หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 32 ประจำวันที่ 2002-09-10

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯดึง พันธุ์ทิพย์ นำร่องศูนย์เรียนรู้
ทบวงฯมุ่งวางเกณฑ์เทียบโอน
คณาจารย์จุฬา 81.89% หนุนจุฬาฯเป็นราชการ
เปิดดวงตา สัมผัส”วรรณกรรมอักษรเบรล”
“เกษม”หวั่นให้ใบอนุญาตครูฟรี หมดทางยกระดับคุณภาพการศึกษา
มติ นศ.มธ.เรียนท่าพระจันทร์ 2 ปี ชี้รังสิตไม่พร้อม
ร.ร.ประถมลำบากถูกหั่นรายหัว
ขรก.ทบวงฯตบเท้าขอโอนสังกัดหวั่นสถานภาพ
เปิดเวบไซต์รายงานปฏิรูป
“สุวิทย์” ให้กรมอาชีวจัดหลักสูตรอนุปริญญาช่วย ว.ชุมชน
ศธ. ทบวงลงมติตั้งสถาบันทดสอบการศึกษา
ผลประชามติ ‘จุฬาฯ’ ควรเป็นส่วนราชการ ‘สุรพล’ จี้รัฐบาลชัดเจน ‘นโยบายม.อิสระ’
ปรับระบบจ่ายเงินกู้เรียนใหม่
‘สุวิทย์’ สั่งบันทึกผลสอบวัดคุณภาพน.ร.ลงใบรบ.-แก้เด็กเมิน ‘ผลคลาดเคลื่อน’
สมัครสอบวัดความรู้เอ็นท์วันแรกฉลุย-คาดเพิ่ม5%
ประชาพิจารณ์แอดมิชชั่นส์12ก.ย.นี้เพิ่มน้ำหนักผลการเรียนม.ปลาย25%
หวั่นผู้ปกครองเบี้ยว ‘โฮมสคูล’ บังคับสอบมาตรฐานความรู้เด็ก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

อินฟราเรด แสงสารพัดประโยชน์
ดาวเทียมนักดับเพลิง
เทคโนโลยีการผลิตผงไหมใกล้คลอดญี่ปุ่นจีบขอตั้งโรงงาน
รังสีเพื่อการพัฒนาพันธุ์พืช
เผยกิงโกะไม่ช่วยบำรุงสมอง
ประดิษฐ์ตู้เย็นพลังแสงอาทิตย์ ของขวัญของคนยากจนทั่วโลก
สงสัยเจลฟอกฟันขาว อาจทำให้รู้สึกเสียวฟัน
นมพาสเจอไรซ์ประยุกต์
เห็ดหอมป้องกันสารพัดโรค หมอแนะบริโภคเป็นอาหารทดแทนโปรตีน
โครงการหลวงยื่นจดสิทธิบัตร คิดค้นหญ้าแฝกอัดขึ้นรูปแทนไม้
โทร.มือถือรุ่นเก๋าอันตรายโอกาสเสี่ยงเป็น ‘เนื้องอก’
รถไฮเทคไร้เครื่องยนต์สหรัฐเตรียมขายอีก 10ปี

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักวิทย์ฯ พัฒนาเครื่อง 3 มิติรักษากระดูก
ม.รังสิตจับมือ สวทช.หนุนงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ
หนุ่มนักประดิษฐ์พระจอมเกล้าธนฯเจ๋งทำ ‘กระบอกเนื้อนุ่ม’ เครื่องแรกในโลก
แนะตั้งหน่วยงานกลางวิจัยสมุนไพรครบวงจร
วช.วิจัยสนองพระราชดำริทำไม้อัด ‘หญ้าแฝก’ เยี่ยมอบรมเชิงพาณิชย์แล้ว6รุ่น
พัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยคนพิการใช้ ‘สายตา’ บังคับแป้นพิมพ์ดีด
คอนเแท็กต์เลนส์ใส่นาน2ปีตัดปัญหาต้องถอดล้างบ่อย
ยาสกัดจากบรอคโคลีต้านมะเร็งเต้านมลาม
ให้ทุนวิจัย ‘ศึกษาพื้นฐาน’ พัฒนากระบวนการเรียนรู้

ข่าวทั่วไป

สธ.ไฟเขียวนวดไทยเบิกค่ารักษาได้
ยาบ้ายุคใหม่คนเสพ “บ้า”เร็วขึ้น
ผู้หญิงสูบบุหรี่เสี่ยงภัยสุขภาพกว่าผู้ชาย
ไขมันผู้หญิงก่อโรคหัวใจมากกว่าผู้ชาย
เสนอ “ไข่พระอาทิตย์” สูตรพระราชทานอาหารประจำชาติ
ระดมพื้นทะเลบางขุนเทียน วางแผนป้องกันคลื่นกัดเซาะพื้นที่พังทลาย
โลกประสบปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ‘น้ำท่วม-ร้อน-ก๊าซเรือนกระจก’ คุกคาม





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯดึง พันธุ์ทิพย์ นำร่องศูนย์เรียนรู้

นายประวิช รัตนเพียร ที่ปรึกษา รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์การค้าและเอกชน จัดตั้งศูนย์นันทการเพื่อการเรียนรู้ Edutainment Center เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการเรียนรู้และผ่อนคลายจากการเรียน สำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ โดยจัดตั้งขึ้นแห่งแรก ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า โดยจะเป็นการนำร่องโครงการฯ ตลอดจนการศึกษาจุดอ่อน จุดแข็งเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กันยายน 2545 โดย ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเปิดให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e- Course) ทุกระดับชั้นการศึกษา ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เป็นต้น โดยจะเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 – 19.00 น. เป็นระยะเวลา 6 เดือนเต็มนับแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2545 หน้า 7)





ทบวงฯมุ่งวางเกณฑ์เทียบโอน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายในการเทียบโอนผลการเรียน ประสบการณ์การทำงานสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542” ว่า ขณะนี้ทบวงฯกำลังยกร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิตอย่างกว้างๆ เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่มีความรู้ทางประสบการณ์วิชาชีพ แต่ไม่ได้เรียนหนังสือ ดังนั้นการจัดเทียบโอนความรู้จะเป็นการแปลงประสบการณ์ให้เป็นคุณวุฒิ ความรู้ เพื่อสะสมความรู้ที่มีและนำไปเผยแพร่ให้คนไทย 61 ล้านคน ได้รับรู้ว่าเรามีทุนทางปัญญาด้านใดบ้างที่จะสามารถดึงมาใช้ในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่งคั่งทางปัญญา ซึ่งตนอยากให้ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเทียบโอนในทุกระบบการศึกษา ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เอกชน สถาบันราชภัฎ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในการวางระบบมาตรฐานการเทียบโอนร่วมกันโดยมีปรัชญาจากการแข่งขันมาเป็นความร่วมมือ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับประชาคมโลก (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2545 หน้า 14)





