หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 20 ประจำวันที่ 2002-06-11

ข่าวการศึกษา

ข้าราชการพระจอมเกล้าธนบุรีโวยไม่มีสิทธิเลือกอธิการบดีกรรมการสรรหาชี้เข้าใจผิดเพราะสื่อสารไม่ทั่วถึง
‘ดร.วิโรจ’ รับมอบงานอธิการบดีมก.คนใหม่
‘สุวัจน์’ปฏิเสธเลื่อนมหา’ลัยนอกระบบ
มข.เปิดหลักสูตรใหม่มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม
ทบวงฯไม่แตะต้องศาสตราจารย์มร.
ทบวงฯพัฒนาระบบฝึกงานนักศึกษา
มธ.รังสิตเพียงวันแรกก็วุ่นแล้ว
ไทยจับมืออาเซียนหนุนมหา’ลัยสมอง
สภาฯครุศาสตร์ตีแผ่วิกฤติครูชี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุณภาพยึดสากลแต่ไม่รู้จักปรับใช้
อาจารย์มหา’ลัยยังไม่เชื่อราชภัฏพร้อมเป็นมหาวิทยาลัย
ครุศาสตร์จุฬาฯสรุปข้อดีข้อเสียของการกวดวิชา
สถาบันราชภัฏพร้อมยกระดับเท่ามหา’ลัย
จุฬาฯทุมงบพัฒนาหลักสูตรไฮเทค
ศธ.เดินหน้าเต็มพิกัดศึกษาพิเศษเด็กพิการมาโรงเรียนไม่ได้ให้ครูตามสอนถึงบ้าน
‘สสวท.’เผยหัวกะทิรับทุนเรียนต่อนอก
ว.ชุมชนรุ่นแรกเด็กล้นเป้า
ทบวงฯเห็นใจนศ.ม.ณิวัฒนาช่วยหาทางได้เรียนต่อ
รถไอทีสัญจรภาคเหนือ
สยามรัฐขอปรบมือให้…สวนกุหลาบวิทยาลัย-พระโขนงพิทยาลัย…ต้นแบบโรงเรียนปลอดสารเสพติด
เฟ้นเยาวชนนักอนุรักษ์ หนุนเข้าสู่เวทีโลกจนได…3 คนเก่งของคาเธ่ย์
มศว.ร่วมม.อังกฤษพัฒนาแพทย์
สุวัจน์นัดอธิการบดี 10 มิ.ย. เคลียร์ปมออกนอกระบบ
ค้าน “ราชภัฏ” เป็นมหาวิทยาลัย ชี้ทบวงฯ หนุนสร้างปัญหา
“สุวัจน์” ชี้รับ รภ.ร่วมชายคาอยู่ในกม-ไม่เกี่ยวการเมือง
นศ. มธ.โวย “ศูนย์รังสิต”ยังไม่พร้อม
ทปอ.หารือ ปอมท. เคลียร์ “ออกนอกระบบ”
สำนักงบฯตอกกลับมหาวิทยาลัย ต้องการเงินเพิ่ม-แต่ไร้แผน
ครุศาสตร์จุฬาฯปลื้มข้อมูลจากการเอนทรานซ์ ยืนยันชัดเด็กไทยรุ่นใหม่ยังใฝ่ฝันอาชีพครู
สวช.หัวชนฝาต้องมีสนง.วัฒนธรรมจังหวัด
ทบวงฯ หาข้อยุติ มหาวิทยาลัยนอกระบบ
ก.ค. ปรับเกณฑ์อัตราส่วนครูต่อนักเรียนแก้ปัญหาขาดครู
คนเก่งจากเวทีฟิสิกส์โอลิมปิกเอเชีย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

นักวิทย์น้อยกับโครงงานด้านสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับพืชผัก
เกษตรฯ นำร่องมหา’ลัยความเร็วสูง
โครงการ “บ้านแสงอาทิตย์” ลดมลพิษประหยัดพลังงาน
ที่นอนไร้นุ่นเลียนแบบนักบินอวกาศ
แชมป์สองสมัยหมากรุกไทยคริสตอล
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียเตรียมโคลนนิ่งเสือทัสเมเนีย
ความเสี่ยงสุขภาพจากอาหารแปลงยีนมากน้อยแค่ไหน
ชีวิตสาหร่ายทะเล…วันนี้
ผลิตหุ่นจำลองจากยางพารา รายได้ที่คุ้มกับการลงทุน
พบแฝดสุริยจักรวาล

ข่าววิจัย/พัฒนา

ยกเครื่องระบบวิจัยก่อนไทยทรุด
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงปัญหาโครงสร้างระบบการวิจัยในประเทศไทยว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ คือ การเป็นประเทศที่ตกยุค เนื่องจากถึงเวลานี้เป็นเวลาร่วม 5 ปีแล้วที่ผ่านภาวะเศรษฐกิจล่มสลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีเกาหลีใต้และมาเลเซีย เป็นประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลายเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ถึงวันนี้ทั้ง 2 ประเทศกลับมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ที่สามารถทำเช่นนี้ได้เนื่องจากการวิจัยอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากประ เทศไทย ที่พบว่ามีการวิจัยซ่ำซ้อนไม่เป็นระบบและไม่สามารถนำความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหของชาติได้ ซึ่งถึงวันนี้จึงจำเป็นจะต้องมีการยกเครื่องเพื่อปรับโครงสร้างระบบการวิจัยใหม่ใน 2 ส่วน 1.โครงสร้างระบบการวิจัย และส่วนที่ 2.โครงสร้างระบบงบประมาณการวิจัย ที่ควรมีการกระจายตัวอย่างมีสัดส่วนที่เหมาะสมและให้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้รัฐบาลได้นำไปแก้ปัญหาได้ในช่วงเดือน ก.ค.2546
การวิเคราะห์ธาตุด้วยเทคนิคการวัดรังสีแกมมาฉับพลันจากบีมพัลส์
การลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดเกษตรกร
นศ.ชีวการแพทย์ ม.รังสิต โชว์ไอเดีย เครื่องล้างหลอดทดลอง
สกว.ค้นหานักวิจัยรุ่นเยาว์
ไม้หมวกรองหัวเข็ม
เตาเผาขยะโดยการนำความร้อนจากการเผาขยะมาใช้ในการอบและเผาขยะ
เอทีเอส-2 : พันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสม
ระบบป้องกันฟ้าผ่า- ไฟกระชากฝีมือคนไทย

ข่าวทั่วไป

ททท.ชงแผนยุทธศาสตร์ 4 แหล่งท่องเที่ยว
ตึกลูกเต๋า…ก้าวสู่ปีที่ 3
กศน.รับสมัครอาสาคลังสมองล่องวารีกับเรือห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ
สะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ลงตัว





ข่าวการศึกษา


ข้าราชการพระจอมเกล้าธนบุรีโวยไม่มีสิทธิเลือกอธิการบดีกรรมการสรรหาชี้เข้าใจผิดเพราะสื่อสารไม่ทั่วถึง

จากกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แทน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ซึ่งจะหมดวาระในเดือนกรกฎาคม 45 ว่ามีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส นายสุชาติ เพริศพริ้ง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มจธ. เฉพาะกิจ ยืนยันได้ว่าไม่มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และในการดำเนินการทุกขั้นตอนก็ทำอย่างถูกต้อง และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมรับทราบล่วงหน้าทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีวันหยุดราชการหลายวันจึงอาจจะทำให้การสื่อสารไม่ทั่วถึง ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปสามารถสมัครเข้ารับการสรรหาภายในวันที่ 31 พ.ค.ได้เช่นกัน จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมโดยในวันที่ 12 มิ.ยจะเชิญผู้ที่คณะกรรมการสรรหาฯ คัดเลือกมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาคม และวันที่ 14 มิ.ย.ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น. จะให้ประชาคมที่มีสิทธิได้ลงคะแนนให้ค่าน้ำหนักแก่ผู้เหมาะสมตามคุณลักษณะที่คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดใน 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย คุณลักษณะทางวิชาการ คุณลักษณะความเป็นผู้นำ คุณลักษณะทางการบริหาร และคุณลักษณะความมีมนุษย์สัมพันธ์ จากนั้นจะนำมาประมวลผลผ่านคอมพิวเตอร์ เมื่อได้ผลอย่างไรคณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาแล้วเสนอรายชื่อผู้มีความเหมาะสมให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาภายในต้นเดือนกรกฎาคมต่อไป. (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





