หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 3 ประจำวันที่ 2004-01-20

ข่าวการศึกษา

ร.ร.ดังนำนักเรียนทัศนศึกษา ‘ไร่คุณมน’ ครูภูมิปัญญาไทยได้ช่องถ่ายทอดความรู้
สมอ.ปลื้มอบรมครูทั่วประเทศเข้าเป้า
สกอ.เล็งของบเพิ่ม 100 ล้านผลิตครูหลักสูตร 5 ปี
นัดระดมความเห็นตั้งระบบกลางรับน.ศ.ยัน3เดือนได้ข้อสรุป
อาชีวฯ ประกาศรับ นร.47 ไม่ต้องสอบเริ่มปีแรกเด็กอยากเรียนอะไรจัดให้ทุกคน
ชวนเด็กเก่งคณิต-วิทย์เข้าค่ายยุวคอมพ์
ฉลอง ‘วันครู’ เชิดชู 9 ครูดีเด่นแห่งปี
กทม.ชูมหกรรมการศึกษาแนวใหม่อวดผลลัพธ์ปฏิรูป-วัดความสำเร็จครูดูผ่านตัวเด็ก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

มะกันฮิตกังหันลม ‘ไฮเทค’ เพิ่มพลังไฟฟ้า-ลดเสียงดัง
ไอซีทีปฏิรูปงานอุตุนิยมวิทยารับการเชื่อมข้อมูล ‘พีเอ็มโอซี’
รวมเทคโนฯดิจิทัลไร้สาย
เครื่องตวงข้าวสารบรรจุถุงสิ่งประดิษฐ์ยกระดับสินค้าโอท็อป
‘บุช’ เล็งประกาศลุยอวกาศส่งมนุษย์สำรวจดาวอังคาร
พบโคตรดวงอาทิตย์อภิมหายักษ์ใหญ่กว่าของโลกเรา 150 เท่า
ยานบินไร้คนขับสอดแนมผู้ร้าย
เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อชีวิต
หนุนใช้ไมโครชิปสมาร์ทการ์ดไทย
บัตรประชาชนอัจฉริยะ (จริงหรือ)
การปฏิวัติฝุ่นอัจฉริยะ Smart Dust

ข่าววิจัย/พัฒนา

เพาะหนูปราศจากไขมันทั้งเนื้อตัวพวกแมวยิ้มได้อาหารบำรุงสุขภาพ
เอ็มเทคกระตุ้นเอกชนทำวิจัย
สวมรองเท้าส้นสูงเป็นคุณกับสตรีช่วยบรรเทาภัยของข้อเข่าอักเสบ
กินเค็มจัดมะเร็งกระเพาะจ้องฟัดเสี่ยงมากกว่าชอบกินจืดถึงสองเท่า
ตั้งศุนย์วิจัย “ฮาลาล”
ซดกาแฟกดโรคเบาหวานฤทธิ์หดผู้ชายยิ่งสำราญมากว่าผู้หญิง
นักวิจัยไทยพบสมุนไพรยับยั้ง ‘เอชไอวี’

ข่าวทั่วไป

ใช้หนอนรักษาแผลคนไข้เบาหวานเยียวยาแผลอักเสบเรื้อรังหายได้เร็ว
ปลื้ม “ในหลวง” ผู้นำ สวล.โลก
ส.ก.เสนอคุณภาพหาบเร่หน้าโรงเรียน
อารมณ์กับการกิน
พบแหล่งสุสานหอยโบราณอายุ 13 ล้านปี
สสวท.จับมือจุฬาฯ พาครูวิทย์ตะลุยขุมทรัพย์ธรณีวิทยา
ยกเมืองไทยน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก
หมอเลี้ยบให้ไปรษณีย์เปิดเน็ตคาเฟ่
อีโบลาติดคนเพราะกินสัตว์ป่วย





ข่าวการศึกษา


ร.ร.ดังนำนักเรียนทัศนศึกษา ‘ไร่คุณมน’ ครูภูมิปัญญาไทยได้ช่องถ่ายทอดความรู้

นางมนรัตน์ สารภาพ เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป “ไร่คุณมน” ในฐานะครูภูมิปัญญาไทย ด้านโภชนาการ รุ่นที่ 3 ประจำปี 2546 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีโรงเรียนหลายโรงนำนักเรียนมาทัศนศึกษาที่ไร่ของตน ซึ่งอยู่ที่ ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี อย่างเช่นโรงเรียนสวนกุหลาบและโรงเรียนจิตรดา ซึ่งครูอาจารย์บอกว่านักเรียนชอบมาก เด็กๆจะได้เห็นวิธีการทำน้ำนมข้าวโพด ตั้งแต่การนำข้าวโพดมาปอกเปลือก และนำทุกชิ้นส่วนมาใช้ประโยชน์ คือนำเปลือกข้าวโพดมาทำโบขนม หรือนำไปเลี้ยงวัว กากที่เหลือนำไปเลี้ยงเป็ด ทำให้ไข่เป็ดเหลืองน่ารับประทาน นางมนรัตน์กล่าวว่า มีชาวต่างชาติมาที่ไร่ตลอด เช่น ชาวกัมพูชาและชาวญี่ปุ่นซึ่งบอกว่าชอบมาก มาดูถึงวิถีชีวิต มาดูวิธีการทำข้าวเม่าสมุนไพร และถามทำไมถึงตองใช้เตาถ่านคั่วถั่วและข้าวเม่า ตนอธิบายไปว่าจะทำให้หอมและเก็บไว้ได้นานนั่นคือ ภูมิปัญญาของไทยนั่นเอง ทั้งนี้ ในการทำงานและรับออร์เดอร์ในแต่ละครั้งจะคุยกับชุมชนก่อนเพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้าทำแล้วคนในชุมชนที่ผ่านมาทางหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลืออย่างดีเพราะผลิตภัณฑ์ไร่คุณมนเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนั้นจะมีการประชุมกับเครือข่ายที่อยู่แม่กลอง และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอยู่ อย่างเช่นท่องเที่ยวเกษตร นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลมาศึกษาดูงานด้วย ถ้าโรงเรียนไหนสนใจนำนักเรียนนักศึกษามาทัศนศึกษาติดต่อได้ที่ 0-1585-3227 หรือ 0-1944-7971 (มติชน พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 21)





