หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 2003-02-18

ข่าวการศึกษา

‘ม.นเรศวร’ ตีกรอบ 5 ยุทธศาสตร์เร่งพัฒนากรอ.รับมือสี่แยกอินโดจีน
นักวิชาการติงปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว
เดินหน้าผลิตบัณฑิตตามความต้องการสังคม
ศธ.เปิดเสรีผลิตสื่อการศึกษาทุกประเภท
‘จาตุรนต์’ ปฏิเสธสั่งถอนร่าง ม.นอกระบบชี้เป็นการสร้างความปั่นป่วนของปอมท.
เกมจักรยานซิมูเลเตอร์…ท้าวัยโจ๋ปั่นทั่วไทย
กศน.ปรับงานศูนย์ไทยคมรองรับการศึกษาทางไกล
ม.รังสิตเปิดตัว 3 คณะใหม่สร้างทางเลือกให้นักศึกษา
เริ่มทดลองเครื่องมือวิจัยค่าใช้จ่ายรายหัว
ยอมขรก.ศธ.ประเมินสถานศึกษาร่วมสมศ.
ศึกษาฯ ยืนอุดหนุนรายหัว ป.1-ม.6
เตรียมเสนอร่างกม.ตั้งสถาบันทดสอบ
เผยน.ร.อุบลฯอ่านหนังสือไม่ออกเพียบ
ชง ‘วีระศักดิ์’ ทบทวนสมุด-ดินสอ 70%
แนะดึงวิถีชีวิต – วัฒนธรรมนำการศึกษา
ทก. ตั้งเป้าสิ้นปี 2547 โรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตทุกแห่ง
ชี้ 1 พ.ค. ได้ใช้โครงสร้างใหม่ ยืนเขตพื้นที่ฯ ไม่เป็นนิติบุคคล
ศธ. คลอดแนวปฏิบัติย้ายโรงเรียนสกัดหลักสูตรมั่ว
สะกิดผู้ปกครองระวัง ร.ร.เถื่อน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

มะกันคิดเครื่องพิมพ์สร้างเนื้อเยื่อสามมิติ
มันสมองเจ๋ง ! เด็กอาชีวะเทศบาลนครปฐมโชว์อัจฉริยะประดิษฐ์รถประหยัดเชื้อเพลิง !!
เครื่องให้ข้าวเจ้าตูบอัตโนมัติ
เปิดตัว 7 หุ่นยนต์สัญชาติไทยในงาน 10 ปี สกว.
วว.ประดิษฐ์ ‘เครื่องล้างผัก’ ไฮเทคเตรียมตำน้ำพริกสำเร็จรูปส่งออก
ระบบพลังงานขัดข้องทำ ‘ไทยคม3’ ล่ม
วว. ผลิตเครื่องแยกกากมะขาม ลดต้นทุนการผลิตใช้วัตถุดิบคุ้มค่า
กลิ่นดอกไม้ผลไม้มีอิทธิพลจิตใจ บางกลิ่นปลุกสมองแล่นหัวคิดไว
ประดิษฐ์หุ่นยนต์คนรับใช้ตามบ้าน ใช้ปรนนิบัติผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรง

ข่าววิจัย/พัฒนา

จาก ‘ขี้หมู’ กลายเป็นพลังงานสีเขียว…เพื่อสิ่งแวดล้อม
ยิ่งแก่ สเปิร์มยิ่งอ่อนแอ
พบยีนบกพร่องทำหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สกว.เปิดตัวหุ่นยนต์ไทยครบรอบ 10 ปี
คณบดีศึกษาศาสตร์ มช. แฉ 18 มงกุฎอ้างฝากเด็กเข้าสาธิต
ผ่อนผันกฏระเบียบ ให้รับเด็กกลางคัน

ข่าวทั่วไป

สภาอุตฯภาคอีสานจับมือมข.ผลิตเครื่องจักรลดนำเข้า
สมาคมโภชนาการยันเปิบปลาร้าสุกไม่เป็นมะเร็ง
อบต.ไร่ส้มคิดค้นสำเร็จหม้อแกงสูตรกระชายดำ
อังกฤษพัฒนาระบบส่งที่อยู่เวบ
‘อย.’ เตือนภัยผู้บริโภคสารเคมีใกล้ตัว
เตือนใช้คอมพ์นานเสี่ยงเกิดอาการเส้นเลือดคั่ง
วิทยุอินเทอร์เน็ตโฉมใหม่การฟังเพลง





ข่าวการศึกษา


‘ม.นเรศวร’ ตีกรอบ 5 ยุทธศาสตร์เร่งพัฒนากรอ.รับมือสี่แยกอินโดจีน

รศ.พัฒนา ราชวงศ์ หัวหน้าโครงการศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อการพัฒนากรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือกลุ่มที่ 3 (สี่แยกอินโดจีน) เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับว่าจ้างจากกรอ. ภาคเหนือกลุ่มที่ 3 (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์ สุโขทัย) วงเงิน 1 ล้านบาทให้จัดทำยุทธศาสตร์มีกำหนดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะจัดพิมพ์ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อให้กรอ. กลุ่มใช้เป็นแนวทางการพัฒนา ทั้งนี้จากการศึกษาระยะเวลาเกือบหนึ่งปี พบว่าอุปสรรคในการพัฒนากรอ. กลุ่มจังหวัดที่สำคัญ คือ แต่ละจังหวัดยังมีการแข่งขันกันมากกว่าที่จะเสนอการพัฒนาร่วมกันในกลุ่มจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดไม่มองการพัฒนาโดยรวม และการนำเสนอโครงการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นับแต่จัดตั้งกรอ. กลุ่มยังไม่มีแนวทางการพัฒนาร่วมกันชัดเจน ดังนั้น จึงได้มีการเสนอทางออกว่าแต่ละจังหวัดจำเป็นต้องสลายแนวพรมแดนจังหวัดและให้มองการพัฒนาโดยรวม โดยต้องมีการจัดประชุมร่วมกันให้บ่อยครั้ง และต้องนำแผนยุทธศาสตร์ไปใช้อย่างจริงจัง สำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเสนอการพัฒนาไว้ 5 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน การผลิตและการพาณิชย์ 2.ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการท่องเที่ยวและการรักษาสิ่งแวดล้อม 4.ยุทธศาสตร์ส่งเสริม/พัฒนา/ถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา 5.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมความเข็มแข็งของชุมชนโดยเสนอแผนงานการพัฒนา 8 แผนงาน และแปลงเป็นโครงการใหม่จำนวน 35 โครงการ ที่จะสนับสนุนการพัฒนากรอ.ภาคเหนือกลุ่มที่ 3 (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 21)





นักวิชาการติงปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว

จากกรณีที่สภาสถาบันราชภัฏ ขอคงเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรม ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจนกว่าสถาบันราชภัฏ (รภ.) ทุกแห่ง จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลนั้น ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนได้ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ในเรื่องนี้ถือเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะต้องขอพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ได้มีบรรดานักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิรูปโครงสร้างของศธ. ว่า ถือเป็นความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา เพราะไม่มองถึงหลักการที่ต้องกระจายอำนาจสู่ผู้ปฏิบัติงาน แต่ไปขยายโครงสร้างให้ใหญ่ขึ้น ทว่าไม่มีเนื้องานอะไรให้ทำ จึงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เนื่องจากครูไม่ได้อิสระในการปฏิรูประบบราชการ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 9)





