หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 32 ประจำวันที่ 2003-09-02

ข่าวการศึกษา

สวนดุสิตปลื้ม น.ศ.แห่เรียนธุรกิจการบินศูนย์หัวหิน
กมธ. ศึกษาวุฒิสภาหนุน รภ. อุบลฯ เป็นมหาวิทยาลัย
รุก ศธ.ร่วมพิทักษ์สิทธิเด็กทำผิด จับตาร้านเกมมอมเยาวชน
ศธ. สั่งทุกโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100%
ชู “ปองพล” นั่งเสมา 1
“เซ็ง” ข้อมูลเด็ก-ครูซ้ำซ้อน เฉียด 4 แสนราย
“เลขาฯ กอ.” ยันยังไม่ยุติ ถ่ายโอน ขรก.ใน “สกอ.”
“ศธ.-สธ.-ก.เกษตรฯ” ผนึกแก้ทุพโภชนา น.ร.
“ปองพล” ชี้ ร.ร.ไม่มีสิทธิสละเงินรายหัวแทนเด็ก
‘เอกชน’ เปิดรับ นศ.อาชีวะฝึกงานพัฒนาหลักสูตร
สกอ.ยอมรับบัณฑิตไทยต้องเติมเต็ม
ห้องสมุดเคลื่อนที่ ‘ชายหาดสมิหลา’ แหล่งธรรมชาติให้ความรู้
เวทีผู้นำเยาวชนฮิตาชิ ปีที่ 6 ถกทิศทางพัฒนาเอเชียหลัง “ซาร์ส” สงบ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ยาดมกลิ่นมะนาวเป็นโอสถทิพย์ ของบรรดาคุณตาคุณยายผู้สูงอายุ
ดื่มไวน์แดงกับกินน้ำมันมะกอก อาหารให้คุณเป็นยาอายุวัฒนะ
เอชพีพัฒนา ‘อี-บุ๊ค’ ขนาดเท่าของจริง
เด็กไทยคว้าแชมป์หุ่นยนต์เอเชีย-แปซิฟิก
ผู้เชี่ยวชาญเตือนระวังไวรัส 11 ก.ย.
LEARN 2 EARN
เอไอทีเผยความรู้เทคโนโลยีซีเมนต์ซ่อมแซมตึกร้าว
‘ซันโย-เอ็มเทค’ ร่วมพัฒนาคอมเพรสเซอร์ประหยัดพลังงาน
เทคนิคใหม่ตรวจสอบวัตถุดิบคุมเข้มคุณภาพสินค้าก่อนผลิต
ฝุ่นอัจฉริยะใช้ตรวจจับสารพิษ-เชื้อโรค

ข่าววิจัย/พัฒนา

วิจัยหญิงไทยส่วนใหญ่รักจะสวยจากภายใน
น้ำลายกิ้งก่าสรรพคุณเป็นยา ‘ลดเบาหวาน-รักษาหุ่น’

ข่าวทั่วไป

ขุมทรัพย์มหาศาลจมอยู่ก้นมหาสมุทร รวมทั้งแร่ดีบุกจากประเทศไทยด้วย
เฟ้นสุดยอด “ข้าวแกงจานทอง” กรมอนามัยหาเมนูแก้เด็ก
ตื่นปลูกถ่ายเซลล์สำเร็จ ช่วยคนตาบอดมองเห็น
ผลกระทบคลื่นความร้อนสัตว์โลกป่วน
วัยรุ่นไทยติดบุหรี่เพิ่มขึ้นกว่าสองแสนราย





ข่าวการศึกษา


สวนดุสิตปลื้ม น.ศ.แห่เรียนธุรกิจการบินศูนย์หัวหิน

นายศิโรจน์ ผลพันธ์ทิน รองอธิการบดีสภาบันราชภัฎสวนดุสิต ให้สัมภาษณ์ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า หลังจากสถาบันราชภัฎสวนดุสิต ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน เปิดสอนโปรแกรมวิชาธุรกิจการบินเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ภายในอาคารสถาบันการบินพลเรือน อ.หัวหิน และได้เปิดการเรียนการสอนภายใต้ชื่อสถาบันราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะนักเรียนในท้องถิ่น เพราะนอกจากจะเปิดสอนโปรแกรมธุรกิจการบินแล้ว ยังเปิดสอนธุรกิจโรงแรมอีกด้วย นายศิโรจน์กล่าวว่านักศึกษาในรุ่นแรกนี้มีกว่า 300 คน ในส่วนของบริการภายในสถาบันนั้น มีการให้บริการคอมพิวเตอร์, อินเตอร์เน็ต, บริการรถรับส่งนอกสถานที่ และบริการหอพักนักศึกษานับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักศึกษาสนใจที่จะเลือกเรียนในโปรแกรมวิชานี้มากขึ้น นอกจากนี้การศึกษาในโปรแกรมดังกล่าวจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาจจะต้องมีการขยายสถานที่เรียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาในโปรแกรมธุรกิจการบินจะมีงานรองรับ โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิที่ใกล้จะเปิดดำเนินการ คาดว่านักศึกษาที่จบจากสถาบันนี้จะได้เข้าไปทำงานอย่างแน่นอน (มติชนราย วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