สมอ.ปลื้มอบรมครูทั่วประเทศเข้าเป้า

นายสุรชัย เถลิงโชค เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สมอ.ทำ “โครงการเผยแพร่มาตรฐานสู่ภาคการศึกษา” ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการมาตรฐานแก่ครู อาจารย์ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดและปลูกฝังให้แก่เยาวชนในสถานศึกษาให้มีพื้นฐานความรู้ด้านการมาตรฐาน เลขาธิการ สมอ.กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2546-2550) โดยในปีแรก สมอ.จัดสัมมนาครูไปแล้ว 9 รุ่น มีครูเข้าร่วม 610 โรงเรียน ภายหลังจากนั้น สำนักงานได้สุ่มตัวอย่างนิเทศ กำกับ ติดตามผลการเรียนการสอนในพื้นที่ พร้อมศึกษานิเทศก์จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 75 โรงเรียนรวมทั้งส่งแบบสอบถามติดตามพบว่าครูผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการมาตรฐานในระดับมาก ส่งผลให้ผู้เรียนที่เรียนกับครูผู้ผ่านการอบรม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบูรณาการการมาตรฐาน สู่การดำรงชีวิตโดยมีคะแนนข้อสอบ ร้อยละ 50 ขึ้นไป ถึงร้อยละ 96.5 การดำเนินโครงการในปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะจัดสัมมนาครูให้ได้อีก 1,063 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้ครู อาจารย์ ผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำการมาตรฐานมาบูรณาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงาน อาชีพ และเทคโนโลยี อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาต่อไป (มติชน พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 21)





สกอ.เล็งของบเพิ่ม 100 ล้านผลิตครูหลักสูตร 5 ปี

ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปี เตรียมหารือสำนักงบคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เตรียมที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณในโครงการเพิ่มเป็นจำนวน 100 ล้านบาท ในปีการศึกษา 2547 เพราะขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเบื้องต้นเพียง 36 ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 14)





นัดระดมความเห็นตั้งระบบกลางรับน.ศ.ยัน3เดือนได้ข้อสรุป

ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาครูรูปแบบการเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในอนาคตหรือระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา (แอดมิชชั่น) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบการคัดเลือกนักศึกษาของประเทศต่าง ๆกับระบบการสอบของไทย เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้นำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกของ ศ.ดร.อุทุมพร จารมรมาน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มาศึกษาด้วย นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ จะเชิญตัวแทนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏ โรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อเสนอข้อคิดเห็นในรูปแบบการคัดเลือกที่เหมาะสม และวิธีไหนที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งให้จัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อประสานงานการรับนิสิต นักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยและนักเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะรวบรวมข้อมูลให้เสร็จภายใน 3 เดือน และนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 10 มกราคม 2547 หน้า 11)





อาชีวฯ ประกาศรับ นร.47 ไม่ต้องสอบเริ่มปีแรกเด็กอยากเรียนอะไรจัดให้ทุกคน

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2547 การรับนักศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จำนวน 179,000 คน โดยไม่ต้องสอบ และสามารถเลือกสาขาตามที่ต้องการได้และยังได้จัดตั้งศูนย์แนะแนวอาชีพ และจัดหางาน เพื่อให้บริการข้อมูลก่อนการตัดสินเลือกเรียนด้วย (สยามรัฐ อังคารที่ 13 มกราคม 2547 หน้า 7)





ชวนเด็กเก่งคณิต-วิทย์เข้าค่ายยุวคอมพ์

นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. จะเปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1-ม.2 ที่มีผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับ 3 ขึ้นไป ร่วมกิจกรรมค่ายยุวคอมพิวเตอร์ ระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย. 2547 ที่ สสวท. ส่วนในต่างจังหวัดจะจัดที่ศูนย์โรงเรียนทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย. 2547 (เดลินิวส์ พุธที่ 14 มกราคม 2547 หน้า 16)





