หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 8 ประจำวันที่ 2003-02-25

ข่าวการศึกษา

ไม่เลิกสอบวัดความรู้
ทบวงฯพร้อมจับทุจริตสอบวัดความรู้
ยูเนสโกชื่นชมผลงานกศน.ไทย
“ทบวง” เผยช่องสกัดเสรีธุรกิจอุดมฯรุกไทย
เร่งสร้างร.ร.อัจฉริยะเน้นเสริมจุดด้อย
‘โครงการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี’ การเรียนรู้จริงนอกห้องเรียน
ทบวงฯ ร้อนใจเร่งผลิตดอกเตอร์ก่อนชาติวิกฤติ
“ปองพล” ย้ำต่อยอดเด็กเรียนถึงอายุ 20
มธ.ให้โควตา น.ร.พิการ 38 คนเข้าแพทย์ – วิศวะ
วก. นำทีมผลิตคู่มือแก้ปัญหาการเรียนรู้
เตือนโรงเรียนโฆษณาผ่านมาตรฐาน สมศ.
กระทรวงศึกษาฯ ตั้งงบ 2547 ดึงทบวงฯ – สกศ. บูรณาการ
ออนไลน์เครือข่ายงานให้ นศ.
“สววท.” จับมือเอกชนประกวด ออกแบบเว็บไซต์โต้ตอบเรื่องการศึกษา
จี้โอนที่อ่านหนังสือ –ห้องสมุดให้ท้องถิ่น อธิบดี กศน. หวั่นปัญหา – ส่งนิติกรตีความ
ร่าง พ.ร.บ.ครูฯ สะดุด ห่วงงบฯ เงินเดือนครู
ดันศูนย์ซีมีโอ “ท่องเที่ยว-วิทย์ทางทะเล” ปองพลพร้อมคืน “สปาฟา”กลับกัมพูชา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

‘ไอบีเอ็ม’ ผุดเวบเพจเสียงภาษาไทยช่วยคนตาบอดท่องโลกอินเทอร์เน็ต
เชื้อโรคกลายเป็นยอดยารักษามะเร็งสกัดได้ทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ลำไส้ตรง
นักวิทย์น้อยช่างสงสัย…ไขความลับ ‘หนอนไหมป่าทาซาร์’
เด็กความสามารถพิเศษ
สิ่งประดิษฐ์ล่าสุด แห่งปี 2003 รถสามล้อขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและแขนโยก
สำรวจมหาสมุทร ความหวังที่ยังเหลืออยู่ของมนุษยชาติ
พบวิธีควบคุม “สเตมเซลล์” ใช้แทนเซลล์เสื่อม

ข่าววิจัย/พัฒนา

ถั่วเหลืองกับน้ำชาจับคู่เป็นสูตรปราบเนื้อร้ายทรวงอกต่อมลูกหมาก
ชวนตรวจธาลัสซีเมียก่อนแต่งลดความเสี่ยงส่งโรคถึงรุ่นลูก
CM-Test ชุดตรวจสอบยาต้านจุลชีพตกค้าง
ปลูก ‘ผักโตเมี่ยว’ ทำง่ายรายได้ดีผลงานวิจัยราชมงคล ‘พิษณุโลก’
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำจากหอยเชอรี่

ข่าวทั่วไป

‘กูเกิล’ แชมป์เครื่องหมาย
ทูลเกล้าฯถวายรางวัล “สมเด็จพระเทพฯ”
ชิปมือถือความเร็วสูง
ไมโครซอฟท์เผยโฉมโปรแกรมจับบั๊ก
คนไทยป่วยโรคปอดล้านคน
วัยรุ่นฮิตยาคุมใส่แชมพูทำผมยาว





ข่าวการศึกษา


ไม่เลิกสอบวัดความรู้

ทบวงมหาวิทยาลัยจะยกเลิกการสอบวัดความรู้นักเรียน ม.ปลายในเดือน ต.ค.2546 ที่จะนำไปใช้สมัครเข้าสถาบันอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา 2547 เนื่องจากปีการศึกษา 2547 จะมีการทดลองใช้ระบบแอดมิชชั่นนั้น นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ยังไม่มีการยกเลิกการสอบวัดความรู้ในปีนี้แน่นอนเพราะสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติยังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เรียบร้อยและข้อสอบกลางที่จะใช้ก็ไม่ใช่ว่าจะจัดทำได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลา คงไม่ทันปีนี้ ฉะนั้นปีนี้ต้องใช้ระบบเดิมทั้งหมด ด้าน ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาถทธิ์ อธิการบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัยมีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจนว่า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปีเพื่อให้เด็กมีเวลาเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง นักเรียน ม.4-ม.6 ปีนี้ยังต้องใช้ระบบเดิม (ไทยรัฐ พุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ทบวงฯพร้อมจับทุจริตสอบวัดความรู้

ดร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมในการจัดสอบวัดความรู้ครั้งที่ 2 ประจำปี 2546 ที่จะเริ่มสอบตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 13 มี.ค. 2546 ว่า ขณะนี้ทางทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดส่งข้อสอบทุกรายวิชาไปถึงศูนย์สอบทุกแห่งทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังได้มีการซักซ้อมมาตรการป้องกัน และการตรวจสอบการกระทำทุจริตสอบทั้งก่อนและระหว่างการสอบกับคณะกรรมการผู้คุมสอบทั้งหมดแล้วด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งได้กำชับให้แต่ละศูนย์สอบมีการทบทวนปัญหา หรือเหตุการณ์ทุจริตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทางทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้ประกาศข้อปฏิบัติในการสอบ โดยกำหนดว่าผู้เข้าสอบทุกคนห้ามนำกระดาษใดๆ และเครื่องมือสื่อสารทุกอย่างเข้าห้องสอบ ซึ่งถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษโดยการไม่พิจารณาตรวจกระดาษคำตอบในรายวิชานั้นๆ แต่ถ้าหากพบว่ามีเจตนากระทำการทุจริตไม่ว่าในกรณีใด ก็จะไม่พิจารณาตรวจกระดาษคำตอบทุกรายวิชาที่เข้าสอบ และยังต้องตัดสิทธิการสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอีก 3 ปีด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 11)





ยูเนสโกชื่นชมผลงานกศน.ไทย

นายชาติชาย โยสีดา อธิการบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ส่งบุคลากรมาดูงานการจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) ที่ประเทศไทยแล้วเห็นว่าเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับประเทศเวียดนามซึ่งมีการปกครองแบบคอมมูน (หมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ) จึงได้นำกลับไปทดลองจัดให้แก่ประชาชนที่จังหวัดเดียน เบียน ฟู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งปรากฏว่าได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและจะมีพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17-19 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้เชิญให้ตนไปร่วมพิธีดังกล่าวเพื่อเป็นการติดตามงานด้วย เพราะเห็นว่าศรช.ของประเทศไทยเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนของเวียดนาม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 11)





