หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 15 ประจำวันที่ 2003-04-15

ข่าวการศึกษา

“มม.” ปลื้ม น.ศ. นานาชาติ แห่เรียน ป.โท สาธารณสุข
วังจันทรเกษมตื่นสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ
ครูขวัญเสียอัด วก.แพร่โรคร้ายจัดหลักสูตร 70:30
รภ.อุตรดิตถ์วิทยาเขตแพร่ ทำอุดมศึกษาแบบกินนอน
มก. เน้นไฮเทคมุ่งติดอันดับนานาชาติ
เร่งทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย
ส.ว.ชงตั้ง กมธ. แก้เซ็กซ์วัยเรียน
ชี้รัฐไม่ชัดเจน ผลิตสื่อวิทยุ-ทีวี เพื่อการศึกษา
“ปองพล” เดินหน้า ม.นอกระบบ จี้โรงเรียนยึดตามรัฐธรรมนูญ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ท่องเที่ยวมีคุณช่วยบำรุงสุขภาพ ให้กับร่างกายและจิตใจได้ครบ
“โมรอคเฮย่า” ผักเพื่อสุขภาพ

ข่าววิจัย/พัฒนา

แรงโน้มถ่วง ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด
กินขมิ้นป้องกันรักษาตับคอเหล้า ลดภัยจากพิษสงของ แอลกอฮอล์
ขดลวดถ่างหลอเลือดแบบใหม่ เคลือบตัวยาป้องกันหัวใจตีบซ้ำ
นักวิจัยเยอรมันพบวิธีตรวจการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย
เติมความชุ่มชื่นให้กับผิวพรรณด้วยเครื่องสำอางผสมกาวไหม

ข่าวทั่วไป

นักวิชาการเตือนต่างชาติ รุกชิงทรัพยากรชีวภาพไทย
“ไอซีที” ย้ำไม่หนุนเงิน “คอมพ์เอื้ออาทร”
รถวีลแชร์ฝีมือคนพิการพัฒนาส่งออก
ไทยพบกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลก





ข่าวการศึกษา


“มม.” ปลื้ม น.ศ. นานาชาติ แห่เรียน ป.โท สาธารณสุข

น.พ.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัญฑิตหลักสูตรนานาชาติ ว่า มม.ได้จัดโครงการดังกล่าวมากว่า 27 ปี เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละประเทศ และศึกษาความแตกต่างด้านสาธารณสุขชุมชนของประเทศไทยกับนานาชาติ ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เช่นปีที่ผ่านมามีนักศึกษานานาชาติจาก 11 ประเทศ ส่วนปีการศึกษา 2546 นี้จะมีนักศึกษานานาชาติจาก 10 ประเทศ จำนวน 60 คน ที่สมัครเข้าศึกษาเช่น อินโดนีเซีย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ภูฎาน ศรีลังกา อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ ในการเรียนการสอนจะมุ่งเพิ่มทักษะการบริหารจัดการ การทำงานเป็นทีม และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งนักศึกษาไทยจะต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุมชนร่วมกับนักศึกษาปริญญาตรี ส่วนนักศึกษาต่างชาติมีข้อจำกัดด้านภาษาจึงปรับให้ทำวิจัยตามหัวข้อที่สนใจ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 1 เมษายน 2546 หน้า 20๗





วังจันทรเกษมตื่นสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระกระแสรับสั่งสอบถามความชัดเจนในการเก็บค่าใช้จ่ายการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนต่างๆ มักเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองซ้ำซ้อน และบางโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย เช่น กิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์นั้น นายปัญญา วงศ์กุหมัด รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งห้ามโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองเด็ดขาดในระหว่างที่มีการรับนักเรียน ยกเว้นเมื่อโรงเรียนเปิดเทอมไปแล้ว หากโรงเรียนจะให้ผู้ปกครองบริจาคต้องเสนอโครงการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม และเป็นการเก็บที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนปกติ หากผู้บริหารคนใดฝ่าฝืนก็จะต้องดำเนินการทางวินัยทันที ขณะเดียวกันคงต้องมีการทบทวนกิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์ไม่ใช่ส่งเสริมให้เด็กฟุ่มเฟือย หรือแต่งกายล่อแหลมไม่เหมาะกับวัย ด้าน ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือหลักสูตรไปแล้ว แต่ยังมีผู้บริหารบางโรงเรียนไม่ถือปฏิบัติ ซึ่งคงต้องกำชับไปอีกครั้ง (ไทยรัฐ วันพุธที่ 2 เมษายน 2546 หน้า 15)