‘ดร.วิโรจ’ รับมอบงานอธิการบดีมก.คนใหม่

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ได้มีพิธีส่งมอบหน้าที่อธิการบดีระหว่าง ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร อธิการบดี มก. คนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 7 มิ.ย. กับ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดี มก. คนใหม่ โดยมี ศ.อำพล เสนาณรงค์ ประธานสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธี (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2545 หน้า 14





‘สุวัจน์’ปฏิเสธเลื่อนมหา’ลัยนอกระบบ

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะเลื่อนการให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบไปอีก 2ปีนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินเรื่องดังกล่าวและเวลานี้นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยทุกอย่างยังเหมือนเดิมหรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ยังยืนยันที่จะสนับสนุนการออกนอกระบบส่วนที่ว่า ดร.วิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนพูดว่าจะให้มีการเลื่อนการออกนอกระบบไปก่อนนั้นตนก็ไม่ทราบเช่นกัน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน หน้า 14)





มข.เปิดหลักสูตรใหม่มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะบดีของ ม.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะวิทยาศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัยได้เสนอที่จะขอเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้ออกไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





ทบวงฯไม่แตะต้องศาสตราจารย์มร.

จากกรณีที่สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ได้ทำหนังสือถึงนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้เร่งพิจารณาการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) ของ รศ.ดร.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดี มร. โดยอ้างว่าทำให้เกิดความสับสนกับประชาคมรามคำแหง โดยเฉพาะเวลานี้เป็นช่วงของการสรรหาอธิการบดีคนใหม่นั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า ทบวงฯไม่มีอำนาจที่จะไประงับการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ของ รศ.ดร.รังสรรค์ หรือของคณาจารย์คนใดก็ตามเพราะทบวงฯ ให้อิสรภาพในการดำเนินการภายในให้แก่ประชาคมของมหาวิทยาลัยอยู่แล้วและประกอบกับพระราชบัญญัติของ ม.รามคำแหงก็ไม่ได้ระบุที่จะมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่ทบวงฯ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องถือเป็นเรื่องภายในมหาวิทยาลัย (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 มิถุนายน 2545 หน้า 14)





ทบวงฯพัฒนาระบบฝึกงานนักศึกษา

จากการสัมมนาเรื่อง “สหกิจศึกษาพัฒนาบัณฑิตช่วยเศรษฐกิจชาติ” เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการสหกิจศึกษาจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายร่วมกันคิด มีแกนนำ มีแม่แบบ มีผู้รับผิดชอบ มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และต้องมีมาตรฐานในการทำงาน ส่วนจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการคือการคัดเลือกสถานประกอบการที่จะส่งเด็กเข้าไปฝึกงานโดยต้องดูว่าโครงสร้าง อำนาจ และวัฒนธรรมในการทำงานเป็นวัฒนธรรมระบบประชาธิปไตย และเป็นสังคมการเรียนรู้หรือไม่ ไม่ใช่วัฒนธรรมการกดขี่ หรือวัฒนธรรมโรงงาน รวมทั้งต้องดูความพร้อมของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2545 หน้า 14)





มธ.รังสิตเพียงวันแรกก็วุ่นแล้ว

ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้สถานประกอบการมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ขณะนี้คณะทำงานจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถานประกอบการ ซึ่งมี ผอ.สำนักงานการบุคคลกลาง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นประธาน ได้จัดทำร่างดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้สถานประกอบการใดสถานประกอบการหนึ่ง หรือตั้งแต่ 2 สถานประกอบการขึ้นไปมีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามความพร้อมและความต้องการของสถานประกอบการให้แก่ลูกจ้างและบุคคลทั่วไปได้ โดยสามารถจัดตั้งเป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและจัดตั้งในลักษณะศูนย์การเรียน ซึ่งถ้าเป็นศูนย์การเรียนจะสามารถจัดได้ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษา หรือสถานศึกษา พร้อมกับแผนการจัดการศึกษา (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





ไทยจับมืออาเซียนหนุนมหา’ลัยสมอง

นายวรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน จัดตั้งมหาวิทยาลัยเสมือนแห่งอาเซียน (ASEAN Vitual University) เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้ และคลังสมองในภูมิภาคเอเชีย โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการและคาดว่าประมาณกลางปี 2546 จะสามารถเปิดสอนโครงการนำร่องได้(สยามรัฐ เสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





สภาฯครุศาสตร์ตีแผ่วิกฤติครูชี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุณภาพยึดสากลแต่ไม่รู้จักปรับใช้

จากการอภิปรายเรื่องวิกฤติคุณภาพสถาบันครุศึกษาและแนวทางแก้ไข เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายระพินทร์ โพธิ์ศรี รองประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ เผยปัญหาคุณภาพครูอ่อนแอ เรื่องหลักสูตรไม่ใช่ประเด็นใหญ่ดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้ ปัญหาอยู่ที่ผู้เรียนมากกว่าที่สมองไม่ดีรับข้อมูลได้ไม่เต็มที่ ส่วนผลวิจัยพบมีครูเพียง 10% ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ ยิ่งในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาครูไม่มีการพัฒนา ส่วนใหญ่ยึดแบบต่างชาติแต่ไม่มีการปรับให้สอดคล้องกับเมืองไทย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





อาจารย์มหา’ลัยยังไม่เชื่อราชภัฏพร้อมเป็นมหาวิทยาลัย

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงการยกฐานะสถาบันราชภัฏ (รภ.) เป็นมหาวิทยาลัยว่า ในการประชุมสภาสถาบันราชภัฏนครราชสีมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีอธิการบดีรภ.หลายแห่งได้มาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเห็นว่าหากการยกร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาราชภัฏเสร็จแล้วแต่การปฏิรูปการศึกษาและการตั้งคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กสอ.) ยังไม่แล้วเสร็จก็จะขอเข้าสังกัดทบวงฯ ไปก่อน เพื่อให้การบริหารอุดมศึกษา ทรัพยากร และการผลิตบัณฑิตเกิดความเป็นเอกภาพ ซึ่งทบวงฯ ก็ไม่ขัดข้องแต่คงต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกฤษฎีกาก่อน รศ.ศรีราชา เจริญพานิช อาจารย์นิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การยกสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยหากทำเพื่อเกียรติของตัวเองก็ถือว่ารัฐบาลทำผิดทาง เพราะส่งเสริมโดยที่ไม่ดูศักยภาพและจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยเลวลงกว่าเดิม ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าการยกสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นปัญหาของวงการอุดมศึกษาไทยและเห็นว่ารภ.ควรเป็นสถาบันอุดมศึกษาของประชาชน ใกล้ชิดกับประชาชนและมีปัจจัยสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2545 หน้า 11)





ครุศาสตร์จุฬาฯสรุปข้อดีข้อเสียของการกวดวิชา

รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลสรุปการประชุมกลุ่มเรื่อง “กวดวิชา:วิกฤตที่สะท้อนความเหลื่อมล่ำทางการศึกษา” เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ว่า ที่ประชุมเห็นว่าการกวดวิชามีทั้งข้อดีและข้อเสียโดยข้อดีคือทำให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้เพิ่มขึ้นมีมุมมองในเนื้อหาวิชาต่างๆ ประกอบครูที่สอนกวดวิชามักมีเทคนิคการสอนที่ดี สนุกสนาน สรุปเนื้อหาได้ครบถ้วนและมุ่งเตรียมความพร้อมเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นความหวังหวังสูงสุดของผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง แต่ข้อเสียคือนักเรียนต้องใช้เวลากับการเรียนมากขึ้นทำให้มีเวลาพักผ่อนทำกิจกรรมอื่นๆ น้อยลงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2545 หน้า 11)





