หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 23 ประจำวันที่ 2002-07-01

ข่าวการศึกษา

วิกฤติ ศก. สอนเด็กหวังใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต
กยศ. ยันไม่ปรับดอกเบี้ยเงินยืมเรียนเพิ่ม 2%
คาดมธ.ศูนย์ลำปางสร้างเสร็จปี 46
จับมือ 2 ม.อังกฤษจัดสหศึกษา
ปิ๊งสอนอังกฤษ ร.ร.ศีลาจารฯ
หุ่นยนต์ช่วยจัดระบบความคิด
“สิริกร” ไม่เอาชื่อ ก.การศึกษา
ม.ไทย-ฝรังเศส มุ่งมันร่วมมืออุดมศึกษามากขึ้น
ทำโพลสำรวจพฤติกรรมเด็กเล่นเน็ตออนไลน์
ทบวงฯหนุน ร.ร.นานาชาติ มีระบบเทียบโอนมหาวิทยาลัย
ซีเกท- มข. สอนหลักสูตรฮาร์ดดิสก์ ป.โท
ร่วมลุ้นเด็กไทยชิงชัย “ฟิสิกส์โอลิมปิก”
นายกฯคิดรวมสถาบันอุดมศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

พัฒนาเทคโนโลยีออนไลน์ไร้สาย เครื่องไฟฟ้าในบ้านไม่ต้องเดินสาย
4 ปีเนคเทคพร้อมลุยต่อ R&D
พบมะเขือเทศพันธุ์เป็นยาได้ ป้องกันทั้งโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
เรียนเคมีให้สนุกไม่ต้องกุมขมับ
“เอลนีโญ” และ “ลานีญา” ความแปรปรวนธรรมชาติ
โรบอท คอนเทสต์ 2002
เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cells)

ข่าววิจัย/พัฒนา

เกษตรกรพอใจระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก
การใช้น้ำส่าเหล้าเสริมในอาหารสุกรหย่านม
การตอบสนองของข้าวในสภาพนาอาศัยน้ำฝน
“เคมีคอมบิเนทอเรียล” ผลิตสารต้านมาลาเรีย ครั้งแรกของโลก
ตลาดนัดงานวิจัยภาคเหนือ
ครกกระเดื่องไฮเทค ผสมผสานเทคโนโลยี- ลดแรงงานสร้างรายได้
ม.เกษตรฯวิจัยใช้ธรรมชาติบำบัดน้ำเสีย

ข่าวทั่วไป

แหล่งมรดกโลก
ชี้มะเร็งเต้านมคุกคามหญิงไทยระวังพบอายุน้อยทีสุดแค่ 16 ปี
ชูเกาะช้างขึ้นชั้น “อีโค่ทัวร์” กับการอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิม
ห้องสมุดเคลื่อนที่
แพทย์เผยเด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้น เสี่ยงสารพัดโรคแทรกซ้อน
นักวิจัยยัน “ชาใบม่อน” ดี ควรดื่มเพื่อสุขภาพ
7 เล่ม จาก 59 เล่มชิงซีไรต์ 2545





ข่าวการศึกษา


วิกฤติ ศก. สอนเด็กหวังใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่าขณะนี้กรมวิชาการกำลังจัดทำหนังสือ อ่านเพิ่มเติมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจไทย ตามที่นายยุวรัตน์ กมลเวช ซึ่ง เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาหาข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศเสนอให้ทำโดย เป็นการย่อยรายงาน “ผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ” ที่ได้ เสนอโดยคณะกรรมการการศึกษา และเสนอแนะมาตราการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) สำหรับการนำเสนอข้อมูลอาจจะใช้ลักษณะการตั้งประเด็นคำถาม เช่น ปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร การโจมตีค่าเงินบาททำเพื่ออะไร ทำอย่างไรและอธิบายคำศัพท์ เช่นการทำธุรกรรม SWAP การโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งในทางเทคนิคแล้วนักเรียนในระดับ ม.ต้น ได้เรียนแล้วในวิชาประวัติศาสตร์เศรษศาสตร์ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงให้เห็ภาพอย่างชัดเจนกรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2545 หน้า 8)





กยศ. ยันไม่ปรับดอกเบี้ยเงินยืมเรียนเพิ่ม 2%

ท.พ.สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยถึงการกรณีมีข่าวว่าจะมีการปรับ อัตราดอกเบี้ยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจาก 1% เป็น 2% ว่า อธิบดีกรมบัญชีกลางเคยชี้แจงในที่ ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าที่ผู้ที่กู้เงินกองทุนไม่ยอมชำระหนี้ไม่ยอมชำระ หนี้เมื่อครบกำหนดเพราะดอกเบี้ยต่ำ จึงมีแนวคิดว่าควรจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 2% ซึ่งตนไม่เห็นด้วยท.พ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้กองทุนเงินกู้ยืมในส่วนของทบวงฯ ไม่มีประสิทธิภาพเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในโดยตรง ซึ่งทบวงฯเคยเสนอขอจ้างแต่ถูกปฎิเสธ เพราะบอกว่าทบวงฯกระจายอำนาจให้มหาวิทยาลัยแล้ว ฉะนั้น ถ้า กยศ.ไม่ให้จ้างก็ควรจะส่งคนเข้าไปตรวจสอบการบริหารเงินกองทุนในมหาวิทยาลัย ถ้าพบว่ามหาวิทยาลัยใดทำไม่ถูกต้องก็ต้องลงโทษ(มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2545 หน้า 20)





