|
หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 17 ประจำวันที่ 2003-05-20
ข่าวการศึกษา
ปองพล ทึ่งสิ่งพิมพ์ราชการมีดีเพียบสั่งพิมพ์แจกโรงเรียน มหาลัยเริ่มวางกฎการรับน้อง ตีกรอบทดลองคูปองแลกเครื่องเขียน ศธ.เตรียมพร้อมแผนรับเปิดเทอมวอนร.ร.พ่อแม่คุมพฤติกรรมเสี่ยง ติวเข้มครูไอทีพร้อมสอนนร.ไฮเทค ศธ.ตื่นตัววางแผนพัฒนาเด็กปัญญาเลิศ คุมกู้เรียนมหาลัยไม่เฉลี่ยเม็ดเงินเกินไป ทบวงฯ ยันคัด เด็กอัจฉริยะ ไร้เส้นสาย ม.เอกชนโวยลดเงินกู้เรียนไม่เกิน 18%
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เผย จูปีเตอร์ จ้าวแห่งสุริยะจักรวาลตัวจริง สุขาไฮเทค
ข่าววิจัย/พัฒนา
วิศวะฯ มทส.ไอเดียเจ๋งใช้เสียงสั่งเมาส์ครั้งแรกในไทย แนะใช้สมุนไพรรักษาสัตว์เลี้ยงหลีกเลี่ยงสารตกค้าง ช่วยฟื้นฟูป่า นักวิจัยพบยีนเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม พบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ควบคุมเชื้อราโรคพืชได้ดี
ข่าวทั่วไป
กรมศาสนาเดินหน้าละครเวทีไตรปิฎก แห่จองคอมฯเอื้ออาทรล้นศูนย์สิริกิติ์ พิมพ์ประวัติวิทย์ไทย ครม.ให้ลดขั้นตอนติดต่อราชการ 30-50%
ข่าวการศึกษา
ปองพล ทึ่งสิ่งพิมพ์ราชการมีดีเพียบสั่งพิมพ์แจกโรงเรียน
นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การส่งเสริมการใช้สื่อของส่วนราชการเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.( ที่โรงแรมสยามซิตี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า ตามที่ตนได้มอบหมายให้ สกศ.ร่วมกับหอสมุดแห่งชาติไปรวบรวมรายชื่อหนังสือและเอกสารสิ่งพิมพ์จากทุกส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำมาแยกประเภทและแบ่งประเภทกลุ่มว่ามีหนังสือและเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ดีๆ เรื่องใดบ้าง และเมื่อได้คัดกรองแล้วคงเหลือเพียง 1,500 เล่ม จาก 60 หน่วยงาน ซึ่งหนังสือที่คัดเลือกมานั้นส่วนใหญ่มีความหลากหลายในเรื่องของด้านความรู้ต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี่ทาง ศธ.จะมอบให้หน่วยงานในสังกัดนำเนื้อหาของหนังสือและสื่อเอกสารสิ่งพิมพ์เหล่านั้นมาจัดพิมพ์ และแจกจ่ายไปยังสถานศึกษาต่างๆ ต่อไป (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2546 หน้า 20)
มหาลัยเริ่มวางกฎการรับน้อง
รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงนโยบายการจัดรับน้องว่า มข. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ ประจำปีการศึกษา 2546 ไปแล้วว่าต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ อบอุ่น ประทับใจ นำไปสู่ความสามัคคีอันดีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ไม่มีความรุนแรง หรือล่วงละเมิดร่างกายและจิตใจนักศึกษาใหม่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และกิจกรรมทุกประเภทต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และจัดภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทั้งนี้กิจกรรมต้องสิ้นสุดก่อนเปิดเรียนภาค 1 และจัดได้ไม่เกิน 2 วันๆ ละ 4 ชั่วโมง และไม่เกินเวลา 21.00 น. สำหรับรุ่นพี่ที่จะมาเป็นทีมงานต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะ มีคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.25 และผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้นำนักศึกษา รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ. จะไม่ใช้คำว่ารับน้อง แต่จะเป็นการรับเพื่อนใหม่ ดังนั้นกิจกรรมจะเน้นให้รุ่นพี่ส่งต่อความรักความอบอุ่นความปรารถนาดีให้แก่ผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเน้นจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยประชาชน และที่สำคัญอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน ส่วนการรับเพื่อนใหม่นอกสถานที่นั้น ตนยังเห็นว่าการรับเพื่อนใหม่ไม่ได้เลวร้าย ดังนั้นทางมธ.จึงไม่ได้ตั้งป้อมห้ามการรับน้องนอกสถานที่ แต่จะให้ความรู้และคำแนะนำถึงความเหมาะสม เพื่อให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นปัญญาชนความปลอดภัย และความเคารพในสิทธิเสรีภาพ ด้านรศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย กล่าวว่า เราคงไม่สามารถห้ามเด็กไม่ให้จัดรับน้องได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ คือไม่เป็นการทำร้ายจิตใจและร่างกาย ยึดหลักความสามัคคี ความรักในสถาบันเป็นตัวตั้ง และยึดประเพณีที่ดีงาม ให้ความเคารพกันและการมีน้ำใจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ส่วนเรื่องการรับน้องนอกสถานที่ ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตเด็ดขาด (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2546 หน้า 27)
