หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 35 ประจำวันที่ 2003-09-23

ข่าวการศึกษา

เด็กเหม่อ-เรียนตกระวังโรคลมชัก
ครม.จัดงบ500ล.สนองพระราชดำริ ‘พระเทพฯ’

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

อินเทอร์เน็ต…กับความรู้สึกที่สัมผัสได้

ข่าววิจัย/พัฒนา

สายปัสสาวะฝีมือนักวิจัยไทย
นักวิจัยมก.ผลิตแผ่นชิ้นไม้จากเศษปาล์มสร้างมูลค่าช่วยชาวสวน

ข่าวทั่วไป

โลกของสิ่งมีชีวิตเรืองแสง





ข่าวการศึกษา


เด็กเหม่อ-เรียนตกระวังโรคลมชัก

น.พ.สมชาย โตวณะบุตร เลขาธิการสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ลมชักเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในไทย ปี 2534-2535 พบว่าประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 5 ปีที่เคยชักครั้งหนึ่งในชีวิต ประมาณ29.5/1000 ประชากร (ประมาณ 1.8 ล้านคน) และมีอาการชักอยู่ใน 2 ปีที่สำรวจ 5.9/1000 ประชากร (ประมาณ 3 แสนคน) โรคลมชักเป็นได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย โดยในแต่ละปีประมาณ 70% ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมดจะมีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออยู่ในช่วงเด็กจนถึงวัยรุ่น โดยมีอาการที่แตกต่างกัน เช่น หากเกิดการเกร็ง กระตุกทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน น้ำลายฟูมปากจะเรียกว่า “ลมบ้าหมู” ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคลมชักทั้งหมดในเมืองไทยประมาณ 50% จะมีอาการนี้ ระหว่างที่เกิดอาการชักผู้พบเห็นไม่จำเป็นต้องปฐมพยาบาลหรือพยายามจับให้นั่งหรือนำสิ่งใดไปงัดปากเพราะจะยิ่งเป็นอันตรายแต่ควรให้ผู้ป่วยนอนตะแครงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลักและลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจเนื่องจากสักครู่คนป่วยจะกลับคืนสู่ความเป็นปกติจากนั้นนำผู้ป่วยพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป (มติชน ศุกร์ที่ 19 กันยายน 2546 หน้า 18)





ครม.จัดงบ500ล.สนองพระราชดำริ ‘พระเทพฯ’

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมพิจารณากองทุนเฉลิมราชกุมารี ซึ่งมี น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เข้าร่วมประชุมนั้นทุนการศึกษาที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 13 สิงหาคม 2546 ที่ให้ตั้งกองทุนเฉลิมราชกุมารี ซึ่งเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีจำนวน 4,800 ทุน ปีละ 480 ทุน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปี การศึกษา 2546-2562 ในสายสามัญ สายอาชีพ ที่ประชุมเห็นชอบให้แบ่งเป็น 2 ระดับ ม.ปลายทุนละ 10,000 บาท ระดับอุดมศึกษาทุนละ 20,000 บาท จะได้รับทุนต่อเนื่อง 7 ปี คุณสมบัติของผู้จะรับทุนจะพิจารณาจากเด็กที่มีฐานะที่ยากจนและมีความประพฤติดี เด็กกำพร้าซึ่งมีผลการเรียนพอใช้ โดยคัดเลือกจากเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่เด็กเรียนต่อต่ำ โดยให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้พิจารณาเสนอเข้ามา ซึ่งนักเรียนที่จะรับทุนจะครอบคลุมนักเรียนโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน โรงเรียนปริยัติธรรมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่ากร ศธ. กล่าวอีกว่า น.พ.เกษม เสนอให้จัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ อย่างแท้จริง และเห็นว่ากองทุนนี้ควรจัดสรรให้กับนักเรียนโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนที่พระองค์ท่านได้คัดเลือกมาปีละ 250 คน ให้ได้รับทุนด้วย และควรจะให้เป็นกองทุนเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้พระสามเณรในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วยเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กบวชเรียนเพิ่มมากขึ้น (มติชน ศุกร์ที่ 19 กันยายน 2546 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


