแต่ละปีจากโรคสมองตีบโดยประเมินว่าชาวอเมริกัน750,000 คนจะมีอาการเป็นโรคนี้ครั้งแรกหรือมีอาการกำเริบในทุกปี (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2545 หน้า 15)







KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215