|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 28 ประจำวันที่ 2002-08-13
ข่าวการศึกษา
ม.แม่ฟ้าหลวงจัดอบรมมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ ทักษิณปิ๊งรวมสถาบันอุดมฯประจำจว.ลดภาระงบฯกว่าแสนล.ตั้งมหาลัย37แห่ง หวั่นม.นอกระบบยิ่งละเลยปัญหาสังคม รุก ทักษิณ ตอบเด็กไทยเรื่องปฏิรูป นนทบุรี วิกฤติครูขอแรงพระช่วยสอน ผลวิจัยย้ายธรรมศาสตร์ยังไม่มีคำตอบ ทบวงฯออก 3 มาตรการจัดการม.ต่างประเทศ นิติ มธ.ฟ้องศาลปกครองขัด รธน. ชี้รับสมัครงานเฉพาะเกียรตินิยม ส.ว.จี้รัฐบาลให้ความสำคัญ โรคเอดส์ นำหลักสูตรเพศศึกษาใช้ในโรงเรียน ไฟเขียวยืดเวลาเกษียณอายุอาจารย์มหาวิทยาลัย รภ.อุตรดิตถ์ลั่นขึ้นชั้นมหาวิทยาลัย ครม.ผ่าน 3 ร่างกม. ม.นอกระบบ มข.-บูรพา-ทักษิณ นศ.ยังค้าน ชี้บัณฑิตไทยอ่อนอังกฤษเทียบเท่าลาว ขรก.ลูกจ้าง มร. จี้สภาเร่งจัดระเบียบสรรหาอธิการ กรุงไทยเผย นศ.เชียงใหม่กว่า 8,000 ราย เบี้ยวหนี้กองทุนฯ มหิดลเปิดรับโครงการเยาวชนดีเด่น เร่งประเมินเลื่อนซีผู้บริหาร จว. ก่อน 1 ต.ค. รัฐ ไม่อุ้ม เด็กนักเรียน ร.ร. เอกชนชื่อดัง ตื่นเพิ่มศักยภาพสอนอังกฤษ นร. เก็บข้อมูล ม.กำกับรัฐ เตือนอย่าเพิ่งเชื่อ มะนาวคุมกำเนิด
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
แพทย์ตำรวจรักษารูรั่วหัวใจเจ้าแรกในไทย 2กระทรวงยักษ์ร่วมสร้างปรากฏการณ์อัจฉริยะ ปรับกลยุทธ์พัฒนาแหล่งน้ำให้ไทยเป็นครัวของโลก พบแร่ธาตุ หมื่นล้าน ที่เพชรบูรณ์ ไทยเจ๋งตัดแต่งยีนวัคซีน ไวรัสตับบี สวทช.เลือก 2 บริษัท อุตสาหกรรมดีเด่นปี 2545 หลังพักเที่ยงไม่ควรใช้สมองอย่างหนัก อาจส่งผลร้ายแก่ตัวเอง เอาชนะโรคเกาต์อาการไม่หนัก ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดรักษา
ข่าววิจัย/พัฒนา
ศิริราชเจ๋งลดติดเอดส์จากแม่สู่ลูกได้3เท่า มหัศจรรย์ หญ้าแฝก แปรรูปเพิ่มมูลค่าพัฒนาเป็นไม้อัด คนติดอ่าง ได้ลุ้นวิธีรักษา สหรัฐคิดค้นเครื่องมือใหม่ เผยต้นตอ 2 จุดบอดในสมอง ทำยาคุม ยีน ลดก้าวร้าว วาดฝันแก้ อาชญากรรม ไคโตรซาน ใช้กำจัดสีน้ำทิ้งสิ่งทอได้ดี ไอบีเอ็มจับมือนิออนร่วมพัฒนา กล้อง จุลทรรศน์อิเล็กตรอน นักวิจัยคิดวิธีซ่อนปลายนิ้วมือบนรูป ในพาสปอร์ตช่วยป้องกันอาชญากร เร่งวิจัยเทคโนโลยีวัสดุหวังลดต้นทุน-นำเข้า
ข่าวทั่วไป
คพ.ฟุ้ง คลินิกไอเสีย สุดเจ๋งลดมลพิษเกินครึ่ง-ขยายผล ตั้งศูนย์การได้ยินครบวงจร ทศท.เปิดบริการบัตรโทรสะดวกใช้เก็บเงินปลายเดือน
ข่าวการศึกษา
ม.แม่ฟ้าหลวงจัดอบรมมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า ทางสำนักวิชาการจัดการ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ เขต 2 ได้จัดโครงการอบรมมัคคุเทศก์เฉพาะ (ไทย-เฉพาะพื้นที่) ทั้งนี้เนื้อหาหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ความรู้ด้านวิชาการ,ความรู้เฉพาะวิชาชีพ และการออกศึกษานอกสถานที่ 2 วัน 1 คืน โดยผู้สำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตร และสามารถนำไปขอรับบัตรมัคคุเทศก์ (ไทย-เฉพาะพื้นที่) (บัตรสีฟ้า) ได้ที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พื้นที่ที่ผู้ผ่านการอบรมจะสามารถนำเที่ยวได้ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยาเริ่มอบรมตั้งแต่ วันที่ 17 สิงหาคม 2545 ณ ม.แม่ฟ้าหลวง สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. 053-917008,916000
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2545 หน้า 6)
ทักษิณปิ๊งรวมสถาบันอุดมฯประจำจว.ลดภาระงบฯกว่าแสนล.ตั้งมหาลัย37แห่ง
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายยงยุทธ ติยะไพรัช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือในที่ประชุมเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ของชาติ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณมีความเห็นว่า เพื่อให้การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ควรนำสถาบันอุดมศึกษาภายในจังหวัดนั้นๆ หรือที่มีสถานที่ใกล้เคียงกันมารวมกัน นายยงยุทธกล่าวต่อว่า นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณดังกล่าวนั้น ทบวงมหาวิทยาลัยได้หารือและมีการเตรียมความพร้อมที่สอดรับกับแนวคิดดังกล่าวแล้ว
(มติชน พุธที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 20)
หวั่นม.นอกระบบยิ่งละเลยปัญหาสังคม
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง การปฎิรูปมหาวิทยาลัยกับความอยู่รอดของชาติ ในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะเรื่อง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับสัมฤทธิผลการศึกษาไทย ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงเรื่องการบริหารจัดการในปัจจุบันมีความจำเป็น มีหลายมหาวิทยาลัยหนีไม่พ้นที่ต้องตั้งโครงการพิเศษนอกระบบขึ้นมา หนีไม่พ้นจากกลไกตลาด กลไกเศรษฐกิจ หากภาครัฐยืนยันที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ จะต้องให้คำตอบเรื่องการอุดหนุนระบบการศึกษา เพราะที่ผ่านมาทั้งฝ่ายการเมืองและราชการ โดยเฉพาะสำนักงบประมาณยังไม่เข้าใจ คิดว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการแล้วต้องเลิกให้การสนับสนุน ซึ่งถ้าทัศนคติเป็นอย่างนี้ ตนก็ไม่สนับสนุนให้ดำเนินการต่อ และที่สำคัญรัฐบาลต้องยืนยันว่าหากออกนอกระบบ รัฐบาลต้องไม่ตัดโอกาสคนยากไร้ในการเข้าศึกษาด้วย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์สถาบันราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะยิ่งทำให้ห่างสังคมมากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไม่เคยพิสูจน์ว่าการออกนอกระบบกับอยู่ในระบบมีคุณภาพต่างกันอย่างไร รัฐบาลก็ไม่เคยทำการประเมินมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้ว
(มติชน พุธที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 20)
รุก ทักษิณ ตอบเด็กไทยเรื่องปฏิรูป
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) และ สปศ. เข้าหารือติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษาในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ตนคาดหวังว่าในวันดังกล่าวนายกฯ จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เช่น กรมไหนย้ายไปอยู่ไหน เพราะเรื่องนี้ได้ข้อยุติมานานแล้ว และอยากให้นายกฯมีคำตอบให้กับเด็ก เยาวชนและสังคมได้ว่า เด็กไทยจะได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษาบ้าง อาทิ การจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ซึ่งขณะนี้มีเด็กที่มีอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนไม่ถึง 100% ก็อยากให้นายกฯทุบโต๊ะว่า เด็กไทยทุกคนต้องได้เรียนการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี หรือขณะนี้เด็กจบชั้น ม.6 เพียง 70% เท่านั้นอยากให้นายกฯประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน เช่น ภายใน 5 ปี เด็กไทยจบชั้น ม.6 ไม่น้อยกว่า 95% เป็นต้น ทั้งนี้ ตนไม่อยากเห็นการประชุมวันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นเหมือนวันที่มีการประชุมปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มีแต่การพูดเรื่องเก่าและไม่สามารถหาข้อสรุปได้
(ไทยรัฐ พุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 15)
นนทบุรี วิกฤติครูขอแรงพระช่วยสอน
