หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 21 ประจำวันที่ 2003-06-17

ข่าวการศึกษา

ไฟเขียวแจกจักยาน3แสนคันเด็กป.4
ร้องศาลปกครองคืนเงินหลักสูตรทัศนศาสตร์รามฯอ้างคุณภาพไม่เป็นตามโฆษณา/ไร้อาจารย์ตปท.อุปกรณ์ตกรุ่น
อุ้มเด็กพิการจัดสอนถึงบ้าน
ร.ร.วัดพรุเตียวเผยปลูกอ้อยทำน้ำผึ้ง
หนุนบัณฑิตอุดมคติเป็นหน่วยกิต
ยืดเวลาให้เงินกู้เรียน น.ศ.ที่เจ็บป่วย
หนุนลดสาระหลักสูตรใหม่ ชี้ทำให้เด็กเครียดมากขึ้น
เปิดวิทยานิพนธ์สะท้อนชีวิตเศร้า ‘กะเทยมุสลิม’

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ปล่อยขบวนอุปกรณ์แพทย์ไฮเทค เพื่อเผด็จศึกโรคหัวใจและมะเร็ง
ญี่ปุ่นพัฒนาปลอกคอ ‘จีพีเอส’
ล่าสุด..กับดาวอังคาร

ข่าววิจัย/พัฒนา

ม.สุรนารีจดสิทธิบัตรงานวิจัยเทคโนโลยีอาหาร
เตือนบริโภคปลาเพื่อบำรุงสมอง หลงกินปลามีปรอทกลับทำให้โง่
ตัดแต่งยีนลดคาเฟอีนต้นกาแฟ
สมุนไพรไทย แก่นกิ่งหม่อน-รากอบเชยรักษาหน้าหมองคล้ำ จุดด่างดำ
ม.สงขลานครินทร์แนะนำการผลิตเนื้อสุกรด้วยสมุนไพร
โทรศัพท์มือถือก่อโรคผิวหนัง เหตุสร้างความเครียดทั้งกายและใจ
สมุนไพรไทยยับยั้งเซลล์มะเร็ง
ศึกษาพบทารกเรียนรู้การพูด แบบเดียวกับนกร้องเพลง
ดอกเบญจมาศ พานักวิทย์คว้ารางวัลฯ
หมอไทยพบกลไกเกิดไข้เลือดออก “ไวรัสเด็งกี่” เป็นเหตุมี 4 สายพันธุ์

ข่าวทั่วไป

เทคนิคโปรโมตเว็บให้ติดอันดับกูเกิล ต้องออกแบบภาพกับอักษรสมดุลกัน
ก.พลังงานทุ่มงบฯ10ล้านมอบมข.จัดรวมพลังหาร2
เตือนนักกินหมูกะทะ-เนื้อย่างห้องแอร์อันตรายสูดก๊าซพิษ-เป็นลมแล้ว5ราย
ฝั่งทะเลบางขุนเทียนแผ่นดินหาย4พันไร่ –ถูกน้ำเซาะปีละ 10 ม.
จะเริ่มสารสนเทศชีวภาพในไทย
ท่องเว็บสะดวกใจชื่อไทยไม่มีดอท





ข่าวการศึกษา


ไฟเขียวแจกจักยาน3แสนคันเด็กป.4

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่าที่ประชุมเห็นชอบการผลิตจักรยานยืมเรียน 3 แสนคัน คันละ 1,072.55 บาท โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล เพื่อนำไปแจกให้นักเรียนชั้น ป.4 ขึ้นไป ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2546 นี้ ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นเด็กยากจน ครอบครัวมีรายได้รวมกันไม่เกินปีละ 3,0000 บาท และบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร (มติชน พุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า 12)





ร้องศาลปกครองคืนเงินหลักสูตรทัศนศาสตร์รามฯอ้างคุณภาพไม่เป็นตามโฆษณา/ไร้อาจารย์ตปท.อุปกรณ์ตกรุ่น

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นางสุดา อัศวโภคิน ผู้ปกครองของนายธนัท บูรพาธนะ อดีตนักศึกษาหลักสูตรทัศนศาสตร์บัณฑิต สาขาทัศนศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการจัดหลักสูตรดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพโฆษณา โดยตนได้พาบุตรชายคือนายธนัทไปพบนายวีรชัย สิงหเทพ รองผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งแจ้งว่าเป็นโครงการใหม่ที่ไม่เคยเปิดสอนในไทยเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่าสหรัฐอเมริกา อาจารย์ผู้สอนจะเป็นอาจารย์ต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านนี้ โดยเสียค่าเล่าเรียนเพียง 1 ล้านบาท หากเรียนต่างประเทศต้องเสียค่าเล่าเรียนถึง 10 ล้านบาท นายธนัทจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรดังกล่าว นางสุดากล่าวต่อว่า ตนได้ตรวจสอบไปยังทบวงฯ ก็พบว่ายังไม่ได้อนุญาตให้เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ ส่วนหลักสูตรภาษาไทยนั้นอยู่ระหว่างขออนุญาตจึงได้ร้องเรียนนายปองพล แต่เรื่องยังเงียบอยู่ จึงได้ร้องเรียนไปยังศาลปกครอง เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และขอเรียกร้องเงินคืน เนื่องจากได้จ่ายค่าเล่าเรียนไปแล้ว 1 แสนกว่าบาท แต่ได้คืนเพียง 4 หมื่นบาทเท่านั้น โดยศาลปกครองได้รับฟ้องแล้ว และกล่าวอีกว่าตนไม่เข้าใจจริงๆ ว่ามหาวิทยาลัยทำไมถึงเป็นอย่างนี้ อาจารย์ต่างประเทศก็ไม่มี เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ฝรั่งที่มาก็บอกว่ามหาวิทยาลัยไม่น่าซื้อมาเพราะตกรุ่นแล้ว และสิ่งที่ทำให้ตัดสินในฟ้องศาลปกครอง ก็เพราะไม่ต้องการให้พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กคนอื่นๆ ถูกหลอก (มติชน พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 20)