คาดมธ.ศูนย์ลำปางสร้างเสร็จปี 46

นายบุญชู ตรีทอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า หลังจากตนได้มอบที่ดิน 363 ไร่ บริเวณ อ.ห้างฉัตร และบริจาคเงิน 62 ล้านบาท ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง เพื่อสร้างอาคารเรียนรวมและสาธารณูปโภคตั้งแต่ปี 2543 จนถึงขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 80% เหลือเฉพาะปรับปรุงห้องเรียน และตกแต่งภายใน คาดว่าจะทันใช้ในปีการศึกษา 2545 และ2546 มธ.จะจัดการเรียนการสอนหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรจีนศึกษา อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง บริหารทรัพยากรและวัฒนธรรม สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยในหลักสูตรที่เปิดสอนจะให้สอดคล้องกับท้องถิ่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของภาคเหนือ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ลาว และพม่า ทั้งนี้ เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปมีงานรองรับ และนำความรู้ประยุกต์ใช้ได้จริง(มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2545 หน้า 20)





จับมือ 2 ม.อังกฤษจัดสหศึกษา

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เดินทางไปอังกฤษพร้อมด้วยนางสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายทองอินทร์ วงศ์โสธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม และมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในการจัดการสอนในรูปแบบสหกิจศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำบริษัทเอกชนเข้ามาตั้งในมหาวิทยาลัยบางแห่ง และร่วมมือกันทำงานวิจัยซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ที่มหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจทำงานร่วมกัน ซึ่งนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ ให้ความสนใจและให้ไปหาแนวทางดำเนินการ ซึ่งทบวงฯจะจัดประชุมผู้แทนมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมเร็ว ๆ นี้ ร.ต.อ. วรเดชกล่าวว่ายังไม่ได้หารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอังกฤษเกี่ยวกับการเปิดเสรีการศึกษา ซึ่งได้ข้อสรุปว่าต้องมองความร่วมมือในนามของประเทศไม่ใช่แต่ละมหาวิทยาลัยเช่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้หารือนายสุวัจน์ถึงพัฒนาการที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยอังกฤษร่วมกันจัดหลักสูตรเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น ดังนั้น จึงมอบให้นายกฤษณพงษ์ไปทำแผนความร่วมมือเพื่อให้เกิดการแข่งขันกับประเทศอื่น ไม่ใช่แข่งขันกันเองเช่นขณะนี้ ส่วนนางสุมณฑารับจะไปทำโครงการนำร่องโดยจะทดลองที่ จ.ราชบุรี โดยร่วมกับสถาบันราชภัฏ(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2545 หน้า 20)





ปิ๊งสอนอังกฤษ ร.ร.ศีลาจารฯ

นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยว่า เว็บไซต์สรัฐอเมริกาชื่อ www.21stCenturyKid.net สนใจการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ จึงมาขอถ่ายทำวิดีโอเทประหว่างวันที่ 30 มิถุนายน- 9 กรกฎาคม ในรูปสารคดี 3 เรื่อง คือการสัมภาษณ์นักเรียนที่ร่วมโครงการ โรงเรียนในมุมมองของนักเรียน และชุมชนบริเวณโรงเรียน เพื่อนำไปเผยแพร่และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ PBSของอเมริกา และ NHK ของญี่ปุ่น นายจุลจักร โนพันธุ์ ผอ.โรงเรียนได้ทดลองใช้ Internet-based Learining Project ในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 โดยนักเรียนชั้น ม.1/9 ม.4/1 และ ม.4/4 รวม 3 ห้อง ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกเขียน e-mail แลกเปลี่ยนความรู้กับนักเรียนจากประเทศต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ชื่อ www.epals.com (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2545 หน้า 20)





หุ่นยนต์ช่วยจัดระบบความคิด

นายวิภู สังข์สาย และนายอรรฐเวศ ธรรมา 2 เพื่อนซี้นักเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนสุรวิทยาคารจ.สุรินทร์ แชมป์บังคับหุ่นยนต์ ประจำศูนย์ สสวท. หรือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมาตัวแทนจากศูนย์ สสวท. อีก 9 แห่งทั่วประเทศ ในวันครบรอบ30 ปี สสวท. เดือนกันยายนนี้ เผยถึงผลพวงที่ได้จากการประดิษฐ์หุ่นยนต์ว่าในการสร้างหุ่นยนต์นั้นจะทำให้เรารู้จักจัดระบบความคิดให้เป็นขั้นตอน และยังช่วยกระตุ้นทักษะวิชาทางวิทย์- คณิตให้แข็งแกร่งด้วย(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2545 หน้า 16)





