|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 21 ประจำวันที่ 2002-06-20
ข่าวการศึกษา
ทบวงเร่งสรุปม. ในกำกับดันเข้า ครม นำร่องอุดมฯ ทบวงฯ ศธ. ใช้ทรัพยากร- อจ.ร่วมกัน สมศ. เดินเครื่องประเมินสถาบันอุดมศึกษา ตั้งชมรมนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยนศ.เจ้าของผลงานพัฒนาสู่ธุรกิจ อบรมครูไทยร่วมทำวิจัยกับนักวิทย์ทั่วโลก ทบวงฯ แฉขายปริญญายังมีอีก 2 แห่ง ออสซี่ช่วยอาชีวะไทยพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น รภ.ขาดอัตราบรรจุนักศึกษาทุน ติวเข้มเรียนรู้ทวีปเอเชียสู่ศตวรรษ 21 สมเด็จพระเทพฯห่วงคุณภาพการศึกษา- ให้เน้นบูรณาการ ทบวงเชื่อมสาย ยูนิเน็ตเข้ารัฐสภา หวังพัฒนาความรู้บริหารส.ส.- ส.ว จี้ มหาวิทยาลัยถูกแอบอ้างขายปริญญาเข้าแจ้งความ
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
ไทยอันดับ 14 พร้อมใช้เทคโนโลยี เครื่องตรวจจับระเบิดจิ๋ว อีก 2 ปีสหรัฐ ห้ามโคลนนิ่งมนุษย์ กรมวิชาการเกษตรตั้ง
พิพิธภัณธฑ์นิทรรศการแมลง
ข่าววิจัย/พัฒนา
ไทยจับมือจีนพัฒนายาตรวจหามะเร็ง การบำบัดโลหะหนักด้วยวิธีหล่อแข็ง การศึกษาชนิดของแมลงศัตรูพืชและปริมาณการทำลาย ย้อมสีเส้นไหมด้วย
ดอกดาวเรือง
ข่าวทั่วไป
สธ.สั่งเพิกถอน 4 ตำรับยาสัตว์ พบสารก่อมะเร็ง-คนยังใช้ได้
ข่าวการศึกษา
ทบวงเร่งสรุปม. ในกำกับดันเข้า ครม
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานงานระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทบวง กับอธิการบดีมหาวิทยาลัย/ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เกี่ยวกับกรณีความคืบหน้าของการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐว่า ที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งพบว่าขณะนี้มีมหาวิทยาลัยในกำกับจำนวน 4 แห่งที่ออกนอกระบบไปแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 12 แห่ง ได้ผ่านขั้นตอนการเสนอร่าง พ.ร.บ. มายังทบวงโดยล่าสุดมี ม.อุบลราชธานี (มอบ.) และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ส่งร่างมาแล้ว ขณะเดียวกันทบวงได้เร่งพิจารณาสรุปปัญหาทั้งหมดเพื่อเตรียมเสนอต่อครม. ในการพิจารณาเห็นชอบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยประเด็นแรกที่ประชุมเสนอให้ยกเลิกมติ ครม. จากรัฐบาลที่แล้ว เรื่องการคงสภาพข้าราชการเมื่อเป็น ม. ในกำกับ ที่หลักกรเดิมกำหนดว่าไม่ควรมีบุคลากร 2 ประเภท แต่หากมีความจำเป็นก็อาจให้มีบุคลากร 2 ประเภทไปก่อน และกำหนดกรอบระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนให้มีบุคลากรประเภทเดียว ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถกำหนดวิธีการและระยะเวลาตามความเหมาะสมตามความพร้อม และความต้องการของแต่ละมหาวิทยา-ลัยเองได้
(กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545 หน้า8)
นำร่องอุดมฯ ทบวงฯ ศธ. ใช้ทรัพยากร- อจ.ร่วมกัน
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากที่ทบวงฯมีนโยบายที่จะให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดใช้ทรัพยากรและงบประมาณร่วมกันกับสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาซึ่งจะอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วยกัน โดยให้สถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในจังหวัดหรือภูมิภาคเดียวกันได้ใช้อาจารย์ ห้องสมุด แล็บ และเทียบโอนหน่วยกิตร่วมกัน เป็นต้น เพื่อให้การบริหารงานสอดคล้องกับการลงทุนของรัฐนั้น ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบด้วย โดยจะเริ่มจากสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ใกล้เคียงกันในลักษณะของกลุ่มมหาวิทยาลัย ซึ่งทบวงฯจะดำเนินการทดลองนำร่องต่อไป
(มติชนรายวัน วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2545 หน้า 20)
สมศ. เดินเครื่องประเมินสถาบันอุดมศึกษา
นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)เปิดเผยว่า สมศ.เตรียมนำร่องประเมินคุณภาพภายนอกระดับสถาบันอุดมศึกษาภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยได้แต่งตั้งประธานคณะผู้ประเมินแล้วใน 5 สถาบัน ได้แก่ น.พ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะประเมินมหาวิทยาลัยนเรศวร นายสิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะประเมินมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายพจน์ สะเพียรชัย ประธานคณะประเมินสถาบันราชภัฏอุดรธานี น.พ.อาวุธ ศรีสุกรี ประธานคณะประเมินราชภัฏสวนดุสิต และ นายผาสุข กุลละวณิชย์ ประธานคณะประเมินมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ทั้งนี้ ประธานคณะประเมินแต่ละสถาบันจะตั้งคณะกรรมการร่วมอีก 4 คน เพื่อร่วมกันออกแบบการประเมินให้สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของสถาบันนั้นๆ ส่วนการออกประเมินระยะที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม จะประเมินสถาบันอุดมศึกษาอีกประมาณ 30 แห่ง ส่วนสถาบันที่เหลือจะประเมินในปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ ในการประเมินคุณภาพสถาบันอุดมศึกษา สมศ.มีจุดเน้นมุ่งศึกษาปัญหาการบริหารและเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อพัฒนาสถาบันไปสู่ความเป็นเลิศและความเป็นสากล
(มติชนรายวัน วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2545 หน้า 20)
ตั้งชมรมนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยนศ.เจ้าของผลงานพัฒนาสู่ธุรกิจ
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการกองทุนพัฒนานวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า ทางกองทุนได้ร่วมกับโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้ง ชมรมนวัตกรรมแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและให้ความรู้แก่สมาชิก โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาโครงการนวัตกรรม และการยื่นขอสิทธิยบัตรรวมทั้งยังจะให้การช่วยเหลือสมาชิกชมรมในการนำผลงานของตนเองออกไปเจรจาขายให้แก่นักลงทุน การตั้งชมรมครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรม เนื่องจากชมรมเกิดจากแนวคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์กลุ่มนี้ก็อยากจะมีส่วนร่วมในการนำผลงานนวัตกรรมออกไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตใหม่ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาผลงานต่างๆ มักจะจบลงตรงที่การได้รางวัล ไม่มีการสานต่อหรือการเจรจาต่อรองมักจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีองค์กรรองรับทำให้ภาคเอกชนไม่เชื่อถือ หรือบางรายนักศึกษาก็ถูกเอาเปรียบ เพราะฉะนั้นชมรมจะเข้ามารองรับในส่วนนี้ได้
(กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2545 หน้า 8)
อบรมครูไทยร่วมทำวิจัยกับนักวิทย์ทั่วโลก
นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เปิดเผยว่า สสวท.จะจัดประชุมปฏิบัติการกิจกรรมการศึกษาค้นคว้าตามโครงการ GLOBE รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 14 16 มิถุนายน 2545 ณ โรงเรียนธัมมสิริศึกษาสัตหีบ จังหวัดชลบุรีโดยมีคณะครูอาจารย์ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ GLOBE จำนวน 60 คน เข้าร่วมอบรม ทั้งนี้เพื่อให้ครูได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมภาคสนามกิจการในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาส และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอน GLOBEในโรงเรียนได้ เนื่องจาก GLOBE (Global Learning Observation to Benefit the Enviroment) เป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน ครู และชุมชนทั่วโลกสามารถพัฒนาศักยภาพในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในธรรมชาติด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
(กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2545 หน้า 8 )
ทบวงฯ แฉขายปริญญายังมีอีก 2 แห่ง
