หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 44 ประจำวันที่ 2003-12-02

ข่าวการศึกษา

‘อดิศัย’ สั่งเพิ่มค่า GPA/PR
ชี้ รมว.ศธ.ไม่ใช่ตรายางมีสิทธิเฟ้นคนเก่งช่วยงาน
จึ้นายกฯ กระเตงอุดมศึกษาเอกชน
‘วรเดช’ มั่นใจม.ไทยสอนผ่านเน็ตได้
สกอ.ดึงสมองไทยกลับบ้านติงรัฐบาลใช้งานให้คุ้มค่า
แนะมหา’ลัยสอนเด็กเน้น EQ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ม.เกษตรเปิดตัว ‘ซอฟต์แวร์’ บรรจุสินค้า
โตเกียวจัดประลองหุ่นยนต์จิ๋ว
หุ่นยนต์แม่เหมียว (Lap Cat)
สสวท.จัดค่ายยุวคอมพ์ฯหวังปั้นคนไอที
ม.มหิดลเปิดเสนอชื่อท้าชิง ‘รางวัลมหิดลบี-บราวน์’

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบทางรักษาโรคเบาหวานครั้งแรกใช้เซลล์ของม้าฉีดให้ผลิตอินซูลิน
ศัลยแพทย์เผยใช้ใบหน้าศพผ่าตัดรักษาโฉม
‘แพทย์โนเบล’ ชี้ไวรัสคุกคามโลกแนะแบ่งปันความรู้รับมือโรคใหม่
คนหัวโตสมองดีกว่า
ผลพวงดีเอ็นเอผลิตไวรัสเทียม
เปิดโดมแมลงยักษ์ อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติฯ ม.เกษตร
สาวเภสัชจุฬาฯ วิจัยยาโรคปริทันต์
UNESCO เชิดชูนักวิจัยไทยเทียบชั้นไอสไตน์โลกยอมรับ ‘เครื่องอบแห้งข้าว-เตาเผาแกลบ’
ชาเขียวต้านเอดส์
สแกนภาพกระดูกสันหลังนักดัดตนค้นหาความลับที่ทำให้ตัวอ่อน
มะะเร็งผิวหนังเป็นลางบอกเหตุว่ามะเร็งร้ายชนิดอื่นจะตามมา

ข่าวทั่วไป

กระเป๋าผ้าไหม
ทางสายกลางสำหรับคนปวดหลังที่นอนดีต้องไม่นิ่มไม่แข็งเกินไป
คนไทยห่วง ‘นกเขา’ ไม่ขันแห่รักษาเกือบ5แสนคน
บังคับโทรศัพท์ติดกล้องต้องร้องได้ป้องกันลอบถ่ายรูปผู้หญิงวับๆแวมๆ
ชี้คนไทยกินน้ำตาล 30 กก.ต่อปี





ข่าวการศึกษา


‘อดิศัย’ สั่งเพิ่มค่า GPA/PR

นายอดิศัย โพธารามิก รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การใช้คะแนน เฉลี่ยสะสม (GPA) และค่าคะแนนลำดับที่ (PR) เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันศึกษาซึ่งกำหนดใช้ 10% นั้นตนเห็นควรให้มีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็น 20-25 % เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจเรียนอย่างสม่ำเสมอหากมหาวิทยาลัยไม่เชื่อมั่นใน GPA และ PR ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่นสอบสัมภาษณ์ หรือสอบวัดความถนัดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไปหารือเพื่อหาข้อยุติ (สยามรัฐ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ชี้ รมว.ศธ.ไม่ใช่ตรายางมีสิทธิเฟ้นคนเก่งช่วยงาน