ฉลอง ‘วันครู’ เชิดชู 9 ครูดีเด่นแห่งปี

นายจักรพรรดิ วะทา เลขาธิการ คุริสภา เปิดเผยถึงงานวันครูซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี จะมีการจัดงานวันครูและมอบรางวัลครูดีเด่นแห่งปี 9 คน ดังนี้ น.ส.อมรัตน์ จรัสอรุณฉาย ร.ร.วัดสุนทรพิชิตาราม, นางพิมพา สุขวิบูลย์ ร.ร.วัดใหม่ยายนุ้ย, นายกิตติพันธ์ อุดมเศรษฐ์ ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, นายปรัชญนันท์ นิลสุข วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคาม, นายวินัย แสงแก้ว สถาบันวิจัยและฝึกอบรมเกษตรสกลนคร, นายไพโรจน์ คลังนุช ร.ร.อนุราชประสิทธิ์, นางพรรณี เพ็งเนตร ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา, นายจักรินทร์ มีประเสิรฐ์กุล ร.ร.อุตรดิตถ์เทคโนโลยี และนางสมศรี คสิฤกษ์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดสุโขทัย (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2547 หน้า 7)





กทม.ชูมหกรรมการศึกษาแนวใหม่อวดผลลัพธ์ปฏิรูป-วัดความสำเร็จครูดูผ่านตัวเด็ก

นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เปิดเผยว่า วันครูปีนี้ กทม.ได้จัดเป็นปีที่ 17 ได้นำเสนอการปฏิรูปแบบใหม่ ชี้ให้เห็นว่าไม่มีใครนำเสนอผลงานครูได้ดีเท่าตัวเด็ก พร้อมทั้งมุ่งให้นักเรียนในสังกัด กทม.ต้องมีคุณลักษณะพื้นฐานครบ 7 ประการ คือรู้จักตนเอง ยอมรับศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์ และร่วมอนุรักษ์โลก, มีทักษะความรู้พื้นฐานที่มีคุณภาพ, เป็นพลเมืองที่ทรงคุณค่า, เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและวิเคราะห์ได้, แสวงหาความรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต มีทักษะในการคิดใช้เหตุผลจัดการกับปัญหา และมั่นใจในตนเองแบบสากล ดำรงตนตามแบบวัฒนธรรมไทย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 16 มกราคม 2547 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


มะกันฮิตกังหันลม ‘ไฮเทค’ เพิ่มพลังไฟฟ้า-ลดเสียงดัง

กังหันลมดังกล่าวศูนย์พลังลมแรงของสหรัฐอเมริกาเพิ่งนำไปติดตั้งบริเวณเนินเขาที่ทอดยาวระหว่างนครซานฟรานซิสโกกับเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถหมุนรับกระแสลมได้ในทุกทิศทางและยังผลิตกระแสไฟฟ้าได้แม้ว่าจะรับกระแสลมอ่อนๆ ความเร็วน้อยกว่า 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ตาม รูปลักษณ์กังหันลมรุ่นล่าสุดนี้ แม้ว่าจะเหมือนๆ กับกังหันลมรุ่นเก่าๆ คือมีใบพัด และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่แตกต่างกันตรงที่มีความสูงถึง 300 ฟิต มีใบพัดขนาด 125 ฟุต แต่ไม่ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนพวกสัตว์ป่าหรือฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป นอกจากนี้แล้วใบพัดของกังหันลมไฮเทคยังหมุนตามทิศทางกระแสลมพัด สามารถจะรับกระแสลมที่ความเร็วตั้งแต่ 8-55 ไมล์ต่อชั่วโมง เครื่องยนต์เทอร์โบน์ที่ติดตั้งกับกังหันลมสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 162 เมกะวัตต์ และแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนละแวกใกล้เคียงได้ถึง 75,000 หลัง เชื่อว่าอนาคตข้างหน้ากังหันลมชนิดนี้จะดึงนำพลังงานมาใช้กับบ้านเรือนได้อย่างสมประโยชน์ ทั้งนี้พลังงานลมเป็นพลังงานสะอาดนำมาใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดประหยัดและราคาถูกกว่าพลังงานจากก๊าซ ถ่านหินหรือน้ำมัน (มติชน พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 19)





ไอซีทีปฏิรูปงานอุตุนิยมวิทยารับการเชื่อมข้อมูล ‘พีเอ็มโอซี’

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในการสัมมนา เรื่อง “กลยุทธ์อุตุนิยมวิทยายุคไอซีที” ว่าจะปฏิรูปงานด้านอุตุนิยมวิทยาใหม่ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบงานให้ก้าวสู่ความเป็นสากล เทียบชั้นญี่ปุ่น และเกาหลีใต้พร้อมทั้งปรับปรุงระบบข้อมูลการทำงานเชื่อมโยงกันกับหน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งมีเขาเป็นประธานฯ ร่วมกับผู้บริหารกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อร่างแผนแม่บทกำหนดทิศทางการปฏิรูปเป็นแผนระยะยาวจนถึงปี 2549 ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องปฏิรูปงานด้านนี้ใหม่เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานที่จะเก็บฐานข้อมูลสำคัญของประเทศโดยเฉพาะข้อมูลอากาศที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของทุกคน และข้อมูลดังกล่าวต้องถูกเชื่อมโยงไปยังสำนักงานปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มโอซี) สำหรับใช้เป็นข้อมูลวางแผนบริหารงานของประเทศต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 6)





