หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 2004-01-06

ข่าวการศึกษา

มจธ.ผุดโครงการส่งท้ายปี ‘อินเตอร์เน็ตเพื่อนักเรียนยุค ICT’
เด็กไทยโชว์กึ๋นรีไซเคิลกล่องนมทำสิ่งประดิษฐ์รักษาสิ่งแวดล้อม
ปิ๊งควักงบฯอุ้ม นศ.เรียนก่อนผ่อนทีหลัง
ยุติเอ็นทรานซ์พยาบาลไม่กำหนดน้ำหนัก
เรียนจบฟิสิกส์เคมีและชีววิทยาทำงานอาชีพมีรายได้งามที่สุด

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

แข่งขันหุ่นยนต์ยิงปิงปอง
ม.6 อัสสัมฯคว้าแชมป์เว็บไทยแลนด์
เยี่ยม…! เครื่องร่อนบรรทุกไข่
‘พ่นยาไฟฟ้า’
ติดปีกให้โทรศัพท์มือถือเพิ่มใช้เป็นตั๋วขึ้นรถลงเรือนั่งเครื่องบิน
นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เผยอีก 10 ปียับยั้งเชื้อเอดส์ได้ผล

ข่าววิจัย/พัฒนา

ม.สงขลา โชว์เทคนิคผลิตยางโมเลกุลต่ำของดีไทยทำสู้ยางสังเคราะห์ต่างชาติ
ไบโอเทคจับมือมข.และราชภัฏผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์และสาโท
กระเจี๊ยบแดงยับยั้งเชื้อรา
เดินเครื่องวิจัยผงไหมหวังฟันรายได้ปีละ 7 พันล้าน
มก.วิจัยไข่สุขภาพเพิ่มเลซิติน โฟเลทเผื่อสุขภาพเด็ก
โพลชี้ ‘เงิน’ ทำคนกรุงเครียด
วิจัย ‘วัยรุ่น’ เสี่ยงทาสสารเสพติด

ข่าวทั่วไป

ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์บนเขาใหญ่
ยกชั้น 2 อุทยานไทย ขึ้นมรดกอาเซียน
ทช.เตือนนักเปิบปลา-กุ้งสดในตู้ถึงตายแฉเบื้องหลังใช้ไซยาไนต์จับ-คลอแรมโรย จี้อย.ออกตรวจร้านเหลา
“หวัดมรณะ” คว้าข่าวดังวิทย์
นอนกรนมีฤทธิ์แรงกว่าที่คิดส่งผลต่อโรคหัวใจล้มเหลว
ปีศาจ5ตนที่เด็กหวาดกลัวที่สุดโรคเอดส์-การรบพุ่ง-ทารุณเด็ก





ข่าวการศึกษา


มจธ.ผุดโครงการส่งท้ายปี ‘อินเตอร์เน็ตเพื่อนักเรียนยุค ICT’

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดโครงการดีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วย “โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อนักเรียนยุค ICT” เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการใช้อินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ซึ่งจัดอบรมมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงสิ้นปีนี้ โดยมีนักเรียนและครูสนใจเข้าร่วมโครงการ 53 โรงเรียน 300 กว่าคน โดย มจธ.ได้จัดทีมนักศึกษาที่มีทักษะ และเชี่ยวชาญทางด้านไอซีทีเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยการนำของ ศิริศิลป์ โชติวิจิตร หรือ “กวาง” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 21)