“สิริกร” ไม่เอาชื่อ ก.การศึกษา

จากกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาได้แสดงความห่วงใยในเรื่องการเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงการศึกษา ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนป้ายชื่อกระทรวงและโรงเรียนทั่วประเทศนั้นนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องการเปลี่ยนชื่อเป็นการเสนอของคณะกรรมาธิการวิ-สามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่…พ.ศ…ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.การศึกษากล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับกาใช้ชื่อใหม่ เนื่องจากทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการเปลี่ยนป้ายชื่อโรงเรียน รวมถึงหัวกระดาษราชการ ซึ่งประมาณการคร่าวๆ อย่างต่ำถึง 500 ล้านบาท หากนำมาใช้เพื่อพัฒนาครูก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้การเปลี่ยนมาใช้ชื่อกระทรวงการศึกษา เป็นแนวคิดของกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรที่เห็นว่าจะทำให้สื่อความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงและมีการปฎิรูปการศึกษาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย(สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 หน้า 2)





ม.ไทย-ฝรังเศส มุ่งมันร่วมมืออุดมศึกษามากขึ้น

ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วมของไทย-ฝรั่งเศสด้านอุดมศึกษาและวิจัย ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเยาวชน การศึกษาและวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้วางแผนอนาคตให้ประเทศไทยและฝรั่งเศสต้องเร่งผลักดันอนาคตการเพิ่มจำนวนสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศ ให้มีการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิจัยร่วมกันมากขึ้น โดยในปี 2545 ได้ทำความตกลงที่จะร่วมมือกันในการดำเนินการโครงการดังกล่าว 4 สาขา ได้แก่ การวางผังเมือง ภาษาและวัฒนธรรมการท่องเที่ยว และวิทยาศาสตร์สุขภาพ(เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2545 หน้า 14)





ทำโพลสำรวจพฤติกรรมเด็กเล่นเน็ตออนไลน์

นางสาวจิตราภรณ์ วนัสพงศ์ Regional Officer Asia Pacific องค์กรนานาชาติ ECPAT ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดการล่อลวงและคุกคามทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทาง ECPAT จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทพราซีนา(ประเทศไทย) บริษัทฟรอนเทียร์ ไดเจสต์ บางกอกโพสต์และศิลปินวงพรู จึงร่วมกันจัดทำแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทยขึ้น จากรายงานการวิจัยใน เบื้องต้นของนักวิจัยต่างๆในประเทศไทย สรุปได้ว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด ส่วนใหญ่ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากโรงเรียน บ้านและร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เด็กนิยมใช้การสนทนาบนอินเทอร์เน็ตเพื่อหาเพื่อน และอยากออกไปพบเพื่อนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ตขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตหรือไม่ได้ดูแลสอดส่องว่าเด็กใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไรบ้าง ส่วนโรงเรียนแม้จะมีครูอาจารย์สอดส่องไม่ให้เข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม แต่การให้ความรู้และการศึกษาด้านอินเทอร์เน็ตในห้องเรียนยังมีน้อย(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2545 หน้า 16)





ทบวงฯหนุน ร.ร.นานาชาติ มีระบบเทียบโอนมหาวิทยาลัย

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยหลังผู้แทนสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยว่า ทางผู้แทนสมาคม ร.ร.นานาชาติฯ ได้ขอให้ทบวงฯช่วยเทียบโอนหน่วยกิตให้แก่นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติให้ได้เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาได้ ขณะนี้ทบวงฯได้ร่างประกาศทบวงฯว่าด้วยการเทียบโอนระดับความรู้เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และกำลังจะเสนอต่อคณะกรรมการทบวงฯเพื่อขอความเห็นชอบในเร็วๆนี้ ด้าน นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัด ทบวงฯกล่าวว่า หากมีการเทียบโอนหน่วยกิตได้ก็จะทำให้ช่วยลดจำนวนเด็กที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศและยังเป็นการช่วยไม่ให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศได้อีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าประกาศเกี่ยวกับการเทียบโอนหน่วยกิตดังกล่าวจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไป(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 กรกฏาคม 2545 หน้า 14)





ซีเกท- มข. สอนหลักสูตรฮาร์ดดิสก์ ป.โท

รศ.ดร.วินิต ชินสุวรรณ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าซีเกทและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกันเปิดสอนหลักสูตรนี้มา 3 ปีแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาและสนองความต้องการของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตหัวอ่าน สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีหัวอ่านและบันทึกข้อมูลฮาร์ดดิสก์ระดับปริญญาโท สำหรับนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นวิชาเลือก 30ชั่วโมง จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหัวอ่านและ บันทึกข้อมูลฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเป็นผู้บริหารและวิศวกรจากฐานการผลิตของซีเกททั่วโลก ทำหน้าที่บรร-ยายให้นักศึกษา รวมทั้วดูงานที่โรงงานซีเกทด้วย ซึ่งนักศึกษาจะได้ลงมือปฏิบัติงานจริงเหมือนเป็นพนักงานของบริษัท(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2545 หน้า 24)





