หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 25 ประจำวันที่ 2003-07-15

ข่าวการศึกษา

เร่งทำวิจัยมหา’ลัยนอกระบบ
ร.ร.ชนบทขาดห้องปฏิบัติการวิทย์
รุมสับผลวิจัยย้ายธรรมศาสตร์ยังไม่สมบูรณ์
ม.เอกชนไม่หวั่นม.นอกระบบ
ศธ.ได้ทางแก้งาน ร.ร.เอกชนชะงัก/เตรียมยุบรวมสถานศึกษาขนาดเล็ก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ไทยมีศักยภาพการพัฒนาหุ่นยนต์ทัดเทียมกับนานาประเทศ
สภาธุรกิจสหรัฐร่วมทุนไทยหนุนศูนย์กลางวิทย์สุขภาพ
‘เครื่องแกะกระเทียม’ ผลงานนักวิทย์น้อยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์
จีนเตรียมสร้างประวัติศาสตร์ส่งมนุษย์สู่อวกาศ
ไทยจับมือสหรัฐฯ ตั้งศูนย์วิทย์ชีวิตรับเอเปก

ข่าววิจัย/พัฒนา

วิจัยพบความคล้ายคลึงเส้นทางชีวิตของผู้เป็นอัจฉริยะกับอาชญากร
“พระเทพฯ” ทรงแนะส่งนร.นายร้อยร่วมวิจัยเห็ด
นักวิจัยทั่วโลกโชว์ผลงาน ‘ไบโอเทค’ มาเลเซียสนถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพ
ออสซี่วิจัยพบชายหลั่งบ่อยลดมะเร็ง
‘หญ้าแฝก’ แทน ‘ไม้’
พบยีนตัวการเกิด ‘โรคซึมเศร้า’
ยีนช่วยมะเร็งดื้อคำสั่งทำลายตัวเอง
น้ำยาตรวจสำเร็จรูปต้นแบบ สำหรับตรวจวัดระดับ HA เพื่อวินิจฉัยโรค
เตือนสาวรุ่นให้เลี่ยงอาหารมันๆ หลีกภัยมะเร็งเต้านมยามสูงอายุ

ข่าวทั่วไป

ปี 2545 ครอบครัวไทยแตกแยก อัตราหย่าร้าง 3 ล้านครัวเรือน
ส่งกฎกระทรวงหอพักใหม่เข้า ครม.
อันตรายเด็ก “โรคหัวใจอุดตัน” พบไขมันสะสมตั้งแต่ 5-8 ปี
เปิดตัวฝังชิปสุขภาพอัพเดตข้อมูล
ดื่มน้ำขณะออกกำลังกายถึงตายได้
ไฮโรตั้งศูนย์พัฒนาระบบงานในไทย
อย.เตือนภัยสาว ‘ยาเสียตัว’ ระบาดอีสาน
เตือนหมึกที่ใช้สักอาจเป็นอันตราย
กฟน.เปิดบริการขอใช้ไฟฟ้าผ่านเน็ต
ใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ไม่สบายได้ ต้องใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าวัด
อย.เอาจริงอายัดผ้าอนามัยสมุนไพร





ข่าวการศึกษา


เร่งทำวิจัยมหา’ลัยนอกระบบ

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการวิจัยเรื่องการประเมินมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งจัดทำโดย ผศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ และคณะว่า คณะวิจัยได้รายงานเบื้องต้นให้ทราบแล้ว ซึ่งเท่าที่ดูตนเห็นว่างานวิจัยยังเน้นที่การสำรวจและวิเคราะห์มากเกินไป ตนจึงฝากให้ไปวิเคราะห์ลงลึก เน้นเชิงคุณภาพ การเปรียบเทียบของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบและนอกระบบ การขยายงานวิจัยไปสู่วงกว้างระดับต่างประเทศมากขึ้น “งานวิจัยยังไม่ได้ศึกษาถึงสถาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลต่อการบริหารวิชาการว่าเป็นอย่างไร เช่น การผลิตบัณฑิตสนองกับความต้องการของประเทศหรือไม่ ส่วนเรื่องการขจัดคนไม่ดีออกจากงานนั้นระบบไหนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบขณะนี้วิ่งกระรุ่งกระริ่งหรือไม่เป็นต้น” ศ.ดร.วรเดชกล่าว (เดลินิวส์ พุธที่ 23 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





ร.ร.ชนบทขาดห้องปฏิบัติการวิทย์

ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการที่ได้ติดตามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยม ร.ร.ต่างๆ พบว่า ร.ร.ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะ ร.ร.ตำรวจตะเวนชายแดน และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลกันดาร ยังขาดแคลนห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เพื่อให้เด็กที่อยู่ห่างไกล ไม่มีสถาบันอุดมศึกษาอยู่ใกล้เคียง จึงมีแนวคิดที่จะให้มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ โดยจะนำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปไว้ในรถบัส และเคลื่อนย้ายไปตาม ร.ร.ในต่างจังหวัด ศ.ดร.พรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการดำเนินการเบื้องต้นนั้น จะหารือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อของบประมาณสนับสนุนต่อไป คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2546 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





