|
หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 2003-06-03
ข่าวการศึกษา
เผย24คนเก่งคณิตชิงแชมป์นานาชาติ ทบวงฯปฏิรูปข้อสอบเอนทรานซ์ จาตุรนต์ เซ็งศธ.ตีโจทย์นายกฯไม่แตกชะลอถกเงินอุดหนุน12ปี ชำระตำราประวัติศาสตร์ไทย-เขมร น.ศ.ต่างชาติแห่เรียนไทยเพิ่ม/ทำเงิน2.5พันล.-เอแบค ยอดฮิต กทม.-เซเว่นฯ ปั้นร.ร.รักการอ่าน/ยอมรับมี ผอ. เมิน-สนใจแต่นิยาย เด็กร.ร.ราษฎร์เอนท์ติด 62% สมัคร 9,646 คนสอบผ่าน 6พัน ลดเกณฑ์ครูสอนภาษา เปิดเทียบโอนวุฒิสอน หนุนพัฒนาไทยสู่ศูนย์การศึกษา ร.ร.ขานรับเลิกประกันอุบัติเหตุ น.ร. พบเด็กบกพร่องการเรียนรู้ 5-6% วก. จับมือเอกชนทำคู่มือดูแล สช.สำรวจเอกชนดังเมินลอยตัว/ร.ร.ลูกนายฯยังรับเงินอุดหนุน
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
คนต้องคุมกำเนิดประชากร ปลาในน้ำพลอยต้องรับกรรม แหล่งก๊าซ ภูฮ่อม จุดประกายภาคอีสานโชติช่วงปริมาณสำรองสนองโรงไฟฟ้าน้ำพองได้ 30 ปี เปิดศักราชใหม่พิชิตดาวอังคาร ส่งยานไปค้นหาชีวิตใหม่ ยาใหม่กำราบมะเร็งให้ชะงักงัน ใช้วิธีตัดอาหารให้เนื้องอกอด วท.ตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ พร้อมสร้าง หอดูดาวแห่งชาติ สมาคมวิทย์ผนึกกองสลากจัดงานแข่งขันนวัตกรรม ไบโอเทคจัดงาน ไบโอเทคแลนด์ 2003 โชว์ผลงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
ข่าววิจัย/พัฒนา
ชู กล้วยไม้ นำร่องทุนชีวภาพ ญี่ปุ่นเตรียมวิจัยข้าวไทยผลิตสาเก ก.วิทย์ปลื้มคนแห่ซื้อนวัตกรรมประมูลงานวิจัยไทยนำไปใช้งาน ผลวิจัยเผย งานบ้าน ป้องกัน มะเร็ง วิจัยชี้สาวท้อง กินมาก ได้ลูกชาย นักวิจัยไทยเร่งจดสิทธิบัตรเสารับสัญญาณ 3 จี แทะข้าวโพดสุกล้างพิษในร่างกาย มข.จับมือเอกชนตั้งศูนย์วิจัยจระเข้ ค้นพบยีนข้าวเหมือนธัญพืชอื่น 50% การฟอกเยื่อกระดาษโดยวิธีทางชีวภาพ
ข่าวทั่วไป
ระวังถูกตัดขาเตือนคนเบาหวานนวดเท้าตามร้าน เตือนภัยไวรัสคอมตัวใหม่ป่วน บั๊กแบร์. บี เบิกทางโจรกรรมข้อมูล ตะลึงไทยนำเข้าสารพิษเพิ่มเท่าตัว หมอโรคตา ไทยคว้ารางวัลระดับโลก กองสลากหนุนกองทุนการศึกษาสำหรับคนพิการ ทักษิณ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ทอดมันใน สธ. บอแรกซ์ เพียบ
ข่าวการศึกษา
เผย24คนเก่งคณิตชิงแชมป์นานาชาติ
ศธ.นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยถึงผลการสอบคัดเลือกนักเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ ระดับประถมศึกษาครั้งที่ 1 พ.ศ.2546 หรือTEMIC (Thailand 1 st Elementary Mathematics International Contest 2003) ระหว่างวันที่ 5-11 ก.ย.2546 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนักเรียนสมัครเข้าสอบรวม 965 คน (สยามรัฐ เสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2546 หน้า 7)
ทบวงฯปฏิรูปข้อสอบเอนทรานซ์
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การสร้างข้อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2547 ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกข้อสอบเพื่อการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานอกจากจะต้องมีความเสมอภาค เป็นธรรม โปร่งในและสามารถตรวจสอบได้แล้ว ข้อสอบเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการพัฒนาประเทศและมีความสามารถในเชิงสหวิทยาการ และที่สำคัญต้องสามารถคัดเด็กที่มีความสามารถได้ตรงและสอดคล้องกับความต้องการของสถาบันอุดมศึกษาและความต้องการของบุคลากรของประเทศมากที่สุด ซึ่งข้อสอบในปัจจุบันก็มีแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ได้วัดที่ความจำแต่เพียงอย่างเดียว แต่ข้อสอบจะเน้นไปที่การวัดความเข้าใจ ความสามารถในการประยุกต์ ความสามารถในการประเมิน การวิเคราะห์ หรือการสังเคราะห์ของผู้สอบมากขึ้น
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม 2546 หน้า 24)
จาตุรนต์ เซ็งศธ.ตีโจทย์นายกฯไม่แตกชะลอถกเงินอุดหนุน12ปี
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ว่า ได้พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ มอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับไปทบทวน และหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วนำกลับมาเสนอใหม่คราวหน้าซึ่งจากโจทย์ที่ ศธ.ได้รับจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการเปลี่ยนแปลงอุดหนุนการศึกษา 12 ปี จาก ป.1-ม.ปลายเป็นอนุบาล-ม.ต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรและโดยเฉพาะที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการอุดหนุนใหม่ จากเดิมที่ให้อย่างทั่วถึงและเท่าๆ กัน มาเน้นช่วยคนจนให้มากขึ้น รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศในที่ประชุม นายจาตุรนต์ไม่พอใจที่ ศธ.เตรียมข้อมูลไม่สมบูรณ์และไม่ตรงกับโจทย์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้ไว้ คือ ต้องการอุดหนุนระดับอนุบาลถึง ม.ต้น และอุดหนุน ม.ปลาย 50% เฉพาะเด็กที่ยากจนและเก่งโดยมอบให้ศธ.หารูปแบบ กลวิธี ตัวเลขงบประมาณตลอดจนการปรับปรุงแนวทางการอุดหนุนโรงเรียนเอกชนและแนวทางการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพแต่ ศธ.เสนอข้อมูลไม่สมบูรณ์ ซึ่งเรื่องนี้คุณหญิงกษมากล่าวยอมรับในที่ประชุมว่า ข้อเสนอของ ศธ.อาจเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับโจทย์นัก เพราะข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากกำลังทำวิจัยอยู่ และอยากทราบความคิดเห็นในที่ประชุมเพื่อจะได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม (มติชน ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 20)
ชำระตำราประวัติศาสตร์ไทย-เขมร
นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทยกับกัมพูชาทางด้านการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้ลงนามความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศโดยไทยจะสนับสนุนกัมพูชา เช่นให้ส่งครูอนุบาลมาเข้ารับการอบรมความรู้ที่สถาบันราชภัฏสุรินทร์และบุรีรัมย์ จะมีกิจกรรมเข้าค่ายมิตรภาพร่วมกันทั้งครูและนักเรียน คัดเลือกครูและนักเรียนกัมพูชาเข้ารับการอบรมที่วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี จ.สระแก้ว รวมทั้งขอให้กัมพูชาส่งอาจารย์มาช่วยอบรมให้ความรู้ในหลักสูตรกัมพูชาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ เช่น สถาบันราชภัฏสุรินทร์ นอกจากนี้จะมีความร่วมมือในการยกร่างตำราประวัติศาสตร์ร่วมกัน โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา โดยอาจจะทำในนามองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งอาเซียน เช่นเดียวกับการจัดทำตำราประวัติศาสตร์ไทย-พม่า โดยจะมอบให้สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรกัมพูชาศึกษารับเป็นผู้ดำเนินการ