รวมเทคโนฯดิจิทัลไร้สาย

“ทรีบอต” (Treebot) ผลงานของนักวิจัยจากศูนย์ Embedded Network Sensing ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ได้รวมเซ็นเซอร์ กล้องเวบแคมและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายมาไว้เป็นหนึ่งเดียว โดยเลือกลินิกซ์ เป็นระบบปฏิบัติการลินิกซ์มีหน้าที่ช่วยนักวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในป่า ศาสตราจารย์ วิลเลียม ไกเซอร์ หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ทรีบอต จะเป็นผู้ช่วยสำคัญในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมในป่า กล่าวว่า การใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดข้อมูลถือเป็นสิ่งจำเป็นมากในชุมชนชีวภาพเพราะเราจะเข้าใจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างชั้นบรรยากาศกับสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของป่าได้ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของแสง ความชื้นและระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนั่นจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 7)





เครื่องตวงข้าวสารบรรจุถุงสิ่งประดิษฐ์ยกระดับสินค้าโอท็อป

พันเอกภานุมาศ โกสินทรเสนีย์ ผู้คิดค้น “เครื่องตวงประสิทธิภาพสูง” เปิดเผยว่า เครื่องตวงประสิทธิภาพสูงได้รับการออกแบบและสร้างขึ้น เพื่อให้เหมากับกิจการเอสเอ็มอีหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลและร้านค้าย่อย ในการชั่งตวงข้าวสาร น้ำตาล ปุ๋ยเคมี และเมล็ดธัญพืช บรรจุขนาดน้ำหนัก 400-2,500 กรัม ช่วยให้การตวงเมล็ดข้าวมีความถูกต้องระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูปของไทย ปัจจุบันการผลิตข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายโรงงานหลายแห่งยังใช้แรงงานคน ตักข้าวใส่ถุงก่อนนำไปชั่ง ทำให้ช้า น้ำหนักไม่ได้มาตรฐาน หรือในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม้จะใช้เครื่องชั่งอัตโนมัติที่ผลิตจากต่างประเทศแต่ก็ยังเป็นการชั่งตามน้ำหนักที่ตั้งไว้ ไม่ไดัใช้หลักการตวงอีกทั้งเครื่องนำเข้ามีราคาแพง และออกแบบสำหรับชั่งข้าวถุงใหญ่ 5-50 กิโลกรัม รวมทั้งปัญหาการซ่อมบำรุงทำได้ยากอะไหล่ราคาแพง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 9 มกราคม 2547 หน้า 7)





‘บุช’ เล็งประกาศลุยอวกาศส่งมนุษย์สำรวจดาวอังคาร

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 ม.ค.) ว่า ในราวกลางสัปดาห์หน้าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐ จะประกาศโครงการสำรวจอวกาศไปลงบนดาวอังคารเป็นครั้งแรก แหล่งข่าวคนเดิม ระบุว่า แผนการส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดาวอังคารจะยังไม่มีขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่เป็นแผนระยะยาว ที่อาจใช้เวลามากกว่า 10 ปี นายณอน โอ คีฟ ผู้บริหารนาซา กล่าวว่า การส่งยานสปิริตไปลงบนดาวอังคาร เป็นเหมือนทีมล่วงหน้า เพื่อสำรวจว่าสภาพแวดล้อมบนดาวแดงมีผลกระทบอย่างไรต่อมนุษย์ก่อนที่จะมีส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดาวอังคารในอนาคต ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2532 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ สหรัฐเคยประกาศวิสัยทัศน์ของการสำรวจอวกาศ ซึ่งรวมถึงโครงการสร้างสถานีอวกาศบนดวงจันทร์และการส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดาวอังคาร โดยคาดว่า จะใช้งบประมาณ 400,000-500,000 ล้านดอลลาร์ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 10 มกราคม 2547 หน้า 21)





พบโคตรดวงอาทิตย์อภิมหายักษ์ใหญ่กว่าของโลกเรา 150 เท่า

นักดาราศาสตร์เปิดเผยในที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์แห่งอเมริกันว่า ดวงอาทิตย์ยักษ์นั้น มีชื่อรหัสว่า แอลบีวี 1806-20 มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราไม่ต่ำกว่า 150 เท่า โตไม่น้อยกว่า 200 เท่า แผดแสงแรงกล้าระหว่าง 5-40 ล้านเท่า หากเอาดวงอาทิตย์ของเราไปประกบคู่ ก็จะเทียบขนาดได้เหมือนกับดวงอาทิตย์ กับดาวพุธ แต่เพราะการมีแสงอันแรงกล้า เป็นที่คาดว่ามันจะแผดเผาตัวเองมอดไหม้หมดลงแค่ในเวลาเพียง 2 ล้านปีเท่านั้น ผิดกับดวงอาทิตย์ของเราซึ่งมีอายุนานได้ถึง 5 พันล้านปี เมื่อตอนพบเป็นหนแรกเมื่อทศวรรษ ปี พ.ศ.2533 นักดาราศาสตร์จัดให้เป็นแค่ดาวฤกษ์สีน้ำเงินอายุสั้น และคาดประมาณว่า มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์เพียงหนึ่งล้านเท่า มาจนเมื่อหอดูดาวปาโลมาร์ที่แคลิฟอร์เนียและหอเซอดโทโลโลในชิลี ได้สังเกตการณ์ใหม่ ถึงได้ตระหนักในขนาดและแสงอันแรงกล้ามากขึ้น (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 10 มกราคม 2547 หน้า 7)