ร่วมลุ้นเด็กไทยชิงชัย “ฟิสิกส์โอลิมปิก”

ในการแข่งขันฟิสิกส์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 33 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 21 – 30 กรกฎาคม 2545 สำหรับตัวแทนเด็กไทยทั้ง 5 คน ที่จะเดินทางไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับโลกในครั้งนี้ประกอบด้วย ธเนศ พฤทธิวรสิน จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล มนต์สิทธิ์ธรสิทธิ์โกศล จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ปวิธ แสงจันทร์ จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สินิทธิ์ วิธาวาศิริ จากโรงเรียนจิตรลดาและ วีรพงศ์ ผดุงศักดิ์อนันท์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งทั้ง 5 คนได้ผ่านสนามอุ่นเครื่องมาแล้วจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิดระดับทวีปเอเชีย ครั้งที่ 2 ที่เมืองไทเปประเทศไต้หวัน โดยสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน รางวัล Most Creative Solution และ 4 ประเภทเกียรติคุณมาครอง(สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2545 หน้า 7)





นายกฯคิดรวมสถาบันอุดมศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด

นายยงยุทธ ติยะไพรัช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.(30 ก.ค. 45) ว่านายกฯได้หารือในที่ประชุมครม.เกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ของชาติ โดยเฉพาะเรื่องของสถานศึกษาซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้จัดตั้งวิทยาเขตจำนวนมาก นายกฯจึงเห็นว่าการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพควรนำสถานศึกษาในจังหวัดนั้นๆ หรือที่มีสถานที่ใกล้เคียงกันมารวมกันเพื่อใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกันได้ เช่น การรวมสถาบันราชภัฏกับวิทยาเขต ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรืออาจรวมกับสถาบันเทคโนโลยีที่สอนระดับปริญญาตรีก็จะทำให้เกิดการประหยัด แนวคิดของนายกฯ ทางทบวงฯ ได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมและมอบหมายให้ทางทบวงฯ และกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลงานด้านวิทยาลัยชุมชน นพ.กระแส ชนะวงศ์ รมต.ประจำสำนักฯดูแลคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ไปศึกษาเรื่องนี้ และมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูเรื่องข้อกฎหมาย (สยามรัฐ พุธที่ 3 กรกฎาคม 2545 หน้า 3)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


พัฒนาเทคโนโลยีออนไลน์ไร้สาย เครื่องไฟฟ้าในบ้านไม่ต้องเดินสาย

คณะวิศวกรสหรัฐฯพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ในการเชื่อมต่อระบบออนไลน์แบบไร้สาย โดยใช้ชื่อว่า “นัน-ไลน์-ออฟ-ไซต์ หรือ เอ็นแอลโอเอล” (non-line-of-site:NLOS) โดยใช้เทคโนโลยีการส่งลำคลื่นเชื่อมต่อ โดยไม่ต้องเดินสายระหว่างเครื่องรับกับเครื่องส่ง เหมือนอย่างทุกวันนี้ สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สหรัฐฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีเอ็นแอลโอเอส เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือหรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ผ่านเครื่องรับสัญญาณไร้สายขึ้น ภายในหนึ่งหรือสองปีข้างหน้านี้ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน จะไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ฐานอีกต่อไป แต่จะรับส่งสัญญาณผ่านอวกาศและสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเอง ช่วยให้การรับส่งสัญญาณมีความเที่ยงตรง โดยไม่ต้องมีการนำร่อง แต่ใช้เสาอากาศที่พัฒนาขึ้นพิเศษ และหน่วยประมวลผลดิจิตตอลที่ก้าวหน้า(ไทยรัฐ วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2545 หน้า 7)





4 ปีเนคเทคพร้อมลุยต่อ R&D

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) กล่าวสรุปผลงานของเนคเทคในรอบ 4 ปีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งว่า เป็นไปตามพันธกิจหลักคือ การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ทำเองและสนับสนุนให้ผู้อื่นวิจัยรวมทั้งการพัฒนาบุคลากร สำหรับทิศทางในอนาคต ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่าเนคเทคควรจะทำด้านวิจัย และพัฒนาให้เข้มข้นขึ้นอีก รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร แต่ในด้านวิจัยและพัฒนาที่ต้องสัมผัสกับประชาชนโดยตรงอาจจะมีปัญหากับภาคเอกชนที่ทำเรื่องใกล้เคียงกันอาจจะต้องมีการพูดคุยกันมากขึ้น(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2545 หน้า 16)





