|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 39 ประจำวันที่ 2002-11-05
ข่าวการศึกษา
ทบวงฯทุ่มงบสานวิชาการลุ่มน้ำโขง อธิการฯ เมิน ปอมท.เกินหน้า ม.อิสระ ทปอ. ยอมรับระบบ Admissions ทบวงยันข้อสอบเอนทรานซ์ออกตามกรอบ ศธ. ศธ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา เผยวงการครูอาเซียนปัญหาอื้อ เงินเดือน-คุณภาพ ต่ำ-แก้ยาก สิริกร เชียร์เลิกกวดวิชาอนุบาลแฉนิยมติวลูกเข้าเรียนสาธิตมหาลัยรัฐ แนะ ปองพล เลียนตปท.ลดเนื้อหาหลักสูตร 30% กฎเหล็กครูสอนภาษาต้องจบตรี-โทเฟลไม่น้อย 550 จี้ ม.เอกชนยกระดับ ครูนิตยา เพ็ญจันทร์ ผู้ภิวัตน์ภูมิปัญญาสอนคณิตศาสตร์
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
วางผังเมืองลอยฟ้ากับดาวเทียม เครื่องสับย่อย เครื่องพิมพ์ลายผ้า ยอดสิ่งประดิษฐ์ภูมิปัญญาไทย ตามรอยค่ายอัจริยภาพเพื่อเยาวชน ยืมเทคโนฯหมีขาวผลิตยาชะลอแก่ สธ. เผยฮอร์โมนเร่งโต หัวใจหลักโปรตีนสมองหมู พินิจ สั่งตั้งวอร์รูมวิทย์ตรวจความก้าวหน้า
ข่าววิจัย/พัฒนา
ทีม cocare จาก มจธ. ทำลายสถิติยอดรถประหยัดเชื้อเพลิง เซลล์แสงอาทิตย์ในอนาคต เร่งวิจัยน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นพลังงานไบโอดีเซล นักวิจัยมะกันประสบผลสำเร็จยืดอายุขัยสิ่งมีชีวิต เสื้อพลังแบตเตอรี่ อบอุ่น สู้หนาว ราคาประหยัด วิจัยต้นไข่เน่า หาสารกันแมลง
ข่าวทั่วไป
ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน มือถืออาจเป็นตัวการเร่งมะเร็ง เตือนฮอร์โมนบำบัดเสี่ยงโรคหัวใจ ปลัดกทม.หนุนพวงหรีดรีไซเคิลแก้ปัญหาขยะ อย.ยัน ผงชูรส เมืองไทยปลอดภัย เอ็นจีโอไทย-เทศรณรงค์ต้านข้าวจัสมาติ รัฐควบคุมยาโรคกระเพาะ-แก้ปัญหาแท้ง กรมควบคุมมลพิษเตือนนกหวีดต้นเหตุ จร. หูตึง คนกรุงเฮได้ ลานคนเมือง เพิ่มอีกแห่ง 5 จังหวัดนำร่อง โครงการเมืองน่าอยู่ ไฟเขียว ขรก. โอนย้ายทำงานใกล้บ้าน กินต้มเลือดหมูกับ จิงกั่วฉ่าย บำรุงเลือดกันหัวใจล้มเหลว หนุนยืดเกษียณข้าราชการ ศธ.ถึง 70 ปี
ข่าวการศึกษา
ทบวงฯทุ่มงบสานวิชาการลุ่มน้ำโขง
นายวรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาไทย กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่า ทบวงฯได้ดำเนินงานการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันศึกษาไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) มาตั้งแต่ปี 2539 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเชื่อมโยงทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา การพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และการวิจัยร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบผลเป็นอย่างดี โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้มากที่สุดคือ เวียดนาม มีผู้เข้าร่วมโครงการ 63 คน จีน 60 คน ลาว 32 คน กัมพูชา 4 คน และพม่า 4 คน
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
อธิการฯ เมิน ปอมท.เกินหน้า ม.อิสระ
รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) จะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งเพื่อให้ถอนร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลกลับมาทบทวนนั้นตนยังไม่ทราบ ประธานสภาอาจารย์ มมส.ก็ไม่พูดถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้ ตนไม่รู้ว่า ปอมท.จะทำอะไรกันอีก และคิดว่าสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งคงไม่หยิบเรื่องนี้มาให้ความสำคัญ และคงไม่ถอนร่างกฎหมายคืนมา
(มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 15)
ทปอ. ยอมรับระบบ Admissions
รศ.ดร. ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลการประชุม ทปอ.นัดพิเศษว่า ทปอ.ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบกลางคัดเลือกนิสิตนักศึกษาหรือ Admissions โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่ให้นำผลการเรียนของนักเรียนมาพิจารณามากขึ้น ลดการสอบให้น้อยลง และเห็นชอบให้มีองค์ประกอบได้แก่ คะแนนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPA) 5% ตำแหน่งลำดับที่ (PR) 5% การสอบวัดมาตรฐานกลาง (National test) ที่กรมวิชาการดำเนินการจัดสอบ 8 กลุ่มวิชาในแต่ละช่วงชั้นปี โดยให้มีการนำผลการสอบช่วงชั้น 6 มาใช้ในการพิจารณา การสอบวิชาหลัก 5 กลุ่มวิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การวัดศักยภาพการเรียนอุดมศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การวัดศักยภาพทั่วไปที่ไม่ใช่การวัดเนื้อหาวิชาการ เช่น วัดความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร วัดความสามารถเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น และ 2.การวัดศักยภาพทางวิชาชีพ ในบางสาขาวิชาเฉพาะด้านทางด้านวิชาชีพที่จำเป็น
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2545 หน้า 14)
ทบวงยันข้อสอบเอนทรานซ์ออกตามกรอบ ศธ.
ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าข้อสอบวัดความรู้เพื่อสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เป็นข้อสอบในระดับอุดมศึกษาปีที่หนึ่งและอาจารย์ผู้ออกแบบข้อสอบ กลับไปสอนกวดวิชาและเฉลยข้อสอบ ทำให้นักเรียนต้องเรียนกวดวิชา ว่า นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน รมว.ทบวงฯ ได้สั่งการให้ทบวงฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากผลการตรวจสอบพบว่า ข้อสอบวัดความรู้ทุกวิชามีเนื้อหาภายในหลักสูตรมัธยมปลายที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดให้ทุกโรงเรียนใช้และในการออกข้อสอบของทบวงฯ ยังมีการจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรที่ผู้ออกข้อสอบต้องใช้เป็นกรอบในการสร้างข้อสอบอย่างเคร่งครัด ศ.ดร.วรเดช กล่าวว่า ในส่วนผู้ออกข้อสอบทบวงฯ ได้กำหนดคุณสมบัติของอาจารย์ว่าต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้สอนกวดวิชา หรือมีบุตรหลานที่กำลังเข้าสอบมหาวิทยาลัย จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมาสอนกวดวิชา ตนมองว่าการกวดวิชา ถือเป็นการทบทวนความรู้และเสริมสร้างกำลังใจให้นักเรียนมีความมั่นใจในการทำข้อสอบนั้น
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 6)
ศธ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา
นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการบริหารงานตามโครงสร้าง ศธ. ใหม่ที่จะแบ่งเป็น 5 องค์กรหลัก รวมทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปการศึกษา ขึ้นบนอาคารราชวัลลภ โดยได้ขอพระราชานุญาตขอใช้ห้องทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชานุญาตมาแล้วโดยศูนย์นี้จะเป็นที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของ ศธ. พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับศูนย์ปฏิบัติการของทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงอื่นๆ ด้วย ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ. กล่าวว่า สำหรับการฝึกอบรมผู้บริหารเพื่อเตรียมเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรให้มีการจัดฝึกอบรมในเรื่องของการทำหลักสูตรได้ เนื่องจากในปีการศึกษา 2546 นี้ จะมีการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกโรงเรียน
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2545 หน้า 9)
เผยวงการครูอาเซียนปัญหาอื้อ เงินเดือน-คุณภาพ ต่ำ-แก้ยาก
นายผดุงชาติ สุวรรณวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอ ไรเฮด เปิดเผยว่าในปี 2545 ศูนย์ซีมีโอ ไรเฮด ได้ทำวิจัยเรื่อง Teachers and Teacher Education in Southeast Asia Countries ใน 10 ประเทศ ได้แก่ สิงค์โปร์ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า และไทย พบว่าวิชาชีพครูยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงมากนัก แม้แต่สิงค์โปร์ก็มีสถาบันฝึกหัดครูเพียง 1 แห่ง คือ National Instiute of Education (NIE) แต่ก็เป็นสถาบันฝึกหัดครูที่เข้มข้นมาก และเมื่อจบออกมาเป็นครูแล้วจะต้องทำงานหนัก อย่างไรก็ตาม วิชาชีพในสิงค์โปร์ได้รับค่าตอบแทนสูงพอๆ กับวิชาชีพอื่นๆ เทียบได้กับค่าตอบของครูในญี่ปุ่น และฮ่องกง ซึ่งถือเป็น 3 ประเทศในเอเชียที่ให้ความสำคัญและให้ค่าตอบแทนครูสูง ส่วนครูในประเทศไทยได้ค่าตอบแทนเท่ากับข้าราชการประเภทอื่นๆ และมีรายได้พิเศษน้อยในขณะที่ทำงานหนักและมีปัญหาเหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือคนที่เรียนครูไม่ใช่คนเก่ง
(มติชน จันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 20)
สิริกร เชียร์เลิกกวดวิชาอนุบาลแฉนิยมติวลูกเข้าเรียนสาธิตมหาลัยรัฐ
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) จะเสนอนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอแก้ไขเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชาโดยให้ยกเลิกการจัดกวดวิชาระดับอนุบาล ส่วนการกวดวิชาในระดับชั้นอื่นๆ ก็เป็นสิทธิของผู้ปกครอง แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการกวดวิชาในลักษณะนี้คงไม่ได้มุ่งหวังผลทางธุรกิจอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นการสอนเพิ่มเติมให้กับนักเรียนมากกว่า ทั้งนี้ หากผู้ปกครองมีข้อมูลเกี่ยวกับการกวดวิชาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สามารถส่งข้อมูลร้องเรียนมาได้ที่ ศธ. นางสิริกรกล่าว
(มติชน อังคารที่ 29 ตุลาคม 2545 หน้า 20)
แนะ ปองพล เลียนตปท.ลดเนื้อหาหลักสูตร 30%
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรณีนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนว่า ตนเห็นด้วยกับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยเห็นควรลดเนื้อหาลง 20-30% เพราะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็กำลังลดเนื้อหาของหลักสูตรลงเช่นกัน เช่น ที่ญี่ปุ่นลดเนื้อหาของหลักสูตรลง 30% และหันมาเสริมสร้างเรื่องคุณลักษณะ และลักษณะนิสัยมากขึ้นโดยนำเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมใส่เข้าไปแทน รวมทั้งเพิ่มในส่วนของการปฏิบัติให้เด็กลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น และใช้สื่อกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับสังคมสิ่งแวดล้อม และวัดเพื่อทำให้เด็กเรียนรู้ครบทุกองค์ความรู้ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
(มติชน อังคารที่ 29 ตุลาคม 2545 หน้า 20)
กฎเหล็กครูสอนภาษาต้องจบตรี-โทเฟลไม่น้อย 550
นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดย ร.ร.เอกชนเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ศธ. เป็นภาษาอังกฤษ ที่ระบุให้ครูสอนภาษาต่างประเทศต้องมีคุณสมบัติจบปริญญาตรี ส่วนครูผู้สอนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาต้องได้คะแนนสอบโทเฟลไม่น้อยกว่า 550 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วยืนยันให้คงหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ เพื่อคงมาตรฐานคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน
(สยามรัฐ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
จี้ ม.เอกชนยกระดับ
ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 10 แห่ง ที่เปิดสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้ทราบปัญหาศักยภาพทางวิชาการตกต่ำ เพราะบุคลากรด้านพยาบาลที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์หาได้ยาก โดยเฉพาะสถาบันที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคและยังประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งฝึกงาน เฉพาะอย่างยิ่งด้านสาขาพยาบาลสูติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการรับรองมาตรฐานซึ่งมีหลายองค์กรรับผิดชอบพบว่าผู้ที่สอบผ่านของสภาการพยาบาลมีอัตราค่อนข้างต่ำ ดังนั้นทบวงฯจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ขณะเดียวกันได้ขอให้สถาบันต่างๆ มีมาตรการจูงใจอาจารย์ สนับสนุนให้ทำงานวิจัยเพื่อใช้พัฒนาการเรียนการสอน และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา
(มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 15)
ครูนิตยา เพ็ญจันทร์ ผู้ภิวัตน์ภูมิปัญญาสอนคณิตศาสตร์
อาจารย์ นิตยา เพ็ญจันทร์ อาจารย์หมวดวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และในฐานะวิทยากรแกนนำวิชาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สร้างผลงานเด่นโดยนำ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ผ่านโครงงานต่างๆ อาทิ โครงงานคณิตศาสตร์การออกแบบลายมัดหมี่ การศึกษากระบวนการทอผ้ามัดหมี่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวนครสวรรค์ โครงงานเลี้ยงปลานิลกันอย่างไรจึงจะได้กำไรงาม โครงงานคณิตศาสตร์กับธรรมชาติ ฯลฯ และล่าสุดได้รับรางวัล ครูต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ของกรมสามัญศึกษา ปี 2545 อาจารย์นิตยา บอกว่า ต้องการให้เด็กรักชอบคณิตศาสตร์ให้ได้ ยิ่งถ้าเด็กตกคณิตศาสตร์มากๆ ก็ยิ่งต้องสรรหาวิธีการสอนใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็ร่วมแก้ปัญหากับเด็ก แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าเรียนกับเราแล้วมีความสุขตรงที่ไม่อึดอัด อีกประการคือ จะปลูกฝังความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นและรู้จักหน้าที่ของตัวเอง
(สยามรัฐ พฤหัสบดี 31 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
วางผังเมืองลอยฟ้ากับดาวเทียม
นักวิจัยจาก University of Connecticut ร่วมกับองค์การ NASA ได้ริเริ่มและพัฒนาโครงการที่มีชื่อว่า Nautilus เพื่อนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการวิเคราะห์และวางผังเมือง แนวคิดของโครงการดังกล่าวก็คือการแปรผลข้อมูลจากดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความหนาแน่นของชุมชน ทิศทางการขยายตัวของเมือง ไปจนกระทั่งข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเช่นข้อมูลคุณภาพน้ำและอากาศมีการใช้สีและกราฟเข้าเพื่อให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น แม้กระทั่งการใช้ระบบแอนิเมชั่นเข้ามาช่วย ประโยชน์ที่จะได้จากโครงการนี้ก็คือสมมุติว่าหากนักวางผังเมืองสามารถทราบได้ว่าแนวโน้มของการขยายตัวของชุมชนและเมืองอยู่ในทิศและบริเวณใดก็จะสามารถเตรียมการรับมือล่วงหน้าได้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคอย่างเช่นไฟฟ้าและน้ำประปา หรือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างเช่นคุณภาพของน้ำและอากาศได้นั่นเอง
(เดลินิวส์ พุธที่ 23 ตุลาคม 2545 หน้า 12)
เครื่องสับย่อย
เครื่องสับย่อย นี้เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ ประสิทธิ์ ตาปนานนท์ นักวิชาการระดับ 9 ฝ่ายบริการอุตสาหกรรมและที่ปรึกษาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เครื่องสับย่อยรุ่นนี้เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากเครื่องสับที่มีขนาดใหญ่กว่าทั้งนี้ จะต้องนำไปใช้ใน โครงการกำจัดผักตบชวาในลุ่มแม่น้ำท่าจีน โดยที่เครื่องสับย่อยนี้จะติดตั้งกับเครื่องเก็บผักตบชวาในน้ำ เพื่อจะได้สับย่อยได้ทันที ไม่ต้องนำมากำจัดบนฝั่งอีกรอบหนึ่ง ส่วนผักตบที่ถูกสับย่อยแล้ว จะถูกนำไปรองก้นหลุม, ทำปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ เพาะเห็ดก็ได้ ได้จดสิทธิบัตรเครื่องสับย่อยเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ในระหว่างการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจอยู่
(เดลินิวส์ อาทิตย์ 27 ตุลาคม 2545 หน้า 25)
เครื่องพิมพ์ลายผ้า ยอดสิ่งประดิษฐ์ภูมิปัญญาไทย
เครื่องพิมพ์ลายผ้า ศิลปะการพิมพ์รูปแบบใหม่ ผลงานของ บุญรัตน์ ภูแก้ว และพุทธา สุริยะฝ่าย นักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศร์ โดยมี อ.อัจฉราวรรณ ณ สงขลา สาขาการออกแบบเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย (วิทยาเขตโชติเวช) และ อ.เริงศักดิ์ มานะสุนทร สาขาอุตสาหกรรม (วิทยาเขตเทเวศร์) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ ภูมิปัญญาไทย ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ประโยชน์ของเครื่องพิมพ์ลายผ้าด้วยความร้อนที่มีคุณภาพทัดเทียมกับเมืองนอก แต่มีราคาประหยัดกว่าถึง 10 เท่าตัวสำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาและการปรับปรุงเครื่องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายสู่ภาคการผลิตระดับท้องถิ่นและอุตสาหกรรมขนาดย่อมแล้ว ด้วยคุณสมบัติของเครื่องซึ่งเป็นงานผีมือที่มีอิสระทางจินตนาการ สามารถพิมพ์ลายผ้าได้หลากหลายตามความต้องการ
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
ตามรอยค่ายอัจริยภาพเพื่อเยาวชน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัด ค่ายอัจฉริยภาพเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 1 เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ระหว่างเยาวชน ในโครงการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และโอลิมปิกวิชาการกับเยาวชนที่รักและสนใจวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีความปรารถนาจะพัฒนาตนเอง โดยจัดกิจกรรมที่จะให้ทั้งสองฝ่ายได้พบปะทำความรู้จักกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การถ่ายทอดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก กิจกรรมในค่ายมีทั้งนันทนาการ กิจกรรมเสริมความรู้ทางวิชาการ พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ให้สอดคล้องกับระดับและวัยของเด็กด้วย
(สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
ยืมเทคโนฯหมีขาวผลิตยาชะลอแก่
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เห็นเทคโนโลยีผลิตยาชะลอความแก่จากสมองหมูซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ของประเทศรัสเซีย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก พ.ต.ท.ทักษิณจึงมีความคิดว่า หากนำเทคโนโลยีตัวนี้มาเผยแพร่ในประเทศไทยน่าจะดี เพราะไทยมีหมูอยู่แล้วจำนวนมาก นายพีรศักดิ์ สุนทรโรสถ ผู้ว่าการ วท. กล่าวถึงส่วนผสมของยาชะลอความแก่ที่ผลิตจากมันสมองหมู ว่าเมื่ออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดการสึกหรอ สิ่งที่จะ
เข้ามาซ่อมแซมก็คืออาหารประเภทโปรตีน ทั้งจากพืชและสัตว์ ที่ผ่านมาอาหารเสริมและยาที่สกัดจากสมองหมูก็มีประโยชน์กับนักบินอวกาศก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจนอกโลก ทางรัสเซียพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับคนไทยอย่างช้าราวต้นปีหน้า
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 18)
สธ. เผยฮอร์โมนเร่งโต หัวใจหลักโปรตีนสมองหมู
นพ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะเรียนรู้การถ่ายทอดเทคโนโลยีสกัดโปรตีนจากสมองหมู เพื่อนำมาผลิตเป็นยาชะลอความแก่ว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะขณะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่มีการจดสิทธิบัตร อีกทั้งมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันตรงกันว่า สารเคมีตัวสำคัญที่สกัดได้จากสมองหมูและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ก็คือ สาร DHEA ซัลเฟต ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า GROWTH HORMONE โดยฮอร์โมนชนิดดังกล่าว สามารถสกัดได้ทั้งจากสมองหมู สมองแกะหรือแม้แต่สมองคน เพราะเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะผลิตออกมาโดยปกติอยู่แล้ว ในช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึง 30 ปี และจะค่อยๆ ผลิตน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ฮอร์โมนดังกล่าวมีส่วนทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า โดยทั่วไปร่างกายจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ในเวลาที่คนเรานอนหลับ และจะนำไปใช้ที่สมองประมาณ 20 ส่วน ที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้แข็งแรง สดชื่น เพราะฉะนั้นที่ว่าชะลอความแก่ไม่ได้หมายถึงแค่ทำให้ไม่เหี่ยวย่น แต่ยังหมายถึงให้ความรู้สึกที่ไม่แก่ด้วย ปัจจุบันมีการผลิตยาที่สกัดจากโปรตีนและฮอร์โมนในสมองของแกะ ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดเดียวกันจำหน่าย แต่ราคาแพงมาก จึงนับเป็นเรื่องที่ดี ที่ประเทศไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้
(ไทยรัฐ วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2545 หน้า 15)
พินิจ สั่งตั้งวอร์รูมวิทย์ตรวจความก้าวหน้า
นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากเดอะนิวยอร์กไทม์ หนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ขอสัมภาษณ์ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ โดยจะสัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ 5 ด้าน คือ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนงานด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของไทยที่จะเร่งพัฒนาเป็นพิเศษ เป้าหมายการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ โอกาสการลงทุนและแรงจูงใจสำหรับการลงทุน รวมทั้งการส่งเสริมการเติบโตของตลาดการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ได้เตรียมคำตอบไว้แล้ว โดยจะเสนอข้อมูลที่เน้นโครงการรูปธรรมที่กำลังจะเริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังในสมัยตน อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มอบนโยบายกับปลัดกระทรวงวิทย์ เพื่อจัดตั้งวอร์รูมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นระบบสั่งงานรวมของกระทรวง โดยทุกหน่วยงานจะต้องนำเสนอผลงาน ความคืบหน้าและรายงานความก้าวหน้าทุกสัปดาห์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและหมายเลขโทรศัพท์พิเศษที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะชาวบ้านมีช่องทางติดต่อได้ง่ายขึ้น คาดว่าวอร์รูมนี้จะเริ่มเดินหน้าได้ก่อน ม.ค. 2546
(ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 15)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ทีม cocare จาก มจธ. ทำลายสถิติยอดรถประหยัดเชื้อเพลิง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีม cocare จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับนานาชาติอีกครั้ง ด้วยการนำรถประหยัดเชื้อเพลิงเข้าร่วมการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิงที่ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ณ สนามทวินริง โมเตกิ เมืองโทจิกิ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสามารถสร้างสถิติประหยัดน้ำมันได้ถึง 1,335.283 กิโลเมตรต่อลิตร ครองอันดับสองของกลุ่มผู้เข้าแข่งขันระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย สำหรับประเทศไทยได้ส่ง ทีม COCARE นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิงในประเทศไทย ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมาเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจากสถิติในประเทศสามารถทำสถิติค่าประหยัดน้ำมันได้สูงถึง 666.207 กม./ลิตร การแข่งขันครั้งนี้ นับว่าสร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านวิทยาการเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ คิดค้นและพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ และความสามารถของเยาวชนไทยที่พัฒนาจนเทียบเคียงได้ในระดับสากล
(สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
เซลล์แสงอาทิตย์ในอนาคต
มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอริโซนา (University of Arizona) เมืองทูซอน (Tuczon) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงด้านพลังงานแสงอาทิตย์มาก ได้คิดการสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยการฉาบเซลล์แสงอาทิตย์ลงบนกระดาษ หรือพลาสติกเหมือนการฉีดสีหมึกของเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ (Inkjects) และก็มีสำนักวิจัยบางแห่งก็พยายามที่จะใช้เทคโนโลยีทั้ง 2 แบบผสมผสานกันคือ ทั้งแบบอินทรีย์ (Organic) และอนินทรีย์ (Inorganic) เช่นที่ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กลีย์ (University of California-Berkeley) ได้สร้างโซลาร์เซลล์โดยใช้สารกึ่งตัวนำหรือแบบอินทรีย์ โดยทำเป็นแท่งยาวเล็กมากๆ ขนาด 7 และ 60 นาโนเมตร อแลน ฮีเกอร์ (Alan Heeger) ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเรื่องการค้นพบสารพลาสติกที่ผลิตเป็นไฟฟ้าได้นี้ ให้ความเห็นว่าอาจจะพัฒนาให้เซลล์แสงอาทิตย์นี้มีประสิทธิภาพได้ถึง 10%
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2545 หน้า 16)
เร่งวิจัยน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นพลังงานไบโอดีเซล
นายวีระพล จิระประดิษฐกุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กล่าวว่า น้ำมันพืชที่ใช้แล้วถือเป็นของเสียชนิดหนึ่งที่มีสิ่งปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง และอาจจะถึงขั้นยับยั้งการเจริญเติบโตหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซลทดแทนแล้วยังสามารถแก้ปัญหาการนำไปใช้ซ้ำซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเป็นมะเร็งได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ให้การสนับสนุนไปแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสาธิตการใช้และผลิตไบโอดีเซลจาก น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว วิจัยโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และโครงการพัฒนากระบวนการผลิตเมธิเอสเตอร์จากน้ำมันทอดใช้แล้วและการทดสอบเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลวิจัยโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งจะได้ผลการวิจัยที่สมบูรณ์ภายใน 1 ปี
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 31)
นักวิจัยมะกันประสบผลสำเร็จยืดอายุขัยสิ่งมีชีวิต
นิตยสารซานเอนซ์ ฉบับล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.) ตีพิมพ์ผลงานของคณะนักวิจัยอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก (ยูซีเอสเอฟ) ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกในการยืดอายุขัยให้กับมนุษย์ คณะนักวิจัยชุดดังกล่าว สามารถยืดอายุขัยของหนอนคานอร์แฮบดิทิสอีลีแกนส์ ซึ่งเป็นหนอนขนาดเล็กความยาวเพียง 1 มม. จากปกติที่มีอายุราว 15 วัน เป็น 1 เดือน ด้วยการปรับแต่งองค์ประกอบทางพันธุกรรม เพื่อดัดแปลงยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน คณะนักวิจัย พบว่า หากยีนดีเอเอฟ-2 ถูกดัดแปลงพันธุกรรม ตั้งแต่หนอนยังมีอายุน้อย จะทำให้หนอนมีอายุขัยยืนยาวขึ้น แต่การขยายพันธุ์จะแย่ลงอย่างไรก็ดี หากดัดแปลงยีนดังกล่าว ในช่วงที่หนอนใกล้จะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย จะทำให้อายุขัยของหนอนยืนยาวขึ้น โดยที่ระบบการสืบพันธุ์ยังทำงานเป็นปกติ
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 22)
เสื้อพลังแบตเตอรี่ อบอุ่น สู้หนาว ราคาประหยัด
นายทองคำ แก้วเปี้ย นักศึกษาระยะสั้น 150 ชั่วโมง แผนกอิเล็กทรอนิกส์วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ แนวคิดเสื้อกันหนาวแบบที่มีความร้อนอยู่ภายในตัวเสื้อ ใส่ตัวเดียวก็อุ่น พกพาสะดวก จึงเกิดขึ้น และนำไปปรึกษาอาจารย์ผู้สอน และอุปกรณ์ที่จะนำมาทำให้เกิดความร้อน เน้นความประหยัดใช้ประโยชน์ได้จริง ทองคำจึงนำแผ่นนำความร้อนจากขดลวดนิโครม ของเตาไฟฟ้าเอามายืดออกให้เป็นเส้นตรงตัดให้ได้ 2 ฟุต แล้วนำมาขดใหม่ให้เป็นแถวตามแนวตั้ง จากนั้นก็นำสลิปสายไฟ มาพันให้รอบลวดนิโครม เพื่อเป็นฉนวนนำความร้อนได้ ส่วนที่ติดอยู่กับตัวเสื้อจะทำเป็นตัวเสียบ เพื่อเชื่อมเข้ากับแจ๊กที่ติดอยู่กับแผ่นความร้อน ที่ติดไว้ 3 จุดคือ หน้าอก 2 จุด และหลัง 1 จุด ต่อเข้ากับตัวแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ พร้อมสะพานฟิวส์กันชอร์ต 1 ตัว มีสวิตช์ ปิด-เปิดตามต้องการ เมื่อเปิดสวิตช์ประมาณ 15 วินาที แผ่นความร้อนทั้ง 3 จุดก็จะเริ่มอุ่น และกระจายความร้อนไปทั่วทั้งตัวเสื้อ ทำให้ร่างกายอบอุ่น
(มติชน จันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 22)
วิจัยต้นไข่เน่า หาสารกันแมลง
รศ.ดร. อภิชาต สุขสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2545 สาขาเคมี ได้ทำการวิจัยร่วมกับทีมงานในการหาสารประเภทเอคไดสเตียรอยด์ (Ecdysteroids) จากพืชไทย ซึ่งสารเอคไดสเตียรอยด์โดยปกติจะพบในแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีกหลายชนิด ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการลอกคราบของแมลง ซึ่งพบว่าพืชในประเทศไทยบางชนิด สร้างสารเอคไดสเตียรอยด์ในปริมาณที่มาก เช่น ต้นไข่เน่าเป็นไม้ยืนต้นที่พบทั่วไปในประเทศไทย และต้นหมากคัง เป็นไม้ยืนต้นที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่แมลงไม่มารบกวนเนื่องจากมีสารชนิดนี้อยู่ จึงสนใจที่จะพัฒนาสารเอคไดสเตียรอยด์ในการทำเป็นสารควบคุมแมลงในอนาคตอีกทั้งเรายังศึกษาพบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งอื่น
(เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2545 หน้า 27)
ข่าวทั่วไป
ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้สูงอายุจึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ ผศ.น.พ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ และคณะ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำการวิจัย เรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้สูงอายุไทยในชุมชน ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความปลอดภัย และมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อย และสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันสูงถึง 97.1 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่าผู้สูงอายุกลุ่มศึกษาเป็นโรคไข้หวัดใหญ่น้อยกว่ากลุ่มทดลอง
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 3)
มือถืออาจเป็นตัวการเร่งมะเร็ง
นายฟิโอเรนโซ มาริเนลลี นักชีววิทยาชาวอิตาเลียนตั้งข้อสังเกตว่าแม้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคมะเร็ง แต่อาจทำให้มะเร็งลุกลามมากขึ้น โดยคณะวิจัยของนายมาริเนลลี ทดสอบโดยนำเซลล์ที่มีเชื้อมะเร็งโลหิต เข้าไปอบด้วยเครื่องวิทยุ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรป ผลปรากฏว่า เซลล์ดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายมาริเนลลีเชื่อว่าหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า คลื่นความถี่วิทยุอาจมีอิทธิพลสำคัญต่อการขยายตัวของโรคมะเร็ง
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2545 หน้า 28)
เตือนฮอร์โมนบำบัดเสี่ยงโรคหัวใจ
สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐเตือนว่าการรับประทานฮอร์โมนเพื่อป้องกันโรคที่เกิดกับหญิงสูงวัยอาจมีผลทำให้เกิดความเสียงต่อการเป็นโรคหัวใจและมะเร็งมากกว่าที่คิดไว้ โดยผลการศึกษา ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 10,000 คนพบว่า ผู้ที่รับประทานเอสโตรเจนและโปรเจสตินชนิดเม็ด จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม โรคหัวใจ โรคลมปัจจุบัน และโรคโลหิตจับตัวเป็นก้อน มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานฮอร์โมนเสริม อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงเดินหน้าค้นคว้าต่อไป เพื่อหาข้อสรุปว่า การรับประทานเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว จะปลอดภัยกว่าหรือไม่และฮอร์โมนประเภทใดที่จะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2545 หน้า 28)
ปลัดกทม.หนุนพวงหรีดรีไซเคิลแก้ปัญหาขยะ
นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การจัดงานศพของคนไทยนิยมมอบพวงหรีดโดยส่วนตัวเห็นว่าควรสนับสนุนการมอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อช่วยเหลือในการจัดงานน่าจะดีกว่า หรือหากบางครอบครัวที่มีการตั้งมูลนิธิเพื่อรำลึกถึงคนตาย ก็สามารถมอบเงินเข้ามูลนิธิ ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่ามอบพวงหรีด แต่คงยากที่จะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดดังกล่าวจึงเห็นว่าแนวทางอีกอย่างคือ ประชาชนน่าจะหันมาใช้พวงหรีดทำจากวัสดุรีไซเคิลแทนพวงหรีดดอกไม้สด ซึ่งเมื่อเสร็จงานแล้วก็จะกลายเป็นขยะไม่มีค่า ปัจจุบันได้มีกลุ่มอาชีพในชุมชนต่างๆ เช่น ชมรมแม่บ้านยานนาวา ได้นำเอาวัสดุรีไซเคิล และกระดาษดอกไม้จันทน์ มาประดิษฐ์เป็นพวงหรีด ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจพวงหรีดกระดาษหรือพวงหรีดดอกไม้จันทน์สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ ชมรมแม่บ้านยานนาวา หมายเลขโทรศัพท์ 01-923-0311 นางณฐนนท กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น วันละ 9,100 ตันต่อวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตจะเป็นปัญหาต่อการกำจัดขยะ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากนำขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จะช่วยลดปริมาณขยะได้มาก
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
อย.ยัน ผงชูรส เมืองไทยปลอดภัย
น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับผลวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่น ถึงอันตรายจากการบริโภคผงชูรสมากเกินไป ที่อาจทำให้ตาบอดนั้น อย. ขอชี้แจงว่า ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมท เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ซึ่งผู้ผลิต-ผู้นำเข้า จะต้องได้รับใบอนุญาตผลิต/นำเข้า และขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารโดยต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด น.พ.สถาพร กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผลการศึกษาวิจัย ตามที่เป็นข่าวปรากฏอยู่ในขณะนี้นักวิจัยญี่ปุ่นมีการใช้ผงชูรสในอาหาร 20 กรัมต่อน้ำหนักอาหาร 100 กรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูง คิดเทียบได้กับอาหารที่เป็นก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ในปริมาณน้ำหนัก 300 ใช้ผงชูรสถึง 60 กรัม หรือเทียบเท่าผงชูรส 12 ช้อนชา ต่อการบริโภค 1 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่วิธีของการปรุงอาหารตามปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อย. จะติดตามรายงานวิจัยฉบับเต็มของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นนี้ เพื่อส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาข้อมูลด้านความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อไป
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
เอ็นจีโอไทย-เทศรณรงค์ต้านข้าวจัสมาติ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการเครือข่ายภูมิปัญญาไทย (ไปโอไทย) แถลงข่าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสาน และเครือข่ายแลกเปลี่ยนการศึกษาระดับรากหญ้าและโลก ได้ร่วมกันตั้งโครงการรณรงค์ปกป้องข้าวหอมมะลิในสหรัฐ โดยจะทำการรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ไปจนถึงเดือน ก.พ. 2546 นางสาวแพ็กกี้ รีนส์ เครือข่ายแลกเปลี่ยนการศึกษาระดับรากหญ้าและโลก กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) ได้รับอนุญาตให้มีการคุ้มครองข้าวซึ่งถูกเรียกและใช้เครื่องหมายการค้าว่า ข้าวจัสมาติ ซึ่งเป็นข้าวลูกผสมจากอเมริกากับอิตาลีที่ถูกปลูกในอเมริกา และทำให้ผู้บริโภคอเมริกันเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่มาจากประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริโภคอเมริกันตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหานี้จึงได้วางแผนรณรงค์ โดยขั้นตอนแรกจะมีการเผยแพร่โปสเตอร์และคู่มือให้ข้อมูลกับชาวอเมริกันว่าข้าวหอมมะลิผลิตมาจากเกษตรกรรายย่อยของประเทศไทย และชื่อ ข้าวจัสมาติ ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ จะต้องแน่ใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่มาจากประเทศไทยเท่านั้น ขั้นตอนที่สอง จะให้ผู้แทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและไบโอไทยร่วมรณรงค์ในสหรัฐอเมริกาเพื่อกดดันให้ FTC เปลี่ยนนโยบาย และในขั้นตอนสุดท้ายจะสร้างกลไกให้กลุ่มผู้บริโภคได้สั่งซื้อข้าวหอมมะลิโดยตรงจากเกษตรกรชาวนาไทยเป็นการสร้างเครือข่ายการค้าที่เป็นธรรมและรักษาผลกำไรของทั้งสองฝ่ายไว้