พระธรรมกิตติมุนี วัดเฉลิมพระเกียรติ เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สปจ.นนทบุรี มาขอความร่วมมือกับคณะสงฆ์ จ.นนทบุรี โดยจะขอพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ไปช่วยสอนในโรงเรียนต่างๆ ทั่วจังหวัด ประมาณ 120 รูป โดยอ้างว่าครูมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน และเห็นว่าพระสงฆ์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีจำนวนมาก ซึ่งซึ่งไม่ได้ขัดข้อง และจะได้จัดส่งพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติไปให้ทางจังหวัดคัดเลือก ส่วนใหญ่จะสอนวิชาศีลธรรมและวิชาสามัญทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากท้วงติงคือทำไมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่จัดหาครูให้เพียงพอ เพราะแต่ละโรงเรียนที่ได้ข้อมูลพบว่ามีครูขาดแคลนจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ ขาดครูถึง 12-13 คน เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีกล่าวต่อว่า เคยสอบถามกับ ผอ.ปจ.นนทบุรี ว่า ทำไมไม่จัดครูให้เพียงพอ อย่างครูที่เกษียณอายุราชการก็ตัดอัตราทิ้งเลย ทำไมไม่จัดหาครูมาทดแทน นอกจากนั้นนักศึกษาที่เรียนสถาบันราชภัฏนับสิบแห่ง ผลิตบัณฑิตออกมาปีละนับหมื่นนับแสนคนหายไปไหนหมด ถึงไม่สามารถเข้ามาเป็นครูได้ เห็นจบออกมาก็เดินเตะฝุ่นตกงานแล้วมาบอกว่าครูขาดแคลน ผอ.ปจ.ก็ตอบคำถามไม่ชัดเจน วกไปวนมา พูดอย่างเดียวไม่มีอัตราบรรจุ ไม่มีอัตราว่าง แล้วอย่างนั้นการปฏิรูปการศึกษาหมายความว่าครูไม่มีแล้วไห้พระมาช่วยอย่างนั้นหรือ มิหนำซ้ำโรงเรียนบางแห่งอยู่ไกลมาก พระที่ไปช่วยสอนก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด สอนฟรี บางวัดสถานที่เป็นวัด อุปกรณ์ก็เป็นของวัด ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เป็นของวัด แล้วพระยังต้องมาช่วยอีกเพราะครูไม่มี นี้หรือการปฏิรูปการศึกษาแล้ว ศธ. ล่ะทำอะไรบ้าง เห็นดีแต่พูด
(ไทยรัฐ พุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 15)
ผลวิจัยย้ายธรรมศาสตร์ยังไม่มีคำตอบ
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ หัวหน้าคณะวิจัยกรณีการขยายผลการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีไปยังศูนย์รังสิต ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องแนวทางการปฏิรูปการจัดการอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย ระยะที่ 2 ว่า ประชาคมส่วนใหญ่เห็นควรเพิ่มงบดำเนินการและงบลงทุนในทุกวิทยาเขตมากขึ้น ยกเว้นท่าพระจันทร์ที่งบลงทุนควรลดลง ส่วนเรื่องการจัดโครงการพิเศษนั้นคณะผู้วิจัยได้เสนอทางเลือกไว้คือ 1. ยกเลิกภาคปกติทั้งหมดเพื่อเป็นโครงการพิเศษ 100% ทั้งที่ท่าพระจันทร์ และรังสิต ซึ่งจะทำให้ มธ.มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 820.3 ล้านบาท 2. เพิ่มโครงการพิเศษเป็น 75% และลดภาคปกติเหลือ 25% จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 448.9 ล้านบาท และ 3. เพิ่มโครงการพิเศษเป็น 50% และภาคปกติเหลือ 50% จะมีรายได้ 77.5 ล้านบาท ผศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ เห็นว่างานวิจัยยังมีปัญหาในเชิงคุณภาพและไม่มีคุณภาพพอที่จะตอบโจทย์คำถามเกี่ยวกับภาพในอนาคตของ มธ. ในอีก 15 ปีข้างหน้าได้ ส่วนเรื่องการย้ายไปรังสิตก็ยังไม่ได้คำตอบ
(เดลินิวส์ อังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 14)
ทบวงฯออก 3 มาตรการจัดการม.ต่างประเทศ
ร.ต.อ.วรเดช จันทรเดช ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังประชุมเรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาวา นายสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงฯให้เชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อาจารย์ด้านกฏหมาย ผู้เกี่ยวข้องด้านวิเทศสัมพันธ์และมาตรฐานการศึกษาและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมาหารือ เพื่อหามาตรการจัดการกับสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศที่เข้ามาจัดการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตและผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมทั้งกรณีของการจัดการเรียนการสอนผ่านทางไกลด้วย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณากรณีสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศหลายแห่งที่เข้ามาเปิดสอนว่าเข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่ โดยกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ ทั้งนี้ที่ประชุมเสนอว่าถ้าพบว่ามีใครเป็นผู้บงการหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย
(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 21)
นิติ มธ.ฟ้องศาลปกครองขัด รธน. ชี้รับสมัครงานเฉพาะเกียรตินิยม
รายงานข่าวจากศาลปกครองแจ้งว่า นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล อายุ 30 ปี บัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นฟ้องสำนักงานศาลปกครองต่อศาลปกครองกลาง โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลผู้ได้รับวุฒิปริญญาตรีเกียรตินิยม วุฒิปริญญาโททางกฎหมายจากต่างประเทศและปริญญาโททางกฎหมายมหาชน เพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2545 ซึ่งมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจสมัครเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานศาลปกครอง 3 และขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกำหนดคุณสมบัติเฉพาะให้ผู้จบปริญญาตรีเกียรตินิยมทางกฎหมาย รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่ ก.พ.รับรองสามารถสมัครได้เท่านั้น
(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 21)
ส.ว.จี้รัฐบาลให้ความสำคัญ โรคเอดส์ นำหลักสูตรเพศศึกษาใช้ในโรงเรียน
นายจอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)กรุงเทพฯ กล่าวว่า นักการเมืองและรัฐบาลในปัจจุบันสนใจเรื่องเอดส์น้อยเกินไป นโยบายหลักของรัฐบาลไม่มีการพูดถึงเรื่องเอดส์ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มอันตรายเพราะว่าสังคมจะเมินเฉยต่อปัญหาเอดส์ เนื่องจากไม่ค่อยมีการรณรงค์แล้วคิดว่าปัญหาเอดส์แก้แล้วก็จะทำให้คนในสังคมไม่ระมัดระวัง ทำให้ผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วยังต้องการการรณรงค์ป้องกันเอดส์ สร้างความเข้าใจต่อผู้ติดเชื้อ รวมทั้งยังต้องแก้ไขปัญหาสังคมที่ที่เป็นต้นตอของปัญหาเอดส์หลายอย่าง อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง นายจอนกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจริงจังกับปัญหาเอดส์ ควรนำหลักสูตรเพศศึกษาเข้ามาใช้ในโรงเรียนต่างๆ และส่งเสริมความรู้เรื่องเอดส์ในทุกระดับทั้งในโรงงาน ชุมชน ส่งเสริมให้ทุนกับโครงการเอดส์ หรือจัดระบบการให้ความรู้เรื่องเอดส์ในทุกชุมชน ควรมีการรณรงค์ในสื่อมวลชนบางประเด็นที่คนยังเข้าใจผิดเรื่องเอดส์ เช่น เอดส์เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย ซึ่งถ้าคิดว่าไม่หายก็จะไม่รักษา แต่ในความเป็นจริงสามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีโดยใช้ยาต้านไวรัสทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เหมือนกับเป็นโรคเบาหวานที่รักษาไม่หายแต่ควบคุมได้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้ติดเชื้อ ควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครองผู้ติดเชื้อในเรื่องสิทธิการทำงาน สิทธิในการใช้ชีวิต จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีความกล้าที่จะออกมาเปิดตัวในสังคมมากขึ้นและสุดท้ายจะต้องจัดระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ รวมถึงยาต้านไวรัสต้องให้ผู้ติดเชื้อโดยทั่วถึง
(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 18)
ไฟเขียวยืดเวลาเกษียณอายุอาจารย์มหาวิทยาลัย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฏิรูปอุดมศึกษาว่า มีมติมอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาอุดมศึกษาให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการอุดมศึกษาให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับให้มากและเร็วที่สุด พัฒนาคณาจารย์ให้มีคุณภาพในปริมาณที่พอเพียง โดยเห็นชอบให้ขยายเวลาเกษียณอายุราชการจาก 60 ปี เป็น 65 ปี และให้ทบวงฯไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง หากใครมีความรู้ความสามารถและพัฒนาตัวเองตลอดเวลาก็ให้ต่ออายุราชการ แต่ถ้าใครไม่พัฒนาตนเองก็ไม่สมควรได้รับการต่ออายุ นอกจากนี้ ให้พัฒนาอุดมศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ จัดทำแผนแม่บทอุดมศึกษาของชาติและสนับสนุนการศึกษาเอกชนให้มีมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาล ปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว รวมทั้งนำระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการวางแผนอุดมศึกษาในภาพรวมด้วย
