หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 31 ประจำวันที่ 2003-08-26

ข่าวการศึกษา

ศธ.ชูวิสัยทัศน์เตรียม “อีการ์ด” ลดปัญหานักเรียนผี
สุ่มตรวจ ม.เอกชนแห่กู้เรียนอื้อ
“ทักษิณ” ไม่พอใจเงินอุดหนุนศึกษาพื้นฐาน
นร. แห่ดู อาจารย์ใหญ่จัดนิทรรศการมีชีวิต
ศนจ. พิจิตรจับมือแรงงาน จว. ประสบความสำเร็จอบรมนวด
ม.เกษตรศาสตร์เจ๋ง คิดแป้งมันเกษตรฯ แทนแป้งสาลี
ผ่านร่างกม. “ม.ราชภัฎ” ชงเข้าสภาวาระ 2-3 ยกฐานะพร้อม 41 แห่ง
ชี้ร.ร.สาธิตฯเมินเงินอุดหนุน12ปี
นศ.เคว้งกว่าหมื่น ‘เงินกู้ยืม’ ไม่พอ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

อาจารย์มช.รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
ฝันไกลให้ดวงจันทร์เป็นอาณานิคม อีก 20 ปี จะส่งคนขึ้นไปประจำการ
ใช้วิธีหนามบ่งหนาม ปราบโรคมะเร็งตับและลำไส้ใหญ่
เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศฝีมือไทยล้วนฯ

ข่าววิจัย/พัฒนา

ระบบระบายอากาศแนวดิ่ง นวัตกรรมกำจัดภัยเงียบจากฝุ่น
มันสมองไทยพัฒนา ‘ชุดปอกสายไฟ’
เทคโนโลยีใหม่ช่วยงานโบราณคดี ค้นพบแหล่งและวิเคราะห์ปริศนาง่ายขึ้น
โรคเกาต์อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังโรคหัวใจถามหา
พบหลักฐานไวรัสก่อมะเร็งเต้านม
ไบโอเทคหวังใช้ราผลิตยา-กำจัดแมลง
หมอเลี้ยบลั่นพร้อมรับนักวิจัยเข้าสนง.ใหม่
วช.จัดการประกวดงานประดิษฐ์ปี2547
ไขปริศนาใยแก้วนำแสงใต้ท้องทะเลลึก
ราชมงคลคิดค้นเครื่องกระเทาะเมล็ดหิมพานต์ แบบจานแนวดิ่ง

ข่าวทั่วไป

สมาร์ทการ์ด : บัตรอัจฉริยะ
ป่วย “มะเร็ง-เบาหวาน” ระวังโรคจิต
วัน 14 ตุลาฯ
แท็กซี่แห่ติวอังกฤษรับเอเปค
สธ. เฝ้าระวังคนแก่ป่วยโรคปอด
จัด ‘หนึ่งวัดหนึ่งตำบล’ 5ส
ควัก 2.5 ล้านติด ‘ไซเรน’ รถเมล์
มัคคุเทศก์ไทยนัดชุมนุมต้านแผนนำเข้าไกด์นอก
ไฟเขียวยา ‘เลวิทรา’ ตีตลาดไวอะกร้า
ความรู้เรื่อง ‘รามรณะ’ Pseudallescheria boydii
เดือนวาด คว้ารางวัลซีไรต์ปี 46





ข่าวการศึกษา


ศธ.ชูวิสัยทัศน์เตรียม “อีการ์ด” ลดปัญหานักเรียนผี

จากการเสวนาเรื่อง “วิสัยทัศน์และการบริหารจัดการของหน่วยงานหลักในกระทรวงศึกษาธิการ” ในการประชุม “รวมพลังปัญญาพัฒนาการศึกษาไทย” คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากเข้าโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่ ขณะนี้การจัดบุคลากรลงในแท่งต่างๆ ค่อนข้างลงตัวแล้ว และต้องมีการจัดวางระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ ซึ่ง ศธ.มีข้อมูลตัวเลข 13 หลักของนักเรียน ซึ่งรัฐบาลจะใช้ในอีการ์ดแล้วจำนวน 80% ของนักเรียนทั้งหมดแล้ว ดังนั้นต่อไปหากโรงเรียนใดไม่มีตัวเลข 13 หลักของนักเรียน ศธ.ก็จะไม่จัดเงินอุดหนุนให้ ซึ่งจะทำให้ลดปัญหานักเรียนผีได้ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





สุ่มตรวจ ม.เอกชนแห่กู้เรียนอื้อ

นางศานสนีย์ ศิริชุมแสง รักษาการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ประชุมได้หารือการจัดสรรวงเงินสำหรับผู้กู้รายใหม่ประจำปีการศึกษา 2546 เพิ่มเติม ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาแสดงความจำนงกู้เพิ่ม 62 แห่ง เป็นผู้กู้รายใหม่ 12,392 ราย วงเงิน 830,030,327 บาท ทั้งนี้เงินกองทุนที่เหลือจากการจัดสรรรอบแรกมีเพียง 15,693,014 บาท ดังนั้น จึงได้แบ่งกลุ่มผู้กู้รายใหม่ตามรายได้ครอบครัวตั้งแต่ 0-15,000 บาทต่อปี 189 ราย วงเงิน 10,351,039 บาท รายได้ตั้งแต่ 15,001-18,000 บาทต่อปี 25 ราย วงเงิน 1,528,989 บาท ที่เหลือจะพิจารณาจัดสรรอีกครั้งหนึ่ง ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเสนอรายชื่อผู้กู้รายใหม่มาจำนวนมาก ทั้งการแจ้งรายได้ต่อปีของครอบครัวที่ 0-15,000 บาท มีถึง 100 กว่าคนนั้นไม่น่าเป็นไปได้ ดังนั้นจะจัดส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจภายหลังการจัดสรรเงินไปให้ เพื่อไม่ให้กระทบการเรียนการสอน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