ครูขวัญเสียอัด วก.แพร่โรคร้ายจัดหลักสูตร 70:30

รศ.ดร.ไพบูลย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในการประชุมสัมมนาเรื่อง “การติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544” ว่า จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 พบว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมการศึกษาไทยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ มีกระบวนการพัฒนาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น เกิดการทำงานร่วมกันและกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มครู และผู้บริหาร และให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันครูและผู้บริหารจำนวนไม่น้อยก็ยังมีความรู้สึกถึงหลักสูตรใหม่ว่าเหมือนกับการกลับไปสู่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2503 ที่ยังเป็นไปในเชิงเนื้อหาค่อนข้างสูง และยังมีกกำหนดหลักสูตรแกนกลาง 70% และหลักสูตรท้องถิ่น 30% ซึ่งไม่รู้ว่าสูตรนี้ออกมาได้อย่างไร จนทำให้ครูเกือบทั่วประเทศเวลานี้ขาดความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งนักวิชาการบางคนก็ออกมาพูดแต่ในทางลบ ทำให้เห็นว่า 3 ปีที่ผ่านมา ครูไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่ม นอกจากมีงานและคำต่อว่าเพิ่มมากขึ้น นางไพรวัน จงรักดี ผอ.ร.ร.วัดเสาธงนอก จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ผอ.ร.ร.ที่ดีต้องพยายามเรียนรู้และจัดทำหลักสูตรใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทของ ร.ร.แต่ก็มี ผอ.ร.ร.อีกลุ่มที่รีรอไม่ยอมทำ และพอกรมวิชาการประกาศสูตร 70:30 พวกที่รีรอก็มาหัวเราะเยาะ ทำให้ครูที่ทำหลักสูตรตั้งแต่ต้นเสียขวัญกำลังใจ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 2 เมษายน 2546 หน้า 15)





รภ.อุตรดิตถ์วิทยาเขตแพร่ ทำอุดมศึกษาแบบกินนอน

นายไกรวุฒิ จันทร์รัตน์ รองอธิการบดีสถาบันราชภัฏ(รภ.)อุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลอง จ.แพร่ เปิดเผยว่าในการจัดตั้งวิทยาเขตของ รภ. อุตรดิตถ์ใน จ.แพร่ ซึ่งจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2546 นี้ กลุ่มเป้าหมาย 70% เพื่อเป็นการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับเยาวชนที่เป็นเด็กชาวเขา เช่น ลีซอ อีก้อ กะเหรี่ยง(ยาง) ม้ง และเด็กพื้นราบยากจนและด้อยโอกาส เช่น เด็กนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ส่วนอีก 30% นั้นจะเป็นเด็กที่ผู้ปกครองไม่ต้องการให้ไปเรียนไกลจากครอบครัว นายไกรวุฒิกล่าวว่า “จนถึงขณะนี้การก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัดแพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างดี และรูปแบบการจัดการศึกษานั้นจะสร้างเงื่อนไขให้กับนักศึกษาทุกคนที่เข้ามาเรียน จะต้องอาศัยอยู่หอพักภายในที่สร้างเอาไว้ให้ หรือเรียกว่าหอพักพัฒนานักศึกษา ซึ่งจะมีการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมภายในสถาบันทั้งหมด หรืออาจเรียกว่าสถาบันอุดมศึกษาแบบกิน-นอนก็ได้ โดยเนื้อหาจะอิงจากท้องถิ่นเป็นหลัก และจะเน้นทำให้นักศึกษาที่จบออกไปมีคุณภาพที่แท้จริง และแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษอื่น และการเรียนการสอนในขั้นเริ่มต้นจะให้นักศึกษาทำการศึกษาเพียงสองปีแรก ส่วนสองปีหลังจะย้ายเข้าไปศึกษาต่อที่สถาบันแม่คือ รภ.อุตรดิตถ์ (มติชนรายวัน วันพุธที่ 2 เมษายน 2546 หน้า 20)