(มติชน ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 20)
น.ศ.ต่างชาติแห่เรียนไทยเพิ่ม/ทำเงิน2.5พันล.-เอแบค ยอดฮิต
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาไทยในปีการศึกษา 2545 ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ มีทั้งสิ้น 4,343 คนโดยนักศึกษาจีนนิยมมาเรียนมากสุด 946 คน รองลงมาเวียดนาม 619 คน พม่า 380 คน อินเดีย 246 คน และญี่ปุ่น 191 คน โดยสถาบันที่นิยมเรียนมากที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) 1,779 คน คิดเป็น 41% มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ (ประเทศไทย) 317 คน คิดเป็น 7.3% มหาวิทยาลัยมหิดล 264 คน คิดเป็น 6.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 147 คน คิดเป็น 3.4% และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 131 คน คิดเป็น 3.0% โดยสาขาที่นิยมเรียนมากที่สุด 5 อันดับ เรียงกันดังนี้ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ ธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ทั้งนี้ได้นำเงินตราเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 2,171 ล้านบาท และสำหรับปีการศึกษา 2546 นี้ มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,962 คน คาดว่าจะนำรายได้เข้าประเทศ 2,481 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2547 มีนักเรียนต่างชาติติดต่อประสงค์เข้ามาเรียนแล้ว 5,650 คน คาดว่าจะนำเงินเข้าประเทศ 2,825 ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 20)
กทม.-เซเว่นฯ ปั้นร.ร.รักการอ่าน/ยอมรับมี ผอ. เมิน-สนใจแต่นิยาย
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับบริษัท ซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) จัดประชุมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ 431 แห่ง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์โรงเรียนรักการอ่านปี 2546 ทั้งนี้ นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า การสร้างนิสัยรักการอ่านเป็นกิจกรรมในการปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้เด็กไทยทันต่อโลก ซึ่งโรงเรียนจะเป็นฐานสำคัญที่สุดที่ต้องทำให้การอ่านเป็นนิสัยให้ได้ และยอมรับว่าผู้บริหารโรงเรียนบางคนไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับการอ่าน ในหนึ่งปีอ่านหนังสือเพียงแค่เล่มเดียวคือ เรื่องนวนิยาย อย่างเกร็ดมรกต หรือหมอลำซัมเมอร์ พอถามถึงข่าวหรือความเคลื่อนไหวของสังคม ตอบไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าถามว่าละครเรื่องนี้ถึงตอนไหนแล้วกลับตอบได้เป็นฉากๆ ดังนั้นแต่นี้ไปผู้บริหาร ต้องอ่านมากขึ้นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น เพราะการอ่านสามารถเพิ่มความรู้ความก้าวหน้า และว่า มีคำถามเมื่อปีที่แล้วโรงเรียนได้รับป้ายให้เป็นโรงเรียนรักการอ่านมีแค่ 60 โรงเรียน แต่โรงเรียนที่เหลือกว่า 300 โรงเรียน ทำไมถึงไม่ได้รางวัล จึงอยากให้ปีนี้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทุกโรงเรียนได้ปฏิบัติงานให้ผ่านเกณฑ์โรงเรียนรักการอ่านทั้ง 431 โรง (มติชน เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
เด็กร.ร.ราษฎร์เอนท์ติด 62% สมัคร 9,646 คนสอบผ่าน 6พัน
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีนโยบายให้กรมที่มีสถานศึกษาในสังกัด ได้สำรวจและรายงานผลการดำเนินงานส่งเสริมการใช้ผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือเอ็นทรานซ์นั้น สำนักคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้รวบรวมข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากสถานศึกษาเอกชนในปีการศึกษา 2545 ปรากฏว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาระดับดังกล่าวจากโรงเรียนเอกชน 9,646 คน ที่สมัครสอบเอ็นทรานซ์ประจำปีการศึกษา 2546 และสามารถสอบติดถึงจำนวน 6,024 คน คิดเป็น 62.45% ซึ่งเป็นผลงานที่น่าพอใจ
(มติชน เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
ลดเกณฑ์ครูสอนภาษา เปิดเทียบโอนวุฒิสอน
นางเนตรปรียา ชุมไชโย รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าจากการประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ศธ. โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อหรือโรงเรียนสองภาษา ว่าได้พิจารณาถึงระเบียบกำหนดให้ต้องเป็นครูเจ้าของภาษา แต่ในกรณีของครูที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาจะต้องเป็นผู้มีความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษๆได้เหมือนเจ้าของภาษา โดยผ่านการทดสอบโทเฟล 550 คะแนน โทอิก 600 คะแนน และไอเอล 5.5 โดยให้ใช้หลักสูตรการทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษกับสถาบันภาษาที่ ศธ.รับรองได้ (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
หนุนพัฒนาไทยสู่ศูนย์การศึกษา
นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสงเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติและมีมาตรฐานสากล และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิชาการอันนำไปสู่การส่งเสริมนโยบายการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ และขณะนี้ ศธ. มีโรงเรียนเครือข่ายคุณภาพและมีความเสมอภาคขององค์กร ซีมีโอโรงเรียนเครือข่ายโครงการความเข้าใจอันดีระหว่างชาติยูเนสโก โรงเรียนสมาชิกโครงการพี่น้องของเอเปกอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว บุคลากรผู้สอนและนักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
ร.ร.ขานรับเลิกประกันอุบัติเหตุ น.ร.
