หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 2003-03-25

ข่าวการศึกษา

จี้เพิ่มค่าเล่าเรียนอุดมสะท้อนต้นทุน
ปฏิรูป ปชส.รับโครงสร้างใหม่ ตั้ง 8 ทีมยึดเอกภาพลดขัดแย้ง
ติง ปอมท.มีทัศนคติลบ
ยืนยัน 175 เขตพื้นที่
กศน.ร่วมยูเนสโกจัดทศวรรษรู้หนังสือ
ชงพ.ร.ก.ตั้งส.ทดสอบแห่งชาติมี.ค.นี้ประเดิมออกแบบวัดผล ป. 1,4-ม. 1,4’
ถกทางออก ‘ม.อิสระ’ ชน ‘พิศิษฐ์’ 13 มี.ค.นี้
จุฬาฯวอนรัฐพูดให้ชัดดันการออกนอกระบบ
เผยเด็กไทยเรียนวิทย์น้อยลง
หลากผลงานจากภูมิปัญญาบ้านเกิดฝีมือ ‘นักเรียนทุนพสวท.’
ของเล่นทางเคมี…เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ เรียนอะตอมจากของเล่น

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

จากัวร์ผนึกพระนครเหนือถ่ายทอดเทคโนฯรถยนต์
ประดิษฐ์ต้นไม้วิทยาศาสตร์ ใช้ดูดกินควันไอเสียรถยนต์
ขอ ‘504ล.’ พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
ยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง
จีนพัฒนาชิปใหม่ดีเอสพี
ธุรกิจใหม่ดาวเทียมปั้นคน
โทรคมนาคมยุคที่สอง

ข่าววิจัย/พัฒนา

หนังสือของคนตาบอด
ท่องไปในเส้นเลือดกับ ‘นาโนเวิลด์ ซิมูเลเตอร์’
เครื่องสูบน้ำพลังลม-น้ำ
หนุนให้ลูกหลานได้นอนนานขึ้น ปั้นให้สมองดีเรียนเก่งเท่ารุ่นพี่
สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม มีผลต่อปริมาณการผลิตตัวอสุจิ
ไบโอเทคหนุนวิจัยจีโนมกุ้งพัฒนาสายพันธุ์
ตู้อบพลังงานลมร้อน
นักวิจัยสานฝันตั้ง ร.ร.เคลื่อนที่ ให้ความรู้เกษตรกรทั่วประเทศ
‘รุ่ง’ ตั้งสถาบันวิจัยชุมชนลำพญา
วิจัยพัฒนาการฤทธิ์สมุนไพรไทยคุ้มครองผู้บริโภคสกัดพิษเรื้อรัง
เครื่องขายน้ำแข็งอัตโนมัติ

ข่าวทั่วไป

อายุขัยคนไทยเพิ่มขึ้นทั้งชาย-หญิง แต่ผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย
ถอดเสื้อผ้าชุดโรงพยาบาลออก คนไข้หายไวกลับบ้านได้เร็วขึ้น
เตือนภัยยาบ้าพันธุ์ใหม่ผสม “ยาดองศพ-ยาเบื่อหนู”
สหรัฐอนุมัติยารักษาเอดส์ตัวใหม่
ยูเอ็นชี้โลกร้อนเพิ่มวิกฤติน้ำ
‘เตือนไวรัส’
ปุ๋ยหมักเปลือกกล้วย : ทำง่ายใช้ดี
ตะลึง2เดือนฝุ่นขนาดเล็กคร่า1,650ราย
เตือนโรคทางเดินหายใจระบาด!
ไวรัสไข้หวัดมฤตยูแพร่อีก 4 ร.พ.ฮ่องกง
ใช้เทคโนฯต่างชาติทำเขื่อนกันหาดพัง
ทางแก้ปัญหา ‘โรคแพ้ตึก’
22มหาวิทยาลัยร่วมตรวจสอบสารตกค้าง
เผยรางวัลหนังสือดีเด่นปี46





ข่าวการศึกษา


จี้เพิ่มค่าเล่าเรียนอุดมสะท้อนต้นทุน

ศ.อภิชัย พันธเสน หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบจัดสรรงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานของสถาบันอุดมศึกษา” ของสถาบันวิจัย และให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยว่า งานวิจัยหลายฉบับพบว่า 20 ปีที่ผ่านมา อุดมศึกษาไทยตกต่ำต่อเนื่อง แม้อุดมศึกษาไทยจะขยายตัวถึงร้อยละ 7 ต่อปี แต่รายได้จากการเก็บค่าเล่าเรียนไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทางออกของสถาบันคือจัดโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ อาจารย์จึงไม่มีเวลาค้นคว้าวิจัย คุณภาพจึงตกต่ำ ระบบบัญชีการเงินในมหาวิทยาลัยไม่ทันสมัย และไม่สะท้อนข้อเท็จจริงทางการเงิน และมีการบริหารที่ไม่โปร่งใส จึงเกิดปัญหาธรรมภิบาลในมหาวิทยาลัย อีกทั้งการมุ่งเชิงการเมืองว่ามหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ทำให้มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวต่อต้าน แทนที่จะสอนหนังสือ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น ดังนั้นจะต้องเก็บค่าเล่าเรียนให้สะท้อนต้นทุนการศึกษา มีระบบบัญชีที่ทันสมัย มีการบริหารการเงินที่โปร่งใส โดยไม่จำเป็นว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีสถานภาพอย่างไร และการจัดสรรงบฯต้องเป็นแบบมุ่งเน้นผลงาน ศ.อภิชัยกล่าวว่า รัฐจะต้องสนับสนุนแผนงานหลักสำหรับวิชาที่มีผลต่อการพัฒนาสังคม และการแข่งขันของประเทศ ควรมีระบบโบนัสสำหรับสถาบันที่ประสบความสำเร็จด้านงานวิจัย จำแนกผู้ขอรับโอกาสทางการศึกษาเป็น 5 ด้าน คือ 1.ผู้ต้องการเรียนรู้ตามอัธยาศัย 2.ต้องการเป็นช่างฝีมือ 3.ต้องการประกอบอาชีพ 4.ต้องการเป็นมืออาชีพ และ 5.พวกอัจฉริยะ กลุ่ม 1,2 และ 5 รัฐบาลต้องสนับสนุน โดยเฉพาะกลุ่ม 5 จะต้องได้รับการสนับสนุนโดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจ กลุ่ม 3-4 ถ้ามาจากกลุ่มด้อยโอกาส รัฐต้องจัดกองทุนให้กู้ ส่วนการแก้ปัญหาสำหรับสถาบันที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย คือ ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง และแก้ไข ตักเตือน ว่าหากไม่ทำมีสิทธิ์ถูกตัดงบฯ ร้อยละ 5 และเพิ่มขึ้นตามลำดับ ฉะนั้น ถ้าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐไม่ดีก็อาจถูกยุบได้ เชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้ถ้าปฏิบัติได้ ก็จะทำให้อุดมศึกษาไทยยกระดับมาตรฐานคุณภาพ ปริมาณ และงานวิชาให้สอดคล้องกับทิศทางการบริหารของประเทศ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 12 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ปฏิรูป ปชส.รับโครงสร้างใหม่ ตั้ง 8 ทีมยึดเอกภาพลดขัดแย้ง

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการประชาสัมพันธ์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมี พล.อ.อ. เสริมยุทธ บุญศิริยะ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธานว่า ศธ.กำลังเตรียมเข้าสู่โครงสร้างใหม่ จึงต้องปฏิรูประบบงานประชาสัมพันธ์ให้มีเอกภาพเชิงนโยบาย ไม่ซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันจึงวางแผนที่จะประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าต่างๆ เกี่ยวกับการปรับเข้าสู่โครงสร้าง ศธ.ใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้ทราบ รวมทั้งที่ประชุมยังกำหนดให้มีองค์คณะบุคคลในการวางแผนและจัดทำผังรายการประชาสัมพันธ์ ทั้งหมดขณะเดียวกันให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดรายละเอียดการทำงานประชาสัมพันธ์ 8 ชุด รวมทั้งมีการระดมใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทุกกรมร่วมกัน ทั้งงบประมาณ 41 ล้านบาท รายการโทรทัศน์ 11 รายการและวิทยุ 14 รายการ ที่สำคัญจะเน้นการผลิตรายการด้วยตนเอง 1 ใน 3 ส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 จะใช้มืออาชีพเป็นผู้ผลิตรายการให้ พร้อมกันนี้จะมีการจัดทำผังรายการล่วงหน้า และที่แปลกใหม่ก็คือจะให้สวนดุสิตโพลทำประชามติเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.ทุกๆ 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันจะประสานกับสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ ขอใช้เว็บไซต์ของสถาบันราชภัฎเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นด้วย (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ติง ปอมท.มีทัศนคติลบ

