หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 27 ประจำวันที่ 2003-07-29

ข่าวการศึกษา

คัด90น.ศ.อัจฉริยะดูงานสหรัฐ-เริ่มก.ย.
กลั่นกรองฯ4ตีกลับระบบเอ็นท์ใหม่ ‘จาตุรนต์’ อ้างทำเด็กเครียด-สั่งรื้อ
จุฬาฯลุยผลิตเด็ก ‘เก่งพิเศษ’ ปีละ300
ศธ.ล้อมคอกห้ามเด็กนั่งหน้า ‘รถ’
เผยรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา
ระดมสมองตั้ง ‘วันการศึกษาแห่งชาติ’
ติงการใช้ภาษาไทย
“ทักษิณ” ฟุ้ง ร.ร.ในฝันสร้างมิติใหม่การศึกษา ทวงถามเจ้าภาพจัดห้องสมุดไฮเทค
ศธ.ย้ำสอบยังจำเป็น – ทปอ.ชี้ถ้าแบบเดิมดีไม่โละ
รองอธิบดีกรมศึกษามาเลย์ชม ร.ร.สตูล
สั่งไล่ออก หน.ซี 8 ทบวงฯทุจริตปลอมใบปริญญา
จี้จัดกิจกรรมให้เด็กร่วมในร.ร.ส่งครูคุมเข้มนักเรียน กันการมั่วสุม
มติ “ธรรมศาสตร์” ย้าย ป.ตรีไปรังสิต

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

“ไบโอเทค” ตั้ง “หน่วยบริการชีวภาพ” รับตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์พืช
คิดค้นยาเลื่อนวันคลอด สั่งวันเกิดได้ดั่งใจนึก
หยุดพักผ่อนแบบน่าเบื่อ อาจทำให้ไอคิวถดถอย
บล็อกมือถือถูกโจรกรรม
เตาอบอินฟราเรดแบบกึ่งสุญญากาศฟื้นฟูอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
นักวิจัยซาร์สซิวรางวัลนักวิทย์ดีเด่นปี2546

ข่าววิจัย/พัฒนา

รพ.มงกุฎวิจัย ‘กวาวเครือ’ รักษาอัลไซเมอร์
‘เอไอที’ ทำสำเร็จคอนกรีตแรงอัดสูงสุด
หนุนวิจัยสมุนไพรสู่อุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอาง
ชุดน้ำยาตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาว
เจอปลาถ้ำ 5 ชนิดใหม่ของโลกที่พิษณุโลก
อิสราเอลพัฒนาเลเซอร์ราคาถูกใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน

ข่าวทั่วไป

สปรส.เสนอ3แนวรื้องบผลิตแพทย์
แพทย์ชี้ ‘หัวใจ’ เต้นผิดจังหวะเสี่ยง ‘อัมพาต’
คนแม่กลองได้อะไร จากเส้นทางลัดสู่ภาคใต้
ชู “ยาหอม” วิจัยตำรับยาโบราณ
แนะ 3 ทางออกไขปมขาดหมอ
พบเปลือกลูกเนียงแก้มาลาเรีย
บัตรประชาชน “สมาร์ท การ์ด” คืออะไร ใช้งานอย่างไร
ใช้ขี้ผึ้งเกราะป้องกันโรคเอดส์ เพื่อป้องกันคุ้มครองสตรียากจน
พลาสติกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม





ข่าวการศึกษา


คัด90น.ศ.อัจฉริยะดูงานสหรัฐ-เริ่มก.ย.

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเอกชน (กอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมผู้มีความสามาถพิเศษให้มีวิสัยทัศน์ เมื่อเร็วๆนี้ ได้คัดเลือกนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเพื่อเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 รุ่น เสร็จเรียบร้อยแล้วรวม 90 คน และสำรองอีก 6 คน จากรายชื่อทั้งหมดที่เสนอมา 300 กว่าคน โดยจะให้เดินทางไปทัศนศึกษายังประเทศสหรัฐอเมริการุ่นละ 14 วัน รุ่นแรกจะเริ่มประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ โดยในสัปดาห์หน้าสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จะจัดประชุมนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดเพื่อจัดระบบและชี้แจงถึงสิ่งที่จะต้องทำ ทั้งนี้ในการคัดเลือกนักศึกษาแต่ละรุ่นจะดูว่าสถานที่ที่ไปทัศนศึกษาเหมาะกับนักศึกษาที่เรียนด้านไหน เช่น ถ้าไปดูโรงงานหรือสถานประกอบการ ก็จะเน้นนักศึกษาที่เรียนด้านวิศวะ แต่ถ้าไปดูตลาดหลักทรัพย์ก็จะเน้นให้นักศึกษาที่เรียนด้านบริหารธุรกิจไปดู เป็นต้น (มติชน ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





กลั่นกรองฯ4ตีกลับระบบเอ็นท์ใหม่ ‘จาตุรนต์’ อ้างทำเด็กเครียด-สั่งรื้อ

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบในร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอมา ซึ่งสถาบันดังกล่าวจะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาฯ เพื่อเป็นองค์กรกลางในการทดสอบผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 4 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในระดับชาติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ซึ่งภายหลัง ครม.ผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ต้องหามาตรการรองรับกรณีข้าราชการไม่สมัครใจจะทำงานในองค์การมหาชน นอกจากนี้ทางสำนักงบประมาณเห็นว่าไม่ควรให้รัฐบาลจ่ายทุนประเดิมจัดตั้งสถาบันทดสอบดังกล่าว เพราะมีงบประมาณของสำนักทดสอบการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (เดิม) และสำนักงานทดสอบการศึกษา กรมวิชาการ ศธ. ที่ยุบรวมกันอยู่แล้ว (มติชน ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





