|
หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 20 ประจำวันที่ 2003-06-10
ข่าวการศึกษา
เอสเอ็มอี สนใจเรียนหลักสูตรสร้างไอเดีย คุรุสภาแบ่งเป็น 2 องค์กรแล้ว ข้าราชการพละ-ศิลปากรกำลังเสียขวัญกับอนาคต รับสมัครเด็กอัจฉริยะ90 คน-ดูงานอเมริกา เอแบคทุ่มทุนกว่า 300 ล้านสร้างตึกไอซีที ศธ.ออกปฏิทินเข้าโครงสร้างใหม่เปิดฮอตไลน์ 1579 ตอบข้อสงสัย ศธ.ตั้งใจผลิตอัจฉริยะนับแสน โรงเรียนเผยขาดแคลนครูสอนภาษาจีน ศธ.จับมือ สธ.เปิด มุมเพื่อนใจวัยรุ่น ให้คำปรึกษาปัญหาในศูนย์การค้า พระนครเหนือชนะหุ่นยนต์เตะตะกร้อ ทปอ.ขานรับทุนพัฒนาอาจารย์
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
วิทยาการใหม่-สารสนเทศชีวภาพ (BIOINFORMATICS) ดูปองท์ สำเร็จปลูกถั่วในอวกาศ กระดาษรูปฤาษี
ไอเดียเจ๋งๆ ของวัยประถม ตาข่ายกันยุง พัฒนาชิพฝังโทรศัพท์ช่วยคนหูหนวก นักวิทย์อิสราเอลคว้านวัตกรรมเด่นใช้นาโนเทคโนโลยีนำยาสู่ร่างกาย
ข่าววิจัย/พัฒนา
เปลือกต้นจาน เถาวัลย์เปรียงช่วยให้ผู้หญิงเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล ม.เกษตรฯ วิจัยพลิกผันขยะเป็นรายได้แปรกากน้ำปลาเป็นอาหารสัตว์ สมุนไพรจีนอาจบำบัดอาการจิตเสื่อมได้ อนุมัติให้เพาะตัวอ่อนมนุษย์ขึ้นได้ เพื่อเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต พนักงานคอมพิวเตอร์หน้าชื่นได้ ไม่เป็นภัยจากการทำงานอาชีพ วิจัยมาตรฐานอาหารไทย พัฒนาคุณภาพสู่ ครัวโลก
ข่าวทั่วไป
เร่งจดสิทธิบัตรไหมไทย:ป้องกันต่างชาติฮุบ ให้ผู้ปกครองสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์น้ำให้แจ้งกรมประมงภายใน120วัน จับมือส.สุราพื้นบ้าน-เทคโนฯราชมงคล สมอ. ดันสินค้าเข้าสู่มาตรฐานชุมชน สธ.หนุนทำศูนย์กลางสุขภาพเอเชีย อย.เตือนขายยาในเน็ตตุ๋นคนซื้อแถมผิดกม. นักอนุรักษ์ตื่น! พบเพิ่ม แต้วแร้วท้องดำ ป่าพม่า ทีเอ เปิดอินเตอร์เน็ต ไว-ไฟ ปรับทิศทางสื่อสารครบวงจร เครื่องตรวจมะเร็งขนาดจิ๋ว มือถืออันตรายต่อประสาทหนังศีรษะ เบรกอุทยานใต้ทะเลหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ฉีดกาวเข้าไปซ่อมกระดูกสันหลัง ผนึกกระดูกแตกหักให้แน่นเข้าที่ สธ.ไทยปิ๊งกฎออสซี่ป้องพวกถ้ำมอง ห้ามพกโทรศัพท์มือถือเข้าสระว่ายน้ำ ระวังเด็กอ้วน-เบาหวาน
ข่าวการศึกษา
เอสเอ็มอี สนใจเรียนหลักสูตรสร้างไอเดีย
รศ.ดร.นภดล เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี SMEs ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งจัดอบรมหลักสูตรการคิดอย่างรังสรรค์ ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความคิดที่สร้างสรรค์โดยส่งเสริมให้วิศวกรเข้ารับการอบรมหลักสูตรเทคนิคการสร้างสรรค์มากขึ้น จากที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลักสูตรการอบรมวิศวกร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีสะอาด และความก้าวหน้าของเครื่องจักรกล แต่ในปัจจุบันวิศวกรจะได้รับการอบรมเพื่อปลูกฝังหรือกระตุ้น ให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบสิ่งใหม่ๆ คิดค้นและสร้างอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยสร้างเทคโนโลยีหรือสินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 9)
คุรุสภาแบ่งเป็น 2 องค์กรแล้ว
นายบำเรอ ภานุวงศ์ รองเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยร่าง พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 20 ตอนที่ 52 ก วันที่ 11 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จะส่งผลให้คุรุสภาเดิมถูกแบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 องค์กร ได้แก่ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือ คุรุสภา เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุม และรักษามาตรฐานวิชาชีพครู ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ส่วนอีกองค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพและส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวง รวมทั้งบริหารจัดการองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งในส่วนของการจัดทำโครงสร้างการเตรียมบุคลากรและเตรียมสถานที่ของทั้ง 2 องค์กร
(เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 24)
ข้าราชการพละ-ศิลปากรกำลังเสียขวัญกับอนาคต
จากการปฏิรูประบบราชการซึ่งมีหลายหน่วยงานถูกแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดอยู่กับกระทรวงใหม่เป็นผลให้มีข้าราชการจำนวนหนึ่งขอโอนย้ายกลับมาที่กระทรวงศึกษาธิการนั้น มีรายงานว่าในบรรดาข้าราชการที่แสดงความจำนงขอโอนกลับมากระทรวงศึกษาธิการจะมีข้าราชการครูและศึกษานิเทศก์ของกรมพลศึกษาเดิมรวมอยู่ด้วยกว่า 600 คน ซึ่งข้าราชการครูและศึกษานิเทศก์ดังกล่าวได้มีการรวมตัวยื่นเรื่องขอกลับกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่สมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.ศึกษาธิการ แล้วแต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน นอกจากกระแสข่าวที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ตีความว่าศึกษานิเทศก์และครูของกรมพลศึกษาและกรมศิลปากรจะต้องเปลี่ยนจากข้าราชการครูไปเป็นข้าราชการพลเรือน ประกอบกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำลังจะมีผลบังคับใช้เป็นกฏหมาย ซึ่งจะส่งผลให้บุคลากรเหล่านี้สิ้นสภาพการเป็นข้าราชการครูก่อนกำหนดเดิมคือ 30 ก.ย. 46 จึงทำให้ข้าราชการครูและศึกษานิเทศก์ดังกล่าวเกิดความกังวลในสถานภาพเป็นอย่างมาก และปัจจุบันต่างก็ขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะมีการรวมตัวเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อไป (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 24)
