หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 5 ประจำวันที่ 2004-02-06

ข่าวการศึกษา

อาชีวะลุยพัฒนาหุ่นยนต์มุ่งคว้าแชมป์ที่เกาหลี
แนะปรับโฉมวิทยุศึกษาสู่สื่อไอที
หลักสูตรครู 5 ปีได้ฤกษ์เปิดสอนปีนี้
ยกนิ้วเด็ก 11 ขวบ “วศิน ตู้จินดา” โต้โผชมรม CEDIT
เด็กกทม.รอฟังสูตรรับ ม.1 สัปดาห์นี้
มสธ. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดบริการรับสมัครและลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต
ชุมพลชี้ “จุดอ่อน” ระบบราชการ เจ้านายสั่งงานบนหอคอยงาช้าง
กฎ ศธ. คุมประพฤติเด็กต่ำกว่า 18 ปี ใกล้คลอด

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

คอมพิวเตอร์ควบคุมด้วยสมอง
“สมาร์ทการ์ด” โอกาสของการผลิตไมโครชิปเมืองไทย
อุตสาหกรรมไทยยกนิ้ว “เครื่องทดสอบแรงดึง” จากมันสมองรั้ว มจธ.
“เครื่องคำนวณ” ช่วยรักษาต้นไม้
สเกตบอร์ดติดเครื่องยนต์ ไอเดียเก๋ไก๋…วัยรุ่นต้องลอง
ยานนาซาลำสองลงดาวแดงสปิริตเดี้ยงไร้สัญญาณถึงโลก
“นักวิทย์น้อย” กับผลงานค้นคว้าที่มากประโยชน์เพื่อชุมชน
เครื่องทอดระบบสุญญากาศนวัตกรรมช่วยลดแครอลี่ในอาหาร
มก. รับงบฯ 124ล.สร้างดาวเทียม
รองเท้าผลิตไฟฟ้า
พระบิดาแห่งการประดิษฐ์
เด็กไทยอัจฉริยะ
ราชมงคลสกลนครโชว์หุ่นยนต์ลิงการันตีเก็บมะพร้าวไวไม่แพ้ ‘จ๋อ’ จริง
ฮู “แข่งเวลา” ผลิตวัคซีน ยับยั้งหวัดนกกลายพันธุ์
โรงงานโซลาร์เซลล์ครบวงจรรายแรกในไทย
กล้องนาโน บันทึกภาพ cell
ไวรัสโลกาวินาศ
พบ 2 ธาตุใหม่ “ซุปเปอร์เฮฟวี่”
นาซายันข้อมูลใหม่ดาวอังคารเคยมี “น้ำ”

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องสีกาแฟ วก. -01ช่วยชาวสวนขายเมล็ดกาแฟได้ราคาที่เป็นธรรม
สเปรย์ตะไคร้หอม
สองหนุ่มเกษตร ผลิตวัคซีนกระเพราแดง
ครีมขัดหน้า ‘หอมมะลิ’
มศว. ลุยวิจัยพิษวิทยาใบยาสูบ
วช. ทุ่มวิจัยแปรรูปสมุนไพร 14 ชนิด
เซรามิคน้ำหนักเบาจากหญ้าแฝก วัตถุดิบในการผลิตกล้วยไม้

ข่าวทั่วไป

จูงใจขรก. ซึ้งธรรมะเข้าวัดไม่เป็นวันลา
ราชบัณฑิต 70 ปีทำซีดีศัพท์บัญญัติขาย
ภัยออนไลน์
บัตรสมาร์การ์ดคนไทยเฮได้ใช้เมษานี้
2 ก.พ.วันชุ่มน้ำโลก
“วิรัช ศรเลิศล้ำวนิช” เผยแนวคิดนักวิจัยไอทีรางวัล สกว.
ระดมนักวิจัยสรุปสถานการณ์ไข้หวัดนก
อีก 10 วัน ปิดรับ ขรก. “เออร์ลี่ รีไทร์” รอบ 2 ยอด 3.2 หมื่น-ศึกษาฯ-กห.- เกษตรฯ แชมป์
ขึ้นเลข 2 อวัยวะก็เริ่มเสื่อม
ให้รู้.....ไข้หวัดนก มีอาการอย่างไร ?





ข่าวการศึกษา


อาชีวะลุยพัฒนาหุ่นยนต์มุ่งคว้าแชมป์ที่เกาหลี

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับภาค 5 ภาค ครั้งที่ 6 (VEC ROBOCON 2003) โดยใช้ชื่อว่า “OJAK สะพานตำนานแห่งความรัก” ระหว่างวันที่ 21 –24 มกราคม 2547 ณ สนามกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีทีมนักศึกษาอาชีวศึกษา เข้าแข่งขัน ทั้งสิ้น 68 ทีม จากทุกภูมิภาค การแข่งขัน หุ่นยนต์ “OJAK สะพานตำนานแห่งความรัก” มีเป้าหมายคือ การสร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติ แข่งกันต่อชิ้นส่วนของสะพานให้สมบูรณ์ แล้วบังคับให้หุ่นยนต์ นำกล่องของขวัญลำเลียงไปตามสะพาน ซึ่งทีมที่สามารถนำกล่องของขวัญไปวางบนแท่นที่อยู่ปลายทางของสะพาน ได้สำเร็จก่อนก็จะเป็นผู้ชนะ โดยผู้ชนะเลิศ อันดับ 1- 3 จะเข้าไปชิงชัยในการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย – ญี่ปุ่น) ในเดือนมิถุนายน 2547 เพื่อคัดทีมที่ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้ในเดือนสิงหาคม 2547 (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 หน้า 7)