กมธ. ศึกษาวุฒิสภาหนุน รภ. อุบลฯ เป็นมหาวิทยาลัย

นายเกษม บุญรมย์ อธิการบดีสถาบันราชภัฎอุบลราชธานี เปิดเผยว่า นายผ่อง เล่งอี้ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา และคณะ เดินทางมาศึกษาดูงานที่สถาบันราชภัฎอุบลราชธานีเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมความพร้อมของสถาบันราชภัฎเพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย และนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฎของคณะกรรมาธิการต่อไป ซึ่งการที่สถาบันราชภัฎอุบลราชธานีจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีนั้น ต้องอาศัยกฏหมายตามพระราชบัญญัติการศึกษา ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการรับหลักการและแปรญัตติ รอการเปิดประชุมสภาอีกครั้ง (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





รุก ศธ.ร่วมพิทักษ์สิทธิเด็กทำผิด จับตาร้านเกมมอมเยาวชน

จากการประชุมสหวิทยาการเพื่อป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก เรื่อง “พฤติกรรมความรุนแรงในเด็ก” จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีการยกกรณีนักเรียน ป.6 ขโมยปืนจากบ้านให้รุ่นพี่ ม.3 ยิงคู่อริ แต่กระสุนปืนพุ่งเจาะพื้นคอนกรีต เศษปูนเฉี่ยวขานักเรียน ป.1 บาดเจ็บ เป็นกรณีศึกษาโดยพบว่าเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ถูกชุมชนร่วมกันลงมติขับเด็กออกจากสถานศึกษาด้วย น.ส.อรศรี ศรีวนา ตัวแทนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าประเทศไทยมี พ.ร.บ.ศาลเด็ก ประกาศใช้มานานกว่า 50 ปี โดยเป็นกฎหมายที่คุ้มครองให้เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการวิเคราะห์หาสาเหตุการทำความผิดและได้รับการพัฒนาตนเอง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่มีกฎกระทรวงออกมารองรับและดูแลเด็กที่กระทำผิดให้ได้รับการพัฒนาไปในแนวทางที่ถูกต้อง และพบว่าในกรณีที่เด็กเล็กทำความผิดเล็กๆน้อยๆ เด็กก็จะไม่ได้รับสิทธิในการวิเคราะห์หาสาเหตุ และได้รับการปล่อยตัวไป ซึ่งเด็กก็จะไม่รู้ว่าตนเองทำความผิด จนกระทั่งเด็กทำความผิดที่รุนแรงซึ่งสายเกินไปแล้ว ส่วนเรื่องของชุมชนนั้นพบว่าขณะนี้กระแสสังคมที่ต้องการสร้างชุมชนเข้มแข็งกำลังแรงมาก หากชุมชนร่วมกันผลักไสเด็กออกจากโรงเรียนและชุมชนนั้น เด็กจะไปอยู่ที่ไหน จึงอยากขอให้กคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาดูแลสิทธิเด็กในจุดนี้ด้วย (ไทยรัฐ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ศธ. สั่งทุกโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100%

น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยหลังเปิดประชุมพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. 2546 ว่า อยากให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นหูเป็นตาปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบปี พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด ต่อไปจะไม่มีการประนีประนอมหากมีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ที่ระบุในกฎหมาย 19 ประเภท เช่น ห้องปรับอากาศ โรงเรียนต่ำกว่าสถาบันอุดมศึกษา โรงมหรสพ ฯลฯ จะต้องถูกจับปรับดำเนินคดีทันที โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% หากครูหรืออาจารย์ฝ่าฝืนและเจ้าหน้าที่ ตักเตือนแล้วไม่เชื่อ ต้องให้ผู้อำนวยการหรือครูใหญ่จัดการ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ชู “ปองพล” นั่งเสมา 1

สวนดุสิตโพล ของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและบุคคลในแวดลงการศึกษาทั่วประเทศ 3,624 คน ถึงการปรับครม. ที่กระทรวงศึกษาธิการมักจะตกเป็นเป้าอยู่ตลอดเวลา ผลปรากฏร้อยละ 57.97 เห็นว่าการพัฒนาการศึกษาในช่วงที่ นายปองพล อดิเรกสาร ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันดีขึ้น ร้อยละ 20.40 เห็นว่าแย่ลง ซึ่งมองในภาพรวมพบว่าการพัฒนาการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 76.98 นอกจากนี้ความพึงพอใจต่อผลงานของนายปองพล ที่บริหารจัดการเรื่องการศึกษาในปัจจุบัน ร้อยละ 44.74 พอใจมาก เพราะการปฏิรูปการศึกษาเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ร้อยละ 33.49 ไม่ค่อยพอใจ เพราะการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานบ่อยทำให้เกิดความสับสน ร้อยละ 17.47 พอใจมากที่สุด เพราะเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และการบริหารงานมาถูกทางแล้วแต่ควรให้โอกาสและเวลาในการสร้างผลงานสักระยะ มีเพียงร้อยละ 4.30 ไม่พอใจเลย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความคืบหน้า ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และนโยบายที่กำหนดปฏิบัติยาก หากมองในภาพรวมพบว่าพึงพอใจในการบริหารของนายปองพลถึงร้อยละ 62.21 (ไทยรัฐ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