“ทบวง” เผยช่องสกัดเสรีธุรกิจอุดมฯรุกไทย

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เผยผลประชุมกำหนดยุทธศาสตร์รองรับการเปิดเสรีการค้าด้านการศึกษาว่า ที่ประชุมกลุ่มย่อยได้เสนอให้มีการศึกษาศักยภาพและความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาไทย ในการแข่งขันบริการด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นเห็นควรส่งออกบริการที่ไทยมีจุดเด่น คือ ด้านภูมิปัญญาไทย เช่น อาหาร ศิลป การนวดแผนไทย ด้านวิชาชีพ เช่น การแพทย์ พยาบาล การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การโรงแรม เป็นต้น พร้อมนำเข้าบริการการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบการทำวิจัยร่วมกับไทยสำหรับมาตรการเชิงรุกในการเปิดตลาดบริการด้านการศึกษา จะต้องจัดนิทรรศการการศึกษาไทยในต่างประเทศมากขึ้น มีหน่วยงานหรือสำนักงานการศึกษาในต่างประเทศ และมีผู้แทนด้านการศึกษาทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยควรเรียกร้องให้ต่างประเทศลดอัตราค่าเล่าเรียนในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเฉพาะบางกรณี นอกจากนี้ จะต้องวางมาตรการเข้ามาเปิดบริการการศึกษาในไทยได้แก่ คุณภาพของสถาบันการศึกษา กำหนดอัตราส่วนผู้บริหารกับอาจารย์ไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาดแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษาไทยยังมีปัญหาในด้านวิสัยทัศน์การบริหาร ขาดความเชี่ยวชาญในการสร้างองค์ความรู้ที่น่าสนใจที่จะเป็นจุดขาย ที่สำคัญอาจกระทบต่อภาพรวมของตลาดแรงงาน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





เร่งสร้างร.ร.อัจฉริยะเน้นเสริมจุดด้อย

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยม ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็น ร.ร.สำหรับที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ปลาย ทำให้เกิดความคิดในการในการจัดทำโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทางโดยเฉพาะด้านพฤกษศาสตร์ ชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ทางทะเล ใน ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์และ ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งแต่ละร.ร.จะแตกต่างกันตามแต่พื้นที่ เช่น ร.ร.ทางฝั่งอ่าวไทย อาจจะเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นต้น ซึ่งตนต้องการทำโครงการนี้ให้เกิดความเข้มข้นจริงๆ เพื่อให้เด็กที่จบไปแล้วสามารถต่อยอดในระดับอุดมศึกษาได้ “เรายังขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ และแพทย์อีกจำนวนมาก จึงคิดว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างครูวิทยาศาสตร์และแพทย์อีกจำนวนมาก จึงคิดว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างครูวิทยาศาสตร์และแพทย์เวชศาสตร์เขตร้อนเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมศูนย์ทรอปเมค ที่ม.มหิดล พบว่าไทยมีโรคมาลาเรีย เท้าช้าง และไข้เลือดออกอยู่จึงจำเป็นต้องมีแพทย์เวชศาสตร์เขตร้อนให้มาก โดยจะส่งเสริมให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนด้านนี้มากขึ้นเพราะคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี” รมว.ศธ.กล่าว (สยามรัฐ จันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





‘โครงการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี’ การเรียนรู้จริงนอกห้องเรียน

กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา จึงเดินหน้าสานต่อโครงการการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในปี2546 หลังจากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โครงการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของบุคลากรในสถานศึกษาของอาชีวะ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ทั้งทางทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และยังมีโอกาสได้เข้ามาฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประสบการณ์ใหม่ของการทำงาน อาทิ รู้จักการปรับตัว การปฏิบัติตัว การปฏิบัติงานจริง การตัดสินใจ และรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากการเรียนรู้ในห้องเรียน การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในยุคการพัฒนาการของการศึกษาไทยเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งโลกการเรียนรู้ เพื่อที่บุคลากรคนรุ่นใหม่จะได้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับงานได้จริงๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการที่มีความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตลอดเวลา พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาทักษะศักยภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการทำงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ทบวงฯ ร้อนใจเร่งผลิตดอกเตอร์ก่อนชาติวิกฤติ

จากการประชุมสัมมนาเรื่องการดำเนินการของเครือข่ายและแนวทางการจัดสรรทุนปี 2546 รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (อ.ก.ม.) วิสามัญเกี่ยวกับการสรรหาและพัฒนา กล่าวว่า อุดมศึกษาไทยอยู่ในสภาวะวิกฤติทางด้านคุณภาพ เนื่องจากอาจารย์วุฒิปริญญาเอกมีน้อยมากเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนอาจารย์ทั้งระบบ หรือมีนักวิจัยไม่ถึง 10,000 คน ในขณะที่คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับนานาชาติจะมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ดังนั้นทบวงฯ จึงมีแนวคิดเรื่องเครือข่าย เพื่อนำศักยภาพความเชี่ยวชาญของแต่ละคนที่มีอยู่มาผนึกพลัง ร่วมใช้อุปกรณ์การวิจัย ร่วมผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา ร่วมสร้างและพัฒนาหลักสูตร โดยเฉพาะปริญญาเอกที่มีคุณภาพเทียบเท่าสากล ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาได้ตั้งเครือข่ายรวม 44 เครือข่าย โดยคาดหวังว่าในอนาคตเครือข่ายทั้งหมดจะมีความเป็นเลิศ (มติชนรายวัน วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





“ปองพล” ย้ำต่อยอดเด็กเรียนถึงอายุ 20

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานประชุมผู้บริหารการศึกษาที่ จ.สุพรรณบุรี ว่าในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ตามรัฐธรรมนูญนั้น ต่อไปคงจะไม่ใช่แค่ 12 ปี ตนอยากให้จัดการศึกษาไปจนเด็กอายุ 20 ปี โดยต้องมีการต่อยอดให้เด็กหลังจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าจนมหาวิทยาลัยปีที่ 2 ด้วย เนื่องจากเด็กจำนวนมากที่มีความสามารถ เพียงแต่ไม่ได้รับโอกาสการต่อยอด นอกจากนี้ตนอยากให้ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเฉพาะด้านขึ้นมาในแต่ละภูมิภาค อย่างที่ จ.สุพรรณบุรีปลูกข้าวมาก อาจให้มีศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว ให้ความรู้ตั้งแต่วิธีการปลูก การหว่าน การเก็บเกี่ยว การสีข้าว ส่วนจังหวัดภาคอีสานอาจจะตั้งศูนย์เทคโนโลยีมันสำปะหลัง (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





