หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 5 ประจำวันที่ 2003-02-04

ข่าวการศึกษา

สกว.ภาคเหนือให้ทุนนักศึกษารภ.เชียงรายทำวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่น-พัฒนาชุมชน
อาสาสมัครมะกันเรียนรู้ไทย
ปลุกวิญญาณครูยุคปฏิรูป
โครงสร้างศธ. ใหม่ยังไม่ลงตัว/ส่อเพิ่ม 5 สำนักในสนง.พื้นฐาน
เบื้องหลังไทยซิวเจ้าภาพมหา’ลัยโลก
สมศ.ประเมิน ‘5 โรงเรียนพิเศษ’
สสวท.เชิญชวนนร.ม. 1-2 เข้าค่ายยุวคอมพิวเตอร์
ม.วลัยลักษณ์จัดค่ายโอลิมปิคเฟ้นคนเก่งภาคใต้
ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏใกล้คลอด
ลุงแซมช่วยศธ.พัฒนาครู
ถามใจนักเรียนพบ 80% อยากให้เอนทรานซ์มีสอบ
ทบทวนทิศทางมหาวิทยาลัยนอกระบบ
แนะเครือข่ายซีมีโอออนไลน์ข้อมูลร่วมกัน
ปลัดทบวงฯ งงสรภ.ขอคงสถานะในศธ.ใหม่
สปช.ไฟเขียวชุด น.ร.พื้นเมืองเริ่มภาค 1/2546
ตำราประวัติศาสตร์ ไทย-พม่า ใกล้คลอด
แฉอุดมศึกษาขยายวิทยาเขตแย่งตลาด
นิทาน “คาวี” คว้ารางวัลที่ญี่ปุ่น กรมศิลป์พิมพ์แจกปลูกคุณธรรม
ศธ.จัดสอบใหญ่วัดคุณภาพ น.ร.ระดับชาติ
พบครูแสนคนยังไม่ปฏิรูป จี้ศธ.เคลียร์หลักสูตร 12 ปี
“ปองพล” สั่งทบทวนตั้งงบฯมหาวิทยาลัยปี 2547 ปิ๊งศูนย์สิ่งประดิษฐ์-กระตุ้นผลิตงานวิจัย
ศูนย์การศึกษาพิเศษเชียงรายสลดกลุ่มเด็กพิการ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสืออื้อ
“ปองพล” สั่งทุก ร.ร.เปิดสนามบริการประชาชน
ข้อสรุปเอนทรานซ์ใหม่ยังต้องใช้ GPA

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ไบโอเทคเร่งพัฒนาเพิ่มความหวาน ‘อ้อย’
นักวิทย์ไขกาวชีวิตเชื่อมเหตุตั้งครรภ์
นักวิทย์น้อยคิดวิธีแก้ปัญหามลพิษ…พิชิตควันดำ
พาเลท
ไฟจราจรซูเปอร์เซฟ
กระทรวงวิทย์ลงพื้นที่หนองคาย ต่อยอดงานวิจัย “บั้งไฟพญานาค”
เสนอ ก.วิทย์ ตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์

ข่าววิจัย/พัฒนา

ระบบน้ำเสียไร้อากาศประสิทธิภาพสูงแบบตรึงเซลล์ สำหรับโรงเรียนอุตสาหกรรมเกษตร
เสริมเกราะให้กระดูกด้วยชา
ไทยทำสำเร็จ หอมมะลิเสริมธาตุเหล็ก
ดื่มน้ำลูกยอเกินทำไตวายเฉียบพลัน ไม่มีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน
จุฬาฯตีฆ้องกินปลาร้าเจอมะเร็งท่อน้ำดี
ภารกิจเรือเหาะอาภากร
แนะใช้แมลง…ล่าแมลงศัตรูพืช แก้สารเคมีตกค้าง-ลดเสี่ยงเกษตรกร-ผู้บริโภค
วิจัย “ต้นไข่เน่า” หาสารกันแมลง
ทีมวิจัยจุฬาฯ เปิด 14 จุดเสี่ยงแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป

สธ.แฉอันตรายวัยรุ่นหญิงเสียสาวซ้อนท้ายแข่งแมงกะไซค์พ่ายหนุ่ม
ไมโครซอฟท์เปิดซอร์สโค้ดเจาะข้อมูล-ช่วยความมั่นคง
ปฏิญญาโตเกียวหนุนใช้เน็ตลดช่องว่างสังคม
2 องค์กรร่วมจัดงานเยาวชนสมองแก้ว
คพ.เผยสารตะกั่วปนเปื้อนสูงในสองลุ่มน้ำ
เตือนคุณแม่มือใหม่เลี่ยงกินเฟรนซ์พรายส์
กินอาหารไขมันต่ำลดเสี่ยงมะเร็ง
เจนติพงษ์ พุ่มจันทร์ ‘ผมอยากทำห้องสมุดออนไลน์ให้คนใช้ได้ทั่วปท.’
กำหนด 4 แบบ ‘ถังขยะ’ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ
อินเดียใช้ ‘อะลูมิเนียมผสมนิกเกิล’ สร้างพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลก
บริษัทรถขนเงินแห่ติดจีพีเอส
ชี้ “ดื่มปัสสาวะ” มีอันตรายต่อไต มีสิทธิเจอโลหะหนัก-แบคทีเรีย
โตโยต้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ “เรดาร์” กันภัย
ชี้กลืนยาสีฟันมากส่งผล “ฟันตกกระ”
เตือนระวังฝุ่น หิน และผ้าเบรก ต้นเหตุโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
คนเอเชียคลั่งเล่นเกมออนไลน์ คาดอนาคตจะต้องติดกันทั้งบ้าน
เสนอใช้แคปซูลติดกล้องไร้สายขนาดจิ๋ว ทำหน้าที่กระสวยตรวจโรคทางเดินอาหาร
ฝรั่งเศสจับมือไทยลงทุนเปิดสนามแข่งรถใหญ่สุดในโลก





ข่าวการศึกษา


สกว.ภาคเหนือให้ทุนนักศึกษารภ.เชียงรายทำวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่น-พัฒนาชุมชน

นายสุรินทร์ ทองคำ ผู้อำนวยการวิทยาเขตเชียงคำ จ.พะเยา สถาบันราชภัฏ (รภ.) เชียงราย เปิดเผยถึงโครงการสนับสนุนให้นักศึกษาในโครงการการศึกษาภาคพิเศษของ รภ.เชียงราย วิทยาเขตเชียงคำได้มีโอกาสเขียนโครงการทำการศึกษาวิจัยชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า ขณะนี้ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ภาคเหนือ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาของ รภ.เชียงราย เขียนโครงการทำการศึกษาชุมชนด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือการประกอบวิชาชีพ และลักษณะวิถีชีวิตเชิงวัฒนธรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนทำการศึกษาวิจัยจาก สกว.ภาคเหนือ (มติชน พฤหัสบดีที่ 16 มกราค





อาสาสมัครมะกันเรียนรู้ไทย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่โรงแรมอ่างทอง นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ต้อนรับนายจอห์น วิลเลี่ยม ผู้อำนวยการหน่วยสันติภาพ สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และอาสาสมัครอเมริกัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการไทยที่รับอาสามาร่วมเป็นวิทยากร 50 คน โดยอาสาสมัครอเมริกันทั้งหมดจะมาช่วยงานในประเทศไทย ด้านการศึกษาและพัฒนาชนบทแนวผสมผสาน เน้นการเพิ่มทักษะการสอนภาษาอังกฤษและครูประถมศึกษา พร้อมกับบูรณาการวิชาอื่นๆ ในระยะแรกอาสาสมัครจะฝึกการใช้ภาษาไทยและศึกษาวัฒนธรรมไทย หลังจากนั้นจะแบ่งกลุ่มไปพักอาศัยกับครอบครัวคนไทย 1 คนต่อ 1 ครอบครัว เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม การใช้ชีวิตแบบไทย เรียนภาษาไทยจากประสบการณ์จริง รวมทั้งได้พบปะและรู้จักคนไทยมากขึ้น ส่วนในวันปกติจะสอนภาษาอังกฤษให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จ.อ่างทอง ซึ่งอาสาสมัครอเมริกันนี้จะเป็นรุ่นที่ 114 จะพักอาศัยอยู่ใน จ.อ่างทอง ไปจนถึง 17 มีนาคม 2546 หลังจากนั้นจะไปช่วยงานในจังหวัดอื่นต่อไป (มติชน ศุกร์ที่ 17 มกราคม 2546 หน้า 23)





ปลุกวิญญาณครูยุคปฏิรูป

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในระหว่างร่วมเสวนาในหัวข้อ “ครูไทยยุคปฏิรูป” จัดโดยกรุงเทพมหานคร ว่า การนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดกับเด็กได้นั้น ครูต้องมีเมตตาต่อเด็กอันเป็นหลักจิตวิทยาที่จะนำไปสู่กระบวนการสอนที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และได้คิด ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ให้เด็กมีทักษะในการดำรงชีวิตโดยเรื่องนี้อยู่ที่จิตวิญญาณของครู มากกว่าทฤษฎีการเรียนรู้ และครูต้องให้โอกาสเด็ก เมื่อเด็กสำนึกผิด รวมทั้งต้องช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน โรงเรียน และวัด ที่ขาดหายไปให้กลับคืนมา เพราะการปฏิรูปมิใช่ยึดหลักการตามแนวตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นรากฐานของความเป็นไทย และเพิ่มกระบวนการพัฒนาทางความคิดอย่างแบบตะวันตก (มติชน เสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 15)





โครงสร้างศธ. ใหม่ยังไม่ลงตัว/ส่อเพิ่ม 5 สำนักในสนง.พื้นฐาน

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมพิจารณาโครงสร้าง ศธ.ใหม่ ซึ่งมีการเสนอให้ปรับเพิ่มสำนักงานในแท่งบริหารสำนักงานปลัดกระทรวงจาก 11 สำนัก เป็น 25 สำนัก โดยเป็นสำนักผู้ตรวจราชการ 13 สำนัก อยู่ในส่วนกลาง 1 สำนัก และสำนักเขตการศึกษา 12 สำนักที่ทำหน้าที่ติดตามกำกับดูแลผลการกระจายอำนาจในเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งมีการเสนอให้สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเข้ามาสังกัดในส่วนนี้ด้วย แต่ที่ประชุมมีมติให้มีเพียง 12 สำนักโดยให้มีสำนักผู้ตรวจฯในส่วนกลางแห่งเดียวและให้มีสำนักย่อย 13 แห่งรับผิดชอบเขตพื้นที่การศึกษา 13 เขต ส่วนสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติจะให้เป็นสำนักชั่วคราว แต่หากมีความยุ่งยากในการปรับแก้กฎหมาย จะให้อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นการเฉพาะ นางสิริกรกล่าวต่อว่า ส่วนแท่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีอยู่ 6 สำนัก มีการขอเพิ่ม 5 สำนัก คือ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล สำนักบริหารการเงินและการคลัง สำนักบริหารทรัพย์สิน สำนักนิติการ และสำนักมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้าง แต่ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบ ได้มอบหมายให้ปลัด ศธ. ไปศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดการกิจงานแต่ละกลุ่มที่จะขอเพิ่มเข้ามาซึ่งในการพิจารณาจะต้องดูอัตรากำลังและภารกิจงานที่แต่ละสำนักรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 20 มกราคม จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปก่อนเสนอคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาในวันที่ 21 มกราคม (มติชน เสาร์ที่ 18 มกราคม2546 หน้า 15)





