หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 33 ประจำวันที่ 2003-09-09

ข่าวการศึกษา

องค์การครูหนุนตั้งหน่วยงานอำเภอ ‘สิริกร’ ค้านจ้างงบฯ ต่อ ‘เน็ต’ แล้ว
อนุบาลยะลานำร่องแก้โรคอ้วน
พะเยาเขต1กำชับครูคุมเด็กกลุ่มเสี่ยง!
10ร.ร.ได้รับกองทุนยุวเกษตรกรซินเจนทา
มหาวิทยาลัยโวยUniNetไม่เวิร์ก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

นักฟิสิกส์ประดิษฐ์อุปกรณ์ดักแมลงใช้วิธีเทียบเสียง
สวทช. จับมือเอกชนผลิตก๊าซจากขี้หมูประหยัดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ ปีละกว่า 6 ล้านบาท

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบ ‘ทีจีเอฟอาร์บี1-6เอ’ ยีนต้นตอมะเร็ง
ไบโอเทคจับมือกรมวิชาการเกษตรพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ

ข่าวทั่วไป

มาลีฯคิดค้นเครื่องดื่มสุขภาพสูตรใหม่
มะเร็งเต้านม โอกาสหาย 96%
‘วิษณุ’ ไม่ออกกฎคุมรายการลามก
‘กทม.’ ยันทิ้งกระดาษชำระลงถังไม่แพร่เชื้อ
‘ลิปปนนท์’ เผยผลงานธนาคารสมอง





ข่าวการศึกษา


องค์การครูหนุนตั้งหน่วยงานอำเภอ ‘สิริกร’ ค้านจ้างงบฯ ต่อ ‘เน็ต’ แล้ว

นายบุญรัตน์ สมคเณ ประธานชมรมผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กรณีนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบให้สำนักพัฒนากฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งหน่วยงานระดับอำเภอ ทั้งนี้ เพื่อลดความลำบากในการติดต่อประสานงานระหว่างสถานศึกษากับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบางเขต ที่ตั้งอยู่ห่างไกลกันว่า องค์กรครูสนับสนุนแนวคิดนายปองพลดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้มีปัญหาโรงเรียนบางแห่งตั้งห่างไกลจากสำนักงานเขตพื้นที่ถึง 200 กิโลเมตร ก่อให้เกิดปัญหาครูไม่อาจไปรับหนังสือที่สำนักงานเขตพื้นที่ด้วยตัวเองทุกวันได้ เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณในการเดินทางและเสียเวลา จึงเกิดอาชีพมือปืนรับจ้างไปรับหนังสือแทนเพื่อนครูที่สำนักงานเขต โดยรับค่าตอบแทนเดือนละ 200-300 บาทต่อคน ด้านนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า จะหารือกับนายปองพลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะยังไม่ทราบแนวคิดของนายปองพล แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งงบประมาณไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ เพื่อติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแล้ว ซึ่งเวลานี้ในบางเขตพื้นที่อาจยังไม่ได้ติดตั้ง จึงอาจมีปัญหาขลุกขลักในการติดต่อประสานงานกันบ้าง (มติชน จันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 หน้า 20)





อนุบาลยะลานำร่องแก้โรคอ้วน

นายสัญญากล่าวว่า จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ร.ร.ในเขตเทศบาลที่เป็นชุมชนเมืองเด็กในวัยเรียนเป็นโรคอ้วนถึง ร้อยละ 14 และที่ ร.ร.อนุบาลยะลา มีอัตราเด็กเป็นอ้วนถึงร้อยละ 13 การเป็นโรคอ้วนจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ส่งผลกระทบต่อการเรียน จึงได้จัดโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกินเกณฑ์ขึ้นด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจแก่บุคลากร ผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กนักเรียนเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ปลูกฝังให้เด็กและผู้ปกครองเห็นถึงโทษการรับประทานอาหารที่มากเกินความต้องการ ส่งเสริมการออกกำลังกายให้มีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตราฐานของกรมอนามัย ผู้อำนวยการ ร.ร.อนุบาลยะลา กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการทางการ ร.ร.ได้ร่วมกับนักโภชนาการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ตรวจชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง นักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์และต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อแนะนำควบคุมดูแลด้านอาหารกลางวันตามหลักโภชนาการ ส่งเสริมให้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วันจากการดำเนินการระยะหนึ่งทำให้ปัญหาเด็กอ้วนได้ลดลงไปแล้วในระดับหนึ่ง และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป (มติชน จันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 หน้า 21)





พะเยาเขต1กำชับครูคุมเด็กกลุ่มเสี่ยง!