มธ.ให้โควตา น.ร.พิการ 38 คนเข้าแพทย์ – วิศวะ

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการการปฏิรูปการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสว่า ได้หารือถึงแนวปฏิบัติการรับนักเรียนพิการเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 เนื่องจากมักได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองว่าถูกโรงเรียนปฏิเสธไม่รับเข้าเรียน จึงย้ำกรมสามัญศึกษาให้โรงเรียนในสังกัดรับเด็กพิการที่มาสมัครเข้าเรียนด้วย ซึ่งแต่ละโรงเรียนต้องวางแผนการรับนักเรียนพิการให้ชัดเจนว่าสามารถรับได้กี่คน เพราะไม่ต้องการให้กระจุกที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ตัวนักเรียนเอง นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อนุมัติโครงการนักเรียนเรียนดีผู้พิการ เปิดโอกาสเข้าเรียนให้กับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ใช้เครื่องช่วยฟัง ผู้บกพร่องทางร่างกายหรือทางการเคลื่อนไหวที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และผู้บกพร่องทางการมองเห็น โดยมีคุณสมบัติได้คะแนนเฉลี่ยระดับ ม.ปลาย ไม่ต่ำกว่า 2.75 ซึ่งได้กำหนดโควตาจำนวน 38 คน ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวะ(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





วก. นำทีมผลิตคู่มือแก้ปัญหาการเรียนรู้

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ (วก.) เปิดเผยว่า กรมวิชาการได้ร่วมมือกับสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมองครีเอทีฟ เบรน และองค์การค้าของคุรุสภา จัดทำหนังสือคู่มือครูและผู้ปกครองสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เช่น คู่มือครูและผู้ปกครองสำหรับเด็กที่มีปัญหาความจำ และคู่มือครูและผู้ปกครองสำหรับเด็กสมาธิสั้น ซึ่งได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจหนังสือคู่มือครูและผู้ปกครองแล้วว่า มีเนื้อหาสาระถูกต้องตามหลักวิชา เหมาะสมที่จะใช้เป็นหนังสือคู่มือครูและผู้ปกครอง ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนได้ โดยสถานศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน ความจำ สมาธิสั้น รวมทั้งยังใช้ได้กับเด็กปกติทั่วไปให้สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้เต็มตามศักยภาพด้วย นายประพัฒนพงศ์ กล่าวด้วยว่า ทางกองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการยังเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมให้ครูผู้สอนนำการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน จึงได้เชิญครูดีเด่นและครูต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ ครูรางวัลเกียรติยศ สาขาภาษาอังกฤษ และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการ รวมจำนวน 45 คน มาเข้าร่วมประชุมสัมมนาการสร้างเครื่องมือวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่มุ่งเน้นทักษะการสื่อสาร และยังทำให้กรมวิชาการได้เครื่องมือวิจัยที่มีคุณภาพและจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานวิจัยต่อไป (มติชนรายวัน วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 21)





เตือนโรงเรียนโฆษณาผ่านมาตรฐาน สมศ.

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากกรณีโรงเรียนเลิศหล้า หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตร 2 ภาษา กรุงเทพฯ ได้นำสัญลักษณ์ของ สมศ. และข้อความที่แสดงถึงการได้รับการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสูงสุดจาก สมศ. ทั้งจัดทำในลักษณะเหมือนกับว่า สมศ. ให้ประกาศนียบัตรรับรอง โดยนำไปลงในโฆษณาในเอกสารฉบับพิเศษของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง รวมถึงกรณีมีสถานศึกษาบางแห่งนำสติ๊กเกอร์ไปติดที่รถโรงเรียน และขึ้นป้ายหน้าโรงเรียนแสดงถึงการได้รับรองมาตรฐานจาก สมศ. นั้น ทางคณะกรรมการบริหาร สมศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะ สมศ. ไม่ได้ให้ประกาศนียบัตรรับรองแต่อย่างใด จึงมีหนังสือเตือนสถานศึกษา และชี้แจงให้ทราบถึงวัตถุประสงค์การประเมินของ สมศ. แล้วว่า การประเมินรอบแรก 6 ปี เป็นการประเมินเพื่อมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการตัดสินได้ ตกผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เป็นการประเมินตามสภาพจริงของสถานศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลสะท้อนถึงจุดเด่นจุดด้อยของสถานศึกษานั้นๆ และเสนอแนะแนวทางปรับปรุง ไม่ใช่ประเมินระดับมาตรฐานว่าดีที่สุดหรือสูงสุดอย่างที่เข้าใจกัน (มติชนรายวัน วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





กระทรวงศึกษาฯ ตั้งงบ 2547 ดึงทบวงฯ – สกศ. บูรณาการ

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมจัดทำแผนขอตั้งงบประมาณปี 2547 มีปลัด ศธ. ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) เข้าร่วมว่า การจัดตั้งงบฯ ปี 2547 จะทำเป็นแผนแบบบูรณาการ ตามนโยบายหลักของรัฐบาลโดยมี 2 แผนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. คือการปฏิรูปการศึกษา และการเติมปัญญาให้กับสังคม โดยจะกำหนดเป้าหมายในการใช้งบฯ 7 แผน แบ่งตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย กรมวิชาการรับผิดชอบเรื่องหลักสูตร และปฏิรูปการเรียนรู้ สำนักงานปลัด ศธ. รับผิดชอบพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษารับผิดชอบการพัฒนากำลังคนอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา โดยเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาขาดแคลน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรับผิดชอบการเข้าถึงบริการการศึกษาของรัฐ รวมถึงวิทยาลัยชุมชน กรมการศึกษานอกโรงเรียนรับผิดชอบเรื่องเติมปัญญาให้สังคม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูรับผิดชอบพัฒนาคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาและสำนักนโยบายและแผนรับผิดชอบการบูรณาการการบริหารจัดการศึกษา โดยมอบให้แต่ละหน่วยงานเขียนแผน เพื่อจัดตั้งงบฯ ในเบื้องต้น (มติชนรายวัน วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





ออนไลน์เครือข่ายงานให้ นศ.

