|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 41 ประจำวันที่ 2002-11-19
ข่าวการศึกษา
บีบ วรเดช สั่งมข.ให้เลือกรูปแบบม.ใหม่ยื่นหน่วยงานอิสระสอบองค์กรในกำกับ เผยค่ารายหัว นศ.ม.ในกำกับต่ำกว่า ม.ที่เป็นส่วนราชการ ดันม.นราธิวาสเน้นหลักสูตรมุสลิมชี้ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้ เลือกตั้งอธิการฯรามฯยังวุ่นต่อเนื่องร้องตัดสิทธิฝ่ายบริหารไม่เป็นกลาง ทบวงฯแจ้งความอีกรายเปิดสอนปริญญาเป็นมหาลัยเถื่อน ยันคู่มือภาษาไทยเสร็จธ.ค. ชงโครงสร้าง สนง.ทดสอบแห่งชาติ- Ednet เข้า ครม. ปองพล หนุนรวมร.ร.สองภาษา-เน้นคุณภาพ ทบวงฯประกาศผลสอบวัดความรู้ประกอบเอ็นทรานซ์แรกวันนี้ กกศ.ลงมติเลิกใช้ข้อสอบวิชาการคัด ป.1 ถวายอรรถกถา-ฎีกาฉบับ มจร. เร่งทำแผนแม่บท ม.นครพนม สอนอย่างไรดี
วิทยาศาสตร์วัยประถม ชี้ นศ.ใช้จ่ายสะพัดกว่า 4 พันล้านกระตุ้นธุรกิจบูม ศธ.คุมเข้มโรงเรียนสองภาษาแต่ไม่ปิดกั้นขยายตัวเผย ปองพล อยากเห็นเด็กไทยเก่งภาษาเท่าต่างชาติ อาชีวะยกเหตุผลไม่ขอรวมเป็นมหาวิทยาลัยจังหวัด วก.เร่งต้นแบบพื้นฐานจัดงบเสริมรักการอ่าน สสวท.ชุมนุมครูวิทย์สอนนร.ช่วยรักษ์โลก นายกฯตั้ง ยุวรัตน์ ผบ.ลูกเสือโลก สภาคณบดีครุฯผ่านสูตร 5 ปีเตรียมชงครม.อนุมัติใช้ ศธ. ยอมปรับเกณฑ์ อุ้มเด็ก ไร้สัญชาติ จี้ยกเครื่อง ภาษา อ. ทำแผนระดับชาติ ศธ.ส่งครูคืนคู่สมรสให้เป็นของขวัญปีใหม่ เผยรายชื่อ ร.ร. เอกชน เก็บค่าเล่าเรียนลอยตัว
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
หุ่นยนต์ปลาทูน่าความหวังเที่ยวล่าสุดพิสูจน์ความลับ บั้งไฟพญานาค เลเซอร์สัญชาติไทยใช้สลักภาพเหมือนจริง สำรวจดาวเคราะห์ด้วยบัลลูน e-Camp ค่ายอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ ไทย-ยุ่นโชว์ศักดา ศึกษาพบยีน ข้าว ทนน้ำท่วม-หอมกรุ่น
ข่าววิจัย/พัฒนา
ศาสตราจารย์ใหม่ในรั้ว มจธ. หัวอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าไฮเทค ข้าวไทย
ยาชะลอความชราชั้นเลิศ แฮนดิคีย์ นวัตกรรมเพื่อคนพิการ นักวิจัยญี่ปุ่นชี้ใช้พีซีนานมีผลต่อสุขภาพจิต วิจัยชี้อาหารจุดเดือดตัวการก่อ โรคร้าย 11 ธ.ค. ไทย-รัสเซีย ลุยสมองหมูชะลอแก่ ชุดไฮดรอลิก ข้าวสำเร็จรูป ซีโอไลต์ จากผงซักฟอกสู่ปิโตรเลียม รถยนต์พลังงานก๊าซธรรมชาติร่วมไบโอดีเซล หัวเราะเป็นยอดโอสถขนานเอก เพียงแค่นึกถึงก็ยังอิ่มใจแล้ว
ข่าวทั่วไป
รวมพลหมอเซียนไอทีทั่วเมืองไทย ตีทะเบียนภูมิปัญญาคนไทยป้องกันตปท.อ้างหาผลประโยชน์ / รุกออกหนังสือรับรองกู้แบงก์รัฐ เตือนระวังโรคผิวหนังหน้าหนาวเกิด โรคเข็บเดิม ขึ้นที่ใบหน้า แนะนำผู้ป่วยโรคเบาหวานปรุงอาหารกินโดยใช้ไฟอ่อนๆ พฤติกรรมบำบัด ทางเลือกหนึ่งรักษาต่อมลูกหมากโต แนะพ่อแม่ดูลูก-เด็กออทิสติกสมองโต ฝ้ายบอลการ์ด ความหวังใหม่ของเกษตรกรอินเดีย ชาว เชียงใหม่ คว้าแชมป์ช่วยประหยัดไฟเวิร์กรวม6พันล้านบาท เซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 15 ปี45 มิลวาร์ด บราวน์ บริษัทวิจัยชื่อดังของโลกยกย่องกรุงเทพฯ เมืองแห่งน้ำใจไมตรี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบำบัดเมืองไทยบูมญี่ปุ่น สหรัฐ ตะวันออกกลาง แห่ใช้บริการคึกคัก พพ.หนุนงบอนุรักษ์พลังงานโครงการโรงงานและอาคารควบคุมนำร่อง ตะลึงพืชสมุนไพรพื้นบ้าน อันตรายมากกว่าสารเคมี เตือนผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เที่ยวป่า-ตั้งแคมป์ระวัง สครับไทฟัส ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ จากรั้วจามจุรี
ข่าวการศึกษา
บีบ วรเดช สั่งมข.ให้เลือกรูปแบบม.ใหม่ยื่นหน่วยงานอิสระสอบองค์กรในกำกับ
น.พ.พิสิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาคม มข. เรื่องสถานภาพมหาวิทยาลัย และบุคลากร 6,144 คน มีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,748 คน พบว่า 96.08% ของผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้ มข. เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ และเป็นนิติบุคคล มีระบบการบริหารงานของตนเองที่เป็นอิสระ แยกจากระบบราชการพลเรือนทั่วไป โดยบุคลากรมีสถานภาพเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัย แต่เมื่อสภาคณาจารย์มข. เสนอสภามข. ผ่านที่ประชุมคณบดีให้ถอนร่าง พ.ร.บ.มข. พ.ศ กลับมาแก้ไข ที่ประชุมสภาคณบดีขอปรึกษาทบวงมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้ง ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ไม่ได้แจ้งให้ มข. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมรู้ว่าสามารถเลือกรูปแบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยได้ตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สภาคณา มข.จึงมีมติให้ ร.ต.อ.วรเดชสั่งการไปยัง มข.ให้ทำตามมาตรา 36 ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะถือเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้ทำหนังสือถึง ร.ต.อ.วรเดช เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนแล้ว
(มติชน จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
เผยค่ารายหัว นศ.ม.ในกำกับต่ำกว่า ม.ที่เป็นส่วนราชการ
ศ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวง เปิดเผยว่า ได้จัดให้มีการศึกษาค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในลักษณะค่าใช้จ่ายเต็ม (Full cost) ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้ง 24 แห่ง ที่นำมาจากงบแผ่นดินและรายได้ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการจัดสรรงบประมาณในอนาคต ซึ่งจากการศึกษาค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐพบว่า มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงสุดอยู่ที่ 176,181 บาทต่ำกว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ และมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่ามหาวิทยาลัยในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบอีกว่ามหาวิทยาลัยที่เก่าแก่กว่ามีค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษาสูงกว่ามหาวิทยาลัยตั้งใหม่ ทั้งนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายบุคลากรและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อหัวนักศึกษาสูงกว่า และเมื่อเทียบสัดส่วนของงบประมาณที่ได้รับแล้ว มีค่าใช้จ่ายทางตรงสูงกว่ามหาวิทยาลัยใหม่ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 8)
ดันม.นราธิวาสเน้นหลักสูตรมุสลิมชี้ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน น.พ.กระแส ชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการศึกษา ในฐานะประธานโครงการนำร่องจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาส และมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสว่า ที่ประชุมได้เน้นเรื่องมาตรฐานระดับชาติและสากล โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือทางวิชาการ ส่วนการจัดการเรียนการสอนเห็นว่าควรจะเน้นหลักสูตรที่รองรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยอาจเปิดหลักสูตรนานาชาติด้วยภาษาอิสลาม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ 82% จะนับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ หลักสูตรจะต้องเอื้อต่อความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งจะต้องเน้นเข้าไปพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และทางด้านวิชาการ ทั้งนี้ในขั้นตอนของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะต้องทำแผนแม่บทและร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนราธิวาสให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม และจะเสนอสู่สภาออกเป็นกฎหมายในราวเดือนมีนาคม ถึงเมษายน 2546 (มติชน พุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
เลือกตั้งอธิการฯรามฯยังวุ่นต่อเนื่องร้องตัดสิทธิฝ่ายบริหารไม่เป็นกลาง
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) แจ้งถึงความเคลื่อนไหวก่อนการเลือกตั้งอธิการบดี มร.คนใหม่ว่า นายสุชาติ ขวัญเกื้อ รองประธานอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบติดตามและรับเรื่องร้องเรียน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบติดตามฯ ที่มีนายจำเริญ วราภรณ์ เป็นประธาน ให้ตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งอธิการบดีของ นางระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน รักษาการอธิการบดี มร. และนายวัชรากรณ์ ธีวโศภิษฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล (สวป.) เนื่องจากมีการร้องเรียนกล่าวหาว่า ไม่เป็นกลางตามที่ผู้สนับสนุน นายวิโชติ วัณโณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และผู้เข้ารับการสรรหาหมายเลข 2 ได้ร้องเรียนว่า ในระเบียบการรับสมัครนักศึกษาใหม่ในภาค 2/2545 ได้พิมพ์ภาพของ นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดี มร. และผู้เข้ารับการสรรหาหมายเลข 4 ไว้ในปกด้านใน พร้อมทั้งคำกล่าวต้อนรับนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีผู้ร้องเรียนว่าในช่วงนี้ผู้บริหาร มร.ได้รับลูกจ้างจำนวนมาก และมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งอธิการบดี ซึ่งไม่สมควร รวมทั้งมีผู้ร้องเรียนว่ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบางคนไม่เป็นกลาง
(มติชน พุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
ทบวงฯแจ้งความอีกรายเปิดสอนปริญญาเป็นมหาลัยเถื่อน
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่ทบวงมหาวิทยาลัย ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ได้แถลงข่าวกรณีมีบริษัทเอกชนไทยแห่งหนึ่งได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.วรเดช กล่าวว่า ทบวงฯ ได้รับการร้องเรียนจากนักศึกษาคนหนึ่งที่เข้าไปเรียนกับ บริษัท ไอไอทีดี จำกัด ซึ่งมีนายเกียงศักดิ์ พลัสสินทร์ นายชี ลีน ฮ็อค และนายชี เคย์ ฮวท เป็นกรรมการบริหารบริษัทดังกล่าว ได้มาเปิดการเรียนการสอนบริหารธุรกิจระดับปริญญาโท หรือในหลักสูตร M.B.A โดยร่วมมือกับ Hariot Watt University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทบวงฯ ดังนั้น ทบวงฯ จึงเข้าไปรวบรวมหลักฐานพบว่ามีการจัดการเรียนการสอนและไม่ได้รับอนุญาตจากทบวงฯ จริง ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมาทบวงฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานกิจกรรมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับ 3 กรรมการและบริษัทไอไอที จำกัด ในข้อหาจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาเกินกว่า 7 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทบวงฯ
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)
ยันคู่มือภาษาไทยเสร็จธ.ค.
นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิการบดีกรมวิชาการ เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพวิชาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยว่า ภายหลังคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาเห็นชอบสาระการเรียนรู้ภาษาไทยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั้ง 5 สาระ คือ การอ่าน การเขียน การฟัง การดู และการพูด หลักการใช้ภาษา และวรรณคดีและวรรณกรรม ใน 4 ช่วงชั้นแล้วนั้นหลังจากนี้ กรมวิชาการจะจัดทำสาระการเรียนรู้แกนกลางเป็นชั้นปีตามนโยบายของนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ต่อไป ส่วนการจัดทำคู่มือพัฒนาวิชาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยนั้น ได้ยกร่างโครงสร้างระดับประถมศึกษา และคู่มือระดับมัธยมศึกษาเสร็จแล้ว ประกอบด้วยเนื้อหาและเทคนิควิธีสอนที่น่าสนใจรวมทั้งตัวอย่างแผนการจัดการเรียนตามหลักสูตร สำหรับการจัดทำสาระการเรียนรู้เป็นชั้นปีและการยกร่างเนื้อหาในคู่มือพัฒนาวิชาการนั้น จะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนการจัดทำหนังสือภาษาไทยตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น คณะกรรมการกำลังยกร่างเนื้อหาช่วงที่ 1 เล่ม 1 ช่วงชั้นที่ 3 เล่ม 1 และช่วงชั้นที่ 4 เล่ม 1 กำหนดจะแล้วเสร็จภายในธันวาคมเพื่อจัดพิมพ์ให้ทันใช้ปีการศึกษา 2546 (มติชน จันทร์ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
ชงโครงสร้าง สนง.ทดสอบแห่งชาติ- Ednet เข้า ครม.
นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังประชุมหารือภายในระหว่างผู้บริหารทบวง และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าที่ประชุมได้หาข้อสรุปเกี่ยวกับโครงสร้างของสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ Ednet โดยเห็นชอบในหลักการให้สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ มีหน้าที่จัดการทดสอบของประเทศ ทั้งการจัดสอบช่วงชั้น ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 จัดทำข้อสอบมาตรฐานเข้ามหาวิทยาลัยประสานงานกับมหาวิทยาลัยในการรับสมัคร และคัดเลือกนักศึกษา รวมทั้งเป็นหน่วยงานกลางเทียบระดับความรู้ โดยจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติประกาศในพระราชกฤษฎีกา คาดว่าสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติจะเริ่มดำเนินงานได้ภายในปี 2546 ซึ่งจะให้บุคลากรที่อยู่ในสำนักทดสอบกลางของทบวง และกรมวิชากร เลือกว่าจะขอเปลี่ยนเป็นพนักงานในสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือเป็นข้าราชการใน ศธ.ใหม่ นายสุชาติกล่าวต่อว่า ส่วสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้สำนักดังกล่าวครอบคลุมเรื่องการพัฒนาข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านการศึกษา ทั้งอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ รวมทั้งขอคลื่นวิทยุเพื่อจัดการศึกษา ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง ก่อนนำเข้า ครม. ออกเป็นพระราชบัญญัติ เพราะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การสื่อสาร และพ.ร.บ.อีกหลายฉบับ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
ปองพล หนุนรวมร.ร.สองภาษา-เน้นคุณภาพ
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ ในการประชุมเรื่องการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ศธ.เป็นภาษาอังกฤษในโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนเอกชนว่า ขณะนี้โรงเรียนที่สอน 2 ภาษากำลังมีปัญหา ต้องเร่งแก้ไขเสียก่อน และโรงเรียนใดที่ไม่มีความพร้อมก็อย่าเพิ่งทำ ไม่ใช่จะมาปรับเกณฑ์มาตรฐานให้หย่อนตาม ซึ่งการสอนเป็นภาษาอังกฤษนั้นต้องเน้นคุณภาพ ต้องเน้นเรื่องไวยากรณ์ การอ่าน และการเขียนให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับผู้สอนที่จะสามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาและหลักของวิชาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง (มติชน พุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
ทบวงฯประกาศผลสอบวัดความรู้ประกอบเอ็นทรานซ์แรกวันนี้
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากที่ทบวงฯประกาศจะแจ้งผลสอบวัดความรู้ ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2545 ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือเอนทรานซ์ ประจำปีการศึกษา 2546 ในวันที่ 22 พฤศจิกายน โดยมีผู้เข้าสอบในครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 245,420 คนนั้น ปรากฏว่าขณะนี้ทบวงฯได้ตรวจกระดาษคำตอบวิชาหลัก และวิชาเฉพาะ รวมทั้งประมวลผลการสอบและตรวจสอบความถูกต้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเริ่มทยอยส่งผลการสอบวัดความรู้ให้กับผู้เข้าสอบรับทราบได้ทางไปรษณีย์ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ผู้เข้าสอบยังสามารถตรวจสอบคะแนนสอบได้ทางอินเตอร์เน็ต โดยเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.entrance.mis.mua.go.th และ http://www.entranceinfo.mua.go.th ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนเป็นต้นไปโดยผู้ที่จะเข้าตรวจสอบผลคะแนนในเว็บไซต์จะต้องกรอกเลขที่สมัคร และเลขที่นั่งสอบ (มติชน พุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
กกศ.ลงมติเลิกใช้ข้อสอบวิชาการคัด ป.1
จากการประชุมคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกกศ. เผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายว่าด้วยการรับนักเรียนเข้าเรียนชั้น ป.1 โดยให้ยกเลิกการสอบข้อเขียนซึ่งเน้นเนื้อหาด้านวิชาการในการคัดเลือกเด็กเข้า ป.1 ทันที ยกเว้นโรงเรียนที่ได้ดำเนินการคัดเลือกไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยคาดว่าตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นไป โรงเรียนประถมทุกแห่งจะยกเลิกการสอบข้อเขียนที่เน้นเนื้อหาวิชาการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเด็กและผู้ปกครองเครียด และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กยากจนซึ่งไม่มีโอกาสเข้าเรียนชั้นอนุบาลได้เข้าเรียนชั้น ป.1 ได้ สำหรับโรงเรียนประถมซึ่งเปิดสอนชั้นอนุบาล ให้รับนักเรียนอนุบาลเลื่อนชั้นขึ้น ป.1 โดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามสำหรับโรงเรียนที่มีผู้สมัครจำนวนมาก ให้ใช้วิธีการคัดเลือกที่หลากหลาย ซึ่งต้องไม่ใช้วิธีการสอบโดยใช้ข้อเขียนที่เน้นวิชาการ และให้โรงเรียนประกาศวิธีการรับนักเรียนที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ด้วย
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
ถวายอรรถกถา-ฎีกาฉบับ มจร.
