หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 41 ประจำวันที่ 2003-11-11

ข่าวการศึกษา

หวั่นไทยไม่พร้อมเปิดเสรีการศึกษาระดับโลก
เบนซ์ขานรับดีทรอยต์แห่งเอเชียเจรจาศธ.ผลิต ‘วิศวกรยานยนต์’
เลิกหนุนแบบฝึกหัดไม่แนะนำโรงเรียนซื้อ
แนะดึงร้านเน็ตหนุนเรียนรู้เด็ก
มหา’ลัยนอกระบบยืนยันขอมี 2 ระบบ
แบบทดสอบออนไลน์’ โปรเจกต์ชั้นเรียนไร้กระดาษ ทีเด็ดครูยุคไอที

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เด็กวิศวะศรีปทุม คว้าแชมป์นวัตกรรมไทยเรือรดน้ำวิทยุบังคับ
ดร.จิรันกร ยุวนิยม นักวิทย์รุ่นใหม่ คิดต้านมาลาเรีย

ข่าววิจัย/พัฒนา

‘ราชมงคล’ โชว์เครื่องแยกและย่อยไขมัน นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
ม.เกษตรฯ ศึกษาใช้สารอีเอ็มไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
ดัดเหล็กด้วยเลเซอร์
พลังจิตที่สัมผัสได้
สหรัฐผลิตเลือดผงพร้อมชงละลาย
พัฒนาสเตมเซลล์รักษาเบาหวานลูก
สนับสนุนนักวิจัยสัตว์ ‘ลอรีอัล’ มอบทุน

ข่าวทั่วไป

สปสช.จับมือเซเว่นเพิ่มจุดรับใบสมัคร ‘บัตรทอง 30 บาท’
เน็ตคาเฟ่หนุนโครงการกู๊ดเน็ตลดดีกรีเยาวชนหมกมุ่นเล่นเกม
พบมะเร็งเต้านมเพิ่ม3เท่าตัวให้สตรีตรวจเต้าปีละครั้ง
พระบิดาการถ่ายภาพไทย
จีนมีแผนสร้างถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ





ข่าวการศึกษา


หวั่นไทยไม่พร้อมเปิดเสรีการศึกษาระดับโลก

จากกรณีที่องค์การการค้าโลก (WTO) ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกเปิดเสรีทางการค้าในปี 2549 ซึ่งการศึกษาก็เป็นอีกบริการหนึ่งที่จะต้องเปิดเสรีด้วยนั้น คุณหญิง ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดี มศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่รัฐต้องเตรียมรับมือการเปิดเสรีคือการจัดระบบการควบคุมการศึกษาที่จะเข้ามาในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะทำร้ายทำลายคนไทยได้ เพราะการเปิดเสรีบางครั้งทำให้บางสถาบันหวังแต่ผลประโยชน์ทำให้ขาดคุณภาพมาตรฐาน และหากผู้ใดรู้ไม่เท่าทันก็อาจถูกหลอกลวงได้ ดังนั้นเราต้องมีระบบคุ้มกัน คอยสอดส่องและแจ้งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศให้ประชาชนได้รับทราบ (เดลินิวส์ อังคารที่ 21 ตุลาคม 2546 หน้า 24)





เบนซ์ขานรับดีทรอยต์แห่งเอเชียเจรจาศธ.ผลิต ‘วิศวกรยานยนต์’

ผลพวงจากเอเปคคืบหน้าส่งผลให้แผนดีทรอยต์แห่งเอเชียของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์แห่งเอเชียเริ่มเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการได้รับการติดต่อจากนายสมภพ คงศิริกาญจน์ ประธานบริษัท เบนซ์ ออโต้ เซอร์วิส จำกัด มีแนวคิดที่จะจัดตั้งโรงเรียนบริหารและวิศวกรรมยานยนต์ โรงเรียนดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้จากประเทศเยอรมนี มาจัดทำเป็นหลักสูตร เพื่อผลิตช่างเทคนิคยานยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านรถยนต์เบนซ์ และรถยนต์อื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มสมรรถนะบุคลากรด้านยานยนต์ของประเทศไทย ให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยียานยนต์ในระดับสากล โดยในปีแรกของโครงการคาดว่าจะสามารถผลิตช่างเทคนิคยานยนต์ได้จำนวน 500 คน ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนและจัดทำหลักสูตร โดยจะมีการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2546 หน้า 8)





