หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 2003-01-14

ข่าวการศึกษา

สปช. รุกจัด “ห้องสมุดครอบครัว”
อัดปฏิรูปอุดมศึกษาในกำมือ ทปอ. ไม่มีความคืบหน้า
ศธ. ฟังความเห็นชาวบ้านก่อนปรับปรุงการสอบเอนทรานซ์
ศธ.เพิ่มทางเลือกรับ ม.1 สูตร 60:30:10
เผยพ่อแม่-นร. อยากให้สอบเอ็นทรานซ์ ดันหน่วยงานกลางคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย
“ทักษิณ” หนุนสถาบันแม่พิมพ์ ทุ่มเงินร้อยล้านฝึก “ป.วช.- ป.วส.”
สสวท. พัฒนาวิทย์คณิตหนุนทุนวิจัยมหาบัณฑิต
สมัชชาเด็กสับสนปฏิรูปฯงงเอนทรานซ์ระบบใหม่
ทบวงฯ รับสมัครนักศึกษาเรียนรู้ร่วมกันรุ่นที่ 2
กรมการศึกษานอกโรงเรียนผลิตหนังสือส่งเสริมการอ่าน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ไปผจญภัยในเส้นเลือด
ผู้นำชาติมหาอำนาจของโลกตกใจ ให้รีบปิดประตูกั้นมนุษย์โคลนนิง
เทคโนโลยีความปลอดภัย
นักวิทยาศาสตร์คลำพบต้นตอความแก่ชราของมนุษย์และสัตว์
น้ำสกัดชีวภาพและพืชน้ำ แก้ปัญหามลพิษในตู้เลี้ยงปลา
เตรียมผลิตมือถือรีไซเคิลลดปัญหาขยะ
เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่หลายราย ตกลงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ง่ายขึ้นภายในปี พ.ศ.2548 ทั้งนี้ความตกลงดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ที่นครเจนีวาเพื่อแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เวสท์ การประชุมดังกล่าวให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยวิธีการที่ไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มักจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตกรุ่นหรือล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่การนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ได้กลายเป็นธุรกิจมูลค่าสูง โดยเฉพาะการขูดลอกทองคำ ทองแดง และโลหะมีค่าอื่นๆ ออกจากอุปกรณ์เหล่านี้ แต่ปัญหาสำคัญคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สร้างขึ้นจากการรวมตัวกันของโลหะและพลาสติดอย่างซับซ้อน ดังนั้น การพยายามขูดลอกโลหะมีค่าออกจากอุปกรณ์เหล่านี้จึงกลายเป็นงานที่อันตราย เพราะผู้ดำเนินการจะต้องเสี่ยงกับสารพิษอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
อุปกรณ์ครอบลูกบิด
เครื่องสกัดสารระเหยที่ชัยนาท ทำง่าย ราคาต่ำ ประสิทธิภาพสูง

ข่าววิจัย/พัฒนา

ใช้วิธีฝังเข็มเก่าแก่ 2พันกว่าปีของจีน กลับช่วยผู้หญิงให้มีลูกได้ง่ายขึ้น
ระวัง ! กะทิสำเร็จรูป กรดไขมันอิ่มตัวสูง
สกว. เจียระไนเพชร ส่งเสริมสร้างนักวิจัย
ชุดตรวจโรคฉี่หนูงานวิจัยเด่นปี 45 ของ สกว.

ข่าวทั่วไป

จีนปลื้มรถไฟเหาะเร็วสุดในในโลกสายแรก





ข่าวการศึกษา


สปช. รุกจัด “ห้องสมุดครอบครัว”

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดโครงการให้ปีการศึกษา 2546 เป็น “ปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้” นั้น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) มีนโยบายส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนในสังกัดให้มีห้องสมุดหรือมุมหนังสือ และจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่ปี 2525 ได้สรุปผลสำเร็จในการจัดกิจกรรมดังกล่าวจากโรงเรียนทั้งสิ้น 30,228 แห่ง คือ ประเภทของห้องสมุด มีโรงเรียนที่จัดเป็นอาคารเอกเทศได้ 10.5% ห้องสมุดที่มีขนาด 3 ห้องเรียน 0.05% ขนาด 2 ห้องเรียน 10.64% ขนาด 1 ห้องเรียน 72.04% ขนาดเล็กกว่า 1 ห้องเรียน 2.85% มุมหนังสือหรืออื่นๆ 4.1% จำนวนหนังสือในห้องสมุดต่อจำนวนนักเรียน มากกว่า 10 เล่มต่อคน 2.5% จำนวน 10 เล่มต่อคน 4.92% จำนวน 7 เล่มต่อคน 32.58% และจำนวน 5 เล่มต่อคน 60% และวิธีการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดนั้น โรงเรียนได้ตั้งกรรมการขึ้นจัดซื้อถึง 89% ร่วมกับอำเภอจัดซื้อ 9% และโรงเรียนอำเภอ จังหวัดร่วมกันจัดซื้อ 2% นับได้ว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2546 หน้า 20)





