หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 39 ประจำวันที่ 2003-10-28

ข่าวการศึกษา

มทส.เปิดโควตา ม.6 ทั่วประเทศ 1,590 คน เรียนวิทย์/เทคโนโลยี
เผยผลวิจัยปัญหาการทำวิทยานิพนธ์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ใชกับมือถือ
Electronie Home ผีมือเด็กเมืองจันท์

ข่าววิจัย/พัฒนา

วช.ทุ่มงบวิจัยกล้วยไม้หวังแข่งตลาดโลก
นักวิจัย มก. โชว์ชุดคิตคล่องสมองกล วิทยาการเพื่อการเรียนรู้

ข่าวทั่วไป

Sun Block…กันแดด กันดำ แต่ไม่กันมะเร็ง
ไอซีที- ก.วิทย์ ดันโครงการใหญ่ในเอเปค





ข่าวการศึกษา


มทส.เปิดโควตา ม.6 ทั่วประเทศ 1,590 คน เรียนวิทย์/เทคโนโลยี

ผศ.ดร.ทวี เลิศปัญญาวิทย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2547 มทส. จะเปิดรับนักศึกษาโดยวิธีการให้โควตาแก่นักเรียน ม.6 ทั่วประเทศ เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาโดยไม่ต้องสอบข้อเขียนถึงร้อยละ 80 ของจำนวนที่รับทั้งหมด ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักเพื่อให้นักศึกษาที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีทางเลือกและเป็นการลดความกังวลของผู้ปกครองในการจัดหาที่เรียนให้บุตรหลาน (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





เผยผลวิจัยปัญหาการทำวิทยานิพนธ์

น.ส.สาคร บุญดาว นักศึกษาสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “การศึกษาปัญหาในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทในระบบการศึกษาทางไกล” โดยสำรวจจากการส่งแบบสอบถามนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มสธ. ปีการศึกษา 2536, 2538 และ 2540 ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว และนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์หรือหยุดเรียนกลางคันระหว่างทำวิทยานิพนธ์จำนวน 580 คน ผลวิจัยพบว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดในการทำวิทยานิพนธ์เรียงลำดับได้ดังนี้ การอ่านเอกสารภาษาอังกฤษและการเขียนบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษ รองลงมา คือการค้นหางานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง การยืมหนังสือจากสถาบันอื่นไม่สะดวก และการยืมหนังสือจากมหาวิทยาลัยยังมีข้อจำกัด การพัฒนาเครื่องมือการวิจัยที่ไม่ใช่แบบสอบถาม การเตรียมตัวสอบวิทยานิพนธ์ เงินทุนในการทำวิทยานิพนธ์ การส่งข่าวสารของมหาวิทยาลัยล่าช้า อาจารย์ที่ปรึกษาให้ปรับแก้วิทยานิพนธ์หลายรอบ และการเขียนอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ เป็นต้น (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2546 หน้า 23)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ใชกับมือถือ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัท เอส ที ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตชิปและสารกึ่งตัวนำรายใหญ่ของยุโรป เปิดเผยว่า ได้ค้นพบช่องทางใหม่ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูก โดยพลังงานที่ได้จะให้ประสิทธิภาพเหมือนกับการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ได้จากน้ำมันและก๊าซ รายงานข่าวระบุว่า การค้นพบช่องทางผลิตพลังงานใหม่จำเป็นต่อการพัฒนาชิป พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานเชื้อเพลิง ของ บ.เอสทีฯ มาก โดยในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนางานใหม่ที่ค้นพบให้สามารถใช้งานกับโทรศัพท์มือถือได้นานถึง 20 วัน (เดลินิวส์ วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





Electronie Home ผีมือเด็กเมืองจันท์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ ขึ้นในโอกาศครบรอบ 31 ปี และโครงงานที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ คือ โครงงาน Electronic Home ซึ่งเป็นผลงานของ ทิพวรรณ เหลืองรังษี และ ธัญมนภัทร์ บุตรวัฒนเศรษฐ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี โดยมีอาจารย์จิระศักดิ์ สุวรรณโณ เป็นที่ปรึกษาบ้านอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากแนวความคิดที่ต้องการลดภาระหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อแก้ปัญหาและนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้วงจรระบบอัตโนมัติทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่างๆ (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