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ.กล่าวว่า ครม.รับทราบการเสนอร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯในสัปดาห์หน้า สำหรับ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ได้มีการแก้ไขในประเด็นคือในสัปดาห์หน้า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ได้มีการแก้ไขในประเด็นคือให้สถาบันอาชีวศึกษาสอนได้ถึงระดับปริญญาตรี ในสถาบันที่มีความพร้อมเท่านั้นและให้วิทยาลัยชุมชน ย้ายไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ส่วนการแก้ไขร่างกฎกระทรวงที่ว่าด้วยคณะกรรมการของ 3 องค์กรหลักระดับการศึกษาพื้นฐานะ อาชีวศึกษาและอุดมศึกษานั้น ได้มีการเพิ่มเติมในเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการด้วยว่า กรรมการไม่ควรเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ไม่เป็นเจ้าของกิจการที่เข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ส่วนที่มีผู้วิจารณ์ว่าการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์เดิมที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น การยกร่างเดิมตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า นักการเมืองไม่มีความรู้ แต่สถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่ง รมว.ศธ.เป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคม ประชาชน และนโยบายของรัฐบาล จึงควรมีสิทธิคัดเลือกบุคคลที่เข้ามาทำงาน มิเช่นนั้น รัฐมนตรีก็เป็นเพียงตรายาง (ไทยรัฐ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 15)





จึ้นายกฯ กระเตงอุดมศึกษาเอกชน

ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล อธิการบดีกิตติคุณ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎระเบียบต่างๆออกโดยรัฐจึงอาจปกป้องสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทำให้ดูเหมือนสถาบันเอกชนเป็นคนละพวกกับข้าราชการ เช่นการอุดหนุนค่าเล่าเรียนของรัฐและเอกชนต่างกันถึง 3-5 เท่า ทั้งเอกชนก็เสียเปรียบในการแข่งขันแม้แต่การสอบคัดเลือกรัฐก็เอาคนเก่งไปก่อน เด็กอ่อนเหลือให้เอกชน ซึ่งส่วนมากเป็นคนจนที่ด้อยโอกาส อย่างไรก็ตามกำลังดูนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่อยากให้เอกชนเป็นผู้นำและรัฐเป็นผู้สนับสนุนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะรัฐไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาได้ทั้งหมด แต่เป็นการรักษาที่มีอยู่เดิมไว้ (ไทยรัฐ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 15)





‘วรเดช’ มั่นใจม.ไทยสอนผ่านเน็ตได้

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เตรียมออกประกาศให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีความพร้อมสามารถเปิดสอนระดับปริญญาตรี โท และเอก ในระบบทางไกลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 นั้น การดำเนินการในเบื้องต้นต้องเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนและปริญญาของสถาบันอุดมศึกษาไทยเท่านั้น ยังไม่ควรเปิดกว้างให้ต่างประเทศเข้ามาสอนเพราะเราต้องทำให้ระบบในประเทศไทยใก้เกิดความเข็มแข็งก่อน เพื่อไม่ให้เสียเปรียบสถาบันการศึกษาต่างประเทศ โดยตนคิดว่าในปีการศึกษา 2547 จะมีสถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายแห่งที่มีความพร้อมจะเปิดดำเนินการสอนในระบบทางไกลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตได้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





สกอ.ดึงสมองไทยกลับบ้านติงรัฐบาลใช้งานให้คุ้มค่า

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวในการประชุมเรื่องความร่วมมือกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีโยบายให้นักวิชาชีพไทยในต่างประเทศนำองค์ความรู้มาร่วมพัฒนาประเทศไทยเนื่องจากประเทศไทยต้องการจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นครัวโลก ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเอเชีย ศูนย์กลางแฟชั่นของเอเชีย ฐานผลิตยานยนต์ และฐานการผลิตซอฟต์แวร์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังประสานและเชิญนักวิชาการไทยในต่างแดนทีเกษียณอายุราชการแล้วกลับมาทำงานในเมืองไทย นอกจากนี้ สกอ. จะเชิญผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาไทยด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2547 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2546 หน้า 31)





แนะมหา’ลัยสอนเด็กเน้น EQ

ดร.อดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมวิชาการของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2546 พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มหาวิทยาลัยกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ว่าที่ ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะต้องผลิตคนให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและอยู่ในสังคมได้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเน้นผลิตคนให้เรียนเก่งทางวิชากร (IQ) เมื่อทำงานกลับทำไม่ได้ แค่คนที่เรียนระดับปานกลาง สามารถทำได้ดีกว่า ตนเห็นว่ามหาวิทยาลัย จะต้องปรับเปลี่ยนและส่งเสริมด้าน EQ ด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2546 หน้า 34)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ม.เกษตรเปิดตัว ‘ซอฟต์แวร์’ บรรจุสินค้า