จุฬาฯลุยผลิตเด็ก ‘เก่งพิเศษ’ ปีละ300

นายธีระพร วีระถาวร กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้จุฬาฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยขึ้น หลังจากวิจัยพบว่าประเทศไทยยังขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความสามารถพิเศษจำนวนมากถึง 2 แสนคนใน 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีคนเก่งมีฝีมือมาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองในอนาคต จุฬาฯ จึงจัดให้มี “โครงการสร้างเด็กที่มีความสามารถพิเศษแบบครบวงจร” ขึ้น เป้าหมายประมาณปีละ 300 คน รองรับเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนถึงระดับมหาวิทยาลัยจนเรียนจบออกไปประกอบอาชีพ เริ่มในปีการศึกษา 2546 นี้ นายธีระพรกล่าวว่า สาเหตุที่จัดทำโครงการนี้เพราะที่ผ่านมาเด็กที่มีความสามารถพิเศษไม่มีโอกาสแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เนื่องจากระบบการเรียนไม่เอื้ออำนวย หลายหน่วยงานจัดโครงการพัฒนาคนที่มีความสามารถพิเศษ แต่ไม่พัฒนาเท่าที่ควร เพราะการพัฒนาที่ผ่านมาจะคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษตอนเรียนชั้น ป.4 ส่วนในชั้น ป.5 จะเป็นการวัดความรู้ทั่วๆ ไป พอขึ้นชั้น ป.6 จะแบ่งสายเด็กตามความสามารถพิเศษเพื่อพัฒนา ได้แก่ สายวิทยาศาสตร์ อังกฤษ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อขึ้นระดับมัธยมกลับไม่มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องเหมือนเดิม โดยไปให้ความสำคัญในการฝึกเด็กเพื่อไปแข่งขันมากกว่า ทำให้ศักยภาพของเด็กหดหายไป (มติชน เสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2546 หน้า 24)





ศธ.ล้อมคอกห้ามเด็กนั่งหน้า ‘รถ’

นางพรนิภา ลิมปพยอม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวภายหลังกรณีที่นักเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนสมฤดี จ.สมุทรสาคร พลัดตกจากรถตู้รับ-ส่งนักเรียนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา-เกี่ยวกับการควบคุมการใช้รถรับ-ส่งนักเรียน พ.ศ.2536 กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการรถรับส่งนักเรียนต้องดูแลความปลอดภัยของนักเรียน โดยต้องจัดให้มีแผ่นป้ายสีส้มสะท้องแสง ติดไว้ที่รถ มีไฟสัญญาณสีเหลืองกะพริบขณะวิ่ง อุปกรณ์ดับเพลิง เครื่องมือปฐมพยาบาล และชะแลงไว้ในรถ เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีมีเหตุฉุกเฉินและให้มีการตรวจสอบสภาพรถยนต์เป็นประจำทุกปี เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย นางพรนิภา กล่าวต่อไปว่า อาจจะต้องกลับมาทบทวนกฎระเบียบกันใหม่ จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดส่วนนี้ไว้ เช่น ห้ามไม่ให้เด็กนั่งด้านหน้า เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวอย่างและเด็กนักเรียนตัวเล็กก็ไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





เผยรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษาได้เสนอรายชื่อผู้มีความเหมาะสม จำนวน 60 คน ให้รมว.ศึกษาธิการคัดเลือกเหลือ 30 คน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นสภาการศึกษานั้น ขณะนี้ตนได้คัดเลือกรายชื่อทั้ง 30 คนและเสนอคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว (เดลินิวส์ พุธที่ 6 สิงหาคม 2546 หน้า 24)





ระดมสมองตั้ง ‘วันการศึกษาแห่งชาติ’

ดร.รุ่ง แก้วแดง รักษาราชการเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากการอภิปรายกันอย่างหลากหลายในเรื่อง “วันการศึกษาแห่งชาติ” ในที่สุดก็เหลือวันสำคัญเพียง 3 วันที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดจนราษฎรที่ต่ำสุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้าขุนนาง ไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองนี้จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่งซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้” สำหรับวันที่สองคือวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศจัดตั้งโรงสอนไว้ในพระบรมราชวังซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกของไทย ส่วนวันที่สามคือวันที่ 20 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน หลังจากนี้ต้องมีการประชุมกันอีก ซึ่งคงต้องพูดถึงรูปแบบของกิจกรรมที่จะจัดในวันการศึกษาแห่งชาติด้วย ซึ่งเมือได้วันที่แน่นอนแล้วทางสภาการศึกษาจะจัดงานวันการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นประชาพิจารณ์ในรูปแบบของกิจกรรมไปก่อนประมาณ 2-3 ปี หลังจากนั้นจึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้กำหนดเป็นวันการศึกษาแห่งชาติต่อไป (เดลินิวส์ พุธที่ 6 สิงหาคม 2546 หน้า 24)





ติงการใช้ภาษาไทย

กรณีที่มีนักวิชาการได้ออกมาท้วงติดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของเด็กไทยในปัจจุบันว่ามีความสับสนนั้น คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา รักษาราชการปลัดกระทรวงศึกษา (ศธ.) กล่าวว่า ศธ. มีโครงการส่งเสริมการอ่าน มีสถานศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ทำให้นักเรียนมีตัวอย่าง ได้ซึมซับการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและยังส่งเสริมการอ่าน การเขียน และการกำหนดให้มีข้อสอบแบบอัตนัย การจัดโครงการคลินิกหมอภาษาในสถานศึกษาที่ให้นักเรียนตรวจสอบการใช้ภาษากันเอง รวมทั้งการกำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีแล้ว ต้องสื่อสารได้ตามมาตรฐาน จะทำให้นักเรียนมีความสนใจในเรื่องของภาษาไทยมากขึ้น (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