แนะปรับโฉมวิทยุศึกษาสู่สื่อไอที

นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน 50 ปีวิทยุศึกษา ที่ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา และกล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “การใช้วิทยุกระจายเสียงเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย” ตอนหนึ่งว่า ตนเล็งเห็นความสำคัญของสื่อวิทยุซึ่งตนคิดว่าวิทยุศึกษาจะต้องเน้นเรื่องการเผยแพร่ข่าวสารด้านการศึกษา ที่ถูกต้อง ชัดเจน และเจาะลึกลงถึงกลุ่มชาวบ้าน ด้วยรูปแบบรายการที่หลากหลายและน่าสนใจ ด้านนายสุนทร พรหมรัตนพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กล่าวว่า ทางศูนย์ฯจะเร่งปรับรายการการศึกษาให้มีเนื้อหาที่ผู้ฟังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพิ่มบทบาทในการเป็นสื่อกลางการเผยแพร่นโยบายการศึกษาระหว่างผู้บริหารใน ศธ. กับครูในเขตพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงแฟนรายการกลับมาได้เหมือนเดิม (สยามรัฐ อังคารที่ 27 มกราคม 2547 หน้า 7)





หลักสูตรครู 5 ปีได้ฤกษ์เปิดสอนปีนี้

ศ.ดร. วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับ ดร. อดิศัย โพธารามิก เรื่องโครงการผลิตครูหลักสูตร 5 ปีว่า ดร.อดิศัย ได้เห็นชอบกับโครงการผลิตครู 5 ปี จำนวน 2500 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547-2549 โดยให้สถาบันอุดมศึกษา 12 แห่ง รับหน้าที่ผลิตครูทำเป็นโครงการนำร่องแบ่งเป็น มหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ทักษิณ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และสถาบันราชภัฎ 8 แห่ง ได้แก่ รภ.เชียงราย รภ.พิบูลสงคราม รภ.เพชรบุรี รภ.พระนครศรีอยุธยา รภ.อุดรธานี รภ.นครราชสีมา รภ.สวนสุนันทา และ รภ.นครศรีธรรมราช จากนั้นจะขยายไปยังสถาบันอุดมศึกษา ผลิตครูทั้ง 50 แห่งทั่วประเทศ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 30 มกราคม 2547 หน้า 27)





ยกนิ้วเด็ก 11 ขวบ “วศิน ตู้จินดา” โต้โผชมรม CEDIT

วศิน ตู้จินดา นักเรียนอยู่ชั้น ป.5 โรงเรียนยอแซฟอุปถัมถ์ จ.นครปฐม เด็กน้อยคนนี้เริ่มสนใจซอฟต์แวร์และอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ 7 ขวบ นั้นได้ศึกษาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มาตลอด จน ณ วันนี้ มีเว็บไซต์และ Sever เป็นของตัวเองแล้วคือ www.programmon.net เขาริเริ่มโครงการหลายต่อหลายอย่างเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำ รวมทั้งโครงการล่าสุดเป็นผู้ก่อตั้ง CEDIT (Children Network for Education of Developing Information Technology) เพื่อรวบรวมเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถและสนใจด้านไอทีไว้ทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพัฒนาการศึกษาและสังคม (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 30 มกราคม 2547 หน้า 7)





เด็กกทม.รอฟังสูตรรับ ม.1 สัปดาห์นี้

นายพร รุจนเวช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเชตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กรุงเทพมหานครเขต 1 กล่าวชี้แจ้งนโยบายการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2547 ว่าคณะกรรมการรับนักเรียนในกรุงเทพฯ จะออกประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสูตรการรับนักเรียนของแต่ละโรงเรียนโดยแบ่ง ออกเป็น 2 สูตร ได้แก่ 60:30:10 ( นักเรียนในพื้นที่ 60 % พิจารณาผลการประเมินคุณภาพระดับชาติ (NT) ไม่เกิน 20 % ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ 5% เงื่อนไขพิเศษ 5% และรับนอกเขตพื้นที่บริการ 10 % ) หรือ 70 : 30 ( นักเรียนในพื้นที่ 70 % พิจารณาผลการประเมินคุณภาพระดับชาติ (NT) ไม่เกิน20 % ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ 5% เงื่อนไขพิเศษ 5% ) ภายในสัปดาห์นี้ โดยการรับสมัครนักเรียนชั้นม.1 ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในเขตกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างวันที่ 23-29 กุมภาพันธ์ 2547 โดยแจ้งความประสงค์ที่โรงเรียนที่ต้องการ หรือสมัครเข้าโรงเรียนที่ต้องการโดยใช้ผล NT ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2547 ประกาศผลวันที่ 5 เมษายน วันที่ 27 มีนาคมรับสมัครเด็กที่มีความสามารถพิเศษและคัดเลือกวันที่ 28 มีนาคม กำหนดรายงานตัววันที่ 7 เมษายน วันที่ 10 เมษายนแจ้งความจำนงเข้าเรียนรอบสอง ประกาศผลวันที่ 21 เมษายนและรายงานตัววันที่ 22 เมษายน (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





มสธ. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดบริการรับสมัครและลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2547 ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง รองศาสตราจารย์ดร.ทองอินทร์ วงศ์โสธร อธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับนายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) โดยเปิดบริการรับสมัครและลงทะเบียนเรียนผ่านทางอินเตอร์เนตผ่านธนาคารกรุงไทย โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครเป็นนักศึกษา มสธ. และสมัครเป็นนักศึกษาได้ โดยกรอกข้อมูลการสมัครได้ทันทีบนเวบไซต์และสามารถชำระเงินค่าสมัครผ่านทาง Internet Banking โดยไม่ต้องเสียเวลาซื้อธนาณัติส่งมายังมหาวิทยาลัย ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 19)