อัดปฏิรูปอุดมศึกษาในกำมือ ทปอ. ไม่มีความคืบหน้า

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าในการประชุมติดตามผลการปฏิรูปอุดมศึกษาในวันที่ 10 ม.ค. ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายารัฐมนตรีจะมาเป็นประธานนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการปฏิรูปอุดมศึกษาระหว่างนักการเมือง ผู้บริหาร และคณาจารย์ในแวดวงการอุดมศึกษา แต่ตนอยากเสนอแนะว่าในการประชุมควรให้บุคคลวงการอื่นเข้าร่วมด้วยเพื่อสะท้อนมุมมองอุดมศึกษามากกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่าการปฎิรูปอุดมศึกษาที่ผ่านมากระจุกอยู่แต่เฉพาะกลุ่มของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จนกลายเป็นนโยบายประเภทสองที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่มีความสัมพันธ์ในการแก้ไขวิกฤติอุดมศึกษาที่แท้จริง ส่วนแผนการอุดมศึกษา 15 ปี ก็เป็นแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติค่อนข้างยาก จึงทำให้วิกฤติอุดมศึกษาเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ และไม่มีใครเอาใจใส่เท่าที่ควร (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 11)





ศธ. ฟังความเห็นชาวบ้านก่อนปรับปรุงการสอบเอนทรานซ์

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าตนได้หารือกับนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการและรักษาการ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแก้ไขปัญหาการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาเพราะถ้าไม่ปรับปรุงการสอบเอนทรานซ์แล้ว การปฏิรูปการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยในวันที่ 7 ม.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีจะมาประชุมร่วมกับคณะกรรมการปรับปรุงระบบเอนทรานซ์โดยจะนำผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับแนวทางการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้มาประกอบการพิจารณาด้วย (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 11)





ศธ.เพิ่มทางเลือกรับ ม.1 สูตร 60:30:10

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว่า สำหรับชั้น ม.1 ของโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สปช. ให้รับในเขตบริการ หากที่นั่งเหลือให้รับนอกเขตได้ กรณีมีผู้สมัครเกินให้จับสลากหรือคัดเลือกวิธีที่เหมาะสม ส่วนเด็กที่ไม่มีที่เรียนให้ประสานกับสหวิทยาเขตหรือโรงเรียนใกล้เคียงให้รับเด็กทุกคน ส่วนชั้น ม.1 โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษามี 2 แนวทางให้คณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาเลือกได้ คือรูปแบบที่ 1 ใช้ระบบ 70:30 เช่นเดิม โดยรับในเขตพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 60% สอบคัดเลือกทั่วไปไม่เกิน 30% และคัดเลือกนักเรียนนอกเขตพื้นที่บริการอีก 10% เพื่อให้เด็กนอกเขตมีโอกาสเข้าเรียนด้วย โดยอาจพิจารณารับจากวิธีจับสลาก ดูผลการเรียนดี จัดสอบเด็กทั้งในและนอกเขตพื้นที่บริการ และรับเด็กยากจนและด้อยโอกาสตามโควตา “ในกรณีการจับสลาก 70% หรือ 60% นั้นปีนี้ จะให้โรงเรียนต่างๆ ในสหวิทยาเขตเดียวกันร่วมกันดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กทุกคนมีที่เรียนในวันจับสลากเลย ต่างจากที่ผ่านมาที่เด็กบางคนจับสลากไม่ได้ก็ต้องรอหาที่เรียนด้วยวิธีการอื่น ทั้งนี้หากโรงเรียนที่เด็กจับสลากได้แล้วไม่พอใจก็สามารถขอสละสิทธิได้ภายหลัง” นางสิริกล่าว และสำหรับการรับนักเรียนชั้น ม.4 ให้รับเด็กจาก ม.3 โรงเรียนเดิมทั้งหมด หากที่นั่งเหลือให้รับจากเด็กโรงเรียนอื่นด้วยวิธีสอบคัดเลือกไม่น้อยกว่า 70% โควตาไม่เกิน 20% และผู้มีความสามารถพิเศษหรือผู้มีอุปการคุณไม่เกิน 10% ส่วนโรงเรียนที่เปิดสอนด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียน 2 ภาษา ฯลฯ ให้เปิดรับเด็กทั่วไป ส่วนเด็กพิการ ด้อยโอกาส หากสมัครเข้าเรียนโรงเรียนปกติทั่วไปให้รับไว้ก่อน แต่ถ้าเรียนร่วมไม่ได้ให้ประสานส่งต่อโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนการศึกษาพิเศษหรือโรงเรียนพิการอื่นๆ ต่อไป (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2546 หน้า 15)