นายประวิช รัตนเพียร ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานมีโครงการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจัดหางานนำร่องที่มหาวิทยาลัยสยาม โดยได้จัดทำระบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต และใช้ศูนย์ทะเบียนของกรมการจัดหางานเป็นฐานข้อมูลเรื่องตำแหน่งงาน โดยเปิดโอกาสนายจ้างแจ้งความประสงค์ในตำแหน่งงานและให้ผู้หางานแจ้งความต้องการงานโดยจะมีการบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับความต้องการบุคลากรในสาขาต่างๆ ของนายจ้าง และความต้องการทำงานรวมทั้งความถนัด และสาขาที่จบของผู้หางาน เป็นต้น ทั้งนี้ระบบดังกล่าวออนไลน์ได้ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง วิธีการนี้จะสร้างเครือข่ายได้กว้างขึ้นทำให้นายจ้างและลูกจ้างมาพบกัน ส่วนกรมการจัดหางานก็จะตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง เช่น ความมีจริงของตำแหน่งงาน โดยจะตั้งศูนย์ทะเบียนสารสนเทศตามจุดสำคัญๆ ต่างๆ เช่น สถานีขนส่ง (มติชนรายวัน วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 18)





“สววท.” จับมือเอกชนประกวด ออกแบบเว็บไซต์โต้ตอบเรื่องการศึกษา

นายบุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ เว็บมาสเตอร์วิชาการดอทคอม เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ร่วมกับเว็บไซต์วิชาการดอทคอม จัดโครงการประกวดออกแบบเว็บไซต์โต้ตอบเพื่อการศึกษา ชิงรางวัล 135,000 บาท โดยรับสมัครนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบการเรียนการสอนโดยอาศัยความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต นายบุญญฤทธิ์กล่าวว่า “เว็บไซต์ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องจัดทำในรูปแบบภาษาไทย ประกอบด้วยบทเรียนแบบโต้ตอบ ในเนื้อหาต้องมีคำอธิบาย ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ เสียง การโต้ตอบระหว่างบทเรียนและผู้อ่าน และแบบทดสอบโต้ตอบ โดยทีมผู้จัดแข่งขันได้จัดทำโค้ดให้ พร้อมทั้งหนังสืออธิบายวิธีการนำโค้ดไปใช้ ซึ่งแบบทดสอบที่แนะนำคือแบบตัวเลือกและแบบจับคู่ ทั้งนี้ ทีมวิชาการดอทคอมจะนำผลงานที่ได้จากการประกวดมารวบรวมในเว็บไซต์โรงเรียนดิจิตอลให้เป็นฐานข้อมูล และจะมีการวัดผลในเชิงสถิติที่ใช้วัดระดับการเรียนรู้ ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำข้อมูลทางสถิติไปปรับปรุงการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลที่นอกเหนือจากหนังสือเรียน ที่สำคัญการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอนจะช่วยทำให้การเรียนการสอนในระยะไกลน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งได้เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2546 สามารถสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2392-4021 ต่อ 2317” (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 21)





จี้โอนที่อ่านหนังสือ –ห้องสมุดให้ท้องถิ่น อธิบดี กศน. หวั่นปัญหา – ส่งนิติกรตีความ

นายชาติชาตรี โยสีดา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยผลประชุมเกี่ยวกับการถ่ายโอนที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 35,000 แห่ง และห้องสมุดทั่วประเทศให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า กศน. ไม่มีอำนาจดำเนินการให้แก่หน่วยงานใด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจเชิงนโยบาย อีกทั้งเรื่องนี้เข้าใจว่าไม่ใช่กฏหมายเป็นเพียงการกำหนดโดยแผนปฏิบัติการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายชาติชาตรีกล่าวว่า “กศน. เป็นห่วงว่าหากต้องถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานให้บริการการศึกษาแล้ว จะสามารถบริหารได้หรือไม่ ในขณะที่เรื่องนี้ กศน. ดูแลมานานแล้ว” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สอบถามไปยังฝ่ายนิติกรกระทรวงศึกษาธิการให้ตรวจสอบว่าการถ่ายโอนภารกิจของ กศน.นั้นเป็นอำนาจของใครระดับใด และจะต้องดำเนินการโดยใคร มีระเบียบกฏหมายใดที่มีผลบังคับใช้บ้าง ซึ่งหากมีกฏหมายระบุไว้แล้วจึงจะดำเนินการ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





ร่าง พ.ร.บ.ครูฯ สะดุด ห่วงงบฯ เงินเดือนครู

นายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายังไม่สามารถเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ในวันเดียวกันนี้ได้ เนื่องจากวิปรัฐบาลต้องการสอบถามรัฐบาลก่อนว่าจะสามารถรับภาระงบประมาณจากบัญชีเงินเดือนครูใหม่ ที่ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นจำนวน 1,500 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2547 นี้ได้หรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ขัดข้องก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป คาดว่าจะนำเข้าได้ในสัปดาห์หน้า (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 20)





ดันศูนย์ซีมีโอ “ท่องเที่ยว-วิทย์ทางทะเล” ปองพลพร้อมคืน “สปาฟา”กลับกัมพูชา

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีเมค เปิดเผยว่า ในการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคมนี้ ตนจะเสนอวาระเรื่องการเสนอจัดตั้งศูนย์วิชาการระดับภูมิภาคขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) เพิ่มเติมอีก 3 ศูนย์ จากที่ปัจจุบันมีศูนย์วิชาการระดับภูมิภาคอยู่แล้ว 12 ศูนย์ โดยตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยศูนย์วิชาการระดับภูมิภาคว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ศูนย์วิชาการระดับภูมิภาคว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์วิชาการระดับภูมิภาคว่าด้วยการท่องเที่ยว นายปองพล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้พูดคุยกันเบื้องต้นแล้วกับนายอารีฟ ซาดิมาร เลขาธิการซีมีโอ ทราบว่าประเทศสมาชิกก็ให้ความสนใจในการจัดตั้งศูนย์วิชาการระดับภูมิภาคทั้ง 3 ศูนย์นี้ด้วย โดยทางประเทศสิงคโปร์สนใจที่จะรับศูนย์ไอซีทีเข้าไปจัดตั้งสำนักงานในประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นตนจะพยายามผลักดันขอให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือศูนย์การท่องเที่ยวเข้ามาจัดตั้งในประเทศ เพราะมีความพร้อม โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลอาจจะตั้งในมหาวิทยาลัยบูรพา เพราะมีสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลอยู่แล้ว ส่วนศุนย์การท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นศูนย์การศึกษา วิจัยวิชาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่นการศึกษาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะตั้งศูนย์นี้ได้ก็อาจจะผลักดันให้ตั้งสำนักงานในสถาบันราชภัฎ เพราะสถาบันราชภัฎเน้นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องกันอยู่ นายปองพลยังกล่าวอีกว่า “ถ้าประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ใดศูนย์หนึ่งก็พร้อมที่จะให้ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (ศูนย์สปาฟา) กลับไปจัดตั้งที่ประเทศกัมพูชาเหมือนเดิม ซึ่งแต่เดิมได้ตั้งอยู่ในกัมพูชาอยู่แล้ว แต่ช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ในประเทศไทย” (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


