หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 33 ประจำวันที่ 2002-09-17

ข่าวการศึกษา

ม.เอกชนวอนกระทรวงใหม่เลิกควบคุมเข้ม
ทปอ.เชื่อมั่นเอนทรานซ์ใหม่
ทบวงฯไขข้อข้องใจหลอมรวมงานราชภัฎ
ครม.ลงมติ “กษมา” นั่งปลัด ศธ. หญิงคนแรก
กระทรวงใหม่
“จำลอง” เร่งออกกฎกระทรวงโครงสร้าง ศธ. ใหม่
นักศึกษามีทัศนคติเชิงลบต่อ ม.ออกนอกระบบ
สปช.ร่วมโครงการ SEET บูรณาการสิ่งแวดล้อมเข้ากับหลักสูตร
ศธ.ไทย-ออสเตรเลียพัฒนาศึกษา
ครูพละนัดประชาพิจารณ์โอนสู่กระทรวงกีฬา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

พูดจาภาษามือ
ซอฟต์แวร์บริหาร รพ.30 บาท
ผู้เชี่ยวชาญเตือนสารตะกั่วสีทาบ้านอันตรายถึงตาย-เด็กปัญญาอ่อน
ผลศึกษาโทรศัพท์มือถือครั้งล่าไม่พบก่อให้เป็นมะเร็งขึ้นได้

ข่าววิจัย/พัฒนา

มจธ.ร่วมอนุรักษ์ไทย คิดค้น “อุปกรณ์วัดเสียงระนาด”
นักวิจัยคิดอุปกรณ์ทดสอบผลไม้
วช.เร่งผลักดันงานวิจัย แก้ไขปัญหาของประเทศ
“ข้าวมอลต์” ผลิตภัณฑ์แปรรูปของ ม.รังสิต
“ไซโลข้าวระบายความร้อนด้วยตนเอง” นวัตกรรมใหม่ของการเก็บข้าวเปลือก
คนไทยประดิษฐ์หุ่นด้วยยางพาราเป็นสื่อการศึกษาได้สำเร็จ
วิศวฯ ม.เกษตรโชว์ “รถไฟฟ้า” รางวัล PCT Awards 2002
วิจัยสกัดสารชีวภาพต้นไข่เน่าปราบแมลง

ข่าวทั่วไป

หวั่นภัยแมลงสาบ – ปลาหมึกพิษ กทม. เพิ่มกม. คุมสัตว์ต่างด้าว
เผยตัวยาต้องห้าม 16 ชนิด ครอบครองมีความผิดตาม กม.
หมอแนะพัฒนาสมองเด็กทารก 5 ปีแรกโอกาสทองของชีวิตต้องส่งเสริม
ยิ้มและหัวเราะเพาะร่างกาย ไม่แพ้จ็อกกิ้ง- เต้นแอโรบิก





ข่าวการศึกษา


ม.เอกชนวอนกระทรวงใหม่เลิกควบคุมเข้ม

จากการสัมนาเรื่อง “การทดลองปฎิบัติงานตามโครงสร้างใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา” นายสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนทบวงฯไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นภาระสำคัญ เนื่องจากจะเป็นการรวมสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศมาอยู่ในสังกัดเดียวกัน ด้าน ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้กรอบโครงสร้างองค์กรของ สกอ.ชัดเจนแล้ว โดยจะมี 8 สำนัก คือ สำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบอุดมศึกษา สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักกิจการอุดมศึกษาเอกชนและสำนักทดสอบกลาง ทั้งนี้สำนักทดสอบกลางจะถูกยุบเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ ด้าน ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากยังมีการแบ่งชั้นวรรณะระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน รภ. และรม. อยู่จะไม่มีการร่วมมือกันได้อย่างแท้จริง ด้าน ดร.วัลลภ สุวรรณดี ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่า ในโครงสร้างใหม่เอกชนก็ยังถูกควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวด เมื่อจะมีการปฎิรูประบบราชการและสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดจะต้องมาอยู่รวมภายใต้สังกัดเดียวกันแล้ว ก็น่าจะมีการปรับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสถาบันของรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่เอกชนจะทำอะไรก็ติดขัดเรื่องระเบียบไปหมด (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 11)