อุ้มเด็กพิการจัดสอนถึงบ้าน

นายดิลก พัฒนชัยโชติ รองเลขาธิการการประถมศึกษาแห่งชาติกล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานวันฟ้าใส รินน้ำใจสู่เด็กพิการตามบ้าน ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมอมรินทร์ลากูน จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆนี้ ว่า เด็กพิการตามบ้านมีความพิการรุนแรงมาก ชีวิตของเด็กกลุ่มนี้น่าสงสาร ขาดสังคม ขาดคนดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน โอกาสการเสียชีวิตของเด็กพิการย่อมมีมากขึ้นด้วย นายสมเดช สีแสง ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด (ผอ.ปจ.) พิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้สำรวจเด็กพิการวัยเรียนตามบ้านในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนใน 9 อำเภอ พบว่ามี 136 คน และเข้ามาเป็นนักเรียนแต่ตัวอยู่ที่บ้าน โดยมี “ครูอาสาสอน” ในโรงเรียน ช่วยเหลือดูแลด้านการศึกษา สัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมดูแลด้านสุขภาพอนามัย ให้คำแนะนำปรึกษา การประสานกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาบำบัดฟื้นฟูและการพัฒนาอย่างถูกวิธีตามศักยภาพของเด็กเป็นรายบุคคล โดยได้รับความเข้าใจและความร่วมมืออันดีจากผู้ปกครอง (มติชน พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 21)





ร.ร.วัดพรุเตียวเผยปลูกอ้อยทำน้ำผึ้ง

นายอารมณ์ เพ็ชรลูก ผู้บริหารโรงเรียนวัดพรุเตียว อ.เขาพนม จ.กระบี่ เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนทำโครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จหมด อย่างเช่น โครงการสร้างสวนปาล์มน้ำมัน โครงการเลี้ยงปลาดุก กระทั่งมาถึงโครงการปลูกอ้อย เมื่อทางโรงเรียนได้บรรจุหลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มวิชาการงานพื้นฐานอาชีพนักเรียนระดับ ป.4-ป.6 จำนวน 3 ห้องเรียน 120 คน ได้ใช้ที่ดินของโรงเรียน 5 ไร่ เพื่อที่จะได้บริโภคน้ำอ้อยสด และแปรรูปเป็นน้ำผึ้งอ้อยบรรจุขวด 1 ลิตร ในราคา 10 บาท สามารถนำเงินส่วนนี้มาสมทบโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียน เมื่อเห็นว่าไปได้ดีจึงได้ขอเช่าที่ดินชาวบ้าน และขอการสนับสนุนจากชาวบ้านเพิ่มเป็น 10 ไร่ นายศุภฤกษ์ รอดเจริญ อาจารย์ 2 ระดับ 7 อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การผลิตน้ำผึ้งอ้อยของนักเรียน แบ่งเป็น 2 ช่วงคือช่วงในคาบเรียน การเรียน การสอน จะเน้นกระบวนการการผลิตเพื่อการบริโภคน้ำอ้อยสด และช่วงที่ 2 จะผลิตในวันหยุด นำต้นอ้อยมาหีบน้ำอ้อยด้วยเครื่องโบราณ “แขนข้างหีบอ้อย” เมื่อได้น้ำอ้อยมาจะนำไปตั้งไฟเคี่ยวจนมีความเข้มข้น มีความหนืด พอเหมาะกับน้ำผึ้งบรรจุขวด จำหน่ายในชุมชน (มติชน พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 21)





หนุนบัณฑิตอุดมคติเป็นหน่วยกิต

ดร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมสัมมนาเรื่อง “การดำเนินงานเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลางเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย” ว่า ทบวงฯมีนโยบายผลิตบัณฑิตอุดมคติอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาจัดโครงการส่งเสริมบัณฑิตอุดมคติให้มีความรู้ทักษะวิชาการ วิชาชีพ ทักษะชีวิต คิดเป็นระบบ แก้ปัญหาได้ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตสำนึกความเป็นไทย โดยเฉพาะโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งต่อไปอาจจะพัฒนาเป็นรายวิชาที่สามารถใช้เป็นหน่วยกิตในการเทียบโอนระหว่างสถาบันได้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตามแนวทางการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติสู่อนาคตนั้น บัณฑิตต้องเก่งดีมีแนวคิดเชิงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาก็ต้องสร้างเครือข่ายและร่วมกันระดมสรรพกำลังเพื่อการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย ลุ้นเทียบโอนโครงการเรียนรู้ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