“ทักษิณ” ไม่พอใจเงินอุดหนุนศึกษาพื้นฐาน

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สอบถามเกี่ยวกับการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ซึ่ง ศธ. ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันรัฐจัดสรรเงินอุดหนุน 14 ปี โดยระดับอนุบาลไม่ได้จัดสรรครบ 100% โดยเฉพาะในส่วนของเอกชนยังขาดอยู่ประมาณ 2.9 แสนคน และจากการวิจัยหากมีการปรับการอุดหนุนให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน โดยเพิ่มเงินให้กับโรงเรียนขนาดกลางและเล็ก พร้อมกับจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนอนุบาลครบทั้ง 100% ก็จะเพิ่มงบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายกฯ อยากทำงบฯในภาพรวมของประเทศให้สมดุล และแสดงความเป็นห่วงเรื่องการจัดอนุบาล ที่ต้องการให้มีคุณภาพเพื่อรากฐานชีวิตที่เข้มแข็ง พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงนายกฯด้วยว่าการที่ ศธ.ได้ให้โรงเรียนเอกชนไปสำรวจนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โดยในพื้นที่ที่รัฐจัดการศึกษาเพียงพอก็จะมีโรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือก ซึ่งคิดว่าถ้าผู้ปกครองหรือนักเรียนสละสิทธิ์เองก็ไมถื่อว่าผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศธ.กำลังทำหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การสละสิทธิ์ดังกล่าวจะผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





นร. แห่ดู อาจารย์ใหญ่จัดนิทรรศการมีชีวิต

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้จัดงาน Open House 2003 เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2546 โดยเปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้สัมผัสห้องทดลองปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กว่า 100 ห้อง เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำวิจัย ปลูกฝังให้รักในอาชีพวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษากว่า 5,500 คน ให้ความสนใจเข้าชม สำหรับจุดที่นักเรียนสนใจเป็นพิเศษถึงกับเข้าคิวรอหลายร้อยคน คือการเข้าชมการศึกษากายวิภาคศาสตร์จากอาจารย์ใหญ่ โดยนักเรียนที่เข้าไปดูต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กัน บางรายบอกว่าธรรมดา บางรายถึงกับดมยาดม นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการเรืองแสงของหิ่งห้อย การปลูกพืชไร้ดิน การเพาะเนื้อเยื่อพืชจิ๋วในขวดโหล การทำน้ำสมุนไพร และนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ศนจ. พิจิตรจับมือแรงงาน จว. ประสบความสำเร็จอบรมนวด

นายโกสินทร์ ศรีสุพรรณ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด (ผอ.ศนจ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาศูนย์และศูนย์พัฒนาแรงงานจังหวัดพิจิตร นำโดยนายดำรงศักดิ์ ศรีอิงสวัสดิ์ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจัดทำโครงการฝึกอบรมการนวดแผนไทยให้แก่ประชาชนชาวพิจิตร ซึ่งฝึกอบรมเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 รุ่นๆ ละ 50 คน สำหรับความรู้เรื่องหลักสูตรระยะสั้นเรื่องการนวดแผนไทยนั้น ได้นำเทคนิคการนวดแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ โดยเฉพาะเรื่องการนวดหน้า ศีรษะ มือ และฝ่าเท้า นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ด้านสรีระวิทยา ความรู้ด้านกายภาพ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เชื่อมโยงในการนวดแผนไทยแบบพระราชสำนัก และการนวดแผนไทยแบบเชลยศักดิ์ ซึ่งเป็นการประสานระหว่างการนวดแบบอบตัว ประคบด้วยสมุนไพร นายโกสินทร์กล่าวว่า การฝึกอบรมประชาชนชาวพิจิตร เพื่อให้สามารถเรียนรู้เรื่องการนวดแผนไทยนั้น พบว่าผู้เข้าอบรมมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพการนวดแผนไทยในอนาคต หลังจากอบรมเสร็จทุกคนสามารถสอบผ่านไปได้ด้วยดี และได้มอบประกาศนียบัตร และวุฒิบัตรทั้งภาษาไทยและอังกฤษ จากกรมพัฒนาแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปประกอบอาชีพต่อไป (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