ทปอ.เชื่อมั่นเอนทรานซ์ใหม่

รศ.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดี ม.มหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการเอนทรานซ์ไปเป็นระบบการรับเข้าศึกษาหรือ Amiission โดยใช้สัดส่วนคะแนนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย ( GPA)5% ค่าตำแหน่งลำดับที่ (PR) 5% คะแนนพัฒนาการในแต่ละวิชา กิจกรรมสมุดพกความดี 15% และคะแนนทดสอบศักยภาพในการเรียนต่อ 75% ซึ่งอาจจะทำให้มีการปล่อยเกรด และเกิดความไม่ธรรมขึ้น ด้าน ศ.ดร.วรเดช จันทรเดช ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่าที่หลายฝ่ายเกรงว่าการรับเข้าศึกษาใหม่จะมีผลกระทบกับเด็กที่เรียนหลักสูตรใหม่และเก่านั้น จริงๆ หลักสูตรใหม่และเก่าไม่ต่างกัน แต่การรับเข้าวิธีใหม่จะทำให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งจะต่างจากระบบเดิมที่จะทำให้คนโง่ และตัดสิทธิคนมีความสามารถไปมาก ส่วนที่หลายฝ่ายสับสนว่าจะใช้วิธีการรับเข้าใหม่ในปี 2548 หรือ 2549 นั้น จริงๆ แล้วเราจะเริ่มใช้กับเด็ก ม.4 ในปีนี้ โดยจะใช้ในเดือน มิ.ย.2548 ทั้งนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 12 ก.ย. โดยจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ปกครองมาร่วมด้วย และจะต้องหารือกับ ทปอ. เพื่อหาวิธีทีดีที่สุดต่อไป (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 11)





ทบวงฯไขข้อข้องใจหลอมรวมงานราชภัฎ

จากกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเกี่ยวกับการโอนย้ายบุคลากรเข้าสู่โครงสร้างกระทรวงการศึกษาที่เกรงว่าอาจจะไม่สามารถโอนเข้าสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ตามโครงสร้างใหม่ได้ เนื่องจากในส่วนของสถาบันราชภัฎ (รภ.) ได้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎใหม่เป็น พ.ร.บ.กลางเพียงฉบับเดียวนั้น นายวรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยกล่าวว่า “ก่อนถึงวันที่ 1 ต.ค.45 นี้ถ้าร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาและร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย รวมทั้งกฎกระทรวงต่างๆ ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทัน ก็จะทำให้สถาบันราชภัฎในปัจจุบันทั้ง 41 แห่งสามารถขึ้นตรงกับสกอ.ได้เลย แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ทันสถาบันราชภัฎทั้ง 41 แห่งก็ยังต้องขึ้นกับสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎต่อไป ส่วนสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงฯ ก็ยังขึ้นกับทบวงฯเหมือนเดิม” (สยามรัฐ วันพุธที่ 11 กันยายน 2545 หน้า 7)





ครม.ลงมติ “กษมา” นั่งปลัด ศธ. หญิงคนแรก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ว่า ที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2545 เป็นต้นไป ทั้งนี้ได้พิจารณาแล้วว่า ดร.กษมาเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด สามารถที่จะประสานงานกับหน่วยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างและกฎหมายใหม่ประกาศใช้ ก็อาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาตั้งผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการต่างๆ ใหม่ แต่ในขณะนี้ ดร.กษมา เป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นปลัด ศธ. มากที่สุด และ ดร.กษมาก็ทำงานเหมือนผู้ชายอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหา ส่วนอายุราชการที่ยังเหลืออีกหลายปีก็ไม่เป็นอุปสรค แต่กลับเป็นเรื่องดีเพราะงานจะได้ต่อเนื่อง (ไทยรัฐ วันพุธที่ 4 กันยายน 2545 หน้า 15)





กระทรวงใหม่

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เผยว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เตรียมทุกอย่างพร้อมที่จะเดินหน้าได้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ มีการจัดโครงสร้างอำนาจหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนการยกร่างพระราชกฤษฎีกา คณะทำงานพิจารณาเสร็จไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา และจะต้องเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาการ โอนถ่ายทรัพย์สินหรือกำหนดหน้าที่ของแต่ละกระทรวงและกรม ส่วนกรณีการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วุฒิสภาที่มีความเห็นว่าควรจะนำเรื่องของเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารมารวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพราะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันนั้น ตามหลักการและโครงสร้างที่คณะทำงานและ ก.พ.พิจารณาสามารถแยกกันได้ อยู่ที่จะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างไร แต่ทั้งนี้กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ให้คณะงานมาดูกันอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อรวมกันแล้วโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 4 ก.ย.นี้ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 4 กันยายน 2545 หน้า 15)





