หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 42 ประจำวันที่ 2002-11-26

ข่าวการศึกษา

25ธ.ค.นัด ‘ทักษิณ’ ถกการศึกษาพื้นฐาน
จาตุรนต์’ รับเคลียร์งบฯม.นอกระบบย้ำให้เป็นก้อนต้องมีอิสระอย่างแท้จริง
มอบทบวงฯ – สน. งบฯ ขยายอุดมฯ แบบประหยัด
ราชภัฎเตรียมรับโอน ขรก. พลเรือน-ครูทั่วปท.
ก.ไอซีทีเร่งอินเตอร์เน็ต ร.ร. จี้ปฎิรูปห้องสมุดทั่วประเทศ
ลาดกระบังตั้งจุดเรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิตนกปากห่าง
จี้ ‘ม.ปลาย-อาชีวะ’ คืนเงินกู้เรียน/หลังรัฐอุดหนุนการศึกษาฟรี 12 ปี
‘มศว.’ เปิดวิทยาเขตที่อุตรดิตถ์ปี’ 46
เรียนอาชีพชั่วโมงละ 1 บาท
วธ.เริ่มโครงการงามอย่างไทย-คัดลายมือพ.ย.นี้
นศ.เอเชียแห่เรียนต่อสหรัฐ อินเดียมากสุด-ไทยอันดับ 10
ทบวงฯแจงรายละเอียดคะแนนสอบวัดความรู้พร้อมย้ำตรวจคะแนนรอบคอบมั่นใจไม่พลาด
ซีพีหนุนมหาวิทยาลัยไทยเป็นธุรกิจเพื่อสู้ต่างชาตื
ศธ.ยืนยันโรงเรียนสองภาษาเหมาะกับเด็กนักเรียนไทย
เทคโนโลยีสะอาดบุกลดการใช้ทรัพยากรในโรงเรียน 4 ภาค
สมาคมเอกชนชี้เลิกยากสอบเข้า ป.1
ร.ร.เอกชนยันคืนเงินผู้ปกครอง หลังรัฐอุดหนุน-เสร็จภายใน ธ.ค.

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ทบวงกระตุ้นรัฐสร้างนักเทคโนโลยี สสวท.
ทบวงกระตุ้นรัฐสร้างนักเทคโนโลยี สสวท.
เครื่องแยกเมล็ดทานตะวันฝีมือเด่น นศ.เทคนิคลพบุรี
นักประดิษฐ์หัวใสผลิตหมวกกันคลื่นมือถือ
ใช้ดาวเทียมเก็บข้อมูลป้องกันน้ำท่วม
อุทยานฯเร่งสรุปผลรถพลังงานน้ำมันพืช
“รังสี” กับการเตรียม “อะไหล่มนุษย์”
“ ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา” สตรีคนแรกของไทยรับรางวัลสตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์ที่โลกชื่นชม

ข่าววิจัย/พัฒนา

สรรพสามิตไฟเขียว ‘ราชมงคล’ ตั้งโรงงานต้นแบบผลิต ‘ไวน์’!
โปรแกรมพัฒนาอาหาร “ไบโอเทค” เตรียมสนองความต้องการตลาดโลก
อายุไม่เป็นอุปสรรคหากผู้หญิงอยากมีลูก
คอมพิวเตอร์ที่คุณสวมใส่ได้
นักปราบพยาธิตัวจึ๊ด

ข่าวทั่วไป

เตือนอุตสาหกรรมลดเติมเกลือ
ปากกาแห่งอนาคต
กล้องดิจิทัลใต้น้ำ
ภูมิปัญญาไทยในการเลี้ยงกุ้งหน้าหนาว
รถตัดหญ้า
เผยชื่อผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี45
เดินหน้าค้านระเบิดแก่งโขงเตรียมพานักข่าวลงพื้นที่พิสูจน์หายนะ
พบเด็กติดนมรสหวานสัญญาณสุขภาพอันตราย
“ญี่ปุ่น” วาดฝันขาย 3 แสนชิ้น ส่งออกเครื่องแปลเสียงหมา
เล่นคอมพ์ถูก “ฟ้าผ่า” สถิติพุ่ง เตือนอย่าเสี่ยงใช้ช่วงฝนตก
สั่งหน่วยราชการเปิดรั้วให้ออกกำลังกาย
ชุดใหม่ของนักผจญเพลิงกันได้สารพัด
e-procurement
เชียงราย เมืองส้มปลอดภัย
จีนเนื้อเต้นโคลนนิ่งแพนด้า ฝ่าด่านหาสัตว์ฝากครรถ์





ข่าวการศึกษา


25ธ.ค.นัด ‘ทักษิณ’ ถกการศึกษาพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้ากำหนดการประชุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อรายงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบความก้าวหน้าว่า ได้กำหนดการประชุมในวันที่ 25 ธันวาคม โดยใช้สถานที่โรงเรียนซึ่งกำลังเลือกอยู่ ทั้งนี้ ในเนื้อหารายงานต่อนายกรัฐมนตรีจะเน้นในเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ว่า ได้ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาแค่ไหนแล้ว มีอุปสรรคปัญหาอย่างไรบ้าง และมีประเด็นปัญหาใดที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีช่วยตัดสินใจ ส่วนการประชุมรายงานเรื่องการปฏิรูปการอุดมศึกษา ขณะนี้ทางทบวงมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลนำเสนอตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด้วยเช่นกัน (มติชน อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20





จาตุรนต์’ รับเคลียร์งบฯม.นอกระบบย้ำให้เป็นก้อนต้องมีอิสระอย่างแท้จริง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลงานด้านสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยนอกระบบประสบปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณปี 2546 ซึ่งได้รับการจัดสรรเป็นลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปหรือ Block Grant แต่กลับต้องเบิกจ่ายและแจกแจงรายละเอียดของงบประมาณแต่ละด้านเหมือนกับมหาวิทยาลัยที่ยังอยู่ในระบบต้องปฏิบัติว่า โดยหลักการของการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานอิสระ ถ้าตกลงไปอย่างไรก็ควรจะเป็นเช่นนั้นและเมื่อจัดสรรให้ไปแล้วก็ไม่ควรไปกำกับจนกระดิกไม่ได้ ดังนั้นหากมีการกำกับรายละเอียดในลักษณะดังกล่าวจริงก็คงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตนคิดว่าคงเป็นความ คลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ และจะรับเป็นคนกลางช่วยประสานดูแลให้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





มอบทบวงฯ – สน. งบฯ ขยายอุดมฯ แบบประหยัด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนบทบาทสถาบันอุดมศึกษา และวิทยาเขตมีเพียงพอหรือไม่ ควรขยายหรือไม่ แต่ไม่ควรเน้นการก่อสร้าง ซึ่งงานวิจัยของนายมนัส สุวรรณ อาจารย์ประจำโครงการศึกษาวิจัยการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ เรื่อง การกำหนดแผนที่ตั้งสถาบันอุดมศึกษา หรือ University Mapping ระบุว่าเมื่อประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทำให้ความต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักเรียนจบชั้น ม.ปลายเพิ่มเป็น 9 แสนคนในปีหน้า จากสถิติในปี 2543 ที่พบว่าจบ ม.ปลาย 6 แสนคน ส่วนผู้ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่งบประมาณมีจำกัด จึงต้องจัดอุดมศึกษาเพื่อรองรับโดยใช้เงินน้อยที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่ต้องให้ความเป็นธรรม กระจายโอกาสมากที่สุด และทำให้สถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ 1,002 แห่ง สามารถรองรับความต้องการได้ (มติชน วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ราชภัฎเตรียมรับโอน ขรก. พลเรือน-ครูทั่วปท.

นายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฎ (สรภ.) เปิดเผยว่า จากการปฎิรูปการศึกษาและการปฎิรูประบบราชการ ตามนโยบายรัฐบาล ส่งผลทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการ และอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนสามัญและข้าราชการครูที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ในส่วนของกรมและกระทรวงต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดเพื่อให้ส่วนราชการส่วนกลางมีขนาดเล็กลง มีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่และบุคลากรไปอยู่ส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น ประกอบกับสถานศึกษาในส่วนต่างๆ ยังขาดแคลนอัตรากำลังในการปฎิบัติงานสอนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสถาบันราชภัฏทั้ง 41 แห่งทั่วประเทศ ยังขาดครูและข้าราชการพลเรือนสายสนับสนุนการสอนอยู่ จึงมีความประสงค์ที่จะรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญและครูอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้หลักเกณฑ์คุณสมบัติต่างๆ และสาขาวิชาที่จะรับโอนนั้น ทางสถาบันราชภัฏกำลังดำเนินการกำหนดอยู่ คาดว่าจะประกาศให้ทราบประมาณเดือนธันวาคม ส่วนการรับสมัครและรายละเอียดนั้น ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบข้อมูลได้ที่ สรภ. หรือที่สถาบันราชภัฎที่ผู้สนใจประสงค์จะขอโอนไป ประมาณเดือนมกราคม 2546 (มติชน วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





ก.ไอซีทีเร่งอินเตอร์เน็ต ร.ร. จี้ปฎิรูปห้องสมุดทั่วประเทศ

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สัมภาษณ์ที่ จ.นครสวรรค์ว่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้วางโครงการที่จะพัฒนางานด้านสื่อสารในระดับพื้นที่ที่ยังมีโทรศัพท์ใช้ไม่ทั่วถึงให้มีครบ เช่น โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาทั่วประเทศ 3,000 กว่าแห่ง ยังมีอยู่ถึงกว่า 400 แห่งที่ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้ติดต่อ ซึ่งจะให้ติดตั้งครบทั้งหมดภายใน 6 เดือนนี้ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่มีจำนวนอีกหมื่นกว่าแห่งไม่มีโทรศัพท์ใช้ มีแผนจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อทำการติดตั้งโทรศัพท์ให้ครบ รวมทั้งระบบอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันให้ครบด้วย น.พ.สุรพงษ์กล่าวด้วยว่า อีกโครงการหนึ่งที่จะเร่งทำคือ การปรับปรุงหรือปฎิรูปหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ในลักษณะต่างคนต่างบริหารจัดการ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและขาดคุณภาพในการดำเนินการ จึงมีแผนจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อให้การพัฒนาระบบหอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดทั่วประเทศ ให้มีระบบการทำงานที่เชื่อมติดต่อกันได้ เพื่อให้การพัฒนาหอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดทุกแห่งมีกรอบการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพก่อประโยชน์สูงสุดในการใช้ห้องสมุดของประชาชนไปในทิศทางเดียวกัน (มติชน วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ลาดกระบังตั้งจุดเรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิตนกปากห่าง

นางพูลทรัพย์ สิงห์ศักดา ผอ.ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนเขต (ศบข.) ลาดกระบัง เปิดเผยว่า จากการ สำรวจทรัพยากรทางธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่เขตลาดกระบัง พบว่ามีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง คือ นกปากห่าง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาลและศรีลังกาที่จะบินมาอาศัยอยู่บนที่ดินของนายประสิทธิ์ พุฒขาว จำนวนหลายพันตัวเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ซึ่งนับเป็นแหล่งอาศัยของนกที่ใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้รับการพัฒนา (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





จี้ ‘ม.ปลาย-อาชีวะ’ คืนเงินกู้เรียน/หลังรัฐอุดหนุนการศึกษาฟรี 12 ปี

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายฤทธิ์ ฉวีรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้มีมติให้เสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนชุดใหญ่ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาเห็นชอบให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาที่ได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้กู้ยืมเงินกองทุนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2545 และภาคเรียนที่ 2/2545 ส่งเงินคืนกองทุนในส่วนของค่าบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ภายใน 30 วัน โดยใช้วิธีเดียวกันกับการคืนเงินค่าเล่าเรียนที่ทำอยู่โดยให้โรงเรียนแจ้งชื่อและจำนวนเงินที่ส่งคืนของผู้กู้ยืมในแต่ละรายการให้สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) (มติชน อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





‘มศว.’ เปิดวิทยาเขตที่อุตรดิตถ์ปี’ 46

นายประกฤต เอี่ยมสกุล ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัด (ผอ.สศจ.) อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ทางผู้แทนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้มาหารือกับคณะผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาใน จ.อุตรดิตถ์ทั้ง 19 แห่ง และเห็นตรงกันว่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาอย่างมากที่ มศว. มีโครงการจะเปิดวิทยาเขตที่ จ.อุตรดิตถ์ ในปีการศึกษา 2546 โดยเฉพาะจะมีโควตาให้กับเด็กนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ใน จ.อุตรดิตถ์ได้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง มศว. ก็เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในคุณภาพ ไม่แตกต่างไปจากการไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก “ขณะนี้ทาง มศว. ได้ส่งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตแล้ว ในพื้นที่หมู่ 2 ต.น้ำอ่าง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ บนเนื้อที่กว่า 2,000ไร่ โดยระหว่างที่กำลังก่อสร้างอาคารสถานที่วิทยาเขตทาง มศว. มีแผนจะใช้วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์เป็นสถานที่เรียนไปก่อน ซึ่งจะเริ่มจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไป (มติชน อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





เรียนอาชีพชั่วโมงละ 1 บาท

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ องค์การค้าของคุรุสภา เปิดเผยว่า ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชดำเนิน ได้ร่วมกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนเขตพระนคร จัดอบรมวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น 60 ชั่วโมง ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ ค่าเรียนชั่วโมงละ 1 บาท ค่าลงทะเบียน 15 บาท โดยวิชาที่เปิดสอน 8 วิชา ได้แก่การปั้นดอกไม้แป้งดินผสม การปั้นอาหารจิ๋วและตุ๊กตาจิ๋ว การพิมพ์ผ้าบาติก การประดิษฐ์ดอกไม้ใยบัว การถักเชือก (มักคาเม่) การเพ้นต์แก้ว การแกะสลักผัก ผลไม้และสบู่ และการกัดลายกระจก ผู้สนใจนำหลักฐานการสมัคร รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชน ยื่นสมัครได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ราชดำเนิน โทร.0-2281-7288 ต่อ 268 (มติชน อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