รับสมัครเด็กอัจฉริยะ90 คน-ดูงานอเมริกา
ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษให้มีวิสัยทัศน์ ตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ทบวงฯกำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการไปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีโอกาสได้เห็นวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และได้เห็นสถานประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต ร.ต.อ.วรเดชกล่าวต่อว่า จะคัดเลือกผู้มีความสามารถพิเศษดังกล่าว 90 คน จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ แบ่งเป็น 2 ระดับคือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ใน 5 สาขาวิชาคือ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ บริหารรัฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.75 และนักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ บริหารรัฐกิจ หรือเป็นผู้มีวุฒิปริญญาโทสาขาข้างต้น ซึ่งสำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 3 ปี และมีอายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ มีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 3.25 ผู้สนใจสมัครได้ที่กองวิเทศสัมพันธ์ ทบวงมหาวิทยาลัย โทร. 0-2245-8266 หรือ 0-2246-1106-14 ต่อ 749,751 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 20)
เอแบคทุ่มทุนกว่า 300 ล้านสร้างตึกไอซีที
ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกำลังก่อสร้างอาคาร 10 ชั้นในรูปแบบไอซีที บิลดิ้ง (ICT Building) ที่วิทยาเขตหัวหมาก เพื่อเป็นอาคารศูนย์รวมด้านไอซีทีของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ทำหน้าที่ศูนย์กลางบริการไอทีแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอก โดยเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนการสอน และการให้บริการของทั้ง 2 วิทยาเขต ทั้งวิทยาเขตบางนา และวิทยาเขตหัวหมากเข้าด้วยกัน ระบบภายในตึกจะประกอบด้วยเทคโนโลยีเทเลคอนเฟอเรนซ์ มัลติมีเดีย อินเทอร์เน็ตรวมถึงเทคโนโลยีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนเป็นอาคารแหล่งรวมองค์ความรู้ทางด้านไอซีทีของมหาวิทยาลัยทุกประเภท ทั้งนี้ เอแบคได้ลงทุนก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้างตึก 200 ล้านบาท และอุปกรณ์ต่างๆ อีก 100 ล้านบาท กำหนดเสร็จราวต้นปีหน้าเพื่อหนุนมหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็นเวอร์ช่วลยูนิเวอร์ซิตี้จากการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีครบวงจร พร้อมให้บริการกลางปี 2547 (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 6)
ศธ.ออกปฏิทินเข้าโครงสร้างใหม่เปิดฮอตไลน์ 1579 ตอบข้อสงสัย
นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการเข้าสู่โครงสร้าง ศธ.ใหม่ว่า ได้จัดทำปฏิทินดำเนินงานดังนี้ ตั้งธงว่าร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ดังนั้น ระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม จะต้องออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการแบ่งส่วนราชการองค์กรหลักต่างๆ วันที่ 2 กรกฎาคม ตนจะลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาส่วนตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปลัด ศธ. และเลขาธิการสภาการศึกษา กฎหมายได้กำหนดลงตัวอยู่แล้ว และจะแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 175 เขตทั่วประเทศ พร้อมเรียกประชุมทำความเข้าใจบทบาทโดยด่วน นอกจากวันที่ 5 กรกฎาคม จะเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ศธ.เพื่ออนุมัติกรอบอัตรากำลังและจัดคนลงโครงสร้างใหม่ และมอบอำนาจในระดับต่างๆ ทั้งนี้ต้องเสนอของบประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ฝึกอบรมบุคลากรในการเตรียมการเข้าสู่โครงสร้างใหม่ รวมทั้งจะเปิดศูนย์ฮอตไลน์ 1579 เพื่อตอบข้อซักถามบุคลากรที่มีข้อสงสัยด้วย (มติชน เสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
ศธ.ตั้งใจผลิตอัจฉริยะนับแสน
ดร.สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงโครงการนำร่องสรรหา พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดทำเพื่อสรรหาและส่งเสริมผู้มีความสามาถพิเศษด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ กีฬา ดนตรี หรือ ศิลปะ โดยจะดำเนินการอย่างครบวงจรตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงการศึกษาขั้นสูงสุดและการประกอบอาชีพเพื่อสร้างกำลังคนที่มีความสามารถระดับมาตรฐานโลกให้มีจำนวนมากพอที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดการนำเข้าองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คณะทำงานได้กำหนดไว้ว่า ในระยะ 3 ปีของการนำร่อง (ปีงบประมาณ 2547-2549) จะมีการสรรหา พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในระดับเด็กและการศึกษาพื้นฐาน หรือประชากรในกลุ่มอายุ 3-17 ปี ให้ได้ 450,000 คน หรือ 3% ของทุกระดับอายุ ซึ่งจะเฉลี่ยประมาณ 30,000 คน ของแต่ละดับอายุ จากนั้นจะมีการพัฒนาต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษาจนถึงการศึกษาขึ้นสูงสุดเพื่อให้ประเทศไทยมีนักวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ นักกีฬา นักดนตรี และศิลปินที่มีความสามารถระดับโลกปีละประมาณ 10,000 คน โดยในปี 2547 จะใช้งบประมาณสำหรับการดำเนินการโครงการนำร่อง 905 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 1,059 ล้านบาท และปี 2549 จำนวน 1,281 ล้านบาท