นายสาคร บัวศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) พะเยา เขต 1 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดของสถานศึกษาในปัจจุบัน ทางเขต 1 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มาก จึงได้ให้สถานศึกษาในสังกัดสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยให้พิจารณาพฤติกรรมของนักเรียน ดังนี้ 1.สมาชิกในครอบครัวใช้ยา หรือ ค้ายา 2.คบเพื่อนกลุ่มที่ใช้ยา หรือใช้ยา 3.ต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้น 4.ไม่สนใจสุขภาพและความสะอาดของตนเอง 5.แยกตัวไม่ร่วม กิจกรรม ขาดเรียนบ่อย 6.ซึมกระสับกระส่าย หงุดหงิด ก้าวร้าว และ 7.ง่วงเหงาหลับในห้องเรียนบ่อย นายสาครกล่าวต่อว่า เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างถาวร จึงให้ครูทุกคนดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการเรียนและความประพฤติส่วนตัว ในสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน และให้ครูประจำชั้นเป็นผู้คัดกรองเพื่อจำแนกผู้เสี่ยง ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้า พร้อมกับจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขที่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้เสพและผู้ติดต้องจัดการบำบัดและผู้ค้าต้องได้รับการเฝ้าระวังเป็นรายบุคคลครูประจำชั้นต้องต้องรู้จักนักเรียนทุกคนในห้องรู้ว่าแต่ละคนมีความถนัด สนใจ ในเรื่องใด สิ่งที่ครูไม่ควรทำ คือตำหนินักเรียนต่อหน้าเพื่อนและเลือกปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างลำเอียง โดยเฉพาะต่อนักเรียนที่เรียนอ่อนและบุคลิก ลักษณะไม่ดีตอกย้ำปมด้อยและทอดทิ้งนักเรียน ที่เสพหรือติดยา (มติชน อังคารที่ 2 กันยายน 2546 หน้า 21)





10ร.ร.ได้รับกองทุนยุวเกษตรกรซินเจนทา

“กองทุนยุวเกษตรซินเจนทา” เมื่อปี 2545 ที่ผ่านมา มี ร.ร.ที่ได้รับการคัดเลือกและได้เงินสนับสนุน 30 แห่ง และผ่านการประเมินผลเข้ารับเงินอุดหนุนจากกองทุนในปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่ 2 จำนวน 20 แห่งและเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน จึงได้คัดเลือก ร.ร.ที่สมควรได้รับเงินสนับสนุนเป็นปีแรก จำนวน 10 แห่ง สำหรับ 10 ร.ร.ใหม่ที่ได้รับพิจารณารับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนยุวเกษตรกรซินเจนทา” คือ ร.ร.ฝางชนูปถัมภ์, ร.ร.วังสำโรงวังหน้า, ร.ร.หล่มเก่าพิทยาคม, ร.ร.ลาดทิพรสพิทยาคม, ร.ร.ม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา, ร.ร.นาด้วงวิทยา, ร.ร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์, ร.ร.เทพา ซึ่ง ร.ร.สถาพรวิทยา, ร.ร.ท่าเกษมวิทยา, ร.ร.เหล่านี้จะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนจำนวน 50,000 บาท เมื่อครบ 1 ปี มีผลงานดีเด่นก็จะได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนต่อในปีที่ 2 ต่อไป (มติชน อังคารที่ 2 กันยายน 2546 หน้า 21)