สถาบันราชภัฏพร้อมยกระดับเท่ามหา’ลัย

ผศ.ดร.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีสถาบันราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมอธิการบดีสถาบันราชภัฏทั่วประเทศในเรื่องความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏที่สถาบันราชภัฏเลยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ แต่เนื่องจากได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจึงส่งผลกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม จะพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้ทันการพิจารณาของสภาผู้แทนฯในสมัยประชุม พ.ศ.2545 นี้ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2545 หน้า 22)





จุฬาฯทุมงบพัฒนาหลักสูตรไฮเทค

รศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ รองคณบดีและผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯทุ่มงบกว่า 10 ล้านพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาพัฒนาซอฟต์แวร์นำร่องระบบการเรียนการสอนแบบยือหยุ่นในโครงการขยายโอกาศอุดมศึกษา น่าน ตรัง ศรีสะเกษ ที่จะเปิดเรียนครั้งแรกในเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับระบบการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นเป็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนมีอิสระ มีโอกาสรับผิดชอบในการแสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วย โดยเน้นการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้ มีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน โดยจะกำหนดให้นักศึกษามีเวลาเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังอาศัยสื่ออินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน. (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





ศธ.เดินหน้าเต็มพิกัดศึกษาพิเศษเด็กพิการมาโรงเรียนไม่ได้ให้ครูตามสอนถึงบ้าน

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้มีความสามารถพิเศษว่า ยอดรับนักเรียนพิการปี 45 มี 3,303 คน ศูนย์การศึกษาทั้ง 13 เขตและศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดเตรียมความพร้อมให้อีก 11,272 คนตั้งคณะอนุกรรมการช่วยการเพื่อนและครอบครัวรับไม่ได้ ศธ.เสนอเข้าช่วยย้ำไม่ทอดทิ้ง หากมีอาการหนักถึงขั้นต้องพักรักษาตัวก็จะมีครูไปสอนถึงบ้าน (สยามรัฐ อังคารที่ 4 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





‘สสวท.’เผยหัวกะทิรับทุนเรียนต่อนอก

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่สสวท.ได้ประกาศให้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ ในระดับปริญญาโทควบเอกหรือปริญญาเอก ประจำปีงบประมาณ 2545 จำนวน 3 ทุน เพื่อกลับมาปฏิบัติงานที่ สสวท. มีผู้มีสิทธิเข้ารับการสอบคัดเลือกในสาขาวิชาที่กำหนด จำนวน 7 คน ดังนี้ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ ปริญญาเอกได้แก่ นายศุภกร กังพิศดาร นายอโนตม์ จะโนภาษ นางสาวสุทธิพง สัจพันโรจน์ ปริญญาโทควบเอกได้แก่ นางสาวสุทธณี บัญชาวิมลเชษฐ นายเณริน ศิริธารานุกูล สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา ปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวกุศลิน มุสิกกุล ปริญญาโทควบเอก นางสาวนุตา ศุภคต. (สยามรัฐ อังคารที่ 4 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





ว.ชุมชนรุ่นแรกเด็กล้นเป้า

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่วิทยาลัยชุมชน (วชช.)ทั้ง 10 แห่ง ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อ หลักสูตรอนุปริญญา 2 ปี ซึ่งสิ้นสุดการรับสมัครเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าไว้ที่วิทยาลัยชุมชนละ 100 คน แต่ปรากฏว่าทุกแห่งมีผู้สมัครเข้าเรียนเกินกว่าจำนวนที่เปิดรับไว้ หลักสูตรที่มีผู้สนใจสมัครเรียนมากได้แก่ หลักสูตรการปกครองท้องถิ่น การพัฒนาชุมชน คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการศึกษาปฐมวัย (สยามรัฐ อังคารที่ 4 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





ทบวงฯเห็นใจนศ.ม.ณิวัฒนาช่วยหาทางได้เรียนต่อ

จากการที่มหาวิทยาลัยณิวัฒนา จ.สุพรรณบุรีมีปัญหาเรื่องการบริหารงานจนทำให้ต้องเปลี่ยนอธิการ และทบวงฯได้ตั้งคณะกรรมการเข้าไปควบคุมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาประมาณ 200 คนไม่มั่นใจในสถานภาพและได้ทยอยลาออกโดยขอเทียบโอนไปศึกษาต่อที่อื่นแต่กลับมีปัญหาไม่สามารถเทียบโอนไปเรียนที่ ม.ศรีปทุมได้นั้น นางอรุณี ม่วงน้อยเจริญ ผอ.สำนักกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สสอ.) ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางทบวงฯ ได้ติดต่อกับ ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดี ม.ศรีปทุมเพื่อขอให้ทางมหาวิทยาลัยเทียบโอนให้กับนักศึกษาดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางอธิการบดีก็ยินดีแต่จะเทียบโอนหน่วยกิจไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากนักศึกษาเรียนไม่ครบหน่วยกิจตามที่ ม.ศรีปทุมกำหนด ดังนั้นถ้าจะให้เทียบโอนได้ทั้งหมด นักศึกษาก็จะต้องกลับไปเรียนเสริมแต่หากนักศึกษาไม่กลับไปเรียนเสริมก็จะเทียบโอนให้เฉพาะเท่าที่ ม.ศรีปทุมกำหนดไว้เท่านั้น (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





รถไอทีสัญจรภาคเหนือ

นายอุฤทธิ์ บุญมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2545 นี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาหรือท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ส่งรถไอทีสัญจร ให้บริการเด็กและเยาวชนในภาคเหนือ เรียนรู้คอมพิวเตอร์และดาราศาสตร์ นิทรรศการไอทีสัญจร จะเริ่มที่จังหวัด พิษณุโลก น่าน แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน จากนั้นในเดือนกรกฎาคมจะย้ายไปที่จังหวัดลำพูน พะเยา และเชียงราย. (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2545 หน้า 16)





สยามรัฐขอปรบมือให้…สวนกุหลาบวิทยาลัย-พระโขนงพิทยาลัย…ต้นแบบโรงเรียนปลอดสารเสพติด

วันที่ 7 มิถุนายน เป็นวันที่ครู อาจารย์และนักเรียน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย ต่างพากันมีความสุขจากผลความดีที่ช่วยกันประกอบขึ้น “ทำดี ก็ ได้ดี” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนิน ไปพระราชทาน โล่รางวัลเชิดชูเกียรติ พร้อมเงินสดหนึ่งแสนบาท แก่โรงเรียนต้นแบบส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิก สิ่งเสพติดภายในสถานศึกษาแก่โรงเรียนทั้งสอง ในเวลา 15.00น. ณ อาคารใหม่สวนอัมพร (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





เฟ้นเยาวชนนักอนุรักษ์ หนุนเข้าสู่เวทีโลกจนได…3 คนเก่งของคาเธ่ย์

บริษัท คาเธ่ย์แปซิฟิค จำกัด ก็หาสุดยอดคนเก่งให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม “ค่ายนานาชาติคาเธย์ แปซิฟิค เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม” ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ ธารมิกา ยิ้มเจริญ “น้องดอย” อายุ 16 ปี จากจังหวัดชลบุรี “น้องไผ่” วิวรรธร จันทวงศ์ อายุ 18 ปี จากพิษณุโลก “น้องยอด” พงศ์ศิริ วรพงศ์ อายุ 17 ปีจากกรุงเทพฯ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





มศว.ร่วมม.อังกฤษพัฒนาแพทย์

รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว.) เปิดเผยว่าคณะแพทยศาสตร์ มศว. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ ร่วมจัดหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต(หลักสูตรพิเศษ) โดยมุ่งพัฒนาองค์ความรู้วิชาชีพแพทย์ มศว. ให้เป็นสากลและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นทางเลือกในการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากสถาบันศึกษาในประเทศไทย ที่จะได้การศึกษาบางรายวิชาจากสถานศึกษาในต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้เทียบเท่าสากล สำหรับระบบการศึกษาของนิสิตในหลักสูตรพิเศษดังกล่าว นิสิตจะเรียนวิชาศึกษาที่ทั่วไป และวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ที่ มศว. และมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม เป็นเวลา 3 ปีซึ่งนิสิตจะได้รับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์การแพทย์ (BMedSco)จากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม จากนั้นนิสิตจะกลับมาศึกษาวิชาทางคลินิกที่คณะแพทยศาสตร์ มศว. จนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) จากมศว. ซึ่งจะทำให้นิสิตแพทย์ที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับประสบการณ์การศึกษาจากสถาบันชั้นนำทั้ง 2 สถาบัน (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2545 หน้า 8)