รุมสับผลวิจัยย้ายธรรมศาสตร์ยังไม่สมบูรณ์

จากการสัมมนาเรื่อง “งานวิจัยกับการขยายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีไปศูนย์รังสิต” เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผศ.ดร.พิภพ อุดร กล่าวว่า ขณะนี้งานวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้วและจะมีข้อสรุป 3 ทางเลือก คือ 1. การย้ายปริญญาตรีทุกชั้นปี และทุกคณะไปยังศูนย์รังสิต 2. การาย้ายปริญญาตรีทุกชั้นแต่บางคณะไปที่ศูนย์รังสิต และ 3. การย้ายปริญญาตรีทุกชั้นปี เกือบทุกคณะไปศูนย์รังสิตพร้อมตั้งคณะใหม่ที่รังสิต ซึ่งเรื่องนี้ทางคณาจารย์ และประชาคมธรรมศาสตร์เห็นว่าผลงานวิจัยยังไม่สมบูรณ์และตอบปัญหาได้ไม่ตรงประเด็น โดยเฉพาะกลุ่มสุ่มตัวอย่างแบบสอบถามจำนวน 2,800 ชุด ซึ่งในจำนวนนี้มีอาจารย์ตอบแบบสอบถามเพียง 100 กว่าราย ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้แบบสอบถามก็มีชุดเดียวแต่ถามคนทุกกลุ่ม ทำให้ได้คำตอบที่ไม่ตรงประเด็น (เดลินิวส์ อังคารที่ 22 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





ม.เอกชนไม่หวั่นม.นอกระบบ

ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง “ทางรอดของมหาวิทยาลัยเอกชน เมื่อมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ” เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ว่า ข้อเสียเปรียบของมหาวิทยาลัยเอกชนกับมหาวิทยาลัยรัฐคือ มหาวิทยาลัยเอกชนจะถูกกำกับและดูแลเป็นพิเศษในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดหลักสูตร หรือการจัดตั้งคณะใหม่โดยการบริหารงานของม.เอกชนจะอยู่บนความไม่เชื่อใจ และหวาดระแวงจากภาครัฐมาตลอด 30 ปีที่มีกฎหมายให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนได้ แต่อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าเมื่อออกนอกระบบแล้วม.เอกชนน่าจะอยู่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราก็เลี้ยงตัวเองและพึ่งตนเองมาตลอดอยู่แล้ว ดังนั้นม.เอกชนจะต้องมากำหนดเอกลักษณ์ของแต่ละแห่งให้ชัดเจนว่าจะอยู่ตรงไหน จะบริการจัดการอย่างไรให้เกิดผลและประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้งบประมาณที่จำกัด และต้องเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาอาจารย์ และเปิดสาขาใหม่ๆ ที่ตรงต่อความต้องการของตลาดให้มากขึ้น (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





ศธ.ได้ทางแก้งาน ร.ร.เอกชนชะงัก/เตรียมยุบรวมสถานศึกษาขนาดเล็ก

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาการรองรับการติดต่องานของสถานศึกษาเอกชน ในขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังไม่มีความพร้อมว่า จากการประชุมที่ปรึกษากฎหมาย ศธ. มีการเสนอปรับการมอบอำนาจตามโครงสร้าง ศธ. ในส่วนของสำนักงานปลัด ศธ. โดยจะทำบันทึกเสนอให้นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ออกคำสั่งเพื่อให้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ทำหนังสือมอบอำนาจปฏิบัติราชการแทนเพิ่มให้กับนางพรนิภา ลิมปพยอม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเดิม นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 3 เขตในกรุงเทพมหานคร ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรมีการกำหนดตำแหน่งชั่วคราวเพื่อรองรับงานในส่วนของการศึกษาเอกชน และสำหรับเขตพื้นที่การศึกษาในภูมิภาคให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ 1 ทำหน้าที่แทนเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ในแต่ละจังหวัด เพราะโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอำเภอเมืองอยู่แล้ว และให้มีการโอนข้าราชการจากส่วนกลางลงไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย นางสิริกรกล่าวด้วยว่า ศธ.ยังเห็นชอบที่จะให้ยกร่างกฎ ศธ.ว่าด้วยการจัดระบบบริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นร่างเดิมที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษาเคยทำไว้ เพื่อยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 300 คน ซึ่งจะทำให้ลดจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศจาก 40,000 แห่งเหลือ 10,000 กว่าแห่ง อีกทั้งจะเป็นผลดีต่อการบริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ไทยมีศักยภาพการพัฒนาหุ่นยนต์ทัดเทียมกับนานาประเทศ

ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถควบคุมให้หุ่นยนต์ให้ทำงานได้ตามที่ต้องการเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้หุ่นยนต์ทำงานได้ดีมากขึ้น นั่นคือการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยศาสตร์ด้านนี้ สามารถเรียนรู้ได้ในทุกสาขาวิชาของวิศวกรรม เช่นวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ความรู้ด้านนี้เป็นงานวิจัยจะไม่เจาะจงว่าเป็นวิศวกรรมภาคใดเป็นการสอนวิธีคิดให้เป็นตรรกะ สอนให้หุ่นยนต์คิดผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อาจารย์วิทยามีความเห็นว่า หากเด็กไทยได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันในระดับโลกบ่อยๆ เช่น การแข่งขัน โรโบคัพ 2003 อิตาลี ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป จะทำให้รู้ว่ามีจุดเด่น และมีจุดบกพร่องตรงไหน เพื่อช่วยให้การพัฒนาและปรับปรุงเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และบรรลุผลในเวลาอันรวดเร็ว (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





สภาธุรกิจสหรัฐร่วมทุนไทยหนุนศูนย์กลางวิทย์สุขภาพ

วันที่ 18 ก.ค. จากงานสัมมนาวิชาการไบโอเทคแลนด์ 2003 ซึ่งจัดโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ Life Sciences นายสุวิทย์ คุณกิติ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานโครงการ Life Sciences กล่าวว่า รัฐบาลไทยร่วมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ชีวิต” ในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งช่วยยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ชีวิตของโลก โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 4 ประเด็นหลัก คือ การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาสุขภาพที่เป็นทางเลือก การวิจัยพัฒนาทางด้านไบโอเทคโนโลยีและการยกระดับอุตสาหกรรมยาโดยตกลงร่วมกันในเรื่องสัดส่วนการลดทุนที่รัฐบาลไทยจะลงทุน 60% ส่วนสภาธุรกิจสหรัฐจะลงทุน 40% เขาบอกด้วยว่า ขณะนี้ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา สำรวจวิจัยศักยภาพของประเทศไทยเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และกำหนดทิศทางในการทำงาน ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวจะเสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการประชุมอีกครั้งที่ภูเก็ต ในวันที่ 14-15 สิงหาคมนี้ นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไทยจะได้รับจากการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ คือ การลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ ที่จะสามารถดึงกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน และประเทศแถบเอเชียให้เข้ามาลงทุนและใช้บริการในประเทศไทยได้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