เบื้องหลังไทยซิวเจ้าภาพมหา’ลัยโลก

รศ.นริศ ชัยสูตร อธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ที่ห้องประชุมการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา รศ.นริศได้กล่าวถึงข้อเสนอที่ทำให้ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 24 ปี 2550 ว่าประเทศไทยได้เสนอเรื่องค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวันจำนวน 28 เหรียญสหรัฐและให้ทุนนักกีฬาประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาฝึกซ้อมในประเทศไทยรวมไปถึงคำรับรองจากบริษัท การบินไทย (มหาชน) ที่เสนอลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับบัตรโดยสารนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกระดับและการรับเป็นเจ้าภาพการประชุมอธิการบดีโลก แต่ที่สำคัญที่สุดคือความพร้อมของสนามแข่งขันที่ได้เสนอที่ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในเรื่องสนามกีฬา สาธารณูปโภคและความสะดวกสบายในการเดินทางของนักกีฬา และสุดท้ายเป็นประเทศเดียวที่มีรัฐบาลรับรองในการเสนอตัว (มติชน อาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2546 หน้า 23)





สมศ.ประเมิน ‘5 โรงเรียนพิเศษ’

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานประเมินคุณภาพการศึกษาระดับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ได้พิจารณาเพื่อจัดทำเกณฑ์ประเมินภายนอกสถานศึกษาวัตถุประสงค์พิเศษ 5 ประเภทคือ 1.โรงเรียนนานาชาติ ที่แบ่งเป็นผ่านการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศ และโรงเรียนที่เพิ่งจัดตั้งใหม่และต้องรับการประเมินภายใน 5 ปี 2.โรงเรียนส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษ อาทิ โรงเรียนกีฬา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ 3.กลุ่มโรงเรียนสำหรับผู้พิการ อาทิ โรงเรียนสอนคนตาบอด คนหูหนวก 4.โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส เช่นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และ 5.โรงเรียนสองภาษาซึ่งจัดการศึกษาด้วยภาษาอังกฤษ (มติชน จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 20)





สสวท.เชิญชวนนร.ม. 1-2 เข้าค่ายยุวคอมพิวเตอร์

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท.จะจัดค่ายยุวคอมพิวเตอร์ ระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2546 จำนวน 1 ครั้ง ณ สสวท.และวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2546 จำนวน 8 ครั้ง ณ ศูนย์โรงเรียนมัธยมศึกษา 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กทม. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนเลยพิทยา จ.เลย โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย โรงเรียนกำแพงเพชรวิทยาคม จ.กำแพงเพชร และโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษธานี โดยเปิดรับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ม.1 และ ม.2 ทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2392-4021 ต่อ 3406-3408 หรือเข้าไปที่ htt://oho.ipst.ac.th ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 21 มกราคม 2546 หน้า 8)





ม.วลัยลักษณ์จัดค่ายโอลิมปิคเฟ้นคนเก่งภาคใต้

ดร.ฉัตรชัย งามเรียบสกุล ผู้จัดการโครงการโอลิมปิควิชาการศูนย์ สอนว. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับความเห็นชอบจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิควิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์การศึกษาในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากับยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) ให้เปิดศูนย์ในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในโรงเรียน ใน 4 จังภาคใต้ตอนบน คือจังหวัดนครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร และระนอง โดยได้รับคัดเลือกนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เข้าอบรมโอลิมปิควิชาการ โดยจัดค่ายอบรมค่าย 2 / 2545 ในระหว่างวันที่ 9-28 มีนาคม ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นค่ายต่อเนื่องมาจากค่าย 1 ซึ่งมีการจัดไปแล้วเมื่อเดือน ตุลาคม ปี 2545 ที่ผ่านมา (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 21 มกราคม 2546 หน้า 8)





ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏใกล้คลอด

ดร.พลสัณฑ์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ว่าขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่ากฤษฎีกาจะพิจารณาแล้วเสร็จในสิ้นเดือน ม.ค. 2546 และจะเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งก่อนเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม สถาบันราชภัฏ (รภ.) ทั้ง 41 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการและบุคคลกรเพื่อรองรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว และกำหนดปรัชญาการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จะเน้นอุดมการณ์เพื่อท้องถิ่นซึ่งจะแตกต่างกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยทั่วไปที่จะเน้นความเป็นสากล ทั้งนี้ อุดมศึกษาจะต้องมีความหลากหลายดังนั้นการที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยระบุว่าที่ รภ.ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยจะทำให้อุดมศึกษาไทยตกต่ำลงจึงเป็นความคิดที่ผิด ดร.พลสัณฑ์ กล่าวต่อว่า การบูรณาการอุดมศึกษาระหว่าง รภ. และมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยได้เข้าไปร่วมเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาบุคลากรและร่วมใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้มีการเชื่อมโยงประสานงานกันมากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่เช่นที่ผ่านมา (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 21 มกราคม 2546 หน้า 8)





ลุงแซมช่วยศธ.พัฒนาครู

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งพัฒนาครูและผู้บริหารโรงเรียนประมาณ 6 แสนคน เพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาและการปรับเปลี่ยนการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่โรงเรียนรวมถึงการพัฒนาสถาบันพัฒนาผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ให้สามารถจัดอบรมบุคลากรในสังกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ Edgewood College เพื่อร่วมกันพัฒนาครูและผู้บริหาร โดยมีสาขาที่จะร่วมมือกันพัฒนา ได้แก่ ด้านภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร, โครงการพัฒนาผู้บริหารและบุคลากร, การรับรองคุณวุฒิของผู้บริหารสถานศึกษาธรรมรัฐ, ความร่วมมือกับชุมชนและผู้ปกครอง, บทบาทของเขตพื้นที่การศึกษา, คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา และการประเมินต่างๆ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 10)





ถามใจนักเรียนพบ 80% อยากให้เอนทรานซ์มีสอบ

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน 10,460 คน ผู้ปกครอง 10,460 คน และครูอาจารย์ 11,025 คน เกี่ยวกับแนวทางการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต ซึ่งสำรวจโดยทบวงฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า นักเรียน 80% ผู้ปกครอง 79.3% และครูอาจารย์ 85.2% เห็นด้วยกับการสอบเข้าในระดับปริญญาตรี เพราะมาตรฐานของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน และยังช่วยลดปัญหาของเรื่องเส้นสาย ได้ผู้มีความรู้ความสามารถมาตรฐานแต่ทั้งนี้นักเรียน 66.8% ผู้ปกครอง 82.9% และครูอาจารย์ 30.6% ยังไม่รู้ถึงการที่ปรับเปลี่ยนระบบเอนทรานซ์เป็นแอดมิชั่น อย่างไรก็ตามนักเรียน 90.2% ผู้ปกครอง 92.6% และครูอาจารย์ 77.6% เห็นด้วยกับการนำผลการพัฒนาในการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมมาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกฯ เพราะจะได้บุคคลที่มีคุณภาพทั้งสติปัญญาอารมณ์ และเป็นการสร้างความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่เครียดด้วย นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียน 87% ผู้ปกครอง 88.7% และครูอาจารย์ 93.3% เห็นด้วยกับการนำผลประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (National Test) มาเป็นองค์ประกอบการพัฒนา เพราะเป็นการเรียนในวิชาพื้นฐาน ทักษะการสร้างความรู้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งนักเรียน 46.8% ผู้ปกครอง 53.9% ครูอาจารย์ 74.2% ยังเห็นควรให้มีหน่วยงานกลางระดับชาติเป็นผู้ดูแลเพราะจะได้มีมาตรฐาน และคุณภาพเดียวกัน ไม่มีปัญหาเส้นสายและประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามนักเรียน 27.2% ผู้ปกครอง 23.5% และครูอาจารย์ 29.2% เสนอว่าควรเพิ่มโควตานักเรียนเรียนดีได้เข้าศึกษาโดยไม่ต้องสอบ และเปิดโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น ทั้งนี้พบว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีโครงการรับตรง โดยเปิดรับนักเรียนในโครงการพิเศษต่างๆ เฉลี่ย 40-70% ของนักศึกษาทั้งหมด (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 10)





ทบทวนทิศทางมหาวิทยาลัยนอกระบบ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 3 เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทบวงมหาวิทยาลัยได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง และร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. คณะที่ 3 ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาแล้ว คณะกรรมการกลั่นกรองตีกลับร่าง พ.ร.บ.2 มหาวิทยาลัย ชี้ขาดความชัดเจนว่า ม.ในกำกับของรัฐคืออะไร และทำอย่างไรจึงสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศเผยรัฐไม่ได้ผลักดันหรือเร่งรัด แต่โจทย์ที่แท้จริงคือ การปฏิรูปการอุดมศึกษากลับเงียบกริบไม่มีการพูดถึงเลย (สยามรัฐ จันทร์ที่ 27 มกราคม 2546 หน้า 7)





แนะเครือข่ายซีมีโอออนไลน์ข้อมูลร่วมกัน

นางเนตรปรีดา ชุมไชโย รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ. ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีเมค ได้ไปตรวจเยี่ยมศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย 3 แห่งได้แก่ 1.เครือข่ายระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุข หรือ ทรอปเมด ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ดำเนินงานการลดจำนวนการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างได้ผล 2.ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ หรือ ศูนย์สปาฟา ซึ่งนายปองพลเห็นว่าศูนย์สปาฟาควรมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้แก่ประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีให้คงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีไม่ให้ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ศูนย์สปาฟากำลังมีโครงการนำร่องการจัดทำพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่ ร.ร.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าโกงกางและเป็นตัวอย่างในการจัพิพิธภัณฑ์ที่ไม่เน้นการสร้างตึกแต่จะใช้พื้นที่สภาพเดิมให้มากที่สุด และ 3.ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา หรือ ศูนย์ไรเฮด ซึ่งตั้งอยู่ที่ทบวงมหาวิทยาลัย โดยศูนย์ดังกล่าวกำลังศึกษาแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะหากประเทศสมาชิกใช้ระบบเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและประเทศสมาชิก (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 มกราคม 2546 หน้า 4)





ปลัดทบวงฯ งงสรภ.ขอคงสถานะในศธ.ใหม่

จากกรณีที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) จะเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สรภ.ยังคงสถานะเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรมอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภายใต้โครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะต้องไปดูรายละเอียดก่อน ซึ่งในส่วนของโครงสร้างสกอ. แต่เดิมมี 8 ส่วนคือ สำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผน สำนักทดสอบกลาง สำนักส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระบบอุดมศึกษา สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และสำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา ซึ่งขณะนี้ก็ได้เพิ่มสำนักบริหารวิทยาลัยชุมชนขึ้นอีก 1 สำนักแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการเตรียมจัดระบบบริหารของส่วนราชการตามโครงสร้างใหม่ของศธ. ได้เห็นชอบตามที่ทางสภาวิทยาลัยชุมชนได้เสนอที่จะขอให้วิทยาลัยชุมชนมาอยู่ในสังกัดสกอ. โดยให้เหตุผลว่าจะได้สามารถเทียบโอนในระดับปริญญาตรีได้และเป็นไปตามความต้องการของคนในวิทยาลัยชุมชนด้วย ซึ่งทบวงฯ ก็ยินดีทำตามนโยบายดังกล่าว แต่สำหรับเรื่องของสกอ. คงต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดก่อน (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 10)