พระมหาโชว์ ทัสสนีโย ผอ.ส่วนธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยหลังเข้าถวายอรรถกถาและฎีกาฉบับมหาจุฬาฯ ต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ โดยอรรถกถาและฎีกาเป็นหนังสือที่อธิบายพระไตรปิฎก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นเป็นภาษาไทย เพราะที่ผ่านมายังไม่มีอรรถกถาและฎีกาที่อธิบายพระไตรปิฎกที่เข้าใจง่าย ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีผู้ที่สามารถเรียนรู้เนื้อหาในพระไตรปิฎกได้จึงมีแต่มหาเปรียญ ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าถึงพระพุทธศาสนาจะอ่านไม่รู้เรื่อง ทำให้การเผยแพร่มีข้อจำกัด ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้นายศรีเพ็ญ จัตุทะศรี หัวหน้าฝ่ายพัฒนาศาสนา เป็นผู้ดำเนินการชำระและแปลพระไตรปิฎก และจะได้มีการมอบให้เป็นสมบัติของมหาจุฬาฯ ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ โดยมีพระเทพโสภณ อธิการบดีเป็นผู้รับมอบ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
เร่งทำแผนแม่บท ม.นครพนม
น.พ. กระแส ชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการศึกษา และประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยนราธิวาส เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) จัดทำแผนแม่บทและร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยให้เสร็จใน 3 เดือน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าเดือนมกราคม 2546 จะเสร็จ และนำร่างกฎหมายเข้าสภาเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนงบประมาณได้รับจากรัฐบาล 100 ล้านบาท และงบฯ เดิมจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดที่หลอมรวมกว่า 1,000 ล้านบาท อีก 2 สัปดาห์ทางคณะกรรมการจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลและหารือกับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สำหรับมาตรฐานวิชาการจะต้องเป็นระดับชาติ ระยะแรกจะให้นักวิชาการในสถาบันวิชาการต่างประเทศ เน้นความสอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี สังคม และเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และมีภูมิประเทศติดกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งเข้ามาเรียนได้เพราะยังมีปัญหาเรื่องการจัดการศึกษา น.พ.กระแสกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสจะประชุมคณะกรรมการในวันที่ 12 พฤศจิกายน มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะรองรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามให้เข้ามาเรียนได้อย่างดี ทั้งในเรื่องของหลักสูตรสาขาวิชาที่จะมีความสอดคล้องกับหลักศาสนา อีกทั้งยังเอื้อกับผู้นับถือว่าศาสนาอิสลามในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
(มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
สอนอย่างไรดี
วิทยาศาสตร์วัยประถม
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้พัฒนา ชุดการเรียนการสอน สำหรับเด็กวัยประถมศึกษาที่ 1-3 ออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ ชุดหน่วยการเรียนรู้เรื่อง สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ชุดการเรียนรู้เรื่องสารการเคลื่อนที่และพลังงาน และชุดการเรียนรู้เรื่อง โลกดาราศาสตร์และอวกาศ อาจารย์พงษ์ชัย ศรีพันธุ์ หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษาของ สสวท. อธิบายว่า ชุดการเรียนการสอนจะกำหนดวัตถุประสงค์ให้ทราบว่า เมื่อผู้เรียนทำกิจกรรมนั้นแล้วจะได้อะไรบ้าง โดยยึดหลักให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นได้กำหนดเวลาแต่ละกิจกรรมไว้ว่า ควรใช้เวลาประมาณกี่ชั่วโมงเพื่อช่วยให้ครูได้จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้รายปีได้อย่างเหมาะสม และครูผู้สอนอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และตามความสามารถของผู้เรียน (สยามรัฐ ศุกร์ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
ชี้ นศ.ใช้จ่ายสะพัดกว่า 4 พันล้านกระตุ้นธุรกิจบูม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของนักศึกษาในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 13-23 พ.ค. และในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเปิดภาคเรียนแรกและภาคเรียนที่ 2 ของบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด พบว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักศึกษานั้น ก่อให้เกิดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจสูงถึงปีละ 4,300 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจจำหน่ายชุดนักศึกษาและธุรกิจโรงเรียนเสริมหลักสูตร โดยเฉพาะโรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์และโรงเรียนสอนวิชาชีพเฉพาะทาง รวมทั้งธุรกิจจำหน่ายหนังสือและตำราเรียน จะได้รับอานิสงส์ของเม็ดเงินก้อนนี้ ซึ่งแหล่งที่มาของรายได้หลักนั้น 72.4% มาจากผู้ปกครอง และ 76.6% เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชน นอกจากนี้มีเพียง 18.6% ที่ทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียน อย่างไรก็ตาม นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิด 27.2% มีสัดส่วนการทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียนมากกว่านักศึกษาปิด นอกจากนี้ยังพบว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยปิด จะมีสัดส่วนการได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยมากกว่า ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยนักศึกษาจะมีรายได้เฉลี่ย 6,000 บาทต่อเดือน สำหรับค่าใช้จ่ายของนักศึกษา อันดับแรกเป็นหนังสือตำราเรียนคิดเป็น 26.1% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดย 16.7% เป็นหนังสืออ่านเสริม และ 9.4% เป็นหนังสือตำราเรียน ส่วนค่าเครื่องแต่งกายเฉลี่ย 11% และนักศึกษาเอกชนมีสัดส่วน 15.3% แต่ก็น่ายินดีว่า นักศึกษากลุ่มตัวอย่าง 31.6% ระบุว่าพยายามต้องหารายได้พิเศษโดยอาชีพยอดฮิตคือการรวมกลุ่มกันลงทุนเพื่อหาสินค้ามาขาย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
ศธ.คุมเข้มโรงเรียนสองภาษาแต่ไม่ปิดกั้นขยายตัวเผย ปองพล อยากเห็นเด็กไทยเก่งภาษาเท่าต่างชาติ
นายสุทิน คลังแสง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนที่จัดสอนแบบสองภาษา โดยเฉพาะการสอนต้องเน้นไวยากรณ์ การอ่านเขียนให้ถูกต้องและสอนเด็กให้เข้าใจด้วย ในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2544 ทางกรมวิชาการได้มีการกำหนดคุณสมบัติของครูผู้สอนด้านการใช้ภาษาอังกฤษและวุฒิด้านการสอนโดยกำหนดว่าครูผู้สอนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ต้องผ่านการทดสอบ TOEFL ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 550 หรือ IELTS ไม่น้อยกว่า 5.5 นั้น กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าควรมีการเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้น โดยให้ครูผู้สอนสามารถเข้ารับการทดสอบจากสถาบันภาษาของรัฐได้ด้วยโดยจะให้กรมวิชาการเป็นผู้รวบรวมรายชื่อสถาบันภาษาเหล่านั้น ด้านนางเนตรปรียา ชุมไชโย รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายปองพลไม่เห็นด้วยกับการเปิดโรงเรียนสอนสองภาษาเพิ่มขึ้นอีกว่า คงเป็นความเข้าใจผิด เพราะจริงๆ แล้ว ร.ม.ว.ศึกษาธิการ เห็นความสำคัญของโรงเรียนที่เปิดสอนสองภาษาและต้องการให้คนไทยสามารถใช้ดภาษาอังกฤษได้อย่างทัดเทียมกับนานาชาติ เพียงแต่ต้องการให้เน้นในเรื่องของคุณภาพให้มากขึ้น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)
อาชีวะยกเหตุผลไม่ขอรวมเป็นมหาวิทยาลัยจังหวัด
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รวบรวมสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสูงกว่ามัธยมปลาย อาทิ วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยพลศึกษา เข้าร่วมเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับจังหวัดโดยนำร่องที่จังหวัดนราธิวาสและนครพนมโดยใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยจังหวัดนั้น ดร.พยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตนได้ชี้แจงกับ
น.พ.กระแส ชนะวงศ์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่าอาชีวศึกษามีหลักการและปรัชญาไม่เหมือนสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป จึงไม่ของเข้าร่วมเป็นมหาวิทยาลัยจังหวัด เพราะหลักการของอาชีวศึกษาไม่ยึดใบปริญญาแต่ต้องการให้คนสามารถประกอบอาชีพ ปฏิบัติได้ และเชื่อมโยงกับพื้นที่ได้ซึ่งสถาบันอาชีวศึกษาหนึ่งแห่งจะต้องดูแลเกื้อหนุนคนในพื้นที่ 2-3 จังหวัดไม่ใช่ดูแลเพียงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขัดข้องที่จะมีมหาวิทยาลัยจังหวัดเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ควรดึงอาชีวศึกษาที่มีปรัชญาและเน้นความเป็นเลิศทางด้านวิชาชีพ ซึ่งต่างกับอุดมศึกษาอื่นเข้าไปร่วมด้วย
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)
วก.เร่งต้นแบบพื้นฐานจัดงบเสริมรักการอ่าน