คณาจารย์จุฬา 81.89% หนุนจุฬาฯเป็นราชการ

รศ.ท.พ.สุนทร ละพิสุวรรณ ประธานสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สภาคณาจารย์จุฬาฯ ได้มีการลงมติเพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของจุฬาฯภายหลังจากออกนอกระบบ โดยมีผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น จำนวน 6,000 คน แต่มาลงมติ 3,896 คน คิดเป็นร้อยละ 64.93 โดยมีบัตรดี 3,772 ใบ และบัตรเสีย 124 ใบ ซึ่งผลปรากฎว่ามีบุคลากรจำนวน 3,089 คนหรือร้อยละ 81.89 เห็นว่าจุฬาฯ ควรเป็นส่วนราชการ และจำนวน 683 คนหรือร้อยละ 18.11 เห็นว่าไม่ควรเป็นราชการ ส่วนสถานะของมหาวิทยาลัย และบุคลากรนั้นมีผู้เลือกทางเลือกต่างๆ ได้แก่ 1. การเป็นส่วนราชการพิเศษ มีความเป็นอิสระ มีการจัดการและมี พ.ร.บ. ที่เป็นของตนเองในทำนองเดียวกับข้าราชการอัยการ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการ ซึ่งมีผู้เห็นด้วย จำนวน 2,333 คน คิดเป็นร้อยละ 61.85 2. การเป็นส่วนราชการภายใต้คณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและบุคลากรในมหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการ มีผู้เห็นด้วย 613 คน คิดเป็นร้อยละ 16.73 3. การเป็นส่วนราชการในลักษณะอื่นๆ จำนวน 115 คน คิดเป็นร้อยละ 3.05 “ส่วนที่เห็นว่าควรจะเป็นหน่วยงานในรูปแบบเดียวกับรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง สถาบันพระปกเกล้า มีจำนวน 359 คน คิดเป็นร้อยละ 9.52 การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย มีจำนวน 243 คน คิดเป็นร้อยละ 6.44 ไม่เป็นราชการในรูปแบบอื่นๆ จำนวน 59 คนคิดเป็นร้อยละ 1.56 และมีผู้ไม่ระบุความคิดเห็น จำนวน 32 คน คิดเป็น 0.85” รศ.ท.พ.สุนทรกล่าว (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 14)





เปิดดวงตา สัมผัส”วรรณกรรมอักษรเบรล”

มูลนิธีดำรงชัยธรรม โดยประธานมูลนิธิ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ได้จัดโครงการ “ย่อโลกทั้งใบให้เด็กไทยได้รู้จัก” ผ่านวรรณกรรมเยาวชนนานาชาติ จาก 4 ประเทศ ได้แก่ “ไอเลิฟยู หนูรักแม่” จากญี่ปุ่น “โรงเรียนเวทมนตร์”จากจีน “บั๊ด” จากสหรัฐเอมริกา และ “จดหมายลับของพ่อ”จากฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชนอายุ 9-12 ปี โดยจัดมอบให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนประถมทั่วประเทศ จำนวน 33,000 แห่ง และเพื่อให้เยาวชนตาบอด ได้มีโอกาสสัมผัสเรื่องราวสาระสนุกสนานของวรรณกรรมยอดนิยมเหล่านี้ ทางมูลนิธิดำรงชัยธรรมจึงได้จัดแปลวรรณกรรมทั้งหมดเป็นอักษรเบรลมอบให้กับโรงเรียนสำหรับคนตาบอด เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยรักการอ่านและใฝ่รู้ก้าวทันโลก (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





“เกษม”หวั่นให้ใบอนุญาตครูฟรี หมดทางยกระดับคุณภาพการศึกษา

จากการสัมมนาทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าทางการศึกษาและการพัฒนาประเทศ จัดโดยมูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ และกระทรวงศึกษาธิการ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บรรยายพิเศษตอนหนึ่งเรื่องทิศทางการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาว่า คุณภาพการศึกษาจะเกิดได้จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานกลางของการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท และทำการวัดประเมินผลโดยใช้ข้อสอบกลาง โดยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานควรมีการสอบด้วยข้อสอบกลางชั้น ป.3,ป.6 ,ม.3 ,ม.6 ระดับอาชีวศึกษา ประเมินชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตรแต่ละสาขา ระดับอุดมศึกษา ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานกลาง โดยเฉพาะบัณฑิตที่จบปริญญาตรี ซึ่งน่าจะเริ่มต้นในสาขาวิชาที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก่อน (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





มติ นศ.มธ.เรียนท่าพระจันทร์ 2 ปี ชี้รังสิตไม่พร้อม

ห้องสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการประชุมสภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นผลสรุปความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี จากท่าพระจันทร์ไปศูนย์รังสิตต่อ ดร.พนัส สิมะเสถียร นายกสภา มธ. และ รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร อธิการบดี มธ. นายกรวีย์ กล่าวว่า อมธ.ได้จัดให้มีการลงคะแนนแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาทั้ง 2 วิทยาเขต ทุกคณะ ทุกชั้นปี จำนวน 6,965 คน ใน 2 เรื่อง คือการขยายการเรียนการสอนไปศูนย์รังสิต และความพร้อมของศูนย์รังสิต โดยผลการลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 เห็นควรจัดการเรียนการสอนที่ศูนย์รังสิต สำหรับนักศึกษาทุกคณะในชั้นปีที่ 1,2 และเห็นด้วยที่จะให้นักศึกษาปีที่ 3 และ4 เรียนที่ท่าพระจันทร์ ส่วนในเรื่องความพร้อม กว่าร้อยละ 77 เห็นว่าศูนย์รังสิตยังไม่มีความพร้อม (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





ร.ร.ประถมลำบากถูกหั่นรายหัว

ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) กล่าวถึงเงินค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรให้กับนักเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545 โดยกำหนดระดับประถมศึกษาได้รับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่เพียงพอ ในขณะที่สภาพโรงเรียนประถมส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ผู้ปกครองไม่ค่อยมีฐานะ การให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่าย จึงทำได้ไม่มาก สปช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้สำรวจหาตัวเลขเงินค่าใช้จ่ายรายหัวที่เหมาะสมและเห็นตรงกันว่า จำนวน 1,240 บาทต่อนักเรียน 1 คน น่าจะเป็นตัวเลขที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถขยับตัวพัฒนาตนเองได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีความจำเป็นต้องปรับลงงบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนประถมศึกษาลง สปช.รับได้ในระดับหนึ่งและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม (ไทยรัฐ วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





ขรก.ทบวงฯตบเท้าขอโอนสังกัดหวั่นสถานภาพ

ศ.ร.ต.วรเดช จันทรเดช ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการนำร่องปฏิบัติงาน ตามโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่า ทบวงฯจะนำร่องปฏิบัติงานตามโครงสร้างใหม่วันที่ 6 ก.ย.นี้ในบางหน่วยงานคือ สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา ซึ่งจะดูมาตรฐานของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามารวมกันให้ชัดเจน สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบอุดมศึกษา นอกจากจะดูแลข้าราชการสาย ก ข และ ค แล้วจะดูรวมไปถึงนิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนด้วย สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศก็จะต้องทำงานให้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ การนำร่องจะทำให้บุคลากรในหน่วยงานมั่นใจในสถานภาพและปรับตัวล่วงหน้าได้ ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวว่า บุคลากรทบวงฯจำนวนมากขอโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานภาพหลังปรับโครงสร้างใหม่ ปลัดทบวงฯกล่าวว่า เท่าที่ทราบมีการขอโอนย้ายไปไม่น่าเกิน 10 คน ซึ่งทบวงฯก็สนับสนุน เพราะเป็นการหมุนเวียนบุคลากรที่มีความรู้ไปช่วยทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงานอื่น ซึ่งคิดว่าไม่มีผลต่อการทำงาน คาดว่าในสัปดาห์หน้าการเกลี่ยอัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบวงฯและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) น่าจะเสร็จ และมั่นใจว่าจะไม่มีการเพิ่มสำนักต่างๆ เพื่อเพิ่มตำแหน่งบริหารมากขึ้น เพราะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะล็อกตำแหน่งต่างๆไว้แล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่าข้าราชการทบวงฯ กว่า 20 คน ได้ทำหนังสือขอโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นแล้ว และกำลังจะมีเพิ่มอีกระลอก รวมจำนวนแล้วเกือบ 100 คน โดยสาเหตุเป็นเพราะไม่มั่นใจในโครงสร้างใหม่ และบางส่วนอยากจะไปเป็นอาจารย์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาอย่างเต็มที่ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