มก. เน้นไฮเทคมุ่งติดอันดับนานาชาติ

รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2546 มก.ได้เปิดรับนิสิตใหม่ปี 1 จำนวนทั้งสิ้น 8,342 คน แยกเป็นการรับผ่านเอ็นทรานซ์จากทบวงฯ 5,973 คน และการรับตรงและโครงการพิเศษ 2,369 คน ซึ่งเชื่อว่า มก.ยังคงความเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยม ทั้งนี้ในแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะที่ 9 (2545-2549) มก.ได้วางเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับนานาประเทศ มีระบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย ปรับหลักสูตรให้เป็นปัจจุบันและทันสมัยมากที่สุด เน้นงานวิจัยและมีสภาพแวดล้อมที่เป็นสีเขียวและยังได้ประกาศเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเทคโนโลยีสารสนเทศ (E-University) ทั้ง E-Meeting E-Courseware และ E-Teacher และกำลังจะเริ่มดำเนินการ E-Student ตั้งเป้าหมายจะเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน มิ.ย.2546 และเดือน มิ.ย.นี้ ใน 4 วิทยาเขตหลักจะจัดระบบการเรียนการสอนทางไกลเสมือนจริง ขณะเดียวกันก็ยังคงเน้นความมีคุณธรรมและจริยธรรมมากขึ้นด้วย (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2546 หน้า 15)





เร่งทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการพัฒนาเด็กปฐมวัยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงแผนซึ่งเป็นนโยบาย และแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ 11 ข้อ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯหลายได้ให้ข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีหน่วยงานที่ให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยจำนวนมากถึง 9 กระทรวง 38 หน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะมีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน จึงควรพิจารณาแผนนโยบายและแผนปฏิบัติการในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และจัดการศึกษาอย่างเป็นธรรม ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ซึ่งมีความชำนาญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ กลับไปพิจารณาแผนปฏิบัติการต่างๆใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ครอบคลุมการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันให้ไปหาข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้มีหน่วยงานใดบ้างที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีงบประมาณที่นำไปใช้กับเด็กปฐมวัยจำนวนเท่าใด เพียงพอหรือไม่ จากนั้นให้นำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการในการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 15)





ส.ว.ชงตั้ง กมธ. แก้เซ็กซ์วัยเรียน

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ส.ว.กทม. และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา เปิดเผยว่าตนได้เสนอญัตติขอให้วุฒิสภาแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการมีเพศสัมพันธ์และทำกิจกรรมอื่นๆของนักเรียนนักศึกษา เพราะปัจจุบันส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยปละละเลยจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะเด็กจากต่างจังหวัดที่มาเช่าหอพักหรือซื้อคอนโดมิเนียม ซึ่งเอื้อต่อโอกาสการมีเพศสัมพันธ์กันได้ง่าย และกำลังแพร่ระบาดมากในหมู่นักเรียนนักศึกาาที่มาเช่าหอพักโดยไม่ได้แยกหญิงและชาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการระบาดของโรคเอดส์และเกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ จะเสนอให้กรรมาธิการชุดนี้ได้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.หอพัก ซึ่งใช้มานาน 30-40 ปีแล้ว โดยปรับปรุงให้ทันสมัยและเปิดโอกาสในการตรวจตราหอพักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่พบว่ามีปัญหามาก ในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และรามคำแหง เพราะไม่มีการคัดกรองคนเข้าพัก (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2546 หน้า 20)