จากกรณีที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกของ ม.นอร์ทเทิร์นแห่งประเทศฟิลิปปินส์ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัยได้กล่าวว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาเปิดสอนปริญญาโท-เอกในประเทศไทยจำนวนมาก และยังเก็บค่าเรียนสูง ทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตจัดตั้งจากทบวงมหาวิทยาลัยและไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตนจึงอยากเตือนประชาชนที่สนใจศึกษาต่อให้ตรวจสอบรายละเอียดก่อนว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวนั้นจัดตั้งถูกต้องและได้รับการรับรองจาก ก.พ.หรือไม่ และหากไม่แน่ใจก็สามารถตรวจสอบได้ที่ทบวงฯ
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2545 หน้า 14)
ออสซี่ช่วยอาชีวะไทยพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น
จากการประชุมสัมมนาระดับชาติ เพื่อกำหนดกรอบอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษาแห่งชาติ ที่โรงแรมเอเชียนายพยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กล่าวว่าที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงการศึกษาวิทยาศาตร์ และการฝึกอบรม ประเทศออสเตรเลียช่วยกันปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทย โดยมีการกำหนดหลักการสำคัญของการอาชีวศึกษาที่ผลิตแรงงานระดับฝีมือ และเทคนิคเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และมีการพัฒนาโครงสร้าง บทบาทและหน้าที่ของกรอบอาชีวศึกษาแห่งชาติและพัฒนาตัวอย่างหลักสูตรแบบอิงสมรรถนะใน 4 สาขาวิชา คือ ช่างยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติด และการค้าปลีก รวมทั้งได้นำกรอบดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. การอาชีวศึกษา
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2545 หน้า 14)
รภ.ขาดอัตราบรรจุนักศึกษาทุน
นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ เปิดเผยว่าตัวเลขนักศึกษาโครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในสถาบันราชภัฏ (พ.ว.ส.) จำนวน 146 คน ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ด้านคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะเป็นต้น ทว่าทางสถาบันราชภัฏไม่มีอัตราบรรจุให้กับนักเรียนทุนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สามารถจ้างในลักษณะอัตราจ้างไว้ได้จำนวน 22 คนเท่านั้น ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อแผนการสร้างความเข้มแข็งทางด้านการเรียนการสอนของสถาบันราชภัฏ และแผนการเพิ่มการผลิตกำลังคนในสาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล
(กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2545 หน้า 7)
ติวเข้มเรียนรู้ทวีปเอเชียสู่ศตวรรษ 21
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้อำนวยการโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค (อบศ.5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)เปิดเผยว่า ทวีปเอเชียถือเป็นทวีปแห่งความแตกต่างทั้งด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ภาษาสิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม เทคนิควิทยา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง ความเปลี่ยน-แปลงและความผัวผวนของทวีปเอเชียดังกล่าว ถือเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ต้องเรียนรู้เรื่องอดีตเพื่อให้ทราบถึงเส้นทางที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับมองอนาคตให้กระจ่างชัดขึ้น ทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏสงขลา และโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาคจึงได้จัดอบรมสัมมนาในหัวข้อเรื่องทวีปของเรา : เอเชียจากศตวรรษที่ 20 สู่ 21 ขึ้น เพื่อทำให้ความรู้ในทุกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับภูมิภาคต่างๆในทวีปเอเชีย ทั้งการนำเสนอมุมมองในการตีความใหม่ๆ เพื่อทำความภูมิภาคต่างๆ ในทวีปเอเชียด้วยสายตาใหม่ นำเสนอการสืบค้น ข้อมูลแหล่งความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคต่างๆผ่าน E-Education และเพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาและการสอนวิชาสังคมศึกษาในประเทศไทย ชาญวิทย์กล่าวว่า การอบคมสัมมนาครั้งนี้จัดระหว่างวันที่ 20 21 กรกฎาคม ที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว จ.สงขลา มีกลุ่มเป้าหมายคือ ครูอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ
อาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันราชภัฏ ข้าราชการจากกระทรวงศึกษาฯ และผู้สนใจทั่วไป ผู้สนใจเข้าร่วมสอบถามรายละเอียดได้ที่โครงการ อบศ. โทร. 0-2880-9213-4 หรือที่สถาบันราชภัฏสงขลา โทร.0-7432-1451
(มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2545 หน้า 20)
สมเด็จพระเทพฯห่วงคุณภาพการศึกษา- ให้เน้นบูรณาการ
นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) กล่าวภายหลังรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โรงเรียนบ้านปลักปลา ในโครงการพระราชดำริในจ.นราธิวาส ว่าโรงเรียนบ้านปลักปลาเป็นโรงเรียนนำร่องที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯทรงสนพระทัยและห่วงใยเด็กพิการว่า อยากให้มีโอกาสเรียนเหมือนเด็กปกติ จึงรับสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือที่มารองรับต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงทรงรับสั่งว่าจะช่วยกันอย่างไร โดยเฉพาะเด็กที่พิการทั้งแขนและขาที่ปัจจุบันใกล้จะจบประถมศึกษา จะวางแผนจัดการศึกษาให้เด็กได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาอย่างไร ซึ่งตนจะนำกระแสพระราชดำรัสไปปฏิบัติ รวมถึงดูแลอุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยเหลือให้เด็กหล่านี้ได้เรียนอย่างเหมาะสมต่อไป
(มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2545 หน้า 20)
ทบวงเชื่อมสาย ยูนิเน็ตเข้ารัฐสภา หวังพัฒนาความรู้บริหารส.ส.- ส.ว
ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าทบวงได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับรัฐสภาในการเชื่อมโยงเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐสภาซึ่งจะมีประโยชน์ด้านการบริหารประเทศ เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาความรู้ใหม่ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ สำหรับเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet)ของทบวง มีสถาบันอุดมศึกษาเชื่อมต่ออยู่บนระบบเครือข่ายจำนวนทั้งหมด 131 แห่ง นอกจากนี้ระบบเครือข่ายดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายเพื่อการศึกษาและวิจัย Internet 2 ซึ่งเป็นเครือข่ายสารสนเทศระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยกับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรปอีกกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก เพื่อสามารถใช้งานและเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการศึกษาและวิจัยร่วมกัน
(กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2545 หน้า 6
จี้ มหาวิทยาลัยถูกแอบอ้างขายปริญญาเข้าแจ้งความ
ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่าขณะนี้มีผู้หวังดีได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่มีการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัย Adamson มาเปิดสอนในประเทศไทย รวมทั้งมีรายชื่อของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมาให้ตนแล้วแต่ผู้หวังดีก็ไม่ได้ระบุชื่อ ดังนั้นตนจึงอยากให้ผู้หวังดีติดต่อกลับมาที่ตนหรือ รมว.ทบวงฯเพื่อที่จะได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น และตนจะนำข้อมูลที่ได้ไปหารือกับทางตำรวจเพื่อหาทางจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2545 หน้า 14)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
ไทยอันดับ 14 พร้อมใช้เทคโนโลยี