เปิดเวบไซต์รายงานปฏิรูป

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา ในฐานะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การเตรียมการเข้าสู่กระทรวงการศึกษา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนประชาสัมพันธ์จากทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.)ภาคเอกชน ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการจัดระบบบริหารของส่วนราชการ ตามโครงสร้างของกระทรวงการศึกษา และอนุกรรมการฯทุกชุด ซึ่งจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.นี้ ที่ www.newmoe.org หรือ www. Newmoe.ge .go.th โดยจะเปิดเว็บบอร์ดและตั้งกระทู้ประเด็นสำคัญๆ ให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความเห็น เช่น ชื่อกระทรวง เรียนฟรี 12 ปี เป็นต้น ทั้งมีสายด่วนส่งข้อคิดเห็นถึง รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. และในวันที่ 16 ก.ย.นี้ จะมีการถ่ายทอดสดความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษาทางไอทีวี (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





“สุวิทย์” ให้กรมอาชีวจัดหลักสูตรอนุปริญญาช่วย ว.ชุมชน

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมอาชีวศึกษาปรับปรุงหลักสูตร ปวส. ที่มีอยู่แล้วในวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคทุกจังหวัด โดยอาศัยความร่วมมือกับท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง จัดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในลักษณะพัฒนาต่อเนื่องเป็นวิทยาลัยชุมชน หลักสูตรอนุปริญญา 2 ปี นอกจากหลักสูตรวิชาชีพแล้วยังให้มีวิชาสามัญด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดปัญหาการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในทุกจังหวัด และลดภาระการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน โดยให้กรมอาชีวศึกษาหารือร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดบริการไม่ซ้ำซ้อน หลังจากผู้ที่เรียนจบแล้วสามารถนำวุฒิเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2545 หน้า 8)





ศธ. ทบวงลงมติตั้งสถาบันทดสอบการศึกษา

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิการบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงฯ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมติให้จัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขึ้น เพื่อดำเนินการจัดระบบและวิธีการทดสอบในระดับชาติทั้งในการประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยส่วนงานดังกล่าวจะรองรับระบบการสอบเข้าระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ที่แต่ละคณะวิชากำหนดการเลือกรับนักศึกษาได้เอง ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2548 ทั้งนี้ หน่วยงานใหม่จะเป็นหน่วยงานอิสระ มีรูปแบบการบริหารแบบคณะกรรมการ โดยจะต้องมีการจัดทำกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2545 หน้า 8)





ผลประชามติ ‘จุฬาฯ’ ควรเป็นส่วนราชการ ‘สุรพล’ จี้รัฐบาลชัดเจน ‘นโยบายม.อิสระ’

ร.ต.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยรัฐว่าขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ออกนอกระบบราชการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกฤษฎีกาแล้ว 14 มหาวิทยาลัย จากทั้งหมด 20 แห่ง ซึ่งกำลังทยอยเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับ ทั้งนี้นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยได้นำเสนอสิทธิและประโยชน์เพื่อให้ ครม.พิจารณาแล้วหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนโดยรัฐจะยังคงจัดสรรเงินเดือนบุคลากรให้เท่าเดิม เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หลักประกันความมั่นคง และการใช้ที่ราชพัสดุ เป็นต้น ส่วนที่เกรงว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการแล้วจะเกิดปัญหาขึ้นค่าหน่วยกิต ซึ่งจะเป็นภาระต่อนิสิตนักศึกษานั้น ตนเชื่อว่าไม่เกิดปัญหานี้แน่ เพราะสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว และมหาวิทยาลัยรัฐก็จัดตั้งขึ้นโดยไม่มุ่งหวังกำไรอยู่แล้วด้วย จึงย่อมคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่วนความคืบหน้าการออกนอกระบบราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรายงานข่าวจากสภาคณาจารย์ แจ้งว่า จากที่ได้จัดให้มีประชามติเพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของจุฬาฯ เห็นว่าจุฬาฯ ควรเป็นส่วนราชการ เป็น 81.89% และเห็นว่าไม่ควรเป็นส่วนราชการ 18.11% สำหรับสถานะมหาวิทยาลัยและบุคลากร มีผู้เลือกทางเลือกต่างๆ 61.85% ให้จุฬาฯเป็นส่วนราชการพิเศษ มีความอิสระ มีระบบบริหาร มีการจัดการ และกฎหมายที่เป็นของตนเอง ในทำนองเดียวกับข้าราชการอัยการและบุคลากรเป็นข้าราชการ 16.73% ให้จุฬาฯเป็นส่วนราชการภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 3.05% ให้จุฬาฯเป็นส่วนราชการในลักษณะอื่นๆ 9.25% ให้จุฬาฯเป็นหน่วยงานในรูปแบบเดียวกับรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรอิสระ 6.44% ให้จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล และบุคลากรเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและ 1.59% ในจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล (มติชน เสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





ปรับระบบจ่ายเงินกู้เรียนใหม่

นายฤทธิ์ ฉวีรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ได้เชิญผู้แทนธนาคารกรุงไทยมาหารือ เพราะมีผู้ที่กู้เงินกองทุนจำนวนมากยังไม่สามารถเบิกเงินจากตู้ถอนเงินด่วน หรือเอทีเอ็มได้ ซึ่งผู้แทนธนาคารแจ้งว่า เนื่องจากมีผู้กู้มากทำให้จ่ายเงินไม่ทัน แต่ได้เร่งทยอยจ่ายเงินแล้ว นอกจากนี้ ทางธนาคารกรุงไทยยังได้เปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม จากเดิมเบิกเงินได้ช่วงกลางเดือนของทุกเดือน ปรับใหม่เป็นตามวันเกิดของแต่ละคนในแต่ละเดือน เช่น ผู้กู้เกิดวันที่ 5 สิงหาคม จะกดเงินได้ทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน เป็นต้น (มติชน พฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





‘สุวิทย์’ สั่งบันทึกผลสอบวัดคุณภาพน.ร.ลงใบรบ.-แก้เด็กเมิน ‘ผลคลาดเคลื่อน’

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ตามโครงสร้างกระทรวงใหม่ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษา แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นองกรกลางจัดระบบและวิธีการทดสอบ ทั้งเรื่องประเมินคุณภาพการศึกษา คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา และพัฒนาเครื่องมือวัดมาตรฐานสำหรับประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการร่วม 3 หน่วยงานดังกล่าวกำลังพิจารณายกร่างการจัดตั้งอยู่ทั้งนี้ เบื้องต้นโครงสร้างสถาบันทดสอบฯจะหลอมรวมสำนักทดสอบกลางของทบวงฯกับสำนักทดสอบของกรมวิชาการ ในส่วนงานวัดคุณภาพการศึกษาเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตรากำลังคนยังเห็นไม่สอดคล้องกันโดยทบวงฯต้องการให้มีเพียง 130 คน ขณะที่กรมวิชาการเสนอให้มี 150 คน เช่นเดียวกับในส่วนของภารกิจที่ทบวงฯเสนอให้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญออกข้อสอบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ขณะที่กรมวิชาการเสนอให้มีคณะทำงานอีกสายทำหน้าที่ออกข้อสอบการวัดผลประเมินผลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่เช่นเดียวกับที่สำนักทดสอบของกรมวิชาการดำเนินการอยู่ คือจัดทำจีพีเอและออกข้อสอบวัดผล ป.1,ป.3,ม.3 และ ม.6 ซึ่งจะประชุมหาข้อยุติร่วมกับทบวงฯในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ (มติชน ศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





สมัครสอบวัดความรู้เอ็นท์วันแรกฉลุย-คาดเพิ่ม5%

วันที่ 29 สิงหาคม นางกาญจนา ปราบพาล ประธานศูนย์รับสมัครทดสอบวัดความรู้ประกอบการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือเอ็นทรานซ์ ประจำปีการศึกษา 2546 ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงบรรยากาศการรับสมัครทดสอบวัดความรู้ ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2545 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม –2 กันยายน ว่าวันแรกของการรับสมัครมีผู้มาสมัคร 5,630 คน มีปัญหาขาดหลักฐานเอกสารบ้างเล็กน้อยจึงอนุโลมให้สมัครได้ และให้นำเอกสารมายื่นเพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนโปรแกรมการรับสมัครก็ไม่มีปัญหา และใช้ได้ดีกว่าในครั้งที่ผ่านมา นายบพิธ จารุพันธุ์ ประธานศูนย์รับสมัครมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มีผู้มาสมัคร 3,146 คน การรับสมัคร และโปรแกรมการรับสมัครไม่มีปัญหาเช่นกัน เพราะผู้สมัครได้เตรียมตัวมาพร้อม และอาจารย์แนะแนวก็ให้คำแนะนำอย่างดี ครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้น 5% (มติชน ศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