สปช.ไฟเขียวชุด น.ร.พื้นเมืองเริ่มภาค 1/2546

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยความคืบหน้าการใช้ผ้าพื้นเมืองตัดเป็นชุดเครื่องแบบนักเรียน ตามนโยบายนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการประถมแห่งชาติ (สปช.) ได้กำหนดแนวทางในการใช้ชุดพื้นเมืองเป็นชุดเครื่องแบบนักเรียนเรียบร้อยแล้ว รอเพียงกองนิติการแก้ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน เพื่อเอื้อให้ใช้ชุดพื้นเมืองเป็นชุดเครื่องแบบได้ ซึ่งเชื่อว่าจะแล้วเสร็จทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2546 นี้ และเวลานี้ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด (ผอ. ปจ.) ทั่วประเทศ ได้รับทราบแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างชุดนักเรียนพื้นเมืองแล้ว โดยแนวทางที่กำหนดไว้นั้นจะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถใช้ชุดพื้นเมืองควบคู่กับชุดเครื่องแบบนักเรียนปกติได้ 1 ชุด จากงบประมาณที่จัดให้นักเรียนคนละ 2 ชุด โดยกำหนดให้สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดสเป๊กชุดพื้นเมืองเอง เพื่อให้เหมาะสมกับราคาต่อชุด 150 บาท โดยจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้ดูแลอีกขั้นหนึ่ง ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ คือต้องมีผู้เสนอขายอาจเป็นบุคคลหรือแม่บ้าน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 3 ราย (มติชนรายวัน วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 หน้า 20)





ตำราประวัติศาสตร์ ไทย-พม่า ใกล้คลอด

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยกรณีนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ได้ตกลงความร่วมมือกับสหภาพพม่าในการชำระตำราประวัติศาสตร์ร่วมกับพว่าได้เคยดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ ภายใต้โครงการซีมีโอแชต ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 ศูนย์ของซีมีโอ โดยได้ทำความตกลงร่วมกันที่จะจัดทำตำราประวัติศาสตร์ภาษาของตัวเองขึ้น แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษเสนอซีมีโอแชต เพื่อเทียบเคียงและหลอมรวมเนื้อหาของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และได้นำไปสัมมนาที่ จ.เชียงใหม่ครั้งหนึ่ง ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เนื้อหาไม่ควรเขียนให้ท่องจำ แต่ควรสอนให้วิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทางกรมวิชาการอยู่ระหว่างแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเสนอซีมีโอแชตต่อไป (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 20)





แฉอุดมศึกษาขยายวิทยาเขตแย่งตลาด

ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางมหาวิทยาลัยในอนาคต” ที่คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหงว่า การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาบางพื้นที่มีนักศึกษาเพียง 400-500 คน มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งไปขยายวิทยาเขตตรงหน้าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งอยู่แล้ว ทำให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่เจ๊งก็ต้องเจ๊ง บางจังหวัดเช่น จ.ตรัง ทั้งจุฬาฯ และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ก็ไปขยายวิทยาเขต ทั้งที่มี รภ.อยู่แล้ว ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ทั้งโครงการจัดตั้งวิทยาเขต 20 แห่ง จาก 37 แห่ง ที่ดำเนินการไปแล้วใช้งบถึง 7,000 ล้านบาท โดย 81% เป็นค่าก่อสร้าง การขยายอุดมศึกษา เวลานี้จึงไม่ใช่การขยายเพื่อการแข่งขันทางวิชาการ แต่มุ่งตลาดเพื่อหารายได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นธุรกิจการศึกษา เกิดความซ้ำซ้อนสูญเปล่า จนกลายเป็นอุดมศึกษาที่ไม่มีระบบ บางแห่งขยายการเรียนการสอนตามศูนย์การค้า ห้องแถว โรงแรม จนเกิดความสงสัยถึงคุณภาพ แม้แต่มหาวิทยาลัยแม่ก็ทำให้เกิดความอ่อนแอ ล้วนเป็นปัญหาอุดมศึกษาที่ต้องแก้ไข (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 15)





นิทาน “คาวี” คว้ารางวัลที่ญี่ปุ่น กรมศิลป์พิมพ์แจกปลูกคุณธรรม

นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมศิลปากรได้ส่งต้นฉบับหนังสือนิทานภาพเรื่อง คาวี เข้าประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าได้รับรางวัล TONAMI ORIGINAL WORKS FOR CHILDRENS BOOK ASIAN AWARD จากสถาบัน OSIMA PICTURE MUSEUM ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นฉบับการ์ตูนไทยฉบับแรกที่ได้รับรางวัล โดยต้นฉบับการ์ตูนดังกล่าวเป็นฝีมือการวาดภาพของนายนภพงศ์ กู้แร่ อาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป์ และเขียนคำบรรยายโดยนางทิพวัน บุญวีระ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดทำเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กและเยาวชนทั่วไป จำนวน 3,500 เล่ม เพื่อแจกห้องสมุดโรงเรียน นอกจากนี้ได้จัดพิมพ์ฉบับอักษรเบรลล์ 1,000 เล่ม สำหรับผู้พิการทางสายตาด้วย (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 15)





ศธ.จัดสอบใหญ่วัดคุณภาพ น.ร.ระดับชาติ

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับชาติขึ้น เพื่อควบคุมและรักษาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน โดยปีนี้จะประเมินผู้เรียนตามระดับช่วงชั้นที่หลักสูตรกำหนดคือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกคน ทุกสังกัด และทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,762,906 คน ในวันที่ 22 มกราคม ซึ่งจะนำผลการประเมินนี้ไปใช้เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพการศึกษาของชาติ และนำไปใช้ประกอบการวางแผนเพื่อปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 21)





พบครูแสนคนยังไม่ปฏิรูป จี้ศธ.เคลียร์หลักสูตร 12 ปี

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ซึ่งมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าได้พิจารณาการเตรียมการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ซึ่ง ศธ.คาดว่าจะใช้พร้อมกันในปีการศึกษา 2546 นี้ แต่อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ในโรงเรียนนำร่องจำนวน 231 โรง พบว่าครูร้อยละ 61 มีความเข้าใจการจัดทำสาระหลักสูตรในระดับปานกลาง ร้อยละ 17 เข้าใจน้อย ส่วนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของครูมาเป็นการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น พบว่ายังมีจำนวนน้อย มีประมาณ 1 แสนคน หรือคิดเป็น 17% ของครูทั้งหมด 6 แสนคน โดยที่ส่วนใหญ่ยังสอนแบบเดิม นางสิริกรกล่าว ว่า “จากผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนยังมีความกังวลในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งยังเข้าใจไม่ตรงกัน และจากการจัดฝึกอบรมครูที่ทำหลักสูตรนี้ ก็ยังพบว่าครูจำนวนมากทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทางศธ. ได้หาทางแก้ไขแล้ว โดยจะออกประกาศเรื่องการกำหนดรายละเอียดสาระการเรียนรู้แกนกลาง ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 เพื่อสร้างความชัดเจนขึ้น” ด้านนายรุ่ง แก้วแดง เลขาธิการ กกศ. ยังให้ข้อมูลว่า โรงเรียนที่มีความพร้อมสูงยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ศธ.ต้องเร่งสร้างความชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจมีผู้ร้องเรียนไปยังศาลปกครองได้ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 20)





“ปองพล” สั่งทบทวนตั้งงบฯมหาวิทยาลัยปี 2547 ปิ๊งศูนย์สิ่งประดิษฐ์-กระตุ้นผลิตงานวิจัย

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวในการประชุมชี้แจงการทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2547 ว่า การจัดทำงบฯของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องทบทวนใหม่ โดยมุ่งเน้นที่ผลผลิตแบบ 4 มิติ คือ ปริมาณ คุณภาพ ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เป็นเป้าหมายของหน่วยงาน ทั้งนี้ในอนาคตต้องพัฒนาการศึกษา 2 สายควบคู่กันไป ทั้งสายงานวิจัยและสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติ เพราะสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันจะต้องไปรวมอยู่ในแท่งคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงต้องเกื้อกูลกัน และเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ซึ่งอาจารย์จะต้องค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอย่างแท้จริง ต้องสนับสนุนนักศึกษาให้ทำวิจัย และนำผลวิจัยไปสร้างประโยชน์ในเชิงธุรกิจ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 20)





ศูนย์การศึกษาพิเศษเชียงรายสลดกลุ่มเด็กพิการ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสืออื้อ

นายไพรสันณ์ จักรวันนา เจ้าหน้าที่ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จำนวนเด็กพิการทางร่างกายและสมองใน จ.เชียงราย มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทางศูนย์การศึกษาพิเศษได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้โอกาศทางการศึกษากับบุคคลเหล่านี้ ได้มีช่องทางในการพัฒนาเสริมความรู้ ความคิดอ่าน เหมือนเช่นคนปกติทั่วไป ซึ่งจากข้อมูลของประชาสงเคราะห์จังหวัดเชียงราย รวมทั้งข้อมูลการสำรวจของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ที่มีการส่งแบบสำรวจเข้าไปยังแหล่งเป้าหมายตามหมู่บ้าน โรงพยาบาลท้องถิ่น โรงเรียน และหน่วยงานอื่นๆ รวมไปถึงข้อมูลของอนามัย ระบุว่าเด็กพิการส่วนมากยังไม่มีโอกาสได้เข้ามารับการศึกษาอบรมเพิ่มพูนทักษะ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ปกครองปิดกั้นลูกของตัวเองไม่ให้ออกมารับรู้โลกภายนอก ไม่ยอมพาลูกหลานออกมาเข้าสังคมในความเป็นจริง ซึ่งจากข้อมูลที่ได้สำรวจรวบรวมมาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2544 พบว่ามีเด็กพิการทางร่างกายและสมองในระดับวัยตั้งแต่ 1 ขวบ- 19 ปี ที่อยู่ในสภาพดังกล่าวรวมจำนวน 1,145 คน ทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กพิการชาวไทยภูเขาใน อ.พาน และ อ.แม่ฟ้าหลวง (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 21)





“ปองพล” สั่งทุก ร.ร.เปิดสนามบริการประชาชน

นายปองพล อดิเรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายในการใช้กีฬาต้านยาเสพติด โดยให้สถานศึกษาทั่วประเทศเปิดสนามกีฬาของสถานศึกษาให้เป็นสนามกีฬาของชุมชน ซึ่งในเบี้องต้นได้ให้ทุกสถานศึกษาสำรวจสนามกีฬาและทรัพยากรทางกีฬาว่า มีการจัดการที่ดีเพียงพอหรือไม่ มีสภาพเป็นอย่างไร และยังสามารถใช้การได้ดีเพียงพอหรือไม่ และให้สถานศึกษาทุกแห่งปรับปรุงสนามกีฬาให้สามารถรองรับประชาชนในชุมชนโดยรอบได้มีโอกาสเข้ามาเล่นกีฬาในตอนเย็น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายและเล่นกีฬา เพื่อหลีกเลี่ยงจากการเข้าไปมั่วสุมกับปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 21)