ชุมพลชี้ “จุดอ่อน” ระบบราชการ เจ้านายสั่งงานบนหอคอยงาช้าง

นาย ชุมพล พรประภา กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศได้บรรยายเรื่องการปฏิรูประบบราชการกับระบบการศึกษาไทยว่าระบบการจัดการคุณภาพการศึกษาเป็นเหตุให้คุณภาพของนักเรียนแย่ จุดอ่อนของระบบราชการคือ การฝึกว่าลูกน้องต้องเอาใจเจ้านาย เจ้านายนั่งสั่งงานบนหอคอยผลที่ได้คือ ขาดข้อมูลที่มีความแม่นยำ ทันการณ์และไม่เข้าใจที่จะบูรณาการสภาพแวดล้อมที่จะกระทบต่อการบริหาร ทำให้มีข้อมูลที่ลึกและแคบ ขาดข้อมูลการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการทำ grant chart การเริ่มและการจบแต่ปัญหาที่พบในขณะนี้คือตำราล้าสมัยและขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งไม่ควรจะรองบจาก ศธ. เพียงอย่างเดียว ควร จะหาเงินจากทางอื่นด้วย เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ โดยต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาล (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 21)





กฎ ศธ. คุมประพฤติเด็กต่ำกว่า 18 ปี ใกล้คลอด

นางจรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ. ) ได้เปิดเผยเรื่องที่ศธ.ได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประพฤติตนของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งได้กำหนดเกี่ยวกับความประพฤติที่ไม่เหมาะสมและถือว่ามีความผิดสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 16 ข้อ และได้กำหนดบทลงโทษความผิด 16 ข้อเสร็จแล้ว ประกอบด้วย 1. ความผิดเรื่องแต่งกายฝ่าฝืนระเบียบศธ. 2.ไว้ทรงผมผิดระเบียบ 3. หนีเรียน 4. ลักทรัพย์หรือทำลายทรัพย์สินของโรงเรียนหรือสาธารณสมบัติ 5. แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ 6.มั่วสุมหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญ 7. เล่นการพนัน 8. เที่ยวเตร่ระหว่าง 22.00 – 04.00 น. 9. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสารเสพติด 11. เข้าไปในสถานที่ที่มีการแสดงลามก อนาจาร 12. เข้าไปในสถานค้าประเวณี หรือคบค้าสมาคมกับผู้ค้าประเวณี 13. ประพฤติตนในทำนองชู้สาว 14. พกพาอาวุธ หรือวัตถุระเบิด 15. ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายคนอื่น 16. ข่มขู่ รีดไถเงิน ซึ่งบทลงโทษมีตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน แจ้งผู้ปกครอง แจ้งสถานศึกษา แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ (มติชนรายวัน วันจันทร์ 2 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


คอมพิวเตอร์ควบคุมด้วยสมอง

นักวิจัยจากสถาบันฟรอนโฮเพอร์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรม คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ เขาเรียกตัวเองสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เฟริสท์ (FIRST) อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เขาได้ออกแบบเครื่องสำหรับใช้วัดคลื่นสมองในการสั่งการ เรียกว่า อีอีจี - EEG หรือ อีเลคโทร เอ็นเซ็ฟฟาโลกราฟ (Electroencephalograph) เครื่องนี้จะทำให้ระบบเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้การทำงาน, การเล่นเกมส์, และการแข่งขัน รวดเร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องสั่งมือให้ทำงาน (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 22 มกราคม 2547 หน้า 16)





“สมาร์ทการ์ด” โอกาสของการผลิตไมโครชิปเมืองไทย

ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์หรือทีเมค หน่วยงานในสังกัดของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการผลิตไมโครชิปเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทีเมค กล่าวว่าทีเมคได้มีการก่อสร้างคลีนรูม (Class 100) และระบบสนับสนุนสำหรับการผลิตไมโครชิปแล้วเสร็จ มีเป้าหมายจะผลิตไมโครชิประดับ 0.5 ไมครอนบนเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว ให้ได้ในเดือนมีนาคมปีนี้ (เดลินิวส์ วันอังคาร 20 มกราคม 2547 หน้า 16)





อุตสาหกรรมไทยยกนิ้ว “เครื่องทดสอบแรงดึง” จากมันสมองรั้ว มจธ.

อาจารย์นิธิ บุรณจันทร์ และอาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง จากหน่วยวิจัยทดสอบวัสดุและผลิตภัณฑ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า “เครื่องทดสอบแรงดึง” ฝีมือนักประดิษฐ์ไทยรั้วพระจอมเกล้าธนบุรีวันนี้ไม่ใช่แค่เครื่องต้นแบบ แต่เป็นเครื่องสมบูรณ์แบบมุ่งขยายผลสู่อุตสาหกรรมไทย ผ่านการทดสอบจากศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัด มจธ. ราคาถูกกว่านำเข้าเท่าตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่สนใจรายละเอียด เครื่องทดสอบแรงดึงฝีมือคนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ติดต่อ อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง หรืออาจารย์นิธิ บุรณจันทร์ ได้ที่โทร 0-2470-9190 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 24 มกราคม 2547 หน้า 7)





“เครื่องคำนวณ” ช่วยรักษาต้นไม้

โครงการส่งเสริมทางการเลือกในการใช้กระดาษของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม The magazine P.A.P.E.R Project (Printing Alternatives Promoting Environmental Responsibility Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายองค์กร ได้นำเสนอเครื่องช่วยคำนวณที่สามารถคำนวณโดยใช้ฐานข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถทำให้ผู้ผลิตและผู้อ่านนิตยสารคำนวณต้นไม้ที่ถูกตัดเพื่อผลิตสิ่งพิมพ์ซึ่งใช้กระดาษที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เครื่องที่ว่านี้จะคำนวณได้ใกล้เคียง โดยขึ้นอยู่กับระดับรายละเอียดของข้อมูลที่พิมพ์เข้าสู่เครื่อง เครื่องจะตรวจสอบน้ำหนักและเกรดของกระดาษจำนวนหน้า จำนวนที่พิมพ์และความถี่ในการวางแผนของนิตยสาร (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2547 หน้า 31)