(ไทยรัฐ วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 15)
รภ.อุตรดิตถ์ลั่นขึ้นชั้นมหาวิทยาลัย
นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เดิมกำหนดการที่ รภ.อุตรดิตถ์จะมีการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่มีอันต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เนื่องจากส่วนกลางยังมีความไม่ลงตัว ในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการ อย่างไรก็ตาม การเลื่อนเวลาออกไปถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อสถาบันจะได้มีโอกาสพัฒนา ปรับโครงสร้างภายในจนมั่นใจว่ามีความมั่นคงจริงๆ จะได้ไม่เป็นอย่างที่นักวิชาการบางคนมองว่าการเป็นมหาวิทยาลัยของสถาบันราชภัฏจะเกิดความล้มเหลว และการยกฐานะขึ้นมาเป็นเพียงสิ่งประดับของผู้บริหารสถาบัน
(มติชนรายวัน วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 21)
ครม.ผ่าน 3 ร่างกม. ม.นอกระบบ มข.-บูรพา-ทักษิณ นศ.ยังค้าน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล โดยออกนอกระบบราชการเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาปรับปรุงต่อไป ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร
(มติชนรายวัน วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 20)
ชี้บัณฑิตไทยอ่อนอังกฤษเทียบเท่าลาว
ศ.ดร. กาญจนา ปราบพล กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยเรื่อง การสำรวจความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทย ซึ่งเป็นการวิจัยเอกสารเชิงสำรวจ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างรวม 377,947 คน ประกอบด้วยบัณฑิตในประเทศ บัณฑิตจากประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งบัณฑิตไทยที่สอบโทเฟลพบว่า ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทยและบัณฑิตจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่รับนักศึกษาเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งใช้คะแนนสอบโทเฟลตั้งแต่ 550 คะแนนขึ้นไป บัณฑิตจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และกัมพูชา มีค่าเฉลี่ยคะแนนโทเฟลเกิน 500 คะแนน ในขณะที่บัณฑิตไทยและลาวมีค่าเฉลี่ยคะแนนโทเฟลต่ำกว่า 500 คะแนน ขณะที่บัณฑิตจากกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการศึกษาต่อที่บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาฯ อยู่ในกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนให้เห็นความจำเป็นสำหรับบัณฑิตไทย ต้องพัฒนาทักษะและความรู้ภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ทัดเทียมนานประเทศ
(ไทยรัฐ วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 15)
ขรก.ลูกจ้าง มร. จี้สภาเร่งจัดระเบียบสรรหาอธิการ
นายโกศล พลเสน ประธานสภาข้าราชการและลูกจ้าง เปิดเผยวา ในการประชุมคณะกรรมการสภาข้าราชการและลูกจ้าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พิจารณาเหตุการณ์ความไม่สงบในการสรรหาอธิการบดี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2545 ที่ผ่านมา และที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้งจัดสถานที่ทำงานของคณะกรรมการอำนวยการสรรหา เพื่อสะดวกในการติดต่อพร้อมตั้งโฆษกหรือประชาสัมพันธ์เพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีได้อย่างถูกต้องและกำหนดกฏ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศต่างๆ เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีให้ชัดเจนด้วย นายโกศล กล่าวต่อไปที่ประชุมยังมีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์รูปแบบแผ่นป้ายหาเสียง หรือแนะนำตัวของผู้เข้าร่วมการสรรหาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และกำหนดพื้นที่ติดประกาศเพื่อความเรียบร้อย ให้มีการแถลงนโยบายในรูปเอกสาร และแผ่นสื่อ RUITV ของมหาวิทยาลัย ส่วนการจัดทำบัตรลงคะแนน ก็ควรให้มีต้นขั้วบัตร พิมพ์ลายนิ้วมือ มีช่องสำหรับผู้ใช้สิทธิที่ไม่พึงประสงค์เลือก จัดมาตรการป้องกัน และบทลงโทษกับบุคคลผู้กระทำผิด หรือที่กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างชัดเจน
(กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 8)
กรุงไทยเผย นศ.เชียงใหม่กว่า 8,000 ราย เบี้ยวหนี้กองทุนฯ
นายสุริยศักดิ์ สุริยมณี รองผู้จัดการสำนักงานเขตภาคเหนือ 7 ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานโครงการเงินกู้ยืม เพื่อการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้ธนาคารประสบปัญหาการชำระหนี้เงินกองทุนเพื่อการศึกษาที่ครบกำหนดการชำระเงินคืน ปรากฏว่ายังไม่มีผู้มาชำระหนี้ตามกำหนด ประมาณ 20% หรือ 8,920 ราย จากจำนวนผู้กู้ยืมเงินกองทุน 44,600 ราย จากจำนวนเงินทั้งหมด 2,000 ล้านบาท จากการดำเนินการติดตามหนี้พบว่ามีจำนวน 28 รายที่จงใจปฏิเสธการกู้เงิน โดยอ้างเหตุผลเงินไม่เข้าบัญชีตามกำหนด หรือเลิกต่อสัญญา ฯลฯ ทั้งที่ธนาคารมีหลักฐานเอกสารแสดงยืนยันว่ามีการกู้เงินออกไปจริง โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการจงใจที่จะไม่จ่าย ซึ่งกรณีนี้ได้มอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่กองทุนพิจารณาบทลงโทษถึงขั้นฟ้องศาล สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางธนาคารจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้กู้มาชำระหนี้ตามกำหนด
(กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 8 )
มหิดลเปิดรับโครงการเยาวชนดีเด่น
มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังเปิดรับบุคคลเข้าเป็นนักศึกษาตามโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2546 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนที่มีความสามารถพิเศษดีเด่น มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเข้าเป็นนักศึกษาในคณะต่างๆ ดังนี้ คือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ (รังสีเทคนิค/เทคนิคการแพทย์) โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาและวิทยาลัยการจัดการ สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัคร คือ มีคุณสมบัติเฉพาะแต่ละสาขาวิชา ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมทั้งมีความสามารถพิเศษดีเด่นด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ กีฬา ที่ผ่านการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวคือ เป็นตัวแทนของประเทศไทยหรือเป็นตัวแทนทีมชาติ ในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ หรือด้านวิชาการ ต้องผ่านการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ด้านศิลปะ ต้องมีความสามารถหรือผลงานด้านศิลปกรรมแขนงใดแขนงหนึ่งเป็นที่ประจักษ์พร้อมที่จะแสดงได้หรือเป็นผู้มีความสามารถบรรเลงดนตรีหรือขับร้องเป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยการรับรองจากหัวหน้าสถานศึกษาหรือสถาบัน นอกจากนี้ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่เกิน 25 ปี กำลังศึกษาอยู่หรือสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.6) แผนกการเรียนวิทย์/ศิลป์ เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้-วันที่30 ธันวาคม 2545 ณ กองกิจการนักศึกษา สำนักงานอธิการบดี (ชั้น 3) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2849-6101
(กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 8)
เร่งประเมินเลื่อนซีผู้บริหาร จว. ก่อน 1 ต.ค.
