หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 18 ประจำวันที่ 2002-05-25

ข่าวการศึกษา

จุฬาฯ เห็นพ้องมติสภามหาวิทยาลัย
ทบวงฯดึงนักวิชาการทั้งใน-นอก ตั้งทีมศึกษาโครงการรัฐหวังลดงบ
คณบดี มช.แนะ “ออกนอกระบบ”คำนึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
“รังสรรค์” แจงออกนอกระบบ-หวั่นเป็น ร.ร ในศธ.
มธ. เปิดศูนย์ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนา “เอสเอ็มอี” สู่ธุรกิจยั่งยืน
ครูเฮ “กลั่นกรอง” ให้ใบวิชาชีพอัตโนมัติ ขีดเงื่อนไขไม่จบ ป.ตรี 5 ปีต้องพัฒนา
แข่งฟิสิกส์เอเชียไทยเหรียญเงิน
เพาะต้นกล้านักวิทย์รุ่นเยาว์
ห้องเรียนสื่อผสมราชภัฏพระนครดิจิทัล
“สุวิทย์” เตือนเลิกเห่อไปเรียนภาษาเมืองนอกได้แล้ว
“สุวิทย์” ย้ำผู้ปกครองโดนเรียกใต้โต๊ะยังโวยได้
ทบวงฯพร้อมหนุนงบฯสอนสหกิจศึกษา
จุฬาฯประกาศกร้าวไม่ร่วมรับผิดชอบกรณีเกิดปัญหาจากรับน้องนอกสถานที่
มร.เปิดหลักสูตรใหม่ดูแลสุขภาพตา
มศว จับมือออกซ์ฟอร์ดบรู๊คสอนท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์
จุฬาฯปลื้มเอนทรานซ์ปีนี้32รหัสวิชาเป็นที่1ของประเทศ
เสียงเล็กๆของเด็กเพื่อ…เด็ก!! 8ปัญหาเร่งด่วน!!ที่ต้องแก้ไข…
กศน.ดึงครูกวดวิชาติวเอ็นท์ผ่านทางไกล
ม.ศิลปากร-พระนครเหนือมั่นใจออกนอกระบบ
วอนมหา’ลัยกล้าเปลี่ยนแปลง

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ชิงกันเจาะลึกดาวอังคาร ได้ฤกษ์ส่งยานสว่านปีหน้า
เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เผยโฉมเครื่องบินอวกาศของนาซ่า
เทคโนโลยีใหม่จีพีเอสควบคุมลูกรัก
แนะวิธีใหม่ล้างไตผ่านช่องท้อง
จุดแข็งของประเทศไทย..ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
ผู้คิดค้นเครื่องช่วยกลืน

ข่าววิจัย/พัฒนา

เปลี่ยนไตแบบทันใจ
รูปพรรณประจำเชื้อพันธุ์ข้าวเหนียวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การศึกษาระดับตะกั่วในเลือดของเด็กกรุงเทพฯ
แท่งหัวเชื้อเห็ด
เครื่องมือค้นหามะเร็งผิวหนัง
ถ่ายยีนผู้ป่วยใส่หนูวิจัยโรคธาลัสซีเมีย
พบสรรพคุณ “ยอไทย” ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
เครื่องกรองน้ำทะเลเทคโนโลยีไทยแก้ปัญหาภัยแล้ง…เพิ่มปริมาณน้ำบริโภค
วท.เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ฉลอง 39 ปีบนเส้นทางวิจัย เครื่องหว่านอาหารกุ้งอัตโนมัติ
สกว.หนุน2นักศึกษาปริญญาเอกดูพันธุกรรมข้าว เพิ่มเสน่ห์หอมมะลิไทย

ข่าวทั่วไป

เตรียมเก็บภาษีน้ำมันลิตรละ5สต. รอเสนอสภากทม.เห็นชอบก.ค.นี้
รางวัลแห่งภูมิปัญญาของชาวอาเซียน
พบคนไทยกินผักน้อยแพทย์แผนไทยชี้มีโอกาสเจ็บป่วย
เว็บพลังงานนิวเคลียร์ของนักเรียนทุน
ขอ313ล้านวางระบบไอทีสุขภาพ
โรคต้อหิน-เครื่องตรวจแบบใหม่สามารถตรวจให้รู้ได้ก่อนมีอาการ
เรียนรู้การทำทองโบราณ
“ฟลอริเอด”…งานแสดงพืชสวนใหญ่ที่สุดในโลก
มหาเถรร่วมมือกรมศิลป์รวบรวมเอกสารโบราณ





ข่าวการศึกษา


จุฬาฯ เห็นพ้องมติสภามหาวิทยาลัย

อาจารย์จุฬาฯเห็นพ้องมติสภามหาวิทยาลัย ที่กำหนดสถานภาพเป็นข้าราชการจุฬาฯ และบริหารภายในที่เป็นอิสระโดยมี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง แนะมหาวิทยาลัยจะต้องมีความชัดเจนถึงเป้าหมายในการออกนอกระบบที่ต้องมุ่งคุณภาพประสิทธิภาพการทำงาน จากมติที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นชอบถึงสถานภาพของจุฬาฯในแนวทางที่คณะที่กรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ……..เสนอให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอิสระบริหารงานภายในตนเอง โดยผู้ทำงานในมหาวิทยาลัยมีสถานภาพเป็นข้าราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