สุวัจน์นัดอธิการบดี 10 มิ.ย. เคลียร์ปมออกนอกระบบ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยกล่าวบรรยายเรื่องบทบาทอุดมศึกษากับความมั่นคงของคติสังคมไทยว่า จะเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆมาหารือนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลในวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อประมวลปัญหาหาทางแก้ไขและสร้างความชัดเจนของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับที่มุ่งคุณภาพความอิสระและมาตรฐานของประเทศ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า รูปแบบที่อิสระของมหาวิทยาลัยคือมีเสรีภาพทางวิชาการ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเป็นต้นสมองความคิดของชาติสนับสนุนคนมีความรู้ความสามารถ มีการประกันคุณภาพทางวิชาการซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะมีอิสระและคุณภาพในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับ นายศรีราชา เจริญพานิช อาจารย์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่ชัดเจนในการทำแผน อีกทั้งปล่อยให้มหาวิทยาลัยใดที่อยากตั้งก็ตั้ง (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2545 หน้า 20)





ค้าน “ราชภัฏ” เป็นมหาวิทยาลัย ชี้ทบวงฯ หนุนสร้างปัญหา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่ามีอธิการบดีสถาบันราชภัฏหลายแห่งได้มาหารือเกี่ยวกับการยกฐานะสถาบันราชภัฏขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย โดยขอสังกัดทบวงฯก่อน ถ้าโครง-สร้างกระทรวงใหม่ยังไม่เสร็จเพื่อให้การบริหารอุดมศึกษา ทรัพยากร การผลิตบัณฑิตไปในทิศทางเดียวกันซึ่งทบวงฯไม่ขัดข้องแต่ต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาและกฤษฎีกาก่อน นายศรีราชา เจริญพานิช อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกล่าวว่า การยกระดับสถาบันราชภัฎเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อเกียรติของตัวเองนั้น ถือว่ารัฐบาลเดินผิดทาง เพราะเป็นการส่งเสริมโดยที่ไม่ดูศักยภาพจะทำให้มหาวิทยาลัยโดยรวมแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งแต่เดิมมีการเสนอแนะให้สถาบันราชภัฎยกฐานะก็ถือเป็นงานเอาใจคนเท่านั้น นายภาวิช ทองโรจน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าถ้าสถาบันราชภัฎแห่งใดเข้มแข็งก็ยกฐานะได้เลย แต่บางแห่งคงต้องทบทวน (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2545 หน้า 20)





“สุวัจน์” ชี้รับ รภ.ร่วมชายคาอยู่ในกม-ไม่เกี่ยวการเมือง

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยชี้ว่าการยกฐานะสถาบันราชภัฎเป็นมหาวิทยาลัยทั่งที่ยังไม่มีความพร้อมจะทำให้ภาพรวมของมหาวิทยาลัยแย่ลง ถือเป็นการเอาใจ รภ.ของนักการเมืองว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเหตุผลทางการเมือง เพราะตามกฏหมายปฏิรูปการศึกษากำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ เป็นมหาวิทยาลัยภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอยู่แล้ว “ถ้าราชภัฎมารวมกับมหาวิทยาลัยก็จะได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน อย่างที่นครราชสีมาทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฎ และราชมงคล ถ้าทั้ง 3 แห่งพร้อมที่จะร่วมกันนำร่องเป็นตัวอย่างผมก็ไม่ขัดข้อง” นายสุวัจน์กล่าว ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯกล่าวว่า ในที่สุดสถาบันราชภัฏต้องอยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยสังกัดทบวงฯฉะนั้น ชาวมหาวิทยาลัยควรต้อนรับและช่วยเหลือ ไม่ควรไปบอกว่าสถาบันราชภัฎมีข้อจำกัดอย่างไร นายถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นของอาจารย์ที่คงหวังดี แต่ต้องดูความต้องการของประชาชนด้วย ยอมรับว่าราชภัฏมีทั้งด้านที่พร้อมและไม่พร้อม 100 % ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนา เหมือนกับมหาวิทยาลัยที่เปิดมาหลายแห่งก็ยังไม่มีความพร้อมในตอนแรกๆ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2545 หน้า 20)





นศ. มธ.โวย “ศูนย์รังสิต”ยังไม่พร้อม

ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดเผยว่า ตนได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จาก น.ส.พันธ์ทิพย์ เอมะบุตร นักศึกษาปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ส่งข้อความระบุถึงความไม่พร้อมในการเปิดเรียนวันแรกที่ศูนย์รังสิตว่า ศูนย์รังสิตขาดความพร้อมในการที่จะย้ายนักศึกษาแต่อย่างใด อาทิห้องเรียนไม่ได้ทาสี เมื่อย้ายห้องเรียนใหม่ก็พบว่าเป็นห้องที่เพิ่งทาสีเสร็จยังมีกลิ่นสี และทินเนอร์อย่างรุนแรง อีกทั้งไม่มีกระดาน whiteboard เครื่องฉาย overhead หรือแม้กระทั่งไมโครโฟน ทำให้อาจารย์ผู้สอนต้องตะโกนบรรยายในห้องบรรยายในห้องขนาด 300 คน นอกจากนี้ เก้าอี้ที่ใช้นั่งยังเป็นเก้าอี้พลาสติกธรรมดา ไม่มีที่วางแขนและสมุดเพื่อใช้จดคำบรรยาย ทำให้ไม่สามารถจดคำบรรยายได้ (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





ทปอ.หารือ ปอมท. เคลียร์ “ออกนอกระบบ”

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.)เกี่ยวกับเรื่องการออกนอกระบบว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมักจะมองว่า ปอมท.เป็นฝ่ายที่คัดค้านการออกนอกระบบ ในขณะที่ ทปอ.เองกลับให้การสนับสนุนการออกนอกระบบ จนทำให้สังคมเกิดความสับสนถึงแนวทางการทำงานของ 2 หน่วยงานนี้ ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันโดยตรง ดังนั้น ทปอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้บริหารทำหน้า-ที่ดำเนินงาน และ ปอมท.ที่ทำหน้าที่ให้ความคิดเห็น หรือเสนอแนะกับอธิการบดีจึงต้องมาคุยกันว่าแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยรัฐต้องออกนอกระบบ (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





สำนักงบฯตอกกลับมหาวิทยาลัย ต้องการเงินเพิ่ม-แต่ไร้แผน

นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่าปัญหาสำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ ต้องเตรียมรองรับนักเรียนที่จะจบชั้น ม.6 ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าซึ่งจะมีประมาณ 800,000 – 1,000,000 คน ฉะนั้น รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ถ้าเห็นความจำเป็นของสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องผลิตมันสมองของประเทศ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือในปีงบประมาณ 2546 ทบวงมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับงบฯรวมเพียง 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแค่ 500 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มในส่วนของสำนักงานปลัดทบวงฯถึง 600 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่างบฯของมหาวิทยาลัยโดยรวมลดลงไปประมาณ 100 ล้านบาท และในจำนวนดังกล่าว มมส.ถูกปรับลดงบฯก่อสร้างมากที่สุดถึง25 % รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 17 % ในขณะที่มหาวิทยาลัย 16 แห่ง ได้รับเพิ่ม 3-10% ทั้งที่ใน 14 แห่งได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว ด้านนายเดชา ดีผดุง ผู้อำนวยการส่วนงบประมาณด้านการศึกษา สำนักงบประมาณกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐจัดสรรงบฯให้การศึกษาสูงสุด 23-24% แต่ละปีมหาวิทยาลัยรัฐได้งบฯรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท มีเงินนอกงบฯอีก 1.8 หมื่นล้านบาท และเงินรายได้จากโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย 7.9 พันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินนอกงบฯ แค่ให้มหาวิทยาลัยช่วยจ่ายค่าสาธารณูปโภคไม่น้อยกว่า 25 % หรือ 250 ล้านบาท “เวลานี้สถาบันอุดมศึกษาทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและทบวงฯมี 189แห่ง ผลิตบัณฑิตปีละ 1.4 ล้านคน แต่มีถึง 1% หรือไม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ นอกจากนี้ปัญหาของมหาวิทยาลัยยังขาดแผนการผลิตบัณฑิตระยะ 5,10,15 และ 20 แต่ละปีผลิตสายวิทย์แค่ 25 % หรือ 2.5 แสนคน แต่สายสังคม 75% หรือ 7.5 แสนคน ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยยังไม่มีแผนแบ่งกันผลิตตามความถนัด” นายเดชากล่าว (มติชนรายวัน วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2545 หน้า 20)





