หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 26 ประจำวันที่ 2003-07-22

ข่าวการศึกษา

‘จารตุรนต์’ ตีกลับร่างกม. ‘ม.ราชมงคล’ เหตุ ‘นำยุทธ’ ขอปรับตั้ง9มหาวิทยาลัย
2 แห่งดอง ม.ในกำกับ สจพ. จ่อคิวเข้าสภาฯ
ยุบรวมโรงเรียนเล็กโยนเขตพ.ท.เคลียร์
ชงครม.เพิ่มครูพันอัตรา5จว.ใต้เขตศึกษาพิเศษ
รามคำแหงเปิดเวบสอนทำอาหารไทย
จันทรเกษมมั่นใจเป็นมหา’ลัย
จุฬาชี้แบ่งกลุ่มมหา’ลัยไม่ใช่การแบ่งชนชั้น
เชียร์เด็กไทยคว้าชัยฟิสิกส์โอลิมปิกฯ
เหมืองโพแทช รอสัญญาณรัฐ ชาวบ้านขอเอี่ยววิจัยสุขภาพ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ไมโครซอฟท์ย้ำจุดเด่นวินโดว์สไอซีทีพัฒนาการใช้งานเป็นภาษาไทย 80%
อินเทลทดสอบเทคโนฯ ช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์
เพคตินผงจากฝักทอง
‘กระดาษ’ จาก ‘ต้นกล้วย’

ข่าววิจัย/พัฒนา

‘ไบโอเทค’ เตรียมเปิดตัวข้าวเจ้าธาตุเหล็กสูงปี’ 47
กินปลาช่วยพาหนีพ้นโรคร้ายทั้งสมองเสื่อมและโรคหัวใจ
หัวเราะไว้ต่อต้านสกัดโรคภัยได้ ผู้ที่สุขใจมักไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย
กินข้าวอย่างลิง ลดไขมันลงได้จริง สรรพคุณเยี่ยมยอดยิ่งกว่ายา
ยาแอสไพรินเป็นยาอัศจรรย์ อาวุธใหม่ปราบเชื้อแบคทีเรีย
วิจัยพบ ‘ต้นก่อ’ ดูดก๊าซพิษดีเยี่ยม
นักวิจัยแคนาดายัน ‘มังสวิรัติ’ ช่วยลดไขมันในเลือดเท่ายา
วว.วิจัยใช้ประโยชน์ของเสียโรงเหล้าพัฒนาอาหารเลี้ยงตัวอ่อนกุ้งสำเร็จ
ปรอทร้าย…ทำลายชีวิต
นวัตกรรมใหม่ขี้เลื่อยผสมพีวีซีรับออเดอร์นอกเกินกำลังผลิต

ข่าวทั่วไป

ศึกษาผลวิจัย ‘ฮาร์วาร์ด-ออกซ์ฟอร์ด’ วางเกณฑ์คุมเด็กเล่น ‘เกมออนไลน์’
พระราชินีพระราชทาน 1 สิงหาคม เป็น “วันสตรีไทย”
คนกรุงเสี่ยง “มะเร็งปอด-โรคหืด” เพิ่มขึ้น
ไอซีทีดึงต่างชาติสร้างเมืองไฮเทค
กรมวิชาการเกษตรเอาจริงดันไทยสู่ครัวโลก
ชี้น้ำเอื้ออาทรดื่มมากอันตราย
เผยหญิงไทย ‘มะเร็งมดลูก’ 6 พันรายต่อปี
เนคเทคชี้ในสิ้นปี ก.ม.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์คลอด
‘ปลาดุกลำพัน’ สัตว์น้ำหายากในเขตป่าพรุของไทย





ข่าวการศึกษา


‘จารตุรนต์’ ตีกลับร่างกม. ‘ม.ราชมงคล’ เหตุ ‘นำยุทธ’ ขอปรับตั้ง9มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 มีนายจารตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดนนายนำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) ได้อ้างถึงข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กรณีที่เสนอให้ยกวิทยาเขต รม.ที่มีอยู่ 40 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นมหาวิทยาลัย 9 แห่ง และที่เหลือให้เป็นกลุ่มวิทยาเขตเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจการศึกษาและเพื่อให้การเรียนการสอนในด้านปฏิบัติควบคู่ไปกับทฤษฎีจากเดิมที่ร่างกฎหมายระบุให้มี 1 มหาวิทยาลัย และ 9 กลุ่มวิทยาเขต พร้อมทั้งได้ขอให้นายจาตุรนต์ผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองไปก่อนส่วนกระบวนการอื่นๆนั้นจะประสานขอความร่วมมือจาก ส.ส.เอง แต่นายจาตุรนต์ไม่ยินยอมเพราะหลักการในการยก รม.ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่คิดจะยกฐานะก็ทำได้แต่ต้องพร้อมจริงๆ จึงมอบให้ผู้เกี่ยวข้องนำร่างกฎหมายกลับมาศึกษาใหม่ก่อนเสนอให้พิจารณาอีกครั้ง (มติชน พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 20)





2 แห่งดอง ม.ในกำกับ สจพ. จ่อคิวเข้าสภาฯ

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เผยถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า ขณะนี้เหลือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่ยังไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.มายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ส่วน 18 แห่งที่ส่งมาแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ครม. และบางร่างกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ คาดว่าร่างของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ในสมัยประชุมเดือน ส.ค. นี้เป็นร่างแรก สำหรับร่าง พ.ร.บ.กลางผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และจำนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเร็วๆนี้ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