ประชาพิจารณ์แอดมิชชั่นส์12ก.ย.นี้เพิ่มน้ำหนักผลการเรียนม.ปลาย25%

วันที่ 30 สิงหาคม ร.ต.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลประชุมคณะอนุกรรมการศึกษารายละเอียดการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนการสอบคัดเลือกในระบบเอ็นทรานซ์ มาเป็นระบบกลางการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาร่วมหรือ Admissions หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนประกาศใช้ในอีก 3 ปีถัดไป นางอุทุมพร จามรมาน อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการกล่าวว่าระบบแอดมิชชั่นส์จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ในการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาให้ตรงตามความต้องการ โดยจะแบ่งค่าน้ำหนักในส่วนของผลการเรียน ม.ปลายเพิ่มเป็น 25% จากเดิม 10% ได้แก่ คะแนนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย หรือ GPA 5% ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ แรงก์ หรือ PR 5% และทรานสคริปต์ที่ระบุผลการเรียนในรายวิชาต่างๆ ทุกวิชา กิจกรรมที่ทำอย่างละเอียด รวมทั้งสมุดบันทึกสะสมความดีในชั้น ม.ปลายรวมอีก 15% โดยในส่วนของ GPA และ PR รวม 10% นั้น โรงเรียนจะเป็นผู้พิจารณาเช่นเดิม ส่วนค่าน้ำหนักที่ให้กับทรานสคริปต์ 15% มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้พิจารณาเอง ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กำลังเร่งทำรูปแบบทรานสคริปต์อยู่ ส่วนที่เกรงกันว่าอาจเกิดการใช้เส้นสายขึ้นนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องอธิบายให้ได้ (มติชน เสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





หวั่นผู้ปกครองเบี้ยว ‘โฮมสคูล’ บังคับสอบมาตรฐานความรู้เด็ก

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือโฮมสคูลว่า เพื่อให้การจัดโฮมสคูลเป็นไปตามกรอบมาตรฐานที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาสอบวัดมาตรฐานความรู้ ซึ่งจะประเมินเป็นช่วงชั้นเพื่อให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ (มติชน จันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


อินฟราเรด แสงสารพัดประโยชน์

รังสี “อินฟาเรด” เป็นรังสีที่มีความถี่อยู่ในย่านที่ต่ำกว่าแสงสีแดง และถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในปัจจุบันหลายอย่างด้วยกัน ตัวอย่างเช่น นำมาใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารของอุปกรณ์ไร้สายหลายชนิดทั้งโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ กล้องอินฟาเรดที่สามารถจับภาพได้แม้ในเวลากลางคืนก็เป็นอีกตัวอย่างที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เช่นกัน แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะว่าล่าสุดมีผลงานการวิจัยจาก University of Arizona ได้แสดงให้เราเห็นว่ารังสีหรือแสงอินฟาเรดนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็ง รวมไปถึงการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษหรือเชื้อโรคอย่างที่ใครหลายคนกลัวว่าจะเกิดจากการก่อการร้ายนั่นเอง (เดลินิวส์ วันพุธที่ 4 กันยายน 2545 หน้า 16)





ดาวเทียมนักดับเพลิง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานผ่านเว็บโซต์ว่า นาซาได้ส่งดาวเทียม NASA’s Terra ขึ้นไปในอวกาศตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์โลก การทำหน้าที่โดย ถ่ายภาพแผนที่โลก ค้นหาตำแหน่งที่เกิดไฟป่า เก็บข้อมูลอย่างละเอียด และติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา โดยข้อมูลที่ได้จะส่งให้กับนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหลังไฟป่าดับ ดังนั้น ดาวเทียมดวงนี้จึงเปรียบเสมือนหน่วยดับเพลิง ที่คอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อย หากที่ไหนเกิดไฟป่าแผนที่นี้จะบอกและช่วยเตือนให้แก้ไขได้ทัน (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2545 หน้า 16)





เทคโนโลยีการผลิตผงไหมใกล้คลอดญี่ปุ่นจีบขอตั้งโรงงาน

นายสมศักดิ์ สิงหลกะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนางานวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมเพื่อทำการผลิตผงไหมด้วยการใช้วัตถุดิบจากเศษไหม อาทิ รังไหม เศษเส้นไหมที่เหลือจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ต่างๆ เป็นต้น มาทำการผลิต ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์จากไหมโดยสามารถนำผงไหมที่ได้มาสกัดเป็นไขมันใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สบู่ อาหารเสริมและใช้ในวงการแพทย์ เป็นต้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า การทำผงไหมกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในต่างชาติหลายประเทศ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้เสนอความสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตผงไหมในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ (เดลินิวส์ วันพุธที่ 4 กันยายน 2545 หน้า 27)





รังสีเพื่อการพัฒนาพันธุ์พืช

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้จัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก ที่สามารถพัฒนาพันธุ์พืชด้วยรังสีได้อย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งพันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการฉายรังสีที่เกษตรกรรู้จักกันดีและมีการนำไปเป็นการค้ากันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ข้าว กข6, ข้าว กข10, ข้าว กข15, ถั่วเหลืองดอยคำ , เก๊กฮวย, เบญจมาศ, คาร์เนชั่น และกล้วยหอมทอง และศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์ เทคโนโลยีสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผลงานโดดเด่นสามารถพัฒนาพันธุ์พุทธรักษาที่มีความสวยงามแตกต่างกันไปได้มากถึง 22 พันธุ์ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สามารถพัฒนาพันธุ์กระเจี๊ยบเขียว แตงโม ข้าว และมะขามหวาน ส่วนทางด้านกรมวิชาการเกษตร สามารถพัฒนาพันธุ์ปทุมมาได้อีก 4 พันธุ์ และในปัจจุบันไม่เพียงแต่ใช้เทคนิคการฉายรังสีเพื่อการปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น ยังนำมาใช้ร่วมกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เกษตรกรที่สนใจจะนำพันธุ์พืชของตนเองมารับบริการฉายรังสีเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชได้โดยติดต่อขอรับคำปรึกษาและรับบริการฉายรังสีได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตร คลองห้า อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี (ในบริเวณศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี) , สถาบันรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.0-2577-2259 หรือ ศูนย์บริการ ฉายรังสีแกมมาฯ สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.0-2942-8652-3 (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2545 หน้า 27)





เผยกิงโกะไม่ช่วยบำรุงสมอง

จากการศึกษา 6 สัปดาห์ คณะนักจิตวิทยาจากวิทยาลัยวิลเลียมส์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ พบว่า กิงโกะสารสกัดจากใบแปะก๊วย ซึ่งโฆษณากันว่ามีสรรพคุณช่วยทำให้ความจำดีขึ้นนั้น ไม่ได้มีประโยชน์ตามอ้าง ทั้งนี้ จากการทดลองระบบประสาทด้านต่างๆ เช่น การเรียนรู้ ความจำ การพูด และการควบคุมจิตใจ ในอาสาสมัคร 203 คน ที่อายุเกิน 60 ปี และมีสุขภาพจิตดี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินกิงโกะ 40 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง 4 สัปดาห์ กลุ่มหลังให้กินยาหลอก พบว่ากิงโกะไม่มีประโยชน์ตามสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 3)