ผศ.นพ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ตอบรับที่จะร่วมหารือกับผู้บริหารทบวงมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนนั้น นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการรักษาการ รมว.ทบวงฯกล่าวว่าได้เชิญ ปอมท. มาหารือถึงปัญหา ก็จะได้ร่วมกันแก้ไขเป็นข้อๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจะมีการหารือกัน แต่ยังไม่ทันจะหารือร่วมกันก็มีทัศนคติทางลบแล้ว หากไม่รับฟังก็ต้องอยู่ในทางลบ และไม่ควรจะมาอ้างว่าเป็นมติ ปอมท.ที่คัดค้านทั้งหมด (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 15





ยืนยัน 175 เขตพื้นที่

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยว่า ตามที่ ศธ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาทบทวนจำนวนและที่ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยมี ดร.ดิเรก พรสีมา ที่ปรึกษา ศธ.เป็นประธาน และได้เสนอให้ ศธ.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนจำนวนเขตพื้นที่และที่ตั้งสำนักงานเขตใน 14 จังหวัดนั้น ได้มีการหารือกันร่วมกับนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ.แล้ว ซึ่ง รมว.ศธ.เห็นว่าควรยืนตามมติของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ที่ให้ประกาศเขตพื้นที่ ฯ จำนวน 175 เขต และที่ตั้งสำนักงานฯ ตามที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยควรดำเนินการให้ครบ 1 ปีก่อนแล้วจึงค่อยทบทวน ทั้งนี้ คณะทำงานฯวิเคราะห์ว่าในเขตพื้นที่ที่เสนอมา มีจำนวนประชากรและโรงเรียนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ควรพิจารณา แต่ไม่ใช่องค์ประกอบที่จะนำมาตัดสินใจ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดี 13 มีนาคม 2546 หน้า 15)





กศน.ร่วมยูเนสโกจัดทศวรรษรู้หนังสือ

นางส่งศรี วรรณเสน รองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) เปิดเผยว่า ในโอกาสปี พ.ศ.2546 ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นทศวรรษการรู้หนังสือภายใต้กรอบการศึกษาเพื่อปวงชน และได้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคร่วมเฉลิมฉลองโดยการจัดงานพร้อมกันเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของกรอบปฏิบัติการดาร์กาในเรื่องการศึกษานอกโรงเรียน ร่วมจัดกิจกรรมในการเปิดโครงการทศวรรษการรู้หนังสือ ในระหว่างสัปดาห์หนังสือนานาชาติระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-7 เมษายน 2546 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (มติชน อังคารที่ 11 มีนาคม 2546 หน้า 21)





ชงพ.ร.ก.ตั้งส.ทดสอบแห่งชาติมี.ค.นี้ประเดิมออกแบบวัดผล ป. 1,4-ม. 1,4’

น.ส.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการตรวจสนามสอบเอ็นทรานซ์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสอบวิชาหลักในการทดสอบวัดความรู้ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม 2546 ว่า ทุกอย่างเรียบร้อย มีนักเรียนตาบอดเข้าสอบสนามทั่วประเทศ 18 คน ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ดูแลเอ็นทรานซ์แนวใหม่ในปีการศึกษา 2549 นั้น ขณะนี้ได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่มีนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงฯเป็นประธานแล้ว และจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมีนาคมนี้ นางสิริกรกล่าวด้วยว่า การวัดผลจะมี 3 ระดับ คือระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่ฯ และระดับโรงเรียน เมื่อพบว่าโรงเรียนขาดคุณภาพด้านใด ในแผนการจัดสรรงบประมาณก็ต้องจัดสนับสนุนให้สอดคล้องกัน ส่วนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษานั้น น.พ.เกษมเห็นว่า การใช้คะแนนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPA) และค่าลำดับที่ (PR) และผลการเรียนรวบยอด (National Test) ซึ่งเป็นการวัดความพร้อมด้านวิชาการนั้น ได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่หายไปคือการประเมินความพร้อมด้านบุคลิกภาพและอารมณ์ ซึ่งอาจให้เขียนในใบสมัคร และสังเกตร่วมกับการสัมภาษณ์ ส่วนความพร้อมด้านเศรษฐกิจรัฐอาจช่วยจัดกองทุนสนับสนุน ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2546 จะให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาฯเริ่มทดลองออกแบบทดลองวัดผลประเมินผลระดับชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4, ปีการศึกษา 2547 ชั้น ป.2 ป.5 ม.2 และ ม.5 และปีการศึกษา 2548 ชั้น ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 (มติชน พุธที่ 12 มีนาคม 2546 หน้า 21)





ถกทางออก ‘ม.อิสระ’ ชน ‘พิศิษฐ์’ 13 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า กรณี น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ระบุว่ายินดีจะเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารทบวงฯ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับแนวทางการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ซึ่งจะมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ตน ปลัดทบวงฯ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง รวมทั้งอธิการบดีและประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมด้วยในวันที่ 13 มีนาคมนี้ นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวว่า สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งย่อมมีศักดิ์ศรีของตัวเองถ้ามีการสำรวจประชามติอะไร ก็ควรเป็นเรื่องของแต่ละสถาบันเอง อย่างสภาอาจารย์ มมส. ก็ยืนยันว่าไม่เอาด้วยกับ น.พ.พิศิษฐ์ เพราะการยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลทุกแห่งนั้น สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีส่วนร่วมจึงอยากให้หยุดสร้างความวุ่นวายได้แล้ว (มติชน พฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 20)





จุฬาฯวอนรัฐพูดให้ชัดดันการออกนอกระบบ

รศ.น.พ.กำจร ตติยกวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารงานบุคคลและการพัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ขณะนี้จุฬาฯมีข้าราชการประมาณ 12,000 คน ส่วนที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไปแล้วมีประมาณ 1,200 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของบุคลากรทั้งหมด และหากพิจารณาตามแผนจะเห็นว่าการให้ข้าราชการที่มีอยู่เกษียณอายุราชการจนหมดจะต้องใช้เวลาถึง 15 ปี แต่ถ้ามีการจูงใจให้ออกนอกระบบก็อาจจะใช้เวลาเพียง 10 ปี อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าขณะนี้จุฬาฯมีความอ่อนแอลง โดยดูได้จากจำนวนศาสตราจารย์ (ศ.) ของจุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญระดับต่างๆ เกษียณไปจำนวนมากและเมื่อเทียบสัดส่วน ศ.กับรองศาสตราจารย์ (รศ.) ของจุฬาฯ ในเวลานี้ก็เท่ากับ 1 : 10 จากเดิมที่มีสัดส่วนที่ดีกว่า และข้าราชการก็มีจำนวนน้อยลงจากนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐที่ให้ยุบอัตราว่าง อัตราเกษียณและจัดสรรงบฯ ให้จ้างพนักงานแทน ทำให้มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นและพนักงานยังมีโอกาสก้าวหน้าเร็วกว่าข้าราชการ เพียงทำงาน 3 ปี ก็สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้แล้วขณะที่ระบบราชการทำได้ช้ากว่า (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 17 มีนาคม 2546 หน้า 24)





เผยเด็กไทยเรียนวิทย์น้อยลง

รศ.ดร.กำจัด มงคลกุล นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อมูลบ่งชี้ว่านักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐานลดลง ส่วนนักเรียนที่เข้าคณะวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ยังไม่สามารถคิดแบบวิทยาศาสตร์ และมีความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานไม่ดีพอ นอกจากนี้นักเรียนจำนวนมากในระดับมัธยมศึกษาไม่ค่อยมีโอกาสฝึกปฎิบัติ และจากการวิเคราะห์ปัญหาพบว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือต้องมีการยกระดับความรู้พื้นฐานของครูซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ดังนั้นสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับกรมสามัญศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 22 แห่ง และมูลนิธิซิเมนต์ไทย จะจัดการประชุมปฎิบัติการครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น ระหว่างวันที่ 21 เม.ย-2 พ.ค. ทั้งนี้การฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2542 และขณะนี้มีครูผ่านการอบรมไปแล้วเกือบ 10,000 คน และในปี 2546 จะอบรมเพียง 3,000 คนเท่านั้นเนื่องจากงบประมาณมีจำกัด (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2546 หน้า 24)





หลากผลงานจากภูมิปัญญาบ้านเกิดฝีมือ ‘นักเรียนทุนพสวท.’