ยุบรวมโรงเรียนเล็กโยนเขตพ.ท.เคลียร์

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทำร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดระบบบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 300 คน ซึ่งจะทำให้ลดจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศจาก 40,000 แห่ง เหลือ 10,000 กว่าแห่ง ว่า จะประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมายอีกครั้งในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ โดยแนวทางเบื้องต้นจะเป็นการหลอมรวมโรงเรียน ไม่ได้ยุบโรงเรียน แต่จะใช้ระบบการบริหารแบบเครือข่าย โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่พร้อมก็จะเป็นเหมือนกับสาขาหรือวิทยาเขตของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่จะหลอมรวมกัน (มติชน พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 20)





ชงครม.เพิ่มครูพันอัตรา5จว.ใต้เขตศึกษาพิเศษ

นายภูมิ สาระผล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 1 ด้านความมั่นคง มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะที่ 4 ด้านการศึกษา มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดโดยให้เพิ่มแผนระยะสั้นเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราครูและบุคลากรทางการศึกษา งบประมาณ การฝึกอบรมและจัดตั้งองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทันที 29 กรกฎาคม ทั้งนี้ จะมีงบฯ ที่เห็นชอบในกรอบ 641.9 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2546 จำนวน 223.2 ล้านบาท โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปหารือรายละเอียดกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง และปี 2547 จำนวน 418.7 ล้านบาท ซึ่งจะให้เพิ่มครูอีก 1,000 อัตรา ครูอัตราจ้างชั่วคราว 500 คน และครูอาสา 100 คน โดยนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ได้ศึกษาพิเศษ มีหน่วยงานเฉพาะกิจเป็นศูนย์กลางขึ้นตรงกับ ศธ. และให้มีคณะกรรมการบริหารพื้นที่นอกจากนี้ นายจาตุรนต์เน้นว่าแผนดังกล่าวให้ความสำคัญต่อชุมชน ดังนั้น ควรให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนที่มีอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (มติชน ศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2546 หน้า 20)





รามคำแหงเปิดเวบสอนทำอาหารไทย

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตโชติเวช และบริษัท ซัม ซิสเต็ม เปิดเวบไซต์สอนทำอาหาร-ขนมไทย www.thaicusineonline.com เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยสู่สายตาชาวโลก โดยภายในเวบจะพัฒนาระบบให้มีการเรียนการสอนการทำอาหารผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง เพื่อเปิดให้ชาวต่างประเทศที่สนใจสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ และถือเป็นโครงการนำร่องการเปิดวิทยาเขตการเรียนทางไกล สำหรับชาวไทยในต่างประเทศของมหาวิทยาลัยด้วย (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 5)





จันทรเกษมมั่นใจเป็นมหา’ลัย

รศ.เทื้อน ทองแก้ว อธิการบดีสถาบันราชภัฏ (รภ.) จันทรเกษม เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าประมาณปลายปี 2546 หรือต้นปี 2547 รภ.ทุกแห่งน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





จุฬาชี้แบ่งกลุ่มมหา’ลัยไม่ใช่การแบ่งชนชั้น

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงการเข้าสู่โครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการว่า เป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานการศึกษาทั้งหมดมาอยู่รวมเป็นกระทรวงเดียวกัน จะได้มีนโยบายและการส่งเสริมในภาพรวมที่เหมือนกันและทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของอุดมศึกษาที่จะรวมสถาบันราชภัฏ (รภ.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน เข้ามาอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นั้นจะทำให้การส่งเสริมสนับสนุนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น ส่วนที่เกรงกันว่าเมื่อ รภ. และรม. มารวมอยู่ในสกอ. แล้ว จะทำให้คุณภาพอุดมศึกษาต่ำลงนั้นโดยส่วนตัวตนเห็นว่าการที่จะรวมหรือไม่รวมก็ไม่มีผลทำใหคุณภาพต่ำ และไม่ว่าจะรวมหรือไม่รวมทุกสถาบันก็จะต้องทำให้คุณภาพดีขึ้น ไม่เช่นนั้นขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติคงไม่มี อีกทั้งหากมองว่าการรวม รภ. และ รม. เข้ามาจะทำให้คุณภาพอุดมศึกษาตกต่ำ ตนคิดว่าไม่เป็นธรรมกับหน่วยงานเหล่านั้นด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 30 กรกฎาคม 2546 หน้า 27)





เชียร์เด็กไทยคว้าชัยฟิสิกส์โอลิมปิกฯ

การแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ วิชาฟิสิกส์ ประจำปี 2546 ระหว่างวันที่ 2-11 สิงหาคม ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดส่งผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมชิงชัยด้วยกัน 5 คน ประกอบด้วย ชยุตม์ ถานะภิรมย์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์, ธเนศ พฤทธิวรสิน โรงเรียนเซนต์คาเบรียล, นภดล เมฆอรียะ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย, ปวีธ แสงจันทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และสลิลพร กิตติวัฒนากูล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 2)