ม.เกษตรศาสตร์เจ๋ง คิดแป้งมันเกษตรฯ แทนแป้งสาลี

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประสบความสำเร็จในการนำมันสำปะหลังมาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วงานวิจัยอีกชิ้นที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร มก.วิจัยพบคือ การนำสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับประกอบอาหารแทนแป้งสาลี โดยเรื่องนี้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายธงชาติ รักษากุล เล่าถึงผลงานของ มก.ว่าได้นำแป้งดังกล่าวมาทำเป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาหารไทย และขนมไทย เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยแป้งที่ได้จะมีไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารมาก และเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายของร่างกาย และจากผลการทดลองใช้แป้งดิบมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ทำขนมอบแทนแป้งสาลีพบว่าใช้ทำเค้กและคุกกี้ได้ค่อนข้างดีเนื้อเค้กจะเหนียวกว่าที่ทำจากแป้งสาลีเล็กน้อย แต่แป้งชนิดนี้มีกลิ่นเฉพาะตัวของมันสำปะหลัง จึงอาจต้องใช้กลิ่นอื่นกลบ เช่นช็อกโกแลต กาแฟ เป็นต้น ส่วนคุกกี้เมื่อใช้แป้งชนิดนี้เป็นวัตถุดิบจะทำให้กรอบร่วน ไม่แข็งเหมือนแป้งสาลีและทำให้มีรสชาติเข้มข้นอร่อยขึ้น ทั้งนี้การใช้แป้งมันสำปะหลังเกษตรศาสตร์ 50 ทำขนมอบต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนสูตรบ้างเพื่อให้ได้ขนมอบที่มีคุณภาพและรสชาติดี (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 13





ผ่านร่างกม. “ม.ราชภัฎ” ชงเข้าสภาวาระ 2-3 ยกฐานะพร้อม 41 แห่ง

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ แถลงผลการพิจารณาว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไปในสมัยประชุมนี้ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ ให้ยกสถานภาพสถาบันราชภัฎทั้ง 41 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎพร้อมกัน และมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายชินวรณ์กล่าวด้วยว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีบทบัญญัติหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องการประสานงานและระดมสรรพกำลังเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้มีหน่วยงานประสานงานในแต่ละมหาวิทยาลัย และมีคณะกรรมการร่วมกันเพื่อทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา เสนอนโยบายและแผนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตลอดถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วย (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ชี้ร.ร.สาธิตฯเมินเงินอุดหนุน12ปี

นายวิโรจน์ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า กรณีนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมาย ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการรับเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนสาธิตในสถาบันอุดมศึกษาโรงเรียนสาธิต มก.มีแนวโน้มจะไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโรงเรียนสาธิตต่างจากโรงเรียนทั่วๆ ไป จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดการบริหารสูงกว่า ซึ่งเท่าที่ทราบอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนสาธิตต่างๆ ได้หารือกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะไม่ขอรับเงินอุดหนุน แต่จะเรียกเก็บจากผู้ปกครอง หรือกรณีของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทราบว่าเปลี่ยนไปใช้วิธีรับเงินบริจาคแทน (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





นศ.เคว้งกว่าหมื่น ‘เงินกู้ยืม’ ไม่พอ

นางศานสนีย์ ศิริชุมแสง รักษาการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองได้จัดสรรเงินกองทุนที่เหลือให้กับนักศึกษาที่ต้องการกู้เงินกองทุน อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.วรเดช จันทรศร สมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัยได้เคยมอบนโยบายว่า กำหนดให้มหาวิทยาลัยเอกชนจัดสรรเงินสำหรับผู้กู้รายใหม่เพียง 18% ของนักศึกษาใหม่ทั้งหมด และอนุมัติเงินกู้ให้ผู้ยากจนจริงๆ เพื่อให้นักศึกษายากจนจริงได้เงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แก้ปัญหาที่มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งจัดสรรเงินกู้ให้นักศึกษาเฉพาะค่าเล่าเรียนแต่ไม่ให้ค่าหนังสือค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพราะต้องการให้เงินเข้าสถาบันมากขึ้น แต่หากสถาบันใดมีผู้ยากจนเกินเกณฑ์ที่กำหนด สามารถส่งเรื่องมายังทบวงฯ เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 11)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


อาจารย์มช.รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แจ้งว่า ผศ.ดร.จรูญ จักร์มุณี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2546 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพระบรมราชูปถัมภ์ที่จะจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เร็วๆ นี้ ผศ.ดร.จรูญ จบปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เคมี) เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยทุนช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาเคมีวิเคราะห์ จาก มช. ด้วยทุนบัณฑิตศึกษาในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เริ่มเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มช. ตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันเป็นสมาชิกในสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. มีส่วนร่วมในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สกว. โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี (PERCH) และโครงการปริญญาเอกร่วมสถาบันของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีส่วนในเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศหลายประเทศ (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2646 หน้า 21)