(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
รัฐควบคุมยาโรคกระเพาะ-แก้ปัญหาแท้ง
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากปัญหาการลักลอบทำแทงเถื่อน จนเป็นเหตุให้ผู้หญิงหลายรายโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงต้องจบชีวิตลง หรือต้องเข้ารักษาตัวเนื่องจากติดเชื้อแทรกซ้อนจากการทำแท้ง จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขควบคุมยารักษาโรคกระเพาะอาหารที่มีชื่อว่า ไมโสพรอสตอล (Misoprostol) เป็นยาควบคุมพิเศษกำหนดให้มีจำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากมีผู้นำยาดังกล่าวไปใช้ในการทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2545 เป็นต้นมา นางสุดารัตน์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 27 พ.ศ. 2545 ในเดือนกรกฎาคม 2545 เพิ่มการควบคุมยาอีก 2 ตัว ให้เป็นยาควบคุมพิเศษเช่นเดียวกับยาไมโสพรอสตอล คือ ไดโนพรอนสโตน (Dinop-rostone) และซัลพรอสโตน (Sulp-rostone) โดยอนุญาตให้มีจำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้นห้ามจำหน่ายในร้านขายยาอย่างเด็ดขาดหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ทบทวนแล้วพบว่ายาดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการลักลอบนำไปใช้ในทางที่ผิดๆ ได้เช่นกัน
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 28)
กรมควบคุมมลพิษเตือนนกหวีดต้นเหตุ จร. หูตึง
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า มลพิษทางเสียงผู้ที่มีอาชีพจำเป็นต้องเป่านกหวีด โดยเฉพาะกลุ่มตำรวจจราจร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการหูหนวก หูตึงได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ กว่า 2 เท่า เนื่องจากต้องได้รับเสียงจากการจราจรอยู่แล้ว ซึ่งผลการวัดยังพบเสียงดังเกินกว่า 80 เดซิเบล เอ ปัญหามลพิษทางเสียงที่หลายคนมองข้ามอีกอย่างคือ เสียงนกหวีดจากการวัดปริมาณความดัง พบว่า ดังถึง 120 เดซิเบล เอ ซึ่งเทียบเท่ากับระดับเสียงของเครื่องบินโดยสารไอพ่นและจะลดความดังลงเหลือประมาณ 100 เดซิเบล เอ เมื่อยืนห่างออกไป 1 เมตร และ 95 เดซิเบล เอ เมื่อห่างออกไป 10 เมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 70 เดซิเบล เอ และค่าที่ได้รับฟังขณะใดขณะหนึ่งที่อาจมีผลต่อการได้ยินอย่างเฉียบพลันเป็นระดับสูงสุดไม่เกิน 115 เดซิเบล เอ นายศิริธัญญ์ กล่าว
(มติชน จันทร์ที่ 28 ตุลาคม2545 หน้า 18)
คนกรุงเฮได้ ลานคนเมือง เพิ่มอีกแห่ง
นายไชยยุทธ ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างลานจอดรถใต้ดิน บริเวณหน้าศาลา กทม. เสาชิงช้า ว่า จะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยก่อนหน้านี้ กทม.ได้เปิดใช้ลานจอดรถใต้ดินไปแล้วครึ่งหนึ่ง หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 750 คัน ลักษณะการก่อสร้างเป็นลานจอดรถใต้ดิน 2 ชั้น ส่วนพื้นที่ว่างด้านบนก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์เป็นลานอเนกประสงค์ เนื้อที่ 9,360 ตารางเมตร และว่า พื้นที่ลานอเนกประสงค์จะให้เป็นลานคนเมือง ซึ่ง สนย.ได้ออกแบบภูมิทัศน์เป็นลานกว้าง สามารถใช้จัดงานพิธีสำคัญ หรือเล่นกีฬาได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม (สนส.) จะตกแต่งลานอเนกประสงค์ให้สวยงาม โดยปลูกต้นไม้ใหญ่ และสวนดอกไม้
(มติชน จันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 28)
5 จังหวัดนำร่อง โครงการเมืองน่าอยู่
แนวความคิดเรื่องเมืองน่าอยู่เริ่มจากการรณรงค์วันอนามัยโลกเมื่อวันที่ 7 เมษาย พ.ศ. 2539 ภายใต้คำขวัญ บ้านน่าอยู่ เมืองน่าอยู่ อนามัยดีชีวีสดใส ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก ให้จุดประกายการดำเนินงานโครงการเมืองน่าอยู่ในประเทศไทยในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครราชสีมา เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองพะเยา และเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในทุกด้านและตั้งอยู่บนความต้องการประชาชน ที่ผ่านมาการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นงานด้านวิชาการได้แก่ การศึกษา วิเคราะห์ การกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางและมาตรการส่วนต่างๆ ต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง โดยการตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการโดยผ่านสำนักนโยบายและแผนงานโครงการเมืองน่าอยู่ใน 3 ด้าน ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการประกอบอาชีพ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้โครงการเมืองน่าอยู่ทั้ง 5 จังหวัดนำร่องประสบผลสำเร็จคือ ความร่วมมือ ร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่นและความจริงจังของผู้บริหารที่ลงมาร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงาน
(สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2545 หน้า 23)
ไฟเขียว ขรก. โอนย้ายทำงานใกล้บ้าน