นายประพัฒน์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยถึงการเตรียมการเรื่องสื่อและแหล่งการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ว่า ขณะนี้แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างเร่งดำเนินการจัดทำต้นฉบับแบบเรียนหลัก และจะเผยแพร่สู่สถานศึกษาได้ทันใช้ก่อนเปิดเทอมแรก ในปีการศึกษา 2546 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยกรมวิชาการจะจัดทำฐานความรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วย อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจะจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเพื่อสนองนโยบายของศธ. ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สัปดาห์หนังสือส่วนภูมิภาค การประกวดหนังสือดีเด่น หนังสือแปลดีเด่นและการประชุมพัฒนาบุคลากรในโรงเรียนและห้องสมุดโรงเรียนในระดับอำเภอ ตลอดจนการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ของสถานศึกษา ซึ่งจัดให้มีการอบรมค่ายเยาวชนนักเขียน เพื่อส่งเสริมความสามารถในด้านการเขียน (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
สสวท.ชุมนุมครูวิทย์สอนนร.ช่วยรักษ์โลก
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตตามฤดูกาล โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งจัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนน์ จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ นางพรพรรณ ไวทยางกรู ผช.ผอ.สสวท. เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าว มีนักวิทยาศาสตร์ในโครงการใน GLOBE ประเทศไทยเข้าร่วมกว่า 55 คนโดยร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับวงจรต่างๆ ทางชีววิทยาที่เชื่อมโยงกับการศึกษาบรรยากาศของโลก และยังเสริมสร้างกระบวนการเรียนการสอนของครู ที่จะทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ และรู้ใจการสังเกตต่อระบบต่างๆ ในธรรมชาติที่สัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
นายกฯตั้ง ยุวรัตน์ ผบ.ลูกเสือโลก
นายสุทิน คลังแสง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการบริหารการจัดงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 20 พ.ศ.2546 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายยุวรัตน์ กมลเวชช เป็นผู้บังคับการค่ายงานชุมนุมลูกเสือโลก มีอำนาจในการบริหารจัดการและประสานงานทุกฝ่าย ทั้งลูกเสือไทยและคณะทำงานจากลูกเสือโลก โดยจะมีการประชุมแก้ปัญหากับหัวหน้าลูกเสือจาก 78 ประเทศทุกวันของการชุมนุม สำหรับการเตรียมการทดสอบประสิทธิภาพการเตรียมงานชุมนุมลูกเสือโลกในวันที่ 8-9 ธ.ค.นี้ นั้นจะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของงานในทุกๆ ส่วน เพื่อนำผลการทดสอบประสิทธิภาพไปปรับปรุงแก้ไขและปรับใช้กับงานชุมนุมที่จะมีขึ้นจริงตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.2545 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
สภาคณบดีครุฯผ่านสูตร 5 ปีเตรียมชงครม.อนุมัติใช้
นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย ว่าที่ประชุมได้หารือถึงเรื่อง หลักสูตรการผลิตครู และมีมติให้ปรับหลักสูตรการผลิตครูใหม่เป็นหลักสูตร 5 ปี คือ สอนวิชาครู 4 ปี และฝึกปฏิบัติการสอน 1 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 6 ปี ซึ่งในช่วงของการฝึกปฏิบัติการสอนนั้น นักศึกษาจะได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกับลูกจ้างชั่วคราวด้วย โดยที่ประชุมนั้นได้มอบให้สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) ไปปรับแผนการผลิตครูใหม่ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันก็ขอทุนการศึกษาแก่นักศึกษาครูจำนวน 2,500 คนตลอด 5 ปี รวมถึงรับประกันการมีงานทำให้แก่นักศึกษาด้วย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7
ศธ. ยอมปรับเกณฑ์ อุ้มเด็ก ไร้สัญชาติ
ดร. จรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยภายหลังหารือกับนายวินิจ ล้ำเหลือ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความว่า ได้ชี้แจงกรณีสภาทนายความได้ส่งทีมงานไปตรวจสอบพบว่ามีเด็กกว่า 1,000 คน ใน 21 จังหวัด ประสบปัญหาเรียนจบแล้วไม่ได้รับประกาศนียบัตร ไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถจัดเข้าประเภทโควตาได้ และถูกโรงเรียนปฏิเสธไม่รับเข้าเรียน โดยได้มีข้อตกลงร่วมกันให้ ศธ. ปรับแนวปฎิบัติในการแบ่งกลุ่มเด็กให้เป็นปัจจุบัน โดยให้ส่งหนังสือเวียนซักซ้อมความเข้าใจกับสถานศึกษาเรื่องการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติและไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรไปยังสถานศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ 21 จังหวัด พร้อมทั้งทำความชัดเจนถึงความเป็นไปได้ในการให้องค์กรเอกชนเข้าไปจัดการศึกษาให้เด็กไร้สัญชาติ ทั้งนี้ สภาทนายความจะส่งเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนที่มีประมาณ 100 กว่าราย เข้าให้ ศธ. แก้ปัญหาร่วมกัน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
จี้ยกเครื่อง ภาษา อ. ทำแผนระดับชาติ
นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษเรื่อง ภาษาอังกฤษและการปฎิรูปการศึกษา ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง งานวิจัยด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องยกเครื่องภาษาอังกฤษให้กับคนทั่วไป ไม่เฉพาะนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น นายกรัฐมนตรีบอกว่าเดินทางไปในหลายประเทศ แทบจะไม่มีที่ยืนสำหรับคนไทยอีกต่อไป ฉะนั้นถ้าอยากจะมีที่ยืนในเวทีโลกจะต้องยกเครื่องทุกด้าน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษให้คนทั้งประเทศ ความจริงคนรุ่นใหม่เก่งว่าคนรุ่นเก่าทุกเรื่อง ยกเว้นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ศธ.เคยเสนอคณะรัฐมนตรีให้สอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ ป.1 เวลานี้คงต้องติดตามผล และต้องมีนโยบายภาษาต่างประเทศใหม่หรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่มีแผนระดับชาติเกี่ยวกับการให้คนไทยต้องมีความรู้ภาษาต่างประเทศ
(มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
ศธ.ส่งครูคืนคู่สมรสให้เป็นของขวัญปีใหม่
นางเนตรปรียา ชุมไชโย รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายปองพล อดิเรกสาร รวม.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายที่จะมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง โดยเรื่องแรกคือ ส่งครูคืนคู่ โดยจะให้ครูอาจาร์ที่แยกกันอยู่ต่างภูมิภาคหรือคนละจังหวัดได้ย้ายมาอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ครอบครัว โดยให้ครูที่ต้องการกลับไปอยู่ร่วมกับสามีภรรยาแจ้งจำนงไปที่ต้นสังกัดก่อนสิ้นปี 2545 เพื่อจะได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หลังจากนั้นก็จะมีการพิจารณาให้แก่ครู อาจารย์ที่ต้องการกลับภูมิลำเนาดูแลบิดามารดาเป็นกรณีต่อไป เรื่องที่ 2 คือการเร่งรัดตรวจผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งอาจารย์ 3 และผู้ช่วยผู้บริหารระดับ 8 ซึ่งได้มีการส่งผลงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยจะพยายามเร่งรัดการตรวจผลงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 สำหรับเรื่องสุดท้าย เป็นนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่ง ศธ. ถือว่านักเรียนที่ติดยาเป็นผู้ป่วยและโรงเรียนที่มีนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีจำนวนไม่มาก แต่กลับต้องใช้กำลังในการดูแลอย่างมากและโอกาสที่จะหายขาดก็มีน้อย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม เพื่อน และชุมชนได้ ดังนั้น ศธ.จึงมีนโยบายประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จัดโครงการเข้าค่ายบำบัดนักเรียนที่มีปัญหายาเสพติด โดยจะใช้ค่ายลูกเสือที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีและค่ายลูกเสืออื่นๆ เพราะมีอาคารสถานที่พร้อมและมีทหารคอยดูแลในการจัดกิจกรรม อีก
ทั้งจะมีการจัดแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัด จิตแพทย์ พระ และครู เข้าไปดูแลโดยจะการจัดการเรียนการสอนวิชาสามัญในระหว่างเข้าค่ายให้ด้วยเพื่อไม่ให้เด็กเสียเวลาเรียน (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)
เผยรายชื่อ ร.ร. เอกชน เก็บค่าเล่าเรียนลอยตัว
นายสุรเทพ ตันประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2545 มีโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาในกรุงเทพมหานครขออนุญาตเก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่าค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐ หรือเพดานค่าเล่าเรียนตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติกำหนดจำนวน 12 โรง ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เซนต์คาเบรียบ อัสสัมชัญแผนกประถม กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เซนต์ดอมินิก เซนต์จอห์น อนุบาลเซนต์จอห์น ทิวไผ่งาม เบญจมินทร์ และฉัตรวิทยา ส่วนโรงเรียนในภูมิภาค มี 4 โรง ได้แก่ มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ปรินรอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่เคยขออนุญาตเก็บเกินเพดานอยู่แล้ว สำหรับโรงเรียนที่ขออนุญาตเก็บเกินเพดานรายใหม่ยังไม่มีเข้ามาเลย (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