พบมะเขือเทศพันธุ์เป็นยาได้ ป้องกันทั้งโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์ปรับแต่งพันธุกรรมมะเขือเทศ จนได้มะเขือเทศที่อัดแน่นด้วยสารเคมี มีสรรพคุณช่วยป้องกันมะเร็ง ไม่ให้มากล้ำกรายมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเปอร์ดิวของสหรัฐฯ ได้ค้นพบมะเขือเทศดังกล่าวโดยบังเอิญ ขณะกำลังค้นคว้าหาพันธุ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น มะเขือเทศถือเป็นผักผลไม้บำรุงสุขภาพ แม้จะต้มปรุงให้สุกแล้วก็ตาม มันมีสารเคมีที่มีสรรพคุณเป็นตัวล้างพิษหลายชนิด ช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายไม่ให้เสียหาย สารเคมีตัวหนึ่ง ได้แก่ไลโคเพน อันเป็นสารที่ให้สีทำให้มันผลสีแดง มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบนี้ เฉลี่ยแล้วมีไลโคเพนเหนือกว่ามะเขือเทศธรรมดา มากกว่าระหว่าง 2 – 3 เท่าครึ่ง(ไทยรัฐ วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2545 หน้า 7)





เรียนเคมีให้สนุกไม่ต้องกุมขมับ

ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธนานนท์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาเคมี นำทีมบรรยายให้กับนักเรียนต่างๆได้สนุกกับวิชาเคมี และเปลี่ยนทัศนคติ เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจที่มักถูกปลูกฝังว่า “วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก” เรียนวิทยาศาสตร์คราวใดวิงเวียนแทบทุกครั้ง หรือเมื่อถึงคราวสอบครั้งใด “สอบไม่ผ่านเสมอ” ภายใต้โครงการว่า “SCIENCE LECTURE”ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สิ่งหนึ่งที่โครงการ SCIENCE LECTURE หวังไว้คือ อยากจะเห็นเด็กไทยมีฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดด้วยหลักการเหตุและผล เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีเยาวชนซึ่งคิดแบบวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้น นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยกำลังก้าว ไปสู่ความก้าวหน้านั่นเอง (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 หน้า 7)





“เอลนีโญ” และ “ลานีญา” ความแปรปรวนธรรมชาติ

เอลนีโญและลานีญา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ในขณะนี้ เอลนีโญคือ การที่ผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้น และแผ่ขยายกว้างไกลออกไปเป็นเวลานานถึง 3 ฤดูกาล หรือทางกลับกันถ้าผิวน้ำทะเลบริเวณนี้เย็นลงจะเรียรกว่า ลานีญา ถ้าหากในช่วงที่เกิดเอญนีโญขนาดรุนแรงขึ้นเมื่อใด ปริมาณฝนของประเทศไทยมักมีค่าต่ำกว่าปกติ กล่าวคือบริเวณที่เคยมีฝนชุกจะกลับแห้งแล้งและบริเวณที่เคยแห้งแล้ง เช่น ประเทศอินโดนีเซียจะเกิดความแห้งแล้งผิด ปกติจากฤดูกาลที่เคยมีฝนชุกในขณะที่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ซึ่งปกติจะแห้งแล้งกลับปกติ เมื่อเกิดเอลนีโญขนาดรุนแรงขึ้นเมื่อใด ปริมาณฝนของประเทศไทยมักมีค่าต่ำกว่าปกติ และอุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เช่น เอลนีโญ เมื่อ พ.ศ.2540-2541 ประเทศไทยประสบกับสภาวะความแห้งแล้งมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติทั่วประเทศ ในทางกลับกันผลกระทบจาก ลานีญา จะตรงกันข้ามกับ เอลนีโญ โดยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542-2543 ประเทศไทยมีฝนชุกกว่าปกติและอุณหภูมิหนาวลดลงทำลายสถิติหลายจังหวัดในเดือน ธันวาคม 2542 ที่ผ่านมา(สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2545 หน้า 23)





โรบอท คอนเทสต์ 2002

เวทีประลองความสามารถในการสร้างหุ่นยนต์ของนักเรียนระดับ ม.ปลาย-ปวช. อุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ที่มีใจรักการสร้างหุ่นยนต์ จัดขึ้นจากความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีพระจอม-เกล้าพระนครเหนือ ที่ล่าสุดนำนักศึกษาจากสถาบันฯ คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท Intelligent Robot Contest ในการแข่งขัน RoboFesta Kanagawa ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว กับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ การแข่งขัน KMITNB GSM advance ROBOT CONTEST 2002ซึ่งทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน Construction Robot หรือหุ่นยนต์สร้างทาง ได้แก่ McE ทีมนักศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ส่วนรางวับความคิดพิสดาร ที่ใช้เทคนิคการออกแบบหุ่นยนต์ต่างจากทีมอื่น เป็นของทีม Warloard จากบุคคลทั่วไป รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมเป็นฝีมือการคิดค้นของทีม Babyจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยสุรนารี(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2545 หน้า 16)





เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cells)

