หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 10 ประจำวันที่ 2003-03-11

ข่าวการศึกษา

มหิดลผนึกสวีเดนผลิต-แลกเปลี่ยนหมอ
วิตกครูเคี่ยวสอนเด็กเก่งหวังผลงาน
ผลวิจัยจุฬาฯพบวิกฤติครูตกขอบปฏิรูปเร่งแก้ไข

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สิงคโปร์พัฒนา ‘อัลตรา-ไวน์แบนด์’ ส่งสัญญาณจับวัตถุทะลุสิ่งกีดขวาง
อุตฯรถยนต์ใช้โรบอตผลิตแทนแรงงาน
พบโมเลกุลเปิดทางรักษามะเร็ง
ดาวน์โหลดข้อมูลจีโนมผ่านมือถือ

ข่าววิจัย/พัฒนา

เพชรบุรีตั้ง รง.แปรรูปมะนาวครบวงจรถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชน
‘ไร้ซ์’ เน้นวิจัยก่อนสร้างเครื่องมือเกษตร
ไทยเดินหน้าทดลอง ‘เอดส์แวกซ์’ ไม่หวั่นแม้ผลศึกษาล้มเหลวในสหรัฐ
วอนแพทยสภาเปิดทางหมอวิจัยสรรพคุณวี-1

ข่าวทั่วไป

ยูเอ็นออกคู่มือสู้เอดส์





ข่าวการศึกษา


มหิดลผนึกสวีเดนผลิต-แลกเปลี่ยนหมอ

26 ก.พ. มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมกับสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สถาบันคาโรลินสก้า (Karolinska Institute) และมูลนิธิสวีแคร์ (Swecare Foundation) จัดการประชุมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข “Thai-Swedish Medical Symposium” พร้อมกับการประชุมคู่ขนานสองเรื่อง ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Development of Sustainable Society) และการส่งออก (Export to Sweden) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยและสวีเดน ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้มีวิทยากรจากสถาบันคาโรลินสก้า สวีเดน ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำแห่งหนึ่งของยุโรปและเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสวีเดน เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อต่างๆ ร่วมกับนักวิจัยของไทยจากหลากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





วิตกครูเคี่ยวสอนเด็กเก่งหวังผลงาน

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการครูให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ 3 โดยมุ่งเน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ นั้น นายสุขชัย แสวงนาม กรรมการสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การประเมินอาจารย์ 3 รูปแบบใหม่นี้ได้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 และมีปัญหาจริงๆ เพราะนอกจากครูจะต้องโชว์แผนการสอนแล้ว ยังต้องเลือกเด็กมาให้รับการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ครูทุกคนที่เข้ารับการประเมินจะมองไปที่เด็กเก่งแล้วดึงเด็กกลุ่มนี้มาเคี่ยว ขณะเดียวกันเด็กอ่อนก็จะถูกทอดทิ้ง ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงวิธีการประเมินหรืออาจต้องมีการวางกรอบอะไรบ้าง เพื่อช่วยเหลือเด็กไม่ให้ต้องถูกกดดันจนเด็กเองก็ทนไม่ไหว” (สยามรัฐ จันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ผลวิจัยจุฬาฯพบวิกฤติครูตกขอบปฏิรูปเร่งแก้ไข

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลวิจัยเรื่อง สถานภาพการผลิตและพัฒนาครู พบครูเผชิญปัญหาหลายแบบ ครูไกลปืนเที่ยงยังตกขอบปฏิรูป ตกเป็นเหยื่อการอบรมเชิงพาณิชย์หลายคนหมดกำลังใจ ขอเกษียณก่อนกำหนดเป็นแถว หลายสถาบันมีปัญหาจำนวนครูและ นร.เหลื่อมล้ำ นักวิชาการชี้ดึงระบบการสอนทางไกลช่วยแก้ไข เสนอตั้งองค์การมหาชนเฉพาะกิจจัดแก้ปัญหาครู (สยามรัฐ จันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สิงคโปร์พัฒนา ‘อัลตรา-ไวน์แบนด์’ ส่งสัญญาณจับวัตถุทะลุสิ่งกีดขวาง

สำนักงานข่าวเอ พี รายงานว่า องค์การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร (The Infocomm Development Authority) ของสิงคโปร์ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายการสื่อสารภายในประเทศ ได้ประกาศทดลองใช้กฎหมายที่อนุญาตให้บริษัทต่างๆ ทดสอบเทคโนโลยี อัลตรา-ไวน์แบนด์ (ultra-wideband technology) ได้ภายในเขตพื้นที่ที่กำหนด ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนในช่วงแคบผ่านคลื่นอากาศได้หลายล้านครั้งต่อวินาที และสามารถส่งสัญญาณผ่านสิ่งกีดขวาง เข้าฝ่าผนังได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถอ่านตำแหน่งและระยะห่างที่แน่นอนของวัตถุ นอกจากนี้ คลื่นสัญญาณจะสามารถส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้ในระยะใกล้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 6)