ฝันไกลให้ดวงจันทร์เป็นอาณานิคม อีก 20 ปี จะส่งคนขึ้นไปประจำการ

นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ศึกษาเรื่องดวงจันทร์เผยว่า อีกประมาณ 20 ปี จะสามารถส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปตั้งฐานประจำการรบบนดวงจันทร์ได้ เบอร์นาร์ โฟ แห่งองค์การอวกาศยุโรป กล่าวว่า เทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยให้ทำเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยแรงสนับสนุนทางการเมืองด้วย และยานสำรวจดวงจันทร์แบบไร้คน “สมาร์ท 1” มีกำหนดจะถูกปล่อยขึ้นไปในต้นเดือนกันยายนนี้ จะเป็นการสำแดงให้เห็นว่ายุโรปมีเทคโนโลยีสำหรับภารกิจทางวิทยาศาสตร์อวกาศที่ล้ำลึกในอนาคตเช่นเครื่องยนต์หลักของยานดังกล่าวจะใช้พลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์แตกต่างจากเครื่องยนต์ใช้เคมีแบบดั้งเดิม การเดินทางจะใช้เวลา 15 เดือน เพื่อค้นหาร่องรอยภูเขาน้ำแข็งและสำรวจแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์ พร้อมกันนั้นยังเป็นการมองหาพื้นที่สำหรับการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตต่อไป ซึ่งวางแผนไว้ว่าองค์การนาซาจะส่งยานขึ้นไปในปี 2552 (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ใช้วิธีหนามบ่งหนาม ปราบโรคมะเร็งตับและลำไส้ใหญ่

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้ทดลองใช้วัคซีนป้องกันมะเร็ง ซึ่งทำจากมะเร็งที่ผ่าตัดออกจากคนไข้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ฉีดให้กับคนไข้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และตับจำนวน 29 ราย ปรากฎว่ามีคนไข้ที่รับการฉีดหลังจากนั้นพบว่า มีอาการสนองตอบกับวัคซีนอยู่ครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด คนไข้เหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาได้ 2 ปีแล้ว ในขณะที่คนไข้พวกที่ดื้อต่อวัคซีน ซึ่งเหลือรอดชีวิตอยู่ไม่ถึงครึ่ง นอกจากนั้นพวกคนไข้ที่สนองตอบกับวัคซีนยังไม่ปรากฏเป็นซ้ำขึ้นอีก ผิดกับกลุ่มคนไข้อีกพวกหนึ่ง ซึ่งต่างยังพากันเป็นกันเกือบหมด เหลือคนไม่เป็นอยู่เพียง 8% เท่านั้น (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศฝีมือไทยล้วนฯ

สำนักบริการพัฒนา (สบพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังรายงานว่า สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาระบบกรองอากาศ และฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ซึ่งขณะนี้ได้ประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากสามารถลดปริมาณเชื้อโรคในอากาศได้เป็นที่น่าพอใจ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ระบบระบายอากาศแนวดิ่ง นวัตกรรมกำจัดภัยเงียบจากฝุ่น

เป็นงานวิจัยระดับปริญญาตรีของนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ IPUS (โครงการอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี นายสันติ ยืนยิ่ง , นายปิยลาภ มานะกิจ และนายเกรียงไกร ไกรวัฒนวงศ์ มี รศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้ สามารถนำไปใช้กับโรงงานต่างได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร 0-2298-0455 ต่อ 159, 160 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





มันสมองไทยพัฒนา ‘ชุดปอกสายไฟ’

บัณฑิต ม.บูรพาพัฒนาเครื่องตัดปลอกหุ้มสายไฟราคาต่ำกว่าเครื่องนำเข้ากว่าเท่าตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานตัดปลอกหุ้มสายไฟในภาคอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการทำงานด้วยระบบไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้ความเร็วในการประมวลผล 3 ล้านคำสั่ง/วินาทีทำให้ใช้เวลาตัดปลอกหุ้มสายไฟที่มีความยาว 10 ซม.ในเวลาเพียง 3 วินาที นางสาวณัฐยา กล่าวว่า ในช่วงที่ได้ไปฝึกงานที่บริษัทไมเล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าเครื่องตัดปลอกหุ้มสายไฟเข้ามาใช้ในโรงงานแล้วพบว่าเมื่อเครื่องมีปัญหาขัดข้อง หลายครั้งต้องส่งเครื่องไปซ่อมที่ต่างประเทศ เพราะไม่สามารถหาอุปกรณ์ซ่อมในประเทศได้ ทำให้เสียเวลาการทำงานและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงคิดพัฒนาเครื่องตัดปลอกหุ้มสายไฟอัตโนมัติขึ้นโดยอาศัยหลักการทำงานของสเต็ปมอเตอร์ในการเลื่อนสายไฟเข้าออกเป็นหลักซึ่งสามารถให้ความละเอียดของระยะความยาวสูงได้ถึง 0.042 มม.และควบคุมการทำงานทั้งหมดด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ และสามารถตัดปลอกหุ้มสายไฟได้ถึงชั่วโมงละ 1,200 ครั้ง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เทคโนโลยีใหม่ช่วยงานโบราณคดี ค้นพบแหล่งและวิเคราะห์ปริศนาง่ายขึ้น