ชี้รัฐไม่ชัดเจน ผลิตสื่อวิทยุ-ทีวี เพื่อการศึกษา

รศ.ดร.พรทิพย์ พิมลสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ประเมินประสิทธิภาพการใช้สื่อวิทยุ-โทรทัศน์เพื่อการศึกษาว่า จากการวิจัยประเมินผลด้วยการสำรวจและการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงกลุ่มและเชิงลึก พบว่าช่วงเวลาที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับฟังทางวิทยุคือ 07.30-08.00 น. ได้แก่ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) ในขณะที่รายการทางโทรทัศน์เป็นวิชาภาษาไทย สปช. และวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลา 12.30-13.30 น. เมื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา พบว่าช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต และเพิ่มพูนความรู้ให้มากขึ้น แต่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนถึง 35.17% ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน 31.83% และทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมในการเรียนล่วงหน้า 28.67% ด้าน รศ. จุมพล รอดคำดี คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ผลวิจัยจะพบว่าปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลขาดความพร้อมในเชิงนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งความจริงแล้วเรื่องการศึกษาของประเทศต้องพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพที่เหมาะสม ส่วนที่รัฐได้ลงทุนไปมีมูลค่ามากเท่าไหร่นั้นตนไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจน (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า 15)





“ปองพล” เดินหน้า ม.นอกระบบ จี้โรงเรียนยึดตามรัฐธรรมนูญ

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสเดินทางไปมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของภาคอีสาน ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า สถาบันอุดมศึกษายังมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นแหล่งผลิตครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาของไทย เนื่องจากในปัจจุบันการจัดการศึกษาของไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่จะให้ความรู้แก่เยาวชนในสาขาต่างๆ อีกมาก ส่วนความคืบหน้าในการปฏิรูปอุดมศึกษานั้น ศธ.และทบวงฯกำลังเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของหลักสูตรและการออกนอกระบบ เพื่อให้มีความอิสระในการบริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ และทางด้านวิชาการ ซึ่งการปฏิรูปอุดมศึกษาในอนาคตสถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับและพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ด้วยการรับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้มแข็งต่อไป (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ท่องเที่ยวมีคุณช่วยบำรุงสุขภาพ ให้กับร่างกายและจิตใจได้ครบ

การศึกษาค้นคว้าของมหาวิทยาลัยเอสเซกซ์แห่งอังกฤษ ได้ทราบว่าการได้สัมผัสกับธรรมชาติจากการท่องเที่ยว นับแต่ต้นไม้ใบหญ้าพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ ล้วนแต่เป็นคุณต่อร่างกายและจิตใจทั้งสิ้น ด้วยเหตุนั้น ทางมหาวิทยาลัยถึงกับเสนอต่อรัฐบาลว่าควรจะพิจารณาดำเนินการตามโครงการ “การกำลังกายด้วยธรรมชาติ” อย่างจริงจัง ด้วยการให้ทำกิจกรรมที่ได้มีการใช้แรงงานท่ามกลางหมู่ธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนพลเมืองมีพลานามัยดีขึ้น และศาสตราจารย์และคณบดีคณะอนามัยสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยอีมารีของสหรัฐฯ ดร.โฮเวิร์ด ฟรัมกิน ก็ได้เสนอความเห็นให้พวกแพทย์ควรจะคำนึงถึงการใช้ธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของคนไข้ให้มากขึ้น และควรพึ่งยาให้น้อยลง (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 7)