เหมืองโพแทช รอสัญญาณรัฐ ชาวบ้านขอเอี่ยววิจัยสุขภาพ

สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ได้จัดแถลงเรื่องเหมืองแร่โพแทช : ผลกระทบต่อสุขภาพที่ถูกมองข้าม โดยนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สถาบันราชภัฎอุดรธานี หนึ่งในคณะทำงานศึกษาและติดตามโครงการ กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของคนอุดรธานี 1,500 คน พบว่า 46.79% เห็นว่าโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวัฒนธรรม สังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดย 66.76% ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ติดตามและพิจารณาโครงการนี้ ด้าน น.ส.สมพร เพ็งคำ อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่าปัจจุบันชาวบ้านได้รับผลกระทบในแง่มิติทางจิตใจ เนื่องจากความขัดแย้งของคนในชุมชนที่แบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุน ดังนั้น จึงควรต้องศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและด้านสังคมควบคู่กันไปด้วย โดยเน้นที่การเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งกระบวนการศึกษานี้จะได้ข้อสรุปภายใน 6-9 เดือน นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่าจะนำโครงการเหมืองแร่โพแทช ไปเป็นกรณีศึกษาในเวทีสมัชชาสุขภาพในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมทั้งทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เสนอต่อ รมว.สาธารณสุขและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันท่าทีของการเมืองมีแนวโน้มที่จะทบทวนโครงการนี้หลังจากที่พบว่าอีไอเอมีข้อบกพร่อง และกฤษฎีกาก็ตีความว่าต้องมีการทำอีไอเอโครงการใหม่ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ไมโครซอฟท์ย้ำจุดเด่นวินโดว์สไอซีทีพัฒนาการใช้งานเป็นภาษาไทย 80%

จากการที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เปิดให้บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมเสนอซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็กซ์พี โฮมเอดิชั่น พร้อมโปรแกรมออฟฟิศ ชุดมาตรฐาน ในราคา 1,490 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ซื้อคอมพิวเตอร์ในโครงการไอซีทีซึ่งถือเป็นการเสนอซอฟต์แวร์ราคาต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา กระนั้นมีกระแสข่าวต่อเนื่องว่าคอมพิวเตอร์ไอซีที มีคุณสมบัติเครื่องไม่สูงพอจะรองรับการทำงานของซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ “มีผลสำรวจทั่วโลกระบุว่า การใช้งานเครื่องของผู้ใช้ครั้งแรกจะใช้การส่งเมล พิมพ์เอกสารจดหมาย ดูหนัง ฟังเพลง มัลติมีเดีย ทีมงานในไทยจึงพัฒนาเมนูทางการใช้ภาษาไทยที่สอดคล้องกับความต้องการนี้ และผู้ใช้ไม่สามารถกลับไปใช้เมนูภาษาอังกฤษได้ เพราะเป็นเวอร์ชั่นพิเศษเฉพาะโครงการนี้” (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า5)





อินเทลทดสอบเทคโนฯ ช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์

หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์สตีท เจอร์นัล รายงานว่า บริษัท อินเทล คอร์ป. ซึ่งก่อตั้งสมาคมวิจัยร่วมกับสมาคมอัลไซเมอร์สหรัฐมีแนวความคิดจะใช้เครือข่ายของอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณในการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ นายอีริค ดิชแมน นักวิจัยบริษัท อินเทล เปิดเผยว่า แนวคิดที่ว่านี้ จะจัดหาอุปกรณ์เตือนความจำ รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ส่งไปทางทีวีหรือโทรศัพท์ หรืออาจส่งคำร้องขอความช่วยเหลือไปยังแพทย์โดยตรงหากจำเป็น ทั้งนี้ บริษัทอินเทล และสมาคมอัลไซเมอร์เตรียมใช้เงิน 1 ล้านดอลลาร์เพื่อการวิจัยในโครงการเอฟเวรีเดย์ เทคโนโลยี ฟอร์ อัลไซเมอร์แคร์ ขณะที่บริษัทไฮเทคอื่นๆ กำลังพิจารณาเข้าร่วมสมาคมดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 5)





เพคตินผงจากฝักทอง

น.ส.เมศยา ธิติศักดิ์สกุล นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น ที่เป็นเจ้าของโครงงานศึกษาค้นคว้าเรื่อง “การวิเคราะห์ปริมาณร้อยละของ Pectic Substances ในผงเพคตินผงทางการค้า และเพคตินผงที่สกัดจากฟักทอง” จากการทดลองครั้งนี้เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ชุดมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน และเปรียบเทียบระหว่างกันแล้วแสดงให้เห็นว่าเพคตินผงทางการค้ามีความบริสุทธิ์มากกว่าเพคตินที่สกัดจากฟักทอง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 30)





‘กระดาษ’ จาก ‘ต้นกล้วย’

เล็ก หัสดิเสวี ที่ปรึกษากลุ่มสตรีสหกรณ์กระดาษสา อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เปิดเผยถึงที่มาของการประดิษฐ์ว่า สินค้าหลักของกลุ่มฯ คือ กระดาษจากปอสา แต่ว่าช่วงหลังๆ ที่ผ่านมา “ปอสา” เริ่มมีน้อยลงไปทุกที ต้องสั่งซื้อจากประเทศลาวเข้ามทำเป็นวัตถุดิบ จึงคิดว่าต้นกล้วยในจังหวัดพิษณุโลกมีมากน่าจะทำกระดาษทอแทนปอได้ ก็เริ่มทดลองทำใช้เวลา 6 เดือน จึงจะประสบความสำเร็จ และได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2546 หน้า 26)