นักวิทยาศาสตร์วัยใสในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ถูกบ่มเพาะให้เป็นนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย จึงได้หยิบยกสิ่งใกล้ตัวที่พวกเขาอยากรู้ มาสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ และหยิบยกมาเสนอใน “การประชุมวิชาการโครงการ พสวท. ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 17” ที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการ พสวท.นี้เป็นโครงการที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนักเรียนทุนที่จะจบชั้น ม.6 ได้จึงจะต้องผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เสียก่อน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็น “นักวิจัย” และ “นักวิทยาศาสตร์” เมื่อนักเรียนได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้ว จะต้องฝึกการนำเสนอผลงานของตนเองด้วย เช่น โครงงานเทคนิคการนึ่งไก่ให้ประหยัดพลังงาน ของสุภาวดี พลเยี่ยม โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โครงงานถั่วงอกฟอกขาวของทัศนีย์วรรณ ลักษณะโสภิณ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โครงงานการโคลนยีนด้านปลาย 3 ของจีโนม carlavirus ที่เข้าทำลายกล้วยไม้ Grammatophyllumsp. ของวิศรุต โพธิ์อัน โรงเรียนศรีบุณยานนท์ โครงงานการศึกษาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดอกไม้จีน และโครงงานการปริมาณสารประกอบสารหนูที่ถูกดูดซับโดยพืชตัวอย่าง ผักตบชวา จอกและกระจับ โครงงานการสร้างเครื่องประจุไฟฟ้าเซลล์ไฟฟ้าทุติยภูมิด้วยพลังงานกล ของอิศรา จันทร์เทศนา โรงเรียนบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โครงงานเครื่องดักยุงจากหญ้าขนต้ม ของบุณฑริกา บริสุทธิ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รวมไปถึงการกำเนิดขององค์ความรู้ใหม่ ที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน เช่น โครงงาน “ยุ้งฉางฟางซีเมนต์” ผลงานของณัฐวุฒิ อนุนิวัฒน์ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จากหลากความคิด หลายผลงานของนักเรียนทุน สสวท. คงทำให้หลายๆ คนมองเห็นอนาคตของชาติ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ของเล่นทางเคมี…เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ เรียนอะตอมจากของเล่น

จากการประชุมวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 13 (วทร.13) ที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสถาบันราชภัฏมหาสารคาม ณ สถาบันราชภัฏมหาสารคาม เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์อัมพร ดีมา วิทยากรแกนนำของครูผู้สอนวิชาเคมี จากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร อ.เมือง จ.หนองคาย ได้นำผลงาน “ของเล่นทางเคมี” เป็นการใช้ขนมขบเคี้ยว หรือของเล่นในการสอนเคมี มาเผยแพร่ความรู้สู่เพื่อนครูและผู้สนใจด้วย อาจารย์อัมพร ยังบอกด้วยว่า นักเรียนที่เรียนด้วยจะไม่ค่อยเบื่อ เพราะอาจารย์ท่านนี้จะมีเทคนิคการสอนและมีสื่อการสอนที่หลากหลายอย่างทั้งกินได้ ทั้งเรียนได้ ทั้งเล่นได้และที่สำคัญคือ ต้องมี “มุขในการสอน” และต้องให้ความสนใจกับนักเรียนที่เรียนอ่อนด้วย สำหรับคุณครูที่สนใจไอเดียสร้างสรรค์แปลกใหม่อย่างนี้ สามารถเขียนจดหมายขอคำแนะนำได้ที่โรงเรียนปทุมเทพพิทยาคาร อ.เมือง จ.หนองคาย 43000 (สยามรัฐ จันทร์ที่ 17 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


จากัวร์ผนึกพระนครเหนือถ่ายทอดเทคโนฯรถยนต์

นายอนุรักษ์ อินทรภูวศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท จากัวร์ คาร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากัวร์ได้ผลิตรถยนต์ XJ รุ่นใหม่ที่โครงสร้างตัวถังเป็นอะลูมิเนียมทั้งคัน แทนโครงสร้างเหล็กกล้าดังเช่นรถยนต์ทั่วไปทำให้มีน้ำหนักเบากว่ารถยนต์รุ่นเดียวกันถึง 200 กิโลกรัม นอกจากนั้น ยังนำระบบหมุดตอกและเชื่อม เทคนิคที่ถ่ายทอดจากเทคโนโลยีอากาศยานมาใช้ในการผลิตตัวถัง รวมทั้งออกแบบให้ง่ายต่อการซ่อมแซม โดยสามารถทำการซ่อมเป็นส่วนๆ ไป เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ได้รับรองตามมาตรฐานการรับแรงกระแทก FMVSS208 ของสหรัฐ นายอนุรักษ์ยังกล่าวว่า “จากัวร์ คาร์ส ประเทศอังกฤษ จะรับเป็นผู้ถ่ายโอนเทคโนโลยีในการให้บริการตัวถังอะลูมิเนียมโดยตรง และเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ทางจากัวร์ (ประเทศไทย) จึงมองหาผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการสายรถยนต์โดยเฉพาะ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับการให้บริการรถยนต์อะลูมิเนียมรุ่นใหม่ไปยังภาคการศึกษา และเห็นว่า สจพ.เป็นที่ยอมรับในความเชี่ยวชาญด้านวิชาการเครื่องยนต์ จึงได้ขอความร่วมมือในการสนับสนุนงานดังกล่าว โดยจัดเป็นโครงการแลกเปลี่ยนความรู้และศึกษาเทคนิคการดูแล และซ่อมบำรุงรถยนต์อะลูมิเนียม” สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการดังกล่าว แบ่งงานเป็น 2 ทาง คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจากัวส์สู่ สจพ. โดยมอบอุปกรณ์และสารสนเทศที่จำเป็นต่อสถาบันรวมทั้งเชิญนักวิชาการ สจพ. เข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับรถยนต์รุ่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ประดิษฐ์ต้นไม้วิทยาศาสตร์ ใช้ดูดกินควันไอเสียรถยนต์

ต้นไม้ที่นักฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐฯคิดออกแบบขึ้น มีรูปร่างเหมือนกับเสาประตูรักบี้ปิด้วยม่านบังตาอะลูมิเนียมมากกว่า แต่มันก็สามารถทำตัวเหมือนกับต้นไม้จริงได้ อย่างเช่นมันจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากในอากาศ แบบเดียวกับที่ต้นไม้ทำในปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสง แต่ไม่ได้คายก๊าซออกซิเจนออกมาและจะเก็บอมก๊าซคาร์บอนเอาไว้เอง ดร.คลอส แลคเนอร์ คิดออกแบบประดิษฐ์ต้นไม้เทียมขึ้น เพื่อจะทำความสะอาดอากาศให้เบาบางจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นก๊าซที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เขาประมาณว่าต้นไม้วิทยาศาสตร์แต่ละต้น จะสามารถขจัดก๊าซพิษปีหนึ่งๆ ลงได้มากเป็นปริมาณถึง 90,000 ตัน มากเท่ากับมาจากท่อไอเสียของรถยนต์ 15,000 คัน และมันจะเหนือกว่าต้นไม้จริงๆ ตั้งพันเท่า ต้นไม้วิทยาศาสตร์ได้ออกแบบประดิษฐ์ขึ้น ด้วยจุดประสงค์เพื่อจะให้มันดูดจับก๊าซแล้วเก็บเอาไว้ เขาบอกว่า อย่าไปหวังว่ารถยนต์แต่ละต้นจะไปทำเองได้ เพราะเหตุว่าจะต้องใช้ถังเก็บใบโต ดร.คลอสคำนวณว่า “ คิดดูก็แล้วกัน แค่รถใช้น้ำมันไป 14 กรัม จะปล่อยก๊าซออกมาได้มากถึง 44 กรัม” หากสามารถติดตั้งต้นไม้วิทยาศาสตร์ไว้ทั่วโลกจำนวน 250,000 ต้น ได้สำเร็จจะสามารถดูดจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงปีละ 22,000,000,000 ตัน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ขอ ‘504ล.’ พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 3 ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติเพื่อกำหนดแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ในประเทศ โดยในที่ประชุมนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีได้เสนอขอการสนับสนุนงบประมาณ 504 ล้านบาท ในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ในสินค้าประเภทกุ้ง ข้าว และมันสำปะหลัง และการจัดฐานข้อมูลของจีโนมสินค้า ที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯไปหารือกับสำนักงบประมาณต่อไป (มติชน พฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 18)





ยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง

ยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงที่ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกนั้นก็จะเป็นบริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ ซึ่งเป็นยานยนต์ชนิดไม่มีควันเลย ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ซีโร่อีมิสชั่น (Zero Emission) รถคันนี้นำไปแสดงที่กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณวันที่ 18 มีนาคม 2542 โดยวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 90 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 144 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ประมาณ 280 ไมล์ หรือ 448 กิโลเมตร ก็จะต้องชาร์จเซลล์เชื้อเพลิงกันใหม่และบรรทุกผู้โดยสารได้ 5 คน สำหรับค่ายเมอร์เซเดสเบนซ์ก็จะผลิตรถยนต์ซึ่งใช้เซลล์เชื้อเพลิงที่เรียกว่า นีคาร์ 4 ย่อมาจากคำว่ารถยนต์ใช้ไฟฟ้าชนิดใหม่ (New Electric Car หรือ NECAR) ซึ่งก็จะแปลงโฮโดรเจนและออกซิเจนมาเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ ของที่ถ่ายออกจากรถยนต์ก็จะมีไอน้ำแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องสภาพแวดล้อมเลยไม่ต้องห่วงเพราะสะอาดมาก (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 16)





จีนพัฒนาชิปใหม่ดีเอสพี

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นดอทคอมรายงานว่า จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาชิปรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า Digital Signal Processing หรือ DSP หลังซุ่มพัฒนามานานกว่า 2 ปี โดยศาสตราจารย์ เฉิน จิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเจียวถง ประเทศจีน ซึ่งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนครเซี่ยงไฮ้ได้ทำการรับรองชิปดังกล่าวแล้ว (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 16)





ธุรกิจใหม่ดาวเทียมปั้นคน

บริษัทอคิวเมนท์จำกัด ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมมานานกว่า 14 ปี ซึ่งกำลังมีปัญหาที่สืบเนื่องจากธุรกิจดาวเทียม วีแสททรุดลงเหมือนกับรายอื่นที่เจอกันต่อเนื่องมาจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ได้ปรับเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาดำเนินการอบรมทางไกลผ่านดาวเทียมในนาม “ทีสแควร์” รูปแบบของการฝึกอบรมผ่านดาวเทียมก็คือการถ่ายทอดสัญญาณการสอนสดโดยวิทยากรชั้นนำจากกรุงเทพฯ ออกอากาศไปทั่วประเทศมีการลงทะเบียนรับหลักสูตรล่วงหน้าซึ่งสามารถทำได้ผ่านทางเว็บไซต์ของเขาที่ www.tsquare.net ซึ่งก่อน นี้เป็นรูปแบบบริการที่เขาเรียก (Direct to Office) หรือสายตรงสู่โรงเรียนทางทีสแควร์ไปตั้งสถานที่ฝึกอบรมสำหรับบุคคลทั่วไปไว้ตามท้องถิ่นภูธรจากเหนือจรดอีสานใต้ถึง 9 จังหวัด มี เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ตและสงขลา โดยจังหวัดนอกเหนือจากนี้ก็จะเช่าโรงแรมสอนให้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 12)





โทรคมนาคมยุคที่สอง

คุณเดวิด รีด (David Reed) ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคมซึ่งเป็นผู้ที่ออกแบบกำหนดมาตรฐานเรื่องอินเทอร์เน็ตของโลกได้ชี้ว่ามาตรฐานของ ไวไฟ (Wi-Fi) รุ่น 802.11b เทคโนโลยีไร้สายที่สำหรับใช้ตามบ้านและที่สำนักงานนั้นเป็นลักษณะของการเริ่มต้นเครือข่ายแบบท้องถิ่นแบบไม่มีช่วงคลื่นความถี่เข้าเกี่ยวข้อง และเอฟซีซีของสหรัฐก็ริเริ่มอะไรไม่ถูกเหมือนกัน ก็ต้องยอมรับกันว่าทรัพยากรอากาศโดยเฉพาะคลื่นความถี่นั้นมีจำกัดต้องแบ่งช่วงคลื่นกันโดยเอฟซีซี แต่ในอนาคตช่วงคลื่นความถี่กลับเป็นทางผ่านและแบ่งกันใช้ได้ นอกจากนี้เรื่องความจุในการส่งสัญญาณข้อมูลข่าวสารทั้งหลาย (Network’s Capacity) หรือหน่วยวัดความจุเหล่านี้ที่เรียกว่า แบนวิธ (Bandwidth) จะไร้ขอบเขตอีกต่างหาก (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


หนังสือของคนตาบอด

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลงานชนะเลิศ ในงานมหกรรมการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยคนพิการในระดับนักศึกษา เจ้าของไอเดียในการพัฒนาโปรแกรมนี้คือน้องธนาคม ตาฬวัฒน์ และน้องศุภรัตน์ เปี่ยมลาภพิทยา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ใช้งานแสนง่ายในขณะที่ผู้ใช้งานเลือกปุ่มใช้งาน จะมีเสียงที่ถูกบันทึกเอาไว้ใน CD-ROM ตามมาตรฐานของการบันทึกเสียงในระบบเดซี่จากสื่อที่ต้องการอ่าน (เดลินิวส์ อังคารที่ 18 มีนาคม 2546 หน้า 16)





ท่องไปในเส้นเลือดกับ ‘นาโนเวิลด์ ซิมูเลเตอร์’

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกันคิด และประดิษฐ์เครื่องเล่น “นาโนเวิลด์ ซิมูเลเตอร์” (Nanoworld Simulator) ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความรู้โดยใช้การจำลองสถานการณ์ทางการแพทย์เข้ามาเป็นส่วนประกอบ “นาโนเวิลด์ ซิมูเลเตอร์” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการคิดค้นของกันยารัตน์ ปิ่นสุขธิดารัตน์ พร้อมฤกษ์ และมยุรี ใจบุญสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมี ผศ.ดร.ไพบูลย์ เกียรติโกมล และอาจารย์สุริยงค์ เลิศกุลวาณิชย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไปโอเทค ทีมงานได้จำลองสถานการณ์การนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ คือให้ผู้เล่นนาโนเวิลด์ ซิมูเลเตอร์ ได้ศึกษาผ่านสื่อการสอนที่ทำให้เข้าใจง่ายและสนุกเพลิดเพลินด้วย โดยทีมงานได้สมมติและจำลองให้การพัฒนานาโนเทคโนโลยีเพื่อเป็นยาหรือสารที่ช่วยรักษามนุษย์เป็น “ยาขนาดจิ๋ว” เดินทางเข้าไปรักษาโรคไขมันอุดตันเส้นเลือดในร่างกายของมนุษย์ (สยามรัฐ อังคารที่ 11 มีนาคม 2546 หน้า 7)





เครื่องสูบน้ำพลังลม-น้ำ

ธีระยุทธ นพกุลสถิตย์ ผู้ประดิษฐ์ เครื่องสูบน้ำไวไวซุปเปอร์พาวเวอร์ ลักษณะเครื่องสูบน้ำพลังงานธรรมชาติเป็นระบบลูกสูบ 2 ชั้นภายในท่อ เป็นลักษณะแกนชักในเส้นต่อปิดหัวท้าย โดยมีลูกสูบอยู่ตรงกลางกระบอกสูบทั้งสองข้าง ด้านปลายของทั้งสองมีวาล์วเปิด-ปิดด้ามละ 2 ตัว วาล์วด้านหนึ่งจะเปิดน้ำเข้า ส่วนวาล์วอีกด้านหนึ่งจะเปิดน้ำออก ส่วนด้านปลายสุดของท่อดูดน้ำจะมีวาล์วเปิด-ปิด เพื่อดึงน้ำขึ้นตลอดเวลา ถ้าเวลาใดไม่ดึงน้ำขึ้น วาล์วนี้จะปิดไม่ให้น้ำไหลลงในทันทีและได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 12)