เชอริล วอร์ด ศาสตราจารย์นักโบราณคดีทางน้ำ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริด้า เมืองทัลลาฮัสซี ในสหรัฐฯ บอกว่า ปัจจับันนักโบราณคดีมีเครื่องมืออันก้าวหน้าและทันสมัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านโบราณคดีทางน้ำนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติในการศึกษาวิจัยขึ้นอย่างมาก โดยในการค้นหาปริศนาทางโบราณคดีหลายประการ เช่น ปริศนาของเรือโบราณที่อับปาง หรือนครที่ล่มสลายลงอยุ่ใต้น้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้นักโบราณคดีไม่เคยเข้าถึง และในปัจจุบันสถาบันบริหารด้านชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร หรือเอ็นโอเอล ได้ใช้อุปกรณ์ไซด์-สแกนความละเอียดสูงและอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณโซนาร์แบบหลายทิศทาง ในการตรวจสอบและสำรวจพื้นมหาสมุทร โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังกล่าวนสี้ สามารถสร้างโมเดลสามมิติของพื้นผิวมหาสมุทรได้ สามารถสืบค้นหาซากเรือที่นอนจมอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร รวมทั้งยังสามารถนำเสนอภาพร่างของพื้นที่ที่เรืออับปางได้อย่างถูกต้องด้วย (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





โรคเกาต์อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังโรคหัวใจถามหา

จากการศึกษาของ ดร.อีลอย แวน เดอ ลิสดองค์ มหาวิทยาลัยนิจเมเกน ในเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษากับผู้ป่วย 261 รายที่มีอาการโรคเกาต์ครั้งแรก โดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน เปรียบเทียบกับอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 522 รายที่ไม่เป็นโรคเกาต์ พบว่า 43% ของคนที่ทรมานกับโรคเกาต์มีระดับความดันโลหิตสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เป็นเกาต์ มีความดันสูงเพียง 18% กว่าครึ่งของกลุ่มที่เป็นโรคเกาต์ นั้นเป็นพวกอ้วนลงพุง เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีแค่ 1 ใน 3 ส่วนอัตราคอเลสเทครอลในกลุ่มคนที่เป็นเกาต์ก็สูงกว่า และ 1 ใน 20 รายของผู้ป่วยจะมีสัญญาณว่าเป็นเบาหวาน ในขณะที่กลุ่มแข็งแรงมีอัตราเพียง 1 ใน 100 (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





พบหลักฐานไวรัสก่อมะเร็งเต้านม

นักวิจัยออสเตรเลียพบหลักฐานใหม่ สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมเกี่ยวพันกับไวรัส “HHMMTV” เดินหน้าวิจัยเพิ่มจริงจะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังของผู้หญิงทั่วโลก คณะวิจัยจากโรงพยาบาลปรินซ์ออฟเวลส์ นครซีดนีย์ ดำเนินการพิสูจน์ให้เห็นว่า มะเร็งเต้านมในมนุษย์อาจมีความสัมพันธ์กับไวรัสที่มีชื่อว่า “HHMMTV” และหากข้อสันนิษฐานถูกต้อง จะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งเต้านม ก่อนหน้านี้ทีมงานชุดเดียวกันได้ตีพิมพ์งานวิจัยออกเผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค.ซึ่งระบุว่าไวรัสดังกล่าวแฝงอยู่ในตัวอย่างเนื้อเยื่อมะเร็งเต้านมที่ตัดมาจากผู้หญิงคอเคเซียนชาวออสเตรเลีย 19 คน จากทั้งหมด 45 คน แต่ไวรัส HHMMTV กลับมีอยู่ในเนื้อเยื่อเต้านมปกติไม่ถึง 2% ต่อมาคณะทำงานได้ทำการศึกษาครั้งใหม่เพื่อย้ำความน่าเชื่อถือของงานวิจัยเดิม เนื่องจากหลายคนมองว่าขนาดของการศึกษายังเล็กมาก (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ไบโอเทคหวังใช้ราผลิตยา-กำจัดแมลง

ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทในต่างประเทศจะให้ความสำคัญในการศึกษาราเพื่อมาใช้ประโยชน์ในการผลิตยากันมาก ซึ่งธรรมชาติของราเมื่อนำมาเพาะเลี้ยงด้วยสารใช้เลี้ยงแตกต่างกันจะให้สารเคมีที่มีคุณสมบัติต่างกันด้วย รวมถึงสภาวะที่ใช้เลี้ยง เช่น สภาวะนิ่งเฉย หรือสภาวะเขย่า การสกัดสารเคมีจากราจะต่างจากสารที่สกัดได้จากพืชตรงที่สารจากพืชจะไม่สามารถสกัดให้เกิดความหลากหลายได้เหมือนรา ดร.สมศักดิ์มองว่า การใช้ประโยชน์จากเชื้อราในไทยยังมีไม่มากขณะที่คุณประโยชน์ของรามีมหาศาลและเมื่อเทียบกับโอกาสที่ไทยจะพบเชื้อราได้อีกราว 100,000-150,000 หมื่นชนิด เนื่องจากเป็นท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพประมาณร้อยละ 7-10 ของโลก ไทยจึงมีศักยภาพและโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากราในด้านต่างๆ ได้ ดร.สมศักดิ์กล่าวว่าสำหรับเชื้อรา Pseudallescheria boydii (Shear) McGinnis หรือเรียกง่ายๆ ว่าพีบอยดิไอที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ถือเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษในตัวเอง และนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบธรรมชาติบางอย่างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่นความสามารถในการย่อยสลายไขมัน และการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กำจัดไขมันในพื้นที่ที่มีปริมาณไขมันสูงหรือไขมันที่อยู่ในของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