ข่าววิจัย/พัฒนา


‘ไบโอเทค’ เตรียมเปิดตัวข้าวเจ้าธาตุเหล็กสูงปี’ 47

นายอภิชาติ วรรณวิจิตร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ภายหลังจากประสบความสำเร็จเรื่องการสร้างสายพันธุ์ข้าวธาตุเหล็กสูงแล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากสหกรณ์การเกษตรนำไปเผยแพร่ในกลุ่มผู้บริโภคกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะข้าวธาตุเหล็กที่ทำการออกมานั้นเป็นข้าวเหนียวขณะนี้จึงต้องทำวิจัยเรื่องข้าวเจ้าธาตุเหล็กสูงออกมาใหม่ ชื่อข้าวหอมมะลิเบอร์ 3 จะมีสีเข้มกว่าเดิม แต่มีคุณสมบัติดีกว่า เพราะมีส่วนผสมของข้าวขาว มีสารยับยั้งการดูดซึมการใช้ประโยชน์ของธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายใช้ประโยชน์จากธาตุเหล็กที่รับประทานเข้าไปมากยิ่งขึ้น ทั้งข้าวหอมมะลิเบอร์ 3 และข้าวเจ้าธาตุเหล็กสูงนี้พร้อมจะเปิดตัวในปี 2547 ซึ่งถือเป็นปีข้าวโลกและถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณสำหรับการวิจัยข้าวโดยเฉพาะ เป็นเงินถึง 130 ล้านบาท (มติชน พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 18)





กินปลาช่วยพาหนีพ้นโรคร้ายทั้งสมองเสื่อมและโรคหัวใจ

นักวิจัยสหรัฐฯ ได้ศึกษาผู้สูงอายุตามบ้าน คนชราจำนวนเกือบ 1 พันคน มาเป็นเวลา 7 ปี ระหว่างนี้มีผู้ล้มป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมลง 131 ราย ได้พบว่าผู้สูงอายุผู้ที่กินปลาเป็นประจำ อย่างต่ำอาทิตย์ละ 1 มื้อ ปลอดจากโรคนี้ถึง 60% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ชอบกินหรือไม่เคยกินปลาเลย นักวิจัยของศูนย์การแพทย์เซนต์ลุกซ์กล่าวระบุว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวในปลา ถั่วและน้ำสลัด อาจจะเหมือนกับที่เคยพบว่า ตามเยื่อของเซลล์สมองก็มีกรดไขมันหุ้มอยู่ ซึ่งอาจออกฤทธิ์ช่วยป้องกันโรคเอาไว้ ขณะเดียวกัน นักวิชาการของโรงเรียนแพทย์อีกแห่งหนึ่งก็ได้เขียนในบทความกล่าวว่า อาหารที่มีปลาอยู่ ไม่แต่เพียงช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมเท่านั้น หากยังสามารถป้องกันโรคหัวใจและอัมพาตได้ด้วย (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





หัวเราะไว้ต่อต้านสกัดโรคภัยได้ ผู้ที่สุขใจมักไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอนของสหรัฐฯ ได้ศึกษาวิจัย ด้วยการตรวจสอบถึงภาวะอารมณ์และจิตใจของอาสาสมัครผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี 334 คนก่อน แล้วจึงพ่นเชื้อไวรัสหวัดเข้าไปในจมูก เพื่อให้ป่วยเป็นหวัด หลังจากนั้นจึงคอยศึกษาอาการและปฎิกิริยาของแต่ละคน ดูว่าคนไหนจะเจ็บป่วยและแสดงกิริยาอาการออกมากันอย่างไรบ้าง ผลที่ได้พบว่าผู้ที่รู้สึกว่ามีความสุข มีความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มักไม่ค่อยจะเป็นหวัด ผิดกับผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า หรือตื่นเต้นได้ง่าย โมโหฉุนเฉียวเก่ง ทั้งคนเหล่านี้ยังมักรำพันถึงแต่ความเจ็บไข้ของตนต่างๆ อยู่เสมอ ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยา ดร.เซลดอน โคเฮน หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวอธิบายว่า อารมณ์และจิตใจของคนเรามีผลต่อสุขภาพของเราด้วย กล่าวง่ายๆ ได้ว่าเมื่อสมองของเรารู้สึกเป็นสุข มันก็จะส่งสารบอกไปยังอวัยวะต่างๆ ของเราด้วย เป็นเหตุให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มันเหมือนกับสภาพอารมณ์และจิตใจของเรา มีอำนาจเหมือนกับยาทำให้ฮอร์โมนและระบบประสาทให้ร่างกายเข้มแข็งหรืออ่อนแอได้ เขากล่าวสรุปว่าการศึกษาครั้งนี้ได้บอกให้รู้ง่ายๆ ว่า “เราสามารถสร้างโอกาสให้ร่างกายของเราแข็งแรงสมบูรณ์ดีเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองหรือพึ่งหมอแต่อย่างใด” (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