‘ไอบีเอ็ม’ ผุดเวบเพจเสียงภาษาไทยช่วยคนตาบอดท่องโลกอินเทอร์เน็ต

นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับศูนย์วิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดูแลการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับคนพิการพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยอ่านเวบเพจด้วยเสียงภาษาไทย (IBM Home Page Reader : HPR-THAI) โดยมุ่งหวังจะให้เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้พิการทางสายตาซึ่งไอบีเอ็มไทย ในส่วนแผนพัฒนาระบบภาษาไทย ได้ใช้ระยะเวลากว่า 4 ปีเต็ม พัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวโดยใช้งบประมาณรวมๆ มากกว่า 1 ล้านบาท “โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ เริ่มต้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วโดยทางจุฬาลงกรณ์ ได้วิจัยเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาด้านการสื่อสารสำหรับคนพิการตาบอด ซึ่งไอบีเอ็มเห็นว่า เป็นงานวิจัยที่ดี จึงนำแนวทางของงานวิจัยครั้งนั้นมาศึกษาความเป็นไปได้ โดยร่วมมือกับไอบีเอ็ม ญี่ปุ่นที่มีแผนกพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะด้านสำหรับคนพิการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ ให้คนตาบอดในประเทศไทยได้มีโอกาสใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว” นายทรงธรรมกล่าว นายทรงธรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ไอบีเอ็มได้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอ่านเวบเพจด้วยภาษาต่างๆ มาแล้ว 11 ภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน จนมาถึงการพัฒนาเวอร์ชั่นภาษาไทย ถือเป็นภาษาที่ 12 สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ โดยบริษัทจะมอบซอฟต์แวร์ HPR ไทย แก่ สถาบันการศึกษาและสมาคมผู้พิการทางสายตา รวม 4 แห่ง คือ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สถาบันคนตาบอดแห่งชาติ วิทยาลัยราชสุดาในมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะเปิดจำหน่ายไลเซ่นซอฟต์แวร์นี้ ผ่านตัวแทนจำหน่ายกว่า 50 ราย แก่หน่วยงาน หรือผู้สนใจอื่นๆ ราคา 3,000 บาทต่อ 1 ไลเซ่น อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ตัวดังกล่าวนี้ นอกจากจะช่วยให้คนตาบอดสามารถเข้าสู่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้แล้วยังมีประโยชน์สำหรับกลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางสมอง ประเภทการอ่านจับใจความไม่ดี (เป็นโรคทางสมอง) ทั้งยังสามารถให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มคนที่ต้องการเรียนภาษาไทย เช่น ชาวต่างชาติ เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 4)





เชื้อโรคกลายเป็นยอดยารักษามะเร็งสกัดได้ทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ลำไส้ตรง

นักวิทยาศาสตร์ได้พบคุณของแบคทีเรียอี.โคลิ เมื่อสังเกตพบว่า คนในชาติที่พัฒนาแล้ว มักจะพากันเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงกันมาก ต่างกับชาติที่กำลังพัฒนา ที่มักไม่ค่อยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งแบบเดียวกันมากเท่าไหร่ ที่น่าสังเกตก็คือ ทั้งที่ชาติที่เจริญน้อยกว่ามักมีเชื้อแบคทีเรียอี.โคลิอยู่ชุม ในขณะที่ชาติที่เจริญแล้วจะหาไม่ค่อยได้จึงสงสัยว่าเชื้อแบคที่เรียพวกนั้น อาจจะมีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งพวกนี้อยู่บ้าง นักวิจัยได้ศึกษาโดยการทดลองจับเซลล์มะเร็งลำไส้ ใส่ในพิษของเชื้ออี.โคลิ และได้พบว่าเซลล์มะเร็งเมื่อเจอพิษเข้า ฝ่อลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่อาจแบ่งตัวอย่างเสรีที่เคยเป็นไปได้อีก ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าพิษของมันยังมีฤทธิคล้ายกับตัวยาเคมีสองชนิด ซึ่งมีสรรพคุณสกัดกั้นการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงอีกด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





นักวิทย์น้อยช่างสงสัย…ไขความลับ ‘หนอนไหมป่าทาซาร์’

ครูวราพิชญ์ พัฒนาเศรษฐานนท์ ครูสอนชีววิทยาของโรงเรียนเมืองพลพิทยาคมและนักเรียนได้จัดทำโครงการวิทยาศาสตร์ศึกษาวงจรชีวิตของหนอนไหม และการพัฒนาเส้นใยไหมใช้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และยังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงชนิดและสายพันธุ์หนอนไหม จนพบว่า เจ้าแมลงบ้งกะเล็น ก็คือ “หนอนไหมป่าทาซาร์” ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิด Antheraea mylitta Drury อันดับ Lepidoptera จัดอยู่ในวงศ์ Attacidae พบมากในป่าเต็งรัง ซึ่งผ้าที่ทอจากไหมป่าทาซาร์จะมีลักษณะมันเงา เหนียวคงทน และเรียบสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว และมีราคาสูงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เส้นใยไหมป่าทาซาร์ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก แต่ประเทศที่เลี้ยงไหมป่าทาซาร์ ได้แก่ อินเดีย จีน และญี่ปุ่น แต่ก็มีขีดจำกัดเพราะขาดแคลนพืชอาหารที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีรายงานการเพาะเลี้ยงไหมป่าทาซาร์เป็นอุตสาหกรรม จึงกลายเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง “ปริมาณและผลผลิตจากเส้นใยไหมป่าทาซาร์ ผลงานโครงการนี้ขยายผลไปถึงชุมชนในการเพาะเลี้ยงไหมมัดหมี่ ผ้ารองจาน และตีนจกเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวอำเภอพล อ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ และ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น เป็นอย่างมาก (สยามรัฐ จันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





เด็กความสามารถพิเศษ

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาวิจัยเด็กที่มีความสามารถพิเศษกันมาก นักวิทยาศาสตร์ด้านจิตวิทยา คือ ไปรอัน โอ บอยล์ได้ใช้คอมพิวเตอร์สแกนสมองเด็กอัจฉริยะทั้งหลายปรากฏว่า เด็กอัจฉริยะมีการทำงานด้านเมตตาโปลิซึ่มที่สมองมากกว่าเด็กธรรมดาถึงหกหรือเจ็ดเท่าที่สมองด้านขวา ซึ่งจะให้ความตื่นตัวด้านการจดจำได้ดี นอกจากประสาทด้านส่วนหน้าก็สามารถที่จะทำงานด้านการบริหารประสาทและสมองส่วนอื่นๆ ได้ดีกว่าเด็กทั่วไป เพราะประสาทด้านส่วนหน้าทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายมากสำหรับเด็กอัจฉริยะ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