“เซ็ง” ข้อมูลเด็ก-ครูซ้ำซ้อน เฉียด 4 แสนราย

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้มอบนโยบายให้ ศธ. จัดทำข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขประชาชน 13 หลัก ของทั้งครูและนักเรียนในแต่ละสังกัด มาเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรงบประมาณ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยคาดว่า ศธ.มีเด็กทั้งสิ้น 15.124,007 คน มีข้อมูลที่เก็บบันทึกและจัดส่งแล้ว 9,381,247 คน ยังขาดอยู่เกือบ 6 ล้านคน ซึ่งจะเป็นความสูญเสียของรัฐ เพราะจะไม่สามารถตรวจสอบเรื่องเงินอุดหนุนได้ รมช.ศธ.กล่าวต่อไป สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เดิมแจ้งว่า มีเด็กอยู่ 6,595,828 คน ส่งรายชื่อมา 4,607,167 คน มีรายชื่อซ้ำ 119,809 คน กรมสามัญศึกษาเดิมมีเด็ก 2,591,984 คน ส่งรายชื่อ 2,196,049 คน มีรายชื่อซ้ำ 234,853 คน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เดิม 2,073,778 คน ส่งรายชื่อมา 1,987,118 คน มีรายชื่อซ้ำ 107,642 คน กรมอาชีวศึกษาเดิม มีนักศึกษา 596,705 คน ส่งรายชื่อมา 423,040 คน รายชื่อซ้ำ 30,201 คน ทั้งนี้ เป็นตัวเลขที่ตัวเลข 13 หลักซ้ำ โดยบุคคลเดียวกัน 180,070 คน ซ้ำโดยที่ไม่ใช่เป็นบุคคลคนเดียวกัน 127,488 คน การมีข้อมูลซ้ำทำให้เงินจะหายไปจำนวนมาก สิ่งที่ ศธ. ต้องทำเร่งด่วนคือ ขจัดบัญชีเด็กผีให้ออกจากระบบ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





“เลขาฯ กอ.” ยันยังไม่ยุติ ถ่ายโอน ขรก.ใน “สกอ.”

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กรณี ท.พ.สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองเลขาธิการ กอ. ระบุว่าข้าราชการสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยเดิมมีแนวโน้มจะไม่สามารถโอนย้ายหรือตัดโอนไปอยู่สถาบันราชภัฎ (รภ.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) โรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาได้ เนื่องจากบุคลากรของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎเดิมกว่า 100 คน ยืนยันจะขอตัดโอนไปลงมหาวิทยาลัยราชภัฎ ภายหลังร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎมีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันบุคลากรที่จะถูกจัดลงในโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็มีไม่พอกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นนั้นยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้ โดย ท.พ.สมศักดิ์ได้รายงานว่าเป็นห่วงว่าระยะแรกอาจไม่มีคนทำงานใน สกอ. แต่อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าในระบบราชการด้วย สามารถที่จะหมุนเวียนบุคลากรกันได้ จึงไม่อยากให้ข้าราชการเกิดความกังวลไปก่อน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





“ศธ.-สธ.-ก.เกษตรฯ” ผนึกแก้ทุพโภชนา น.ร.

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะเกษตร ได้ร่วมกันสร้างกรอบยุทธศาสตร์และแนวปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภาชนาของนักเรียนอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ปัญหาโภชนาการของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารและในโรงเรียนภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีอาหารกลางวันอย่างเพียงพอ มีสุขภาพอนามัยดี ทั้งนี้จะมีการระดมทรัพยากรและการลงทุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในส่วนของวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะประสานกับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช สัตว์ ปลา ฯลฯ ให้ความรู้ด้านการเกษตร อาทิ การผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การบริหารจัดการทางธุรกิจ การผลิตเพื่อจำหน่าย และร่วมกับโรงเรียนทำการวางแผนการผลิต ให้คำปรึกษา สนับสนุนการผลิตและให้ความรู้ทางโภชนาการและหลักการประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





“ปองพล” ชี้ ร.ร.ไม่มีสิทธิสละเงินรายหัวแทนเด็ก

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี จากเดิมที่เคยอุดหนุนการจัดการชั้น ป.1 ถึง ม.6 มาเป็นอนุบาลถึง ม.3 และอุดหนุน ม.ปลาย เน้นคนจน 50% นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามเสนอเรื่องไปยังเลขาธิการ ครม.แล้ว โดยเสนอไปว่าการอุดหนุนตามมติ ครม. เดิมนั้น ในทางปฏิบัติอุดหนุนอยู่ 14-15 ปี คือ อนุบาลเอกชน 3 ปี อนุบาลรัฐ 2 ปี และอุดหนุน ป.1- ม.6 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32,000 ล้านบาท หากจะเปลี่ยนตามแนวคิดของนายกฯ คืออุดหนุนอนุบาล 3 ปี ถึง ม.3 และ ม.ปลาย 50% โดยเน้นผู้ที่มีฐานะยากจนตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เป็นการอุดหนุน 15 ปีเช่นกัน เพียงแต่กลับด้านจากที่อุดหนุนอนุบาล 50% มาเป็น ม.ปลาย 50% ซึ่งใช้งบ 31,000 ล้านบาท นายปองพลกล่าวว่า จากการที่ ศธ.ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมสภาการศึกษา เห็นว่าหากดำเนินการตามแนวคิดของนายกฯจะมีปัญหาในทางปฏิบัติจึงได้เสนอแนวทางที่ 3 ไปว่าน่าจะอุดหนุน 14 ปี คือ อนุบาล 2 ปี และ ป.1-ม.6 เต็ม 100% ใช้งบ 33,600 ล้านบาท เพิ่มจากที่อุดหนุนตามมติ ครม.เดิม เพียง 1,600 ล้านบาท ส่วนการสละสิทธิ์ไม่รับเงินอุดหนุนนั้น โรงเรียนไม่มีอำนาจที่จะมาพูดแทนนักเรียนว่าไม่รับเงินอุดหนุน เพราะรัฐธรรมนูญให้อุดหนุนตัวผู้เรียนเป็นรายบุคคล (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