อุตฯรถยนต์ใช้โรบอตผลิตแทนแรงงาน

ในการเสวนาวิชาการ สกว. เรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ : จากวิจัยสู่การใช้แรงงานเพื่ออุตสาหกรรมไทย ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัทเลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจนำเข้าหุ่นยนต์เพื่อการผลิต เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ในประเทศไทย ให้ความสนใจนำ ‘หุ่นยนต์’ มาใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตมากขึ้นโดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าหุ่นยนต์เพื่อการผลิตประมาณ 1,200 ตัว ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นหุ่นยนต์เหล็กเชื่อม หุ่นยนต์เหล็กตัดและหุ่นยนต์เคลื่อนย้ายวัสดุ โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ “ในการตัดเหล็กเพื่อทำเป็นโครงสร้างหรือตัวถังรถยนต์ เมื่อก่อนโรงงานใช้เลเซอร์เป็นตัวตัดเหล็กซึ่งคิดว่าดีที่สุดแล้วแต่ก็มีปัญหาเมื่อเลเซอร์ตัดไม่ทันตามต้องการ จึงมีการนำหุ่นยนต์ตัดเหล็กมาทำงานแทนที่ ทั้งตัดเหล็กขึ้นโครงเหล็ก ตัดเหล็กขอบประตู ขอบหน้าต่างของรถ นำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตส่วนอื่นๆ ทำให้การผลิตโครงสร้างรถยนต์ 1 คันจากแผ่นเหล็กใช้เวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น” ดร.ประพิณ กล่าว และจากการรวบรวมข้อมูลประมาณการว่า ทั่วโลกมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประมาณ 65,000 ตัว กระจายตัวอยู่ในญี่ปุ่น 44% กลุ่มประเทศยุโรป 32% อเมริกาเหนือ 17% และอาเซียน 7% โดยอาเซียนมีแนวโน้มความต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อการผลิตมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแนวโน้มการลงทุน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 9)





พบโมเลกุลเปิดทางรักษามะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบโมเลกุล “เอ็มดีซี 1” ทำหน้าที่เหมือนหน่วยแพทย์ฉุกเฉินภายในเซลล์ซึ่งจะตรวจจับและซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายจากการฉายรังสีถูกค้นพบโดย ศ.สตีฟ แจ็คสัน นักชีวโมเลกุล มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ในอังกฤษโดยการค้นพบครั้งนี้ จะเพิ่มความเข้าใจถึงวิธีการตอบสนองของเซลล์ที่มีต่อการฉายรังสีรวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์และเป็นสาเหตุของมะเร็งในท้ายที่สุด ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของตัวยาบางตัว อาจเข้าไปปิดการทำงานของโมเลกุลเอ็มดีซี 1 ดังนั้นหากมีการฉายรังสีในปริมาณมากก็จะยิ่งทำให้เซลล์โดนทำลายมากขึ้น จนถึงขั้นทำลายดีเอ็นเอในเซลล์ได้ ทั้งนี้ คณะวิจัยมองว่าหากค้นพบวิธีเพิ่มการทำงาน ของโมเลกุลตัวนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสีในปริมาณสูงได้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 9)





ดาวน์โหลดข้อมูลจีโนมผ่านมือถือ

นักวิจัยด้านจีโนมิกส์ จากสถาบันคาโรลินสก้า ในสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เผยว่า ในเร็วๆ นี้ จะเปิดบริการให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วไป ดาวน์โหลดข้อมูลฐานพันธุกรรม หรือข้อมูลจีโนมผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ไร้สายต่างๆ โดยความสามารถในการรับข้อมูลจีโนมนี้สามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีแวบ (wireless application protocol : WAP) ในมือถือ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้มือถือเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้น นักวิจัยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจีโนมของอวัยวะทั้งหมดได้ จากฐานข้อมูลทั้งหมด117 ชนิด ทั้งนี้บริการดาวน์โหลดข้อมูลจีโนมผ่านมือถือนี้ ถูกตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “ไวจิต” (WiGID : wireless genome information database) ซึ่งเนื้อหาที่ดาวน์โหลดรวมถึงชื่อของสัตว์หรือพืช หรือสิ่งที่ทำศึกษาข้อมูลจีโนมคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ และแหล่งที่มาของการตีพิมพ์ ที่พลาดไม่ได้ก็คือ ข้อมูลขนาดและจำนวนดีเอ็นเอ โครโมโซม และยีน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 9)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เพชรบุรีตั้ง รง.แปรรูปมะนาวครบวงจรถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชน

ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการกลางเพื่อการวิเคราะห์และบริการ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า มจธ.ได้จัดตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับแปรรูปมะนาวครบวงจรขนาดเล็ก ณ วัดประจันต์ (วังไคร้) ต.วังไคร้ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกอบรมให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โรงงานต้นแบบนี้ ประกอบด้วยเครื่องล้างมะนาว เครื่องทำน้ำมะนาวเข้มข้น เครื่องเหวี่ยงแยกเกล็ดน้ำแข็ง เครื่องผ่าและคั้นมะนาว เครื่องอบแห้งแบบแช่แข็ง ชุดสกัดน้ำมันหอมระเหย เครื่องลดความขม เครื่องบรรจุซองโดยเลือกใช้วัสดุที่ผลิตได้ในประเทศเช่น เครื่องผ่า และคั้นมะนาวประดิษฐ์ขึ้นโดย ผศ.สาธิต จันทนปุ่ม เพื่อใช้ในการคัดแยกขนาดมะนาว ผ่าและคั้นน้ำ เครื่องมือนี้เหมาะสำหรับโรงงานที่มีการผลิตน้ำมะนาวและมะนาวผงในปริมาณสูง ผศ.สุชาดา กล่าวว่า โรงงานต้นแบบนี้มีมูลค่า 1.7 ล้านบาทได้รับงบประมาณจากทบวงมหาวิทยาลัย ส่วนสาเหตุที่โรงงานต้นแบบมีราคาสูง เนื่องจากเครื่องมือบางชิ้นมีราคาที่สูงเช่น เครื่องอบแห้งแบบแช่แข็ง แต่ชาวบ้านที่ผ่านการผึกอบรมแล้วอาจจะไม่เลือกใช้เครื่องมือที่มีราคาสูงก็ได้ จึงจะทำให้โรงงานที่ใช้ผลิตจริงมีการลงทุนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรงงานต้นแบบโดยเกษตรกรอาจจะทำเพียงน้ำมะนาวเข้มข้น หรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากเปลือกมะนาวก็ได้ซึ่งมหาวิทยาลัยจะให้คำแนะนำช่วยเหลือเครื่องมือที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานในภายหลัง มจธ.ได้วิจัยและทดลองกระบวนการกำจัดของเสีย ที่เกิดจากการแปรรูปน้ำมะนาว พบว่า เปลือกและเมล็ดสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยใช้ไอน้ำ จากนั้นนำเปลือกที่เหลือจากการคั้นเอาน้ำมันหอมระเหย มาแปรรูปเป็นมะนาวดองหรือมะนาวสามรส ส่วนเศษของเมล็ดมะนาวที่บดแล้วนำมาใช้เป็นสารชีวภาพฆ่าหนอนหรือแมลงศัตรูพืช ซึ่งจากกระบวนการผลิตแบบครบวงจรนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดโดยไม่ทำให้เกิดของเหลือใช้หรือของเสีย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





‘ไร้ซ์’ เน้นวิจัยก่อนสร้างเครื่องมือเกษตร

นายยิ่งยอด ยิ่งยืนยง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทไร้ซ์ เอ็นจิเนียริ่ง ซัพพลาย จำกัด ซึ่งดำเนินการผลิตและจำหน่ายเครื่องสีข้าวและเครื่องอบข้าว เปิดเผยว่า ธุรกิจของบริษัทเกี่ยวกับการจัดการเมล็ดข้าวหลังการเก็บเกี่ยว อาทิ เครื่องอบเมล็ดข้าว ไซโลข้าว เครื่องสีข้าว เครื่องคัดขนาดและเครื่องบรรจุเมล็ดข้าวลงถุง ซึ่งล้วนเป็นเครื่องจักรที่คิดค้นและประดิษฐ์โดยคนไทย และนอกจากจะจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนเตาเผาแกลบแบบไซโคลน เป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานความร้อนที่ใช้วัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เช่น แกลบ ซังข้าวโพด ชานอ้อย หลักการทำงานเลียนแบบการเกิดพายุไซโคลน ในเรื่องของการลอยตัวและหมุนตัวของลมร้อน โดยห้องเผาไหม้ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นไซโคลน 2 ห้อง ห้องแรกทำหน้าที่ดักขี้เถ้าฝุ่นละออง ห้องที่สองขจัดควันและก๊าซพิษ ประกอบด้วยการหมุนของกระแสอากาศและเชื้อเพลิงภายในเตา ช่วยให้การเผาไหม้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ที่อุณหภูมิประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส จึงได้ลมร้อนที่สะอาดปราศจากมลพิษ สำหรับขี้เถ้าจากการเผาจะถูกบังคับให้ไหลลงด้านล่าง และด้วยอากาศที่ออกแบบพิเศษขี้เถ้าที่ออกมาจะไม่ร้อนจัด มีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส จึงไม่ต้องใช้น้ำดับ ลดปัญหาการจัดเก็บและมลภาวะทางน้ำ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า เครื่องอบความชื้นและเตาเผาแกลบเป็นผลงานวิจัยที่บริษัททำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้รับทุนวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยพิจารณาเห็นว่าสถานศึกษาต้องทำอยู่แล้วแต่ยังขาดข้อมูลเชิงพาณิชย์ ขณะที่บริษัทมีข้อมูลที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค จึงนำสองส่วนนี้มาประสานกัน (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ไทยเดินหน้าทดลอง ‘เอดส์แวกซ์’ ไม่หวั่นแม้ผลศึกษาล้มเหลวในสหรัฐ