เด็กไทยโชว์กึ๋นรีไซเคิลกล่องนมทำสิ่งประดิษฐ์รักษาสิ่งแวดล้อม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ไทย) จำกัด ได้จัดกิจกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์จากกล่องนมประจำปี 2546 ขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ได้มีจิตสำนึกต่อการมีส่วนร่วมในการดูแลสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว อีกทั้งยังก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการนำกล่องนมที่ใช้แล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ รางวัลชนะเลิศระดับปฐมวัยได้แก่ ทีมจากโรงเรียนวัดดอนทอง อ.เมือง ฉะเชิงเทรา กับผลงาน “ช่วงช่วง-หลินอุ่ย สองหมีแพนด้าจากจีน” รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนวัดหนัง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ กับผลงาน “หนึ่งในพระราชดำริอ่าวคุ้งกระเบน” รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนบางแคเหนือ เขต บางแค กรุงเทพ กับผลงาน “โรงเรียนแห่งการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม” และรางวัลชนะเลิศระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จาก โรงเรียนบูรณะศึกษา เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ กับผลงาน “ห้องสมุดเคลื่อนที่” (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2547 หน้า 18)





ปิ๊งควักงบฯอุ้ม นศ.เรียนก่อนผ่อนทีหลัง

นายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้สอบถามผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เกี่ยวกับการชำระเงินกู้ที่นักเรียนนักศึกษากู้ยืมเรียนและครบกำหนดชำระ ซึ่งได้รับคำตอบว่ากองทุนฯ ได้รับการทยอยคืนเงินกู้จากนักเรียน นักศึกษาแต่อาจจะล่าช้าในการส่งคืนบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ต่อไปตนมีแนวคิดที่จะจัดโครงการการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาแบบใหม่ โดยเด็กคนใดที่จะเข้ามาเรียนต่อไปไม่ต้องถือเงินหรือกู้เงินมาเรียน เช่น นักศึกษาคนใดที่สนใจจะเข้าเรียนแพทย์ ซึ่งแต่ละปีต้องใช้จ่ายเงินเป็นแสนบาท ต่อไปสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินในขณะที่เข้าเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยสามารถตั้งค่าใช้จ่ายของนักศึกษาเป็นงบประมาณประจำปี เพื่อขอเงินในส่วนดังกล่าวจากรัฐบาลแทน เมื่อเรียนจบและได้ทำงานก็สามารถตรวจสอบได้จากเลข 13 หลักของบัตรประชาชนว่า เด็กรายดังกล่าวไปทำงานที่ไหน มีรายได้เท่าใด แล้วค่อยหักค่าเล่าเรียนในระหว่างที่เรียนแบบผ่อนชำระปีละ 3-4% ของรายได้ผ่านระบบภาษีเงินได้แทน การหักเงินรูปแบบดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะสามารถติดตามนักศึกษา ให้มาชำระเงินคืนได้ง่ายกว่าระบบเดิมๆ ที่สำคัญนักศึกษาเองก็เกิดความภาคภูมิใจว่าไม่ได้กู้เรียน หรือขอเงินจากรัฐบาลเรียน แต่ได้นำเงินของตนเองส่งตนเองเรียน นอกจากนี้ ตนยังเห็นว่าหากรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่าย 12 ปีแล้ว ก็ไม่ควรให้นักเรียนชั้น ม.ปลาย และ ปวช.กู้เงินกองทุนฯอีก (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2546 หน้า 15)





ยุติเอ็นทรานซ์พยาบาลไม่กำหนดน้ำหนัก

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) นายกสภาการพยาบาล เปิดเผยว่า 4 สภาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัช และสภาทันตแพทย์ ได้เห็นพ้องร่วมกันถึงการกำหนดเกณฑ์น้ำหนักของผู้เข้าศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา 2547 จะไม่มีการกำหนดน้ำหนักไว้ในระเบียบการรับสมัคร แต่จะพิจารณาเป็นกรณี โดยได้กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า โรคหรือความพิการอื่นๆซึ่งมิได้ระบุ หากคณะกรรมการผู้ตรวจร่างกายเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการศึกษานั้น คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ผู้อำนวยการวิทยาลัย อาจแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคตรวจบางรายเพิ่มเติมได้ซึ่งการพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้เข้าศึกษาด้วยเหตุผลทางคุณสมบัติเฉพาะต้องกระทโดยกรรมการในรูปองค์คณะที่มีจำนวนกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวหมายรวมถึงโรคอ้วนด้วยการที่ 4 สภาวิชาชีพไม่กำหนดเป็นเกณฑ์ชัดเจนเนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยยอมรับเรื่องอ้วนว่าเป็นโรคประเภทหนึ่ง ทั้งที่ตามหลักสากลถือว่าเป็นโรค (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2546 หน้า 15)