รศ.ดร.ลัดดาวัลย์ รัศมิทัต ผู้ประสานงานโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Load Container และ Box Design เปิดเผยว่า โปรแกรมดังกล่าวสำหรับงานออกแบบการบรรจุชิ้นส่วนสินค้าลงกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ให้มีการจัดวางที่เหมาะสมโดยผลงานที่ได้จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตทั้งค่าจ้างแรงงานและความสูญเสียจาการขนย้าย และจัดเรียงสินค้าโดยทดลองใช้แล้วกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ส่งออก งานวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มี รศ.ดร.พีรยุทธ ชาญเศรษฐ์กุลและคณะ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ทำวิจัยโดยพิจารณาถึงปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์หรืออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชนิดถอดประกอบประเภทต่างๆ คือ การออกแบบการจัดวางชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์และกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ไม่แม่นยำ ไม่สะดวกในการขนย้าย ทำให้สินค้าเสียหายและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 10)





โตเกียวจัดประลองหุ่นยนต์จิ๋ว

ข่าวเอพี รายงานว่า ในงานมหกรรมนิทรรศการหุ่นยนต์นานาชาติ ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆนี้ ในส่วนของการแข่งขันต่อสู่หุ่นยนต์จิ๋วสองขา หรือRoobo One Gramd Prix ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งผู้จัดการแข่งขันเปิดเผยว่า จุดประสงค์หลักของการจัดแข่งขันต่อสู่หุ่นยนต์จิ๋วสองขาก็เพื่อเป็นการโปรโมตเทคโนโลยีหุ่นยนต์และใช้เป็นกิจกรรมในการสร้างมิตรภาพ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หน้า 16)





หุ่นยนต์แม่เหมียว (Lap Cat)

ในปีนี้นิตยสารไทม์ได้จัดอันดับสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยม หรือที่ภาษาฝรั่งเรียก Coolest Inventions 2003 ซึ่งมีหลายอย่างด้วยกัน ที่นับว่าน่าสนใจมากเห็นจะเป็นหุ่นยนต์แมวซึ่งมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า นิโคโระ (NiCoRo) แต่คนอเมริกันเรียกว่า แมกซ์ (Max) บริษัทอมรอน (Omron) ซึ่งได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ชนิดนี้ขึ้นนั้นก็ได้จากแนวความคิดและการศึกษาที่ค้นพบว่าการมีแมวเป็นเพื่อนจะทำให้คนรู้สึกสงบและมีความสุข (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หน้า 16)





สสวท.จัดค่ายยุวคอมพ์ฯหวังปั้นคนไอที

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาและวิจัยการเรียนการสอน และพัฒนาครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์จัด “ค่ายยุวคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” ขึ้นใน 8 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ร.ร.สตรีศรีสุโขทัย กรุงเทพฯ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้ากบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ร.ร.สามัคคีวิทยา จ.เชียงราย ร.ร.บุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ร.ร.เลยพิทยาคม จ.เลย ร.ร.กำแพงเพชรพิทยาคม จ.กำแพงเพชร และ ร.ร.สุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ค่ายยุวคอมพิวเตอร์จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิดและแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน สร้างหลักการและแนวคิดในการแก้ปัญหาโดยใช้คอมพิวเตอร์และสามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือเป็นการเสริมทักษะและกระบวนการที่ดีต่อการแก้ปัญหาโดยใช้คอมพิเตอร์ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ม.มหิดลเปิดเสนอชื่อท้าชิง ‘รางวัลมหิดลบี-บราวน์’

ศาสตราจารย์ ดร.ศรีสิน คูสมิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย กำลังเปิดรับเสนอชื่อแพทย์ผู้มีผลงานดีเด่นเพื่อรับรางวัล มหาวิทยาลัยมหิดล บี-บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี 2547 ซึ่งรางวัลนี้ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท บี-บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2536 และปีนี้เป็นปีที่ 12 โดยมุ่งสนับสนุนและเชิดชูบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ที่มีความรู้ ความสามารถดีเด่นเป็นที่ยอมรับและได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่วงการแพทย์และสาธารณสุขไทยอย่างจริงจังและสม่ำเสมอเพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดี ซึ่งผู้ที่รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล บี-บราวน์ จะได้รับพระราชทานโล่และกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยและรางวัลจำนวน 700,000 แสน(สยามรัฐ เสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบทางรักษาโรคเบาหวานครั้งแรกใช้เซลล์ของม้าฉีดให้ผลิตอินซูลิน