สเกตบอร์ดติดเครื่องยนต์ ไอเดียเก๋ไก๋…วัยรุ่นต้องลอง

นายไกรฤกษ์ เสวะนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ประดิษฐ์สเกตบอร์ดติดเครื่องยนต์ ใช้เป็นพาหนะที่สามารถพกพาติดตัวไปไหนมาไหนได้ไม่ต้องลำบาก ในการเดินทางกลับบ้านไกล สเกตบอร์ดขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ตัวนี้ มีน้ำหนักรวม 15 กิโลกรัม ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ประกอบกับใช้น้ำมันเบนซิน และระบบส่งกำลังโดยใช้ในการขับเคลื่อน (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2547 หน้า 18)





ยานนาซาลำสองลงดาวแดงสปิริตเดี้ยงไร้สัญญาณถึงโลก

นายร็อบ แมนนิง ผู้จัดการด้านการสำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินของสหรัฐ หรือนาซา เปิดเผยว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยานอ็อพโพร์ทูนิตี ลงจอดบนดาวอังคารเป็นผลสำเร็จ ตามหลังยานสปิริตคู่แฝด 3 สัปดาห์ขณะที่ยานสปิริตยังไม่สามารถส่งสัญญาณมายังโลกได้ คาดฮาร์แวร์บนยานมีปัญหา (สยามรัฐ จันทร์ที่ 26 มกราคม 2547 หน้า 4)





“นักวิทย์น้อย” กับผลงานค้นคว้าที่มากประโยชน์เพื่อชุมชน

สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทยและบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญต่อการปูพื้นฐานการสนับสนุนให้เยาวชนไทยสนใจเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น ได้จัดให้มีการ “ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา” โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้ามาประกวดเป็นประจำ ซึ่งการประกวดครั้งล่าสุดที่ผ่านไปไม่นานนี้ ผลปรากฏว่ามีผลงานที่น่าสนใจส่งเข้าประกวดมากถึง 246 โครงงาน และผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย เพื่อเข้ารับประทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 15 โครงงาน โดยมีโครงงานที่ได้รับประทานรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง 2 โครงการ ได้แก่โครงงานดินเทียม จากโรงเรียนบ้านเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี และโครงงานถ่านไร้ควันพลังงานสูง จากโรงเรียนอนุบาลสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี รางวัลชนะเลิศเหรียญเงิน 4 โครงงาน และรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแดง 9 โครงงาน (สยามรัฐ พุธที่ 28 มกราคม 2547 หน้า 19)





เครื่องทอดระบบสุญญากาศนวัตกรรมช่วยลดแครอลี่ในอาหาร

ดร. ราม แย้มแสงสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทำการผลิต “เครื่องทอดระบบสุญญากาศ” เปิดเผยว่า เครื่องทอดระบบสุญญากาศจะทอดอาหารที่อุณหภูมิ 90-110 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเครื่องทอดที่มีในปัจจุบันที่ใช้อุณหภูมิถึง 170-190 องศาเซลเซียส การทอดในระบบสุญญากาศยังมีข้อดีคือ ปริมาณน้ำมันในอาหารจะลดลงอีกทั้งภายหลังการทอดแล้วจะใช้เครื่องปั่นสลัดน้ำมันออก ผู้บริโภคที่รักสุขภาพจะไม่ต้องกังวลว่าจะอ้วนและที่สำคัญสามารถคงคุณค่าวิตามินในอาหารไว้ได้ เพราะจะใช้เวลาในการทอดประมาณ 20-30 นาที จึงทำให้อาหารไม่ไหม้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเคมีโทร 0-7428-7055, 0-7428-7008 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 30 มกราคม 2547 หน้า 7)





มก. รับงบฯ 124ล.สร้างดาวเทียม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยองค์กรเครือข่ายวิศวกรรมการบินและอวกาศ รับงบประมาณจาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้การทำการศึกษาวิจัย ออกแบบ และสร้างอุปกรณ์สื่อสารระบบ Ka-Band ของดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (Small Multi-Mission Satellite หรือ SMMS) ในวงเงินงบประมาณ 123.919 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาการออกแบบและสร้างอุปกรณ์ดังกล่าว 2 ปี รศ.วุฒิชัย กปิลากาญน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า มก.ได้ลงนามในสัญญาจ้างให้องค์กรเครือข่ายวิศวกรรมการบิน ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โรงเรียนนายเรืออากาศและกระทรวง ไอซีที ในโครงการร่วมสร้างดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) เป็นความร่วมมือพหุภาคีทางเทคโนโลยีอวกาศและนำมาใช้ประโยชน์จากอวกาศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างไทย จีนและอิหร่าน โดยประเทศไทยจะรับผิดชอบในการออกแบบอุปกรณ์สื่อสารระบบ Ka-Band โดย มก.จะมีคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน และภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน ร่วมเป็นคณะทำงานออกแบบ และเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจะนำไปติดตั้งบนดาวเทียมที่ประเทศจีนเพื่อยิงขึ้นสู่วงโคจร ต่อไป (สยามรัฐ เสาร์ที่ 30 มกราคม 2547 หน้า 7)





รองเท้าผลิตไฟฟ้า

วิกานต์ ขันติยอุตสาหะ นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 4 คิดดัดแปลงรองเท้าธรรมดามาเป็นรองเท้าผลิตไฟฟ้า ผลงานนี้ได้จัดแสดงในงาน “คิดเพื่ออนาคต” ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ วิกานต์ คิดว่า ทำไมคนไม่ผลิตพลังงานจากการเดินมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เขาจึงนำอุปกรณ์ มีชุดเฟือง ไดนาโม และรองเท้ามาเป็นส่วนประกอบ พลังงานที่ได้จากการเดินจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่สามารถนำไปใช้กับวิทยุพกพา ไฟฉายเป็นต้น (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 31 มกราคม 2547 หน้า 8)





พระบิดาแห่งการประดิษฐ์

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี รัฐบาลกำหนดเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบทุ่นลอย” หรือ กังหันชัยพัฒนา (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





เด็กไทยอัจฉริยะ

สัปดาห์นี้ระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. 47 จะมีการสัมมนาเชิงวิชาการ “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)” แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี มีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครั้งที่ 6 และมีการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 6 เพื่อคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติในงาน Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 55 ที่เมือง พอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา (สยามรัฐ จันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 6)





