หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 18 ประจำวันที่ 2003-05-24

ข่าวการศึกษา

ศธ.ชง4ทางเลือกอุดหนุนศึกษา12ปี
เทคนิคปทุมฯเติมกึ๋นนักศึกษาปั้นเด็ก…ประดิษฐ์ผลงานสมองกล
สถาบันนิติเวชจ่อคิว “นิติบุคคล”
ปลัดทบวงฯชี้อนาคตกู้ยืมเรียนไม่ต้องคืนเงิน
ทบวงของบฯส่งเด็กอัจฉริยะไปนอกแถมเปิดช่องให้เรียน-ทำงานก่อน
วก.ชี้ระบบอี-เลิร์นนิ่งเจอปัญหาลิขสิทธิ์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เข็มฉีดยาอัลตราโซนิค

ข่าววิจัย/พัฒนา

‘งานวิจัยแผ่นเดียว’ มิติใหม่ในการทำผลงานวิชาการของครู
หาช่องดึงวิจัยชีวภาพเป็นทุน
ม.สงขลา แปรไขน้ำมันปาล์มช่วยรถไฟออมพลังงาน
พัฒนาเทคนิคใหม่ในการผลิตวัคซีน

ข่าวทั่วไป

บำรุงสุขภาพด้วยกระเทียม12กลีบเป็นสมุนไพรมีสารพัดประโยชน์
พระเทพฯเสด็จเปิด ‘ว.นอร์ท’ เผย5ปีขึ้นชั้นมหา’ลัยถึงป.เอก
ยกชั้นลิงชิมแปนซีพวกเดียวกับคนมีดีเอ็นเอร่วมกันเกือบ 100%
ซดน้ำชาช่วยให้หายปากเหม็นแถมยังออกหน้าต่อสู้กับโรคฟันผุ
ฉลากอาหารจีเอ็มโอ (1)





ข่าวการศึกษา


ศธ.ชง4ทางเลือกอุดหนุนศึกษา12ปี

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทางการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ว่า ได้ข้อยุติแนวทางการอุดหนุน 4 แนวทาง จะเสนอนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เลือกเร็วๆ นี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ในวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป โดย 4 แนวทางมีดังนี้ 1.อุดหนุน 12 ปี ให้ผู้ปกครองสามารถเลือกรับการอุดหนุนตั้งแต่อนุบาล-ม.ต้น หรือ ป.1-ม.ปลาย 2.อุดหนุน 14 ปี ตั้งแต่ ป.1-ม.ปลาย และอนุบาล 2 ปี ทุกคน คือ อนุบาล 4 ขวบ และ 5 ขวบ หรืออุดหนุน 13 ปี ตั้งแต่ ป.1-ม.ปลาย และอนุบาล 1 ปี คือ 5 ขวบ 3.อุดหนุน 12 ปี ตั้งแต่อนุบาล-ม.ต้น และ ม.ปลาย 3 ปี เฉพาะผู้ที่ยากจน ด้อยโอกาส และ 4.อุดหนุน ป.1-ม.ปลาย และ อนุบาล 2 ปี เฉพาะที่ยากจน (มติชน พฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2546 หน้า 21)