ยืดเวลาให้เงินกู้เรียน น.ศ.ที่เจ็บป่วย

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการบริหาร กยศ. ได้พิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วย หรือเรียนดีแต่มีปัญหาทำให้ผลการเรียนตกต่ำ ให้ยืดระยะเวลาในการกู้เงินฯออกไปอีกเป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่กำหนดให้กู้ได้ตามระยะเวลาที่เรียนตามหลักสูตรเท่านั้น โดยเสนอให้ผู้จัดการ กยศ.เป็นผู้อนุมัติเป็นรายๆ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้มีทุนเรียนจนจบ ซึ่งผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี และเตรียมเสนอคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 เช่นกัน ส่วนที่ กยศ. กำหนดเกณฑ์ให้สถาบันอุดมศึกษา 2546 กู้ได้ไม่เกิน 18% ของจำนวนนักศึกษาใหม่นั้น ขอให้ทุกสถาบันแจ้งรายชื่อ และจำนวนนักศึกษาที่ยากจนจริงแต่จำนวนเกินเกณฑ์ดังกล่าว มายังทบวงฯ เพื่อพิจารณาจัดสรรให้เพิ่มเติมแก่นักศึกษาที่เดือดร้อนจริงๆ ได้กู้ยืม (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





หนุนลดสาระหลักสูตรใหม่ ชี้ทำให้เด็กเครียดมากขึ้น

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผอ.ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่างถึงกรณีที่มีตัวแทนเด็กแสดงความเห็นว่าหลักสูตรใหม่ที่จัดเป็น 8 กลุ่ม สาระการเรียนรู้จะยิ่งทำให้เด็กเครียดและเกิดความทุกข์ว่า โดยส่วนตัวตนก็เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรจะลดเนื้อหาการเรียนลง 20-30% หรือเหลือเพียง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกำหนดมาตรฐานเหลือเพียง 40 มาตรฐาน เพื่อให้เด็กมีโอกาสและเวลาในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสังคม สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมเพิ่มขึ้น และได้แสดงออกกับกลุ่มเพื่อน เพื่อช่วยลดความตึงเครียดให้กับเด็ก และมีเวลาระบายปัญหาซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ไม่มีทางออกและตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรงเหมือนที่เป็นข่าวทุกวันนี้ (เดลินิวส์ วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2546 หน้า 24)





เปิดวิทยานิพนธ์สะท้อนชีวิตเศร้า ‘กะเทยมุสลิม’

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน มีการนำเสนอวิทยานิพนธ์ของ น.ส.สมฤดี สงวนแก้ว อายุ 26 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “กระเทยในสังคมมุสลิม” โดยเก็บข้อมูลวิธีชีวิตของกะเทยในจังหวัดปัตตานี อายุ 19-24 ปี และ 25-39 ปี จำนวน 15 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นชนชั้นกลาง มีอาชีพครู รับราชการ และค้าขาย น.ส.สมฤดีกล่าวว่า ตนสนใจชีวิตของกะเทยมุสลิมเพราะเป็นสังคมที่เคร่งครัดทางศาสนามาก ในบทบัญญัติของศาสนาระบุว่า ห้ามมีการแปลงเพศ ห้ามเปลือยกายใต้ผ้าห่มกับชายด้วยกัน อีกทั้งถือการเป็นกะเทย เป็นสิ่งผิดและบาป ชายที่เป็นกะเทยจะถูกชาวมุสลิมเรียกว่า “ปอแน” เป็นคำดูถูก เหยียดหยามจากการเก็บข้อมูล กะเทยมุสลิมใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนมีความกดดัน คนรอบข้างพูดจาประชดตลอดเวลาว่าเป็นพวกหนักโลก กะเทยเหล่านี้ไปไหนจะถูกไล่และขว้างปาสิ่งของ ที่รุนแรงกว่านั้นคือ ถูกผู้ชายลากไปรุมทำร้าย (มติชน พุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ปล่อยขบวนอุปกรณ์แพทย์ไฮเทค เพื่อเผด็จศึกโรคหัวใจและมะเร็ง

รายงานความก้าวหน้าของโลกการแพทย์แจ้งว่า อีกไม่นานจะมีอุปกรณ์การแพทย์อันทันสมัยออกมาใช้กันหลายอย่าง อาทิ เครื่องตรวจเลือดซึ่งใช้เลือดเพียงหยดเดียวจะสามารถสกัดเอาดีเอ็นเอ และจากดีเอ็นเอตัวนั้น จะถูกนำไปใช้วิเคราะห์ค้นหาเซลล์ผิดปกติที่แฝงอยู่ในดีเอ็นเอออกมา ซึ่งจะทำให้ทราบช่องทางที่โรคและไวรัสที่อาจจะเข้าเบียดเบียนได้ รวมทั้งความผิดปกติของเลือดลักษณะต่างๆด้วย เครื่องตรวจเลือดนี้จะถูกสร้างให้กับแพทย์ได้ใช้ภายในเวลาอีก 3 ปีนี้ นอกจากนั้นยังมียาเม็ดที่เป็นเครื่องส่งวิทยุทำด้วยวัตถุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ สำหรับคนไข้โรคหัวใจและโรคมะเร็ง กินเข้าไปในร่างกายแล้วจะรายงานให้ทราบถึงอาการรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น (ไทยรัฐ วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