‘เอกชน’ เปิดรับ นศ.อาชีวะฝึกงานพัฒนาหลักสูตร

นายพยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวในงาน “ความร่วมมือของภาคเอกชน : กระบวนทัศน์ใหม่ของการการปฏิรูปการอาชีวศึกษา” ว่า สอศ. ได้ดำเนินการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาแบบให้เอกชนมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของนักศึกษาให้ตรงกับที่เอกชนต้องการ โดยได้จัดให้นักศึกษาได้เข้าไปปฏิบัติงานจริงที่สถานประกอบการและเปิดโอกาสให้สถานประกอบการร่วมจัดทำหลักสูตรกับสถาบันการศึกษาซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





สกอ.ยอมรับบัณฑิตไทยต้องเติมเต็ม

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายอมเรศ สิลาอ่อน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาการศึกษา และประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระบุว่า จากการสัมภาษณ์บัณฑิตที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตอบได้แต่ในตำราเท่านั้น ว่า ยอมรับว่าบัณฑิตไทยต้องเพิ่มศักยภาพอย่างน้อย 2-3 เรื่อง คือต้องได้ภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 2-3 ภาษา ต้องเรียนรู้ระบบบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ และมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บัณฑิตตำหนิมากที่สุดคือ ทักษะในการทำงาน นอกจากนี้ ยังบ่งเรื่องความมีวินัยน้อย ทั้งเรื่องการตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการรักษามาตรฐานของงาน ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับหลักสูตร และอาจารย์ต้องปรับวิธีการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงหลากหลาย และมีโอกาสค้นคว้ามากขึ้น (มติชน พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





ห้องสมุดเคลื่อนที่ ‘ชายหาดสมิหลา’ แหล่งธรรมชาติให้ความรู้

ชายหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีเสน่ห์มายาวนานกลายเป็นมรดกล้ำค่าที่ธรรมชาติรังสรรค์ไว้ มีหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ร่มรื่นด้วยแมกไม้ที่ขนานไปกับชายหาด 9 กิโลเมตร ประชาชนนิยมไปพักผ่อนยามเย็นมาก และเพื่อเป็นการเพิ่มอาหารสมองให้กับเยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่มาพักผ่อนที่ชายหาดสมิหลา เทศบาลนครสงขลา จัดห้องสมุดเคลื่อนที่บนชายหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ขึ้น (มติชน พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 23)





เวทีผู้นำเยาวชนฮิตาชิ ปีที่ 6 ถกทิศทางพัฒนาเอเชียหลัง “ซาร์ส” สงบ

โครงการผู้นำเยาวชนฮิตาชิ (Hitachi Toung Leaders Initiative (HYLI) โดยปีนี้จะมีขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-12 ธ.ค. 2546 ในหัวข้อ “การกำหนดทิศทางพัฒนาเอเชียใหม่” ซึ่งจะมีหัวข้อย่อย คือ 1.การกำหนดกลไกขับเคลื่อน การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย 2.การบริหารการจัดการ การขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อความก้าวหน้าของสังคมในเมืองใหญ่ 3.การสร้างสมดุลของการเติบโตและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในเอเชีย นักศึกษาไทยที่ถูกคัดเลือกให้ร่วมโครงการมี 4 คน คือ น.ส.วรลักษณ์ จิโรจโชติชัย จากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จาก ม.ธรรมศาสตร์ น.ส.ษมาธา มาสะกี นศ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, น.ส.อัชณา ปิยะธนัง นศ.คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนายโกบินทร์ รัตติวรากร นศ.สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ม.มหิดล (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 5 กันยายน 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ยาดมกลิ่นมะนาวเป็นโอสถทิพย์ ของบรรดาคุณตาคุณยายผู้สูงอายุ

นักวิทยาศาสตร์เมืองน้ำชา ได้ค้นพบเข้าโดยบังเอิญในการศึกษาเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ โดยได้พบว่า คนที่ได้รับการทดลองดมยาดมกลิ่นมะนาว ต่างพากันอารมณ์ดี ไม่มีอาการหงุดหงิด และสบายอกสบายใจมากกว่าคนที่ได้ยาดมที่ไร้กลิ่น อย่างพวกน้ำมันดอกทานตะวันมากกว่ากันถึง 35% ผู้อำนวยการการศึกษา ศาสตราจารย์ไคลว์ บอลลาร์ด เชื่อว่า ยาดมกลิ่นมะนาวมีสรรพคุณชะงัดกว่าอย่างอื่น เพราะได้พบในการศึกษาว่า มันออกฤทธิ์กับสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความจำและพฤติกรรม แม้ว่ายังจะต้องศึกษากันให้มากกว่านี้ แต่ก็เห็นว่ายาดมนี้อาจจะใช้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้คลายความร้อนอกร้อนใจได้ปลอดภัยดียิ่งกว่าพวกยากล่อมประสาทเสียอีก (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ดื่มไวน์แดงกับกินน้ำมันมะกอก อาหารให้คุณเป็นยาอายุวัฒนะ

นักวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐฯ ผู้ศึกษาได้พบว่า สารที่มีชื่อว่า เรสเวราตรอล ที่มีอยู่มากในเหล้าไวน์แดง อาจเป็นสารประกอบสำคัญที่มำให้มันมีคุณสมบัติต้านทานโรคมะเร็งและโรคหัวใจ และได้พบว่ามันออกฤทธิ์กับยีนตัวที่เกี่ยวพันกับอายุขัยของยีสต์ ขณะเดียวกัน สารเควอเซตินที่มีอยู่ในน้ำมันมะกอกก็มีคุณสมบัติแบบเดียวกันนี้ด้วย สารทั้งสองอย่างถูกพบว่ามีอิทธิพลกับยีน ซึ่งเกี่ยวพันกับการยืดอายุให้ยืนยาวออกไปได้ โดยเฉพาะสารเรสเวราตรอลช่วยให้เซลล์ของยีสต์ ยืดอายุออกไปได้มากถึง 70% (ไทยรัฐ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เอชพีพัฒนา ‘อี-บุ๊ค’ ขนาดเท่าของจริง

สำนักข่าวบีบีซีนิวส์ รายงานว่า ต้นแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บุ๊คของบริษัทฮิวแลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) หนาเพียง 1 ซม. และมีลักษณะคล้ายคอมพิวเตอร์พกพาที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ นายฮิว รอบสัน หนึ่งในทีมพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวของบริษัทฮิเลตต์-แพคการ์ด เปิดเผยว่า จุดเด่นของหนังสือไฮเทคเล่มนี้ อยู่ที่จอแสดงผล และชุดแผ่นกระดาษไวสัมผัส ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถควบคุมหนังสือทั้งเล่มได้อย่างง่ายดาย พร้อมเสริมว่า ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาเก็บไว้ในอุปกรณ์ดังกล่าวได้โดยใช้พอร์ตยูเอสบีมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 5)





เด็กไทยคว้าแชมป์หุ่นยนต์เอเชีย-แปซิฟิก

การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์เอเชีย-แปซิฟิก หรือ ABU Asia-Pacific Robot Contest BANGKOK 2003 จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มี 19 ประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ABU ส่งทีมเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันรวม 20 ทีม โดยเป็นทีมจากประเทศไทย 2 ทีม ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพกำหนดกฎกติกาในชื่อ “ตะกร้อพิชิตจักรวาล” ที่ประยุกต์การแข่งขันหุ่นยนต์เข้ากับกีฬาตะกร้อลอดบ่วงของไทย โดยทีมนายฮ้อยทมิฬ จากวิทยาลัยการอาชีพสว่างดินแดน จ.สกลนคร เอาชนะทีม Yuppicide จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ได้รับโล่รางวัลชนะเลิศ จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ส่วนรองอันดับสองคือ ศิรินซัง จากญี่ปุ่น และทีมบีเคซีทีจากเวียดนาม (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ผู้เชี่ยวชาญเตือนระวังไวรัส 11 ก.ย.

โดยนายมาร์ก ซัมเมอร์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีบริษัทเมสเซจแล็ปส์ กล่าวว่า ไวรัสคอมพิวเตอร์โซบิ๊กดอตเอฟ ซึ่งกลายเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ที่แพร่ระบาดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดโดยมีคอมพิวเตอร์ที่โดนไวรัสตัวนี้เข้าไปนับล้านเครือข่ายทั่วโลก แต่สามารถควบคุมได้แล้วเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น นายซัมเมอร์กล่าวว่า ไวรัสโซบิ๊กดอตเอฟถูกตั้งโปรแกรมให้หยุดทำงานในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งอาจหมายถึงการแปลงไปสู่เวอร์ชั่นใหม่ของไวรัสโซบิ๊กดอตเอฟ และตนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดไวรัสเวอร์ชั่นใหม่ในวันที่ 10 กันยายน หรือก่อนหน้านี้ (มติชน พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 10)





LEARN 2 EARN

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รับสมัครนักเรียนระดับประถม 4-6 เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์รอบตัว ในระหว่างวันที่ 23-26 ตุลาคมนี้ ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชนที่สนใจ จะต้องเขียนบทความด้วยลายมือตนเองไม่เกิน 1 หน้ากระดาษเอ 4 ในหัวข้อ วิทยาศาสตร์ในความคิดของฉัน ส่งมาที่ หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 924 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 หรือส่งแฟกซ์มาที่ 02-391-7261 หรือที่ wthon@inst.ac.th ภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ สอบถามเพิ่มเติมที่ 02-382-0378 (มติชน พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เอไอทีเผยความรู้เทคโนโลยีซีเมนต์ซ่อมแซมตึกร้าว

