หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 22 ประจำวันที่ 2003-06-24

ข่าวการศึกษา

มอบรางวัล 221 โรงเรียนต้านยาเสพติดดีเด่น
ร.ร.เอกชนเฟื่องขอเปิดเฉลี่ย10แห่งต่อเดือน
หวั่นเด็กเครียดเพิ่มสั่งทบทวนแอดมิชชั่น
ห้างสรรพสินค้าสนใจร่วม โครงการห้องสมุดสี่มุมเมือง
ปลุกครู-ผู้บริหารดูแล นร.เข้ม
‘ศรีปทุม’ วางข่ายสื่อสารเชื่อมโลกไอทีการศึกษา
กสอ.ไฟเขียวม.รัตนบัณฑิตฯ –จี้สร้างหอพัก
ไฟเขียวรภ.อุตรดิตถ์ใช้บึงกะโล่
ตั้งคลินิกนวดแผนไทย
ย้ำเอนทรานซ์ระบบใหม่ไม่ได้สอบมากขึ้น
เผยผลวิจัยความรู้คณิต-วิทย์เด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน
แนะตั้งห้องสมุดในวัดประหยัดแถมไปทั่วถึง

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ใช้ “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” ดมมะเร็ง ได้กลิ่นอายสารเคมีตัวก่อเหตุ
ลูกบอลดับเพลิง มันสมองคนไทย คว้ารางวัลระดับโลก Millennium Award
ถั่วงอกขาวสวนไร้สารพิษสร้างคุณภาพชีวิตผู้บริโภค
ผลิต ‘กรองสนิม-เครื่องกรองน้ำ’ ภูมิปัญญานักคิดรุ่นใหม่ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้)
ผุดอุทยานวิทย์ 2 ชูไฮเทคชุมชน

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบวิธีปฏิวัติรักษาโรคมะเร็งร้าย ปลุกระดมพลังภูมิต้านทานขึ้น
งีบหลับตอนกลางวันชั่วโมงเดียว ตาแข็งเท่ากับนอนหลับกลางคืน
หัวหน้างานไม่ดีทรมานใจลูกน้อง อาจป่วยเป็นโรคหัวใจและอัมพาต
นักวิจัยไทยรับมั่นใจต้นทุนต่ำกว่านำเข้า
พบแนวโน้มใหม่ผลิตวัคซีนปราบเอดส์
เพิ่มพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกัน
อนุรักษ์ว่านหางจระเข้-ลบรอยแผลเป็นจากสิว

ข่าวทั่วไป

ยูเนสโกขึ้นบัญชีบามิยันมรดกโลก
‘หน่อย’ สั่งอย.เรียกเก็บช็อกโกแลตมีหนอน
มหิดลเผยชื่อแพทย์รับรางวัลบี บราวน์
อย.พบยาลดความอ้วนสูตรอันตราย





ข่าวการศึกษา


มอบรางวัล 221 โรงเรียนต้านยาเสพติดดีเด่น

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายนิวัตร นาคะเวช รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยว่า กรมได้มอบรางวัลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดีเด่นประจำปี 2546 แก่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด 53 แห่ง ครูอาจารย์ 225 คน และโรงเรียน 221 แห่ง โดยในส่วนของโรงเรียนนั้นคัดเลือกมาจังหวัดละ 3 โรงเรียนแรกที่ประกาศเป็นโรงเรียนปลอดยาเสพติดที่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดแต่ละแห่งได้ดำเนินการคัดเลือกมา และหลังจากวันที่ 2 สิงหาคมจะขยายโรงเรียนปลอดยาเสพติดให้ครบทั้ง 2,600 แห่ง สำหรับปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาลดน้อยลงมาก ล่าสุดเดือนเมษายนมีนักเรียน 235 คนที่เสพยาเสพติดจากนักเรียนทั่วประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนที่ได้รับรางวัล 221 โรง ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันเดียวกันนี้ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์กรุงเทพฯ (มติชน เสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





ร.ร.เอกชนเฟื่องขอเปิดเฉลี่ย10แห่งต่อเดือน

นางพรนิภากล่าวว่า สช.ได้กำหนดขั้นตอนการเพิกถอนใบอนุญาตการจัดตั้งโรงเรียนเอกชน คือ สช.จะส่งหนังสือลงทะเบียนตอบรับเชิญจากผู้รับใบอนุญาตมาพบภายใน 20 วัน หากไปรษณีย์ตีกลับจะขอข้อมูลที่อยู่จากทะเบียนราษฎรและจะลงไปตรวจสอบสถานที่ พร้อมรูปถ่ายสภาพโรงเรียนการสอบถามบุคคลข้างเคียง จากนั้นจะสรุปข้อเท็จจริงเสนอความเห็นผู้อนุญาต และจะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตถึงข้อบกพร่องและเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน สช.จะเพิกถอนใบอนุญาต นางพรนิภากล่าวอีกว่า การปิดกิจการโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ยุคปัญหาเศรษฐกิจปี 2540-2545 มีโรงเรียนสายสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาเขตกรุงเทพมหานครปิดกิจการ 41 แห่ง จากโรงเรียน 916 แห่ง แต่ในปัจุจุบันนั้นหลังจากที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน ทำให้สภาพโรงเรียนเอกชนดีขึ้นและนักเรียนเข้ามาเรียนกันเพิ่มมากขึ้นเช่นโรงเรียนในภาคใต้นักเรียนจะเต็มกว่าโรงเรียนรัฐบาล จากข้อมูลปัจจุบันมีนักเรียนโรงเรียนเอกชนสายสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาประมาณ 2.07 ล้านคน ส่วนการปิดตัวของโรงเรียนมีน้อยมากในปี 2546 มีเพียง 3 โรง และขอเปิดโรงเรียนเอกชนรวมทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบเฉลี่ยเดือนละ 10 แห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษหลักสูตรระยะสั้น (มติชน เสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