‘เครื่องแกะกระเทียม’ ผลงานนักวิทย์น้อยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ร่วมกับโรงเรียนปายวิทยาคาร และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 22 จัดงาน “วิทยาศาสตร์กับชีวิตเมืองสามหมอก” ครั้งที่ 3 ขึ้น ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดประเภทสิ่งประดิษฐ์ในปีนี้ ได้แก่ “เครื่องแกะกระเทียม” ผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปายวิทยาคาร ยุทธการ ปวงฟู, คนึงนิจ ทัศน์ศิริ, สายสมร แกนาง และสมชาย แซ่ลี้ ร่วมกันคิดค้นเครื่องแกะกระเทียมขึ้น เพราะเห็นว่ากระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจของ จ.แม่ฮ่องสอน และในแต่ละปีเกษตรกรต้องเสียเวลาและค่าใช่จ่ายเป็นจำนวนมากกับการการแกะกระเทียม เครื่องแกะกระเทียมจะสามารถแกะกระเทียมได้ประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อนาที ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา และค่าจ้างในการแกะกระเทียม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 30)





จีนเตรียมสร้างประวัติศาสตร์ส่งมนุษย์สู่อวกาศ

เจ้าหน้าที่แห่งสถาบันวิจัยจรวดจีนเผยเมื่อวันพุธที่กรุงปักกิ่งว่า จีนมีกำหนดปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ขับขี่เป็นครั้งแรกขึ้นสู่วงโคจรโลกในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ที่ส่งมนุษย์สู่อวกาศขึ้นปฏิบัติภารกิจในจักรวาล โดยยืนยันว่า ยานอวกาศเซินโจว 5 พร้อมมนุษย์จะขึ้นสู่อวกาศในเดือน ต.ค.นี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดวันเท่านั้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 13)





ไทยจับมือสหรัฐฯ ตั้งศูนย์วิทย์ชีวิตรับเอเปก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี เผยหลังประชุมร่วมกับคณะทำงานฝ่ายไทย-สหรัฐฯ ด้านความร่วมมือในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวิตหรือโครงการ Life Sciences ในการประชุมวิชาการไบโอไทยแลนด์ 2003 ว่า สืบเนื่องจาการเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีในการประชุมเอเปกเมื่อปี 2545 นั้น สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ได้เชิญประเทศไทยลงทุนทางด้านธุรกิจด้านธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ชีวิต เนื่องจากไทยมีความพร้อมและมีทรัพยากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ซึ่งหลังจากตั้งคณะทำงานร่วมกันและประชุม 2-3 รอบ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ก่อนการประชุมเอเปกที่เมืองไทยวันที่ 14-15 ต.ค.นี้ ที่ จ.ภูเก็ต ไทยจะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Life Sciences ขึ้น โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาทางด้านสุขภาพและธุรกิจทางด้านสุขภาพและธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในทุกๆด้าน โดยศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นหน่วยประสานส่งเสริมให้ไทยดึงกลุ่มลูกค้าจากประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่ธุรกิจสุขภาพไทยจะมีผู้เดินทางเข้ามารักษามากกว่าปีละ 6 แสนราย ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯเป็น 60-40 คาดว่าใช้งบฯไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และหวังว่าจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Life Sciences มากขึ้น อีกทั้งไทยจะเป็นผู้นำทางด้านนี้ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





ข่าววิจัย/พัฒนา


วิจัยพบความคล้ายคลึงเส้นทางชีวิตของผู้เป็นอัจฉริยะกับอาชญากร

วารสารวิทยาศาสตร์ “นิว ไซแอนติสต์” รายงานผลของการศึกษาชีวประวัติของผู้ชายที่นับว่ามีความเป็นอัจฉริยะในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกนักวิทยาศาสตร์พบว่า มักประสบความสำเร็จในชีวิต ค้นพบสิ่งสำคัญๆในตอนที่อยู่ในวัยช่วง 30 ปี เป็นช่วงอายุเดียวกับอาชญากรหลายคน กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังเช่นกัน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีแห่งนิวซีแลนด์ผู้ศึกษายังได้ลงความเห็นว่า พลังขับดันของผู้ชายส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรืออาชญากร ก็เกิดจากความพยายามเพื่อสร้างเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงกันข้ามทั้งสิ้น แต่พลังขับดันนี้จะค่อยทุเลาเบาลงไปตามวัย และผู้ชายจะเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อการต่อสู้ช่วงชิงคู่ครอง ไปเป็นการถนอมกล่อมเกลี้ยงบุตรธิดา นักวิจัยยังได้เปิดเผยด้วยว่า พอมีคู่ครองจะไปดูดซับพลังขับดันให้อ่อนน้อยลง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