ตีกรอบทดลองคูปองแลกเครื่องเขียน
ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการทดลองใช้ระบบคูปองการแลกเครื่องเขียนว่า ตามที่คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) จะทดลองใช้ระบบคูปองแลกเครื่องเขียนใน 4 จังหวัด คือ กระบี่ กาญจนบุรี น่าน และมหาสารคาม ใน 1,639 โรงเรียน เป็นจำนวนนักเรียน 323,664 คน โดยให้คูปองคนละ 50 บาท เป็นเงิน 11,633,200 บาทนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำขั้นตอนการควบคุมคูปองแลกเครื่องเขียนในระดับ สปช.สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) และสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ (สปอ.) และกิ่งอำเภอ พร้อมทั้งขั้นตอนการเบิกจ่าย รวมทั้งจัดทำรูปแบบคูปองพร้อมทั้งวิธีดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2546 หน้า 27)
ศธ.เตรียมพร้อมแผนรับเปิดเทอมวอนร.ร.พ่อแม่คุมพฤติกรรมเสี่ยง
นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำกรอบซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางต่างๆ ดังนี้ 1.การแต่งกายทุกระดับการศึกษา 2.เรื่องความปลอดภัยต่างๆ 3.การพัฒนาระบบสารสนเทศทางการศึกษาของนักเรียน 4.ระบบการดูแลนักเรียน 5.ระบบการดูแลความปลอดภัย 6.การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 7.การลงโทษนักเรียน ทั้งนี้สถานศึกษา ผู้ปกครอง ควรร่วมมือดูแลส่งเสริมคุ้มครองและแก้ไขปัญหาความประพฤติของนักเรียน นักศึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)
ติวเข้มครูไอทีพร้อมสอนนร.ไฮเทค
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดอบรมครูคอมพิวเตอร์โรงเรียนแกนนำหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศระดับประถมศึกษา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ตามมาตรฐานการเรียนรู้สาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีให้แก่ครูในโรงเรียนดังกล่าว ให้เกิดทักษะและความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอน การอบรมดังกล่าวกระจายจัดตามโรงเรียนที่รับเป็นศูนย์ฝึกอบรม 20 แห่งทั่วประเทศ โดยล่าสุดได้จัดอบรมที่โรงเรียนศรีบุญยานนท์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีครู อาจารย์ จากโรงเรียนแกนนำระดับประถมของสสวท.ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 40 คน ร่วมอบรม
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)
ศธ.ตื่นตัววางแผนพัฒนาเด็กปัญญาเลิศ
ดร.สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเด็กปัญญาเลิศและเด็กผู้มีความสามารถพิเศษว่า เรื่องดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจมากเพราะเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาเลิศโดยตรง ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังมีปัญหาอยู่มากเพราะไม่เคยมีการทำมาก่อน โดยเฉพาะด้านบุคลากรซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยแทบไม่มีบุคลากรด้านนี้เลย ซึ่งจะต้องมีมาตรการพัฒนาบุคลากรด้านนี้อย่างเร่งด่วนในระยะสั้น โดยส่งคนที่มีความเชี่ยวชาญการสอนในไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะต้องมีการจัดการจัดระบบในการค้นหาเด็กปัญญาเลิศ ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบและสามารถติดตามตัวได้ รวมทั้งจัดเวทีให้เด็กปัญญาเลิศได้มีโอกาสในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ซึ่งต้องมีการแต่งตั้งคณะบุคคลเฉพาะกิจที่จะมาดูแลงานด้านเด็กปัญญาเลิศโดยตรง
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2546 หน้า 20)
คุมกู้เรียนมหาลัยไม่เฉลี่ยเม็ดเงินเกินไป
ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดสรรเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2546 ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งได้รับจัดสรรจำนวน 1,066 ล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นว่าการจัดสรรเงินดังกล่าวจะต้องจัดสรรให้ไปถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการมากที่สุดตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตมา และที่ประชุมยังมีมติให้กำหนดจำนวนผู้กู้ยืมรายใหม่ของมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะต้องจัดสรรให้ผู้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ต่อจำนวนนักศึกษาที่เข้าใหม่ เพื่อต้องการให้นิสิตนักศึกษาได้รับเม็ดเงินมากขึ้น และจะได้นำไปใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพและค่าหอพัก เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มใช้กับนักศึกษาที่เข้าใหม่ประจำปี 2546 นี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2546 หน้า 24)