ประดิษฐ์ตู้เย็นพลังแสงอาทิตย์ ของขวัญของคนยากจนทั่วโลก

ด้วยสมองของเด็กหนุ่มวัย 18 ปี ประดิษฐ์ตู้เย็นราคาถูกขึ้น ไม่ใช่ไฟฟ้า ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน ออกมาให้คนยากจนทั่วโลก สามารถซื้อหาเอาไปใช้ได้ ตู้เย็นพลังงานแสงแดด ตู้แรก ประดิษฐ์โดยนายแบรดลีย์ แมทธิวส์ เด็กหนุ่มชาวสหภาพแอฟริกาใต้ ได้นำออกแสดงในงานแสดงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานของนักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาว ในที่ประชุมสุดยอดโลกของสหประชาชาติ ที่นครโยฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นักประดิษฐ์หนุ่มกล่าวว่า “ผมคิดประดิษฐ์ตู้เย็นแบบพื้นฐาน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและไม่ก่อมลพิษขึ้น ราคาก็ถูก เพื่อให้คนยากจนส่วนใหญ่มีโอกาสซื้อหามาใช้ได้” ใช้เวลาค้นคิดอยู่นาน 3 ปี และผลงานเคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงานแสดงทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่แล้ว (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





สงสัยเจลฟอกฟันขาว อาจทำให้รู้สึกเสียวฟัน

จากการศึกษาเกี่ยวกับการฟอกฟันขาวของ ดร.ไมเคิล จี เจอร์เกนเชน มหาวิทยาลัยซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯที่ได้ให้คนไข้ใส่พิมพ์ที่ครอบฟัน ที่มีสารคาร์บาไมด์ เพอร๊อกไซด์ ซึ่งเป็นเจลสำหรับทำให้ฟันขาว มีความเข้มข้น 15 เปอร์เซ็นต์ ไว้ในปากวันละ 3-4 ชั่วโมง ส่วนผลิตภัณฑ์ฟอกขาวสำหรับทำเองที่บ้านจะมีสารดังกล่าว 10-20 เปอร์เซ็นต์ ผู้วิจัยได้ถามคนไข้เกี่ยวกับระดับอาการเสียวฟันที่เกิดขึ้น โดยมีคะแนนตั้งแต่ 0-3 โดยระดับ 0 หมายถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่ฟอกฟันขาว ไปจนถึงระดับ 3 หมายถึงอาการเสียวฟันอย่างรุนแรงจนต้องหลีกเหลี่ยงไม่รับประทานอาหารบางชนิด พร้อมกันนี้ทันตแพทย์ยังศึกษาระดับหินปูนที่เกาะตามฟัน ฟันผุ และเหงือกร่นในช่วง 4 สัปดาห์ พบว่าร้อยละ 54 มีอาการเสียวฟัน แต่ไม่รุนแรงนัก ร้อยละ 10 เสียวฟันพอสมควร และร้อยละ 4 มีอาการรุนแรง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งใช้เจลธรรมดาไม่พบอาการเสียวฟันรุนแรง แต่ในอาทิตย์ที่ 2 กลับไม่มีคนไข้บ่นว่าเสียวฟันอย่างรุนแรง ขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า ทำไมอาการเสียวถึงลดลง แต่คาดว่าเป็นเพราะฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารประกอบในเจลฟอกฟันขาว ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





นมพาสเจอไรซ์ประยุกต์

นายชูรัฐ แปลกสงวนศรี และ นายอมรรัตน์ วัฒนโยธิน อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมการเกษตร วิทยาลัยเกษตรกรรมลพบุรี ผู้คิดค้นวิธีพาสเจอไรซ์นมแบบประยุกต์ กล่าวว่า มีการทำวิจัยและทดลองอยู่นานเพื่อที่จะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงพบว่าการที่จะสามารถยืดอายุของนมออกไปนั้น เมื่อต้มสุกแล้วเราต้องรีบบรรจุใส่ภาชนะทันที จากนั้นค่อยลดอุณหภูมิลงด้วยการแช่น้ำทิ้งไว้ในน้ำเย็นแล้วนำไปแช่เย็น วิธีนี้จะสามารถเก็บนมได้นานถึง 4 เดือน และผลงานนี้ก็ได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2545 หน้า 25)





เห็ดหอมป้องกันสารพัดโรค หมอแนะบริโภคเป็นอาหารทดแทนโปรตีน

แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทยแนะให้บริโภคเห็ดเป็นอาหารทดแทนโปรตีนช่วยป้องกันไขมันในเส้นเหลือดและยังมีสรรพคุณเป็นยา กำลังทำวิจัยเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเรื่องของโรคหัวจและวิธีทดสอบเห็ดมีพิษเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย ดังนั้นการบริโภคเห็ดเพื่อให้ได้โปรตีน จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งสำหรับคนไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ทานอาหารมังสวิรัติ ข้อควรระวังการสังเกตโครงสร้างของเห็ดที่คิดว่าเป็นพิษด้วยเห็นพวกนี้จะมีสีสันฉูดฉาดและรูปร่างผิดปกติกว่าที่เห็นทั่วไป วิธีทดสอบว่าเห็ดดังกล่าวทานได้หรือไม่ในเบื้องต้นให้นำข้าวสุกไปต้มรวมกับเห็ด หากข้าวมีสีดำแสดงว่าเห็ดชนิดนั้นไม่ควรนำมารับประทาน (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 9)





โครงการหลวงยื่นจดสิทธิบัตร คิดค้นหญ้าแฝกอัดขึ้นรูปแทนไม้

แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแจ้งว่า มูลนิธิโครงการหลวงกำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ตัวใหม่ที่ใช้หญ้าแฝกเป็นส่วนผสมกับสารประสาน แล้วนำไปอัดเป็นวัสดุขึ้นรูปเพื่อใช้ทดแทนไม้โดยมีความคงทน งดงามและประหยัด นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพยสินทางปัญญาในฐานะนายทะเบียนกล่าวว่า ขณะนี้กรมฯกำลังพิจารณาในรายละเอียดการประดิษฐ์ต่างๆ อยู่ และคาดว่าจะสามารถอนุมัติการจดสิทธิบัตรได้ในเร็วๆ นี้ (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 8)





โทร.มือถือรุ่นเก๋าอันตรายโอกาสเสี่ยงเป็น ‘เนื้องอก’

ได้สำรวจผู้ป่วยชาวสวีเดน 1,167 ราย ที่มีอาการเนื้องอกในสมองในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ.2540 ถึง 2543 โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างควบคุมที่ไม่มีเนื้องอกในสมอง นักวิจัยพบว่า ผู้ใช้งานอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ในมาตรฐานนอร์ดิก โมบาย เทเลโฟน มีโอกาสเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดังกล่าวถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะในสมองซีกที่ต้องแนบกับหูโทรศัพท์ และสำหรับผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเวลายาวนานเกินกว่า 10 ปี โอกาสของการเป็นเนื้องอกในสมองจะเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 80 ผลการวิจัยดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสโต้แย้งจากบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายสำคัญ โดยบริษัทโนเกียของฟินแลนด์ซึ่งยังคงผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ใช้งานสำหรับมาตฐานนอร์ดิก โมบาย เทเลโฟน ระบุว่า ผลการศึกษาอื่นๆ จำนวนมากก่อนหน้านี้ไม่เคยบ่งชี้เกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้จากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งในระบบอนาล็อกและดิจิตอล (มติชน พุธที่ 28 สิงหาคม 2545 หน้า 19)