เผยพ่อแม่-นร. อยากให้สอบเอ็นทรานซ์ ดันหน่วยงานกลางคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าจะมีการประชุมเพื่อหาข้อยุติเรื่องระบบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย โดยในเบื้องต้นทั้งตนและนายปองพลเห็นตรงกันว่าจะต้องรีบตั้งสำนักทดสอบกลางแห่งชาติ เพื่อหลอมรวมทบวงฯ กรมวิชาการเข้าด้วยกัน และปรับปรุงรูปแบบการวัดผลประเมินผลระดับชาติทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างออกข้อสอบ สร้างความเครียดให้กับเด็ก นอกจากการเปลี่ยนรูปแบบการวัดผลประเมินผลทั้งระบบแล้ว ลักษณะข้อสอบก็ควรเปลี่ยนให้หลากหลายและหากทำได้เด็กก็ไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ แต่จะมาดูเรื่องจีพีเอ กับพีอาร์แทน และในอนาคตตนเห็นว่าอาจจะยกเลิกพีอาร์ก็ได้ และผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองเกี่ยวกับแนวทางการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต โดยการสำรวจของเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 79.3% ยังไม่ทราบเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการและเห็นควรให้มีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ขณะที่ 20.1% เห็นว่าไม่ควรมีการสอบ เพราะเป็นการสร้างความเครียดแก่เด็ก ควรใช้วิธีการจับฉลากหรือใช้คะแนนสะสมจากการเรียน นอกจากนี้ผู้ปกครอง 88.7% ยั งเห็นว่าควรจะนำผลการสอบสัมฤทธิ์ใน 5 กลุ่มวิชามาใช้ประกอบการเอ็นทรานซ์ เพราะเป็นวิชาพื้นฐานในการสร้างความรู้ ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบเอ็นทรานซ์มาเป็นระบบกลางคัดนิสิตนักศึกษา (แอดมิชชั่น) นั้น มีผู้ปกครองไม่ทราบ 82.9% ส่วนการนำผงการพัฒนาการในการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกนั้น ผู้ปกครองเห็นด้วย 92.6% และ 53.9% เห็นว่าควรให้หน่วยงานกลางระดับชาติทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา อีกทั้งนำระบบแอดมิชชั่นมาใช้ในปีการศึกษา 2548 (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 15)





“ทักษิณ” หนุนสถาบันแม่พิมพ์ ทุ่มเงินร้อยล้านฝึก “ป.วช.- ป.วส.”

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนเพื่อที่จะมาหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้มแข็งเพราว่าถ้าภาคเอกชนเข้มแข็งจะมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ได้หารือกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์หรือภาษาอังกฤษเรืยกว่า Mold คือการทำปั๊มพลาสติก ปั๊มตัวถังรถยนต์อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ผลิตในประเทศได้เพียง 3-4% แต่นำเข้าปีหนึ่งถึงสองหมื่นสองพันล้าน และแนวโน้มจะต้องเข้าถึงห้าหมื่นล้าน สมควรที่ในประเทศต้องพัฒนา สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เรื่องการพัฒนาบุคลากรไม่เป็นระบบจริงๆ เพราะสามารถนำเด็กที่จบ ป.วช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) และ ป.วส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) มาฝึกต่อสักปีสองปี สามารถทำงานได้อย่างดี เพราะฉะนั้นต้องตั้งศูนย์ฝึกขึ้นมา ส่งเสริมเรื่องของการใช้เครื่องมือเทคนิคที่ทันสมัย รัฐบาลรับหลักการที่จะสนับสนุนตั้งสถาบันแม่พิมพ์ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จะให้เงินสนับสนุนเป็นระดับร้อยล้านเพื่อจะให้เข้มแข็ง มีการฝึกพัฒนาคน คนจะมีงานทำมีรายได้ดีขึ้น (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2546 หน้า 11)





สสวท. พัฒนาวิทย์คณิตหนุนทุนวิจัยมหาบัณฑิต

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่าสถาบันมีความประสงค์จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทำการวิจัยหรือศึกษาค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษาและคอมพิวเตอร์ เพื่อนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและพัฒนาการศึกษาด้านการเรียนการสอนในสาขาวิชาดังกล่าว ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจะจัดสรรทุนอุดหนุนสำหรับการค้นคว้าหรือวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ โดยจัดทุนสนับสนุนทุนละไม่เกิน 25,000 บาท หรือตามความพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการ ผอ.สสวท.กล่าวต่อว่าสำหรับผู้มีสิทธิ์รับทุนนั้นต้องเป็นนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโท และเอก ที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันได้อนุมัติให้ทำวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ส่วนเอกสารประกอบการขอรับทุน ประกอบด้วยแบบเสนอขอรับทุนอุดหนุนการวิจัย (วท.1) 3 ชุด สรุปเค้าโครงวิทยานิพนธ์ (วท.2) 3 ชุด สำเนาโครงการที่จะได้รับอนุมัติจากบัณฑิตศึกษาประจำคณะ/บัณฑิตวิทยาลัยแล้ว 3 ชุด สำเนาประกาศบัณฑิตวิทยาลัย การได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ 1 ชุด และสำเนาบัตรประจำตัวนักศึกษา 1 ชุด ทั้งนี้นิสิต นักศึกษาที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2392-4021 ต่อ 2304, 0-2712-3603 หรือที่ www.ipst.ac.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2546 (สยามรัฐ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 7)