รศ.ดร.พิชัย นิมิตยงสกุล ผู้อำนวยการศูนย์สารนิเทศเฟอร์โรซีเมนต์ระหว่างชาติ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เปิดเผยว่า เฟอร์โรซีเมนต์จะช่วยให้โครงสร้างอาคารที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย รวมถึงอาคารที่เกิดรอยร้าว เหล็กเสริมเกิดสนิม สามารถใช้งานต่อได้อย่างปลอดภัยตามระยะเวลาอันสมควร เฟอร์โรซีเมนต์เป็นเทคโนโลยีผลิตคอนกรีตเสริมเหล็กประเภทหนึ่ง ใช้วัสดุประกอบด้วย ลวดตาข่าย ทราย น้ำและซีเมนต์มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรงและมีสมรรถนะสูง ทำให้การซ่อมแซมสะดวกรวดเร็วค่าใช้จ่ายถูกเพราะใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศไม่ทำให้รูปร่างและพื้นที่การใช้งานเดิมเปลี่ยนแปลงมากนัก ปัจจุบันมีการนำเฟอร์โรซีเมนต์ไปประยุกต์ใช้งานด้านเกษตรกรรมอุตสาหกรรมและบ้านพักอาศัย หรือโครงสร้างอาคารที่รับกำลังไม่มาก ชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่างๆ เช่น แผ่นพื้นผนังสำเร็จรูปถังเก็บน้ำขนาดใหญ่บันไดในสวนสาธารณะที่ต้องการขึ้นรูปโค้งงอตามแบบสถาปัตยกรรม เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





‘ซันโย-เอ็มเทค’ ร่วมพัฒนาคอมเพรสเซอร์ประหยัดพลังงาน

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างเอ็มเทคกับบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด (มหาชน) ภายใต้ “โปรแกรมเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิต เพื่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทย” หรือ GMTAP โดยผลิตภัณฑ์นำร่องที่พัฒนาขึ้นตามโปรแกรมนี้คือ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของตู้เย็น อย่างไรก็ตาม หลังจากซันโยได้เทคโนโลยีผลิตเครื่องต้นแบบแล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการทดสอบเครื่องคอมเพรสเซอร์ใหม่ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่สหภาพยุโรปประกาศบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในช่วงนี้ซันโยพร้อมที่จะเป็นจุดถ่ายทอด/กระจายความรู้และเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เทคนิคใหม่ตรวจสอบวัตถุดิบคุมเข้มคุณภาพสินค้าก่อนผลิต

ดร.จรูญ จักร์มุณี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผลงานการวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาเครื่องมือและระบบการวิเคราะห์เคมีวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มโดยมุ่งให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย และได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำ 2546 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 29 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ฝุ่นอัจฉริยะใช้ตรวจจับสารพิษ-เชื้อโรค

นักวิจัยสหรัฐร่วมคิดค้น “ฝุ่นอัจฉริยะ” ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม สามารถสั่งงานไห้ค้นหาสารชีวภาพ สารเคมี สิ่งเจือปนในน้ำและอากาศได้ หวังพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์จิ๋วใช้ตรวจจับเซลล์มะเร็งและเชื้อโรคในร่างกายต่อไป ไมเคิล เซลเลอร์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาเคมีและชีวเคมีหัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และทีมงานได้พัฒนาชิพซิลิกอนจากเม็ดทรายที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชิพดังกล่าวสามารถวิ่งเข้าหาเป้าหมายได้ด้วยตัวเองโดยทีมงานหวังว่าสักวันหนึ่ง จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นหุ่นยนต์จิ๋วที่มีขนาดเท่าเม็ดทรายให้เคลื่อนที่ไปตามสภาพแวดล้อมขนาดเล็กเช่น เส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงสู่จุดปลายทางที่กำหนดไว้เพื่อทำการตรวจหาสารเคมีหรือสารประกอบชีวภาพและรายงานข้อมูลให้คนข้างนอกทราบ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 29 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


วิจัยหญิงไทยส่วนใหญ่รักจะสวยจากภายใน

นางฆรนี เทียนไทย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดนวัตกรรมและการบูรณาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า พฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะผู้หญิงไทยตื่นตัวดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพมากอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าการออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพ ความพิถีพิถันเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เลือกอาหารจากส่วนผสมจากธรรมชาติ ให้ได้คุณค่าสารอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี และหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารประเภทหวาน มัน รสจัด เนื้อสัตว์ และน้ำอัดลม ผลวิจัยที่เนสท์เล่ทำกับกลุ่มผู้หญิงวัย 20-35 ปี ในกรุงเทพฯมีฐานทางเศรษฐกิจระดับกลาง-สูง 600 คน เรื่องผู้หญิงกับทัศนคติเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มพบว่า โดยรวมมีทัศนคติต้องการให้ตนเองดูสวยดูดี หมายถึง มีรูปร่างดี ผิวพรรณดี บุคลิกดี และดูอ่อนกว่าวัย กลุ่มเหล่านี้สนใจและเชื่อมั่นอาหารประเภท ถั่วเหลือง ผักผลไม้ และต้องรับประทานให้มากขึ้นเพื่อช่วยระบบการขับถ่าย ทั้งยังมีผลในการชะลอความแก่อีกด้วย (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 26)