สิ่งประดิษฐ์ล่าสุด แห่งปี 2003 รถสามล้อขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและแขนโยก

อาจารย์วิบูลย์ ปิ่นตบแต่ง ผู้ประดิษฐ์รถสามล้อไฟฟ้าและแขนโยก ของหมวดงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนวัดห้วยจระเข้วิทยาคม จ.นครปฐม ได้ประดิษฐ์ “รถสามล้อเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้าและแขนโยก” สามารถตอบสนองปัญหาการใช้ยานพาหนะของผู้พิการได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าใช้อวัยวะในการควบคุมน้อยที่สุด รถสามล้อนี้มีราคาถูกเพราะสามารถผลิตได้เองภายในประเทศและสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ก็ได้รับรางวัลชมเชย “รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ประจำปี 2546 จากสภาวิจัยแห่งชาติ อาจารย์วิบูลย์ ปิ่นตบแต่ง ผู้ประดิษฐ์รถสามล้อไฟฟ้าและแขนโยก ของหมวดงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนห้วยจระเข้วิทยาคม จ.นครปฐม (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 25)





สำรวจมหาสมุทร ความหวังที่ยังเหลืออยู่ของมนุษยชาติ

โครงการของสถาบัน CSIRO นี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกันของ 13 ประเทศ โดยการนำของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะสำรวจค้นคว้ามหาสมุทรทั่วโลก โดยการส่งทุ่นยนต์ลอยน้ำเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลท้องทะเลและมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งตามเป้าหมายแล้วจะต้องปล่อยทุ่นหุ่นยนต์ให้ได้ทั้งหมดกว่า 3,000 ชุด ทุ่นหุ่นยนต์จำนวน 44 ทุ่น ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบัน CSIRO นั้นจะถูกปล่อยไปเพื่อสำรวจมหาสมุทรในแถบขั้วโลกใต้หรือแถบแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิและทิศทางการไหลของกระแสน้ำในแถบนั้น ทุ่นหุ่นยนต์ทั้ง 44 ทุ่น จะลอยตัวอยู่บนพื้นผิวมหาสมุทรและจะส่งเครื่องมือลงไปเก็บข้อมูลในบริเวณที่ลึกลงไปกว่า 2 กิโลเมตรข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งกลับเข้ามาที่สถานีปฏิบัติการในภาคพื้นทวีปโดยอาศัยดาวเทียมในทันทีที่เก็บข้อมูลได้ ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักอุตุนิยมวิทยา นักเดินเรือ ชาวประมง รวมไปถึงธุรกิจการส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันจะทำให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวช่วยในการตัดสินใจในเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น (มติชนรายวัน วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





พบวิธีควบคุม “สเตมเซลล์” ใช้แทนเซลล์เสื่อม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินประสบความสำเร็จในการควบคุมเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเตมเซลล์ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ตามที่ต้องการได้เป็นครั้งแรกของโลก นายแพทย์โธมัส ซวากา หัวหน้าทีมศึกษา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสเตมเซลล์จากสถาบันอเมริกัน เจมส์ ทอมสัน กล่าวว่าความสำเร็จดังกล่าวจะเป็นหนทางสู่การพัฒนาเซลล์ไปเป็นเยื่อบุสมอง เซลล์หัวใจหรือเซลล์ตับ เพื่อนำเซลล์ที่ได้เหล่านี้ไปแทนที่เซลล์ของผู้ป่วยที่ใช้การไม่ได้ เช่น เซลล์สมองนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาคินสัน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถโยกย้ายทุกส่วนในพื้นที่พันธุกรรมของมนุษย์ได้ตามต้องการ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 10)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ถั่วเหลืองกับน้ำชาจับคู่เป็นสูตรปราบเนื้อร้ายทรวงอกต่อมลูกหมาก

นักวิจัยของฮาร์วาร์ด เพิ่งได้รับความรู้ใหม่ว่า ชากับถั่วเหลืองยังช่วยป้องกันมะเร็งของต่อมลูกหมากในผู้ชาย นอกจากป้องกันมะเร็งทรวงอกให้กับผู้หญิงแล้วเมื่อศึกษาทดลองกับหนู พบว่ามันช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมากของหนูทดลองไว้ได้ เขาเปิดเผยว่า “ผมคิดสิ่งที่สำคัญที่สุดในการค้นพบครั้งนี้ก็คือที่ได้รู้ว่าการกินทั้งถั่วเหลืองกับดื่มน้ำชา และยิ่งทำให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะแต่ละอย่างจะออกฤทธิ์ช่วยหนุนกันและกัน จริงอยู่ทั้งถั่วเหลืองและน้ำชา ต่างมีสรรพคุณต่อต้านมะเร็งของต่อมลูกหมากได้ด้วยกันแต่ยิ่งกินร่วมกันกับยิ่งดีขึ้น เขาเล่าต่อไปว่า เกิดความคิดค้นคว้าถึงประโยชน์ของการกินชากับถั่วเหลืองขึ้นมา เมื่อไปพบสถิติว่า ผู้ชายจีนเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมากต่ำที่สุดในโลก ทำให้นึกขึ้นได้ว่า อาหารกินของคนจีนอาจจะมีส่วน จึงตรวจนิสัยการกินของชาวจีนดู โดยหาดูว่าผู้ชายชาวจีนกินอะไรมากที่สุด และเมื่อตรวจดูอาหารการกิจทั้งหมดก็เจอว่า พวกเขากินถั่วเหลืองกับน้ำชามากที่สุดและจึงได้ไปลองทดลองกับหนู ให้กินถั่วเหลืองเทียบเท่ากับคนกินมากเป็นปริมาณวันละ 250 มิลลิกรัม และให้กินน้ำชา เทียบเท่ากับคนกินมากวันละระหว่าง 6-8 ถ้วย (ไทยรัฐ อังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ชวนตรวจธาลัสซีเมียก่อนแต่งลดความเสี่ยงส่งโรคถึงรุ่นลูก