หุ่นยนต์ปลาทูน่าความหวังเที่ยวล่าสุดพิสูจน์ความลับ บั้งไฟพญานาค
หุ่นยนต์ปลาทูน่า หนึ่งในความหวังล่าสุดของการเปิดปูมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคผลงานความร่วมมือของนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีดภายใต้งานวิทยานิพนธ์ต้นแบบของ ดร.สโรช ไทรเมฆ สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มีความตั้งใจในการศึกษาการเคลื่อนที่และการไหลของน้ำผ่านตัวปลา สำหรับความเป็นมาของการเริ่มโครงการ หุ่นยนต์ปลาทูน่า นั้น อ.สาโรช กล่าวว่า เริ่มจาก รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (Fibo) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เห็นว่าน่าจะทำหุ่นยนต์ปลาขึ้น ส่วนผมได้ศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของยานทางน้ำโดยใช้การเลียนแบบหางปลา ทำไมต้องเป็นปลาทูน่า อ.สาโรชได้อธิบายว่าปลาทูน่าจะว่ายน้ำโดยใช้หางเป็นหลัก (Tuniform) ลำตัวจะขยับเพียงเล็กน้อย เวลาหางเคลื่อนที่ไปด้านใดด้านหนึ่งก็จะมีแรงส่งให้เกิดเคลื่อนที่สลับกันไป ปลาทูน่าเป็นปลาจำพวกที่ไม่มีถุงลม จึงต้องว่ายน้ำตลอดเวลา หางปลาชนิดนี้จึงเคลื่อนที่ได้เร็วแต่ใช้พลังงานน้อยโดยเฉพาะปลาทูน่ามีลักษณะร่างกายที่คล้ายกันทั้งแนวขนานและแนวราบ (Symmetry) หากมีการตั้งสมการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นจะง่ายในการคิดคำนวณ ส่วนหัวซึ่งจะทำจากโลหะอะลูมิเนียมหรือไฟเบอร์กันน้ำได้จะบรรจุเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมตัวปลา ระบบเซ็นเซอร์ เครื่องกำเนิดพลังและเครื่องมือติดต่อสื่อสารมีสายรก (Umbilical Cord) คล้ายกับสายพานโยงระหว่างตัวปลาและเครื่องควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลเหนือน้ำ ซึ่งผู้ประดิษฐ์จะเป็นคนควบคุม ส่วนหางจะเป็นตัวขับเคลื่อนตามคำสั่ง ทั้งนี้ยังมีระบบรักษาความปลอดให้กับตัวเอง โดยจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำกรณีที่เกิดการขัดข้อง หุ่นยนต์นี้สามารถดำน้ำได้ลึก 20 เมตรเคลื่อนที่ได้ประมาณ 15-16 ก.ม.ต่อชั่วโมงหุ่นยนต์จึงถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่ได้ประมาณ 5 เมตรต่อวินาที ซึ่งน่าจะสามารถทนต่อกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากของแม่น้ำโขงได้ เก็บข้อมูลต่างๆ ภายในพื้นที่ที่กำหนดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า Plaid Plan ได้ แล้วจึงออกคำสั่งให้หุ่นยนต์ปลาเคลื่อนที่ตามทิศทาง (Tracking) ที่ต้องการ ในการสำรวจจะเป็นการยิงรังสีโซน่าเข้าไปเพื่อหาวัตถุต้องสงสัย ส่วนกล้องถ่ายภาพใต้น้ำนั้นจะติดไว้ตรงตาปลามีสองแบบกล้องธรรมดาซึ่งจะใช้ในภาวะน้ำปกติ ส่วนกล้องอินฟาเรดจะใช้ตรวจจับวัตถุซึ่งมองไม่เห็นในภาวะปกติ ตาปลายังสามารถยังสามารถหมุนกลับไปมาได้เกินบวกลบ 60 องศา ในส่วนนี้ อ.สาโรชชี้แจงว่า เราจะแก้ปัญหาโดยให้ปลามองพื้นที่ที่ต้องการสำรวจในระยะไกล จะสามารถเห็นท้องน้ำได้ ภาพที่ออกมาก็เป็นลักษณะ 3 มิติ สำหรับความคมชัดแม้ไม่ชัดมาก แต่โซน่าสามารถบอกถึงลักษณะรูปร่างและขนาดวัตถุได้ สนใจโครงการหุ่นยนต์ปลาทูน่าสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2470-9116 และ 0-2470-9339 ซึ่งขณะนี้กำลังรับสมัครทั้งผู้ร่วมงาน และนักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัญฑิตสาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และสาขาบริหารความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมด้วย(มติชน จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 17,31)
เลเซอร์สัญชาติไทยใช้สลักภาพเหมือนจริง
รศ.ดร.พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดว่าน่าจะมีการประยุกต์ใช้เลเซอร์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับธุรกิจรายย่อยและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยนำเอาศิลปะเข้ามาผสมผสาน เพื่อสร้างภาพแกะสลักจากภาพจริงด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งใช้เวลาพัฒนาซอฟต์แวร์นานถึง 5 ปี เครื่องดังกล่าวสามารถแกะสลักภาพถ่ายได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นภาพสถานที่สำคัญๆ ภาพศิลปะที่แสดงความเป็นไทย ภาพบุคคล แต่ถ้าเป็นภาพถ่ายธรรมดาก็ต้องนำมาสแกนก่อน หรือถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลแล้วนำมาลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะดาวน์โหลดภาพจากอินเตอร์เน็ตก็ได้ แล้วทำการสั่งผ่านคอมพิวเตอร์ให้เครื่องแกะสลักทำงาน ภาพที่ได้จะเป็นภาพขาวดำที่สามารถเก็บรายละเอียดได้เกือบ 100% มีมิติมีความสวยงามสมจริง เหมาะสำหรับทำเป็นที่ระลึก ของขวัญ ของประดับบ้าน ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีเลเซอร์ฝีมือคนไทย ซึ่งต้นทุนการผลิตนั้นอยู่ที่ราคา 200,000 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศราคาไม่ต่ำกว่าล้านบาท นี้เฉพาะแค่ราคาเครื่องไม่รวมค่าซอฟต์แวร์แต่อย่างใด ใครสนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือจะแวะมาเยี่ยมชมความน่าทึ่งของเครืองแกะสลักเลเซอร์ภาพเหมือนจริงฝีมือคนไทย ติดต่อได้ที่ 0-24700-8868 และ 0-2872-5253 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
สำรวจดาวเคราะห์ด้วยบัลลูน
การเดินทางไปสำรวจอวกาศแต่ละครั้งต้องพยายามที่จะลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดล่าสุดทาง NASA ก็ได้เริ่มพิจารถึงการนำบัลลูนเข้ามาใช้ในการสำรวจดวงดาวต่างๆ แต่ข้อเสียก็คือการบังคับควบคุมทิศทางที่ด้อยประสิทธิภาพกว่ายานพาหนะแบบอื่นๆ NASA จึงได้นำเสนอการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า StratoSail เพื่อช่วยให้บัลลูนสามารถเคลื่อนที่ในทิศทางที่ควบคุมได้และไม่ได้ล่องลอยอย่างไร้จุดหมายบนชั้นบรรยากาศของดาวดวงนั้น (เดลินิวส์ พุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)
e-Camp ค่ายอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์
จากการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยได้รับการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมืออันดีระหว่าง เครือซิเมนต์ไทยและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาไฟฟ้า ของ 11 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศภายใต้โครงการ เครือซิเมนต์ไทย e-Camp ค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ โครงการนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-4 สายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือมีความสนใจด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 550 คน เป็นเวลา 4 วัน 5 คืน โดยมีนิสิต-นักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย เป็นพี่เลี้ยง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.มหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.บูรพา ม.ของแก่น ม.อุบลราชธานี และ ม. สงขลานครินทร์ นอกเหนือจากกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติแล้ว ยังมีการอธิบายให้เห็นถึงโอกาสและทิศทางเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อเป็นการวางรากฐานเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับเยาวชน ในการพัฒนาต่อยอดสู่องค์ความรู้และโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
(สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
ไทย-ยุ่นโชว์ศักดา ศึกษาพบยีน ข้าว ทนน้ำท่วม-หอมกรุ่น
น.พ.ประสิทธ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า หลังจากไทยเข้าร่วมวิจัยโครงการจีโนมข้าวกับนานาชาติจำนวน 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส บราซิล จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย ตั้งแต่ปี 2541 โดยร่วมกันศึกษาลำดับเบสของยีนข้าวพันธุ์ นิปปอนบาเลย์ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาวิจัย 5 ปีเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยจะประกาศความสำเร็จร่วมกันในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยจะมี นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นเป็นประธาน น.พ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ไทยจะแถลงความสำเร็จในวันเดียวกันในการวิจัยหาลำดับเบสของข้าวในโครโมโซมที่ 9 ที่มีคุณสมบัติทนน้ำท่วม โดยไทยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ในการศึกษาวิจัย โดยผลการศึกษาวิจัยโครโมโซมข้าวนิปปอนบาเลย์ของไทยเพื่อจัดฐานข้อมูลสารพันธุกรรมข้าวได้ทั้งของสายพันธุ์ญี่ปุ่นและอินเดีย โดยค้นหาตำแหน่งยีนที่ทนน้ำท่วมได้ 7 ยีน และยีนที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นหอมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตำแหน่งยีนดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการค้นหายีนที่สำคัญอื่นๆ เช่น ยีนต้านทานโรคและแมลง ยีนเพิ่มคุณภาพการหุงต้ม ยีนทนดินเค็ม ซึ่งตำแหน่งยีนเหล่านี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะสามารถบอกตำแหน่งและชื่อยีนได้อย่างแน่นอน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2545 หน้า 18)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ศาสตราจารย์ใหม่ในรั้ว มจธ.
