หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 34 ประจำวันที่ 2003-09-16

ข่าวการศึกษา

5มหา’ ลัยดันหลักสูตร JGSEE สร้างดร.ด้านสิ่งแวดล้อม
ศธ. เตรียมจัดสอบระดับชาติ 4 ช่วงชั้น
ปรับข้อสอบ
มก.รับนิสิตโควตานักกีฬา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

รู้จักแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติเจ๋งจริงจากสว่างแดนดิน
ค้นหามนุษย์ใต้ตึกถล่ม
ประดิษฐ์เครื่องออกกำลังคนเกียจค้าน ยืนเฉยๆ ก็ได้ผลเท่ากับกระโดดโลดเต้น
ประดิษฐ์เครื่องดับเสียงนอนกรน ใช้เสริมเพดานปากให้แข็งแรงขึ้น

ข่าววิจัย/พัฒนา

นิสิตแพทย์จุฬาฯคว้าแชมป์เอเชียวิจัยเชื้อไข้เลือดออกในยุงลาย
ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยของไทย
แชมพูสูตร ‘ข้าวเจ้าหอมนิล’






ข่าวการศึกษา


5มหา’ ลัยดันหลักสูตร JGSEE สร้างดร.ด้านสิ่งแวดล้อม

การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมทั้งในภาครัฐและเอกชน ณ วันนี้ 5 สถาบันอุดมศึกษาไทย คือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ม.เชียงใหม่, ม.สงขลานครินทร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดหลักสูตร JGSEE ขึ้นโดยดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการ JGSEE ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรหลังปริญญาตรี “บัณฑิตวิทยาลัยร่วม ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” หรือ (The Joint Graduate School of Energy and Environment) ที่เน้นการวิจัยเพื่อสร้างคนที่สามารถเข้าไปดูแลเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เป็นอย่างดีสำหรับผู้ที่สนใจในหลักสูตรดังกล่าวสามารถศึกษารายละเอียดและรับใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.jgsee.kmutt.ac.th ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป (สยามรัฐ จันทร์ที่ 8 กันยายน 2546 หน้า 7)





ศธ. เตรียมจัดสอบระดับชาติ 4 ช่วงชั้น

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่จะมีการใช้ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ แอดมิชชั่นส์ ในปี 2549 นั้น คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งมี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธาน คงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดรายละเอียดเพราะขณะนี้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเข้าคณะรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานเพื่อเร่งดำเนินงานภายในตุลาคมนี้ เพื่อเตรียมข้อทดสอบเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีต่อไป โดยจะตั้งสำนักงานให้ทำหน้าที่นี้ชั่วคราวภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเร่งดำเนินการจัดสอบข้อสอบระดับชาติ เพื่อประเมินมาตรฐานชาติ (National Test) ของ ม.6 ซึ่งจะมีทั้งการสอบในวิชาหลัก และการสอบวิชาเฉพาะเพื่อสนองความจำเป็นของมหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้มีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าในปีการศึกษานี้จะใช้ข้อสอบที่กรมวิชาการ(เดิม) เตรียมไว้ ซึ่งจะเริ่มทดสอบ ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 ในเดือน พฤศจิกายน (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2546 หน้า 15)





ปรับข้อสอบ

ศ.ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยถึงระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ว่า ตนได้ประชุมร่วมกับกรรมการผู้ออกข้อสอบในทุกมหาวิทยาลัย ให้ลดการออกข้อสอบเชิงวัดการท่องจำให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย แล้วให้ไปเน้นข้อสอบที่วัดเชิงความเข้าใจการวัดความสามารถในการประยุกต์ วัดความสามารถในการวิเคราะห์ วัดความสามารถในการเปรียบเทียบและวัดความสามารถในการเสนอแนะเชิงนวัตกรรม ซึ่งได้เริ่มทดลองข้อสอบลักษณะนี้ในช่วงการสอบวัดความรู้ 3 ครั้งหลัง ของการสอบเอ็นทรานซ์ในปัจจุบัน แต่ก็จะเน้นมากขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 ส่วนกรณีที่มีนักเรียนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการออกข้อสอบเอ็นทรานซ์มีความยาก ออกนอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียนชั้น ม.ปลายนั้น ยืนยันว่าข้อสอบที่ออกอยู่ในหลักสูตรชั้น ม.ปลาย เพียงแต่ช่วงการสอบวัดความรู้ 3 ครั้งหลัง ได้เปลี่ยนจากการวัดท่องจำดังกล่าวจึงทำให้เด็กอาจมองว่ายาก (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2546 หน้า 15)