เรียนจบฟิสิกส์เคมีและชีววิทยาทำงานอาชีพมีรายได้งามที่สุด

ศาสตราจารย์เกอเรียนท์ จอห์นส์ ของโรงเรียนการจัดการมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ของอังกฤษ เปิดเผยว่า ได้ศึกษาโดยลองเปรียบเทียบวิชาที่พวกนักศึกษาเกรดเอ พากันเลือกกับระดับรายได้ของพวกเขาเมื่อออกไปทำงาน ได้พบว่านักศึกษาพวกที่เลือกเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา พากันมีรายได้สูงที่สุด ในขณะที่ผู้ที่เลือกเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์ เทียบกันตัวต่อตัวแล้วมีรายได้น้อยที่สุด ทางหัวหน้าผู้บริหารสถาบันฟิสิกส์แห่งหนึ่ง ดร.จูเลีย คิง ได้ให้ความเห็นว่า “นักศึกษาผู้คิดว่าวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่ไม่สำคัญหรือน่าเบื่อ จะต้องสำนึกเสียใหม่ว่า มันจะได้ผลดีกับชีวิตตอนท้าย” เขาชี้ว่า “เพราะนักฟิสิกส์ไม่แต่เพียงต้องผ่านการฝึกฝนอย่างวิเคราะห์อันเข้มงวดเท่านั้น แต่มันยังสอนให้รู้จักแก้ปัญหาด้วยความคิดริเริ่มอันเอี่ยมอ่องด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้นักศึกษาฟิสิกส์เป็นที่ต้องการของวงการอุตสาหกรรมและธุรกิจเป็นอย่างยิ่งบัดนี้มันเป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า หากต้องการก้าวหน้าต้องเรียนฟิสิกส์” (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


แข่งขันหุ่นยนต์ยิงปิงปอง

โครงการ TRC THOBURI ROBOT CONTEST “Robot Ping-Pong Shooter” โปรเจคท์แรกในโครงการ DNA BRAIN U PROJECT ของคลื่น 93 DNA โครงการนี้เป็นการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ยิงปิงปองครั้งแรกในประเทศไทย ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผลการแข่งขันรอบสุดท้ายสิ้นสุดลงปรากฏว่าทีมที่ชนะเลิศได้แก่ ทีม SVSSS ส่วนทีมรองชนะเลิศได้แก่ ทีม ETE30A และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ทีม THE INNOVATER และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมได้แก่ทีม SMOOTH BOT (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2547 หน้า 18)





ม.6 อัสสัมฯคว้าแชมป์เว็บไทยแลนด์

ในงาน “Thailand Web Carnival 2nd Edition” หรือ การประกวดออกแบบเว็บไซต์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดยไอทีมอลฟอร์จูนทาวน์ เพื่อค้นหานักพัฒนาและนักออกแบบเว็บไซต์รุ่นใหม่ที่จะช่วยพัฒนาเว็บ “OTOP” หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษากว่า 50,000 บาท และประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นของ นายปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ (เดลินิวส์ อังคารที่ 23 ธันวาคม 2546 หน้า 16)





เยี่ยม…! เครื่องร่อนบรรทุกไข่

ในงานประกวดแข่งขันแววนวัตกรรม ครั้งที่ 6 กับหัวข้อ “เครื่องร่อนบรรทุกไข่” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตที่เพิ่งผ่านมา ผลงานชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ชื่อทีมมะลิซ้อน จากโรงเรียน หนองตากยาวิริยะราษฏร์บำรุง จังหวัดกาญจนบุรี (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2547 หน้า 18)