รถไฮเทคไร้เครื่องยนต์สหรัฐเตรียมขายอีก 10ปี

บริษัทเยเนอรัล มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ไม่มีเครื่องยนต์ พวงมาลัย หรือคันเร่ง เบรก และคลัตช์ จีเอ็มใช้เทคโนโลยีที่เป็นการผสมผสานระหว่างเซลล์พลังงานไฮโดรเจน กับเทคโนโลยีไฟฟ้า คาดว่ารถยนต์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้จะวางจำหน่ายภายในเวลา 10 ปีและจะนำเทคโนโลยีนี้ไปแสดงที่งานปารีสมอเตอร์ โชว์ ในเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นรถยนต์คันแรกในโลกที่เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีทั้งสองอย่างไว้ด้วยกัน ผู้ประดิษฐ์อธิบายว่า ทุกสิ่งที่ทำให้รถแล่นไปข้างหน้า หยุด และเลี้ยวซ้าย-ขวา ถูกบรรจุอยู่ในช่วงล่างหรือแชสซีย์ ซึ่งมีความหนาถึง 11 นิ้ว ส่วนระบบการควบคุมรถจะบรรจุอยู่ในส่วนการควบคุมง่ายๆ ที่เรียกว่า “เอ็กซ์ ไดรฟ์” ความพิเศษของรถคือ คนขับสามารถเลือกนั่งด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ตามแต่จะเห็นสะดวกสามารถหยุดรถ หรือเร่งความเร็ว ด้วยมือข้างใดข้างหนึ่งเพียงแต่บิดส่วนที่เป็นด้ามจับด้านซ้ายหรือขวา ส่วนการเบรกก็ทำเพียงบีบส่วนมือจับและเพราะมันไม่มีเครื่องยนต์อยู่ตรงด้านหน้าทำให้ส่วนหน้าของตัวรถทำเป็นกระจกใส ทำให้ทัศนวิสัยการมองพื้นถนนดีขึ้น และจากการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “บาย ไวร์” ทำให้ส่วนของพวงมาลัย ระบบเบรก และระบบอื่นๆ ถูกควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าการใช้พลังงานกลที่มาจากการเหยียบ หรือ ออกแรงหมุน สำหรับเซลล์พลังงานซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนจะให้พลังงานถึง 94 กิโลวัตต์อย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นเซลล์พลังงานที่ติดตั้งอยู่ตรงส่วนหลังของช่วงล่างมีหน้าที่ให้พลังงานกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนล้อหน้า (มติชน อังคารที่ 27 สิงหาคม 2545 หน้า 19)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักวิทย์ฯ พัฒนาเครื่อง 3 มิติรักษากระดูก

สำนักข่าวบีบีซี นิวส์ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้พัฒนาอุปกรณ์สร้างภาพ 3 มิติ สำหรับแสดง “ภาพเคลื่อนไหว” ของกระดูกขณะเล่นกีฬา เผยใช้ในการวินิจฉัยตำแหน่ง และสาเหตุของอาการบาดเจ็บ พร้อมช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบรักษา โดยวิธีกายภาพบำบัดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยบริษัท “มาร์ลบรูค โมชั่น อะนาลิซิส” ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมกลไกชีวภาพ โดยในปัจจุบันโรงพยาบาลเซาธ์แบงค์ แห่งเมืองวอร์เซสเตอร์ ได้นำมาใช้ในการรักษาแล้ว พร้อมเผยว่าชุดอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคา 240,000 ปอนด์ (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ม.รังสิตจับมือ สวทช.หนุนงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มุ่งพัฒนาและให้การสนับสนุนชีวภาพของอาจารย์และนักศึกษา ให้มีความสามารถและประสบการณ์ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมประเภทนี้สู่มาตรฐานสากล (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 24)





หนุ่มนักประดิษฐ์พระจอมเกล้าธนฯเจ๋งทำ ‘กระบอกเนื้อนุ่ม’ เครื่องแรกในโลก

นายศิระ จั่นฤทธิ์ อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวฯเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ได้ทดลองประดิษฐ์ กระบอกอัดความดัน ที่สามารถทำให้เนื้อสัตว์นุ่ม เข้าแข่งขันในโครงการนวัตกรรม ของกองทุนนวัตกรรม โดยเครื่องมือดังกล่าวใช้หลักการที่ว่า ความดันที่ระดับ 120 เมกะปัสคาล (MPa ) สามารถทำให้แบคทีเรีย และจุลินทรีย์บางชนิดหยุดการเจริญเติบโต และทำให้พันธะโปรตีนของกล้ามเนื้อฝอยของเนื้อ สัตว์ทุกชนิด เกิดการล้าตัว เพราะฉะนั้นเนื้อสัตว์ที่ผ่านความดันระดับดังกล่าวจะนุ่มขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้คือ กระบอกอัดความดันและคันโยกสำหรับอัดความดัน ซึ่งหาซื้อได้ในประเทศ วิธีการใช้คือ นำเนื้อสัตว์ดิบๆ ใส่ลงในกระบอก แล้วเดินเครื่องทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที จะได้เนื้อที่มีความนุ่ม นำไปปรุงอาหารก็จะได้รสชาติดี นุ่ม ไม่เหนียว เคี้ยวง่าย ในขณะที่ยังคงความสดและคุณค่าทางอาหารไม่ถูกทำลายลงแต่อย่างใด (มติชน เสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า16)





แนะตั้งหน่วยงานกลางวิจัยสมุนไพรครบวงจร

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แจ้งว่า ให้ทุนสนับสนุนแก่ น.ส.เบญจา พวงสุวรรณ ทำวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ผลงานวิจัยพืชสมุนไพรที่พิมพ์เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ.2529-2539 เพื่อสำรวจและรวบรวมผลงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับพืชสมุนไพรทางด้านเภสัชเวท พฤกษเคมี เภสัชวิทยา พิษวิทยา พัฒนาสูตรตำหรับ และคลินิก ที่ดำเนินการแล้วเสร็จและพิมพ์เผยแพร่ในช่วง พ.ศ.2529-2539 และวิเคราะห์สถานภาพเพื่อให้ทราบจำนวนผลงานวิจัยที่พิมพ์เผยแพร่ ประเภทของงานวิจัย หน่วยงานที่ทำวิจัย ระยะเวลาทำการวิจัย การดำเนินงานวิจัยร่วมระหว่างหน่วยงาน กลุ่มของโรคและสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณพืชสมุนไพรและแนวโน้มของการวิจัย ผลงานวิจัยพืชสมุนไพรรวบรวมได้จำนวน 503 เรื่อง กว่าครึ่งเป็นผลงานการวิจัยของนักวิจัยในหน่วยงานต่างๆ นอกนั้นเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและตรีของมหาวิทยาลัย ผลงานส่วนใหญ่ดำเนินการโดยทบวงมหาวิทยาลัย ที่เหลือเป็นผลงานของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อจำแนกผลงานวิจัยตามกลุ่มต่างๆ พบว่ากลุ่มด้านเภสัชวิทยามีจำนวนมากที่สุดถึง 195 เรื่อง รองลงไปคือ ด้านพฤกษเคมี ด้านพัฒนาสูตรตำรับ ด้านพิษวิทยา ด้านเภสัชเวท และด้านคลินิกตามลำดับ และพบว่าผลงานวิจัยที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี มีจำนวนมากที่สุด รองลงไป คือ ใช้เวลา 2 ปี และ 3 ปี ขึ้นไปตามลำดับ ผลงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานมีจำนวนน้อยแค่ 88 เรื่อง ที่เหลือเป็นผลงานวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานเดียว และเมื่อจำแนกสรรพคุณพืชสมุนไพรตัวอย่างตามกลุ่มของโรคและสุขภาพที่เกี่ยวข้องพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคผิวหนัง รองลงมาคือ กลุ่มโรคระบบลำไส้และทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง อนามัยการเจริญพันธุ์ และกลุ่มอาหารและโภชนาการ ส่วนแนวโน้มการวิจัยสมุนไพรในประเทศ โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องได้รับกาสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและแหล่งให้ทุนต่างๆ อย่างเพียงพอ (มติชน จันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 18)