เลิกหนุนแบบฝึกหัดไม่แนะนำโรงเรียนซื้อ

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการประชุมการประเมินคุณภาพสื่อการเรียนรู้ของเอกชนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่อยากให้ในหนังสือเรียนมีแบบฝึกหัด โดยเฉพาะแบบฝึกหัดที่ให้เด็กกากบาท เพื่อให้เด็กได้เน้นการเขียนซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการเขียนเหมือนกับการเรียนในอดีตนอกจากนี้ ยังได้รับการร้องเรียนว่านักเรียนมีหนังสือแบบฝึกหัดจำนวนมากจนหนักกระเป๋า ดังนั้น ต่อไปในรายชื่อหนังสือที่แนะนำให้โรงเรียนซื้อ ไม่ควรจะมีรายชื่อหนังสือแบบฝึกหัดด้วย เพราะ ศธ.ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กต้องซื้อ ส่วนขั้นตอนการตรวจประเมินคุณภาพสื่อ จะต้องลดขึ้นตอนให้กระชับ อย่างขั้นตอนที่สำนักพิมพ์เอกชนต้องส่งต้นฉบับมาให้ตรวจสอบ หากเนื้อหาผ่านในครั้งแรกก็ให้ออกใบอนุญาตจัดพิมพ์จัดจำหน่ายได้เลย เพื่อไม่ต้องเสียเวลาและจะสามารถจัดส่งให้โรงเรียนได้ทันกำหนด ส่วนเรื่องของราคาจำหน่ายนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์เรื่องการควบคุมดูแลราคาว่า จะกำหนดออกมาเช่นใด คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในขั้นตอนการพิจารณาสื่อเอกชนในส่วนของการประทับตราอนุญาตนั้น ก่อนหน้านี้มีการยกเลิกการประทับตรา 1 ปี และต่อไปจะยกเลิกการประทับตราถาวร (มติชน เสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 15)





แนะดึงร้านเน็ตหนุนเรียนรู้เด็ก

นายทวีศักดิ์ ก่ออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวภายหลังการสัมมนาผลการศึกษาการประเมินผลกระทบของโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียน (สคูลเน็ต) วานนี้ (31 ต.ค.) ว่ามูลนิธิส่งเสริมนโยบายศึกษาได้สำรวจข้อมูลจากโรงเรียนในโครงการสคูลเน็ตจำนวน 500 แห่ง จากโรงเรียนในโครงการประมาณ 5,000 แห่ง และได้สอบถามนักเรียน 3,077 คน รวมทั้งครูและผู้บริหาร 1,557 คน พบว่านักเรียนยังใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงเป็นสิ่งแรก แต่ส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้ประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้มากที่สุดนอกเหนือจากเรียนในห้องเรียน ทั้งนี้ เวบไซต์ที่นักเรียนเข้าไปมากที่สุดคือ sanook.com ซึ่งมากกว่าการเข้าเวบไซต์ของ schoolnet.net.the ขณะที่ครูอาจารย์ก็ได้ประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นข้อมูลเป็นอันดับแรกโดยเฉพาะครู 5 ใน 10 คน จะนำเนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ประกอบการเรียนการสอน (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 11)





มหา’ลัยนอกระบบยืนยันขอมี 2 ระบบ

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการออกนอกระบบของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยจำนวน 18 แห่ง ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี บางส่วน อยู่ในขั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กำลังร่าง พ.ร.บ. ทั้งนี้การออกนอกระบบคงต้องทยอยกันออก เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ และไม่ค่อยบังคับว่าต้องออกนอกระบบควรเป็นไปด้วยความสมัครใจเป็นสำคัญ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2546 หน้า 27)





แบบทดสอบออนไลน์’ โปรเจกต์ชั้นเรียนไร้กระดาษ ทีเด็ดครูยุคไอที

อาจารย์อำพล สงวนศิริธรรม อาจารย์ 3 ระดับ 8 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และวิทยากรแกนนำวิชาคอมพิวเตอร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) อาจารย์อำพล ได้ทำข้อสอบออนไลน์เพื่อใช้สอบปลายภาคเรียน ในวิชา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ใช้สอบทางอินเตอร์เน็ตในห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน 1 คนต่อ 1 เครื่อง ข้อสอบมี 4 ชุดนักเรียนจะถูกสุ่มวาจะได้ข้อสอบชุดใด เมื่อทำเสร็จแล้ว จะแจ้งให้ทราบว่าถูกกี่ข้อ คิดเป็นร้อยละเท่าไร ทำให้สะดวกประหยัดกระดาษ และนักเรียนละลอกคำตอบไม่ได้ผู้สนใจโปรแกรมโปรดติดต่อได้ที่ www.yupparaj.ac.th (สยามรัฐ เสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เด็กวิศวะศรีปทุม คว้าแชมป์นวัตกรรมไทยเรือรดน้ำวิทยุบังคับ

นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ประดิษฐ์ “เรือรดน้ำวิทยุบังคับ” เป็นผลงานของพรเทพ ตั้งเวนิชเจริญสุข และสมเดช ขุนทอง โดยมีอาจารย์นิมิต บุญภิรมย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ผลงานได้รับรางวัล ชนะเลิศระดับประเทศ ในโครงการ “รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ 3 สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี (สยามรัฐ จันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ดร.จิรันกร ยุวนิยม นักวิทย์รุ่นใหม่ คิดต้านมาลาเรีย

ดร.จิรันดร ยุวนิยม เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ รุ่นใหม่ปี 2546 สำเร็จปริญญาเอกด้าน Biological chemistry จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยเรื่อง “โครงสร้างเอนไซม์สามมิติที่สำคัญกับเชื้อมาลาเรียตัวหนึ่ง” ได้สำเร็จซึ่งสามารถออกแบบยาและสารเคมี เพื่อยับยั้งโรคได้ (สยามรัฐ พุธที่ 5 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


‘ราชมงคล’ โชว์เครื่องแยกและย่อยไขมัน นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

เกียรติณรงค์ ครูบา และเจษฏา เงางามดี จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้คิดค้นเครื่องต้นแบบแยกและย่อยไขมัน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพร เจนคุณาวัฒน์ เป็นที่ปรึกษาเครื่องแยกและย่อยไขมัน จะดักไขมันโดยอาศัย การแยกน้ำมันที่ลอยอยู่เหนือน้ำไหลล้นออกสู่รางระบบ และระบบแยก ซึ่งนอกจากจะแยกน้ำมันที่ออกมาจากเครื่องย่อยได้แล้ว ยังสามารถแยกกรวดกับทรายที่เป็นปัญหาสำคัญ ของปั้มสูบน้ำมันออกมา จากเครื่องย่อยได้อีกด้วย ทำให้บำบัดน้ำเสียเพื่อเป็นอาหารแก่จุลินทรีย์อื่นๆ และปล่อยลงแหล่งน้ำโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ม.เกษตรฯ ศึกษาใช้สารอีเอ็มไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ดร.จักรกฤษณ์ มหัจฉริยวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตรืสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบการใช้สารอีเอ็มที่สกัดจากขยะอินทรีย์ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาและประเมินผลกระทบที่เกิดจากการสกัด และการใช้น้ำสกัดชีวภาพในสิ่งแวดล้อม สารอีเอ็มหรือที่เรียกว่า น้ำสกัดชีวภาพ หรือ ขยะหอม ใช้เป็นตัวเร่งในย่อยสลายในกระบวนการหมักปุ๋ย การฝังกลบขยะมูลฝอย ทำความสะอาดสุขภัณฑ์ บำบัดน้ำเสีย ใช้เป็นสารควบคุมกลิ่นปรับปรุงดินก่อนการเพาะปลูกและใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสกัดน้ำชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาออกมาแล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นประโยชน์ในการทำการเกษตร การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและยังปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 29 ตุลาคม 2546 หน้า 12)





ดัดเหล็กด้วยเลเซอร์

คณะนักวิจัยจาก Lawrence Livermore ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการระดับชาติแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเทคนิคในการนำเอาเลเซอร์มาใช้ขึ้นรูปวัสดุที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องบินโดยการใช้เลเซอร์ชนิด neodymium-doped glass ยิงเข้าไปยังพื้นผิวของโลหะที่ต้องการดัดให้โค้งหรือเปลี่ยนรูป กระบวนการที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และพื้นผิวภายนอกก็ยังเรียบดูดี และไม่ทำให้เกิดรอยแตกที่อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของวัสดุในภายหลังอีกด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 29 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





พลังจิตที่สัมผัสได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Duke ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำวิจัยที่ช่วยให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตอย่างสะดวกหรือใกล้เคียงกับคนปกติมากขึ้น ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต (ในแบบที่สร้างสรรค์) ได้ นักวิจัยดังกล่าวได้แถลงถึงความสำเร็จของการทดลองในครั้งนี้ และคาดว่าจะนำเอาผลวิจัยที่ได้ไปต่อยอดและพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับมนุษย์โดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้พิการทางร่างกาย ซึ่งทางผู้วิจัยเองก็มีโครงการที่จะทำการทดลองในลักษณะคล้ายๆ กันนี้กับมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 22 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