หวั่นเด็กเครียดเพิ่มสั่งทบทวนแอดมิชชั่น

ศ.ดร.วรเดช จันทร์ศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากที่ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อนุกรรมการปฏิรูปการศึกษา ได้เสนอให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ให้ทบทวนระบบกลางการคัดเลือกนิสิตนักศึกษา (แอดมิชชั่น) ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2549 เพราะจากการเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย พบว่าระบบใหม่จะยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับเด็ก โดยนายจาตุรนต์ ได้พิจารณาถึงองค์ประกอบาของระบบแอดมิชั่น และเห็นว่ายังมีการจัดสอบสัดส่วนถึง 50% จึงอยากจะให้ลดการสอบให้ลงเหลือ 20-30% ส่วนอีก 65-70% ให้มหาวิทยาลัยพิจารณาองค์ประกอบจากผลการเรียนและการทดสอบระดับชาติที่เด็กมีอยู่แล้ว ในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแทน ปลัดทบวงฯ กล่าวว่า ระบบแอดมิชชั่นต่างกับการสอบรวมในระบบปัจจุบัน เพราะผู้สมัครสามารถนำคะแนนที่มีอยู่ไปยื่นให้อุดมศึกษาที่ต้องการสมัครเรียนได้พิจารณาโดยตรง แต่หากมหาวิทยาลัยเห็นควรให้มีการสอบเพิ่มก็จะให้ดำเนินการ โดยสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





ห้างสรรพสินค้าสนใจร่วม โครงการห้องสมุดสี่มุมเมือง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมได้ประกาศเชิญชวนห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง และผู้สนใจทั่วไปที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการหัองสมุดมิติใหม่ เข้าร่วมดำเนินโครงการจัดตั้งห้องสมุดสี่มุมเมือง โดยให้เสนอแนวคิดและความเป็นไปได้ภายในเงื่อนไขหลัก คือ ที่ตั้ง การคมนาคม ปัจจัยสภาพแวดล้อม กลุ่มผู้ใช้บริการ และการให้ความร่วมมือ สนับสนุนทางราชการ จากนั้นกรมจะนำไปพิจารณาความเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและผู้ใช้บริการมากที่สุด ขณะนี้มีห้างสรรพสินค้าหลายรายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการห้องสมุดสี่มุมเมือง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2547 นางสมลักษณ์ เจริญพจน์ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่าในระยะยาวจะพัฒนาพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ ทั้ง 46 แห่ง ภายในเวลา 6 ปี ระยะสั้นจะเป็นโครงการเร่งด่วนภายใน 1-2 ปีนี้ คือการปรับรูปลักษณ์พิพิธภัณฑ์ในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ และมีพร้อมในหลายด้าน คือ พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร เชียงใหม่ เชียงแสน พิมาย เจ้าสามพระยา โดยเน้นการอำนวยความสะดวกทั่วไป การเข้าชม การใช้หูฟังทั้งภาษาไทย-อังกฤษ การใช้สื่อคอมพิวเตอร์ สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหรือท้องถิ่นซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเอกชนหรือส่วนราชการท้องถิ่น กรมศิลปากรจะให้ความสนับสนุนด้านวิชาการ ทำทะเบียน และการจัดแสดง (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2546 หน้า 21)





ปลุกครู-ผู้บริหารดูแล นร.เข้ม

นายนิคม จารุมณี ผอ.กองสารวัตรนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กองสารวัตรนักเรียนได้ออกตรวจเยี่ยมโรงเรียนและเฝ้าระวังเหตุทั้งการทะเลาะวิวาท การพกพาอาวุธ ดื่มแอลกอฮอล์ การจับกลุ่มเที่ยวแตร่ของเด็กนักเรียนโดยได้จัดสายตรวจออกดูแลเฝ้าระวังเหตุ 7 จุด ได้แก่ จุดตรวจถนนสุขุมวิทถึงบางนา-ตราด จุดตรวจจังหวัดสมุทรปราการ ห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ห้างเดอะมอลล์บางแค จุดตรวจฝั่งธนบุรี วงเวียนใหญ่ และถนนสายรามอินทรา-มีนบุรี เพื่อกวดขันไม่ให้เกิดเหตุนักเรียน นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่ายังมีปัญหาเรื้อรังที่หลายฝ่ายมองข้าม คือการข่มเหงและกลั่นแกล้งนักเรียนด้วยกัน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวดูเผินๆ เหมือนจะไม่ใช่ปัญหารุนแรง แต่เมื่อเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เด็กเครียดเก็บกด และก้าวร้าวนำไปสู่การใช้กำลัง ความรุนแรงและอาวุธในการแก้ปัญหาจึงอยากให้ครูอาจารย์และผู้บริหารดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้ทั่วถึง (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





