หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 37 ประจำวันที่ 2003-10-07

ข่าวการศึกษา

ศธ.ฟิตเดินเครื่องปรับปรุงหลักสูตรให้เสร็จก่อนปี 47

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

แก๊สพิษ มฤตยูร้าย ตรวจได้ไม่อยากอย่างที่คิด
สสวท.-มช.เปิดมิติใหม่การศึกษาจักรวาล “เครือข่ายสารสนเทศทางดาราศาสตร์”
ระบบแจ้งเตือนอุทกภัย
มะกันผุดมือถืออัจฉริยะทายอารมณ์เจ้าของ

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักวิจัยเตือนกทม. เสี่ยงแผ่นดินไหวพบรอยเลื่อน 14 จุด
ม.มหิดลวิจัย ‘พืชตระกูลพุด’ สยบเอดส์-มะเร็ง
วช.หนุนวิจัยมังคุดส่งออก
พบโมเลกุลแปลกปลอมในเนื้อแดง-นม

ข่าวทั่วไป

ครม.ไฟเขียวใช้ ‘นามสกุล’ เสรี
ม.หอการค้าชี้คนกรุงเทพเป็นโรคติดมือถือ
รพ.กล้วยน้ำไทยบริการพบหมอออนไลน์
พบรูปถ่ายล้ำค่าสมัย ร.4 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ‘เชก’





ข่าวการศึกษา


ศธ.ฟิตเดินเครื่องปรับปรุงหลักสูตรให้เสร็จก่อนปี 47

วานนี้ (1ต.ค.) คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารับงาน ว่า เรื่องการให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามหลักการของการปฏิรูปการศึกษาถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น การปรับปรุงหลักสูตร โดย สพฐ. คงต้องหารือกับทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพราะ สกศ.มีการทำวิจัยเรื่องนี้อยู่โดยต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนปีการศึกษา 2547 ส่วนนโยบายของนายกฯ ที่ประกาศเรื่องการศึกษาในมาตรฐานคนไทยนั้นขณะนี้ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น ก็ใกล้เคียงมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพราะอัตราการเรียนต่อค่อนข้างไปได้ จุดอ่อนของเราตอนนี้ คือ ม.ปลาย และยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะไห้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่าย 100% หรือ 50% แต่ทั้งนี้ จะมีการจัดทำระบบเพื่อให้รู้ว่าเด็กคนใดยากจน ขาดแคลนและนำระบบคูปองมาใช้กับเด็กยากจน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


แก๊สพิษ มฤตยูร้าย ตรวจได้ไม่อยากอย่างที่คิด

สถาบัน National Institute of Standards and Technology (NIST) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่จะช่วยในการตรวจจับบรรดาอาวุธเคมีอย่างเช่น ก๊าซพิษขึ้นมา โดยอาศัยการประมวลผลบนเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีตามบ้านธรรมดา ๆ แต่ประสิทธิภาพไม่ธรรมดา ด้วยเทคโนโลยี microheater ของ NIST ทำให้อุปกรณ์ที่ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจำนวน จำนวน 4 ตัวต่ออุปกรณ์ 1 ชิ้น สามารถตรวจจับแก๊สพิษต่างๆ ในส่วนที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจจับแก๊สพิษนั้นจะถูกเคลือบด้วยวัสดุจำพวก Metal Oxide ที่เราสามารถตั้งโปรแกรมให้ทำงานในช่วงอุณหภูมิต่างกันตามที่เราต้องการได้ (เดลินิวส์ พุธที่ 24 กันยายน 2546 หน้า 16)





สสวท.-มช.เปิดมิติใหม่การศึกษาจักรวาล “เครือข่ายสารสนเทศทางดาราศาสตร์”

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ “โครงการเครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน” เพื่อสร้างฐานข้อมูลความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยมี รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม คณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญของโครงการฯ สสวท.ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้าง “ศูนย์ศึกษาดาราศาสตร์ภาคเหนือ” “ปีหน้าเครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์ จะถ่ายทอดปรากฏการณ์สำคัญของโลก คือ ดาวศุกร์ จะโคจรผ่านดวงอาทิตย์สำคัญของโลก คือดาวศุกร์จะโคจรผ่านดวงอาทิตย์ ในวันที่ 8 มิ.ย.2546 ซึ่งในช่วงหนึ่งของคนเราจะเห็นได้เพียงครั้งเดียว” รศ.บุญรักษา กล่าว (สยามรัฐ จันทร์ที่ 29 กันยายน 2546 หน้า 7)