“ทักษิณ” ฟุ้ง ร.ร.ในฝันสร้างมิติใหม่การศึกษา ทวงถามเจ้าภาพจัดห้องสมุดไฮเทค

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง โรงเรียนในฝันกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในการประชุมปฏิบัติการเพื่อปรับกระบวนทัศน์บุคลากรโรงเรียนในฝันขุมพลังทางปัญญาของชุมชน ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนในฝัน 921 โรง บริษัทเอกชนที่สนับสนุนโครงการฯ ครู อาจารย์ และนักเรียนเข้าร่วมกว่า 5,000 คน ว่าการปฏิรูปด้านกฏหมายโครงสร้างที่วาดฝันว่าจะเอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปการศึกษา ต้องใช้เวลานาน จำเป็นต้องทำมิติใหม่ให้ก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่านี้ ซึ่งโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน เป็นการปฏิบัติจริง เป็นการขับเคลื่อนทางปัญญา เป็นการเติมฝันให้กับคนไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า 2 ปีที่ผ่านมาตนได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพจัดทำห้องสมุดที่มีความทันสมัย แต่ก็ไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตนอยากให้มีการจัดทำห้องสมุดที่มีคุณภาพขยายไปทุกอำเภอ และมีสื่อเทคโนโลยีที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และเร็วๆ นี้จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานหนึ่ง คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและให้ทุนแก่ผู้ที่มีความสามารถทางด้านต่างๆ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ศธ.ย้ำสอบยังจำเป็น – ทปอ.ชี้ถ้าแบบเดิมดีไม่โละ

ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับมาทบทวนระบบกลางคัดเลือกนิสิตนักศึกษา (แอดมิชชั่น) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการสอบเอ็นทรานซ์นั้น ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการวัดผลยังจำเป็น แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าเน้นการท่องจำ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เพื่อจะได้ทราบมาตรฐานขั้นต่ำของประเทศ ซึ่งตนจะหารือกับปลัด ศธ. และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาอีกครั้ง ด้านนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ.กล่าวว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่การสมัครเข้าสโมสรกีฬา ดังนั้น จึงต้องมีการสอบวัดความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วสามารถเรียนได้จนจบ และก็ต้องมีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำบางคณะวิชาก็ต้องเป็นเกณฑ์ที่เข้มข้น เช่น คณะแพทย์ วิศวะ เป็นต้น รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ได้ตีกลับหรือไม่ให้ใช้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องการให้จัดสอบให้น้อยที่สุด ซึ่งหลักการ ทปอ. ก็อยากให้เป็นเช่นนั้น และใช้ผลการเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มากที่สุด แต่ระหว่างที่ผลประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (NT) ยังไม่ถึงจุดที่จะสร้างความมั่นใจได้ ก็เห็นควรให้ใช้คะแนนผลการเรียนเพียง 50% หาก NT น่าเชื่อถือก็จะยกเลิกการสอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จะหารือในการประชุม ทปอ. อีกครั้ง หาก ทปอ.เห็นว่ารูปแบบเดิมเหมาะสม ก็จะคงเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ





รองอธิบดีกรมศึกษามาเลย์ชม ร.ร.สตูล

นายคนึง ย้อยเสริฐสุด ศึกษาธิการจังหวัดสตูลปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล เปิดเผยว่าได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาพิเศษแก่เด็กด้อยโอกาส และเมื่อเร็วๆ นี้นายอับดุลฮาริฟ บินยูซุป อธิบดีกรมการศึกษาพิเศษ รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ได้นำเจ้าหน้าที่การศึกษามาเลย์เยี่ยมชมการจัดการศึกษาพิเศษของ จ.สตูล มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนคณะครู นักเรียน จำนวน 30 คน ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ร.ร.สตูลวิทยาซึ่งทั้งสองฝ่ายมีโครงการร่วมกัน โดยหน่วยงานรับผิดชอบการศึกษาพิเศษทั้ง 2 ประเทศจะพัฒนาหลักสูตรพร้อมทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนให้ก้าวหน้า ให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารการศึกษาร่วมกันต่อไป (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





สั่งไล่ออก หน.ซี 8 ทบวงฯทุจริตปลอมใบปริญญา

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เผยผลประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนทบวงมหาวิทยาลัย (อ.ก.พ.ทบวงฯ) ว่า ที่ประชุมมีมติไล่ออก น.ส.นิตยา บุญทวี อดีตหัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ระดับ 8 สังกัดทบวงฯเดิม ที่ถูกกล่าวหาทุจริตโดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งตนเอง ปลอมใบปริญญาและทำหนังสือประทับตราทบวงฯ ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อแก้ประวัติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีมูลจึงเสนอให้ปลดออก แต่ที่ประชุม อ.ก.พ.ทบวงฯ เห็นว่าเป็นวินัยร้ายแรงจึงมีมติให้ไล่ออก โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ น.ส.นิตยายังมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





จี้จัดกิจกรรมให้เด็กร่วมในร.ร.ส่งครูคุมเข้มนักเรียน กันการมั่วสุม

จากการสัมมนา Focus Group เรื่อง “ทำไมเด็กไทยถึงใจแตก” ซึ่งเด็กยอมรับว่า มักใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนไปมั่วสุมกันนั้น นายไพฑูรย์ จัยสิน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำข้อมูลไปกำหนดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยจะให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กร่วมและอยู่ในโรงเรียน เนื่องจากมีครูอาจารย์คอยดูแล ดีกว่าปล่อยเด็กกลับบ้านไปแล้วไม่มีผู้ปกครองดูแล นอกจากนี้ สพฐ. ยังให้ทุกโรงเรียนจัดส่งอาจารย์ออกติดตามถามสารทุกข์สุขดิบของนักเรียนถึงบ้าน และกรณีที่อยู่หอพักก็จะจัดครูอาจารย์คอยดูแลพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด ส่วนค่านิยมที่นักเรียนหญิงมองการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกตินั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งเท่าที่ทราบเด็กที่คิดเช่นนี้ เป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง กระทรวงศึกษาธิการจึงพยายามปฏิรูปการศึกษา เพื่อยกระดับการศึกษาของเด็กไทยให้มีทักษะชีวิตที่สูงขึ้น ไม่หลงไหลวัฒนธรรมตะวันตก มีความรักนวลสงวนตัว (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