ยานบินไร้คนขับสอดแนมผู้ร้าย

ผศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว ผู้ประสานงานฝ่ายอุตสาหกรรมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตระบบอากาศยานแบบไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) การบินอัตโนมัติให้เครื่องบิน บินไปยังที่ต่างๆ ได้ซึ่งมีการควบคุมสถานีบังคับภาคพื้นดินเพื่อสร้างยานบินไร้คนขับขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าภารกิจหลักของ UAV คือป้องปรามการก่อการร้ายเนื่องจากเป็นเครื่องสำคัญอย่างยิ่งทางการทหารในสงคราม นอกจากนี้ยังนำ UAV มาประยุกต์ใช้ในทางพลเรือน เช่น สำรวจทรัพยากรป่าไม้การเปลี่ยนแปลงในผืนป่า สำรวจพื้นที่น้ำท่วมใช้ในงานข่าว และประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 มกราคม 2547 หน้า 16)





เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อชีวิต

ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้พูดถึงการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของสสวท.ว่าได้จัดทำมาตรฐานและสาระหลักสูตรแกนกลางในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแล้วให้สถานศึกษาจัดทำเนื้อหาส่วนที่เป็นของท้องถิ่นโดยให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง ในสัดส่วนซึ่งมีความยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของรายวิชา การจัดหลักสูตรควรให้อยู่ในลักษณะที่นักเรียนจากโรงเรียนหนึ่งสามารถย้ายไปเรียนต่อที่อื่นได้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีส่วนของเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดผลต่างกันตามสภาพของท้องถิ่นแต่เป็นหลักสูตรแกนกลางเดียวกัน (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 มกราคม 2547 หน้า 16)





หนุนใช้ไมโครชิปสมาร์ทการ์ดไทย

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เปิดเผยระหว่างการตรวจเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ทีเมค (TMEC) ว่า ทีเมคได้เตรียมความพร้อมเรื่องการผลิตไมโครชิปเป็นแห่งแรกในประไทย ขณะนี้สามารถผลิตไมโครชิปสำหรับใช้งานได้จริง ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เสนอโครงการผลิตไมโครชิปสำหรับการทำบัตรประชาชนอเนกประสงค์หรือสมาร์ทการ์ดของรัฐบาลแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 1,100 ล้านบาท (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 มกราคม 2547 หน้า 16)





บัตรประชาชนอัจฉริยะ (จริงหรือ)

พาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ที่บรรจุข้อมูล ทางชีวภาพของคน เช่น ข้อมูลการสแกนม่านตา หรือลายนิ้วมือนักท่องเที่ยว กำลังจะมีการนำมาใช้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศ จาก London School of Economic ได้ยกตัวอย่างความคลาดเคลื่อนในการใช้ข้อมูลทางชีวภาพจากการสแกนม่านตาเพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวตนของบุคคลว่า น่าจะเกิดความผิดพลาด จึงมีความเห็นตรงกันในการช่วยแก้ปัญหา โดยการเก็บข้อมูลลายนิ้วมือเข้าไปด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 14 มกราคม 2547 หน้า 16)





การปฏิวัติฝุ่นอัจฉริยะ Smart Dust

นิตยสารดิอิคอโนมิสต์ The Economist ซึ่งเป็นวารสารด้านเศรษฐกิจระดับโลกได้พยากรณ์เรื่องอนาคตของคอมพิวเตอร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การปฏิวัติขนาดของคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความอัจฉริยะให้เล็กลงมากนั้น สามารถทำให้มีขนาดเท่าฝุ่นละอองได้ และมีการผสมผสานด้านนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่ออุปกรณ์ขนาดจิ๋วมากๆ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2547 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เพาะหนูปราศจากไขมันทั้งเนื้อตัวพวกแมวยิ้มได้อาหารบำรุงสุขภาพ

นักวิจัยก็หวังว่าจะเอาแมวมาใช้ในการศึกษาวิจัย เพื่อให้รู้ว่า ไขมันมีบทบาทในร่างกายมากอย่างไร เพราะเป็นที่เชื่อกันว่า มันมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตอย่างปกติสามัญ เช่น มันมีหน้าที่หลายอย่างในเซลล์ร่างกาย ตั้งแต่สร้างโครงร่าง ไปจนถึงงานติดต่อสื่อสาร แต่บัดนี้ได้เป็นที่ตระหนักกันแล้วว่า มันมีส่วนก่อให้เกิดเส้นเลือดอุดตันและเป็นโรคหัวใจ นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพควาร์กแห่งสหรัฐฯ ได้เพาะหนูไร้ไขมัน โดยใช้ร่างกายของมันมีสารเดสโมสเตรอลขึ้นแทนไขมันคอเลสเทอรอล และได้พบว่าหนูที่ไร้ไขมัน มีขนาดตัวเล็กกว่าปกติและเป็นหมัน แต่นอกจากนั้นแล้วก็ไม่ผิดปกติอะไร (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 7)





เอ็มเทคกระตุ้นเอกชนทำวิจัย

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่า เอ็มเทคซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการให้ทุนเพื่อทำวิจัยภายใจประเทศ ได้จัดทำโครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสนใจทำวิจัยของตนเองภายในองค์การสามารถเข้าถึงทุนวิจัยของรัฐบาลโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “การเขียนแผนงานวิจัยถือเป็นเรื่องยาก มีรายละเอียดปลีกย่อยมากและมีแบบฉบับเฉพาะตัว หากไม่ชำนาญในการเขียนแล้ว โอกาสที่จะได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานให้ทุนก็เป็นเรื่องยาก ขณะที่ภาคเอกชนซึ่งไม่ได้อยู่ในแวดวงงานวิจัยถ้าปล่อยให้ทำตามลำพัง ก็เป็นไปได้ยากที่จะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานรัฐเราจึงเข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในระยะแรกและจะค่อยๆ ถอยออกมาเมื่อเห็นว่าภาคเอกชนสามารถเขียนแผนงานวิจัยได้เอง” ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 9 มกราคม 2547 หน้า 7)