ญี่ปุ่นพัฒนาปลอกคอ ‘จีพีเอส’

บริษัทเซคอม ผู้ให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยในบ้านและสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดรับติดตามสุนัขสูญหายไปจากบ้านด้วยการติดอุปกรณ์ติดตามสุนัขที่อาศัยระบบระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียมหรือจีพีเอสและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือไว้ที่รอบคอของสุนัขหรือติดไว้ที่ด้านหลังของสุนัขที่ใช้สายรัดแบบเต็มตัว โดยที่อุปกรณ์จีพีเอสนี้มีน้ำหนักเพียง 48 กรัมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์จีพีเอสซึ่งเล็กที่สุดในโลกที่มีอยู่ในขณะนี้ และด้วยขนาดที่เล็กและเบามากนี้เอง จึงไม่ทำความรำคาญให้กับสุนัขแต่อย่างใด แต่ก็อาจจะใหญ่และหนักไปสำหรับสุนัขหรือแมวที่มีขนาดเล็กมากๆ เซคอม เผยว่า เจ้าของสุนัขจะสามารถทราบตำแหน่งของสุนัขดังกล่าวได้ในเวบไซต์ที่มีเตรียมไว้ให้ผู้ใช้เพียงแต่พิมพ์ชื่อและรหัสผ่านก็สามารถรู้ตำแหน่งของสุนัขบนแผนที่ที่แสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้หรือจะเลือกการโทรศัพท์ไปศูนย์รับเรื่องของบริษัทเซคอม เพื่อช่วยบอกตำแหน่งหรือค้นหาสุนัขให้ ทั้งนี้ เทคโนโลยีติดตามสุนัขชนิดนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับบริการติดตามเด็กเล็ก คนชรา และรถยนต์ ซึ่งบริษัทเซคอมเปิดตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2544 (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 9)





ล่าสุด..กับดาวอังคาร

โครงการสำรวจดาวอังคารของทางอเมริกาใช้ชื่อภารกิจว่า “Mars Exploration Rover” ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์สำรวจ 2 ตัว มีชื่อว่า “Spirit” และ “Opportunity” หุ่นยนต์สองตัวนี้จะส่งข้อมูลที่เป็นภาพและข้อมูลดิบทางวิทยาศาสตร์กลับมายังโลก โดยต้องอาศัยการเดินทางของสัญญาณกว่า 10 นาที เพื่อค้นหาร่องรอยการมีอยู่ของน้ำซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งเพื่อสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่าน้ำอาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ทางด้านสหภาพยุโรปก็มีโครงการสำรวจที่ใช้ชื่อภารกิจว่า “Mars Express” ที่ไม่ได้เน้นหนักไปกับการสำรวจร่องรอยของน้ำมากนัก หากแต่จะทำการสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างทั้งดินและหินรวมไปถึงอนุภาคต่างๆ บริเวณพื้นผิวเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปริมาณที่มีอยู่ของธาตุคาร์บอนไอโซโทปต่างๆ สำหรับทางเอเชียก็มีโครงการสำรวจเช่นกัน โดยเป็นโครงการของ Institute of Space and Astronautical Science แห่งประเทศญี่ปุ่นที่ส่งยานสำรวจชื่อ Nozomi ออกไปเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของชาวผิวเหลือง ที่นอกจากงานสำรวจทั่วไปแล้วก็ยังจะทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลมสุริยะที่พัดกระหน่ำอยู่บนดาวอังคารอีกด้วย (เดลินิวส์ วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ม.สุรนารีจดสิทธิบัตรงานวิจัยเทคโนโลยีอาหาร

ดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยถึงความสำเร็จในการสกัดโปรตีนซิริซิน ออกจากรังไหมด้วยกรรมวิธีผลิตที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นภายในประเทศได้ผลผลิตสูงและปราศจากสารเคมีตกค้างสามารถนำไปใช้ในการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเครื่องนุ่งห่มได้เป็นอย่างดี โปรตีนซิริซินถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น จากการสังเกตพบว่า พนักงานสาวไหมที่มือเปียกอยู่ตลอดวันระหว่างการทำงาน มีมือที่นุ่มและเนียน ไม่เปื่อยยุ่ยหรือเป็นแผล หลังจากการศึกษาจึงค้นพบว่าโปรตีนซิริซิน เป็นสารที่ทำให้เกิดคุณสมบัตินี้ และยังพบว่าซิริซินมีคุณสมบัตินุ่มและลื่น เมื่อนำไปเคลือบอยู่บนผิวหน้าของวัสดุธรรมชาติและสังเคราะห์ ช่วยดูดซับแสงยูวีระงับกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสีเมื่อผิวได้รับแสงแดด เป็นสารระงับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ต่อต้านการเกิดออกซิเดชั่น ส่วนอีกหนึ่งผลงาน ดร.มาโนชญ์ มหาบุญญานนท์ ได้พัฒนากรรมวิธีการผลิตพาสต้าจากข้าวเจ้าสำหรับผู้บริโภคที่แพ้โปรตีนจากแป้งข้าวสาลีและทดแทนการใช้แป้งสาลีในการผลิตพาสต้า กระบวนการผลิตที่พัฒนาขึ้นมานี้เป็นกระบวนการแบบต่อเนื่อง ทำให้มีผลผลิตสูง รวดเร็ว โดยเน้นการใช้ข้าวจ้าวที่หาได้ง่ายราคาถูก มาเป็นวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์พาสต้าจากข้าวจ้าว 100% มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพาสต้าที่ทำจากแป้งสาลีและบางคุณสมบัติยังเหนือกว่าพาสต้าปกติ เช่น การติดกันระหว่างเส้นพาสต้าในต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้แป้งผสมกับสารผสมอาหารอื่นๆ เพื่อทำให้ได้คุณสมบัติพาสต้าที่ดี กรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นมานี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปได้ ดร.มาโนชญ์ กล่าวอีกว่า ม.เทคโนโลยีสุรนารีอยู่ระหว่างดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยยื่นจดสิทธิบัตรทั้งสองผลงานแล้วและมีภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางของเอกชนให้ความสนใจหลายราย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า7)





เตือนบริโภคปลาเพื่อบำรุงสมอง หลงกินปลามีปรอทกลับทำให้โง่

วารสารวิทยาศาสตร์ “นิว ไซแอนทิสต์” รายงานถึงการศึกษาวิจัยกับชาวประมงในบราซิล พบว่าพวกเขามีสติปัญญาและความจำเสื่อมลงเพราะมีปริมาณสะสมอยู่ในร่างกาย ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวประมงอาศัยอยู่บริเวณดินแดนแถบปลายแม่น้ำ ซึ่งไหลมาจากแถบที่ทำเหมืองทองหลายแห่งด้วยกัน ในการทำเหมืองทองได้มีการใช้สารปรอท และปลาในแม่น้ำสายนั้นหลายชนิด เช่น ปลาทูนา ปลาฉลาม และปลาแมคเคอรัลพากันดูดซึมสารปรอทเข้าไปอยู่ในตัว และเมื่อชาวประมงจับปลาไปกิน จึงได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายอีกต่อหนึ่ง (ไทยรัฐ วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





ตัดแต่งยีนลดคาเฟอีนต้นกาแฟ

นักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนาระ ประเทศญี่ปุ่น ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมช่วยลดปริมาณคาเฟอีนในต้นกาแฟให้น้อยลงแต่ยังคงรสชาติไว้ไม่เปลี่ยนแปลง นักวิจัยญี่ปุ่นใช้เวลาวิจัยถึง 7 ปีและปัจจุบันต้นกาแฟที่ผ่านการตัดแต่งทางยีนมีอายุราว 1 ปีแล้ว ซึ่งต้องรออีก 4-5 ปี จึงจะรู้ปริมาณคาเฟอีนที่แน่นอนในเมล็ดกาแฟ จากการทดลองเบื้องต้นพบว่าต้นกาแฟที่ผ่านการตัดแต่งทางยีนมีกาเฟอีนน้อยกว่าต้นกาแฟปกติราว 50-70% และคณะทำงานกำลังประยุกต์ใช้เทคนิคการแทรกแซงอาร์เอ็นเอไอกับต้น C.arabica ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์กาแฟอาราบิกาคุณภาพสูง และได้รับความนิยมในตลาดโลกมากถึง 70% โดยเชื่อว่าวิธีการนี้ จะช่วยลดกระบวนการขยายพันธุ์ให้สั้นลง และนำไปสู่การพัฒนากาแฟสายพันธุ์ใหม่ได้ด้วย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2546 หน้า 8)





สมุนไพรไทย แก่นกิ่งหม่อน-รากอบเชยรักษาหน้าหมองคล้ำ จุดด่างดำ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่รองศาสตราจารย์ ดร.บุญอ้อม ล้วนรัตน์ และคณะ ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเพื่อการพึ่งตนเอง โดยการนำวัตถุดิบจากสมุนไพรไทยมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางลดสีคล้ำบนใบหน้า เพื่อทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และผลักดันให้เครื่องสำอางจากสมุนไพรไทยออกสู่ตลาดโลก ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดรากหม่อนสามารถนำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางที่ช่วยลดความคล้ำบนใบหน้าได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าสารสกัดจากรากของต้นอบเชยเถาก็สามารถนำมาใช้เตรียมสารสกัดเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางลดสีคล้ำบนใบหน้าได้เช่นกัน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2546 หน้า 30)