วธ.เริ่มโครงการงามอย่างไทย-คัดลายมือพ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า วธ.ได้เริ่มดำเนินโครงการงามอย่างไทย ที่จะส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีความตระหนัก และเข้าใจคุณค่าของภาษาไทย ค่านิยมที่ดี มารยาทความเป็นไทย โดยจัดให้มีกิจกรรมการประกวดคัดลายมืองามตามแบบไทยการประกวดมารยาทไทย ซึ่งจะจัดประกวดตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ในประเภทบุคคลและสถานศึกษาที่ส่งเสริม โดยจะเริ่มการประกวดในระดับจังหวัดระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และจะจัดประกวดระดับประเทศช่วงเดือนมกราคม 2546 จะมีรางวัลทุนการศึกษามอบให้ (มติชน อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





นศ.เอเชียแห่เรียนต่อสหรัฐ อินเดียมากสุด-ไทยอันดับ 10

คนเอเชียแห่เรียนต่อสหรัฐสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษาต่างชาติ โดยอินเดียติดอันดับ 1 ตามด้วยจีน ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 10 ระบุ การบริหารจัดการธุรกิจ นับเป็นสาขาวิชายอดนิยม ตามติดด้วยวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการศึกษาในสหรัฐ เปิดเผยรายงานการสำรวจเรื่องนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาต่อในสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า เป็นนักศึกษาจากเอเชียในสัดส่วนมากที่สุด ทั้งนี้ รายงานการศึกษา “โอเพน ดอร์ส 2002” ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ระบุว่า ในจำนวนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐ เป็นนักศึกษาจากเอเชีย ในสัดส่วน 56% ตามด้วยนักศึกษาจากยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 14% ขณะที่นักศึกษาจากละตินอเมริกามีสัดส่วน 12% นักศึกษาจากตะวันออกกลาง 7% และนักศึกษาจากแอฟริกา 6% หากแยกเป็นรายประเทศ พบว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีนักศึกษาไปศึกษาต่อในสหรัฐมากที่สุด ขณะที่ จีนซึ่งเคยเป็นประเทศที่ส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อในสหรัฐมากที่สุดติดต่อกันถึง 3 ปี ติดอยู่ในอันดับ 2 ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ส่วนแคนาดา มีจำนวนนักศึกษาไปศึกษาต่อในสหรัฐมากเป็นอันดับ 6 ตามด้วยเม็กซิโก ตุรกี และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 1,4)





ทบวงฯแจงรายละเอียดคะแนนสอบวัดความรู้พร้อมย้ำตรวจคะแนนรอบคอบมั่นใจไม่พลาด

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้สอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการนำคะแนนสอบวัดความรู้ในเดือนตุลาคม 45 และเดือนมีนาคม 46 ไปใช้ในการสมัครเลือกคณะหรือสาขาวิชา และสถาบันอุดมศึกษาในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2546 เนื่องจากได้เกิดความสับสนว่าคะแนนสอบวัดความรู้ที่สอบไปแล้วนั้นยังใช้ได้อยู่หรือไม่ และจะหมดอายุเมื่อใด เพราะแต่เดิมคะแนนทดสอบวัดความรู้ฯ สามารถเก็บไว้ใช้ได้ 3 ปี แต่ต่อมาให้เก็บได้เพียง 2 ปีเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่การทดสอบวัดความรู้ในเดือนตุลาคม 2544 เป็นต้นมา (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





ซีพีหนุนมหาวิทยาลัยไทยเป็นธุรกิจเพื่อสู้ต่างชาตื

จากการประชุมทางวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องการพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนมองว่าสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาความรู้ และนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธภาพของผลผลิตและการพัฒนาจะต้องพัฒนาทั้งส่วนบน และฐานราก เพื่อกระจายรายได้ให้เกิดความใกล้เคียงกันของคนในสังคม และที่สำคัญต้องสอนให้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ด้านนายสุนทร อรุณานนท์ชัย ผู้บริหารระดับสูงบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยจะต้องบริหารแบบบริษัท และต่อไปมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นธุรกิจ คือบริหารจัดการแบบธุรกิจไม่ใช่ราชการไม่เช่นนั้นจะแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ และมหาวิทยาลัยจะต้องทำให้ทุกคนอยากมาเรียน และควรจะเลิกคิดว่ามหาวิทยาลัยของตัวเองเก่งคนเดียว เพราะไม่มีใครเก่งคนเดียวได้ นอกจากนี้จะต้องสอนในวิชาที่คนไทยยังขาดความรู้ ต้องเรียนสิ่งที่กำลังจะมา อย่าไปเรียนแต่ของเก่า (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





ศธ.ยืนยันโรงเรียนสองภาษาเหมาะกับเด็กนักเรียนไทย

นางเนตรปรียา ชุมไชโย รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อหรือโรงเรียนสองภาษา (English Program) ว่า นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ได้ย้ำเสมอว่าต้องการให้เด็กไทยสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน รวมถึงต้องมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทยนั้นมีโรงเรียนที่จัดอยู่ 2 ประเภท คือ โรงเรียนสองภาษา กับ โรงเรียนนานาชาติ ตนจึงอยากทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าโรงเรียนทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะหลักสูตรที่นำมาใช้โดยโรงเรียนสองภาษาคือโรงเรียนของไทยมีทั้งของเอกชนและรัฐบาลแต่จะใช้หลักสูตรของไทยซึ่งมีความเหมาะสมกับเด็กไทย ในขณะที่โรงเรียนนานาชาติจะใช้หลักสูตรของต่างประเทศจึงเหมาะสมกับเด็กที่จะใช้ชีวิตในต่างประเทศมากกว่า ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจและพิจารณาถึงความเหมาะสมก่อน อย่าดิ้นรนที่จะส่งลูกไปเรียนแต่โรงเรียนนานาชาติเพราะมีความคาดหวังจะให้ลูกหลานเก่งภาษาได้ ทั้งที่โรงเรียนสองภาษาที่เปิดสอนอยู่ก็มีคุณภาพและสามารถสอนให้เด็กเก่งภาษาได้เช่นกัน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