หนุนให้ลูกหลานได้นอนนานขึ้น ปั้นให้สมองดีเรียนเก่งเท่ารุ่นพี่

นักวิจัยของอิสราเอล ได้พบในการศึกษาวิจัยกับเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาชั้น 4-6 ว่า ถ้าหากเด็กได้มีเวลานอนเพิ่มขึ้นอีกสัก 1 ชั่วโมง จะทำให้เด็กทำคะแนนในการทดสอบการมีสมาธิและความความจำดีขึ้น อย่างเช่นเด็กที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้นอนนานขึ้นอีก 1 ชั่วโมง สามารถทำคะแนนในการทดสอบได้เท่ากับเด็กที่โตกว่ากันสองหรือสามปี ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ หัวหน้าคณะวิจัย รายงานผลของการศึกษาว่า เด็กที่ถูกจับให้นอนเร็วขึ้น ได้แสดงให้เห็นในการทดสอบว่า มีความจำดีขึ้นและมีสมาธินานขึ้น ในขณะที่เด็กที่อดนอน ไม่ได้แสดงว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างใดเลย การศึกษานี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการนอนหลับ และมันก็ช่วยส่งเสริมการทำงานด้านต่างๆ ของร่างกายได้ด้วย ที่สำคัญในวัยเด็ก เพราะถ้าเขาอดนอนบ่อยๆ ก็จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการตื่นตัวและความสามารถของเด็กอย่างเห็นได้ชัด (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2546 หน้า 7)





สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม มีผลต่อปริมาณการผลิตตัวอสุจิ

โครงการวิจัยพิษวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินการโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์ แจ้งว่าในกลุ่มชายที่เป็นหมันส่วนใหญ่นั้น พบว่ามีสารทีซีอีปนเปื้อนอยู่ในน้ำอสุจิ โดยชายกลุ่มนี้จะสัมผัสกับสารดังกล่าวจากการทำงานในอุตสาหกรรมหรือในชีวิตประจำวัน สารที่ว่าส่วนใหญ่ใช้เป็นสารหล่อลื่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และใช้เคลือบผิวโลหะ นอกจากนี้ยังพบในกาว สีทาบ้าน สารขัดเงา ยาฆ่าแมลง และสารซักล้างต่างๆ มักมีการปนเปื้อนลงดินและแหล่งน้ำต่างๆ อาจทำให้เป็นพิษต่อตับ ไต และปอดได้ โครงการวิจัยดังกล่าวประเมินว่า มีคนงานอุตสาหกรรมประมาณ 3.5 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารทีซีอี ซึ่งเข้าไปทำลายเซลล์ผลิตหน่วยเจริญพันธุ์จนมีผลต่อปริมาณการผลิตตัวอสุจิในที่สุด สำหรับมาตรฐานของสหรัฐฯนั้น กำหนดว่าคนงานไม่ควรได้รับสารทีซีอีเข้าในร่างกายมากเกิน 50 ส่วนในล้านส่วน ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ไบโอเทคหนุนวิจัยจีโนมกุ้งพัฒนาสายพันธุ์

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า โครงการวิจัยจีโนมกุ้งครั้งนี้เป็นการศึกษาการทำงานของยีนบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะเครียดของกุ้งอันเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือน้ำไม่มีคุณภาพ และมุ่งเน้นศึกษาถึงระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งในการขับสารออกมาต่อต้านแบคทีเรีย ทั้งนี้ “การวิจัยด้านจีโนมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ” เป็นการวิจัยภายใต้การดำเนินงานโดย รศ. ดร.อัญชลี ทัศนาขจร ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิจัยจากไบโอเทค โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยระยะแรกเป็นจำนวน 14 ล้านบาท จากศูนย์ไบโอเทค ปัจจุบันนี้ได้พยายามผลิตพ่อแม่พันธุ์จากกุ้งในบ่อเลี้ยงและทำการคัดเลือกกุ้งเพื่อผลิตกุ้งกุลาดำที่ต้านทานต่อโรคและมีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว ทำให้จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับยีนและโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเจริญเติบโตระบบสืบพันธ์และระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งกุลาดำ ศ.ดร.มรกตกล่าวว่า “ความรู้ด้านจีโนมกุ้งนี้จะถูกนำไปใช้ เพื่อพัฒนาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความแข็งแรง โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ขณะที่กุ้งจะโตเร็วขึ้นจากเดิมที่ต้องใช้เวลาเลี้ยง 4 เดือน อาจจะเหลือเพียง 3 เดือนก็สามารถส่งออกได้แล้ว” โครงการนี้ นับเป็นโครงการจีโนมกุ้งกุลาดำโครงการแรกของไทยมีระยะเวลาโครงการ 1 ปี และทางไบโอเทคพร้อมให้การสนับสนุนวิจัยในระยะที่ 2 มีระยะเวลาต่อเนื่องอีก 2 ปี ในงานวิจัยนี้จะค้นหายีนโดยหาลำดับนิว คลีโอไทด์ของ cDNA clones ที่เตรียมจากเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของกุ้ง เช่น เม็ดเลือด ก้านตา รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง ทั้งในสภาวะปกติ และในสภาวะกดดันด้วย การติดเชื้อหรือความร้อนเพื่อค้นหายีนที่แสดงออกจำเพาะในเนื้อเยื่อแต่ละชนิดและยีนที่ตอบสนองต่อสภาวะกดดันต่างๆ ในกุ้ง โดยเทคนิค Ezpressed Sequence Tag หรือ EST โดยจะทำการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ของ cDNA clones ในระยะแรกประมาณ 8,000 – 10,000 clones ลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลจากฐานข้อมูล GenBank เพื่อจัดกลุ่มยีนตามหน้าที่ทำนายลำดับกรดอะมิโน ทำนายโครงสร้างและสมบัติของโปรตีนจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล shrimp EST เพื่อให้นักวิจัยในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพและจีโนมกุ้งในประเทศไทย ใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาวิจัยต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 8)





ตู้อบพลังงานลมร้อน

นายพรชัย ศรีไพบูลย์ และ น.ส.ประนอม ตั้งมั่นคง คณะผู้วิจัยจากคณะอุตสาหกรรมการเกษตรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ร่วมกับนักศึกษาภายในคณะฯ ศึกษาวิจัยผลิต “เครื่องทำแห้ง” เพื่อเป็นเครื่องมือในการเก็บ รักษาและถนอมอาหาร นายพรชัยได้กล่าวถึงการศึกษาวิจัย และผลิตเครื่องทำแห้งให้ฟังว่า “การเก็บรักษาอาหารให้มีคุณภาพอยู่ได้นาน วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันมากในหมู่คนไทยก็คือ กระบวนการอบแห้งหรือตากแห้ง โดยตู้อบที่มีการนำมาใช้กันมาก ในขณะนี้มักมีข้อบกพร่องในเรื่องของ ความร้อนไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ทำให้การทำแห้งไม่สม่ำเสมอ ผู้ใช้ตู้อบต้องคอยปรับเปลี่ยนถาดบรรจุสลับขึ้นบนและลงล่างพร้อมกัน พร้อมทั้งกลับถาดซ้ายสลับไปขวา ด้วยข้อจำกัดซึ่งพลังงานความร้อนที่มีความชื้นน้อยนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้พลังงานภายในตู้อบ ผลงานเครื่องทำแห้งด้วยลมร้อนแบบเคลื่อนที่ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร มอ. ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าชื่นชม เพราะนอกจากเกษตรกรจะได้นำตู้อบที่มีคุณภาพไปใช้เก็บรักษาผลผลิตได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานด้วย และจากการความสำเร็จดังกล่าว ล่าสุดผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2545 (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 15)





