|
หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 2002-12-03
ข่าวการศึกษา
กษมา เริ่มเดินหน้าปรับปรุง วิธีการรับนักเรียน ม.1 ปี 46 ทปอ. ยืนยันเดินหน้าดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ชี้ไม่ขัด พ.ร.บ.การศีกษาฯไม่หวั่น ปอมท. คัดค้าน GLOBE เสริมทักษะครูสอนสิ่งแวดล้อม
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เทคโนชีวภาพสร้างกุหลาบสีน้ำเงิน พินิจยุบโครงการดาวเทียมธีออส กรุเวลา พจนานุกรมมือถือคว้าแชมป์ ดีจูซ อวอร์ด 2
ข่าววิจัย/พัฒนา
ที่นอนป้องกันแผลกดทับ อุปกรณ์กันขโมย ฟาร์มเลี้ยงตัวอ่อนหอยมุกไฮเทค การบำบัดน้ำเสียโดยใช้บึงประดิษฐ์ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
ข่าวทั่วไป
สวนภูเขาแห่งแรกในกรุงใช้งบ 18 ล้าน เนรมิตกองขยะ ญี่ปุ่นนิยมเทคโนโลยีนำทางขับรถ คำขวัญวันเด็กปี 46 เรียนรู้ตลอดชีวิตคิดอย่างสร้างสรรค์ก้าวทันเทคโนโลยี คนเก่งราชมงคลคว้าตำแหน่งกุ๊กอาเซียน
ข่าวการศึกษา
กษมา เริ่มเดินหน้าปรับปรุง วิธีการรับนักเรียน ม.1 ปี 46
ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษา (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคมมอบหมายให้ ศธ.ไปปรับปรุงแนวทางการรับนักเรียน ม.1 ในสังกัดกรมสามัญศึกษา ซึ่งนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการก็เห็นด้วยว่า เรื่องนี้ได้คิดกันมานาน ตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาแล้ว เพราะมีเสียงเรียกร้องว่าบางจังหวัดที่มีโรงเรียนยอดนิยม 1-2 โรงน่าจะเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้นไม่ใช่สงวนไว้ว่าต้องเป็นเด็กใกล้โรงเรียนเท่านั้น ตนจึงได้มอบให้ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดไปทำประชาพิจารณ์ในจังหวัดว่าหากจะมีการเพิ่มสัดส่วนการสอบในโรงเรียนใดทางจังหวัดจะต้องยืนยันได้ว่าจะมีโรงเรียนอื่นที่รองรับเด็กทั่วไปให้เข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบด้วย การรับนักเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้สอบอย่างเป็นธรรมแต่ก็ต้องรองรับคนไม่เก่งให้ได้เรียนในพื้นที่โดยที่ไม่ต้องสอบด้วย เพราะโรงเรียนไม่ใช่สำหรับเด็กเก่งเท่านั้นแต่เป็นสถานที่สำหรับเด็กทุกคน อย่างไรก็ตามเท่าที่ฟังผู้บริหารในจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเพิ่มสัดส่วนการสอบเพราะเกรงว่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจะดูดเด็กเก่งไปหมดในขณะที่วิธีการรับอยู่ในปัจจุบันสามารถกระจายเด็กเก่งไปตามโรงเรียนต่างๆ ได้ แต่สำหรับผู้ปกครองส่วนใหญ่กลับอยากให้เพิ่มสัดส่วนการสอบมากขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้กรมสามัญศึกษาจะต้องไปติดตามต่อไปว่าจะมีการปรับปรุงแนวทางการรับนักเรียนหรือไม่อย่างไร ปลัด ศธ. กล่าว ด้านนายไพฑูรย์ จัยสิน อธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่าโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับวิธีการรับนักเรียนที่จะให้เพิ่มสัดส่วนของการสอบเพื่อรับการคัดเลือกเข้าโรงเรียนดังๆ เพราะที่ผ่านมาการจำกัดสัดส่วนการสอบทำให้เด็กเก่งๆ ที่อยู่นอกพื้นที่โรงเรียนดังต้องเสียโอกาส ตนจะเรียกประชุมผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯที่นักเรียนมีความต้องการเข้าเรียนจำนวนมาก เพื่อร่วมกับวางแผนการรับนักเรียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการสอบเข้าด้วย
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 14)
ทปอ. ยืนยันเดินหน้าดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ชี้ไม่ขัด พ.ร.บ.การศีกษาฯไม่หวั่น ปอมท. คัดค้าน
รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหาการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ ซึ่งตนได้ชี้แจงถึงปัญหาความไม่เข้าใจในหลักการรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งได้แก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว ส่วนเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทางกระทรวงการคลังได้รับหลักการที่จะให้ข้าราชการที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยยังคงมีสิทธิในกองทุนได้ต่อไป รศ.ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวให้ทบทวนการออกนอกระบบ และให้อธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยแจ้งผลให้ทราบภายใน 7 วันไม่เช่นนั้นจะฟ้องดำเนินคดีในฐานะเจ้าพนักงานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ว่า ก็ให้ ปอมท.เคลื่อนไหวไป แต่คิดว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของทปอ. ที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และในส่วนของ มมส.ก็มีคำตอบให้กับปอมท. ไปแล้วว่าจะไม่ดำเนินการตามที่ ปอมท. เรียกร้องและหากจะฟ้องดำเนินคดีก็ให้ฟ้องไป (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 14)
GLOBE เสริมทักษะครูสอนสิ่งแวดล้อม
GLOBE ย่อมาจาก Global Learning and Observation to Benenfit the Environment เป็นโครงการสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ที่ต้องการให้นักเรียน ครู และชุมชนทั่วโลก ร่วมกันศึกษาค้นคว้าสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทำความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้ โดยให้ครู-อาจารย์ และนักเรียนมีส่วนร่วมในการทำวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน อากาศ และติดต่อ สื่อสารกันระหว่างโรงเรียนในโครงการผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 ถือเป็นสมาชิกลำดับที่ 85 โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือที่รู้จักในนาม สสวท. เป็นหน่วยงานกลางในการประสารงาน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งจาก 98 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก และล่าสุดได้จัดกิจกรรม การศึกษาค้นคว้าตามโครงการ GLOBE ขึ้นที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นความร่วมมือพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระหว่าง สสวท. กับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร หลังจากการอบรมครั้งนี้แล้ว ครูกลุ่มนี้จะนำไปสานต่อโดยจัดกิจกรรม GLOBE ในโรงเรียน เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนรักสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และตระหนักถึงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมในองค์รวม เพราะโลกไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งขอเพียงทุกคนร่วมกัน พิทักษ์ปกป้องโลก อาจจะแตกต่างกันตรงที่วิธีการ แต่ความตั้งใจนั้นเหมือนกัน สำหรับคุณครูและผู้สนใจรายละเอียดของโครงการ GLOBE สามารถค้นคว้าได้ที่ เว็บไซต์ www.ipst.ac.th หรือสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สสวท.924 ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กทม. 10110 โทร 0-2392-4021 ต่อ 1124
(สยามรัฐ วันเสาร์ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 7)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เทคโนชีวภาพสร้างกุหลาบสีน้ำเงิน