สวมรองเท้าส้นสูงเป็นคุณกับสตรีช่วยบรรเทาภัยของข้อเข่าอักเสบ

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอร์วิก ผู้ทำการศึกษาวิจัย กล่าวว่า ไม่พบหลักฐานว่าการใส่รองเท้าส้นสูงที่อาจทำให้กระดูกสันหลังแอ่น จะทำให้เป็นข้อเข่าอักเสบแต่อย่างใด แต่ได้พบว่า การสวมรองเท้าส้นสูงขนาด 3 นิ้ว กลับเป็นคุณ ช่วยบรรเทาความเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาตามข้อน้อยลงไปได้ ศาสตราจารย์มากะเร็ต โทโรกุ๊ด แห่งโรงเรียนแพทย์ อธิบายว่า รองเท้าบางแบบไม่ได้ทำให้ข้อเข่าเกิดปัญหา นอกเสียจากว่าเป็นคนอ้วนมาตั้งแต่ก่อนอายุจะ 40 ปี และต้องทำงานหนักประกอบกับเคยเจ็บปวดเข่ามาก่อนแล้วก็อาจเป็นปัญหาได้ อันที่จริงแล้ว คนที่ใส่รองเท้าส้นสูง 3 นิ้ว เต้นรำอยู่ประจำกลับช่วยให้ทุเลาจากปัญหาข้อเข่าด้วยซ้ำ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 9 มกราคม 2547 หน้า 7)





กินเค็มจัดมะเร็งกระเพาะจ้องฟัดเสี่ยงมากกว่าชอบกินจืดถึงสองเท่า

นักวิจัยของสถาบันต่อต้านมะเร็งแห่งชาติของญี่ปุ่นได้บอกเตือน ในรายงานผลการศึกษา ที่ทำกับหญิงชายญี่ปุ่นวัยกลางคนจำนวน 40,000 คน พบว่าผู้ชายคนที่กินเค็มที่สุดจะเป็นมะเร็งกระเพาะมากที่สุด ในอัตรา 1 ต่อ 500 ราย ต่อปี อันเป็นอัตราที่สูงกว่าของผู้ชายคนที่กินอาหารรสจืดถึงสองเท่า และในหมู่ผู้หญิง ก็มีผลในทำนองเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์พอทราบมาก่อนแล้วว่า การกินเค็มมาก อาจทำให้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง และเยื้อบุต่อมขับน้ำย่อยในกระเพาะเสื่อมลง หรือฝ่อลีบลงอันเป็นลางบอกของโรคมะเร็งกระเพาะ หัวหน้านักวิจัย ดร.โชอิชิโร สุกาเนะ กล่าวว่า “ในการศึกษายังบอกด้วยว่า นอกจากการกินเค็มแล้ว การกินอาหารปิ้งๆย่างๆ และไม่ค่อยได้กินผักผลไม้ ก็มีส่วนเป็นเหตุให้ล่อแหลมกับโรคมะเร็งกระเพาะด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 9 มกราคม 2547 หน้า 7)





ตั้งศุนย์วิจัย “ฮาลาล”

ดร.กิตติ เจิดรังสี รองคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) หัวหน้าโครงการวิจัยผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารฮาลาล กล่าวว่า ขณะนี้ ทางศูนย์กำลังทำการวิจัยพัฒนาระบบการรับรองอาหารฮาลาล เพื่อให้ได้ระบบการรับรองอาหารฮาลาลในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับของมุสลิมในตลาดโลก รวมถึงการสร้างเครือข่ายสถาบันและหน่วยงานตรวจวิเคราะห์และตรวจสอบโรงงาน โดยมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กรมส่งเสริมการส่งออก, กรมวิทยาศาสตร์บริการและคณะกรรมการกลางอิสลามกลางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ผลิต และส่งออกอาหารฮาหารฮาลาลของไทย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 9 มกราคม 2547 หน้า 28)





ซดกาแฟกดโรคเบาหวานฤทธิ์หดผู้ชายยิ่งสำราญมากว่าผู้หญิง

นักวิจัยของโรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐฯ ได้แจ้งรายงานผลการศึกษา ในวารสารอายุรแพทย์ของสหรัฐฯว่า คอกาแฟชายที่ซดกาแฟที่มีคาเฟอีน ด้วยถ้วยขนาดความจุ 240 ซีซีวันละไม่ต่ำกว่า 6 ถ้วย จะหนีห่างจากโรคเบาหวานแบบที่เป็นกันเมื่อตอนเข้าวัยกลางคนแล้ว ได้ประมาณตั้งครึ่ง และถ้าหากเป็นหญิง ก็จะห่างลงได้เกือบ 30% (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 10 มกราคม 2547 หน้า 7)





นักวิจัยไทยพบสมุนไพรยับยั้ง ‘เอชไอวี’

รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะได้ศึกษาวิจัยว่า ต้นสันโศก และต้นบอระเพ็ด มีสารออกฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งโรคเอดส์ระยะเริ่มแรกได้ ขณะนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้วส่วนจดสิทธิบัตรเรื่องการรักษาโรคมะเร็งได้ยื่นมา 2 ปี และยังไม่ได้รับคำตอบ “อยากทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการทดลองห้องวิทยาศาสตร์…..ขั้นตอนวิจัยถึงขั้นเป็นยาจะต้องใช้เงินมากอาจจะออมาในรูปของอาหารเสริมได้” รศ.ดร.งามผ่อง กล่าว (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2547 หน้า 1,2)





ข่าวทั่วไป


ใช้หนอนรักษาแผลคนไข้เบาหวานเยียวยาแผลอักเสบเรื้อรังหายได้เร็ว

โรงพยาบาลเมืองวิสกี้ ใช้หนอนที่กัดกินผลไม้เน่า ช่วยรักษาแผลเรื้อรังของคนไข้โรคเบาหวานได้ผล มันช่วยกัดกินเนื้อเน่าจนหมด เหลือแต่เนื้อดี ทำให้แผลหายเร็วขึ้น หมอผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานของโรงพยาบาลแมทธิว ยังกล่าวว่า เคยเรียนรู้ว่า เคยมีการใช้หนอนและแมลงรักษาคนไข้ในสมัยโบราณ กันมาจนถึงศตวรรษที่ 20 แล้ว โดยให้มันกัดกินเนื้อเน่าสกปรก ตามแผลอักเสบเป็นหนอง จะสะอาดได้ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น เขาจึงได้ลองเอามารักษาแผลอักเสบเรื้อรังที่เท้าของคนไข้โรคเบาหวานดูบ้าง เข่ากล่าวว่า “จริงอยู่แม้จะมีวิธีทำความสะอาดแผลเป็นหนองสกปรกตั้งหลายทาง แต่การใช้การผ่าตัดรักษาแผลแบบนี้ โดยไม่ใช้การวางยาระงับความรู้สึก นอกจากจะทำให้คนไข้เจ็บปวดทรมานแล้ว ยังเป็นการเสี่ยงเกินไปอีกด้วย (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 7)





ปลื้ม “ในหลวง” ผู้นำ สวล.โลก

นางจูดิธ แอเรส ผช.ผอ.ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอส อีพีเอ) กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่า รู้สึกปลาบปลื้มอย่างมากที่คนไทยโชคดีเพราะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นผู้นำของชาวไทยในการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะอยู่ไกลจากเมืองไทยเป็นหมื่นๆไมล์ แต่เสียงที่เบาและหนักแน่นของพระองค์ท่าน ถือเป็นของขวัญล้ำค่าที่ประเทศไทยให้กับโลกใบนี้ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อน หากประเทศเหนือน้ำไม่เคารพผู้ที่อยู่ใต้น้ำ ก็คงไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดทส.กล่าวว่า นางจูดิธได้แนะนำว่า ใน กทม.ที่มีการจราจรติดขัด โดยเฉพาะตามสี่แยกไฟแดงที่จะมีรถต่อแถวกันยาวเหยีดนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของการปล่อยมลพิษออกมามาก หากไทยตัดทอนไฟแดงให้สั้นลงเพื่อให้รถไหลไปได้ก็จะทำให้อากาศไม่แย่ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงจะหารือกับรัฐบาลต่อไปอย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหลายพื้นที่เช่นสะพานควาย อากาศยังถือว่าน่าวิกฤติมากแต่โดยรวมในช่วง 2 ปี ไทยแก้ปัญหาได้ดีแล้ว เหลือเพียงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเท่านั้นที่ยังเป็นปัญหาอยู่ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 15)





ส.ก.เสนอคุณภาพหาบเร่หน้าโรงเรียน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 มกราคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ ส.ก.บางคอแหลม และนายการุณ โหสกุล ส.ก.ดอนเมือง ได้เสนอญัตติของให้กรุงเทพมหานครกำหนดมาตรฐานการจำหน่ายอาหารว่างภายในและรอบบริเวณโรงเรียน นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม.ชี้แจงว่าในการที่จะออกมาควบคุมผู้ค้าไม่ให้ไปขายของบริเวณรอบๆ โรงเรียน เป็นการทำที่ยุ่งยากเพราะจะเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิของผู้ค้าได้ ปัญหาอาหารไม่มีคุณภาพ มีสารพิษปนเปื้อน ครูต้องให้ความรู้กับเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตาม จะปรึกษากับสำนักอนามัย ว่า กทม.มีสิทธิในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพอาหารร้านค้าหาบเร่แผงลอยได้หรือไม่ (มติชน พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 18)