นายธำรงค์ แพรนิมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กล่าวกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ทบทวนการเก็บค่าประกันอุบัติเหตุนักเรียน เนื่องจากซ้ำซ้อนกับโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคว่า ทางโรงเรียนเคยหารือเช่นกันว่าจะยกเลิกหรือไม่ เพราะมีโครงการ 30 บาทอยู่แล้ว แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าระบบที่ใช้อยู่สะดวกมากกว่า เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุสามารถส่งโรงพยาบาลที่ปลอดภัยที่สุด ขณะที่โครงการ 30 บาท ต้องส่งสถานีอนามัยเริ่มต้นก่อนทำให้ล่าช้า และที่ผ่านมาได้สื่อสารกับผู้ปกครองตลอดว่าเมื่อเด็กเข้ารักษาโรงพยาบาลแล้วให้นำใบเสร็จมาเบิกกับกรมธรรม์ แต่ในทางปฏิบัติยอมรับว่าอาจเป็นไปได้ที่ผู้ปกครองบางรายอาจไปใช้โครงการ 30 บาท ซึ่งก็พร้อมจะทบทวนในภาคเรียนหน้า หากเห็นว่าซ้ำซ้อนกัน
(มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2546 หน้า 20
พบเด็กบกพร่องการเรียนรู้ 5-6% วก. จับมือเอกชนทำคู่มือดูแล
นายประพันธ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ (วก.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลนักวิชาการได้ประมาณการว่าในปัจจุบันมีเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้หรือเรียกว่าแอลดี (Learning Disability) อยู่ในโรงเรียนประมาณร้อยละ 5-6 ส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้นประถมศึกษา โดยจะแสดงความบกพร่องในการแปลข้อมูลที่สมองไม่สามารถเรียนรู้และนำออกมาใช้ในการเขียน การอ่าน การสะกดคำ และการคำนวณได้ ทางกรมวิชาการจึงได้ร่วมกับสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพคลีเอทีฟเบรน และองค์การค้าของคุรุสภา จัดทำคู่มือครูและผู้ปกครองสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ โดยคู่มือมี 4 เล่ม คือ คู่มือสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้การอ่าน สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ความจำ และสำหรับเด็กสมาธิสั้น ทั้งนี้ สามารถแจกให้กับโรงเรียนได้เพียงบางส่วน เพราะขาดงบประมาณ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2546 หน้า 20)
สช.สำรวจเอกชนดังเมินลอยตัว/ร.ร.ลูกนายฯยังรับเงินอุดหนุน
นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า จากการส่งแบบสอบถามเรื่องการขอรับเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ไปยังโรงเรียนเอกชนยอดนิยมทั้งสายสามัญและอาชีวะในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด 475 แห่ง ตอบมาแล้ว 205 แห่ง มี 197 แห่งหรือร้อยละ 96.10 ยังขอรับเงินอุดหนุน โดยโรงเรียนดังที่ผู้ปกครองค่อนข้างมีฐานะร่ำรวย แต่ยังขอรับเงินอุดหนุนอยู่มีจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ราชินี เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนมาแตร์เดอี ที่ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ลูกสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อปี (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2546 หน้า 20)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
คนต้องคุมกำเนิดประชากร ปลาในน้ำพลอยต้องรับกรรม
นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบผลกระทบจากการคุมกำเนิดของมนุษย์ เป็นเหตุให้สารของยาคุมกำเนิดรั่วไหลลงไปในน้ำ ทำให้เชื้อปลาตัวผู้ฝ่อลง พวกปลาพลอยถูกคุมกำเนิดไปด้วย แพร่พันธุ์น้อยลง อาจทำให้ปลาที่ถูกจับได้มีจำนวนลดลง เป็นเหตุให้อาหารของชาวโลกขาดแคลนลดน้อยลงได้ นักวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการแห่งชาติกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานว่า สารตกค้างของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนเล็กๆ น้อยๆ ตามแม่น้ำลำคลองอาจจะก่อผล ให้เชื้อของปลาเรนโบว์เทราท์ตัวผู้ฝ่อ ตามที่บางแห่งสูงถึงขนาดครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ออกฤทธิ์กระทบกับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือกบ เป็นที่น่าห่วงใยว่าอาจเป็นอันตรายกับการแพร่พันธุ์ของปลาตามธรรมชาติ (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
แหล่งก๊าซ ภูฮ่อม จุดประกายภาคอีสานโชติช่วงปริมาณสำรองสนองโรงไฟฟ้าน้ำพองได้ 30 ปี
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน เดินทางไปที่แหล่งก๊าซธรรมชาติภูฮ่อม 3 พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เทือกเขาภูพาน เขตป่าสงวนแห่งชาติปะโค-พันดอน ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ของบริษัท อเมริดา เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด น.พ.พรหมินทร์กล่าวว่า เคยมีการศึกษาแหล่งภูฮ่อมมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน แต่ด้วยเทคโนโลยีขณะนั้นเห็นว่าปริมาณก๊าซยังไม่เหมาะสมเชิงพาณิชย์แต่วันนี้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยจึงพบปริมาณก๊าซมากขึ้น เพียงพอที่จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง 2 เครื่อง เบื้องต้นพบว่าใช้งานได้กว่า 30 ปี และจะขุดสำรวจอีก 2 หลุม โดยการพบก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ทำให้รู้ว่าภาคอีสานคือขุมพลังงานที่จะเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาขุดสำรวจอีก น.พ.พรหมินทร์กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญกำลังคำนวณปริมาณก๊าซ เบื้องต้นประมาณการว่าหลุมภูฮ่อม 3 มี 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อไปจะพิจารณาแผนการเดินท่อก๊าซไปที่โรงไฟฟ้าน้ำพองระยะทางประมาณ 50-60 กิโลเมตร ซึ่งจะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2548