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)เปิดเผยว่า การจัดสัมมนา APEC on Electation Commerce Policy Workshop and Regional Cooperation หรือการประชุมระดมสมองด้านนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ การบูรณาการนโยบายของประเทศ กฎหมายเพื่อการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่น โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกรอบนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่ส่งประโยชน์ต่อประเทศไทย จากการสำรวจเปรียบเทียบความพร้อมเรื่องการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มสมาชิกเอเปคที่มีอยู่ทั้งหมด 21 ราย ครั้งล่าสุด พบว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องการใช้เทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 14
(เดลินิวส์ วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2545 หน้า 16)
เครื่องตรวจจับระเบิดจิ๋ว
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นดอทคอมรายงาน นวัตกรรมเครื่องตรวจจับระเบิดฝีมือนักวิจัยในห้องทดลองนานาชาติลิเวอร์มอร์ที่แคลิฟอร์เนียว่า เป็นเครื่องมือตรวจจับระเบิดที่เล็กที่สุด ทั้งยังสามารถปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่โล่งหรือแคบ สนามบิน ชายแดน ท่าเรือ หรือในห้องทดลอง เพราะประสิทธิภาพการทำงานจะเหมือนกันหมด เนื่องจากใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นตัวตรวจจับความผิดปกติ หากเครื่องพบว่ามีระเบิดหรือสิ่งทีคาดว่าจะเป็นอันตราย เครื่องจะส่งสัญญาณเสียงออกมาทำให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าที่บริเวณนั้นมีวัตถุอันตราย
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2545 หน้า 16)
อีก 2 ปีสหรัฐ ห้ามโคลนนิ่งมนุษย์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การอภิปรายของสมาชิกสภาสูงสุดแห่งสหรัฐเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติห้ามการทำโคลนนิ่งมนุษย์ว่า ยังหาข้อยุติเพื่อสั่งดำเนินการทันทีไม่ได้ เนื่องจากยังติดกฏหมายบางหมวดซึ่งอนุญาตให้นักวิจัยทำการโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งนำเข้าตัวอ่อนมนุษย์ (เอ็มบริโอ)จากต่างประเทศเพื่อทำการวิจัยได้ การปรับปรุงกฏหมายเพื่อห้ามการโคลนนิ่งมนุษย์ในครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงแบบเอกฉันท์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวลาสำหรับเตรียมการยุติการโคลนนิ่งมนุษย์อย่างถาวรและสั่งห้ามการนำเข้าตัวอ่อนมนุษย์ได้แบบเด็ดขาดในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนการโคลนนิ่งสัตว์ยังไม่มีรายงานการสั่งห้ามแต่ประการ
(เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2545 หน้า 25)
กรมวิชาการเกษตรตั้ง
พิพิธภัณธฑ์นิทรรศการแมลง
กรมวิชาการแมลงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์แมลงขึ้นมาที่ กองกีฏและสัตววิทยา บริเวณชั้นล่างของตึก
จักรทอง 2 พิพิธภัณฑ์นิทรรศการแมลงนี้ เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับแมลงที่น่าสนใจเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ชมทุกวัยที่น่าสนใจจะเข้าไปหาความรู้และสัมผัสบรรยากาศอยู่ท่ามกลางโลกของแมลง ประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับนั้นมีทั้งความตื่นตาตื่นใจและความรู้ทางวิชาการ ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นิทรรศการแมลงนี้ได้ ทุกวันทำการ เวลา 10.00 15.00 น. ที่กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร
(เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2545 หน้า 27)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ไทยจับมือจีนพัฒนายาตรวจหามะเร็ง