วช.ทุ่มงบวิจัยกล้วยไม้หวังแข่งตลาดโลก

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีโครงการให้ทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไม้ดอกไม้ประดับ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกล้วยไม้ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอตลอดทั้งปี พร้อมกับพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ให้ทันความต้องการของตลาด ตลอดจนยกระดับให้ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยพืช เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนและปรับปรุงวิธีปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เช่นการยืดอายุการเก็บรักษาและการขนส่ง เพื่อช่วยลดการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจ และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2546 หน้า 12)





นักวิจัย มก. โชว์ชุดคิตคล่องสมองกล วิทยาการเพื่อการเรียนรู้

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการศึกษาและออกแบบระดับแนวคิดของกล่องชุดคิตคล่องสมองกลและอุปกรณ์เสริมเพื่อการเรียนรู้และความเพลิดเพลิน (Study and conceptual design of microcontroller boxes and interfacing units for edutainment) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยโครงงานทางคณิตศาสตร์, โครงงานคอมพิวเตอร์, โครงงานทางชีววิทยา และโครงงานฟิสิกส์ ชุดคิตสมองกลและอุปกรณ์เสริมดังกล่าวจะช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ผลที่ได้คือ เด็กๆ จะ “คิดเป็น ทำเป็น” และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเดิม (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


Sun Block…กันแดด กันดำ แต่ไม่กันมะเร็ง

จากผลการศึกษาของคณะแพทย์ชาวอังกฤษที่ทำการทดลองโดยการผ่านรังสี UVA ลงบนผิวหนังตัวอย่างที่ได้มาจากคนไข้ซึ่งระดับความเข้มข้นของรังสี UVA ที่ใช้ในการทดลองนั้นก็มีความใกล้เคียงกับแสงแดด โดยมีการทาครีมกันแดดยี่ห้อดัง 2-3 ยี่ห้อที่มีขายตามท้องตลาดตามค่า SPF ที่แนะนำไว้ที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์ ผลการทดลองที่ได้พบว่าครีมกันแดด 2-3 ยี่ห้อดังกล่าว สามารถลดการเกิดอาการไหม้จากการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานได้ แต่ไม่สามารถป้องกันรังสี UVA ไม่ให้ทะลุลงไปยังชั้นผิวหนังที่ลึกลงไปได้ ซึ่งผลการทดลองที่ได้นี้เองที่ทำให้บรรดาแพทย์เป็นห่วงว่าผู้บริโภคจะได้รับอันตรายจากความเข้าใจที่ผิด จากการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด เนื่องจากว่าผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่นั้นจะสามารถป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นจึงนิยมอาบแดดหรือไม่ก็ไม่คำนึงถึงอันตรายจากการสัมผัสแสงแดดโดยไม่จำเป็น วิธีที่ดีที่สุดที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแนะนำก็คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด พยายามอยู่ในที่ร่ม และสวมใส่เสื้อผ้าที่ค่อนข้างมิดชิดสักหน่อย (เดลินิวส์ วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





ไอซีที- ก.วิทย์ ดันโครงการใหญ่ในเอเปค

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะมีการหารือในระดับทวิภาคีร่วมกับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ 2 ราย คือ บริษัทฮิวเลตต์แพทคการ์ด และบริษัทไมโครซอฟท์ ในด้านนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับไอที ด้าน ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้มีหัวข้อการประชุมที่เกี่ยวกับไอทีหลายประเด็นที่สำคัญ และหนึ่งในนั้น คือ การเปิดเสรีทางการสื่อสาร ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ต่างให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการทำระบบไร้สายผ่านบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ตซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด และทางกระทรวงไอซีทีก็ได้มีการพูดคุยกับประเทศญี่ปุ่นหลายครั้งแล้ว คาดว่าถ้าการเจรจาสำเร็จ ระบบไร้สายผ่านบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเป็นเรื่องแรกที่ถูกพิจารณา (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม 2546 หน้า16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215