“โมรอคเฮย่า” ผักเพื่อสุขภาพ

นายสัตวแพทย์สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน ผู้จัดการบริษัท ภูเก็ต เป๋าฮื้อ ฟาร์ม และภัตตาคาร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้นำผักชนิดหนึ่งเข้ามาทำการทดลองปลูกในประเทศไทยซึ่งเป็นผักที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งวิตามิน” ผักที่ว่าคือ “โมรอคเฮย่า” (Molocheiya) จากการวิจัยพบว่า ผักชนิดนี้มีสารอาหารประเภทเบต้าแคโรทีน มากกว่าผักโขมถึง 3 เท่า ขณะที่มีวิตามินเอ, บี 1, บี 2 และซี มากกว่าแครอท บร็อคโคลี่และผักโยมรวมกัน นอกจากนี้ยังมีสารอาหารประเภทโปแตสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำในปริมาณสูงมากเช่นกัน โมรอคเฮย่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศอียิปต์ แต่เป็นที่นิยมบริโภคของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะวิตามินและแร่ธาตุในผักโมรอคเฮย่าจะช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยั้งช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคและกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย นอกจากนี้เส้นใยอาหารของโมรอคเฮย่าจะช่วยลดคอเรสเตอรอล ลดความอ้วน ลดเบาหวาน และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้นโมรอคเฮย่านี้มีลักษณะคล้ายกับต้นกระเพรา แต่ส่วนโคนของใบจะมีแฉกขนาดเล็กๆ แยกออกมา 2 ข้างคล้ายกับหางของแมลง สามารถปลูกได้ดีในอากาศร้อนอย่างในบ้านเรา สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่อายุประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มมีฝักซึ่งเมื่อแก่จัดอายุประมาณ 6 เดือน จะสามารถนำเก็บมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปได้ (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 34)





ข่าววิจัย/พัฒนา


แรงโน้มถ่วง ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

นักวิจัยจากองค์การ NASA กำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพแรงโน้มถ่วงที่มากกว่าปกติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเราสามารถนำมันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตัวนักบินอวกาศเองและคนทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้ การทดลองที่นักวิจัยทำก็คือ ศึกษาผลกระทบของสภาพแรงโน้มถ่วงที่มากกว่าปกติที่มีต่อร่างกายของเรา ซึ่งทำการทดลองกับอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพ โดยให้ใช้ชีวิตอยู่ในเครื่องสร้างแรงโน้มถ่วงจำลองที่มีลักษณะเป็นแกนหมุนขนาดใหญ่ที่ข้างในเป็นช่องว่างที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 19 เมตร อาสาสมัครจะทำอะไรก็ได้ในนั้น ไมว่าจะเป็นดูทีวี เล่นเกมส์ ใช้คอมพิวเตอร์ เพราะนักวิจัยได้เตรียมเอาไว้เสร็จสรรพ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทดลองไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ตรวจจับสภาพการทำงานของร่างกายอย่างเช่น การมองเห็น การเคลื่อนไหว เพียงแต่ว่าอาสาสมัครจะต้องตอบคำถามที่นักวิจัยถามบ้างขณะที่อยู่ในนั้นเท่านั้นเอง ผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นไม่จำกัดเฉพาะกับนักบินอวกาศเพียงเท่านั้น สภาพแรงโน้มถ่วงที่มากกว่าปกติอาจทำให้นักกีฬาสามารถออกกำลังได้โดยใช้กล้ามเนื้ออย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงรักษาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ตลอดจนผู้ป่วยที่อาจต้องใช้การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด และในขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาสภาพที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงโน้มถ่วงสูงในเวลาสั้น กับการใช้แรงโน้มถ่วงต่ำในระยะเวลาที่นานขึ้น ว่าอย่างใดจะให้ผลที่ดีต่อร่างกายมนุษย์มากกว่ากัน (เดลินิวส์ วันพุธที่ 2 เมษายน 2546)