“พระเทพฯ” ทรงแนะส่งนร.นายร้อยร่วมวิจัยเห็ด

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ ชลบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการไบโอไทยแลนด์ 2003 เทคโนโลยีเพื่อชีวิต จัดโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ไบโอเทค กล่าวว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับเห็ดเมืองร้อนและเห็ดเมืองหนาวของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะเมนูเห็ดกว่า 10 ชนิด ที่ทางไบโอเทคได้ปรุงถวายในครั้งนี้ รวมทั้งยังได้สนทนาถึงแนวทางการวิจัยด้านเห็ดกับ ศ.โซโลมอน พี.เวสเซอร์ (Prof. S olomon P.Wasser) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดระดับโลกจากประเทศอิสราเอล อีกทั้งยังทรงแนะนำว่าต้องการให้ไบโอเทคทำโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยเฉพาะการหาแนวทางเพิ่มธาตุเหล็กในอาหาร เช่น ข้าว น้ำปลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการเสวยพระกระยาหารครั้งนี้ ทรงโปรดเกล้าให้ นายดาตุ๊ก เสรี ลอเฮียงดิง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากประเทศมาเลเซีย ร่วมโต๊ะเสวยด้วย ทั้งนี้ นายดาตุ๊กได้ขอให้ไบโอเทคถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเห็ดนกยูง และการทำขิงจิ๋วให้กับทางมาเลเซียด้วย เนื่องจากเห็ดนกยูงป่าของมาเลเซียมีราคาแพงมาก ส่วนขิงจิ๋วนั้นอาจจะนำไปผลิตเป็นขิงเคลือบช็อกโกแลต เพราะมาเลเซียเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ในแถบภาคใต้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





นักวิจัยทั่วโลกโชว์ผลงาน ‘ไบโอเทค’ มาเลเซียสนถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพ

ในงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่จัดขึ้นที่พัทยาเมื่อวานนี้เป็นวันแรก ศ.เลนเน่ แลนจ์ จากประเทศเดนมาร์ก ได้บรรยายเกี่ยวกับการค้นพบเอนโซน์ในธรรมชาติ ที่ชื่อว่า “ไฟเตส” (Phytase) ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับอาหารสัตว์แล้วจะมีคุณสมบัติในการดึงสารฟอสฟอรัสออกมาใช้งานได้มากขึ้น และเมื่อสัตว์ถ่ายมูลออกมาแล้ว จะมีสารฟอสเฟตน้อยลง เมื่อเทียบกับอาหารสัตว์ที่ไม่ได้ผสมเอนไซม์ดังกล่าวกระบวนการดังกล่าวสามารถช่วยลดอัตราของฟอสเฟตซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เอนไซน์ดังกล่าวยังมีคุณสมบัติในการจับกับธาตุเหล็กได้ดีเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วดังนั้นผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะนำเอนไซม์ไฟเตสมาผสมในน้ำปลาของไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาโรคขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในบ้านเรา ทางด้านประเทศอิสราเอล ศ.พี วัสเซอร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดระดับโลกจากมหาวิทยาลัยไฮฟา ได้เสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการค้นพบสารในเห็ดสารพัดชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ และยังได้เสนองานวิจัยที่พบว่าเห็ดมีความสามารถในการต้านโรคมะเร็ง และโรคเบาหวานได้ พร้อมทั้งนำเสนอผลการทดลองทางคลินิกหลายชิ้นที่เกี่ยวกับเห็ด (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 9)





ออสซี่วิจัยพบชายหลั่งบ่อยลดมะเร็ง

เกรแฮม จิเลส จากสภามะเร็งวิคตอเรีย เมลเบิร์น ได้มีการเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 1,079 คน และชายสุขภาพดี 1,259 คน พบว่าผู้ชายที่ช่วยตัวเอง หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยวันละครั้งในช่วงอายุ 20 ปี เป็นไปได้ว่า จะป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าถึง 3 เท่าแต่ถ้าอายุเข้าช่วง 50 ปีไปแล้วถึงจะทำกิจดังกล่าวแค่ไหนก็ไม่เป็นผล (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





‘หญ้าแฝก’ แทน ‘ไม้’

วรธรรม อุ่นจิตติชัย นักวิชาการ 8 กรมป่าไม้ และคณะฯ เปิดเผยถึงที่มาของงานวิจัยด้านนี้ว่า การปลูกหญ้าแฝกของราษฎรตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามภูเขา ตามสันเขาต่างๆ เพื่อเป็นการยึดหน้าดินป้องกันดินพังทลาย กันการชะล้างหน้าดินของน้ำฝนเป็นเรื่องที่ดีมาก และใบหญ้าแฝกที่โตขึ้นและจำเป็นต้องตัดทิ้งไป สามารถนำมาทำประโยชน์ต่อได้ด้วยและใบยังมีประโยชน์ วรธรรมกล่าวว่า มีการมองกันว่าใบหญ้าแฝกนั้นถ้านำมาอัดแน่น น่าจะมีความแข็งแรงทนทานเช่นเดียวกับเศษไม้ที่นำมาทำเป็นแผ่น (partical board) แผ่นเอ็มดีเอฟ หรือแผ่นซีเมนต์อัด ดังนั้น จึงมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ใบหญ้าแฝกในลักษณะนี้ โดยใช้เวลา 2 ปี สามารถนำมาทำเป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์เช่น โต๊ะ, เก้าอี้, ตู้, ฯลฯ ได้” “สิทธิบัตร” ของงานวิจัยชิ้นนี้ทางคณะวิจัยได้มอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





พบยีนตัวการเกิด ‘โรคซึมเศร้า’

วารสารไซแอนซ์ เผยแพร่ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยในอังกฤษ นิวซีแลนด์ และสหรัฐ ที่พบว่า บุคคลที่ได้รับการถ่ายทอดยีน “s-HTT” สำเนาเดียว จากทั้งพ่อและแม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าบุคคลอื่น (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ยีนช่วยมะเร็งดื้อคำสั่งทำลายตัวเอง