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 27)
โรงเรียนเผยขาดแคลนครูสอนภาษาจีน
นายธีระพงศ์ นิยมทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย เปิดเผยว่าโรงเรียนวัดไตรมิตรฯ เป็นศูนย์แม่ข่ายของโรงเรียนมัธยม สังกัดกรมสามัญฯ ที่เปิดสอนภาษาจีน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 78 แห่งทั่วประเทศและมีศูนย์ลูกข่ายกระจายอยู่ตามภูมิภาค นอกจากนี้โรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัยยังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิเทศสัมพันธ์ติดต่อกับมหาวิทยาลัยจีน เพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน นายธีระพงศ์ กล่าวถึงปัญหาการสอนภาษาจีนในโรงเรียนมัธยมว่า ปัญหาคือขาดแคลนครูผู้สอนที่จบภาษาจีนโดยตรงขณะนี้โรงเรียนมัธยม 78 แห่ง มีครูประจำการที่สอนภาษาจีนเพียง 1 คน และอยู่ที่โรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาลัย ส่วนที่เหลือเป็นอัตราจ้าง (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
ศธ.จับมือ สธ.เปิด มุมเพื่อนใจวัยรุ่น ให้คำปรึกษาปัญหาในศูนย์การค้า
น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งามผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำ มุมเพื่อนใจวัยรุ่น ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่าจุดที่วัยรุ่นต้องการให้มีการจัดตั้งมุมเพื่อนใจวัยรุ่นได้แก่ศูนย์การค้าหรือสถาบันอุดมศึกษา โดยเวลาทำการจะต้องยืดหยุ่นไม่เปิดตามเวลาราชการเพื่อมีช่วงเวลาให้วัยรุ่นสามารถขอคำปรึกษาได้มากขึ้นทั้งนี้จะมีการเปิดมุมเพื่อนใจวัยรุ่นเป็นการนำร่องในกทม. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกสถานที่และจะขยายเครือข่ายไปยังสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 15)
พระนครเหนือชนะหุ่นยนต์เตะตะกร้อ
ที่อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก โมเดิร์น ไนน์ ทีวี ร่วมกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สสท.) และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ เตะตะกร้อพิชิตจักรวาล ชิงแชมป์ประเทศไทยในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา โดยมีนายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีให้เกียรติมาเป็นประธาน ซึ่งทีมที่ชนะเลิศทั้ง 2 ระดับจะได้รับรางวัลจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมเงินสด 1 แสนบาท และยังได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia-Pacific Robot Contest ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 ส.ค. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 20 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับบรรยากาศการแข่งขันเต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน โดยบรรดากองเชียร์ของแต่ละสถาบันที่ยกพลกันมากว่า 1,000 คนต่างร้องเพลงประจำสถาบันและส่งเสียงเชียร์ดังกระหึ่ม ซึ่งผลการแข่งขัน ปรากฏว่าระดับอุดมศึกษา ทีม Yuppid cide จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ส่วนทีมชนะเลิศในระดับอาชีวะเป็นของทีม นายฮ้อยทมิฬ 2002 จากวิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน จ.สกลนคร (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 18)
ทปอ.ขานรับทุนพัฒนาอาจารย์
รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ทปอ.ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องกองทุนพัฒนาอาจารย์ตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้อาจารย์ไทยได้รับการพัฒนา โดยจะจัดสรรงบประมาณให้ 4,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2546-2549 เพื่อส่งอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคนในระยะยาว และยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและการวิจัยของชาติด้วย ซึ่งในส่วนของอาจารย์สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ทปอ. เห็นว่าควรให้อาจารย์ในเครือข่ายการวิจัยร่วมที่ทปอ.กำลังดำเนินการในแต่ละมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือก เพื่อให้สาขาเครือข่ายการวิจัยร่วมที่ ทปอ.กำลังดำเนินการ ได้มีการพัฒนาเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นมีอาจารย์จากทุกสังกัดสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 700 คนแล้ว และทบวงมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกรุ่นแรกเพื่อให้สามารถเดินทางได้ประมาณเดือนกันยายน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการดำเนินการในรุ่นแรกมีความฉุกละหุก เพราะมีระยะเวลากระชั้นชิด ดังนั้นในรุ่นแรกจึงอาจไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 1,000 คน (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 27)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
วิทยาการใหม่-สารสนเทศชีวภาพ (BIOINFORMATICS)
สารสนเทศชีวภาพที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Bioinformatics ไบโออินฟอร์เมติคส์ วิทยาการนี้เกิดจากการนำเอาความรู้ด้านการแพทย์โดยเฉพาะทางด้านชีววิทยาซึ่งภายใต้เรื่องของชีววิทยานั้นมีข้อมูลซึ่งสามารถนำมาปะติดปะต่อและนำมาจัดเรียงให้เป็นระบบแล้วจะได้อะไรใหม่ๆ อีกมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นมีมากจนกระทั่งจะต้องใช้วิชาทางไอทีและคอมพิวเตอร์เข้ามาสังเคราะห์ข้อมูลมาก ที่เรียกว่า ดาต้าไมนิ่ง (Data Mining) วิทยาการใหม่ชนิดนี้แม้ว่าจะทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่มากมายก็จริงแต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างเพราะมักจะใช้แบบจำลองทางคณิตศาตร์ทางคอมพิวเตอร์คำนวณมาก การจะเชื่อแต่ตัวเลขอย่างเดียวความผิดพลาดก็จะมี (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2546 หน้า 16)