“จำลอง” เร่งออกกฎกระทรวงโครงสร้าง ศธ. ใหม่

นายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการจัดทำกฎกระทรวงและอนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จำนวน 41 ฉบับ และได้มอบหมายให้มีเจ้าภาพทุกเรื่อง ซึ่งกฎกระทรวงใดที่เกี่ยวข้องกับกรมใดก็ให้กรมนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนแนวทางในการจัดทำกฎกระทรวงนั้น ตนได้ให้นโยบายโดยยึดตามแนวทางที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) นำเสนอเป็นหลัก แต่ให้นำมาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีการแก้ไข ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่มีความสำคัญ และต้องเร่งดำเนินการ คือ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานต่าง ๆ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษา ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคณะกรรมการในสำนักงานต่างๆ คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้ทันวันที่ 1 ต.ค. นี้ (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2545 หน้า 8)





นักศึกษามีทัศนคติเชิงลบต่อ ม.ออกนอกระบบ

นายดนุพล อุ่นจินดามณี บัณฑิตปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงวิทยานิพนธ์ดีเด่นเรื่อง การเปิดรับข่าวสาร ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิรูปอุดมศึกษาของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร ว่านิสิตนักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปอุดมศึกษาในระดับปานกลางโดยรู้และเข้าใจดีเกี่ยวกับสิทธิและโอกาสทางการเงิน ที่จะได้รับจากการปฏิรูปอุดมศึกษา ส่วนเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาจะรู้และเข้าใจน้อยที่สุด ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อการปฏิรูปอุดมศึกษา ส่วนทัศนคติต่ำที่สุดที่นิสิตนักศึกษามีคือ การปฏิรูปการบริหารจัดการอุดมศึกษา โดยเฉพาะการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ขณะที่นิสิตนักศึกษาของเอกชนจะรับข้อมูลดังกล่าวได้มากกว่าของรัฐ และรับในเชิงบวก เนื่องจากมีความสนใจการประกันคุณภาพการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของตนเอง ประกอบกับนักศึกษาเอกชนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จากการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2545 หน้า 8)





สปช.ร่วมโครงการ SEET บูรณาการสิ่งแวดล้อมเข้ากับหลักสูตร

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ สปช.กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง สปช.กับองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อโครงการสีท (SEET : Stengthening Envirnmetal Education in Thailand Programme) ว่าโครงการร่วมมือดังกล่าวเพื่อพัฒนาครู และให้บูรณาการ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ากับเนื้อหาวิชาต่างๆ ให้กับเด็กที่เรียนในระดับประถมศึกษาได้เรียน ซึ่งขณะนี้อาสาสมัครของเอ็นจีโอได้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับบริบทของโรงเรียน และชุมชนรอบตัวผู้เรียน ในพื้นที่นำร่อง จ.เชียงใหม่ , ของแก่น , กระบี่ , อุทัยธานี และฉะเชิงเทรา โดยแต่ละพื้นที่มีโรงเรียนระดับประถม 7 แห่ง และโรงเรียนระดับมัธยม 2 แห่ง เพื่อให้ครูเริ่มสอนตามกระบวนการบูรณาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ากับเนื้อหาวิชาซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนในภาคการศึกษาที่ 2 ที่จะถึงนี้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 7)





ศธ.ไทย-ออสเตรเลียพัฒนาศึกษา

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการนำคณะที่ดำเนินการวิทยาลัยชุมชน ไปดูงานการศึกษาของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง รมช. ศธ.ไทย กับเลขาธิการครม.รัฐวิกตอเรีย และปลัดศธ.ของรัฐวิกตอเรีย ใน 5 เรื่องหลักคือ 1. การพัฒนาผู้บริหารการศึกษาแบบมืออาชีพ 2. การพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน 3.การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชนและโรงเรียน 4. การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิค อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย และ 5. การเชื่อมโยงโครงการนำร่องระหว่างโรงเรียน วิทยาลัยเทคนิค อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา การฝึกอบรม นอกจากนี้ในการดูงานขององค์กรภาคปฏิบัติด้านวิชาชีพที่รัฐวิกตอเรีย พบว่าหลายสาขาวิชาชีพน่าสนใจ และสอดคล้องกับวิทยาลัยชุมชนของไทย ทั้งองค์กรดังกล่าวยังเสนอให้ทุนอาจารย์ไทยที่มีวิสัยทัศน์สาขาต่างๆ 12-15 ทุน เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาการศึกษาสายอาชีพร่วมกัน (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 15)