มติ “ธรรมศาสตร์” ย้าย ป.ตรีไปรังสิต

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการการสภามหาวิทยาลัย โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาย้ายธรรมศาสตร์ไปที่ศูนย์รังสิต นางวนิดา พันธ์แก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้ออกมาแจ้งผลการประชุมสภา มธ.ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการขยายการเรียนการสอนนักศึกษาปริญญาตรีทุกชั้นปีไปเรียนที่รังสิต เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ที่ศูนย์รังสิตมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน และจากแผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในวันที่ 30 ก.ย. 2549 ทุกคณะจะต้องย้ายไปอยู่ที่รังสิตทั้งหมด แต่ทั้งนี้ทางสภานักศึกษา มธ. เห็นว่าการขยายไปรังสิตให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคณะและภาควิชาเป็นสำคัญ และเท่าที่ดูขณะนี้ก็มีคณะที่พร้อมที่จะไปอยู่ที่รังสิตหลายคณะ เช่น คณะสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมวิทยา คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันภาษา เป็นต้น (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 5 สิงหาคม 2546 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


“ไบโอเทค” ตั้ง “หน่วยบริการชีวภาพ” รับตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์พืช

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้จัดตั้งหน่วยบริการชีวภาพ (BIOSERVICE-UNIT:BSU) ขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพแก่นักวิจัยทั่วไปทั้งจากภาครัฐและเอกชน ให้สามารถทำการวิจัยแข่งขันกับต่างประเทศได้ ล่าสุดหน่วยบริการชีวภาพได้เปิดให้บริการใหม่ เป็นบริการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและพันธุ์พืชผัก ซึ่งในช่วงแรกจะเปิดให้บริการเฉพาะเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศก่อน และต่อไปจะเปิดให้บริการกับเมล็ดพันธุ์อื่นๆ เช่น แตงกวา กล้วยไม้ ข้าวโพด เป็นต้น การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับกิจการที่ต้องส่งออกเมล็ดพันธุ์ แต่เดิมผู้ส่งออกจะต้องส่งเมล็ดพันธุ์ไปตรวจยังต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล แต่ที่หน่วยบริการชีวภาพจะใช้เวลาในการตรวจสอบเพียง 7-10 วัน ก็สามารถรู้ผลได้ ที่สำคัญราคาถูกกว่าส่งไปตรวจยังต่างประเทศหลายเท่าด้วย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 5 สิงหาคม 2546 หน้า 30)





คิดค้นยาเลื่อนวันคลอด สั่งวันเกิดได้ดั่งใจนึก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งอเมริกา ผู้ค้นคิดยาได้เผยว่าแม้จะยังทำสำเร็จในการทดลองกับหนูอยู่เท่านั้น แต่เชื่อว่าหากใช้กับคนคงได้ผลเหมือนกัน ยาของพวกเขาสามารถบันดาลให้หนูตัวเมีย เลื่อนวันตกลูกไปได้อีก 1-2 วัน ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะหนูตั้งท้องแต่และท้องนานเพียงแค่ 19 วันเท่านั้น พวกเขาได้พบว่าเมื่อหนูตัวเมียตั้งท้องจะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โปรเจสเตโรน” คอยป้องกัน ไม่ให้มดลูกบีบตัวเอาไว้ แต่สวิตช์นี้จะถูกปิดลงเมื่อถึงกำหนดตกลูก มดลูกก็จะบีบตัวปล่อยลูกออกมา ดังนั้นจึงได้คิดยาขึ้นมาขนานหนึ่ง เมื่อฉีดให้หนูแล้วยาจะไปป้องกันสวิทต์ถูกปิด เพื่อให้ฮอร์โมนออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้มดลูกบีบตัวอยู่ได้ หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่ายาขนานนี้ยังอาจจะนำไปใช้ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกพากันเสียชีวิตหลังคลอดและจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย และถ้าหากสามารถยืดวันคลอดของทารกตอนช่วงอายุ 22-26 อาทิตย์ออกไปได้ แต่ละวันจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ทารกจะอยู่รอดปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกถึงวันละ 3% ด้วย (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





หยุดพักผ่อนแบบน่าเบื่อ อาจทำให้ไอคิวถดถอย

ซิกฟรีด์ แลร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันจากมหาวิทยาลัยเออร์แลนแก้น แอนด์ เนิร์นแบร์ก กล่าวว่า การนอนอาบแดดและการหยุดพักผ่อนนั้นแท้จริงแล้วทำให้มีไอคิวต่ำลง โดยอาจคำนวณง่ายๆ ได้ว่า หยุดพักผ่อน 2 สัปดาห์ ก็เพียงพอที่จะทำให้ไอคิวลดลงประมาณ 20 จุด อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำงานมาตลอดทั้งปีไม่ต้องหยุดพักผ่อน ความจริงต้องหาเวลาหยุดพักผ่อนบ้าง แต่ว่าระหว่างนั้นต้องหากิจกรรมฝึกสมองทำไปด้วย อย่าใช้เวลาในการพักผ่อนไปกับการอยู่อย่างน่าเบื่อ เพราะความเบื่อหน่ายส่งผลกระทบต่อระดับภูมิปัญญาของคนเรา (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





บล็อกมือถือถูกโจรกรรม

นายวิชัย เบญจรงกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า ดีแทคป้องกันการโจรกรรมมือถือ ใช้ระบบแชร์ข้อมูลทั่วโลกของ GSMA ทำให้ผู้ให้บริการสามารถบล็อกไม่ให้เครื่องที่ถูกขโมยใช้เครือข่ายได้ สำหรับลูกค้าดีแทคที่เครื่องหายหรือถูกโจรกรรม สามารถแจ้งมายังศูนย์ดีแทคฮอตไลน์หมายเลข 0-2202-7191 เพื่อให้บริษัททำการส่งข้อมูล IMEI หรือรหัสประจำเครื่องไปยังระบบ CEIR เพื่อกระจายข้อมูลเครื่องที่ถูกโจรกรรมไปยังผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิก GSMA ทั่วโลกทำการบล็อกการใช้งานเครื่องดังกล่าว (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





เตาอบอินฟราเรดแบบกึ่งสุญญากาศฟื้นฟูอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย

ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง นักวิจัยโครงการ อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้มธนบุรี (มจธ.) ได้แนวคิดบวกนวัตกรรมเทคโนโลยีบนทางเลือกใหม่ ที่นำแสงอินฟราเรดเข้ามาใช้ในการประกอบอาหารการอบแห้งสมุนไพร ด้วยเตาอบอินฟราเรดแบบกึ่งสุญญากาศ โดยการออกแบบและพัฒนาที่เหมาะกับการประหยัดพลังงานได้มากถึง 30-50% อีกทั้งสมุนไพรยังคงคุณค่าทางสารอาหารไว้อย่างครบถ้วน ผู้สนใจเครื่องประดิษฐ์นี้สามารถติดต่อได้ที่ ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ และ อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 0-2872-9483, 0-2470-9190 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





นักวิจัยซาร์สซิวรางวัลนักวิทย์ดีเด่นปี2546

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ บ.เครือซีเมนต์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ประกาศมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2546 โดยรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเคมี ได้แก่ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับซีโอไลต์ที่ใช้ในปฏิกิริยาปิโตรเคมี และรองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัยสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยการออกแบบโมเลกุลและการค้นหายาด้วยวิธีการเคมีคอมพิวเตอร์ และการวิจัยยายับยั้งโรคซาร์ส (SARS) ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ. 2546 ได้รับทั้งหมด 6 คน ได้แก่ ดร.จรูญ จักร์มุณี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.จิรันดร ยูวะนิยม ภาควิชาเคมี และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.พลังพล คงเสรี ภาควิชาเคมี ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, ผศ.ดร.ศราวุฒิ จิตรภักดี ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เดลินิวส พุธที่ 7 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





ข่าววิจัย/พัฒนา


รพ.มงกุฎวิจัย ‘กวาวเครือ’ รักษาอัลไซเมอร์

พ.อ.นพ.สายัณห์ สวัสดิ์ศรี รองศาสตราจารย์คลินิกภาควิชาสูติ-นรีเวชวิทยา วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า รพ.พระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า เขาและทีมงานได้วิจัยสรรพคุณของสมุนไพรกวางเครือขาวในการป้องกันและรักษาเซลล์สมองบาดเจ็บ ซึ่งถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกในเรื่องดังกล่าว เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ของกวาวเครือขาวด้านสมรรถภาพทางเพศและเพิ่มขนาดทรวงอก เนื่องจากเอกสารการแพทย์ของต่างประเทศได้กล่าวถึงแนวคิดการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วยฮอร์โมนทดแทน จึงเกิดความสนใจว่าฤทธิ์ของเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงในกวาวเครือขาวจะสามารถป้องกันเซลล์สมองบาดเจ็บ หรือเสื่อมสภาพในผู้สูงอายุได้หรือไม่อย่างไรโดยการวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ใช้เวลาวิจัยขั้นต้น 1 ปี ซึ่งเสร็จสิ้นโครงการไปแล้วเมื่อ 30 มิถุนายน (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





‘เอไอที’ ทำสำเร็จคอนกรีตแรงอัดสูงสุด

ดร.พิชัย นิมิตยงสกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยของสำนักวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย (เอไอที) ซึ่งประสบความสำเร็จกับการริเริ่มเทคโนโลยีคอนกรีตกำลังสูง ทีมวิจัยของ ดร.พิชัยซึ่งมีด้วยกัน 5 คนทำสถิติใหม่ในวงการก่อสร้างของไทย สามารถผลิตคอนกรีตกำลังสูงถึง 1,200 กก./ตร.ซม. ใน 1 วันขึ้นมาได้ โดยวัสดุที่นำมาใช้มีขายอยู่ในท้องตลาดทั้งสิ้น ดร.พิชัยเอาตัวอย่างคอนกรีตที่ผ่านการอัดเค้นตรวจสอบความแกร่งมาแสดงให้เห็นว่าคอนกรีตกำลังสูงซึ่งจะมีเถ้าดำจะทนแรงกดได้ถึง 200 ตันต่อ ตร.ซม และในการทำงานคุณภาพระดับนี้ย่อมมีราคาแพงกว่าทั่วๆ ไปแต่ก็คุ้มกับการเอามาทำตึกระฟ้า (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





หนุนวิจัยสมุนไพรสู่อุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอาง

รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช.จัดสรรงบประมาณ 70 ล้านบาทให้ดำเนินกิจกรรมแนวทางบรูณาการงานวิจัยนำร่องสมุนไพร กำหนดระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ.2547) ขอบเขตของการวิจัยในเบื้องต้นจะศึกษาสมุนไพรนำร่อง 2 ชนิด คือ ขมิ้นชันและฟ้าทะลายโจร ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและสารผสมในอาหารสัตว์ซึ่งจะช่วยควบคุมเชื้อโรคเชื้อราในกุ้งไก่ ทั้งนี้ ขมิ้นชันสามารถนำมาผลิตยารักษาโรคกระเพาะอาหาร รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการปวดเข่าปวดข้อ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางได้ใช้สารสกัดขมิ้นชันเป็นส่วนผสมทั้งแชมพู เพียงแต่ผู้ประกอบการแต่ละแห่งต่างมีสูตรของตนเองว่าจะใช้ในสัดส่วนมากน้อยเท่าไร แต่หากมีงานวิจัยรองรับจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่า ในครีมล้างหน้าควรใช้สารสกัดขมิ้นชันกี่เปอร์เซ็นต์ จึงมีส่วนช่วยทำให้หน้าขาวใสเป็นต้น ซึ่งจะเป็นมาตรฐานสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รศ.พร้อมจิต กล่าวอีกว่า นอกจากตัวพืชสมุนไพรและยาหอมแล้ว โครงการยังเปิดกว้างสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากพืช ซึ่งระยะแรกจะเน้นสารสกัดจากพืชสมุนไพรเนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเมืองไทยมีทรัพยากรหรือวัตถุดิบต้นพืชหลากหลาย น่าจะนำมาเพิ่มมูลค่าในรูปของสารสกัด เช่นเดียวกับอเมริกาและยุโรปที่เน้นขายสารสกัดมากกว่าตัวพืช (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ชุดน้ำยาตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาว

รศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ และคณะผู้วิจัยจากหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการวิจัยเพื่อผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ต่อผิวเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD3+, CD4+ และ CD8+Lymphocytes และสามารถพัฒนามาเป็นชุดน้ำยาตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ชุดน้ำยา 2 สี และ ชุดน้ำยา 3 สีขึ้นมาใช้ในประเทศได้ ตอนนี้มีการนำเอาน้ำยาที่ผลิตขึ้นได้ไปใช้ในโรงพยาบาลที่เชียงใหม่แล้ว ในอนาคตคณะผู้วิจัยคาดว่าจะผลิตน้ำยาที่ใช้กับกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา โดยไม่ต้องใช้เครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ที่มีราคาแพง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าสำเร็จก็นับว่าเป็นผลดีกับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2546 หน้า 30)





เจอปลาถ้ำ 5 ชนิดใหม่ของโลกที่พิษณุโลก

นายชวลิต วิทยานนท์ จากกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมงกล่าวว่า ภายหลังจากกรมประมงได้ทำการสำรวจความหลากชนิดของปลาน้ำจืดในไทยและประเทศใกล้เคียงมากว่า 10 ปี พบว่าเมืองไทยมีความหลากชนิดของปลาน้ำจืดอย่างน้อย 700 ชนิด เมื่อเทียบกับความหลากชนิดต่อพื้นที่ประเทศ ปรากฎว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก โดยล่าสุดการสำรวจร่วมของกลุ่มวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยนายกิตติพงษ์ จารุธานินทร์ นายมัวรีซ ค็อตเตลัต จากสวิตเซอร์แลนด์ และ ดร.เฮ็ง เฮียด ฮี จากสิงคโปร์ ในปี 2545-2546 ยังพบปลาถ้ำชนิดใหม่ของไทย ลาว รวม 5 ชนิด ได้แก่ ปลาพลวงถ้ำ อยู่ในบริเวณเทือกเขาหินปูนของ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ปลาค้อถ้ำพระวังแดง ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม ปลาขยุยยักษ์พรหมพิราม พบในแม่น้ำน่านใกล้กับเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม ส่วนปลาค้อถ้ำลาว พบที่ถ้ำบ้านดอนยม แขวงคำม่วน ของประเทศลาว โดยปลาที่ค้นพบใหม่ทั้งหมด ขณะนี้ได้การรับรองจากผู้เชี่ยวชาญด้านปลาแล้วว่าเป็นปลาถ้ำชนิดใหม่ของโลก นายชวลิตกล่าวว่า จากการค้นพบนี้เองทำให้ไทยถูกจัดอันดับว่ามีความหลากชนิดของปลาถ้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนที่พบปลาถ้ำ 15 ชนิด และเม็กซิโกพบ 10 ชนิด ส่วนไทยพบแล้ว 9 ชนิด อย่างไรก็ตามแม้ปลาเหล่านี้จะไม่มีสีสันสวยงาม แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าอาจจะสูญพันธุ์ได้ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้านในท้องถิ่นที่อาจจะจับมาบริโภค เพราะบางชนิดเชื่องมาก ชาวบ้านจับโดยใช้ผ้าขาวม้ามาช้อน นอกจากนี้ ยังเคยเห็นวางขายในตลาดนัดสวนจตุจักรด้วย ทั้งนี้ จึงอยากฝากให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชไปได้ นอกจากนี้การสำรวจปลาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยังได้พบปลาค้อชนิดใหม่ของโลก และตีพิมพ์ในวารสาร Ichthyological Exploration of Freshwaters ฉบับที่ 14 (1) ปี 2003 โดยตั้งชื่อว่าปลาปล้องทองปรีดี เพื่อเป็นเกียรติคุณแก่ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทย (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





อิสราเอลพัฒนาเลเซอร์ราคาถูกใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน

เจฟฟรีย์ กอร์ดอน นักวิจัยมหาวิทยาลัยเบน-กิวเรียน ในเนเกฟ อิสราเอล หัวหน้าทีมวิจัยเลเซอร์พลังงานแสงอาทิตย์กล่าวว่า เลเซอร์พลังงานแสงอาทิตย์นี้สามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ดีเท่าๆ กับเลเซอร์ที่ใช้ในทางการแพทย์ เลเซอร์แสงอาทิตย์นี้จะช่วยให้โรงพยาบาลที่ไม่ค่อยมีกำลังทรัพย์สามารถมีอุปกรณ์ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ที่ใช้ในโรงพยาบาลได้เหมือนกันอุปกรณ์เลเซอร์พลังงานแสงอาทิตย์นี้ประกอบด้วยชุดรวบรวมพลังงานที่ตั้งอยู่นอกห้องปฏิบัติการโดยมีแผ่นกระจกสำหรับสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะส่งพลังงานความร้อนไปทีกระจกแผ่นเล็กๆ แบนๆ ที่วางอยู่บนจานดิสก์ จากนั้นพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกส่งผ่านใยแก้วนำแสงที่เดินอยู่ใต้พื้นห้องปฏิบัติการโดยเลเซอร์พลังงานแสงอาทิตย์ส่งพลังงานความร้อนออกมาได้ตั้งแต่ 5 ถึง 8 วัตต์ เท่ากับที่ได้จากเครื่องเลเซอร์ที่ใช้ในทางการแพทย์ทั่วไป (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