สมัชชาเด็กสับสนปฏิรูปฯงงเอนทรานซ์ระบบใหม่

จากเวทีเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปการเรียนรู้ : สู่สุขภาวะของเด็กและเยาวชนไทย” ที่ ร.ร.บ้านคลองบัว (เอี่ยมแสงโรจน์) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์ น.ส.ชุติมา โอภาสเจริญพร ตัวแทนเยาวชนจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ เพราะคิดว่าครูสั่งให้ทำแต่โครงงานโดยไม่สอนอะไร จึงเข้าใจว่าการปฎิรูปฯไม่ใช่ของดี แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งทั้งครูและนักเรียนปรับตัว มีการบอกแนวทางการทำงาน ซึ่งครูจะติดตามให้คำแนะนำทำให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็นต่อเนื่องจนถึงระดับอุดมศึกษา และตนคิดว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ควรเริ่มตั้งแต่ประถม โดยครูต้องมีความเข้าใจและเด็กก็ควรรวมกลุ่มกันสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปัญหาต่างๆ โดยมีครูและผู้ใหญ่สนับสนุนเพราะที่ผ่านมามีแต่ผู้ใหญ่คิดแทนเด็ก ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าประเทศไทยต้องยกเลิกระบบเอนทรานซ์และใช้ระบบแอดมิชชั่นที่แท้จริง แต่แอดมิชชั่นที่ทบวงมหาวิทยาลัยและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอไม่ไช่แอดมิชชั่นที่แท้จริง เป็นระบบเอนทรานซ์ที่ยิ่งฆ่าเด็ก ที่สำคัญผลการสำรวจความเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองของทบวงฯพบว่า ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจแอดมิชชั่น ดังนั้นตนอยากให้นายกฯเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับการสอบเอนทรานซ์ไปก่อน ไม่ควรตัดสินใจในวันที่ 10 ม.ค.นี้และทำการประชาพิจารณ์ให้กว้างขวาง นอกจากนี้ผลของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี จะทำให้มีเด็กไม่น้อยกว่า 12-13 ล้านคนเข้าสู่อุดมศึกษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องเปิดกว้างจัดหลักสูตรนอกระบบเรียนทางไกล เพื่อรองรับให้ได้ (สยามรัฐ วันพุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 7)





ทบวงฯ รับสมัครนักศึกษาเรียนรู้ร่วมกันรุ่นที่ 2

.ทพ.สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างชุมชน รุ่นที่ 2 ว่าทบวงฯ จะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการในวันที่ 13-31 ม.ค.นี้ โดยผู้สมัครต้องเป็นนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีมีความประพฤติดี และไม่ใช่นิสิตชั้นปีสุดท้าย สามารถเข้าร่วมโครงการได้จนครบระยะเวลาที่กำหนด มีอาจารย์ที่ปรึกษา หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษารับรอง พร้อมได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง ส่วนสัดส่วนการรับจะเปิดรับนักศึกษาในพื้นที่ 50% และต่างพื้นที่ 50% ทั้งนี้หากมีนักศึกษาต่างพื้นที่ไม่ครบตามจำนวนรับ ให้สถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบพิจารณารับนักศึกษาในสถาบันที่มีคุณสมบัติครบให้เต็มตามจำนวนได้ แต่หากมีผู้สมัครมากเกินจำนวน ให้พิจารณาจากผลการเรียนเฉลี่ยในระดับอุดมศึกษา ความประพฤติ และสาขาวิชาที่เรียนให้สอดคล้องกับสายงานที่จะทำไปในพื้นที่ (เดลินิวส์ อังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 10)





กรมการศึกษานอกโรงเรียนผลิตหนังสือส่งเสริมการอ่าน

กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยการสนับสนุนจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียของยูเนสโกประเทศญี่ปุ่น (Asiam Cultural for UNESCO) ได้ผลิตหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับประชาชนที่เริ่มอ่านออก เขียนได้ (Neo-literates) โดยการแปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับเดิมที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิกใช้ร่วมกัน หนังสืออ่าน 4 เล่ม พิมพ์สีสดใสตามสไตล์ญี่ปุ่น ได้แก่ ฉันอ่านหนังสือออกแล้ว , ขายได้กำไรดี , ป่าคือชีวิต , นอกจากนั้น ศูนย์วัฒนธรรมแหงเอเชีย ของยูเนสโก สนับสนุนต้นฉบับแล้ว กรมการศึกษานอกโรงเรียนยังผลิตหนังสือขึ้นมาใหม่ อีก 2 เล่มตามความต้องการในการใช้ ได้แก่ ประชาธิปไตยชาวบ้าน และ อิสรภาพ หนังสือส่งเสริมการอ่านทั้งหมด กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จัดส่งไปแล้ว ยังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด / อำเภอ / ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยหน่วยงานอาจผลิตซ้ำตามจำนวนที่ต้องการ หรือผลิตหนังสือส่งเสริมการเล่มอื่นๆ สำหรับผู้เริ่มรู้หนังสือโดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป (สยามรัฐ พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ไปผจญภัยในเส้นเลือด

นักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) น.ส.ธิดารัตน์ กร้อมฤกษ์ น.ส.กันยารัตน์ ปิ่นสุข และ น.ส.มยุรี ใจบุญสวัสดิ์ จึงได้ประดิษฐ์ “นาโนเวิลด์สิมูเลเตอร์” (Nano world Simulator) เพื่อเป็นสื่อการสอนและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนาโนเทคโนโลยี Nano world Simulator ประกอบด้วยจอภาพแอลซีดี ใช้สำหรับแสดงภาพการทำงานของเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด โดยทำงานสอดคล้องกับตัวยานอวกาศสำหรับให้ผู้เล่นนั่งซึ่งตั้งบนฐานไฮดรอลิก ผศ.ดร.ไพบูลย์ เกียรติโกมล รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า นาโนเวิลด์ สิมูเลเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองให้ผู้เล่นเสมือนเดินทางท่องเที่ยวในร่างกาย เพื่อสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ โดยประยุกต์เอาโปรแกรมที่แสดงผลในคอมพิวเตอร์มาทำงานร่วมกับตัวยานอวกาศ อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จำนวน 150,000 บาท ซึ่งนำมาจัดแสดงในงานชุมชนลูกเสือโลกครั้งที่ 20 เป็นครั้งแรกด้วย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 12)





ผู้นำชาติมหาอำนาจของโลกตกใจ ให้รีบปิดประตูกั้นมนุษย์โคลนนิง

นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ดร.บริจิตต็ บัยเซลิเยร์ เจ้าศาสดาลัทธิความเชื่ออันประหลาด ได้ประกาศว่าบริษัทโคลนเอดของเขาได้สร้างมนุษย์โคลนนิงคนแรกเป็นทารกหญิงชื่อ อีฟ น้ำหนักตัว 3.1 กก. ด้วยวิธีการลอกแบบทางพันธุกรรมของเซลล์ผิวหนังที่เอามาจากหญิงชาวอเมริกันวัย 31 ปีขึ้น ขณะนี้ทั้งแม่และเด็กต่างสุขภาพแข็งแรงดี และยังจะมีทารกโคลนนิงลืมตามาดูโลกตามมาอีก 4 คน ตอนปลายเดือนมกราคม ปี 2546 นี้ โดยจะคลอดที่โรงพยาบาลทางเหนือของยุโรปในอาทิตย์หน้าคนหนึ่งส่วนอีก 3 ราย เป็นลูกของสามีภรรยาในสหรัฐฯคู่หนึ่ง และชาวเอเชียอีก 2 คู่ ประธานาธิบดี จอร์จ ดัลเบิลยู บูช ของอเมริกาและประธานาธิบดีชีรัคของฝรั่งเศส ต่างเรียกร้องให้มีการห้ามการสร้างมนุษย์ด้วยการก๊อบปี้ขึ้นทั้งโลก (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2546 หน้า 7)





เทคโนโลยีความปลอดภัย

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอนเมื่อปี 2544 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้ริ่เริ่มหรือเร่งสนับสนุนโครงการใหม่เพื่อหวังช่วยนำความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับคืนมาอีกครั้งเช่นเดียวกับบริษัทไอโด ซิเคียวริตี้ ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด “เซฟชู” (Safeshoe) สามารถตรวจหาวัสดุที่เป็นโลหะที่อาจนำไปใช้ในการจี้เครื่องบินได้ด้วย ตัวแทนบริษัทไอโดกล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวยังอยู่ในการทดสอบขั้นสุดท้าย และคาดว่าสามารถเริ่มใช้งานจริงในต้นปีหน้า โดยจะมีราคาประมาณ 10,000 ดอลลาร์ต่อชุดและคาดกันว่า “เซฟชู” จะถูกนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เอกซเรย์ตามจุดตรวจของท่าอากาศยานต่างๆ ทั่วโลก (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2546 หน้า 5)





นักวิทยาศาสตร์คลำพบต้นตอความแก่ชราของมนุษย์และสัตว์

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ ได้ค้นพบว่ายีนหรือหน่วยถ่ายพันธุ์ตัวหนึ่ง ที่เรียกว่า “ฟอกซ์ เอ็ม 1 บี” เป็นตัวการสำคัญทำให้เนื้อเยื่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยังคงรักษาและซ่อมแซมตัวเองอยู่ได้ เมื่อยีนตัวดังกล่าวเกษียณตัวเองลง ทำให้เซลล์ร่างกายไร้ความสามารถที่จะสร้างตัวเองได้ใหม่อย่างปกติไป และคงเพราะเหตุนี้ เป็นเหตุให้คนเราต้องแก่ชราลงกระดูกและกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ผิวหนังก็เหี่ยวย่นและแผลต่างๆ ก็ต้องกินเวลานานขึ้นกว่าจะหายสนิทในทางกลับกันยิ่งเมื่อเราแก่ลง มันก็ยิ่งเลอะเลือนทำเสียงานเสียการหนักขึ้น (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 7)





