|
หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 42 ประจำวันที่ 2003-11-18
ข่าวการศึกษา
สกอ.ยกเครื่องใหญ่ตรวจมาตรฐานสถาบันอุดมฯข้องใจคุณภาพ ราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยแน่ต้นปีหน้า ยังไม่สรุปควบคุมราคาตำรา เผยครูหนุนลดสอนวิชาการแต่ลังเลหวั่นเด็กเอนทรานซ์ไม่ได้ ศธ.ย้ำไปเรียนนอกต้องมีแผน
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
พายุสุริยะ อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ (Ipng)
ข่าวการศึกษา
สกอ.ยกเครื่องใหญ่ตรวจมาตรฐานสถาบันอุดมฯข้องใจคุณภาพ
ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการรวมหน่วยงานทางการศึกษาทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2546 ที่ผ่านมา ทำให้การบริหารจัดการของสถาบันการศึกษาทั้งหมดจะต้องทำในภาพรวม จะแยกส่วนกันทำเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาได้มีการรวมมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันราชภัฏ (รภ.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เข้าไว้ด้วยกันและมาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดังนั้นเมื่อมารวมกันแล้วทุกหน่วยงานจะต้องช่วยกันพัฒนา และปรับปรุงการบริหารจัดการของตนเอง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน โดย สกอ.มีนโยบายที่จะเข้าไปประเมินคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาทีมีการเปิดวิทยาเขตจำนวนมากๆ รวมทั้งสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลด้วยและที่สำคัญผลประเมินนี้จะต้องมีการสรุปและรายงานให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2546 หน้า 24)
ราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยแน่ต้นปีหน้า
ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 116 เสียงของผู้เข้าประชุมเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้สถาบันราชภัฏทั้ง 41 แห่งยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัย แต่ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อเสนอรัฐบาลใน 3 ประเด็น คือ 1.ควรพัฒนาและยกสถานะสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อเท่านั้น 2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเป็นพิเศษกับมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ตั้งใหม่ทั้ง 5 แห่ง และ 3.ขอให้มีผู้แทนจากพระภิกษุสงฆ์และผู้แทนศาสนาเข้าร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย
(เดลินิวส์ พุธที่ 12 พฤศจิกายน 2546 หน้า 27)
ยังไม่สรุปควบคุมราคาตำรา
ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันกับ นายวัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์ และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พาณิชย์ กรณีการพิจารณาว่าหนังสือเรียนควรเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ ในเบื้องต้นมีความเห็นตรงกันว่า ราคาของหนังสือเรียน ควรจะเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยขึ้นอยู่กับคุณภาพของหนังสือและกระดาษที่มีความสมดุลกันรวมถึงควรมีหลากหลายราคาเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรให้เรื่องของราคาเป็นตัวกำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ใช้ คือ ครูและนักเรียนขาดโอกาสในการมีสื่อที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังเห็นตรงกันว่าหนังสือควรมีจำนวนมากพอและหลากหลายเพื่อให้ผู้ใช้มีอิสระในตัวเลือกมากขึ้น และที่สำคัญต้องมีความทนทาน
(เดลินิวส์ พุธที่ 12 พฤศจิกายน 2546 หน้า 27)
เผยครูหนุนลดสอนวิชาการแต่ลังเลหวั่นเด็กเอนทรานซ์ไม่ได้
ตามที่ ดร.อดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ปรับลดชั่วโมงการเรียนการสอนวิชาการให้เหลือเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมที่มีการสอนอยู่ 7-8 ชั่วโมงต่อวันและให้เพิ่มกิจกรรมกีฬาและดนตรีเพื่อไม่ให้เด็กเกิดความเครียดนั้น คุณหญิงกษา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของ สพฐ. ที่ไม่ให้เน้นเรื่องวิชาการมากเกินไป เนื่องจากขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งจัดหลักสูตรเกินมาตรฐานทุกปี ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวคงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที อย่างช้าคงต้องรอปีการศึกษา 2547 เพราะโรงเรียนได้จัดตารางการสอนไว้เรียบร้อยแล้ว และจะต้องรับฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายก่อน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถามครูผู้สอนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ปรากฏว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่ก็ยังกังวลว่าหากมีการปรับลดทางวิชาการลง ในขณะที่การสอบเอนทรานซ์ยังเน้นความรู้ทางวิชาการก็อาจยิ่งทำให้ธุรกิจการกวดวิชาเติบโตขึ้น (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2546 หน้า 27)