(มติชน เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 10)
เปิดศักราชใหม่พิชิตดาวอังคาร ส่งยานไปค้นหาชีวิตใหม่
นักวิทยาศาสตร์จะส่งยานอวกาศ มาร์ส เอกซเพรสส์ เดินทางจากสนามจรวดไบโคนูร์ของรัสเซีย ให้ออกเดินทางไปตอนต้นสัปดาห์นี้ ในขณะที่ก็อดหวั่นกันไม่ได้ว่าการเดินทางจะล้มเหลวอีก เหมือนกับยานสำรวจลำก่อนๆ ซึ่งเคยส่งมาก่อนหน้าประมาณ 20-30 ลำแล้ว ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการนายเดวิด เซ้าธ์วุ้ด กล่าวบอกว่า หากเทียบเหมือนกับเราเป็นกะลาสีเรือ ผมคิดว่า เราก็อดรู้สึกหวั่นเมื่อต้องเดินทางไปยังดาวอังคารไม่ได้ ยานอวกาศ มาร์ส เอกซเพรสส์ มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านบาท จะใช้เวลาเดินทางไปถึงดาวอังคารนาน 6 เดือน เมื่อไปถึงจะได้ปล่อยยานสำรวจให้ค่อยๆ ร่อนลงสู่พื้นด้วยบอลลูน หากว่ามันปฏิบัติงานได้ มันจะสามารถรายงานข้อมูลผ่านทางยานอวกาศกลับมายังโลกอยู่ได้เป็นเวลานาน 6 เดือน นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งความหวังไว้ว่า มันอาจจะบอกให้รู้ได้ว่าเคยมีชีวิตอยู่บนโลกเพื่อนบ้านสีแดงดวงนี้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกอันสำคัญของการส่งมนุษย์เดินทางไปสำรวจดาวอังคารด้วยตนเอง ที่คาดไว้ว่าอีกประมาณ 20-25 ปีข้างหน้านี้
(ไทยรัฐ วันพุธที่ 4 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
ยาใหม่กำราบมะเร็งให้ชะงักงัน ใช้วิธีตัดอาหารให้เนื้องอกอด
คนไข้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีอาการอยู่ในขั้นสุดท้าย เมื่อได้รับยาใหม่นี้ นอกจากตัวยาเคมีปกติสามารถมีชีวิตยืนยาวโดยเฉลี่ยได้นาน 20.3 เดือน เทียบกับคนไข้ซึ่งรักษาด้วยตัวยาเคมีตามปกติ ซึ่งจะมีชีวิตยืนโดยเฉลี่ยได้แค่ 15.6 เดือน กล่าวได้ว่ามันช่วยให้คนไข้ได้ยืดอายุออกไปได้อีก 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น มันยังช่วยสกัดไม่ให้เนื้อร้ายเติบโต และกลับหดเล็กลงด้วย ดร. วิลเลียม ลี ผู้อำนวยการมูลนิธิปราบโรคมะเร็งในสหรัฐฯ ได้กล่าวในที่ประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื้องอกของอเมริกาว่า สรรพคุณของยานับว่าน่าสนใจมาก และนับว่าวิธีการรักษามะเร็งด้วยการตัดไม่ให้มีอาหารไปเลี้ยง โดยป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดงอก เพิ่งได้รับการรับรอง แต่วิธีนี้ไม่ได้รักษาให้หาย เพียงแต่ช่วยยืดอายุของคนไข้ออกไปเท่านั้น
(ไทยรัฐ วันพุธที่ 4 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
วท.ตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ พร้อมสร้าง หอดูดาวแห่งชาติ
นายสันทัด สมชีวิตา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ วท.ได้พิจารณาโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตามที่ รศ.ดร.ประสาท สืบค้า คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอต่อ วท. เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากตรงกับวโรกาสเฉลิมฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย วันที่ 18 ต.ค. 2547 อีกทั้งเชื่อว่าหากมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเกิดขึ้น จะสร้างประโยชน์ต่อวงการดาราศาสตร์ไทย ทั้งในด้านการศึกษา การค้นคว้าวิจัย ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และเป็นแหล่งบริการประชาชนในการติดตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ รูปแบบของสถาบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นหน่วยงานในกำกับของ วท. หรือเป็นองค์การมหาชน ส่วนงบประมาณเบื้องต้นตั้งวงเงินไว้ทั้งสิ้น 300 ล้านบาท สำหรับปี 2547-2550นี้ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 4 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
สมาคมวิทย์ผนึกกองสลากจัดงานแข่งขันนวัตกรรม
รศ.ดร.กำจัด มงคลกุล นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการประกวด นวัต-กรรม หรือ Thailand Innovation Award ประจำปี 2546 ได้เริ่มเปิดรับสมัครมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้ว่า จะต้องเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2545 ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน สามารถสมัครเดียวหรือกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องศึกษาในสาขาที่สมัคร โดยนักศึกษาที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเวบไซต์ www.tiacompetition.org จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันแต่ละสาขาจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พร้อมทุนการศึกษามูลค่า 1 แสนบาท และยังได้รับโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อและดูงานในต่างประเทศอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
ไบโอเทคจัดงาน ไบโอเทคแลนด์ 2003 โชว์ผลงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เตรียมจัดงาน ไบโอเทคแลนด์ 2003 ภายใต้แนวคิดเทคโนโลยีเพื่อชีวิต รวบรวมผลงานสุดยอดของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาจัดแสดง นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงานไบโอเทคแลนด์ 2003 จะเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งในปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และงานนี้จะเป็นเวทีในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้งานวิจัย และวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ระหว่างนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือและพัฒนาให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยถึงรายละเอียดของงานว่า ในส่วนของการสัมมนาทางวิชาการ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทย โดยต้องการที่จะเน้นให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนทำวิจัยในประเทศไทย ด้าน ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวสรุปว่า งานไบโอไทยแลนด์ 2003 เป็นเหมือนการฉายภาพให้ประชาชนได้เข้าใจในบทบาทของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสังคมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับงานไบโอไทยแลนด์ 2003 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2546 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าพัทยา (PEACH) จ.ชลบุรี