วารสาร GENE&DEVELOPMENT รายงานว่า ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิเลเนีย ในสหรัฐค้นพบเอนไซม์ที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งดื้อไม่ยอมทำตามคำสั่งของร่างกายที่บังคับให้มันทำลายตัวเอง เอนไซน์ดังกล่าวชื่อ PIM-2 นักวิทยาศาสตร์รู้จักเอนไซน์ตัวนี้มาตั้งแต่เมื่อปี 2527 แต่ไม่มีใครเข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งอย่างไร เอนไซน์ PIM-2 จะผลิตออกมามากกว่าปกติในมะเร็งหลายชนิด ทีมนักวิจัยทดลองด้วยการนำเซลล์มะเร็งใส่ลงไปในจานทดลองพร้อมกับเอนไซน์ดังกล่าว พบว่า เซลล์ 60% รอดตายแม้มีความพยายามหลายครั้งที่จะกำจัดมัน แต่ก็ไม่สำเร็จ ทีมนักวิจัยแนะนำว่า ถ้ามีการคิดค้นตัวยาที่ไปออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซน์ PIM-2 ก็อาจจะช่วยควบคุมการลุกลามของโรคมะเร็งหลายชนิดดังกล่าวข้างต้น ดร.เคร็ก ธอมสัน หัวหน้าทีมวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเปิดเผยว่าขั้นต่อไปคือต้องควบคุมการทำงานของเอนไซน์ PIM-2 เพื่อจะจัดการขั้นเด็ดขาดกับเซลล์มะเร็งโดยทางทีมงานตั้งความหวังเอาไว้วา การวิจัยนี้อาจจะนำไปสู่การรักษาแบบใหม่ที่มุ่งเน้นฆ่าแต่เฉาะเซลล์มะเร็งก่อนที่มันจะกลายเป็นเนื้อร้ายลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





น้ำยาตรวจสำเร็จรูปต้นแบบ สำหรับตรวจวัดระดับ HA เพื่อวินิจฉัยโรค

Hyaluronan (HA) เป็นสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ประเภทพอลิเซคคาไรด์ พบได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อเยื่อที่เกี่ยวกัน เช่น กระดูกอ่อนและผิวหนัง ซึ่งจะถูกทำลายที่เซลล์ของตับ (Endothetial Liver cells) ปัจจุบันได้มีการนำเอาระดับของ HA ใน biological fluids ต่างๆ มาใช้เพื่อการวินิจฉัยหลายชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคตับ โรคมะเร็ง รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ จึงได้ทำการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการจัดเตรียมโปรตีนที่ยึดจับกับไฮยาลูโรแนน และการศึกษาคุณสมบัติ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากประชาคมยุโรป คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และได้พัฒนาชุดต้นแบบน้ำยาตรวจสำเร็จรูป สำหรับตรวจระดับ HA ขึ้น โดยใช้วิธีการเลียนแบบมาจากวิธี ELISA โดยแยกบริสุทธิ์โปรตีนที่ยึดจับอย่างจำเพาะกับ HA ซึ่งโปรตีนนี้สกัดได้จากกระดูกอ่อนของหมูหรือวัว แล้วนำมาติดฉลากด้วย Biotin ทำให้ได้สารที่นำมาใช้ในการวัด HA เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับน้ำยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแล้ว พบว่ามีความถูกต้อง แม่นยำ ราคาถูกกว่า อายุการใช้งานนานกว่า ใช้งานง่าย ปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้สารรังสี (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 30)





เตือนสาวรุ่นให้เลี่ยงอาหารมันๆ หลีกภัยมะเร็งเต้านมยามสูงอายุ

นักวิจัยได้พบจากการศึกษากับสตรีวัยรุ่นตั้งแต่ยังไม่มีประจำเดือนขึ้นไปว่า กลุ่มที่ชอบกินอาหารมันๆ มากที่สุด มีความล่อแหลมกับการเป็นมะเร็งทรวงอก มากกว่ากลุ่มที่กินอาหารมันๆ น้อยที่สุดถึง 33% พวกชอบกินอาการมันๆ ได้ไขมันจากสัตว์ถึง 23% ของแคลอรี แต่ไขมันจากพืชจะไม่มีโทษอย่างใด ส่วนกลุ่มตรงกันข้ามมีเพียง 12% นักวิจัยกล่าวว่า ตามปกติโรคมะเร็งทรวงอกมักจะใช้เวลาเป็นอยู่หลายปี และมักจะปรากฎอาการขึ้นตอนย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว แต่การได้รู้สาเหตุมาตั้งแต่ตอนอายุยังสาวก็ถือว่ามีความสำคัญ แม้ว่าจะยังไม่อาจเข้าใจได้ว่าไขมันสัตว์ทำให้เกิดมะเร็งได้อย่างไร แต่เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ไขมันสัตว์ไปทำให้ระดับการไหลเวียนของฮอร์โมนบางชนิดแก่ขึ้น เช่นฮอร์โมนเพศเอสโตรเยน นอกจากนั้นยังทราบกันดีว่า เนื้อวัวหรือเนื้อลูกแกะที่มีสีค่อนข้างคล้ำ ไม่ว่าจะดิบหรือสุก มีสารก่อมะเร็งที่เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับโรคมะเร็งลำไส้ การหลีกเลี่ยงบริโภคเนื้อวัวหรือเนื้อลูกแกะและนมเนยให้น้อยลง ยังช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ อันเป็นโรคมฤตยูของคนชาติอุตสาหกรรมอันดับ 1 ไปได้อีกด้วย (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ปี 2545 ครอบครัวไทยแตกแยก อัตราหย่าร้าง 3 ล้านครัวเรือน