อินเทอร์เน็ต…กับความรู้สึกที่สัมผัสได้

มีผลงานชิ้นหนึ่งจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย Buffalo ในสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการส่งความรู้สึกจากการสัมผัสผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และด้วยเทคโนโลยีนี้ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลออกไปจะสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของเราในขณะสัมผัสกับวัสดุรูปทรงต่างๆ รวมไปถึงความแข็งหรือความอ่อนนุ่มราวกับว่าพวกเขาได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองจริงๆ sympathetic haptics คือชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกเทคโนโลยีนี้โดยคณะผู้วิจัย ซึ่งความหมายของมันก็คือการที่เราสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของคนอื่น แต่คงยังไม่ใช่ความรู้สึกประเภทดีใจเสียใจ เอาแค่ความรู้สึกถึงการสัมผัสความแข็งหรืออ่อนนุ่มก็นับว่าน่าทึ่งแล้ว (เดลินิวส์ พุธที่ 17 กันยายน 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สายปัสสาวะฝีมือนักวิจัยไทย

ในฐานะทีไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก คณะนักวิจัยนำทีมโดย ดร.อรสา ภัทรไพบูลย์ชัย อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์โพลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จึงหาทางเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรสวนยางพาราและลดภาระการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทีมงานวิจัยศึกษารูปแบบสายสวนปัสสาวะและสายน้ำเกลือ ซึ่งวงการแพทย์ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศถึง 100% และมีราคาค่อนข่างแพงเกินความเป็นจริงวันนี้สายสวนปัสสาวะและสายน้ำเกลิอ ซึ่งทำจากยางพาราธรรมชาติ 100% ทุกอย่างทุกขั้นตอนผลิตในเมืองไทยได้เสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขอจดสิทธิบัตร (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 15 กันยายน 2546 หน้า 16)





นักวิจัยมก.ผลิตแผ่นชิ้นไม้จากเศษปาล์มสร้างมูลค่าช่วยชาวสวน

ดร.นิคม แหลมศักดิ์ อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบเทคนิคการผลิตแผ่นไม้จากเศษไม้ทิ้งปาล์มน้ำมัน สามารถใช้ได้ทั้งใบ ก้าน ลำต้น ฯลฯ โดยไม่ต้องใช้กาวหรือน้ำในการประสานเนื้อไม้ เช่นวิธีการแบบเก่า ทำให้มีต้นทุนถูกกว่าวิธีเดิม 50% เป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้งจากการปลูก ปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐ์กิจที่สำคัญของชาวใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกันมากกว่า 50% ของประเทศ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 15 กันยายน 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


โลกของสิ่งมีชีวิตเรืองแสง

ความสามารถในการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เกิดจากปฏิกิริยาเคมีชนิดพิเศษที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ไบโอลูมิเนสเซนส์ (Bioluminescence) จากการที่สิ่งมีชีวิตสามารถสร้างโปรตีนชนิดพิเศษขึ้นมาเพื่อสร้างเอนไซม์ เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสารบางอย่างในเซลล์ได้ นักวิทยาศาสตร์ได้นำความรู้ในการเรืองแสงไปใช้ประโยชน์ในการวิจัย เช่น ศึกษาสิ่งมีชีวิตในสภาวะแวดล้อมต่างๆ ศึกษากลไกพื้นฐานหลายๆ อย่างในเซลล์ ประยุกต์ใช้ในการศึกษาทำยีนบำบัด (Gene therapy) ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติระหว่างวันที่ 24 ก.ย.-5 ต.ค.46 ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จะนำสิ่งมีชีวิตหลายรูปแบบซึ่งเรืองแสงได้ มาแสดงให้ชม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 กันยายน 2546 หน้า 30)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215