‘พ่นยาไฟฟ้า’

ธงชัย เสือน้อย เจ้าของผลงานการประดิษฐ์ “เครื่องฉีดพ่นยาชนิดไฟฟ้า” เล่าว่า เครื่องฉีดยาฆ่าแมลง โดยแต่เดิมใช้มือโยกค้นโยก ต้องออกแรงมาก เหนื่อยมาก เลยเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะทุ่นแรงขณะที่ฉีดยาได้ จึงคิดว่าการใช้ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่เข้ามาประกอบช่วย น่าจะเข้ามาช่วยในงานไร่งานสวนได้ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี และได้รับการตอบรับดีทีเดียว เป็นผลงานจากปัญญาที่น่าจะเดินหน้าผลิตเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ และได้ไปยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2547 หน้า 24)





ติดปีกให้โทรศัพท์มือถือเพิ่มใช้เป็นตั๋วขึ้นรถลงเรือนั่งเครื่องบิน

บริษัทเอ็นทีที โดโคโม และบริษัทโซนี่ บริษัทยักษ์ใหญ่เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น กำลังทดลองโทรศัพท์มือถือใส่การ์ดอัจฉริยะอยู่ มันจะทำให้โทรศัพท์เหล่านั้นกลายเป็นสมาร์ทการ์ดขึ้นด้วย เพียงแต่วางโทรศัพท์ติดกับเครื่องอ่าน ก็สามารถถ่ายข้อมูลระหว่างกันได้ ตัวสมาร์ทการ์ดที่ทดลองใส่ในโทรศัพท์มือถือ มีหน่วยความจำประมาณ 2 กิโลไบต์มากพอที่จะทำงานได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นบัตรประจำตัว เป็นตั๋วโดยสาร และเชื่อมกับข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทได้ในเวลาเดียวกัน (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เผยอีก 10 ปียับยั้งเชื้อเอดส์ได้ผล

ผศ.ดร.สุภา หารหนองบัว อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยค้นคว้าหาสารยับยั้งเชื้อเอดส์ ที่เพิ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 2002 TWAS Price for Young Scicentistis in Thailand ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งานวิจัยนี้เป็นการค้นคว้าด้วยวิธีเคมีคอมพิวเตอร์ หรือใช้การจำลอง model ในคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวณโครงสร้างโมเลกุลของยา แปรออกมาเป็นค่าตัวเลขและสมบัติของโมเลกุล แล้วคำนวณพลังงานของยาที่ไปจับกับเอนไซม์ จากนั้นจึงนำความรู้ ความเข้าใจมาพัฒนาว่าโมเลกุลตัวไหนที่สามารถยับยั้งเชื้อที่มีปฏิกิริยาต่อเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งก็มีโมเลกุลหลายกลุ่มที่ได้ผล แต่กลุ่มที่เลือกวิจัยนั้นอยู่ในกลุ่มยาที่แพทย์ใช้รักษาคนไข้โรคเอดส์อยู่แล้วเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือ สามารถยับยั้งเชื้อโรคเอดส์ได้โดยไม่เกิดการดื้อยา (สยามรัฐ จันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ม.สงขลา โชว์เทคนิคผลิตยางโมเลกุลต่ำของดีไทยทำสู้ยางสังเคราะห์ต่างชาติ

ดร.อรสา ภัทรไพบูลย์ชัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของรางวัลงานวิจัยดีเด่นแห่งปี 2546 ซึ่งทำการวิจัยค้นคว้าเรื่อง “การปรับสภาพยางธรรมชาติเพื่อลดพลังงานที่ใช้ในการผลิตภัณฑ์ยาง” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาผลของสารเคมีในกลุ่มต่างๆที่มีต่อการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของยางที่อุณหภูมิและเวลาต่างๆ กัน ซึ่งความรู้เหล่าทำให้เราสามารถคิดสารตัวใหม่ที่ให้ชื่อว่า “Hydroperse P50” ซึ่งนอกจากจะลดน้ำหนักโมเลกุลของยางธรรมชาติลงได้แล้วยังช่วยทำให้ความหนืดของยางแผ่นที่เก็บไว้ไม่เพิ่มขึ้นด้วย (สยามรัฐ จันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