ราชมงคลสกลนครโชว์หุ่นยนต์ลิงการันตีเก็บมะพร้าวไวไม่แพ้ ‘จ๋อ’ จริง

นายเดชา ราชดำ นายสุบิน ฟูใจ นายสุภาพ โคธิแสน นายภาณุพงษ์ ชุมดาวงศ์ นักเรียนชั้น ปวส.แผนกอิเล็กทรอนิกส์ ชั้นปีที่ 2 ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร คิดสิ่งประดิษฐ์ “หุ่นยนต์ลิงปีนต้นมะพร้าว APE ROROT” โดยมีอาจารย์จงเจริญ คุ้มบุญ เป็นที่ปรึกษา หุ่นยนต์นี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีเยี่ยมจนได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมระดับประเทศ รับโล่เกียรติยศจากการประกวดโครงการเยาชนนักประดิษฐ์ฟิสิกส์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2545 ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ (สยามรัฐ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ฮู “แข่งเวลา” ผลิตวัคซีน ยับยั้งหวัดนกกลายพันธุ์

ท่ามกลางภาวะตื่นตะลึงของผู้คนจากสถานการณ์เชื้อหวัดนกที่ระบาดอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียขณะนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์หวั่นวิตกที่สุดขณะนี้ก็คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อหวัดนกที่สามารถระบาดระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ หรือคนสู่คน เพราะนั่นหมายถึงภัยพิบัติด้านโรคระบาดแห่งยุค และนับเป็นภัยพิบัติด้านโรคระบาดครั้งล่าสุดของมนุษย์ ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคหวัดนกผสมสายพันธุ์หวัดมนุษย์ได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประเมินว่า จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จึงจะสามารถผลิตได้ ผ่านขั้นตอนที่ผลิตที่ยุ่งยากคือกระบวนการพันธุ์กรรมย้อนกลับ หรือการสร้างเชื้อไวรัสหวัดนกในไข่ไก่ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการทดลองเพื่อตรวจสอบด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ไม่นับรวมปัญหาอื่นที่นอกเหนือผลผลิตที่เสร็จสรรพ นั่นคือ การสร้างปริมาณของวัคซีนที่เพียงพอต่อประชากรจำนวนมาก (สยามรัฐ รายงานพิเศษ วันจันทร์ 26 มกราคม 2547 หน้า 4)





โรงงานโซลาร์เซลล์ครบวงจรรายแรกในไทย

นายนิพนธ์ เจ็ดศิริ รองประธานบริหารบริษัทบางกอกโซลาร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวรจร รายแรกของไทย เปิดเผยว่า โรงงานได้เดินเครื่องผลิตแผลโซลาร์เซลล์โดยกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 เมกะวัตต์ต่อปี ป้อนสินค้าให้โครงการขยายบริการไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของรัฐบาล โดยแผงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแบบอะมอร์ฟัสซิลิคอนให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยมากกว่าแบบคริสตัลไลน์ นอกจากนี้ตัวแผงยังผนึกแน่น กันน้ำและความชื้น เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในไทยอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





กล้องนาโน บันทึกภาพ cell

บ็อบแดน แดรกนี หัวหน้าคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า กล้องนาโน (nano-cam- eras) ที่พัฒนาขึ้นสามารถแสดงภาพของสิ่งต่างๆ ในเซลล์ในระดับที่ลึกซึ้งและช่วยให้เข้าใจการทำงานของไวรัสดียิ่งขึ้นโดยใช้ไวรัสที่มีอนุภาคนาโนติดอยู่ทำหน้าที่เป็นกล้องเข้าไปในเซลล์ของร่างกายโดยทำงานร่วมกับการวิเคราะห์คลื่นแสงแบบรามานสเปคโตรสโกปี ทำให้สามารถสร้างแผนที่เซลล์ที่มีความละเอียดสูงได้ การนำอนุภาคทองคำใส่ในไวรัสทำได้โดยใช้ไวรัสข้าวบาร์เลย์ที่ชื่อ brome mosaic มาแช่สารละลายอัลคาไลน์ ทำให้เปลือกไวรัสแยกออกเป็นกรดอะมิโนจากนั้นนำเอาอนุภาคทองคำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นาโนเมตรแทรกเข้าไปแล้วลดค่าพีเอชของน้ำยาลง ไวรัสจะประกอบตัวเองขึ้นมาใหม่โดยมีอนุภาคทองคำแทนอาร์เอ็นเอของไวรัส (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ไวรัสโลกาวินาศ

Mydoom เป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ มีความรุนแรงในระดับสูง เป้าหมายของหนอน Mydoom คือโจมตีระบบปฏิบัติการ Window ต่างๆ ( 2000, 95, 98 , me, NT, server 2003 และ XP ) แต่ไม่มีผลต่อระบบปฏิบัติการ Linux, Macintosh, OS/2 , Unix และ Window 3.X ซึ่ง Mydoom จะอาศัยช่องทางการรับส่งอีเมลล์และแชร์ไฟล์ทางอินเตอร์เนตโดยใช้ชื่อ Subject หรือ Hi, Hello, test เป็นต้นเมื่อผู้รับคลิกอ่านไฟล์ที่แนบมาด้วยหนอนไวรัสจะเริ่มทำงานทันทีโดยส่งอีเมลล์พร้อมแนบไฟล์ไปยังผู้อื่นโดยใช้ชื่อเจ้าของเครื่องหรือชื่อที่อยู่ใน contact นอกจากนี้หนอนจะเข้าไปเปิดพอร์ตเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คที่ไม่ได้ใช้งาน หรือที่เรียกว่า Black door โดยจะเลือกเปิดแบบสุ่มในช่วงพอร์ต 3127 ถึง 3198 ซึ่งทำให้แฮคเกอร์สามารถเข้ามาแฮคข้อมูลได้ การป้องกันไวรัสอย่างง่ายๆก็คืออย่าเปิดไฟล์ที่แนบมาพร้อมกับอีเมลล์ที่น่าสงสัยและหมั่นปรับปรุงฐานข้อมูลของโปรแกรมไวรัสให้ทันสมัยเสมอ อยากรู้วิธีการกำจัดไวรัสใหม่ๆสามารถเข้าไปดูได้ที่เวบไซต์ http://thaicert.nectec.or.th (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