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดเสวนา “เลี้ยงลูกอย่างไร หากไร้คู่” ที่พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร โดยมี พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันมีครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น จากสถิติล่าสุดที่สำรวจสิ้นปี 2545 ทั่วประเทศไทยพบว่ามีครอบครัวเดี่ยว 15-16 ล้านครอบครัว มีอัตราหย่าร้างร้อยละ 20 คิดเป็น 3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นผลสำรวจของคู่สามีภรรยาที่มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอีกจำนวนมาก ไม่ได้สำรวจจริงจัง ตนเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้คำปรึกษาปัญหาด้านครอบครัว พบว่า 70% ของผู้ที่ขอคำปรึกษา พ่อแม่กำลังฟ้องหย่าอยู่ในชั้นศาล 30% ขอคำปรึกษาแก้ปัญหาในครอบครัว ทำให้เห็นชัดเจนว่าปัจจุบันสามีภรรยาใช้วิธีพูดจาตกลงอย่างสันติวิธีน้อยลง สร้างผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะต้องนำเด็กขึ้นพิจารณาตัดสินใจศาลด้วย ส่งผลให้เด็กเสื่อมเสียสุขภาพจิต ต้องใช้เวลาในการบำบัดรักษา พ.ญ.พรรณพิมลกล่าวว่า อยากให้สามีภรรยาที่คิดจะเลิกร้างกัน หันมาพูดคุยกันดีๆ อย่าคิดเป็นเรื่องศักดิ์ศรี แต่ถ้าจะแยกทางกันจริง ต้องวางแผนในการเลี้ยงดูให้การศึกษาให้ดี ทำให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่แยกทางกัน ไม่ใช่พ่อแม่ทอดทิ้งเขา ผลการศึกษาระบุอีกว่า ครอบครัวเดี่ยว ที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายครอบครัวมาให้ความรู้และการดูแลอย่างใกล้ชิดจะสามารถเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพได้ นายวัชรินทร์ ปัจเจกวัญญูสกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1 กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานคดีครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นการฟ้องร้องทรัพย์สิน การขอรับผิดชอบดูแลบุตร เป็นต้น คดีฟ้องหย่า พบว่าถ้าคู่สามีภรรยามีอายุน้อย สาเหตุเกิดขึ้นจากการยุยงของญาติพี่น้อง ส่วนคู่สมรสอายุมากแล้ว มักเกิดจากการนอกใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การสร้างเครือข่ายครอบครัวขึ้นมาเป็นสิ่งจำเป็นให้แต่ละครอบครัวร่วมกันแก้ไขปัญหาจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอยากให้การฟ้องหย่าในศาลเป็นทางเลือกสุดท้าย (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





ส่งกฎกระทรวงหอพักใหม่เข้า ครม.

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการด้านกฎหมายจะนำร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่ใช้ประกอบ พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2507 ให้รัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยสรุปว่าร่างกฎกระทรวงจะมีการแก้ไขคำนิยามของผู้ที่อาศัยอยู่ในหอพัก คือผู้ที่เข้าข่าย พ.ร.บ.หอพักประกอบด้วย นักเรียนและนักศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปี ตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติกำหนด เยาวชนคือบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้ให้ชาย-หญิงที่เป็นคู่สมรส และพี่น้องร่วมสายเลือดอยู่รวมกันในหอพักได้ (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2546 หน้า 12)





อันตรายเด็ก “โรคหัวใจอุดตัน” พบไขมันสะสมตั้งแต่ 5-8 ปี

ที่โรงพยาบาลราชวิถีได้จัดโครงการ “รักหัวใจ ใส่ใจคอเลสเตอรอล” พร้อมการสัมมนาหัวข้อ “ทำอย่างไรเมื่อหัวใจขาดเลือด” โดยนาวาอากาศเอก (พิเศษ) น.พ.บรรหาร กออนันตกูล ประธานโครงการรักหัวใจ ใส่ใจคอเลสเตอรอล” กล่าวเปิดงานว่าในปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นและกำลังขยายกลุ่มผู้ป่วยไปสู่ผู้ที่มีอายุน้อยลง จากผลการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีการสะสมไขมันในเด็กตั้งแต่ 5-8 ปี โดยผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี มีการสะสมไขมันในหลอดเลือดหัวใจ 10% และผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-34 ปี มีการสะสมไขมันในหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีก 30% เพราะเมื่ออายุมากขึ้นก็มีตัวเร่ง ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการสะสมไขมันในร่างกายสัมพันธ์กับโรคอ้วน การสูบบุหรี่ จึงต้องรู้วิธีดูแลตัวเอง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยที่จะเกิดโรคทั้งหลาย น.พ.ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์ อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เกิดจากพันธุกรรม ถ้าในครอบครัวมีผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะพ่อ-แม่ ลูกจะมีโอกาสเป็นด้วย และผู้ชายทีอายุมากกว่า 45 ปี มีโอกาสเป็นโรคได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้คือ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง แบ่งเป็นคอเรสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัม และไม่ออกกำลังกาย จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯกว่า 60% และตำรวจจราจร 65% มีคอลเลสเตอรอลเกินค่าปกติที่กำหนด ถ้าลดคอเลสเตอรอลได้ 1% จะช่วยลดอัตราการเป็นโรคหัวใจได้ 2% (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2546 หน้า 18)





เปิดตัวฝังชิปสุขภาพอัพเดตข้อมูล

บริษัท แอพพลายด์ ดิจิตอล โซลูชั่น ของสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำชิปที่สามารถถูกฝังในร่างมนุษย์เพื่อเก็บประวัติสุขภาพและง่ายต่อการติดตามชื่อ เวรี่ชิป ในตลาดเม็กซิโกเป็นประเทศแรกแล้ว และคาดว่าในปีแรกของการนำออกสู่ตลาดจะมีผู้ขอฝังชิปอย่างน้อย 10,000 คน และมีโรงพยาบาลราว 70 เปอร์เซ็นต์ มีเครื่องมือที่สามารถอ่านชิปตัวนี้ได้ สนนราคาอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ (6,300 บาท) ค่าบริการต่อปี 50 ดอลลาร์ มีเครื่องสแกนและซอฟแวร์ที่ใช้กับชิปจำหน่ายในราคา 1,200 ดอลลาร์ ผู้ใช้บริการสามารถอัพเดตและสอบถามข้อมูลในชิปได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับชิปตัวนี้มีขนาดเท่าเมล็ดข้าว ใช้ฝังในแขนหรือสะโพก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องสแกนสามารถอ่านข้อมูลจากรหัสของชิปซึ่งจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือด ชื่อ และข้อมูลอื่นๆ สามารถฝังลงไปในร่างกายเจ้าของประวัติได้โดยไม่เป็นแผลและไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 5)





