หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 24 ประจำวันที่ 2003-07-08

ข่าวการศึกษา

ฟันธงปฏิรูปเล่ม ‘การศึกษา’ เหลวระบุศธ.หวงอำนาจ
โต้สถาบันราชภัฏเรทติ้งอุดมศึกษามุ่งเพื่อการพัฒนา
สำเร็จแล้วเหรียญทองคณิตโอลิมปิกฯ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ใต้หวันผลิตปลาเรืองแสงขาย
ผ่าตัดทารกในครรภ์ได้ปลอดภัยใช้วิธีเจาะรูสอดเครื่องมือลงไป

ข่าววิจัย/พัฒนา

เทคโนโลยี ล้าง-ผ่า-คั้น มะนาวของ มจธ.
ระบบบำบัดน้ำเสียไร้อากาศแบบตรึงเซลล์ช่วยลดมลพิษและผลิตพลังงาน
มจธ.ชูน้ำยาล้างมือสะอาดไว้ห่างไกลโรค
ราชมงคลน่านเพาะเห็ดมหัศจรรย์รสชาติเทียบหูฉลาม รักษาโรคได้
เอไอทีพัฒนาคอนกรีตพลังช้างยกระดับการใช้งานทัดเทียมต่างชาติ
เตือนสิงห์อมควันผู้คิดกลับใจเช้าและเย็นเป็นช่วงอันตราย
ใต้หวันคิดค้น ‘ข้าว’ สารพัดสี

ข่าวทั่วไป

ยูเอ็นรับประกัน ‘อาหารอาบรังสี’ ปลอดภัยแน่นอน
ลอดช่องผงาดศูนย์การแพทย์ระดับนานาชาติ
สธ.ชี้คนไทยเสี่ยงตายนาทีละ 12 คน
ไม่ได้ผิดที่เกม
ระวังน้ำดื่มบริสุทธิ์ฉุดให้ตายเร็ว
ข้าวหอมมะลิ-ผ้าไหมไทยดันขึ้นบัญชีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในWTO





ข่าวการศึกษา


ฟันธงปฏิรูปเล่ม ‘การศึกษา’ เหลวระบุศธ.หวงอำนาจ

ในการอภิปรายหัวข้อ “ปฏิรูปการศึกษา : อะไรสำเร็จ อะไรล้มเหลว” ที่คณะครุศาสตร์จุฬาฯ ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ อดีตเลขาธิการสำนักงานปฎิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเหมือนคนตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอด ทำให้ลูกที่ออกมาไม่สมประกอบ โดยยกตัวอย่างการประกาศใช้หลักสูตรใหม่ที่ปล่อยให้โรงเรียนก๊อบปี้หลักสูตรกัน แต่ไม่มีแผนการพัฒนาครูที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซ้ำโครงสร้างระบบบริหารก็ยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญรวมถึงการอุดมศึกษาที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในการปฏิรูปแต่อย่างใด ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่เมื่อออกกฎกระทรวงกลับแสดงให้เห็นว่าไม่อยากโอนโรงเรียนไปสู่ชุมชน แล้วรัฐก็ทำหน้าที่จัดการศึกษาอยู่กว่า 80% ภาคเอกชนจัดเพียง 13% ชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล 6% และประชาชนเพียง 1% เท่านั้น ในส่วนของการเอนทรานซ์ รศ.ดร.สมพงษ์ เห็นว่า จำเป็นต้องทบทวนระบบแอดมิชชั่นใหม่เพราะเด็กๆ ยังมองว่า ระบบใหม่สร้างความเครียด เนื่องจากใช้เครื่องมือหลายตัวในการประเมินผล โดยเฉพาะการสอบ National Test (NT) ที่ยิ่งทำให้เด็กต้องกวดวิชามากขึ้น อีกทั้งข้อสอบยังมุ่งวัดเนื้อหาบทเรียนกว่า 80-90% ซึ่งหากระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นรูปแบบนี้ รศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ว่า แม้จะปฏิรูปหลักสูตรไปก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