เทคนิคปทุมฯเติมกึ๋นนักศึกษาปั้นเด็ก…ประดิษฐ์ผลงานสมองกล

นายวีระพงศ์ สุคันธารุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี เปิดเผยว่า เรื่องของผลงานของนักศึกษา ที่ทุกคนจะต้องปฏิบัตินั้นทางวิทยาลัยฯได้ยึดถือนโยบายในเรื่องของความเปิดกว้างให้แก่นักศึกษาจะไม่ลงไปจำกัดหรือบังคับให้นักศึกษาเป็นผู้เลือกชิ้นงานที่ตนเองมีความสนใจ โดยทั้งนี้ชิ้นงานนั้นจะต้องเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติทั้งการพัฒนาไปสู่ธุรกิจหรือการตอบสนองต่อสังคมชุมชน การเปิดกว้างนั้นจะเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาได้เข้าใจในปัญหาและใฝ่อยากรู้ผลงานของตนเองที่กำลังทำหรือปฎิบัติเป็นการเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการปฏิรูปการศึกษาดังเช่นผลงานของนักศึกษาใหม่ในเรื่องของ ขวดยาพูดได้ , ตู้โชว์รองเท้าพูดได้ , เครื่องดักยุงจากวัสดุเหลือใช้ , สเกตล้อรถยนต์ นายระพี กล่าวในที่สุดว่า สิ่งประดิษฐ์ผลงานการริเริ่มของนักศึกษาซึ่งมีหลายสาขาวิชาหลายผลงานที่จะพัฒนาไปสู่ระบบในเชิงธุรกิจต่างๆ ได้อย่างสบายๆ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมของอาชีพได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี มุ่งเน้นย้ำให้นักศึกษาที่จะสร้างผลงานหรือ โครงงานนั้นจะต้องเกิดจากความรู้สึกอยากรู้ของนักศึกษามาเป็นอันดับแรกและผลงานที่ร่วมกันทำนี้นั้นจะต้องเป็นงานที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนสามารถพัฒนาในรูปลักษณ์ต่างๆ ได้เพื่อเป็นการสนองตอบต่อชุมชนหรือสังคมส่วนรวมประเทศชาติ ในยุคปฏิรูปการศึกษา นักเรียนนักศึกษาคือจุดศูนย์กลางของการศึกษา และผลงานสิ่งประดิษฐ์โครงงานต่างๆ ที่นักศึกษาร่วมกันคิดค้นขึ้นมานั้น ผู้สนใจสามารถเข้าดูหรือเข้าศึกษาได้โดยทางวิทยาลัยยินดีอย่างยิ่ง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546 หน้า 33)





สถาบันนิติเวชจ่อคิว “นิติบุคคล”

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ กล่าวกรณี ส.ส.แสดงความห่วงใยการเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน เพราะจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมีอำนาจมากและส่วนกลางเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ว่า การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลมีแง่ดี ที่โรงเรียนจะสามารถบริหารงานได้คล่องตัว แต่ไม่ใช่จะอิสระจนทำอะไรก็ได้ เพราะจะมีกรรมการสถานศึกษาคอยควบคุม หากมีความเข้มแข็งก็จะเกิดประโยชน์ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ให้สถานศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษา และกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เป็นนิติบุคคลนั้นส่วนของ กศน.ไม่ได้พูดถึง แต่กรมอาชีวศึกษาจะกำหนดในร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ด้านนายพยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กล่าวว่า ได้มีการกำหนดในร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ให้สถาบันการอาชีวศึกษา 28 แห่งทั่วประเทศเป็นนิติบุคคล ส่วนวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายจะไม่เป็นนิติบุคคลเพราะเกรงว่าจะไม่มีความพร้อมเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การเป็นนิติบุคคลของสถาบันการอาชีวศึกษา ไม่ใช่กฎหมายผ่านที่เป็นนิติบุคคลทันที แต่จะต้องขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และความพร้อมตามที่คณะกรรมการอาชีวศึกษากำหนดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของสถาบัน (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546 หน้า 15)





ปลัดทบวงฯชี้อนาคตกู้ยืมเรียนไม่ต้องคืนเงิน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์เกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และทบวงฯ ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะมีผู้กู้ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงขณะนี้เพียง 3 แสนคน แต่เวลานี้มีถึงกว่า 2 ล้านคนแล้ว ตนจึงอยากให้ผู้บริหารการศึกษาตรวจสอบให้ดีว่าเงินกู้ยืมเรียนได้ไปถึงผู้ที่ต้องการและจนจริงหรือไม่เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด “การช่วยเหลือเด็กที่ยากจนนั้นผมอยากให้มหาวิทยาลัยจัดเป็นแพ็กเกจคือเมื่อเด็กได้เงินกู้ยืมแล้วมหาวิทยาลัยก็ควรที่จะหางานให้เด็กทำระหว่างเรียนด้วย เพื่อเด็กจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และในอนาคตหากมีการศึกษาถึงระบบการบริหารกองทุนแล้วเห็นว่าการให้เงินเปล่าแก่เด็กโดยไม่ต้องเรียกคืนจะมีประโยชน์มากกว่า เราก็อาจจะให้เด็กไปเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวจะไม่มีการย้อนหลังอย่างแน่นอน” ปลัดทบวงฯ กล่าว (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 พฤษภาคม 2546 หน้า 27)