น้ำลายกิ้งก่าสรรพคุณเป็นยา ‘ลดเบาหวาน-รักษาหุ่น’

บริษัทอะมิลิน ฟามาซูติคอล อินช์ และบริษัทอีไล ลิลลี่ จำกัด บริษัทยาชื่อดังระดับโลกเปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระหว่างเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาสมาพันธ์โรคเบาหวานค้นพบว่า น้ำลายที่ได้จากกิ้งก่ามีพิษขนาดใหญ่ที่ชื่อ “กิล่า มอนสเตอร์” มีคุณสมบัติใช้เป็นยาได้โดยสามารถสกัดมาทำเป็นยาช่วยรักษาอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมักเป็นในวัยผู้ใหญ่โดยตอนนี้บริษัทเตรียมที่จะผลิตและส่งเพื่อตรวจสอบอนุมัติใช้ก่อนปี 2547 หรือปีหน้านี้ กิล่า มอนสเตอร์ เป็นกิ้งก่าที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายอริโซนาเป็นกิ้งก่าที่มีความอดทนสูงมากอีกชนิดหนึ่งเพราะเหตุว่าสามารถรับประทานหรือกินอาหารเพียง 4 ครั้งต่อปีเท่านั้น โดยน้ำลายของกิ้งก่าประเภทนี้สามารถป้องกันอาการระดับน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการตอบสนองของร่างกายเมื่อมีการรับประทานน้อยครั้งแต่เป็นมื้อใหญ่ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ขุมทรัพย์มหาศาลจมอยู่ก้นมหาสมุทร รวมทั้งแร่ดีบุกจากประเทศไทยด้วย

นักธรณีวิทยามหาสมุทร ดร.ปีเตอร์ โรนาของมหาวิทยาลัยรัตเจอรส์ สเตท แห่งสหรัฐฯ ผู้เปิดเผยลายแทงให้ทราบ กล่าวว่าขุมทรัพย์กองเป็นภูเขานี้ เกิดจากลำน้ำพุร้อนที่อุดมด้วยแร่โลหะต่างๆ พ่นขึ้นมาจากก้นมหาสมุทรแล้วทับถมกันมานานไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นปี เขาสนับสนุนให้มีการเสาะแสวงหาทรัพยากรจากก้นทะเลและมหาสมุทรขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และยังบอกอยู่ในวารสารทางวิชาการ “วิทยาศาสตร์” ไว้ว่า “นอกจากนั้นพวกแม่น้ำสายต่างๆ ล้วนแต่พัดพาแร่ธาตุและอัญมณีอันมีค่าลงไปเก็บอยู่ในมหาสมุทร อย่างเช่น แร่ดีบุกจากประเทศไทย แร่ทองคำจากฝั่งของอลาสกากับนิวซีแลนด์ และเพชรจากแอฟริกาใต้ เป็นต้น ดร.โรนา อธิบายต่อไปว่า แต่ไม่ใช่แม่น้ำสายต่างๆ จะเป็นผู้พัดพามหาสมบัติส่วนใหญ่ลงไปอยู่ในมหาสมุทร ที่จริงแล้วส่วนมากมันขึ้นมาจากใต้ดินก้นมหาสมุทร เนื่องจากเปลือกโลกที่ยังร้อนระอุอยู่ เมื่อกระทบกันเข้าทำให้น้ำร้อนจัด จนเกิดระเบิดอย่างรุนแรง จึงทำให้แร่ธาตุต่างๆ ขึ้นมากองสุมอยู่ที่ท้องน้ำ (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เฟ้นสุดยอด “ข้าวแกงจานทอง” กรมอนามัยหาเมนูแก้เด็ก

บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลและนิตยสารครัว ร่วมกันแถลงข่าวการจัดโครงการประกวด “ข้าวแกงจานทอง” โดย น.พ.ธีระ พิทักษ์ประเวช อธิบดีกรมอนามัย แถลงโครงการประกวดข้าวแกงจานทอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาการประกอบอาหารเพื่อสู่โครงการ “Clean Food Good Taste” หรืออาหารสะอาดรสชาติอร่อย ให้ข้าวแกงเป็นหนึ่งในเมนูชูสุขภาพ น.พ.ธีระได้กล่าวว่า “ข้าวแกงเป็นอาหารจานด่วนของคนไทย ได้คุณค่าอาหารครบ 5 หมู่ มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ ที่สำคัญไขมันในข้าวแกงมีเพียง 25% น้อยกว่าอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้ไม่อ้วน ซึ่งปัจจุบันนี้เด็กไทยประสบปัญหาอ้วนจำนวนมากอย่างเดินมา 10 คน จะมีเด็กอ้วนอยู่ 3 คน โดย 2คนจะอ้วนถาวรซึ่งคิดเป็น 75% และในข้าวแกงยังมีสมุนไพรและเครื่องเทศต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น ถือเป็นอาหารที่วิเศษที่สุด ที่สำคัญคือปลอดภัย เพราะแกงและข้าวต้องร้อนอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำให้ไม่มีเชื้อโรคด้วย นายวิเชียร อุษณาโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ (มหาชน) จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้จะเฟ้นหาสุดยอดพ่อครัวและแม่ครัวในแต่ละท้องถิ่น ผู้ที่สมัครต้องประกอบอาหาร 2 ชนิด คือ 1.แกงเขียวหวาน 2. แกงพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อประจำจังหวัด เน้นการใช้ผักสมุนไพรพื้นบ้าน สำหรับผู้ชนะเลิศจะได้เงินรางวัลจานทอง และเงินสด 25,000 บาท พร้อมสิทธิในการจำหน่ายข้าวแกงในปั๊มบางจากโดยไม่เสียค่าเช่าที่ 6 เดือนด้วย (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 18)