โต้สถาบันราชภัฏเรทติ้งอุดมศึกษามุ่งเพื่อการพัฒนา

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการอุดมศึกษา กล่าวถึงการที่ราชภัฏไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุดมศึกษาที่คณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการอุดมศึกษาได้ลงมติไปก่อนหน้านี้ว่า การจัดอันดับดังกล่าว จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ประเมินผลการดำเนินงาน และยังเป็นข้อมูลเพื่อการแก้ไขข้อบกพร่องและพัฒนาศักยภาพ ในมหาวิทยาลัยได้ดีขึ้นตลอดจนให้เกิดกระบวนการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาสำหรับเป็นเครือข่ายพิจารณาความขาดแคลนและนำไปสู่การพัฒนาจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุดมศึกษาได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 แล้วจากนี้คณะอนุกรรมการฯ จะได้นำหลักการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ด้าน ศ.ดร.วรเดช จันทรศร รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวว่า การจัดอันดับจะต้องจัดเป็นเฉพาะกลุ่มที่ถนัด เช่น การพัฒนาวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น และหน่วยงานที่จะมาประเมินก็จะต้องมีความเป็นกลาง ทั้งตัวชี้วัดก็ต้องเป็นที่ยอมรับของทุกทุกฝ่าย ที่สำคัญตนอยากจะให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด ที่มารวมอยู่ในสกอ.เปลี่ยนการบริหารงานใหม่ จากการแข่งขันกันก็มาเป็นการร่วมมือกันพัฒนาอุดมศึกษา (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





สำเร็จแล้วเหรียญทองคณิตโอลิมปิกฯ

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสวท.ได้ทำการคัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2546 โดยในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ทำการแข่งขันระหว่างวันที่ 7-19 ก.ค.2546 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นนั้น ล่าสุดได้รับรายงานจากดร.จารุวรรณ แสงทอง ผู้จัดการทีม ว่า ผู้แทนประเทศไทยจำนวน 6 คน ประสบความสำเร็จสามารถทำได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 1 เกียรติคุณประกาศดังนี้ เหรียญทอง เป็นของนายธนสิน นำไพศาล ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย เหรียญเงิน นายสิระ ศรีสวัสดิ์ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา เหรียญทองแดง นายธีรสรรค์ ขันธวิทย์ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา นายนที ปิติวรรณ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย และนายนิธิ รุ่งธนาภิรมย์ ร.ร.เตรียมอุดศึกษา และเกียรติคุณประกาศ เป็นของนายศรัณย์ อาฮูยา ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ใต้หวันผลิตปลาเรืองแสงขาย

ปลาเรืองแสง ไขมุกราตรี หรือ TK-1 เป็นปลาที่ได้รับการตัดต่อยีน โดยนำเอาดีเอ็นเอของแมงกะพรุนมาใส่ในปลาม้าลาย ทำให้ปลาม้าลายที่ไม่มีสีสันกลายมาเป็นปลาที่มีแสงส่องสว่างในความมืด TK-1 เริ่มออกวางจำหน่ายในประเทศใต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย เมื่อประมาณ 3 เดือนก่อนและตอนนี้ TK=1 ก็กำลังถูกส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา บริษัทไทกงในไทเปที่ผลิต TK-1 ออกมาขายตระหนักถึงปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของสัตว์ตัดต่อยีนรวมถึงปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการตัดปัญหาดังกล่าวบริษัทไทกงจึงได้ทำให้พวกมันไม่สามารถผลิตลูกหลานได้เอง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 30)