(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 30)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ชู กล้วยไม้ นำร่องทุนชีวภาพ
นางดุรณี เอ็ดเวิร์ส รอง ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ไบโอเทคได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อแปลงสินทรัพย์ทางปัญญาด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นทุน เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจได้นั้น ทางไบโอเทคมองว่าควรจะยกตัวอย่างงานวิจัยให้สถาบันทางการเงินเห็นเป็นตัวอย่างนำร่องก่อน ซึ่งเบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นการวิจัยกล้วยไม้ เพราะที่ผ่านมามีภาคธุรกิจ นักวิจัยที่ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอโครงการกับสถาบันทางการเงิน คงจะคัดเลือกเอาพันธุ์ที่แปลกๆ และมีลู่ทางการลงทุน เช่น สีแปลกใหม่ รูปลักษณะของดอกไม่เหมือนกล้วยไม้ที่มีในท้องตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรจะต้องมีกลุ่มเพื่อช่วยประเมินโครงการที่มีศักยภาพในเรื่องการแปลงสินทรัพย์ทางปัญญาด้วย
(ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
ญี่ปุ่นเตรียมวิจัยข้าวไทยผลิตสาเก
น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายโมโชยูกิ โอกะ ประธานบริษัท ซูมิโตโม ได้เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศญี่ปุ่นและได้แจ้งถึงความสำเร็จในการนำสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และสินค้าเอสเอ็มอีของไทยไปวางจำหน่ายให้ชาวญี่ปุ่นผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ชอปปิงไกด์ แชแนลทีวี เมื่อปีก่อน ปรากฏว่าสินค้าขายได้ดีมาก จากที่ขาย 2 ครั้งมียอดเงินถึง 115.1 ล้านเยน และ 174.2 ล้านเยน นอกจากนั้นในเดือน ก.ย.นี้บริษัทจะใช้สัญญาณดาวเทียมนำผลไม้ไทย ได้แก่ ทุเรียน และมังคุด ไปขายที่ญี่ปุ่น ให้ชาวญี่ปุ่นได้สั่งทางโทรทัศน์โดยตรง พร้อมกันนี้บริษัทยังพัฒนานำข้าวไทยมาวิจัยเพื่อผลิตเหล้าสาเกชนิดใหม่ที่เรียกว่า โชจุ ซึ่งมีคุณภาพดี และจะมาผลิตในประเทศไทย ซึ่งนายกฯ ได้เสนอให้ใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิคของนักศึกษาไทยที่ชนะการประกวดบรรจุภัณฑ์ใช้ใส่เหล้าโชจุ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้น
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 4)
ก.วิทย์ปลื้มคนแห่ซื้อนวัตกรรมประมูลงานวิจัยไทยนำไปใช้งาน
นายพีระศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า หลังจาก วว.ได้จัดงานเปิดโลกทัศน์ 40 ปี วว.ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยได้นำเครื่องกลั่นสุราพื้นบ้านขนาดเล็กเคลื่อนที่ เครื่องล้างผักไฮเทค เครื่องผนึกสุญญากาศ ในงานดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าชมงานเกือบ 1 แสนราย และมีการสั่งจองซื้อเครื่องกลั่นสุราพื้นบ้านขนาดเล็กเคลื่อนที่รวมทั้งสิ้น 57 เครื่อง เครื่องล้างผัก เครื่องผนึกสุญญากาศ อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้จากการประเมินมูลค่าของการขายนวัตกรรมที่เกิดจากการคิดค้นของนักวิจัยน่าจะไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของการผลิตงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องสั่งเครื่องจักรนำเข้าในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ปีละหลายพันล้านบาท ส่วนการผลิตผลงานตามที่มีการสั่งจองไว้ คาดว่าในระยะ 3 เดือนคงจะเริ่มทยอยส่งได้ เพราะมีโรงงานผลิตเครื่องจักรอยู่ที่เทคโนธานี จ.ปทุมธานี พร้อมกันนี้ในวันที่ 17 มิ.ย.46 นี้ ทางกระทรวงวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำเครื่องกลั่นสุราดังกล่าวไปโชว์ให้คณะรัฐบาลดู ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจนวัตกรรมตัวนี้เพราะเห็นว่าจะเป็นช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ของรัฐบาลได้
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
ผลวิจัยเผย งานบ้าน ป้องกัน มะเร็ง
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนระบุว่าทีมวิจัยระหว่างออสเตรเลียและจีนได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารมะเร็งนานาชาติระบุว่า การทำงานบ้านอย่างเช่นปัดฝุ่นกวาดบ้านจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งในรังไข่ (โอวาเรียน แคนเซอร์) ทั้งนี้ นายคอลลิน บินน์ส นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ทีมงานใช้เวลา 2 ปี ศึกษากลุ่มตัวอย่างสตรีชาวจีน 900 คนที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเจ๋อเจียง เมืองหางโจว มณฑลเจ๋อเจียง ประเทศจีน พบว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งดังกล่าว ซึ่งงานบ้านก็เป็นหนึ่งในรายการออกกำลังกายดังกล่าวนี้ นายบินน์สกล่าวว่า ถ้าหากทำงานบ้านเพียง 20 นาทีต่อสัปดาห์ไม่ก่อให้เกิดผลแต่การทำงานบ้านอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงต่อวันจะช่วยเพิ่มการป้องกันดังกล่าวได้ สำหรับเหตุผลนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดแต่น่าจะเป็นเพราะการออกกำลังช่วยลดไขมันซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนอันเป็นที่มาของมะเร็งดังกล่าวนั้นเอง (มติชน ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 10)