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคซึ่งดูแลโครงการศึกษาและทดลองวัคซีนเอดส์ระยะที่สาม ในพื้นที่ จ.ชลบุรี และระยอง หรือโครงการเอดส์แวกซ์ ประกาศจะเดินหน้าการทดลองต่อไป โดยเชื้อเอดส์ที่ทดลองในอเมริการเหนือซึ่งเป็นสายพันธุ์บี ต่างจากสายพันธุ์ที่พบในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อี นอกจากนี้ การทดลองในไทยยังใช้วิธีการที่เรียกว่า “ปูพื้นแล้วกระตุ้น” (prime-boost approach) โดยวัคซีนที่ใช้ปูพื้น คือ อัลแวค-เอชไอวี (วีซีพี -1521) ของอะเวนติส ปาสเตอร์ และกระตุ้นตามด้วยเอดส์แวกซ์ บี / อี ของแวกซ์เจน ประกอบกับกลุ่มตัวอย่างในไทยใช้มากถึง 16,000 คน ขณะที่การทดลองในอเมริกาใช้เพียง 5,000 คนเท่านั้น ทั้งนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานถึงผลการศึกษาและทดลองวัคซีน “เอดส์แวกซ์” ของบริษัท แวกซ์เจน สหรัฐ ซึ่งทดลองกับชาย-หญิงกลุ่มเสี่ยง ประมาณ 5,000 คนในประเทศแถบอเมริกาเหนือและยุโรป พบว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยช่วยลดอัตราการติดเชื้อโรคเอดส์ได้เพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น แต่นักวิจัยกลับต้องแปลกใจเมื่อผลของวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถป้องกันกลุ่มคนผิวขาวและคนแถบละตินอเมริกา ซึ่งไม่สอดคล้องกับการออกแบบวัคซีน ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนผิวขาวไว้ตั้งแต่แรก (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





วอนแพทยสภาเปิดทางหมอวิจัยสรรพคุณวี-1

แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และแพทย์ รพ.ราชวิถี กล่าวในการประชุมวิชาการกรมการแพทย์ รพ.ราชวิถีว่า จากการศึกษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่บ้านคลินิก บางประกงในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เข้าโครงการใช้ผลิตภัณฑ์วี-1 แล้วผลเลือดเป็นลบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้าวิจัยอย่างมาก นายกสมาคมฯ กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนตั้งคำถาม และหาคำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นความหวังของคนทั้งประเทศได้ เนื่องจากวี-1 ผ่านมาแล้ว 2 ปี ถูกปล่อยให้คาราคาซังทำให้สร้างความสับสนมาก นายกสมาคมฯ ระบุว่า เบื่อที่จะคุยกับนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข เพราะเคยนำเรื่องเสนอผลงานวิชาการกับนางสุดารัตน์ รัฐมนตรีก็เฉยๆ ไม่อยากจะรู้ โดยตนมีกติกาว่าจะคุยกับนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ยูเอ็นออกคู่มือสู้เอดส์

องค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) และองค์การอาหารและเกษตร (เอฟเอโอ) จัดทำคู่มือความยาว 97 หน้าที่ชื่อว่า “อยู่อย่างเป็นสุขกับโรคเอดส์” (Living Well with HIV/AIDS) ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว สำหรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ป่วยเอดส์ 42 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจนที่ขาดแคลนยารักษาและการดูแลด้านสาธารณสุขที่ดี นายวิลเลี่ยมเคลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของเอฟเอโอ กล่าวว่า อาหารจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับโรคร้ายดังกล่าวได้ เนื่องจากสามารถสร้างเสริมระบบภูมิต้านทานระดับพลังงาน และการป้องกันการขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ จึงสามารถยืดอายุผู้ป่วยให้ยาวนานขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215