ยุคที่ข้าราชการต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้สอดคล้องรับกับการปฏิรูประบบราชการ ภายใต้หลักการการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อโจทย์ตั้งไว้เช่นนี้ ฝ่ายข้าราชการเองก็ต้องได้รับการดูแลที่ดีด้วยเช่นกัน สำนักงานคณะเลขาธิการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลยอาสาจัดโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บรรดาข้าราชการให้ได้ทำงานใกล้บ้าน ภายใต้ชื่อ โครงการส่งเสริมและประสานการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฎิบัติงานใกล้บ้าน ขึ้น คอนเซ็ปต์ของโครงการก็คือเป็นการความร่วมมือจากหัวหน้าส่วนราชการในทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อสนองนโยบายประหยัด และแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชกระแส พร้อมกับส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ก.พ.จึงประสานไปยังส่วนราชการต่างๆ ให้ข้าราชการที่อยู่ในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา และอยุธยา ที่ต้องการย้ายไปทำงานใกล้บ้านขอให้แจ้งความต้องการไปที่ ก.พ. ได้โดยตรง เพื่อที่ ก.พ.จะไปจับคู่แมตชิ่ง เพื่อส่งชื่อไปยังต้นสังกัดเพื่อพิจารณาโอนย้ายกันต่อไป หลักการคือต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 หรือเทียบเท่าลงมาที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารหน่วยงานระดับกลาง ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการชดใช้ทุนหรือการฝึกอบรม และต้องพ้นระยะทดลองปฏิบัติราชการแล้ว และหน่วยงานใหม่ที่จะย้ายไปต้องอยู่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานของบุคคลในครอบครัว และระยะทาง-เวลาในการเดินทางไปกลับต้องสั้นกว่าหน่วยงานเดิมที่ทำอยู่ปัจจุบัน ที่สำคัญคือ หัวหน้าส่วนราชการเดิมและหัวหน้าส่วนราชการใหม่จะต้องยินยอมให้มีการโอนย้ายด้าย ซึ่ง ก.พ.เปิดโครงการมาระยะหนึ่งแล้ว และมีผู้ติดต่อสอบถามรายละเอียดและสมัครเข้าโครงการแล้วจำนวนมาก ฟังแล้วคนใดอยู่ในข่ายจะโอนย้ายได้มากหรือน้อย หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติจะเป็นอย่างไร ขอให้ติดตามความคืบหน้ากันได้ เพราะวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ก.พ.ยกคณะหัวหน้าส่วนราชการไปถกปัญหานี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก
(มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2545 หน้า 13)
กินต้มเลือดหมูกับ จิงกั่วฉ่าย บำรุงเลือดกันหัวใจล้มเหลว
ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัยแพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์ กล่าวว่าธาตุเหล็กสำคัญต่อร่างกาย หากร่างกายขาดธาตุเหล็ก กระบวนการฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดงจะไม่เกิดขึ้นได้ หัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กจะมีพัฒนาของสมองช้า ไม่เจริญเติบโต เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย สติปัญญาด้อย ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง ผู้ใหญ่ที่ขาดธาตุเหล็กจะอ่อนเพลีย ผิวพรรณซีด แทนที่จะแดงสดใส เมื่อเปิดเปลื่อกตาเป็นสีขาวไม่มีเลือดไปเลี้ยงแต่ผู้ที่มีธาตุเหล็กสมบูรณ์จะมีเลือดฝาดดี และมีการวิจัยพบว่า คนที่ขาดธาตุเหล็กนั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง เจ็บป่วยบ่อย สำหรับอาหารที่มีธาตุเหล็ก คือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ตับสัตว์ เนื้อสัตว์ นม เลือดหมู เป็ด ไก่ ต้มเลือดหมูของคนจีน จะมีผักชนิดหนึ่งเรียกว่า จิงกั่วฉ่าย ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง กลุ่มเลี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก เช่น เด็กกำลังเจริญเติบโต ผู้หญิงที่มีประจำเดือน วัยทำงาน ควรรับประทานยาเม็ดธาตุเหล็กเสริมสัปดาห์ละ 1 เม็ด ขององค์การเภสัชกรรม ราคาถูกมาก ทั้งนี้ธาตุเหล็กจะดูดซึมได้ดี ต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย เช่น มะนาว ส้ม
(ไทยรัฐ วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2545 หน้า 7)
หนุนยืดเกษียณข้าราชการ ศธ.ถึง 70 ปี
นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมผู้บริหารการศึกษา จ.สกลนครว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญด้านหนึ่งคือ การกระจายอำนาจสู่พื้นที่การศึกษาและสถาบันการศึกษา ดังนั้น การที่ผู้บริหารส่วนกลางออกตรวจเยียมพบปะผู้ปฏิบัติในส่วนภูมิภาคจึงมีความจำเป็น ทำให้ได้รับทราบสภาพปัญหาในการทำงาน และเมื่อรัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ให้แก่ประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สถานศึกษาต้องเตรียมรับสภาพปัญหา กรณีที่มีผู้ต้องการเรียนจำนวนมาก แต่สถานศึกษารับได้จำกัด เพราะขณะนี้พบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่มีปัญหาทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ในขณะที่ไม่มีการบรรจุทดแทนอัตราเกษียณ ซึ่งตนรับจะไปหาทางแก้ไข ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ากฏระเบียบในอดีตเป็นสิ่งที่สวนทางกับสภาพความเป็นจริงของการปฏิรูปการศึกษา ขณะที่ประชากรเพิ่มแต่กลับมีเงื่อนไขที่ไม่เป็นการส่งเสริม ซึ่งอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญได้ รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษียณอายุราชการที่ 65 ปีได้แล้ว ในขณะที่ครูอาจารย์สังกัด ศธ.ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งตนเคยพูดในครม.แล้วว่าควรให้ข้าราชการครู ศธ. เกษียณได้ 4 ช่วงอายุ คือ 50 ปี 60 ปี 65 ปี 70 ปี โดยเฉพาะสาขาขาดแคลนควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หรือมีวิธีการประเมินให้สามารถเกษียณได้ถึง 70 ปี โดยขึ้นอยู่กับสุขภาพและความสมัครใจ ซึ่งขณะนี้ตนได้รับมอบหมายให้ ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ รองปลัด ศธ. ไปศึกษาหลักเกณฑ์การขยายอายุเกษียณราชการของทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาปรับปรุงใช้กับการขยายอายุเกษียณราชการของข้าราชการครู ศธ.ไปถึง 70 ปี ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หากทำได้เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายด้าน(ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2545 หน้า 15)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|