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณีการประเมินเพื่อขยายระดับเงินเดือน(ซี) ผู้บริหารนอกสถานศึกษาสูงขึ้นอีก 1 ระดับ จำนวนกว่า 4,000 ตำแหน่ง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขกฏ ก.ค. ฉบับที่ 13 ว่า จะเร่งให้ทันก่อนเข้าสู่โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการฯ ในวันที่ 1 ตุลาคม แต่ถ้าไม่ทันจะให้มีผลย้อนหลัง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ นายสมยศกล่าวถึงกรณีที่นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จะเสนอให้ครูแห่งชาติและครูต้นแบบปรับประเมินเป็นอาจารย์ระดับ 3 โดยอัตโนมัติว่า เกณฑ์การปรับปรุงตำแหน่งอาจารย์ 2 เป็นอาจารย์ 3 ปัจจุบันได้แก้ไขใหม่เน้นผลการปฏิบัติงานการเรียนการสอน ไม่เน้นผลงานวิชาการ ซึ่งเอื้อให้กับครูแห่งชาติและครูต้นแบบอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผ่านการประเมินโดยอัตโนมัติยังไม่น่าจะมีความจำเป็น
(มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2545 หน้า 20)
รัฐ ไม่อุ้ม เด็กนักเรียน ร.ร. เอกชนชื่อดัง
นายประยูร ชูลาภ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อทบทวบ
ตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีว่า เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานศึกษาเอกชนนั้น จะได้รับการอุดหนุนในอัตราเดียวกับที่เด็กในโรงเรียนรัฐได้รับการอุดหนุน โดยจะให้การอุดหนุนในรูปแบบคูปอง ซึ่งในส่วนของโรงเรียนเอกชนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งการจัดเก็บเงินนั้นต้องเป็นไปตามที่กระทรวงกำหนด และกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ขอเข้าร่วมโครงการหรือโรงเรียนเอกชนที่เก็บค่าใช้จ่ายแบบลอยตัว ก็มีสิทธิ์เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองนักเรียนเองได้ อย่างไรก็ตามผู้ปกครองก็มีสิทธิที่จะสละสิทธิ์ในการใช้คูปอง และเลือกโรงเรียนเอกชนที่คิดว่ามีคุณภาพดีให้กับลูกหลานได้ โดยเสียเงินเอง ทั้งนี้ จากการสอบถามเบื้องต้นพบว่า มีโรงเรียนเอกชนที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการจำนวนน้อย เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงมีคุณภาพสูงอยู่แล้ว แต่หากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้เข้าโครงการต้องการใช้สิทธิรับเงิน ก็คงต้องย้ายมาเรียนในโรงเรียนเอกชนที่เข้าโครงการ ทั้งนี้คาดว่าภายในวันที่ 8 ส.ค. จะสรุปตัวเลขทั้งหมดได้
(ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2545 หน้า 15)
ตื่นเพิ่มศักยภาพสอนอังกฤษ นร.
ตามที่ผลการวิจัย ศ.ดร.กาญจนา ปราบพล กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบทางวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทยต่ำกว่ามาตรฐานสากลนั้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าเด็กไทยอ่อนทุกวิชาจึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเชิญผู้เชี่ยวชาญวิชาต่างๆ มาวิเคราะห์หลักสูตรว่า เมื่อหลักสูตรแกนไปถึงโรงเรียนแล้ว โรงเรียนนำสาระหลักสูตรไปใช้ได้เหมาะสมหรือไม่ เพื่อปรับปรุงให้ดี นอกจากนี้ต้องมีการวัดประเมินผลเพื่อให้ทราบว่าคุณภาพดีขึ้นหรือไม่ด้วย ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ. กล่าวว่า ตนตั้งคณะกรรมการพัฒนาสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศขึ้น โดยที่ ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ จะจัดทำหลักสูตรแกนกลางภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ แล้วจะขยายผลโดยจัดอบรมครูให้ครอบคลุม ทั้งตั้งชมรมครูภาษาอังกฤษในแต่ละจังหวัดขึ้น ที่สำคัญจะขอความสนับสนุนจากองค์กรการสอนภาษาต่างประเทศให้การช่วยเหลือด้วย โดยในหลักสูตรภาษาอังกฤษใหม่จะเริ่มเรียนตั้งแต่ ป.1 มีการปรับปรุงการสอนจากที่เน้นการเขียนและไวยากรณ์ ซึ่งทำให้เด็กไม่กล้าพูด มาเป็นการฝึกให้เด็กฟัง พูด อ่าน และเขียน
(ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2545 หน้า 15)
เก็บข้อมูล ม.กำกับรัฐ
น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม ปอมท.เชิญ รศ.ดร.เดช พุทธเจริญทอง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้หนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มจธ. ภายหลังเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งได้รับคำตอบว่า ค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มเป็นระยะๆ ส่วนสถานภาพบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น ไม่มีความมั่นคง ทำให้บุคลาการไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และที่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใสในการบริหารงานของผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัย ซึ่ง รศ.ดร.เดชระบุว่า ในการสรรหาอธิการบดี มจธ. ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามกติกา และจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองและเร็วๆนี้ ปอมท. จะพบ ศ.ดร.อุกฤษณ์ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา เพื่อขอคำแนะนำในเรื่องดังกล่าว
(ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2545 หน้า 15)
เตือนอย่าเพิ่งเชื่อ มะนาวคุมกำเนิด
นายภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันได้ว่า น้ำมะนาวมีผลในการคุมกำเนิดหรือฆ่าเชื้ออสุจิได้และการวิจัยของประเทศออสเตรเลียเองก็ยังไม่ได้สรุปออกมาชัดเจนนัก อยู่ระหว่างการทดลอง ที่ตนกลัวขณะนี้คือ คนที่อ่านข่าวนี้แล้วเชื่อหรือทึกทักว่าน้ำมะนาวสามารถคุมกำเนิดได้จริง และไปทดลองทำกับคู่นอนดูบ้าง โดยละเลยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย อาจจะทำให้เกิดการตั้งครรถ์ไม่พึงประสงค์หรือติดเชื้อโรคจากเพศสัมพันธ์ได้ ยืนยันว่าการใช้ถุงยางอนามัยยังเป็นวิธีการคุมกำเนิดและป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด น.ส. พศนา บุญทอง ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบว่า ผู้หญิงมักล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาทำความสะอาดช่องคลอดที่มีจำหน่ายตามร้านทั่วไป ซึ่งตามหลักแล้วไม่ถูกต้อง เพราะในช่องคลอดเป็นกรดอยู่แล้วและมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องใช้อะไรมาล้างให้ระคายเคือง(มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545 หน้า 5)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
แพทย์ตำรวจรักษารูรั่วหัวใจเจ้าแรกในไทย