ศธ.ย้ำไปเรียนนอกต้องมีแผน
ดร.อดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะให้ทุนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา อำเภอละ 1 คน ทั่วประเทศ เพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการกระจายโอกาสให้แก่เด็กในภูมิภาคไม่เฉพาะแต่เด็กใน กทม. เท่านั้นและโครงการนี้น่าจะทำและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและยิ่งขณะนี้เรากำลังปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ องค์กร บุคลากร ครู นักเรียน และหลักสูตร อย่างไรก็ตาม ศธ.จะต้องการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก รวมถึงจะต้องวางเป้าหมายที่ชัดเจนว่าประเทศจะเดินไปทางไหน จะได้รู้ว่าจะส่งเด็กไปเรียนประเทศไหน สาขาใด และจบกลับมาแล้วจะต้องรู้ว่าจะให้เด็กทำงานอะไร
(เดลินิวส์ ศกร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2546 หน้า 27)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
พายุสุริยะ
สำนักงานสนับสนุนการวิจัยรายงานว่า ปรากฏการณ์พายุสิริยะหรือดวงอาทิตย์ระเบิด 2 ครั้ง ติดอันดับ ท็อป 20 ในประวัติศาสตร์ โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 18.10 น. และ 30 ต.ค. 03.49 น (เวลาในประเทศไทย) ได้สร้างความตื่นเต้นตระหนกต่อผู้รับผิดชอบดาวเทียม และการไฟฟ้าทั่วโลก ว่าจะเตรียมรับผลจากก๊าซที่ดวงอาทิตย์ยิงใส่โลกอย่างไร รศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล หัวหน้ากลุ่มฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูง ภาควิชา ฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลกระทบของพายุสุริยะต่อโลก ที่เรียกว่า สภาพอากาศ (space weather) มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ผลเสียหายต่อดาวเทียม ปัญหากับระบบไฟฟ้าของประเทศต่างๆ และการติดต่อทางคลื่นวิทยุกับเครื่องบินใกล้ขั้วโลก เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่นักวิจัยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาวิจัยเพื่อไขปริศนาดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดมีต่อธุรกิจด้านดาวเทียมการสื่อสาร และไฟฟ้า ไทยยังมีแผนติดตั้ง สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ดอยอินทนนท์ จะทำให้ประเทศมีข้อมูลรังสีคอสมิกของไทยเองงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยทีร่วมในโครงการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยนเรศวร คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2546 หน้า 16)
อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ (Ipng)
วิศวกรอินเทอร์เน็ตจากหลายประเทศกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ไออีทีเอ็ฟ (IETF-Internet Engineering Task Force) ได้มีมติในที่ประชุมมานานแล้วที่โตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อปี ค.ศ.1994 โน่น ว่าจะมีการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้อยู่ปัจจุบัน IPV4 และขณะนี้ก็ได้พัฒนาจนถึงรุ่นที่ 6 แล้วเรียกว่า ไอพีวี 6 (IPV 6-Internet Protocol Version 6) และเรียกรุ่นนี้สั้นๆ ว่า อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ หรือ Ipng-Internet Protocol Next Generation ที่ว่ายุคใหม่นั้นคือระบบอินเทอร์เน็ตปัจจุบันไอพีวี 4 นั้น ฐานของจำนวนที่อยู่ (Addresses) มี 32 บิตเท่านั้น จึงได้ประมาณ 4 พันกว่าล้านชื่อเท่านั้น แต่ของไอพีวี 6 นั้นชิพที่ใช้มีถึง 128 บิต เพราะฉะนั้นจึงทำให้ผู้ใช้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ได้แบบอสงไขย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2546 หน้า 16)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|