ทบวงฯดึงนักวิชาการทั้งใน-นอก ตั้งทีมศึกษาโครงการรัฐหวังลดงบ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงได้จัดประชุมเพื่อระดมคลังสมองของชาติ สร้างเครือข่ายพันธมิตรช่วยเหลืองานของรัฐบาล ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยโครงการแรกได้มอบหมายให้ศึกษาความเป็นไปได้การสร้างถนนเลียบชายทะเลตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการสร้างถนนสายใหม่สู่ภาคใต้ เริ่มจากแหลมผักเบี้ย ถนนปากท่อไปจนถึงอำเภอชะอำ จากเดิมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการจัดการจราจรทางบกเป็นผู้ดำเนินการ ทว่าต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชนโดยใช้งบถึง 55 ล้านบาท “การให้มหาวิทยาลัยเข้ามาทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ก็เพื่อทดแทนการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติก็รับงานแล้วกลับมาจ้างคนไทยสำรวจข้อมูล และหากเราทำกันเองได้น่าจะเป็นการดีกว่าโดยคาดว่าจะช่วยประหยัดทั้งงบประมาณ และได้งานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ตลอดจนอาให้นักศึกษาได้ร่วมปฏิบัติงานจริงในการสำรวจข้อมูลพื้นฐานโครงการอีกด้วย” นายสุวัจน์กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





คณบดี มช.แนะ “ออกนอกระบบ”คำนึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจ้งว่า จากการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเสนอข้อสังเกตถึงการศึกษานอกระบบว่า ในการเปิดรับนักศึกษาตามจำนวนที่ได้กำหนดในแต่ละปีนั้น ควรคำนึงถึงสัดส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ด้วยว่าจะสามารถรองรับนักศึกษาได้เพียงพอหรือไม่ เพราะเกรงว่าหากนักศึกษาไม่สามารถเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามแผนที่กำหนด ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องการขาดแคลนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษารุ่นต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล การเปิดหลักสูตรควรมีการศึกษาในภาพรวมว่า แต่ละหลักสูตรจะต้องใช้งบประมาณโดยรวมเท่าไหร่และเพื่อให้หลักสูตรสามารถดำเนินการเปิดสอนและพัฒนาได้ต่อไป รัฐบาลควรให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ และผู้เรียนควรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเท่าไรเพื่อให้หลักสูตรสามารถเลี้ยงตัวเองได้(กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2545 หน้า 8)





“รังสรรค์” แจงออกนอกระบบ-หวั่นเป็น ร.ร ในศธ.

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ให้สัมภาษณ์กรณีมีกลุ่มนักศึกษา มร.เคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายรัฐบาลในการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลว่า ไม่ใช่กลุ่มนศ.ในองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เป็นกลุ่มสภานักศึกษา มร. ทั้งนี้อยากให้นักศึกษาพิจารณาเองว่าการพัฒนาระบบในรูปแบบนี้เป็นการเปลี่ยนหลักการหรือไม่ เช่น มร.ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบหรือไม่ ถ้าหลักการนี้เปลี่ยนตนก็คงไม่ยอมด้วยเช่นกัน อยากให้พิจารณาว่าการเปลี่ยนสถานภาพดังกล่าวจะทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาดีขึ้น เพราะจะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก (มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2545 หน้า 20)





มธ. เปิดศูนย์ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนา “เอสเอ็มอี” สู่ธุรกิจยั่งยืน

ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Enviroment Management System Center : EMSC) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า EMSC ก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ตระหนักถึงการบริหารสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมบทบาทขององค์การในการบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ กิจกรรมแบ่งเป็นโครงการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนรับเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจสิ่งแวดล้อม ISO 14001 การบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน เป็นต้น รวมถึงการรวบรวมข้อมูล และกรณีศึกษาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางจัดธุรกิจแบบยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลทั้งไทยและต่างประเทศ โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเก็บข้อมูลท่าเรือแหลมฉบัง และจัดส่งทีมงานไปประเทศลาวเพื่อศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟ ข้าว ไม้ และเสื้อผ้า อย่างไรก็ดี การบริหารสิ่งแวดล้อมเป็นวิชาที่มีมหาวิทยาลัยต่างๆสนใจจัดการเรียนการสอนหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะจัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ศูนย์ฯ มองว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบและให้การสนับสนุน โดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมประกอบกับใน มธ. เองก็มีหลายคณะที่จัดการสอนด้านการบริหารสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักสูตรแบ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการบริหาร นโยบายการแข่งขัน การเงิน ระบบการบริหารเพื่อสิ่งแวดล้อม และการบริหารแบบยั่งยืน จากนั้นให้นักศึกษาทำวิจัยกรณีศึกษาที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ SME ให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดสอนได้ในภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2545 นี้ (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 8)





ครูเฮ “กลั่นกรอง” ให้ใบวิชาชีพอัตโนมัติ ขีดเงื่อนไขไม่จบ ป.ตรี 5 ปีต้องพัฒนา

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสภาครู โดยมีมติให้คุรุสภาทำหน้าที่สภาครูโดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู ดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆของครู และให้การแปรสภาพองค์การค้าของคุรุสภาเป็นบริษัท อยู่ภายใต้สำนักงานดังกล่าว สำหรับคณะกรรมการคุรุสภาให้เป็นไปตามที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เสนอ จำนวน 27 คน โดยให้เพิ่มเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษาเข้าร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย สำหรับเรื่องใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง สปศ. เสนอให้มี 3 ใบคือ 1.ใบวิชาชีพ 2. ใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา 3. ใบประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น ในที่ประชุมมีมติให้ครูทุกคนต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูเป็นพื้นฐานก่อน ส่วนใบวิชาชีพอื่นอีก 2 ใบนั้น ให้คุรุสภาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และกำหนกหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตต่อไป แต่ผู้ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพดังกล่าว ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบแรก ผู้สื่อข่าวถามว่า ครูเก่าทุกคนจะได้รับใบประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติหรือไม่ นายปองพลกล่าวว่า ผู้ที่เป็นครูอยู่ในปัจจุบันแต่ไม่จบปริญญาตรีให้สามารถทำการสอนต่อไปได้ แต่ต้องเข้ารับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนดภายในระยะเวลา 5 ปี หากพัฒนาถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ คุรุสภามีอำนาจที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 15)