พบ 2 ธาตุใหม่ “ซุปเปอร์เฮฟวี่”

นักวิทยาศาสตร์อเมริกันและรัสเซีย พบธาตุ “ซูเปอร์เฮฟวี่” ใหม่ ลำดับที่ 113 และ 115 หนักสุดในตารางธาตุของโลก ทั้งนี้ เอพีรายงานว่า คณะนักฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยสหรัฐและรัสเซีย ภายใต้การนำของนายริชาร์ด คาสเตน นักฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเยล และบรรณาธิการร่วมของวารสารฟิสิกส์รีวิว ได้ร่วมมือกันสร้างธาตุที่หนักที่สุดในโลก ในลำดับที่ 115 ได้แล้ว ด้วยการยิงแถบรังสีไอโซโทปของธาตุแคลเซียมไปยังอะตอมของธาตุอเมริเซียม ในเครื่องไซโคลตรอนซึ่งเป็นเครื่องเร่งความเร็วอะตอมขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางเป็นวงกลมของรัสเซีย ทำให้เกิดาตุใหม่สุดนี้ขึ้นมา เรียกว่า UNUNPENTHIUM ซึ่งคงอยู่นานกว่า 1 วินาที ก่อนสลายโคลงสร้างนิวเคลียสลงเป็นธาตุ UNUNTRIUM ซึ่งเป็นธาตุสังเคราะห์ อยู่ในลำดับที่ 113 ของตาราธาตุ ขณะที่ธาตุลำดับ 114 ได้รับการสังเคราะห์ขึ้นได้ตั้งแต่ปี 2542 แล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า10)





นาซายันข้อมูลใหม่ดาวอังคารเคยมี “น้ำ”

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ ( นาซา) ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่ได้จากยานโรเวอร์ มาร์ส ออพโพจูนิตี้ว่า อุปกรณ์การวิเคราะห์การแผ่รังสีอินฟราเรดขนาดเล็ก ( มินิ ทีอีเอส ) ได้ตรวจพบองค์ประกอบของสารแร่ที่เรียกว่า เกรย์ เฮมาไทต์ ซึ่งเป็นแร่ที่มีแร่เหล็กเป็นองค์ประกอบหลักและมักพบเป็นส่วนประกอบของน้ำบนพื้นโลก ทำให้เชื่อว่าดาวอังคารอาจเคยมีน้ำมาก่อนและพื้นที่ที่ยานลงจอดเป็นที่ราบกว้างหลายร้อยกิโลเมตรเรียกว่าเมอริเดียนี พลานัม อาจเคยเป็นทะเลกว้างใหญ่ก็ได้ (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 5)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องสีกาแฟ วก. -01ช่วยชาวสวนขายเมล็ดกาแฟได้ราคาที่เป็นธรรม

นายพิมล วุฒิสินธ์ วิศวกรรมการเกษตร 7 กลุ่มงานวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยวสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมและคณะร่วมกับสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาพัฒนาเครื่องสีกาแฟให้มีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียรวมถึงความเป็นไปได้ในการช่วยลดความสึกหรอและค่าใช้จ่ายราคาเครื่องสีกาแฟ วก.-01 ประดิษฐ์ได้เองราคาเครื่องละประมาณ 5 หมื่นบาท ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาขึ้นมาให้ประโยชน์แก่ชาวสวนกาแฟเป็นอย่างมากทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออก เครื่องสีกาแฟ วก.-01 จึงได้รับรางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2546 (เดลินิวส์ พุธที่ 21 มกราคม 2547 หน้า 10)





สเปรย์ตะไคร้หอม

ประสิทธิ์ ชัยประเสริฐ ประธานอาสาสมัครชุมชน (อสม.) หนองเตาเหล็ก เทศบาลนครอุดรธานี คิดค้นการผลิตสเปรย์ตะไคร้หอม มีส่วนผสมของตะไคร้ มะกรูด ยูคาลิปตัส อบเชย และขมิ้นชัน เพื่อไล่ยุงแมลง หมัดสุนัข-แมว รวมถึงตามร่างกาย แม้กระทั้งฉีดเพื่อดับกลิ่นไม่พึงปรารถนาในห้องน้ำก็ได้และได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2547 หน้า 30)





สองหนุ่มเกษตร ผลิตวัคซีนกระเพราแดง

สร้าง “ไข่แอนติบอดี” ภูมิคุ้มกันโรค “ไก่” สรรชัย จันทะจร และ ธนายุทธ์ จิรัฐพงศ์ นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกันคิดค้นสารสกัดจากกระเพราแดง เป็นวัคซีนป้องกันโรคในไก่ ภายใต้ชื่อ “ไข่แอนติบอดี” หรือการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในไข่ไก่ โดยใช้สารสกัด จากกระเพราแดง งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวด “โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สยามรัฐ วันพฤหัสบดี 22 มกราคม 2547 หน้า 7 )





ครีมขัดหน้า ‘หอมมะลิ’

โอภาส จำนง กรรมการผู้จัดการบริษัท พาโต้ กรีน จำกัด เปิดเผยว่า การคิดค้น “ครีมขัดหน้าข้าวหอมมะลิ” นั้น เริ่มต้นจากการค้นคว้าคุณสมบัติทางเคมีของข้าวหอมมะลิอย่างจริงจัง จนกลายเป็นสบู่เหลวข้าวหอมมะลิคุณสมบัติของข้าวหอมมะลินั้นสามารถจะขัดผิวในชั้นเซลล์ได้โดยที่เม็ดเล็กๆ ที่เรียกว่า “Scrub” นั้นเวลาโดนน้ำจะแตกออกมาเป็นครีมนุ่มๆ ซึ่งแตกต่างจากครีมขัดผิวหน้าทั่วไป ที่สำคัญ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองแก่ผิวหน้า และกันแดดได้มากด้วยและได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2547 หน้า 31)