“ความรู้เพื่อชีวิต 10 ปี สกว.” แจ้งว่า ในประเทศไทย คน 100 คนจะมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย 1 คน หรือประมาณ 600,000 คน ของประชากรซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคเลือดจางนี้ เนื่องจากฮีโมโกบินอี เป็นฮีโมโกบินผิดปกติชนิดหนึ่งที่พบบ่อยมาก และถ่ายทอดได้ทางพันธุ์กรรม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องรักษาด้วยการให้เลือดเป็นประจำ สำหรับผู้ที่เป็นพาหะสืบทอดยีนผิดปกติ จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปสู่ลูกได้ หากทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะคือมียีนผิดปรกติด้วยกันทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจะมีสูงถึง 1 ใน 4 ซึ่งปริมาณของผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ในไทยสูงถึงร้อยละ 20-30 และเพิ่มเป็น 30-60 เปอร์เซ็นต์ในภาคอีสาน ในการตรวจหาความเป็นพาหะของโรค สามารถทำได้ 3 ระดับ ตั้งแต่การตรวจกรอง การตรวจยืนยัน และการตรวจ DNA โดยการตรวจกรองนั้นมีความยุ่งยากใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อยกว่าอีก 2 วิธีมาก ดังนั้นนักวิจัยไทยนำโดย ผศ.ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ และคณะจากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.ขอนแก่น จึงพัฒนา “ชุดน้ำยาตรวจกรองฮีโมโกบินอี” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในชุดน้ำยาที่พัฒนาขึ้นใหม่ ประกอบด้วยน้ำยา 2 ชุด ชุดแรกจะมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทำปฏิกิริยากับฮีโมโกบินอีได้เร็วกว่าฮีโมโกบินชนิดอื่นในเลือด ขณะที่น้ำยาชุดที่ 2 จะใช้เพื่อหยุดการทำปฏิกิริยาของน้ำยาชุดแรก (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





CM-Test ชุดตรวจสอบยาต้านจุลชีพตกค้าง

คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ทำการวิจัยและคิดค้นชุดตรวจสอบยาต้านจุลชีพตกค้างขึ้น ชุดตรวจสอบดังกล่าว สามารถตรวจสอบการตกค้างของยาต้านจุลชีพได้ถึง 21 ชนิด เป็นชุดทดสอบที่ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และได้ผลการตรวจสอบเร็วโดยใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงก็สามารถทราบผลการทดสอบได้และมีราคาถูกมาก ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าชุดทดสอบที่นำเข้าจากต่างประเทศมาก การทดสอบ 1 ตัวอย่างจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 70 บาทเท่านั้น หากเป็นชุดทดสอบของต่างประเทศอาจมีราคาแพงถึง 200-300 บาทต่อหนึ่งตัวอย่าง ในการทดสอบโดยชุดทดสอบดังกล่าว ให้คั้นเอาน้ำจากเนื้อที่จะทดสอบ ใช้กระดาษกรองจุ่มเอาน้ำเนื้อที่คั้นไว้ แล้วนำไปใส่ในหลอดชุดตรวจสอบ โดยใช้กระดาษกรองสัมผัสกับผิวด้านบนอาหารเลี้ยงเชื้อในหลอดชุดตรวจสอบ นำหลอดที่เตรียมไว้ไปอบเพาะที่อุณหภูมิ 65+1 องศาเซลเซียส นานประมาณ 2 ชั่วโมง ก็นำมาเปรียบเทียบกับหลอดควบคุม (หลอดปลอดสารต้านจุลชีพ: Negative control) เกษตรกรสามารถใช้ชุดตรวจสอบอาหารและยาที่จะให้สัตว์กิน ถ้าอาหารและยาที่เราใช้เลี้ยงสัตว์ปลอดจากสารต้านจุลชีพ ก็จะไม่เกิดปัญหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างแน่นอน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 27)





ปลูก ‘ผักโตเมี่ยว’ ทำง่ายรายได้ดีผลงานวิจัยราชมงคล ‘พิษณุโลก’

ผศ.มุกดา สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก เจ้าของโครงการวิจัยการเพาะถั่วงอกจากถั่วลันเตา เปิดเผยรายละเอียดว่า “ผักโตเมี่ยว” คือถั่วงอกที่เกิดจากการเพาะเมล็ดถั่วลันเตาซึ่งเป็นถั่วชนิด Pisum sativum Linn ในวงศ์ Leguminosae เป็นลักษณะไม้เถามีมือเกาะยอดและฝักอ่อนใช้กินเป็นผักพันธุ์ฝักเล็กดอกสีขาวพันธุ์ฝักใหญ่ดอกจะเป็นสีชมพูอมม่วง ถั่วลันเตาโดยเฉพาะเมล็ดจะมีโปรตีนสูงถึง 25% จัดเป็นพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารในรูปของโปรตีนที่ใช้เป็นอาหารเสริมได้ เนื่องจากมีไลซีน และทริพโตเฟนสูง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก เมื่อนำเมล็ดถั่วลันเตามาเพาะจะได้ต้นอ่อนคล้ายถั่วงอก มีลักษณะอวบ ใบมีสีเขียวอ่อน ชาวจีนเรียกว่า “ผักโตเมี่ยว” (สยามรัฐ จันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 25)





การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำจากหอยเชอรี่

หอยเชอรี่เป็นหอยที่มีลักษณะคล้ายหอยโข่ง สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและถึงแม้ว่าหอยเชอรี่จะมีโปรตีนสูงถึง 56.25% ไขมัน 1.51% แคลเซียม 6.91% ฟอสฟอรัส 0.82% ไฟเบอร์ 5.27% และเถ้า 20.66% ซึ่งสามารถนำหอยเชอรี่มาใช้ประโยชน์ด้านอาหารได้ แต่จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และพบโลหะหนักและสารกำจัดศัตรูพืชในหอยเชอรี่ ดังนั้นการนำหอยเชอรี่มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากหอยเชอรี่ ในปัจจุบันเราได้นำหอยเชอรี่มาทำปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำที่ผ่านกระบวนการหมัก ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยฉีดพ่นทางใบ หรือราดทางดิน โดยการฉีดพ่นทำสัปดาห์ละครั้ง มีเกษตรกรจากอำเภอบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี และเกษตรกรจากอำเภอเมือง จ.ปราจีนบุรี ได้นำเอาวิธีการดังกล่าวไปทดลองใช้แล้ว พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 27)





ข่าวทั่วไป


‘กูเกิล’ แชมป์เครื่องหมาย

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าบริษัทสำรวจตลาด อินเทอร์แบรด์แห่งประเทศอังกฤษ เปิดเผยการลงคะแนนจากผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งโหวตให้เวบไซต์ค้นหา “กูเกิล” ครองตำแหน่ง “เครื่องหมายการค้าแห่งปี” (brand of the year) ประจำ พ.ศ.2546 นายโรบิน รัสซ์ ตัวแทนอินเทอร์แบรด์ กล่าวว่า ทางบริษัทได้รวบรวมความเห็นของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ และนักศึกษาจำนวนทั้งหมด 1,315 คน จาก 72 ประเทศทั่วโลก โดยให้ลงคะแนนเสียงว่าเครื่องหมายการค้าใดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้บริโภคมากที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งผลการสอบถามพบว่า บริษัทกูเกิล แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รับการโหวตให้เป็นเครื่องหมายการค้าอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 15% (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 6)