ครุศาสตร์จุฬาฯปลื้มข้อมูลจากการเอนทรานซ์ ยืนยันชัดเด็กไทยรุ่นใหม่ยังใฝ่ฝันอาชีพครู

รศ.ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีผู้กล่าวว่าเด็กไทยในปัจจุบันไม่สนใจเรียนต่อสายครูว่า ตนยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง เพราะในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา(เอนทรานซ์) ประจำปี 2545 ปรากฎว่ามีเด็กเลือกคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จำนวนกว่า 300 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเลือกคณะครุศาสตร์เป็นอันดับ 1 ถึง 70% และเลือกเป็นอันดับ 2 จำนวน 1% ซึ่งเฉลี่ย 90% เลือกเป็นอันดับ 1-2 จึงสะท้อนให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ยังสนใจเรียนวิชาชีพ และจากการสอบสัมภาษณ์พบว่าเด็กสนใจเรียนครูหากมีงานให้ทำ ทั้งนี้วิชาชีพครูเป็นสาขาวิชาที่รัฐจะต้องลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม อย่างไรก็ตามในปี 2545 ทบวงฯได้จัดสรรทุนปริญญาโทและเอกให้แก่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในสังกัดทบวงฯ จำนวน 50 ทุน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2545 หน้า 14 )





สวช.หัวชนฝาต้องมีสนง.วัฒนธรรมจังหวัด

นายเกีรติศักดิ์ อิชยานันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม สภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในทุกจังหวัดว่า สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะนำเสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดต่อคณะกรรมาธิการสามัญ เพราะขณะนี้ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานทั้งแผน งบประมาณด้านวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัด งานวัฒนธรรมจึงเป็นงานฝากของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2545 หน้า 14 )





ทบวงฯ หาข้อยุติ มหาวิทยาลัยนอกระบบ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมอธิการบดีว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 12 แห่ง ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อรองรับการออกนอกระบบมาแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและกฤษฎีกา ส่วนที่เหลืออีก 8 แห่งยังไม่ได้เสนอเข้ามา เนื่องจากยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มาร่วมกันพิจารณาสรุปประเด็น ประกอบด้วยเรื่องขอยกเลิกมติ ครม.เกี่ยวกับสถานภาพข้าราชการเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่เดิมกำหนดว่าไม่ควรมีบุคลากร 2 ประเภทในหน่วยงานเดียวกันแต่หากให้มีก็ต้องกำหนดกรอบระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนที่จะให้เหลือประเภทเดียวไว้ด้วยโดยขอปรับเป็นให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดวิธีและระยะเวลาการเปลี่ยนสถานภาพได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมื่อเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานจะยังคงสมาชิกภาพอยู่ได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติแต่ในเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังเห็นชอบให้อยู่ใน กบข.ได้แต่ให้ได้รับเงินเท่ากับข้าราชการ (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545 หน้า 14)





ก.ค. ปรับเกณฑ์อัตราส่วนครูต่อนักเรียนแก้ปัญหาขาดครู

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาการขาดแคลนครู โดยได้เห็นชอบในเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังข้าราชการครูในสถานศึกษา ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูเสนอ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะคิดอัตรากำลังที่แยกจากกันระหว่างครูผู้สอน ผู้บริหาร และบุคลากรสนับสนุนการสอนซึ่งจะมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานที่ตั้งของโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน ดังนี้ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ใช้อัตรา นักเรียน 20 คน ต่อครูผู้สอน 1 คน ผู้บริหาร1 คน และไม่มีบุคลากรสนับสนุน แต่ถ้าโรงเรียนนั้นๆมีนักเรียนถึง 60 คนขึ้นไป ให้มีบุคลากรสนับสนุนการสอนได้1 คน เพื่อจัดทำบัญชีและพัสดุ ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 120 คนขึ้นไปในระดับก่อนประถม อัตราส่วนครูต่อนักเรียนเป็น 1 ต่อ 25 จากเดิม 1 ต่อ 23 ส่วนระดับใช้ 1 ต่อ 25 เท่าเกณฑ์เดิม สำหรับมัธยมใช้ 1 ต่อ 20 จากเดิม 1 ต่อ 17 และการจัดห้องเรียนให้ใช้เกณฑ์เดิมคือก่อนประถม 30 ต่อ 1 ประถม 40 ต่อ 1 และมัธยม 40 ต่อ 1 แต่หากนักเรียนเพิ่มขึ้น 10 คนขึ้นไปให้เพิ่มเป็น 1 ห้อง นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ผู้บริหารโรงเรียนและผู้ช่วยในโรงเรียนขนาดกลางหรือเล็ก ต้องทำหน้าที่การสอนสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมงด้วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของครูผู้สอน แต่หากมีความจำเป็นไม่สามารถสอนได้ก็ให้เสนอ ก.ค. พิจารณาเป็นรายๆไป (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545 หน้า 14)





คนเก่งจากเวทีฟิสิกส์โอลิมปิกเอเชีย

ธีรพงษ์ โตเจริญโชค หรือ ธี วัย 18 ปี จากโรงเรียนทิวไผ่งาม เพิ่งคว้ารางวัลเกีรติคุณประกาศจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกทวีปเอเชียครั้งที่ 3 หมาดๆ จากประเทศสิงคโปร์เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเยาวชนที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ภาคภูมิใจ สำหรับเทคนิคการเรียนของตัวเองนั้นถ้าไม่เข้าใจก็หาทางทำความเข้าใจ โดยการถามอาจารย์หรือแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนๆ ถ้าเราขลุกอยู่คนเดียวไม่ถามใครก็จะได้แต่โลกแคบๆ ของเราคนเดียวเท่านั้น การแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นจะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้นและรู้มุมมองของคนอื่น ถ้าใครอยากเรียนได้ดีต้องตั้งใจ เพราะทุกอย่างไม่ยากเกินไป (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


นักวิทย์น้อยกับโครงงานด้านสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับพืชผัก

โครงการพัฒนาและส่งเสริทผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมีความสนใจเหมือนกันในด้านสารเคมีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับพืชผัก โดยคนหนึ่งคิดหาวิธีใช้พืชผักลดพิษยาฆ่าแมลง ส่วนอีกคนคิดหาวิธีตรวจสอบการตกค้างของยาฆ่าแมลงในผัก วรรณรัตร์ พันธ์วิริยรัตน์ หรือน้องขวัญจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา ทำโครงการวิทยาศาสตร์เรื่อง พืชผักลดยาฆ่าแมลง ซึ่งสามารถประยุกต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ล้างผักและผลไม้ หรือใช้ลดยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในน้ำได้ โดยมี อ.กาญจนา สัตถาวร อ.พันธิพา ถาวรประสิทธิ์ และ อ.สุภาพ ถาวรประสิทธิ์ จากหมวดวิทยาศาสตร์ โรงเรียน ยุพราชวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา พิมลพรรณ ส้มเพชร หรือ น้องมิ้ม จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ มิ้มได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การศึกษาปริมาณตกค้างของยาฆ่าแมลงในผัก โดยมี อ.แสงเดือน เหมะวิบูลย์ อ.ทิพาพร ขวัญแก้ว อ.เสวก เหมะวิบูลย์ หมวดวิทยาศาสตร์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ ดร.ทิพาวรรณ ประภามณฑล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ปรึกษา (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2545 หน้า 24)