หมอเลี้ยบลั่นพร้อมรับนักวิจัยเข้าสนง.ใหม่

สืบเนื่องจากการตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งตามโครงสร้างจะมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โอนย้ายมาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในสังกัด แต่เมื่อเวลาผ่านใกล้ครบ 1 ปี กลับมีกระแสว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาตินี้ไม่พร้อมจะย้ายสังกัด ด้าน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า กระทรวงพร้อมรับสมัครบุคลากรนักวิจัยด้านไอซีทีใหม่ เพื่อบรรจุเข้ารับราชการในสังกัดของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกรมสำรวจและจัดทำแผนที่พลเรือน จากแผนงานเดิมจะโอนย้ายเจ้าหน้าที่และงานวิจัยทางด้านแอพพลิเคชั่น หรืองานวิจัยด้านไอซีทีจากเนคเทคมาสังกัดหน่วยงานใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่วิจัยเชิงลึก (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 6)





วช.จัดการประกวดงานประดิษฐ์ปี2547

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศจัดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2547 เพื่อรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่นักประดิษฐ์ไทย ซึ่งวช. ได้จัดผลงานประดิษฐ์คิดค้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และในปีนี้งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กันยายน ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นอกจากนี้ วช.ยังจะจัดให้มีนิทรรศการเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงคิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันชัยพัฒนา” ซึ่งได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผลงานประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปี 2536 จากสภาวิจัยแห่งชาติ รวมทั้ง นิทรรศการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เคยได้รับรางวัล พร้อมจัดผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรและการฝึกอบรมการทำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติด้วย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ไขปริศนาใยแก้วนำแสงใต้ท้องทะเลลึก

นักวิจัยสหรัฐเผยความลับฟองน้ำใต้ทะเลที่สามารถงอกใยแก้วที่มีคุณสมบัตินำแสงส่งผ่านข้อมูลได้เทียบเท่ากับใยแก้วนำแสงที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่มีความยืดหยุ่นสูงกว่าเชื่อว่าจะนำไปสู่ใยแก้วประสิทธิภาพสูงสำหรับวงการโทรคมนาคมแห่งอนาคตได้ โจแอนนา ไอเซนเบิร์ก หัวหน้าคณะวิจัยจากห้องวิจัยเบลล์ ลาโบราโทรี่ส์ เปิดเผยว่า ข้อเสียของไฟเบอร์ปกติแบบเดิม ก็คือทำจากใยแก้ว ซึ่งถ้ามันงอมากๆ แล้วจะสามารถหักได้ แต่สำหรับใยแก้วจากฟองน้ำชนิดนี้ พบว่ามันมีข้อพิเศษตรงที่มีความยืดหยุ่นสูงมากถึงขนาดสามารถเอามามัดเป็นเงื่อน หรือปมได้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ราชมงคลคิดค้นเครื่องกระเทาะเมล็ดหิมพานต์ แบบจานแนวดิ่ง

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้คิดพัฒนาเครื่องกระเทาะเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นผลงานของ นายคฑาวุธ ศรีวัชรกุล, นายคณิต ขาวเหลือง, นายพิรุฬห์ เพียงประสิทธิ และนายเอกพันธุ์ ปามะวุธิ์ โดยมีอาจารย์ คมสันติ เม่ากลาง เป็นผู้ดูแลโครงการเครื่องนี้เน้นการออกแบบใช้งานได้อย่างเหมาะสม ประดิษฐ์ได้ง่ายจากเศษเหล็กและวัสดุท้องถิ่น และมีประสิทธิภาพการทำงานในระดับดี สอบถามรายละเอียดได้ที่อาจารย์ คมสันติ เม่ากลาง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร โทร. 092549-3328, 0-6605-8070 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


สมาร์ทการ์ด : บัตรอัจฉริยะ

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คนไทยที่ทำบัตรประชาชนรุ่นใหม่ จะได้พกบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด โดายนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดใบแรกจะได้เห็นกันในปลายปีนี้ โดยเป้าผลิตให้ได้ปีละ 20 ล้านใบ สำหรับประชาชนใน 6 จังหวัดที่จะถือบัตรประชาชนอัจฉริยะคือ ขอนแก่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ภายในชิปจะบรรจุตัวเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ข้อมูลประกันสังคม ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ และข้อมูลเกษตรกร รวมทั้งข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ และในเร็วๆ นี้เราอาจจะเห็นพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทางแบบติดชิปคอมพิวเตอร์ เหมือนพลเมืองของสหรัฐอเมริกาซึ่งจะได้ถือหนังสือเดินทางไฮเทคในเดือนตุลาคมนี้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





ป่วย “มะเร็ง-เบาหวาน” ระวังโรคจิต

น.พ.ประเวช ตันติพัฒนสกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 2 ได้หยิบยกเรื่องความสัมพันธ์ของยาเสพติดและสุขภาพจิตขึ้นมาหารือ โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าระบบการบริการสาธารณสุขทั่วโลกยังเน้นในเรื่องการรักษาเฉพาะโรคทางกาย โดยมองข้ามอาการป่วยที่เกิดขึ้นควบคู่กัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหายาเสพติด พบว่ามีโรคเรื้อรังทางจิตเวชรวมอยู่ด้วยทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสม อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 10 มีโรคซึมเศร้ารวมอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาไม่ถูกต้องตามแพทย์ระยุซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาต่ำลง และผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 18)