กินขมิ้นป้องกันรักษาตับคอเหล้า ลดภัยจากพิษสงของ แอลกอฮอล์

นักวิจัยของโรงพยาบาลกลางมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิแห่งฟินแลนด์พบว่า ขมิ้นมีสรรพคุณช่วยระงับอาการแปรปรวนอันเนื่องมาจากการดื่มกินอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้ตับเป็นอันตรายลงได้ นับเป็นการค้นพบคุณประโยชน์ของขมิ้นเพิ่มเติม นอกจากที่เคยพบว่ามันมีคุณประโยชน์ มีสรรพคุณเหมือนกับตัวล้างพิษและต่อต้านโรคมะเร็งมาแล้ว ขมิ้นเป็นของไม่มีพิษ และมันอาจจะช่วยป้องกันรักษาตับ จากการดื่มกินอย่างหนักได้ แต่ขณะนี้เพิ่งจะเห็นผลในการทดลองกับหนูเท่านั้น ซึ่งในการทดลองได้ป้อนขมิ้นให้หนูกินเป็นปริมาณที่เทียบตามส่วนแล้ว มากกว่าที่คนเราจะได้จากอาหารหลายเท่า อย่างไรก็ตามโรคตับที่เกิดจากการดื่มเหล้านั้นควรป้องกันโดยการไม่ดื่มเหล้าให้มากเกินไปจึงจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 7)





ขดลวดถ่างหลอเลือดแบบใหม่ เคลือบตัวยาป้องกันหัวใจตีบซ้ำ

บริษัท คอดิส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ได้นำเสนองานวิจัยและพัฒนาขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจเคลือบตัวยาชนิดใหม่นี้ในที่ประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-2 เมษายน 2546 ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการวิจัยพบว่า ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจเคลือบยาชนิดนี้สามารถป้องกันเส้นเลือดหัวใจกลับมาอุดตันได้ถึงร้อยละ 94 เทียบกับขดลวดชนิดอื่นที่ผู้ป่วยอาจมีโอกาสต้องเข้ารับการรักษาใหม่เพื่อแก้ไขการอุดตันในเส้นเลือด ความพิเศษของขอลวดนี้อยู่ที่การเคลือบตัวยาที่มีชื่อว่า Sirolimus หรือ Rapamune ที่ช่วยลดโอกาสการเติบโตของเซลล์หรือเนื้อเยื่อในบริเวณที่ฝังขดลวดซึ่งต่างจากตัวยาที่ใช้กับขดลวดถ่างหัวใจบางชนิดที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ ปกติแล้วเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาสู่ร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะเข้าไปจู่โจมขดลวดและจะส่งผลให้เกิดเซลล์หรือเนื้อเยื่อขึ้นมาทำให้หลอดเลือดกลับอุดตันอีกครั้ง แต่ยา Sirolimus จะช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์ในกระบวนการดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2546 หน้า 8)





นักวิจัยเยอรมันพบวิธีตรวจการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย

ศาสตราจารย์เกอร์ฮาร์ด โอเปซ นักวิจัยจากโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์กและทีมงานเปิดเผยว่า ใกล้พบวิธีการตรวจหาว่า ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตจะถูกภูมิคุ้มกันร่างกายปฏิเสธหรือไม่โดยอาศัยการวัดระดับโปรตีนในเลือดที่เรียกว่า “ซีดี 30” ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในบริเวณผิวหน้าของเซลล์เม็ดเลือดขาว หลังจากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 4,000 คน เมื่อปีที่แล้ว และพบว่าจำนวนของโปรตีนซีดี 30 จะสูงมาก ในผู้ป่วยที่มักจะมีการต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะจากร่างกาย จึงทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถใช้คาดการณ์ได้ว่าปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อการปลูกถ่ายอวัยวะได้ รวมถึงช่วยให้แพทย์สามารถเตรียมยากดระบบภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยล่วงหน้าได้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการต่อต้านร่างกายสูงก็อาจจะได้รับยาในปริมาณที่สูงกว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ขณะที่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการต่อต้านการปลูกถ่ายไตน้อยกว่า ก็จะได้รับยาในปริมาณที่น้อยกว่า เพื่อลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการติดเชื้อ และโรคมะเร็ง ทั้งนี้ทีมงานอยู่ระหว่างการทำการศึกษาเพิ่มเติม โดยย้ำว่าวิธีการนี้นอกจากจะได้ผลดีแล้ว ยังมีราคาถูกด้วย โดยราคาตกอยู่ที่ประมาณ 200 บาท ต่อครั้ง และใช้เวลาในการทราบผลเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า 7)