เทคโนโลยีสะอาดบุกลดการใช้ทรัพยากรในโรงเรียน 4 ภาค

เทคโนโลยีสะอาดลดการใช้ทรัพยากรในโรงเรียน โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเน้นวิธีการเทคโนโลยีสะอาดและเบนช์มาร์กกิ้งเข้าไปในโรงเรียนเขตกรุงเทพฯ และโรงเรียนนำร่องเขตการศึกษา 1 รวมทั้งโรงเรียนในเขตภูมิภาคทั้ง 4 ประกอบด้วยเชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา รวม 28 โรงเรียนเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและลดการสูญเสียพลังงาน ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่าการใช้เทคโนโลยีสะอาดเพื่อลดการใช้ทรัพยากรในโรงเรียนนับว่าเป็นอีกโครงการที่ประสบความสำเร็จด้านการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของสาธารณูปโภค คือ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ถ้าโรงเรียนต่างๆ นำหลักการของเทคโนโลยีสะอาดไปใช้ก็จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรของโรงเรียนและของกรมสามัญศึกษาได้อย่างสัมฤทธิผล (สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





สมาคมเอกชนชี้เลิกยากสอบเข้า ป.1

นางจินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมโรงเรียนอนุบาลเอกชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) บังคับให้โรงเรียนรัฐและเอกชนยกเลิกการสอบวิชาการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไปว่า เรื่องนี้ได้มีการร่วมรณรงค์กันมาตลอด และโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหลายๆ โรงเรียนยังมีความจำเป็นต้องสอบเพราะมีจำนวนเด็กที่ต้องการเข้าเรียนมากกว่าจำนวนที่รับได้ ทางโรงเรียนก็ต้องหาวิธีการคัดเลือกเด็กเข้ามาเรียนด้วยการสอบ แต่บางโรงเรียน เช่นโรงเรียนคาทอลิกก็ได้ประกาศที่จะปรับกระบวนการสอบโดยไม่เน้นการสอบเนื้อหาวิชาการ นายมานิจ มาถนอม นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ กล่าวว่า การจะบังคับไม่ให้โรงเรียนการสอบคัดเลือก คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิโรงเรียนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม หากจะไม่ให้มีการสอบเนื้อหาวิชาการ ก็ต้องมีการสอบในรูปแบบอื่น อย่างการสอบวัดทักษะความพร้อมของเด็กแทน (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ร.ร.เอกชนยันคืนเงินผู้ปกครอง หลังรัฐอุดหนุน-เสร็จภายใน ธ.ค.

นางจินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมโรงเรียนอนุบาลเอกชนแห่งประเทศไทยกล่าวถึงผลการสัมมนากำหนดแนวทางการจัดการศึกษาเอกชนว่า การประชุมครั้งนี้ส่วนใหญ่จะทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ในเรื่องของเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดสรรให้ว่า แต่ละแห่งจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายโรงเรียนอาจจะมีความสับสนและไม่เข้าใจ โดยเฉพาะการคืนเงินที่หลายโรงเรียนได้เก็บค่าเล่าเรียนเต็มมาจากผู้ปกครองก่อนหน้านี้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตามในหลายโรงเรียนก็ได้เร่งทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในเรื่องนี้แล้ว โดยเฉพาะการที่รัฐจัดเงินอุดหนุนให้กับสถานศึกษาเอกชนเพียงแค่ 50% ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เข้าใจและไม่มีปัญหาอะไร (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ทบวงกระตุ้นรัฐสร้างนักเทคโนโลยี สสวท.

นายวิโรจน์ ต้นตราภรณ์ กรรมการสถานส่งเสริมการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยว่า บ้านเรายังมีเทคโนโลยีน้อยกว่านักวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุให้ความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีของไทยยังมีน้อย และขาดการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยี รวมถึงสร้างเทคโนโลยีเองไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นแนวทางที่จะยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในระยะยาวคือรัฐต้องวางแผนสร้างเทคโนโลยีและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีพื้นที่เหมาะสมโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีและวัดสดุจากต่างประเทศ มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับพัฒนาบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ในเชิงลึก สร้างครูสอนวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)





ทบวงกระตุ้นรัฐสร้างนักเทคโนโลยี สสวท.

นายวิโรจน์ ต้นตราภรณ์ กรรมการสถานส่งเสริมการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยว่า บ้านเรายังมีเทคโนโลยีน้อยกว่านักวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุให้ความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีของไทยยังมีน้อย และขาดการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยี รวมถึงสร้างเทคโนโลยีเองไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นแนวทางที่จะยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในระยะยาวคือรัฐต้องวางแผนสร้างเทคโนโลยีและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีพื้นที่เหมาะสมโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีและวัสดุจากต่างประเทศ มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับพัฒนาบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ในเชิงลึก สร้างครูสอนวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)





เครื่องแยกเมล็ดทานตะวันฝีมือเด่น นศ.เทคนิคลพบุรี

นายสัญญา ทิมา นายฐากูร พัฒนชลชาติคีรี นายวัชรพงษ์ สำเนียงดัง นักศึกษากลุ่มนี้ศึกษาอยู่แผนกช่างยนต์ คณะวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี วัตถุประสงค์ของการผลิตเครื่องแยกเมล็ดทานตะวันขึ้นมานี้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีเครื่องแยกเมล็ดทานตะวันไว้ใช้ในราคาต้นทุนที่ต่ำ พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรได้ด้วย ตัวเครื่องจะมีขนาดความกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร และสูง 140 เซนติเมตร โดยมีคุณสมบัติเฉพาะคือ สามารถแยกเมล็ดทานตะวันออกจากดอกได้ ซึ่งในตัวเครื่องนั้นจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวต้นกำลังความเร็วรอบ 1,450 รอบ/นาที ใช้กระแสไฟฟ้า 5.5A ใช้โบลเวอร์แบบแรงดัน โดยมีมอเตอร์ขับ ใช้กระแสไฟฟ้า 4.5A และสามารถใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กเป็นตัวต้นกำลังแทนมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องได้อย่างสะดวก (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2545 หน้าพิเศษ 7)





นักประดิษฐ์หัวใสผลิตหมวกกันคลื่นมือถือ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานหมวกป้องกันคลื่นมือถือ “โมบายแคป” (Mobile Cap) ซึ่งจะวางขายในราคาประมาณ 53 ดอลลาร์นั้น ประกอบด้วยแผ่นโลหะบางเบา ซึ่งสามารถป้องกันคลื่นมือถือได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ พอลลี จากมหาวิทยาลัยเยอรมันอาร์เมดฟอร์ส กล่าวว่า โลหะ ที่นำมาใช้ถักทอเพื่อผลิตหมวกในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทองแดง หรือเหล็ก สามารถป้องกันคลื่นวิทยุของโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถึง 95% พร้อมเสริมว่า ก่อนหน้านี้ เส้นใยโลหะ ได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตจรวดและชิ้นส่วนวัตถุระเบิดขณะที่ในวงการทหาร แผ่นโลหะดังกล่าว จะถูกนำไปใช้เพื่อป้องกันคลื่นวิทยุและสะท้อนกลับออกไปได้ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 20 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