วิจัยชี้สาวท้อง กินมาก ได้ลูกชาย
วารสารการแพทย์อังกฤษฉบับล่าสุด ที่เพิ่งจำหน่ายจ่ายแจกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ได้เผยรายงานการวิจัยของทีมนักวิจัยจากแผนกสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันแคโรลินสก้าของสวีเดน ซึ่งได้จากการติดตามตรวจสอบหญิงชาวอเมริกันจำนวน 244 คน ที่ตั้งครรภ์มานานแล้ว 27 สัปดาห์ และทุกคนได้ให้กำเนิดทารกที่ปกติเต็มวัย การติดตามสอบถามเกี่ยวกับอาหารการกินของกลุ่มหญิงมีครรภ์ดังกล่าว ได้ดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลานานหนึ่งสัปดาห์ จนกระทั้งทีมวิจัยสรุปว่า กลุ่มผู้หญิงที่ให้กำเนิดทารกเพศชายนั้น มีการกินอาหารมากกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ให้กำเนิดทารกเพศหญิง ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 200 แคลอรี่ต่อวัน ในขณะที่น้ำหนักตัวของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้น ไม่มีความผิดปกติแตกต่างกันแต่อย่างใด ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นทารกเพศชาย จะทานอาหารจำพวกโปรตีนมากกว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นทารกเพศหญิง ราว 8 เปอร์เซ็นต์ ทานอาหารจำพวกคาร์โอไฮเดรตมากว่าราว 9 เปอร์เซ็นต์ ทานอาหารจำพวกไขมันสัตว์มากกว่าราว 11 เปอร์เซ็นต์ และทานน้ำมันพืชมากกว่าด้วยถึง 15 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี พลังงานที่เกิดจากอาหารที่ทานเข้าไปนั้น นายเคาต์ ทอร์นเบิร์ก จากมหาวิทยาลัยโอเรกอนกล่าวว่า เกิดจากความต้องการพัฒนาร่างกายของตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ทารกเกิดใหม่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติตามที่ควรจะเป็น แต่เป็นเพราะทารกเพศชายในครรภ์จะมีภาวะผันผวนสูงกว่าทารกเพศหญิง หรืออ่อนแอกว่า ซึ่งคุณแม่จะรับรู้ผ่านกระบวนการทางเคมีในร่างกายขณะที่ตั้งครรภ์ (มติชน เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 5)
นักวิจัยไทยเร่งจดสิทธิบัตรเสารับสัญญาณ 3 จี
นายสวัสดิ์ ตันตระรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สาม หรือ 3 จี ในประเทศไทยด้วยมาตรฐานดับบลิวซีดีเอ็มเอ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท ใน 3 ปีแรก ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา 6 แห่ง ทั้งนี้ แบ่งการวิจัยเป็น 6 ส่วนได้แก่ การวิจัยเครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ (อาร์เอฟ), วิจัยระบบประมวลสัญญาณเบื้องต้นเพื่อแปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิทัล, วิจัยการประมวลสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณที่มนุษย์รับได้ งานวิจัยซอฟต์แวร์สำหรับใช้แปลงสัญญาณ, วิจัยซอฟต์แวร์สำหรับใช้ติดต่อสื่อสารและคิดค้นแอพพลิเคชั่น หรือการบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี นายไมไนย ไกรฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ในส่วนของการวิจัยสายอากาศที่ติดตั้งในสถานีฐาน ซึ่งเขารับผิดชอบอยู่ โดยมีนักศึกษาปริญญาเอก 2 คนเป็นทีมงานร่วมวิจัยนั้น ล่าสุดสามารถสร้างสายอากาศโทรศัพท์ 3จี ต้นแบบสำเร็จแล้ว และกำลังยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 5)
แทะข้าวโพดสุกล้างพิษในร่างกาย
รายงานในวารสารสมาคมเคมีแห่งอเมริการะบุว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ พบว่าข้าวโพดหวานที่ปรุงสุกแล้ว จะมีฤทธิ์ล้างพิษในร่างกายได้สูงกว่าปกติ คือ ช่วยดับพิษอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายกับเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวพันกับโรคอันเนื่องมาจากความชรา เช่น ต้อกระจกและโรคสมองเสื่อม ข้าวโพดหวานที่ผ่านการต้มหรือปิ้งจะปล่อยสารประกอบที่เรียกว่า กรดเฟรุลิก อันเป็นคุณกับร่างกายมากขึ้นเมื่อถูกความร้อนสูงขึ้นหรือเป็นเวลานานขึ้น กรดเฟรุลิก เป็นพวกพฤกษาเคมี ซึ่งปกติจะมีอยู่ในผักและผลไม้ไม่มากนัก แต่กลับมีอยู่อย่างมากมายในข้าวโพด และการทำให้ข้าวโพดสุกจึงช่วยทำให้กรดเฟรุลิกเพิ่มมากขึ้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 8 เมษายน 2546 หน้า 3)
มข.จับมือเอกชนตั้งศูนย์วิจัยจระเข้
รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์ มข.ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท ศรีราชา ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานวิจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงจระเข้ โดยเน้นเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับเอกชน ด้านนายยศพงษ์ เต็มศิริพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ศรีราชา ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จระเข้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ประเทศไทยส่งออกมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 ของสัตว์น้ำ และปัจจุบันสามารถผลิตลูกจระเข้ได้ปีละ 200,000 ตัว ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศสหรัฐ โดยจระเข้ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถนำเอาอวัยวะทุกส่วนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่เปลือกไข่ เนื้อ กระดูก หนัง ตลอดจนเลือดจระเข้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
ค้นพบยีนข้าวเหมือนธัญพืชอื่น 50%