เติมความชุ่มชื่นให้กับผิวพรรณด้วยเครื่องสำอางผสมกาวไหม

“กาวไหม” เป็นโปรตีนที่มีอยู่ในรังไหม นอกจากจะช่วยให้เส้นไหมเชื่อมติดกันเป็นรังไหมแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นมอยเจอร์ไรเซอร์ได้อย่างดีทีเดียว นางรัชนี ขัดสีใส นักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า “การสกัดกาวไหมออกจากเส้นไหมนั้นทำได้ยาก เพราะขณะที่มีการต้มไหมเพื่อนำเส้นใยมาใช้งาน กาวไหมก็จะออกมากับน้ำต้มไหม เราสามารถนำน้ำต้มไหมมาสกัดเพื่อให้ได้สารมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้” ด้วยคุณสมบัติของกาวไหมที่มีความเหนียวนุ่ม และมีความยืดหยุ่น นอกจากนำมาทำเครื่องสำอางแล้วที่ญี่ปุ่นอาหารหลายประเภทยังมีส่วนผสมของกาวไหม ไม่ว่าจะเป็นพวกขนมปัง เส้นหมี่ และขนมกินเล่น ขณะเดียวกันนักวิจัยในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการวิจัยเพื่อจะนำเอากาวไหมเข้ามาใช้ในวงการแพทย์ด้วย เช่น นำมาทำด้ายเย็บแผลผ่าตัด ทำคอนเท็กส์เลนส์ ผ้าพันแผล ใช้ทำผิวหนังเทียม ทำหลอดเลือดเทียม ใช้ในการต่อกระดูก เป็นต้น (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 34)





ข่าวทั่วไป


นักวิชาการเตือนต่างชาติ รุกชิงทรัพยากรชีวภาพไทย

นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สงครามระหว่างสหรัฐกับอิรักเป็นสงครามช่วงชิงทรัพยากรน้ำมัน ปัจจุบันแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ทรัพยากรกลับถูกช่วงชิงรุนแรงมากขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขกฏหมายด้านทรัพยากรทั้งหมดเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ด้านนายสุทัศน์ ศรีวัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ การเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของต่างประเทศในลักษณะการศึกษาวิจัย และขณะนี้พบว่านักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาเรื่องจุลินทรีย์ในประเทศไทยจำนวนมาก นายไพโรจน์ พลเพชร ผู้จัดการสมาคมสิทธิเสรีภาพแห่งประเทศไทย (สสส.) กล่าวว่า ตอนนี้มีกฏหมายที่ดูแลเรื่องทรัพยากรป่าไม้ทั้งหมด 5 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.คุ้มครองสงวนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งทั้ง 5 ฉบับ จำเป็นต้องยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไข ซึ่งในขณะนี้เครือข่ายเอ็นจีโอและชาวบ้านกำลังร่าง พ.ร.บ.การจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 1 เมษายน 2546 หน้า 18)





“ไอซีที” ย้ำไม่หนุนเงิน “คอมพ์เอื้ออาทร”

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ “คอมพ์เอื้ออาทร” ว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถทำให้ราคาคอมพิวเตอร์ถูกลงได้อย่างแน่นอน โดยรัฐบาลจะไม่มีการนำเงินมาสนับสนุนแต่อย่างใด เนื่องจากมีการหารือกับผู้ประกอบการที่จะร่วมโครงการแล้ว ซึ่งได้รับยืนยันว่าสามารถจะทำราคาให้ลงมาอยู่ในระดับ 10,900 บาทได้ จากเดิมที่คาดว่าจะลงแค่ 19,000 บาท และโครงการนี้ไม่ได้ปิดกั้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาร่วม เพียงแต่จะต้องประกอบคอมพิวเตอร์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนดไว้ และจะเชิญตัวแทนจากผู้ประกอบการ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) รวมถึงธนาคารออกสินมาหารือความคืบหน้าของโครงการ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 1 เมษายน 2546 หน้า 9)