ใช้ดาวเทียมเก็บข้อมูลป้องกันน้ำท่วม

ดร.สุรชัย รัตนเสริมพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง สทอภ.กำลังรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายน้ำท่วมจากดาวเทียม RADARSAT-1 หวังใช้แก้ปัญหาอุทกภัยปีหน้าคาดสามารถชี้จุดบอดแหล่งน้ำขังและป้องกันความเสียหายได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





อุทยานฯเร่งสรุปผลรถพลังงานน้ำมันพืช

ตามที่สนง.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเครือข่ายในการพัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยให้การสนับสนุนในการจัดรถนิทรรศการพลังงานเคลื่อนที่วิ่งด้วยน้ำมันพืช 100% พร้อมงบประมาณในการพัฒนาครูและนักเรียนแกนนำในการสาธิตนั้น นายประเสริฐ หอมดี ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทางอุทยานฯ กำลังประเมินผลการทำงานรถพลังงานดังกล่าวคาดว่าจะทราบผลการประเมินในราวเดือนม.ค.2546 เพื่อนำมาพัฒนารถพลังงาน ซึ่งทางอุทยานฯ ได้เสนอของจากสพช. เพิ่มขึ้นอีก 12 คัน โดยมอบให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 12 จังหวัด เพื่อให้บริการประชาชนทั่วประเทศ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





“รังสี” กับการเตรียม “อะไหล่มนุษย์”

รศ.ดร. สาระเนตร ไวคกุล ผอ.ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพฯ ในพระอุปถัมภ์ฯ เผยว่า “ปัจจุบันวงการแพทย์ได้มีการ เตรียมอะไหล่มนุษย์โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาช่วยในหลายด้าน เพราะว่าสิ่งที่จะใช้หรือสิ่งที่จะใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยต้องปลอดเชื้อโรค มิฉะนั้นจะทำให้เกิดอันตรายได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เหตุนี้จึงมีการนำประโยชน์ของรังสีที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพมาใช้การ เช่น ต้องมีการนำเนื้อเยื่อในส่วนต่างๆ ของร่างกายมาใช้สำหรับรักษาบาดแผลที่เกิดจากความร้อน หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น แผ่นเอ็นที่โคนขา ผิวหนัง กระดูก เป็นต้น ซึ่งการนำมาใช้ในส่วนนี้สามารถช่วยให้แพทย์มีเนื้อเยื่อที่ปลอดเชื้อโรคเพียงพอต่อการรักษาและยังเสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย เหตุผลสำคัญในการนำรังสีมาใช้ในทางการแพทย์นี้ ก็เพราะเป็นการประหยัดงบประมาณการลงทุ่นที่ต่ำลง เพราะหากเราสั่งวัสดุเทียมจากต่างประเทศเข้ามาเป็นอะไหล่จั้นจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การใช้วัสดุเทียมก็จะใช้ได้ไม่นาน เพียง 2-3 ปี ก็ต้องทำการเปลี่ยนใหม่(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 35)





“ ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา” สตรีคนแรกของไทยรับรางวัลสตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์ที่โลกชื่นชม

ศาสตรจารย์ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ถือเป็นท่านแรกที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ระดับสากล ให้ได้รับ รางวัล “สตรีในงานวิทยาศาสตร์ที่โลกชื่นชม” (For Women in Special Honor Award) ซึ่งเป็นรางวัลแห่งความชื่นชมที่คัดเลือกโดยคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ของโครงการ “ เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับสากลซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกจาก 14 ประเทศทำงานภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ คริสเตียน ดู ดูฟ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ เพื่อมอบให้กับสตรีวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานระดับแนวหน้าของประเทศ ซึ่งผลงานการวิจัยล่าสุดของศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ ท่านได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคและพยาธิที่ค้นพบในเมืองร้อนเป็นส่วนใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งด้วยความพยายามของท่านจึงทำให้การวินิจฉัยโรคฉี่หนูซึ่งเคยเป็นเรื่องแสนยากและใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการรักษากลับเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว อยู่ในราคาเหมาะสมกับคนไทย ด้วยชุดตรวจวินิจฉัยซึ่งสามารถแจ้งผลได้ถูกต้องภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง และด้วยผลงานที่หลากหลายที่ทั้งชาวไทยและชาวโลกต่างชื่นชม ท่านจึงได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลนักประดิษฐ์คิดค้นแห่งชาติ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นพระราชทานจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลเอเชื่ยน อินโนเวชั่น อะวอร์ด จากนิตยสาร ฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว และล่าสุดกับรางวับ “สตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์ที่โลกชื่นชม” จากคณะกรรมการ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับสากลโดยบริษัทลอรีอัล และองค์กรยูเนสโก(สยามรัฐ วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สรรพสามิตไฟเขียว ‘ราชมงคล’ ตั้งโรงงานต้นแบบผลิต ‘ไวน์’!

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยว่า จากที่สถาบันและฝึกอบรมการเกษตร (สกว.) สกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีความประสงค์ขออนุญาตจัดตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตไวน์ ที่สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร อำเภอพังโคน จ.สกลนคร เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และเป็นตัวอย่างในการถ่ายทองเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชท้องถิ่น โดยกำหนดอัตราการผลิต 2,000 ลิตรต่อปี ซึ่งได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งจากกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา บัดนี้ทางกรมสรรพสามิตได้พิจารณาและอนุญาตให้สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนครจัดตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตไวน์ได้แล้ว(มติชน อังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





โปรแกรมพัฒนาอาหาร “ไบโอเทค” เตรียมสนองความต้องการตลาดโลก

นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ไบโอเทคได้ทำโปรแกรมส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมทางอาหาร (FRIP) เพื่อมุ่งฟื้นฟู และเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันของอุตสากรรมอาหารโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน และจากการดำเนินงานของโปรแกรม FRIP โดยในช่วงปี พ.ศ.2541-2544 ที่ผ่านมานี้ สนับสนุน บริษัทเอกชนทำโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีอาหาร รวมทั้งหมด 42 โครงการ เช่น ซุปปลาทูน่าโปรตีนสูงจากน้ำนึ่งปลาทูน่า เส้นก๋วยเตี๋ยวใยอาหารสูง เป็นต้น ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแหนมจากเชื้อบริสุทธิ์เริ่มต้นผสม ให้บริษัทแหนมไบโอเทคจำกัด ทำให้สามารถผลิตแหนมที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นผู้ผลิตรายแรกของประเทศไทยที่สามารถระบุข้อความฉลากว่า “รับประทานได้ทันที” เป็นต้น พัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในภาครัฐและเอกชนโดยส่งเสริมให้เกิดโครงการสร้างผู้เชี่ยวชาญคนไทยด้านระบบคุณภาพความปลอดภัยเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรของประเทศสำหรับรองรับการให้คำปรึกษา (มติชน วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 18)