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยจีโนมในร็อควิลล์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐ เปิดเผยว่าทีมงานได้ค้นพบว่ายีนหรือจีโนมข้าวนั้นมีส่วนที่คล้ายคลึงกับยีนธัญพืชชนิดอื่นๆ อาทิ ข้าวฟ่าง และข้าวโพด โดยจากการวิเคราะห์พบว่ายีนของข้าวเหมือนกับยีนข้าวฟ่างและข้าวโพดถึงครึ่งหนึ่งซึ่งนักวิจัยหวังว่าจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพัฒนาและหาวิธีการเพิ่มจำนวนและปริมาณพืชผลทางการเกษตรมากขึ้นโดยชี้ว่าความเข้าใจในเรื่องพันธุกรรมของพืชจะช่วยให้นักชีววิทยาพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความสามารถต่างๆในตัวได้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาข้าวทนแล้ง ข้าวต้านทานโรค และสามารถเพาะปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทั้งยังจะใช้เป็นหนทางในการเพิ่มอาหารให้กับทั่วโลกได้ เพราะปัจจุบันข้าวถือเป็นอาหารที่ผู้คนทั่วโลกกว่าครึ่งต้องรับประทานทุกวัน และยังเป็นแหล่งแคลอรี่สำคัญด้วย นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ที่ได้ยังจะเป็นต้นแบบในการค้นหายีนธัญพืชอื่นๆ ที่มียีนมากกว่าข้าวหลายเท่าตัว ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ อ้อย และข้าวฟ่าง เพราะเมื่อเทียบกันแล้วจีโนมข้าวนับว่ามียีนน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มธัญพืชเดียวกัน (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
การฟอกเยื่อกระดาษโดยวิธีทางชีวภาพ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ ผศ.ดร.หรรษา ปุณณะพยัคฆ์ และคณะ ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการฟอกเยื่อกระดาษโดยวิธีทางชีวภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการนำวิธีทางชีวภาพมาใช้ในการลดการใช้สารเคมีในการฟอกเยื่อกระดาษ ผลการวิจัยพบว่ามีความเป็นไปได้ในการนำเอาเชื้อรา white rot ซึ่งเป็นราที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ในรูปของเอนไซม์ลิกนินเปอร์ออกซิเดชั่น โดยอาจจะใช้เอนไซม์มาช่วยเสริมเพื่อลดการใช้คลอรีนลง หรือถ้าไม่ต้องการเยื่อกระดาษที่ขาวเกินไป ก็อาจจะใช้เอนไซม์แทนการฟอกด้วยคลอรีนเลยก็ได้ นอกจากนี้ คุณภาพน้ำทิ้งจากกระบวนการฟอกมีค่า BOD และ COD สูงขึ้นกว่าเดิม มีสีใสขึ้น มีความเป็นด่างลดลง และมีแนวโน้มของระดับคลอไรด์ลดลง แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ เรื่องของต้นทุนการฟอกเยื่อกระดาษด้วยเอนไซม์ลิกนินเปอร์ออกซิเดชั่นจะสูงกว่าการฟอกด้วยกระบวนการทางเคมี เนื่องจากการผลิตเอนไซม์ในการวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้สารเคมีประเภทที่มีความบริสุทธิ์สูง จึงมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตเอนไซม์สูงตามไปด้วย ผู้วิจัยเสนอแนะว่า ควรมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องถึงการผลิตเอนไซม์โดยใช้วัสดุสารเคมี หรือกระบวนการที่ลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตเอนไซม์ได้มากยิ่งขึ้นและควรศึกษาถึงสภาวะที่เหมาะสมของกระบวนการที่เอนไซม์เข้าไปเสริมหรือทดแทนการฟอกเยื่อกระดาษ (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 30)
ข่าวทั่วไป
ระวังถูกตัดขาเตือนคนเบาหวานนวดเท้าตามร้าน
น.พ.วิโรจน์ เศรษฐกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานอายุมากกว่า 40 ปี หรือป่วยเบาหวานมานานกว่า 10 ปี ที่ต้องมาพบแพทย์เพราะเกิดแผลที่เท้ามากขึ้น จากปัญหาเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของเส้นเลือดเล็กๆ ส่วนปลาย คุณหมอวิโรจน์บอกว่า ที่น่าห่วงอย่างมากตอนนี้คือ คนป่วยเบาหวานไปใช้บริการนวดตามสถานบริการ ด้วยอาการของโรคที่มีการรับรู้ความรู้สึกน้อย ทำให้การนวดแรงๆ ย้ำที่เดิมบ่อยๆ อาจทำให้เนื้อเยื่อชอกช้ำ เกิดแผลข้างในเท้า หรืออักเสบติดเชื้อ เคยมีคนไข้รายหนึ่งคิดว่าตัวเองหายจากโรคเบาหวานแล้ว เพราะน้ำตาลลด ไม่ได้ทำตามคำแนะนำของหมอก่อนหน้ามาโรงพยาบาลปวดตามเส้นที่หลังเท้าข้างซ้าย มีอาการตะคริว เข้าใจว่าปวดกล้ามเนื้อธรรมดา จึงไปนวดแต่แทนที่จะดีขึ้นกลับปวดมากขึ้น เท้าข้างที่นวดบวมแดง มีไข้หนาวสั่น สุดท้ายต้องตัดขาทิ้ง (มติชน ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 หน้า 26)
เตือนภัยไวรัสคอมตัวใหม่ป่วน บั๊กแบร์. บี เบิกทางโจรกรรมข้อมูล
ซีเอ็นเอ็นดอตคอมรายงานเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนนี้ว่า บริษัทตรวจจับไวรัสคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐ 3 บริษัท ต่างรายงานตรงกันว่า ได้มีการแพร่ระบาดของไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ ซึ่งสามารถฝังตัวเองลงในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร หลังซ่อนตัวมากลับอีเมล์ที่ถูกเปิดออกอ่าน จากนั้นไวรัสตัวนี้จะติดตั้งโปรแกรมที่เปิดทางให้แฮกเกอร์หรือนักเจาะข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์เข้าล้วงข้อมูลลับต่างๆ ลบไฟล์ข้อมูลที่นักล้วงข้อมูลไม่ต้องการให้มีอยู่หรือเรียกใช้โปรแกรมที่มีอยู่ในตัวคอมพิวเตอร์เป้าหมาย ไวรัสคอมตัวใหม่นี้มีชื่อว่า บั๊กแบร์.บี ที่บริษัทแมสสาจแล็บของสหรัฐได้สกัดกั้นการแพร่ระบาดของมันไว้ถึง 37,400 ครั้งใน 125 ประเทศ ขณะที่ไซแมนเทก เจ้าของโปรแกรมแอนตี้ไวรัสชื่อดังของสหรัฐได้รับรายงานเรื่องนี้จากบริษัทลูกค้าขนาดใหญ่ 51 ราย รวม 180 เรื่อง และบริษัทเน็ตเวิร์ก แอสโซซิเอตส์ ได้รับรายงานถึง 100 เรื่อง เฉพาะช่วงเช้าวันที่ 5 มิถุนายน (มติชน เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 5)
ตะลึงไทยนำเข้าสารพิษเพิ่มเท่าตัว