ผ่าตัดทารกในครรภ์ได้ปลอดภัยใช้วิธีเจาะรูสอดเครื่องมือลงไป

แพทย์เมืองเบียร์เผยประสบความสำเร็จ ผ่าตัดให้ทารกในครรภ์ได้อย่างปลอดภัย โดยใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ เข้าไปในมดลูก แล้วสอดท่อและกล้องถ่ายรูป เข้าไปผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังทารกที่ไม่สมประกอบ แพทย์ของเยอรมันได้เปิดเผยความสำเร็จของการผ่าตัดทารกในครรภ์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นการผ่าตัดอันยากเย็น และเคยมีศัลยแพทย์ทั่วโลก เคยทำมาเพียงไม่กี่คนเท่านั้น โดยมีศัลยแพทย์ของสหรัฐฯ เคยริเริ่มขึ้น ด้วยวิธีผ่าหน้าท้องลงไปถึงมดลูก แบบเดียวกับการผ่าทารกออกทางหน้าท้อง แต่การผ่าตัดวิธีนี้ เสี่ยงกับการที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด แต่ศัลยแพทย์ชาวเยอรมันกล่าวว่า การผ่าตัดวิธีใหม่ ใช้การเจาะหน้าท้องลงไปที่มดลูกให้เป็นรูขนาดเล็ก ทำให้เสี่ยงอันตรายน้อยลง และได้ทดลองวิธีนี้กีบแกะตัวเมียที่มีท้อง ก่อนจะทำกับคนมาก่อนหลายหนแล้ว จนบัดนี้ ได้ผ่าตัดให้กับทารกในท้อง ซึ่งตรวจพบว่ามีกระดูกสันหลังมีรอยโป่งเพราะเยื่อ หรือไขสันหลังยื่นออกมา สำเร็จมา 3 รายแล้ว ทารกเหล่านี้ หากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข อาจจะทำให้กระดูกสันหลังเสียหายถาวร และเกิดเป็นอัมพาตได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เทคโนโลยี ล้าง-ผ่า-คั้น มะนาวของ มจธ.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้คิดค้นเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกแบบครบสูตรในการทำผลิตภัณฑ์จากมะนาว อาทิ เครื่องล้าง เครื่องผ่า และคั้นมะนาว ต้นแบบ ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์สาธิต จันทปุ่ม จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยขณะนี้ เครื่องล้าง ผ่า และคั้นน้ำมะนาวต้นแบบ ได้นำไปใช้ในโรงงานต้นแบบขนาดเล็ก ซึ่งทำการสาธิต และถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปการผลิตมะนาวครบวงจรให้กับกลุ่มเกษตรกร จ.เพชรบุรี ได้รู้จักกันแล้ว ส่วนผู้ที่สนใจเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โทร.0-2470-9188 (เดลินิวส อังคารที่ 15 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





ระบบบำบัดน้ำเสียไร้อากาศแบบตรึงเซลล์ช่วยลดมลพิษและผลิตพลังงาน

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ชนิดไม่ใช้อากาศ เป็นผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งผลงานดังกล่าวเคยได้รับรางวัลชมเชย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 และได้รับรางวัลโครงการดีเด่นทางด้านพลังงานใหม่และหมุนเวียนของประเทศไทยปี 2546 ประเภท Off-Grid จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าว เป็นระบบไร้อากาศแบบปิด ทำให้มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูง ใช้พื้นที่น้อย ที่สำคัญคือสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องกลิ่นที่มีในระบบบำบัดแบบเปิดได้ดี ผลพลอยได้ที่ได้มาจากการบำบัดน้ำเสียก็คือก๊าซชีวภาพสามารถนำกลับมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ บริษัทบางกอกอินเตอร์ฟู้ดส์ เป็นหนึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมที่นำเอาผลงานวิจัยดังกล่าวเข้าไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม สมชาย ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกอินเตอร์ฟู้ดส์กล่าวว่า เดินทางโรงงานต้องเสียค่าสารเคมีเพื่อกำจัดกลิ่นเดือนละประมาณ 3000,000 บาท เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบบำบัดใหม่ทำให้ลดภาระเรื่องสารเคมีไปได้ ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งได้นำมาใช้กับเครื่องเติมอากาศในบ่อบำบัด ทำให้ประหยัดค่าไฟได้เฉลี่ยวันละ 6,000 บาท (เดลินิวส เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 30)