เดินหน้าผลิตบัณฑิตตามความต้องการสังคม

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ทบวงมหาวิทยาลัยวางแผนการผลิตบัณฑิตโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสังคมนั้นขณะนี้ทบวงมหาวิทยาลัยได้แจ้งให้นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และขอให้มหาวิทยาลัยประเมินสภาพการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยขณะนี้ว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายดังกล่าวหรือไม่ พร้อมให้ทบทวนผลการดำเนินงาน เพื่อชะลอ ปรับลดหรือยกเลิกการผลิตบัณฑิต และกิจกรรมให้เหลือเพียงในส่วนที่มีความจำเป็น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 31 มกราคม 2546 หน้า 8)





ศธ.เปิดเสรีผลิตสื่อการศึกษาทุกประเภท

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาฯ มีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สนองตอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พ.ศ.2542 และสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ให้มีการพัฒนาระบบและรูปแบบของสื่อและเทคโนโลยี เพื่อการศึกษาที่จะนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ทั้งนี้ ล่าสุดนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ. ได้ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาเรื่องนโยบายการผลิต พัฒนาและใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดว่า ศธ.จะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทุกประเภททุกสาระการเรียนรู้ และทุกช่วงชั้น โดยเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพในการเรียนการสอน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 31 มกราคม 2546 หน้า 8)





‘จาตุรนต์’ ปฏิเสธสั่งถอนร่าง ม.นอกระบบชี้เป็นการสร้างความปั่นป่วนของปอมท.

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่าภายหลังที่มีข่าวว่านายจาตุรนต์สั่งให้ถอนร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ…. ตนพร้อมนายสุธรรม แสงประทุม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านอุดมศึกษา นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ น.พ.กำจร ตติยกวี รองอธิการบดีด้านบริหารบุคคล และพัสดุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับ ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ยืนยันว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 3 เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้พิจารณาในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ โดยยังอยู่ในวาระที่จะหารือในการประชุมครั้งต่อไปจึงเป็นไปไม่ได้ว่ารองนายกฯ สั่งถอนร่างกฎหมายกลับอย่างแน่นอน ด้าน ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่า หากเป็นมติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอให้ สจพ.ทบทวนร่าง พ.ร.บ.จริง มหาวิทยาลัยก็พร้อมจะดำเนินการตาม แต่ในข้อเท็จจริงร่าง พ.ร.บ.ของ สจพ.ก็ให้อิสระทั้งเรื่องสถานภาพของข้าราชการที่จะปรับเปลี่ยนเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งในช่วงแรกก็ให้มีการทดลองงาน 1 ปี หากปฏิบัติการสอนได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ทบวงกำหนดก็จะต่อสัญญาทำงานอีก 3 ปี จากนั้นก็ให้เป็นบุคลากรแบบถาวรโดยบุคลากรมหาวิทยาลัยของรัฐจะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นจากเดิม ทั้งมีระบบอุทธรณ์ร้องทุกข์ที่ให้คนภายนอกเป็นประธานเพื่อให้เกิดความโปร่งใสซึ่งร่างดังกล่าวให้ความเป็นอิสระมาก จึงไม่เข้าใจว่าตรงส่วนไหนที่เป็นการปิดกั้นความอิสระทางวิชาการตามข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม เห็นว่า นายจาตุรนต์น่าจะเปิดโอกาสให้อธิการบดีที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงเพื่อรับทราบถึงข้อเท็จจริงในการร่าง พ.ร.บ.แทนการฟังที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ซึ่งมาจากการเมืองที่มักจะพูดเชิงโจมตีด้านเดียว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 31 มกราคม 2546 หน้า 8)





เกมจักรยานซิมูเลเตอร์…ท้าวัยโจ๋ปั่นทั่วไทย

“เกมสถานการณ์จำลองการขี่จักรยาน หรือเกมจักยานซิมูเลเตอร์ (Bicycle Simulation Game)” จากฝีมือของ วิราณี ทองนุช, สุภาพร อังศรีสุรพรและสมโภช โพธิ์สินสมวงศ์ กลุ่มนักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ประยุกต์มัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่รวมตัวกันสร้างเกมที่ให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลิน และยังได้ออกกำลังกายไปด้วยพร้อมๆ กัน เกมจักรยานซิมูเลเตอร์ ถูกสร้างขึ้นโดยนำจักยานมาพัฒนาเป็นเครื่องออกกำลังกายผสมผสานกับเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ที่สำคัญเจ้าเกมนี้ได้มีโอกาสไปโชว์งานชุมนุมลูกเสือโลก ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดอีกด้วยซึ่งเหล่าลูกเสือนานาชาติต่างก็ยกนิ้วให้ไอเดียเจ๋งๆ ของน้องๆ ทั้งสามคนนี้อย่างทั่วหน้า (สยามรัฐ จันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





กศน.ปรับงานศูนย์ไทยคมรองรับการศึกษาทางไกล

นายชายชาติ โยสีดา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า กศน.มีนโยบายที่จะจัดและให้บริการการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาทางไกล ที่เต็มรูปแบบและมีมาตรฐาน โดยเน้นให้ผู้เรียนศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับหลักสูตร เนื้อหาและกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้ส่วนกลางสามารถจัดการศึกษาเสริมได้ เช่น เสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษา และการจัดการศึกษาทางไกลและการจะจัดการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง กศน. มีนโยบายที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบงานการศึกษาทางไกล ได้แก่ศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคม ศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ และศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อจัดตั้งเป็น “สถาบันการศึกษาทางไกล” ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้พร้อมกับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ม.รังสิตเปิดตัว 3 คณะใหม่สร้างทางเลือกให้นักศึกษา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดขยายโอกาสทางการศึกษา ในการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2546 โดยจัดเปิดคณะใหม่ขึ้นอีก 3 คณะ ได้แก่ คณะแพทย์แผนตะวันออก วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมและวิทยาลัยดนตรี เพื่อรองรับและเป็นทางเลือกใหม่ทางการศึกษา ทั้งนี้ รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณะบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก เปิดเผยว่า การรักษาทางด้านการแพทย์ทางซีกโลกตะวันออกและสรรพคุณของการรักษาทางสมุนไพร กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกซึ่งหลักสูตรการแพทย์แผนตะวันออกที่เปิดใหม่นี้ ถือเป็นหลักสูตรประยุกต์องค์ความรู้สากลและภูมิปัญญาไทยให้เหมาะสมกับระบบสุขภาพคนไทยได้ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





เริ่มทดลองเครื่องมือวิจัยค่าใช้จ่ายรายหัว

เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายสมเกียรติ ชอบผล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการวิจัยค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เพื่อตั้งงบประมาณประจำปี 2547 ว่า คณะทำงานได้เชิญมหาวิทยาลัยมาร่วมประชุมเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยทั้งใหม่และเก่า รวมทั้งศึกษาเป็นรายวิชา พบว่ามีรูปแบบคล้ายกัน โดย ศธ.จะเก็บข้อมูลเพื่อดูทั้งค่าใช้จ่ายพิเศษ ค่าใช้จ่ายปกติ ค่าใช้จ่ายเพื่อความเสมอภาค ค่าใช้จ่ายตามนโยบายที่สำคัญๆ รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายตามประเภท และขนาดสถานศึกษา เพื่อจะอุดหนุนสถานศึกษาที่มีขนาดเล็กให้มากขึ้นเพื่อความเสมอภาค (มติชน พฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





ยอมขรก.ศธ.ประเมินสถานศึกษาร่วมสมศ.

นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูมีหนังสือแจ้งจังหวัด สำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา และกองในสังกัดสำนักงานปลัด ศธ.เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการอนุญาตให้ข้าราชการ ศธ. ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินภายนอกของบริษัทประเมินที่เป็นเอกชน โดยข้าราชการที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประเมินภายนอกต้องไม่เป็นลูกจ้างของบริษัทประเมินที่เป็นเอกชน แต่อาจเป็นตัวแทนของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หรือปฏิบัติงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานต้นสังกัด นอกจากนี้ ให้ประเมินได้ไม่เกิน 1 แห่งต่อ 2 เดือน เมื่อกลับมาปฏิบัติงานในสถานศึกษาต้องยึดหลักฐานการประเมินภายในสถานศึกษาโดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์ และพัฒนาการศึกษา รวมถึง ไม่ควรนำเกณฑ์ประเมินภายนอกมาใช้ในการประเมินภายในสถานศึกษาว่า ศธ.ยอมให้ข้าราชการเป็นผู้ประเมินภายนอกก็จริง แต่ต้องทำในนามของ สมศ.หรือมหาวิทยาลัยเท่านั้นต้องไม่เสียงานหลัก และที่จะไปประเมินต้องไม่เป็นหน่วยงานเดียวกันเพื่อความเป็นธรรม โดย สมศ.จะเป็นผู้เลือกสถานศึกษาให้ทั้งนี้ ศธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประสบการณ์ของข้าราชการ (มติชน พฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





ศึกษาฯ ยืนอุดหนุนรายหัว ป.1-ม.6

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงนักวิชาการบางส่วน มีแนวคิดอยากให้ทบทวนการนับการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีใหม่ จาก ป.1-ม.6 เป็นอนุบาล – ม.3 แทนว่าการเปลี่ยนใหม่ดังกล่าวอาจทำให้เกิดความยุ่งยากได้ และก่อนการตั้งงบประมาณ 2545 ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้แล้วจนได้ข้อยุติให้เริ่มอุดหนุนระดับ ป.1 – ม.6 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยกับข้อยุติแล้ว ที่สำคัญแนวทางการอุดหนุนนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อภาคเรียนที่ 2/2545 หากจะมาปรับเปลี่ยนช่วงนี้ก็อาจจะก่อให้เกิดความยุ่งยาก จึงควรให้เป็นไปตามแนวทางนี้ก่อน ส่วนในอนาคตจะพิจารณาทบทวนหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับภาวะงบประมาณ “แม้ว่ารัฐบาลจะอุดหนุนเริ่ม ป.1 – ม.6 แต่ก็ไม่ได้ละเลยการดูแลระดับอนุบาล ยังอุดหนุนอยู่ หากจะมารื้อระบบอุดหนุนใหม่ เกรงว่าจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้ และขณะนี้สถานศึกษารัฐและเอกชนต่างก็วางแผนเตรียมการอุดหนุนไว้หมดแล้ว ถ้าไปรื้อใหม่ก็จะรวนเรหมด” นายปองพลกล่าว (มติชน ศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 21)





เตรียมเสนอร่างกม.ตั้งสถาบันทดสอบ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ว่า ทบวงฯ และกรมวิชาการร่วมกันจัดทำร่างพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเสร็จแล้ว และนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบแล้ว รอเสนอที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ในเดือนนี้ จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน สำหรับสาระของร่างพระราชกฤษฏีกานี้กำหนดให้สถาบันแห่งนี้มีหน้าที่หลักจัดทำแบบทดสอบกลางเพื่อวัดความรู้จัดทำ National Test มีโครงสร้างหน่วยงานที่รวมกันของสำนักทดสอบกลางของทบวงฯ กับสำนักงานทดสอบทางการศึกษาของกรมวิชาการ มีกรอบอัตรากำลังกว่า 100 คน (มติชน เสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





เผยน.ร.อุบลฯอ่านหนังสือไม่ออกเพียบ

ที่ จ.อุบลราชธานี นายประสิทธิ์ จันทร์ดา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เขตตรวจราชการที่ 7 เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโรงเรียนทุกสังกัดใน จ.อุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้ตั้งคณะทำงานประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการใน จ.อุบลราชธานี เพื่อแยกชุดออกติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนเป็น 5 คณะ ซึ่งสรุปผลการสุ่มตรวจโรงเรียนทั้ง 91 แห่ง ได้ดังนี้ โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตามกำหนด ปัญหาความล้าช้าอยู่ที่การบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ส่วนอาหารกลางวัน โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับงบประมาณตามกำหนด ทำให้เด็กนักเรียนไม่ได้รับประทานอาหารกลางวันตามที่รัฐบาลจัดสรรให้ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งนี้ ปัญหาที่คณะทำงานพบมากที่สุดในทุกโรงเรียนสังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) อุบลราชธานี คือสภาพการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้น ป.6 โดยมีนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออกซึ่งแต่ละโรงมีอย่างต่ำถึง 2 คน สูงสุด 12 คน ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรได้รับแก้ไขโดยเร่งด่วน (มติชน จันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





ชง ‘วีระศักดิ์’ ทบทวนสมุด-ดินสอ 70%

นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีกรมบัญชีกลาง และนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้การจัดซื้อสมุดดินสอและอุปกรณ์การเรียนไม่ควรกำหนดสัดส่วน 70 : 30 นั้น ว่า การกำหนดสัดส่วนเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม ซึ่งนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการ กปช. ให้เหตุผลที่จะให้กำหนดสัดส่วนจัดซื้อสมุด ดินสอเป็นร้อยละ 70 เพราะเห็นว่าสมุด ดินสอเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนที่จำเป็นต้องมี การการจัดซื้อโดยไม่กำหนดสัดส่วนเอาไว้เกรงว่าทางโรงเรียนจะไม่ได้จัดซื้อให้เด็ก ซึ่งหากจะเปลี่ยนแปลงมติต้องนำเข้าที่ประชุม กปช. อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอทบทวน นอกจากนี้จากการหารือกับกรมบัญชีกลางได้รับข้อเสนอว่าการจัดซื้อสมุดดินสอ อุปกรณ์การเรียนอื่นๆ เป็นไปอย่างเสรี ให้โรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาจัดซื้อเองตามความต้องการซึ่งมีความเป็นไปได้และตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายวีรศักดิ์ในวันที 10 กุมภาพันธ์นี้ว่าจะเห็นชอบให้ดำเนินการอย่างไร เพราะเรื่องนี้นางสิริกรเองก็ไม่สบายใจด้วย ทั้งนี้ จะมีการชะลองบประมาณจัดซื้อสมุดดินสอและอุปกรณ์การเรียนจำนวน 273 ล้านบาทไปให้โรงเรียน จนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องนี้จากนั้นจะโอนเงินให้ทั้งหมดโดยไม่มีกำหนดเป็นงวด คาดว่าคงไม่กระทบต่อปฏิทินการจัดซื้อที่ระบุให้ทุกโรงเรียนทำสัญญาจัดซื้อให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ (มติชน จันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