มิสเตอร์ฮิงูชิ (Mr. Higuchi) แนะนำว่าตอนนี้วิศวกรรมยานยนต์น่าสนใจเพราะตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป บริษัทรถยนต์ในญี่ปุ่นหลายบริษัทขนาดใหญ่จะผลิตรถยนต์เครื่องแบบผสม (Hybrid Engines)พร้อมทั้งการใช้เชื้อเพลิงนั้นเขาจะใช้เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cells) เซลล์เชื้อเพลิงนั้นถือว่าเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ดีที่สุด เหมาะสำหรับใช้ที่บ้านและรถยนต์และไม่มีมลพิษเลย จึงวิเศษกว่าพลังงานอื่น ๆหลักการของเซลล์เชื้อเพลิง ถูกนำไปประยุกต์ใช้มาก เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าเพราะได้เปรียบหลายด้าน เช่น ต้นทุนต่ำกว่าอย่างอื่น มีความเชื่อถือได้ในการจ่ายพลังงานโดยไม่หยุด พลังงานสะอาด เพราะไม่ต้องอาศัยการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไม่มีเสียงดังรบกวนชาวบ้าน ประสิทธิภาพสูงกว่าเซลล์แสงอาทิตย์มาก แถมไม่มีควันพิษตามท้องถนนด้วย(เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2545 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เกษตรกรพอใจระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนสำนักคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)กล่าวว่า “ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีเกษตรกรทั่วประเทศติดต่อขอรับการสนับสนุนรวม 1,619 ราย ก่อสร้างเสร็จสิ้นจำนวน 1,117 ราย คิดเป็น 43,128 ลูกบาศก์-เมตร และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ 3.6 ล้านกิโลกรัม/ปี หรือคิดเป็น 240,000 ถัง คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 49 ล้านบาท/ปี (คิดราคาก๊าซ LPG เฉลี่ยที่ 13.61บาท/กก.) นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรติดต่อขอรับการสนับสนุนทุกภูมิภารวม 53 จังหวัด โดยเชียงใหม่ขอรับการสนับสนุนมากที่สุด คือ 162 ราย รองลงมาคือเชียงราย 66 ราย และราชบุรี 48 ราย ระบบก๊าซชีวภาพที่นำมาส่งเสริมให้กับเกษตรกรรายย่อยนี้ เป็นแบบโดมคงที่ฝังอยู่ใต้ดิน (Fixed Dome) เป็นระบบขนาดเล็ก เกษตรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่านหรือสถาบันพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยการผลิตกรมส่งเสริมการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือ โทร.0-2579-3664(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 หน้า 24)





การใช้น้ำส่าเหล้าเสริมในอาหารสุกรหย่านม

นางสุวรรณา พรหมทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ศึกษาหาแนวทางการนำน้ำส่าเหล้ามาใช้ประโยชน์โดยการเสริมในอาหารสุกรหย่านม นางสุวรรณา กล่าวว่า “ น้ำส่าเหล้าเป็นสิ่งเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตสุราโดยใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ นำมาหมักด้วยยีสต์จากนั้นนำมากลั่นแยกสุราและแอลกอฮอร์ออกจากกัน การกลั่นนี้จะมีน้ำส่าเหล้าออกมาเป็นน้ำทิ้งจำนวนมาก น้ำส่าเหล้านี้มีค่า BOD สูงมาก หากปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองก็จะทำให้เกิดการเน่าเสีย แต่ในน้ำส่าเหล้ายังมีคุณค่าทางอาหารเหลืออยู่ เป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด ทั้งยังมีกลิ่นหอมชวนให้สุกรกินอาหารได้มากขึ้น (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 หน้า 24)





การตอบสนองของข้าวในสภาพนาอาศัยน้ำฝน

สาวิตร มีจุ้ย และ สุชาดา บุญญเลสนิรันดร์ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปางจึงได้ทำการวิจัยการตอบสนองของข้าวในสภาพนาอาศัยน้ำฝน ผลการทดลองพบว่าข้าวแต่ละพันธุ์มีผลการตอบสนองของน้ำต่างกัน สภาวะขาดน้ำในช่วงต้นอ่อนมีผลทำให้ความสูงของส่วนยอดและจำนวนรากชุดแรกต่อต้นลดลงอย่างมาก แต่กลับมีความยาวของรากชุดแรกรวมทั้งหมดต่อต้นและพื้นที่ผิวทั้งหมดของรากข้าวต่อต้นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทำให้อัตราการยืดตัวของยอดและการสะสมน้ำหนักแห้งของยอดสูงขึ้น แต่อัตราการหยั่งลึกของรากลดลงในขณะที่อัตราการสะสมน้ำหนักแห้งของรากกลับสูงขึ้น ในที่สุดมีผลทำให้อัตราการสะสมน้ำหนักแห้งรวมทั้งต้นของต้นอ่อนข้าวลดลงอย่างมากเมื่ออยู่ในสภาวะขาดน้ำ(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 หน้า 24 )