ดูปองท์ สำเร็จปลูกถั่วในอวกาศ
นักวิทยาศาสตร์ได้นำเมล็ดถั่วเหลืองไปเพาะในกระสวยอวกาศแอตแลนติส ในปฏิบัติการครั้งล่าสุดจนเติบโตงอกงามเป็นต้นและให้ผลผลิตที่สามารถใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ได้ต่อไป กระบวนการดังกล่าวในช่วง 97 วัน จากนั้นได้วิจัยผลผลิตถั่วเหลืองอวกาศอย่างละเอียดเพื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตที่ปลูกบนโลกพบว่าทั้งคู่มีลักษณะเหมือนกันต่างกันตรงที่ถั่วเหลืองอวกาศมีปริมาณน้ำตาลมากกว่าแต่มีน้ำมันและกรดอะมิโนน้อยกว่าซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่สถานีอวกาศมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 9)
กระดาษรูปฤาษี
ไอเดียเจ๋งๆ ของวัยประถม
ผลงานของนักเรียน โรงเรียนวัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ ช่วยกันคิดกับโครงงาน เรื่อง กระดาษรูปฤาษี ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาประเภทรีไซเคิล ซึ่งจัดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคุณครูยุพาภรณ์ มุกดา เป็นครูที่ปรึกษาโครงงาน (สยามรัฐ เสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
ตาข่ายกันยุง
สำราญ สุนทรวิภาค กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วน บิ๊กบอร์น เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ประดิษฐ์ ตาข่ายกันยุง โดยนำ มุ้งเก่าๆ มาพันติดกับลวด ขึ้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากับกระจกรถ แล้วทดลองใช้อีกครั้ง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี ลมโกรกเข้ามา ยุงก็ไม่เข้า หลังจากทดลองแจกตัวอย่างไปสักระยะหนึ่ง ปรากฏว่าได้ผลดี มีคนนิยมใช้มาก จึงผลิตขายอย่างจริงจัง พร้อมกันนั้นได้จดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ 15 มิถุนายน 2546 หน้า 26)
พัฒนาชิพฝังโทรศัพท์ช่วยคนหูหนวก
โจ วัลดรอน ซึ่งหูหนวกมาตั้งแต่กำเนิดเผยถึงแรงจูงใจในการคิดค้นและประดิษฐ์โทรศัพท์เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถได้ยินเสียงสนทนาได้อย่างปกติเกิดจากการที่เธอไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้เหมือนคนทั่วไป เนื่องจากจะมีเสียงรบกวนเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ช่วยฟังทำให้เธอไม่สามารถได้ยินเสียงสนทนาทางโทรศัพท์เลย ดังนั้นเธอจึงพัฒนาชิพขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนที่หูหนวกปานกลางและมากสามารถได้ยินเสียงสนทนา ชิพดังกล่าวจะส่งสัญญาณเสียงไร้สายไปยังอุปกรณ์ช่วยฟังและสร้างเสียงที่ผู้มีอาการหูหนวกได้ยินอย่างชัดเจน ชิพดังกล่าวมีขนาดเล็กเพียง 1 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าหัวเข็มหมุดเท่านั้น โดยจะทำการฝังไว้ด้านในของเครื่องโทรศัพท์ทุกชนิดที่ต้องการให้ผู้ที่หูหนวกได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมือถือ แต่ไม่สามารถติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยตนเองได้
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
นักวิทย์อิสราเอลคว้านวัตกรรมเด่นใช้นาโนเทคโนโลยีนำยาสู่ร่างกาย
ศาสตราจารย์นิสซิม การ์ติ และรองศาสตราจารย์ ดร.อับบราฮัม อะเซอริน จากสถาบันเคมีประยุกต์ คาสะลี มหาวิทยาลัยเยรูซาเล็ม ได้รับรางวัลพัฒนานวัตกรรมเคมีประจำปีจากมหาวิทยาลัยเยรูซาเล็ม หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี พาหนะจิ๋ว ซึ่งจะช่วยนำยาและสารที่ต้องการเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนา เทคโนโลยีจิ๋ว หรือนาโนเทคโนโลยี ให้เป็น พาหนะจิ๋ว หรือนาโนวิฮิเคิลขึ้นมานี้ จะช่วยให้การดูดซับตัวยาหรือสารดีขึ้น โดยพาหนะจิ๋วเป็นส่วนผสมของเหลวสองชนิด ที่ไม่ละลายเข้ากันที่มีขนาดเล็กมาก ที่เรียกว่า ไมโครอิมัลชั่น และสามารถละลายได้เมื่อเจอน้ำ น้ำมัน แอลกอฮอล์และสารละลายร่วม ไมโครอิมัลชั่นนั้น สามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นาโนอิมัลชั่น ซึ่งมีความเสถียรหรือคงที่มากกว่าของเหลวที่มีอยู่ปกติทั่วไปและยังมีความสามารถในการดูดซับได้สูงมากไม่ว่าจะเป็นสารจากพืชและอื่นๆ โดยแต่ละหยดของไมโครอิมัลชั่นจะถูกซ่อนไว้ในอนุภาคนาโนของยาและเครื่องสำอางต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ตัวยาดังกล่าวแล้วไมโครอิมัลชั่นจะเป็นตัวช่วยนำเอาอนุภาคของยาผ่านเข้าสู่เยื่อบุ และไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
ข่าววิจัย/พัฒนา
เปลือกต้นจาน เถาวัลย์เปรียงช่วยให้ผู้หญิงเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล
นางอุษา กลิ่นหอม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวชมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่า ในตำรายาพื้นบ้านอีสานพูดกันถึงสมุนไพรที่มีชื่อว่าเถาวัลย์เปรียง หรืออีสานเรียกว่าเครือตาปลา ยอดอ่อนนำมากินได้ แต่สำหรับเปลือกของต้นเถาวัลย์เปรียงนั้นหากนำไปเข้ากับตัวยากับสมุนไพรชนิดอื่นแล้วนำไปต้มดื่ม จะทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดใส มีน้ำมีนวลขึ้นมา ซึ่งถ้าเราใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยาสมุนไพรจะพบว่าในเปลือกของเถาวัลย์เปรียงนั้นมีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ ซึ่งเป็นคนละชนิดกับฮอร์โมนเอสโตรเจน นอกจากเถาวัลย์เปรียงแล้วก็ยังมีต้นจานที่ชาวอีสานเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง คืออีสานมักจะนำใบจานมาห่อขนม เมื่อกินขนมที่ห่อด้วยใบจานเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น ทำให้ชาวอีสานเชื่อว่าใครที่กินขนมห่อด้วยใบจานผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 30)