น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์และสาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ The Instiute of Biochemistry and cell Biology, Chinese of Sciences แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เพื่อร่วมมือในการพัฒนายาและชุดตรวจโรคมะเร็ง โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพราะขณะนี้โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและยังไม่มีวิธีการตรวจที่เหมาะสมที่จะทำให้ทราบปัญหาในระยะเริ่มต้นซึ่งจะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทีได้ ซึ่งขณะนี้ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พัฒนาวิธีตรวจหามะเร็ง โดยใช้โปรตีนซิพ (Protien chip) จากเลือดเพียงเล็กน้อยก็สามารถตรวจหามะเร็งที่เป็นกันมาก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ วิธีการตรวจหาโปรตีนของเซลล์มะเร็ง ระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมินความแม่นยำและความเหมาะสมอยู่ การร่วมมือกันในครั้งนี้ทำให้คนไทยได้มีวิธีการตรวจหามะเร็งในราคาถูกและเหมาะสมในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้จะรวมถึงการพัฒนาวิธีตรวจซึ่งเรียกว่า Microarray Techology เพื่อค้นคว้าหายาที่สามารถยับยั้งยีนที่ผิดปกติและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งด้วย
(มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2545 หน้า 18)
การบำบัดโลหะหนักด้วยวิธีหล่อแข็ง
ดร.พจนีย์ ขุมมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและคณะ ได้ทำการศึกษาการบำบัดโลหะด้วยวิธีหล่อแข็งเพื่อทดลองเทคนิคการหล่อแข็งและใช้ประโยชน์เถ้าลอยลิกไนต์และเถ้าแกลบเพื่อเป็นวัสดุแทนปูนซีเมนต์ การศึกษาการตรึงโลหะหนักด้วยวิธีหล่อแข็งก่อนนำไปฝังกลบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางได้ดี เพราะวัสดุเชื่อมประสาน เช่น ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เถ้าลอยลิกไนต์ และเถ้าแกลบซึ่งมีสารซิลิกาสูงเป็นวัสดุหาง่ายและราคาต่ำ
(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2545 หน้า 24)
การศึกษาชนิดของแมลงศัตรูพืชและปริมาณการทำลาย
รัตนา ปรมาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชนิด
และปริมาณของแมลงศัตรูพืช และปริมาณการทำลาย ซึ่งเกิดกับผัก 8 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มะเขือเปาะ และแตงกวา ที่ปลูกในระบบผสมผสาน เปรียบเทียบกับระบบใช้สารเคมีผลการศึกษาพบว่าในแปลงผักระบบผสมผสานมีความหลากหลายของชนิดแมลงมากกว่าแปลงผักระบบใช้สารเคมี แต่ในจำนวนแมลงที่พบ จะพบเป็นแมลงที่เป็นศัตรูพืชน้อยกว่าแปลงผักระบบใช้สารเคมี แมลงที่พบในแปลงผักระบบผสมผสานจะเป็นแมลงห้ำและแมลงเบียนซึ่งเป็นศัตรูกับแมลงศัตรูพืช
(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2545 หน้า 24)
ย้อมสีเส้นไหมด้วย
ดอกดาวเรือง
คณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา ซึ่งมี คุณชวนพิศ สีมาขจร เป็นหัวหน้าคณะได้ศึกษาวิจัยหาพืชอายุสั้น โตเร็ว และพบว่า ดอกดาวเรือง มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาสกัดเป็นสีย้อมผ้าได้ คณะวิจัยได้ทดลองสกัดสีจากดองดาวเรืองสด ดอกดาวเรืองแห้ง โดยการนึ่งไอน้ำ 10 นาที และอบแห้งที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส และดอกดาวเรืองแห้งที่ได้จากการผึ่งแดด ดอกดาวเรืองทั้ง 3 ลักษณะ มีปริมาณวัตถุดิบเริ่มต้นเท่ากันหลังจากทำการสกัดวัดความเข้มข้นของสีเหลืองในน้ำสกัดด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า สเป็คโตรโฟโตมิเตอร์ เทียบกับสีเหลืองมาตรฐานพบว่า สีสกัดจากดอกดาวเรืองนึ่งไอน้ำและนำมาอบแห้ง มีความเข้มข้นสูงสุดรองลงมาเป็นน้ำสกัดจากดอกดาวเรืองสด และดอกดาวเรืองผึ่งแดดตามลำดับ
(เดลินิวส์ วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2545 หน้า 27)
ข่าวทั่วไป
สธ.สั่งเพิกถอน 4 ตำรับยาสัตว์ พบสารก่อมะเร็ง-คนยังใช้ได้
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกคำสั่งเพิกถอนยาอันตราย 4 ชนิด คือ ยาไนโตรฟูราโซน ฟูราโซลิโดน ไดเมทไตรดาโซล และโรนิดาโซล ออกจากตำรับยาสัตว์ทุกชนิดเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะยาเหล่านี้อาจตกค้างในเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื่องจากพบว่ายาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้เป็นสารก่อมะเร็งหรือมีแนวโน้มก่อให้เกิดมะเร็งได้
(กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2545 หน้า 23)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|