‘ศรีปทุม’ วางข่ายสื่อสารเชื่อมโลกไอทีการศึกษา

นายนรินทร์ พนาวาส ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้วางระบบและโครงสร้างเครือข่ายการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานระบบ จึงได้ติดตั้ง Wireless Lan เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากรที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น โน้ตบุ๊ก PDA และโทรศัพท์มือถือ เพื่อเชื่อมเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยผ่าน Lan ของมหาวิทยาลัย โดยศูนย์ประชุมได้จัด NIC CARD สำหรับใช้งานกับคอมพิวเตอร์พีซีและโน้ตบุ๊กไว้ให้นักศึกษาและบุคลากรยืม โดยติดตั้งจุดบริการที่อาคาร ดร.สุขุม พุคยาภรณ์ อาคาร 1 ชั้น 7 อาคารสยามบรมราชกุมารี อาคาร 5 ชั้นล่าง และกำลังขยายจุดบริการเพิ่มเติม (มติชน จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 16)





กสอ.ไฟเขียวม.รัตนบัณฑิตฯ –จี้สร้างหอพัก

นางฉันทวิทย์ สุชาตานนท์ ผู้ช่วยปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สกอ.) เห็นชอบให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จ.ปทุมธานี เพราะมีความพร้อมทั้งด้านอาคาร สถานที่ ห้องสมุดอุปกรณ์การเรียนการสอน และพร้อมรับนักศึกษาได้ทันที แต่กรณีที่นางวิจิตรา รัตนเพียร ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งได้เสนอว่าจะจัดสร้างหอพักนักศึกษาภายในปี 2550 แต่กสอ.มีมติให้สร้างหอพักทันที เมื่อเปิดรับนักศึกษาก็ควรมีหอพักส่วนหนึ่งสำหรับรองรับนักศึกษา เนื่องจากสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ในตัวเมือง อาจทำให้นักศึกษาที่จำเป็นต้องอยู่หอพักต้องกระจายเช่าหอพักตามที่ต่างๆ จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามที่เป็นข่าว แต่หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างหอพักได้ทันเปิดรับนักศึกษาก็ให้หามาตรการอื่นๆ รองรับ เช่น หาที่พักที่เหมาะสมให้นักศึกษาพักก่อนที่หอพักจะสร้างเสร็จ เป็นต้น “ส่วนวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ที่ สกอ.มีมติให้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแล้วนั้น ทบวงฯได้มอบใบอนุญาตเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่มีความพร้อมเนื่องจากได้ซื้อที่ดินติดถนนเพิ่ม กำลังก่อสร้างอาคารหลังใหญ่ จัดห้องสมุดที่ทันสมัยเพิ่มเติม ปรับปรุงอุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องแล็บ ห้องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเตรียมหาอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มด้วยนอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยยังได้อนุมัติโครงการวิจัย 36 โครงการ พร้อมงบประมาณทำวิจัย และจัดตั้งกองทุนทำวิจัยด้วย” นางฉันทวิทย์กล่าว (มติชน จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 16)





ไฟเขียวรภ.อุตรดิตถ์ใช้บึงกะโล่

นายปรีชา บุตรศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ กล่าวถึงกรณีสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ ขอที่ดินบริเวณบึงกะโล่ ต.ป่าเซ่า อ.เมือง 2,700 ไร่ เพื่อขยายการรองรับการเปิดมหาวิทยาลัยว่า ไม่ขัดข้องที่จะขอใช้และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่พื้นที่จำนวน 2,700 ไร่ คิดว่ามากเกินไป หากมองถึงการเติบโตในระยะอีก 50-60 ปี จำนวน 2,000 ไร่ น่าจะพอดีกับการใช้ประโยชน์ (มติชน จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 21)





ตั้งคลินิกนวดแผนไทย

นายสุพัฒน์ ไชยกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเลิงนกทา จ.ยโสธร เปิดเผยว่า จากการที่วิทยาลัยจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เกี่ยวกับวิชาแพทย์แผนไทยและการนวดแผนไทย ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศสามารถขยายผลออกไปสู่ชุมชน พร้อมถ่ายทอดต้นแบบนำร่องไปสู่สถาบันอาชีวศึกษาอื่นๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาดูงาน เกี่ยวกับการนวดแผนไทยในระดับภาคและระดับประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษา และสร้างเสริมประสบการณ์ตรงให้กับนักศึกษา และประชาชนกลุ่มสนใจทั่วไป จึงได้จัดตั้งคลินิกนวดแผนไทยขึ้นภายในสถาบัน ให้บริการในราคาถูกคือ นวดเฉพาะที่ 30 บาท นวดเพื่อสุขภาพชั่วโมงละ 50 บาท โดยนักศึกษาและวิทยากรจะเป็นผู้ให้บริการเพื่อสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน ทั้งนี้ จะเปิดให้บริการในช่วงเวลาราชการเท่านั้น (มติชน จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 21)