ม.เกษตรฯ วิจัยพลิกผันขยะเป็นรายได้แปรกากน้ำปลาเป็นอาหารสัตว์
นางสาวคันธารัตน์ ประทุมวัลย์ นักศึกษาภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ในฐานะผู้ร่วมวิจัยโครงการ การใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ในกระบวนการผลิตน้ำปลา เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ทางโภชนาการของกากน้ำปลา พบว่ามีส่วนประกอบของกระดูกซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่สำคัญเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยงจึงเหมาะสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์แต่ต้องลดปริมาณเกลือหรือความเค็มลงก่อน เมื่อได้แนวคิดแล้วว่าจะใช้ทำเป็นอาหรสัตว์ จึงค้นคว้าข้อมูลและระดมความคิดเพื่อหารูปแบบของอาหารสัตว์ที่จะผลิต และได้มา 9 ข้อคือ อาหารสุนัข/แมวแบบบรรจุกระป๋องแบบแห้ง แบบกึ่งแห้ง อาหารปลา อาหารกุ้งกุลาดำและทำเป็นปุ๋ย จากนั้นนำความคิดมาคัดเลือกซึ่งมีเกณฑ์พิจารณาคือ คือเครื่องมือเครื่องใช้ที่พร้อม ความง่ายในการผลิต ความต้องการของตลาด และความสะดวกในการทดสอบ พบว่าอาหารสุนัข/แมว แบบกึ่งแห้งน่าจะเหมาะสมที่สุด แต่อาหารสุนัขมีความต้องการสูงกว่าอาหารแมว จึงเลือกทดลองสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขกึ่งแห้งขึ้น โดยใช้กากน้ำปลาที่ผ่านกรรมวิธีลดปริมาณเกลือเป็นส่วนผสม ร่วมกับกากถั่วเหลือง กลูโคสไซรัป เจลาติน แป้งมันสำปะหลังและน้ำ แล้วอบอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมงจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นเส้นยาวจากนั้นตัดเป็นเม็ดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7 เซนติเมตร จะได้อาหารสุนัขกึ่งแห้งต้นแบบ
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
สมุนไพรจีนอาจบำบัดอาการจิตเสื่อมได้
ผลการวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง พบว่า สมุนไพรจีนที่นิยมใช้นับร้อยๆ ศตวรรษอาจส่งผลต่อการบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการจิตเสื่อมได้ จากการวิจัยกับผู้ป่วยจำนวน 120 คน ในระยะเวลา 3 เดือน พบว่า ยาสมุนไพรซึ่งสกัดมาจากกล้วยไม้และพืชอื่นๆ อีก 6 ชนิดที่นำมารักษาอาการหน้ามืด สามารถทำให้จิตใจของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นายจินโจว เถียน สถาบันดูแลผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ยาชนิดนี้จะมาเป็นส่วนเสริมในการรักษาอาการเสื่อมของกระบวนการรับรู้ในระยะเริ่มแรกให้แก่ผู้สูงอายุที่สมองได้รับความเสียหายได้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 3)
อนุมัติให้เพาะตัวอ่อนมนุษย์ขึ้นได้ เพื่อเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
รัฐบาลเมืองผู้ดีได้อนุมัติให้คณะนักวิจัยของสถาบันรอสลิน ที่เมืองเอดินบะระ ซึ่งเป็นผู้โคลนนิ่งแกะตัวแรก ที่ได้ให้ชื่อว่า ดอลลี่ ขึ้นได้สำเร็จทำการก่อกำเนิด หรือการปฏิสนธิร่างตัวอ่อน โดยไม่ใช้ตัวอสุจิหรือการผสมพันธุ์แบบเดียวกับที่สัตว์เลื้อยคลานและแมลงบางชนิดแพร่พันธุ์อยู่ตามธรรมชาติ นักวิจัยอธิบายให้เห็นความสำคัญว่า เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของทารกตัวอ่อน สามารถจะพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการรักษาโรคบางอย่าง อย่างเช่นโรคอัมพาตแบบสั่น โรคหัวใจและเบาหวานในวันหนึ่งข้างหน้า แต่ที่สำคัญร่างตัวอ่อนที่ปฏิสนธิโดยไม่ได้ใช้ตัวอสุจิหรือการผสมพันธุ์นี้ ไม่อาจจะเลี้ยงให้โตขึ้นกลายเป็นทารกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อทำลายร่างตัวอ่อนเหล่านี้ เพื่อจะเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต จึงไม่ใช่เป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
พนักงานคอมพิวเตอร์หน้าชื่นได้ ไม่เป็นภัยจากการทำงานอาชีพ
นักวิจัยทางด้านการแพทย์เมืองโคนมได้รายงานผลการสำรวจศึกษา พนักงานคอมพิวเตอร์เกือบ 7,000 คน ด้วยการใช้แบบสอบถามถึงอาการอันเนื่องมาจากการใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ ได้พบว่ามีผู้มีอาการตามมือ เพียงระหว่าง 1.4-4.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เป็นอาหารรู้สึกเจ็บๆ คันๆ และชาที่ฝ่ามือและตามนิ้วมือ เกิดขึ้นจากประสาทเส้นกลางมือโดนกดเป็นเวลานาน คณะนักวิจัยกล่าวในรายงานซึ่งเผยแพร่อยู่ในวารสารแพทย์สมาคมอเมริกันว่า ผลการวิจัยแสดงว่าการใช้คอมพิวเตอร์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายในการประกอบการงานอาชีพรุนแรงแต่อย่างใด (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
วิจัยมาตรฐานอาหารไทย พัฒนาคุณภาพสู่ ครัวโลก
นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีอาหารไทยหลายอย่างเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก ด้วยรสชาติและความอร่อยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้อาหารไทยของเรามีมูลค่ามากขึ้นในแง่ของการทำตลาดต่างประเทศ และด้วยความที่อาหารไทยมีความหลากหลายมาก จึงทำให้เกิดงานวิจัยเรื่องมาตรฐานอาหารไทยขึ้น เพื่อเป็นการค้นหาและสำรวจว่าในอาหารไทยแต่ละชนิดนั้นมาตรฐานด้านคุณลักษณะ รสชาติ ที่เป็นไทยจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ในปีนี้มีผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจากไบโอเทคในการวิจัยมาตรฐานอาหารไทย 3 ผลงานด้วยกัน คือ มาตรฐานขนมจีน โดย ดร.ลาวัณย์ ไกรเดช, เอกลักษณ์และคุณภาพของน้ำปลาไทย โดย ดร.วราทิพย์ สมบุญญฤทธิ์ และการศึกษาคุณลักษณะน้ำสับปะรดเข้มข้นของไทย โดย ดร.ทิพากร อยู่วิทยากร ผลงานทั้ง 3 ชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์โดยรวมเพื่อหาเกณฑ์มาตรฐานมาใช้ในการควบคุมคุณภาพ การหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาหารนั้นๆ โดยมาตรฐานที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และเพื่อการส่งออกต่อไปในอนาคต
(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 30)
ข่าวทั่วไป
เร่งจดสิทธิบัตรไหมไทย:ป้องกันต่างชาติฮุบ
คุณหญิงประไพศรี พิทักษ์ไพรวัน รองอธิการบดีไหมไทยเปิดเผยว่า ได้ศึกษาการจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ไหมไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการคุ้มครองไหมไทย ผ้าไทยพื้นเมือง และผ้าไหมศิลปาชีพ เพราะอาจจะถูกต่างชาติฮุบได้ หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้อนาคตไหมไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตร จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เนื่องจากขั้นตอนของการดำเนินการจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์นั้น จะต้องอาศัยกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรจะมีการจดสิทธิบัตรอย่างไร อีกทั้งต้องการให้กระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง สามารถมีผลคุ้มครองได้ในทันที นอกจากนี้ในส่วนของลวดลายผ้าทอต่างๆ ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นของไทย เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน ที่จะต้องมีการจดลิขสิทธิ์เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ ป้องกันการลอกเลียนแบบในอนาคต (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 10)
ให้ผู้ปกครองสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์น้ำให้แจ้งกรมประมงภายใน120วัน
นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า บัดนี้ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายให้ไปแจ้งชนิดและจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 120 วันคือตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2546 ทั้งนี้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์น้ำให้แจ้งที่กรมประมงหรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์น้ำหมายรวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกด้วย หากผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์น้ำแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตถูกต้องและประสงค์จะแจ้งการครอบครองกับกรมประมงให้ปฏิบัติดังนี้ ในกรุงเทพให้แจ้งที่ ส่วนอนุญาตและจัดการประมง จังหวัดอื่นให้แจ้งสำนักงานประมงจัดหวัดในท้องที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2562-0600 ต่อ 2104 หรือ 0-2561-4689
(เดลินิวส์ อังคารที่ 17 มิถุนายน 2546 หน้า 12)
จับมือส.สุราพื้นบ้าน-เทคโนฯราชมงคล สมอ. ดันสินค้าเข้าสู่มาตรฐานชุมชน
นายสุรชัย เถลิงโชค เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตไวน์และสุราพื้นบ้าน และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อพัฒนาการผลิตสินค้าสุราพื้นบ้านให้ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อรองรับโครงการมหัศจรรย์ภูมิปัญญาเมรัยไทย ที่เป็นนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการผลิตสุราพื้นบ้านของไทย โดยสมาคมผู้ผลิตไวน์และสุราพื้นบ้านจะทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มผู้ผลิตสุราและไวน์ต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สำหรับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจะทำหน้าที่ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ และหลังผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบแล้ว สมอ.จะสรุปผลและเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (กมช.) เพื่อพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์นั้นได้ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทไวน์ผลไม้ สาโท และไวน์สมุนไพรแล้ว และเตรียมประกาศมาตรฐานสุรากลั่นชุมชนและเมรัยเพิ่มเติมเชื่อว่าผู้ผลิตสุราพื้นบ้านจะให้ความสนใจขอรับการรับรองมาตรฐานมากขึ้น จากที่มาของรับรองมาตรฐานแล้ว 100 ราย (มติชน เสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 6)
สธ.หนุนทำศูนย์กลางสุขภาพเอเชีย
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของประเทศไทย ว่า การดำเนินาการตามโครงการนี้ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อทำการตลาดสู่ตลาดโลก ที่จะเริ่มในต้นปีหน้านี้จากขณะนี้ชาวต่างชาตินิยมการนวดและสปาของไทยมาก จำเป็นต้องสร้างเป็นตราสินค้าไทยในตลาดโลกเช่นเดียวกับอาหารไทยโดยจะคัดเลือกบริการบรรจุรายการนี้ในสิทธิของไทยแลนด์เมมเบอร์การ์ด ที่จะขายให้ต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง บัตรละ 1 ล้านบาท 1 ล้านใบด้วย นางสุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า สธ.ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เร่งพัฒนาบริการด้านสุขภาพรองรับการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติชูประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของเอเชีย จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบกำหนดเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีนี้ จะสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะนี้คณะทำงานได้มีการประชุมจัดทำแผนพัฒนาทั้ง 3 พื้นที่นี้แล้ว ตั้งงบดำเนินการในช่วงปี 2546-2547 เป็นเงิน 115 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯ 68 ล้านบาท ภูเก็ต เชียงใหม่ แห่งละ 23 ล้านบาท จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 11)