มหาวิทยาลัยโวยUniNetไม่เวิร์ก

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาหรือ UniNet ว่า เครือข่าย UniNet ไม่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะใช้ในการเรียนการสอนทางไกล หรือการสืบค้นข้อมูลทำการวิจัย เพราะมีปัญหาเครือข่ายล่มเป็นประจำ และกว่าจะแก้ไขได้ต้องใช้เวลานาน จนอาจารย์ที่สอนผ่านทางไกลบอกว่า เดินไปสอนเองยังดีกว่า เพราะแม้ในช่วงเวลาที่ระบบใช้งานได้ แต่การติดต่อก็ตะกุกตะกักตลอด ซึ่งปัญหานี้ในระดับนโยบายคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น่าจะเข้ามาดูแลด้วยตัวเอง โดยควรสั่งการให้ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพราะขณะนี้นอกจากมหาวิทยาลัยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กับ UniNet ปีละหลายล้านบาทแล้ว ยังต้องไปจ่ายค่าเช่าเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของเอกชนอีกหลายล้านบาทด้วยเพราะเครือข่าย UniNet ไม่เวิร์ก ด้าน ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวว่า เครือข่าย UniNet ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ได้เชื่อมโยงเครือข่ายไปยังมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน รัฐสภา กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานต่างๆ ร่วมทั้งเชื่อมเครือข่ายออกนอกประเทศไปยังมหาวิทยาลัยทั่วโลก เพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลในการทำวิจัย ซึ่งเท่าที่ทราบได้รับคำชมแต่เมื่อมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยระบุว่าเครือข่าย UniNet ไม่เวิร์ก ก็ขอให้แจ้งมาที่ สกอ. หากพบว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง จะไม่ปล่อยไว้ (มติชน พุธที่ 3 กันยายน 2546 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


นักฟิสิกส์ประดิษฐ์อุปกรณ์ดักแมลงใช้วิธีเทียบเสียง

นายภูวิศ อมาตยกุล นักเรียนมัธยม 6 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยถึงโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “ระบบตรวจรู้ชนิดแมลง” ว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนาระบบตรวจรู้ชนิดแมลง โดยใช้หลักการเทียบเคียงรูปแบบเสียง ทั้งนี้จากการทดลองพบว่าสัญญาณจากแมลงตัวอย่างอยู่ในรูปแอมพลิจูดกับความถี่มีลักษณะของแต่ละชนิด ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเทียบเคียงได้ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาค่าสถิติ และนำไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของแมลงที่ทราบชนิด และทำการหาค่าทางสถิติอย่างเดียวกันไว้ ระบบจะเลือกชนิดของแมลงที่มีค่าทางสถิติใกล้เคียงกับแมลงตัวอย่างมากที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 หน้า 7)





สวทช. จับมือเอกชนผลิตก๊าซจากขี้หมูประหยัดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ ปีละกว่า 6 ล้านบาท

สวทช. ร่วมมือภาคเอกชนสร้างมูลค่าจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู โดยระบบบำบัดที่สามารถนำแก๊ซชีวภาพที่เคยปล่อยทิ้งไปมาใช้ในฟาร์มได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยนำไปต้มน้ำเพื่อใช้ในฟาร์มแทนน้ำมันเตาที่เคยซื้อปีละ 3 ล้านบาท และผลิตกระแสไฟฟ้าที่ช่วยลดค่าไฟฟ้ากว่า 3 ล้านบาทต่อปี เผยเตรียมผลิตปุ๋ยจากขี้หมูขายอีกด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 6 กันยายน 2546 หน้า 30)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบ ‘ทีจีเอฟอาร์บี1-6เอ’ ยีนต้นตอมะเร็ง

ดร.เวอร์จิเนีย คาคลามานิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยา จากโรงพยาบาลนอร์ทเวสเทิร์น เมโมเรียล ในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาการค้นพบยีนตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “ทีจีเอฟอาร์บี1-6เอ” ซึ่งทีมงานเชื่อว่า หากกลายพันธุ์ไปแล้วจะเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าปกติ โดยยีนนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้กลายไปเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้มากถึง 50% และเสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกกว่า 38% นอกจากนี้ทีมงานยังพบว่ายีนตัวนี้มักพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งประมาณ 15%-16% ขณะที่คนทั่วไป จะมียีนตัวนี้อยู่ประมาณร้อยละ 10 หรือ 10 คนจะมียีนตัวนี้อยู่ประมาณ 1 คน ส่วนคนที่มียีนแบบนี้ 2 ตัวจะมีความเสี่ยงเพิ่มจากเดิมอีกเท่าตัวหนึ่ง ยีนทีจีเอฟอาร์บี1-6เอ มักพบในกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 7% มะเร็งรังไข่ 11% และมะเร็งลำไส้ 5.5% (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 หน้า 7)