เกษตรฯ นำร่องมหา’ลัยความเร็วสูง

ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายสื่อสาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้วิจัยเกี่ยวกับคลัสเตอร์ Beowulf หรือซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ฝีมือคนไทยเครื่องแรกเทียบเคียงคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงของนาซ่า ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทยทำงานได้เร็วขึ้น (เดลินิวส์ จันทร์ ที่ 3 มิถุนายน 2545 หน้า 12)





โครงการ “บ้านแสงอาทิตย์” ลดมลพิษประหยัดพลังงาน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดโครงการ “บ้านแสงอาทิตย์” ระยะที่ 2 ขึ้น จำนวน 50 หลังคาเรือน โดยมีขนาดกำลังผลิตหลังคาเรือนละ 3.15 กิโลวัตต์ ส่วนเซลล์แสงอาทิตย์ทีจะนำไปติดตั้งมี 2 ชนิดคือ แบบผลึก (Crystalline) และแบบอะมอฟัส (Amorphous) โดยจะมีการประกวดราคาเพื่อสรรหาผู้ประกอบการที่มีความเหมาะสมที่สุดเข้ามาดำเนินการติดตั้ง แล้วให้ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์แบบไหน ซึ่งทาง กฟผ. จะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและรับรอง สำหรับค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งระบบนั้นมีมูลค่า ประมาณ 750,000 บาท โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายแบบให้เปล่าจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สพช. ร้อยละ 45.70 ส่วนที่เหลือผู้เข้าโครงการจะต้องออกสมทบเอง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองพัฒนาพลังงานทดแทน สำนักงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.โทรศัพท์ 0-2436-1630,0-2436-1639 และ0-2436-1245 (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2545 หน้า12)





ที่นอนไร้นุ่นเลียนแบบนักบินอวกาศ

เทคโนสคอทดอทคอมรายงาน เทคโนโลยีการนอนแบบใหม่ “สมาร์ท เบด” ฟูกที่ใช้ของเหลวเหนียวข้นคล้ายน้ำผึ้ง หรือ viscoelastic foam ยัดแทนนุ่น เลียนแบบที่นอนนักบินนาซ่า ช่วยถ่ายเทน้ำหนักและความร้อนของร่างกายทำให้ไม่ปวดหลัง ทั้งยังแก้โรคนอนไม่หลับได้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2545 หน้า 16)





แชมป์สองสมัยหมากรุกไทยคริสตอล

หมากรุกไทยในคอมพิวเตอร์ที่จะกล่าวถึงนี้มีชื่อว่า “หมากรุกไทยคริสตอล” ซึ่งเป็นผลงานของนายณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ นิสิตชั้นปี 4 สาขาวิชาการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แถมยังสร้างชื่อให้นานาชาติได้รู้จักโดยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC 2002) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กลายเป็นแชมป์สองสมัยได้สำเร็จ (สยามรัฐ พฤหัสบดี 6 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียเตรียมโคลนนิ่งเสือทัสเมเนีย

นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลีย เมืองซิดนีย์ จะทำการโคลนนิ่งเสือทัสเมเนียที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมามีชีวิตที่โลดแล่นอีกครั้งหนึ่งจากตัวอย่างดีเอ็นเอที่นำมาจากตัวอ่อนอายุ 136 ปี เสือทัสเมเนียเป็นสัตว์กินเนื้อตระกูลมาร์ชูเพียล มีลีลาการวิ่งเหมือนหมาป่า แต่มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ เคยแพร่หลายอย่างมากในออสเตรเลีย นิวกีนี และทัสเมเนีย ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกด้วยฝีมือมนุษย์ ด้วยเหตุผลว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นศัตรูของแกะ ดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล และทีแอลซี ร่วมมือกันผลิดสารคดี End of Extinction: Cloning the Tasmanian Tiger เจาะลึกประวัติศาสตร์โบราณและวิวัฒนาการของเสือทัสเมเนีย และพบกับวิธีการสกัดเนื้อเยื่อ การแปรรูปดีเอ็นเอที่สกัดมาได้ รวมทั้งพบกับความก้าวหน้าในการวิจัยการโคลนนิ่งเสือทัสเมเนีย โดยจะออกอากาศพร้อมกันทั่วโลกในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม เวลา 19.00 – 20.00 น. ทางดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล UBC 43. (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า 24 )





ความเสี่ยงสุขภาพจากอาหารแปลงยีนมากน้อยแค่ไหน

ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตและเทคโนโลยีไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าประเด็นปลอดภัยของอาหารแปลงยีนมีความสำคัญมากเพราะนับวันยิ่งจะมีอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอมากขึ้นเรื่อยๆ อาหารพวกนี้จะต้องพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยเช่นเดียวกับอาหารอื่นๆ จึงเป็นการดีที่จะต้องมีความระวังเอาไว้ ถึงแม้จะมีการตรวจสอบว่าไม่มีพิษภัยแล้วก็ยังน่าจะเตือนผู้บริโภคว่าเป็นอาหารที่มาจากจีเอ็มโอมีการติดฉลากแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ และเป็นหน้าที่ของรัฐและทุกคนที่เข้าใจในเรื่องจีเอ็มโอที่จะอธิบายให้ชาวบ้านได้ทราบถึงประเด็นเหล่านี้ จากการค้นคว้าที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎว่าดีเอ็นเอจากอาหารที่กินเข้าไปที่หลุดรอดเข้าไปในเซลล์ของผู้บริโภคจะสามารถคงอยู่ได้นานนัก สักพักก็ย่อยสลายไปสิ้น มีบางคนบอกว่า ทำไมไม่ห้ามการทำจีเอ็มโอเสียเลย คำตอบก็คือจีเอ็มโอและเทคโนโลยีด้านนี้มีความสำคัญมากต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของมนุษย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นต้องใช้พันธุวิศวกรรมและจีเอ็มโออย่างมากมาย ยาและวัคซีนจำนวนมากมาจากพันธุวิศวกรรม ซึ่งก็คือการใช้ประโยชน์จีเอ็มโอนั่นเอง (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า 24)





ชีวิตสาหร่ายทะเล…วันนี้

ตามข้อมูลตามนิตยสารผลิใบ ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้กล่าวถึงสาหร่ายทะเลในประเทศไทยสำรวจพบว่า ทั่งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันมีสาหร่ายทะเล 106 สกุล 260 ชนิด แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เพียง 17 สกุล มีทั้งสาหร่ายทะเลสีเขียว สาหร่ายทะเลสีแดง และสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ประโยชน์ทางการแพทย์ จากการค้นพบสาหร่ายทะเลบางชนิดใช้เป็นยา เช่น สาหร่ายทะเลสีน้ำตาลมีสารไอโอดีนสูง แพทย์จึงสกัดสารในสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลมาทำเป็นยารักษาโรคป้องกันโรคคอพอก และยังใช้สาหร่ายซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสำหรับการทดสอบทางการแพทย์ เนื่องจากสาหร่ายทะเลเป็นพืชน้ำที่เติบโตในทะเลเป็นแหล่งสะสมและดูดซับเกลีอแร่บางชนิดเป็นพิเศษ เช่น เหล็ก แคลเซียมและไอโอดีน ล้วนเป็นธาตุอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ คุณประโยชน์ของสาหร่ายมีนานัปการอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว การเจริญเติบโตของสาหร่ายทะเลขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วตามแต่ชนิด ตามแต่ละโซนของอุณหภูมิท้องทะเล ชื่อสาหร่ายทะเลที่พบโดยทั่วไป อาทิ สาหร่ายปุยเขียว สาหร่ายเม็ดพริก สาหร่ายลูกโป่งเล็ก สาหร่ายใบมะกรูด สาหร่ายหนาม สาหร่ายเห็ดหูหนู เป็นต้น (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2545 หน้า 23 )