มจธ.ชูน้ำยาล้างมือสะอาดไว้ห่างไกลโรค

รศ.ดร.ประเวทย์ ตุ้ยเต็มวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติวิเคราะห์ความเสี่ยงและการตัดสินใจ (RADAL) รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างมือตัวนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาในคณะวิจัย RADAL โดยนางชุติมา วิไลพันธ์ และดร.ฆรณี ตุ้ยเต็มวงศ์ ภาควิชาจุลชีววิทยามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างมือสำเร็จรูปไม่ต้องใช้น้ำล้างออกอีกครั้ง ส่งเสริมให้คนไทยล้างมือบ่อยขึ้น เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคทางเดินอาหารและโรคระบาด สำหรับน้ำล้างมือสำเร็จรูปที่ มจธ.ได้พัฒนาขึ้นนี้ ได้รับการวิจัยและพิสูจน์แล้วในเชิงวิชาการว่า สามารถทำลายเชื้อโรคได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในห้องปฏิบัติการและในการใช้งานจริงในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งผลก็ชัดเจนว่าเชื้อโรคถูกทำลายอย่างเห็นได้ชัดน้ำยานี้ ผ่านการตรวจสอบการระคายเคืองต่อมือตามวิธีที่เข้มงวดของอย. ประเทศสหรัฐ (US-FDA) จากการล้างมือติดต่อกัน 10 ครั้ง ไม่พบการระคายเคืองใดๆ ได้เกณฑ์มาตรฐาน (สยามรัฐ อังคารที่ 15 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ราชมงคลน่านเพาะเห็ดมหัศจรรย์รสชาติเทียบหูฉลาม รักษาโรคได้

นายแสงแก้ว คำกวน อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และวิชาเทคโนโลยีอาหาร ราชมงคลน่าน กล่าวว่า เห็ดหัวลิง หรือเห็ดภู่มาลา 60 มีชื่อเรียกกันต่างๆ มากมาย เห็ดชนิดนี้รู้จักกันเป็นอย่างดีในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยเฉพะในประเทศจีน มีการนำเห็ดหัวลิงมาผลิตเป็นยารักษาโรคกระเพาะและโรคลำไส้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่มจะนำมาวิจัยแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายและเห็นจะมีเพียงที่ราชมงคลน่านที่ได้มีที่ได้มีการวิจัยและเพาะเห็ดชนิดนี้อยางจริงจัง เนื่องจากพบว่ามีสรรพคุณทางยา อาทิ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและยังมีรสชาติเทียบกับหูฉลามที่คนไทยนิยมรับประทานกันติดต่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อ.แสงแก้ว คำกวน คณะพืชศาสตร์และวิชาเทคโนโลยีอาหาร ราชมงคลน่าน โทร. 0-5471-0259 ต่อ 1160, 1161 (เดลินิวส์ พุธที่ 16 กรกฎาคม 25746 หน้า 12)





เอไอทีพัฒนาคอนกรีตพลังช้างยกระดับการใช้งานทัดเทียมต่างชาติ

กลุ่มนักวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สร้างสถิติใหม่วงการก่อสร้างไทย ด้วยการผลิตคอนกรีตกำลังสูงที่มีกำลังอัดสูงถึง 1,200 กก./ตร.ซม. สำหรับการทำคอนกรีตกำลังสูงนั้น จะต้องพัฒนาองค์ประกอบคอนกรีตให้มีความแข็งแกร่งมากที่สุดโดยคอนกรีตกำลังสูงมีองค์ประกอบหลักๆ 2 ส่วน คือ มอร์ต้า (ปูนซีเมนต์+ น้ำ+ ทราย) และหิน โดยให้เพิ่มกำลังมอร์ต้าด้วยการใช้สารผสมประเภท ซิลิก้าฟูม หรือ Micro Silica และสารลดน้ำอย่างมากเพื่อให้ซีเมนต์มีความแข็งแรง และใช้ทรายคละขนาดเพื่อให้ส่วนมอร์ต้าแน่นขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