แข่งฟิสิกส์เอเชียไทยเหรียญเงิน

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช. ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าจากการที่ประเทศไทยส่งเยาวชนไทยจำนวน 8 คนเข้าร่วมแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ครั้งที่ 3 ณ ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 6-13 พ.ค. ที่ผ่านมาผลปรากฏว่าเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้เหรียญรางวัล 2 รางวัล ได้แก่ นายธเนศ พฤทธิวนสิน ชั้น ม.5 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้รับเหรียญเงิน ซึ่งถือเป็นเหรียญเงินเหรียญแรกในระดับนานาชาติและยังได้รางวัลพิเศษ Best Creative Solutions (สยามรัฐ พุธที่ 15 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





เพาะต้นกล้านักวิทย์รุ่นเยาว์

โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไปจัดค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนทุน พสวท. ชั้น ม.ปลายเป็นเวลา 7 วันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร.ธีรยุทธิ์ วิไลวัลย์ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2542 “ค่ายนี้ต้องการให้นักเรียนในโครงการ พสวท. ได้ประสบการณ์จริงนอกเหนือจากที่เขาได้รับในห้องเรียนปีนี้ไม่เน้นวิชาการมากนัก แต่จะเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมฝึกความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมควบคู่ไปกับความรู้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





ห้องเรียนสื่อผสมราชภัฏพระนครดิจิทัล

นางวิญญา พัฒนพงษ์ รองอธิการบดีสถาบันราชภัฏพระนครกล่าวถึง สถาบันได้ทำศูนย์พัฒนาและบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT DS) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ พี ซี พร้อมใช้งาน 300 เครื่องด้วยงบลงทุน 40 ล้านบาทเพื่อใช้กับการเรียนแบบ nics หรือ new integreted classroom system โดยกำหนดไว้ว่าจะเรียนด้วยมัลติมีเดีย 8 ครั้งและเข้าห้องเรียนพบอาจารย์ 7 ครั้งต่อ 1 วิชา นอกจากนี้ยังใช้กับระบบการสอบออนไลน์ได้ทดลองทำแล้วได้ผลดี (เดลินิวส์ อังคารที่ 14 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





“สุวิทย์” เตือนเลิกเห่อไปเรียนภาษาเมืองนอกได้แล้ว

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว. กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ในประเทศไทยมีโรงเรียนที่เปิดหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษ (English Programme) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 และมีโรงเรียนสอนภาษาดีๆ หลายแห่งซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนและไม่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องส่งลูกหลานไปเรียนภาษาเมืองนอก ถ้าหากต้องการไปเมืองนอกก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





“สุวิทย์” ย้ำผู้ปกครองโดนเรียกใต้โต๊ะยังโวยได้

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว. ศึกษาธิการกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วว่าการที่ ร.ร. ต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองจะต้องไม่ใช่ได้มาเพื่อการแลกเปลี่ยนที่นั่งเรียน และทาง ร.ร. จะต้องไม่มีการเรียกร้องเงินจากผู้ปกครองโดยเด็ดขาดถ้าผู้ปกครองถูกบังคับให้บริจาคเงินสามารถร้องเรียนได้ที่กระทรวงศึกษาธิการ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า 11)





ทบวงฯพร้อมหนุนงบฯสอนสหกิจศึกษา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณจำนวน 100 ล้านบาทเพื่อจะนำมาดำเนินการโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำหลักสูตรสหกิจศึกษาซึ่งเป็นหลักสูตรที่สนับสนุนให้นิสิตนักศึกษามีความพร้อมในการทำงานโดยการเรียนรู้วิชาการในห้องเรียนควบคู่ไปกับการออกไปฝึกงานเพื่อหาประสบการณ์นอกสถานที่ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมก็กำลังต้องการบุคลากรประเภทนี้อยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทบวงฯ ยังส่งเสริมให้สถาบันต่างๆ จัดหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการในทุกคณะและสาขาวิชา เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถออกไปเป็นผู้ประกอบการเองได้เมื่อจบการศึกษา (เดลินิวส์ อังคารที่ 14 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





จุฬาฯประกาศกร้าวไม่ร่วมรับผิดชอบกรณีเกิดปัญหาจากรับน้องนอกสถานที่

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว. ทบวงมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับการรับน้องนอกสถานที่ เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยตนได้มอบหมายให้ ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือให้มีการดูแลเรื่องการรับน้องอย่างใกล้ชิด ด้าน รศ. ดร. ธวัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ประกาศไม่ให้มีการรับน้องนอกสถานที่ ส่วนกรณีที่นิสิตบางกลุ่มจะแอบไปรับน้องนอกสถานที่นั้นก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มหาวิทยาลัยคงจะเข้าไปควบคุมไม่ได้ แต่หากเกิดปัญหาอะไรมหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบโดยเด็ดขาด (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





มร.เปิดหลักสูตรใหม่ดูแลสุขภาพตา

รศ. มานพ พราหมณโชติ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน ในฐานะรักษาการผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.รามคำแหง (มร.) เปิดเผยถึงการเปิดสอนหลักสูตรทัศนศาสตรบัณฑิต ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยว่า การเปิดหลักสูตรดังกล่าวเพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่สนใจศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยเฉพาะสาขาวิชาทัศนศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาการที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญในการดูและสุขภาพสายตาให้สามารถตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยความผิดปกติของระบบการมองเห็น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มขยายตัวและรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มคนไทยในขณะที่ระบบสาธารณสุขไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชาชีพที่จะมาทำงานร่วมกับจักษุแพทย์ อีกทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งด้านพลเรือนและการทหารก็ยังขาดแคลนบุคลากรด้านทัศนศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก ทางมร.จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นโดยใช้มาตรฐานการเรียนการสอนและมาตรฐานวิชาชีพของ ม.อินเดียนาสหรัฐอเมริกา ผู้สนใจซื้อใบสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 3 มิ.ย. ที่กองคลัง มร. หัวหมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มร. โทร. 0-2310-8112, 0-2310-8114 ในเวลาราชการ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





มศว จับมือออกซ์ฟอร์ดบรู๊คสอนท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์