ไบโอเทคจับมือมข.และราชภัฏผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์และสาโท

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมมือกับสถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการพัฒนาวิสาหกิจสุราแช่ชุมชน ในลักษณะเป็นเครือข่าย ในชื่อโครงการ “โครงการสร้างความสามารถด้านเทคนิคการผลิต และการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ไวน์ผลไม้และสาโท” และจะเริ่มต้นเครือข่ายต้นแบบโดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยการหมักเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นแกนหลัก ร่วมทำงานเป็นเครือข่ายกับสถาบันในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกจำนวน 5 แห่ง คือ สถาบันราชภัฏเลย อุดรธานี สกลนคร บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัด และบริเวณใกล้เคียง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2546 หน้า 30)





กระเจี๊ยบแดงยับยั้งเชื้อรา

น.ส.วนัชพร อรุณมณี จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและสางเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้านเรื่อง “การศึกษาความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillus niger โดยสารสกัดจากกระเจี๊ยบแดง” ผลการทดลองสารสกัดจากดอดกระเจี๊ยบแดงแห้งด้วย Ethylacetate นั้นสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillus niger ได้ดีที่สุดรองลงมาคือสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบสดด้วย Ethylacetate แสดงว่า Ethylacetate นั้นสามารถละลายสารที่มีอยู่ในดอกกระเจี๊ยบแดง ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดนี้ออกมาได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2546 หน้า 30)





เดินเครื่องวิจัยผงไหมหวังฟันรายได้ปีละ 7 พันล้าน

กรมวิชาการเกษตร ร่วมมือกับหลายหน่วยงานวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตไหมในเชิงอุตสาหกรรม หวังรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 7 พันล้าน เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมมีทางเลือก ไม่ต้องนำไปผลิตเป็นเส้นไหมเพื่อทอผ้าเพียงอย่างเดียว โดยใช้งบประมาณ 8,325,662 บาท และเมื่อได้รับทุนแล้วจะร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการวิจัยเพื่อให้ได้กรรมวิธีผลิตผงไหมที่มีคุณภาพมากขึ้น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2546 หน้า 12)





มก.วิจัยไข่สุขภาพเพิ่มเลซิติน โฟเลทเผื่อสุขภาพเด็ก

ผศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมทีมงานและ รศ.อังคณา หาญบรรจง จากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร พร้อมด้วย ดร.อมรรัตน์ พรหมบุญ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังทำการวิจัยพัฒนาไข่ไก่เรื่อง “การเพิ่มโพเลทและวิตามินบี 12 ในอาหารไก่ไข่เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค” คุณภาพไข่ไก่โดยการเพิ่มโฟเลท วิตามินบี 12 และเลซิตินขณะเดียวกันก็ลดปริมาณไตรกลีเซอร์ไรต์ลง เพื่อให้เหมาะกับผู้บริโภคทั่วไปโดยเฉพาะเด็ก และสตรีมีครรภ์ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





โพลชี้ ‘เงิน’ ทำคนกรุงเครียด

สกนักวิจัยเอแบคโพล สำรวจคนกรุงเทพฯกับความเครียดตลอดปี 2546 พบว่า ร้อยละ 98.1 รู้สึกเครียดกับปัญหาต่างๆ อันดับ 1 คือ ปัญหาด้านการเงิน ทั้งค่าใช้จ่ายและหนี้สิน รองลองมาคือ ปัญหาจราจร สภาพแวดล้อม ครอบครัว และสุขภาพ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละ 55 แสดงอาการเครียดด้วยอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน และนอนไม่หลับ ร้อยละ 13.3 ยอมรับว่ามีอาการเครียดทุกวัน ส่วนทางออกเมื่อเกิดความเครียด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67 ใช้เวลาว่างในการดูหนัง ฟังเพลง และอ่านหนังสือ หรือระบายความในใจกับคนใกล้ชิด และนอนหลับพักผ่อน (มติชน จันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2546 หน้า 18)