ข้อสรุปเอนทรานซ์ใหม่ยังต้องใช้ GPA

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการและรักษาราชการรมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการการกำหนดนโยบายการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับองค์ประกอบการคัดเลือกในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น และได้ข้อยุติว่าองค์ประกอบที่จะนำมาพิจารณา 3 ส่วน คือ 1. ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPA) 5% ค่าตำแหน่งลำดับที่ (PR) 5% 2. ผลสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ National Test หรือ NT โดยให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทก.) เป็นผู้จัดสอบ ซึ่งขณะนี้กำลังยกร่างกฎหมายจัดตั้ง สทก.อยู่ โดยจะเร่งจัดตั้งให้เร็วที่สุด และถ้าจัดตั้งได้เร็วก็สามารถทดลองจัดสอบได้ในปี 2547 ก่อนที่จะใช้จริงในปี 2549 ทั้งนี้การสอบ NT จะจัดสอบปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม และเดือนตุลาคม และ 3. การร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองและสังคม อย่างไรก็ตามสัดส่วนของแต่ละองค์ประกอบจะเป็นเท่าใดและการสอบวิชาเฉพาะจะมีอย่างไรบ้างนั้นให้ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มสาขาวิชา (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2546 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ไบโอเทคเร่งพัฒนาเพิ่มความหวาน ‘อ้อย’

ด.ร.มรกต ตันเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ไบโอเทคได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เร่งการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อเพิ่มความหวานของน้ำตาลให้ได้อย่างน้อย 1 ซีซีเอส เนื่องจากขณะนี้พันธุ์อ้อยที่เกษตรกรปลูกยังมีค่าความหวานไม่มากพอ โดยเฉลี่ยประมาณ 11-12 ซีซีเอส หรือประมาณ 103 กิโลกรัมต่อตันอ้อยเท่านั้น น.ส.มรกตกล่าวว่า ไบโอเทคมีเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาปรับปรุงพันธุ์อ้อยโดยจะพัฒนาโมเลกุลเครื่องหมาย (Marker assisted selection) ในการคัดเลือกลักษณะความหวานเพื่อให้ได้ความหวานเป็น 13 ซีซีเอส รวมทั้งการเพิ่มผลผลิต ลดการสูญเสียจากศัตรูพืช และการพัฒนา DNA Probe หากเพิ่มความหวานได้ 1 ซีซีเอส จะทำให้อ้อยมีมูลค่าสูงขึ้น 30 บาทต่อตัน (มติชน พฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 18)





นักวิทย์ไขกาวชีวิตเชื่อมเหตุตั้งครรภ์

รายงานข่าวเอพีจากกรุงวอชิงตันระบุว่า นางซูซาน เจ.ฟิสเชอร์ นักค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในนครซานฟรานซิสโก พร้อมด้วยเพื่อนนักวิจัยของเธอได้ค้นพบตัวเชื่อมระหว่างไข่ที่ได้รับการผสมแล้วกับผนังมดลูก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง โดยนางเปิดเผยในวารสารไซเอนซ์ของสหรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ม.ค.) ว่า สารดังกล่าว นอกจากจะได้แก่สารแอล-เซเลกติน ที่ฉาบอยู่บนผิวของตัวอ่อนที่เพิ่งปฏิสนธิและเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ดังที่ทราบกันอยู่ก่อนหน้า ตัวผนังมดลูกเองยังจะต้องมีสารคาร์โบไฮเดรตที่มีลักษณะโครงสร้างโมเลกุลจำเพาะแบบเดียวกับโครงสร้างโมเลกุลของน้ำตาลที่จะไหลเวียนมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในแต่ละเดือน ซึ่งหากสารทั้งสองตัวมาประจวบเหมาะพบกันการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้วกับผนังมดลูก จึงจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งหมายถึงการเริ่มตั้งครรภ์ตามปกติธรรมชาติ รายงานค้นคว้าของนางฟิสเชอร์ยังระบุด้วยว่า หากมีการกะจังหวะเวลาอย่างเหมาะสมแล้ว โอกาสที่หญิงจะตั้งครรภ์หรือไม่ต้องตั้งครรภ์ตามใจของตนเองก็สามารถบรรลุผล โดยไม่ต้องใช้ยาคุมกำเนิดมาช่วย นอกจากนี้ ยังช่วยลดโอกาสเกิดอาการลมชักในขณะตั้งครรภ์ที่อาจเป็นเหตุให้ว่าที่คุณแม่ต้องเสียชีวิตลงได้ และเป็นกันมากในหมู่หญิงในสังคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วหรือแก้ปัญหาการแท้งลูก สืบเนื่องจากตัวอ่อนหลุดจากผนังมดลูก (มติชน เสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 5)





นักวิทย์น้อยคิดวิธีแก้ปัญหามลพิษ…พิชิตควันดำ

นายภูมริน เกลี้ยงกลม จากโรงเรียนบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี กรุงเทพฯ เป็นนักเรียนทุนของโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “การหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของผงถ่านกัมมันต์ที่แขวนลอยในน้ำกับความเข้มแสงที่สองผ่าน” ขึ้น โดยใช้หลักการยิงแสงผ่านฝุ่นละอองและเกิดการกระเจิงขึ้น เมื่อเกิดการกระเจิง ความเข็มของแสงที่อยู่ในแนวเดิมจะมีค่าลดลง ได้นำความสัมพันธ์นี้มาดีเท็คทดสอบกับเครื่องมือ ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการทำโครงงานนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการวัด เพราะไม่สามารถจำลองฝุ่นในอากาศได้ และอนุภาคของถ่านกัมมันต์ให้มีอนุภาคระบบแคบมาเพื่อหาค่าที่แน่นอนมากยิ่งขึ้น (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 31)





พาเลท

วัสดุทดแทนไม้สำหรับรองสินค้าและหรือลังบรรจุสินค้าหรือเรียกสั้นๆ ว่า “พาเลท” เป็นผลงานประดิษฐ์ของ สุรชัย เรี่ยวแรงศรัทธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเพเท้นท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุรชัย เล่าถึงที่มาของงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า วัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ “ฟางข้าว” นั้นเป็นของที่หาง่าย ในธรรมชาติมีมาก และไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทย นอกจากนี้เส้นฟางนั้นยังมีความเหนียวทนทานมาก กรรมวิธีการประดิษฐ์โดยใช้เส้นใยจากพืช คือ ฟางข้าวเป็นวัสดุหลัก และยึดติดประสานด้วยกาวแล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในแม่พิมพ์โดยการหล่อแบบ (Moldin) ที่มีการควบคุมความดันอากาศในแม่พิมพ์และอุณหภูมิ รวมทั้งขบวนการแข็งตัว (Vulcanization) และเวลาที่ทำการอบในแม่พิมพ์ หลังการอัดขึ้นรูปชิ้นงานตามกรรมวิธีดังได้กล่าวมาแล้ว นำชิ้นงานไปเคลือบผิวหน้าด้วยวิธีการชุบ จุ่ม หุ้ม พ่น ทาด้วยสารละลายประเภทเรซิ่นพลาสติก ยางซิลิโคน สี น้ำมัน จากข้อความตามที่กล่าวมานี้ทำให้ได้วัสดุทดแทนไม้สำหรับรองสินค้าหรือลังบรรจุสินค้ามีมาตรฐานมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับงานขนส่งสินค้าและได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2546 หน้า 25)





ไฟจราจรซูเปอร์เซฟ

“ไฟจราจรซูปเปอร์เซฟ” ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏอุดรธานี โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (อิเล็กทรอนิกส์) นายวุฒิไกร ศรีภูมิ นายวิจิต ชัยอาวุธ และนายสุรชัย พรมพลเมืองมีแนวคิดว่า ยามค่ำคืนความสว่างของหลอดไฟจราจรจะสว่างมากขึ้น เนื่องจากมีความมืดช่วยขับความสว่างของแสงไฟ ดังนั้นหากลดความสว่างลง 10% แสงสว่างที่ปรากฏก็ยังเท่ากับแสงไฟจราจรตอนกลางวัน หลักการทำงานของระบบดังกล่าว จะใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ที่มีการเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานไว้แล้วส่งผ่านไปยังอุปกรณ์เชื่อมต่อ และชุดหรี่ไฟเพื่อควบคุมความสว่างของหลอดไฟแบบไส้และหลอดฮาโลเจน พร้อมทั้งสามารถกำหนดเวลาการหรี่ไฟ เบื้องต้นได้ติดตั้งชุดควบคุมไว้ที่จุดติดตั้งไฟจราจร สามแยกบ้านดอนอี้ สี่แยกตลาดหนองบัว และสี่แยกหน้าสะพานดำ จ.อุดรธานี ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้รถในยามค่ำคืนปรากฏว่าไม่พบความแตกต่าง และไม่รู้สึกว่าแสงสว่างจากไฟจราจรน้อยลง (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 12)





กระทรวงวิทย์ลงพื้นที่หนองคาย ต่อยอดงานวิจัย “บั้งไฟพญานาค”

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยความคืบหน้าในการศึกษาวิจัยบั้งไฟพญานาค ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ที่บริเวณแม่น้ำโขงใน อ.โพนพิสัย จ.หนองคายว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานพิสูจน์ข้อเท็จขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว และรวบรวมรายชื่อนักวิชาการที่เคยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้รวบรวมผลงานวิจัยจากของในและต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นจะต้องศึกษาว่าจะสามารถทำวิจัยต่อยอดกับงานที่เคยศึกษากันมาแล้ว โดยจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 27 มกราคมนี้ หลังจากนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ที่ผ่านมามักจะมีกระแสข่าวลือออกมาว่านักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาพิสูจน์หาความจริงเรื่องนี้มักจะเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ตามมานั้นกลัวหรือไม่ นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่าการศึกษาหาความจริงเรื่องนี้มีหลายรูปแบบไม่จำเป็นต้องไปมุดน้ำลงไปดูเท่านั้น ไม่เชื่อว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมานับว่าโชคดี เพราะมีหลายคนศึกษาเป็นข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้หลายอย่างแล้ว สามารถเอาข้อมูลนั้นมาต่อยอดศึกษาเพิ่มเตอมได้ทันที เชื่อว่าในไม่ช้านี้ก็จะให้คำตอบชาวโลกอย่างวิทยาศาสตร์ได้ว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากอะไรกันแน่ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 18)





เสนอ ก.วิทย์ ตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์

รศ.ดร.ประสาท สืบค้า คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้มีมติให้เสนอโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย การจัดการเรียนการสอนตลอดจนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์ของชาติ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางเครือข่ายวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ภายในประเทศ โดยอาศัยเครือข่ายสารสนเทศเป็นตัวเชื่อมความรู้ทั้งในระดับปริญญาตรีโทและเอก ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นว่าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์จะมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการอันเป็นฐานสำคัญในการแข่งขันกับนานาชาติในสาขานี้ เช่น การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ สาขาฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยยังมีจุดอ่อนด้านนี้ (สยามรัฐ วันพุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ระบบน้ำเสียไร้อากาศประสิทธิภาพสูงแบบตรึงเซลล์ สำหรับโรงเรียนอุตสาหกรรมเกษตร

กลุ่มวิจัยและพัฒนาของสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน ได้มีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียระบบเปิดประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการหมักน้ำเสียภายในถังปฏิกรณ์ เพื่อบำบัดน้ำเสีย ลดปัญหาเรื่องกลิ่น รวมทั้งยังได้ก๊าซชีวภาพในกรณีที่น้ำเสียมีความสกปรกสูง และสามารถเก็บก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานในโรงงานได้ คณะผู้วิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบของระบบบำบัดน้ำเสียไร้อากาศแบบประสิทธิภาพสูงให้เหมาะกับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรที่มีค่าซีโอดีและสารแขวนลอยสูง คือระบบบำบัดแบบตรึงเซลล์จุลินทรีย์ชนิดไม่ใช้อากาศ การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับโรงงานต้นแบบ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในประเทศ การก่อสร้างระบบใช้วัสดุภายในประเทศออกแบบและดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ ผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบน้ำเสียไร้อากาศประสิทธิภาพสูงแบบตรึงเซลล์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร” ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2545 จากสภาวิจัยแห่งชาติ (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 31)





เสริมเกราะให้กระดูกด้วยชา

ข่าวดีของคนที่ชอบดื่มชา เพราะการดื่มชานอกจากจะช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่าแล้วยังมีการศึกษาระบุว่าการดื่มชาเป็นประจำ อาจช่วยให้กระดูกแข็งแรงอีกด้วย ศูนย์วิจัยเนสท์เล่เผยผลการศึกษาในไต้หวันพบว่าการดื่มชาเป็นเวลานานอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกได้ เนื่องจากชาจะมีส่วนประกอบของสารฟลูออไรด์ และฟลาวโวนอยด์ (flavenoids) ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนที่อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกได้ โดยประโยชน์นี้จะพบในคนที่ดื่มชาดำ ชาเขียว หรือชาอู่หลง เฉลี่ยวันละ 2 แก้วเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี การศึกษานี้ทำในประชากรชาย-หญิง อายุ 30 ปีขึ้นไป จำนวน 1,037 คน โดยสอบถามประวัติพฤติกรรมการดื่มชา และวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) และได้พิจารณาปรับปัจจัยที่อาจมีผลกระทบอื่น เช่น เพศ อายุ ความหนาแน่นของร่างกาย (bodymass index) และลักษณะการดำเนินชีวิต โดยประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างจะดื่มชาเป็นประจำมาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะดื่มชาเขียวหรือชาอู่หลงโดยไม่ใสนม ซึ่งชาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่นิยมในคนเอเชีย ขณะที่ชาวตะวันตกมักดื่มชาดำ อย่างไรก็ตามการดื่มชาเหล่านี้จะให้ผลเหมือนกัน เนื่องจากมาจากพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างกันในวิธีผลิตเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 หน้า 3)





ไทยทำสำเร็จ หอมมะลิเสริมธาตุเหล็ก

นายอภิชาติ วรรณวิจิตร หัวหน้าหน่วยค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ว่า หลังจากใช้ความพยายามนาน 9 เดือน ขณะนี้กลุ่มวิชาการจากไบโอเทคและสมาคมนักปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรและมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีธาตุเหล็ก โดยวิธีการผสมกับ (Line Conversion) จากข้าว 2 สายพันธุ์ คือข้าวเจ้าหอมมะลิ 105 และข้าวเจ้าหอมนิล 3 การพัฒนาพันธุ์ข้าวดังกล่าวก็เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มประชากรของคนไทยที่ประสบปัญหานี้มากถึง 26 ล้านคน นายอภิชาติกล่าวว่า จากการนำข้าวหอมนิล 3 ไปตรวจคุณค่าทางโภชนาการที่สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าข้าวมีปริมาณธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวในท้องตลาดถึง 30 เท่า หรือ 0.6 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม เทียบกับ 0.02 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และนอกจากนี้ยังมีโปรตีน สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ เมื่อมีการศึกษาในหลอดทดลองเปรียบเทียบข้าวทั้ง 3 พันธุ์ ยังพบว่าข้าวสุกจากข้าวหอมมะลิ 105 เมื่อเติมน้ำปลามะนาว มีการดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้นจาก 8% เป็น 40% ส่วนข้าวสุกจากข้าวเจ้าหอมนิลเพิ่มจาก 12% เป็น 23% แต่ข้าวสุกจากข้าวพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่าข้าวเจ้าหอมนิล 3 มีคุณสมบัติในการดูดซึมธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวทั้ง 2 พันธุ์ โดยสามารถดูดซึมธาตุเหล็กสูงเพิ่มจาก 14% เป็น 31% ซึ่งผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าข้าวที่มีสีม่วงเข้มมีการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี จึงเชื่อว่าข้าวพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นน่าจะสามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีเงินซื้อโปรตีนมารับประทานเพื่อเพิ่มธาตุเหล็กได้ดี (มติชนรายวัน วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 หน้า 5)





ดื่มน้ำลูกยอเกินทำไตวายเฉียบพลัน ไม่มีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน

แพทย์เตือนดื่มน้ำลูกยอ ระวังได้รับสารโปแตสเซียมและแคลเซียมสูงเกินความต้องการส่งผลให้ไตทำงานหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตพบหลายรายไตพัง ไตวายเฉียบพลัน ย้ำน้ำลูกยอไม่ได้ลดน้ำตาลในคนไข้โรคเบาหวาน แพทย์แผนไทยแนะวิธีใช้ ควรนำลูกยอแก่ห่ามมาทำส้มตำ ฝานบางๆ ตากแห้ง คั่วไฟอ่อนๆ ชงเป็นน้ำชา แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ขับเลือด ยาอายุวัฒนะ นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อด้านโรคเบาหวาน โรงพยาบาลราชวิถีกล่าวว่า น้ำลูกยอไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดหรือรักษาโรคเบาหวานได้ แนะนำให้เลิกดื่ม ควรหันมาควบคุมปริมาณอาหารออกกำลังกายสม่ำเสมอจะดีกว่า การนำวิธีสมัยใหม่ เช่นการดองเพื่อสกัดสารสำคัญในลูกยอนั้น ขอให้ตระหนักถึงปริมาณสารที่สกัดออกมา ควรตรวจวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า มีปริมาณโปแตสเซียม แคลเซียม วิตามินเท่าใด กินมากน้อยแค่ไหน กินอย่างไรจึงจะไม่เกิดอันตราย อย่าลืมว่าสมุนไพรถ้าเกินขนาด ผิดวิธี เกิดโทษเสมอ ต้องวิจัยให้ชัดเจนว่าต้องกินเท่าใด กินอย่างไร กรณีลูกยอสกัดเข้มข้น หมอก็ห่วงกลัวว่าจะได้รับโปแตสเซียมและแคลเซียมมากเกินความต้องการ โดยเฉพาะคนเป็นโรคไตถ้ามีโปแตสเซียมมากเกินไป จะทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 7)





จุฬาฯตีฆ้องกินปลาร้าเจอมะเร็งท่อน้ำดี

นางเนตรนภิส ธนนิเวศสกุล ฝ่ายพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารไนโตรซามีนในปลาร้าเกิดจากกระบวนการหมักที่ใส่ดินประสิวลงไปให้มีสีน่ารับประทาน แม้จะต้มก็ไม่สามารถทำลายสารนี้ได้แต่สามารถลดพิษได้ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ นอกจากนั้นหากหมักปลาร้าด้วยกรรมวิธีที่ไม่สะอาดก็จะมีจุลินทรีย์และทำปฏิกิริยาเกิดเป็นเชื้อครอสติเดียม โบโทลินัม ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปมากๆ จะส่งผลต่อระบบประสาททำให้หายใจไม่ออก เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ นางเนตรนภิสกล่าวอีกว่า เชื้อครอสติเดียม โบโลทินัมเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่เจริญได้ดีในที่ที่ไม่มีอากาศ ซึ่งการหมักปลาร้าจะต้องปิดฝาโอ่งหรือไหเป็นเวลานานๆ เชื้อดังกล่าวยังพบในปูดองและอาหารกระป๋อง วิธีการที่จะปลอดภัยคือ รับประทานปลาร้าที่ต้มแล้ว ส่วนปูดองให้นึ่ง อาหารกระป๋องต้องดูวันหมดอายุ และอุ่นด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 10 นาทีก่อนรับประทาน น.พ.สถาพร วงศ์เจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าคนรับประทานปลาร้าทุกคนจะต้องเป็นมะเร็ง และการพบสารไนโตรซามีนต้องให้ข้อมูลให้ชัดว่ารับประทานปริมาณเท่าไร สะสมนานแค่ไหนด้วย ส่วนปลาร้ากระป๋องนั้นจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. โดยผ่านการควบคุมมาตรฐานการผลิตมาแล้ว มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 11)





ภารกิจเรือเหาะอาภากร

เรือเหาะก๊าซฮีเลียมแบบไร้คนลำแรกของไทยโดยฝีมือวิศวกรคนไทย รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมการบินและอวกาศยาน ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ขณะนี้ทางคณะผู้วิจัยแจ้งว่าเรือเหาะอาภากรได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญทั้ง 3 ภารกิจสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 15-20 ธันวาคมที่ผ่านมาร่วมกับกองพันทหารสื่อสารที่ 1 ศูนย์สอง ได้นำเรือเหาะอาภากรซึ่งติดตั้งวิทยุสื่อสารของกองทัพบก ไปทดสอบประสิทธิภาพการบิน ณ ศูนย์ฝึกทางยุทธวิธี ของกองทัพบก อ.ม่วงค่อม จ.ลพบุรี ผลการทดสอบในช่วง 5 วันดังกล่าว สามารถนำเรือเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า ระยะความสูงจากพื้นดิน 1 กม. หรือประมาณ 3,000 ฟุต ได้ภายใน 15 วินาที โดยที่วิทยุสื่อสารขยายประสิทธิภาพการสื่อสารออกไปได้ไกลกว่า 60 กิโลเมตร ในการทดสอบครั้งนี้ได้ทดลองนำกล้างวิดีโอติดไปกับเรือเหาะด้วย ปรากฏว่าในระยะความสูง 1 กิโลเมตร ได้ภาพที่ชัดเจน ไม่มีสัญญาณรบกวนของวิทยุซึ่งสามารถนำไปขยายผลใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ ได้มากมายต่อไป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม เรือเหาะอาภากรได้ติดตั้งกล้องทีวีของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. บินอยู่เหนือสนามศุภชลาลัย ในระยะความสูง 150-200 เมตร และได้ถ่ายทอดภาพบรรยากาศเคาท์ดาวน์ปีใหม่แพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ไปยังผู้ชมทั้งในประเทศและทั่วโลก และล่าสุดในงานชุมนุมลูกเสือโลก เรือเหาะอาภากรได้ทำการบินจากท่าเรือเกาะเสม็ด อ้อมเรือจักรีนฤเบศร ออกทะเลผ่านหาดนางรำไปยังหาดยาว ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานลูกเสือโลกเพื่อร่วมในพิธีปิดงานลูกเสือโลกอีกด้วย สำหรับแผนงานขั้นต่อไป รศ.ดร.ปองวิทย์ บอกว่า คณะวิศวฯ กำลังวางแผนร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุในการนำเรือเหาะอาภากรซึ่งใช้น้ำมันก๊าซโซฮอล์ E-30 บินข้ามอ่าวจากสัตหีบไปยังชายฝั่ง จ.เพชรบุรี ระยะทาง 60 น็อตดิเดลไมล์ โดยหากบินด้วยความเร็ว 6 น็อต จะต้องใช้ระยะเวลาในการบินรวม 10 ชั่วโมง โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทดสอบประสิทธิภาพการบินและหากไม่มีสิ่งใดขัดข้อง คาดว่าจะทำการบินข้ามอ่าวในราวเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 12)