แนะดึงวิถีชีวิต – วัฒนธรรมนำการศึกษา

ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การศึกษาตลอดชีวิต : ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน” ที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ว่า ปัจจุบันการศึกษาทั่วโลกเกิดความล้มเหลว ประเทศไทยมีปัญหาเพราะระบบการศึกษาแยกวัฒนธรรม และวิถีชีวิตออกจากกัน ถ้าจะแก้ปัญหาจะต้องนำเอาวิถีชีวิตของคนในสังคมเข้ามาเป็นตัวตั้งในการเรียนรู้ รวมทั้งเคารพในสิทธิ์ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ที่ผ่านมาระบบการศึกษาสอนให้คนดูถูกคน เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีการท่องจำวิชาการเก่าๆ จากตำรา ครูอาจารย์ไม่มีบทบาทในการส่งเสริมความรู้ใหม่ๆ จบการศึกษาออกไปจึงไม่สามารถทำมาหากินเลี้ยงตนเองได้ ดังนั้นการสอนให้นักเรียน นักศึกษาเข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม เสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อมจะต้องเดินไปด้วยกัน ขณะที่การศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นการศึกษานอกชีวิต แต่การศึกษานอกระบบเป็นการศึกษาให้คนรู้จักชีวิต ดังนั้นจึงควรนำยุทธศาสตร์การศึกษานอกระบบมาเป็นตัวดึงการศึกษาในระบบ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ทก. ตั้งเป้าสิ้นปี 2547 โรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตทุกแห่ง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่านักเรียนทั่วประเทศมีกว่า 14 ล้านคน แต่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 157,000 เครื่อง คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 100 และยังกระจุกตัวอยู่ใน กทม. และเมืองใหญ่ บางพื้นที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนทั่วประเทศ 38,447 โรง มีคอมพิวเตอร์ใช้เพียง 14,000 กว่าโรง ส่วนอีก 24,406 โรง ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ และมีโรงเรียนถึง 22,528 โรงไม่มีโทรศัพท์ และอีก 256 โรงไม่มีไฟฟ้าใช้ แสดงให้เห็นถึงความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชัดเจน ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงปฏิรูปการศึกษา ตนเห็นว่าไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการจัดโครงสร้างและการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น แต่ควรจะเน้นเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วย โดยในเบื้องต้น ทก. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดโครงการพัฒนาเด็กไทยด้วยไอซีทีขึ้น เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสและพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเปิดรับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ไปรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีผู้บริจาค และจัดส่งให้ทางโรงเรียนด้วย (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ชี้ 1 พ.ค. ได้ใช้โครงสร้างใหม่ ยืนเขตพื้นที่ฯ ไม่เป็นนิติบุคคล

นายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ รมว. ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของการพิจารณาว่า ที่ประชุมมีมติยืนยันเรื่องเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นไปตามร่างเดิม คือ ไม่เป็นนิติบุคคล และให้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาได้เสนอทุกประเด็น อาทิ ให้รัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่รักษาการ ผอ. เขตพื้นที่ฯ ให้ อ.ก.พ.ทบวงมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ อ.ก.พ.สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ (สรภ.) ให้ สรภ. ทำหน้าที่เดิมต่อไปแต่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้โครงสร้าง ศธ.ใหม่และการบริหารงานของเขตพื้นที่การศึกษาเดินหน้าไปได้ ซึ่งตนคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบตามร่างที่วุฒิเสนอได้ และร่างกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ได้ในเดือน มี.ค. และเข้าสู่โครงสร้าง ศธ.ใหม่ ได้ในวันที่ 1 พ.ค. ตามที่กำหนดไว้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบสภาครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ 2 และ 3 โดยไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญ แต่ปรับถ้อยคำให้เหมาะสมเท่านั้น (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ศธ. คลอดแนวปฏิบัติย้ายโรงเรียนสกัดหลักสูตรมั่ว

ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ได้มีนักเรียนชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ที่เรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2545 ได้ขอย้ายโรงเรียนไปเรียนในโรงเรียนที่จัดหลักสูตรอื่น หรือหลักสูตรใหม่ด้วยกัน แต่มีปัญหาในการขอย้ายที่เรียน เนื่องจากไม่มีแนวปฏิบัติสำหรับการย้ายโรงเรียน ดังนั้นกระทรวงศึกาษาธิการจึงได้จัดทำแนวปฏิบัติในการย้ายโรงเรียนของนักเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2545 ในปีการศึกษา 2546 ขึ้น เพื่อให้สถาบันศึกษาทั่วประเทศถือเป็นแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีการย้ายระหว่างหลักสูตรใหม่กับหลักสูตรใหม่ กรณีหลักสูตรใหม่ย้ายไปโรงเรียนที่จัดหลักสูตรอื่นๆ ของ ศธ. และกรณีหลักสูตรอื่นๆ ของ ศธ. ย้ายมาโรงเรียนหลักสูตรใหม่ และการเทียบโอนผลการเรียนรายวิชาต่างๆ อธิบดีกรมวิชาการกล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของแนวปฏิบัติโดยสรุปคือ หากรายวิชาของโรงเรียนเดิมสามารถเทียบโอนผลการเรียนกับรายวิชาของโรงเรียนใหม่ได้ ให้เทียบโอนโดยไม่ต้องเรียนใหม่ แต่ถ้าเทียบโอนได้เพียงบางส่วน นักเรียนต้องเรียนรายวิชานั้นของโรงเรียนใหม่เพิ่มเติมจนครบรายวิชา แต่หากรายวิชาใดไม่มีผลการเรียน โรงเรียนต้องจัดให้เรียนทั้งรายวิชา ส่วนการเทียบโอนนั้น รายวิชาทานำมาเทียบโอนคู่ใด มีผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตรงกัน 60% ขึ้นไป ให้ถือเป็นรายวิชาที่เทียบโอนได้เฉพาะผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตรงกันเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องไปเรียนเพิ่มเติมจนครบทั้งนี้ให้โรงเรียนดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนให้นักเรียนตั้งแต่แรกรับเข้าเรียน เพื่อจัดให้นักเรียนเข้าเรียนต่อให้อย่างต่อเนื่อง (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





สะกิดผู้ปกครองระวัง ร.ร.เถื่อน

นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนบางแห่งเปิดรับสมัครนักเรียนและเก็บค่าเล่าเรียนล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองเกิดความเสียหาย จึงขอแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า ในปีการศึกษา 2546 มีโรงเรียนเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครได้ยื่นขออนุญาตเพื่อจัดตั้งสถานศึกษา ดังนี้ ร.ร.ภัทรภักดี เขตสาทร ร.ร.วิทยปัญญา เขตหนองจอก ร.ร.ยอดดวงใจ เขตลาดกระบัง ร.ร.อนุบาลบ้านแก้ว เขตพญาไท ร.ร.วังเด็กพัฒนา เขตประเวศ ร.ร.มาคิดวิทยา เขตคลองสามวา ร.ร.อนุบาลเลิศนุวัตร เขตดุสิต ร.ร.ยุวทูตการศึกษา เขตบึงกุ่ม และ ร.ร.สิบสองวิทยา เขตบางบอน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองถูกหลอกลวง ขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบก่อนสมัครเข้าเรียนได้ที่กองโรงเรียนสามัญศึกษา สช. โทร. 0-2628-9036 หรือ 0-2628-7000 ต่อ 309, 312 (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