เตือนสิงห์อมควันผู้คิดกลับใจเช้าและเย็นเป็นช่วงอันตราย

ทีมนักวิจัยของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลเซนต์จอร์จของอังกฤษได้พบจากการศึกษากับสิงห์อมควันหนุ่มสาว ผู้เคยสูบบุหรี่อย่างน้อยวันละ 10 มวน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จำนวน 200 คน พบว่า พวกเขามากถึง 93% จะเกิดเปรี้ยวปากอยากสูบบุหรี่ตอนเวลาช่วงบ่ายและค่ำมากที่สุด จากที่คนส่วนมากเคยนึกกันว่า ตอนเวลาช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่อยากสูบบุหรี่มากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความรู้เรื่องนี้ อาจเอาไปแนะนำคอยาผู้ซึ่งอยากจะกลับตัวกลับใจเลิกบุหรี่ให้รู้ไว้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ใต้หวันคิดค้น ‘ข้าว’ สารพัดสี

สถาบันวิจัยการเกษตรแห่งใต้หวัน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตเมล็ดข้าวสีสันหลากหลายสิบสองสีในต้นเดียว โดยที่สีแต่ละสีในเมล็ดข้าวแต่ละเมล็ด จะบ่งชี้ถึงสารอาหารที่มีอยู่ในเมล็ดนั้นๆ อาทิสีเหลืองที่แทนสารเบต้า-แคโรทีน โดยข้าวพันธุ์นี้ เป็นผลจากการทดลองผสมพันธุ์ข้าวเป็นเวลานานถึง 8 ปี และยืนยันว่า ไม่มีการปรับแต่งพันธุกรรมอย่างแน่นอน ซึ่งทางใต้หวันเตรียมจดสิทธิบัตรข้าวสารพัดสีในปีหน้า ก่อนที่จะมีการวางตลาดในอนาคต (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2546 หน้า 1)





ข่าวทั่วไป


ยูเอ็นรับประกัน ‘อาหารอาบรังสี’ ปลอดภัยแน่นอน

คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหาร (โคเด็กซ์) แห่งองค์การสหประชาชาติ ประกาศเมื่อวันพุธ (9 ก.ค.) ว่าได้พิจารณารับรองมาตรฐาน-คุณภาพอาหารใหม่เพิ่มอีกกว่า 50 ประเภท ซึ่งรวมถึงการรับรองว่าอาหารที่ผ่านขั้นตอนการอาบรังสี มีความปลอดภัยเพียงพอและไม่ส่งผลให้มีสารตกค้าง มาตรการด้านการอาบรังสีอาหารใหม่ เปิดทางให้มีการใช้รังสีมากขึ้น เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้กลุ่มต่อสู้เพื่อผู้บริโภคมองว่า การอาบรังสีให้กับอาหารอาจทำให้ผู้บริโภคเป็นมะเร็ง “อาหารที่ผ่านการอาบรังสีได้รับพิสูจน์ว่าปลอดภัย และไม่เกิดสารตกค้างขณะผู้บริโภคแล้ว มันหมายถึงว่าอาหารจะปลอดภัยมากขึ้นเนื่องจากได้รับการปกป้องจากกระบวนการอาบรังสียกตัวอย่างเช่น วิธีนี้สามารถปรับใช้กับเครื่องเทศที่มักมีแบคทีเรียซึ่งทนทานต่อการกำจัดด้วยวิธีอื่น” นายอลัน แรนเดล เลขาธิการโคเด็กซ์กล่าว โคเด็กซ์ยังได้อนุมัติแนวปฏิบัติเกี่ยวกับอาหารไบโอเทคเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยระบุเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อการเข้าใจความเสี่ยงจากอาหารที่ผ่านเทคโนโลยีชีวภาพ แนวปฏิบัติดังกล่าว จะรวมถึงการประเมินความปลอดภัยก่อนออกสู่ตลาดและการติดตามผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบและเรียกคืนอาหารผ่านการปรับแต่งโดยครอบคลุมถึงการปรับแต่งดีเอ็นเอ อาทิข้าวโพด ถั่วเหลือง มันฝรั่ง รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น เนย โยเกิร์ต และเบียร์ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2546 หน้า 28)