กินข้าวอย่างลิง ลดไขมันลงได้จริง สรรพคุณเยี่ยมยอดยิ่งกว่ายา

นักวิทยาศาสตร์พบว่า หากคนเรากินอาหารอย่างที่ลิงกินก็จะช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง ดีเสียยิ่งกว่ากินยาลดไขมันเองเสียอีก อาหารที่ลิงกินอาทิ เช่น ถั่วอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง ข้าวพวกที่มีกากใยชนิดละลายได้สูง พวกข้าวโอ็ตและบาร์เลย์ กับพฤกษเคมีที่มีอยู่ในผักใบเขียว ถั่วและผลไม้ นักวิจัยได้ศึกษาโดยแบ่งอาสาสมัคร อายุเฉลี่ย 59 ปี ที่เป็นคนที่มีไขมันในเลือดสูง จัดให้กินอาหารมังสวิรัติ 3 แบบ พวกหนึ่งกินอาหารที่มีไขมันแบบอิ่มตัวต่ำ พวกที่ 2 นอกจากกินเหมือนพวกแรกแล้ว ยังกินยาลดไขมันทุกวันด้วย และพวกที่ 3 ให้กินอาหารพิเศษที่ช่วยลดไขมันได้ จากการตรวจร่างกายเมื่อครบกำหนด 1 เดือนได้พบว่า พวกที่กินอาหารพิเศษที่ช่วยลดไขมันลงด้วย มีระดับไขมันลดลงได้เพียง 29% ในขณะที่สองพวกแรก ระดับไขมันลดลงได้มากกว่าถึง 31% ศาสตราจารย์เดวิด เจนกินส์ คณะโภชนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาหนนี้แสดงว่า ผู้ที่ต้องการลดปริมาณไขมัน อาจจะใช้การเลือกกินอาหาร เพื่อลดไขมันแทนการกินยาก่อนก็ได้ และศาสตราจารย์วิชาอายุกรรม มหาวิทยาลัยเคนตักกีของสหรัฐฯ ก็มีความเห็นว่าผู้ที่เสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจ ควรจะลองกินอาหารแบบนี้ดูก่อนที่จะไปกินยาลดไขมัน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ยาแอสไพรินเป็นยาอัศจรรย์ อาวุธใหม่ปราบเชื้อแบคทีเรีย

คณะนักวิจัยในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ได้พบว่า กรดซาลิไซลิกอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาแอสไพรินซึ่งเป็นยาลดไข้แก้ปวด ยังมีสรรพคุณสกัดยีน 2 ตัว ซึ่งเป็นตัวการทำให้เชื้อแบคทีเรีย สตาฟีโลค็อกคัส เกิดการติดเชื้อในร่างกายของเราได้ เชื้อนี้ทำให้โลหิตเป็นพิษ คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปวันละ 1,400 คน นอกจากนั้น เชื้อนี้ยังเป็นต้นเหตุของการเป็นฝีหนอง หากติดเชื้ออักเสบอย่างรุนแรง จะทำให้เป็นเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบ ปอดบวมและโลหิตเป็นพิษ เชื้อแบคทีเรียยังกำเริบขึ้นด้วย เมื่อมาทราบผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยได้เกิดความหวังว่ายาแอสไพรินอาจเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (ไทยรัฐ วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





วิจัยพบ ‘ต้นก่อ’ ดูดก๊าซพิษดีเยี่ยม

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องความเหมาะสมการนำไม้ไปปลูกในแต่ละพื้นที่เบื้องต้นพบว่าไม้ในสกุลไม้ก่อ เป็นพืชที่มีความสามารถในการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคายก๊าซออกซิเจนได้มากเป็นพิเศษ แต่ไม้ชนิดนี้มักจะขึ้นอยู่ในที่สูงกลางป่าดงดิบ ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกในเมือง จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมว่ากรณีนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะนำข้อมูลเรื่องพันธุ์ไม้ทั้งหมดไปเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะร่วมหารือกันเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง (มติชน พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 18)





นักวิจัยแคนาดายัน ‘มังสวิรัติ’ ช่วยลดไขมันในเลือดเท่ายา

เอเอฟพีรายงานจากนครชิคาโกว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายเดวิด เจนกิ้นส์ นักวิจัยทางการแพทย์ประจำแผนกโภชนาการวิทยาของมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้เผยผลการทดลองวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารมังสวิรัติ กับกลุ่มอาสาสมัครทดลองจำนวน 46 คน อายุโดยเฉลี่ย 59 ปี ว่า ภายใน 4 สัปดาห์ กลุ่มอาสาสมัครทดลองเหล่านี้ มีระดับคอเลสเตอรอล ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด ลดลงถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับกลุ่มคนที่งดทานอาหารประเภทอิ่มไขมัน พร้อมด้วยยาลดระดับคอเลสเตอรอลที่มีชื่อว่า “โลวาสแตตติน” วันละ 20 มิลลิกรัม ทำให้นายเจมส์ แอนเดอร์สัน อาจารย์แพทย์ประจำมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ในเมืองเล็กซิงตันชี้แนะว่า อาหารมังสวิรัติควรเป็นอาหารที่แพทย์โรคหัวใจ แนะนำก่อนใช้ตัวยาใดๆ ข่าวแจ้งว่า คอเลสเตอรอลที่เป็นตัวก่อการอาการไขมันอุดตันในเส้นเลือดนั้น มีชื่อเรียกทางการว่าแอลดีแอล ส่วนอาหารมังสวิรัติที่นายเจนกิ้นส์กล่าวถึง ได้แก่อาหารประเภทเส้นใยสูงอย่างเช่นข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ นมถั่วเหลือง อาหารประเภทเต้าหู้ ผักใบเขียวและถั่วนัตต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของลิง ( มติชน พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 10)