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้พบหนทางวิธีการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มโรคไปทำลายเซลล์ของตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน อันจำเป็นแก่ร่างกายสกัดพลังงานจากกลูโคสได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฉีดอินซูลินแทนอยู่เป็นประจำ รักษาระดับสมดุลของน้ำตาลในเลือดไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถึงกับเสียชีวิต ในปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยอาการนี้ทั่วโลกอยู่มากมายถึง 194 ล้านคน นักวิจัยของโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเสตต์ กล่าวว่า ได้พบหนทางจากการทดลองกับหนูทดลองที่ถูกทำให้เป็นโรคเบาหวานแบบเดียวกัน แล้วนำเอาเซลล์ของม้ามจากเพื่อนหนูปกติมาฉีดรักษาให้ตามที่เคยได้รับรู้มาจากการวิจัยหนก่อนว่า เซลล์ของม้ามชนิดหนึ่งมีสรรพคุณยับยั้งระบบภูมิคุ้มโรค ไม่ให้ก่อโรคขึ้นได้ และปรากฏผลว่าหนูตัวที่เป็นโรคกลับมีอาการดีขึ้น จนร่างกายของมันกลับผลิตอินซูลินได้เองตามปกติ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ศัลยแพทย์เผยใช้ใบหน้าศพผ่าตัดรักษาโฉม

น.พ.ปีเตอร์ บัตเลอร์ ศัลย์แพทย์พลาสติกโรงพยาบาลรอยัล ฟรี ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า เทคนิคการปลูกถ่ายใบหน้าของคนตาย ไปแทนที่ใบหน้าที่เสียโฉมของคนที่ยังมีชีวิตได้รับความสนใจครั้งแรกในแวดวงศัลยแพทย์พลาสติกเมื่อ 1 ปีที่แล้ว โดยกระบวนการดังกล่าวน่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงในอีกไม่กี่เดือนนี้ ปัจจุบันทีมแพทย์ในหลายประเทศก้าวมาถึงจุดที่ สามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าได้แล้ว เนื่องด้วยประสิทธิภาพของตัวยาป้องกันการปฏิเสธการรับอวัยวะใหม่ โดยขั้นตอนการผ่าตัดจะเริ่มตั้งแต่การดึงกล้ามเนื้อใบหน้า และผิวหนังของผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว และนำมาวางบนใบหน้าของอีกคน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 10)





‘แพทย์โนเบล’ ชี้ไวรัสคุกคามโลกแนะแบ่งปันความรู้รับมือโรคใหม่

น.พ.โจซัว เลเดอเบิร์ก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ปาฐกถาในหัวข้อ “สุขภาพในฐานะที่เป็นสิ่งสำคัญในสันติสุข และสันติสุขในฐานะที่เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ” (Health as an imperative to peace and peace as an imperative to Health) ว่าโรคติดเชื้อในปัจจุบันแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยโรคติดเชื้อต่างๆ มีอันตรายต่อมนุษย์ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับการแพร่กระจายของโรคอย่างทันท่วงทีและการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการลักลอบนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในประเทศทำให้ไวรัสซึ่งเคยแพร่ระบาดอยู่ในหมู่สัตว์กลายพันธุ์และเข้าถึงมนุษย์ได้ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ได้แสดงความเป็นห่วงด้วยว่า ถึงแม้ซาร์สจะหยุดแพร่ระบาดไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแต่ยังไม่แน่ใจว่าไวรัสซาร์สจะกลับมาแพร่ระบาดอีกหรือไม่ซึ่งต้องรออีก 2-3 เดือนจึงจะรู้ได้แน่ชัด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอาจจะเป็นผลให้ไวรัสหยุดการแพร่กระจายตัวชั่วคราว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 10)