ครูพละนัดประชาพิจารณ์โอนสู่กระทรวงกีฬา

นางจรวยพร ธรณินทร์ อธิบดีกรมพลศึกษา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดโครงสร้างกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ของวุฒิสภา และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่า โครงสร้างกระทรวงดังกล่าว จะประกอบด้วย 1.สำนักงานรัฐมนตรี 2.สำนักงานปลัดกระทรวง 3.สำนักงานพัฒนากีฬาและนันทนาการ (กรมพลศึกษาเดิม) 4.สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดจะมีฐานะเป็นกรมตั้งขึ้นใหม่ และมีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีองค์การมหาชน 1 แห่ง คือศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้าแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะใช้ในการจัดประชุมแห่งชาติและจัดงานแสดงสินค้าระดับชาติและนานาชาติ ส่วนอัตรากำลังจะเกลี่ยจากกรมพลศึกษาไปเป็นหน่วยงานทั้ง 3 กรม อย่างไรก็ตาม จุดที่เป็นปัญหาก็คือ ข้าราชการครูในส่วนที่เป็นวิทยาลัยพลศึกษา และโรงเรียนกีฬา หน่วยศึกษานิเทศก์ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานนี้จะมีการประชุมประชาพิจารณ์ครั้งใหญ่ในวันที่ 5-6 กันยายน นี้ เพื่อให้ชาวพลศึกษาตัดสินใจว่า ในที่สุดข้าราชการครูจะโอนมาอยู่กับกระทรวงกีฬาและท่องเที่ยวหรือไม่ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


พูดจาภาษามือ

ด้วยเทคโนโลยีที่รวมเอาความรู้ทางด้านกลศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ทำให้นักวิจัยจากสถาบัน Coopetative Resource Centre ( CRC) for Smart Internet Technology ของออสเตรเลีย พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแปลภาษามือของคนหูหนวกให้เป็นภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ชื่อของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือ GRASP (Glove-based Recognition of Auslan using Simple Processing ) ที่ช่วยแปลภาษามือของออสเตรเลีย (Auslan –Australian Sign Language ) ให้เป็นภาษาอังกฤษในเวอร์ชั่นของชาวออสซี่นั่นเอง หลักการทำงานคือ เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายถุงมือชิ้นนี้นั้นจะถูกนำไปสวมเข้ากับมือของผู้ใช้งาน โดยจะมีตัวเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่หลายจุดเช่นตามบริเวณข้อมือหรือข้อนิ้วมือ เมื่อมือหรือแขนของผู้ใช้งานมีการเคลื่อนไหวเป็นภาษามือ เซ็นเซอร์ดังกล่าวก็จะส่งสัญญาณกลับไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลด้วยความถี่ประมาณ 200 ครั้งต่อวินาที และจากการทดสอบล่าสุดพบว่า GRSP สามารถแปลภาษามือออกมาได้ถูกต้องถึง 95 % (เดลินิวส์ วันพุธที่ 11 กันยายน 2545 หน้า 16)





ซอฟต์แวร์บริหาร รพ.30 บาท

โปรแกรมเมอร์ไทยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้โรงพยาบาลขนาดเล็กใช้ฟรี ช่วยโรงพยาบาลยุค 30 บาท รักษาทุกโรค น.พ.ก้องเกียรติ เกษเพชร์ นักวิจัยโครงการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อบริหารงานโรงพยาบาลขนาดเล็ก ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลชุมชน 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการมีเพียงเก็บข้อมูลจากเอกสารซึ่งทำให้การประมวลผลตัวเลขการใช้จ่ายในโรงพยาบาลค่อนข้างล่าช้าภาระงานบริการและงานบริหารเพิ่มขึ้น ขณะนี้โครงการได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาตรฐานสำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ชื่อว่า Hospital-os ขึ้น โดยจะช่วยลดความผิดพลาดในเรื่องข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยและทำให้การบริการผู้ป่วยรวดเร็วขึ้น หากโรงพยาบาลใดสนใจจะทดลองใช้โปรแกรมดังกล่าว สามารถเข้าดูได้ที่ www.hospital- os.com. (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2545 หน้า 16)