ทบวงของบฯส่งเด็กอัจฉริยะไปนอกแถมเปิดช่องให้เรียน-ทำงานก่อน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาเรื่องแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการที่เหมาะสมในการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเกรงว่าเมื่อรัฐส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษให้ไปดูงานต่างประเทศและกลับมาจะถูกหน่วยงานเอกชนดึงตัวไปทำงาน นั้น ตนไม่ขัดข้องของเพียงแต่ให้ทำงานในประเทศก็พอ และต่อไปมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกับเอกชนในการทำงาน หรืออาจจะเรียกเอกชนว่าเป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งก็ได้ ซึ่งในปี 2546 นี้ทบวงฯ กำลังคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษไปดูงานต่างประเทศ จำนวน 3 รุ่นๆ ละ 30 คน ใช้งบฯประมาณ 20 ล้านบาท และในปี 2547 จะจัดส่งเพิ่มอีก 10 รุ่น โดยได้เสนอของบฯไป 100 ล้านบาท แต่ได้รับอนุมัติมาไม่ถึง 20 ล้านบาท ดังนั้นทบวงฯจะไปเจรจากับสำนักงบประมาณอีกครั้ง ส่วนการดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้น ขณะนี้ตนได้หารือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปบ้างแล้วว่า การเรียนบางส่วนอาจจะต้องเปิดช่องทางให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนก่อน และควรมีตำแหน่งที่สำคัญรองรับด้วย ด้านนายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ไม่ควรแยกเด็กอัจฉริยะออกจากเด็กปกติ เพราะจะทำให้เกิดความแปลกแยก แต่ควรมีชั่วโมงเฉพาะที่ให้เด็กเหล่านี้ได้ใช้ความคิดของตัวเองอย่างเต็มที่ (เดลินิวส์ อังคารที่ 27 พฤษภาคม 2546 หน้า 27)





วก.ชี้ระบบอี-เลิร์นนิ่งเจอปัญหาลิขสิทธิ์

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับนายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ (วก.) เกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งกรมวิชาการจะจัดประเมินนักเรียนชั้น ป.3 , ชั้นป.6 , ม.3 วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษจากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าอังกฤษและเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงเห็นว่า วก.ควรไปปรับปรุงการประเมินผลดังกล่าว โดยให้เพิ่มการประเมินผลวิชาการภาษาอังกฤษเด็กตั้งแต่ระดับชั้น ป.3ว่าควรมีการวางกรอบการประเมินผลใหม่โดยการใช้เครื่องมือหรือระบบไอซีทีที่ทันสมัยและได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ซึ่งขณะนี้วก. ได้จัดทำอีบุ๊คที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้นรวมทั้งสิ้น 364 เล่มแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ จึงเสนอให้วางรูปแบบ e-learning โดยภาพรวมก่อนแล้วจึงทำแต่ละวิชาเพื่อให้ครูใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง (สยามรัฐ อังคารที่ 3 มิถุนายน 2546 หน้า 2)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เข็มฉีดยาอัลตราโซนิค

นักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์แห่ง University of Twente และทีมงาน ได้ทำวิจัยและพัฒนาหาวิธีการที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดในการเคลื่อนย้ายยีนหรือหน่วยถ่ายพันธุ์เข้าไปในเซลล์โดยลดการปนเปื้อนของไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งในผู้ป่วยหลายรายลงมาให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ทำให้มีการรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่าการบำบัดโรคด้วยยีน (Gene Therapies) เกิดขึ้น ซึ่งวิธีการนี้ต้องอาศัยการเคลื่อนย้ายเอายีนที่ต้องการลงไปในเซลล์โดยตรงจึงมีโอกาสอย่างยิ่งที่ไวรัสจะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไปในเซลล์ได้ นอกเหนือไปจากการบำบัดด้วยยีนแล้วเรายังสามารถใช้เทคนิคใหม่นี้นำยารักษาโรคผ่านเข้าไปในเซลล์หรือกระแสโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คลื่นอัลตราโซนิคที่ใช้จะทำให้เกิดฟองอากาศที่มีความดันสูงเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นเองความดันที่เกิดขึ้นก็จะบังคับให้ของเหลวซึ่งอยู่รอบๆ ตัวมันผ่านเข้าไปในฟองอากาศนั้นได้ ซึ่งอาจจะเป็นยารักษาโรคหรือสารละลาย DNA ตามความต้องการของเรา กระแสของฟองอากาศความดันสูงก็จะทำหน้าที่เหมือนกับเข็มฉีดยาที่คอยส่งผ่านยารักษาโรคหรือ DNA เข้าไปในเซลล์โดยตรง (เดลินิวส์ พุธที่ 4 มิถุนายน 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


‘งานวิจัยแผ่นเดียว’ มิติใหม่ในการทำผลงานวิชาการของครู

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 30 ที่ได้กำหนดไว้ว่า “ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา” นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) จึงมีแนวคิดว่า การพัฒนาครูเพื่อให้สามารถประเมินผลการสอนของตนเอง และคิดหาวิธีการหรือนวัตกรรมมาช่วยในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) จึงนำยุทธศาสตร์การวิจัยแบบง่าย หรือที่เรียกว่า “การวิจัยแผ่นเดียว” เข้ามาใช้ โดยการผนึกกำลังระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญจากสำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา และสำนักงานโครงการพิเศษ พร้อมทั้งบุคลากรที่ประกอบด้วยนักวิจัย นักวิชาการศึกษา และศึกษานิเทศก์จากทุกเขตมาร่วมกันพิจารณาคู่มือในการฝึกทดลองการทำวิจัยแผ่นเดียวด้วยตนเอง โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแกนกลางในการพัฒนาคู่มือครูทุกขั้นตอน และทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ยังส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยชี้แนะถึงเส้นทางการพัฒนาครูจากการวิจัยแบบง่ายสู่การทำผลงานทางวิชาการให้อีกด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 21 พฤษภาคม 2546 หน้า 10)





หาช่องดึงวิจัยชีวภาพเป็นทุน

จากการประชุมโต๊ะกลมเรื่องการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นทุน จัดโดยศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวิภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นางดรุณี เอ็ดเวิร์ส รอง ผอ.ไบโอเทค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์นั้นสามารถนำไปขอกู้เพื่อการลงทุนได้แล้ว ทางไบโอเทค เห็นว่าขณะนี้มีงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพมากกว่า 30 รายการ ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วและอีก 300 รายการ ที่ค้นคว้าวิจัยแล้ว ก็น่าจะนำไปขยายการลงทุนให้เป็นธุรกิจชีวภาพได้เนื่องจากที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องช่องทางการลงทุน ซึ่งในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ ไบโอเทคจะร่างเกณฑ์การนำทรัพย์สินทางปัญญาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเสนอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องให้เอกชนสามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ โดยจะขอให้ใช้สิทธิบัตรอนุสิทธิบัตรไปใช้ค้ำประกันการขอกู้เงิน พร้อมทั้งกำหนดแผนการทำธุรกิจ ส่วนที่เป็นห่วงว่าจะนำภูมิปัญญาชาวบ้านไปหาประโยชน์นั้น เกณฑ์ที่ร่างขึ้นจะคุ้มครองภูมิปัญญาไม่ให้ได้รับผลกระทบ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2546 หน้า 15)