คนหัวโตสมองดีกว่า

นักวิจัยที่ชื่อ ดร.คริสโตเฟอร์ มาร์ติน และทีมงานซึ่งอยู่ที่หน่วยงานระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อมที่เมืองเซาท์แธมตัน (Southampton) ประเทศอังกฤษ ซึ่งนักวิจัยท่านนี้ค้นพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงคือ คนหัวโตสมองเยอะจะมีความสามารถด้านต่างๆ มากกว่า และยังค้นพบต่อไปอีกว่า คนสูงอายุที่หัวโตทั้งหลายจะมีความสามารถโดยเฉพาะความจดจำได้มากกว่าคนในวัยเดียวกันที่สมองเล็กกว่า ในช่วงวัยทองทั้งหลาย นอกจากนี้ยังได้คำตอบที่ว่า สมองของคนจะโตในช่วงหลังจากออกจากครรภ์มารดาแล้วมากกว่าที่หัวจะโตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ งานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ขันอาสาทดสอบทั้งคุณปู่และคุณย่า จำนวน 215 ท่าน ซึ่งเกิดในช่วงปี ค.ศ. 1920 ถึง 1930 หรือ ปี พ.ศ.2463 ถึง พ.ศ.2473 เรียกว่า อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปในช่วงทำการทดลอง โดยที่ทุกท่านจะต้องมีหมอตำแยวัดขนาดหัวตอนเกิดไว้เรียบร้อยแล้ว (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2546 หน้า 16)





ผลพวงดีเอ็นเอผลิตไวรัสเทียม

นักวิจัยสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการสร้างไวรัสจากดีเอ็นเอ ซึ่งอาจเล่นงานเชื้อแบคทีเรียได้ โดยใช้เวลาเพียง 14 วันเท่านั่นในการประกอบทางพันธุกรรมหรือยีนของเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกฟี-เอ็กซ์ 175 นับเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ถูกอ่านรหัสยีน ซึ่งประกอบไปด้วยชิ้นส่วนดีเอ็นเอทั้งสิ้น 5,386 ชิ้น จัดเรียงกันเป็นรูปวงกลมขนาดเล็ก (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2546 หน้า 4)





เปิดโดมแมลงยักษ์ อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติฯ ม.เกษตร

ผศ.ดร.สมชาย อิสิชัยกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากีฏวิทยาอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาส เฉลิมพระชนพรรษาครบ 6 รอบ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2546 เพื่อเป็นอุทยานแมลงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





สาวเภสัชจุฬาฯ วิจัยยาโรคปริทันต์

วชิรพร ศรีประเสริฐ์ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนิสิตนักศึกษาไทย เข้าร่วมเสนอผลงานวิจัย ในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ “International Symposium on Microencapsulation” ที่ประเทศสิงค์โปร์ วชิรพร ได้นำเสนอผลงานวิจัยเกียวกับการพัฒนารูปแบบหรือระบบยาฉีดร่องเหงือกในผู้ป่วยโรคปริทัศน์ ซึ่งถื่อเป็นนวัตกรรมใหญ่ ผลงานวิจัยพบว่ายาดังกล่าวฆ่าเชื้อโรคในช่องปากได้ และเธอได้รับรางวัล “Merit Poster Award” พร้อมเงินรางวัล 500 ดอลลาร์ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





UNESCO เชิดชูนักวิจัยไทยเทียบชั้นไอสไตน์โลกยอมรับ ‘เครื่องอบแห้งข้าว-เตาเผาแกลบ’

นักวิจัยไทยคนแรก ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ จากคณะพลังงานและวัสดุ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถคว้ารางวัล UNESCO Science Prize ครั้งที่ 17 จากองค์การยูเนสโก ด้วยผลงานวิจัย “เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกแบบฟูอิไดซ์-เบด” และ “เตาเผาแกลบแบบไซโคลน” หลักการทำงาน คือการนำข้าวที่แยกแกลบและสิ่งเจือปนออกไปแล้ว มาเข้าห้อง อบแห้งที่มีการผ่านลมร้อนจากด้านล่าง ทำให้เมล็ดข้าวลอยขึ้นมา และซึ่งอากาศร้อนภายใจห้องจะทำให้ข้าวมีความชื้นลดลงภายใจ 3 นาที ซึ่งรุ่นล่าสุดสามารถลดความชื้นได้ถึงชั่วโมงละ 20 ตัน ข้าวเปลือก (20,000 กิโลกรัม) นอกจากนี้ยังสามารถใช้กับการอบแห้งเมล็ดพืชอื่นๆได้ด้วย (สยามรัฐ จันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ชาเขียวต้านเอดส์

คณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Allergy and Clinical Immunology (JACI)ของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของชาเขียวในการป้องกันการติดเชื้อ HIV จาการค้นคว้าของนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวทำให้พบว่าจากการทดลองในห้องปฏิบัติการนั้น สาร Eigallocatechin Gallate (EGCG) ซึ่งพบในชาเขียวสามารถยับยั้งการติดเชื้อ HIV ในร่างกายของคนเราได้ นอกเหนือไปจากที่เคยมีการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติในการต้านมะเร็งและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ควรรอไว้ให้มีการวิจัยและพัฒนาเป็นยาหรือวัคซีนที่มีการทดลองกับผู้ป่วยเสียก่อนว่าจะได้ผลหรือไม่ (เดลินิวส์ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 16)





สแกนภาพกระดูกสันหลังนักดัดตนค้นหาความลับที่ทำให้ตัวอ่อน

ดร.ริชาร์ด ไวส์แมน หัวหน้าคณะนักวิจัยพบว่า การที่นักกายกรรมดัดตนสามารถทำท่วงท่าที่อ่อนตัวได้มากนั้น เป็นผลมาจากทั้งเรื่องของยีนหน่วยถ่ายพันธุกรรม ประกอบกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก จนทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวในท่าที่ผิดปกติได้ (ไทยรัฐ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





มะะเร็งผิวหนังเป็นลางบอกเหตุว่ามะเร็งร้ายชนิดอื่นจะตามมา

งานศึกษาที่สหรัฐอเมริกาพบว่า กลุ่มผู้หญิงที่มีอาการของมะเร็งผิวหนังขั้นไม่รุ่นแรง มีโอกาสเผชิญความเสี่ยงเป็นสองเท่าที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งร้ายแรงชนิดอื่นได้ต่อไป มีการพบว่า มะเร็งผิวหนังเชื่อมโยงกับการเกิดเนื้อร้ายชนิดอื่นตามมา ทั้งมะเร็งสมอง, ทรวงอก, ปอด, ตับ รังไข่และมดลูก ดร.แครอล โรเซนเบิร์ก จากศูนย์สุขภาพอีวานสตัน-นอร์ธเวสเทิร์น หน่วยงานหนึ่งของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ได้ศึกษากับผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน 92,835 ราย เพื่อดูปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการก่อมะเร็ง ประกอบด้วยการสูบบุหรี่ น้ำหนักและระดับการศึกษาพบว่ามีโอกาสเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งที่ไม่เกี่ยวข้องมะเร็งผิวหนังและเธอคาดว่า ผลการศึกษานี้ นำไปประยุกต์ใช้กับผู้ชายได้ด้วย (ไทยรัฐ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


กระเป๋าผ้าไหม

เจษฏา ยืนยง หรือ ต้น ผู้ออกแบบ “กระเป๋าผ้าไหม” ได้ออกแบบกระเป๋าถือสุภาพสตรี โดยใช้ผ้าไหม และหนังเทียม สิ่งที่แตกต่างจากกระเป๋าทั่วไป คือ เส้นโค้ง ตามสายกระเป๋าและตัวกระเป๋า ซึ่งมีความสวยงาม เจษฎา บอกว่า นอกจากเป็นงานที่ต้องนำเสนอผลงานให้อาจารย์แล้ว ยังได้ส่งเข้าประกวดกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งได้รับรางวัลที่ 2 ประเภทการออกแบบ และขออนุสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน 2546 หน้า 26)





ทางสายกลางสำหรับคนปวดหลังที่นอนดีต้องไม่นิ่มไม่แข็งเกินไป

การศึกษาครั้งนี้มีขึ้นในกรุงมาดริด, มายอร์กา และบาร์เซโลนา มุ่งเป้าไปที่อาการเจ็บปวดหลังแบบไม่เฉพาะเจาะจง ไม่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเสี่อมหรือการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง ในบรรดาผู้ทดลองจะได้รับการเปลี่ยนที่นอนที่บ้าน ครึ่งหนึ่งได้แบบแข็ง ส่วนอีกครึ่งได้ที่นอนแบบแข็งปานกลางหลังจากนั้นอีกสองเดือนจึงถูกถามเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการนอน การตื่นขึ้นในตอนเช้า และความไร้สมรรถภาพโดยรวม ผลปรากฏว่าผู้ป่วยเกือบ 2 เท่าครึ่ง ที่รายงานว่าอาการเจ็บปวดหลังจากการนอนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น (ไทยรัฐ พุธที่ 19 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