วช.วิจัยสนองพระราชดำริทำไม้อัด ‘หญ้าแฝก’ เยี่ยมอบรมเชิงพาณิชย์แล้ว6รุ่น

น.ส.วนาศรี สามนเสน รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวรายงานสรุปในระหว่างการประชุมติดตามความก้าวหน้าผู้ผ่านการฝึกอบรมการผลิตแผ่นประกอบหญ้าแฝกฯเพื่อมุ่งสู่การประกอบธุรกิจได้ว่า วช.น้อมรับพระราชกระแสดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนวทางให้เร่งศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ ของหญ้าแฝกและการจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยโดยสำนักงานฯ ในปีงบประมาณ 2544 และ 2545 ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาปฏิสัมพันธ์หญ้าแฝกกับปลวกแก่คณะนักวิจัยในสาขาวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันทำวิจัยศึกษาการนำหญ้าแฝกมาทำเป็นแผ่นไม้อัดประเภทต่างๆ ทดแทนไม้ ทำฉนวนกันความร้อน ศึกษาเครื่องมือต้นแบบขนาดย่อม ศึกษาสกัดสารสำคัญจากรากหญ้าแฝกที่มีฤทธิ์กำจัดปลวกได้ และศึกษาระบบนิเวศของหญ้าแฝกที่มีผลต่อปลวกและเห็ดโคนซึ่งในเบื้องต้นนักวิจัยสามารถผลิตแผ่นไม้อัดจากหญ้าแฝกได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีซึ่งยังไม่มีผู้ใดทำมาก่อน ซึ่ง วช.ได้จดสิทธิบัตรงานวิจัยดังกล่าวแล้ว รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขยายผลการวิจัยไปยังกลุ่มเป้าหมายแล้วจำนวน 6 รุ่น รวม 170 คน และในครั้งนี้ได้จัดประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของผู้เข้ารับการฝึกอบรมดังกล่าวเพื่อสำรวจสถานภาพและประมวลผลความก้าวหน้าของผู้เข้ารับการฝึกอบรมและนำผลสรุปจากการประชุมไปสู่การจัดการเพื่อผลักดันให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจการผลิตแผ่นประกอบหญ้าแฝกอย่างครบวงจรได้สำเร็จในเชิงพาณิชย์ (มติชน จันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 18)





พัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยคนพิการใช้ ‘สายตา’ บังคับแป้นพิมพ์ดีด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะนักวิจัยประจำห้องทดลองคาเวนดิชมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสหรัฐ ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนแป้นพิมพ์ในการนำเข้าข้อมูลสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมกับติดตั้งกล้องสแกนดวงตาที่สามารถช่วยให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ร่างกายพิการ หรือเป็นอัมพาตสามารถพิมพ์ตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เสมือนจริงด้วยการเคลื่อนดวงตาได้ รายงานผลการวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ระบุว่า ซอฟต์แวร์ดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า “แดเชอร์” สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำสูง ที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดความรำคาญกับดวงตา เดวิด แม็กแคย์ ผู้ประสานงานโครงการและศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เปรียบเทียบซอฟต์แวร์แดเชอร์ว่า เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถขับขี่ยานพาหนะได้โดยใช้เครื่องมือจำลองที่ทำงานได้ด้วยเพียงการมองด้วยดวงตาเท่านั้น ซอฟต์แวร์โปรแกรมต้นแบบมีความสามารถในการจับความเคลื่อนไหวของดวงตาและถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร รวมทั้งยังสามารถคาดเดาคำ หรือวลีที่ผู้ต้องการพิมพ์ได้อีกด้วย ในขณะที่ผู้ใช้แทบจะไม่ต้องขยับเขยื้อนร่างกาย เพียงแต่นั่งเพ่งมองจอภาพคอมพิวเตอร์เท่านั้น คณะนักวิจัยในโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวเปิดเผยว่า ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ “แดเชอร์” จะสามารถพิมพ์อักษรบนคีย์บอร์ดจำลองบนจอภาพได้ด้วยความเร็วประมาณ 15 คำต่อนาที และด้วยการฝึกฝนเพียงเล็กน้อยซอฟต์แวร์ “แดเชอร์” ก็จะกลายเป็นเคื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการสามารถสื่อสารกับผู้อื่นโดยเฉพาะการเขียนอีเมล์ หรือการพิมพ์เอกสารได้ง่ายดายยิ่งขึ้น (มติชน อังคารที่ 27 สิงหาคม 2545 หน้า 28)





คอนเแท็กต์เลนส์ใส่นาน2ปีตัดปัญหาต้องถอดล้างบ่อย

ปัญหาที่คนสายตาสั้นและเลือกสวมคอนแท็กต์เลนส์หลายล้านคนทั่วโลกมักจะเจอเป็นประจำซึ่งสร้างความรำคาญและไม่สะดวกบ่อยๆ คือ ต้องถอดคอนแท็กต์เลนส์ออกมาทำความสะอาด ก่อนจะใส่กลับเข้าไปใหม่ แต่อีกไม่นาน ปัญหานี้จะหมดไป เพราะนักวิทยาศาสตร์สหรัฐค้นพบวิธีที่จะใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้นานถึงสองปี โดยไม่ต้องถอดออกมาทำความสะอาด นักวิทยาศาตร์เชื่อมั่นว่าถ้าเคลือบเลนส์ด้วยสารละลายซิลิเนียมจะไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียและปกป้องดวงตาจากการติดเชื้อโรค โดยไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดบ่อยๆ ซิลิเนียมคือ แร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งพบได้ในอาหารหลายชนิด มันมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส อ้างว่า จะสามารถนำซิลิเนียมไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ให้สะดวกขึ้นจากการทดลองกับกระต่ายพบว่าการสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่เคลือบด้วยสารละลายซิลิเนียมไม่ได้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่นัยน์ตา และกระต่ายใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้นานติดต่อกันสองเดือนโดยไม่เกิดผลข้างเคียง เพราะการเคลือบสารละลายซิลิเนียมหนาเพียงหนึ่งชั้นโมเลกุลเท่านั้น และปลอดภัยมาก (มติชน อังคารที่ 27 สิงหาคม 2545 หน้า 19)





ยาสกัดจากบรอคโคลีต้านมะเร็งเต้านมลาม

คณะนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยาที่ทำมาจากผักบร็อกโคลี่ สามารถควบคุมมะเร็งเต้านมในสุภาพสตรี ไม่ให้ลุกลามภายใน 10 ปี คณะนักวิจัยได้ผลิตสารประกอบชนิดหนึ่งที่ทำจากสารต่อต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพในผักบร็อกโคลี่ ทำให้นักวิจัยมั่นใจว่า วันหนึ่งจะสามารถผลิตยาเม็ดบร็อกโคลี่ สำหรับหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เพื่อให้ใช้ยาชนิดนี้ป้องกันตัวเองไว้ก่อน คาดว่ายาดังกล่าวจะออกวางตลาดได้ภายใน 7-10 ปี สารซัลโฟราเฟน จะกระตุ้นร่างกายผลิตเอ็นไซม์ เฟส ทู ซึ่งจะทำให้สารเคมีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งมีสภาพเป็นกลาง และสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ด้วย อย่างไรก็ดี สารเคมีตัวนี้ในผักบร็อกโคลี่ตามธรรมชาติ จะเป็นพิษถ้าได้รับในปริมาณมากๆ ผลจากการทดลองพบว่า ถ้าให้สารตัวนี้ในปริมาณสูงเกินไปจะทำให้สัตว์ในห้องทดลองตายได้ (มติชน 28 สิงหาคม 2545 หน้า 19)