ม.สงขลา แปรไขน้ำมันปาล์มช่วยรถไฟออมพลังงาน

คณะวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร ดร.วรวุธ วิสุทธ์เมธากูร ดร.ผกามาศ ประยืนยง และดร.สุกฤทธิรา รัตนวิไล ได้ร่วมกันวิจัยการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล และทดลองใช้ในรถจักรดีเซล ของรถไฟแห่งประเทศไทย โดยได้เริ่มทดลองใช้จริง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ด้วยรถจักรดีเซลกับขบวนรถไฟที่ 175/176 สายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก รวมระยะทางไป กลับ 428 กิโลเมตร โดยใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ 400 ลิตร แต่ละครั้งจะใช้ได้ 2 วันครึ่ง คณะวิจัยเฝ้าทนรอการทดสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจและยังช่วยลดมลภาวะลงได้มาก (สยามรัฐ จันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)





พัฒนาเทคนิคใหม่ในการผลิตวัคซีน

นักศึกษา คปก.พัฒนาเทคนิคการผลิต “วัคซีนหน่วยย่อย” ที่ใช้เฉพาะส่วนของเชื้อที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน แทนการฉีดด้วยตัวเชื้อแบบเก่าที่มีปัญหาเชื้อกลายพันธุ์และอาการอักเสบหรือเป็นพิษ ขณะนี้กำลังพัฒนาเทคนิคที่จะให้วัคซีน 1 เข็มป้องกันได้หลายๆ โรค นายอรรถชัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาวัคซีนหน่วยย่อยในรูปอนุภาคไขมันขนาดเล็กสำหรับสัตว์” โดยมี ศ.ดร.สมพล ประคองพันธ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อหาเทคนิคการผลิตวัคซีนหน่วยย่อยที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเลือกที่จะศึกษาโรคระบาดในไก่ซึ่งมีชื่อว่า “โรคนิวคาสเซิล” ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่สร้างความสูญเสียกับอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ทั่วโลก ซึ่งการเตรียมวัคซีนหน่วยย่อยครั้งนี้ เป็นการเตรียมวัคซีนในรูปอนุภาคไขมันขนาดเล็ก 2 ชนิด ซึ่งเรียกว่า “ไวโรโซม” และ “อิสคอม” (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2546 หน้า 30)





ข่าวทั่วไป


บำรุงสุขภาพด้วยกระเทียม12กลีบเป็นสมุนไพรมีสารพัดประโยชน์

รศ.พร้อมจิตต์ ศรลัมภ์ รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า กระเทียมเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานในหัวกระเทียม มีสารเป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ น้ำมันหอมระเหย วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซึ่งน้ำมันหอมระเหยมีสารที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบอยู่หลายชนิด ทำให้กระเทียมมีกลิ่นรุนแรง ส่วนสารสำคัญในกระเทียมคือ อาลิอิน ถ้าหากหั่นกระเทียม ความร้อนหรืออากาศ จะทำให้เอนไซม์ในกระเทียมจะย่อยสลายอาลิอินให้เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรคหวัดอาการไอ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เพิ่มขึ้น (ไทยรัฐ พุธที่ 21 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)