ลอดช่องผงาดศูนย์การแพทย์ระดับนานาชาติ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ให้ความเห็นว่า ความล้มเหลวในการผ่าตัดแยกศีรษะฝาแฝดหญิงชาวอิหร่าน ของโรงพยาบาลในสิงคโปร์ ไม่ได้ส่งผลกระทบให้วงการแพทย์สิงคโปร์เสื่อมเสียชื่อเสียงในฐานะศูนย์การแพทย์ระหว่างประเทศ การผ่าตัด ซึ่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อฝาแฝดเสียชีวิตหลังการผ่าตัด ได้ทำให้วงการแพทย์สิงคโปร์ตกเป็นเป้าสนใจและมีชื่อเสียงในฐานะวงการแพทย์ทีมีทักษะและเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งเป็นไปตามแรงผลักดันที่สนับสนุนการพัฒนาสร้างสรรค์เทคนิคการผ่าตัดและเทคนิคการแพทย์ใหม่ๆ นายเควิน สคัลลี นักวิเคราะห์สาธารณสุขและผู้อำนวยการบริหารแห่งสถาบันวิจัยเน็ตรีเสิร์ซ เอเชีย ในสิงคโปร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การก้าวถอยหลังของวงการแพทย์สิงคโปร์แต่เป็นการทำให้สิงคโปร์เป็นที่รู้จักในแง่ผู้นำเทคโนโลยีการแพทย์ การพัฒนาวงการแพทย์ ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ต้องการผงาดขึ้นเป็นศูนย์บริการการแพทย์และการวิจัยด้านชีวแพทย์ศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลก ปัจจุบันสิงคโปร์เริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์วิจัยด้านสเต็มเซลล์และมาสเตอร์เซลล์ ที่สามารถนำมาปลูกถ่ายเป็นอวัยวะมนุษย์ ขณะรัฐบาลตั้งเป้าให้ธุรกิจด้านชีวแพทย์ศาสตร์ทำรายได้เข้ารัฐปีละประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2548 ซึ่งจะช่วยให้สิงค์โปร์ลดการพึ่งพิงแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมไฮเทค (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 21)





สธ.ชี้คนไทยเสี่ยงตายนาทีละ 12 คน

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดตัวซักซ้อมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย ในพื้นที่ 7 จังหวัดต้นแบบ ทั้งทางรถยนต์และทางเฮลิคอปเตอร์ว่า โรคที่กำลังกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขหลักของโลกที่สำคัญขณะนี้และในอนาคต ได้แก่ โรคอ้วน เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกถึงร้อยละ 59 ของสาเหตุตายทั้งหมด รวมทั้งอุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของประชากรวัยแรงงาน นางสุดารัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยก็มีแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน โดยในปี 2544 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานความดันโลหิตสูงโรคหัวใจ และหลอดเลือด 53,474 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 31,579 ราย การเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละประมาณร้อยละ 10-20 และมีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 5 แสนราย ที่น่าสนใจกว่านั้นพบว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยใช้บริการห้องฉุกเฉินกว่า 6 ล้านคน หรืออาจกล่าวได้ว่าทุกเสี้ยวนาทีมีคนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนาทีละ 12 คน (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