น้ำสกัดชีวภาพและพืชน้ำ แก้ปัญหามลพิษในตู้เลี้ยงปลา

นายสืบพงศ์ สงวนศิลป์ เป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สืบพงศ์เล่าว่าเขาสนใจปัญหาสภาพน้ำเสียที่ตู้เลี้ยงปลาของโรงเรียน อันมีสาเหตุมาจากปริมาณสะสมของสารอินทรีย์ในน้ำมีมากจนเกินไปทำให้น้ำเน่าเสีย จึงทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะหาวิธีรักษาสภาพน้ำในตู้ปลาด้วยการสกัดน้ำชีวภาพและพืชน้ำ โดยศึกษาการนำน้ำสกัดชีวภาพซึ่งเป็นสารที่มีจุลินทรีย์อยู่มากและพืชน้ำไปใช้ในการควบคุมสภาพของน้ำ 4 ชุด ในขั้นแรกสืบพงศ์ได้เตรียมน้ำสกัดชีวภาพโดยการหมักพืชผลทางการเกษตรซึ่งหั่นละเอียดกับน้ำตาลทรายในอัตราส่วน พืชผล 3 ส่วน ต่อน้ำตาลทราย 1 ส่วนโดยน้ำหนัก แล้วหมักทิ้งไว้เป็นเวลา 10 วัน ในถังที่ปิดมิดชิดเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วก็โกยเอากากออกจะเหลือน้ำในถังเรียกว่า น้ำสกัดชีวภาพ ขั้นตอนต่อไปให้เตรียมสาหร่ายหางกระรอกโดยแบ่งสาหร่ายหางกระรอกเป็น 6 ส่วน ส่วนละ 20 กรัม แต่ละส่วนใส่ลงในตะแกรงกั้นเพื่อป้องกันการกัดกินของปลา ทำการทดลองโดยแบ่งออกเป็น 4 ชุด แต่ละชุดใส่ปลาและน้ำ 10 ลิตร กำหนดให้ชุดที่ 1 เป็นชุดควบคุมไม่ใส่น้ำสกัดชีวภาพและสาหร่ายหางกระรอก ชุดที่ 2 ใส่สาหร่ายหางกระรอก 20 กรัม ชุดที่ 3 ใส่น้ำสกัดชีวภาพ 0.25 ลูกบาศ์กเซนติเมตรและใส่สาหร่ายหางกระรอก 20 กรัม จากนั้นก็ทำการเก็บผลการทดลองเป็นค่า DO ของทุกสัปดาห์ ทำการทดลองเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าชุดการทดลองที่ช่วยรักษาสภาพน้ำได้ดีที่สุด คือ ชุดการทดลองที่ 4 (น้ำสกัดชีวภาพและพืชน้ำ) โครงงานนี้สามารถนำไปใช้รักษาสภาพน้ำในตู้เลี้ยงปลาน้ำจืดได้และยังสามารถขยายผลนำไปใช้ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ได้อีกด้วย (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2546 หน้า 27)





เตรียมผลิตมือถือรีไซเคิลลดปัญหาขยะ

เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่หลายราย ตกลงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ง่ายขึ้นภายในปี พ.ศ.2548 ทั้งนี้ความตกลงดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ที่นครเจนีวาเพื่อแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เวสท์ การประชุมดังกล่าวให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยวิธีการที่ไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มักจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตกรุ่นหรือล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่การนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ได้กลายเป็นธุรกิจมูลค่าสูง โดยเฉพาะการขูดลอกทองคำ ทองแดง และโลหะมีค่าอื่นๆ ออกจากอุปกรณ์เหล่านี้ แต่ปัญหาสำคัญคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สร้างขึ้นจากการรวมตัวกันของโลหะและพลาสติดอย่างซับซ้อน ดังนั้น การพยายามขูดลอกโลหะมีค่าออกจากอุปกรณ์เหล่านี้จึงกลายเป็นงานที่อันตราย เพราะผู้ดำเนินการจะต้องเสี่ยงกับสารพิษอื่นๆ ด้วยเช่นกัน (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 ม.ค. 2546 หน้า 12)





เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่หลายราย ตกลงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ง่ายขึ้นภายในปี พ.ศ.2548 ทั้งนี้ความตกลงดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ที่นครเจนีวาเพื่อแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เวสท์ การประชุมดังกล่าวให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยวิธีการที่ไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มักจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตกรุ่นหรือล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่การนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ได้กลายเป็นธุรกิจมูลค่าสูง โดยเฉพาะการขูดลอกทองคำ ทองแดง และโลหะมีค่าอื่นๆ ออกจากอุปกรณ์เหล่านี้ แต่ปัญหาสำคัญคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สร้างขึ้นจากการรวมตัวกันของโลหะและพลาสติดอย่างซับซ้อน ดังนั้น การพยายามขูดลอกโลหะมีค่าออกจากอุปกรณ์เหล่านี้จึงกลายเป็นงานที่อันตราย เพราะผู้ดำเนินการจะต้องเสี่ยงกับสารพิษอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