ผู้เชี่ยวชาญเตือนสารตะกั่วสีทาบ้านอันตรายถึงตาย-เด็กปัญญาอ่อน

แพทย์หญิงรัตโนทัย พลับรู้ การแพทย์จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี และผู้เชี่ยวชาญสารตะกั่วกล่าวว่า พิษตะกั่วในปัจจุบันมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนเราอย่างมาก ทั้งจากธรรมชาติ และในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย แพทย์หญิงรัตโนทัย กล่าวว่า บ้านเก่าที่ลอกหลุดจะเป็นฝุ่นผง และมีสารตะกั่วปนเปื้อนเมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายแล้วโดยการหายใจหรือหากเป็นฝุ่นก็ปนเปื้อนในอาหารที่ใช้บริโภคประจำวันได้ แพทย์หญิงรัตโนทัยกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วคือ กลุ่มคนที่ทำงานในโรงงานแบตเตอรี่ โรงพิมพ์ และผู้ที่ทำเซรามิค มีสารตะกั่วผสมได้ หรือการผลิตชามแม้ว่าในระยะแรกจะมีการเคลือบมันป้องกันสารตะกั่ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป สารเคลือบมันหลุดไปและนำไปทำอาหารก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 8)





ผลศึกษาโทรศัพท์มือถือครั้งล่าไม่พบก่อให้เป็นมะเร็งขึ้นได้

คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันแพทย์และสัตวแพทย์วิทยาเมืองจิงโจ้แถลงว่า การศึกษาวิจัยหนล่าสุด ปรากฏผลว่า คลื่นวิทยุของโทรศัพท์มือถือไม่ทำให้เนื้อร้ายในหนูทดลองเติบโตขึ้นได้ และเชื่อว่าคงมีผลแบบเดียวกันกับมนุษย์ด้วย โฆษกของสถาบัน เปิดเผยรายละเอียดการศึกษาทดลองว่า หนูที่ใช้ในการทดลองครึ่งหนึ่งเป็นหนูที่ถูกปรับแต่งทางพันธุกรรมให้เป็นมะเร็งง่ายขึ้นกว่าปกติ แต่ละตัวจะโดนถูกคลื่นวิทยุของโทรศัพท์มือถือในปริมาณมากน้อยต่างกัน นานวันละ 1 ชม. ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 2 ปี จากการตรวจไม่พบว่ามันมีอัตราการเป็นมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด “ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า หากว่าเราไม่พบว่าเกิดอะไรขึ้นในสัตว์ทดลองเหล่านี้ ในสัตว์ที่เป็นปกติก็คงไม่เป็นอะไร และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่เป็นปกติด้วย (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มจธ.ร่วมอนุรักษ์ไทย คิดค้น “อุปกรณ์วัดเสียงระนาด”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงโปรดให้นักศึกษาและบัญญติมาตรฐานระดับความถี่ของเสียงดนตรี เพื่อให้ศิลปินได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการตั้งเสียงเครื่องดนตรี และเพื่อไม่ให้ผิดเพี้ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมื่อเวลาผ่านเลยไป ดร.พิชิต กฤษนันทน์ และนักศึกษาระดับปริญญโท จากศูนย์ปฎิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย นายพนาไพร โตถาวรยืนยง นายธรรมรัตน์ นาวีเรืองรัตน์ ได้ร่วมกันวิจัยอุปกรณ์วัดเสียงระนาด ดร.พิชิต กล่าวว่า ปัญหาของการรักษามาตรฐานของระดับเสียงดนตรีไทยที่สำคัญ คือ เราไม่สามารถวัดระดับเสียงของระนาดซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เทียบเสียงของเครื่องดนตรีอื่น เนื่องจากคุณลักษณะของเสียงที่เกิดจากระนาดนั้นจะมีช่วงเวลาของการเกิดเสียงที่สั้นซึ่งน้อยกว่า 30 มิลิวินาที และลักษณะคลื่นเสียงที่ได้จะมีความแปรปรวนของความถี่สูง โดยเฉพาะระดับเสียงสูงและต่ำมาก ในงานวิจัยนี้จึงได้เลื่อกใช้วิธี Zoom Analysis ซึ่งเหมาะสำหรับลักษณะสัญญาณที่มีช่วงความถี่สูงๆ และเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ วิธีนี้เป็นการขยายสัญญาณ โดยการทำให้ความถี่ของสัญญาณเสียงนี้ลดลงเพื่อง่ายต่อการตรวจจับและนำไปวิเคราะห์ การตรวจวัดและเปรียบเทียบกับความถี่มาตรฐาน เพื่อบอกว่าระดับเสียงระนาดของผู้ใช้นั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับเสียงมาตรฐานอยู่เท่าไร เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับเสียงเครื่องดนตรีไทยได้โดยสะดวก (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2545 หน้า 7)