มะกันคิดเครื่องพิมพ์สร้างเนื้อเยื่อสามมิติ

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐนำเทคโนโลยีการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์มาใช้สร้างเนื้อเยื่อเทียมสามมิติหรืออวัยวะเทียมขนาดจิ๋วเพื่อทดสอบยาต่างๆ พร้อมตั้งความหวังพัฒนาให้สามารถใช้สร้างอวัยวะทั้งหมดได้ทั้งนี้เครื่องพิมพ์ทั่วไป ทำงานด้วยการฉีดหมึกตามรูปแบบที่กำหนดลงบนแผ่นกระดาษ แต่การสร้างเนื้อเยื่อสามมิติ นักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงให้เครื่องพิมพ์สามารถใช้งานร่วมกับเซลล์แทนที่จะเป็นหมึก ดังนั้นจึงสามารถพิมพ์ชั้นต่างๆ ให้กลายเป็นโครงสร้างสามมิติได้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2546 หน้า 5)





มันสมองเจ๋ง ! เด็กอาชีวะเทศบาลนครปฐมโชว์อัจฉริยะประดิษฐ์รถประหยัดเชื้อเพลิง !!

คณะอาจารย์วิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐมจัดทำโครงการประดิษฐ์รถประหยัดเชื้อเพลิงขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 เพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมกันระดมความคิด ความสามารถในการประดิษฐ์และออกแบบรถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง จัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องยนต์ แผ่นอะลูมิเนียมใช้ทำตัวรถ แผ่นพลาสติกสังเคราะห์ ล้อรถจักรยาน 3 ล้อ ระบบเบรกและอื่นๆ จนครบถ้วน เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือประดิษฐ์ กับการทดลองว่าได้ผลหรือไม่ จากประสบการณ์สองปีที่ผ่านมา ทำให้คณะอาจารย์ และทีมงานได้รู้ถึงเทคนิคใหม่ๆ ในการปรับแต่งเครื่องยนต์ พร้อมลักษณะการขับขี่ให้เกิดการประหยัดน้ำมันและให้ได้ระยะทางมากที่สุด (เดลินิวส์ อังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 32)





เครื่องให้ข้าวเจ้าตูบอัตโนมัติ

สิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้คือเครื่องให้อาหารสุนัขแบบอัตโนมัติซึ่งเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ของคุณสุขสันต์ ปีตะโหตะระ ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจขนาดย่อม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมาแล้ว คุณสุขสันต์บอกว่า เครื่องให้อาหารสุนัขแบบอัตโนมัติเครื่องนี้ ถูกคิดค้นและพัฒนามาร่วม 3 ปีแล้ว และจะยังมีการพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ความน่าสนใจของเครื่องให้อาหารสุนัขแบบอัตโนมัติ อยู่ที่การตั้งเวลาในการให้อาหารสุนัขได้อย่างแม่นยำ คุณสุขสันติ์ตั้งใจเอาไว้ว่านอกจากเครื่องให้อาหารสุนัขอัตโนมัติแล้ว เขายังมีแนวคิดที่จะริเริ่มการพัฒนาเครื่องให้อาหารสัตว์ชนิดอื่นอีก เช่น แมว ปลา เป็ด กุ้ง ซึ่งถ้าหากสำเร็จเป็นรูปร่างได้ ก็จะอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้มากที่เดียว (เดลินิวส์ อังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





เปิดตัว 7 หุ่นยนต์สัญชาติไทยในงาน 10 ปี สกว.

ในงาน ความรู้เพื่อชีวิต 10 ปี สกว. ที่จะขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 1,000 ชิ้น ในรูปแบบนิทรรศการ การประชุมและการแสดง ซึ่งไฮไลต์ของงานก็คือการนำเสนอผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำหุ่นยนต์มาจัดแสดงทั้งหมด 5 ตัว ด้วยกัน ได้แก่ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์, หุ่นยนต์ปลา, Flying Robot , หุ่นยนต์ดนตรี และROBOCUP : Mobile Robot สำหรับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นอีกสถาบันที่มุ่งวิจัย และคิดค้นหุ่นยนต์ล่าสุดปีนี้นำ หุ่นยนต์มือ และ หุ่นยนต์บิน นอกจากหุ่นยนต์ทั้ง 7 ตัวนี้แล้ว ยังมี หุ่นยนต์เตะตะกร้อ , หุ่นยนต์เล่นดนตรีไทย , หุ่นยนต์งู และหุ่นยนต์ขนส่ง ซึ่งใครอยากชมผลงานเทคโนโลยีหุ่นยนต์เหล่านี้ จะมีการแสดงที่ห้อง Meeting Room 3-4 ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00-16.00 น. และบางส่วนจะจัดแสดงอยู่ในโซนนิทรรศการ “เทคโนโลยีแห่งอนาคต” ภายในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





วว.ประดิษฐ์ ‘เครื่องล้างผัก’ ไฮเทคเตรียมตำน้ำพริกสำเร็จรูปส่งออก

วว.ร่วมมือกับนิตยา ไทยเคอร์รี่ โปรดักส์ จำกัด ผู้ประกอบการทำน้ำพริกสำเร็จรูปส่งออกขาย ในสหภาพ ยุโรป ฮ่องกง และญี่ปุ่นพัฒนาและออกแบบเครื่องล้างผักไฮเทค โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันจีทีแซท ประเทศเยอรมนี ‘วัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นเครื่องแกง ประสบปัญหาในเรื่องความสะอาด เช่น พบข่า หอม กระเทียม ขมิ้น มะกรูด มีสิ่งปนเปื้อน ทั้งสารเคมี และเศษหิน ดิน ทราย เชื้อโรค และเชื้อราต่างๆ ค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องใช้แรงคนล้างทำความสะอาด แต่มักจะไม่ทั่วถึง เครื่องล้างผักไฮเทคนี้ใช้หลักการทำงานทำงานระบบน้ำฉีดพ่นด้วยหัวสเปรย์ มีการล้างต่อเนื่อง ภายในท่อล้างมีขนแปรงไนลอน ทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ติดตามซอกผักให้หลุดออกไปได้ง่าย ใช้เวลาเพียง 2 นาที เท่านั้นเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้กระบวนการทำความสะอาดผักมีมาตรฐาน และรวดเร็วมากขึ้น” น.ส.สุมาลัยกล่าว นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงศ์ นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร กล่าวว่า วว.พร้อมในการออกแบบและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหารแก่ผู้ประกอบการอย่างครบวงจร สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0-2579-5515 ต่อ 5206,5208 (มติชน ศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 18)