ทบวงฯ ยันคัด เด็กอัจฉริยะ ไร้เส้นสาย
ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการคัดเลือกเด็กอัจฉริยะของทบวงฯไปดูศึกษางานต่างประเทศในปี 2546-2547 รวม 13 รุ่น และนำร่อง 1 รุ่น ที่ประเทศเยอรมนี ในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะนี้ทบวงฯได้เตรียมเชิญผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาร่วมจัดทำเกณฑ์ เช่น นายธวัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธาน ทปอ. นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ ยังมีเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏและอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ร่วมเป็นกรรมการ โดยมอบหมายให้นางฉันทวิทย์ สุชาตานนท์ ผู้ช่วยปลัดทบวงฯ เป็นผู้ประสานงานซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะร่วมกันจัดทำเกณฑ์คัดเลือกเด็กอัจฉริยะจริงๆ ไม่ให้เกิดการใช้เส้นสายตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะส่งรายชื่อของเด็กที่มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกำหนดมาให้ทบวงฯแห่งละ 1% ของจำนวนนักศึกษาในสถาบันนั้นๆ
(มติชน อังคารที่ 20 พฤษภาคม 2546 หน้า 21)
ม.เอกชนโวยลดเงินกู้เรียนไม่เกิน 18%
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายวัลลภ สุวรรณคดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีทบวงมหาวิทยาลัยปรับเกณฑ์กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยให้นักศึกษาใหม่กู้ได้ไม่เกิน 18% ของจำนวนนักศึกษาใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันไปเฉลี่ยให้กู้กับนักศึกษาจำนวนมาก จนนักศึกษาเดือดร้อน เพราะได้เงินไม่ถึง 100,000 บาทต่อปีการศึกษา ว่า ข้อสรุปนี้ไม่รู้ว่าใช้เกณฑ์ใดคิด ควรกำหนดให้ยืดหยุ่น เพราะถ้านักศึกษายากจนเข้าเรียนมาก จะเป็นปัญหา ด้านนายอนันต์ วิศวชาติกุล เลขานุการสำนักงานคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เมือหลายปีก่อนโรงเรียนเอกชนเคยเฉลี่ยเงินให้เด็กกู้ แต่ปัจจุบันไม่มีปัญหานี้แล้วเพราะ ศธ.ทำหนังสือกำชับโรงเรียนให้เด็กได้กู้ครบทั้ง 3 ส่วน คือค่าบำรุงการศึกษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพ แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็มีมาตรการลงโทษถึงขั้นระงับเงินให้กู้ยืม ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2546 ศธ.ได้รับจัดสรรเงินกองทุนสำหรับผู้กู้รายใหม่ 2,014 ล้านบาท คาดว่าจะกู้ได้ราว 1 แสนคน (มติชน อังคารที่ 20 พฤษภาคม 2546 หน้า 15)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เผย จูปีเตอร์ จ้าวแห่งสุริยะจักรวาลตัวจริง
คณะนักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์บริวารของจูปีเตอร์หรือดาวพฤหัสบดีที่ 23 ดวง ส่งผลให้ยอดจำนวนดาวบริวารของดาวเทพเจ้าแห่งสวรรค์ และดินฟ้าอากาศ เพิ่มขึ้นเป็น 112 ดวง มากสุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้ง 9
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2546 หน้า 9)
สุขาไฮเทค
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ในอเมริกา ไมโครซอฟท์กำลังคิดสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในห้องน้ำ จากฝีมือการทำงานของแผนก MSN ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดพกพาที่ผู้ใช้สามารถนำติดตัวไปใช้งานระหว่างปลดทุกข์ได้โดยตั้งชื่อว่า iLoo เป็นอุปกรณ์ไร้สายต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าเว็บไวต์ค้นข้อมูล รับ-ส่งอีเมล ดาวน์โหลดเพลง และสั่งซื้อของทางอินเทอร์เน็ตได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2546 หน้า 16)
ข่าววิจัย/พัฒนา
วิศวะฯ มทส.ไอเดียเจ๋งใช้เสียงสั่งเมาส์ครั้งแรกในไทย