ศ.ดร.รัตนา จิระรัตนานนท์ แห่งดภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีผลงานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งศึกษาถึงการนำเมมเบรน (Membrane Separation Processes) ไปใช้ในการแยกสารละลาย เช่น การผลิตน้ำสะอาด การบำบัดน้ำเสีย โดยเสนอเป็นโมเดลในรูปของความต้านทานต่อการไหล ส่วนสารละลายที่นำมาศึกษา อาทิ การผลิตน้ำจืดจากน้ำกร่อย น้ำทะเลการทำน้ำผลไม้ให้ใส การแยกกลับคืนอิมัลชันน้ำมันน้ำเสียจากอุตสาหกรรมต่างๆ โดยบางงานได้เสนอผลการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย ว่าการที่จะนำเมมเบรนนั้นๆ ไปใช้แทนที่ระบบเดิมได้หรือไม่
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
หัวอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าไฮเทค
รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟภ.) ได้ร่วมมือกัน เนื่องจากปัจจุบันวิธีคิดค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกระทำโดยให้พนักงานไปจดค่าจากมิเตอร์ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้านโดยตรงแล้วนำค่าที่ได้กลับไปคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ต้องชำระ ซึ่งขั้นตอนการคิดค่าไฟฟ้าแบบนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนานและอาจผิดพลาดทำให้ประสิทธิภาพลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นโรงงานอุตสากรรมต่างๆ ทางกฟภ. จึงได้ร่วมมือทางเทคนิคกับ FIBO พัฒนาเครื่องมือหัวอ่านและ Software สำหรับอ่านข้อมูลจากมิเตอร์วัดการใช้ไฟฟ้าตามบ้านขึ้น ซึ่งทาง กฟภ.ได้ติดตั้งมิเตอร์ที่สามารถบันทึกข้อมูลได้ (Static Meters) มาใช้แทนการจดบันทึก ทำให้ประหยัดเวลาในการคิดค่าไฟฟ้าไปได้อย่างมาก โดยหัวอ่านมิเตอร์ไฮเทคดังกล่าวจะใช้สำหรับอ่านข้อมูลจากมิเตอร์ TOU ที่ต่างผลิตภัณฑ์ได้ เครื่องมือต้นแบบและ Software ที่พัฒนาขึ้นช่วยให้ กฟภ. สามารถประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อหัวอ่านแบบเดิม และขจัดปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป คาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ซื่งเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดค่าไฟฟ้าของ กฟภ. ให้มีความรวดเร็ว และถูกต้องมากขึ้น
(เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)
ข้าวไทย
ยาชะลอความชราชั้นเลิศ
ดร.สมชาย บุญชื่น กรรมการฝ่ายวิจัย บริษัท แม็คโครฟู้ดเทค จำกัด ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้คิดค้นหาสาร โพลิแซกคาไรด์ เปปไทด์ หรือ polysaccharide peptids : psp ที่ผลิตจากสมองหมูของรัสเซียซึ่งสร้างชื่อมากว่า 30-40 ปีเลย ที่สำคัญคุณค่าของ psp หลังสกัด มีมากกว่าการกินข้าวพร้อมกับเหลือคณาเพราะการกินอาหารที่สกัด psp เซลล์สามารถดูดซึมสารอาหารและนำไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ถึง 98-99%
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)
แฮนดิคีย์ นวัตกรรมเพื่อคนพิการ
รศ.ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกบุคคลหนึ่งทิ่คิดและค้นหาเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ โดยล่าสุดได้คิดค้น แฮนดิคีย์ นวัตกรรมเพื่อคนพิการขึ้น แฮนดิคีย์ (handikeys) เป็นโปรแกรม On screen Keyboard ที่จำลองแบบแป้นพิมพ์มาไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องเป็นเหมือนแป้นพิมพ์เสมือนเพื่อให้ผู้พิการที่ไม่สามารถใช้แป้นพิมพ์ตามปกติ สามารถเข้าสู่โลกของวิทยาการได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ทัดเทียมกับคนปกติ ตามสิทธิเสรีภาพของคนไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน หน้า 7)
นักวิจัยญี่ปุ่นชี้ใช้พีซีนานมีผลต่อสุขภาพจิต
นักวิจัยญี่ปุ่นพบผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานทุกวันมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายสูงขณะที่ผู้ใช้เกินวันละ 5 ชั่วโมงอาจสูญเสียความกระตือรือร้นและอ่อนเพลียอีกทั้งยังมีปัญหาการนอนหลับด้านผู้เชี่ยวชาญหนุนวิจัยหาระยะเวลาใช้พีซีที่เหมาะสม รายงานดังกล่าว จัดทำขึ้นโดย ดร.เท็ตสึยะ นากาซาวา และได้ตีพิมพ์ในวารสารอเมริกันเจอร์นัล ออฟ อินดัสเทรียล แมชชีน ฉบับเดือนพฤศจิกายน โดยเปิดเผยผลวิจัยซึ่งพบว่าพนักงานที่ใช้คอมพิวเตอร์นานกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันจะมีปัญหาด้านการนอนหลับ และปัญหาความเครียดสูงกว่าพนักงานทั่วไปมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการเกิดภาวะเซื่องซึม กระสับกระส่าย มีปัญหาการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และขาดความกระตือรือร้นในการไปทำงานด้วย
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)
วิจัยชี้อาหารจุดเดือดตัวการก่อ โรคร้าย
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากการศึกษาของนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์เมานต์ ซิไน สคูล ออฟ เมดิซิน ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่า โรคภัยไข้เจ็บบางครั้งเกิดจากขั้นตอนการปรุงอาหาร มิใช่เกิดจากชนิดของอาหารที่เรารับประทานทั้งนี้ จากการศึกษาพบการปรุงอาหารในอุณหภูมิที่สูงไม่ว่าทอด ย่าง หรือเข้าในเตาไมโครเวฟ ก่อให้เกิดการเจือปนที่นำไปสู่โรค ขณะเดียวกันอาหารที่ปรุงในอุณหภูมิต่ำเช่น ปรุงโดยการต้มหรืออบก่อให้เกิดการเจือปนน้อยกว่า ทั้งนี้ การปรุงอาหารในอุณหภูมิสูงจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อกันของน้ำตาล ไขมันและโปรตีน ซึ่งส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายมนุษย์ ข่าวระบุว่า ปฏิกิริยาของน้ำตาล ไขมันและโปรตีน จะทำให้เซลล์ในร่างกายคันและเกิดอักเสบ และสารที่ก่อให้เกิดเซลล์อักเสบนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลที่เกิดจากเบาหวาน เช่น ตาบอด เส้นประสาทเสียหาย และทำลายอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต
(มติชน พุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)
11 ธ.ค. ไทย-รัสเซีย ลุยสมองหมูชะลอแก่
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ดร.พีรศักดิ์ สุนทรวโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวสมองหมูชะลอแก่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของสหพันธรัฐรัสเซีย เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีในไทยนั้น ได้สร้างกระแสความตื่นตัวและความสนใจต่อประชาชนอย่างมาก ดังนั้น ทางวท.จึงเตรียมจัดสัมมนาเรื่อง เทคโนโลยีสมองหมูชะลอแก่ ในวันที่ 11 ธ.ค. โดยจะมีนักวิชาการจากรัสเซียจากสถาบันเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมาให้ความรู้กับนักวิชาการไทย รวมทั้งเอกชนที่สนใจ โดยในวันดังกล่าวจะมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับทางสถาบันเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25-27 พ.ย.นี้ คณะนักวิชาการไทยจะเดินทางไปที่รัสเซียอีกครั้ง เพื่อดูการผลิตยาสมองหมู และคุยกับผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกันนี้จะมีการนำเข้าตัวยามาศึกษาผลกระทบและอันตราย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนอีกด้วย
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)
ชุดไฮดรอลิก
ง่วนเคี้ยง แซ่ฉั่ว นักพัฒนาและออกแบบเครื่องจักรประจำโรงงานไทยซาคาย่า ผู้ประดิษฐ์ ชุดไฮดรอลิกสำหรับคั้นกะทิหรือน้ำผลไม้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าชมเชย ง่วนเคี้ยง เล่าว่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้กันอยู่ โดยมากจะออกแบบตามใจช่างซึ่งแตกต่างจากตน คือจะใช้ข้อมูลจากคนใช้จริงๆ มาประดิษฐ์ สำหรับเครื่องคั้นกะทิหรือน้ำผลไม้ที่เป็นไฮดรอลิกนี้ พัฒนามาจากรุ่นที่เป็นเกลียว เพราะว่ารุ่นที่ใช้เกลียวนั้นเวลาคั้นแล้วจะมีการเสียดสีในมะพร้าวขูดเองเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ส่วนราคา 30,000 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าอุปกรณ์ทำจากอะลูมิเนียมหรือสเตนเลส และชุดไฮดรอลิกนี้และได้จดสิทธิบัตรแล้ว
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2545 หน้า 25)
ข้าวสำเร็จรูป
กรรมวิธีการผลิตข้าวสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน บรรจุในภาชนะปิดสนิท เป็นผลงานของ เพิ่มพันธุ์ เนียวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทอัลบราทรอส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน นายเพิ่มพันธุ์ กล่าวถึงที่มาของการประดิษฐ์นี้ว่า ผมคิดถึงพระราชดำรัสของในเหลวขึ้นมาได้ว่าบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ดีของโลก มากกว่าที่จะเป็นประเทศอุตสาหรรม ดังนั้นผมจึงเริ่มลงมือเดินหน้าวิจัยเรื่องข้าวกระป๋องทันที ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปี จึงสำเร็จเป็นรูปธรรม ส่วนกรรมวิธีการผลิตข้าวสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในภาชนะปิดสนิท ประกอบด้วยการทำความสะอาดข้าว การหุงข้าว การผึ่งข้าว การบรรจุข้าวลงในภาชนะบรรจุ การไล่อากาศ การปิดผนึกภาชนะ การให้ความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสำเร็จรูป ประกอบด้วยข้าวสาร ข้าวเหนียว และข้าวกล้อง บรรจุในขวดแก้วกระป๋อง ถุงพลาสติกกลามิเนต หรือ ภาชนะปิดสนิทอื่นๆ และผลงานนี้ได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 หน้า 25)
ซีโอไลต์ จากผงซักฟอกสู่ปิโตรเลียม
รศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล จากห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีคอมพิวเตอร์และเคมีประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ได้รัลรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สวก. ประจำปี 2545 กล่าวว่า ณ วันนี้ ซีโอไลต์ ได้กลายเป็นสารประกอบที่สถาบันวิจัยทั่วโลกโดยเฉพาะภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มสารประกอบที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเลียม รศ.ดร.จำรัส เป็นนักวิจัยอีกท่านหนึ่งของประเทศไทย ที่ให้ความสนใจและศึกษาถึงการออกแบบ และนำซีโอไลต์มาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสารเร่งปฎิกิริยาถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มงานวิจัยพื้นฐานแต่ผลงานวิจัยที่ออกมาได้รับการยอมรับในระดับสากล สำหรับการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแนวทางใหม่ในการทำปฎิกิริยาเพื่อผลิตสารสำคัญที่ใช้ในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกโพลีสไตรีนที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าเดิม ซึ่งหากสำเร็จอาจถือได้ว่าเป็นการปฎิวัติการผลิตเม็ดพลาสติกเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มงานวิจัยเพื่อวิธีการสังเคราะห์ซีโอไลต์ชนิดใหม่ๆ โดยงานทั้งหมดนี้เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มนักวิจัยจากสถานศึกษาหลายแห่ง อาทิ ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สิ่งที่ทีมวิจัยคาดหวังจะให้เกิดในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ไปนอกเหนือจากงานวิชาการและการค้นพบความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสารเร่งปฏิกิริยาในกลุ่มนี้แล้ว ยังมุ่งหวังว่าจะสามารถพัฒนานักวิจัยที่มีคุณภาพในสาขานี้ให้มากขึ้น ซึ่งประโยชน์ในเบื้องต้นก็คือ องค์ความรู้ที่จะให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในบ้านเราให้สามารถเลือกใช้สารหรืออุปกรณ์ เพื่อเร่งปฎิกิริยาที่เหมาะสมและคุ้มค่าในเชิงธุรกิจมากที่สุด ขณะเดียวกันจะทำให้สามารถค้นคว้าวิทยาการใหม่ๆ ในการสังเคราะห์สารที่มูลค่ามหาศาลในตลาดโลกต่อไปในอนาคต
(สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
รถยนต์พลังงานก๊าซธรรมชาติร่วมไบโอดีเซล
กองทัพเรือได้มุ่งศึกษาและพิจารณาพลังงานในรูปแบบอื่นๆ มาทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ก๊าซธรรมชาติและไบโอดีเซลกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในยานพาหนะ และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพเรือขึ้น โดยมีกรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยดำเนินโครงการ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสถาบันพลังงานทดแทนเอทานอล-ไบโอดีเซล แห่งประเทศไทยและบริษัทราชา-ไบโอดีเซล จำกัด นอกจากจะเป็นการประหยัดงบประมาณกองทัพลงได้ 30-40% เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลประมาณ 50% การใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซล ยังทำให้ลดมลพิษที่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซลได้ถึง 61% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม พลเรื่อเอกทวีศักดิ์ โสมาภา กล่าวว่า ในอนาคตหากได้รับการสนับสนุน ก็จะขยายผลนำไปใช้กับยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพเรือที่ต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่อไป และหากมีหน่วยงานอื่นที่สนใจกองทัพเรือก็ยินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก
(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2545 หน้า 31)
หัวเราะเป็นยอดโอสถขนานเอก เพียงแค่นึกถึงก็ยังอิ่มใจแล้ว
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งสหรัฐฯได้วัดพบว่า ระดับของฮอร์โมนพวกรู้สึกมีความสุข ความอิ่มใจ และบรรเทาความเครียดในตัวผู้เข้ารับการทดลองสูงขึ้นทันตา ชั่วเพียงแต่พวกเขานึกถึงเรื่องขบขันเท่านั้น เราได้พบว่าเพียงแต่การนึกถึงว่า จะได้พบเห็นกับเรื่องตลกขบขัน ก็ทำให้ฮอร์โมนความเครียดในเลือดลดลงและฮอร์โมนที่ทำให้สบายใจเพิ่มขึ้นได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลีเบิร์ก หัวหน้าทีมวิจัยได้เคยศึกษาพบมาก่อนว่า การชมวีดิโอเรื่องตลกหรือการหัวเราะเรื่องตลก ช่วยให้ระดับฮอร์โมนของร่างกายเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นคุณ และช่วยลดความดันโลหิตให้ต่ำลงได้มาแล้ว รวมทั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2543 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ก็เคยรายงานว่า ผู้ที่มีอารมณ์ขันมากมักไม่ค่อยจะเกิดมีอาการหัวใจล้มเหลวเหมือนคนอื่น แต่การศึกษาครั้งนี้นับว่าได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าเพียงแต่การนึกถึงเรื่องตลกขบขันก็ช่วยให้เกิดอาการแบบเดียวกันนั้นขึ้นได้แล้ว (ไทยรัฐ วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
ข่าวทั่วไป
รวมพลหมอเซียนไอทีทั่วเมืองไทย
นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ชมรมข้อมูลข่าวสารการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย หรือ TMI และโรงพยาบาลราชวิถี จัดงานประชุมประจำปี ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด คิดใหม่ ทำใหม่ ไอทีเพื่อระบบสุขภาพ รวมทั้งการจัดแสดงเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. 2545 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 11 โรงพยาบาลราชวิถี ผู้สนใจร่วมงานสัมมนาดังกล่าว สมัครและดูรายละเอียดได้ที่ www.tmi.or.th หรือ www.rajavithi.go.th/Tmi2002 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)
ตีทะเบียนภูมิปัญญาคนไทยป้องกันตปท.อ้างหาผลประโยชน์ / รุกออกหนังสือรับรองกู้แบงก์รัฐ
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) เดินเครื่องขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทเตรียมรวบรวมเป็นสารานุกรมภูมิปัญญาไทยป้องกันต่างชาติ แอบนำไปใช้โดย ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมออกหนังสือรับรองให้เจ้าของสิทธิ์นำไปขอกู้เงินกับธนาคารของรัฐ ระบุแม้ไม่มีกฎหมายรองรับก็จะออกสัญญาการบังคับคดี เพิ่มความเชื่อถือให้กับเจ้าของสิทธิ์ (สยามรัฐ อังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2545 หน้า 9)
เตือนระวังโรคผิวหนังหน้าหนาวเกิด โรคเข็บเดิม ขึ้นที่ใบหน้า
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์อเมริกันบอร์ดโรคผิวหนังกล่าวว่า ขณะนี้พบโรคผิวหนังผื่นคัน ในคนไทยมาก เพราะเริ่มมีอากาศหนาวเย็นและมีความชื่น สัมพัทธ์ต่ำ คนมักเข้าใจผิดว่า อาการคันผิวหนังจากผิวแห้งเกิดจากความสกปรก จึงยิ่งใช้สบู่ฟอกถู ทำให้เป็นหนักขึ้น เพราะการอาบน้ำฟอกสบู่ทำให้ไขมันที่เคลือบผิวหนังละลายออก ผิวจึงยิ่งแห้งยิ่งคันมาก การอาบน้ำร้อนจัด หรือนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ ก็ยิ่งทำให้ผิวแห้งมากขึ้น จึงควรลดการอาบน้ำ ฟอกสบู่ลง อาจใช้สบู่เฉพาะบริเวณอับชื้นเช่น รักแร้ ซอกขาเป็นต้น นายแพทย์ประวิตรกล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาผิวหนังแห้งแล้ว ฤดูหนาวหลายคนจะมีผื่นแดงเป็นขุย ที่ร่องจมูก แก้ม เหนือคิ้ว และแนวไรผมเรียกว่า โรคเข็บเดิม ซึ่งถ้าล้างหน้าบ่อย โรคนี้จะกำเริบ บางคนมีรังแคของหนังศีรษะมากในหน้าหนาวควรใช้แชมพูขจัดรังแค และใช้ครีมนวดผม
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
แนะนำผู้ป่วยโรคเบาหวานปรุงอาหารกินโดยใช้ไฟอ่อนๆ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯอธิบายว่า สารเคมีที่เป็นพิษมักจะเกิดเมื่อมีน้ำตาล โปรตีนและไขมันมาผสมกัน ขณะปรุงอาหารด้วยไฟแรงๆ แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เองขณะที่สารเหล่านี้ ซึ่งไหลเวียนอยู่ในร่างกายตามปกติ มารวมกันเข้าได้เช่นกัน เมื่อเนื้อเยื่อของร่างการต้องโดนเข้ากับสารนั้นบ่อยๆ เข้าก็จะเกิดการเสื่อมโทรม คลายความยืดหยุ่นลง โดยเฉพาะผนังของหลอดเลือด อาจจะกระด้างขึ้น เกิดคราบไขมันจับ ที่อาจเป็นเหตุให้หลอดเลือดอุดตันเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นได้ เป็นที่เชื่อกันว่าผู้ป่วยเบาหวานอาจจะกลายเป็นโรคหัวใจได้ง่าย ถ้าหากไม่ได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมและเปิดโอกาสให้เกิดสารชนิดนั้นขึ้นได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
พฤติกรรมบำบัด ทางเลือกหนึ่งรักษาต่อมลูกหมากโต
สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ความสำคัญต่องานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้สูงอายุจึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ รศ.น.พ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ และคณะ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำการวิจัยเรื่อง โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต โดยสอบถามอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชายผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบๆ โรงพยาบาลศิริราช โดยใช้การรักษาแบบเฝ้าติดตามและรักษาแบบพฤติกรรมบำบัด งานวิจัยดังกล่าวพบว่า การใช้พฤติกรรมบำบัดรักษาจะได้ผลดีกว่าการเฝ้าติดตามดูธรรมชาติของโรค ทั้งผลอาการโดยรวม โดยพบว่าคะแนนอาการต่อมลูกหมาก และคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2545 หน้า 31)
แนะพ่อแม่ดูลูก-เด็กออทิสติกสมองโต
นายอีริก คอเชสเน่ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเปิดเผยว่า ได้มีการวิจัยพบผลเกี่ยวกับโรคออทิสติกที่เกิดจากความผิดปกติในสมองของเด็ก โดยให้ความหวังที่จะสืบหาสาเหตุของอาการก่อนที่จะเกิดปัญหา นายคอเชสเน่ กล่าวต่อสภาออทิสติกโลกที่ออสเตรเลียว่า เด็กอายุ 4 ขวบที่เป็นโรคออทิสติกจะมีขนาดสมองเท่ากับเด็กปกติอายุ 12 ปี โดยไม่รู้สาเหตุ จากการค้นพบนี้ได้พบว่าขนาดศีรษะเด็กสามารถบอกได้ว่าเด็กอาจเป็นโรคออทิสติกหรือไม่ โดยหลังจากที่เด็กเกิด 1 เดือน สมองจะเติบโตรวดเร็วมาก และการเปลี่ยนแปลงของขนาดสมองจะเห็นได้ชัดเมื่อเด็กอายุประมาณ 12 เดือน ด้านแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเด็กจะเป็นโรคนี้จนกว่าจะอายุ 2-4 ขวบ ลักษณะที่เด่นชัดคือ ทำให้ทักษะการสื่อสารและความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ของเด็กแย่ลง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือให้วัดขนาดเส้นรอบศีรษะของเด็กเมื่อแรกเกิด จนอายุ 2 เดือน 4 เดือน ถึง 12 เดือน หากเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นไปได้ว่าเด็กมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคออทิสติก
(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)
ฝ้ายบอลการ์ด ความหวังใหม่ของเกษตรกรอินเดีย
ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมที่นำมาใช้ที่อินเดียเป็นชนิดที่เรียกกันว่า Bacollus thuringiensis หรือฝ้าย Bt โดยจำหน่ายในชื่อ บอลการ์ด รัฐบาลอินเดียอนุมัติให้ใช้ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมในการเพาะปลูก หลังจากที่มีการทดลองปลูกมาแล้วเป็นเวลาหลายปี ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ที่นิยมการปลูกพืชด้วยวิธีธรรมชาติ กลุ่มผู้คัดค้านให้ความเห็นว่า การเพาะปลูกพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม จะทำให้ดินมีภูมิต้านทานแมลงศัตรูพืชต่ำลง และทำให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้องพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตอยู่ตลอดเวลา กลุ่มอนุรักษ์กรีนพีซให้ความเห็นว่า การทดลองเพาะปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมในอินเดียเป็นการวิจัยแบบด้านเดียว อีกทั้งยังไม่มีการกระจายข้อมูลดิบที่ได้สู่สาธารณะ แต่กลุ่มกรีนพีซและกลุ่มนักอนุรักษ์ทั้งหลายก็ไม่สามารถต้านทานความต้องการของเกษตรกรในอินเดียได้ เพราะเกษตรกรในอินเดียได้มีการรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์เกษตรกร (FARMERS ASSOCIATIONS) เรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติให้เกษตรกรสามารถปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2545 หน้า 3)