พล.ต.ต.น.พ.สมยศ ดีมาก ผู้บังคับการอำนวยการ สำนักงานแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ, พ.ต.อ.ณัฐนันทน์ ประศาสนสารกิจ และพ.ต.ท.บัณฑิต พรหมเมศร์ ประจำแผนกอายุรกรรมศูนย์โรคหัวใจ รพ.พต.ได้ร่วมกันแถลงข่าววานนี้ (26) ที่ห้องประชุม 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับความสำเร็จของคณะแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ในการรักษาการอุดรูรั่วหัวใจห้องบนโดยอุปกรณ์พิเศษที่ไม่ต้องผ่าตัดตามแบบเดิม พล.ต.ต.น.พ.สมยศ ดีมาก กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยทั้งสองนี้ ได้รับความอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลจากมูลนิธิศนูย์โรคหัวใจโรงพยาบาลตำรวจที่มีผู้บริจาคเงินไว้ 1 ล้านบาท ส่วนการรักษาแบบใหม่นี้ ไม่ต้องผ่าตัดตามแบบเดิมโดยจะไม่มีแผลเป็น อยู่โรงพยาบาลเพียง 2 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยจะกางออกเป็นร่ม2ชั้นปิดฝาผนังหัวใจ สำหรับค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลของรัฐ ต่อคนจะเสียเงินประมาณ 2 แสนบาท
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2545 หน้า 6)
2กระทรวงยักษ์ร่วมสร้างปรากฏการณ์อัจฉริยะ
กระทรวงศึกษาธิการจับมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมร่วมกันสร้างปราฏกการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ระดับชาติ จัดงาน Thailand Education & Science Fair 2002 ระหว่างวันที่ 15-25 สิงหาคม 2545 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชน นักวิทยาศาสตร์และเหล่านักวิจัย ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์อันกว้างไกลให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงศักยภาพทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์ไทยอีกด้วย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศีกษาธิการ ได้เปิดเผยถึงการจัดงานภายใต้ชื่อ เสมา 45: เปิดโลกการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ที่กระทรวงฯได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมในการจัดทำหลักสูตรไปแล้วโดยกิจกรรมต่างๆ จะเน้นด้านการให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center) รวมทั้งการแสดงถึงความก้าวหน้าทางการศึกษาไทยในยุคไอที และยังเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นของบุคลากรในแวดวงการศึกษาอีกด้วย ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นั้น นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ได้จัดให้มีงาน สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะที่ทรงเป็น พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งที่ 19 แล้วโดยมุ่งเน้นกิจกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545 หน้า 7)
ปรับกลยุทธ์พัฒนาแหล่งน้ำให้ไทยเป็นครัวของโลก
นายพูลประโยชน์ ชัยเกียรติ เลขานุการกรมชลประทาน ได้กล่าวว่ากรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องรับผิดชอบในการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอแก่ราษฎรได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหรือจัดหาแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ แบ่งตามลักษณะงานได้ 6 ประเภท ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อการผลิตไฟฟ้า เพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร เพื่อระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อบรรเทาน้ำเน่าเสีย ซึ่งกรมชลประทานได้จัดสร้างกิจกรรมชลประทานในภาคต่างๆ จำนวนมาก สร้างความเป็นอยู่ที่สมบรูณ์พูนสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนและพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือน้ำเพียงพอต่อการพัฒนาภาคเกษตรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติในที่สุด
(เดลินิวส์ พุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 20)
พบแร่ธาตุ หมื่นล้าน ที่เพชรบูรณ์
นายดิเรก ถึงฝั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่าเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิด ขณะนี้มีการขุดพบดินและหิน ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลนับหมื่นล้านในพื้นที่ในพื้นที่ของพล.ต.ท.วิเชียร บุญศิริ ข้าราชการบำนาญมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการลงทุนนำมาใช้ ต่อมาได้นำดินไปให้กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบ และต่อมากองวิเคราะห์รายงานให้ทราบว่าผลการวิเคราะห์พบว่าในดินมีแร่ธาตุที่มีมูลค่ามหาศาล สามารถใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องปั้นดินเผา มีลักษณะสีน้ำตาล และหินที่พบเป็นหินปูน สามารถนำมาแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ทำส่วนผสมปูนซีเมนต์และทำปูนขาว
(สยามรัฐ จันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2545 หน้า 22)
ไทยเจ๋งตัดแต่งยีนวัคซีน ไวรัสตับบี
ดร.เครือวัลย์ พลจันทร์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการวิจัยเรื่องการผลิตแอนติเจนชนิดผิวของไวรัสตับอักเสบบี (Hbs Ag) โดยวิธีพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีน และใช้ผลิตชุดน้ำยาสำเร็จรูปตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (anti-HbsAg)ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า โรคไวรัสตับอักเสบบีถือเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย เพราะคนไทยมีการติดเชื้อสูง และในกลุ่มผู้ติดเชื้อจะมีผู้ที่กลายเป็นพาหะของโรคถึงร้อยละ 8-10 และผู้ที่เป็นพาหะเหล่านี้มีโอกาสแสดงโรคมะเร็งตับในภายหลังได้ อีกทั้งยังพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับมีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบบีถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะ จะมีโอกาสติดเชื้อและกลายเป็นพาหะถึงร้อยละ 65-90 โดยที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าชุดน้ำยาสำเร็จรูปจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท และวัคซีนไม่ต่ำกว่าปีละ 410 ล้านบาท ทั้งนี้จากปัญหาดังกล่าว คณะวิจัยฯได้ใช้เวลานานกว่า 10 ปี เพื่อค้นคว้าวิจัยด้วยกระบวนการทางพันธุกรรม โดยมุ่งที่จะพัฒนาชุดน้ำยาสำเร็จรูปตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และพัฒนาวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งได้ประสบความสำเร็จแล้วทั้ง 2 โครงการ
(ไทยรัฐ วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2545 หน้า 15)
สวทช.เลือก 2 บริษัท อุตสาหกรรมดีเด่นปี 2545