รศ.ดร.พะยอม ธรรมบุตร ผอ.สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ม. ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มศว ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บรู๊ค แห่ง สหราชอาณาจักร (Oxford Brookes University U.K.)เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรบัณฑิตการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการจัดการภาคบริการ ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีเต็มรูปแบบแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่ มศว ประสานมิตร ตั้งแต่ภาคแรก ปีการศึกษา 2545 เพื่อรองรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในระดับนานาชาติโดยเฉพาะ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีนยูนาน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยโดยในเดือนตุลาคมนี้จะขยายเปิดสอนถึงหลักสูตรระดับปริญญาโท และในปีการศึกษา 2547 จะเปิดสอนในระดับปริญญาเอกต่อไป ผู้ที่สนใจซื้อใบสมัครและสมัครได้ที่ ตึก 9 มศว ประสานมิตร สุขุมวิท 23 กท.ภายในวันที่ 16 พ.ค.นี้. (เดลินิวส์ อังคารที่ 14 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





จุฬาฯปลื้มเอนทรานซ์ปีนี้32รหัสวิชาเป็นที่1ของประเทศ

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ประกาศผลเอนทรานซ์ ประจำปี 45 ไปแล้วนั้น ปรากฏว่าในปีนี้เด็กที่ทำคะแนนสูงสุดเกือบทุกรหัสวิชายังอยู่ที่จุฬาฯ เหมือนเดิม จากการเปรียบเทียบคะแนนกับปีก่อน จากที่จุฬาฯ เปิดสอบ 84 รหัสวิชาพบว่าปีนี้มีถึง 32 รหัสวิชา ที่คะแนนสูงขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าถ้าข้อสอบมีมาตรฐานเท่ากันทุกปีก็จะเป็นธรรมชาติที่คะแนนสอบย่อมมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเด็กสามารถทำคะแนนสะสมและนำคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า11)





เสียงเล็กๆของเด็กเพื่อ…เด็ก!! 8ปัญหาเร่งด่วน!!ที่ต้องแก้ไข…

4 ตัวแทนเด็กไทยที่ได้รับคัดเลือกจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย, สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วม “การประชุมสหประชาชาติ วาระพิเศษว่าด้วยเรื่องเด็ก” ที่รวมเอาตัวแทนเด็กกว่า 300 คน จากทั่วทุกมุมโลกมาแจกแจงถึงปัญหาที่พบในประเทศของตน ให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อที่จะหาทางแก้ไขได้ถูกจุด ก่อนที่จะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องเด็ก หลังได้ข้อสรุปจากการร่วมประชุมสหประ ชาชาติฯ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วน้องๆ ทั้ง 4 จะเป็นตัวตั้งตัวตีนำผลการประชุมมาเผยแพร่ให้เด็กๆ ในทั่วทุกภูมิภาคของตนได้รับรู้เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตน (เดลินิวส์ อังคารที่ 7 พฤษภาคม 2545 หน้า16)





กศน.ดึงครูกวดวิชาติวเอ็นท์ผ่านทางไกล

นายวิมล จำนงบุตร ผอ. สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานีฯ ได้จัดโครงการกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETVโดยเชิญอาจารย์กิติวุฒิ เจริญศิริวัฒน์ จากสถาบันกวดวิชาดาวองส์มาเป็นวิทยากรบรรยายในวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา (สยามรัฐ เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





ม.ศิลปากร-พระนครเหนือมั่นใจออกนอกระบบ

นายพุฒิ วีระประเสริฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมการออกนอกระบบว่า ขณะนี้ มศก. ได้จัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับการออกนอกระบบไว้เรียบร้อยแล้วและจะนำเสนอสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ จากนั้นจะนำส่งให้ทบวงมหาวิทยาลัยต่อไป ทั้งนี้การทำร่างที่ผ่านมาทางทบวงได้เชิญทุกฝ่ายมาเข้าร่วมจนเกิดความเข้าใจชัดเจนในทุกเรื่อง ดังนั้นร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจึงไม่น่าจะมีปัญหาหรือเกิดการคัดค้านจากบุคลากร ส่วนสาระของร่าง พ.ร.บ. นั้นได้กำหนดในบทเฉพาะกาลถึงระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนสถานภาพของบุคคลากรที่จะต้องเป็นพนักงานภายใน 7 ปีแต่ผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนสถานภาพทันทีที่ร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ซึ่งทุกฝ่ายก็ให้การยอมรับ ส่วนค่าตอบแทนก็คงเป็นไปตามหลักเกณฑ์พื้นฐานที่รัฐบาลจัดสรรให้คือเพิ่ม 1.6 เท่า ด้าน นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่า สจพ. ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. เสร็จเรียบร้อยและนำเสนอทบวงฯ ไปแล้ว ซึ่งในบทเฉพาะกาลไม่ได้บังคับว่าบุคลากรจะต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพเมื่อใด แต่ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ (เดลินิวส์ อังคารที่ 7 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





วอนมหา’ลัยกล้าเปลี่ยนแปลง

จากกรณีที่สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ถวายฎีกาผ่านสำนักพระราชวังเพื่อคัดค้านการที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบนั้น ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทบวงฯ ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้เพราะเป็นเรื่องของสำนักพระราชวัง และสำนักพระราชวังอาจจะสอบถามข้อมูลหรือความคิดเห็นของประชากรส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องก็ได้ และจากการที่ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เคยนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับนายเสนาะ เทียนทอง ที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยนั้น นายสุธรรม แสงประทุม อดีต รมว. ทบวงฯ ก็เคยนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งเช่นกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งต่างก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะออกนอกระบบ และขณะนี้ก็มีร่าง พ.ร.บ. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ที่กำลังจะเสนอเข้ามาที่ทบวงมหาวิทยาลัย รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยจะต้องตั้งหน้าตั้งตาปรับเปลี่ยนสภาพเพราะหากอยู่อย่างเดิมคงไม่ไหว และมหาวิทยาลัยไทยจะล้าหลังจนก้าวตามใครไม่ทัน และทุกมหาวิทยาลัยก็ผ่านการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นมาแล้ว และหากมีอะไรก็ควรเสนอขอแก้ไขปรับปรุงได้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2545 หน้า 11)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ชิงกันเจาะลึกดาวอังคาร ได้ฤกษ์ส่งยานสว่านปีหน้า

นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ กล่าวชี้ว่า การพบน้ำในดาวอังคารทำให้เกิดความหวังกันว่า อาจจะมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก พวกเขาปลาบปลื้มว่าอาจจะได้พิชิตการค้นพบชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ก่อนใครเพื่อน เพราะอังกฤษมีกำหนดจะส่งยานสำสวจธรณีวิทยาที่มีชื่อว่า “บีเกิล 2” เดินทางไปยังดาวอังคาร อยู่ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ยานจะไปถึงและร่อนลงบนพื้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกันยานบีเกิลถูกสร้างให้สามารถขุดเจาะพื้นอันเป็นหินของดาวดวงอื่น มันจะขุดลึกลงไปถึงระดับที่เชื่อว่าจะมีน้ำ-แข็งฝังอยู่ใต้พื้นดินพื้นหิน การค้นพบน้ำแข็งใต้ผิวพื้น นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่แต่เพียงทำให้ได้รู้เบาะแสของสิ่งมีชีวิตที่อาจเคยมี หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วเท่านั้นหากยังเป็นประโยชน์กับการเดินทางไปสำรวจของมนุษย์ หรือแม้แต่การไปตั้งถิ่นฐานอยู่อีกด้วย เนื่องจากมนุษย์อวกาศที่เดินทางไปย่อมไม่อาจขนน้ำเอาไปให้พอเพื่อใช้และบริโภคเมื่อต้องไปค้างอ้างแรมบนนั้นเป็นเวลานานๆได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 8)





เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

สถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าคือ กำลังเกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีนี้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบปฏิวัติใหม่นี้ ลดขนาดลงอย่างมากมาย และเป็นเทคโนโลยีสะอาด สร้างมลพิษน้อยที่สุด อย่างเช่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดติดตั้งตามบ้าน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้จากอากาศหรือน้ำ โรงงานผลิตในแคนาดาได้ผลิตออกจำหน่ายแล้ว เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบใหม่ขนาดเล็กนี้เรียกว่า ไมโครพาวเวอร์ มันจะปฏิวัติระบบการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า ทำนองเดียวกับที่โทรศัพท์มือถือปฏิวัติวงการเทเลคอมมาแล้วภายในห้าปีนี้ตลาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไมโครพาวเวอร์จะเติบโตขึ้นแน่ และจะได้รับการต้อนรับอย่างดีมากด้วย เพราะมันจะไม่ถูกต่อต้านจากประชาชนที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อม (สยามรัฐ อังคารที่ 14 พฤษภาคม 2545 หน้า 2)





เผยโฉมเครื่องบินอวกาศของนาซ่า

องค์การนาซ่าจะนำเครื่องบินอวกาศลำแรกขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่แทนยานอวกาศเดิมซึ่งหมดอายุการใช้งาน โดยการส่งชิ้นส่วนยานอวกาศขึ้นไปประกอบกันเองในอวกาศ ซึ่งการติดตั้งด้วยวิธีนี้จะมีผลดีเพราะเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งชำรุดก็สามารถส่งลงมาซ่อมยังโลกได้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปกับเชื้อเพลิงว่าจะใช้น้ำมันก๊าซหรือไฮโดเจนหรือจะใช้ทั้งสองอย่าง (เดลินิวส์ พุธที่ 8 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





เทคโนโลยีใหม่จีพีเอสควบคุมลูกรัก

บริษัทเวริฟายในสหรัฐอเมริกา เตรียมขายกำไลข้อมือติดระบบจีพีเอส ให้พ่อแม่คอยติดตามพฤติกรรมลูกผ่านระบบดาวเทียม แม้จะอยู่ไกลสายตา โดยพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีหาตำแหน่งดาวเทียม และกำลังพัฒนาอุปกรณ์ประเภทเดียวกันสำหรับตามหาตัวผู้ใหญ่อีกด้วย (เดลินิวส พฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





แนะวิธีใหม่ล้างไตผ่านช่องท้อง

น.ส.สมรัก รอดพ่าย ประธานชมรมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึง วิธีการดูแลและวิธีการทดแทนการทำงานไตอยู่ 3 ทางเลือก คือ การฟอกเลือดการล้างไตทางช่องท้องชนิดถาวร และการปลูกถ่ายไตวิธีการล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีใหม่โดยจะใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปผ่านทางสายยางเข้าทางช่องท้อง โดยแพทย์จะเป็นผู้เจาะช่องท้องให้เพื่อนำสายยางเข้าไป ซึ่งน้ำยาล้างไตจะทำปฏิกิริยากับของเสียผ่านผนังเยื่อบุช่อง และดูดซึมของเสียกลับออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกแต่ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากต้องคอยดูแลเอง (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2545 หน้า 6)





จุดแข็งของประเทศไทย..ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ใน (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ. 2545-2549 หรือแผนแม่บทไอซีทีนั้น ก่อนที่จะสรุปพันธกิจและกำหนด 8 ยุทธศาสตร์หลักได้มีการศึกษาวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนจุดแข็งข้อจำกัดและโอกาส ของประเทศหรือที่เรียกว่าการทำ Swot analysis ประเทศไทยมีจุดแข็งที่น่าสนใจ เราเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับที่ 14ของโลก (1.73% ของตลาดโลก) และส่งออกอุปกรณ์สำนักงานและวัสดุสำนักงานเป็นอันดับที่ 15 ของโลก(2.6%ของตลาดโลก) มีอัตราการขยายตัวของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เร็วเป็นอันดับที่ 15 ของโลก มีอัตราการขยายตัวของการจ้างงานในช่วงปี 2542-2543 ดีเป็นอันดับ 3 ของโลก มีความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงและเพศชายดีเป็นอันดับที่ 13 ของโลก มีโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงดีเยี่ยมเป็นอันดับที่ 14 ของโลก มีการสูญเสียกำลังสมองด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมต่ำเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดตั้งบริษัทดีเป็นอันดับที่ 19 ของโลก (เฉลี่ย 30 วัน) (เดลินิวส์ อังคารที่ 7 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