รายงานจาก บริษัท แวลู ซิสเต็ม จำกัดแจ้งว่าบริษัทฯ ผลิตโปรแกรม Symantec SecurityFocus DeepSight Alert Services ซึ่งเป็นโปรแรมเตือนภัยทรงพลังสูง บนสภาพแวดล้อมแบบจำเพาะ และจะเตือนเมื่อมีโปรแรมประสงค์ร้ายเข้ามา ให้ผู้ที่ดูแลระบบไอทีขององค์กรทราบล่วงหน้าโดยอัตโนมัติ เพื่อเตรียมป้องกันบรรดาแฮคเกอร์ที่พยายามเจาะเข้ามาขโมยข้อมูลภายในองค์กร หรือเข้ามาทำลายระบบปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที โปรแรมการเตือนดังกล่าว จะทำการเตือนพร้อมรายละเอียดของการบุกรุก โดยมีระบบการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของการคอนฟิกระบบ และเน็ตเวิร์กขององค์กรและจะได้รับการเตือนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมการใช้งานของระบบในองค์กรจริงๆ เท่านั้นซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาอีเมลเป็นร้อยๆ หรือเว็บไซต์มากมายได้ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถปรับมาตรการแก้ไขและขัดขวางการบุกรุกได้ก่อนที่จะมีการทำลายเน็ตเวิร์ก (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 ม.ค. 2546 หน้า 12)





อุปกรณ์ครอบลูกบิด

งานประดิษฐ์ ชิ้นนี้มีชื่อว่า “อุปกรณ์ครอบลูกบิดประตูสำหรับป้องกันการหมุนลูกบิดเพื่อเปิดประตู” ซึ่งเป็นผลงานของ ประมุข งามละเมียด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประมุขภูมิใจไทย จำกัด และได้จดสิทธิบัตรแล้ว การประดิษฐ์อุปกรณ์ครอบลูกบิดประตูสำหรับป้องกันการหมุนลูกบิดเพื่อเปิดประตูตามการประดิษฐ์นี้เป็นการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรม โดยอุปกรณ์มีลักษณะเป็นถ้วยโลหะที่มีความแข็งแรง มีขนาดพอดีสวมครอบลูกบิดประตูได้อย่างคล่องตัวและมีรูห่วงอยู่ค่อนไปทางปากถ้วย เพื่อสำหรับสอดคล้องวงกุญแจ เมื่อสอดคล้องวงกุญแจแล้ว ทำให้ไม่สามารถถอดถ้วยอุปกรณ์ฯ ออกจากลูกบิดประตูได้ และทำให้ไม่สามารถแคะไขรูกุญแจลูกบิด หรือจับหมุนลูกบิดได้โดยตรง ซึ่งทำให้การโจรกรรมกระทำได้ยากยิ่งขึ้น (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2546 หน้า 25)





เครื่องสกัดสารระเหยที่ชัยนาท ทำง่าย ราคาต่ำ ประสิทธิภาพสูง

นายวิชิตร ช่วยพิทักษ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่าได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกและใช้สมุนไพรเพื่อเป็นยารักษาโรค บำรุงรักษาสุขภาพ โดยนำสมุนไพรหมักกับน้ำบางรายจะผสมน้ำส้มสายชูและเหล้าขาว เพื่อสกัดสารสมุนรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้ฉีดพ่น ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชทดแทนสารเคมี เพราะเกษตรกรมีความตระหนักถึงโทษของสารเคมีซึ่งมีผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติ สำเนาว์ ฤทธิ์นุช อาจารย์ 2 ระดับ 7 ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีแบบง่ายๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ในการใช้พืชสมุนไพรโดยคิดค้นจัดทำเครื่องสกัดสารระเหยจากพืชด้วยไอน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เครื่องสกัดที่มีราคาถูก นำมาสกัดสารระเหยจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ถ้าเกษตรกรท่านใดสนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท โทร 0-5641-5777 ต่อ 102 หรืออาจารย์สำเนา ฤทธิ์นุช 0-1953-2507 หรือผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท 0-5641-1308 (สยามรัฐ จันทร์ที่ 6 มกราคม 2546 หน้า 25)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ใช้วิธีฝังเข็มเก่าแก่ 2พันกว่าปีของจีน กลับช่วยผู้หญิงให้มีลูกได้ง่ายขึ้น

ดร.เรย์มอน จาง นักวิจัยสหรัฐฯ ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล แจ้งว่า การฝังเข็มช่วยให้ผู้หญิงมีลูกได้ง่ายขึ้น โดยฝังเข็มตรงจุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย เพื่อกระตุ้นการทำงานภายในให้เลือดลมไหลเวียนดี และมีการถ่ายเทพลังงานในร่างกายดีขึ้น การฝังเข็มอาจช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ และช่วยลดความเครียดของคนเราได้ โดยทั้งความเครียดและระบบประสาทส่วนกลางของสมอง มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ มีอิทธิพลต่อการเจริญพันธุ์และความสามารถในการมีลูกอย่างมาก เทคนิคการฝังเข็มมีส่วนช่วยลดความเครียดทำให้เลือดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ไหลเวียนดีขึ้น รังไข่ผู้หญิงสมบูรณ์ขึ้นและร่างกายสมบูรณ์ดีเพียงพอที่จะมีลูกได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2546 หน้า 7)