วิจัย ‘วัยรุ่น’ เสี่ยงทาสสารเสพติด

นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นักวิจัยสถาบันด้านสารเสพติด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพฤติกรรมของวัยรุ่นพบว่า การติดสารเสพติดมีความสัมพันธ์กับปัญหาความผิดปกติในการกิน โดยวัยรุ่นที่มีความผิดปกติของการกิจอาหาร เช่น การเบื่ออาหาร อยากอาหาร มีความเสี่ยงต่อการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงถึง 5 เท่าขณะเดียวกันผู้ที่ติดสุรา หรือเสพยาเสพติดก็มีความผิดปกติในการกินถึง 11 เท่า และปัญหาทั้งสองนี้แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น และยากต่อการควบคุม นักวิจัยชีวะเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี ที่มีอาการผิดปกติของการกินมีแนวโน้มที่จะหันไปสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ยามากกว่าผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ รวมทั้งเด็กผู้หญิงที่เคยกินยาลดความอ้วนมาก่อนประมาณ 1 เดือน ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ปกครอง รวมทั้งครูและเจ้าหน้าที่สาธารสุขต้องระมัดระวัง หมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และเป็นที่ปรึกษาที่ดี (มติชน จันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2546 หน้า 18)





ข่าวทั่วไป


ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์บนเขาใหญ่

ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรฯ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่าได้มีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบที่ใดในประเทศไทยมาก่อน (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 1 มกราคม 2547 หน้า 15)





ยกชั้น 2 อุทยานไทย ขึ้นมรดกอาเซียน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนที่ประเทศพม่า ที่ประชุมได้มีมติให้ประกาศพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียนขึ้นเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในประเทศไทย คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุทยานที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 มกราคม 2547 หน้า 3)





ทช.เตือนนักเปิบปลา-กุ้งสดในตู้ถึงตายแฉเบื้องหลังใช้ไซยาไนต์จับ-คลอแรมโรย จี้อย.ออกตรวจร้านเหลา

นายไมตรี ดวงสวัสดิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้กระแสความนิยมบริโภคปลาทะเล กุ้งมังกรสดๆในร้านอาหารที่นำไปใส่ไว้ตามตู้ เพื่อให้ผู้บริโภคมาเลือกไปปรุงอาหาร กำลังมีมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารทะเล ภัตตาคาร ร้านเหลาต่างๆ ทาง ทช.ค่อนข้างเป็นห่วงผู้บริโภคที่อาจไม่รู้ว่าปลาทะเลพวกนี้ อาจจะมีสารปฏิชีวนะจำพวกคลอแรม และยาเหลืองตกค้างอยู่ เนื่องจากผู้ขายจะใส่ยาพวกนี้ลงไปในปริมาณมากๆ เพื่อฆ่าเชื้อและให้ปลาอยู่ได้นาน จนกว่าจะมีผู้บริโภคมาชี้ไปปรุงอาหารทั้งนี้จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลองไปสุ่มตรวจสารปนเปื้อนที่ตกค้างในเนื้อปลาเนื้อกุ้งตามร้านอาหารเหล่านี้ เพื่อสนองนโยบายอาหารปลอดภัย ที่รัฐบาลกำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ เพราะขณะนี้ต่างประเทศได้ห้ามการใช้ยาคลอแรมแล้ว เพราะถ้าเป็นยาที่หมดอายุแล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นซีนเบื้องหลังของจริง และ ทช. อยากจะเตือนผู้บริโภคว่าอย่างมองว่าปลา กุ้งเหล่านี้เป็นของสด เพราะอาจจะแฝงด้วยอันตรายที่คาดไม่ถึง โดยอาจจะสังเกตจากปลาที่มักจะมีตาโปนซึมและน้ำในตู้เป็นสีเหลือง ควรหลีกเลี่ยง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2546 หน้า 15)