นักวิจัยสานฝันตั้ง ร.ร.เคลื่อนที่ ให้ความรู้เกษตรกรทั่วประเทศ

ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ นักวิจัยด้านปฐพีวิทยา และการปรับปรุงพันธ์พืช ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการปลูกข้าวโพดหวานมากว่า 30 ปี และมีดีกรีรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ จากสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี 2542 และรางวัลนักวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2542 ของสภาวิจัยแห่งชาติ ได้ริเริ่มโครงการ “โรงเรียนเกษตรกรข้าวโพดหวานเคลื่อนที่” โดย ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า หลังจากคลุกคลีอยู่กับเกษตรกรมานานพบว่าถูกหลอกมาตลอด ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งแฝงมาในรูปการขยายผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทเอกชนหลายราย มักหากินกับความไม่รู้ของเกษตรกร และพยายามหลีกเลี่ยงกฏเกณฑ์ต่างๆ เช่น แนะนำให้เกษตรกรทดลองใช้อาหารเสริมสำหรับนาข้าว สารปรับสภาพดินบ้าง ปุ๋ยชีวภาพจนเกษตรกรติด เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตร ทั้งที่เป็นสารเคมีธรรมดาที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้ หรือบางบริษัทถึงกับนำสารที่เหลือจากการผลิตผงชูรส และมีสภาพเป็นเกลือ เมื่อเกษตรกรใช้ไประยะแรกงอกงามดี แต่ใช้ไปนานๆ ก็เกิดปัญหาดินเค็มปลูกอะไรไม่ได้ ทำให้ตนมีแรงบันดาลที่จะให้ความรู้เกษตรกรทั่วประเทศแต่จำกัดเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดหวาน เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มากที่สุด โดยจะเน้นให้ความรู้ในการปลูกที่เป็นประโยชน์ เช่น ให้เกษตรกรคำนึงถึงการไถกลบมากขึ้น เพราะส่วนต่างๆ ของพืช หรือซังข้าวโพด เป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อดิน โดยเฉพาะผู้ที่ควรแนะนำสิ่งที่ถูกต้อง คือ เกษตรกรอำเภอ เกษตรตำบล หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้มักมีผลประโยชน์แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ เช่น ตัวแทนขายตรงสินค้าให้เอกชน ทั้งนี้ ตนจะเน้นให้ความรู้เรื่องดินและการเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกเป็นหลัก เพราะดินเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลผลิต ที่ผ่านมาได้เริ่มตระเวนบ้างแล้ว เริ่มจาก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ในปลายเดือนนี้ จากนั้นจะไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดโครงการ (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 15)





‘รุ่ง’ ตั้งสถาบันวิจัยชุมชนลำพญา

นายรุ่ง แก้วดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จึงได้เชิญให้ไปดูโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยชุมชนลำพญา ที่ ต.ลำพะเยา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งตนตั้งชื่อว่า “ปัญญาศรม” ขณะนี้กำลังจัดสร้างอยู่ในพื้นที่ของครอบครัวจำนวน 80 ไร่ อันเป็นพื้นที่ปลูกยางและอยู่ในทำเลดี ล้อมรอบด้วยภูเขา คาดว่าจะเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (มติชน ศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 21)





วิจัยพัฒนาการฤทธิ์สมุนไพรไทยคุ้มครองผู้บริโภคสกัดพิษเรื้อรัง

น.พ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วโลก เพราะเชื่อว่าสมุนไพรเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ จึงสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นับเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการใช้สมุนไพรนั้นหากใช้ไม่ถูกต้องหรือในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมากกว่าการบำรุงหรือรักษาสุขภาพโดยเฉพาะ การใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค ปริมาณที่ใช้ควรขึ้นอยู่กับชนิดและฤทธิ์ของสมุนไพรแต่ละชนิด และหากใช้แล้วมีอาการดีขึ้นหรือเกิดอาการแพ้ควรหยุดใช้ยาทันที ที่สำคัญควรใช้สมุนไพรให้ถูกกับโรค เพศและวัยของผู้ป่วย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2546 หน้า 20)





เครื่องขายน้ำแข็งอัตโนมัติ

เครื่องจำหน่ายน้ำแข็งอัตโนมัติเครื่องแรกฝีมือคนไทย ผลงานนายสมานมิตร อยู่สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยการสนับสนุนของ สวทช.เพื่อลดการนำเข้า ปัจจุบันตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติสามารถกำหนดราคาสินค้า รับเหรียญ และทอนเหรียญได้หลายขนาด ขณะเดียวกันสามารถตรวจเหรียญปลอมได้ นอกจากนี้ได้ออกแบบตู้ใหม่ให้มีขนาดเล็กลง คือ 1 X 1 เมตร สูงไม่เกิน 2 เมตร สามารถบรรจุน้ำแข็งขนาด 1.4 กิโลกรัมได้ประมาณ 100 ถุงในแต่ละวัน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 12)





ข่าวทั่วไป


อายุขัยคนไทยเพิ่มขึ้นทั้งชาย-หญิง แต่ผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย

ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน แห่งวิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาฯ หัวหน้าคณะทำงานการศึกษาวิจัยและจัดทำการคาดประมาณการประชากรไทย พ.ศ. 2543-2568 ระดับประเทศ ภาค และจังหวัด เปิดเผยผลการศึกษาว่า ประชากรหญิงทั่วราชอาณาจักร มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 74.80 ปี ในปี พ.ศ. 2543-2558 เป็น 80.25 ปี ในปี พ.ศ. 2563-2568 โดยอายุเฉลี่ยของประชากรเพศหญิงในช่วงอายุ 60-64 ปี เพิ่มจาก 16.33 ปี ใน พ.ศ. 2543-2548 เป็น 18.62 ปี ในปี พ.ศ. 2563-2568 เมื่อพิจารณาตามภาคก็พบแนวโน้มในลักษณะเช่นเดียวกับทั่วราชอาณาจักร คืออายุขัยเฉลี่ยของทั้งประชากรเพศหญิงและประชากรเพศชายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพศหญิงจะสูงกว่าเพศชาย (ไทยรัฐ วันพุธที่ 12 มีนาคม 2546 หน้า 7)





ถอดเสื้อผ้าชุดโรงพยาบาลออก คนไข้หายไวกลับบ้านได้เร็วขึ้น

หมอและพยาบาลของโรงพยาบาลที่เมืองมอกส์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้บอกแนะนำกับคนไข้ว่า หากรู้สึกหายดีเมื่อไร ให้ลุกขึ้นเปลี่ยนเอาชุดคนไข้ออกมาเป็นชุดที่เคยสวมใส่เมื่อเวลาไปทำงานมาใส่เสียทันที ไม่ต้องไปรอเมื่อตอนหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ทางโรงพยาบาลกล่าวเปิดเผยว่า คำแนะนำนับว่ามีผลดีกับคนไข้อย่างน่าประหลาด ปรากฏว่า คนไข้ที่เชื่อฟังรีบถอดชุดคนไข้ทิ้ง พอรู้สึกอาการหายดีขึ้น เปลี่ยนไปใส่ชุดเมื่อตอนไปทำงาน ต่างสามารถหายกลับบ้านได้เร็วขึ้นกว่าคนไข้พวกที่ยังคงแต่งอยู่ในชุดคนไข้อยู่มากกว่ากันได้ตั้งครึ่งค่อนวัน (ไทยรัฐ วันพุธที่ 12 มีนาคม 2546 หน้า 7)





เตือนภัยยาบ้าพันธุ์ใหม่ผสม “ยาดองศพ-ยาเบื่อหนู”

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจพบยาบ้าพันธุ์ใหม่ ที่พ่อค้าหัวใสนำยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู ประเภทสติ๊กนินและยาดองศพ ผสมขายให้กับบรรดาสิงห์นักเสพ นางสุดารัตน์กล่าวว่า มาตรการกวาดล้างยาเสพติดทำให้ผู้ผลิตยาบ้าหาสารตั้งต้นที่จะนำมาผลิตเป็นยาบ้าได้ยากขึ้น จึงมีการนำยาฆ่าแมลงและยาประเภทสติ๊กนินที่ใช้สำหรับเบื่อหนูรวมถึงยากันยุง และยาดองศพหรือฟอร์มาลินมาผสม หากบริโภคเข้าไปจะเป็นอันตรายมากถึงขั้นเสียชีวิตได้ ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาบ้า รวมทั้งมีการพบผู้ป่วยถูกนำตัวมารักษาในโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยพบว่าผู้เสพยาบ้ามีอาการและเสียชีวิตอย่างผิดปกติ โดยมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งเกิดจากได้รับสารพิษที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร มีอาการชัก น้ำลายฟูมปาก หยุดหายใจ ซึ่งอาการเหล่านี้มาจากการได้รับสารพิษ ไม่ใช่เกิดจากพิษยาบ้า (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 15)