โครงงานโปรแกรมควบคุมเมาส์ด้วยเสียงพูด พัฒนาขึ้นโดย 2 นักศึกษาคนเก่ง นายสมบัติ ทับทิมแดง และน.ส.ฉลวยจิตรรุ่งเรื่อง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้พิการแขนหรือด้อยโอกาสอื่นๆ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้เท่าเทียมคนปกติ เพิ่มช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ผู้ที่สนใจเทคโนโลยีและรักความสะดวกสบายก็สามารถนำไปใช้งานได้เช่นกัน ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการคิดค้นพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมาโดยนำภาษา Visual basic มาพัฒนาโปรแกรมซึ่งง่ายต่อการใช้งานเมนู และคำสั่งเป็นภาษาไทย และสั่งงานผ่านไมโครโฟนที่ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ ขณะนี้มหาวิทยาเทคโนโลยีสุรนารี ได้ดำเนินการจดลิขสิทธิ์ผลงานเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามทางมทส.และทีมผู้พัฒนาโปรแกรมต่างเห็นพ้องกันว่า โปรแกรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง จึงเปิดเป็นฟรีแวร์เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดโปรแกรม และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ htt:/www.sut.th/engineering/telecom ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)
แนะใช้สมุนไพรรักษาสัตว์เลี้ยงหลีกเลี่ยงสารตกค้าง ช่วยฟื้นฟูป่า
จากการศึกษาของ ดร.อุษา กลิ่นหอม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านในการใช้สมุนไพรกับสัตว์เลี้ยง โดยทำการวิจัยการใช้สมุนไพรของชนเผ่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ชนเผ่า พบตำรับยารักษาสัตว์ทั้งสิ้น 619 ตำรับซึ่งมีสมุนไพรทั้งสิ้น 263 ชนิด แต่เมื่อการบริการของภาครัฐเข้าไปสู่ชุมชนทำให้พฤติกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ประชาชนในชุมชนอีสานขาดการพึ่งตัวเองมากขึ้น ปัจจุบันภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป และถ้าไม่มีการทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและรวบรวมความรู้เหล่านี้มา คาดว่าไม่เกิน 10 ปีต่อแต่นี้ไป องค์ความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเหล่านี้จะสูญหายไปจากชุมชนแถบอีสาน ข้อดีของการใช้สมุนไพรร่วมกับการรักษาสมัยใหม่ในสัตว์เลี้ยง ทำให้เจ้าของสัตว์สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้ดีกว่านายสัตวแพทย์ ทั้งนี้การใช้สมุนไพรเป็นการช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้เนื้อสัตว์ที่ใช้บริโภคมีคุณภาพดีขึ้น ไม่มีสารพิษตกค้าง หากส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพรยังสามารถทำให้มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้นภายในชุมชนและท้องถิ่นของตัวเองได้อีกด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2546 หน้า 30)
นักวิจัยพบยีนเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
ดร.แพทริเซีย เบิร์ก หัวหน้านักวิจัย แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้เปิดเผยว่า พวกเขาทำการทดสอบจากตัวอย่างเนื้อเยื่อของคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม 46 คน เขาพบว่า 57 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่างเนื้อเยื่อจากผู้หญิงผิวขาวที่เป็นมะเร็งเต้านม และ 89 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่างเนื้อเยื่อจากผู้หญิงผิวดำที่เป็นมะเร็งเต้านมมียีนบีพี 1 แม้ว่าการทดสอบในคนไข้เพียง 46 คน จะเป็นการทดสอบที่ค่อนข้างจะน้อย แต่ก็มีความสอดคล้องกันเป็นอย่างดีในเรื่องของการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงผิวดำ ดร.แพทริเซีย เบิร์ก ได้วางแผนที่จะทำการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อสังเกตความถี่ในการค้นพบยีนบีพี 1 ในเนื้อเยื่อของผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งเต้านม และพยายามทำการพัฒนาการทดสอบในเลือดต่อไป (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2546 หน้า 30)
พบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ควบคุมเชื้อราโรคพืชได้ดี
นายวาริน อินทนา นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) คณะเกษตรกำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำวิจัยเรื่อง การคัดเลือกและพัฒนาเชื้อรา Trichoderma spp. เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการสังเคราะห์เอนไซม์ glucanase สารต่อต้านเชื้อรา และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชสำหรับใช้ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Pythium spp. โดยมี ผศ.ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยหวังว่าจะหาแนวทางอื่นมาใช้ทดแทนสารเคมีในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช นายวาริน กล่าวว่า จากการค้นคว้าของนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มา มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุดในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งที่จะแสวงหาเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ที่ประสิทธิภาพสูงในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชที่ก่อให้เกิดโรคเน่าระดับดินหรือโรคกล้าเน่า (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2546 หน้า 30)