วัน 14 ตุลาฯ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอดิศร เพียงเกษ รองประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาล นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภา นายสุรชาติ บำรุงสุข นายชัยอนันต์ สมุทวณิช และนายโคทม อารียา ได้ประชุมหาข้อสรุปชื่อเรียกวันสำคัญของชาติ 14 ตุลาคม เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ภายหลังการหารือ นายจาตุรนต์กล่าวว่า จากกรณีที่ ครม.มีมติกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติ และได้มอบให้ตนมาประสานเพื่อหาชื่อเรียกที่เหมาะสมนั้น ที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรใช้ชื่อว่า “ วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย” เนื่องจากเห็นว่าวันดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น มีประชาชนหลายหมู่เหล่าร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ จึงมีเหตุผลที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 2)





แท็กซี่แห่ติวอังกฤษรับเอเปค

นายวิมล จำนงบุตร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 1 เปิดเผยว่า จากนโยบายสำนักบริหารการศึกษานอกโรงเรียนที่ให้ดำเนินการจัดอบรมภาษาอังกฤษสำหรับแท็กซี่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ รองรับในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปคในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ทางศูนย์จึงได้จัดอบรมแท็กซี่เพื่อให้สามารถเจรจาสื่อสารภาษาอังกฤษเบื้องต้นกับผู้โดยสารต่างชาติได้ โดยจะอบรมจนถึงวันที่ 14 กันยายน มีผู้ขับรถแท็กซี่มาเข้าร่วมอบคมจำนวน 200 คน นอกจากนี้สามารถรับฟังรายการสอนภาษาอังกฤษทางสถานีวิทยุศึกษาเอฟเอ็ม 92.0 เมกะเฮิรตซ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย นายทรงพล ผดุงสิทธิผล นายกสมาคมผู้ประกอบการขับรถรับจ้าง (TAXI) กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดี ทั้งนี้คนขับแท็กซี่ยังมีความต้องการพัฒนาด้านภาษาอื่นๆด้วย เช่น ญี่ปุ่นและจีน ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สมาคมและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน กทม. โทร. 0-2866-2834-5 (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





สธ. เฝ้าระวังคนแก่ป่วยโรคปอด

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดชนิดใหม่จากไวรัสในแคนาดาว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นเชื้ออะไร เพียงแต่มีลักษณะคล้ายอาการของโคโรน่าไวรัส หรือโรคซาร์ส ไทยยังคงวางมาตรการและระบบป้องกันถึงกรกฎาคมปีหน้า สิ่งที่คนไทยต้องระวังตัวในขณะนี้ไม่ใช่โรคซาร์สแต่เป็นโรคไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่เพราะฝนตกชุก น.พ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ไวรัสมรณะหรือโรคระบาดชนิดใหม่ในแคนาดา เกิดขึ้นที่ศูนย์บ้านพักคนชรา ในเมืองแวนคูเวอร์ ทางตะวันตกของประเทศแคนาดา ซึ่งภายในมีคนชราอยู่ 142 คน ในจำนวนนี้ป่วย 94 คน และเจ้าหน้าที่ดูแล 160 คน มีอาการป่วย 49 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย มีอยู่ใน 5 รายที่มีสาเหตุการเสียชีวิตไม่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้เลย แต่มีเพียง 6 รายเท่านั้นที่มีอาการคล้ายเป็นปอดบวม ทางองค์การอนามัยโลกได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ เพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์ โดยแยกผู้ป่วยและกักตัวไว้ดูอาการ ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยลดลงมาอย่างมาก น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้สั่งเฝ้าระวังและติดตามคนไข้โรคปอดที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน โตรอนโต แคนาดา รวมไปถึงเมืองแวนคูเวอร์ด้วย และมุ่งไปที่คนชรา แต่ขณะนี้ไทยยังไม่มีมาตรการคุมการเข้า-ออก เนื่องจากต้องรอประกาศขององค์การอนามัยโลกก่อน (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 10)





จัด ‘หนึ่งวัดหนึ่งตำบล’ 5ส

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นางบุญศรี พานะจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัด “โครงการหนึ่งวัด หนึ่งตำบล” เพื่อค้นหาวัดพัฒนาดีเด่นให้ประชาชนเข้าวัดฟังธรรมมากขึ้น โดยเป็นวัดที่มีคุณสมบัติตามที่กรรมการมหาเถรสมาคมกำหนด ภายใต้การบริหารงานวัด 5 ส ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่เยาวชนและประชาชน เป็นแหล่งเผยแผ่ธรรมะอบรมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เยาวชนและประชาชน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของเยาวชนและประชาชน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของเยาวชนและศาสนิกชนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยได้คัดเลือก 10 แห่งจากทั่วประเทศเป็นวัดนำร่องในโครงการนี้ นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หาวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเน้นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวเข่าค่ายภายในวัด เบื้องต้นจะเริ่มนำร่อง 10 แห่ง ได้แก่ วัดบูรพาราม จ.จันทบุรี วัดคีรีวงศ์ จ.นครสวรรค์ วัดพระสิงค์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ วัดพระแก้ว จ.เชียงราย วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จ.ราชบุรี วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น วัดแจ้งแสงอรุณ จ.สกลนคร วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี และวัดป่าลิไลย์ จ.พัทลุง (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