วว.วิจัยใช้ประโยชน์ของเสียโรงเหล้าพัฒนาอาหารเลี้ยงตัวอ่อนกุ้งสำเร็จ

ดร.พงษ์เทพ อันตะริกานนท์ รองผู้ว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า จากความสำเร็จจากโครงการใช้ประโยชน์ และกำจัดของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร โดย วว.ได้นำของเหลือทิ้งจากการผลิตแอลกอฮอล์โรงงานสุรากลุ่มสุราทิพย์ ที่มีอยู่ประมาณ 75,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มาผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการโดยไม่ใช้สารเคมีได้ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่เรียกว่า Aquaboost หรืออาหารเสริมสำหรับเลี้ยงกุ้ง วว.ได้ทดลองประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยนำไปผสมกับอาหารกุ้งในอัตราส่วนร้อยละ 5-10 ผลปรากฏว่า กุ้งสามารถกินอาหารได้ไวและกินอาหารหมดไม่มีเศษอาหารตกค้างเหลืออยู่ นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาน้ำเสียในบ่อเลี้ยงกุ้งทั้งยังปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์แบบเดียวที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 50 (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ปรอทร้าย…ทำลายชีวิต

ปรอทเป็นโลหะหนักอีกชนิดหนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมหลายๆ อย่าง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นมฤตยูร้ายที่รอวันคร่าชีวิตมนุษย์หลายต่อหลายชีวิตในแต่ละปี ข่าวดีก็คือว่าจากการติดตามศึกษาวิจัยปริมาณของปรอทในชั้นบรรยากาศของคณะนักวิจัยชาวอเมริกันพบว่าปริมาณปรอทในชั้นบรรยากาศมีปริมาณลดลง 17 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 80 แต่อย่างไรก็ดีปริมาณของปรอทในชั้นบรรยากาศที่ลดลงนั้นอาจช่วยอะไรเราไม่ได้มากนั้ก ทุกวันนี้มนุษย์เรายังคงปล่อยปรอทออกมาสู่สิ่งแวดล้อมปีละกว่า 5,000 เมตริกตัน ซึ่งปรอทเหล่านี้วนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราไม่ว่าจะเป็นในน้ำ ดิน หรืออากาศ สำหรับปรอทที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลนั้นจะเข้าไปสะสมในพืชหลายชนิด และจะถ่ายทอดไปสู่สัตว์ผู้ล่าอื่นๆ อย่างเช่นปลาทูน่าและถ่ายทอดสู่มนุษย์ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปัญหาการสะสมของปรอทและสารประกอบของปรอทในสิ่งแวดล้อมจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ (เดลินิวส์ พุธที่ 30 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





นวัตกรรมใหม่ขี้เลื่อยผสมพีวีซีรับออเดอร์นอกเกินกำลังผลิต

รศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยถึงงานวิจัยขี้เลื่อยไม้ผสมพีวีซีพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ว่า ผลการศึกษาที่ได้สามารถพัฒนาสูตรผสมของขี้เลื่อยไม้และพีวีซีเพื่อผลิตเป็นวัสดุแทนการใช้ พีวีซีล้วนๆ โดยสามารถนำผงขี้เลื้อยไม้มาทดแทนการใช้พีวีซีได้สูงถึง 50% และได้วัสดุชนิดใหม่ที่มีต้นทุนถูกกว่าการผลิตจากพีวีซีล้วนๆ 25-30% ผลต่อเนื่องจากการวิจัยนี้คือการจดสิทธิบัตรผลงานนวัตกรรมใหม่ เพื่อแสดงออกซึ่งภูมิปัญญาไทยล้วนๆ ผลงานวิจัยนี้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น กรอบประตู หน้าต่าง คิ้ว บัว ฯลฯ และยัง สนับสนุนงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ผงขี้เลื่อยให้มากขึ้น (โลกวันนี้ พฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2546 หน้า 8)





ข่าวทั่วไป


ศึกษาผลวิจัย ‘ฮาร์วาร์ด-ออกซ์ฟอร์ด’ วางเกณฑ์คุมเด็กเล่น ‘เกมออนไลน์’

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอทีซีเปิดเผยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ว่า ภายหลังการหารือกับ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโจน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ได้ขอให้กรมสุขภาพจิตศึกษารายงานการพัฒนาบุคลิกภาพที่เกิดกับวัยรุ่น ซึ่งเกี่ยวกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเล่นเกมออนไลน์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และออกซ์ฟอร์ด ทำการศึกษาไว้ เพื่อนำมาปรับใช้กับการควบคุมการเล่นเกมออนไลน์ในประเทศไทย หลังจากมีการทดลองเปิดเซิร์ฟเวอร์เกมออนไลน์ในช่วงเวลา 22.00-06.00 น. โดยให้ดูเด็กว่าแต่ละช่วงอายุควรจะเล่นเกมออนไลน์ได้วันละกี่ชั่วโมง จึงจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยขอให้รายงานผลกลับมาภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะแถลงข่าวต่อสาธารณะต่อไป (มติชน พฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2546 หน้า 5)





พระราชินีพระราชทาน 1 สิงหาคม เป็น “วันสตรีไทย”