สำนักข่าวเอพีรายงานความคืบหน้าในการใช้เทคโนโลยีในการค้นหายีนสร้างกุหลาบสีน้ำเงินกว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยต่างสนใจใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการค้นหายีนสร้างกุหลาบสีน้ำเงินกันมาก เนื่องจากการค้นหายีนสร้างกุหลาบสีน้ำเงินเป็นเรื่องยากและหากทำได้ก็จะเป็นการกระตุ้นตลาดดอกไม้ให้คึกคักมากกว่าเดิม ซึ่งมีการส่งกุหลาบขายทั่วโลกถึงปีละ 10 ล้านดอก ใน 120 สายพันธุ์ รายงานข่าวแจ้งว่า นักวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอบลิทที่แคลิฟอร์เนีย ได้ใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับการสร้างดอกกุหลาบสีน้ำเงินมานานถึง 5 ปีแล้ว โดยพยายามนำเอนไซม์ที่ได้จากโปรตีนในตับมนุษย์ใส่เข้าไปในดอกกุหลาบ เพื่อสร้างดอกกุหลาบสีน้ำเงินเนื่องจากเอนไซม์ที่ผลิตได้จากยีนของมนุษย์มีสีน้ำเงินแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ นอกจากการค้นหาสีน้ำเงินของดอกกุหลาบแล้ว รายงานข่าวระบุว่า นักวิจัยยังพยายามที่จะค้นหายีนที่ลดหนามของกุหลาบและยีนกลิ่นหอมของกุหลาบด้วย
(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2545 หน้า 37)
พินิจยุบโครงการดาวเทียมธีออส
นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ สทอภ.ได้เสนอโครงการสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ (ธีออส) ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท หลังจากได้สั่งให้ทาง สทอภ. กลับไปทบทวนและทำการเปรียบเทียบการสร้างดาวเทียมธีออสกับการเป็นตัวแทนติดต่อรับสัญญาณดาวเทียมมาขายให้กับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าแบบไหนประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงกว่ากัน นายพินิจกล่าวว่าการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก เพื่อใช้ภายในประเทศมูลค่า 3,000 ล้านบาท อาจไม่คุ้มกับการลงทุน และอาจไม่ได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่การเป็นตัวแทนมีโอกาศเลือกดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพและรายละเอียดสูงกว่าการจัดส่งเอง ทั้งยังใช้งบในการลงทุนน้อยกว่า จึงคิดว่าควรที่จะล้มเลิกโครงการนี้ไป เพื่อประหยัดงบของชาติ
(เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 16)
กรุเวลา
อาจารย์ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เสนอของบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อสร้าง Time Machine หรือกรุเวลา เพื่อบรรจุข้อมูลเอกสาร หลักฐานต่างๆ ทางดาราศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์จนถึงปัจจุบัน แล้วรอให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานมาเปิดในปี พ.ศ.2613 สาเหตุที่ต้องเปิดในปีนั้น ก็เนื่องมาจากในปีดังกล่าว หรืออีก 68 ปีข้างหน้านับจากนี้ เราจะเห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ เหมือนที่เห็นเมื่อปี พ.ศ.2538 นั่นคือ สุริยุปราคาเต็มดวง หรือสุริยคราส ซึ่งท่านอาจารย์ ดร.ขาว เหมือนวงศ์ ท่านคำนวณไว้ว่า เราจะดูได้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงทางใต้ สมาคมดาราศาสตร์จึงอยากเก็บข้อมูลสำคัญนี้เอาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา และเปรียบเทียบวันเวลาที่ผ่านมา เราจะได้รู้ว่าเมืองไทยในอีก 68 ปีข้างหน้าเปลี่ยนไปอย่างไร (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 16)
พจนานุกรมมือถือคว้าแชมป์ ดีจูซ อวอร์ด 2