ชาว เชียงใหม่ คว้าแชมป์ช่วยประหยัดไฟเวิร์กรวม6พันล้านบาท
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงโครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ ที่สนพ.เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 และสิ้นสุดโครงการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รายงานผลของโครงการให้ทราบพบว่าจังหวัดเชียงครองแชมป์จังหวัดที่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้มากที่สุด โดยลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 51 ล้านหน่วยคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 143 ล้านบาท
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
เซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 15 ปี45
เฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ภาคเหนือเขต 1 แจ้งว่า จังหวัดลำปางร่วมกับ สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง เทศบาลนครลำปาง โดยการสนับสนุนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออก และหน่วยงานเอกชนอื่นๆ จะจัด งานเซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2545 อย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 2-10 ธันวาคม นี้ ที่บริเวณตลาดเทศบาล 4 ตรงข้ามห้างบิ๊กซีซูเปอร์เซนเตอร์ สาขาลำปาง ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ อำเภอเมือง จ.ลำปาง
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
มิลวาร์ด บราวน์ บริษัทวิจัยชื่อดังของโลกยกย่องกรุงเทพฯ เมืองแห่งน้ำใจไมตรี
บริษัท มิลวาร์ด บราวน์ ไฟร์ฟลาย จำกัด ไดจัดทำงานวิจัยพิเศษภายใต้ชื่อ สองนคร เพื่อศึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยใช้เทคนิคการวิจัยในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 300 คนที่สนามบินดอนเมืองเป็นคนไทยจำนวน 100 คนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 200 คน ผลการวิจัยระบุชัดว่า กรุงเทพฯ มีจุดเด่นด้านบุคลิกและอัธยาศัย ความเป็นกันเอง ของชาวกรุงเทพฯ รวมไปถึงสิ่งดึงดูดใจอื่นๆ ที่ทำให้กรุงเทพฯ ได้รับคะแนนสูงสุด ทั้งในเรื่องของอาหารที่มีความหลากหลาย ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมีคุณค่าและเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าคุณภาพ และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยและค่าครองชีพไม่สูงด้วย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบำบัดเมืองไทยบูมญี่ปุ่น สหรัฐ ตะวันออกกลาง แห่ใช้บริการคึกคัก
สถานการณ์การตลาดในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่ง ททท.ได้ส่งเสริมเพื่อเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพี เปิดเผยว่าขณะนี้กระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ หรือ Medical Vacations กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติและทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสองประการคือ บริการรักษาพยาบาล คุณภาพสูงราคาไม่แพง กับศักยภาพของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีเป็นจำนวนมากในไทย รวมทั้งผลจากความไม่พอใจกับบริการทางการแพทย์ในประเทศของตนทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมารับบริการด้านสุขภาพที่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก ผลพลอยได้คือ การได้มีโอกาสท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติที่งดงามของเมืองไทย ทำให้ร่างกายฟื้นตัวแข็งแรงเร็วขึ้น (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
พพ.หนุนงบอนุรักษ์พลังงานโครงการโรงงานและอาคารควบคุมนำร่อง
นางสิริพร ไศละสูต อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานกล่าวว่า ผลการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) เห็นสมควรว่าน่าจะมีการขยายโครงการไปสู่โรงงานและอาคารควบคุมซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการใช้พลังงานมาก จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง โดยเจ้าของหรือผู้ประกอบการสามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานที่สำหรับโรงงานและอาคารควบคุมได้ 2 แนวทาง คือการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐาน 11 เมตร และการติดตั้งมาตรการอนุรักษ์พลังงานอื่นๆ ที่สามารถประหยัดพลังงานและลดความต้องการพลังงานไฟฟ้า
(สยามรัฐ จันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)
ตะลึงพืชสมุนไพรพื้นบ้าน อันตรายมากกว่าสารเคมี
นางนวลศรี ทยาพัชร ผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ปัจจุบันการเกษตรของไทยได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผลานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำพืชท้องถิ่นซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป มาสกัดหาสารออกฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ซึ่งวิธีดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก มีการนำพืชหลายชนิดมาใช้โดยไม่ทราบว่าพืชสมุนไพรบางชนิดมีอันตรายมากกว่าสารเคมี เช่น เมล็ดน้อยหน่า ได้วิเคราะห์แล้วพบว่าภายในเมล็ดมีสารพิษสูง ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค หากสกัดเพื่อใช้ทางการค้าจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอันตราย พ.ศ. 2535 ที่ได้กำหนดไว้ว่าสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ทางการเกษตรจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเพื่อทดสอบความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค ซึ่งสารที่จะผ่านการตรวจสอบได้นั้นจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงแล้วว่าปลอดภัยและใช้ได้ผลจริง ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตสารสกัดจากพืช จึงควรรู้ถึงคุณสมบัติของพืชที่จะนำมาสกัด เพราะพืชไม่ได้มีประโยชน์ทุกชนิด เวลานี้ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาการขึ้นทะเบียนกับกองวัตถุมีพิษการเกษตรด้วยเช่นกัน เกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-7377 ต่อ 2101-5 (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
เตือนผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
การที่ผุ้ผลิตเครื่องดื่ม ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาเพิ่มปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนจาก 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุเป็น 80 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ ตนได้ระงับไม่ให้มีการเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมสุขภาพคนไทย ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ นพ. สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สารคาเฟอีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วต่อวัน คนเราควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 ถ้วยกาแฟ ( กาแฟ 1 ถ้วย ใส่ผงกาแฟ 2 ช้อนชา น้ำ 1 แก้ว) จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่า คาเฟอีนยังเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร (ไทยรัฐ วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
เที่ยวป่า-ตั้งแคมป์ระวัง สครับไทฟัส
น.พ.ชัยพร โรจนวัฒน์ศิริเวช หัวหน้ากลุ่มมาลาเรีย กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสครับไทฟัส มีไรอ่อนในตระกูล Leptotrombidium เป็นพาหะนำโรค โดยปกติโรคนี้จะติดต่อในสัตว์ประเภทฟันแทะที่อาศัยและหากินในป่า เช่น หนู กระรอก กระแต ซึ่งคนทั่วไปโดยเฉพาะ ชาวนา ชาวไร่ นักท่องเที่ยวที่ชอบเที่ยวป่า ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือ หรือผู้ที่ชอบไปนอนค้างในป่าเสื่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคดังกล่าวเมื่อเข้าไปหาของป่า หรือไปลาดตระเวนท่องเที่ยว และพักแรมในป่า ทั้งนี้ไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามยอดหญ้าเมื่อสัตว์หรือคนเดินผ่านก็จะกระโดดเกาะ และกัดกินน้ำเสี้ยงเซลล์ปล่อยเชื้อเข้าไปสู่ร่างกาย ซึ่งโรคนี้ความจริงส่วนใหญ่ที่พบไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยกเว้นที่อาการหนักจริงๆ เพราะบางรายเมื่อมีไข้แล้วรับประทานยาปฎิชีวนะก็สามารถหายเองได้โดยทั่วไป คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักโรคนี้นัก ส่วนใหญ่จะพบทางภาคเหนือและภาคอีสานและพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเนื่องจากผู้ชายมีอาชีพเสี่ยงมากกว่า ที่ผ่านมาในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว และตั้งแคมป์ก็มีคนถูกไรอ่อนชนิดดังกล่าวกัดมาแล้ว ด้านนางอัญชนา ประศาสน์วิทย์ นักวิชาการสาธารณสุข 8 กล่าวว่าวิธีป้องกันในเบื้องต้น คือหากต้องไปตั้งแคมป์หรือนอนในป่าถ้าทาแป้งหรือยาทากันยุงก็สามารถป้องกันได้ ขณะเดียวกันเมื่อชาวนา ชาวไร่ ที่ออกจากป่าแล้วก็ควรรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2545 หน้า 30)
ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ จากรั้วจามจุรี
จากการประกวดออกแบบเสื้อผ้างาน Thailand Desiger Contest 2002 ซึ่งจัดโดยนิตยสารผู้หญิงวันนี้ และผลิตภัณฑ์ไฟน์ไลน์อันเป็นเวทีส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลงาน การออกแบบสู่การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หน้าใหม่ ซึ่งจะเป็นบันไดก้าวสำคัญในการมุ่งสู่เวทีแฟชั่นระดับโลกต่อไป จากผลงานการออกแบบเสื้อผ้าที่ส่งเข้าประกวดทั่วประเทศกว่า 300 ชิ้น ทั้งประเภทชุดลำลองแนวโมเดิร์น (New Modern Casual) ชุดร้อนแรงแฝงกลิ่นอายชายหาด (Hot on the Beach) และชุดปาร์ตี้หรูหรา (Evening Dress) ผลปรากฎว่าผลงานการออกแบบชุดลำลองแนวโมเดิร์นของ สสัย ธุทธินนท์ นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนะใจคณะกรรมการจนคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง
(สยามรัฐ วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|