คนไทยห่วง ‘นกเขา’ ไม่ขันแห่รักษาเกือบ5แสนคน

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับศูนย์สุขภาพเพศชาย แถลงถึงความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (อีดี)ที่ไทยมีผู้ป่วยโรคอีดีสูงถึง 4-4.5 ล้านคน โดยอยู่ในอายุระหว่าง 40-70 ปี แต่เข้ามาทำการรักษาเพียง 2% จากผู้ป่วยทั้งหมด แต่หลังจากที่มีการอนุมัติการใช้ยาชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคนี้รวมทั้งมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการรักษาออกไปแล้วทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารักษาเพิ่มขึ้นถึง 11% นับว่าเป็นความสำเร็จทางการแพทย์เป็นอย่างมากเนื่องจากตัวยาที่ใช้สำหรับรับประทานนั้นไม่มีอันตรายใดๆ และยังใช้ได้ผลดีกับตัวผู้ป่วยเอง รศ.น.พ.อภิชาต กงกะนันทน์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า การรักษาโรคอีดีในอดีตมีหลายวิธีเช่นการฉีดที่อวัยวะเพศ การสอดยาและการผ่าตัดแต่ในขณะนี้มีวิธีที่ง่ายขึ้นคือการรักษาโดยยารับประทานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวยาได้ผลดีและไม่เป็นอันตราย ยานี้เคยใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กลับส่งผลในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยเพราะเข้าไปขยายเส้นเลือด (มติชน พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 18)





บังคับโทรศัพท์ติดกล้องต้องร้องได้ป้องกันลอบถ่ายรูปผู้หญิงวับๆแวมๆ

เหตุการณ์ที่เกิดเป็นข่าวดังขึ้นมา เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งแอบถ่ายรูปสตรีที่เป็นอริกันอยู่ในสถานอาบน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง แล้วเอาไปขายให้กับช่างภาพอาชีพ ให้นำออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต กระทรวงโทรคมนาคมเกาหลีใต้จึงได้มีประกาศว่า โทรศัพท์มือถือที่ติดกล้องถ่ายรูปจะต้องติดอุปกรณ์เมื่อตอนใช้ถ่ายรูปให้เกิดเสียงดังไม่น้อยกว่า 65 เดซิเบลไว้ด้วย โดยที่ไม่อาจปิดไม่ใช้อุปกรณ์นั้นได้ พร้อมกันนั้น ทางสภาผู้แทนราษฎร ก็กำลังพิจารณามาตรการ เพื่อป้องกันการลอบถ่ายรูปอันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นอีกด้วย (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 7)





ชี้คนไทยกินน้ำตาล 30 กก.ต่อปี

ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากขึ้นกว่าเท่าครึ่งของปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยบริโภคน้ำตาลคนละ 30 ก.ก.ต่อปี ส่วนใหญ่ได้รับแฝงในรูปอาหาร เครื่องดื่ม ร่วมทั้งยังพบว่า คนไทยนิยมบริโภคอาหารที่ใส่น้ำตาลมากขึ้น ทั้งอาหารดื่ม อาหารหวาน ซึ่งโดยปกติมนุษย์จะรับรู้รสอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และยิ่งเลี้ยงดูด้วยนมผสมเติมน้ำตาล ยิ่งทำให้เด็กติดรสหวาน ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 4 เดือน จะขยายเวลาไม่ให้เด็กติดรสหวานเร็ว และในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จะเปิดเผยผลการสำรวจเด็กไทยกว่า 5,000 คน ที่มีปัญหาฝันผุ ติดรสหวาน ทำให้เห็นพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กทารกของผู้ปกครองที่น่าตกใจ การที่เด็กได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลมโมเลกุลของน้ำตาลจะเป็นอาหารชั้นยอดของแบคทีเรีย เป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายถึงขั้นทำให้เกิดโรคหัวใจได้ มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และโดยเฉพาะสมอง ช่วง 1-4 ขวบ ถือเป็นการเจริญเติบโตมากที่สุด หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจมีผลต่อระดับสติปัญญาได้ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2546 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215