แนะใช้แมลง…ล่าแมลงศัตรูพืช แก้สารเคมีตกค้าง-ลดเสี่ยงเกษตรกร-ผู้บริโภค

นายสุระ พิมพะสาลี เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร ผู้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “ด้วงมูลสัตว์” จากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศ (BRT) เปิดเผยถึงวิธีป้องกันแมลงศัตรูพืชว่า วิธีกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ดีที่สุดก็คือ เกษตรกรควรใช้การกำจัดทางชีวภาพหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ชีววิธี” โดยใช้แมลงมากำจัดแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี แต่วิธีการนี้ต้องใช้เวลา เพราะการปราบแมลงศัตรูพืชตายในเวลาอันรวดเร็วเหมือนเช่นการใช้ยาฆ่าแมลง แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัยของสารตกค้างแล้ว วิธีนี้จะปลอดภัยสูงสุด อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าสำหรับประเทศไทยนั้นอาจเป็นการยากที่จะให้มีการหยุดใช้สารเคมีเพราะเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกต่อเกษตรกรที่สุดแต่อยากแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเกษตรกรเองควรเปลี่ยนวิธีกำจัดแมลงศัตรูจากการใช้สารเคมีมาเป็นแบบชีววิธีแทน เพราะนอกจากจะไม่สิ้นเปลืองแล้วยังสามารถทำได้ง่ายและปลอดภัยที่สุดอีกด้วย โดยระยะแรกเกษตรกรต้องเรียนรู้ถึงแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืช ผัก ผลไม้ จากนั้นค่อยๆ ใช้พวกแมลงดังกล่าวเข้ามาเป็นประโยชน์กับสวนหรือไร่นาของตัวเองและค่อยๆ ลดจำนวนการใช้สารเคมีลง ซึ่งวิธีนี้จะต้องใช้เวลาและการสังเกตจึงจะพบการเปลี่ยนแปลงที่พืช ผัก ผลไม้แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยและผู้บริโภคจะดีขึ้น (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 7)





วิจัย “ต้นไข่เน่า” หาสารกันแมลง

รศ.ดร.อภิชาต สุขสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2545 สาขาเคมี เปิดเผยว่า ตนเองได้เริ่มทำงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2542 ควบคู่ไปกับงานสอนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่จะจับงานวิจัยเคมีทางด้านผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ ที่เป็นสาขาหนึ่งของเคมีฟิสิกส์ และเป็นงานวัยที่เกี่ยวกับการหาสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจต่างๆ จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ อย่างที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยร่วมกับทีมงานในการหาสารประเภทเอคไดสเตียรอยด์ (Ecdysteroids) จากพืชไทย ซึ่งสารเอคไดสเตียรอยด์ โดยปกติจะพบในแมลงและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอีกหลายชนิด ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการลอกคราบของแมลง จากการวิจัยหาสารประเภทนี้จากพืชในประเทศไทยพบว่าพืชในประเทศไทยบางชนิด สร้างสารเอคไดสเตียรอยด์ในปริมาณที่มาก เช่น ต้นไข่เน่า เป็นไม้ยืนต้นที่พบทั่วไปในประเทศไทย และต้นหมากคังเป็นไม้ยืนต้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่แมลงไม่รบกวนเนื่องจากมีสารชนิดนี้อยู่ จึงสนใจที่จะพัฒนาสารเอคไดสเตียรอยด์ในการทำเป็นสารควบคุมแมลงในอนาคต อีกทั้งยังศึกษาพบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งอื่น ไม่เหมือนในยาฆ่าแมลงที่มีส่วนใหญ่จะฆ่าสิ่งที่ไม่ใช่ศัตรูพืชซึ่งบางครั้งเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ตายไปด้วย และบางครั้งที่เราจะพบว่าแมลงนั้นเองทำให้สมดุลสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย แต่ถ้าเป็นสารเอคไดสเตียรอยด์จะเป็นการควบคุมแมลงไม่ให้มากินพืช ไม่ให้มาแตะต้องพืชนั้น หรือถ้ามาแตะต้องก็ทำให้เบื่ออาหารไปเองเท่านั้น (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2546 หน้า 25)





ทีมวิจัยจุฬาฯ เปิด 14 จุดเสี่ยงแผ่นดินไหว

ผศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษา “แผ่นดินไหวในประเทศไทยและผืนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ทำการศึกษาประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้จากอดีตถึงปัจจุบัน พบหลักฐานที่สำคัญว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่อาจเป็นคำตอบของการล่มสลายของอาณาจักรโยนกนคร ในปี พ.ศ. 1003 รวมถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่นครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2088 จนยอดเจดีย์หลวงสูง 86 เมตร พังลงมา คงเหลือยอดที่สูงเพียง 60 เมตร รวมถึงค้นพบแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้อีกหลายครั้ง จากการศึกษาในเชิงธรณีวิทยาเพื่อหาพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง โดยศึกษาหา “รอยเลื่อนมีพลัง” ซึ่งอาจมีการเคลื่อนตัวและเกิดเป็นแผ่นดินไหวได้ในเมืองไทย และพบรอยเลื่อนประเภทนี้ถึง 14 จุด ได้แก่ 1. รอยเลื่อนแม่จัน 2. รอยเลื่อนแม่ทา 3. รอยเลื่อนเถินลอง-แพร่ 4. รอยเลื่อนน้ำปัด 5. รอยเลื่อนปัว 6. รอยเลื่อนพะเยา 7. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน 8. รอยเลื่อนปิง 9. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ 10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ 11. รอยเลื่อนระนอง 12.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย 13. รอยเลื่อนคลองท่อม 14. รอยเลื่อนโคกโพธิ์สะบ้าย้อย-ยะลา-เบตง จากข้อมูลที่ได้จากการวิจัยได้ทำการแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวของประเทศไทยฉบับใหม่ที่แบ่งพื้นที่เสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวเป็น 4 บริเวณ คือ 1. โซน-0 : เป็นบริเวณที่แทบไม่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวเลย ได้แก่ ภาคอีสาน 2. โซน-1 : เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวต่ำ ได้แก่ ภาคกลาง และภาคตะวันออก 3. โซน-2 : เป็นบริเวณที่มีระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ได้แก่ ภาคตะวันตก 4. โซน-4 : เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างสูง ได้แก่ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 2)





ข่าวทั่วไป


สธ.แฉอันตรายวัยรุ่นหญิงเสียสาวซ้อนท้ายแข่งแมงกะไซค์พ่ายหนุ่ม

เมื่อวันที่ 15 มกราคม นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วัยรุ่นไทยมีค่านิยมที่เสี่ยงอันตรายมากนำมาเป็นแกนประลองโดยแอบแฝงไปกับการแข่งรถจักรยานยนต์หากฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ฝ่ายหญิงที่นั่งซ้อนท้ายรถแข่งคันนั้นต้องเป็นผู้จ่ายค่าแพ้โดยความสมัครใจไปนอนกับผู้ขับขี่ฝ่ายที่ชนะแทนการจ่ายเงินในโรงแรมม่านรูด ค่านิยมนี้จะเริ่มขยายตัวจากกรุงเทพมหานครชานเมืองไปต่างจังหวัด ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันปราบปรามพฤติกรรมนี้ ปกป้องภัยจากอุบัติเหตุและโรคเอดส์ ทั้งนี้ วัยรุ่นที่มีค่านิยมดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่มัธยมปลาย นางนิตยาเปิดเผยว่า จากการสำรวจพฤติกรรมทางเพศเนื่องในวันแห่งความรักในปี 2545 พบว่า วัยรุ่นบางคนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่อมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น มีร้อยละ 30 ที่มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุระหว่าง 15-19 ปี โดยเฉลี่ยวัยรุ่นชายมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วกว่าวัยรุ่นหญิง โดยวัยรุ่นชายมีอายุเฉลี่ยประมาณ 18 ปี ส่วนวัยรุ่นหญิงเฉลี่ยอายุ 19 ปีเศษๆ บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยกันครั้งแรกคือคนรัก และมักไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย สาเหตุที่ไม่ใช้ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่เตรียมไป รองลงมาคือความไม่ชอบหรือรู้สึกว่าใช้ถุงยางอนามัยแล้วทำให้ความรู้สึกลดลงและไม่กล้าซื้อ ส่วนการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่รู้จักกันผิวเผินไม่ใช่คนรักส่วนใหญ่จะใช้ถุงยางอนามัย (มติชน พฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 18)





ไมโครซอฟท์เปิดซอร์สโค้ดเจาะข้อมูล-ช่วยความมั่นคง

เมื่อวันที่ 15 มกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์และเอพี รายงานจากนครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ว่าบริษัทไมโครซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดว์สประกาศจะเปิดซอร์สโค้ดของวินโดว์ให้กับรัฐบาลและองค์กรสากลทั่วโลก โดยในระยะเริ่มต้นจะเรียกว่า “โครงการเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล” ซึ่งไมโครซอฟท์ระบุว่า รัฐบาลและหน่วยงานในความดูแลจะสามารถใช้ซอร์สโค้ดของบริษัทได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านความมั่นคงให้มากขึ้น เช่น ใช้สำหรับการตามรอยข้อมูลส่วนบุคคลการตรวจสอบบัญชี รวมไปถึงเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยที่ไมโครซอฟท์จะช่วยด้านข้อมูลทางเทคนิคที่ลูกค้าต้องการเพื่อใช้สำหรับพัฒนางานเพื่อความมั่นคงที่ใช้ระบบปฏบัติการวินโดว์สด้วย รายงานระบุว่า การกระทำดังกล่าวของไมโครซอฟท์มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความมั่นคงในตลาดลูกค้าที่เป็นกลุ่มรัฐบาลให้มากขึ้น หลังจากที่ไมโครซอฟท์กลายเป็นผู้จัดหาซอฟท์แวร์รายใหญ่ที่สุดหรือไม่ก็เป็นอันดับสองของรัฐบาลในหลายประเทศ โดยไมโครซอฟท์ได้ลงนามตกลงร่วมกับรัฐบาลรัสเซียและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในข้อเสนอดังกล่าวแล้ว (มติชน พฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 10)





ปฏิญญาโตเกียวหนุนใช้เน็ตลดช่องว่างสังคม

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม ระบุว่า ตัวแทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งจากรัฐบาล นักธุรกิจและกลุ่มรากหญ้า ตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการใช้อินเตอร์เน็ตในภูมิภาค ตามปฏิญญาโตเกียว ที่ได้รับการเห็นชอบจากผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 วัน โดยผู้เข้าร่วมประชุมราว 500 คน จาก 48 ประเทศ องค์กรสากล 21 แห่ง จากกลุ่มธุรกิจ 53 กลุ่ม และกลุ่มเอ็นจีโออีกกว่าร้อยกลุ่ม แถลงการณ์จำนวน 11 หน้ากระดาษระบุว่า การเข้าถึงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวางจะช่วยลดปัญหาความยากจนได้ เพราะจะทำให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงพื้นที่ห่างไกลออกไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพด้านการศึกษาและช่วยพัฒนาประเทศในระยะยาว (มติชน พฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 10)