สปรส.เสนอ3แนวรื้องบผลิตแพทย์

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) เปิดเผยว่า จากการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือในประเด็น “การจัดการกำลังคนด้านสาธารณสุขเพื่อชุมชนปัญหาขาดแคลนแพทย์ และการกระจายแพทย์สู่ชนบท” ซึ่งเป็นการระดมสมองจากแพทย์นักวิชาการผู้แทนจากภาครัฐ และประชาชน เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยที่ประชุมได้เสนอมาตรการที่จะสามารถแก้ปัญหาแพทย์ทั้งระบบใน 3 แนวทางคือ 1. รัฐบาลจะต้องปรับระบบการจัดสรรงบประมาณเพื่อการผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขโดยเปลี่ยนจากการจัดสรรให้สถาบันการศึกษาด้านแพทย์ของรัฐโดยตรง เป็นการจัดสรรตามความขาดแคลนของพื้นที่ เพื่อให้สถาบันการศึกษาผลิตคนตามความขาดแคลนของพื้นที่ในสาขานั้นๆ และมีแผนการผลิตล่วงหน้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจน 2. เมื่อพื้นที่ขาดแคลนได้โควตา และงบประมาณการผลิตบุคลากรแล้ว ก็ให้เน้นระบบการคัดเลือกนักเรียนจากชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เข้าเรียนเพื่อให้กลับไปทำงานในชุมชนท้องถิ่นที่สนับสนุนเข้าศึกษา ซึ่งแนวทางนี้ให้ปฏิบัติควบคู่กับการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนตามปกติ แต่ควรทำในสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อให้เกิดความเสมอภาคต่อชุมชน และ 3. เมื่อนักศึกษาจบการศึกษากลับไปทำงานควรมีระบบการจ้างงานหลากหลายรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น ทั้งนี้ เงินเดือน ค่าจ้าง สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ได้ตามภาระงานที่ทำ และรัฐบาลช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมในกรณีพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารเป็นการเฉพาะได้ ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนก็สามารถร่วมจ่ายเงินเพิ่มพิเศษนี้ได้ตามความเหมาะสม (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





แพทย์ชี้ ‘หัวใจ’ เต้นผิดจังหวะเสี่ยง ‘อัมพาต’

อายุรแพทย์โรคหัวใจชี้คนไทยร้อยละ 30-40 เป็นโรคอัมพาตเพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยสถิติในต่างประเทศพบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้โดยไม่ได้รับการรักษานานถึงหนึ่งปีมีโอกาสเป็นอัมพาตถึงร้อยละ 5.5 แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นเข้ามาเสริมเช่นเป็นเบาหวาน ความดันและหัวใจวาย โอกาสเพิ่มเป็นร้อยละ 17 ต่อปี ยิ่งถ้าเป็นลิ้นหัวใจตีบด้วยแล้ว จะยิ่งมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตสูงมากขึ้นอีกหลายเท่า โดยหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด Atrial Fibrillation ถือเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่ง สาเหตุเกิดจากมีจุดหรือตำแหน่งบางตำแหน่งในหัวใจที่กำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ หรือมีจุดวงจรลัดไฟฟ้าเล็กๆ ภายในหัวใจ ทำให้การหดตัวของหัวใจช่องบนผิดปกติ มีผลให้การหมุนเวียนของเลือดที่สูบฉีดในหัวใจติดขัด ทำให้เลือดค้างและเกิดลิ่มเลือดขึ้นในตำแหน่งช่องบนของหัวใจซึ่งลิ่มเลือดนี้มีโอกาสที่จะหลุดจากหัวใจไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะไปที่สมองและไปทำให้เส้นเลือดในสมองอุดตันและกลายเป็นอัมพาตในที่สุด (มติชน เสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





คนแม่กลองได้อะไร จากเส้นทางลัดสู่ภาคใต้

จังหวัดสมุทรสงคราม หรือแม่กลองเป็นเมืองเล็กๆ อยู่บริเวณปากอ่าวไทย ที่เส้นทางนี้ ต้องตัดผ่าน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อโครงการนี้ “ผ่าทะเล” ตรงปากอ่าวแม่กลองที่มีทั้งกิจการประมงทะเล ป่าชายเลน และดอนหอยหลอดหนึ่งเดียวในโลก ที่ต้องเผชิญกับความเดือนร้อนหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง คนแม่กลองกว่า 2 แสนคน ไม่ได้อะไรเลยมีเสียกับเสียเท่านั้น คือเสียทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ตลอดจนวิถีชีวิตชุมชนทั้งทางน้ำและบนบก คนแม่กลองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กับโครงการนี้และกำลังเดินหน้าทุกวิธีทาง เพื่อคัดค้านการก่อสร้างแต่ถ้ารัฐบาลจะดื้อรั้นสร้างจริงๆ อำนาจต่อรอง คนแม่กรองพ่ายแพ้ พวกเขาขอเพียงว่า ไหนๆ จะต้องสร้างแล้ว และผ่านหน้าข้ามหัวคนแม่กลองไป ให้พวกเขามีส่วนบ้างจะได้ไหม อย่างน้อยสร้างทางแยกยกระดับเป็นทางขึ้นลงตรงบริเวณไหนก็ได้ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ให้กับคนแม่กลองด้วย (สยามรัฐ พุธที่ 7 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





ชู “ยาหอม” วิจัยตำรับยาโบราณ

รศ. พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่าโครงการวิจัยสมุนไพรบูรณาการปี 2547 ได้แก่ การพัฒนายาหอมให้เป็นยาแผนโบราณเอกลักษณ์ของไทย โดยจะศึกษาอย่างละเอียดทั้งตำรับ คุณภาพ สร้างมาตรฐานให้อยู่ในระดับเดียวกัน เพราะขณะนี้มีตลาดการส่งออกทั่วโลก และจะศึกษาสมุนไพร 10 ชนิด อาทิ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร กระชายดำ กวาวเครือ ดีปลี มังคุด ตั้งแต่กระบวนการปลูก การควบคุมคุณภาพ จนถึงกระบวนการสังเคราะห์สารสกัดของสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อสร้างมาตรฐานของสารสกัดในสมุนไพรดังกล่าว เพราะจะทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้วิจัยต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





แนะ 3 ทางออกไขปมขาดหมอ

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผอ. สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) แถลงว่า จากการประชุมเวทีสมัชชาสุขภาพได้มีการหารือในประเด็น “การจัดการกำลังคนด้านสาธารณสุขเพื่อชุมชน ปัญหาขาดแคลนแพทย์ และการกระจายแพทย์สู่ชนบท” เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยที่ประชุมได้เสนอมาตรการที่จะแก้ปัญหาแพทย์ทั้งระบบใน 3 แนวทา คือ 1. รัฐบาลจะต้องปรับระบบการจัดสรรงบประมาณเพื่อการผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุข โดยเปลี่ยนจากการจัดสรรให้สถาบันการศึกษาด้านแพทย์ของรัฐโดยตรง เป็นการจัดสรรตามความขาดแคลนของพื้นที่ 2. เมื่อพื้นที่ที่ขาดแคลนกำลังคนได้โควตาและงบประมาณการผลิตบุคลากรแล้ว ก็ให้เน้นระบบการคัดเลือกนักเรียนจากชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เข้าเรียน เพื่อให้กลับไปทำงานในชุมชนท้องถิ่นที่สนับสนุนเข้าศึกษา 3. เมื่อนักศึกษาจบการศึกษากลับไปทำงาน ควรมีระบบการจ้างงานหลายๆ แบบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