ระบบแจ้งเตือนอุทกภัย

“เครื่องวัดระดับน้ำ และแจ้งเตือนอุทกภัยพลังงานแสงอาทิตย์” ผลงานของนายไพรัช มีบุตรภักดี นักวิจัยอิสระ ออกแบบโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ สามารถติดตั้งได้ในเขตที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และใช้มือถือในการแจ้งเตือนระดับน้ำ ค่าวัสดุอุปกรณ์โดยประมาณ 6,000 บาท (เดลินิวส์ อังคารที่ 30 กันยายน 2546 หน้า 16)





มะกันผุดมือถืออัจฉริยะทายอารมณ์เจ้าของ

สำนักข่าวนิวซีแลนด์ เฮอรัลด์ รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ได้พัฒาต้นแบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ “เซนเซย์” (Sensay) โดยอาศัยเทคโนโลยี “คอนเท็กซ์อะแวร์” (context aware) ที่ช่วยให้มือถือสามารถควบคุมการรับสายได้ตามอารมณ์เจ้าของ พร้อมทั้งส่งข้อความแจ้งกลับไปยังผู้โทรเข้าอย่างสุภาพ เพื่อให้ติดต่อมาใหม่ในภายหลัง ทีมวิจัย เผยว่า อุปกรณ์ต้นแบบในช่วงแรก ประกอกด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เลขาส่วนบุคคล พร้อมทั้งสายรัดแขน และกล่องสำหรับสวมไว้ที่เข็มขัด โดยอุปกรณ์เสริมทั้งสองตัวจะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับไว้ภายในเพื่อช่วยเก็บบันทึกเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ของผู้ใช้ ขณะที่ทีมวิจัยประจำสถาบันคอมเพล็กซ์ เอนจิเนียริ่ง ซิสเตมส์ แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนอกี้ เมลลอน กำลังพัฒนาเครื่องตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง และอุณหภูมิร่างกาย เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถรับรู้ภาวะทางอารมณ์ของผู้ใช้ได้ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 1 ตุลาคม 2546 หน้า 5)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักวิจัยเตือนกทม. เสี่ยงแผ่นดินไหวพบรอยเลื่อน 14 จุด

ผศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ชี้กรุงเทพฯ ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว แต่พบการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรก็อาจสร้างความเสียหายให้กรุงเทพฯได้ โดยพบรอยเลื่อนสะแกง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผ่นดินไหวกระทบกรุงเทพฯ มากที่สุด และยังพบรอยเลื่อนมีพลังอีก 14 จุดที่อาจเคลื่อนตัวและเกิดแผ่นดินไหวได้ คือรอยเลื่อนบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี โดยนักวิจัยกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 26 กันยายน 2546 หน้า 13)





ม.มหิดลวิจัย ‘พืชตระกูลพุด’ สยบเอดส์-มะเร็ง

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดผลวิจัย “การพัฒนาสารต้านมะเร็งและเชื้อเอชไอวี จากพืชสมุนไพรในป่าเขตร้อน” ซึ่งศึกษาโดย ดร.วิชัย ริ้วตระกูล นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกับคณะ ซึ่งพบพืช 18 ชนิด มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และ 9 ชนิดสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อเอชไอวี โดยกลุ่มพืชที่มีสารบริสุทธิ์ต้านเอดส์และมะเร็งมากที่สุดคือพืชตระกูลดอกพุดมีมากในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ หลังจากนั้นได้สกัดสารบริสุทธ์และทดสอบกับเซลล์มะเร็งทั้งหมด 5 ชนิดได้แก่ เซลล์มะเร็งเยื่อบุปาก เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เซลล์มะเร็งปอด จำนวนทั้งหมด 477 ตัวอย่างและยังได้นำมาทดสอบกับเชื้อเอดส์ทั้งหมด 843 ตัวอย่าง จึงได้ค้นพบว่ามีพืชทั้งหมด 18 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งต้านมะเร็ง และ 9 ชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อเอดส์ อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยได้เลือกศึกษาวิจัยใจเชิงของพันธุ์ไม้ 4 ชนิด ได้แก่ Gardenia obtusifolia หรือพืชตระกูลพุด ส่วนอีก 3 ชนิดพันธุ์นั้นมีเพียงชื่อทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่มีชื่อไทยคือ Gardenia collinsae, Ventilago harmandiana , mallotus spodocarpus ซึ่งพบว่าทั้ง 4 ชนิดนั้นพืชตระกูลดอกพุดมีสารบริสุทธิ์ออกฤทธิ์ยับยั้งเอดส์และมะเร็งมากที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 1 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