อารมณ์กับการกิน

มหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้ระบุว่า มีความแตกต่างหลายอย่างระหว่างการกินเพราะหิวทางกายตามปกติ กับการหิวทางอารมณ์ ได้แก่ 1.การหิวเพราะอารมณ์จะเกิดอย่างกะทันหัน ขณะที่การหิวทางกายจะเกิดขึ้นช้าๆ 2.เมื่อเราหิวทางอารมณ์ เรามักจะเจาะจงอาหารที่จะกิน เช่น ไอศกรีมหรือพิซซ่า แต่เมื่อเป็นการหิวทางกายตามปกติเราจะไม่เลือกอาหาร 3.เมื่อเราหิวตามแรงกระตุ้นของอารมณ์ เราต้องการได้รับการตอบสนองในทันที ขณะที่หากเป็นการหิวทางกายเราสามารถรอได้ 4.เมื่อเราหิวตามอารมณ์ แม้จะอิ่ม แต่เราก็จะยังกินและกินต่อไป ส่วนการหิวทางกายนั้นจะหยุดเมื่อเราอิ่ม 5.เมื่อเรากินตามอารมณ์เราจะรู้สึกผิดเมื่อกินไปแล้ว การกินตามอารมณ์ หากเกิดขึ้นบ่อย จะทำให้เราได้รับแคลอรี่เกินและอ้วน เขาจึงแนะนำเคล็ดลับเพื่อเอาชนะปัญหานี้ว่า ทุกครั้งที่จะหยิบอะไรเข้าปาก ให้ตระหนักเสมอว่า เป็นเพราะ “อยาก” หรือเพราะ “หิว” (มติชน พฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2547 หน้า 19)





พบแหล่งสุสานหอยโบราณอายุ 13 ล้านปี

วันที่ 8 ม.ค. นายสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยในงานวันครบรอบวันสถาปนากรมทรัพยากรธรณี 112 ปีว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบแหล่งหอยขมน้ำจืดโบราณแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก อายุ 13 ล้านปี ที่บริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีความหนามากถึง 12 เมตรมีความสูงเท่ากับตึก 4 ชั้น และมีความกว้างประมาณ 48 ไร่ ซึ่งนับเป็นการค้นพบสุสานหอยขมน้ำจืดที่มีความหนาและกว้างที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับการค้นพบสุสานหอยในแหล่งอื่นๆของโลกเช่น ออสเตรีย ออสเตรเลีย อังกฤษ นอกจากนี้ยังพบว่า หอยที่มารวมกันในสุสานหอยขมนั้น เป็นหอยเพียงชนิดเดียวคือ Viviparus สกุล Belemya มีขนาดเล็กตั้งแต่ 0.5-2 ซม.เท่านั้น ดังนั้น จึงถือว่าพื้นที่นี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก กรมจึงเตรียมที่จะเสนอให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ส่วนการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น อยู่ระหว่างการหารือกับ กฟผ. ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เนื่องจาก กฟผ.เป็นเจ้าของพื้นที่ โดยเชื่อว่าหากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุสานหอยโบราณจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจของโลกด้วยเช่นกัน (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 9 มกราคม 2547 หน้า 15)





สสวท.จับมือจุฬาฯ พาครูวิทย์ตะลุยขุมทรัพย์ธรณีวิทยา

ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้พาคณะครูจากโรงเรียนแกนนำไปศึกษา ขุมทรัพย์ ธรณีวิทยาที่จังหวัดลพบุรี สระบุรี และนครราชสีมา ถือว่าเป็นกิจกรรมภาคสนาม และแหล่งเรียนรู้อันยิ่งใหญ่เพื่อให้ครูผู้สอน นำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 12 มกราคม 2547 หน้า 7)





ยกเมืองไทยน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 15 ม.ค. แจ้งว่านิตยสารด้านการท่องเที่ยวชื่อดัง “Lonely Planettravel guides” ของออสเตรเลีย ฉบับวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้ จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่าน 7,500 คน จาก 134 ประเทศทั่วโลกจากทวีปอาร์กติกไปจนถึงประเทศซินบับเวในแอฟริกา ในประเด็นว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกความเห็นของนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง ผลปรากฏว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 แหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลกในสายตาของนักท่องเที่ยวโดยมีคะแนนเหนืออันดับ 2 ประเทศอิตาลีเพียง 4 คะแนนเท่านั้น ตามมาด้วยอันดับ 3. ออสเตรเลีย 4.อินเดีย และ 5.นิวซีแลนด์ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 มกราคม 2547 หน้า 18)





หมอเลี้ยบให้ไปรษณีย์เปิดเน็ตคาเฟ่

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดบริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ภายใต้การร่วมโครงการกู๊ดเน็ต ซึ่งจะเริ่มต้นอีกครั้งเป็นเฟสที่ 2 ในเดือนมีนาคม ในเบื้องต้นได้กำหนดให้เปิดไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสาขาในไปรษณีย์ในปัจจุบัน โดยให้พิจารณาว่าจะต้องเป็นสาขาที่อยู่ในที่ชุมชนมีศักยภาพเพียงพอที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ปัจจุบันนี้สาขาของไปรษณีย์หลายแห่ง เป็นอาคารหลายชั้น ซึ่งยังสามารถนำพื้นที่ชั้นบนมาปรับปรุงเป็นร้านอินเทอร์เน็ตได้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 มกราคม 2547 หน้า 16)





อีโบลาติดคนเพราะกินสัตว์ป่วย

ดร.วิลเลียม บี คาเรช จากสมาคมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในสหรัฐ กล่าวว่า จากการศึกษาการแพร่ระบาดไวรัสอีโบลาในบริเวณแอฟริกากลางตะวันตก มาตั้งแต่ปี 2544-2546 พบว่าไวรัสอีโบลาจะติดต่อมายังมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ไปรับประทาน หรือแม้กระทั่งจับต้องเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อโรคดังกล่าว (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 16 มกราคม 2547 หน้า 4)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215