ระบบพลังงานขัดข้องทำ ‘ไทยคม3’ ล่ม

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท ชินแซทเทลไลท์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าเนื่องจากดาวเทียมไทยคม 3 ประสบเหตุขัดข้องเกี่ยวกับระบบพลังงานบนตัวดาวเทียมไทยคม 3 ทำให้ไม่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับทรานสพอนเดอร์บางช่องได้ และจะส่งผลให้ช่องสัญญาณบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้เป็นการชั่วคราว ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบแก้ไขและประสานงานกับทางบริษัทอัลคาเทล สเปช ผู้สร้างดาวเทียมไทยคม 3 ทั้งนี้ ปัญหาดาวเทียมไทยคม 3 ขัดข้องมีผลให้ลูกค้าบริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) หรือยูบีซีไม่สามารถรับชมรายการของยูบีซีได้ ทางด้านบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ชี้แจงว่า บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวโดยโอนย้ายลูกค้าบนช่องสัญญาณเคยู – แบนด์บางส่วนที่ได้รับผลกระทบไปใช้ช่องสัญญาณอื่นบนดาวเทียมไทยคม 1 เอ, 2 และ 3 เพื่อให้การใช้งานของลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนช่องสัญญาณซี – แบนด์บนดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งเป็นช่องสัญญาณที่ให้บริการลูกค้าส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุดบริษัทสามารถแก้ไขจนสามารถเปิดให้บริการช่องสัญญาณ เคยู – แบนด์ที่มีการให้บริการส่วนใหญ่ได้แล้ว (มติชน เสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 5)





วว. ผลิตเครื่องแยกกากมะขาม ลดต้นทุนการผลิตใช้วัตถุดิบคุ้มค่า

นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงศ์ นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีอาหารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับเอกชนรายหนึ่งที่ผลิตมะขามส่งออกนอก เครื่องแยกกากสำหรับผลิตน้ำมะขามนี้ มีกำลังการผลิต 1.5 ตันต่อวัน ประกอบจากวัสดุภายในประเทศทั้งหมด ใช้มอเตอร์ขนาด 3 แรงม้า กำลังไฟฟ้า 220 โวลต์ มีประสิทธิภาพในการแยกเมล็ก กาก และใบ ออกจากน้ำมะขามได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักการทำงานของเครื่อง จะอาศัยหลักการแยกน้ำมะขามออกจากกาก เปลือก และเมล็ด ผ่านการกรอง 2 ระดับ คือ กรองหยาบและกรอกละเอียด ทำให้น้ำมะขามที่ผ่านขั้นตอนแล้วไม่มีการปะปนของกาก เปลือก และเมล็ด ส่วนที่ไม่สามารถผ่านตะแกรงได้นั้น ก็จะถูกกวาดโดยใบกวาดไปยังที่ปล่อยกากของชั้นกรองละเอียด ซึ่งสามารถนำกากละเอียดที่เหลือกลับเข้าไปยังเครื่องแยกได้อีกครั้ง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเครื่องแยกกากนี้สามารถผลิตน้ำมะขามจำนวน 100 ลิตรในเวลา 15 นาที (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





กลิ่นดอกไม้ผลไม้มีอิทธิพลจิตใจ บางกลิ่นปลุกสมองแล่นหัวคิดไว

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้พยายามศึกษาถึงอิทธิพลของกลิ่นของพืชพันธุ์หลายอย่างหลายชนิด ที่มีต่อชีวิตจิตใจของคนเรา ได้พบว่ากลิ่นของดอกไม้และผลไม้ต่างๆ มีอิทธิพลกับสมองของคนเราอย่างน่าทึ่ง อย่างเช่น กลิ่นของผลไม้พวกส้ม ช่วยกระตุ้นส่วนของสมองซึ่งควบคุมการใช้สมาธิของเรา ช่วยให้ใช้สมาธิกระทำกิจกรรมต่างๆได้ดีขึ้น ขณะที่กลิ่นของดอกลาเวนเดอร์ ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกสบายอกสบายใจ ทำให้สมองปลอดโปร่งเหมือนอย่างที่อุตสาหกรรมน้ำหอมเอาไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และกลิ่นของดอกมะลิ ช่วยปลุกให้สมองแล่น คิดอ่านเรื่องต่างๆออกได้อย่างฉับไว (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 หน้า 7)





ประดิษฐ์หุ่นยนต์คนรับใช้ตามบ้าน ใช้ปรนนิบัติผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรง

บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีของญี่ปุ่นได้เปิดเผยหุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้เป็นทั้งคนรับใช้และเพื่อนในครอบครัว หุ่นยนต์มีความสูงประมาณ 3 ฟุต ที่ส่วนหัวซึ่งไม่มีปาก ได้ติดกล้องไว้หลายตัว สามารถออกเสียงและจำหน้าคน ทำให้มันสามารถตามหาและจำเสียง ใบหน้าและการเคลื่อนไหวได้ โฆษกของบริษัทกล่าวว่า หุ่นยนต์ใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและส่งภาพจากกล้องไปยังโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์นอกบ้าน นอกจากนั้นยังสามารถส่งอี-เมล์ โดยมันใช้พลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งจะใช้ได้นาน 2 ชม. เมื่อไฟหมดจะชาร์ตไฟได้เอง หุ่นยนต์ตัวนี้ยังเป็นตัวต้นแบบ ออกแบบสร้างขึ้นเพื่อสำหรับให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง หากเริ่มผลิตออกจำหน่ายได้เมื่อใด คงจะจำหน่ายในราคาตัวละประมาณครึ่งล้านบาท (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


จาก ‘ขี้หมู’ กลายเป็นพลังงานสีเขียว…เพื่อสิ่งแวดล้อม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พาเดินทางไปดูงานที บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งบริษัทนี้เป็นภาคเอกชนรุ่นแรกๆ ที่เห็นความสำคัญของระบบน้ำเสีย โดยติดตั้งระบบที่ฟาร์มเลี้ยงสุกร อันว่าปัจจุบันนี้ มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกร เป็ด ไก่ โค เป็นต้น หากไม่มีระบบควบคุมและกำจัดที่ดีย่อมทำให้เกิดมลพิษทั้งน้ำและอากาศ ไม่เฉพาะแต่ในฟาร์มเท่านั้น ยังส่งผลกระทบไปสู่ชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย การส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สร้างระบบบำบัดน้ำเสียเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้ออกซิเจนซึ่งเรียกกันว่าระบบก๊าซชีวภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นทางเลือกในการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการอากาศ คือ ออกซิเจน นอกจากบำบัดน้ำเสียรักษาสภาพแวดล้อมได้ตามเป้าหมายแล้ว ยังได้พลังงานทดแทนกลับมาใช้ได้อีกด้วย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 24)





ยิ่งแก่ สเปิร์มยิ่งอ่อนแอ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียค้นพบว่าชายที่มีอายุมากขึ้น น้ำอสุจิและสเปิร์มยิ่งอ่อนแอมากขึ้นทุกที หลักจากที่ได้ทำการศึกษาคุณภาพของน้ำอสุจิและสเปิร์มในชายที่มีสุขภาพดี 100 คน ที่มีอายุระหว่าง 22-80 ปี พบว่าการเคลื่อนไหวของเสปิร์มจะลดลง 0.7% ต่อปี โดยชายที่มีอายุ 22 ปี มีโอกาสที่เสปิร์มจะเคลื่อนไหวผิดปกติ 25% เพิ่มเป็น 85% เมื่ออายุ 60 ปี นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าความเสื่อมดังกล่าวอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อแก่ตัวลง ปัจจัยทางด้านโรค และสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่นั่นเอง (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