สหรัฐผลิตเลือดผงพร้อมชงละลาย

คณะแพทย์จากโรงพยาบาลคาโรลินสก้า ในสตอกโฮล์ม เตรียมทดลองใช้เลือดเทียมชนิดผงกับผู้ป่วยเป็นโรงพยาบาลแรกในโลก หลังได้รับเลือดผงพร้อมชงซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา ดร.ปีแอร์ ลาโฟลี่ หัวหน้าคณะแพทย์จากโรงพยาบาลคาโรลินสก้า เปิดเผยว่า เลือดผงดังกล่าวนี้ผลิตขึ้นมาจากเลือดจริงๆ ที่ได้จากการบริจาค สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปีเมื่อเปรียบเทียบกับเลือดจริง ซึ่งปกติมีอายุการใช้งานเพียง 42 วันเท่านั้น โดยกระบวนการผลิตเลือดผงยังถือว่าเป็นความลับ นักวิจัยเชื่อว่าหากเลือดเทียมชนิดผงนี้ ผ่านการอนุมัติว่าปลอดภัย และสามารถใช้ได้จริงแล้ว จะเป็นการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ได้อย่างมากทีเดียว เพราะนอกจากจะสะดวกแล้ว ยังมีวิธีการใช้เลือดผงที่ง่าย เพียงแค่นำไปผสมเข้ากับของเหลว ก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องหมู่เลือดของผู้ป่วยแต่อย่างใด ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาที่เสียไปในการทดสอบหมู่เลือดของผู้ป่วย ก่อนที่จะมีการให้เลือดแต่ละครั้ง โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม การใช้เลือดที่ได้รับจากการบริจาคมาผลิตเลือดเทียมนั้นยังติดปัญหาด้านจริยธรรมในการวิจัยอยู่ ดังนั้นนักวิจัยในโครงการจึงมีแนวความคิดว่า ในอนาคตอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำเลือดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับเลือดของคนมาใช้ในการผลิตก็ได้ อาทิเลือดวัน เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2546 หน้า 8)





พัฒนาสเตมเซลล์รักษาเบาหวานลูก

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายดักลาส เมลตัน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพ ซึ่งเป็นคุณพ่อลูกสองได้พัฒนาเซลล์ต้นแบบ หรือสเตมเซลล์ขึ้น 17 สายพันธุ์ เพื่อไว้สำหรับใช้รักษาโรคเบาหวานของลูกชายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน นายเมลตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายในการประชุมสเตมเซลล์สากล ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า งานวิจัยสายพันธุ์ใหม่ของสเตมเซลล์ ซึ่งได้มาจากตัวอ่อนที่ไม่ใช่ของสเตมเซลล์ ซึ่งได้มาจากตัวอ่อนที่ไม่ใช้แล้วจากคลินิก ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุนวิจัยโรคเบาหวานในผู้เยาว์ ในนครนิวยอร์ก และสถาบันโฮเวิร์ด ฮิวจ์ส และจะมีการเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับสเตมเซลล์สายพันธุ์ใหม่นี้ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยสเตมเซลล์สายพันธ์ใหม่นี้ได้พัฒนาขึ้นเพื่อไว้สำหรับใช้เองและเพื่อแบ่งปันให้แก่นักวิจัยเพื่อไว้ใช้สำหรับการศึกษาเรื่องสเตมเซลล์ (มติชน เสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 5)





สนับสนุนนักวิจัยสัตว์ ‘ลอรีอัล’ มอบทุน

บริษัทลอรีอัล ประเทศไทย จัดโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อมอบทุนให้สตรีนักวิทยาศาสตร์ ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นเป็นการสร้างโอกาสให้สตรีมีบทบาทและได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นได้ค่าดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ผู้ที่ได้รับทุนปีแรกคือ ผศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น และ รศ.ดร.ศันสนีย์ ไชย์รจน์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล ผู้สนใจติดต่อขอทราบได้ที่ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ม.ค.2546 หรือโทร.0-2684-3190-2 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2546 หน้า 27)





ข่าวทั่วไป


สปสช.จับมือเซเว่นเพิ่มจุดรับใบสมัคร ‘บัตรทอง 30 บาท’