อายุไม่เป็นอุปสรรคหากผู้หญิงอยากมีลูก

คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนียสหรัฐ กล่าวว่า ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ผู้หญิงในวัย 50 และ 60 ปี ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เหมือกับคุณแม่วัยสาวโดยมีขั้นตอนคือ นักวิจัยจะนำเอาไข่สมบูรณ์จากหญิงวัยทองเหล่านี้มาจากการบริจาคของหญิงสาวแต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ว่าหญิงวัยทองจะมีปัญหาอุ้มท้องเป็นระยะเวลานานๆ ได้หรือไม่ จากการศึกษาในผู้หญิง 77 คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปซึ่งทั้งหมดมาขอรับคำปรึกษาเพื่อขอให้หมอช่วยให้เธอมีลูกได้สมใจ หมอพบด้วยว่า ผู้หญิงซึ่งโดยเฉลี่ยมีอายุ 53 ปี มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในเรื่องของความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่งมีพบในหญิงวัยทองมากกว่าในกลุ่มสาวๆ ถึง 5 เท่า ขณะที่โรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มสาวใหญ่มีมากกว่าสาวรุ่นอายุ 20 ถึง 10 เท่า หมอบอกว่าแม้ว่าสาวใหญ่จะมีสุขภาพแข็งแรงแค่ไหนแต่สาววัยทองเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะคลอดลูกด้วยการผ่าตัด และสนับสนุนให้ทำวิจัยในเรื่องนี้กันต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า)





คอมพิวเตอร์ที่คุณสวมใส่ได้

นักวิจัยจากสถาบัน Virginia Tech ที่คิดค้นเส้นใยพิเศษที่มีชื่อว่า STRECH โดยที่เส้นใยนี้นอกจากจะมีคุณสมบัติและสามารถนำมาถักทอเป็นเครื่องนุ่มห่มได้เช่นเดียวกับเส้นใยทั่วไปแล้วยังมีความพิเศษกว่าที่สามารถเป็นตัวนำสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกับสายไฟขนาดเล็กๆ และยังสามารถฝังเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณลงไปได้อีกด้วย ในเบื้องต้นเส้นใยดังกล่าวจะถูกนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันทั่วไปสำหรับทหารก่อนเ เช่นผ้าเต็นท์หรือตาข่ายพรางตัวที่มีความสามารถในการตรวจจับสัญญาณเสียง (ที่คาดว่าจะเป็นของข้าศึก) โดยมีการทำงานร่วมกันของตัวเซ็นเซอร์หลายๆ ตัวที่ถูกนำมาทอรวมกับเส้นใย จากนั้นจึงทำการรวบรวมเอาข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์ทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์ โดยคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะได้สร้างเป็นภาพที่สามารถระบุตำแหน่งของข้าศึกได้ (เดลินิวส์ พุธที่ 27 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





นักปราบพยาธิตัวจึ๊ด

นางสาวอดิศรี เจริญพานิช หรือ “น้องอ๋อง” สาวน้อยวัย 18 ปี จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม เป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำการทดลองโดยหาพยาธิตัวจี๊ดจากตับปลาไหล ผลสรุปเบื้องต้นที่พบครั้งนี้ แม้จะยังไม่อาจนำไปใช้ได้ทันทีแต่ก็ถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ซึ่งสามารถนำไปศึกษาต่อยอดในการคิดค้นวิธีรักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดโดยไม่ต้องผ่าตัด ในอนาคตบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ป่วยได้อีกมากมายจากความก้าวหน้าของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


เตือนอุตสาหกรรมลดเติมเกลือ

ดร.สตีเฟน ฮาวาส แห่งคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์สหรัฐ กล่าวว่าถ้าผู้ผลิตอาหารลดปริมาณเกลือในผลิตภัณฑ์ลง 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ระดับความดันเลือดของชาวอเมริกัน จะลดลงเฉลี่ย 5 mm HG และจะส่งผลให้ความดันเลือดลดลงถึง 20% ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมลง 7% สรุปว่า จะช่วยชีวิตผู้คนได้ถึงปีละ 150,000 คน ทั้งนี้ ปริมาณเกลือที่แนะนำว่าเหมาะแก่การบริโภค ควรอยู่ในระดับ 2,400 มิลลิกรัม หรือ เศษ 3 ส่วน 4 ช้อนชาต่อวัน แต่ปัจจุบันชาวอเมริกันบริโภคเกลือกันมากถึง 4,000 มิลลิกรัม หรือ 1 ช้อนชาครึ่งต่อวัน ดร.ฮาวาส บอกว่าผู้บริโภคแต่ละคนควรระวังตัวเองโดยเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2545 หน้า 3)





ปากกาแห่งอนาคต

ในเมื่อทุกอย่างยังมีสไตล์และเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง แล้วทำไมปากกาที่เราใช้เขียนมันอยู่ทุกวันจึงจะมีทั้ง 2 อย่างบ้างไม่ได้ ว่าแล้ว ก็มีผู้ผลิตหัวใสผลิตปากกาในรูปแบบที่เรียนกว่า ปากกาพีดีเอ ดิจิทัล (PDA DigitalWriter) ที่ใช้ได้ทั้งเป็นปากกาเขียนหนังสือ และปากกาที่ใช้คู่กับเครื่องมือสื่อสารขนาดพกพาอย่างพีดีเอ (PDA) กลายเป็นความสะดวกสบายของผู้ใช้ที่ไม่ต้องพกปากกาหลายด้ามอีกต่อไป พกด้ามเดียวก็ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ปากกาแห่งอนาคตนี้มีให้เลือกกันในหลายสีตามแต่จะชอบใจ ทั้งฟ้าคราม แดงสดใส และสีเงินระยับ สนใจรายละเอียดลองคลิกเข้าไปในเว็บไซต์นี้ดู www.cross.com (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2545 หน้าพิเศษ 7)





กล้องดิจิทัลใต้น้ำ

ใครที่หลงเสน่ห์บรรยากาศอันชวนฝันใต้น้ำ แล้วอยากเก็บความทรงจำเหล่านั้นกลับมาแบ่งปันให้กับคนที่คุณรักแล้วล่ะก็ครั้งหน้าหากจะไปดำน้ำดูปะการังอย่าลืมนำกล้องดิจิทัลใต้น้ำตัวนี้ไปด้วยล่ะ กล้องแคนนอน รุ่น “Eiph Sport” ตัวนี้ สามารถให้คุณถ่ายภาพใต้น้ำได้ลึกถึง 5-6 เมตรเลยที่เดียว ภายในตัวกล้องมีคุณสมบัติพิเศษในการเคลียร์ภาพใต้น้ำให้มีความคมชัด พร้อมทั้งปรับแสง และระยะห่างได้อย่างอัตโนมัติโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องไปปรับระบบอะไรให้ยุ่งยาก เรียกว่า เจออะไรประทับใจใต้น้ำก็สามารถ “แชะ” ได้ทันที สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมก็ลองคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์นี้ดู www.usa.canon.com (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2545 หน้าพิเศษ 7)