นายไพรัช ธัชพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้คัดเลือกอุตสาหกรรมดีเด่นประจำปี 2545 เพื่อให้ได้แบบอย่างของความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม บริษัทที่ได้รับรางวัลคือ บริษัทบีโปรดักส์ อินดัสตรีส์ จำกัด และบริษัทรอยัลมอร์เตอร์เวอร์ค จำกัด บริษัทแรกนั้น สวทช.เป็นผู้อนุมัติเงินกู้จำนวน 2,500,000 บาท เพื่อทำโครงการวิจัยและพัฒนาวิธีการผลิตน้ำผึ้งจากธรรมชาติ ให้สามารถปรับปรุงให้น้ำผึ้งมีคุณภาพสูงขึ้น และมีอายุการใช้งานนานขึ้นเพื่อเพิ่มยอดขายจากเดิม 200 ตันต่อปี เป็น 500 ตันต่อปี และยังสามารถศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งใหม่ๆ ที่มีคุณภาพขึ้นด้วย ส่วนบริษัทรอยัลมอร์เตอร์เวอร์ค จำกัดนั้น เคยได้รับอนุมัติเงินกู้จาก สวทช. จำนวน 3,500,000 บาท เพื่อทำโครงการผลิตต้นแบบรถบรรทุกขยะมูลฝอยชนิดมีถังคัดแยกประเภทขยะมูลฝอยรวมอยู่ในรถคันเดียวกัน ทำให้บริษัทดังกล่าวสามารถใช้รถบรรทุกขยะที่ประดิษฐ์ขึ้น เก็บขยะมูลฝอยทั่วไปโดยมีการคัดแยกประเภทขยะภายในรถคันเดียวกันได้ สะดวกต่อการทำงาน ปลอดภัย ถูกหลักชีวอนามัย และประหยัดงบประมาณในการซื้อรถบรรทุกขยะอีกด้วย นอกจาก 2 บริษัทนี้แล้ว สวทช.ยังมีเป้าหมายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศทั้งทางด้านเทคนิคและการเงิน เพื่อส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีไปใช้ในการปรับปรุงและการพัฒนาเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นระบบสากล บริษัทใดที่ประสงค์จะได้รับการสนับสนุนในรูปแบบดังกล่าวติดต่อได้ที่ สวทช. โทรศัพท์ 0-2654-7000 ต่อ 1334-1337 นายไพรัชกล่าว
(มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2545 หน้า 18)
หลังพักเที่ยงไม่ควรใช้สมองอย่างหนัก อาจส่งผลร้ายแก่ตัวเอง
หนังสือพิมพ์ เฮลธ์ไทม์ รายงานสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนอนงีบหลังอาหารกลางวันที่เคยปฎิบัติกันมานานแล้ว กำลังถูกกดดันอย่างหนัก เนื่องจากในทศวรรษที่ผ่านมา ทางการจีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาด ส่งผลต่อการนอนงีบแบบเดิม ไม่สามารถทำได้จนต้องให้แพทย์เข้ามาช่วย โดยกรณีล่าสุด มีชายวัย 30 ปีรายหนึ่ง ทำงานในบริษัทเอกชนมาพบแพทย์และบ่นให้ฟังว่า เกิดอาการวิงเวียน นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนแอและขี้หลงขี้ลืม เมื่อแพทย์ตรวจดูอาการก็พบว่าเป็นผลมาจากการใช้สมองอย่างหนักเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร
(ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2545 หน้า 7)
เอาชนะโรคเกาต์อาการไม่หนัก ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดรักษา
พ.อ.หญิง รศ.พญ.พรฑิตา ชัยอำนวย ให้ความรู้ในการดูแลตนเองของผู้เป็นโรคเกาต์ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ มาจากไตขับถ่ายกรดยูริกได้น้อยกว่าปกติ ประกอบกับการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูงไป อาหารที่มีพิวรีนสูงได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผักต่างๆ อาหารที่ผู้ป่วยควรละเว้น เครื่องในน้ำหนัก 100 กรัม มีพิวรินตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมขึ้นไป คือ ตับอ่อน หัวใจไก่ ตับไก่ กึ๋นไก่ เซ่งจี๊ เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ห่าน ไขปลา ปลาไส้ตัน ปลาอินทรี ปลาดุก ปลาซาดีนกระป๋อง มันสมองวัว กุ้งซีแฮ้ หอย ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลือง ชะอม กระถิน กะปิ น้ำสกัดเนื้อ ซุปก้อน ยีสต์ อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง (50-150 มิลลิกรัม) เช่น เนื้อหมู ผัก ปลากะพงน้ำแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ใบขี้เหล็ก สะตอ ข้าวโอ๊ต ผักโขม เมล็ดถั่วลันเตา หน่อไม้ อาหารที่มีพิวรีนน้อย (0-15 มิลลิกรัม) เช่น นม และผลิตภัณฑ์นม ไข่ ผักทั่วไป เช่น คะน้า ตำลึง ผักบุ้ง ผลไม้ น้ำตาล ไขมันจากพืชและสัตว์ ข้าวและขนมปัง เนยเหลว เนยแข็ง โรคเกาต์มีสาเหตุเกิดจากร่างกายมีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง กรดแปรสภาพเป็นผลึกยูเรตตกตะกอนตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น กระดูกอ่อน เยื่อบุข้อ เส้นเอ็นพังพืด เป็นโรคเกาต์หากรักษาไม่ถูกต้อง มีโอกาสแทรกซ้อนทั้งโรคข้อพิการ ไตวายถึงชีวิต
(ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2545 หน้า 7)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ศิริราชเจ๋งลดติดเอดส์จากแม่สู่ลูกได้3เท่า
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงความสำเร็จของงานวิจัยช่วยลูกไม่ให้ติดเชื้อเอดส์จากแม่ด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอแซดที(AZT)ร่วมกับยา 3TC ในสตรีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์เป็นต้นไปร่วมกับการให้ยาน้ำ AZT ในทารกเป็นเวลา 1 เดือน ทำให้สามารถลดการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกได้ 3 เท่า เหลือเพียงร้อยละ 2.8 จากเดิมที่ใช้ยา AZT อย่างเดียวลดการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกได้ร้อยละ 11.7 คณะแพทย์ศาสตร์ฯเตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กระทรวงสาธารณสุข นำไปแก้ปัญหาการติดเอดส์จากแม่สู่ลูกต่อไปเพราะวิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายเพียง 1,800 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น โดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาต้านไวรัสจนคลอดประมาณ 70 เม็ดเท่านั้น
(มติชน อังคารที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 5)
มหัศจรรย์ หญ้าแฝก แปรรูปเพิ่มมูลค่าพัฒนาเป็นไม้อัด
กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตผลป่าไม้ สำนักวิชาการกรมป่าไม้ได้ร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาลำต้นและใบหญ้าแฝกซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาพัฒนาเป็นไม้อัดเพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้จากป่า และลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ ทีมงานวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วย นายวรธรรม อุ่นจิตติชัย นายทรงกรด จารุสมบัติ นายจรัส ชั่งชนะ และนางพรพิมล อมรโวติ ซึ่ง นายวนธรรม นักวิชาการป่าไม้ กล่าวว่า ตามปกติของการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการพัฒนาที่ดินจะมีการตัดลำต้นและใบแก่ทิ้งเพื่อให้แตกใบใหม่ อีกทั้งหญ้าแฝกที่ขึ้นตามธรรมชาติก็มีมาก ดังนั้นใบที่ถูกตัดทิ้งและแห้งตายจะกลายเป็นวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งมากมาย ทางทีมงานวิจัยจึงได้นำลำต้นและใบหญ้าแฝกมาศึกษาแล้วพบว่าลำต้นและใบหญ้าแฝกมีคุณสมบัติที่ดีเมื่อมาผ่านกระบวนการย่อยละเอียดแล้วอัดเป็นแผ่นจะมีคุณภาพใกล้เคียงกับไม้ธรรมชาติทุกประการ นอกจากนี้มีการนำมาเปรียบเทียบมาตรฐานอุตสาหกรรมแผ่นปาร์ติเกิลของ JIS A 5908 (1994) ยังพบว่าแผ่นประกอบจากหญ้าแฝกให้คุณภาพของแผ่นอยู่ในเกณฑ์สุงสุดของมาตราฐานที่กำหนด และสามารถนำไม้แฝกอัดมาผลิตเป็น งานหัตถกรรมและเครื่องไม้ในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ แจกัน กล่อง ฯลฯ ขณะนี้งานแปรรูปไม้แฝกอัดนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนและกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทางกรมป่าไม้จึงได้เปิดฝึกอบรมไปแล้วทั้งหมด 5 รุ่น จำนวน 150 คน และจะเปิดรุ่นที่ 6 ในเร็วๆ นี้ ดังนั้น ถ้าใครสนใจอยากไปชมขั้นตอนการผลิต พร้อมทั้งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ หรือต้องการฝึกอบรม ติดต่อได้ที่ นายวรธรรม อุ่นจิตติชัย โทร.0-2561-4292-3 ต่อ 471, หรือ 0-1331-3557 เวลาราชการ