ไบโอเทคจับมือกรมวิชาการเกษตรพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร พัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศที่จะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความสามารถที่เข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน คุณหญิงประไพศรี พิทักษ์ไพรวัน รองอธิการบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าหน่วยงานทั้ง 2 มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยเฉพาะด้านพืชที่เหมือนกันและทั้ง 2 หน่วยงานมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ การที่หน่วยงานทั้ง 2 ได้มาปฏิบัติงานร่วมกันจะทำให้เกิดงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและประเทศชาติ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 6 กันยายน 2546 หน้า 30)





ข่าวทั่วไป


มาลีฯคิดค้นเครื่องดื่มสุขภาพสูตรใหม่

นายบรรจง จิตต์แจ้ง ประธานกรรมการบริษัท มาลี สามพราน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ “น้ำนมข้าวโพด ยูเอชที” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ประจำปี 2546 จากโครงการประกวดนวัตกรรมแห่งประเทศไทยจัดขึ้นโดยเดอะเนชั่นและเอคเซนเชอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและบริการทางเทคโนโลยี “เราจึงกลับมาทำวิจัยและพัฒนาขึ้นภายในองค์กร เพื่อค้นหาคำตอบที่ต้องการด้วยตัวเอง โดยสามารถขยายวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์จาก 10 วันเป็น 9 เดือน แต่ปัญหาที่พบระหว่างทำวิจัยคือ กำลังผลิตของเครื่องจักรในโรงงานสูงถึง 7,500 ลิตร/ชั่วโมง ขณะที่การวิจัยต้องการผลิตเพื่อทดสอบในระดับเพียง 100 ลิตร เราจึงมีปัญหาเรื่องเครื่องจักรแต่ก็สามารถจัดการได้” นายบรรจงกล่าว ในปัจจุบันเครื่องดื่มน้ำนมข้าวโพดได้รับการพัฒนาให้มี 4 สูตร ได้แก่ สูตร low sugar สูตรผสมชาเขียว สูตรผสมนมสด และสูตรรสชาติดั่งเดิม โดย 3 สูตรแรกวางขายในตลาดได้ประมาณ 4-8 สัปดาห์ คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 หน้า 7)





มะเร็งเต้านม โอกาสหาย 96%

มะเร็งเต้านมเป็นโรคอันตรายอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิง และมีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ในระยะหลัง กระทรวงสาธารณสุขจึงรณรงค์ให้ผู้หญิงตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเองซึ่งควรจะต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือน เพราะการเจอโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นจะทำให้มีโอกาสหายมากขึ้น สำหรับวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมนั้น ร.ศ.น.พ.กฤษณ์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายได้ถ้าตรวจพบและรักษาตั้งแต่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก วิธีที่จะตรวจหามะเร็งเต้านมที่แน่นอนที่สุดในตอนนี้ คือ การตรวจแบบเมมโมแกรม ที่ศูนย์มะเร็ง รพ.กรุงเทพ การตรวจแบบนี้เริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยการทำเมมโมแกรม คือการเอกซเรย์ชนิดพิเศษ ที่มีความเข้มของรังสีต่ำ สามารถตรวจหาเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งที่มีขนาดตั้งแต่ 0.05 มม. ได้ ผลการตรวจนั้นแม่นยำถึง 90% นอกจากการตรวจโดยเครื่องเมมโมแกรมแล้ว ก็ยังสามารถตรวจหามะเร็งได้โดยการคลำเต้านมด้วยตนเองซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน ในสตรีที่ตรวจพบว่า เป็นมะเร็งเต้านม การรักษามีอยู่ 4 วิธี คือ การผ่าตัดการฉายแสง การให้ฮอร์โมน และการให้สารเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นรายๆ ไป “ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 85% มีโอกาสอยู่รอดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 ปี หากมะเร็งไม่ลุกลามจากเต้านมไปที่อวัยวะอื่นๆ ก็มีโอกาสสูงมากถึง 96% โรคมะเร็งทุกชนิดหากตรวจพบเร็วเท่าไร และเป็นน้อยเท่าไรในตอนที่ตรวจพบ เมื่อได้รับการรักษาแล้ว โอกาสหายก็จะมากขึ้น” ร.ศ.น.พ.กฤษณ์ กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 หน้า 15)