ภูมิปัญญาไทยในการเลี้ยงกุ้งหน้าหนาว

ช่วงหน้าหนาวเป็นช่วงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมักจะประสบกับปัญหากุ้งหมกเลน กุ้งไม่ยอมกินอาหาร จนทำให้เกษตรกรหลายรายหลีกเลี่ยงที่จะเลี้ยงกุ้งในช่วงหน้าหนาว คุณไชยา เกตุมาลา เกษตรกรแห่งฉะเชิงเทราได้ทดลองใช้สารชีวภาพที่ผลิตในประเทศตัวหนึ่งในการปรับสภาพพื้นบ่อ ทดแทนการใช้ปูนและสารเคมีในการเลี้ยงทำให้การเลี้ยงง่ายขึ้นลดค่าใช้จ่ายทั้งการผลิตและค่าแรง ผลผลิตที่ได้รับก็เป็นที่น่าพอใจ สำหรับหลักการง่ายๆ ในการใช้สารชีวภาพก็ คือ การใช้สารชีวภาพ 3-5 กิโลกรัม ผสมน้ำสาดพื้นบ่อในกรณีบ่อปกติ สำหรับกรณีที่บ่อมีปัญหามากให้ใช้สารชีวภาพ 5-10 กิโลกรัม ผสมน้ำสาดพื้นบ่อ สำหรับผู้ที่สนใจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ลองติดต่อที่ 01-5978338 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 35)





รถตัดหญ้า

งานประดิษฐ์ชิ้นนี้ คือ “ชุดสายพานพูลเลย์สลับทิศทาง” ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์ของ “ประดิษฐ์ ประภักดี” แต่นำมาใช้ในรูปแบบของ “เครื่องตัดหญ้าอเนกประสงค์แบบนั่งขับ” มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร คือตัดหญ้าได้รวดเร็วกว่า, แข็งแรง ทนทาน และลากพ่วงอเนกประสงค์และได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2545 หน้า 25)





เผยชื่อผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี45

นายรัฐกิจ มานะทัต อธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แถลงข่าวผลการตัดสินผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2545 ดังต่อไปนี้ 1.ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2545 สาขาแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์โธมัส อี สตาร์เซิล จากประเทศสหรัฐอเมริกา และเซอร์ รอย คาล์น จากสหราชอาณาจักร 2.ผู้ที่ได้รับรางวัลฯ สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ดร.มัวริส อาร์ ฮิลเลแมน จากประเทศสหรัฐอเมริกาและแพทย์หญิงเฮเลนา จากประเทศฟินแลนด์ โดยรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตรและเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 เหรียญสหรัฐ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





เดินหน้าค้านระเบิดแก่งโขงเตรียมพานักข่าวลงพื้นที่พิสูจน์หายนะ

โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการพัฒนาการเรือพาณิชย์เป็นการเริ่มต้นของการรวมตัวของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันได้แก่ กัมพูชา ลาว จีน และไทยอันเป็นประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งมีความเห็นจะพัฒนาการขนส่งน้ำในแม่น้ำโขง จึงจัดตั้งองค์กรร่วมสำรวจการขนส่งในลุ่มน้ำลานซางแม่น้ำโขง เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ 2536 ตัวแทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า “ต้องการให้ระงับโครงการใว้ก่อนเพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและมีมาตราฐานเนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้รับข้อมูลจากทางรัฐบาลจีนเพียงอย่างเดียวแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ทางกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เรามีสมาชิกทั่วโลกจะนำข้อมูลและผลกระทบการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงครั้งนี้เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในเว็บไซต์ เราจะมีแอ็กชั่นเรื่องนี้อย่างจริงจัง (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





พบเด็กติดนมรสหวานสัญญาณสุขภาพอันตราย

ทันตแพทย์หญิงบุปผา ไตรโรจน์ จากกองทันตสาธารสุข กรมอนามัย กล่าวเปิดเผยว่า คนไทยนิยมบริโภคน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นรวมถึงนมพร้อมดื่มและนมที่ใช้เลี้ยงเด็กเล็ก รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่เด็กดื่มนมรสหวานมากเกินไปจะส่งผลทำให้เด็กติดรสหวานได้ง่าย และนำไปสู่การรับประทานขนมหวานอื่นๆ มากขึ้นซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอิ่มและไม่รับประทานอาหารอื่นๆ อีก และพฤติกรรมการติดหวานนี้จะต่อเนื่องมาถึงช่วงโตและอาจนำไปสู่สาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวานได้ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





“ญี่ปุ่น” วาดฝันขาย 3 แสนชิ้น ส่งออกเครื่องแปลเสียงหมา

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บริษัททาคาร่า ผู้ผลิตของเด็กเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเครื่องแปลเสียงสุนัขออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีหน้า หลังจากที่บริษัทได้เปิดตัวเครื่องดังกล่าวในตลาดญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และปรากฎว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยบริษัททาคาร่าได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะขายได้ถึง 300000 เครื่อง ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า แม้ว่าในขณะนี้ทางบริษัทจะขายไปได้เพียง 30,000 เครื่อง ข่าวแจ้งว่า อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดเล็กจะมีไมค์ที่ติดอยู่ที่บริเวณปลอกคอของสุนัข ส่วนเครื่องที่ใช้แปลสัญญาณเสียงนั้นจะอยู่ที่เจ้าของ ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถแยกเสียงของสุนัขได้ 6 อารมณ์ มีทั้งเสียใจ ดีใจ ฉุนเฉียว เรียกร้องต้องการ โอ่อวด และขมขู่อันตราย โดยที่อารมณ์ดังกล่าวจะแสดงออกมาเป็นถ้อยคำเช่น ฉันรู้สึกเศร้า ฉันต้องการที่จะเล่น ฉันโกรธมากๆ ฉันทนไม่ไหวแล้วนะ เป็นต้น ทางนิตยสารไทม์คิดว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นชิ้นที่เยี่ยมที่สุดในปี 2545 ในขณะที่นิตยสารแอนนวล ออฟ อิมโพรบพาเบิ้ล รีเซอร์ช นิตยสารทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐได้ให้รางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพกับเครื่องแปลเสียงดังกล่าว ในฐานะที่เครื่องสนับสนุนความปรองดองระหว่างคนกับสุนัข (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)