อย.เตือนขายยาในเน็ตตุ๋นคนซื้อแถมผิดกม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมระดมสมองเรื่องภาคีความร่วมมือยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการพูดถึงเรื่องที่พบเด็กวัยรุ่นใจแตกสั่งซื้อยาทำแท้งชนิดอาร์ยู 486 ทางอินเทอร์เน็ตมารับประทานเอง ซึ่งยาชนิดที่สั่งซื้อเป็นยาที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย เพราะเป็นยาอันตรายมาก น.พ.ศุภชัย คณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ยาอาร์ยู 486 เป็นยาที่ยังไม่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย เป็นยาที่อันตรายและห้ามจำหน่าย ฉะนั้นคนใช้ต้องรู้ว่าเป็นยาอันตราย ถ้าใช้ผิดวิธีอาจถึงแก่ชีวิต จากข้อมูลที่ อย.ดำเนินการเก็บข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคที่สั่งซื้อ เนื่องจากเสียเงินไปแต่ไม่ได้ยาตามที่ต้องการหรือเสื่อมคุณภาพเพราะฉะนั้นการซื้อยาจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการจ่ายยาจากบุคคลในวิชาชีพสาธารณสุข (มติชน จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 18)
นักอนุรักษ์ตื่น! พบเพิ่ม แต้วแร้วท้องดำ ป่าพม่า
สมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติแห่งประเทศไทย แจ้งว่า เบิร์ดไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือสมาคมอนุรักษ์นกนานาชาติ แจ้งข่าวกับประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ว่าคณะสำรวจนกจากสมาพันธ์อนุรักษ์นก และธรรมชาติของประเทศพม่า หน่วยป่าไม้เขตตะนาวศรี ซึ่งเข้าไปสำรวจพื้นที่ทางภาคใต้ของเขตเทือกเขาตะนาวศรี ประเทศพม่า เป็นเวลา 1 เดือน ได้พบประชากรนกแต้วแร้วท้องดำถึง 4 แห่ง โดย 1 ใน 4 แห่งดังกล่าวพบมากถึง 12 คู่ อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจยังพบด้วยว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุกทำลายป่าไม้อย่างหนัก ปรากฏการดังกล่าวจะเป็นภัยต่อความอยู่รอดของนกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดนี้อย่างมาก นายสมเกียรติ เศรษฐิน นายกสมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความพยายามในการอนุรักษ์นกแต้วแร้วท้องดำที่ประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้จะลดความเข้มข้นลงไป แต่ต้องทำงานอย่างหนักขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าขณะนี้มีความร่วมมือจากทุกพื้นที่ทั่วโลกที่เป็นแหล่งที่อยู่ของนกชนิดนี้เอาไว้เพื่อไม่ให้สูญหายไปเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ (มติชน จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 18)
ทีเอ เปิดอินเตอร์เน็ต ไว-ไฟ ปรับทิศทางสื่อสารครบวงจร
แหล่งข่าวจาก บริษัท เทเลคอมเอเซียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน นี้ ทีเอจะเปิดตัวบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้ชื่อว่า ทีเอไว-ไฟ สำหรับให้บริการในพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยจะเริ่มให้บริการแห่งแรกที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังจากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการที่อื่นต่อไป บริการดังกล่าวเป็นบริการอินเตอร์เน็ตสำหรับประชาชนทั่วไปผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ของทีเอ ส่วนบริษัท เอเชีย อินโฟเน็ท บริษัทในกลุ่มทีเอจะเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต กำหนดรูปแบบค่าใช้จ่ายการให้บริการเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ เหมาจ่ายเป็นแพ็กเกจและซื้อบริการชั่วโมงจากบัตรอินเตอร์เน็ตของเอเชียเน็ต (มติชน จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 9)
เครื่องตรวจมะเร็งขนาดจิ๋ว
วารสาร นิว ไซแอนทิสต์ รายงานว่า นายคลาร์บรูโน เวดรุชชิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญญา และบริษัท กาลิเลโอ อาวิโอนิก้า ลงมือประดิษฐ์อุปกรณ์และทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่เรียกว่า ทริมโพร๊บ (TRIMPROBE) เครื่องตรวจหามะเร็งขนาดพกพามีลักษณะเป็นท่อนพลาสติกสีขาวใช้กวาดทั่วร่างกายคนไข้คล้ายเครื่องตรวจจับโลหะตามสนามบิน อุปกรณ์นี้จะมีเสาอากาศที่ปล่อยลำแสงไมโครเวฟหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงมาก ตั้งแต่ 400 เมกะเฮิรตช์ และบริเวณที่เป็นเนื้องอกจะปล่อยคลื่นไมโครเวฟความถี่ประมาณ 400 เมกะเฮิรตซ์สะท้อนกลับมายังเครื่อง
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 3)
มือถืออันตรายต่อประสาทหนังศีรษะ