ข่าวทั่วไป
กรมศาสนาเดินหน้าละครเวทีไตรปิฎก
ดร.กล้า สมตระกูล อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดงานละครเวทีเรื่อง ร่ายพระไตรปิฎก 3 กับ นางภัทราวดี มีชูธน เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางยื่นข้อเสนอให้นางภัทราวดี ทำหน้าที่เขียนบท จัดทำแผ่นซีดีบันทึกการแสดงและโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดแสดงนั้น ทางกรมจะจัดงบฯ สนับสนุน 480,000 บาท โดยจะมีการแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ๆ ละ 240,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีการจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ส่วนงวดที่สองจะจ่ายรอบปฐมทัศน์ ในวันที่ 1 มิ.ย.46
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2546 หน้า 20)
แห่จองคอมฯเอื้ออาทรล้นศูนย์สิริกิติ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 พ.ค.ซึ่งเป็นวันแรกที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดให้จองเครื่องคอมพิวเตอร์สินสมุทร และสุดสาคร ตามโครงการคอมพิวเตอร์ ไอซีทีเพื่อคนไทย จำนวน 1 ล้านเครื่อง โดยจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ สินสมุทร ราคา 10,500 บาท และโน้ตบุ๊ก สุดสาคร ราคา 19,500 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรากฏว่ามีประชาชนสนใจมาก นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า คาดว่าหลังจากปิดรับการจองในวันที่ 31 พ.ค.2546 จะสามารถส่งมอบเครื่องได้เร็วกว่า 45 วัน ปรากฏการณ์ครั้งนี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รู้ว่าหากตั้งราคาขายที่เหมาะสมจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2546 หน้า 13)
พิมพ์ประวัติวิทย์ไทย
ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยว่า ขณะนี้ วว.ได้จัดทำหนังสือประวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยแล้วเสร็จ โดยหนังสือดังกล่าวได้รวบรวมเนื้อหาโดยย่อที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจอย่างง่ายๆว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการที่สำคัญๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนประวัติศาสตร์ของชาติอย่างไรบ้าง ซึ้งเนื้อหาได้เริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดีและอู่ทอง สุพรรณบุรี หรือเมื่อประมาณ 1300 ปีมาแล้ว จนถึงปี 2545 ซึ่งมีการปฏิรูประบบราชการและมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งสถานศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียน การสอนได้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 20 พฤษภาคม 2546 หน้า 15)
ครม.ให้ลดขั้นตอนติดต่อราชการ 30-50%
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนตามที่สำนักงานพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญให้ทุกส่วนราชการลดขั้นตอนและระยะเวลาลง 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยให้มีผลในทางปฏิบัติก่อนเดือนตุลาคมเป็นต้นไปนอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบ 7 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2546-2550) ตามที่ ก.พ.ร.เสนอ ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน 2.การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน 3.การรื้อระบบการเงินและงบประมาณ 4.การสร้างระบบบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่ 5.การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม 6.การส่งเสริมระบบราชการให้ทันสมัย และ 7.การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลดขั้นตอนการบริการประชาชนลง 30-50 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาระบบราชการ หลังจาก 6 เดือนก่อนมีการปรับโครงสร้างระบบราชการมาแล้ว ซึ่งการลดขั้นตอนในการบริหารเพื่อความรวดเร็วตนได้เสนอว่า ข้าราชการจะต้องลดเวลาในการให้บริการประชาชนให้ได้ ถ้าหน่วยงานไหนคิดว่าเร็วอยู่แล้วก็ให้บอกมา แล้วส่วนกลางจะส่งคนไปประเมิน แต่ละหน่วยงานเป็นผู้วางแผนงานการลดขั้นตอนของตัวเอง โดยให้ลดในส่วนที่สามารถทำได้ก่อนจากนั้นค่อยรุกให้ลดขั้นตอนลงทั้งหมด
(มติชน อังคารที่ 20 พฤษภาคม 2546 หน้า 5)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|