ควัก 2.5 ล้านติด ‘ไซเรน’ รถเมล์

นายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมว่า ได้ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยกรณีเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นบนรถประจำทาง โดยเบื้องต้นให้ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยหรือไซเรน 5 จุด บนรถเมล์ 44 สายโดยเฉพาะในสายที่ต้องผ่านโรงเรียนช่างเทคนิค ช่างกลต่างๆ และถนนเปลี่ยวจำนวน 501 คัน ในเบื้องต้นค่าใช้จ่ายคันละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.5 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มติดสัญญาณเตือนภัยได้ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป เนื่องจากต้องรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ขสมก.ก่อนจากนั้นจะขยายผลติดตั้งสัญญาณเตือนภัยบนรถในส่วนที่เหลือต่อไป นายปกศักดิ์ เศรษฐบุตร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ขสมก. ร่วมมือกับตำรวจในการป้องกันเหตุร้ายอยู่แล้วเช่น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นบนรถพนักงานขับรถจะเปิดไฟหน้าและกะพริบไฟให้เป็นที่ผิดสังเกต พร้อมทั้งพยายามขับรถเข้าไปหาป้อมตำรวจ และจำรูปพรรณของผู้ร้ายไว้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่อุกอาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิมจะเพิ่มการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยในรถและบนหลังคารถเข้าไปด้วยจะติดตั้งถึง 5 จุดในรถ 1 คัน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถกดสัญญาณได้ด้วย และผู้ร้ายจะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กดสัญญาณหากในรถคันนั้นมีผู้โดยสารไม่ถึง 5 คน และไม่สามารถคุมสัญญาณได้ (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 32)





มัคคุเทศก์ไทยนัดชุมนุมต้านแผนนำเข้าไกด์นอก

จากกรณีที่ ครม.ได้อนุมัติในหลักการให้กฤษฎีกาตีความ ในการประกาศใช้กฎหมายในเรื่องการเห็นด้วยที่จะให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวจ้างมัคคุเทศก์ต่างชาติอย่างถูกต้อง เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวบางส่วนไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะเป็นการกีดกันแรงงาน และมัคคุเทศก์ไทยมากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 3)





ไฟเขียวยา ‘เลวิทรา’ ตีตลาดไวอะกร้า

รอยเตอร์ รายงานเมื่อวันอังคาร (19 ส.ค.) ว่าแกล็กโซ สมิธไคลน์ และไปเออร์ 2 ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์โลก ได้ไฟเขียวจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ให้จำหน่ายยาเลวิทรา เม็ดสีส้ม ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งไวอะกร้า เม็ดสีฟ้า ของไฟเซอร์ ในการแก้ปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในบุรุษ ไวอะกร้า ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในฐานะยารับประทานแก้การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในบุรุษ แต่บรรดาผู้ผลิตยาเลวิทรา ตั้งเป้าที่จะดึงดูดผู้บริโภคชายหลายล้านคน ซึ่งไม่ต้องการเข้ารับการบำบัดความบกพร่องจากโรคดังกล่าวให้หายขาด ซึ่งในสหรัฐมีสัดส่วนประชากรแบบนี้ราว 30 ล้านคน เลวิทรา, ไวอะกร้า และไซอาลิส เป็นยาที่ทำหน้าที่สกัดกั้นเอ็นไซม์ที่เรียกว่า พีดีอี-5 ซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนของโลหิตไปยังอวัยวะเพศชาย แต่สรรพคุณ ความเร็ว และความต่อเนื่องในการทำงานของยาแต่ละตัวกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 29)





ความรู้เรื่อง ‘รามรณะ’ Pseudallescheria boydii

ห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ภายใต้ทุนการสนับสนุนการวิจัยจากโครงการ BRT (สนับสนุนงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและไบโอเทค) เรื่องการศึกษาความหลากหลายของราในประเทศไทย จะขอร่วมอธิบายถึงรายละเอียดทางวิชาการเพื่อเป็นความรู้และความเข้าใจของเชื้อรา Pseudallescheria boydii ที่เรียกว่า “รามรณะ” เชื้อราบางชนิดก่อให้เกิดโรคและอาจทำให้ถึงตายได้ ในขณะที่ยังมีราอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล และยังสามารถนำมาศึกษาวิจัยเพื้อใช้ประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศชาติของเราต่อไปในอนาคต (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2546 หน้า 30)





เดือนวาด คว้ารางวัลซีไรต์ปี 46

คณะกรรมการรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน หรือซีไรต์ประกาศผลรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ ประจำปี 2546 ซึ่งเป็นวาระครบ 25 ปี ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “ช่างสำราญ” เขียนโดย เดือนวาด พิมวนา ซึ่งเป็นนามปากกาของ พิมใจ ชูกลิ่น เป็นนักเขียนหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม และยอดนิยมอีกด้วย (สยามรัฐ อังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 1,13)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215