DJUICE DOT AWARD DAY 2 โครงการประกวดแอพพลิเคชั่นมือถือรอบชิงชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา ซึ่งในปีที่ 2 นี้ ครอบคลุม เรื่อง JAVA, SMS, และ WAP ผลงานความคิดสร้างสรรค์ที่โดนใจคณะกรรมการ และผู้จัดโครงการที่สุด ต้องยกให้ทีม NK2B นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 จากรั้วจามจุรีเจ้าของโปรแกรม Thai Powered ที่โชว์ไอเดียแฝง สาระสุดเจ๋งให้คณะกรรมการต้องทึ่ง และเทคะแนนให้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 หนุ่ม คือ นายสงกรานต์ จารุสิริสวัสดิ์, นายวโรรส โรจนะ, นายเธียรรุจ ธรณวิกรัย และนายปรัชญา กมล Thai Powered ว่ามีโปรแกรมหลักเป็นพจนานุกรมฉบับมือถือไทย-อังกฤษ/ อังกฤษ-ไทย โดยใช้เทคนิคการสร้างโปรแกรมย่อยเขียนภาษาขึ้นมาเอง ใช้ชื่อว่า ThaiCanvas ซึ่งหมายถึงกระดานภาษาที่สำคัญขณะแสดงผลหน้าจอสามารถขยายอักษรได้ถึง 2 เท่า และอนาคตยังสามารถพัฒนาต่อเพื่อรองรับภาษาอื่นได้ เช่น ญี่ปุ่น จีน และฝรั่งเศส (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 16)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ที่นอนป้องกันแผลกดทับ
นายแพทย์วันชัย มานุกิจศิริสุทธิ ศัลยแพทย์โรงพยาบาลกำแพงเพชร คิดประดิษฐ์ ที่นอนป้องกันแผลกดทับ ใช้กับผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยชราภาพ เคลื่อนไหวตัวเองได้น้อยราคาถูก น้ำหนักเบา สะดวกพกพาใช้ได้ทุกสถานที่ไม่ต้องพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง ใช้วัสดุในประเทศ ซ่อมแซมง่ายเมื่อชำรุด (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2545 หน้า 37)
อุปกรณ์กันขโมย
ชื่องานประดิษฐ์ชิ้นนี้ คือ อุปกรณ์ล็อกก้านแป้นคลัตช์ และ/ หรือก้านแป้นเบรก ซึ่งเป็นผลงานของ วิสิษฐ ทักษไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสิษฐล็อค เทคโนโลยี 2001 จำกัด อุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ที่ใช้กันในระบบเดิม คือ ไม้เท้า/ระบบแมคคานิค เท่าที่สังเกตดูคิดว่าน่าจะใช้ไม่ค่อยดี จึงคิดปรับปรุง เริ่มต้นด้วยการศึกษาพฤติกรรมของคนใช้ พบว่าคนขับรถต้องการลักษณะที่สะดวก / ปลอดภัย/ ไม่ทำลายรถ/ สามารถถอดได้เมื่อไม่ต้องการใช้ และตำแหน่งที่ดีในการติดตั้ง ในที่สุดจึงค้นพบตำแหน่งที่ล็อกกันขโมยได้ คือ ก้านคลัตช์ และ/ หรือ ก้านเบรก ได้ทำการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
(เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2545 หน้า 30)
ฟาร์มเลี้ยงตัวอ่อนหอยมุกไฮเทค
ฟาร์มเลี้ยงตัวอ่อนหอยมุกไฮเทคผลงานของ สุรัตน์ เกษมบุญศิริ, เอกรินทร์ เกียรติเจริญศักดิ์ และสรชัย ปิติยาศักดิ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นโครงงานวิศวกรรมดีเด่น และคว้ารางวัล Industriai Awaed for Outstanding Project ประจำปี 2545 จากบริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (สยามรัฐ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 7)
การบำบัดน้ำเสียโดยใช้บึงประดิษฐ์ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) จึงร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยการสนับสนุนของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติได้วิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาเปรียบเทียบระบบบำบัดน้ำเสียแบบสระเติมอากาศ (Aerated Lagoons) กับการบำบัดน้ำเสียโดยใช้บึงประดิษฐ์ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด โครงการบึงประดิษฐ์นี้ใช้ปฏิกิริยาทางชีวภาพ อาศัยพืชน้ำต่างๆ จากการทดลองพบว่าบึงประดิษฐ์แบบไหลแนวดิ่งมีประสิทธิภาพในการบำบัดค่อนข้างสูงสามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรม และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำกว่าการบำบัดแบบเติมอากาศ
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2545 หน้า 37)
ข่าวทั่วไป
สวนภูเขาแห่งแรกในกรุงใช้งบ 18 ล้าน เนรมิตกองขยะ
นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่าตนมีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ของ กทม. ขนาด 50 ไร่ บริเวณถนนรามอินทรา เพื่อสร้างสวนสาธารณะและสนามกีฬาแห่งใหม่ของ กทม. ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอดีตเคยเป็นสถานที่ทิ้งขยะของสำนักรักษาความสะอาด โดยปัจจุบันซากกองขยะขนาดใหญ่สูงกว่า 10 เมตร ได้ย่อยสลายและแปรสภาพเป็นภูเขาดิน ไม่มีซากขยะและกลิ่นเหม็นหลงเหลืออยู่ ภายหลังที่สำนักรักษาฯ ย้ายไปทิ้งขยะแห่งอื่น สำนักสวัสดิการสังคมได้เข้าปลูกไม้ยืนต้น ทั้งบริเวณพื้นราบและบนภูเขา จนขณะนี้ต้นไม้มีขนาดโตเต็มที่แล้ว ส่าสุดสำนักสวัสดิการสังคมได้เริ่มปรับภูมิทัศน์เพื่อทำเป็นสาธารณะ โดยใช้ชื่อว่า สวนภูเขา ตามลักษณะพื้นที่ พรัอมกำหนดให้ก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬารามอินทรา ประกอบด้วย สนามกีฬาหลายประเภท อาทิ สนามฟุตบอล สนามตะกร้อ โดยในต้นปี 2546 จะประกวดราคาเพื่อหาบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างสระว่ายน้ำ และติดตั้งระบบสาธารณูปโภค ทั้งนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในช่วงปลายปี 2546 เป็นต้นไป
(เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2545 หน้า 34)
ญี่ปุ่นนิยมเทคโนโลยีนำทางขับรถ
ปัจจุบันรถยนต์ส่วนตัวของคนญี่ปุ่นจะติดตั้งระบบจีพีเอส หรือระบบแผนที่นำทางในการขับรถ แทนที่จะกางแผนที่กระดาษเปิดดูเหมือนแต่ก่อน โดยระบบจีพีเอสซึ่งใช้ดาวเทียมนำร่องจะบอกถึงขนาดที่ว่าเส้นทางใดควรเดินทางในตอนนี้ มีปัญหาจราจรหรือไม่ มีอุบัติเหตุหรือไม่ เพื่อให้หลีกเลี่ยง หรือการค้นหาเส้นทางในการเดินทาง หากเราไม่ทราบว่าจะไปอย่างไร เนื่องจากทุกเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงเร่งด่วน เช้า-เย็นมีปัญหารถติดหนักเหมือนบ้านเรา สำหรับราคาของระบบจีพีเอส ตกประมาณ 2 แสนเยน หรือเป็นเงินไทยราว 7 หมื่นบาท โดยจะติดตั้งในรถได้ทุกประเภท นอกจากเป็นระบบนำร่องแล้ว ยังทำหน้าที่คล้ายกล่องดำที่ติดไว้กับเครื่องบินจะบันทึกทุกอย่างที่รถคันดังกล่าวได้กระทำไว้ ทั้งเส้นทาง ความเร็ว จุดหมายปลายทาง พิกัดของรถ ทั้งนี้บริษัทเอกชน โดยเฉพาะที่ประกอบกิจการขนส่งสินค้าจะนิยมใช้ระบบจีพีเอสอย่างมาก เนื่องจากทางการจะตรวจสอบการทำงานของคนขับ รวมถึงพิกัดของรถได้ตลอดเวลา
(เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 34)
คำขวัญวันเด็กปี 46 เรียนรู้ตลอดชีวิตคิดอย่างสร้างสรรค์ก้าวทันเทคโนโลยี
คำขวัญวันเด็กแห่งชาติปี 2546 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แก่ เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี , คำขวัญของนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ได้แก่ ใฝ่หาความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่ชีวิตที่ดี และคำขวัญของ ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดศธ.คือ เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคม
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)
คนเก่งราชมงคลคว้าตำแหน่งกุ๊กอาเซียน
จากการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 4 ณ จาการ์ตา อินเตอร์เนชั่นแนลเทรด เซ็นเตอร์ (JITC) ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ ชัยวัฒน์ แดงสังวาลย์ นักศึกษาสาขาอาหารและโภชนาการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง และประกาศนียบัตรรับรองของการผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับอาเซียน ประเภทการปรุงอาหารตะวันตก (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 7)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|