ย้ำเอนทรานซ์ระบบใหม่ไม่ได้สอบมากขึ้น

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษา ได้เสนอต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษา ให้ทบทวนระบบกลางคัดเลือกนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น เนื่องจากมีเสียงสะท้อนจากเด็กว่าจะทำให้เกิดความเครียดมากกว่าระบบเดิม ซึ่งนายจาตุรนต์ก็เห็นด้วยที่จะให้ทบทวน และมอบให้ทบวงฯจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร อธิการบดี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ตนขอย่ำว่าการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (NT) ไม่ใช่เป็นการสอบเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเด็ก เพราะนักเรียนทุกคนต้องสอบอยู่แล้ว และการวัด NT ก็เพื่อเป็นการวัดมาตรฐานของเด็กทั่วประเทศด้วยไม้บรรทัดเดียวกัน แต่ต้องระวังในการนำ NT มาใช้เพราะเราไม่เคยใช้มาก่อนจึงไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เชื่อถือได้แค่ไหน ส่วนการที่มหาวิทยาลัยจะสอบวัดความถนัดเพิ่มในบางวิชาก็ทำได้ แต่ต้องไม่เกิน 3 วิชา ส่วนที่มีผู้เสนอให้ใช้ผลการเรียนและการสอบสัมภาษณ์ก็เพียงพอแล้วนั้น ตนเห็นว่าการทำเช่นนั้นยังไม่ได้บอกถึงทักษะความสามารถ และทักษะทางวิชาชีพของเด็กเพียงแต่บอกว่าเด็กทำข้อสอบได้เท่านั้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2546 หน้า 27)





เผยผลวิจัยความรู้คณิต-วิทย์เด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน

ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงการประเมินผลทางการศึกษานักเรียนไทยตามโครงการ PISA หรือโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือ OECD ว่า การวิจัยดังกล่าวเป็นการประเมินผลเกี่ยวกับทักษะการอ่าน ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (อายุ 15 ปี) ซึ่ง OECD มีสมาชิกจำนวน 29 ประเทศ ส่วนประเทศไทยขอร่วมโครงการดังกล่าวด้วยในฐานะประเทศนอกกลุ่ม OECD โดยประเทศนอกกลุ่ม OECD ที่เข้าร่วมมีทั้งสิ้น 14 ประเทศ สำหรับผลการประเมินด้านการอ่าน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยกลาง เท่ากับ 500 พบว่าประเทศกลุ่มสมาชิก OECD ประมาณสองในสามมีคะแนนอยู่ระหว่าง 400-600 โดยประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก คือฟินแลนด์ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศไทยมีคะแนนเพียง 431 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมทั้งคะแนนความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน โดยอยู่ในระดับ 6 ของประเทศนอกกลุ่ม OECD (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2546 หน้า 27)





แนะตั้งห้องสมุดในวัดประหยัดแถมไปทั่วถึง

คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งห้องสมุดของสถานศึกษาในทุกระดับ เช่น ห้องสมุดตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับชั้นมหาวิทยาลัย คุณหญิงแม้นมาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดตั้งห้องสมุดสี่มุมเมืองของกรมศิลปากร ตนก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและยังเห็นว่ากรมศิลปากรควรเปลี่ยนโครงการจากห้องสมุดสี่มุมเมืองมาเป็นห้องสมุดทุกมุมเมือง โดยใช้วัดเป็นสถานที่ตั้งห้องสมุด เพื่อกระจายสถานที่ตั้งห้องสมุดให้มีอยู่ทั่วประเทศ และยังช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดตั้งห้องสมุดด้วย นอกจากนี้ตนยังต้องการให้กระทรวงทั้ง 20 แห่ง มีการจัดตั้งห้องสมุดประจำกระทรวง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชน เช่นประชาชนสนใจที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับกระทรวงใดก็สามารถไปตามกระทรวงนั้นๆ ได้ทันที (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2546 หน้า 27)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ใช้ “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” ดมมะเร็ง ได้กลิ่นอายสารเคมีตัวก่อเหตุ

จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ประดิษฐ์ขึ้นโดยมหาวิทยาลัยโรมของอิตาลี ประกอบด้วยเครื่องตรวจวัดซึ่งออกแบบขึ้นเพื่อตรวจหาสารเคมี เครื่องตรวจวัดแบบนี้ ปัจจุบันมีใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อตรวจหากลิ่นและรสอยู่แล้ว เครื่องจะตรวจหาสารเคมีซึ่งแยกสกัดมาจากอัลคีนและเบนซีน อันเป็นพวกสารไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะระยายปะปนออกมากับลมหายใจของผู้ป่วย ในการทดลองใช้ตรวจกับผู้ป่วยรายละ 1 นาทีเศษ ในโรงพยาบาลที่กรุงโรมแห่งหนึ่ง จำนวน 60 ราย เป็นคนไข้ที่รอผ่าตัดเอาเนื้อร้ายขนาดใหญ่ที่ปอดออกอยู่ 35 ราย สามารถตรวจพบโดยไม่ผิดเลย ขณะนี้ แพทย์ได้ปรับปรุงเพื่อให้จมูกไวขึ้น ตรวจได้กลิ่นอายตั้งแต่มะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มแรก ปัจจุบันแพทย์ต้องใช้กล้องตรวจส่องหลอดลมในการตรวจ เพื่อส่องตรวจในปอดและบางรายก็ต้องตัดเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจด้วย (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