ตื่นปลูกถ่ายเซลล์สำเร็จ ช่วยคนตาบอดมองเห็น

บีบีซีรายงานในเว็บไซต์ว่า นายไมก์ เมย์ ชาวแคลิฟอร์เนีย วัย 40 ปี ซึ่งประสบอุบัติเหตุตั้งแต่อายุได้เพียง 3 ปี จนเสียลูกตาไปหนึ่งข้าง ส่วนตาข้างขวาที่เหลือก็บอดเกือบสนิท รับรู้แต่เพียงแสงสว่างที่ส่องลอดเข้ามา โดยไม่สามารถมองเห็นวัตถุอื่นใดนั้น ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นแบบกระจากตา (คอร์นีล) และขอบกระจกตา (ลิมบัล) ที่เป็นเยื่อบางๆ เชื่อมระหว่างกระจกตากับส่วนที่เป็นตาขาวทั้งหมด และปรากฏว่า นายเมย์สามารถมองเห็นเค้าโครงรูปร่างของวัตถุ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของเค้าโครงวัตถุ 3 มิติได้แบบลางๆ โดยไม่สามารถแยกแยะจดจำวัตถุแต่ละชิ้นที่มองเห็นเพียงโครงร่างได้ ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารแพทย์ประสาทวิทยาฉบับประจำเดือน สิงหาคมนี้ และระบุด้วยว่า นายไมก์ เมย์ ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นแบบ (สเต็มเซลล์) ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว หลังจากนั้น 5 เดือน จึงได้รับการทดสอบความสามารถในการมองเห็นครั้งแรกและพบว่าดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งผ่านการฝึกอ่านเค้าโครงวัตถุต่างๆที่เห็น จนถึงขั้นที่สามารถประเมินความลาดเอียงของเนินหิมะได้ด้วย แทนที่ต้องอาศัยผู้ช่วย ช่วยบอกทางให้เหมือนก่อน อย่างไรก็ดีนายไมก์ เมย์ ยังคงต้องอาศัยการเดาเป็นหลัก ขณะที่ความรู้สึกหวาดกลัวด้วยความไม่มั่นใจ กลับเพิ่มขึ้น (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 10)





ผลกระทบคลื่นความร้อนสัตว์โลกป่วน

จากการสัมมนาเรื่องภาวะโลกร้อน กับผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม พันเอก น.พ.ถนอม สุภาพร ผช.ผอ.กองอายุรกรรม รพ.พระมงกุฏ กล่าวว่า ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศส และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 ราย ภายใน 2 สัปดาห์ ถือเป็นอันตรายจากสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในโลก สำหรับประเทศไทยควรมีหน่วยงานเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากความร้อน แจ้งเตือนสภาพอากาศที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง และรายงานให้ประชาชนเฝ้าระวังตนเอง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการใช้น้ำฉีดพ่นให้ทั่วตัว และพัดให้เหงื่อแห้งอย่างรวดเร็ว ด้าน น.ส.พ. อลงกรณ์ มหรรณพ หัวหน้าศูนย์สวัสดิภาพช้างและสัตว์ป่า องค์การสวนสัตว์ ช่วยราชการสำนักพระราชวัง พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กล่าวว่า อุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำพวกกบ เขียด ทำให้ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มสัตว์ปีกโดยเฉพาะนกอพยพ ไม่สามารถบินกลับถิ่นที่อยู่เดิมได้เพราะอากาศที่ร้อนจัดขึ้น แม้แต่ช้างหากปล่อยไว้กลางแดดนานๆ ผิวหนังก็ไหม้ ส่วนสัตว์เล็กจะสูญพันธุ์เพราะอุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้น (ไทยรัฐ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





วัยรุ่นไทยติดบุหรี่เพิ่มขึ้นกว่าสองแสนราย

น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สูบหรี่ทั่วประเทศประมาณกว่า 10 ล้านคน โดยเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นปีละ 200,00-300,000 ล้านคน ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งมาจากเลียนแบบจากภาพยนตร์ นิตยสารข้ามชาติ โดยเฉพาะการเลียนแบบดารา หรือฮีโร่ รองลงมา ได้แก่ ความเคยชินที่เด็กและเยาวชนมักถูกผู้ปกครองใช้ไปซื้อบุหรี่ ทำให้เด็กคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้น กลุ่มนี้ร้อยละ 80-90 กลายมาเป็นผู้สูบบุหรี่ในที่สุด แม้จะมีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ยังติดปัญหาที่สื่อข้ามชาติตามนิตยสาร เคเบิลทีวี ดาวเทียม ยังไม่มีกฎหมายควบคุม (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215