พระเทพฯเสด็จเปิด ‘ว.นอร์ท’ เผย5ปีขึ้นชั้นมหา’ลัยถึงป.เอก

นายรุ่งโรจน์ เกตุผึ้ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ (North Bangkok College) เปิดเผยในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จฯเป็นประธานเปิดวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพอย่างเป็นทางการ โดยมีนายประเสริฐ ประวัติรุ่งเรือง อธิการบดี นายสมชอบ ไชยเวช นายกสภาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษาเฝ้าฯรับเสด็จ ทั้งนี้ วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพเป็นสถาบันในเครือสถาบันสยามและภาษาและโรงเรียนอาชีวเอกชนเอสแบค โดยเปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาต่อเนื่อง 2 ปี มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 ใน 2 คณะคือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) และคณะบริหารธุรกิจ ปัจจุบันมีนักศึกษา 2,500 คนและในปีการศึกษา 2546 นี้ วิทยาลัยได้ตั้งเป้ารับนักศึกษาปริญญาตรี 2,000 คน ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเข้าสมัครเรียนกว่า 2,000 คนแล้ว นอกจากนี้ ยังได้เปิดรับหลักสูตรปริญญาโท 2 สาขาคือ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริหารธุรกิจซึ่งกำลังเปิดรับนักศึกษาอยู่ และในอนาคตมีแผนจะเปิดสอนถึงปริญญาเอก และภายใน 5 ปี จะยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยด้วย (มติชน พฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2546 หน้า 20)





ยกชั้นลิงชิมแปนซีพวกเดียวกับคนมีดีเอ็นเอร่วมกันเกือบ 100%

ความคิดเห็นใหม่นี้เป็นของคณะนักวิจัยวิทยาลัยแพทย์มหาวิทยาลัยเวย์นสเตทของสหรัฐฯ เรียกร้องให้จัดลิงชิมแปนซี รวมอยู่ในอันดับประเภทสิ่งมีชีวิตชั้นโฮโม ซาเปียน ที่เคยมีแต่มนุษย์อยู่พวกเดียวเท่านั้น ไว้อีกหนึ่ง มอริส กูดแมน หัวหน้าคณะอ้างว่า “มนุษย์กับลิงชิมแปนซี มีดีเอ็นเอร่วมกันอยู่มากถึง 99.4% แท้จริงแล้วมนุษย์เราเหมือนถูกดัดแปลงมาจากพวกลิงไม่มีหาง ที่มีวิวัฒนาการสูงอย่างลิงชิมแปนซีมาเพียงหน่อยเดียวเท่านั้น” และบอกเสริมว่า คนกับลิงชิมแปนซี เพิ่งวิวัฒนาการมาแยกห่างออกจากกันเมื่อสัก 5-6 ล้านปีมานี้เอง (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)





ซดน้ำชาช่วยให้หายปากเหม็นแถมยังออกหน้าต่อสู้กับโรคฟันผุ

นักจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัยอินดีเพนเดนท์ เพซ ของสหรัฐฯ ได้รายงานผลการค้นพบ ในที่ประชุมของสมาคมนักจุลชีววิทยาแห่งอเมริกา “เราได้พบว่าชามีตัวยาที่ทำลายเชื้อโรคได้ ดังนั้น ถ้าหากการดื่มชาช่วยบำรุงภูมิคุ้มกันโรคไปพร้อมกับทำลายล้างเชื้อโรคลงได้มันก็ยิ่งวิเศษ” นักวิจัยได้ศึกษาทั้งชาดำและชาเขียว แต่เห็นว่าสารคาเฟอีนของชาเขียวสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีกว่า ส่วนชาที่ถูกสกัดคาเฟอีนทิ้งยิ่งหมดฤทธิ์เลย นักวิจัยได้ศึกษาสารโพลีฟีนอลที่มีอยู่ในชาอีกอย่างหนึ่ง และพบว่า มันมีสรรพคุณยับยั้งเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก “นอกจากจะช่วยกดเชื้อโรคในปากไม่ให้เติบโตแล้ว ชาดำกับสารโพลีฟีนอลยังอาจช่วยรักษาสุขภาพของปากฟัน โดยฆ่าฤทธิ์สารประกอบที่ทำให้ปากเหม็นซึ่งเชื้อโรคสร้างขึ้นด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)





ฉลากอาหารจีเอ็มโอ (1)

กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545 เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 โดยประกาศดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2546 บังคับใช้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช 2 ชนิด คือ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมก่อน ที่บังคับใช้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืชทั้ง 2 ชนิดก่อนเนื่องจากมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายและบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215