ให้ทุนวิจัย ‘ศึกษาพื้นฐาน’ พัฒนากระบวนการเรียนรู้

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและพัฒนางานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งงานในขอบเขตหน้าที่ของ ศธ. ซึ่งได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท 1.ทุนอุดหนุนการวิจัยที่ ศธ.เป็นผู้กำหนดขอบข่ายประเด็นปัญหาการวิจัย เป็นทุนเกี่ยวกับนโยบายสำคัญๆ ทางการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของ ศธ. ของรัฐบาล และตามกรอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ วงเงินเรื่องละ 200,000-1,000,000 บาท 2.ทุนอุดหนุนที่ผู้วิจัยเป็นผู้กำหนดหัวข้อเรื่องเอง แบ่งเป็นทุนเกี่ยวกับงานด้านใดด้านหนึ่งของนโยบายและแนวทางการวิจัยการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของ ศธ. วงเงินเรื่องละ 50,000-3,000,000 บาท และทุนเกี่ยวกับการวิจัยในสถานศึกษาและหรือในระดับชั้นเรียนของครู บุคลากรทางการศึกษา หรือนักวิจัยทั่วไป ซึ่งสถานศึกษานั้นเป็นสถานศึกษาที่ใช้หลักสูตรของ ศธ. ในวงเงินเรื่องละ 20,000-50,000 บาท และ 3.ทุนอุดหนุนการวิจัยเพื่อส่งเสริมให้ครูได้นำผลวิจัยจากเรื่องที่กำหนดขึ้นไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียนและโรงเรียน เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ และความแตกต่างของบุคคล ในวงเงินเรื่องละ 20,000-50,000 บาท “ทุนอุดหนุนการวิจัยแต่ละทุนมีกำหนดระยะเวลาทำการวิจัยไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการ โทร.0-2281-2517,0-2282-9328 ต่อ 604,608 (มติชน จันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





ข่าวทั่วไป


สธ.ไฟเขียวนวดไทยเบิกค่ารักษาได้

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีการเบิกจ่ายสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ที่สามารถเบิกได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว โดยสามารถนำใบเสร็จรับเงินจากการรับบริการในสถานพยาบาลที่ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังแล้ว นำไปเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลคืนได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังกำหนด สำหรับการบำบัดรักษาด้วยการนวดไทยนั้นก็เช่นกัน โดยผู้ที่มีสิทธิในการลงความเห็นว่าจำเป็นต้อวนวดได้แก่ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยประยุกต์ซึ่งผ่านการเรียนด้านอายุรเวช 3 ปี และผู้ที่จบสาขาเวชกรรมแผนไทยที่ได้รับใบประกอบศิลปะ หากเป็นข้อวินิจฉัยโรคจากกลุ่มบุคลากรเหล่านี้แล้วก์ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะตามเงื่อนไขคือผู้ป่วยเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ยาบ้ายุคใหม่คนเสพ “บ้า”เร็วขึ้น

น.พ.วชิระ เพ็งรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่า ในรอบ 5 ปีนี้ มีคนไข้แสดงอาการทางจิตเพิ่มขึ้นจากการเสพเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า เนื่องจากยาบ้าในระยะหลังมีการพัฒนาส่วนผสมและรูปแบบการเสพ เช่น การเผาในกระดาษฟอยส์แล้วสูดควัน สารเคมีในยาบ้าจะไปทำลายสมองอย่างรวดเร็ว เมื่อสมอง “ส่วนคิด” ถูกทำลาย ขณะที่สมอง “ส่วนอยาก” ถูกปลดปล่อยสารเคมีบางตัวออกมามาก จึงเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอนได้ง่าย รุนแรงและเร็ว พบคนไข้เสพยาบ้าไม่กี่ครั้งก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ สมองเบลอ เกิดอาการแปลกๆ อีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ผู้หญิงสูบบุหรี่เสี่ยงภัยสุขภาพกว่าผู้ชาย

ดร.เอวา เพรสก๊อท หัวหน้าทีมวิจัยแห่งโรงพยาบาลเอมา ในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ใช้เวลา 22 ปี เพื่อทดสอบผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป 12,000 คน พบปัจจัยเสี่ยงประการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ อาทิ ปริมาณคอเลสเตอเรล รูปแบบการใช้ชีวิต ประวัติครอบครัว น้ำหนักและโรคเบาหวาน หลังจากปรับปัจจัยทั้งหมดพบว่า การสูบบุหรี่ เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจวายและการตายจากสาเหตุอื่นๆ โดยบุหรี่ 1 มวน เทียบเท่ากับยาสูบ 1 กรัม ดร.เอวาบอกว่า ที่ผู้หญิงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเพราะพิษยาสูบมากกกว่าผู้ชาย เป็นเพราะผู้หญิงตกเป็นเหยื่อโรคทางเดินหายใจง่ายกว่าผู้ชาย นักรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่จากองค์กร เอกชน ASH บอกว่า สิงห์อมควันหลายคนเข้าใจผิดมาตลอดว่า ถ้าลดมวนบุหรี่ที่จุดสูบแล้ว จะลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพลงไปได้มาก ทั้งๆที่ควรจะเลิกสูบบุหรี่เสียเลยดีกว่า (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 3)





ไขมันผู้หญิงก่อโรคหัวใจมากกว่าผู้ชาย

นักวิทยาศาสตร์อังกฤษใช้เวลา 16 ปี ศึกษาพบว่า การกินอาหารไขมันสูงเกี่ยวพันกับการเกิดโรคหัวใจในผู้หญิงในอัตรามากกว่าผู้ชาย โดยพบว่า ไขมันอิ่มตัวส่วนเกินที่สะสมไว้ในร่างกายสัปดาห์ละ 100 กรัม จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้หญิงเป็นโรคหัวใจถึงหนึ่งในสาม วารสารเนเชอร์ตีพิมพ์ผลวิจัยของทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ดเชียร์ในอังกฤษ ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์ผู้ชายกับผู้หญิงอังกฤษประมาณ 2,700 คน อายุ 40-75 ปี พบว่า การกินอาหารไขมันสูงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ชายเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากเท่าผู้หญิง แต่กลับทำให้ผู้หญิงที่ชอบกินไขมันเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 หน้า 3)





เสนอ “ไข่พระอาทิตย์” สูตรพระราชทานอาหารประจำชาติ

หนังสือ “สูตรอาหารต้นตำรับข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ” จัดทำโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวไปเร็วๆนี้ ที่โรงเรียนฮิลตัน อินเตอร์เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ ดร.อดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน โดยหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่รวบรวมสูตรการทำอาหารจากข้าวหอมมะลิไทย จากการประกวดสูตรอาหารนานาชาติปรุงจากข้าวหอมมะลิไทยเมื่อปี 2543 จำนวน 43 สูตร จากจำนวนทั้งสิ้นกว่า 100 สูตรทั่วโลก ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสูตรอาหาร “ไข่พระอาทิตย์” เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือด้วย (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 26 )





ระดมพื้นทะเลบางขุนเทียน วางแผนป้องกันคลื่นกัดเซาะพื้นที่พังทลาย

สำนักผังเมืองได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนเพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในการกัดเซาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ผลสรุปในระยะสั้นให้ดำเนินการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างแนวป้องกันคลื่นหรือสร้างปะการังเทียมตามแบบของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ส่วนในระยะยาวให้ก่อสร้างที่รอดักตะกอนหรือเขื่อนป้องกันคลื่นน้ำหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เป็นโครงสร้างที่น้ำสามารถซึมผ่านและสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างแนวป้องกันคลื่นหรือการสร้างปะการังเทียมต่อไป (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2545 หน้า 7)





โลกประสบปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ‘น้ำท่วม-ร้อน-ก๊าซเรือนกระจก’ คุกคาม

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกในขณะนี้ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศจีน เอเชียกลาง รัสเซีย หรือกระทั่งเยอรมนีเองก็ตาม ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากภูมิอากาศโลกร้อน เพราะปรากฏการณ์เหล่านั้นเป็นเพียงแค่ระดับของการแปรปรวนของภูมิอากาศโลกเท่านั้นยังไม่ถึงระดับของการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ว่าโลกกำลังประสบปัญหาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่อย่างไรก็ตามในขั้นของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกนั้นนักวิทยาศาตร์ค่อนข้างมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน คือโลกร้อนขึ้นแน่แต่จะใช้ระยะเวลาเท่าไรนั้นยังบอกไม่ได้ชัดเจน อาจจะเป็น 10 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ (มติชน ศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2545 หน้า18)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215