สหรัฐอนุมัติยารักษาเอดส์ตัวใหม่

องค์การอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) อนุมัติการวางจำหน่ายยารักษาเอดส์ตัวใหม่ ชื่อ ฟูซีออนหรือชื่อเดิมที่รู้จักกันมานาน ในชื่อ ที20 ซึ่งยาชนิดนี้มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากยารักษาเอดส์ตัวอื่น กล่าวคือ มีสรรพคุณในการต้านทานไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวี เข้าไปภายในเซลล์ร่างกายของคุณ ขณะที่ยารักษาเอดส์ทั่วไป จะต่อสู้กับเชื้อเอดส์หลังจากเข้าสู่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแล้ว ( กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 )





ยูเอ็นชี้โลกร้อนเพิ่มวิกฤติน้ำ

รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งเตรียมนำเสนอเข้าสู่การประชุมปัญหาน้ำโลก ครั้งที่ 3 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีผลทำให้วิกฤติน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยรายงานระบุว่า ในอนาคตอันใกล้ ปัญหาโลกร้อน จะเป็นตัวการสำคัญของการขาดแคลนแหล่งน้ำถึง 1 ใน 5 โดยส่งผลกระทบต่อปริมาณฝน และทำให้สภาพอากาศแห้งแล้งเกิดขึ้นบ่อยและยาวนานขึ้น ( กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 20)





‘เตือนไวรัส’

มีคำเตือนส่งมาทางอีเมล์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา บอกว่า ไมโครซอฟท์ (www.microsoft.com) และแม็คอาฟี (www.mcafee.com) เพิ่งพบไวรัสตัวใหม่ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่มีมา โดยทางแม็คอาฟีเพิ่งพบไวรัสตัวนี้เมื่อบ่ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไวรัสนี้จะทำลายเซกเตอร์ ซีโร่ ในฮาร์ดดิสก์ซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูลการทำงานที่ขาดไม่ได้ การทำงานของมันเป็นดังนี้ คือมันส่งตัวเองโดยอัตโนมัติ ไปยังทุกรายชื่อที่คุณติดต่อ โดยใช้หัวข้อ “A Virtual Card for You” (คล้ายเวลาเราได้การ์ดอินเตอร์เน็ตจากเพื่อน) ทันทีที่เปิดสิ่งที่ส่งมานี้คอมพิวเตอร์จะหยุดทำงาน เพื่อผู้ใช้จะต้องบู๊ตเครื่องใหม่และเมื่อกดปุ่ม Ctrl+Alt+Del หรือปุ่มรีเซ็ตไวรัสนี้ก็จะทำลายเซกเตอร์ซีโร่ ซึ่งจะเป็นการทำลายฮาร์ดดิสก์อย่างถาวร ทั้งนี้ ตามรายงานของ CNN (www.cnn.com) ดังนั้น อย่าเปิดจดหมายใดๆ ที่ใช้ หัวข้อว่า “A Virtual Card for You” ให้ลบทิ้งทันที นอกจากนั้นอินเทลยังรายงานว่า เพิ่งพบไวรัสตัวใหม่ที่เป็นอันตรายถ้าคุณได้รับจดหมายหัวข้อ “An Internet Flower for You” อย่าเปิด แต่ให้ลบทิ้งทันที ไวรัสตัวนี้จะทำลายข้อมูลเชื่อมโยง dynamic link libraies (ไฟล์.dll) ทั้งหมด และคุณจะบุ๊คเครื่องไม่ได้ (มติชน อังคารที่ 11 มีนาคม 2546 หน้า 19)





ปุ๋ยหมักเปลือกกล้วย : ทำง่ายใช้ดี

เรื่องนี้มีการทดลองและนำไปใช้แล้วที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกพื้นที่ที่มีการผลิตกล้วยตามมาติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่เดียว ที่นั่นปีหนึ่งๆ ผลิตกล้วยตากออกจำหน่ายไม่น้อยกว่า 2,500,000 กิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีเปลือกกล้วยที่เหลือใช้และต้องทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ไม่น้อยกว่า 7,700,000 กิโลกรัม ที่นั่นเขาทำปุ๋ยจากเปลือกกล้วยกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนนำส่งขายสู่ท้องตลาดสร้างรายได้ให้กับชุมชนเสมอมา กรรมวิธีทำไม่ยากเกษตรกรทั่วไปสามารถทำเองได้ ขั้นต้นใช้เปลือกกล้วย 100 กิโลกรัมผสมกับมูลสัตว์ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือควายและวัวก็ได้หรือหากไม่มีก็ใช้ตะกอนอ้อยปริมาณ 200 กิโลกรัม ตามด้วยยูเรีย 2 กิโลกรัมและสารเร่ง 200 กิโลกรัม ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตร อ.บางกระทุ่ง จ.พิษณุโลก โทร.0-5539-1074 ในวันและเวลาราชการ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 12)





ตะลึง2เดือนฝุ่นขนาดเล็กคร่า1,650ราย

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างสหรัฐอเมริกาและเอเชีย จัดสัมนาเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหามลพิษจากรถโดยสารร่วมบริการเอกชน ที่ จ.นครนายก นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. กล่าวว่า จากการสำรวจสถิติรถโดยสารที่ใช้น้ำดีเซลที่วิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่มีควันดำเกินมาตรฐานเมื่อปี 2545 พบว่าเป็นรถตู้ 70.6% มินิบัส 60% รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด 52% รถโดยสารร่วมบริการ ขสมก. 52% รถโดยสารไม่ประจำทาง 44% รถโดยสารประจำทาง ขสมก. 7% สาเหตุควันดำของรถส่วนใหญ่เกิดจากสภาพเครื่องยนต์เก่าชำรุด การปรับแต่งเครื่องยนต์ไม่ถูกต้อง ฯลฯ “นอกจากควันดำแล้วยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นขนาดเล็กอีกด้วย เราพบว่า 2 เดือนสุดท้ายในปี 2545 ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กพุ่งสูงขึ้นอย่างมากสูงถึง 380 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินค่ามาตรฐานรายปี เฉลี่ยถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกันพบว่าช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีที่ผ่านมา มีคนไข้ 630-1,650 ราย ตายก่อนเวลาอันควร มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 2,700-8,370 คน รวมทั้งมีคนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ 504-1413 คน” (มติชน ศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 18)





เตือนโรคทางเดินหายใจระบาด!

โฆษกรัฐบาลฮ่องกงแถลงว่า นักธุรกิจชาวอเมริกันรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลบนเกาะฮ่องกงตั้งแต่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลงในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ หลังจากล้มป่วยขณะพำนักอยู่ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยมีอาการของระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงมาก สำหรับสาเหตุของอาการป่วยนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน เจ้าหน้าที่องค์กรอนามันโลกเปิดเผยว่า หลังการเข้ารับการรักษาตัวของนักธุรกิจชาวอเมริกันคนกล่าวที่โรงพยาบาลในกรุงฮานอยก่อนหน้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลบนเกาะฮ่องกงนั้น ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลฮานอยล้มป่วยไปด้วย 20 โดยมีอาการคล้ายคลึงกัน บางรายมีอาการพัฒนาไปถึงขั้นปอดบวม ระบบทางเดินหายใจมีปัญหารุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลฮานอยบางรายอาการเข้าขั้นวิกฤต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการล้มป่วยของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฮ่องกงและฮานอยมีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยการแพร่ระบาดของโรคนั้นจำกัดอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ (มติชน ศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 10)