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายอำพน กิตติอำพน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขของกรมอนามัย กระทรวงสาธารสุขพบว่าตัวเลขการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรปี 2545 มีปริมาณ 65,301 ตัน มูลค่า 9,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 กว่าเท่าตัว และล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2546 เพียงแค่ 3 เดือนแรก มีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปริมาณ 11,268 ตัน มูลค่า 1,892 ล้านบาท นายอำพนกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า จากปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทั้งสิ้น 12,027 โรงงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์ประมง เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และแปรรูป แต่มีโรงงานที่ได้การรับรองมาตรฐาน เพียง 371 โรงงาน เท่านั้นหรือเพียง 3% จากโรงงาน ทั้งหมดซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงต้องเร่งดำเนินการให้โรงงานเหล่านี้ได้รับรองมาตรฐานให้มากขึ้น (มติชน เสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2546 หน้า 10)
หมอโรคตา ไทยคว้ารางวัลระดับโลก
ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2546 องค์การอนามัยโลกได้มอบรางวัล ลีออน เบอร์นาร์ด ฟาวเดชั่น (Leon Bernard Foundation Prize) ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกให้แก่ พ.ญ.วัฒนีย์ เย็นจิตร แพทย์ระดับ 10 ประจำโรงพยาบาลสงฆ์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นแพทย์ที่บริหารจัดการให้ผู้ป่วยโรคตาสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ทำให้อัตราการตาบอดของคนไทยลดลง รวมทั้งช่วยเหลือให้ผู้ป่วยโรคตาและผู้พิการไทยที่มีปัญหาตาบอดเข้าสู่ระบบการศึกษา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทางด้าน พ.ญ.วัฒนีย์ เย็นจิตร กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีคนสายตาพิการประมาณ 135 ล้านคน และเป็นผู้ตาบอดสนิทประมาณ 45 ล้านคน สาเหตุสำคัญร้อยละ 80 เกิดจากโรคตา ต้อกระจก ต้อหิน สายตาผิดปกติและเบาหวานในจอประสาทตา ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
กองสลากหนุนกองทุนการศึกษาสำหรับคนพิการ
นายสุทิน คลังแสง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ ศธ.จัดตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับคนพิการได้รับการสนับสนุนจากการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดพิเศษโดยกรมบัญชีกลางได้โอนเงินทุนประเดิมเข้ากองทุนแล้วจำนวน 200 ล้านบาท ซึ่ง ศธ.ได้ฝากเข้าบัญชีประเภทออมทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารเงินกองทุน และให้การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการมีความคล่องตัว ศธ.จึงได้กำหนดแนวทางสำหรับการใช้เงินกองทุนสำหรับคนพิการ โดยให้มีระเบียบกระทรวงสำหรับคนพิการว่าด้วยกองทุนการศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรอง เพื่อเสนอนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ลงนามมีผลบังคับใช้ต่อไป นางเนตรปรียา ชุมไชโย รองโฆษก กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) มีเด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติอยู่จำนวน 114,216 คน ซึ่งขณะนี้ สปช.ได้ทำแบบสำรวจข้อมูล เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษซึ่งพบว่ามีเด็กกลุ่มที่ต้องการความพิเศษ 3 กลุ่มคือกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิการ และกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ หรือปัญญาเลิศ
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
ทักษิณ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรโครงการฝนหลวง หรือการดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน ที่วังไกลกังวล หัวหิน ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานหนัก และผลก็มาสำเร็จเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว และได้ใช้ฝนหลวงนี้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาของเรื่องพืชเกษตรที่กำลังจะแย่ เพราะขาดฝน ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรโดยเฉพาะเกษตรกรมาก (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2546 หน้า 8)
ทอดมันใน สธ. บอแรกซ์ เพียบ
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รมว.สาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่ สธ. ได้ดำเนินโครงการความปลอดภัยด้านอาหาร (FOOD SAFETY) เพื่อกวาดล้างสารอันตราย 6 ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารเร่งเนื้อแดง สารฟอกขาว สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารกันราหรือกรดซาลิซิลิค โดยร่วมมือกับทุกจังหวัดดำเนินการตรวจตลาดสดทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาสารอันตรายมาอย่างต่อเนื่อง ให้อาหารไร้สารปนเปื้อนให้ได้ภายในปี 2546 โดยในส่วนของร้านอาหารภายในสธ. อย. ได้ออกตรวจสอบร้านอาหารทุกร้านในกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบอาหารประเภทหมู ไก่ ลูกชิ้น อาหารทะเล ผักสด ผลไม้ดอง และขนมหวาน ฯลฯ จำนวน 63 ร้าน รวม 209 ตัวอย่าง พบสารบอแรกซ์ จำนวน 4 ตัวอย่าง ในทอดมัน หมูบด เกี๊ยวทอด และหมูชิ้น ซึ่ง สธ.จะสอบสวนหาแหล่งซื้อเพื่อขยายผลต่อไป และได้สั่งปิดร้านค้าที่มีสารปนเปื้อนดังกล่าว โดยให้แต่ละกรมดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่งต่อไปจะขยายการดำเนินการตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร ไปยังร้านอาหารที่จำหน่ายในสถานพยาบาลทุกแห่งต่อไป (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|