มก.รับนิสิตโควตานักกีฬา

รศ.ดร. วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2547 มก.จะเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถทางกีฬาดีเด่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีใน มก. โดยวิธีพิเศษ จำนวน 152 คน ใน 15 คณะ ได้แก่ คณะเกษตร (บางเขน) 6 คน, บริหารธุรกิจ 15 คน, ประมง 4 คน, มนุษยศาสตร์ 9 คน, วนศาสตร์ 6 คน, วิทยาศาสตร์ (ประเภทวิทยาศาสตร์) 5 คน, วิศวกรรมศาสตร์ (บางเขน) 10 คน, ศึกษาศาสตร์ 57 คน, เศรษฐศาสตร์ 6 คน, สังคมศาสตร์ 14 คน, สัตวแพทย์ศาสตร์ 2 คน, อุตสาหกรรมเกษตร 5 คน, ศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (กำแพงแสน) 6 คน, เกษตร (กำแพงแสน) 3 คน และวิศวกรรมศาสตร์ (กำแพงแสน) 4 คน ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย จบ ม.ปลาย หรือเทียบเท่า หรือกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.6 มีความสามารถทางกีฬาดีเด่นในระดับหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ผู้สนใจซื้อใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. เป็นต้นไป และยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานและชำระเงินค่าสมัครได้ที่กองกิจการนิสิต มก.บางเขน ถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2942-8304-6 หรือที่ www.sa.ku.ac.th. (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


รู้จักแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติเจ๋งจริงจากสว่างแดนดิน

“หุ่นยนต์นายฮ้อยทมิฬ” ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ม้ามืดที่ล้มแชมป์เก่าจากเวียดนาม จนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันหุ่นยนต์ตะกร้อพิชิตบ่วงจักรวาล หรือการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ROBOCON 2003 ระดับนานาชาติ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ โดยการสนับสนุนของสหภาพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) “หุ่นยนต์นายฮ้อยทมิฬ” ถูกสร้างขึ้นจากฝีมือของนักศึกษาแผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์วิทยาลัยสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ประกอบด้วย สุรศักดิ์ ผ่านชมภู, ปิยะมิตร แสงชาติ, ธีระพงษ์ ชาติชำนิ, วีระวุฒิ คล่องแคล่ว, องค์อาจ ปานเดชา และเอกพจน์ มณีเทพโดยมีอาจารย์สาโรช กล่ำมอญ อาจารย์วิจิต แก้วดี และอาจารย์สุรัตน์ โคตรปัญญาเป็นที่ปรึกษา (สยามรัฐ จันทร์ที่ 8 กันยายน 2546 หน้า 7)





ค้นหามนุษย์ใต้ตึกถล่ม

นักประดิษฐ์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กคลานเข้าไปในซอกตึกได้แล้วสามารถระบุตำแหน่ง และพูดคุยกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายภายใต้ซากปรักหักพังที่ลึกๆ ลงไปได้ หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า โซยูริวได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดสำหรับหุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 เดือนนี้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2546 หน้า 16)