ผู้คิดค้นเครื่องช่วยกลืน

American Biographical Institue (ABI) สหรัฐอเมริกา ได้คัดเลือกให้รศ.นพ.วิทูร ลีลามานิตย์ จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ เป็น 1 ใน 500 นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21 ให้ได้รับรางวัล SCIENTIFIC ACIEVEMENT AWARD ในฐานะผู้คิดค้นสร้าง “เครื่องช่วยกลืน”อันสร้างคุณประโยชน์แก่วงการวิชาแพทย์ระดับโลก รศ.นพ.วิทูร ลีลามานิตย์ สำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวุฒิบัติการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชานาสิก ลาริงค์วิทยาคณะแพทย์ศาสตร์ ม.สงขลานคริทร์ และเป็น ผอ.สถาบันวิศวกรรมการแพทย์เครือข่าย NECTEC (สยามรัฐ พุธที่ 15 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เปลี่ยนไตแบบทันใจ

นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย John Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกาได้คิดค้นและพัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อแก้ปัญหาการเข้ากันไม่ได้ของเลือดโดยใช้กระบวนการคัดกรองเลือดแบบใหม่ที่เรียกว่า plasmapheresisและด้วยวิธีนี้เองทำให้สามารถขจัดส่วนที่เรียกว่า Antibody หรือส่วนที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายออกจากเลือดได้คาดว่าวิธีการนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคไตอยู่จำนวนมากได้ (เดลินิวส์ พุธที่ 8 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





รูปพรรณประจำเชื้อพันธุ์ข้าวเหนียวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปรีชา ประเทพา มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ทำการรวบรวมและศึกษาลักษณะทางการเกษตรและรูปพรรณประจำเชื้อพันธุ์ข้าวเหนียวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์จากชาวนา มาประเมินลักษณะประจำพันธุ์และศึกษาระบบนิเวศการปลูกข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองได้จำนวน 137 พันธุ์ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านี้เป็นเป็นทรัพยากรทางพันธุ์กรรมอันเป็นมรดกของชาติที่มีประโยชน์สำหรับใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ตลอดจนใช้เป็นพืชต้นแบบสำหรับศึกษาในสาขาต่างๆ ทางชีวิทยา (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า 24)





การศึกษาระดับตะกั่วในเลือดของเด็กกรุงเทพฯ

สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ มหาวิทยาลัยมหิดลสนใจที่จะศึกษาและติดตามการเปลียนแปลงของระดับตะกั่วในเลือดในเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นช่วงอายุและอยู่ในเขตที่เสี่ยงต่ออันตรายจากสารตะกั่ว และยังต้องการหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยง จากการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของตะกั่วในเลือดของเด็กกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นตามอายุพบว่าเด็กในกรุงเทพฯ มีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าเด็กที่นครปฐมที่มีอายุเดียวกัน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า 24)





แท่งหัวเชื้อเห็ด

จันที สวัสดิ์นที เกษตรกรผู้ปลูกเห็ด อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เจ้าของความคิด “แท่งหัวเชื้อเห็ดประสิทธิภาพสูง” คิดวิธีเลี้ยงหัวเชื้อในแท่งไม้ซึ่งในแท่งไม้นี้จะใช้ยาฉีดหรือยาทาเข้าไปเพื่อเป็นอาหารให้เห็ดจากนั้นก็ค่อยย้ายมาเพาะลงในถุงพลาสติกอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะย่นระยะเวลาจากเดิม 30 วันเป็น 15 วันก็จะได้ผลผลิต ผลงานนี้ได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อังคารที่ 5 พฤษภาคม 2545 หน้า 27)





เครื่องมือค้นหามะเร็งผิวหนัง

นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียคิดค้นโซลาร์ สแกน หรืออิเมจ กัน โดยหวังว่าจะช่วยลดอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งผิวหนังลงไปได้ เครื่องมือชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายปืนหรือเครื่องเป่าผม วิธีใช้ก็จะนำไปวางบนผิวหนังของคนไข้ เพื่อถ่ายภาพบริเวณที่มีแนวโน้มจะเกิดมะเร็งผิวหนัง จากนั้นก็จะอ่านและเปรียบเทียบภาพกับฐานข้อมูลของมะเร็งผิวหนังเพื่อวินิจฉัยว่าผิวหนังส่วนนั้นจะกลายเป็นมะเร็งเนื้อร้ายหรือไม่ (เดลินิวส์ อังคารที่ 14 พฤษภาคม 2545 หน้า16)





ถ่ายยีนผู้ป่วยใส่หนูวิจัยโรคธาลัสซีเมีย

ศ.น.พ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ประสานงานโครงการวิจัยธาลัสซีเมีย ของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า คณะวิจัยสามารถสร้าง “หนูธาลัสซีเมีย” ขึ้นมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยใช้วิธีการใส่ยีนของโรคธาลัสซีเมียที่ได้จากมนุษย์เข้าไปในตัวหนู ซึ่งจากจุดนี้ต่อไปก็จะสามารถศึกษากระบวนการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมได้อย่างละเอียดรวมถึงการวิจัยระดับยีนโดยใช้หนูเป็นตัวทดสอบแทนมนุษย์ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสามารถใช้วิธีการปรับยีนให้กับผู้ป่วย และทำให้เขาหายขาดจากโรคนี้ได้อย่างถาวร (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า 26)