นักวิจัยคิดอุปกรณ์ทดสอบผลไม้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิจัยแห่งองค์กรรัฐบาลของสหรัฐ ได้คิดค้นวิธีการทดสอบความหวาน และมาตรฐานรสนิยมของผลไม้ โดยการใช้รังสีอินฟราเรด นายฟู ลูแห่งกรมการเกษตรสหรัฐ ออกแบบเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบรสชาติของแอปเปิล โดยอาศัยการวิเคราะห์แสงอินฟาเรด ที่ผลไม้ดูดซึมเข้าไป พร้อมเปิดเผยว่า กระบวนการเช่นนี้สามารถพัฒนาเพื่อใช้คำนวณความสดของแอปเปิลได้ด้วย โดยการวัดจากปริมาณแสงที่สะท้อนออกจากตัวผลไม้ และนอกจากนี้ยังอาจมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปดัดแปลงใช้ในการวัดผลไม้ชนิดอื่น อาทิ ลูกพีชและลูกแพร ในอนาคต (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2545 หน้า 7)





วช.เร่งผลักดันงานวิจัย แก้ไขปัญหาของประเทศ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่นโยบายและแนวทางการวิจัยแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2545- 2549) และแผนการวิจัยแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า การวิจัยมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและงานวิจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย การที่นักวิจัยไทยมีจำนวนเพียง 2 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน งานวิจัยมีเพียง 0.1% ของ GDP ในขณะที่ประเทศเกาหลีมีงบวิจัย 0.5% ของ GDP ทำให้ทราบถึงความแตกต่างของงานวิจัยว่า ไทยมีสัดส่วนงานวิจัยน้อยกว่า อีกทั้งมีความตื่นตัวด้านการวิจัยน้อยอีกด้วย ทั้งการตอบสนอง (Supply) ต่องานวิจัย ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้มีการนำแผนการวิจัยแห่งชาติไปสู่การปฎิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนเป้าหมาย นโยบาย และแนวทางการวิจัยของชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2545 – 2549) จึงมีทิศทางที่ชัดเจนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม,ด้านสุขภาพ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ผลงานวิจัยในแต่ละด้านจะได้มาจากการวิจัยขั้นพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ที่นำไปต่อยอดได้ และชุดโครงการวิจัยแห่งชาติ (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 24)





“ข้าวมอลต์” ผลิตภัณฑ์แปรรูปของ ม.รังสิต

มหาวิทยาลัยรังสิตได้ทำการแปรรูปพืชผลเกษตรหลายชนิดออกสู่ท้องตลาด เป็นการงานวิจัยมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้จริงในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง “ข้าวมอลต์” หนึ่งในงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวไทยของ ม.รังสิต ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในสาขาประดิษฐ์ อ.ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของงานวิจัยมอลต์กล่าวว่า ข้าวมอลต์เป็นงานวิจัยที่มีจุดเด่นอยู่ที่การนำข้าวที่ไม่นิยมนำมารับประทาน มาผ่านขั้นตอน malting process เพื่อให้มีความนุ่มและหอมเหมาะสำหรับการหุงรับประทาน (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 24)





“ไซโลข้าวระบายความร้อนด้วยตนเอง” นวัตกรรมใหม่ของการเก็บข้าวเปลือก

ศ.ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็น 1 ใน 15 เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปีล่าสุด ได้กล่าวถึงรูปแบบใหม่ในการรักษาคุณภาพข้าวในไซโลที่จะเป็นหนึ่งในหัวข้อการวิจัยภายใต้ทุนเมธีวิจัยอาวุโสว่า จะใช้ระบบท่อดึงความร้อนออกจากกองข้าวเปลือก ทีมวิจัยที่นำโดย ศ.ดร.ทนงเกียรติ ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบที่ใช้กับไซโลเหล็กขนาด 1 ตัน ขึ้นมาและร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวเชียงใหม่ในการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องมือดังกล่าวกับไซโลของสถาบัน และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 24)