“เคมีคอมบิเนทอเรียล” ผลิตสารต้านมาลาเรีย ครั้งแรกของโลก

ผศ.ดร.ธีรยุทธ และทีมงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC ) จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเทคนิคในการสังเคราะห์สารเคมีที่เรียกว่า “คอมบิเนทอเรียล” มาประยุกต์ใช้กับการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์กับเชื้อมาลาเรีย และได้ทำการวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์คอมบิเนทอเรียลไลบารีของสารยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรไฟเลตรีดักเทส” โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยหลังปริญญาเอก ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เทคนิคคอมบิเนทอเรียล เป็นการสร้างกลุ่มของสารเคมีหลายๆชนิดที่มีโครงสร้างหลักใกล้เคียงกันให้ได้มากชนิดที่สุดโดยใช้เวลาและต้นทุนน้อยที่สุด และสามารถที่จะตรวจวัดผลการออกฤทธิ์ของสารแต่ละชนิดในกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างประเทศนิยมใช้หาสารออกฤทธิ์เช่น ยาหรือตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดใหม่ๆ สำหรับงานวิจัยของ ผศ.ดร.ธีรยุทธ ถือเป็นการได้ประยุกต์ใช้เทคนิคดังกล่าวกับการหาสารออกฤทธิ์ต่อเชื้อมาลาเรียเป็นครั้งแรกของโลก(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2545 หน้า 24)





ตลาดนัดงานวิจัยภาคเหนือ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประสบความสำเร็จกับการจัด ตลาดนัดงานวิจัยมาครั้งหนึ่งแล้ว ในการจัดงานครั้งที่ 2 ซึ่งมีขึ้นที่จังหวัดลำพูนด้วยเหตุผลที่ว่า นักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้นในภาคเหนือมีศักยภาพและมีผลงานวิจัยที่หลากหลายและเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นและผลงานจากโครงการศึกษาวิจัยภูมิปัญญาทงถิ่นไทย ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช.ให้ประชาชนในพื้นที่นำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ภายในงานมีผลงานวิจัยของนักวิจัยภาคเหนือล้วนๆ มาร่วมกว่า 30 บูธ แต่ละบูธได้รับความสนใจไม่แพ้กันด้วย(สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2545 หน้า 7)





ครกกระเดื่องไฮเทค ผสมผสานเทคโนโลยี- ลดแรงงานสร้างรายได้

เรืออากาศตรีบุญถึง(เล็ก) แก้วเกิด อายุ 62 ปี อดีตนายทหารลูกทัพฟ้า กองบิน 4 ตาคลีปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 192 ม.4 ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ กลับนำเอาครกกระเดื่องและสีข้าวโบราณ ที่กำลังจะถูกลืมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องมือสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน เพื่อใช้ให้เป็นโรงสีข้าวฉบับย่อ ในการผลิตข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ จำหน่ายจนหลายคนทึ่งในความสามารถของเครื่องมือประยุกต์สมัยใหม่ผสมโบราณ ลุงบุญถึงยังกล่าวต่อว่ากิจการใดๆ ดำเนินการคนเดียวไม่มีความสุข จึงได้รวบรวมผู้สูงอายุในหมู่บ้านมาร่วมเป็นสมาชิกในการผลิจกว่า 12 คน เพื่อผลิตข้าวกล้อง- ข้าวซ้อมมือ และข้าวหอมมะลิ ปทุมธานี 1 จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในนามของ กลุ่มผู้สูงอายุบ้านดงพลับ ขนาดน้ำหนัก 2 กก. ในราคาปลีกและส่ง ถุงละ 40-45 บาท ซึ่งในการลงทุนก็ได้รับการสนับสนุนจากเงินกองทุนหมู่บ้านและเงินกองทุนอื่นรวม 35,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบการและสมาชิกทุกคนก็ร่วมมือกันอย่างเต็มที่(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2545 หน้า 33)





ม.เกษตรฯวิจัยใช้ธรรมชาติบำบัดน้ำเสีย

อ.อัจฉรา ดวงเดือน แห่งภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิธีการกำจัดโลหะหนักที่มีอยู่ในน้ำเสียโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรภายใต้ โครงการกำจัดตะกั่วโดยใช้แกลบดำ และโครงการกำจัดแคดเมียมโดยใช้เปลือไข่ ผลการ วิจัยการใช้เถ้าแกลบดำไปใช้จริงกับน้ำเสียของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นโรงงานที่จะพบสารตะกั่วปนเปื้อนสูง พบว่าสามารถกำจัดตะกั่วในน้ำเสียได้ตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง(สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2545 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


แหล่งมรดกโลก

องค์การยูเนสโกได้ประกาศแหล่งวัฒนธรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 9 แห่ง ขึ้นบัญชีเป็นแหล่งมรดกโลก มีหอสูงและซากโบราณสถานในเมืองแยมประเทศอัฟกานิสถาน กับเมืองโบราณสมัยอารยธรรมอินคาในเมืองคาลาคมุล ประเทศเม็กซิโกรวมอยู่ด้วย เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว แหล่งวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกโลกก็จะเป็นทั้งหมด 730 แห่ง ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก(เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2545 หน้า 4)