ม.สงขลานครินทร์แนะนำการผลิตเนื้อสุกรด้วยสมุนไพร

ผศ.ดร.ยุทธนา ศิริวัธนนุกูล จากภาควิชาสัตวศาสตร์คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้บอกถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สมุนไพรในการเลี้ยงสุกรว่าในขณะนี้กลุ่มประเทศยุโรปและประเทศญี่ปุ่นห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้าง วิธีนำสมุนไพรมาใช้แทนยาฏิชีวนะจะเป็นการสร้างความมั่นคง สมุนไพรที่จะนำมาใช้เลี้ยงนั้นจะต้องเป็นสมุนไพรที่จัดอยู่ในสาธารณสุขมูลฐานของกระทรวงสาธารณสุขเพราะได้มีการทดลองว่ามีความปลอดภัยกับมนุษย์ และที่สำคัญควรจะเป็นสมุนไพรที่สามารถขยายพันธุ์หรือเพิ่มปริมาณในเชิงพาณิชย์ได้ พบว่า ฟ้าทลายโจร, ใบฝรั่ง, ขมิ้นชัน, ไพล, และเปลือกมังคุด และพบว่าเนื้อสุกรที่เลี้ยงด้วยสมุนไพรมีรสชาติที่อร่อยกว่า มีเนื้อนุ่มและไม่มีกลิ่นคาวเหมือนกับเนื้อสุกรที่ขายในตลาด (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2546 หน้า 12)





โทรศัพท์มือถือก่อโรคผิวหนัง เหตุสร้างความเครียดทั้งกายและใจ

นักวิจัยของญี่ปุ่นได้พบในการทดลองกับผู้ป่วยโรคผิวหนัง เจอว่าอาการเครียดเมื่อได้ยินสัญญาณเรียกของโทรศัพท์มือถือ ก่อให้โรคผิวหนังปะทุขึ้นได้ เช่นเดียวกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ที่ปลุกให้เกิดความเครียดทั้งทางกายและใจ เมื่อคนเราเกิดความรู้สึกเครียด ร่างกายจะขับฮอร์โมนฮิสตามีนซึ่งจะไปจุดชนวนของอาการแพ้ทางผิวหนังขึ้นได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





สมุนไพรไทยยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและนวัตกรรมวิจัย เรื่อง ร่วมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยภูมิปัญญาตะวันออก เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี การสถาปนาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และในโอกาสนี้ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระดำริถึงงานวิจัยสมุนไพรไทยที่ทรงดำเนินการที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่นอกจากจะเป็นการแสวงหาความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังได้ตัวยาชนิดใหม่จากสมุนไพรไทย เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง โดยงานวิจัยได้ศึกษาสูตรโครงสร้างที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อให้ได้สารที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนสารโคซิซีนจากต้นดอกดึง ที่ปัจจุบันใช้รักษาโรคเกาต์ ทำให้ได้สารอนุพันธ์บางตัวที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าสารโคซิซีน ซึ่งนักวิจัยช่างต่างประเทศให้ความสนใจกับงานวิจัยชิ้นนี้ของพระองค์เป็นอย่างมาก (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2546 หน้า 18)





ศึกษาพบทารกเรียนรู้การพูด แบบเดียวกับนกร้องเพลง

คณะนักวิจัย นำโดยนักจิตวิทยาของแฟรงคลิน-มาร์แชล คอลเลจ ในเมืองแลงคาสเตอร์ ของสหรัฐฯพบว่า เด็กทารกเรียนรู้วิธีการพูดในแบบเดียวกับที่นกเรียนรู้วิธีการร้องเพลง และมีความซับซ้อนมากกว่าการเลียนเสียงแบบง่ายๆ นักวิจัยสหรัฐฯ ซึ่งศึกษากับเด็กอายุ 8 เดือนและแม่ของเด็ก ยังบอกว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกและพ่อแม่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า นกหลายชนิดใช้ปฏิกิริยาตอบกลับในสังคมในการเรียนรู้การร้องเพลง และสำหรับในคนเรานั้น ปฏิกิริยาตอบกลับของแม่ต่อความพยายามออกเสียงของทารกน้อย ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ในการพูดของเด็กเช่นกัน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





ดอกเบญจมาศ พานักวิทย์คว้ารางวัลฯ

ดร.สิรนุช สามศรีจันทร์ ศาสตราจารย์และที่ปรึกษาศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยที่อุทิศตนเพื่อพัฒนางานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี เจ้าของงานวิจัยการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชร่วมกับการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยใช้รังสีแกมมาในดอกเบญจมาศ ซึ่งได้รับรางวัลนักนิวเคลียร์ดีเด่น ประจำปี 2546 เปิดเผยว่าเบื้องต้นได้ทดลองกับดอกเบญจมาศพันธุ์ไทเฮ (Taihei) ที่มีสีดั้งเดิมเป็นสีชมพู ซึ่งหลังจากฉายรังสีแกมมาแล้ว ต้นเบญจมาศที่ได้จะออกดอกเป็นสีขาว สีเหลือง และสีทอง โดยตั้งชื่อดอกเบญจมาศที่ได้จาการฉายรังสีนี้ว่า “พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60” และขณะนี้เตรียมมอบเบญจมาศพันธุ์ดังกล่าวให้กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกเพื่อทำเป็นอุตสาหกรรมต่อไป (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2546 หน้า 16)