2 องค์กรร่วมจัดงานเยาวชนสมองแก้ว

นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ จัดค่ายเยาวชนสมองแก้ว เกษตรศาสตร์-ซีเกท ในโครงการค่ายเยาวชนสมองแก้ว รุ่นที่ 16 ระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน นี้ โดยในปีนี้จะเน้นหนัก ในเรื่องการสนับสนุนให้เยาวชนเรียนรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นพื้นฐาน และเปิดโอกาสให้พัฒนา และเสริมสร้างความเข้าใจถึงการนำความรู้มาปรับใช้ นอกจากส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาในช่วงปิดภาคฤดูร้อนให้เป็นประโยชน์ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 6)





คพ.เผยสารตะกั่วปนเปื้อนสูงในสองลุ่มน้ำ

ดร.วิจารย์ สิมะฉายา ผอ.ส่วนน้ำจืดกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำปัตตานีใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีการปนเปื้อนของสารหนูประมาณ 5.2 ไมโครกรัมต่อลิตร จากค่ามาตรฐาน 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงพบว่าในตะกอนดินใต้ท้องน้ำ พบสารหนูสูง 300-500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าตะกอนในธรรมชาติที่กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยสาเหตุของการปนเปื้อนสารหนูดังกล่าว เกิดจากกองขี้แร่กาลีน่า ซึ่งมีองค์ประกอบของสารหนู จำนวนหลายร้อยตัน กองทิ้งในพื้นที่ประมาณ 54 ไร่ จากกิจกรรมเหมืองแร่ที่เคยให้สัมปทานไปแล้วเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมดสัมปทานไปแล้วตั้งแต่ปี 2543 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 8)





เตือนคุณแม่มือใหม่เลี่ยงกินเฟรนซ์พรายส์

ศ.ฟริตซ์เซอร์เกล นักวิจัยแห่งสถาบันชีวเคมีและเภสัชศาสตร์ในเมืองนูเรมเบิร์กของเยอรมนีกล่าวเตือนหญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ที่ต้องให้นมบุตรให้งดกินเฟรนซ์ฟรายส์ หรืออาหารทอดอื่นๆ เพราะมีสารเคมีอะครีลาไมด์ละลายในน้ำได้ ทารกจึงเสี่ยงรับสารพิษนี้ผ่านกระแสเลือดและน้ำนม ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาททำให้เด็กแรกเกิดมีพัฒนาการล่าช้าได้ ผู้วิจัยแนะนำว่า คุณแม่ที่ต้องให้นมลูกควรหยุดกินเฟรนซ์ฟรายส์ที่ทอดในอุณหภูมิเกิน 180 องศาเซลเซียสไปจนกว่าลูกจะอายุ 2 เดือน ทั้งนี้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรจำกัดการกินอาหารปนเปื้อนสารอะครีลาไมด์ไม่ให้เกินวันละ 20 ไมโครกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับการบริโภคมันฝรั่งราว 10 กรัม ซึ่งจากการทดสอบน้ำนมแม่พบสารอะครีลาไมด์ในปริมาณลิตรละ 18.8 ไมโครกรัม ซึ่งถ้าหากทารกดื่มน้ำนมเพียงครึ่งลิตรก็เท่ากับบริโภคสารอะครีลาไมด์ไปเกือบ 10 ไมโครกรัม (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 3)





กินอาหารไขมันต่ำลดเสี่ยงมะเร็ง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอฟกินส์ ในเมืองบัลติมอร์ ของสหรัฐ พบว่า การกินอาหารไขมันต่ำตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นอาจช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านมของผู้หญิงได้เนื่องจากพฤติกรรมการกิจอาจช่วยลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ได้จากการศึกษาเด็กหญิง 286 คน อายุระหว่าง 8-10 ปี ที่มีพฤติกรรมการกินทั้งแบบปกติ และกลุ่มที่กินอาหารไขมันต่ำ จากนั้นวัดระดับฮอร์โมนเพศในเลือด ในการศึกษานาน 7 ปี ผลปรากฏว่า เด็กสาวที่กินอาหารไขมันต่ำมีระดับฮอร์โมนเอสโตเจนลดลงร้อยละ 30 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 3)





เจนติพงษ์ พุ่มจันทร์ ‘ผมอยากทำห้องสมุดออนไลน์ให้คนใช้ได้ทั่วปท.’

“เจนติพงษ์ พุ่มจันทร์” ได้เขียนโปรแกรมของตัวเองขึ้น เพื่อทำธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ที่โมเดลธุรกิจไม่เหมือนใครเนื่องจากวางคอนเซ็ปท์ไว้ว่า ร้านหนังสือของเขาเป็นห้องสมุดเพราะไม่ใช่ร้านขายหนังสือ แต่เป็นการให้เช่าหนังสือ ภายใต้ชื่อ www.thailib.com ขึ้น ทั้งนี้เจนติพงษ์ เปิดเว็บไซต์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ ต.ค.2545 โดยกำหนดค่าบริการในการยืมไว้ 4 อัตรา คือ สมาชิกครึ่งปี 500 บาท ยืมหนังสือครั้งละไม่เกิน 5 เล่ม ราคารวมปกไม่เกิน 500 บาท แบบ 1 ปี 800 บาท ยืมครั้งละไม่เกิน 7 เล่ม รวมปกไม่เกิน 800 บาท แบบ 2 ปี 1,500 บาท ยืมได้ครั้งละไม่เกิน 10 เล่ม รวมปกไม่เกิน 1,200 บาท แบบ 4 ปี 2,500 บาท ยืมได้ไม่เกินครั้งละ 10 เล่ม รวมปกไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนการจัดส่ง ลูกค้าจะได้รับหนังสือผ่านทางไปรษณีย์โดยไม่ต้องเสียค่าส่ง แต่เมื่อส่งหนังสือคืนทางลูกค้าจะเป็นผู้เสียค่าจัดส่งเองประมาณ 40 บาท มีระยะเวลาการยืม 20 วัน หากยืมเกินตามที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับ 10% จากราคาปกหากไม่เกิน 10 วัน 20% จากราคาปก หากไม่เกิน 20 วัน เจติพงษ์บอกถึงแหล่งรายได้ของเว็บไซต์ว่า จะมาจากการสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งจะถูกจัดเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกาทำธุรกิจขณะเดียวกันก็จะมีรายได้จากการคืนหนังสือล่าช้าของบรรดาสมาชิก (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 32)





กำหนด 4 แบบ ‘ถังขยะ’ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ

กรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนหน่วยงานที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการขยะมูลฝอย 10 หน่วยงาน ได้ประชุมหารือกันเพื่อกำหนดรูปแบบถังขยะให้เหมาะสมและเป็นรูปแบบเดียวกันเพื่อทำให้การเก็บขนและจัดการขยะในพื้นที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สับสน ประหยัดต้นทุนการผลิตถังขยะแล้ว ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า เห็นควรกำหนดถังขยะให้มี 4 สี โดยสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนตามการใช้งาน ความเหมาะแต่ละพื้นที่ โดยให้ถังสีเหลืองใช้สำหรับขยะรีไซเคิล ถังสีเขียวสำหรับขยะย่อยสลาย ถังสีน้ำเงินสำหรับขยะทั่วไป ถังสีเทาหรือคาดแถบสีส้มสำหรับขยะมีพิษ (มติชน จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 18)\





อินเดียใช้ ‘อะลูมิเนียมผสมนิกเกิล’ สร้างพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 19 มกราคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างหนังสือพิมพ์เดอะ ไทม์ส ออฟ อินเดีย ว่า อินเดียจะหล่อพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นเพื่อให้ประดิษฐ์ฐานอยู่ที่เมืองกุสินารา ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดียอันเป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์นี้จะมีขนาดสูงกว่ารูปปั้นเทพีสันติภาพที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ถึง 3 เท่า หรือ ขนาดสูงราว 152.4 เมตร (มติชน จันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 หน้า 10)





บริษัทรถขนเงินแห่ติดจีพีเอส

นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ผจก.ฝ่ายขาย บริษัท ดีทีซี จำกัด เปิดเผยถึงธุรกิจระบบติดตามยานพาหนะด้วยดาวเทียมจีพีเอส ในขณะที่ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่แล้ว 200 บริษัทหรือราว 4,000 คัน โดยใช้จีพีเอสควบคู่กับการส่งข้อมูลทางวิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม trunk radio ระบบการติดตามและส่งข้อมูลของรถผ่านวิทยุสื่อสารดังกล่าวเป็นการติดตามแบบออนไลน์ซึ่งจะสื่อสารกันได้ตลอดเวลา สามารถควบคุมรถ หรือสั่งดับเครื่องยนต์ได้จากคอมพิวเตอร์ภายในศูนย์วิทยุของบริษัทด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 12)





ชี้ “ดื่มปัสสาวะ” มีอันตรายต่อไต มีสิทธิเจอโลหะหนัก-แบคทีเรีย

นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีชาวบ้านอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีความเชื่อว่าการดื่มน้ำปัสสาวะของตัวเองเพื่อบำบัดโรคบางโรคว่า การดื่มปัสสาวะบำบัดอาการเจ็บป่วย ยังไม่มีการพิสูจน์ทางแพทย์อย่างแน่ชัดว่าสามารถรักษาโรคได้จริง แต่ในการแพทย์แผนไทยมีระบุไว้ว่า ปัสสาวะที่นิยมใช้จะเป็นจะนำปัสสาวะจากเด็กผู้ชายมาใช้เป็นกระสายยา เพื่อดับพิษ แก้ตัวร้อน แก้ปวดร้าวระบม แก้ช้ำใน แก้พิษตะขาบ แมลงป่อง อีกทางหนึ่งมีการนำเอาปัสสาวะของตนเอง ใส่ภาชนะเกรอะทิ้งไว้ค้างคืน แล้วรินเอาน้ำใสๆ มาดองกับลูกสมอเป็นอายุวัฒนะ นางนิตยา กล่าวต่อว่าไตเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ที่มีบทบาทขับสารพิษและของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการทางปัสสาวะ ในประชาชนบางรายที่รับสารรพิษเข้าไปโดยไม่รู้ตัว สารโลหะบางอย่างจะถูกขับออกทางปัสสาวะประมาณร้อยละ 76 ดังนั้น หากนำน้ำปัสสาวะที่มีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ มาดื่มซ้ำอีก จะเป็นทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย อาจทำให้ไตวายได้เร็ว (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 8)