ชี้มะเร็งเต้านมคุกคามหญิงไทยระวังพบอายุน้อยทีสุดแค่ 16 ปี

รศ. นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ราชบัณฑิต ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่าขณะนี้มะเร็งเต้านมเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากขึ้น พบมากในหญิงวัย 40 ขึ้นไป แต่ที่พบอายุน้อยที่สุด คือ 16 ปี ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ มลภาวะต่างๆ และกรรมพันธุ์ อย่างไรก็ตามไม่สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงจริงๆ ได้แน่ชัด (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2545 หน้า 23)





ชูเกาะช้างขึ้นชั้น “อีโค่ทัวร์” กับการอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ รศ.สมชายเดชะพรหมพันธุ์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาในโครงการวิจัยเรื่องการบริหารและการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอุทยานแห่งชาติในภาคตะวันออก โดยพบว่า โครงการวิจัยนี้ได้ศึกษาการบริหารและการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอุทยานแห่งชาติในภาคตะวันออก เกาะช้างเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากเกาะภูเก็ต และในตอนนี้วิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยบนเกาะช้างเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซาากเดิมที่ชุมชนบริเวณนี้มีอาชีพเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจท่องเที่ยวและการจัดการท่องเที่ยวนิเวศแบบยั่งยืนน่าจะมีจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะช้างรวมทั้งรักษาชุมชนทั้งด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ให้เป็นเอกลักษณ์ของคนในท้องถิ่นนั้นไว้ (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2545 หน้า 23)





ห้องสมุดเคลื่อนที่

บริษัท เอพินา อุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 17/1 ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง เป็นบริษัทที่รับผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายในประเทศและต่างประเทศ ได้จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่นี้เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ได้อ่านค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน โดยโครงการนี้จะเคลื่อนย้ายไปตั้งยังโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และเด็กด้อยโอกาสสัปดาห์ละครั้ง โครงการนี้ผู้มาใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2545 หน้า 19)





แพทย์เผยเด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้น เสี่ยงสารพัดโรคแทรกซ้อน

ผศ.น.พ.จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยพบว่าอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้น และปัญหาที่ตามมาจากโรคอ้วนคือความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไขมันในเลือดสูงและโรคเบาหวาน สำหรับในประเทศไทยของเราได้มีงานหลายชิ้นที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนักเด็ก แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการป้องกันรูปแบบใดที่สามารถป้องกันปัญหาเด็กอ้วนได้ผลที่สุด แสดงให้เห็นว่าปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย เป็นปัญหาที่ต้องการองค์ความรู้เฉพาะในกลุ่มประชากรไทยเพื่อกาป้องกันและรักษาเนื่องจากสาเหตุของปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้าน พันธุกรรม, วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม มีความแตกต่างจากในต่างประเทศ ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาและการป้องกันอาจมีความแตกต่างไปจากที่ได้มีการศึกษาในต่างประเทศ ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรูปแบบการควบคุมพฤติกรรมการบริโภค และการป้องกันโรคอ้วน มากกว่าการรักษา(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2545 หน้า 18)





นักวิจัยยัน “ชาใบม่อน” ดี ควรดื่มเพื่อสุขภาพ

นายวิโรจน์ แก้วเรือง นักวิชาการเกษตร8 สถาบันวิจัยหม่อนไหม ผู้ริ่เริ่มศึกษาวิจัยการทำชาใบหม่อนของประเทศไทย ยืนยันว่าจากการศึกษาพบว่าใบหม่อนมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยรวมสูงกว่าใบชา เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และยังพบวิตามินอีกหลายชนิด เช่น วิตามินเอ บี1 บี2 และวิตามินซี เป็นต้น นอกจากนี้ผลการทดลองในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา โรมาเนีย และอินเดีย พบว่าใบหม่อนมีสารกาบาที่มีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต สารฟายโตสเตอโรล ที่มีประสิทธิภาพ ในการลดระดับคอเลสเตอรอล และสารดีออกซิโนจิริมายซิน มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี(เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2545 หน้า 27)





7 เล่ม จาก 59 เล่มชิงซีไรต์ 2545

การพิจารณาคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2545 ในรอบแรกผ่านพ้นไปแล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ประธานกรรมการดำเนินงานคัดเลือกฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการการคัดเลือกฯ แถลงถึง “ประกาศผลรางวัลซีไรต์รอบแรก” ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งได้พิจารณาคัดเลือกจากหนังสือประเภทรวมเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดโดยในปีนี้มีทั้งหมด 59 เล่ม ผ่านการพิจารณาจำนวน 7 เล่ม คือ “ความน่าจะเป็น” ของปราบดา หยุ่น, “ชีวิตสำมะหาอันใด” ของเรวัตร พันธุ์พิพัฒน์, “แม่มดบนตึก” ของปริทรรศ หุตางกูร, “เมืองใต้อุโมงค์” ของประชาคม ลุนาชัย, “วิปริต” ของจิรภัทร อังศุมาลี, “อ่านโลกกว้าง” ของอัญชัน และ “อุทกภัย” ของรัตนชัย มานะบุตร(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2545 หน้า 26)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215