นางเยาวเรศ ชินวัตร ประธานสภาสตรีไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะประธานการจัดงาน “โครงการ 12 สิงหาพระบรมราชินีนาถและวันสตรีไทย” เปิดเผยถึงการจัดโครงการ 12 สิงหาฯ ว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อทำให้คนไทยมีอาชีพ และวันที่ 12 สิงหาฯนี้ จะทรงเจริญพรชนมพรรษา 71 พรรษา อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีพิเศษที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคมนับจากนี้ทุกปี เป็น “วันสตรีไทย” เพื่อให้ผู้หญิงไทยทั่วประเทศมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข็มแข็งให้สถาบันสังคม ในปีแรกนี้คณะกรรมการโครงการจึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะจัดงานเฉลิมฉลองตั้งแต่วันที่ 1-13 สิงหาคมนี้ นางเยาวเรศกล่าวว่า วันสตรีไทยจะมีความแตกต่างจากวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติ เป็นวันที่คนไทยทุกคนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และให้ลูกๆ รำลึกถึงพระคุณแม่ ส่วนวันสตรีไทยถือเป็นวันของผู้หญิงไทย ตั้งแต่เกิดลืมตาดูโลกจนถึงวัยชรา ให้ผู้หญิงได้มีวันเป็นของตัวเอง เป็นวันที่เปิดให้ผู้หญิงทั้งประเทศออกมาทำกิจกรรมรวมพลังกัน รวมถึงเป็นวันรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยนึกถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันหญิงไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากเกินไป (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





คนกรุงเสี่ยง “มะเร็งปอด-โรคหืด” เพิ่มขึ้น

มูลนิธิแพทย์เพื่อประชาชนจัดการบรรยายพิเศษเรื่อง “โรคระบบทางเดินหายใจคุกคามเมืองหลวง” โดยมี น.พ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ อาจารย์หน่วยโรคภูมิแพ้โรงพยาบาลรามาธิบดี น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล อาจารย์หน่วยโรคปอด ภาควิชาอยุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ น.พ.ฉันท์ชาย สิทธิพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นวิทยากร โดยทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า คนเมืองหลวงมีโอกาสเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจากสภาพแวดล้อม อาหารการกิจ โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงจากเดิมหลายเท่า และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดที่เป็นสาเหตุการตายของโรคระบบทางเดินหายใจอันดับต้นๆ ด้วย น.พ.สุวัฒน์กล่าวว่า โรคภูมิแพ้อากาศเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย จากการสำรวจเด็กนักเรียนใน กทม. พบผู้มีอาการเป็นโรคภูมิแพ้ 44% และโรคหืดหอบประมาณ 13% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่า เนื่องจากโรคภูมิแพ้นี้เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด สำหรับสาเหตุนั้น 50% เกิดจากกรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่เป็นแล้วโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้มีสูงถึง 75% นอกจากนี้มีปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ได้ การทำงานในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเวลาทำงานและที่บ้าน ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารขยะที่ไม่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เด็กเมืองหนาวอากาศถ่ายเทไม่สะดวกหรือภายในครอบครัวมีผู้สูบบุหรี่ เป็นต้น ( มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2546 หน้า 11)





ไอซีทีดึงต่างชาติสร้างเมืองไฮเทค

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่อง ไอซีที ซิตี้ หรือนครแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะสร้างขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ล่าสุดได้มีบริษัทเอกชนต่างชาติซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสเปน เข้ามาทำวิจัยเรื่องเทคโนโลยีบูลธูทที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอด้วย และการที่เห็นชอบให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินงานได้นั้น เนื่องจากเห็นว่าการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีโดยรอคนไทยอย่างเดียวจะทำให้เกิดความล่าช้า แต่ถ้าอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาช่วยจะได้การพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รมว. ไอซีที กล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างภูเก็ตให้เป็นนครแห่งไอซีทีแล้ว ยังมีแผนที่จะอนุญาตให้ทุกจังหวัดสามารถใช้ไว-ไฟ หรือระบบการรับส่งสัญญาณแบบไร้สายความเร็วสูง นอกตัวอาคารได้ เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนหันมาใช้โน้ตบุ๊กมากขึ้น แต่ต้องรอปรึกษากับกรมไปรษณีย์โทรเลขก่อนว่าถ้าอนุญาตให้ใช้ได้ จะมีการรบกวนสัญญาณระหว่างคลื่นโทรศัพท์ทางไกลสาธารณะชนบท (TDMA) กับ ไว-ไฟ หรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าในเขตกรุงเทพฯ คงไม่มีปัญหา เพราะไม่ต้องใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ทางไกลสาธารณะชนบท (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2546 หน้า 12)





กรมวิชาการเกษตรเอาจริงดันไทยสู่ครัวโลก

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการความปลอดภัยทางด้านอาหารที่จะดำเนินการในปี 2546-2547 เสร็จเรียบร้อยแล้วประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ด้านการรับรองคุณภาพและสุขภาพอนามัยพืชผักและผลไม้ส่งออก จะดำเนินการตรวจและรับรองการปลอดศัตรูพืชและสารพิษตกค้างใน 3 แผนงานหลัก คือ การรับรองสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้ส่งออกจำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด มะขาม มะม่วง ส้มโอ หน่อไม้ฝรั่ง ขิง กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดอ่อน และพริกที่ส่งไปยัง 7 ประเทศ โครงการพืชผักและผลไม้อนามัยซึ่งจะเน้นผู้บริโภคภายในประเทศ โครงการพืชผักและผลไม้อนามัยซึ่งจะเน้นผู้บริโภคภายในประเทศ และการรับรองปลอดศัตรูพืชและสารพิษตกค้างของพืชผักส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ตามโครงการนำร่องพัฒนาการผลิตพืชผักปลอดภัย ด้านการตรวจสอบและรับรองแหล่งผลิตพืชผักและผลไม้ จะทำการจดทะเบียนและรับรองแหล่งผลิต ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพืชเศรษฐกิจ 27 ชนิด กลุ่มพืชผักส่งออกไปญี่ปุ่นตามโครงการ SAFE มี 21 ชนิด กลุ่มผักและผลไม้โครงการพืชผักและผลไม้อนามัยอีก 81 ชนิด (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดที่ 30 กรกฎาคม 2546 หน้า 12)