ทูลเกล้าฯถวายรางวัล “สมเด็จพระเทพฯ”

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงษ์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่มีนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน ได้มีมติถวายตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเป็นพิเศษแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะทรงมีความเหมาะสม 3 ประการ ประกอบด้วย 1. ความปรีชาสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม 2. เป็นเมธี หรือปราชญ์ทางวัฒนธรรม และ 3. ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยจะถวายสัญญานามว่า “วิศิษฏ์ศิลปิน” แปลว่าผู้เป็นศิลปินด้วยพระองค์เอง ประเสริฐกว่าศิลปินแห่งชาติ เมธีวัฒนธรรมแห่งชาติ และมีคุณูปการต่องานศิลปวัฒนธรรมทั้งปวง เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 ก.พ.นี้ ม.ร.ว.จักรรถกล่าวว่า เดิมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีความตั้งใจที่จะถวายตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเป็นพิเศษแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปลายปี 2545 ครั้งที่มีการประกาศรายชื่อศิลปินแห่งแต่ไม่สามารถถวายตำแหน่งให้แก่พระองค์ท่านได้เหมือนกับบุคคลหรือศิลปินทั่วไป ทั้งที่คณะกรรมการต้องการถวายเพราะถึงเวลาแล้ว และทรงมีความเหมาะสมทุกประการ ในความเป็นศิลปินเหนือศิลปิน ทรงมีพระปรีชาสามารถกว้างไกลกว่าศิลปินแห่งชาติทั่วไป เป็นนักปราชญ์เป็นเมธีทางวัฒนธรรม ทั้งทรงมีคุณูปการแก่งานด้านศิลปวัฒนธรรมและต่อศิลปินเพราะฉะนั้น ต้องถวายสมัญญานามให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นพิเศษ เป็นวิศิษฏ์ศิลปิน เหมือนกับที่เคยถวายสมัญญานามตำแห่นงอัครศิลปินให้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 15)





ชิปมือถือความเร็วสูง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทผลิตชิปขนาดใหญ่ อินเทล เปิดตัวชิปรุ่นใหม่ล่าสุด “PXA800F” รองรับความต้องการของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ทำให้โทรศัพท์มือถือมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง เช่น เกมออนไลน์ และวิดีโอคอนเฟอเร้นซ์ ซึ่งเป็นชิปความเร็วสูงรุ่นแรกที่จะเริ่มใช้ในโทรศัพท์ได้ประมาณปลายปีนี้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





ไมโครซอฟท์เผยโฉมโปรแกรมจับบั๊ก

บริษัทไมโครซอฟท์ ประกาศว่า โปรแกรมปลั๊ก-อินของบริษัทด้านความปลอดภัยแซงค์ทัม ซึ่งมีกำหนดการจะเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ เป็นเครื่องมือตัวแรกที่สามารถทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มวิชวล สตูดิโอ.เน็ต ของไมโครซอฟท์ได้อย่างง่ายดาย โดยเครื่องมือดังกล่าว หรือแอพพ์สแกน ดีเวลลอปเปอร์อีดิชั่น 1.5 สามารถทำงานบนแอพพลิเคชั่นอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจหาข้อบกพร่องของโปรแกรมได้แบบ ณ เวลาจริง นายไมเคิล ฮาวาร์ด ผู้จัดการอาวุโสบริษัทไมโครซอฟท์และผู้เขียนหนังสือเรียนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมความปลอดภัย กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาปัญหาได้ก่อนที่จะมีการออกโปรแกรมแก้ไขข้อบกพร่อง หรืออาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่มากกว่านี้ ทั้งนี้ บริษัทแซงค์ทัม จะทำหน้าที่จัดป้อนแอพพ์สแกน ดีอี 1.5 แก่ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยและผู้ตรวจสอบเครือข่าย แต่ยังไม่เปิดเผยราคาขาย (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 6)





คนไทยป่วยโรคปอดล้านคน

ศ.น.พ.วิศิษฎ์ อุดมพาณิชย์ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease-COPD) คือ ความผิดปกติเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยเรื้อรัง ไอ หายใจมีเสียงหวีดและมีเสมหะมาก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่และการสัมผัสทางมลพิษทางอากาศ โดยจากสถิติพบว่าโรคนี้จะเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่าผู้หญิงจะเป็นโรคนี้ในสัดส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสูดควันบุหรี่จากคนใกล้ชิด โดยไทยมีผู้เป็นโรคนี้สูงถึง 1 ล้านคน มีเพียงยาพ่น SPIRIVA (tiotroplum) ที่ช่วยบรรเทาอาการของโรค โรคปอดจะมีชีวิตที่ทรมานยาวนานกว่าโรคเอดส์ ขอข้อมูลได้ที่สมาคมอุรเวชช์ โทร. 0-2644-4719 (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 18)





วัยรุ่นฮิตยาคุมใส่แชมพูทำผมยาว

น.ส.นภาพร ด่านรักษา นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนวัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เปิดเผยว่านำยาคุมกำเนิดมาบดละเอียดผสมกับแชมพูสระผมก่อนนำมาชะโลมศีรษะทิ้งไว้ 2-3 นาทีก่อนล้างออก โดยได้ทดลองกับเพื่อนๆ มาหลายเดือนได้ผลดีพอสมควร ส่วนผลข้างเคียงยังไม่พบ และทราบว่า มีนักเรียน นักศึกษาหญิงสถาบันอื่นๆ นิยมใช้สูตรดังกล่าวจำนวนมาก จึงเสนออาจารย์ที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ทำการทดลอง เพื่อตรวจสอบว่า การใช้สารเคมีดังกล่าวผสมกัน จะมีผลทำให้เกิดการกระตุ้นให้เส้นผมงอกเร็วกว่าปกติหรือไม่ นายพลกฤษณ์ ศรีสำราญรุ่งเรือง เภสัชกรประจำโรงพยาบาลวัฒนานคร เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในเรื่องดังกล่าวแต่ได้ยินมานานแล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันใช้ยาผิดประเภทจึงจะเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิสูจน์ต่อไป โดยปกติแล้วยาคุมกำเนิด มีส่วนประกอบที่จะเป็นส่วนฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อรับประทานแล้วจะมีการดูดซึมภายในร่างกาย เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของยาสระผมแล้ว ไม่ทราบว่าจะดูดซึมเข้าร่างกายได้มากน้อยเพียงใด แต่บริเวณหนังศีรษะการดูดซึมสารประเภทนี้จะน้อยมาก จึงไม่น่าจะเร่งหรือกระตุ้นให้เส้นผมยาวเร็วขึ้นได้ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 18)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215