‘วิษณุ’ ไม่ออกกฎคุมรายการลามก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน ถึงความคืบหน้าในการจัดระเบียบการเสนอภาพลามกอนาจารและภาพที่มีความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ว่า ได้ทำไปแล้ว 2 ระดับ โดยนายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องแล้วเพื่อขอความร่วมมือ โดยพยายามจะไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย และได้ตกลงว่าจะไม่ร่างกฎระเบียบขึ้นใหม่ เพราะมีกฎกระทรวงกำกับอยู่แล้วว่าสื่อต่างๆ จะต้องไม่เสนอภาพลามก อนาจาร หรือมีความรุนแรง เหยียบย่ำซ้ำเติมความทุกข์คนอื่น ถ้ามีการละเมิด สถานีนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ นายวิษณุกล่าวถึงที่มีการแบนเพลงที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมว่า เรื่องยังมาไม่ถึง เท่าที่ทราบไม่ใช่ว่าการแบน แต่เป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งก็มีเพียง 2 เพลง ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเพียงการยกขึ้นมาเทียบเคียง นายวิษณุกล่าวถึงกรณีทีสถานีโทรทัศน์ไททีวี ลักลอบแพร่ภาพไปยังสถานีต่งจังหวัดและขายโฆษณาโดยไม่ขออนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ว่า นายปราโมช รัฐวินิจ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แจ้งว่า จะมาอธิบายให้ทราบ เรื่องนี้ตนไม่มีนโยบาย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กกช.) และต้องไปถามนายปราโมช (มติชน อังคารที่ 2 กันยายน 2546 หน้า 5)





‘กทม.’ ยันทิ้งกระดาษชำระลงถังไม่แพร่เชื้อ

นายธีระชัย เธียรสรรชัย รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด (สนร.) กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เท่าที่ตรวจสอบ ยังไม่พบว่าการทิ้งกระดาษชำระที่ใช้ตามห้องน้ำลงในถังขยะ เป็นปัญหาที่ต้องวิตกมากมายขนาดนั้น เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ ส่วนใหญ่ยังคงทิ้งกระดาษชำระลงในถังขยะในห้องน้ำตามที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ก็ตาม เชื่อว่าเชื้อโรคคงไม่แพร่กระจายจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งการทิ้งกระดาษชำระใช้แล้วลงในถังชักโครกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทิ้งในถังก็ได้ แต่เนื่องจากมีห้องน้ำหลายแห่งติดประกาศห้ามทิ้งกระดาษลงในถังชักโครก แต่ให้ทิ้งลงในถังขยะแทน เพราะจะทำให้ง่ายต่อการเก็บทำความสะอาด จากการสำรวจพบว่าปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นห้องน้ำผู้หญิงเพราะถังขยะที่เตรียมให้มีไว้สำหรับทิ้งผ้าอนามัยมากกว่าเพราะถ้าทิ้งผ้าอนามัยลงในชักโครกจะทำให้ท่ออุดตัน (มติชน อังคารที่ 2 กันยายน 2546 หน้า 18)





‘ลิปปนนท์’ เผยผลงานธนาคารสมอง

นายลิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า เพื่อให้ธนาคารสมองเป็นศูนย์รวมข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ อย่างเป็นระบบและสามารถเรียกข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ธนาคารสมองได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลของวุฒิอาสาโดยแยกตามประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในสาขาพัฒนาต่างๆ และจำแนกตามภูมิลำเนาของวุฒิอาสาในแต่ละภูมิภาคและเผยแพร่ในเว็บไซต์ (www.nesdb.go.th) เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ใช้ประโยชน์ในการขอความช่วยเหลือต่อไป (มติชน อังคารที่ 2 กันยายน 2546 หน้า 21)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215