“หวัดมรณะ” คว้าข่าวดังวิทย์

พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่าจากการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2546 ปรากฏผลดังนี้ อันดับ 1 ข่าวไทยผวาไข้หวัดมรณะ อันดับ 2 Pseudallescherisa boydii 3.นิติวิทยาศาสตร์ มิติใหม่ของคดีสอบสวน 4.คลอดเด็กโคลนนิ่งรายแรกของโลก 5.กระทรวงวิทย์ฯไชปริศนาบั้งไฟพญานาค 6.กระสวยอวกาศโคลัมเบียบึ้มกลางเวหา 7.เด็กไทยประกาศความสามารถในเวทีโอลิมปิกวิชาการ 8.นักวิชาการไทยเจ๋งสกัดเบนซินจากพืช 9.พบซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกอายุ 65 ล้านปีที “ภูน้ำจั้น” จ.กาฬสินธุ์ และ 10.ค้นพบบรรพบุรุษอุรังอุตังในไทยทั้งนี้ให้ตรวจสอบรายชื่อไดที่อีเมล์ nstda.or.th นอกจากนี้ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังจะจัดประชุมเรื่องแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยอีกด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2546 หน้า 15)





นอนกรนมีฤทธิ์แรงกว่าที่คิดส่งผลต่อโรคหัวใจล้มเหลว

รองศาสตราจารย์แมธธิว นอร์ตัน กล่าวว่า ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า คนที่นอนกรนโดยทั่วไปจะเป็นโรคหัวใจ และสิ่งที่เราแสดงให้เห็นก็คือว่า หากรักษาอาการกรนได้ เรื่องโรคหัวใจก็จะดีขึ้น การค้นพบนี้น่าจะมีส่วนช่วยให้คนเปลี่ยนมุมมองต่อการนอนกรนเป็นเรื่องความรำคาญแค่นั้น แต่ควรจะระวังหากว่านอนกรนเกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ น่าจะไปพบแพทย์ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





ปีศาจ5ตนที่เด็กหวาดกลัวที่สุดโรคเอดส์-การรบพุ่ง-ทารุณเด็ก

นางแครอล เบลลมี ผู้อำนวยการองค์การฯกล่าวว่า ผลจากโรคเอดส์ทำให้เกิดเด็กกำพร้าถึง 14 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ปัญหาการสู้รบทั่วโลก เป็นสาเหตุให้เด็กล้มตายมากกว่า 2 ล้านคน กับยังตกอยู่ในสภาพคนพิการเป็นจำนวนมาก ส่วนปัญหาการใช้แรงงานเด็ก พบว่า มีเด็กโดนถูกกดขี่บังคับให้ทำงานมากถึง 246 ล้านคนและเกินกว่าครึ่งของจำนวนนี้ ต้องทนทำงานในสภาพแวดล้อมใกล้อันตราย ผู้อำนวยการ ยังเปิดเผยอีกว่า มีเด็กวัยก่อนอายุ 5 ขวบ ต้องเสียชีวิตลงปีละเกือบ 11 ล้านคน และอีกหลายคนโดนถูกทอดทิ้งให้ตกอยู่ในสภาพพิการทางกายและใจ อันเนื่องมาจากปัญหาของครอบครัว เด็กเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้รับบริการทางแพทย์ ในการบำบัดรักษาโรคไข้จับสั่น ท้องร่วงและโรคหัด และทั้งประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา ต่างไม่ให้ความสำคัญในการลงทุนทางด้านการศึกษามากพอ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215