ระวัง ! กะทิสำเร็จรูป กรดไขมันอิ่มตัวสูง

นัฐพล ตั้งสุภูมิ นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาอาหารและโภชนาการเพื่อการพัฒนา จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องชนิดดัดแปลงสัดส่วนของกรดไขมันภายใต้การควบคุมดูแลของ รศ. ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ในการดัดแปลงสัดส่วนของกรดไขมันในกะทิให้มีความเหมาะสมโดยลดปริมณกรดไขมันอิ่มตัวและเพิ่มปริมาณของน้ำมันรำข้าว และน้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำนมถั่วเหลืองลงไปในกะทิสด ในสัดส่วนต่างๆ กัน พบว่าการใช้กะทิ 23% น้ำมันรำข้าว 5% และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน 8% มีความเหมาะสมที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นนี้มีปริมาณไขมันเท่ากับปริมาณไขมันของกะทิสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องในท้องตลาดแต่มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวลดลงมากกว่า 50% คือ กะทิปกติจะมีกรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 95% ของปริมาณไขมันทั้งหมด ในขณะที่กะทิที่พัฒนาแล้วจะมีกรดไขมันอิ่มตัวเพียง 35% ของปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวเพิ่มขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2546 หน้า 3)





สกว. เจียระไนเพชร ส่งเสริมสร้างนักวิจัย

ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่าการวิจัยเป็นปัจจัยที่จะกำหนดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยขณะนี้คือ ระบบการวิจัยยังมีจุดอ่อนและมีปัญหามาก ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างระบบอาชีพนักวิจัยให้มีประสิทธิภาพมีความยั่งยืน รวมทั้งการสร้างพันธมิตรที่เข็มแข็งระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน โดยเน้นการพัฒนาผลงานวิจัยแบบมีทิศทางหรือการวิจัยและพัฒนาที่เป็นความต้องการของภูมิภาค ดังนั้นทาง สกว. จึงเปิดโครงการเจียระไนเพชรขึ้น เพื่อต้องการกระตุ้นและสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบวิจัยหรือรู้ลู่ทางการทำวิจัย โดยอาจผ่านทางเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่มีอยู่ทั่วไปในทุกสถาบันการศึกษา ส่วน สกว.เพียงแต่เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกสถาบันเพื่อให้เกิดงานวิจัยขั้นพื้นฐาน พัฒนาคนและระบบไปพร้อมกัน (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 11)





ชุดตรวจโรคฉี่หนูงานวิจัยเด่นปี 45 ของ สกว.

ศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.รุ่นที่ 5) และคณะ ได้ร่วมกันพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อต่างๆ ในเขตร้อนขึ้น ศ.ดร.วันเพ็ญ ได้พัฒนาขึ้นมาโดยใช้เทคนิคไฮบริโดมาเทคโนโลยี เพื่อสร้างโมเลกุลที่เรียกว่า โมโนโคลนาลแอนติบอดี้ ซึ่งทำปฏิกิริยาเฉพาะต่อโรคฉี่หนูหรือเชื้อเลปโตสไปราได้ทุกสายพันธุ์ โดยที่ไม่ทำปฏิกิริยากับเชื้อโรคชนิดอื่นๆ และได้เริ่มใช้ที่ รพ.ในจังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก ผลงานนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีชื่อเสียงมาก คือ Journal of Clinical Microbiology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา นอกจากชุดตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนู ศ.ดร.วันเพ็ญ และคณะ ยังได้ผลิตชุดตรวจหาเชื้อพยาธิเท้าช้างในเลือดของผู้ติดเชื้อพยาธิทั้งชนิดบรูเกียและวูเชอรีเรีย และสามารถใช้ตรวจหาพยาธิในหัวใจสุนัข (ไดโรฟิลาเรีย) ได้ด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 4 มกราคม 2546 หน้า 27)





ข่าวทั่วไป


จีนปลื้มรถไฟเหาะเร็วสุดในในโลกสายแรก

เอพีรายงานจากนครเซี่ยงไฮ้ เมืองท่าพาณิชย์อันดับหนึ่งของจีนว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น นายจู หรง จี นายกรัฐมจรีจีน พร้อมด้วยนายแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีได้ร่วมกันโดยสารรถไฟเหาะพลังแม่เหล็กไฟฟ้าหรือแม็กเลฟว์ ที่มีความเร็วสูงสุดถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือราว 240 ไมล์ต่อชั่วโมง เที่ยวปฐมฤกษ์จากบริเวณสนามบินนานาชาติ สู่ย่านศูนย์การเงินใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ รวมระยะทางทั้งสิ้น 31 กิโลเมตร ก่อนที่รถไฟเหาะสายนี้จะเปิดบริการในเชิงพาณิชย์เป็นสายแรกในโลก ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ โดยมีเที่ยวพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมครอบครัวและบุคคลชั้นนำในท้องถิ่นตลอดจนผู้สื่อข่าว ที่ต้องจ่ายค่าโดยสารคนละ 150 หยวน หรือราว 1,000 บาท สำหรับการเดินทางนานเพียง 7 นาทีนี้และค่าโดยสารปกติหลังจากนี้ จะเหลือเพียงคนละ 50 หยวน หรือราว 350 บาท (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 10)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215