พบยีนบกพร่องทำหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สถาบันการแพทย์โฮวาร์ด ฮิวจ์ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก ในนอร์ธ คาโรไลนา ค้นพบกลไกการเต้นผิดจังหวะของหัวใจว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีนที่ควบคุมโปรตีนที่สัมพันธ์กับ “ช่องไอออน” รูขนาดเล็กที่อยู่ภายในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และเชื่อว่าการค้นพบครั้งนี้จะนำไปสู่การคิดค้นตัวยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะได้ (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





สกว.เปิดตัวหุ่นยนต์ไทยครบรอบ 10 ปี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระดมหุ่นยนต์ไทยนับ 10 สิบตัวจากสถาบันด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศมาจัดแสดงในงาน “ความรู้เพื่อชีวิต 10 ปี สกว.” พร้อมกับโชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาเด่น เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนนำไปพัฒนาต่อและใช้ประโยชน์ ในงานนิทรรศการซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์นี้ สกว.ได้จัดเตรียมผลงานวิจัยตลอดจนผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยเด่นๆ หลายผลงานมาเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไป อาทิ วุ้นสรรค์แปรรูป และถ่ายทอดสู่ธุรกิจ SMEs, สารเคมีอันตรายในบ้าน การแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าลำไย ลิ้นจี่ กระบวนการเลี้ยงหมูปลอดสาร เทคนิคการเพาะเลี้ยงเฟินและกล้วยไม้ป่า อุตสาหกรรมผ้าทอไทย การออกแบบอัญมณี ดนตรีเพื่อพัฒนาการเด็ก และเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เป็นต้น นอกจากนี้ สกว. ยังเตรียมนำหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์ภาคสนาม ( FIBO) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และหุ่นยนต์บันซึ่งเป็นงานวิจัยต้นแบบของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) แสดงความสามารถให้ได้ชมกันด้วย เทคโนโลยีด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ของไทยยังตามหลังสหรัฐหรือญี่ปุ่นอยู่มาก แต่ในความเป็นจริงไทยไม่จำเป็นต้องสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเองหากต้องมีความรู้พอที่จะเลือกใช้หุ่นยนต์ให้ตรงกับความต้องการน่าจะมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งพอที่จะประยุกต์ใช้หุ่นยนต์เหล่านั้นไปใช้ในงานอื่นๆ ได้อีกซึ่งสิ่งเหล่านี้เทคโนโลยีซื้อไม่ได้ หากต้องสร้างความรู้และสร้างบุคลากรขึ้นมาเอง และหุ่นยนต์ที่จะมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หุ่นยนต์ปลา Flying Robot หุ่นยนต์ดนตรี Mobile Robot ซึ่งเป็นผลงานของ มจธ. หุ่นยนต์มือ ผลงานของ สจล. หุ่นยนต์บิน ผลงานของนักวิจัยหุ่นยนต์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





คณบดีศึกษาศาสตร์ มช. แฉ 18 มงกุฎอ้างฝากเด็กเข้าสาธิต

ผศ.ดร.สุกานดา ตปนียางกูล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีผู้แอบอ้างตัวว่าจะฝากเด็กเข้าไปเรียนในระดับ ม.ต้น ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองรายละ 35,000 บาท ทำให้ผู้ปกครองหลายรายที่ต้องการให้บุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลงเชื่อ และเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อทางโรงเรียนทราบเรื่องได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมจนพบตัวผู้แอบอ้าง รวมทั้งมีการสืบทราบว่า ผู้แอบอ้างรายนี้เป็นข้าราชการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเชียงใหม่ เป็นหญิงอายุประมาณ 35-40 ปี โดยเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าติดตามได้บันทึกภาพพร้อมทั้งติดต่อไปยังผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 11)





ผ่อนผันกฏระเบียบ ให้รับเด็กกลางคัน

ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการเผยว่า จากกรณีที่มีนักเรียนออกจากสถานศึกษากลางคันก่อนจบหลักสูตร เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และได้ขอสมัครกลับเข้าศึกษาต่อแต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์บางประการนั้น ดร.กษม วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในหนังสือขอความร่วมมือสถานศึกษาให้รับพิจารณาคำร้องของนักเรียน นักศึกษา โดยปฏิบัติตามระเบียบการรับนักเรียน นักศึกษาปกติ หากมีปัญหาด้านระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อบังคับ ถ้าข้อขัดขวางนั้นเป็นข้อกำหนดภายในสถานศึกษาขอให้ผ่อนผันการใช้ระเบียบ ประกาศ คำสั่งหรือข้อบังคับนั้น แต่หากเป็นข้อขัดขวางของต้นสังกัดหรือ ศธ. ให้สถานศึกษาทำเรื่องถึงหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อพิจารณาผ่อนผัน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


สภาอุตฯภาคอีสานจับมือมข.ผลิตเครื่องจักรลดนำเข้า

นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่าสภาภาคได้มีการประชุมหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นถึงความร่วมมือในการนำผลงานการศึกษาและวิจัยของมหาวิทยาลัยออกมาใช้ในการทำงานทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้ตั้งงบประมาณเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 5 แสนบาท และในโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของสภาก็ยินที่จะให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเข้าไปศึกษาเครื่องจักรของโรงงานที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิตเครื่องจักรขึ้นมาทดแทนการนำเข้าในอนาคต “บริษัทเจียงเม้ง แสดงความจำนงเป็นแห่งแรก ที่จะให้มหาวิทยาลัยเข้าไปศึกษาเครื่องจักรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและนำไปใช้ในการสีข้าวเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์หรือผลิตเครื่องจักรใหม่ขึ้นมาตามโครงการดังกล่าว” นายธวัชชัยกล่าวและว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เป็นการช่วยทำให้ตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเลขผลผลิตมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 21)





สมาคมโภชนาการยันเปิบปลาร้าสุกไม่เป็นมะเร็ง

นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการกรมอนามัย ในฐานะนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกล่าวถึงปัญหาอันตรายในการบริโภคปลาร้าดิบว่าการที่มีแพทย์ออกเตือนอันตรายการรับประทานปลาร้าดิบมีพยาธิใบไม้ชอนไชท่อน้ำดีจนอักเสบเกิดเป็นมะเร็งท่อน้ำดี และหากรับประทานสุกปลาร้ายังมีสารไนโตรซามีนเป็นสารก่อมะเร็งท่อน้ำดีเช่นกัน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกใจกลัว ทั้งนี้ จากการศึกษาทางด้านโภชนาการยืนยันได้ว่าปลาร้าสามารถรับประทานได้อุดมด้วยแคลเซียม โปรตีน แต่ต้องรับประทานปลาร้าสุก เพราะหากรับประทานปลาร้าดิบ มีความเสียงได้รับพยาธิใบไม้กลายเป็นมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี ดังที่แพทย์เตือน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์โครงการไม่กินปลาร้าดิบ เพื่อลดพยาธิใบไม้ในตับ ดังนั้นอยากให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมรับประทานสุก ไม่ซ้ำซากจำเจ เพื่อความปลอดภัย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 8)