โตโยต้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ “เรดาร์” กันภัย

หนังสือพิมพ์ดิ เอเชียน วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้พัฒนาอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุสำหรับรถยนต์ ด้วยการติดตั้งเรดาร์ขนาดเท่ากระเป๋าสตางค์ไว้ที่โครงรถด้านหน้า เพื่อใช้กำหนดระยะห่างขอบวัตถุที่จะพุ่งชนตัวรถ ทำให้ทราบเวลาที่รถจะถูกชน โดยเข็มขัดนิรภัยจะกระชับตัวผู้โดยสารมากขึ้นและเพิ่มแรงเบรกได้ภายในเสี้ยววินาทีก่อนที่รถจะถูกชน ถือเป็นการช่วยลดความเสียหาย และเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร โตโยต้าเผยว่าหลังจากทำการทดสอบแล้วพบว่า บรรดาผู้ขับขี่ที่เร่งความเร็วพุ่งเข้าหาสิ่งกีดขวาง ถือเป็นความรู้สึกที่แปลกในการขับรถที่สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ และยังตอบสนองได้โดยอัตโนมัติ ค่ายรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นแห่งนี้เผยว่าจะนำระบบนี้มาใช้กับรถยนต์รุ่นเล็กซัสในญี่ปุ่นเดือนหน้า ทั้งนี้ โตโยต้าชี้ว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที มากกว่าเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดหรือพวงมาลัยเป็นเหตุ ซึ่งเรดาร์นี้จะช่วยผ่อนแรงการชนได้ 2 ทาง คือ การกำหนดเบรกให้แรงขึ้น และทำให้เข็มขัดนิรภัยกระชับมากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 29)





ชี้กลืนยาสีฟันมากส่งผล “ฟันตกกระ”

น.พ.ธีระ พิทักษ์ประเวช อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ยาสีฟัน โดยสอบถามผู้ปกครองของเด็กอายุ 1-7 ปี พบว่าเด็กร้อยละ 79.2 เริ่มใช้ยาสีฟันเมื่ออายุ 2 ปี หรือต่ำกว่า ร้อยละ 79.7 ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ร้อยละ 46.4 เคยกินยาสีฟันระหว่างแปรงฟัน ร้อยละ 31.8 ใช้ยาสีฟันทั่วไปซึ่งเป็นยาสีฟันสูตรสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อศึกษาเรื่องการกลืนยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในกลุ่มเด็กอายู 3-6 ปี พบว่า เด็กอายุ 3 ปี จะกลืนยาสีฟันเฉลี่ยประมาณหนึ่งในสามของปริมาณที่ใช้ และเด็กบางคนยังกลืนยาสีฟันในปริมาณที่มากกว่าร้อยละ 90 ของที่ใช้แต่ละครั้ง ทั้งนี้พฤติกรรมดังกล่าวขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ปริมาณยาสีฟันที่ใช้ในแต่ละครั้ง รวมทั้งการบ้วนน้ำให้สะอาดหลังแปรงฟัน การกลืนหรือกินยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์มากเกินไปจะส่งผลให้ฟันตกกระ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามของผิวฟันตามมาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลืนกินยาสีฟัน ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กเข้าใจและรับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาในภายหลัง และควรบีบยาสีฟันบนขนแปรงและรับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาในภายหลัง และควรบีบยาสีฟันบนขนแปรงตามแนวขวางแทนการบีบตามแนวนอน โดยให้มีปริมาณขนาดเท่าเม็ดถั่ว วิธีนี้จะทำให้เด็กได้รับยาสีฟันประมาณ 0.27 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสม (มติชนรายวัน วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 หน้า 18)





เตือนระวังฝุ่น หิน และผ้าเบรก ต้นเหตุโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด

น.พ.กำจัด รามกุล ผู้อำนวยกองสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า โรคแอสเบสโตสิส (Asbestosis) เป็นโรคจากฝุ่นละอองมี 2 ชนิด คือ ฝุ่นละอองหินและฝุ่นละอองจากเส้นใย ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.5-10 ไมครอน ฝุ่นละอองที่เกิดจากเส้นใยมักจะเป็นเส้นใยแอสเบสตอส (Asbestos) เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น ผ้าเบรกของรถยนต์ที่ใช้ระบบเบรกแบบรัมเบรกกระเบื้อง ปูนซีเมนต์ เส้นใยชนิดนี้จะหลุดจากตัวอาคารซึ่งมีอายุเก่า 30-40 ปี หรือรถยนต์ในจังหวะที่เหยียบเบรกทำให้ผ้าเบรกเกิดการเสียดสีเส้นใยจึงหลุดออกมาล่องลอยในอากาศ ยิ่งผ้าเบรกเสื่อมเส้นใยก็จะหลุดออกมามากยิ่งขึ้น หากตำรวจหรือประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นประเภทนี้เป็นประจำนาน 5-10 ปี ก็จะทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดหรือมะเร็งปอดจากเส้นใยแอสเบสตอสได้ น.พ.กำจัดกล่าว “ขณะนี้สถิติของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากเส้นใยแอสเบสตอสยังไม่ ปรากฎชัดเพราะโดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดจากเครื่องเอกซเรย์ธรรมดดา แต่ถ้าแพทย์ต้องการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดที่เกิกจากเส้นใยแอสเบสตอสต้องใช้กระบวนการซีทีสแกน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ประมาณ 5,000- 6,000 บาท แม้ว่าเส้นแอสเบสตอสจะไม่รุนแรงเท่ากับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ซึ่งมีพิษเฉียบพลัน แต่เส้นใยนี้เป็นการสะสมระยะยาวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ระยะเวลาการเกิดโรคประมาณ 5-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณในการรับเส้นใยแอสบอสตอสสู่ร่างกาย อาการขั้นแรกคือน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วและมีอาการไอเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคไม่ได้ เพราะเป็นอาการเบื้องต้นของหลายโรค ผู้ใดมีอาการเช่นนี้ขอแนะให้เอกซเรย์ปอดทุกๆ 6 เดือน และถ้าเป็นมะเร็งปอดควรตรวจด้วยซีทีสแกน เพื่อตรวจดูว่าเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดหรือไม่ เพื่อการรักษาและการปฏิบัติที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ขอเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนควรสวมหน้ากากที่มีไส้กรองหรือหน้ากากที่เป็นกระดาษอัด เนื่องจากหน้ากากที่ผลิตจากผ้าธรรมดานั้นไม่สามารถกันฝุ่นละอองขนาดที่เล็กกว่า 10 ไมครอนได้” (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 หน้า 18)





คนเอเชียคลั่งเล่นเกมออนไลน์ คาดอนาคตจะต้องติดกันทั้งบ้าน

สำนักข่าวซีเน็ตรายงานว่า ผลการสำรวจผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวน 3,600 คน ใน 6 ประเทศเอเชียของบริษัทไอดีซี ได้แสดงให้เห็นถึงความนิยมของการเล่นเกมบนอินเตอร์เน็ตมากกว่าการสั่งซื้อของผ่านเครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะในจีนและมาเลเซีย ที่ซึ่งตัวเลขผู้เล่นเกมสูงกว่านักช็อปปิ้งคิดเป็นสัดส่วน 2 : 1 ตัวแทนบริษัทไอดีซีกล่าวว่ากลุ่มตัวอย่างในประเทศจีน 43% ตอบว่านิยมเล่นเกมออนไลน์ ขณะที่อีก 16% ตอบว่าชื่นชมการซื้อของทางอินเตอร์เน็ตมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในประเทศเกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และอินเดีย แม้กระนั้น การเล่นเกมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลมาจากสมบัติของเกมที่เล่นพร้อมกันได้หลายคน แต่ตัวแทนบริษัทไอดีซีให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมแห่งนี้กำลังเปลี่ยนไปเป็นเกมสำหรับครอบครัวที่เล่นได้ง่าย ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้บริโภคในกลุ่มอายุต่างๆ ขณะที่ผู้ชายยังคงเป็นผู้เล่นกลุ่มใหญ่ในตลาดเกมออนไลน์ของภูมิภาคนี้ แม้ความแตกต่างด้านเพศกำลังจะลดน้อยลงในหลายประเทศ อย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และ เกาหลี ซึ่งผู้หญิงในประเทศเหล่านี้ เล่นเกมออนไลน์คิดเป็นอัตราส่วน 48%, 47%, และ 36.5% ตามลำดับ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 7)





เสนอใช้แคปซูลติดกล้องไร้สายขนาดจิ๋ว ทำหน้าที่กระสวยตรวจโรคทางเดินอาหาร

น.พ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และเลขานุการชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย แถลงว่า แพทย์พบผู้ป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร และแผลในสำไส้เล็กเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นด้วย ชมรามเสนอวิทยาการใหม่คือ การวินิจฉัยโรคทางเดินอาหาร ด้วยการกลืนแคปซูลที่ติดเลนส์กล้องบันทึกภาพ โดยกลืนแคปซูลพร้อมน้ำ แคปซูลจะไปตามทางเดินอาหารและจำส่งสัญญาณภาพที่บันทึกได้ไปยังชุดสายอาหาศรับส่งสัญญาณที่ติดไว้บริเวณหน้าท้องด้านนอกของคนไข้รวม 8 จุด จากนั้นสัญญาณดังกล่าวจะส่งต่อเนื่องไปบันทึกในเครื่องบันทึกภาพและข้อมูล ที่ติดตั้งไว้กับเข็มขัดรัดเอวคนไข้ ในกระบวนการและขั้นตอนที่ว่านี้จะใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง จากนั้นแคปซูลจะถูกขับออกมากับระบบขับถ่ายปกติพร้อมอุจจาระ ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยแต่ละครั้งประมาณ 36,000 บาท และเครื่องที่ประเมินผลข้อมูลที่ได้ประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนคนไข้ที่บ่งชี้ว่าไม่สามารถใช้วิธีการนี้คือ คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีอาการของลำไส้ที่ไม่บีบรัดตัว คนไข้ที่มีปัญหาลำไส้อุดตันและมีพังผืดในลำไส้ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2546 หน้า 18)





ฝรั่งเศสจับมือไทยลงทุนเปิดสนามแข่งรถใหญ่สุดในโลก

นายสวิน ชาติสุวรรณ ผู้อำนวยการบริษัท คาร์ทิ่ง สเตเดี้ยม จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะเปิดสนามแข่งรถในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในชื่อว่า บางกอก คาร์ทิ่ง สเตเดี้ยม บริเวณชั้น 2 ของอาร์ซีเอ พลาซ่า บนถนนรอยัลซิตี้ อเวนิว พื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ใช้งบฯลงทุนรวมกันระหว่างไทยกับผู้ลงทุนฝรั่งเศสรวม 60 ล้านบาท สนามแข่งรถในร่มนี้คาดว่าจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยมีรถแข่งขนาด 270 ซีซี ที่ผลิตในประเทศฝรั่งเศสกว่า 50 คัน รองรับนักแข่งกว่า 1,000 คนต่อวัน นอกจากนี้นักขับทุกคนจะได้รับความปลอดภัยในการขับขี่ซึ่งทางสนามได้นำอุปกรณ์มอุปกรณ์มาตรฐานมาใช้ เช่น ชุดขับรถแข่ง หมวกกันน็อก และถุงมือขับรถ ลูกค้าส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยกลางคน บางกอก คาร์ทิ่ง สเตเดี้ยม ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 40% และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2546 นายสวิน กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกประเทศไทย เพราะได้พิจารณาถึงขนาดของเมือง ประชากร และความสนใจของคนไทยต่อการแข่งรถ กีฬาความเร็วและเครื่องยนต์ ซึ่งย่านอาร์ซีเอพลาซ่าเป็นแหล่งที่เหมาะสมเพราะเป็นแหล่งที่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายและมีขนาดพื้นที่เหมาะสม (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215