คนไทยประดิษฐ์หุ่นด้วยยางพาราเป็นสื่อการศึกษาได้สำเร็จ

รศ.น.พ.อภินันท์ สุประเสริฐ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์และคณะได้ประดิษฐ์หุ่นที่ทำด้วยยางพารา จุดเด่นอันแรกคือนุ่ม เบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก ตกลงพื้นก็ไม่เป็นไร ตลอดระยะเวลาที่ผลิตไม่มีกลิ่นเหม็นและเป็นมลพิษเหมือนเรซิ่น ที่สำคัญคือ ราคาถูกลงอย่างมาก และเป็นการส่งเสริมการแปรรูปของยางพาราในบ้านเราไปด้วย นับเป็นความก้าวหน้าทางด้านความคิดภูมิปัญญาไทยของ ม.เกษตรฯ ที่สามารถเอาวัตถุในประเทศมาแปรรูปเป็นสื่อการเรียนการสอนให้สำเร็จขึ้นมาได้ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยโปสเตอร์ดีเด่นมาแล้ว ดังนั้นองค์กรใดที่ต้องการเรียรรู้หรืออยากสั่งให้ทำหุ่นตามต้องการ กรุณาติดต่อ รศ.น.สพ.อภินันท์ สุประเสริฐ ที่แผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ โทร.0-2579-7539,0-1770-9179(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2545 หน้า 27)





วิศวฯ ม.เกษตรโชว์ “รถไฟฟ้า” รางวัล PCT Awards 2002

พีระยุทธ พละกุล วรพจน์ ไตรวุฒิ และวิรัช เทพารักษ์ คือ 3 นิสิตเก่ง ชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกลการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมกันสร้างผลงานรถไฟฟ้า จนได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด International PCT Awards 2002 ซึ่งจัดโดยบริษัท พาราเมตริกเทคโนโลยีคอร์ปอเรชั่น (PTC) จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา จากความชื่นชอบในรูปแบบรถไฟฟ้า BTS รถไฟลอยฟ้า สายแรกของประเทศ ได้นำไปสู่ผลงานการออกแบบโดยใช้โปรแกรม CAD/CAM (Computer Aided Manufacturing) โดยสร้างชิ้นงานรถไฟฟ้า (Bangkok Skytrain) จนได้รับการโหวตจากผู้เข้าชมทั่วโลกว่า เป็นโครงการที่มีความยากทั้งในด้านการสร้างชิ้นงาน และความซับซ้อนของการประกอบชิ้นงาน จากผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 300 ทั่วโลก และยังเป็นงานชิ้นเดียวจากภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2545 หน้า 9)





วิจัยสกัดสารชีวภาพต้นไข่เน่าปราบแมลง

รศ.ดร.อภิชาต สุขสำราญ อาจารย์ภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปี 2545 กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีพืชบางชนิดสร้างสารเอดไดสเตียรอยด์ในปริมาณมาก เช่น ต้นไข่เน่า และต้นหมากคัง ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นต้นไม้ที่แมลงไม่มารบกวนเพราะมีสารเอดไดสเตียรอยด์ ทีมงานได้นำสารชนิดนี้มาพัฒนาเพื่อใช้เป็นสารควบคุมแมลงแทนการใช้สารเคมี โดยล่าสุดสามารถสังเคราะห์ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างฤทธิ์ชีวภาพของเอดไดสเตียรอยด์ กับฤทธิ์การเป็นฮอร์โมนลอกคราบของแมลง และในอนาคตกำลังหาสารควบคุมศัตรูพืชจากธรรมชาติ ที่จะทำต่อเนื่องและศึกษาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ สำหรับนำมาใช้เป็นยารักษาโรคอีกด้วย (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 กันยายน 2545 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