ลูกบอลดับเพลิง มันสมองคนไทย คว้ารางวัลระดับโลก Millennium Award

การประกาศรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักธุรกิจทั่วโลกที่จัดขึ้นโดย editorial ofice ที่โรงแรมเบอร์ลินอินเตอร์คอนดิเนนตัล กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมณี มีบริษัทต่างๆทั่วโลก ที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่างๆ ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล New Millennium Award ครั้งที่ 33 ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มีนักประดิษฐ์ชาวไทยชื่อ นายวรเดช ไกรมาตย์ ประธานกรรมการบริษัทสยามเซฟตี้ พรีเมียร์ จำกัด ผู้ผลิต ลูกบอลดับเพลิง รายเดียวของไทยและของโลกได้รับรางวัลอันทรงเกียรติด้วย นายวรเดช เจ้าของรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก สาขาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงรางวัลที่ได้รับนี้ว่าประเทคไทยเป็นประเทศเดียวจากเอเชียที่ได้รับการคัดเลือกจากชมรมนักธุรกิจซึ่งมีทั้งสิ้น 15,000 ผู้ประกอบการทั่วโลกจาก 112 ประเทศ ที่ลงคะแนนให้ หลังจากที่ได้ขึ้นไปพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นก็ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจมีการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นจำนวนมาก สำหรับเด่นของของลูกบอลดับเพลิง คือใช้ในการเฝ้าระวังโดยติดตั้งไว้ที่บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ หากเกิดเพลิงไหม้ลูกบอลจะดับไฟอัตโนมัติหรือผู้ที่ทำการดับเพลิงใช้ลูกบอลโยนเข้าไปที่กองเพลิงเพื่อทำการดับไฟ รางวัลที่ได้รับนี้ย่อมแสดงว่านักประดิษฐ์ชาวไทยได้ไปสร้างชื่อเสียงและผลงานให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า นักคิดนักประดิษฐ์ที่มีความสามารถนั้น ไม่ได้มีเฉพาะพวกฝรั่ง ถ้าได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ คาดว่าอีกไม่นานสินค้าจากประเทศไทยจะไปวางขายทั่วทุกมุมโลกย่อมเป็นการนำรายได้สร้างเศรษฐกิจที่ดีมาสู่ประเทศไทยอีกทางหนึ่ง (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2546 หน้า 34)





ถั่วงอกขาวสวนไร้สารพิษสร้างคุณภาพชีวิตผู้บริโภค

น.ส.ทัศนีย์วีรรณ ลักษณะโสภิณ หรือน้องวรรณ นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง ถั่วงอกฟอกขาว ขึ้น เพื่อศึกษาวิธีป้องกันการเกิดสีน้ำตาลของถั่วงอกโดยใช้สารเคมีจากธรรมชาติ หรือสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคทำให้ถั่วงอกขาวสะอาดน่ารับประทานทั้งยังปราศจากสารพิษตกค้างด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2546 หน้า 34)





ผลิต ‘กรองสนิม-เครื่องกรองน้ำ’ ภูมิปัญญานักคิดรุ่นใหม่ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้)

คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องการผลิตสารกรองสนิมเหล็กในน้ำบาดาลให้กับเกษตรกรพร้อมกับการให้ความรู้เรื่องการผลิตเครื่องกรองน้ำสำหรับครัวเรือน ผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถผลิตสารกรองสนิมเหล็กพร้อมกับผลิตเครื่องกรอง ขณะที่ผู้สนใจเข้ารับการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น 80 คน หลักสูตรนี้เป็นโครงการนำร่องแห่งแรกในประเทศไทย พื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ การผลิตสารกรองสนิม สารกรองสำหรับกำจัดสนิมเหล็กในน้ำบาดาลนั้น หากสั่งซื้อจากต่างประเทศ ราคาเฉลี่ยประมาณ 65-100 บาทต่อลิตร แต่เกษตรกรสามารถผลิตเองได้ ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 10 บาทต่อลิตรเท่านั้น การผลิตโดยใช้เม็ดทรายเคลือบผิวด้วย โพแตสเซี่ยมเพอร์แมงกาเนต จะติดเม็ดทรายได้ดี ต้องใช้วิธีเคลือบในสภาวะควบคุม (สยามรัฐ อังคารที่ 1 กรกฎาคม 2546 หน้า 21)





ผุดอุทยานวิทย์ 2 ชูไฮเทคชุมชน

นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เผยว่า จากการประเมินผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งขณะนี้มีเอกชนเช่าพื้นที่ถึง 1,694 บริษัท ดังนั้น วท.จึงเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งที่ 2 ในระดับภูมิภาคเพื่อให้เป็นแหล่งวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมของท้องถิ่น โดยสถานที่ตั้งอาจจะอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือของไทยอยู่ใกล้มณฑลคุณหมิง ประเทศจีน โดยอุทยานฯแห่งที่ 2 จะเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านการเกษตร และด้านการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้กับเกษตรกรไปบ้างแล้ว หากมีการตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ขึ้น จะสามารถนำเอาการวิจัยพัฒนาเข้าไปใช้ได้มากขึ้น ส่วนบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานนั้น จะเปิดรับนักวิทยาศาสตร์ที่สมัครใจจะย้ายไปทำงานที่เชียงใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าในเรื่องปริมาณ รวมทั้งใครจะเป็นผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบวิธีปฏิวัติรักษาโรคมะเร็งร้าย ปลุกระดมพลังภูมิต้านทานขึ้น