รถวีลแชร์ฝีมือคนพิการพัฒนาส่งออก

นายณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธานมูลนิธิคนพิการไทย กล่าวว่าโรงงานไทยวีลอยู่ในความดูแลของมูลนิธิคนพิการไทย ทำการผลิตรถเข็นคนพิการโดยแรงงานคนพิการซึ่งจะทราบดีว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน จากนั้นได้ปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด ทำให้ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีแรกผลิตได้จำนวน 322 คัน เพิ่มเป็น 757 คัน และ 989 คันในปีที่สาม จนกระทั่งสามารถส่งออกไปอัฟกานิสถานเป็นรุ่นแรกจำนวน 100 คัน นอกจากนี้ทางมูลนิธิได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้สร้างต้นแบบรถสามล้อโยกไฟฟ้า และเก้าอี้ล้อเลื่อนไฟฟ้าสำหรับคนพิการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยรถวีลแชร์ไฟฟ้าที่สั่งจากต่างประเทศราคาเกินแสนบาท แต่ที่โรงงานไทยวีลสามารถทำได้ในราคาไม่เกิน 30,000 บาท นายสุทธิพงษ์ รัตโนสถ รองประธานมูลนิธิคนพิการไทย กล่าวว่า สหประชาชาติประเมินมีคนพิการร้อยละ 8 ของจำนวนประชากร ในไทยมีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน มีจดทะเบียนถูกต้องประมาณ 400,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนพิการเดินไม่ได้ 50,000 คน มีคนพิการที่ได้วีลแชร์ 10,000 คนเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลสามารถให้รถเข็นคนพิการได้ปีละ 3,000 คัน ตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมูลนิธิจึงรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อผลิตรถเข็นให้คนพิการใช้ สามารถติดต่อได้ที่ (02) 5820897-8 (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 2 เมษายน 2546 หน้า 8 )





ไทยพบกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลก

กล้วยไม้สกุลใหม่นี้ถูกค้นพบโดยคณะนักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย นายปิยเกษตร สุขสถาน นายสันติ วัฒนฐานะ นายเมธี วงศ์หนัก และ น.ส.สุรางค์รัชต์ อินทะมุสิก ซึ่งได้รับทุนการศึกษาวิชาการด้านพฤกษอนุกรมวิธานของไทย โดยกล้วยไม้ที่พบนี้ถือว่าเป็นกล้วยไม้ดินสกุลใหม่ของโลก 1 สกุลที่ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ จากการตรวจสอบตัวอย่างร่วมกับผู้เชี่ยวชาญพันธุ์กล้วยไม้เขตร้อนของโลกรวมทั้งตรวจสอบซ้ำจากผู้เชี่ยวชาญหลายคน และตรวจสอบเทียบกับตัวอย่างกล้วยไม้เขตร้อนชนิดอื่นๆ ของ หอพรรณไม้ที่สำคัญของโลกนานกว่า 3 ปี จึงแน่ใจว่าเป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกจริง สำหรับกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ชนิดที่ 1 คือ Srindhorniapulchlla H.A.Pedersen&Indhamusika พบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตามซอกเขาหินปูนที่ระดับความสูง 1,800 เมตร ส่วนกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ชนิดที่ 2 คือ Sirindhornia mirabills H.A.Pedersen&P.suksathan พบที่ดอยหัวหมุด จ.ตาก ที่ระดับความสูง 1,000 เมตร และชนิดที่ 3 Sirindhornia monophylla H.A.Pedersen&P.Suksathan พบในพื้นที่เดียวกับชนิดที่ 2 และมีการกระจายพันธุ์พบที่รัฐซานสเตท สหภาพเมียนมาร์ที่ระดับความสูง 1,200 เมตร และในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ที่ระดับความสูง 800-1,600 เมตร (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2546 หน้า 8)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215