ชี้น้ำเอื้ออาทรดื่มมากอันตราย

คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการตู้น้ำดื่มเอื้ออาทรของรัฐบาลว่า รู้สึกเป็นห่วงกับการที่รัฐบาลติดข้อความตามตู้น้ำดื่มว่า “น้ำดื่มบริสุทธิ์เพื่อสุขภาพ” ซึ่งจากที่ได้ศึกษางานวิจัยต่างๆ พบว่า การดื่มน้ำบริสุทธิ์เป็นประจำทุกวันจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะน้ำบริสุทธิ์เป็นน้ำตายที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์เมื่อดื่มน้ำไปจะทำให้เกิดปฏิกิริยาไปดูดเกลือแร่ในร่างกาย ทำให้เป็นอันตรายเกิดโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับกระดูก ทำให้แก่เร็ว ซึ่งน้ำเอื้ออาทรก็ใช้ระบบทำความสะอาดน้ำแบบรีเวิร์ด ออโมซิส ทำให้น้ำถูกกรองแร่ธาตุออกมาจนหมดเหมือนน้ำกลั่นจึงอยากเสนอให้รัฐบาลทำ 3-4 อย่างคือ 1. จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน 2. หากจะยังดำเนินโครงการนี้ต่อไปก็ควรมีการเติมแร่ธาตุลงในน้ำ เพราะในประเทศที่เจริญมีการดำเนินการมานานแล้วโดยเฉพาะควรเติมธาตแคลเซียมและแมกนีเซียม 3. ให้มีการแก้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขโดยให้ระบุว่า ปริมาณเกลือแร่สำหรับน้ำดื่มนั้นเป็นอย่างไรและควรแก้ข้อความบนตู้น้ำดื่มให้ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





เผยหญิงไทย ‘มะเร็งมดลูก’ 6 พันรายต่อปี

น.พ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ แพทย์สูตินรีเวช รพ.พระรามเก้า กล่าวถึง สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกว่ายังไม่ทราบแน่ชัดแต่พบว่าเชื้อไวรัสฮิวแมน แพ็ทพิวโลมา (เอชพีวี) ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก นอกจากนั้น ยังพบมะเร็งปากมดลูกในหญิงอาชีพพิเศษที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ มีคู่นอนหลายคนจากการเก็บข้อมูลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พบมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงอายุ 12 ปี ที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ โดยหญิงกลุ่มดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกถึง 30 เท่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินารีเวช กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกประมาณ 6,000 รายต่อปี โดยพบในสตรีที่อายุตั้งแต่ 30-40 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกช่วยให้ค้นหาโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งแพทย์ทำการผ่าตัดจนขาดหายได้ หากพบในระยะรุนแรงต้องใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกันทั้งผ่าตัดรังสีรักษา หรือเคมีบำบัด (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





เนคเทคชี้ในสิ้นปี ก.ม.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์คลอด

นายอดิเทพ ไชยรุ่งเรือง ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการ พัฒนากฎหมายไอที ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ร่างกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.ค.และเชื่อว่า กระบวนการพิจารณาและประกาศใช้จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ สำหรับกฎหมายฉบับดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. ฐานความผิดด้านความถูกต้องของข้อมูลมีส่วนสำคัญ เช่น ความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ, การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ และรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์, การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์และการดักข้อมูลโดยมิชอบ 2. ฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น การฉ้อโกงหรือปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์ การเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร เป็นต้น และ 3. อำนาจของเจ้าพนักงาน เช่น การยึด, การค้นและการขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 5)





‘ปลาดุกลำพัน’ สัตว์น้ำหายากในเขตป่าพรุของไทย

ปัจจุบัน ปลาดุกลำพันจัดเป็นปลาที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในประเทศไทยมีรายงานพบ 2 สปีชีส์ คือ Prophagorus cataractus และ P. nieuhofii ซึ่งชนิดหลังจะพบมากที่สุดแหล่งอาศัยของปลาดุกชนิดนี้อยู่ในพื้นที่ภาคใต้บริเวณป่าพรุ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.สงขลา ปลาดุกลำพันนอกจากจะพบในธรรมชาติซึ่งนับวันค่อนข้างจะหายากแล้วนั้น ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกชนิดนี้ได้โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยเพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยงปลาในบ่อและมีศักยภาพเป็นปลาเศรษฐกิจได้ อีกทั้งสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกชนิดนี้ได้โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยเพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยงปลาในบ่อและมีศักยภาพเป็นปลาเศรษฐกิจได้ อีกทั้งสามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมเช่นเดียวกับปลาดุกอุยได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2546 หน้า 30)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215