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมอนาช ผู้ค้นคิดวิธีรักษาเปิดเผยว่า การรักษาได้ใช้ยาพวกออกฤทธิ์สะกดให้หยุดการผลิตฮอร์โมนเพศ ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งทรวงอกและผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อคล้ายเยื่อบุมดลูกเกิดในที่ต่างๆ บริเวณเชิงกรานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อปลุกระดมระบบภูมิต้านทานโรค ให้สร้าง ที-เซลล์ซึ่งจะไปสร้างต่อมไทมัส ที่เหี่ยวเฉาลงเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวให้กลับฟื้นขึ้นใหม่อีก ที-เซลล์เป็นหน่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคจากเชื้อไวรัสหลักของร่างกาย ในการทดลองรักษากับผู้ป่วยโรคมะเร็งของเม็ดโลหิตและต่อมลูกหมากปรากฏว่า ได้ผลดียิ่ง ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงน้อย มีเพียงแต่คันตามผิวหนังกับอาการรู้สึกร้อนวูบวาบเท่านั้น และจะได้ทดลองรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชั้นนำในยุโรปและสหรัฐฯในปีหน้า เป็นที่คาดว่าจะพัฒนาวิธีรักษาให้สามารถนำออกใช้ได้ทั่วไป ภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้านี้ นักวิจัยคนต้นคิดยังหวังด้วยว่า วิธีรักษาใหม่นี้ยังอาจจะใช้รักษาโรคเอดส์ได้ด้วย ทางโรงพยาบาลในสวิตฯ ได้ตกลงร่วมมือกับสถาบันสาธารณสุขของสหรัฐฯ จะได้นำไปใช้ทดลองรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วยแล้ว (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





งีบหลับตอนกลางวันชั่วโมงเดียว ตาแข็งเท่ากับนอนหลับกลางคืน

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ได้รายงานผลการศึกษาในวารสารประสาทวิทยาธรรมชาติว่า ผลการศึกษาเปรียบเทียบจากผู้ทดลอง 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทำงานโดยไม่ให้งีบพักกลางวันเลย ปรากฏว่ากลุ่มนี้ผลการทำงานค่อยตกลงเมื่อยามบ่ายและยามค่ำ ส่วนอีกกลุ่มให้ได้นอนงีบพักเอาแรง ตอนบ่าย 2 โมง นาน 60-90 นาที โดยได้คอยวัดคลื่นสมองจับดูว่า นอนหลับสนิทหรือไม่ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ผู้ที่ได้งีบหลับตอนกลางวันจะยังคงสามารถทำการงานได้ดี ตลอดช่วงเวลา 24 ชม. ไม่แพ้ผู้ที่มีโอกาสได้นอนเต็มอิ่มมาทั้ง 2 คืน แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนของศูนย์วิจัยการนอนมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ของอังกฤษบอกเตือนว่า “แต่เราไม่ควรทึกทักเอาว่า เราไม่ต้องนอนหลับกันแล้ว เอาแต่เพียงแค่ได้งีบหลับก็พอ การนอนยังจำเป็นสำหรับสิ่งอื่นอีก มากกกว่าในการทดลองครั้งนี้ และยังมีการศึกษาที่แล้วๆ มาส่อว่า ผู้ที่นอนแค่เพียงวันละ 6 ชม. นานหลายวันเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





หัวหน้างานไม่ดีทรมานใจลูกน้อง อาจป่วยเป็นโรคหัวใจและอัมพาต

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบัคกิงแอไชร์ชิลเทิร์นส์ ในอังกฤษ ได้พบในการศึกษากับผู้ช่วยพยาบาล พบว่าผู้ช่วยที่ต้องเข้าเวรทำงานกับหัวหน้าที่เห็นว่าเป็นผู้ไม่มีความเป็นธรรมและไร้เหตุผลนั้นพบว่าความดันโลหิตจะขึ้นสูง แต่เมื่อตอนที่เข้าเวรอยู่กับหัวหน้าคนที่ชอบ ปรากฏว่าความดันโลหิตจะลดต่ำลง หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่าผลของการศึกษานับเป็นหลักฐานอย่างแจ่มชัดว่า หัวหน้าที่ลูกน้องเห็นว่าเป็นคนไม่เป็นธรรมและไร้เหตุผล ทำให้ลูกน้องต้องคับใจ เป็นเหตุทำให้เสียสุขภาพและความสุขเสื่อมทรามลงได้ และถ้าหากเราต้องตกอยู่ในภาวะกดดัน ไม่ว่าในที่ทำงานหรือที่บ้าน ความดันโลหิตที่ขึ้นสูงอยู่เสมอ อาจทำให้เสี่ยงกับการเป็นโรคของหลอดเลือดหัวใจได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