ประดิษฐ์เครื่องออกกำลังคนเกียจค้าน ยืนเฉยๆ ก็ได้ผลเท่ากับกระโดดโลดเต้น

บรรดาสโมสรสุขภาพและสถานฟิตเนสทั่วทั้งเกาะอังกฤษ กำลังรีบระดมติดตั้งเครื่องออกกำลังแบบใหม่ ที่ใช้หลักของความสั่นสะเทือนกันอย่างขนานใหญ่ เครื่องออกกำลังนี้มีชื่อว่า “เพาเวอร์ เพลต” ซึ่งทางผู้ผลิตได้อวดว่า เพียงแต่ใช้เวลาแค่ 12 นาที จะทำให้เท่ากับได้ออกกำลังอย่างหนักนานถึง 90 นาที โดยผู้ใช้เพียงแต่นั่นหรือยืนบนแผ่นโลหะ ซึ่งจะสั่นเขย่าด้วยความเร็วในอัตราหลายร้อยหนต่อนาที หรือจะทำท่าซิต-อัพ หรือท่าเหยียดยืดร่างกายต่างๆ ไปด้วยก็ได้ ผู้ที่เคยลองทำดูแล้ว ต่างพออกพอใจกันมาก ทางฝ่ายบริษัทผู้ผลิตแจ้งว่า เครื่องออกกำลังนี้ เหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลา ไม่อาจจะไปเข้าโรงยิมหรือสถานฟิตเนสได้ และเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ โดยอาศัยหลักการของนักวิทยาศาสตร์รัสเซียที่คิดออกแบบใช้กับมนุษย์อวกาศ เพื่อป้องกันกระดูกสูญเสียความแข็งแรง ระหว่างการเดินทางในอวกาศ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2546 หน้า 7)





ประดิษฐ์เครื่องดับเสียงนอนกรน ใช้เสริมเพดานปากให้แข็งแรงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเมนไฮมน์ ของเยอรมนีได้ออกแบบประดิษฐ์เครื่องดับเสียงกรน ทำด้วยเส้นใยโพลีเมอร์ รูปทรงกระบอก ในการทดลองใช้แก้ไขให้กับนักกรน 25 ราย โดยผ่าตัดสอดไว้ในเพดานปากที่อ่อนเปียก เพื่อเสริมให้มันแข็งแรงขึ้น ไม่ห้อยหย่อนยานง่าย ปรากฏว่าสามารถเห็นผลภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน เสียงกรนเมื่อเวลานอน จะค่อยเงียบลงและกรนน้อยลงไปด้วย (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นิสิตแพทย์จุฬาฯคว้าแชมป์เอเชียวิจัยเชื้อไข้เลือดออกในยุงลาย

สามนิสิต จากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 3 ประกอบด้วย สราเวช พงศ์รัตนามาน, รับพร ทักษิณวราจาร และพงศกร ตนาตะพงศ์ ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันโครงงานวิจัยของนิสิต นักศึกษาแพทย์ในเอเชีย จากผลงานการวิจัยตรวจหาเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในยุงลายในฤดูแล้ง ก่อนที่โรคไข้เลือดออกจะระบาด รวมทั้งใช้เป็นดัชนีชี้วัดเบื้องตนถึงปริมาณเชื้อไข้เลือดออกในยุง และการควบคุมก่อนที่ยุงลายจะแพร่เชื้อด้วย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 12 กันยายน 2546 หน้า 7)





ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยของไทย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ได้ริเริ่มการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยพืชหอม เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทยขึ้น โดยได้ทำการรวบรวมข้อมูลของพืชหอมที่ให้น้ำมันหอมระเหย ที่เน้นในการให้ประโยชน์ในทางยา อาหาร เครื่องสำอาง สุวคนธบำบัด สารฆ่าหรือไล่แมลง ซึ่งมีกว่า 100 ชนิด ในวงศ์ขิง วงศ์ส้ม วงศ์กะเพรา วงศ์ผักชี วงศ์พริกไทย วงศ์หนาด วงศ์บอน และดอกไม้หอมต่างๆ นอกจากนี้วว.ก็จะได้นำเอาข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทยนี้ไปเผยแพร่ในโครงการความร่วมมือพัฒนาการรักษาทางการแพทย์แผนโบราณระหว่างเอเชียและยุโรป ถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านการแพทย์ของไทยสู่ระดับนานาชาติ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 13 กันยายน 2546 หน้า 30)





แชมพูสูตร ‘ข้าวเจ้าหอมนิล’

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีภาพแห่งชาติ แปรรูปข้าวเจ้าหอมนิล ผลิตแชมพู ครีมนวดและสบู่ จากข้าวเจ้าหอมนิลที่อุดมด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามิน ที่ล้วนมีประโยชน์ต่อเส้นผม ขณะที่สารสีม่วงดำของเมล็ดข้าวมีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนสีผมจากหงอกขาวเป็นน้ำตาลเข้ม ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพของแชมพูและครีมนวดผม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 13 กันยายน 2546 หน้า 30)







KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215