วช.หนุนวิจัยมังคุดส่งออก

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช.มีแนวคิดให้ทุนอุดหนุนการวิจัยเกี่ยวกับผลไม้ส่งออก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลไม้ไทยให้ครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะมังคุด ลำไย และมะม่วงให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เบื้องต้น วช.จะพิจารณาหน่วยงานกลางที่จะเข้ามาดูแล รับผิดชอบในการวิจัยผลไม้ 3 ชนิดดังกล่าว เน้นให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่การผลิต จะกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยว โดยมุ่งการยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพผลไม้สด การบรรจุภัณฑ์ ขนส่ง รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





พบโมเลกุลแปลกปลอมในเนื้อแดง-นม

นักวิจัยสหรัฐพบโมเลกุลในเนื้อแดงและนมซึ่งเมื่อมนุษย์รับประทานเข้าไป มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นเนื้องอกได้ ตอกย้ำภัยเงียบจากการรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัว สารประกอบดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า กรดไซเอลิก พบอยู่บนผิวของเซลล์สัตว์ แต่ไม่พบในมนุษย์ และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมการเปลี่ยนถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ ถึงไม่ประสบผลสำเร็จโดยโมเลกุลที่พบในสัตว์คือ Neu5Gc ขณะที่ในมนุษย์คือ Neu5Ac โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก พบโมเลกุลของสัตว์เข้าไปในร่างกายมนุษย์จากการรับประทานเนื้อแดงและนม และยังพบด้วยว่า ร่างกายมนุษย์ผลิตภูมิคุ้มกันต่อต้านโมเลกุลตัวนี้ด้วย ในการทดลองวาร์กิ และทีมงานยังได้ทดลองดื่ม Neu5G สกัดจากหนูและพบโมเลกุลตัวนี้ในปัสสาวะ เลือด เส้นผม และน้ำลาย เพื่อทดสอบว่ามีความเกี่ยวโยงกันระหว่างโมเลกุล Neu5Gc และ/หรือภูมิคุ้มกันต่อต้าน Neu5Gc กับโรคต่างๆ หรือไม่แต่การทดลองดังกล่าวยังจำเป็นต้องใช้กลุ่มตัวอย่างในจำนวนมาก วาร์กิ กล่าวย้ำว่า โมเลกุลชนิดนี้แทบจะไม่ก่อให้เกิดพิษกับร่างกายมนุษย์โดยทันทีเพราะมนุษย์รับประทานเนื้อกันมาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว “ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์ได้พัฒนาความทนทานต่อโมเลกุลชนิดนี้ หรือไม่รู้สึกผิดปกติกับ Neu5Gc ซึ่งความเสียหายจะปรากฏขึ้นเมื่อมีการสะสมเป็นเวลาหลายปีพอมนุษย์มีอายุขัยยาวนานขึ้นร่างกายจึงแสดงอาการออกมาให้เห็น” (กรุงเทพธุริกิจ พฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ครม.ไฟเขียวใช้ ‘นามสกุล’ เสรี

เมื่อวันที่ 30 กันยายน น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ชื่อบุคคล ฉบับที่ พ.ศ.ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอโดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดชื่อรองต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คลายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือพระราชทินนาม และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่กรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุตรใช้ชื่อสกุลของมารดาเป็นชื่อตรง น.ส.ศันสนีย์กล่าวว่า คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกันให้ต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลของตน เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสให้คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมก่อน หากเป็นการตายให้ใช้ชื่อสกุลเดิมจนกว่าคู่สมรสจะแต่งงานใหม่ (มติชน พุธที่ 1 ตุลาคม 2546 หน้า 14)