(เดลินิวส์ อังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 27)
คนติดอ่าง ได้ลุ้นวิธีรักษา สหรัฐคิดค้นเครื่องมือใหม่ เผยต้นตอ 2 จุดบอดในสมอง
การวิจัยของมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี พบโครงสร้างภายในสมองของคนตัวอย่าง 15 คน ที่พูดติดอ่างมีระดับความแตกต่างกัน ทั้งนี้ใช้เครื่องมือตรวจสภาพของสมองซึ่งเป็นเครื่องสแกนฉายภาพรายละเอียดในการทำงานของสมอง ในงานวิจัยระบุว่า พบประเด็นที่น่าสนใจการทำงานของสมองซึ่งส่งสัญญาญผ่านบริเวณที่เรียกว่า โรแลนติก โอเปอร์คิวลัม (Rolandic operclum) ถ้าคนปกติพูดไม่ติดอ่าง โรแลนดิกโอเปอร์คิวลัมจะเป็นเนื้อสีขาวมากกว่าคนที่พูดติดอ่าง นั่นหมายความว่า คนพูดจะไม่ติดอ่างจะมีการส่งสัญญาณสื่อสารผ่านพื้นที่ตรงนี้ได้ง่ายกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดและภาษาระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพราะจำเป็นต้องหาให้ได้ว่าจะทำอย่างไรจึงเปลี่ยนโครงสร้างของสมองบริเวณที่ทำให้เกิดปัญหา ในขณะเดียวกันเครื่องสแกนอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยวินิจฉัยการพูดติดอ่าง และเป็นการติดตามความก้าวหน้าในการบำบัดรักษาคนติดอ่าง ซึ่งหากเป็นเด็กที่มีอาการติดอ่างอาจจะบำบัดรักษาได้ผลดีขึ้น ส่วนที่มหาวิทยาลัยอีสต์แคโรไลนา ในรัฐนอร์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า เครื่องทำให้พูดสะดวกขึ้น (Speech Easy Device) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในช่องหู ภายในมีไมโครโฟนเครื่องขยายเสียงและลำโพง เครื่องมือชิ้นนี้จะช่วยชะลอเสียงและปรับเสียงให้กับคนติดอ่างเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองซึ่งนักวิจัยยังไม่ได้สรุปผลว่าจะทำงานได้ดีแค่ไหน
(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 19)
ทำยาคุม ยีน ลดก้าวร้าว วาดฝันแก้ อาชญากรรม
นักวิจัยแห่งคิงส์คอลเลจ ลอนดอน พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กก้าวร้าวต่อต้านสังคม เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมในอนาคตโดยการใช้ยาควบคุมยีน หรือพันธุกรรมเพื่อลดความก้าวร้าวลง นักวิจัยระบุว่า เด็กที่ออกนอกลู่นอกทางสร้างปัญหาให้กับสังคมนั้นจะมีพันธุกรรมพิเศษและจะแสดงออกเมื่อเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการอบรมหรือควบคุมความประพฤติที่เหมาะสมเพียงพอในระหว่างที่ยังเป็นวัยรุ่น ยีนที่ควบคุมเอนไซม์ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวมีชื่อเรียกว่า โมโนแอมมิน (monoamine oxidase A/MAOA) แต่ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐออกมาเตือนว่า ไม่ควรด่วนสรุปผลการศึกษาดังกล่าวเพื่อนำไปพัฒนาบำบัดพฤติกรรมต่อต้านสังคม เพราะยังมีวิธีที่จะหยุดยั้งความรุนแรงในสังคมโดยการเลิกทารุณกรรมเด็ก
(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2545 หน้า 19)
ไคโตรซาน ใช้กำจัดสีน้ำทิ้งสิ่งทอได้ดี
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนให้ น.ส.บุญศรี คุ่สุขธรรม จากแผนกวิชาเคมีสิ่งทอ คณะวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ พัฒนาโครงการการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดสีในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยพบว่าน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดถูกนำมาวิเคราะห์สีในน้ำ การวัดค่าความขุ่น การการวิเคราะห์ของแข็งทั้งหมด ของแข็งแขวนลอยทั้งหมด ของแข็งละลายน้ำ การวิเคราะห์ปริมาณบีโอดี ซีโอดี และการวิเคราะห์ปริมาณอลูมิเนียม ซึ่งผลการศึกษาพบว่าเกลือไฮโดรโบรไมด์ของไคโตซานและไคโตซาน-พอลิอะคริลาไมด์ สามารถกำจัดสีในน้ำทิ้งที่เตรียมจากห้องปฏิบัติการได้ โดยสีที่ถูกกำจัดได้ดีที่สุด คือ สีดีสเพอร์ส สีแอซิด และสีรีแอ็กทีฟ น.ส.บุญศรีกล่าวว่า การใช้ไคโตซานร่วมกับสารส้มจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดสีของสารส้ม: ปูนขาว :ไคโตซาน-พอลิอะคริลาไมด์ของไคโตซานคือ 1:2:2 และการใช้สารส้มร่วมกับเกลือไฮโดรโบรไมด์ของไคโตซานจะให้ประสิทธิภาพในการกำจัดสีในน้ำทิ้งจากห้องปฏิบัติการดีกว่าการใช้สารส้มร่วมกับไคโตซาน-พอลิอะคริลาไมด์ ส่วนการกำจัดสีรีแอ็กทีฟพบว่าเกลือไฮโดรโบรไมด์ของไคโตซานจะให้ประสิทธิภาพในการกำจัดดีกว่าการใช้สารละลายไคโตซานในกรดอะซีติกและไคโตซานในรูปผง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือทำให้ปริมาณหัวกุ้งและเปลือกกุ้งมีมากขึ้น การนำเปลือกกุ้งมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไคตินและอนุพันธ์ของไคติน คือ ไคโตซานจะเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้ประโยชน์และเพิ่มพูนมูลค่าให้กับของเหลือทิ้งเพราะไคโตซานมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับเซลลูโลสมีสมบัติในการดูดจับสีย้อมได้ดี จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการกำจัดสีย้อมจากน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้(มติชนรายวัน วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2545 หน้า 18)
ไอบีเอ็มจับมือนิออนร่วมพัฒนา กล้อง จุลทรรศน์อิเล็กตรอน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างคำแถลงของบริษัทไอบีเอ็ม คอร์ป. ว่า ทางบริษัทสามารถพัฒนากล้องจุลทรรศน์ สำหรับขยายภาพอิเล็กตรอนขนาดจิ๋วได้สำเร็จ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยในการผลิตชิพคอมพิวเตอร์ให้มีขนาดเล็กลง และมีความเร็วประมวลผลสูงขึ้น เนื่องจากช่วยให้นักวิจัยสามารถเห็นเครือข่ายการทำงาน ระหว่างอะตอมแต่ละตัวได้อย่างชัดเจน นายฟิลิป แบตสัน หัวหน้าทีมวิจัยของไอบีเอ็ม เผยว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถขยายภาพโครงสร้างชิพในช่วงพื้นที่ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 1 แองสตรอม หรือ 1 ส่วนหมื่นล้านเมตรได้ ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอะตอมแต่ละตัวขณะที่ชิพกำลังทำงาน ทำให้สามารถซ่อมแซมข้อบกพร่องต่างๆ ในอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ที่มีขนาดเล็กได้ เช่น การค้นหาตัวอะตอมที่หายไป หรืออะตอมที่เกิดจากปริมาณปกติ บริษัท ไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่แห่งเมืองอาร์มองค์ รัฐนิวยอร์ก ได้ร่วมมือกับบริษัทนิออน โค. ในการพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี โดยตัวแทนของไอบีเอ็มเผยว่า ทางบริษัทได้ตีพิมพ์รายละเอียดของโครงการดังกล่าว ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ เนเจอร์ ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม นอกจากนี้ นายแบตสัน ยังกล่าวอีกว่า นักชีววิทยาสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในการวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติ ของโมเลกุลที่มีโครงสร้างซับซ้อนได้ด้วย เช่น การศึกษาโครงสร้างของสารประกอบโปรตีน เป็นต้น(กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545 หน้า 7)