พบเปลือกลูกเนียงแก้มาลาเรีย

ผศ.ดร.หทัยชนก วงษ์เทพ จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่าลูกเนียงเป็นอาหารพื้นบ้านของคนภาคใต้ ที่นิยมนำมากินสดๆ กับน้ำพริก แต่ผลจากการกินลูกเนียงซึ่งเป็นปัญหาในขณะนี้ก็คือ เปลือกลูกเนียงที่มีมากจนกลายเป็นขยะ ก่อให้เกิดมลภาวะในแหล่งชุมชนนั้น จากจุดนี้เองตนจึงได้สนใจ เพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว และพบว่าเปลือกของลูกเนียงนั้น ภูมิปัญญาพื้นบ้านได้นำมาทำยาพื้นบ้านมานาน จึงได้สนใจที่จะศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเปลือกของลูกเนียง ซึ่งจาการทดสอบเบื้องต้นพบว่าสารสกัดจากเปลือกลูกเนียงมีฤทธิ์ในการต้านมาลาเรีย (Antimalarial) และ Anti-HSV-1 ค่อนข้างสูง ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในขั้นตอนต่อไป (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





บัตรประชาชน “สมาร์ท การ์ด” คืออะไร ใช้งานอย่างไร

บัตรประจำตัวประชาชนแบบ สมาร์ทการ์ด เป็นแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อให้ประชาชนใช้บัตรเพียงใบเดียวแทนบัตรต่างๆ เพื่อความสะดวกของประชาชน ประหยัดงบประมาณของรัฐ และเกิดความเป็นมาตรฐานเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยนำแนวคิดดังกล่าวมาดำเนินการเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 จัดระบบให้บริการประชาชนด้านทะเบียนราษฎรด้วยระบบเชื่อมโยง (ออนไลน์)ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยยังต้องดำเนินการอีก 572 สำนักทะเบียนทั่วประเทศ โดยดำเนินการไปแล้ว 505 สำนักทะเบียน ระยะที่ 2 จัดระบบการออกบัตรประชาชนให้เป็นแบบเชื่อมโยง ให้ครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยยังต้องดำเนินการอีก 866 สำนักทะเบียน หลังดำเนินการไปแล้วใน 9 จังหวัด รวม 211 สำนักทะเบียน ระยะที่ 3 ปรับเปลี่ยนบัตรประชาชนจากบัตรเปล่าแบบแถบแม่เหล็ก (Magnetoc Card) เป็นแบบผังไมโครโปรเซสเซอร์ชิป (Micro Chip) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนอำนวยให้เกิดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทยนำเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อมา ครม. ได้มอบหมายให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) เป็นผู้พิจารณาแนวทางการจัดทำ บัตรประชาชนดังกล่าวจะมีความสามารถจัดเก็บข้อมูล 32,000 ไบต์ สูงกว่าแบบแถบแม่เหล็กเดิมอย่างมาก ทำให้สามารถบรรจุข้อมูลสำมะโนครัว ใช้เป็นหลักฐานแทนทะเบียนบ้าน เพื่อประกอบการติดต่อราชการหรือทำธุรกรรมได้ รวมทั้งสามารถนำข้อมูงของบัตรอื่นๆ เช่น บัตรประจำตัวเกษตรกร มารวมอยู่ด้วยได้ (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ใช้ขี้ผึ้งเกราะป้องกันโรคเอดส์ เพื่อป้องกันคุ้มครองสตรียากจน

บริษัทสตาร์ฟามาผู้ผลิตกล่าวว่า ขี้ผึ้งยาได้ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้กับลิงถึง 100% มาแล้ว จึงได้เตรียมจะทดลองกับมนุษย์ในชาติที่กำลังพัฒนาต่อไป โฆษกของบริษัทเผยว่า ปกติเชื้อไวรัสโรคเอดส์ ได้ใช้โปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “จีพี 120” เพื่อดูดจับเกาะเซลล์ปกติ แต่ตัวยาในขี้ผึ้งนี้จะชิงประกบติดโปรตีนดังกล่าวไว้เสียก่อน มันจึงไม่อาจจะไปติดเกาะเซลล์ได้อีก ดังนั้นสิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ เมื่อให้ผู้หญิงใช้ขี้ผึ้งนี้ จะได้ผลให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลงไปหรือไม่ และขี้ผึ้งนี้ยังสามารถป้องกันกามโรคอย่างอื่นได้เกือบทุกชนิดด้วย (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





พลาสติกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป (ทีเอ็มที) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น จะใช้ทุน 818 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานนำร่องผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในยานพาหนะ ในเดือนสิงหาคม 2547 นี้ และจะสร้างขึ้นในบริเวณโรงงานเดิมที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น อ้อย เพื่อใช้ทำพลาสติกชีวภาพ (กรมโพลีแลคติก) โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะมีความสามารถในการผลิต 1,000 ตันต่อปี สำหรับอ้อยที่ใช้ในพลาสติกชีวภาพ มีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ช่วยลดปรากฎการณ์โลกร้อน ต่างจากพลาสติกที่ทำจากสารเคมีที่ได้จากปิโตรเลียมที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพยังมีคุณสมบัติในการเสื่อมสภาพทางชีวภาพ ซึ่งช่วยให้มันสามารถย่อยสลายได้ในน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ทั้งนี้บริษัท โตโยต้า ยังออกแถลงการณ์อีกว่า บริษัทได้ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ มานาน ซึ่งมุ่งส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโลก และการสร้างสังคมที่ตระหนักถึงการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ สำหรับพลาสติกชีวภาพที่จะนำร่องผลิตขึ้นมาใช้นี้ จะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก และบริษัทยังมีโครงการสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 5 สิงหาคม 2546)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215