ดื่มน้ำขณะออกกำลังกายถึงตายได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาเตือนว่า การดื่มน้ำมากเกินไปขณะออกกำลังกาย เนื่องจากสูญเสียเหงื่อไปมากนั้น อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ เพราะอาจจะทำให้สมองบวม เนื่องจากขาดเกลือในเลือด นายทิโมธี เดวิด โน้คส์ แห่งมหาวิทยาลัยแอฟริกาใต้ในเมืองเคปทาวน์ ศึกษาเก็บข้อมูลมาพบว่า มีคนตายไปแล้ว 7 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 250 กว่าราย ที่มีอาการลักษณะนี้ ซินเธีย ลูเซโร นักวิ่งสาวชาวเอกวาดอร์ วัย 28 ปี ที่เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอน ที่นครบอสตันของสหรัฐ เมื่อปีที่แล้วก็ตายด้วยอาการดังกล่าว ซึ่งวงการแพทย์ไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก แต่ก็กลายเป็นข่าวครึกโครม ทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากขึ้นเกี่ยวกับอันตรายจากการดื่มน้ำมากเกินไประหว่างออกกำลังกาย ผู้เชี่ยวชาญจากแอฟริกาใต้วิจารณ์ผ่านวารสารการแพทย์อังกฤษว่า กลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดอาการแบบนี้มากที่สุด ก็คือ ทหาร นักเดินทน และนักวิ่ง โดยเฉพาะสาวๆ ที่ไปแข่งวิ่งมาราธอน แต่วิธีป้องกันได้ คือ ให้ดื่มน้ำพอดับกระหายเท่านั้น (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





ไฮโรตั้งศูนย์พัฒนาระบบงานในไทย

นายมาร์ก โฟร์ไซท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เอเชีย กลุ่มบริษัทไฮโร สำนักงานใหญ่ ออสเตรเลีย กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น 51% ของบริษัทไซเบอร์เวิร์คส คอนซัลติ้ง ในประเทศไทยและมีข้อตกลงจะเข้าซื้อหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 49% ซึ่งถือโดย นายแอนโทนี่ แม็คโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวาภายใน 2-3 ปีข้างหน้า “สำนักงานในไทย จะเป็นส่วนของเทคโนโลยีการพัฒนาระบบในอินเทอร์เน็ตซึ่งจะรับงานที่ส่งมาจากสำนักงานออสเตรเลีย และสิงค์โปร์ได้ โดยเฉพาะลูกค้าองค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีฐานธุรกิจหลายประเทศ” นายโฟร์ไซท์กล่าว ด้านนายแอนโทนี่ แม็คโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์เวิร์คส คอนซันติ้ง จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ไฮโร ไทยแลนด์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทไอทีไทย ที่ขยายโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทต่างประเทศ เพิ่มช่องทางรับงานจากลูกค้า และมีผู้แบกรับภาระทางธุรกิจร่วมกัน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 หน้า 6)





อย.เตือนภัยสาว ‘ยาเสียตัว’ ระบาดอีสาน

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเตือนภัยวัยรุ่นสาวนักเที่ยวให้ระมัดระวังยากล่อมประสาทชนิดใหม่ “อัลปราโซแลม” ที่วัยรุ่นชายแอบนำมาผสมกับเครื่องดื่มเพื่อมอมเมานักเที่ยวหญิงก่อนกระทำมิดีมิร้าย โดยกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในสถานบันเทิงภาคอีสานในขณะนี้ “ยาชนิดนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์รุนแรง แต่หากนำไปผสมกับเครื่องดื่ม น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็จะทำให้มีฤทธิ์แรงขึ้น ใครที่รับประทานเข้าไปจะทำให้สติสัมปชัญญะเสีย วิจารณญาณในการตัดสินใจลดลง ง่วงซึมและหลับไปในที่สุด” น.พ.ศุภชัย กล่าว ก่อนหน้านี้ ได้เกิดการแพร่ระบาดของยา “โตมิคุ่ม” ซึ่งนักเที่ยวชายมักจะซื้อไปมอมหญิงในรูปแบบที่คล้ายกัน แต่จะออกฤทธิ์เร็วต่อผู้ดื่มเกือบทันที ทำให้ราคาของยาโดมิคุ่มซึ่งจากเดิมเม็ดละ 10 บาท พุ่งสูงถึงเม็ดละ 50 บาท ขณะที่ยาอัลปราโซแลมหรือที่นิยมเรียกกันว่า “โซแลม” หรือ “ยาเสียตัว” ซึ่งมี 3 ขนาด คือ 0.25 มิลลิกรัม (สีขาว) 0.50 มก. (สีชมพูอ่อน) และ 1 มก. (สีม่วงอ่อน) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ผู้นั้นค่อยๆ เคลิ้ม จึงทำให้นักเที่ยวชายหันมานิยมใช้ยาประเภทนี้กันมาก ประกอบกับหาซื้อง่ายในราคาเพียงเม็ดละ 10 บาทเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 หน้า 12, 7)