หมอไทยพบกลไกเกิดไข้เลือดออก “ไวรัสเด็งกี่” เป็นเหตุมี 4 สายพันธุ์

ที่โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โครงการวิจัยพัฒนาเพื่อการป้องกันและบำบัดโรคแทรกซ้อน (T2 Program) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “การค้นพบกลไกใหม่ในการเกิดโรคไข้เลือดออก” น.พ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ในฐานะนักวิจัยสถานส่งเสริมการวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกกำลังเป็นโรคระบาดที่คุกคามคนทั่วโลก ไม่แตกต่างจากโรคซ่าส์ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ไม่มีแนวโน้มจะลดลง จากเดิมเกิดเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ลุกลามไปถึงอเมริกาใต้ จนถึงมัลดีฟส์ ปัจจุบันมีผู้ป่วยทั่วโลกราว 1 แสนคนต่อปี และมีประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกับการเกิดโรคไข้เลือดออกถึง 1 พันล้านคน โดยโรคไข้เลือดออกมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ มักเกิดในเด็กอายุ 5-8 ปี เด็กที่ถูกยุงลายกัดได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่ เข้าไปในร่างกายจะมีจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นไข้เลือดออก ส่วนใหญ่จะเกิดอาการเมื่อได้รับเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจะช็อกและเสียชีวิต ทั้งนี้การควบคุมทำได้ยากเพราะมียุงลายเป็นพาหะ และเนื่องจากเชื้อไวรัสเด็งกี่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ การได้รับเชื้อครั้งที่ 2 ที่เป็นคนละสายพันธุ์จึงทำให้ผู้รับเชื้อมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อ ทั้งนี้จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดวิจัยหาสาเหตุร่วมกัน (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2546 หน้า 18)





ข่าวทั่วไป


เทคนิคโปรโมตเว็บให้ติดอันดับกูเกิล ต้องออกแบบภาพกับอักษรสมดุลกัน

นายจตุพล ทานาฤทัย ผู้จัดการการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ โฮเทลไทยแลนด์ ดอทคอม กล่าวว่าบริษัทได้ค้นพบเทคนิคการโปรโมตเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ หรือ 1 ใน 10 อันดับแรกของการค้นหาบนเว็บไซต์กูเกิลดอทคอม โดยเทคนิคดังกล่าว ประกอบด้วยการออกแบบเว็บไซต์ให้มีอัตราส่วนระหว่างตัวอักษรและรูปภาพที่สมดุลกัน เพื่อให้โปรแกรมสามารถเรียกหาเว็บไซต์ตามคำค้นได้ง่าย และเมื่อพัฒนาเว็บไซต์แล้วควรติดต่อแล็กลิงค์กับเว็บไซต์อื่นให้มาก เนื่องจากระบบค้นหาของกูเกิลใช้เทคนิคเพจแรงค์เทคโนโลยี (PageRank Technology) ซึ่งเป็นการค้นหาเว็บไซต์ที่มีเว็บอื่นลิงค์ไปหามากที่สุด จึงจะถือว่าเว็บเพจนั้นเป็นเว็บที่มีคุณภาพ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2546 หน้า 7





ก.พลังงานทุ่มงบฯ10ล้านมอบมข.จัดรวมพลังหาร2

นายดำรงค์ หอมดี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยรวมพลังหารสองของ มข. เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนงบประมาณให้ มข.จัดโครงการมหาวิทยาลัยรวมพลังหารสอง ในวงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาทระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่จะนำไปสู่การปลูกฝังสำนึกในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าให้กับนักเรียนนักศึกษา บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดย มข.เป็นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นชุมชนตัวอย่างในการขยายผลต่อไป ซึ่งแบ่งเป็นโครงการย่อย 3 โครงการ คือ โครงการใช้รถจักรยานเพื่อการประหยัดพลังงาน โครงการคัดแยกขยะและขยะอันตราย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (มติชน พุธที่ 18 มิถุนายน 2546 หน้า 21)





เตือนนักกินหมูกะทะ-เนื้อย่างห้องแอร์อันตรายสูดก๊าซพิษ-เป็นลมแล้ว5ราย

นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์ เช่น หมูกะทะ เนื้อย่างเกาหลี กำลังเป็นที่นิยมของคนกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ปัญหาน่าห่วงของร้านอาหารประเภทนี้คือระบบการระบายอากาศ เพราะหากตั้งอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศหรือห้องแอร์มิดชิดเจ้าของร้านควรรอบคอบในเรื่องการไหลเวียนอากาศเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากอาหารประเภทหมูกะทะ เนื้อย่างเกาหลี เมื่อนำมาปิ้งย่างจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นั้นจัดว่ามีอันตรายต่อสุขภาพมาก “ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อสูดเข้าร่างกายจะไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดงแทนที่ก๊าซออกซิเจน จึงทำให้สมองขาดออกซิเจน จะทำให้เกิดความรู้สึกมึนงง ปวดศรีษะจนเป็นลม หมดสติโดยทั่วไปร่างกายจะกระตุ้นให้หัวใจเร่งรัดการสูบฉีดโลหิตมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจจึงไวต่อก๊าซนี้ ซึ่งหากในห้องมีก๊าซนี้เพียงร้อยละ 5 อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ (Cardiac arrythmia) อาจเสียชีวิตได้ เพราะร่างกายขาดออกซิเจน” นางนิตยากล่าว (มติชน พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 18)





ฝั่งทะเลบางขุนเทียนแผ่นดินหาย4พันไร่ –ถูกน้ำเซาะปีละ 10 ม.