นักวิจัยไทยรับมั่นใจต้นทุนต่ำกว่านำเข้า

นายพสิน อิศรเสนา ณ อยุธยา นักวิจัยศูนย์บริการออกแบบวงจรรวม (TIDI) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะสามารถออกแบบ และทำต้นแบบฮาร์ดแวร์ของไมรโครคอนโทรลเลอร์ 8 บิต ที่ต้องใช้บัตรสมาร์ทรการ์ดที่เป็นบัตรชนิดต้องใช้ร่วมกับเครื่องอ่านบัตร (Contract Smartcard) ซึ่งจะรองรับนโยบายจัดทำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด หรืออี-ซิติเซนได้ ปัจจุบัน ศูนย์ฯ สามารถออกแบบวงจรรวม ที่รองรับการใช้งานบัตรประจำตัว ซึ่งคลื่นความถี่วิทยุ (RFID CARD) ได้แล้วโดยร่วมกับเอกชนพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นใช้เป็นชิพที่ติดในสัตว์ (Animal ID) ด้านนายอิทธิ ฤทธาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเลกทรอนิกส์วังน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า ศูนย์ปรับแนวทางดำเนินงานเป็นโรงงานเวเฟอร์แฟบขนาดเล็ก รองรับการผลิตชิพสำหรับที่ใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด จากเดิมมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ เพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นว่าศูนย์ฯสามารถผลิตชิพภายในประเทศเอง ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างผลงานที่วัดได้ หากรัฐจะสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





พบแนวโน้มใหม่ผลิตวัคซีนปราบเอดส์

เอียน วิลสัน หัวหน้าคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยสคริปส์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า สารแอนตี้บดดี้หายากที่ค้นพบได้มาจากผู้ป่วยที่มีลักษณะไม่ปกติเนื่องจากร่างกายสามารถต้านทานไวรัสเอชไอวีได้อย่างเห็นผลรวมทั้งสามารถรับรู้และจู่โจมไวรัสที่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิขึ้นมาคุ้มกันได้ซึ่งเป็นรูปแบบที่ต่างจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายปกติ ทั้งนี้วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะกระตุ้นการผลิตแอนตี้บอดี้ทำลายเชื้อโรคจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาร่างกายมนุษย์ได้ผลิตแอนตี้บอดี้จำนวนมากเพื่อต้านเชื้อไวรัสร้ายดังกล่าวสามารถปลอมตัวให้ใกล้เคียงกับโครงสร้างน้ำตาลภายในร่างกายมนุษย์ทำให้แอนตี้บอดี้ไม่สามารถตรวจจับได้ จนกระทั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นักวิจัยชาวออสเตรียได้ค้นพบแอนตี้บอดี้พิเศษที่ชื่อว่า “2G12” ซึ่งได้จากตัวผู้ป่วยที่เป็นโรคขาดแคลนภูมิคุ้มกัน (immune deficiency syndrome) สำหรับแอนตี้บอดี้ 2G12 สามารถแยกแยะโครงสร้างน้ำตาลภายในร่างกายมนุษย์กับเชื้อเอชไอวีที่เลียนแบบโครงสร้างน้ำตาลมาป้องกันตัวได้ ทีมงานพบว่าเอชไอวีจะเรียงตัวไม่เหมือนกับน้ำตาลปกติ และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในอังกฤษ สร้างภาพโครงสร้างของเอชไอวีที่แฝงตัวเป็นน้ำตาลให้เห็นด้วย ขณะนี้ คณะทำงานกำลังพยายามใช้ภาพโครงสร้างเป็นแม่แบบในการสร้างแอนตี้เจนเพื่อเข้าไปกระตุ้นการสร้างแอนตี้บอดี้ 2G12 ในร่างกาย สำหรับทำลายไวรัสเอชไอวีโดยเฉพาะซึ่งจะนำไปสู่การสร้างวัคซีนทำลายไวรัสเอดส์ได้อย่างเห็นผล (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





เพิ่มพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกัน

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford แห่งประเทศอังกฤษสามารถค้นพบวิธีที่จะผลิตวัคซีนที่ประกอบไปด้วยเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนแอลงจนกระทั่งไม่เกิดอันตรายและชิ้นส่วน DNA ของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย ด้วยวิธีนี้คณะนักวิจัยพบว่าร่างกายของคนที่ได้รับชิ้นส่วน DNA ของเชื้อโรคมาลาเรียเข้าไปสามารถผลิต T-Cell หรือสายลับมือสังหารได้มากกว่าปกติประมาณ 5-10 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งจะมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถปราบปรามเชื้อโรคได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการติดโรคได้ในที่สุด (เดลินิวส์ พุธที่ 2 กรกฎาคม 2546 หน้า 14)





อนุรักษ์ว่านหางจระเข้-ลบรอยแผลเป็นจากสิว

สาวิตรี สมหมาย นักเรียน วัย 15 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสูงเม่นชินูปถัมภ์ จังหวัดแพร่ ได้สนใจเรื่องว่านหางจระเข้ว่ามีคุณสมบัติดับพิษร้อนจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้แล้วไม่เกิดแผลเป็นตนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและทดลอง นำว่านหางจระเข้ มาพอกสิวบนใบหน้าสิวจะลดการอักเสบ แผลแห้งเร็วขึ้น ไม่มีแผลเป็น โดยไม่ต้องใช้เครื่องสำอางใดๆ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 5 กรกฎาคม 2546 หน้า 21)





ข่าวทั่วไป


ยูเนสโกขึ้นบัญชีบามิยันมรดกโลก

องค์การศึกษาวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้หุบเขาบามิยันในอัฟกานิสถาน ซึ่งเคยเป็นสถานที่ตั้งของพระพุทธรูปแกะสลักหินที่สูงที่สุดในโลก และเมืองโบราณอาซูร์ในอิรักขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก 2 แห่งประจำปีนี้ พร้อมกับได้รับการลงทะเบียนเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งบูรณะซ่อมแซมเป็นการด่วน (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