เตือนหมึกที่ใช้สักอาจเป็นอันตราย

คณะกรรมมาธิการยุโรปเผยแพร่รายงานเรื่องความเสียงอันตรายจากการสักรอยสักและเจาะร่างกายเตือนว่าบรรดาผู้ที่นิยมสักรอยสักตามตัวอาจได้รับสารเคมีเป็นพิษซึมผ่านเข้าไปในผิวหนัง เพราะสารเคมีส่วนใหญ่ที่ใช้สักตามตัวเป็นสารเคมีที่ใช้กันในวงการอุตสาหกรรม เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของสีทารถยนต์ หรือหมึกพิมพ์ อีกทั้งยังไม่หลักฐานหรือข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการนำสารเคมีเหล่านี้ไปใช้สักร่างกาย รายงานฉบับนี้ยังเตือนว่าแม้กฎหมายกำหนดให้ช่างสักต้องสวมถุงมือและใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อแต่ยังไม่มีการออกกฎระเบียบควบคุมการใช้น้ำหมึกสักแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสโรคตับอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียจากการใช้เข็มฉีดยาปนเปื้อนอีกทั้งรอยสักอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังอากาช็อคที่เกิดจากพิษที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย รายงานของคณะกรรมมาธิการยุโรปอ้างถึงรายงานการพบผู้เสียชีวิต 2 รายจากการสักรอยสักหรือเจาะร่างกายนับตั้งแต่สิ้นปี 2545 เป็นต้นมา คณะกรรมมาธิการชุดนี้ขอเวลาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกระยะก่อนจะมีการแนะนำให้ออกกฎหมายคุมเข้มเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





กฟน.เปิดบริการขอใช้ไฟฟ้าผ่านเน็ต

กฟน.เปิด e-Application ขอใช้ไฟผ่านเน็ต มุ่งบริการลูกค้ากลุ่มไอที หวังเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน นายชูศักดิ์ ชมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น โดยผ่านโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีและอินเทอร็เน็ตชั่วโมงละหนึ่งบาท ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบไอทีได้ง่ายและสะดวกขึ้น ดังนั้น กฟน. จึงได้เปิดให้บริการ e-Application เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถขอใช้ไฟฟ้าใหม่ ขอใช้ไฟฟ้าเพิ่มและขอต่อกลับเครื่องวัดได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่าสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่มีการบวกเพิ่มจากอัตราปกติแต่อย่างใดทั้งสิ้น และหากลูกค้าไม่ประสงค์จะขอใช้ไฟฟ้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก็ยังสามารถดาวน์โหลดแบบขอใช้ไฟฟ้าและบริการอื่นๆ เช่นแบบขอโอนสิทธิ์ แบบขอคืนเงินประกัน แบบขอเปลี่ยนชื่อเพื่อมากรอกเองได้ด้วย ทั้งนี้ ระบบ e-Application ของ กฟน. ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมี e-mail address โดยสามารถแจ้งความจำนงในการขอใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ของ กฟน. www.mea.or.th เมื่อผู้ขอใช้กรอกรายละเอียดทั้งหมดแล้ว กฟน จะติดต่อกลับไปตาม e-mail address ที่แจ้งไว้ หลังจากนั้นจะนัดทำการตรวจสอบสายไฟฟ้าภายในบ้านและรับเอกสาร รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





ใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ไม่สบายได้ ต้องใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าวัด

หมออีริก เปเปอร์ ผู้อำนวยการสถาบัน ได้ศึกษากับอาสาสมัคร โดยใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อแผ่นหลังส่วนบนไหล่และโคนแขนขวา ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ถนัดมือขวา พร้อมกับมีการตรวจวัดอัตราการหายใจด้วย การใช้เครื่องบันทึก ทำให้ทั้งผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจได้รู้ผลไปด้วยกัน เมื่อกล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง ก่อนที่จะเกิดอาการเจ็บปวดขึ้น เพราะกล้ามเนื้อที่เกิดอาการเกร็งบวกกับการเคลื่อนไหวอย่างอื่น ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก อันเป็นผลให้กล้ามเนื้อคืนตัวได้ช้า ทั่งอาการหายใจตื้นๆ ถี่ๆ จะยิ่งทำให้คอและไหล่แข็งขึ้น เป็นเหตุให้มีอาการหายใจยาวและลึกผิดปกติ หมออีริกเปิดเผยว่า “ผู้เข้ารับการทดลองเกือบทุกคน ต่างรู้สึกประหลาดใจ ที่เกิดอาการอัตราการหายใจถี่ขึ้น และกล้ามเนื้อแข็งขึ้นระหว่างทำงานขึ้นได้ โดยมากเรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับงาน จนมักไม่ค่อยรู้ว่ามีอาการเครียดขึ้น จนกว่าจะรู้สึกปวดเมื่อยขึ้นแล้ว” หมอได้ออกแบบท่าฝึกการหายใจและเพื่อให้กล้ามเนื้อได้พัก ทดลองให้ผู้เข้ารับการทดลองไปฝึกทำเอาเอง และต่างก็รายงานว่า พวกเขารู้สึกทำงานได้สบายตัวขึ้นกว่าเก่า (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





อย.เอาจริงอายัดผ้าอนามัยสมุนไพร

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกรณีผ้าอนามัยสมุนไพรว่า ผ้าอนามัยจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ผู้ผลิตและนำเข้าต้องแจ้งรายละเอียดต่อ อย. ที่ผ่านมามีบริษัทแห่งหนึ่งแจ้งว่า จะนำเข้าผ้าอนามัยสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของการบูร สะระแหน่และว่านหางจระเข้ เนื่องจากสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีอยู่ในเครื่องสำอางหลายชนิดและไม่มีอันตราย ซึ่งผู้ขายสามารถจัดจำหน่ายได้ แต่ปัญหาคือมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยว่ามีสรรพคุณทางยารักษาโรคต่างๆ ดังนั้น อย.จึงได้อายัด และแจ้งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงโฆษณา และแจ้งดำเนินคดีในข้อหาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะผ้าอนามัยดังกล่าวเหมือนผ้าอนามัยทั่วไป ที่ไม่มีสรรพคุณป้องกันเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส หรือป้องกันการตกขาว มะเร็งและริดสีดวงทวาร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบจำนวนมาก และใช้ในจุดซ่อนเร้น มีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ได้มากและตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215