พบสรรพคุณ “ยอไทย” ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

รศ.พร้อมจิตต์ ศรลัมภ์ รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้มีการตีพิมพ์ผลการทดลองในวารสารวิชาการของสหรัฐอเมริกาและมีงานวิจัยระบุว่า ลูกยอสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานและป้องกันมะเร็งได้ โดยในลูกยอจะมีสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคในร่างกาย และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลาม แต่ไม่ได้รักษามะเร็ง นอกจากนี้มีฤทธิ์แก้ปวด กระตุ้นเอนไซม์ในลำไส้เล็กให้ทำงานดีขึ้น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลโดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำวิจัยเกี่ยวกับต้นยอที่ปลูกในประเทศไทยเบื้องต้นพบว่าลูกยอของไทยสามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะมีการทดลองกับคนไข้ในเรื่อง ของภูมิแพ้และโรคทางเดินหายใจต่อไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2545 หน้า 3)





เครื่องกรองน้ำทะเลเทคโนโลยีไทยแก้ปัญหาภัยแล้ง…เพิ่มปริมาณน้ำบริโภค

แนวทางหนึ่งที่พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดในช่วงฤดูแล้งนี้ ก็คือ “เครื่องกรองน้ำทะเล” ผลงานวิจัยและพัฒนาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ด้วยคุณสมบัติของเครื่องที่ถูกออกแบบขึ้น โดยใช้ระบบการแยกน้ำจืดออกจากน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายเกลือสูง “Reveres Osmosis” หรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่า “ระบบ RO” ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากเป็นระบบที่สามารถแยกขจัดสารละลายและคอลลอยด์ได้ดี กล่าวคือ สามารถลดปริมาณความเค็มและสารละลายต่างๆ ในน้ำลดปริมาณความกระด้างของน้ำทั้งชั่วคราวและถาวรลดปริมาณของฟลูออไรด์ สารอินทรีย์ต่างๆ ในน้ำขจัดโลหะหนัก 100% และขจัดเชื้อโรคจุลินทรีย์ต่างๆ ตลอดจนเชื้อไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องกรองน้ำทะเล วท. สามารถกรองน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 30,000 ppm. ให้เป็นน้ำจืดที่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในเรือประมงและชุมชนแถบชายฝั่งทะเลกล่าวคือ ออกแบบให้กินไฟน้อย สามารถใช้กับไฟฟ้าในเรือได้ ตัวเครื่องมีขนาดกระทัดรัดสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย น้ำหนักเบา (เดลินิวส เสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2545 หน้า 24)





วท.เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ฉลอง 39 ปีบนเส้นทางวิจัย เครื่องหว่านอาหารกุ้งอัตโนมัติ

สัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ กับคณะวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วท.)ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร จึงได้มาช่วยกันคิดค้นวิจัย เครื่องหว่านอาหารกุ้งอัตโนมัติขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการของเกษตรกรให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนการผลิตและลดสภาวะของน้ำเสียในฟาร์มกุ้ง ทั้งยังรักษาระดับการเป็นผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งอันดับหนึ่งของโลก คุณสมบัติของเครื่องหว่านอาหารกุ้งอัตโนมัติตัวนี้ สามารถควบคุมเวลาและอัตราการหว่าน อาหารกุ้งกระจายได้ทั่วถึง ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสีย ผลผลิตที่ได้คุณภาพดีทั้งช่วยผ่อนแรงและประหยัดเวลา (สยามรัฐ เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





สกว.หนุน2นักศึกษาปริญญาเอกดูพันธุกรรมข้าว เพิ่มเสน่ห์หอมมะลิไทย

สามารถ วันชะนะ หนึ่งในนักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ผู้ค้นหา “ยีนควบคุมความหอมของข้าว” และนงนารถ พ่อค้า นักศึกษาร่วมโครงการผู้ศึกษาวิจัยคุณภาพของข้าวเกี่ยวกับ “ปฏิกิริยายีนไลเปส ที่ส่งผลต่อการหืนของน้ำมันรำข้าว” ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของไทย ให้ได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของต่างประเทศโดยมี ผศ.ดร.อภิชาต วรรณวิจิตร เป็นผู้ชี้แนะ ในการค้นหายีนควบคุมความหอมในเมล็ดนั้นเพื่อหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้มีความหอมในเมล็ดข้าวยาวนานขึ้นตอนนี้งานวิจัยมีความก้าวหน้าไปกว่า 80% (สยามรัฐ จันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


เตรียมเก็บภาษีน้ำมันลิตรละ5สต. รอเสนอสภากทม.เห็นชอบก.ค.นี้

นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่า กทม. เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารจะเสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการเก็บภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน และก๊าซปิโตรเลียมในสถานการค้าปลีก เพื่อให้สภา กทม. พิจารณาชุดใหม่ พิจารณาในเดือน ก.ค.นี้ โดยจะให้บรรจุเป็นวาระเร่งด่วน เพราะการเก็บภาษีน้ำมันเป็นสิ่งที่เพิ่มรายได้กับ กทม. ได้กว่าปีละ 200 ล้านบาท และ กทม.สามารถจัดเก็บได้ตามมาตรา 111 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 แต่ที่ผ่านมา กทม. ยังไม่เคยเก็บภาษีเลยในขณะที่ท้องถิ่นอื่นๆ จัดเก็บภาษีน้ำมันไปนานแล้ว (เดลินิวส์ อังคารที่ 30 เมษายน 2545 หน้า 34)





รางวัลแห่งภูมิปัญญาของชาวอาเซียน

องค์การยูเนสโกร่วมกับ สมาคมส่งเสริมผลิตภัณฑ์หัตกรรมแห่งภูมิภาคอาเซียน จัด “โครงการมอบประกาศนียบัตรความเป็นเลิศ” ให้แก่สินค้าหัตถกรรมอาเซียนครั้งที่ 2 โดยปีนี้มีผลงานผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัล 34 ชิ้นซึ่งผลงานทั้งหมดล้วนเป็นภูมิปัญญาของชาวอาเซียนทั้งนั้น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติซึ่งคัดสรรโดยองค์การยูเนสโก และสมาคมอาพาดา จะตัดสินเกณฑ์มาตรฐาน 5 ประการคือ เน้นความเป็นเลิศด้านฝีมือ และคุณภาพ การผสมผสานทักษะผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ โดยมีรูปแบบที่เหมาะสมกับวัสดุที่เลือกใช้และประโยชน์ใช้สอย และยังต้องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและคุณค่าทางประเพณีที่ดีและงดงามรวมทั้งการนำวัสดุมาผลิตและกระบวนการผลิตต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญคือต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดระดับโลก (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2545 หน้า 19)