นักวิจัยคิดวิธีซ่อนปลายนิ้วมือบนรูป ในพาสปอร์ตช่วยป้องกันอาชญากร
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเบน-กูเรียน ในอิสราเอล ได้คิดค้นวิธีการซ่อนข้อมูลส่วนตัว อาทิ ลายนิ้วมือ และลายเซ็น ไว้ในรูปภาพสีคาดว่าจะช่วยในการพัฒนาระบบความปลอดภัยของพาสปอร์ตหรือใช้ในการติดบาร์โค้ด ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ลงบนสินค้า นายโจเซฟ โรเซน และทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้สร้างระบบอัลกอริธึมที่สามารถแปลงลายนิ้วมือ หรือลายเซ็นให้เป็นตัวเลขชุดหนึ่งได้ จากนัน จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของจุดขนาดเล็ก ที่ประกอบขึ้นเป็นภาพสี ตามตัวเลขเหล่านี้ นายโรเซน กล่าวอีกอีกว่า คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมนี้ จะสามารถแกะโครงสร้างของปลายนิ้วมือได้โดยการวัดตำแหน่งของจุดต่างๆบนรูป ซึ่งได้ถูกสลับที่ ทั้งนี้ หากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ตามจุดตรวจพาสปอร์ตจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจลายนิ้วมือ หรือลายเซ็นจากรูปได้ และทำให้สามารถระบุได้ว่า พาสปอร์ตตรงกับผู้ถือหรือไม่
(กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545 หน้า 7)
เร่งวิจัยเทคโนโลยีวัสดุหวังลดต้นทุน-นำเข้า
นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เปิดเผยในงานประชุมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่า สวทช.มีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 สาขา คือ เทคโนโลยีวัสดุเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรภายในประเทศ เทคโนโลยีวัสดุเพื่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีวัสดุทางการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน และเทคโนโลยีวัสดุเพื่อส่งเสริมการเกษตร เทคโนโลยีโลหะและวัสดุเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่จะช่วยสมรรถนะและสร้างประโยชน์ในเรื่องการออกแบบ การเลือกวัสดุ การพัฒนาสมรรถนะการใช้งานวัสดุ และการค้นหาวัสดุใหม่เพื่อทดแทนวัสดุเดิม หากมีการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตของประเทศได้ด้วย นายไพรัชกล่าว นายปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ภายหลังจากเอ็มเทคได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีวัสดุมาเป็นเวลา 15 ปี ขณะนี้ เตรียมผลักดันให้มีการวิจัยที่สามารถนำไปใช้พัฒนากระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ(มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2545 หน้า 16)
ข่าวทั่วไป
คพ.ฟุ้ง คลินิกไอเสีย สุดเจ๋งลดมลพิษเกินครึ่ง-ขยายผล
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา นางนิศากร โฆษิตรัตน์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานคอนเสิร์ต คนรักรถ รักสิ่งแวดล้อม ว่า จากการที่ คพ.ได้จัดโครงการคลินิกไอเสีย มาตั้งแต่ปี 2538 ปรากฏว่าขณะนี้มีสถานนีบริการซ่อมบำรุงและปรับแต่งเครื่องยนต์จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 500 แห่ง และประมาณ 150 แห่ง ได้รับป้ายสัญลักษณ์ คลินิกไอเสีย ไปแล้วทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เจ้าของรถยนต์และผู้ขับขี่รถทุกประเภทได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรถให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่จะลดผลกระทบมลพิษทางอากาศและเสียงที่มาจากรถควันดำ ควันขาว และขณะนี้ถือว่าโครงการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยวัดจากการที่เจ้าของสถานนีสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในการควบคุมคุณภาพนั้น ทาง คพ. ก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ประเมินผล เพื่อให้การดำเนินงานอยู่ในระดับมาตรฐานด้วย สำหรับการประเมินผลที่ผ่านมาพบว่า รถที่เข้าร่วมโครงการในคลินิกไอเสีย สามารถลดการปล่อยควันดำและมลพิษลงได้มากกว่า 50% ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้สถานีบริการซ่อมบำรุงและปรับแต่งเครื่องยนต์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกโครงการนี้ โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่อู่ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ต้องการให้อู่ระดับเล็กและในต่างจังหวัดเข้าร่วมมากขึ้น
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2545 หน้า 15)
ตั้งศูนย์การได้ยินครบวงจร
นางสุนีย์ ศรไชยธนะสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท ดุสิตเมด จำกัด กล่าวว่า การดูแลฟื้นฟูผู้บกพร่องทางการได้ยินนั้นจำเป็นต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และถูกวิธีจึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางการได้ยินที่มีประสบการณ์ด้านการวางแผนช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน ตั้งเป็นศูนย์การได้ยิน ดีเมด ศูนย์แห่งนี้พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและให้บริการผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินอย่างครบวงจร เช่น ตรวจการได้ยินทั้งในทารก เด็ก และผู้ใหญ่ตรวจกระบวนการได้ยิน การทำงานของหูชั้นกลาง ฯลฯ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินที่มีปัญหาเรื่องการใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผล
(มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2545 หน้า 16)
ทศท.เปิดบริการบัตรโทรสะดวกใช้เก็บเงินปลายเดือน
นายดนัย ภูติพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาปฏิบัติการและบริการ บริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ซึ่งเพิ่งแปรสภาพมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า บริษัทได้เปิดให้บริการใหม่บนโครงข่ายอัจฉริยะ (ไอเอ็น) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางด้านการบริการและสร้างช่องทางรายได้ใหม่ โดยช่าสุดได้เปิดตัวบริการ ทีไอที โพสต์เพด หรือบัตรโทรศัพท์สะดวกใช้ เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการทั่วไป 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มที่มีคนในครอบครัวอยู่คนละจังหวัด 2. ผู้ปกครองซื้อให้กับบุตรเพื่อเป็นการกำหนดวงเงินใช้จ่าย และ 3. กลุ่มธุรกิจที่มีพนักงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ และต้องติดต่อกลับมายังสำนักงาน ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการต้องมีเลขหมายของ ทศท. อยู่แล้ว และลงทะเบียนการขอใช้ที่สำนักบริการของ ทศท. เพื่อกำหนดคุณสมบัติของรหัสบัตร,วงเงินการใช้งานในแต่ละเดือน และกำหนดเลขหมายปลายทางขณะที่ การคิดค่าบริการจะรวมอยู่ในใบเสร็จรับเงินที่เรียกเก็บปลายเดือน
(กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2545 หน้า 3)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|