น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช.ได้เปิดให้ประชาชนที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีบัตรทองหรือผู้มีบัตรทองแต่มาพักอาศัยอยู่ใน กทม.และต้องการย้ายสิทธิบัตรทองเข้ามาใน กรุงเทพฯ รวมทั้งมีบัตรทองแล้วแต่ต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลให้ใกล้บ้านมากขึ้นนั้นปรากฏว่าประชาชนมาลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 103,456 ราย เป็นผู้ที่ยังไม่มีสิทธิใดๆ จำนวน 16,462 ราย ขณะที่ข้อมูลประชาชนที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพฯ ที่ยังไมมีสิทธิหลักประกันสุขภาพใดๆ มีถึง 573,717 รายซึ่งถือว่าการลงทะเบียนยังน้อยมาก ด้านนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการบริษัทซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่นฯ กล่าวว่า ร้านค้าเซเว่นฯ จำนวน 1,000 ร้านค้าในกรุงเทพฯ จะทำการแจกใบสมัครบัตรทองให้กับประชาชนที่ขอรับเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ต้องการรับใบสมัครสามารถขอรับได้ที่แคชเชียร์ร้านค้าเซเว่นฯ ในเขตกรุงเทพฯ ทั้ง 1,000 แห่ง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 พ.ย.นี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการให้ครบ 400,000 ใบ หากร้านค้าใดหมดก่อน ก็สามารถขอเพิ่มเติมจาก สปสช.ได้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 11)





เน็ตคาเฟ่หนุนโครงการกู๊ดเน็ตลดดีกรีเยาวชนหมกมุ่นเล่นเกม

นายเฉลิมศักดิ์ เลิศลบธาตรี ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ต และเกมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงโครงการ กู๊ด เน็ต ของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ที่อยากให้ร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านไอที ว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยลดปัญหาการหมกมุ่นของเด็กและเยาวชนที่ชอบเล่นเกมเพียงอย่างเดียว หันมาสนใจเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ขณะนี้มีร้านอินเทอร์เน็ตสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 300 ราย และเชื่อว่าหลังเปิดโครงการในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ประมาณ 3-6 เดือน จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้น (มติชน เสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





พบมะเร็งเต้านมเพิ่ม3เท่าตัวให้สตรีตรวจเต้าปีละครั้ง

นับวันมะเร็งเต้านมกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงไทย ที่เสี่ยงสูงขึ้นทุกวันจาก 5 ปีที่แล้ว พ.ศ.2540 เสียชีวิต 409 คน เพิ่มอีก 3 เท่าในปัจจุบันเสียชีวิต 1,261 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 9,436 คน และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยจนสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดงานมหกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านมขึ้น เป็นปีที่ 3 รณรงค์ให้ผู้หญิงไทยตื่นตัว หันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่ง น.พ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็ง จัดเสวนา “ป้องกันมะเร็งเสียแต่วันนี้” กล่าวว่า เดิมผู้หญิงอายุ 35 ปี พบว่าเป็นกัน แต่ล่าสุด 20 ปี ก็เป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน สาเหตุหนึ่งมาจากฮอร์โมนเพศหญิง หรือคนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งเต้านมก็เสี่ยงมากขึ้น การดูแลป้องกันคือ หากตรวจพบเร็วโอกาสรักษาหายก็มีสูงขึ้น (มติชน เสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 หน้า 19)





พระบิดาการถ่ายภาพไทย

สงคราม โพธิ์วิไล ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ รองเลขาธิการสมาพันธ์การถ่ายภาพไทย อธิบายไว้ในหนังสือ “พระผู้สถิตในดวงใจนักถ่ายภาพ” พิมพ์แจกในวาระการประชุมใหญ่สมาพันธ์ว่าพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากการถ่ายภาพมีด้วยกัน 3 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นผู้ริเริ่มถ่ายภาพเป็นพระองค์แรกในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทางเริ่มถ่ายภาพด้วยพระองค์เองอย่างมากมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รัชการปัจจุบัน ทรงเป็นเอกในงานศิลปะการถ่ายภาพเพื่อชาติของเรา (เดลินิวส์ พุธที่ 22 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





จีนมีแผนสร้างถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อวันจันทร์อ้างคำกล่าวของนายจาง จุนเสียน รมว.คมนาคมว่า จีนกับไทยกำลังมีแผนการสร้างถนนหลวงเชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิงของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเข้าสู่ลาวผ่านต่อไปยังกรุงเทพในระยะทาง 1,890 กม. (เดลินิวส อังคารที่ 28 ตุลาคม 2546 หน้า 13)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215