ผลิตหุ่นจำลองจากยางพารา รายได้ที่คุ้มกับการลงทุน

สถาบันวิจัยยางได้วางแนวางและเป้าหมายในการค้นคว้าวิจัยยางพาราอย่างครบวงจร การดำเนินทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายประสาท เกศวพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในด้านนี้คือ ส่วนอุตสาหกรรมยางที่จะค้นคว้าวิจัยตั้งแต่การพัฒนาการผลิตไปจนถึงการใช้ยางพาราในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ยางแห้ง เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางสกิม ยางแผ่นผึ่งแห้งและน้ำยางข้น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปชนิดต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่ายางให้กับประเทศ ซึ่งก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปประกอบอาชีพเป็นรายได้เสริมหรือทำเป็น หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล ใครสนใจเทคโนโลยีการทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา ติดต่อโดยตรงได้ที่ส่วนอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กทม. 0-2940-5712 ในวันและเวลาราชการ (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2545 หน้า 22)





พบแฝดสุริยจักรวาล

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และสถาบันคาร์เนกีซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ได้ค้นพบระบบสุริยจักรวาลใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโลกราว 51 ปีแสง และพบดาวพระเคราะห์ขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีโคจรรอบระบบสุริยจักรวาลนี้ ขณะที่การค้นพบสร้างความยินดีแก่คณะผู้สำรวจอย่างมาก การสำรวจเป็นส่วนหนึ่งของโครงการค้นหาดาวพระเคราะห์คล้ายดาวอาทิตย์ ในเส้นทางช้างเผือก ซึ่งดำเนินมากว่าทศวรรษ และการค้นพบดาวพระเคราะห์ใหม่ที่โคจรระบบสุริยจักรวาลใหม่นี้ ยังส่งผลเพิ่มเป็น 91 ดวง ทางด้านนายเจฟฟรี มาร์ซี หนึ่งในคณะผู้สำรวจกล่าวว่า การค้นพบนี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อราวกับนิยายวิทยาศาสตร์ (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2545 หน้า 15)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ยกเครื่องระบบวิจัยก่อนไทยทรุด

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงปัญหาโครงสร้างระบบการวิจัยในประเทศไทยว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ คือ การเป็นประเทศที่ตกยุค เนื่องจากถึงเวลานี้เป็นเวลาร่วม 5 ปีแล้วที่ผ่านภาวะเศรษฐกิจล่มสลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีเกาหลีใต้และมาเลเซีย เป็นประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลายเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ถึงวันนี้ทั้ง 2 ประเทศกลับมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ที่สามารถทำเช่นนี้ได้เนื่องจากการวิจัยอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากประ เทศไทย ที่พบว่ามีการวิจัยซ่ำซ้อนไม่เป็นระบบและไม่สามารถนำความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหของชาติได้ ซึ่งถึงวันนี้จึงจำเป็นจะต้องมีการยกเครื่องเพื่อปรับโครงสร้างระบบการวิจัยใหม่ใน 2 ส่วน 1.โครงสร้างระบบการวิจัย และส่วนที่ 2.โครงสร้างระบบงบประมาณการวิจัย ที่ควรมีการกระจายตัวอย่างมีสัดส่วนที่เหมาะสมและให้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้รัฐบาลได้นำไปแก้ปัญหาได้ในช่วงเดือน ก.ค.2546 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2545 หน้า 26)





ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงปัญหาโครงสร้างระบบการวิจัยในประเทศไทยว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ คือ การเป็นประเทศที่ตกยุค เนื่องจากถึงเวลานี้เป็นเวลาร่วม 5 ปีแล้วที่ผ่านภาวะเศรษฐกิจล่มสลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีเกาหลีใต้และมาเลเซีย เป็นประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลายเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ถึงวันนี้ทั้ง 2 ประเทศกลับมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ที่สามารถทำเช่นนี้ได้เนื่องจากการวิจัยอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากประ เทศไทย ที่พบว่ามีการวิจัยซ่ำซ้อนไม่เป็นระบบและไม่สามารถนำความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหของชาติได้ ซึ่งถึงวันนี้จึงจำเป็นจะต้องมีการยกเครื่องเพื่อปรับโครงสร้างระบบการวิจัยใหม่ใน 2 ส่วน 1.โครงสร้างระบบการวิจัย และส่วนที่ 2.โครงสร้างระบบงบประมาณการวิจัย ที่ควรมีการกระจายตัวอย่างมีสัดส่วนที่เหมาะสมและให้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้รัฐบาลได้นำไปแก้ปัญหาได้ในช่วงเดือน ก.ค.2546

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักพันธุวิศวกรรมนำโดยมาร์เซโล จาคอบส์ลอเรนา แห่งมหาวิทยาลัยแคสท์ เวสเทิร์น รีเสิร์ช ในสหรัฐอเมริกาได้ค้นพบวิธีการปราบเชื้อมาลาเรีย โดยการดัดแปลงยีนยุง เพื่อทำให้ยุงปลอดเชื้อปรสิต พลาสโมเดียม ต้นเหตุของโรคมาลาเรีย วิธีการดังกล่าวนี้อาจใช้เป็นอาวุธใหม่ แทนการใช้ยาและยาฆ่าแมลงในการต่อสู่มาลาเรีย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





การวิเคราะห์ธาตุด้วยเทคนิคการวัดรังสีแกมมาฉับพลันจากบีมพัลส์

สมศร สิงขรัตน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะ ได้ทำการศึกษาและพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ธาตุแบบทั้งก้อนและไม่ทำลายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ใช้หลักการของวิชาฟิสิกส์นิวเคลียร์ล้วนๆโดยพิจารณาจากรังสีแกมมาฉับพลันที่ธาตุนั้นๆ ปลดปล่อยออกมาเมื่อถูกกระตุ้นด้วยรังสีนิวตรอนที่มีอำนาจการทะลุทะลวงสูง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2545 หน้า 24)





การลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดเกษตรกร

ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย และคณะ ได้ทำการศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสม ในการลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดเกษตรกรของ จ.สุโขทัย โดยศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากการตรวจวิเคราะห์หาชนิด และปริมาณสารพิษตกค้างในเลือดด้วยวิธี Colorimetric Method เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในรูปแบบการลดความตกค้างสารเคมีในมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกษตรกรรม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2545 หน้า 24)





นศ.ชีวการแพทย์ ม.รังสิต โชว์ไอเดีย เครื่องล้างหลอดทดลอง

นางสาวปสุตา กีรติยาพงษ์ นายชัยวัฒน์ ถาวรโรจน์ และนางสาวลลิตา ทวีวงษ์โอฬาร นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คิดค้นเครื่องล้างหลอดทดลอง Test Tube Washing Machine เครื่องตัวนี้อาศัยหลักการทำงานของมอเตอร์เฟืองล้อและเพลามีคุณสมบัติตรงที่สามารถล้างหลอดได้ถึง 3 ขนาดตั้งแต่หลอดเล็กๆ ไปจนขนาดใหญ่ต้นทุนในการผลิตสงวนราคาอยู่ที่ 6,000 บาท ถือว่าถูกกว่าฝีมือต่างชาติ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า7)





สกว.ค้นหานักวิจัยรุ่นเยาว์

สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำทีม 20 เยาวชนไทยที่สนใจวิทยาศาสตร์สัมผัสชีวิตนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ณ สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เกาะสีชัง เพื่อหาประสบการณ์ก่อนเลือกทางเดินชีวิต “สำรวจกับนักวิจัย สืบต่อลมหายใจนักคิด” คือชื่อโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ได้เข้ามาสัมผัสชีวิตและเข้าใจถึงการทำงานของนักวิจัยอย่างแท้จริง ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเรียนและทำงานในสายนี้ รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยหอยเป๋าฮื้อ โครงการวิจัยแรกที่ สกว.นำทีมเยาวชนซึ่งผ่านการคัดสรรจากการเขียนบทความเกี่ยวกับงานวิจัยที่สนใจและอยากทำตะลุยเจาะทุกขั้นตอนการทำวิจัยอย่างใกล้ชิด เปิดเผยว่า การที่เด็กได้เรียรรู้ทุกขั้นตอนของการทำวิจัยจะทำให้สามารถนำขั้นตอนต่างๆ ของการวิจัยไปปรับใช้ในชีวิต ที่สำคัญเป็นโอกาสดีที่จะได้ถามตัวเองว่าชอบงานด้านนี้หรือไม่ หลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสจริง น้องๆ คนไหนสนใจอยากร่วมโครงการ “สำรวจกับนักวิจัย สืบต่อลมหายใจนักคิด” ครั้งที่ 2สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว. โทร. 0-2298-0455 ต่อ 159,160 (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 มิถุนายน 2545 หน้า 16)