ม.หอการค้าชี้คนกรุงเทพเป็นโรคติดมือถือ

วานนี้ (1 ต.ค.) ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “นโยบาย นอน-วอยซ์ เซอรวิส : ผู้บริโภคคิดอย่างไร” โดยเผยผลวิจัยเรื่องพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ที่สำรวจเมื่อเดือนกันยายนทีผ่านมา ใน 4 กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนระดับมัธยมศึกษา , นักศึกษาระดับปริญญาตรีและผู้ประกอบอาชีพระหว่าง 1-5 ปี และมากกว่า 5 ปีขึ้นไป จำนวน 1,809 คน ปรากฏว่า 84.63% เห็นว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน เพราะใช้ในการสื่อสารทั้งเรื่องส่วนตัวและการติดต่อธุรกิจ โดย 54.72% ใช้งานทั้งโทรออกและรับสายในครอบครัวและคู่รักตามลำดับยกเว้นกลุ่มที่ประกอบอาชีพมากกว่า 5 ปีขึ้นไปนิยมติดต่อบุคคลในครอบครัว การวิจัยระบุด้วยว่า นอกจากการใช้แอพพลิเคชั่นไร้สายแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังถูกใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมืออื่นๆ มากขึ้น เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับเล่นเกม 54.49% อันดับรองลงมา คือ ใช้เป็นกล้องถ่ายภาพ, ฟังวิทยุหรือฟังเพลง และเป็นเลขาอิเล็กทรอนิกส์ (ออแกไนเซอร์) เก็บข้อมูลส่วนตัวในสัดส่วน 14.85%, 14.64% และ 14.21% ตามลำดับ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2546 หน้า 3)





รพ.กล้วยน้ำไทยบริการพบหมอออนไลน์

นายศาสนัย ชเนศร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เปิดเผยว่า สหคลินิก กล้วยน้ำไทยได้นำระบบ “ประชุมแพทย์ออนไลน์” หรือ “เมดิคอล เทเล-คอมดเฟอเรนซ์” (Medical TeleConter-ence) เข้ามาให้บริการผู้ป่วยประจำคลินิกในเครือทั้ง 12 แหงทั่วกรุงเทพฯ โดยแพทย์ประจำคลินิกสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลแม่ได้ตลอดเวลาทำการ แพทย์จะสื่อสารกันผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยประวัติผู้ป่วยทั้งหมดจะสามารถเรียกจากศูนย์กลางมาแสดงบนจอภาพคอมพิวเตอร์ประจำคลินิกการเชื่อมต่อข้อมูลและการประชุมภาพวีดีโอทางไกลเป็นการเชื่อมต่อภายใต้เครือข่ายแวน (Wide Area Network : WAN) ผ่านโครงข่ายไอเอสดีเอ็น (ISDN) จากบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เทเลคอมเอเซีย จำกัด (มหาชน) โดยหากโครงข่ายใดล่มก็จะดึงอีกโครงข่ายขึ้นมาใช้งานแทนในทันที สำหรับอัตราความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลนั้น จะอยู่ระดับ 128 กิโลบิตต่อวินาที รองรับการใช้ระบบประชุมทางไกลได้ทั้งสิ้น 32 คู่สาย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





พบรูปถ่ายล้ำค่าสมัย ร.4 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ‘เชก’

สถานฑูตไทยประจำสาธารณรัฐเชก ได้แจ้งมายังกระทรวงวัฒนธรรมว่าพบภาพโบราณ 150 ภาพ ถ่ายสมัย ร.4-ร.5 วางแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสาธารณรัฐเชก เชื่อเป็นฝีมือช่างภาพชาวเชกที่เข้ามาเที่ยวตระเวนถ่ายในเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมไปพิสูจน์ หากพบเป็นของแท้ เตรียมเจรจานำกลับไทย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2546 หน้า 1,11)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215