พบคนไทยกินผักน้อยแพทย์แผนไทยชี้มีโอกาสเจ็บป่วย

นางนิตยา จันทร์เรืองมหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะนำคนไทยหันมาบริโภคผักพื้นบ้านพร้อมยืนยันกินผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ช่วยป้องกันโรคได้ ไม่ควรกินผักซ้ำๆ กันทุกวันควรมีความหลากหลายในแต่ละวัน นางนิตยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีผลการวิจัยของประเทศญี่ปุ่นพบว่าผักในประเทศไทยจำนวนมากมีสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารต้านมะเร็งจึงอยากจะแนะนำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผักให้มาก เพราะจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ (สยามรัฐ พุธที่ 1 พฤษภาคม 2545 หน้า 23)





เว็บพลังงานนิวเคลียร์ของนักเรียนทุน

เรืองลักษณ์ จงโชตินนท์ หรือ วรรณ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนศรีบุณยานนท์ นนทบุรี นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) น้องวรรณ สนใจเรื่องอินเทอร์เน็ตและถนัดด้านคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ จึงได้ลงมือเขียนเว็บเพจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ โดยฝากไว้ที่เว็บไซต์ www.geocities.com / wan_dpst / hom.htm (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





ขอ313ล้านวางระบบไอทีสุขภาพ

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมช. สาธารณสุข เปิดเผยว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นของบประมาณกลางประจำปี 2545 จำนวน 313 ล้านบาท เพื่อเตรียมวางระบบสารสนเทศโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยจะเป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลการรักษาผู้ป่วยทั้งหมดเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งจะต้องมีการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานการรักษาพยาบาลการให้ประชาชนเลือกสถานพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยและการรับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องวางระบบป้องกันฐานข้อมูลเป็นระดับชั้นความลับไว้ด้วย ทั้งนี้ในบัตรอี-ซิติเซ่นนี้จะมีข้อมูลทางด้านสุขภาพของประชาชนรวมไว้อยู่ด้วย อาทิ ข้อมูลโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน ประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น เช่น กรุ๊ปเลือด การแพ้ยา โรคประจำตัว เป็นต้น (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2545 หน้า 6)





โรคต้อหิน-เครื่องตรวจแบบใหม่สามารถตรวจให้รู้ได้ก่อนมีอาการ

นายแพทย์บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหิน (Glaucomatologist) ได้เล่าให้ฟังว่า แผนกตาโรงพยาบาลราชวิถีได้มีเครื่องมือตรวจตาที่ทันสมัย (HRT) สามารถตรวจดูประสาทตาและบริเวณรอบๆ ประสาท (PPA Zone) ได้อย่างดีและอีกเครื่องหนึ่งคือ HRF ดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่นำอาหารไปเลี้ยงบริเวณประสาทตาด้วย โรคต้อหินหากได้ตรวจรู้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการจึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยทั่วไปจะรักษาเริ่มต้นโดยการหยอดยา การผ่าตัดหากได้ผลดีจะมีโรคแทรกซ้อนน้อยมากจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาที่น่าสนใจข้อมูลเพิ่มเติม น.พ.บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง โทร. 0-1313-5040, 0-2644-8820 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า 26)





เรียนรู้การทำทองโบราณ

นายสถาพร เกษกานดา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ผอ.ศพจ.) สุโขทัย เล่าว่า ทางศูนย์ฯได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดอบรมหลักสูตรช่างทองลายโบราณทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการอบรม 320 ชั่วโมงหรือประมาณ 3 เดือน โดยทางศูนย์ฯ และผู้ประกอบการเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าวัสดุอุปกรณ์ในการฝึกอบรมทั้งหมดและที่สำคัญทางศูนย์ ฯ ยังได้จัดเบี้ยเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่ผู้สนใจที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมการทำทองโบราณ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสุโขทัย โทร.0-5668-2586-7. (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2545 หน้า 11)





“ฟลอริเอด”…งานแสดงพืชสวนใหญ่ที่สุดในโลก

ฟลอริเอด (FLORIADE) เป็นงานแสดงไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองวิทฟูเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ใช้ชื่องานว่า “สัมผัสกับศิลปะของธรรมชาติ” (feel the art of nature) ระหว่างวันที่ 6 เม.ย-20 ต.ค.45 มีการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งหลายคนต่างยอมมีการจัดการแสดงของประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรและการท่องเทียวแห่งประเทศไทยได้จัดแสดงบ้านทรงไทยที่สวยงามและแสดงผลไม้ไทยด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2545 หน้า 24)





มหาเถรร่วมมือกรมศิลป์รวบรวมเอกสารโบราณ

นายถวิล สมัครรัฐกิจ ผอ.สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม (สถ.) กรมการศาสนาเปิดเผยว่า หอสมุดแห่งชาติมีโครงการสำรวจเอกสารโบราณ คัมภีร์โบราณ สมุดไทยและจารึก ซึ่งเป็นมรดกสมบัติศิลปวัฒนธรรมทางการศึกษาที่ล้ำค่าของชาติเป็นภูมิปัญญาไทยหาได้ยากที่ยังคงเหลืออยู่ตามวัดต่างๆ และสมควรจะได้รับการอนุรักษ์สงวนรักษาไว้ในที่ปลอดภัย กรมศิลปากรจึงขอให้วัดต่างๆ แจ้งให้หอสมุดแห่งชาติทราบเพื่อจะจัดเก็บ ไว้เป็นสมบัติของชาติ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215