ไม้หมวกรองหัวเข็ม

สุรชัย เรี่ยวแรงศรัทธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เพเท้นท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ประดิษฐ์ “ไม้หมวกรองหัวเข็ม” ซึ่งใช้ในงานก่อสร้าง การประดิษฐไม้หมวกรองหัวเข็มควบคู่ไปกับไม้หมวกรองเครื่องตอกหัวเข็มโดยต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษเพื่อขอทดลองกับบริษัทต่างๆ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าให้ทดลองเพราะเกรงว่าหัวเข็มจะเสียหาย ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม..สินค้าขายได้เพราะมีบริษัทก่อสร้างต่างๆ สนใจซื้อเพื่อนำไปใช้ในงานแต่ก่อนหน้านั้น ก็ไปจดสิทธิบัตรก่อนเพื่อป้องกันการถูกลอก (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2545 หน้า27)





เตาเผาขยะโดยการนำความร้อนจากการเผาขยะมาใช้ในการอบและเผาขยะ

มานพ ปิยะศิลป์ และคณะร่วมกันประดิษฐเตาเผาขยะโดยการนำความร้อนจากการเผาขยะมาใช้ในการอบและเผาขยะขึ้น เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อการเผาขยะ โดยวิธีแยกก๊าซติดไฟออกจากขยะ แล้วเผาก๊าซติดไฟ เตาเผาขยะโดยการนำความร้อนจากการเผาขยะ สามารถอบขยะแห้ง ทำให้เกิดการระเหิด เผาไหม้ของแข็งเผาไหม้ก๊าซได้ภายในเตาเดียวกัน (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า 24)





เอทีเอส-2 : พันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสม

ทวีศักดิ์ ภู่หลำ และคณะได้เห็นปัญหาของข้าวโพดหวานในประเทศไทย ในเรื่องของคุณภาพซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับของต่างประเทศ จึงได้มีความคิดที่จะปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานให้ฝักสดมีคุณภาพดีใกล้เคียงกับของต่างประเทศ และปลูกได้ดีในสภาพการเพาะปลูกของประเทศไทย ข้าวโพดหวานพันธุ์ ATS-2 มีคุณสมบัติที่เด่นมากๆ คือ ผลผลิตสูงมาก คุณภาพฝักสดที่ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ และคุณภาพเมล็ดที่ดีมีความงอกและความแข็งแรงสูงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้นาน (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2545 หน้า 24)





ระบบป้องกันฟ้าผ่า- ไฟกระชากฝีมือคนไทย

นางชัชชม สุจริตโสภิต และนางสุปราณี อุดมสิน สองผู้ร่วมทุนและผู้บริหารบริษัทเพาเวอร์คิว จำกัดและบริษัทพศินา จำกัด คลุกคลีอยู่กับเครื่องป้องกันฟ้าผ่าและไฟกระชาก ไฟกระชาก หมายถึงมีกระแสเกินกว่า220 โวลต์ ตรงข้ามกับไฟตกซึ่งมีกระแสไฟฟ้าต่ำกว่า 220 โวลต์ ปัญหาไฟกระชากจึงเป็นศัตรูตัวร้ายของอุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบป้องกันฟ้าผ่าและไฟกระชากฝีมือคนไทยนี้ จะช่วยกรองและปรับแรงดันของกระ-แสไฟฟ้าให้คงที่จนเกิดความเสถียร ช่วยยืดอายุการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ อาจจะเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ มองไม่เห็น และเป็นเรื่องทางวิศวกรรมไฟฟ้า แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยไม่ให้อุปกรณ์เกิดความเสียหายจากปัญหาเล็กน้อย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545 หน้า 16)





ข่าวทั่วไป


ททท.ชงแผนยุทธศาสตร์ 4 แหล่งท่องเที่ยว

นางจุฑามาศ ศิริวรรณ รองผู้ว่าการฝ่ายการตลาด รักษาการผู้ว่าการการท่องเทียวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเทียว เพื่อเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับมอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานทางเศรษฐกิจหายุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันบนเวทีโลก ซึ่งแผนปฏิบัติการที่ ททท.จะเสนอในเดือน มิ.ย. เบื้องต้นมี 4 ประเภทคือ 1.การพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นแลนด์มาร์ก 2.การจัดทำอุทยานช้าง 3.การพัฒนาธุรกิจสปา 4.การพัฒนาตลาดน้ำ ทั้งหมดจะใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 พฤษภาคม 2545 หน้า 9)





ตึกลูกเต๋า…ก้าวสู่ปีที่ 3

นายมานพ อิสสะรีย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอุตสาหกรรม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์หลักที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สร้าง อพวช.ขึ้นมาว่า…“ต้องการให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ประชาชนทุกคนทุกเพศ ทุกวัยได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นอกเหนือจากห้องเรียนและตำรารวมทั้งเป็นที่ซึ่งทำให้ทุกคนรู้ถึความเกี่ยวพันระหว่างชีวิตวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่แยกกันไม่ออก” การก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของ อพวช.ตึกลูกเต๋าที่มีเนื้อที่ในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ 10,000 ตารางเมตร จะมีการปรับแต่งขยายพื้นที่ออกไปอีก 800 ตารางเมตร เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเรื่องไฟฟ้าและพลังงานแบบถาวร รวมทั้งการเปิดตึกพิพิธภัณฑ์เพิ่มอีก 2 ตึก คือ ตึกพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่เหลือการตกแต่งภายในคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2546 และตึกพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2548 (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2545 หน้า 16)





กศน.รับสมัครอาสาคลังสมองล่องวารีกับเรือห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ

เป็นภาพที่คุ้นตากันดีสำหรับชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยากับห้องสมุดลอยน้ำซึ่งมีอยู่ 2 ลำ เรียกกันติดปากว่า “เรือมหาราช” และ “เรือนางนพมาศ” ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่เปิดให้บริการต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว เส้นทางการเดินเรือจะเริ่มจากอู่เรือวัดสร้อยทองไปสิ้นที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี วันจันทร์ เปิดให้บริการที่อู่เรือฯ วันอังคารจนถึงวันเสาร์ กำหนดจอดให้บริการที่ ชุมชนวัดลุ่ม (อ.บางกรวย)ชุมชนวัดไทรม้าใต้ (อ.เมือง) ชุมชนวัดไผ่ล้อม (อ.ปากเกร็ด) ชุมชนบ้านขนมหวาน (อ.บางบัวทอง) และชุมชนมัสยิดท่าอิฐ (อ.ปากเกร็ด) ตามลำดับ ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยได้เปิดรับสมัครอาสาคลังสมอทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เกษียณอายุราชการ หรือผู้ทรงความรู้ด้านต่างๆ กับเรือห้องสมุดเคลื่อนที่ ที่จะให้บริการด้านการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ชุมชน และประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับการบริการ ด้านการศึกษาอย่างคลอบคลุมทั่วถึงในทุกๆส่วนของสังคม ผู้สมัครในโครงการจะได้รับการอบรมพิเศษเพื่อให้ทราบถึงภารกิจ และหน้าที่ก่อนออกปฏิบัติการจริงเป็นเวลา 2 วัน (สยามรัฐ พุธที่ 5 มิถุนายน 2545 หน้า 7)





สะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ลงตัว

นายจารึก อนุพงษ์ อธิบดีกรมทางหลวงตัวแทนฝ่ายไทย พร้อมด้วยท่านเพ็ดสะพอน วีระพัน รองหัวหน้ากระทรวงคมนาคมขนส่งไปรษณีย์และก่อสร้าง หัวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงสะหวันนะเขตตัวแทนที่ฝ่ายลาวและตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาอีก 4 บริษัท ได้ร่วมลงนามเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ที่จะมีการก่อสร้างที่ จ. มุกดาหาร ฝั่งประเทศไทย ซึ่งตรงข้ามกับแขวงสะหวันนะเขต ของประเทศลาว (สยามรัฐ วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545 หน้า 22)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215