ไม่ได้ผิดที่เกม

กระทรวงไอซีทีสั่งปิดเซิร์ฟเวอร์เกมออนไลน์ งดให้บริการในช่วง 4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า เริ่มทดลองใช้มาตรการวันนี้ถึง 30 กันยายน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกที่มีการสั่งปิดเซิร์ฟเวอร์เกมดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะเกมแร็กนาร็อกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการมอมเมาเยาวชน ทำให้เด็กเสียการเรียน เป็นชนวนต่อการทะเลาะวิวาท ฉกชิงทรัพย์สินหรือนำไปใช้เป็นเครื่องมือเล่นการพนันยังรวมไปถึงเกมออนไลน์อื่นๆ ที่กำลังได้รับความนิยมด้วย เช่น เกมแฟรี่แลนด์ เกมเอ็นเอจ และเกมออนไลน์อื่นๆ ที่มาจากเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ (เดลินิวส์ อังคารที่ 15 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





ระวังน้ำดื่มบริสุทธิ์ฉุดให้ตายเร็ว

รศ.ดร.พิชัย โตวิวิชญ์ รองประธานชมรมอยู่ 100 ปี ชีวีเป็นสุข กรรมการบริหารสมาคมเคมีพบหลักฐานทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติการตลอดจนการค้นคว้าศึกษามาเป็นเวลานาน ในวิชา “อนินทรีย์เคมีชีวิภาพ” (Bio-inorganic chemistry) ยืนยันได้ว่า การดื่มน้ำบริสุทธิ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งการทำงานของเอนไซม์ภายในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจต้องการแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม และแมกนีเซียม เป็นต้น (สยามรัฐ เสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





ข้าวหอมมะลิ-ผ้าไหมไทยดันขึ้นบัญชีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในWTO

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงนามออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การแจ้งข้อมูลและขอรับบริการข้อมูลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ขึ้น โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับ ที่ 5) พ.ศ.2545 เนื่องจาก พ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลโดยตรง ยังไม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ประธานสภาฯ ทูลเกล้าถวาย และนำออกบังคับใช้เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ภายในเดือนสิงหาคม 2546 ที่จะถึงนี้ สำหรับสินค้าที่สามารถขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ตามกฎหมายนั้นแบ่งออกเป็น 12 พวก คือ 1.อาหารถนอมสภาพหรือแปรรูปที่ทำจากผัก ผลไม้เนื้อสัตว์ 2.อาหารถนอมสภาพหรือแปรรูปที่ทำจากธัญพืช เครื่องปรุงรสและขนม 3.ผลิตภัณฑ์และผลผลิตทางการเกษตร 4.เบียร์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 5.สุรา ไวน์ 6.ยาสูบ รวมทั้งอุปกรณ์ 7.สมุนไพร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และสารทำความสะอาด 8.สิ่งของที่ทำจากผลิตภัณฑ์เกษตรและวัชพืช 9.สิ่งของที่ทำจากหิน โลหะ แก้ว 10.ผ้าและงานประดิษฐ์จากผ้า 11.ตุ๊กตาประดิษฐ์ งานเซรามิค และเครื่องปั้นดินเผา 12. เบ็ดเตล็ด ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าภายหลังประกาศมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน มีผู้มาแจ้งขอขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 11 รายคือ ทุเรียนสวนนนท์ ข้าวหอมมะลิยโสธร เครื่องถ้วยเวียงการหลง หมอนขวานผ้าขิดยโสธร กระท้อนห่อบางกร่าง ตุ่มสามโคก บางเพรียงไวน์ ปลาสลิดหอมบางบ่อ ส้มโอสาริกา มะยงชิดสาริกา และปลาทูเมืองแม่กลอง ซึ่งถือว่าสินค้าที่ขึ้นบัญชีดังกล่าวจะได้สิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายภายในประเทศไทย แต่หากพบภายหลังว่า มีคนแอบอ้างนำชื่อไป ใช้จะมีความผิดตามกฎหมายทันที (สยามรัฐ เสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 8)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215