‘หน่อย’ สั่งอย.เรียกเก็บช็อกโกแลตมีหนอน

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขกล่าวถึงช็อกโกแลตยี่ห้อ “ฟุตบอล” หรือ ช็อกบอล ที่วางขายตามร้านค้าหน้าโรงเรียนและท้องตลาดใน จ.ยะลา ซึ่งพบว่ามีหนอนขนาดเท่าเส้นด้ายสีขาวอยู่ทุกเม็ด ว่า สาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกทั้งยังเป็นสินค้าลักลอบนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าไปยึดของกลางและทำการตรวจสอบแล้ว ด้าน น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีขั้นตอนในการผลิตไม่สะอาดและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีการปนเปื้อนของไข่แมลงหวี่ในลูกเกด ซึ่งเป็นไส้ของช็อกโกแลตดังกล่าว และเมื่อทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งก็จะกลายเป็นหนอนที่พบในช็อกโกแลต ขณะนี้ได้สั่งการให้ สสจ.ยะลา ให้เก็บยึดช็อกโกแลตดังกล่าวแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2546 หน้า 15)





มหิดลเผยชื่อแพทย์รับรางวัลบี บราวน์

ศ.ศรีสิน คูสมิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนลและเชิดชูบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความรู้ความสามารถดีเด่น เป็นที่ยอมรับ และได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่วงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ แพทย์บี บราวน์จะได้รับเงินรางวัลคนละ 350,000 บาทและจะเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศ.นพ.ยง ตระหนักว่าโรคตับเป็นปัญหาทางสาธารสุขที่สำคัญของประเทศไทย จึงศึกษาวิจัยด้านไวรัสตับอักเสบอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี และมีผลงานวิจัยจำนวนมาก โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า การให้วัคซีนป้องกันเพียงอย่างเดียวได้ผลใกล้เคียงกับการใช้วัคซีนพร้อมกับเซรุ่ม ที่มีราคาแพงและหาได้ยากจากผลวิจัยนี้ได้ถูกนำไปเป็นนโยบายปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบกับทารกทุกคนในประเทศไทยและทำให้อุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบลดลงอย่างมาก ด้าน น.พ.พันธุ์พิษณุ์ เจ้าของผลงานคิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบ “Transpulmonary Closure of venticular septal defect” คือการผ่าตัดปิดรูโหว่ของผนังกั้นห้อง เวนตริเคิลภายในหัวใจโดยการผ่าตัดผ่านหลอดเลือดแดงพัลโมนารีย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดผ่านผนังกล้ามเนื้อ เวนคริเคิลขวา ที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อต้องได้รับบาดเจ็บและเสื่อมสมรรถภาพแต่การผ่าตัดวิธีใหม่สามารถทำได้ ไม่ว่ารูโหว่ของผนังกั้นหัวใจจะอยู่ตำแหน่งใด นอกจากนี้ ได้เป็นผู้คิดค้นเทคนิคการผ่าตัดแก้ความพิการแต่กำเนิดชนิดตัวเขียว โดยการผ่าตัดผ่านหลอดเลือดพัลโมนารีย์อย่างเดียว ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกันสำเร็จครั้งแรกในไทยและเอเชีย และผ่าตัดเปลี่ยนปอดทั้งสองข้างสำเร็จครั้งแรกในไทย โดยเป็นผู้ริเริ่มการผ่าตัดหัวใจของโรงพยาบาลราชวิถี และได้พัฒนางานผ่าตัดโรคหัวใจต่อเนื่องจนเป็นสถาบันโรคหัวใจที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับสากล (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 7)





อย.พบยาลดความอ้วนสูตรอันตราย

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนมีหลายประเภท เช่น อาหารลดความอ้วน ยาลดความอ้วน ซึ่งบางชนิดไม่ใช่ยาลดความอ้วนโดยตรง แต่มีการนำมาใช้แทนยาลดความอ้วน เช่น ยาขับปัสสาวะซึ่งถือว่ามีอันตรายมาก ต้องได้รับใบสั่งยาจากเภสัชกรหรือแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากมาตรการที่ อย.คุมเข้มปริมาณจำหน่ายยาลดความอ้วน ทำให้ประชาชนหันไปสนใจยาลดความอ้วนแผนโบราณที่ผลิตจากสมุนไพรที่มีขายทั่วไป ซึ่ง อย.ทำการตรวจพิสูจน์พบว่ายาลดความอ้วนสมุนไพรบางชนิดที่ลักลอบนำเข้าประเทศมาจำหน่ายนั้น มีส่วนผสมของเฟนฟูรามีน ซึ่งเคยมีข่าวว่าสารดังกล่าวมีผลทำให้เกิดโรคหัวใจอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ น.พ.ศุภชัย กล่าวว่า จากข้อมูลในเบื้องต้น ทราบว่า มีการจำหน่ายยาสมุนไพรโบราณในร้านตามห้างสรรพสินค้าประมาณ 3-4 แห่ง โดยอ้างว่าสามารถลดความอ้วนได้ ซึ่งขณะนี้ อย.ได้เก็บข้อมูลเพื่อขยายผลจับกุมแหล่งผลิตต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215