มีรายงานจากแพทย์จากศูนย์แพทย์คอฟิลด์ในรัฐวิกตอเรียว่า พบผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแล้วรู้สึกปวดแสบปวดร้อน แถวหู ขมับ หรือท้ายทอย โดยชายอายุ 72 ปีคนหนึ่ง มีอาการปวดหัวข้างขวาซึ่งเป็นข้างที่เขาใช้มือถือเป็นประจำ โดยอาการปวดเหมือนกับโดนมีดขูดที่หนังศีรษะ และจะปวดร้าวที่ศีรษะด้านขวาเรื่อยมาถึงแก้มและคอ และหลังจากที่แพทย์ตรวจแล้ว พบร่องรอยของประสาทซีกขวาเป็นอันตรายบางส่วน แต่ซีกซ้ายไม่เป็นอะไร นักวิจัยบอกว่าหลังจากตรวจผู้ใช้มือถือ 40 ราย ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่แพทย์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่เกิดจากความร้อนของตัวโทรศัพท์แน่ และธรรมชาติของหนังศีรษะก็มีระบบทำความเย็นชั้นหนึ่งอยู่แล้ว แพทย์จึงสันนิษฐานว่าคงเกิดจากคลื่นโทรศัพท์มือถือไปรบกวนการทำงานของประสาทหนังศีรษะมากกว่า ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดลงไปว่า คลื่นจากโทรศัพท์มือถือสามารถทำอันตรายต่อประสาทหนังศีรษะได้ แต่ทางที่ดีเราก็ไม่ควรใช้มือถือโทรฯเป็นเวลานาน หรือหากมีกิจธุระที่ต้องโทรฯนานก็ควรใช้แฮนด์ฟรีจะดีกว่า
(เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2546 หน้า 35)
เบรกอุทยานใต้ทะเลหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม
ที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา นายไพรัช สุทธิธำรงสวัสดิ์ นายกเมืองพัทยา เป็นประธานประชุมพิจารณาการจัดทำโครงการมหัศจรรย์ใต้ทะเลที่นำเสนอโดยตัวแทนจาก บริษัท ไฮเทค ซับมารีน จำกัด หรือบริษัทเรือดำน้ำรายใหม่ที่จะมาเปิดดำเนินการในพื้นที่อ่าวเมืองพัทยา ที่ขออนุญาตการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเล บริเวณด้านทิศเหนือของเกาะครก เพื่อใช้เป็นจุดชมวิวให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการในเรือดำน้ำลำใหม่ที่ใกล้จะเปิดดำเนินกิจการภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากเมืองพัทยา สำนักงานขนส่งทางน้ำภูมิภาคที่ 6 สำนักงานประมง และกลุ่มประมงพื้นบ้านเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ด้านนายสนิท บุญมาฉาย สมาชิกสภาเมืองพัทยากล่าวเสริมว่า สำหรับเรือดำน้ำที่ทางบริษัทจะนำเข้ามาประกอบการนั้น ที่ผ่านมาเคยมีการนำเรื่องเข้าชี้แจงต่อสภาเมืองพัทยาให้รับทราบและมีการลงมติไม่เห็นชอบให้ใช้เส้นทางเดินเรือตามแนวอ่าวเนื่องจากหวั่นความปลอดภัยทางทะเล ส่วนการนำเสนอการจัดทำโครงการนั้นเมื่อดูจากพื้นที่แล้วคงไม่สามารถยินยอมหให้ทำการก่อสร้างได้ เนื่องจากจุดที่สร้างเป็นร่องน้ำที่เรือโดยสารและเรือท่องเที่ยวจำนวนกว่า 1,000 ลำ ในเขตเมืองพัทยาใช้เป็นเส้นทางสัญจร ซึ่งหากมีการอนุมัติก็อาจส่งผลกระทบในด้านอุบัติทางทะเลในอนาคตได้ ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวในที่ประชุมได้ลงมติให้ถอนโครงการดังกล่าวออกไปเป็นการเบื้องต้น โดยมอบหมายให้ทางบริษัทไปทำการศึกษารูปแบบและปรับปรุงโครงการเพื่อนำเสนอใหม่อีกครั้งก่อนจะร่วมพิจารณาหาความเหมาะสมต่อไป (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 34)
ฉีดกาวเข้าไปซ่อมกระดูกสันหลัง ผนึกกระดูกแตกหักให้แน่นเข้าที่
ศัลยแพทย์กระดูกสหรัฐฯได้ค้นพบเทคนิคในการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังที่ทรุดของคนไข้โรคกระดูกเสื่อม ด้วยการฉีดอัดกาวพิเศษเข้าไปตรงบริเวณที่กระดูกสันหลังแตกหัก กาวจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวประสาน ผนึกกระดูกที่แตกหักให้กลับเข้าที่และมีความแข็งแรง การผ่าตัดตามวิธีการนี้ใช้เวลา แค่ชั่วโมงเดียว โดยใช้แต่ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น นอกจากนั้นกาวที่ฉีดอัดเข้าไป ยังไปช่วยป้องกันไม่ให้ปลายกระดูกที่หักไปบดตำปลายประสาททำให้คนไข้ต้องเจ็บปวดทรมานอย่างหนักอีกด้วย แต่วิธีนี้จะได้ผลนั้นขึ้นอยู่กับต้องทำให้ถูกจังหวะในช่วงที่กระดูกเริ่มจะฟื้นคือกลับซ่อมแซมตัวเองด้วย ซึ่งมักจะเป็นหลังจากกระดูกหักมานานไม่เกิน 6 เดือน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 หน้า 7)
สธ.ไทยปิ๊งกฎออสซี่ป้องพวกถ้ำมอง ห้ามพกโทรศัพท์มือถือเข้าสระว่ายน้ำ
มีรายงานว่าประเทศออสเตรเลีย ได้มีการออกกฎเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกสั่งห้ามการใช้งานตามสระว่ายน้ำทั่วประเทศ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะมีการลักลอบใช้กล้องถ่ายภาพที่ไม่เหมาะสม ระเบียบข้อห้ามดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในสถานให้บริการออกกำลังกาย สระว่ายน้ำและศูนย์กีฬาจำนวนมากกว่า 300 แห่ง ในสังกัดของสมาคมวายเอ็มซีเอ แห่งออสเตรเลีย โดยภายใต้ระเบียบใหม่นี้ผู้เข้าใช้บริการสระน้ำ โดยเฉพาะการเข้าไปใช้ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวสาธารณะจะไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปด้วย โดยทางวายเอ็มซีเอระบุว่า เป็นมาตรการป้องปรามต่อภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากการแอบถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลบนโทรศัพท์มือถือ (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2546 หน้า 12)
ระวังเด็กอ้วน-เบาหวาน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ เตือน 1 ใน 3 ของเด็กอเมริกันที่เกิดในปี 2543 จะเป็นโรคเบาหวาน หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินโดยบริโภคน้อยแต่ออกกำลังกายมากขึ้น ด้านองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ในปี 2568 หรืออีก 22 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 140 ล้านคน เป็น 300 ล้านคน โดย 60 ล้านคนเป็นผู้ป่วยในอินเดีย และ 45-50 ล้านคนอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้วงการแพทย์ยากต่อการรับมือ (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 หน้า 2)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|