มศว. ลุยวิจัยพิษวิทยาใบยาสูบ

ผศ.น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เปิดเผยว่าขณะนี้ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ได้ร่วมมือกับโรงงานยาสูบศึกษาวิจัยพิษวิทยาในใบยาสูบเพื่อผลิตบุหรี่ไร้สารพิษ หรืออาจผลิตอุปกรณ์ ที่ทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลงจนถึงขั้นเลิกสูบบุหรี่ได้ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





วช. ทุ่มวิจัยแปรรูปสมุนไพร 14 ชนิด

รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยบูรณาการนำร่องเรื่อง “การพัฒนา ด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาดผลิตภัณฑ์สุมนไพร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน” เปิดเผยว่าปัจจุบันความนิยมในสมุนไพรมีมากขึ้น จนทำให้สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ระบบการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานยังขาดความปลอดภัยในการใช้ และไม่เป็นที่ยอมรับของสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 86 ล้านบาทเพื่อทำวิจัย สมุนไพร 14 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ยอ ขิง พริกไทย ดีปลี สมอไทย สมอพิเภก หญ้าปักกิ่ง มะขามป้อม กระเจี๊ยบแดง เถาวัลย์เปรียง ข่อย และปัญจขันธ์ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในเชิงการตลาด (สยามรัฐ เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เซรามิคน้ำหนักเบาจากหญ้าแฝก วัตถุดิบในการผลิตกล้วยไม้

ดร. วรุณี ถิรมงคล กรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่าผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัย การศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์เซรามิคน้ำหนักเบาเพื่อใช้ในการตกแต่งปลูกกล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับโดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ส่วนผสมของกระถางเซรามิคน้ำหนักเบาประกอบด้วยดินเหนียว 10 ส่วนและผงหญ้าแฝกแห้ง 1 ส่วน เมื่อขึ้นรูปกระถางแล้วเผาที่อุณหภูมิ 1,230 องศาเซลเซียส จะได้กระถางเซรามิกที่มีรูพรุน น้ำหนักเบากว่ากระถางดินเผาธรรมดาถึง 20 % ข้อดีของรูพรุนคือช่วยให้กระถางอุ้มน้ำได้ดี ถ่ายเทอากาศได้สะดวก เหมาะกับการนำไปเลี้ยงกล้วยไม้รวมถึงการปลูกพืชชนิดอื่นๆ (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ข่าวทั่วไป


จูงใจขรก. ซึ้งธรรมะเข้าวัดไม่เป็นวันลา

ในการประชุม ครม.วันที่ 20 ม.ค. คณะกรรมการกลั่นกรองคณะ 7 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน จะเสนอขอความเห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าร่วมปฏิบัติธรรมด้วยความสมัครใจตามโครงการ “ปฏิบัติธรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน” โดยไม่ถือเป็นวันลาแต่ให้ถือเป็นวันปฏิบัติราชการตามปกติครั้งละ 3-5 วันต่อปี ทั้งนี้ต้องนำหลักฐานรับรองแสดงต่อหน่วยงานต้นสังกัดด้วยโดยมีวัตถุประสงค์นำศาสนาเข้ามาฟื้นฟูจิตใจข้าราชการ และสามารถขยายผลทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ (เดลินิวส์ อังคารที่ 20 มกราคม 2547 หน้า 3)





ราชบัณฑิต 70 ปีทำซีดีศัพท์บัญญัติขาย

ราชบัณฑิตยสถานแจ้งว่าในวาระสถาปนาครอบ 70 ปี ใน พ.ร.บ 2547 ทางราชบัณฑิตได้จัดทำ ซีดีรอมศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ รุ่น 1.1 รวม 29 สาขาวิชา ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกจำหน่ายตามร้านค้าราคาแผ่นละ 120 บาท ที่ราชบัณฑิตยสถาน ราคา 100 บาท (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 หน้า 12)





ภัยออนไลน์

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา ร่วมรณรงค์ เตือนภัยออนไลน์โดยจัดทำ โปสเตอร์ กฎเหล็กป้องกันภัยล่อลวงออนไลน์ เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงภัยจากการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต โรงเรียนหรือผู้ปกครองที่อยากได้ โปสเตอร์กฎเหล็กติดต่อขอได้ที่ แผนกสื่อสารการตลาด บริษัทซีเอส ล็อคซอินโฟ อีเมล wasanart@estoxinfo.net โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 หน้า 12)





บัตรสมาร์การ์ดคนไทยเฮได้ใช้เมษานี้

ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) วันที่ 29 ม.ค.47 พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้ช่วยรัฐมนตรี ไอซีที ได้เป็นประธานประกาศผลการประกวดออกแบบบัตรสมาร์ทการ์ด รางวัลชนะเลิศเป็นของนายทนงศักดิ์ นาคะรัต สถาปนิกแห่งหนึ่ง บัตรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะให้ผู้ชำนาญนำไปเป็นแบบเพื่อผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่โครงสร้างหลักๆ เหมือนต้นแบบที่สุด บัตรสมาร์ทการ์ด 10,000 ใบแรกจะแจกจ่ายในเดือนเมษายนนี้ และจะเพิ่มจำนวนจนครบเป้า 12 ล้านภายในสิ้นปี ผู้ที่ใช้จะใช้บัตรนี้ในกลุ่มแรก ได้แก่ ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 3 จังหวัดที่เน้นไปซีที รวมถึงผู้ลงทะเบียนคนจน นักเรียน นักศึกษา (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 30 มกราคม 2547 หน้า 18)





2 ก.พ.วันชุ่มน้ำโลก

เนื่องในวันชุ่มน้ำโลก 2 ก.พ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีกิจกรรมบรรยายพิเศษ เรือง “From the Mountains to the Sea : Wetlands at Work for Us” และมีการอภิปรายเรื่อง “5 ปีควนขี้เสียนเป็นแรมซาร์ไซต์ ไทยได้/เสียอะไร” และการเสวนาเรื่อง “อนาคตควนขี้เสียนและทะเลน้อย” โดยมีจุดหมาย เพื่อให้สาธารณชนได้รับความรู้ ความเข้าใจในคุณค่า ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 31)





“วิรัช ศรเลิศล้ำวนิช” เผยแนวคิดนักวิจัยไอทีรางวัล สกว.

ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวนิช ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ ห้องปฏิบัติการวิจัยสื่อสารโทรคมนาคม (ซีอาร์แอล) ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัลนักวิจัยสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) ปี 2546 โดยดร. วิรัช ได้กล่าวถึงผลงานซึ่งคณะกรรมการสนใจเป็นพิเศษ คือระบบแปลภาษา “ โปรแกรมภาษิต “ และระบบปฏิบัติการ “ลีนุกซ์ทะเล” นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแรงบันดาลใจจากการวิจัยว่ามาจากความชอบและต้องเป็นคนช่างสังเกต และนักวิจัยที่ดีจะต้องนำงานที่ได้มาพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ส่วนแนวโน้มการประมวลผลภาษาในอนาคตจะมุ่งเน้นการนำฐานองค์ความรู้ขนาดใหญ่มาใช้เพื่อตัดสินใจได้เร็วและตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด “Symatic Web” ที่คอมพิวเตอร์จะมีความเป็นอัจฉริยะเข้าใจความหมายเพื่อให้บริการความรู้ที่เร็วขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 6)





ระดมนักวิจัยสรุปสถานการณ์ไข้หวัดนก

ระดมนักวิจัยสรุปสถานการณ์ไข้หวัดนก นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) เปิดเผยว่า วช. ได้จัดสรรงบประมาณ 15-20 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการวิจัย ในการรวบรวมข้อมูลสถานภาพและการเกิดโรคระบาดไข้หวัดนก รวมทั้งงานวิจัยไวรัส H5N1 ซึ่งป็นการร่วมมือระหว่าง วช. ร่วมกับสภาคณบดีคณะเกษตรแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นการหามาตรการจัดการเรื่องสถานที่ อุปกรณ์ ถาดรับไข่ ของฟาร์มสัตว์ปีกภายหลังการปิดฟาร์ม 90 วัน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบการที่รับไก่และไข่จากฟาร์มด้วย ( กรุงทพธุรกิจ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8 )





อีก 10 วัน ปิดรับ ขรก. “เออร์ลี่ รีไทร์” รอบ 2 ยอด 3.2 หมื่น-ศึกษาฯ-กห.- เกษตรฯ แชมป์

ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ .) เปิดรับสมัครโครงการ ‘ ทางเลือกใหม่ให้ชีวิต ‘ หรือ เออร์ลี่ รีไทร์ รอบ 2 ระหว่างวันที่ 19 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ โดยกำหนดเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการไว้ที่ 47,000 คน ปรากฏว่าในขณะนี้มีข้าราชการสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 32,831 คนจากโควตา (แต่ละกระทรวง ) รวม 35,739 คนโดยส่วนที่ข้าราชการเข้าร่วมมากที่สุดคือ กระทรวงศึกษาธิการ 23,699 คน รองลงมาคือกระทรวงกลาโหม 2,298 คน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,090 คน และกระทรวงมหาดไทย 1,668 คน ซึ่งโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ครั้งแรกดำเนินการในปีงบประมาณ 2542-2545 มีข้าราชการเข้าร่วมทั้งสิ้น 59,454 คนแบ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ 14,286 คน ข้าราชการครู 35,251 คน ข้าราชการตำรวจ 6,745 คน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย 1,932 คน และข้าราชการกรุงเทพมหานคร 1,025 คน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 13)





ขึ้นเลข 2 อวัยวะก็เริ่มเสื่อม

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สมรรถภาพร่างกายจะเสื่อมตามอายุ เซลล์สมองจะเริ่มตายตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษๆ ความยืดหยุ่นของเอ็นและเอ็นข้อเสื่อมตั้งแต่อายุ 25-30 ปี ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อลดลงตั้งแต่อายุ 30-40 ปี กระดูกเริ่มผุตั้งแต่อายุ 35 ปี ซึ่งจะสะสมเรื่อยๆจนกระทั่งอายุ 50 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม ฯลฯ ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพด้วยการแบ่งเวลาออกกำลังกายต่อเนื่องวันละ 20 นาทีเป็นอย่างน้อย ออกแต่พอดีอย่าหักโหม กินอาหาร 5หมู่ ให้ครบ 3 มื้อ ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดี (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 26)





ให้รู้.....ไข้หวัดนก มีอาการอย่างไร ?

ไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัส Avian Influenza type A โดยแหล่งเชื้อโรคนั้นได้แก่ นกเป็ดน้ำ นกอพยพ เป็ด ไก่ การติดโรคในสัตว์นั้นสามารถติดได้จากเชื้อไวรัสที่ถูกขับออกมาทางอุจจาระนกและติดต่อสู่สัตว์ปีกที่ไวต่อการรับเชื้อทางระบบหายใจและทางเดินอาหาร โดยมีระยะฟักตัวตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง – 3 วัน สัตว์ที่ติดเชื้อจะซึม ซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไอจาม หายใจลำบาก หงอนและเหนียงมีสีคล้ำ ท้องเสีย อัตราการตายสูงถึง 100 % และสามารถติดต่อสู่คนได้โดยการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรงหรือการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย ซึ่งจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1- 3 วัน อาการที่แสดงออกคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หากมีอาการแทรกซ้อนจะมีอาการรุนแรง ทั้งปอดบวมและอาจเกิดระบบการหายใจล้มเหลวได้โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 19)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215