ไวรัสไข้หวัดมฤตยูแพร่อีก 4 ร.พ.ฮ่องกง

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไวรัสไข้หวัดมฤตยูที่คร่าชีวิตนักธุรกิจชาวอเมริกันที่โรงพยาบาลพรินซ์เซส มาร์กาเร็ต บนเกาะฮ่องกงเมื่อวันพฤหัสฯ (13 มี.ค.) ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศเตือนให้ชาวโลกระวังการติดเชื้อโรคมฤตยูดังกล่าวนั้น ได้ระบาดไปยังโรงพยาบาลอื่นอีก 4 แห่งของเกาะฮ่องกงแล้ว ขณะที่ผู้ติดเชื้อไวรัสมฤตยูที่โรงพยาบาลในกรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ที่มีแพทย์ชาวฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วยนั้นมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ เอพีระบุว่า ที่โรงพยาบาลฮานอย เฟรนซ์ฮอสปิตัส ซึ่งนักธุรกิจชาวอเมริกันที่เสียชีวิตด้วยไวรัสมฤตยู เข้ารับการรักษาตัวก่อนเดินทางไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลพรินซ์เซส มาร์กาเร็ตนั้น มีผู้ติดเชื้อเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 4 คน เป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศส 1 คน อาการหนักมากและอาการของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกๆ ชั่วโมง (มติชน เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 5)





ใช้เทคโนฯต่างชาติทำเขื่อนกันหาดพัง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มีนาคม นายนวรัตน์ ไกรพานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมชาวประมงเรือเล็ก ชาวบ้าน เจ้าของกิจการโรงแรมและคอนโดมิเนียมใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาน้ำเสียและน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งตั้งแต่ปากน้ำเพชรบุรีจนถึงปากน้ำปราณ ทำให้ชายหาดที่เคยสวยงามหายไป กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงว่าจ้างบริษัท เซาธ์อีสต์เอเชีย เทคโนโลยีจำกัด และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สำรวจออกแบบเขื่อนและถมทรายตามแนวชายหาด ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในปีนี้ และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากผ่านการพิจารณาจะเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติงบประมาณ (มติชน เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 17)





ทางแก้ปัญหา ‘โรคแพ้ตึก’

การแก้ไขปัญหานี้คงต้องกลับมาดูที่การออกแบบอาคาร และปรับปรุงอาคารให้มีระบบระบายอากาศที่ดี มีประสิทธิภาพเพื่อเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปและถ่ายเทอากาศเสียออกมา หันมาใช้วัสดุก่อสร้างหรือเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และจัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าในตำแหน่งที่เหมาะสม นักวิทยาศาสตร์ องค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ได้วิจัยแล้วพบว่าไม้ประดับหลายชนิดจะช่วยฟอกอากาศได้อย่างดีเยี่ยม ไม้ประดับที่มีคุณสมบัติสามารถดูดสารพิษได้มีอยู่ด้วยกัน 40 ชนิด เช่น เรือนเศรษฐี หมากเหลือง ปาล์มไผ่ โกสน สิบสองปันนา ไทรใบเล็ก บอบตัน เฟิร์น เดหลี พลูด่าง สับปะรดสี เบญจมาศ เยอบีร่า เข็มริมแดง ออมทอง สาวน้อยประแป้ง ไทรย้อยใบแหลม หนวดปลาหมึก กุหลาบหิน ลิ้นมังกร สนฉัตร เสน่ห์จันทร์แดง แววมยุรา กล้วยแคระ ว่านหางจระเข้ กล้วยไม้พันธุ์หวาย เป็นต้น (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2546 หน้า 35)





22มหาวิทยาลัยร่วมตรวจสอบสารตกค้าง

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.กระทรวงเกษตรฯ เผยว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน 22 แห่ง เพื่อเข้าร่วมในการตรวจสอบมาตราฐานสินค้าเกษตรส่งออก โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายหลังที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศคุมเข้มในการตรวจสอบสารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ 12 ชนิด คือ ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด มะขาม มะม่วง ส้มโอ หน่อไม้ฝรั่ง ขิง กระเจี๊ยบสด ข้าวโพดฝักอ่อน พริก ก่อนส่งออกไปต่างประเทศ (สยามรัฐ พุธที่ 19 มีนาคม 2546 หน้า 25)





เผยรางวัลหนังสือดีเด่นปี46

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยถึงผลการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี 2546 ดังนี้ กลุ่มหนังสือสารคดี ไม่มีหนังสือเล่มใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย ได้แก่ นักเรียนเนเธอร์แลนด์ โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ประวัติศาสตร์อารยธรรมภาคใต้แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย โดยประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ และ พระพุทธรูป มรดกล้ำค่าของเมืองไทย โดยทศพล จังพานิชย์กุล กลุ่มหนังสือนวนิยาย รางวัลดีเด่น ได้แก่ ปีกแดง โดยวินทร์ เลียววาริน รางวัลชมเชย ได้แก่ ตะเกียงแก้ว โดยกัญญ์ชลา โปรเจกต์เอกซ์ โดยชัยคุปต์ และลับแลลายสายเมฆ โดยปิยะพร ศักดิ์เกษม กลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์ รางวัลดีเด่น ได้แก่ มหารัตนพิมพวงศ์ คำฉันท์ ตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ โดยชูชาติ ชุ่มสนิท รางวัลชมเชยได้แก่ คราบมนุษย์ โดยธัญญา ธัญญามาศ โคลงสำนวนสุภาษิตไทย โดยสุทธิ ภิบาลแทน และม่านฝนบังฟ้า โดยวันเนาร์ยูเด็น กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น รางวัลดีเด่น ได้แก่ บอใบไม้สระอานอหนูไม้โท โดยแขคำ ปัณณะศักดิ์ รางวัลชมเชยได้แก่ เกสรปราถนา โดยประชาคม สุนาชัย และวิปริต โดยจิรภัทร อังสุมาลี กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน อายุ 3-5 ปี ไม่มีหนังสือใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย ได้แก่ เพื่อนบ้าน โดยระวี มินมานะเกียรติ กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 6-11 ปี หนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็กเล็ก ไม่มีหนังสือใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย ได้แก่ แม่มดน้อยกับคาถาก่อนนอน โดยชีวัน วิสาละ และหุ่นไล่กาเพื่อนรัก โดยปุณยวีร์ หนังสือสารคดีสำหรับเด็ก ไม่มีหนังสือใดได้รับรางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี และหนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ไม่มีหนังสือเล่มใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย ได้แก่ พยานปากเอก โดยภาณุมาศ หนังสือสารคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปีรางวัลดีเด่น ได้แก่ ดอกไม้บานที่เกาะใต้โดยธีรพร คงพูล รางวัลชมเชย ได้แก่ แม่ลูกปลูกต้นไม้ โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง ชุมชนหัตถกรรม ภูมิปัญญาโบราณ กรุงเทพมหานคร โดยอังคาร หนังสือร้อยกรองสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ไม่มีหนังสือใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชยได้แก่ เกมทายคำ นำให้รักหลักภาษา 1 โดยจงจิต มินมานนรเทพ กลุ่มหนังสือการ์ตูนและ/ หรือนิยายภาพ ไม่มีหนังสือใดได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชยได้แก่ สามซ่าผจญภัย 1 ตอน สมบัติเจ้าคุณปู่ โดยวัชรพล พงษ์ไพศาล และวารสาต์ รับผล นักสู้เต็มวัย โดยติ๋ว นางฟ้าคนใหม่ โดยอัมพร เบื่อขุดทด กลุ่มหนังสือสวยงาม หนังสือสวยงามทั่วไป รางวัลดีเด่น ได้แก่ พระพุทธรูป:มรดกล้ำค่าของเมืองไทย โดยทศพล จังพาณิชย์กุล รางวัลชมเชยได้แก่ ทวารวดี : ต้นประวัติศาสตร์ไทย โดยดร.ธิดา สาระยา ประวัติศาสตร์และวัตถุมงคลหลวงพ่อทวด โดยชัยนฤทธิ์ พันธ์ทอง เรือ:วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยสุเนตร ชุตินธรานนท์ หนังสือสวยงามสำหรับเด็ก รางวัลดีเด่นได้แก่ การละเล่นโดยน้านกฮูก รางวัลชมเชย ได้แก่ นกฮูกน้อยเรียนรู้ศัพท์ ตอน สนุกในบ้าน โดยพี่ทับทิม ปากของใคร โดยเกริก ยุ้นพันธ์ และเล่นกลางแจ้งโดยชีวัน วิสาละ ทั้งนี้หนังสือที่ชนะการประกวดทั้งหมดจะนำไปจัดแสดงในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 31 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-7 เม.ย.2546 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215