อบต.ไร่ส้มคิดค้นสำเร็จหม้อแกงสูตรกระชายดำ

นายสิริเลิศ สรฉัตร ประธาน อบต.ไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ทางอบต. ไร่ส้มได้สนับสนุนให้กลุ่มอาชีพสมุนไพรร่วมกับกลุ่มอาชีพกลุ่มอาชีพขนมหวาน คิดค้นสูตรสูตรขนมหม้อแกงสมุนไพร สูตรกระชายดำจนประสบความสำเร็จซึ่งขนมหม้อแกงสูตรดังกล่าว นอกจากจะได้คุณค่าทางอาหารแล้ว กระชายดำยังเป็นยาบำรุงร่างกาย และมีคุณค่าเทียบเท่ากับโสม นางน้ำทิพย์ หอมสกุล ประธานกลุ่มสตรีขนมหวานตำบลไร่ส้ม (เพชรบุรีภัณฑ์ 2) กล่าวว่า การทำขนมหม้อแกงกระชายดำจะนำเผือกต้มให้สุกแล้วไปผสมกับกะทิ ก่อนที่จะนำไปปั่นด้วยเครื่องให้ละเอียด แล้วนำไข่เป็ดผสมกับน้ำตาลเข้าเครื่องตี่ก่อนที่จะนำส่วนผสมทั้งหมดผสมรวมกัน ใส่น้ำมันกระชายดำสกัดลงไปกรองด้วยผ้าขาวบาง เทใส่ถาดนำเข้าเตาอบนานประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ จนขนมหม้อแกงสุกได้ที่จึงออกวางขาย สำหรับขนมหม้อแกงสมุนไพรสูตรกระชายดำที่ผลิตได้จะวางขายที่ร้านเพชรบุรีภัณฑ์ 2 ริมถนนเพชรเกษมขาเข้า กทม. ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีและบางส่วนจะนำไปส่งให้กับร้านขนมหวานขนมพื้นเมืองต่างๆ และตามร้านจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยขายปลีกในราคาถาดละ 35 บาท ซึ่งตอนนี้ยอดขายยังไม่มากเนื่องจากเพิ่งทดลองผลิตได้ประมาณ 1 เดือน แต่ยอดสั่งซื้อยังเพิ่มขึ้นทุกวันคาดว่าในอนาคตคงไปได้สวย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 20)





อังกฤษพัฒนาระบบส่งที่อยู่เวบ

บริษัทเทคโนโลยีในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ พัฒนาอุปกรณ์ป้ายราคาสินค้าไฮเทคหรือ “smart tag” ที่ส่งข้อมูลที่อยู่เวบไซต์จากป้ายโฆษณาหรือโปสเตอร์แสดงข้อมูลต่างๆ สู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้สัญจรไปมาได้ อุปกรณ์ไฮเทคชิ้นใหม่ดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยบริษัทไฮเปอร์แท็กใช้แสงอินฟาเรดเป็นสื่อในการส่งที่อยู่เวบไซต์ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่โจนาธาน มอร์แกน ผู้บริหารบริษัทไฮเปอร์แท็กระบุว่า 40% ของมือถือในปัจจุบันเป็นโทรศัพท์ที่สามารถรับข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อด้วยอินฟาเรดซึ่งทำให้การส่งข้อมูลจากป้ายโฆษณาไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำได้ง่าย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2546 หน้า 5)





‘อย.’ เตือนภัยผู้บริโภคสารเคมีใกล้ตัว

ภญ.พรพิมล ขันตินานนท์ นักวิชาการอาหารและยา 10 ชช. ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ เพื่อแก้ไขปัญหาท่อน้ำที่อุดตันในบ้านเรือน เพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่อาจเป็นดาบ 2 คม หากใช้ไม่ถูกวิธี ทำให้ได้รับอันตรายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อมีทั้งสารเคมีในกลุ่มด่างแก่ คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนสูง หากสัมผัสทางผิวหนัง จะทำให้เกิดการไหม้ที่ผิวหนัง หากสัมผัสถูกตา อาจเป็นต้นเหตุของกระจกตาถูกทำลาย ส่วนการได้รับสารเคมีทางปากหรือกลืนกินเข้าไป จะเกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย และหมดสติได้ ความดันโลหิตตกลงอย่างรวดเร็ว เป็นอาการของกระเพาะอาหาร หรือทางเดินอาหารทะลุ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2546 หน้า 8)





เตือนใช้คอมพ์นานเสี่ยงเกิดอาการเส้นเลือดคั่ง

เวบไซต์นิว ไซน์แอนทิสต์ดอทคอมรายงานผลการวิจัยซึ่งค้นพบว่า ผู้ที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตคั่งในเส้นเลือด ซึ่งเป็นอาการเดียวกับการนั่งเครื่องบินในชั้นประหยัดนานเกินไป ผลการศึกษาจากประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางด้านระบบทางเดินหายใจของยุโรปได้รายงานอาการของชายวัย 32 ปีรายหนึ่งซึ่งหมดสติหลังจากป่วยด้วยโรคเส้นเลือดน่องโป่งเพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยภายหลังแพทย์ตรวจพบว่า สาเหตุเกิดจากก้อนเลือดขนาดใหญ่ได้ก่อตัวขึ้นในเส้นเลือดบริเวณขา แล้วจึงเดินทางเข้าสู่ปอด ทีมผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่าอาการดังกล่าวมีชื่อว่าดีวีที (deep vein thrombosis- DVT) ซึ่งเป็นโรคมักพบในกรณีของผู้ที่ต้องโดยสารเครื่องบินในชั้นประหยัดเป็นระยะเวลานาน แพทย์ผู้วินิจฉัยโรคกล่าวว่าผู้ป่วยรายนี้มีพฤติกรรมการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไปโดยมีระยะเวลาการใช้คอมพิวเตอร์ทั้งที่บ้าน และที่ทำงานโดยเฉลี่ยราว 12 ชั่วโมงต่อวัน และบางครั้งอาจสูงถึง 18 ชั่วโมง ทั้งนี้ ชายคนดังกล่าวนับเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ชี้ให้เห็นว่า การใช้คอมพิวเตอร์นานเกินไปมีความสัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดอุดตันโดยคณะแพทย์ได้เสนอให้ตั้งชื่อโรคนี้ว่า“อีทรอมโบซิส” (eThrombosis) ขณะเดียวกัน ทางคณะแพทย์แนะนำว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์อาจป้องกันอาการดังกล่าวได้ โดยการงอโค้งนิ้วใดนิ้วหนึ่งของเท้าบ้างขณะที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออาจจะงอหัวเข่าเป็นระยะ นอกจากนี้ จะต้องดื่มน้ำ และงดเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ควรลุกขึ้นเดินอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อชั่วโมงเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวเตือนว่า ระยะเวลาการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง และไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์นานเกิน 6 ชั่วโมง โดยไม่มีการลุกขึ้นยืนเลย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 31 มกราคม 2546 หน้า 7





วิทยุอินเทอร์เน็ตโฉมใหม่การฟังเพลง

เว็บไซต์บีบีซีออนไลน์ รายงานว่า บริษัทฟิลิปส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหม่เผยโฉมนวัตกรรมเครื่องเสียงตัวใหม่ล่าสุด วิทยุอินเทอร์เน็ตหรือ Streamium MC-1200 ช่วยให้ผู้นิยมฟังรายการวิทยุสามารถรับฟังรายการวิทยุสามารถรับฟังรายการวิทยุทั่วโลกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ โดยผู้ใช้ต้องเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อหรือเลาเตอร์เพื่อช่วยในการทำงานด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215