เล่นคอมพ์ถูก “ฟ้าผ่า” สถิติพุ่ง เตือนอย่าเสี่ยงใช้ช่วงฝนตก

ภัยยุคไฮเทค นักเล่นคอมพิวเตอร์เจอความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่เล่นคอมพ์ขณะฝนฟ้าคะนองประสบเหตุร้ายเนื่องจากฟ้า ผ่านั้น จำนวนกว่าครึ่งไม่ได้อยู่ในเขตฝนฟ้าคะนองแต่ฟ้าผ่าชุมสายโทรศัพท์แล้ววิ่งมาตามสายโทรศัพท์เข้าบ้านจากนั้นมาลงคอมพ์และเข้าสู่ตัวผู้เล่น นายกว้าน สีตะธานี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) กล่าวว่า โอกาสที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านหรือสำนักงานจะถูกฟ้าผ่ามีอยู่ระดับหนึ่ง หากเครื่องนั้นมีโมเด็มต่อกับสายโทรศัพท์ แม้ว่าเครื่องโทรศัพท์นั้นจะมีกล่องสีดำที่ทำหน้าที่ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและป้องกันฟ้าผ่าอยู่แล้ว แต่เมนบอร์ด (main board) คอมพิวเตอร์นั้นมีความละเอียดอ่อนและบอบบางเกินกว่าจะทนกับกระแสไฟฟ้าจากปรากฎการณ์ฟ้าผ่าได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาคอมพิวเตอร์จึงมีสิทธิ์เสียหายจากฟ้าผ่าได้ แม้ว่าจะปิดเครื่องอยู่ก็ตาม แต่หากกำลังเปิดเครื่องและกำลังเล่นอยู่นั้นจะเป็นอันตรายกับตัวผู้เล่นหรือไม่นั้นก็จะอยู่ที่ระบบไฟภายในบ้าน ถ้าระบบสายดินภายในบ้านทำอย่างถูกต้องก็ไม่น่าจะมีปัญหา (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2545 หน้า 18)





สั่งหน่วยราชการเปิดรั้วให้ออกกำลังกาย

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการตื่นตัว ในการสร้างสุขภาพ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานที่มีพื้นที่ทั้งในและภายนอก เช่น สนามระหว่างอาคาร บริเวณใต้ทางด่วน ฯลฯ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อการออกกำลังกาย โดย สธ. จะสนับสนุนในการจัดตั้งองค์กรประชาชน จัดหาวิทยากรและอุปกรณ์ และส่วนเจ้าของสถานที่ดูแลในส่วนการปรับปรุงสถานที่จัดทำห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาออกกำลังกาย ทั้งนี้หน่วยงานเจ้าของสถานที่สามารถของบประมาณปรับปรุงสถานที่ได้บางส่วนและขณะนี้เลขานุการคณะรัฐมนตรีได้จัดทำหนังสือเวียนไปยังสถานที่ราชาการต่างๆ ทุกแห่งทั่วประเทศให้เริ่มดำเนินการได้ทันทีแล้ว (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2545 หน้า 18)





ชุดใหม่ของนักผจญเพลิงกันได้สารพัด

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นดอตคอมรายงาน การทดสอบประสิทธิภาพของใยผ้าทอที่ใช้ทำเกราะป้องกันไฟ และอันตรายจาก อาวุธชีวภาพของนักวิจัยแห่งวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลนา สหรัฐอเมริกา ว่าจากการทดสอบโดยการให้หุ่นสวมเสื้อเกราะและจุดไฟเผาราว 30 วินาทีในห้องที่ติดกล้องและกระจกโดยรอบ พบว่าหลังจากการดับไฟแล้ว เสื้อเกราะดังกล่าวสามารถป้องกันไฟได้ผลดี ทั้งนี้ เสื้อเกราะจะไม่มีรอยต่อของผ้าหรือตะเข็บ จึงไม่มีจุดอ่อนที่จะให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคแทรกซึมเข้าไปได้ น้ำหนักที่เบาสวมใส่ง่ายจะช่วยให้การปฎิบัติหน้าที่ของนักดับเพลิงมีความคล่องตัวมากขึ้น (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





e-procurement

e-procurement หมายถึงการจัดซื้อจักจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในยุทธศาสตร์ e-government โดย ครม.มีมติ ให้หน่วยงานของรัฐใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบดังกล่าว โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ จุดประสงค์ของรัฐบาลก็คือ อยากสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ให้เข้ามาสู่ระบบประมูลของภาครัฐมากขึ้น ก่อนอื่นเจ้าของธุรกิจ บรรดาเถ้าแก่ทั้งหลายด้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี เรียนรู้ระบบคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต จึงจะก้าวสู่การประมูลออนไลน์ได้ ที่ผ่านมาการประมูลงานของราชการ เจ้าหน้าที่ต้องทำเอกสารมากมายหลายสิบชุด กว่าจะประมูลได้แต่ละอย่าง หากใช้วิธีใหม่จะช่วยลดขั้นตอนงานเอกสาร และขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





เชียงราย เมืองส้มปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้การสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกส้มปลอดสารพิษในปี ที่ผ่านมา พบว่าสามารถลดการใช้สารเคมีในสวนส้มลงได้ เกษตรกรผู้ได้รับการถ่ายทอดก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่าง เช่น สวนส้มของคุณประกาศ ปาณะที ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเดิมสวนส้มของคุณประกาศมีผลผลิตประมาณ 5 ตันต่อปี แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นสวนส้มปลอดพิษแล้ว ก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นรวมเป็น 32 ตัน นอกจากนี้ยังใช้วิธีนำกระป๋องทากาวดักแมลงวันทองมาแขวนไว้ตามต้นส้ม เพื่อคอยดักแมลงวันทองไม่ให้มารบกวนต้นส้ม ร่วมกับการนำลูกเหม็นใส่ถุงแขวนตามต้นส้มเพื่อให้กลิ่นเหม็นของลูกเหม็นช่วยไล่แมลงต่างๆ ไม่ให้มารบกวนต้นส้ม วิธีการเหล่านี้จะทำให้ผลส้มที่ได้มีรสหวานมากกว่าที่เคยใช้สารเคมี ที่สำคัญที่สุดคือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดแมลง และเกษตรกรเองก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องสารตกค้างในร่างกายอีกต่อไป (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2545 หน้า 35)





จีนเนื้อเต้นโคลนนิ่งแพนด้า ฝ่าด่านหาสัตว์ฝากครรถ์

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างคำกล่าวของนายเฉียน ดาบวน นักวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยว่าโครงการโคลน นิ่งหมีแพนด้าของเขาและคณะใกล้เป็นรูปธรรมแล้ว หลังจากได้ขจัดอุปสรรคหลักสองประการของกระบวนการโคลนนิ่งหมีแพนด้าได้แก่ วิธีสร้างตัวอ่อน และการหาสัตว์ฝากครรภ์ตัวอ่อนโคลนนิ่งโดยกระบวนการสร้างตัวอ่อนนั้น เขาและคณะได้รังไข่ของกระต่ายฝากครรภ์ตัวอ่อนหมีแพนด้าโคลนนิ่งในขั้นเริ่มต้นและจะใช้หมีซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายหมีแพนด้าเป็นสัตว์ฝากครรภ์จนอ่อนดังกล่าวเติบโตถึงขั้นระยะเจริญพันธุ์ก่อนจะนำไปไว้ในหมีแพนด้าเพศเมียที่คัดเลือกไว้ ซึ่งคาดว่าเทคนิคนี้จะช่วยให้การโคลนนิ่งหมีแพนด้าดังกล่าวประสบความสำเร็จ (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215