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัด ทส. ออกตรวจสภาพการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน หลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทุ่มงบประมาณจำนวนมากแต่ไม่สามารถระงับการกัดเซาะชายฝั่งที่มีมากถึงปีละ 10 เมตร ซึ่งนายประพัฒน์และนายปลอดประสพได้นั่งเฮลิคอปเตอร์เพื่อตรวจสอบภาพรวมของปัญหาและนั่งเรือ ตั้งแต่ปากครองขุนราชพินิตใจ จนถึงบริเวณหลักแบ่งเขต กทม. กับ จ.สมุทรปราการ เป็นระยะทางยาว 5 กิโลเมตร ซึ่งสภาพ 2 ข้างทางมีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างชัดเจน เมื่อนั่งเรือไปได้ระยะหนึ่งได้พบหลักเขต กทม.และเสาไฟฟ้าอยู่กลางทะเลซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่าพื้นที่ที่เรือกำลังแล่นอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้อาศัยอยู่มาก่อน นายสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากการศึกษาตรวจสอบสภาพการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งของทะเลบางขุนเทียนพบว่าสภาพการกัดเซาะชายฝั่งถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากปีละ 10 เมตร บางปีการกัดเซาะสูงถึง 20 เมตร ซึ่งขณะนี้รวมพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะไปแล้วจำนวนมากถึง 3,681 ไร่ เฉพาะในปี 2539 กัดเซาะสูงถึง 1,550 ไร่ (มติชน พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 18)





จะเริ่มสารสนเทศชีวภาพในไทย

เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยจะเริ่มได้อาจจะต้องขอเงินงบประมาณการวิจัยจากรัฐบาลเพราะ 1) วิทยาการด้านการแพทย์ของไทยอยู่ในเกณฑ์แนวหน้าของโลกเช่นกัน งานตีพิมพ์จากแพทย์ไทยลงพิมพ์ต่างประเทศซึ่งมีกรณีศึกษาในระดับโลกไม่น้อย 2) แพทย์ไทยมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์สถิติการจัดฐานข้อมูล การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ถ้าไม่ทราบก็ไม่เกินวิสัยที่จะศึกษาหรือรวมงานกับวิศวกรไทยได้ 3) นอกจากนี้สำหรับไทยที่น่าสนใจมากคือการค้นคว้าด้านพันธุกรรมของพืชซึ่งประเทศไทยมีความรู้ด้านสมุนไพรมากไม่แพ้ใคร ก็สามารถนำมาค้นคว้าหาตัวยาสำหรับโรคใหม่ๆ ได้เช่น เอดส์ ซาร์ส การใช้วิทยาการทางด้านสารสนเทศชีวภาพจะทำให้การค้นพบตัวยาเร็วขึ้นมาก โดยใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ช่วย และสามารถประหยัดต้นทุนการค้นพบสิ่งใหม่ได้มาก บริษัทบอสตัน คอนซัลติ้ง เชื่อว่าสารสนเทศชีวภาพสามารถทำให้สหรัฐอเมริกาประหยัดต้นทุนในการค้นคว้าเพื่อสร้างตัวยาชนิดใหม่ได้ถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,500 ล้านบาท และทำให้การค้นพบเร็วขึ้นถึงอีก 1 ปี ก่อนออกขายตัวยาสู่ท้องตลาดโลก (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2546 หน้า 16)





ท่องเว็บสะดวกใจชื่อไทยไม่มีดอท

บริษัทนิภาเทคโนโลยีจำกัด โดยอดิศักดิ์ จุลยา กรรมการผู้จัดการได้จัดสรรชื่อโดเมนได้คิดค้นวิธีอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่เว็บต่างๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าภาษาฝรั่งจะเขียนยังไง จุดตรงไหน แต่ให้พิมพ์เป็น “ชื่อไทยไม่มีดอท” ลงใน “เอดเดรส บาร์” ทั้งยังไม่ต้องจำด้วยว่าท้ายชื่อจะเป็น “ดอท” หรือจุดอะไร เช่นจะอ่านข่าวบนเว็บเดลินิวส์ ก็ไม่ต้องใส่ให้เต็มยศ www.dailynews.co.th แค่พิมพ์ชื่อว่า “เดลินิวส์” ก็เข้าได้แล้วบริษัทได้ประสานงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอให้ตั้งโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ไอซีทีให้ใช้ระบบนี้ได้ด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 มิถุนายน 2546 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215