หวั่นภัยแมลงสาบ – ปลาหมึกพิษ กทม. เพิ่มกม. คุมสัตว์ต่างด้าว

นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้นำสัตว์จากต่างประเทศ อาทิ แมลงสาบมาดากัสการ์ และปลาหมึกยักษ์ลูริง มาเลี้ยงนั้น สัตว์เลี้ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของประเทศได้ โดยเฉพาะแมลงสาบมาดากัสการ์นั้นเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะเชื้อโรคหลายชนิดมาสู่คนทั้งไวรัส ปรสิต โดยเฉพาะมีพยาธิดูดเลือด หากเข้าสู่ร่างกายคน อาจจะทำให้เป็นโรคโลหิตจางและโรคขาดสารอาหารได้อีกด้วย โดยภายในเดือนนี้จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขข้อบัญญัติ จากนั้นผู้ว่าจะกลั่นกรองและเสนอสภาฯพิจารณา สำหรับผู้นำเข้าต้มีใบอนุญาต มิฉะนัน้มีโทษปรับ 1 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ผอ.สำนักอนามัยกล่าว (สยามรัฐ วันอังคารที่ 10 กันยายน 2545 หน้า 6)





เผยตัวยาต้องห้าม 16 ชนิด ครอบครองมีความผิดตาม กม.

นายฉัตรชัย ฮุนทวีชัย หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรประมง สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรีเปิดเผยว่า ประมง สาธารณสุข และปศุสัตว์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ และเกษตรกรกว่า 200 คน ในเรื่องการห้ามนำยาเภสัชเคมีภัณฑ์ ต้องห้าม 16 ชนิด คือ อริสโดโลเซีย, คลอแรมฟีนีคอล, คลอโปรมาซีน, คอลซิซีน, เดบโซน,ไนโตรฟูแรน, ไดเอทิลสดิลเบสโทรล,ซัลโฟนาไมด์, ฟลูโอโรควิโนโลน, ไกลโดเปปไตต์, ไดมีไตรดาโซล, เมโทรนิดาโซล, โรนิตาโซล, อิโพรดาโซล และยาเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ยกเว้นได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทวงพาณิชย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายอำนาจแทน (สยามรัฐ วันพุธที่ 11 กันยายน 2545 หน้า 22)





หมอแนะพัฒนาสมองเด็กทารก 5 ปีแรกโอกาสทองของชีวิตต้องส่งเสริม

แพทย์โรงพยาบาลหัวเฉียวชี้สมองเด็กทารกไม่ใช่สมองผู้ใหญ่ขนาดเล็ก แต่เป็นโครงสร้างที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายเซลล์สมองที่มีประสิทธิภาพ เด็กแรกเกิดสมองยังอยู่ในสถานะที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทารกเกิดมาพร้อมสมองเซลล์สมอง 1 แสนล้านเซลล์มีการเชื่อมโยงกันมากกว่า 50 ล้านๆ จุด และต้องการเชื่อมโยงใหม่ๆ อีกนับแสนล้านจุดเพื่อประกอบกันเป็นเครือข่ายของเซลล์สมองที่ซับซ้อนแบบผู้ใหญ่ นายแพทย์วิโรจน์ เศรษฐิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว เปิดเผยถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการเด็กว่า ประสบการณ์ในวัยแรกเริ่มโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตนั้น มีผลต่อการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ในระยะต่อไปของชีวิต เด็กหลายคนอาจพลาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขเพราะการขาดความรู้ ความเข้าในในการเลี้ยงดูนั่นเอง (สยามรัฐ วันอังคารที่ 10 กันยายน 2545 หน้า 23)





ยิ้มและหัวเราะเพาะร่างกาย ไม่แพ้จ็อกกิ้ง- เต้นแอโรบิก

นางศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุ การยิ้มและหัวเราะมีผลดีต่อร่างกาย เช่นเดียวกับการจ๊อกกิ้ง หรือการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ส่งผลดีต่อสุขภาพกาย จิตใจ และทำให้แก่ช้าลง และขณะนี้พบว่าคนไทยยิ้มน้อยลงเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทางกรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทำโครงการสร้างสุขภาพด้วยรอยยิ้มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนชาวไทยตระหนักในคุณค่าและประโยชน์ของการยิ้มเพราะการยิ้มจะช่วยเสริมสร้างความสุขให้แก่ตนเองและคนใกล้ชิด ช่วยให้สุขภาพกายและจิตใจดีขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาทางสรีรวิทยาพบว่า การยิ้มและหัวเราะ จะมีผลดีต่อร่างกาย เช่นเดียวกับการจ็อกกิ้ง หรือออกกำลังกายแบบแอโรบิก และจากการพิสูจน์ทางการแพทย์พบว่า การยิ้มทำให้แก่ช้าลง นอกจากนี้ การยิ้มยังเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทยด้วย (ไทยรัฐ วันพุธที่ 4 กันยายน 2545 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215